ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
040748
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 605 หัวเรื่อง
วิพากษ์การเมืองภายใต้การบริหาร
ประเทศโดย ทักษิณ ชินวัตร
อ.จอน อึ้งภากรณ์ : เขียน
สมาชิกวุฒิสภา
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 21,878 สูงสุด 32,795 สำรวจเมื่อเดือน พ.ค. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

วิพากษ์การเมืองไทย
ภายใต้ดวงตะวันของคุณทักษิณ
อ.จอน อึ้งภากรณ์
: เขียน
สมาชิกวุฒิสภา

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ได้รับผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก
บทความนี้ดัดแปลงเล็กน้อยจากบทความชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในหนังสือ "อยู่กับทักษิณ"
บรรณาธิการ : เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13.5 หน้ากระดาษ A4)



ภายใต้ดวงตะวันของคุณทักษิณ
เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไม่นึกไม่คิดไม่ฝันไม่รู้สึกถึงคุณทักษิณ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ได้ดีหรือเจอร้ายหรือเสมอตัวภายใต้ชะตาที่เขาได้กำหนดไว้ให้คุณ มีแต่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นคุณสมชาย นิละไพจิตร ที่คงจะไม่รู้สึกถึงคุณทักษิณอีกแล้ว

คุณทักษิณเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในแทบทุกอย่าง ที่เป็นเป้าหมายของเขาโดยอาศัยสาวกในอุปถัมภ์มากคนที่จงรักภักดี มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างอาณาจักร "ชิน" ครอบประเทศไทย เขาเป็นเลิศในด้านการแปลงทุนมาเป็นคลังมันสมอง และแขนขาที่รับใช้เขาในทุกปรารถนา เขาเป็นซีอีโอตัวจริงคนเดียวของประเทศไทย

ตอนที่ ๑. มองตัวคุณทักษิณ
คุณทักษิณเป็นคนที่มีผู้คนชอบและนับถือมากมาย ส่วนคนที่"รู้ทัน"เขาก็เยอะเหมือนกัน ผมเชื่อว่า เขาเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว เป็นพุทธศาสนิกชนที่โอเคเบตง เป็นคนที่มีเสน่ห์ น่าคบเป็นเพื่อน (แต่อาจไม่สนุกที่จะคบเป็นศัตรู) และผมยังเชื่อว่า นอกจากเขาจะเป็นผู้ที่ประสงค์ดีต่อตัวเองและครอบครัวแล้ว เขายังมีความปราถนาที่ดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองอีกด้วย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงสุภาษิตเก่าแก่ของยุโรปที่ว่า "The road to hell is paved with good intentions" - เส้นทางไปสู่นรกปูด้วยความตั้งใจอันดี

สรุปแล้วเขาไม่ใช่คนชั่ว แต่ก็ไม่มีใครแม้แต่ในกองเชียร์ของเขา ที่จะนึกถึงเขาในแง่บุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต เราคงต้องยอมรับว่าเฉพาะในประเด็นนี้ อดีตนายกฯสัญญา นายกฯเสนีย์ นายกฯเปรม นายกฯอานันท์ และนายกฯชวน น่าจะได้คะแนนดีกว่า ผมเองค่อนข้างที่จะเชื่อว่าเมื่อถึงคราวจำเป็น คุณทักษิณจะต้องกลายเป็นคนที่ขี้โกง "เท่าที่จำเป็น" ("เพื่อชาติ" หรือ "เพื่อครอบครัว") ในพริบตาเดียว อันนี้น่าจะเป็นลักษณะทั่วไปของผู้ที่ได้ดีทางธุรกิจในระบบสัมปทานของประเทศไทย และคุณผู้อ่านคงจะสังเกตได้ว่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา มีข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับตัวเขาหลายเรื่องที่สนับสนุนสมมุติฐานนี้

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขามีความสามารถที่เทียบเคียงได้ยากมากในหลายด้าน ทั้งความเก่ง ความฉลาด ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผสมกับความกล้า และความทะเยอทะยานไม่มีขอบเขต ซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จของเขาในทุกด้าน แต่ที่เด่นที่สุดคือความสามารถที่จะสะสมสาวกลูกน้องมากมาย ซึ่งเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วกลายเป็นหัวรถจักรที่ทำให้ฝันของเขากลายเป็นจริง

สาวกเหล่านี้มีอยู่สองระดับ สาวกในระดับมันสมองซึ่งประกอบกันเป็นกองบัญชาการทักษิณสูงสุด มีพวกวีรชน ๑๔ และ ๖ ตุลา จำนวนมากร่วมอยู่ด้วย พวกนี้เคยมีอุดมการณ์ด้านประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ผู้ที่ด้อยโอกาสและถูกกดขี่ แต่ในปัจจุบันคนเหล่านี้สามารถปรับจูนอุดมการณ์ของตนให้เข้ากับเจ้านายได้อย่างกลมกลืนดีเยี่ยม ส่วนสาวกในระดับแขนขาของเขาถูกวางไว้ในเชิงยุทธศาสตร์ให้กระจายและครอบคลุมตำแหน่งสำคัญทั้งในวงราชการ องค์กรอิสระต่างๆ สื่อมวลชน และวุฒิสภา เพื่ออำนวยให้การทำงานของรัฐบาลคุณทักษิณแสนจะราบรื่นๆ

คำถามที่น่าสนใจคือ เขามีวิธีดึงดูดสาวกได้อย่างไร โดยเฉพาะสาวกชั้นหัวกะทิของเขา ?

ผมคิดว่าประการแรก น่าจะเกิดจากลักษณะการแสดงตัวเป็นผู้นำที่เด่นชัดเจนและมีเสน่ห์ยิ่ง ซึ่งโดยสันดานของทั้งสัตว์และมนุษย์ จะมีผลดึงดูดฝูงของผู้ตามเสมือนเป็นแม่เหล็ก แต่ที่สำคัญ เขารู้จักคัดเลือกฝูงผู้ตามที่มีคุณภาพเหมาะสมที่จะรับใช้เขาได้เป็นอย่างดี (ใครประจบประแจงเกินไป หรือเช้าชามเย็นชาม หรือด้อยฝีมือ เขาคงไม่เอาไว้) เขาน่าจะยึดเหนี่ยวสาวกด้วยลักษณะการอุปถัมภ์ที่เหมาะสม เช่นใครตกทุกข์ได้ยากมีหนี้สินรุงรังก็คงจะได้รับการปลดหรือผ่อนคลายการชำระหนี้ ใครบำเพ็ญประโยชน์ให้กับเขาก็คงจะได้รับรางวัลตอบแทนที่คุ้มเหนื่อยในระบบการแบ่งปันดอกผลที่ค่อนข้างยุติธรรม

และแน่นอนที่สุด สาวกแต่ละคนได้โอกาสร่วมเหินฟ้าแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยการเกาะติดกับขากางเกงของเขาอย่างเหนียวแน่น ทั้งยังมีโอกาสในอนาคตที่อาจจะได้สืบทอดอำนาจต่อจากเขาโดยตรง ด้วยเหตุนี้ผมจึงคาดเดาว่าการแย่งชิงดีชิงเด่นกันในหมู่ลูกน้องของเขา น่าจะไม่เบาทีเดียว

เท่านี้ก็ยังไม่พอ ลักษณะของคุณทักษิณที่เป็นจุดสุดยอดที่แท้จริงคือ ความสามารถเฉพาะตัวที่จะสื่อสารวาดภาพจินตนาการสวรรค์บนดิน เสมือนเป็นฝันและอุดมการณ์สูงสุดที่กำลังจะกลายเป็นจริงในประเทศไทยในเร็วๆนี้ ซึ่งได้ผลในการทำให้คนทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งผู้ที่มีอุดมการณ์จำนวนไม่น้อยเกิดความฝันที่คล้อยตาม เช่นในเรื่องสังคมที่ไร้ความยากจน สังคมที่ปลอดยาเสพติด สังคมที่เจริญก้าวหน้าและทันสมัยในทุกด้าน สังคมแห่งอุทยานการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น

คุณทักษิณใช้ทุกโอกาสที่ได้สื่อสารกับประชาชน เช่นในรายการวิทยุประจำสัปดาห์ ของเขา เพื่อวาดภาพฝันที่ประชาชนอยากจะเชื่อจนเกิดความเชื่อที่แท้จริง ทั้งๆ ที่ในหลายกรณีเป็นภาพที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง แต่คนจำนวนมากยังมองไม่เห็นเรื่องนี้ เพราะแรงศรัทธาหรือแรงที่อยากจะเชื่อ ประกอบกับความหวังที่จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้นมาเหนือกว่าความต้องการที่จะค้นหาความเป็นจริง

บ่อยครั้งสิ่งที่เขาพูดกับประชาชนน่าจะเป็นคำพูดที่มีการเตรียมไว้เป็นอย่างดีเพื่อให้ถูกอกถูกใจประชาชนเสียงส่วนใหญ่โดยเฉพาะ ถ้าจะให้ผมพูดตรงๆ ความสามารถของเขาที่กล่อมประชาชนได้เกือบทั้งประเทศ สามารถสยบสื่อมวลชนอย่างราบคาบ เป็นความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่แตกต่างนักจากความสามารถของนักขาย หรือนักต้มตุ๋นชั้นเซียน

ผมคงจะต้องย้ำว่า ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะสื่อว่าคุณทักษิณเป็นผู้ที่ไร้ความจริงใจ หรือความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าคุณทักษิณมีความสัมพันธ์กับประชาชนที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่นมีเป้าหมายแอบแฝงบางอย่างที่ไม่ได้บอกประชาชนชัดเจน (ที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เรียกว่า "นโยบายการแปลงทรัพย์สินสาธารณะให้เป็นของเอกชน")

นอกจากนี้เขาคงจะต้องรับรู้ผลแห่งนโยบายของเขาบางอย่าง ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิต หรือตกทุกข์ยาก หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และนี่อาจเป็นเรื่องที่เขาจะยอมให้สังคมเกิดความตระหนัก และวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน เขาอาจไม่ต้องการให้สังคมได้ตรวจสอบในเรื่องที่เป็นข้อสงสัยว่า คุณทักษิณกับพวกอาจได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจบางอย่างอันเนื่องมาจากนโยบายทางเศรษฐกิจบางประการ หรือจากผลการเจรจาระหว่างประเทศ (เช่นกรณีข้อตกลงการค้าเสรีกับบางประเทศ ที่ทำให้เกษตรกรไทยต้องสูญเสียรายได้อย่างไม่เป็นธรรม) หรือจากการให้การสนับสนุนต่อบทบาทของสหรัฐในอิรัก หรือจากการผูกมิตรกับผู้นำของรัฐบาลเผด็จการพม่า เป็นต้น

คุณทักษิณได้ใช้ความพยายามหลายวิธี ที่จะสกัดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนโยบายและผลงานของเขาในเวทีสาธารณะ วิธีที่ใช้บ่อยคือการใช้อารมณ์และคำพูดที่คมคาย โจมตีนักวิชาการหรือตัวแทนภาคประชาชนที่เป็นผู้วิจารณ์ (เช่นเรียกเป็น "พวกขาประจำ" หรือใช้คำพูดที่ส่อว่าเป็นพวกไม่ติดดิน ไม่รู้จริง ไม่รักชาติ รับใช้ต่างชาติ เป็นต้น) ซึ่งได้ผลครบสามด้านคือ ในด้านการเบนประเด็นออกไปจากเรื่องที่ตนถูกวิจารณ์, ด้านการลดความน่าเชื่อถือของผู้วิจารณ์, และด้านการป้องปรามไม่ให้คนอื่นกล้ามาวิจารณ์เขาอีก

"ผมรู้ว่า ไอ้พวกนี้ไม่เลือกเบอร์ 9 ทั้งนั้น แต่ไม่มีปัญหา ไม่ใช่ไม่เลือกแล้วผมไม่ฟัง แต่ขอให้มีแนวคิดเสนอมาด้วย ติอย่างเดียวไม่ได้ อย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน แม่ง.. ออกมาติอยู่นั่นแหละ ติแล้วไม่มีแนวคิด แล้วถามว่า ชีวิตเขาทำอะไรเป็นมั่ง มันต้องติแล้วเสนอแนวคิดบ้าง นี่แนวคิดก็ไม่มี ติ ติ ติ อยู่นั่น …"

"คนบางคนเห็นผมพูดหรือทำอะไรก็ขอค้านไว้ก่อน ทั้งๆ ที่เลือกตั้งเสร็จมาใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ และประชาชนก็ให้ความไว้วางใจผมเป็นจำนวนมาก ก็น่าจะให้เวลาในการแก้ปัญหาบ้าง แต่ว่าก็วิจารณ์มันทุกเรื่อง และก็ไม่ได้รู้จริงเลย ข้อมูลก็ไม่มี"

"วันนี้เกลียดผมหรือไม่ชอบผม ไม่เป็นไร แต่อย่าเกลียดประเทศไทยเลย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ท่านอาศัยแผ่นดินอยู่..."

พรรคพวกของคุณทักษิณได้ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ตรวจสอบผลงานของรัฐบาลโดยอิสระ โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งถูกควบคุมอย่างเข้มงวดภายใต้กลไกของรัฐ แม้แต่หนังสือพิมพ์เอกชน ก็ยังหนีไม่พ้นการถูกบีบคั้นด้วยอิทธิพลทางอำนาจและเศรษฐกิจของคนในรัฐบาล

"สิ่งที่ผมเสียใจคือว่ามีความพยายามที่จะบิดเบือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ค่อยชอบผมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ประเทศไทยเราโชคร้ายมีสื่อมวลชนภาษาอังกฤษสองฉบับ ที่ทำภาษาอังกฤษจนไม่รู้ว่าความเป็นคนไทยลดน้อยลงหรืออย่างไร ไม่ทราบ จึงทำความเสียหายมากพอสมควรในการที่เสนอข่าวข้างเดียว อย่างไม่มีความเป็นมืออาชีพ …" (ความเห็นของคุณทักษิณต่อการเสนอข่าวกรณีตากใบ)

ทำไมเขาจึงมีความจำเป็นต้องปิดกั้นการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ ในเมื่อเขามีคะแนนสนับสนุนท่วมท้นทั้งจากประชาชนและในสภา ? คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าหากช่องว่างระหว่างความฝันที่เขาได้วาดไว้ กับความเป็นจริงบนพื้นดิน หรือหากเรื่องสกปรกบางอย่างในรัฐบาลของเขาได้ปรากฏตัวอย่างชัดเจน อาจมีผลทำให้ลูกโป่งแห่งความศรัทธาของประชาชนแตกได้ และเมื่อแตกไปแล้วจะไม่มีอะไรที่แน่นอนเหลืออยู่ในกอไผ่

พูดง่ายๆ เขาจะต้องป้องกันไม่ให้ "ขาลง" เกิดขึ้นกับเขา นี่เป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างจากภารกิจของนักขาย หรือนักมายากลหรือนักต้มตุ๋นที่จะต้องทำให้ผู้ที่เป็นเป้าหมายของตนคงอยู่ในสภาพที่ถูกสะกดจิตตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดความสงสัยหรือเกิดการรู้ทันความเป็นจริง

เนื่องจากคุณทักษิณยังขาดความรู้สึกมั่นคงในตัวเอง และมองเห็นศัตรูคู่อริรอจิกหัวของเขาอยู่รอบด้าน เขาจึงยังต้องแสดงบทบาทเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองตลอดเวลา และจะต้องรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นฮีโร่ของประชาชนให้คงเส้นคงวา แต่ตัวเขาเองก็ขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในประชาชนที่ให้อำนาจแก่เขา ดังนั้นเขาจึงจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของผู้ที่อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อเขา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชน องค์การภาคประชาชน หรือพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ตาม และเรื่องนี้เขาก็ทำได้สำเร็จพอสมควร

การจำกัดบทบาทของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สำคัญคือ การจำกัดการรายงานข่าวกิจกรรมและความเห็นของพรรคฝ่ายค้านทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลของเขาทั้งหมด ในประเทศประชาธิปไตย เช่นประเทศอังกฤษ เมื่อใดที่นายกรัฐมนตรีได้ออกวิทยุหรือโทรทัศน์แถลงต่อประชาชน วันรุ่งขึ้นผู้นำฝ่ายค้านจะได้โอกาสเหมือนกัน และเท่าเทียมกันที่จะแสดงความเห็นต่อถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี

แต่ที่นี่ประเทศไทยนายกรัฐมนตรีมีโอกาสกล่อมประชาชน ทุกวันเสาร์เช้าทางสถานีวิทยุทั่วประเทศ แต่ผู้นำฝ่ายค้านของประเทศไทยซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ กลับไม่ได้โอกาสโต้ตอบเลย นี่คือระบบการสื่อสารมวลชนที่ทำให้ประชาชนได้ฟังความข้างเดียวเท่านั้น แต่ผมไม่เคยเห็นคุณทักษิณเดือดร้อนเรื่องนี้เลย

ผมขอฟันธงว่าคุณทักษิณไม่ใช่ผู้ที่มีความชัดเจนในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่ผู้ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่ผู้ที่ให้ความสำคัญนักกับสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่หลักนิติธรรมขั้นพื้นฐาน ลึกๆ แล้วผมคิดว่าเขาคงไม่เห็นด้วยกับหลักการสำคัญบางส่วนของรัฐธรรมนูญ แต่บังเอิญเขาได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ว่า จะปฏิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

รัฐธรรมนูญมาตรา ๗๖: "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ"

ทักษิณ: "โดยระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีและสวยงาม แต่ไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการบริหารประเทศ แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารประเทศ โดยเป้าหมายของการบริหารประเทศ คือ การทำงานให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความผาสุก ประเทศมีความก้าวหน้า ตรงนี้คือเป้าหมาย ส่วนประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือ และต้องดูเครื่องมือด้วย อย่างสมมติเราจะขับรถไปแก้ปัญหาให้ชาวบ้านในชนบท บางทีต้องใช้รถปิกอัพออฟโรด ไม่ต้องเอารถโรลสรอยซ์ไปหรอก"

รัฐธรรมนูญมาตรา ๓๓ : "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้"

ทักษิณ: "แน่นอนว่าการเคารพในสิทธิมนุษยชนนั้นก็ต้องเคารพ แต่ลำดับความสำคัญนั้นต้องอยู่ที่ผู้บริสุทธิ์ก่อน เพราะถ้าจะพูดให้เท่มันก็พูดได้ง่าย แต่พูดแล้วก็ต้องทำด้วย และทำในสิ่งที่ควรทำ ขอบอกว่าผมไม่แคร์หรอกที่ต่างประเทศออกมาพูดนั้น ผมฟังแล้วดูเหมือนว่าไปให้ความสำคัญกับคนที่ก่อความไม่สงบมากกว่าคนบริสุทธิ์ที่ถูกทำร้ายทุกวัน แต่ผมถือว่าจะให้ความสำคัญกับคนบริสุทธิ์ที่ถูกทำร้ายทุกวันก่อน"

เป็นที่ชัดเจนว่า คุณทักษิณไม่ใช่นักปฏิรูปการเมืองตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเคยโบกธงเขียวทั้งหลายไม่น่าจะมีความสงบทางจิตใจภายใต้ดวงตะวันของเขา แต่เขาก็เป็นนักปฏิรูปตัวจริงเหมือนกัน เป็นทั้งนักปฏิรูปทางเศรษฐกิจและทางด้านการบริหารประเทศ และดูเหมือนเขาได้พยายามบริหารประเทศในสไตล์ที่เลียนแบบนายลี กวน ยู (อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่เขานับถือ) ซึ่งเป็นการบริหารประเทศในแบบระบบอุปถัมภ์ แต่ถ้าจะให้พูดตรงๆ แม้ทั้งสองคนจะนิยมการบริหารประเทศด้วยลักษณะ "ผู้นำย่อมรู้ดีกว่าประชาชน" แต่ผลงานในด้านการสร้างระบบการบริหารประเทศที่เน้นธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ก็ยังห่างกันเป็นโยชน์

ตอนที่ ๒. มองผลงานคุณทักษิณ
ที่ผ่านมารัฐบาลของคุณทักษิณ มีนโยบายและผลงานหลายอย่างที่ผมเห็นด้วย โดยเฉพาะนโยบาย "ประชานิยม" ต่างๆ เช่นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (๓๐ บาทรักษาทุกโรค) กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน บ้านเอื้ออาทร โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเรียนต่อต่างประเทศ - เพียงแต่รัฐบาลควรจะได้ดำเนินโครงการเหล่านี้อย่างจริงจัง ให้มีประสิทธิภาพในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในสังคมไทยและในการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชน ทั้งยังควรใช้โครงการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

แต่ปรากฏว่าวิธีการดำเนินโครงการต่างๆ กลับมีลักษณะที่ไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ทั้งยังขาดมิติด้านการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลคุณทักษิณขาดความเข้าใจ ดังนั้น ผลงานที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างจะผิวเผินอย่างน่าเสียดาย แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงให้กับพรรคการเมืองของคุณทักษิณ และในการขยายฐานของสมาชิกพรรค

รัฐบาลของคุณทักษิณเป็นรัฐบาลที่ทำงานกระฉับกระเฉง และด้วยประสิทธิภาพและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากกว่ารัฐบาลก่อนๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ถูกใจประชาชน และมีต้นตอมาจากประสบการณ์การเป็นนักบริหารในภาคธุรกิจของคุณทักษิณเอง ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานขยันดียิ่ง และรัฐบาลทักษิณได้กล้าเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการบริหารประเทศ ในลักษณะที่เสริมอำนาจการสั่งการของรัฐมนตรีต่อข้าราชการ และหน่วยราชการในสังกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม

เพราะที่ผ่านมาในหลายสมัย ระบบราชการมีอำนาจอิทธิพลครอบงำการบริหารประเทศมากเกินไป เสมือนเป็นรัฐบาลตัวจริงที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง แต่ในกรณีของรัฐบาลทักษิณก็ได้เกิดปัญหาใหญ่จากการที่มีรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง เข้าไปใช้อิทธิพลในทางที่ผิดเพื่อแทรกแซงระบบราชการ จนกลายเป็นเรื่องยากที่ระบบราชการจะสามารถวางตัวเป็นกลางทางการเมือง และรักษาความเป็นอิสระ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีข่าวเกรียวกราวเรื่องข้าราชการระดับสูง ถูกเกณฑ์มารับใช้ผลประโยชน์ของพรรคไทยรักไทยในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ผมอยากจะกล่าวตรงๆ ว่าแม้รัฐบาลของคุณทักษิณได้ทำในสิ่งที่ดีหลายอย่าง แต่ความเสียหายที่ได้ก่อแก่ประเทศชาติ มีมากกว่าหลายเท่า อันได้แก่

. ความเสียหายที่เกิดแก่ระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน
. ความเสียหายที่เกิดแก่ความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ในการเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน
. ความเสียหายที่เกิดแก่สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
. ความเสียหายที่เกิดแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
. ความเสียหายที่เกิดแก่องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ

ซึ่งผมจะขยายความในบางประเด็นพอสังเขปดังต่อไปนี้

ในระบอบประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การมีสื่อมวลชนที่หลากหลายและเป็นอิสระ ในการเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นปัจจัยที่จำเป็นยิ่ง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้เรื่องราวของบ้านเมืองอย่างรอบด้าน แต่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ สื่อมวลชนได้เสียความเป็นอิสระในการเสนอข่าวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เช่น รายการวิทยุโทรทัศน์ ที่มีลักษณะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ได้ค่อยๆหายไปจากแผงรายการจนแทบจะไม่เหลือ และมีรายการประเภทที่ประจบประแจงรัฐบาล และตำหนิผู้วิจารณ์รัฐบาลเข้ามาแทนที่

สถานีวิทยุหลายแห่งมีคำสั่งหรือมาตรการควบคุม ไม่ให้ผู้จัดรายการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล (เช่นคำสั่งของสถานีวิทยุ เสียงสามยอด เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ที่ไม่ให้ออกอากาศความคิดเห็นที่คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ)

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ เพื่อเป็นสื่อข่าวสารข้อมูลที่เป็นอิสระสำหรับประชาชน ได้ถูกเทคโอเวอร์โดย บริษัทชินคอร์ป ของครอบคัวคุณทักษิณก่อนหน้าการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ ตามด้วยการปลดพนักงานในทีมข่าวของไอทีวีออก ๒๑ คนเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งที่คุณทักษิณครองชัยชนะเป็นครั้งแรก และต่อมาไอทีวีได้พลิกโฉมมาเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เน้นรายการบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งเป็นการทรยศต่อเจตนาในการก่อตั้งสถานีโดยสิ้นเชิง

ส่วนหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกือบทุกฉบับ ถูกกดดันและเล่นงานด้วยวิธีการทั้งเหนือดินและใต้ดิน เช่น การทำให้ขาดรายได้ด้านโฆษณา หรือกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินและธุรกรรมของผู้ถือหุ้นใหญ่ในหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ไทยโพสต์ และ เนชั่นกรุ๊ป อย่างผิดกฎหมาย เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ หรือการที่คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการพรรคไทยรักไทยและรัฐมนตรีคมนาคมได้กวาดซื้อหุ้นของ เนชั่นกรุ๊ป อย่างน่าสงสัยว่าจะเตรียมเทคโอเวอร์ เป็นต้น

แม้จะมีการใช้มาตรการควบคุมสื่อที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการกระทำของคุณทักษิณโดยตรง จึงอาจเป็นการกระทำของคนในรัฐบาล หรือข้าราชการระดับสูงที่ทำกันไปโดยพลการ คุณทักษิณอาจจะอ้างว่าตนไม่เกี่ยว แต่การที่คุณทักษิณอยู่เฉยๆ ไม่ออกมาแก้ปัญหาที่สื่อถูกควบคุมและคุกคาม หรืออยู่เฉยๆ ทั้งๆ ที่สื่อซึ่งครอบครัวของตนเป็นเจ้าของ ได้ปลดพนักงานออกเนื่องจากการก่อตั้งสหภาพแรงงาน และการเรียกร้องความเป็นอิสระในการเสนอข่าว นี่แสดงถึงการละเลยที่จะปกป้องเสรีภาพของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ และน่าจะขัดต่อคำสัตย์ปฏิญาณที่ตนได้ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทชินคอรป์ได้ฟ้องนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ในคดีแพ่งฐานหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายจำนวน ๔๐๐ ล้านบาท อันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่บริษัทฯ อาจได้รับจากนโยบายของรัฐบาล คุณทักษิณก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาวและไม่คิดจะช่วยคุณสุภิญญา ทั้งๆ ที่การกระทำของบริษัทนี้ เป็นตัวอย่างชัดเจนของการคุกคามประชาชนทางเสรีภาพ ในการวิจารณ์หรือตรวจสอบรัฐบาล

การทำสงครามกับยาเสพติดของคุณทักษิณต้องถือเป็นนโยบายที่ดียิ่ง แต่วิธีดำเนินการในช่วงต้นปี ๒๕๔๖ ได้นำไปสู่การฆาตกรรมคนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า ๑๓๘๖ คน (ตัวเลขของรัฐบาลเอง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฝ่ายปกครอง หรือตำรวจสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ในศาล ในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดรวมอยู่ด้วย รวมทั้งเด็กเล็ก

การที่คุณทักษิณได้กดดันหน่วยราชการ เรียกร้องการจัดการเร่งด่วนกับผู้ค้ายา พร้อมขู่ลงโทษข้าราชการในจังหวัดที่มีผลงานหย่อนยาน ได้ทำให้หน่วยตำรวจทั่วประเทศเข้าใจว่าตนได้รับไฟเขียว ให้จัดการกับผู้ที่มีข้อสงสัยว่าค้ายาเสพติดได้ตามอำเภอใจ จึงเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ที่สุดใน ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา ที่คุณทักษิณเรียกว่าการ "ฆ่าตัดตอน" แต่ไม่ยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นผลงานของตำรวจ

การที่แทบจะไม่มีใครถูกจับมาลงโทษเลย อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจทั่วไปว่า รัฐบาลพร้อมที่จะปกป้องเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยธรรมและละเมิดกฎหมาย หากเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และนี่คือการทำลายสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมที่ร้ายแรงยิ่ง แต่ขนาดนี้คุณทักษิณก็ยังเป็นที่ชื่นชมของประชาชนจำนวนมาก

ต่อไปนี้ขอยกตัวอย่างเรื่องราวของผู้ที่อาจถูกละเมิดสิทธิตามนโยบายของคุณทักษิณ เพื่อให้เห็นภาพเป็นรูปธรรม

ชายข้าราชการในจังหวัดหนึ่ง เคยถูกใบปลิวโจมตีในปี ๒๕๓๙ ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ครั้งนั้นหน่วยงานที่ผู้นี้สังกัดอยู่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลปรากฏว่าชายผู้นี้ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

จนเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๖ ข้าราชการผู้นี้ถูกยิงเสียชีวิตขณะอยู่หน้าบ้านของตนเอง เป็นเวลาที่ไม่มีใครอยู่บ้านเพราะภรรยาและลูกออกไปซื้อของ เมื่อภรรยาและลูกทราบเรื่องก็รีบกลับบ้าน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์ชันสูตรได้เดินทางมาถึงก่อนแล้ว และได้เข้าตรวจสภาพศพและสถานที่เกิดเหตุ ขณะนั้นผู้ตายนอนตายในสภาพที่ใส่กางเกงขายาวสีกากี ไม่ใส่เสื้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงถอดกางเกงขายาวออกพร้อมทั้งถอดกางเกงใน และได้พลิกกางเกงในออกและพลิกกลับในสภาพเดิม

จากนั้น ศพของชายผู้นี้ถูกนำไปยังโรงพยาบาลเข้าห้องเอ็กซเรย์ และไปยังห้องพิธีกรรมศพตามลำดับ ในห้องพิธีกรรมมีทั้งญาติผู้ตายและเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเคื่องแบบ เจ้าหน้าที่พิธีกรรมศพได้ถอดกางเกงในของผู้ตายโดยรูดจากศพของผู้ตายออกมาจนเป็นเกลียวแล้วทิ้งขยะไป เมื่อทำความสะอาดและตกแต่งศพเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ญาติผู้ตายออกจากห้องพิธีกรรมให้หมดเพื่อจะถ่ายรูปและพิมพ์ลายนิ้วมือ และต่อมาเจ้าหน้าที่ก็ได้เรียกญาติผู้ตายเข้าไปในห้องอีกครั้ง แจ้งว่าพบยาเสพติดอยู่ในซองพลาสติกสีฟ้า บรรจุยาบ้าจำนวน ๙๘ เม็ด และอีก ๒๑ ชิ้นอยู่ที่เป้ากางเกงในของผู้ตายซึ่งถูกทิ้งอยู่ในถังขยะ

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำคำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สั่งยึดอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายและภรรยาไปเพื่อตรวจสอบ และต่อมาบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด อ้างว่าผู้ตายเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจึงใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต

ในด้านการติดตามหาตัวผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า พยานในที่เกิดเหตุได้บอกเพียงรูปพรรณสัณฐานคร่าวๆ ทั้งที่บริเวณเกิดเหตุอยู่ในเขตชุมชน ห่างจากสถานีตำรวจประมาณ ๓ กิโลเมตร ส่วนหลักฐานได้แก่ หัวกระสุน และปลอกกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมส่งไปกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเปรียบเทียบว่าใช้ยิงมาจากปากกระบอกเดียวกับคดีอื่นที่มีประวัติเก็บไว้หรือไม่ แต่กองพิสูจน์หลักฐานตอบว่า ไม่สามารถตอบได้เนื่องจากระบบฐานข้อมูลของกองพิสูจน์หลักฐานชำรุดใช้การไม่ได้

เมื่อรัฐบาลทักษิณต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อต้นปี ๒๕๔๗ ได้มีการส่งหน่วยตำรวจจากส่วนกลาง เข้าไปควบคุมสถานการณ์และหาข่าวในพื้นที่ ปรากฏว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการบางส่วน ได้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ในรูปแบบของการ "อุ้ม" แล้วฆ่าหรือหายตัว แม้แต่ทนายสมชาย นิละไพจิตร ผู้กล้าหาญที่ว่าความให้บรรดาผู้ต้องหาชาวมุสลิม ก็ต้องหายไปอย่างน่าเชื่อว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว ถึงจะไม่ใช่คำสั่งหรือความต้องการของคุณทักษิณ แต่ในความเห็นของผมคุณทักษิณหนีไม่พ้นการมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อยู่ดี

ต่อมาได้เกิดกรณีกรือเซะกับการตายหมู่อย่างปริศนาของทีมฟุตบอลอำเภอสะบ้าย้อย และกรณีตากใบที่มีการตายหมู่ของผู้ชุมนุม ทั้งระหว่างและภายหลังการสลายการชุมนุม ข้อเท็จจริงหลายอย่างในเหตุการณ์ทั้งสองนี้ยังมีความคลุมเครือ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้เปิดให้สื่อมวลชนทำการค้นหาและเสนอข้อมูลโดยอิสระ

การที่รัฐบาลได้ตอบโต้ความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายด้วยการใช้ความรุนแรงที่กระจายไปยังผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เป็นการช่วยหาแนวร่วมให้กับผู้ก่อการร้าย และอาจมีผลทำให้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายตัวไปอย่างไม่สามารถควบคุมได้เป็นเวลายาวนานอีกหลายปีข้างหน้า นี่คือผลงานของรัฐบาลทักษิณที่ประชาชนจำนวนมากได้ให้ความชื่นชม

รัฐบาลทักษิณได้พยายามสกัดกั้นการแสดงออกของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญและตามหลักประชาธิปไตย โดยการสลายการชุมนุมของสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยการข่มขู่ว่าจะดำเนินการจับกุม ผู้ที่ชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีบุชของสหรัฐอเมริกาในช่วงที่บุชมาร่วมการประชุมเอเพ็ค (พร้อมการสร้างกระแสกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นบุคคลที่ไม่รักชาติ) และโดยการบีบผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้ดำเนินการทางวินัยกับพนักงาน กฟผ.ที่รวมตัวกันชุมนุมต่อต้านแผนงานของรัฐบาลที่จะแปรรูป กฟผ.โดยการนำกิจการทุกส่วนเข้าไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

เรื่องของการแทรกแซงวุฒิสภาและองค์การอิสระต่างๆ โดยคนของรัฐบาลทักษิณเป็นที่ทราบกันทั่วไป ในกรณีของวุฒิสภานั้น รัฐบาลสามารถควบคุมเสียงของ ส.ว. ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งทุกครั้งที่มีการลงคะแนนในเรื่องที่มีความสำคัญต่อรัฐบาล ทั้งนี้โดยการใช้อิทธิพลในรูปแบบต่างๆ ตามระบบอุปถัมภ์เพื่อทำลายความเป็นอิสระทางเมืองของวุฒิสภา และประกันความอยู่รอดของรัฐบาล

ขอยกตัวอย่าง ทุกครั้งที่มีการเลือกคณะบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น บรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่อยู่ใต้อิทธิพลของฝ่ายบริหาร จะได้รับโผที่ชี้นำการเลือกตั้งของพวกเขา ซึ่งจะปรากฎเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนในช่วงของการนับคะแนน เมื่อผลการขานคะแนนในบัตรเลือกตั้งต่างๆ ออกมาตรงกันเป็นชุดอย่างไม่มีทางเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ ในหมู่ ส.ว.กันเองก็เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามี ส.ว.บางคนได้รับเงินเดือนพิเศษเป็นประจำ และอีกส่วนหนึ่งได้รับค่าตอบแทนพิเศษเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมเองยังไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ในขณะนี้

ในกรณีขององค์กรอิสระต่างๆ คนของรัฐบาลได้ใช้อิทธิพลเข้าไปแทรกแซง ทั้งกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ที่มีองค์ประกอบตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเป็นบล๊อคโหวต และกระบวนการเลือกตั้งโดยวุฒิสภาดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลที่ได้รับเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรเหล่านี้ ซึ่งต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือตรวจสอบผลการเลือกตั้งต่างๆ นั้น จะไม่ดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นพิษเป็นภัยต่อรัฐบาลของคุณทักษิณ หรือต่อคนในรัฐบาล หรือต่อพรรคการเมืองของคุณทักษิณ

ผลที่ปรากฏชัดเจนคือบุคคลที่ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ กลายเป็นผู้ที่มีความด้อยทางคุณสมบัติ และความน่าเชื่อถือด้านความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อเทียบกับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวในสมัยก่อนรัฐบาลทักษิณ

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประชาชนค่อนข้างขาดความเชื่อถือ ในความซื่อสัตย์สุจริตของบุคคลที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ได้รับเลือกตั้งในสมัยคุณทักษิณ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีอันเป็นไป ซึ่งเป็นผลกรรมที่ตอบสนองความเห็นแก่ตัวของคณะกรรมการดังกล่าว ในการขึ้นเงินเดือนของตัวเองอย่างใจร้อนและอย่างผิดกฎหมาย

สรุปง่าย ๆ คือ รัฐบาลทักษิณได้ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำลายชีวิตของคนจำนวนนับพันที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความผิด ขยายความรุนแรงและความขัดแย้งในภาคใต้ แทรกแซงวุฒิสภาและองค์กรอิสระ จนทำให้ไร้ศักยภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล นี่เป็นการกระทำที่พยายามรวบอำนาจแบบเดียวกับรัฐบาลเผด็จการทั้งหลาย และนี่คือการกระทำของรัฐบาลที่ได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นจากประชาชน

ตอนที่ ๓. การกำหนดท่าทีต่อรัฐบาลของคุณทักษิณ
เมื่อคุณทักษิณได้กลับมาบริหารประเทศ ด้วยคะแนนเสียงจากประชาชนที่มากมายเหลือล้นยิ่งกว่าเดิม (แม้จะไม่ใช่คะแนนนิยมที่ให้ด้วยความเต็มใจทั้งหมดก็ตาม) แต่ในขณะเดียวกัน คุณทักษิณได้ก่อความเสียหายแก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะต่อระบอบประชาธิปไตย และต่อสิทธิมนุษยชนมากเพียงนี้ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะบริหารประเทศต่อไปในทำนองเดียวกัน ซึ่งอาจก่อความเสียหายต่างๆ เพิ่มทวียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมื่อกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ มีกำลังอ่อนแอลงไปมากแล้ว ถามว่า "เรา" ควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้?

ในฐานะที่ผมกับอาจารย์เจิมศักดิ์อยู่ในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนน้อย ที่แพ้คะแนนในสภาเป็นประจำ ได้มีพวกเราคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า หลังจากผลการเลือกตั้งปรากฏชัดเจนได้มีสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งมาพูดกับเขา อย่างทีเล่นทีจริงทำนองว่า "ไหนๆ ทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็น่าจะเลิกทำตัวเป็นฝ่ายค้านเสียที แล้วมากินเงินเดือนพิเศษจะดีกว่า จะได้อยู่แบบสบายๆ"

ส่วนอาจารย์เจิมศักดิ์เอง ได้ตั้งคำถามในเชิงแง่คิดที่น่าสนใจที่มีส่วนคล้ายกัน (แต่เป็นคนละเรื่องกันด้านจริยธรรม) ทำนองว่า "อย่างไรๆ เราก็คัดค้านเขาไม่สำเร็จและแพ้คะแนนเขาวันยังค่ำ แล้วประชาชนก็มองเราเป็นพวกขวางโลก ถ้าเช่นนั้นเรามาเปลี่ยนท่าทีกันดีไหม ? คือแทนที่จะเราจะอภิปรายคัดค้านและต่อสู้ในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราอยู่เฉยๆ จะดีกว่าไหม ? ไม่ต้องไป ขัดขวางเขา เพียงแต่ลงคะแนนเพื่อบันทึกความไม่เห็นด้วยก็พอ แล้วให้ประชาชนได้เรียนรู้ตัดสินด้วยตนเอง"

อันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในประชาชนพอสมควร แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าอาจารย์เจิมศักดิ์จะเชื่อ หรือปฏิบัติตามแนวที่อาจารย์ตั้งเป็นคำถามเพื่อการขบคิดอยู่ดี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของแนวคิดที่ผมไม่เห็นด้วยที่มีทำนองว่า "ในเมื่อคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยได้คะแนนท่วมท้นขนาดนี้แล้ว เราน่าจะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการต่อสู้ใหม่" ซึ่งน่าจะมาจากสมมุติฐานว่า ประชาชนจะไม่ยอมรับต่อการออกมาคัดค้านนโยบายของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา

ผมเองมองว่าคะแนนเสียงของประชาชนที่ให้กับพรรคไทยรักไทยนั้น เป็นการแสดงเจตนาของประชาชนที่จะให้พรรคไทยรักไทยเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของคุณทักษิณ ดังนั้นคุณทักษิณมีความชอบธรรมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคไทยรักไทย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลของคุณทักษิณ มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศอย่างไรก็ได้ หรือว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณ จะแสดงความเห็นคัดค้านตามรัฐธรรมนูญไม่ได้

ที่สำคัญหากรัฐบาลใหม่ของคุณทักษิณ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา หรือมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่นในด้านการละเมิดสิทธิประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนของประชาชน ต้องถือว่าเป็นการบริหารประเทศโดยมิชอบ ซึ่งตามปกติจะมีวิธีการทางรัฐธรรมนูญหลายวิธีที่จะล้มรัฐบาล หรือถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเมื่อมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด

แต่ในปัจจุบันวิธีทางเหล่านี้ได้ถูกปิดกั้นไว้เกือบหมดแล้ว เช่นในขณะนี้รัฐบาลมีส.ส.เพียงพอที่จะป้องกันการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลทั้งคณะในสภาผู้แทนราษฎร และยังมีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะป้องกันการถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีโดยข้อกล่าวหาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ยังเป็นไปได้ ต้องอาศัยการลงชื่อร่วมกันของประชาชนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน ตามด้วยการชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และการวินิจฉัยความผิดโดยวุฒิสภา แต่ในปัจจุบันคณะกรรมการ ปปช.ก็ลาออกกันหมดแล้ว หลังถูกศาลตัดสินความผิด ส่วนวุฒิสภาก็มีคะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนรัฐบาลทักษิณแบบไม่เป็นทางการอยู่แล้ว

ภารกิจของผู้ที่ "รู้ทัน" และมองเห็นปัญหาของรัฐบาลทักษิณยังเหมือนเดิมหรือเข้มข้นยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำไป นั่นคือภารกิจที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายการ "รู้ทัน" รวมทั้งภารกิจที่จะรวมพลังกันในลักษณะเครือข่ายต่างๆ เพื่อต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรม และต่อต้านความอธรรมทุกรูปแบบ และการเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาพแวดล้อมที่ถูกปิดกั้นด้านประชาธิปไตยยิ่งท้าทายให้ต้องพัฒนาคุณภาพของการต่อสู้มากยิ่งขึ้น

ผู้ที่ "รู้ทันทักษิณ" อาจมีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องผนึกกำลังกัน ในเรื่องที่มีความเห็นพ้องตรงกัน ดังนั้นขบวนการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง น่าจะต้องนำหลักสิทธิมนุษยชน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในด้านสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนมาเป็นเป้าหมายร่วมกัน แต่ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อโค่นล้มหรือเอาผิดคุณทักษิณให้ได้ (เพราะนั่นจะเป็นเป้าหมายแบบอคติ)

นั่นหมายความว่า นโยบายที่ดีของรัฐบาลทักษิณควรได้รับการสนับสนุน และหากในด้านที่เคยมีนโยบายที่ผิดคุณทักษิณเกิดอาการสำนึกผิดและ "เปี๋ยนไป๋" ไปในทางที่ดีขึ้นก็ควรได้รับการสนับสนุนเช่นกัน แต่จะต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงหรือไม่ รวมทั้งผลักดันการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ในเรื่องที่คุณทักษิณหรือรัฐบาลของเขามีนโยบายหรือการกระทำที่ผิด ก็ต้องว่าไปตามผิด หากถึงขนาดเป็นความผิดร้ายแรงที่ละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และสมควรที่จะดำเนินการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญก็ต้องทำ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ หากถึงขนาดต้องชุมนุมโดยสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกไปก็ต้องทำ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ นี่คือภารกิจของประชาชนในการดูแลสังคม และประเทศชาติของตนไม่ให้ตกอยู่ในในสภาพที่ตกอับ

รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๔: "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก"

รัฐธรรมนูญมาตรา ๖๕: "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้"

__________________________________________________________

หมายเหตุ:
บทความนี้ดัดแปลงเล็กน้อยจากบทความชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในหนังสือ "อยู่กับทักษิณ" - บรรณาธิการ : เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือทั่วไป

รายได้ทั้งหมดที่ผู้เขียนได้รับจากบทความ "ภายใต้ดวงตะวันของคุณทักษิณ" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ "อยู่กับทักษิณ" ผู้เขียนจะมอบให้คุณสุภิญญา กล้าณรงค์ เพื่อใช้ในการต่อสู้คดีที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท ๔๐๐ ล้านบาทโดยบริษัทชินคอร์ป

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ผมคงจะต้องย้ำว่า ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะสื่อว่าคุณทักษิณเป็นผู้ที่ไร้ความจริงใจ หรือความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าคุณทักษิณมีความสัมพันธ์กับประชาชนที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่นมีเป้าหมายแอบแฝงบางอย่างที่ไม่ได้บอกประชาชนชัดเจน ที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เรียกว่า "นโยบายการแปลงทรัพย์สินสาธารณะให้เป็นของเอกชน" (อ.จอน อึ้งภากรณ์ สมาชิกวุฒิสภา)

ชัดเจนว่า คุณทักษิณไม่ใช่นักปฏิรูปการเมืองตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือเคยโบกธงเขียวทั้งหลายไม่น่าจะมีความสงบทางจิตใจภายใต้ดวงตะวันของเขา แต่เขาก็เป็นนักปฏิรูปตัวจริงเหมือนกัน เป็นทั้งนักปฏิรูปทางเศรษฐกิจและทางด้านการบริหารประเทศ และดูเหมือนเขาได้พยายามบริหารประเทศในสไตล์ที่เลียนแบบนายลี กวน ยู (อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์) ซึ่งเป็นการบริหารประเทศในแบบระบบอุปถัมภ์ แต่ถ้าจะให้พูดตรงๆ แม้ทั้งสองคนจะนิยมการบริหารประเทศด้วยลักษณะ "ผู้นำย่อมรู้ดีกว่าประชาชน" แต่ผลงานในด้านการสร้างระบบการบริหารประเทศที่เน้นธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ก็ยังห่างกันเป็นโยชน์

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ