ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
010248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 516 หัวเรื่อง
เกษียรกับการเมืองเรื่องหมากัดกัน
รศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ยุทธวิธีทางการเมืองเรื่องเลือกตั้ง
การเมืองภาคพลเมืองเรื่อง"หมากัดกัน" (๒)
บทความถอดเทปในส่วนของ
เกษียร เตชะพีระ
ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันที่ 30 มกราคม 2548 / เวลา 9.30-12.00
สถานที่ : สมาคนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผู่ร่วมบนเวทีประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, อรรถจักร สัตยานุรักษ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สมเกียรติ ตั้งนโม : พิธีกร


หมายเหตุ:
บทความถอดเทปนี้ จะทยอยนำเสนอต่อเนื่องกันตามลำดับ ตั้งแต่บทความลำดับที่ 515, 516, และ 517
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านคู่มือพลเมืองของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกไปอ่านได้ที่นี่

บทความถอดเทปชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)

 


ต่อจากบทความลำดับที่ 515 (คลิกกลับไปอ่านบทความที่ 515)

เกษียร เตชะพีระ : ผมจะพูดเรื่องหมากัดกันเหมือนกัน เพียงแต่ว่าวิธีการคิดและทำความเข้าใจในเรื่องหมากัดกันของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับของผมอาจจะต่างกันเล็กน้อย ผมเองอยากจะเริ่มจากหลักรัฐศาสตร์ คือสถานการณ์ปัจจุบันไม่ค่อยดีเท่าไร เมื่อนึกถึงความเปรียบเรื่อง"หมากัดกัน" กล่าวคือ

เรามีหมาป่าที่กำลังสู้กับหมาจิ้งจอก หมาป่ามีข้อเสนอที่ชัดเจนว่า พวกเราควรทิ้งสมองไว้ที่บ้าน แล้วไปเลือกหมาป่ามาปกครองในวันที่ 6 กพ. ขณะที่ฝูงหมาจิ้งจอกทั้งหลายยังตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นหัวหน้าฝูง

สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้จะรวมศูนย์ไปที่หมาป่าเป็นหลัก เพราะคิดว่ามันน่ากลัวกว่า

ผมอยากจะเริ่มต้นโดยเรื่องอย่างสองอย่างที่ธรรมศาสตร์ แถวๆที่ผมสอนหนังสือ ที่ธรรมศาสตร์รังสิตมีป้ายมาติดแถวโรงอาหาร เดาว่าเป็นฝีมือนักศึกษา มีข้อความดังนี้ "400 เสียงเป็นเผด็จการ?" คล้ายๆกับว่า จำเป็นหรือที่ 400 เสียงจะเป็นเผด็จการ. ขณะเดียวกันที่ผมสอนวิชาสัมนาการเมืองไทย ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งในชั้น คือเรากำลังพูดถึงระบอบทักษิณและรัฐบาลทักษิณ เขาก็โพล่งขึ้นมาว่า "ถ้าไม่พอใจรัฐบาลทักษิณ ครบ 4 ปี ก็อย่าไปเลือกอีกก็แล้วกัน"

ผมเอาทั้ง 2 เรื่องนี้มาโยงกัน เพราะคิดว่ามีฐานคิดที่โยงกันอยู่ คือในแง่หนึ่งจะว่าไป ไม่ว่า"400 เสียงเป็นเผด็จการหรือ?" หรือว่า"ถ้าไม่พอใจรัฐบาลทักษิณ พอครบ 4 ปี ก็อย่าไปเลือกอีกก็แล้วกัน" คิดว่าถูกตามหลักประชาธิปไตยทั้งคู่ คืออย่าว่าแต่ได้ 400 จาก 500 เสียงเลย ต่อให้ได้เป็น 420, 450, หรือกว่านั้น โดยตัวจำนวนเสียงเอง ก็ไม่ทำให้ใครหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดไหนเป็นเผด็จการ ถ้าดูแค่ตัวจำนวนเสียง

เพราะเป็นธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ที่ผู้ปกครองซึ่งจะเข้ามากุมอำนาจต้องมีเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมากหน่อย ม๊ากมาก หรือมากฉิบหายก็ตามที อย่างไรก็ตาม ถ้ามากขนาด 499 หรือ 500 เต็ม ก็ออกจะผิดสังเกตไปหน่อย คือคนอาจทักว่าชัดจะเหมือนกับประชาธิปไตยรวมศูนย์ ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์

หรือว่าถ้ารัฐบาลทักษิณชนะการเลือกตั้งรอบใหม่วันที่ 6 กพ.นี้ และขึ้นครองอำนาจอีก ก็ต้องถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้เปล่งเสียงสวรรค์ของตนแล้ว หากใครฟังแล้วไม่ถูกหูในเสียงสวรรค์นั้น อีก 4 ปีข้างหน้าก็อย่าไปเลือกอีกก็แล้วกัน
กล่าวคือ ข้อสังเกตทั้งสอง ถูกต้องตามหลักการได้มาซึ่งอำนาจผ่านการเลือกตั้ง และหลักการปกครองด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งสองหลักนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ว่ามันถูกแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น ถูกต้องหากมองประชาธิปไตยเพียงแค่ซีกเดียวหรือส่วนเดียว คือซีกหลักการได้มาซึ่งอำนาจ แต่ประชาธิปไตยในฐานะระบอบและกระบวนการทางการเมือง การปกครอง มีอีกซีกหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน กระทั่งในบางด้านอาจสำคัญมากกว่าวิธีการได้มาซึ่งอำนาจด้วยซ้ำ คือ ซีกที่เกี่ยวกับหลักการใช้อำนาจ

หมายความว่า เมื่อชนะการเลือกตั้งและได้อำนาจมาแล้ว เราต้องดูว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้อำนาจไปอย่างไรและบนพื้นฐานของผลงานในอดีต 4 ปีที่ผ่านมา หากรัฐบาลชนะเลือกตั้งได้อำนาจเข้ามาอีกหน, 4 ปีข้างหน้าคณะผู้กุมอำนาจชุดเดียวกันนี้ ส่อท่าทีว่าจะใช้อำนาจไปอย่างไร ผมคิดว่ามีหลัก 2 ประการในการเป็นเกณฑ์ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย

เกณฑ์ที่หนึ่ง, พวกเขารักษา และทำตามสัญญาเชิงนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่?
เกณฑ์ที่สอง, พวกเขารักษา และทำตามกฎกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ในเกณฑ์ตรวจสอบการใช้อำนาจ 2 ประการนี้ อันแรก,ทำตามสัญญานโยบายในตอนเลือกตั้งหรือเปล่า อันที่สอง,ทำตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ผมคิดว่าข้อหลังสำคัญกว่าข้อแรก กล่าวคือ ข้อแรกที่ว่ารักษาสัญญาเชิงนโยบายที่ให้ไว้ตอนหาเสียงหรือไม่ ถ้าเราตรวจสอบแล้วพบว่าเบี้ยว บิดพริ้วสัญญา พูดอย่างทำอย่าง ไม่น่าไว้วางใจ เราก็แก้ไขได้โดยหนหน้าก็อย่าไปเลือก

แต่ว่าเกณฑ์ข้อหลังเรื่องกฎกติกาขั้นพื้นฐาน มันสำคัญเสียจนกระทั่งหากแม้นใครละเมิดเข้าแล้ว แค่หนหน้าอย่าไปเลือกเขาก็ยังไม่พอจะแก้ไขเลย เพราะมันเท่ากับละเมิดกฎกติกาพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางอำนาจ และการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว คือถ้าคุณไปละเมิดสิ่งนั้นเข้า ไม่เพียงแต่คุณไม่น่าไว้วางใจเท่านั้น แต่คุณได้ทำลายข้อตกลงขั้นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันระหว่างคุณ ในฐานะผู้ปกครอง กับเราในฐานะผู้ถูกปกครองลงไปด้วย

พูดอย่างนี้ฟังดูเข้าใจยาก ผมอยากเปรียบว่า"เหมือนกับชีวิตคู่" แง่มุมได้มาซึ่งอำนาจก็เหมือนกับการได้เมียมา ขณะที่แง่มุมของการใช้อำนาจก็เหมือนกับวิธีการที่เราในฐานะที่เป็นสามี ปฏิบัติต่อเมียหลังจากนั้น. แน่นอน เกี่ยวกับวิธีการได้เมียมา การเข้าตามตรอก ออกตามประตู เกี้ยวพาราสี ชนะใจเจ้าสาว สู่ขอ จ่ายสินสอดทองหมั้นตามประเพณี ย่อมดีกว่า ชอบธรรมกว่าการฉุดคร่า ข่มขืน

ก็เหมือนกับชนะเลือกตั้งย่อมดีกว่าการยึดอำนาจมาด้วยการรัฐประหารอยู่ดี แต่ต่อให้สู่ขอตามประเพณีก็ตาม หากอยู่ด้วยกันแล้ว พอเจ้าประคุณสามีซ้อมเช้าซ้อมเย็น เถียงก็ตบ ขัดใจก็เตะ สินสมรสคิดจะริบไปใช้คนเดียวก็ริบ เอะอะก็ตะคอกถามว่า"เมียกูหรือเปล่า" หวาดระแวงว่าจะนอกใจฝักใฝ่ชายชู้อยู่เสมอ หรือไปรับเงินต่างชาติอย่างนี้นะครับ เผลอๆก็ไปคว้าเอาไม้กอล์ฟมาฟาดเอาๆปางตาย แบบนี้ต่อให้ได้เมียมาโดยการสู่ขอตามประเพณี แต่ก็ถือว่าเป็นสามีที่สอบตก เลวร้ายและอันตรายอย่างยิ่ง

ครั้นเมียจะกลับใจขอหย่า เพื่อว่าเลือกคู่รอบหน้า จะไม่เลือกมันมาทำผัวอีกแล้ว ก็อาจจะสายเกินไป คือตายคามือหรือคาตีนของผัวปัจจุบันเสียก่อน ไม่ทันรอดชีวิตไปเลือกผัวใหม่

กฎกติกาขั้นพื้นฐานของชีวิตคู่ฉันใด กฎกติกาขั้นพื้นฐานของชีวิตการเมืองก็ฉันนั้น กล่าวคือรัฐบาล ต่อให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเสียงข้างมาก ก็ต้องมีอำนาจจำกัด มิได้มีอำนาจสมบูรณ์เหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในอดีต อำนาจของผัวในชีวิตคู่จะต้องถูกจำกัดโดยสิทธิของเมียฉันใด อำนาจเสียงข้างมากของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องถูกจำกัดโดยสิทธิของประชาชนฉันนั้น โดยเฉพาะสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน

ต่อให้รัฐบาลมีเสียงมากเท่าไร อำนาจต้องหยุดลงตรงนี้ ตรงเส้นที่เริ่มเข้าสู่เขตสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน กฎกติกาที่ว่านี้บางทีเราก็เรียกว่า "หลักนิติรัฐ" หรือ Rule of Law มีร่างทรงรูปธรรมคือรัฐธรรมนูญ และอันนี้แหละเป็นตัวจำแนกความแตกต่างขั้นมูลฐานระหว่างระบอบ 2 อย่าง คือระบอบอำนาจอาญาสิทธิ์ไร้ขีดจำกัดที่มาจากการเลือกตั้ง กับระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ, 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกัน

บนเกณฑ์คิดอย่างนี้ ถ้าเราดูผลงานการใช้อำนาจ 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทักษิณ ตามเกณฑ์ 2 ข้อข้างต้น ในแง่การรักษาและทำตามสัญญาหาเสียงเชิงนโยบาย เขาอาจจะไม่ได้ทำครบทุกข้อ แต่เขาทำได้มากและโดดเด่น ผิดแผกแตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเราฟังไม่ผิดเพราะผมชมท่านจริงๆ อาจจะบกพร่องบ้างในนโยบายปราบคอรัปชั่น นโยบายการศึกษา นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้ทำเท่าที่ควร แต่โดยรวมได้ทำตามสัญญาหาเสียงเลือกตั้งเชิงนโยบายได้แบบสอบผ่าน และก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ ทำให้ประชาชนจำนวนมากอยากลงคะแนนให้อีก

แต่เมื่อมาพิจารณาในเกณฑ์ข้อหลัง เรื่องการรักษาและทำตามกฎกติกาขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคือรัฐธรรมนูญแล้ว ผมสงสัยว่ารัฐบาลคงจะสอบตก เพราะรัฐบาลถูกกล่าวหาโดยมหาชน องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน วุฒิสมาชิกและนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ด้วยข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญหลายมาตราด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้อำนาจบริหารออกพระราชกำหนด ในกรณีที่ล่อแหลมต่อการล่วงละเมิดอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา

มีประชาชนโดยเฉพาะผู้บริสุทธิ์ ที่ยังไม่ผ่านการจับกุม ไต่สวน ฟ้องร้อง ตัดสินคดีถึงที่สุดตามกระบวนการยุติธรรม และถ้าไม่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ก็ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน มีประชาชนลักษณะนี้ ถูกสังหารในกรณีที่เกี่ยวโยงกับนโยบายหลักของรัฐบาล ไม่ว่านโยบายปราบปรามยาเสพติด หรือนโยบายรักษาความสงบชายแดนภาคใต้ มากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ทนายสิทธิมนุษยชนชื่อดังยังถูกอุ้ม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ กลางเมืองหลวง ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสันติ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทุบตีทำร้ายบนพื้นฐานข่าวกรองที่เลื่อนลอย สื่อมวลชนที่วิจารณ์รัฐบาลถูกปลดย้าย ปิดรายการ ฝ่ายค้านถูกคุกคามด้วยอำนาจรัฐและอำนาจทุน

พูดอีกอย่างก็คือ จากข้อมูลเท่าที่มี ผมเกรงว่าไม่มียุคสมัยใดภายใต้ระบอบการเลือกตั้งประชาธิปไตย ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา ที่ประชาชนถูกละมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน มากเท่ากับ 4 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลทักษิณ อันนั้นเป็นผลงานการใช้อำนาจของเสียงข้างมากที่ยังไม่ถึง 400 ด้วยซ้ำ ถ้าหากได้เสียงข้างมากที่ถึง 400 หรือเกิน 400 ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลทักษิณ 2 จะสร้างสถิติใหม่ของไทยและของโลกในแง่การใช้อำนาจอะไรอีก

ดังนั้น ถ้ามองในแง่หลักการใช้อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่ไปล่วงสิทธิของเสียงข้างน้อยแล้ว รัฐบาลทักษิณก็มีลักษณะเข้าข่ายระบอบอำนาจอาญาสิทธิ์ไร้ขีดจำกัดจากการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตยใดๆ และคำถามหลักที่ควรจะยกมาถามอย่างจริงจังต่อระบอบรัฐบาลชุดนี้ก็คือว่า

จะมีกลไกหรือมาตราการไหนไหม ที่จะช่วยปกป้องสิทธิของเสียงข้างน้อยไว้ได้ จากการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตจำกัดของเสียงข้างมาก ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง? ถ้ากลไกหรือมาตราการแบบนี้ไม่มี หรือมีแต่ล้มเหลว ไม่อาจปกป้องสิทธิของเสียงข้างน้อยไว้ได้ อะไรก็แล้วแต่ที่เรามี ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบทรราชย์ของเสียงข้างมาก

ในทางรัฐศาสตร์ อันตรายของรัฐบาลเสียงข้างมากในระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย ที่สำคัญมีด้วยกัน 4 อย่าง

อันที่หนึ่ง, รัฐบาลเสียงข้างมาก อาจบิดเบือน ฉวยใช้อำนาจรัฐในมือเพื่อเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายตนชนะเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาสู่อำนาจอีกเช่น การเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500 ของพรรคเสรีมนังคศิลาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ทุกวันนี้ก็มีเสียงครหาทำนองนั้นอยู่มาก อันนี้เป็นอันตรายอย่างแรกที่ใช้อำนาจรัฐให้ตนชนะเลือกตั้งใหม่

อันที่สอง, รัฐบาลเสียงข้างมากรวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ อาจจงใจละเลยหลักนิติรัฐเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ร่วมของตน หรืออารมณ์ความรู้สึกร้อนแรงเฉพาะหน้า เหนือสิทธิของเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะในยามสงคราม การก่อการร้าย หรือสถานการณ์คับขันหน้าสิ่วหน้าขวาน

อาทิ การปราบปรามสังหารหมู่ประชาชนที่ชุมนุมประท้วงอยู่ในธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลา 2519, การฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด 2000 กว่าคน ท่ามกลางเสียงชื่นชม นิยมชมชอบของคนส่วนใหญ่ในสังคม, การสลายการชุมนุมและขนย้ายผู้ชุมนุมซึ่งมีผู้เสียชีวิต 80 กว่าคนที่ตากใบ, การสั่งห้ามเผยแพร่ VCD ตากใบ เป็นต้น

อันตรายมาจากรัฐบาลเสียงข้างมากและประชาชนส่วนใหญ่ด้วย ในบางสถานการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่า มีความรู้สึกและอารมณ์รุนแรงจนกระทั่ง สิทธิของคนส่วนน้อยกลายเป็นเรื่องที่เขาไม่สนใจ ปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้

อันที่สาม, รัฐบาลเสียงข้างมากรวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ อาจจงใจละเลยสิทธิของชนเชื้อชาติหรือศาสนาของชนส่วนน้อย เนื่องจากอคติลำเอียง ความเกลียดชัง ความไม่เข้าใจเชื้อชาติศาสนาที่หยั่งลึกยาวนาน และไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไข ปกติแล้วอาจจะไม่ได้พบได้เห็น แต่อาจจะมีความหวาดระแวง ความไม่เข้าใจหยั่งลึกยาวนานนอนก้นอยู่ สิ่งเหล่านี้อาจนำมาซี่งมาตราการที่ไปละเมิดสิทธิของคนส่วนน้อยทางด้านเชื้อชาติศาสนาได้

เช่น มาตราการรัฐนิยมที่เลือกปฏิบัติจำกัดสิทธิของคนจีน คนมาลายูมุสลิมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระแสต่อต้านคนญวนเนื่องจากโรคจู๋ระบาดเมื่อปี 2519 มีการบุกรุกทำร้ายคนญวนทางภาคอีสานเป็นจำนวนมาก กระแสเกลียดแขกมาลายูมุสลิมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แสดงออกแพร่หลายดกดื่นตามเว็ปบอร์ด เป็นต้น. ถ้าท่านเคยไปเปิดอ่านดู ก็จะรู้สึกตกใจว่า อันนี้เป็นความคิดความเห็นของเพื่อนร่วมชาติเดียวกันกับเรา เช่น ฆ่ามันเลย ไล่มันไปให้พ้น เอาคนไทยพุทธออกมาแล้ว บอมมันเลย ทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อันที่สี่, ประชาชนส่วนใหญ่ อาจถูกปลุกระดมจนอารมณ์พลุ่งพล่าน เกรี้ยวกราด กลายเป็นม็อบและทำการละเมิดหลักนิติรัฐ และสิทธิของเสียงข้างน้อย หรือกดดันให้ผู้แทนเสียงข้างมากกระทำเช่นนั้น เช่น ม็อบฆ่าโหดและประชาทัณฑ์ที่สนามหลวงและที่ธรรมศาสตร์ ตอน 6 ตุลา 2519 เป็นต้น ด้วยความเกลียดกลัวคอมมิวนิสม์ และด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ถ้ามีการไปปลุกระดมอารมณ์เหล่านี้ขึ้นมา คนไทยก็กลายเป็นฆาตกรได้

ในระบอบประชาธิปไตย มีกลไกอะไรบ้างที่จะระวังป้องกันภัยของคนส่วนใหญ่ของเสียงข้างมากเหล่านี้ ปกติมีอยู่ 4 ชนิดใหญ่ๆที่ใช้เพื่อมาป้องกัน กำกับ ควบคุม ไม่ให้มีการใช้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัดของเสียงข้างมาก

อันที่หนึ่ง, คือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเป็นพิเศษในการลงมติบางกรณีเ เช่น เพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะต้องใช้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ซึ่งไม่ใช่เป็นแบบ simple majority แบบ 50 +1 ธรรมดา หรือถ่วงเวลาลงมติให้เนิ่นช้าออกไป เพื่อให้อารมณ์ที่ถูกปลุกขึ้นมาสงบเยือกเย็นลง เป็นต้น

อันที่สอง, ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคณะตุลาการ ซึ่งก็พูดตรงไปตรงมาก็คือกลุ่ม elite จำนวนน้อยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย เชี่ยวชาญการเมือง ตั้งคนเหล่านี้ขึ้นมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจยับยั้งการที่เสียงข้างมากในรัฐสภา ที่อาจจะละเมิดรัฐธรรมนูญได้

อันที่สาม, ก็คือ การแบ่งแยกอำนานอธิปไตยออกเป็นฝักฝ่าย เพื่อให้คานอำนาจกัน เช่น แบ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และถ้าคิดให้กว้างออกไป รวมทั้งบทบาทของอำนาจที่สี่ ซึ่งก็คือสื่อมวลชน พวกนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างเช่น ธนาคารชาติ อันนี้ถ้ามองในแง่การเงินการธนาคาร สถาบันเหล่านี้ก็เป็นการแบ่งแยกอำนาจในสังคมอย่างหนึ่ง ช่วยเป็นหมาเฝ้าบ้านเพื่อป้องกันการบิดเบือนฉวยใช้อำนาจของเสียงข้างมากในสภา ในรัฐบาล หรือในสังคมโดยกว้างก็ตาม

ประการสุดท้าย, ก็คือ การจัดวางกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆในระบบ คือเหมือนกับวางหมากรุก ไว้มีตัวคอยบล็อก คอยล็อคเอาไว้บ้าง เช่น มีผู้นำฝ่ายค้านซึ่งอันนี้เป็นตำแหน่งในรัฐธรรมนูญ หัวหน้าของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงที่สุดในบรรดาฝ่ายค้าน ก็จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

มีมาตราการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลทั้งคณะ มีวุฒิสภาคอยตรวจสอบกฎหมายที่ผ่านโดยสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว และในกรณีของไทยก็คือ มีองค์พระประมุขทรงไว้ซึ่งอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้ว และส่งคืนให้เพื่อพิจารณาทบทวน เป็นคล้ายๆกับกลไกที่วางไว้เพื่อเช็ค และถ่วงดุลเสียงข้างมากอีกชั้นหนึ่ง

รวมทั้งองค์กรมหาชนอิสระต่างๆ เช่น ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

คราวนี้ถ้าโดยหลักรัฐศาสตร์มันมีกลไกเหล่านี้ไว้เช็คเสียงข้างมาก เรามาดูกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับกลไกเหล่านี้ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

ผมคิดว่าพอจะเห็นภาพได้ว่า กลไกคัดคานอำนาจเสียงข้างมากทั้ง 4 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกอำนาจ สื่อมวลชน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรอิสระ อะไรก็แล้วแต่ ค่อนข้างไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้ผลในรัฐบาลของทักษิณ คะคานอำนาจรัฐ บวกอำนาจทุนที่รวมศูนย์ภายใต้รัฐบาลไม่ค่อยไหว ถูกแทรกแซงบิดเบือน คุมกำเนิด ทำให้เป็นอัมพาต จึงกลายเป็นปัญหาว่า จะป้องกันสิทธิเสียงข้างน้อยจากทรราชย์เสียงข้างมากในอนาคต ภายใต้รัฐบาลทักษิณ 2 อย่างไร?

เรื่องนี้สำคัญเพราะ และผมคิดถึงสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ผมรู้สึกว่าทรราชย์ของเสียงข้างมาก อาจจะนำไปสู่การก่อการร้ายของเสียงข้างน้อยโดยตรง ถ้าเรามีระบบทรราชย์ของเสียงข้างมาก มันจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายของเสียงข้างน้อยได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างมั่นใจอย่างสมบูรณ์ในความถูกต้องชอบธรรมของตน ฝ่ายเสียงข้างมากก็เชื่อมั่นว่า เราได้เสียงข้างมากมาถูกต้องตามระบอบ เราถูกต้อง เราจะดำเนินงานตามนี้, ฝ่ายเสียงข้างน้อยเมื่อรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีทางออก ก็ไม่เลือกวิธีการในการต่อต้านคัดค้าน

รู้สึกว่าปัญหาในสังคมไทยตอนนี้ พูดในระดับแบบ… จะใช้คำว่าอะไรดี จะว่าง่ายมันก็ไม่ง่าย ระดับแบบเปรี้ยงเลย สังคมไทยมีอะไรและไม่มีอะไร ผมคิดว่าสังคมไทยมีความมั่นใจมากเกินไป และมีความสงสัยน้อยเกินไป เชื่อง่าย มั่นใจง่าย และไม่ค่อยสงสัย ทั้งในฝ่ายเสียงข้างมาก และในฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย

คำถามคือ เราจะสร้างความสงสัยขึ้นในสังคมไทยอย่างไร?
"สงสัย" ทั้งต่อประสิทธิภาพและความจำเป็นของอำนาจไร้ขีดจำกัดของรัฐบาลเสียงข้างมาก ทำไมถึงเชื่อกันนักว่าต้องมี ทำไมถึงเชื่อกันนักว่าดี ผมแปลกใจมาก คือสร้างภาพที่น่ากลัวมากเลยว่า ถ้ากลับไปสู่รัฐบาลผสมแล้ว จะฉิบหายแน่บ้านเมือง ภายใต้ภาวะข้างหน้า เราจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด เพื่อเอาไว้แก้ปัญหา

ในแง่กลับกัน ทำไมไม่สงสัยล่ะ? ว่ารัฐบาลแบบนั้นอาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้ ทำไมถึงเชื่อนักกับอำนาจไร้ขีดจำกัดของรัฐบาลเสียงข้างมาก ในทางกลับกัน ผมคิดว่าจำเป็นเหมือนกันที่เราจะต้องสร้างให้คนสงสัยต่อประสิทธิภาพและความจำเป็น ของการก่อการร้ายบนพื้นฐานศรัทธาศาสนาของเสียงข้างน้อย

การออกไปทำร้าย ฆ่าฟันคนบริสุทธิ์ จะด้วยปืน ระเบิด หรือมีดดาบก็ตาม การเอาชีวิตไปเสี่ยง ถ้าเรานึกถึงกรณี 28 เมษา ถือมีดแล้ววิ่งเข้าใส่ตำรวจ ทหาร เอาชีวิตไปเสี่ยง มีสิทธิ์ตายเยอะ คุณจะไปฆ่าคนอื่นที่คุณไม่รู้จักและเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ และคุณจะเอาชีวิตคุณไปเสี่ยงได้ อย่างหนึ่งที่คุณจะต้องไม่มีก็คือความสงสัย ว่าสิ่งที่คุณทำนั้นถูกหรือเปล่า คุณจะต้องเชื่อมั่นอย่างหัวปักหัวปำอย่างสุดจิตสุดใจเลยว่า ที่ทำนี้ถูก คุณถึงไปฆ่าคนอื่นได้ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ คุณถึงเอาชีวิตของคุณไปเสี่ยงได้

ผมรู้สึกว่า วิธีการที่จะแก้ปัญหาของคนที่ก่อความไม่สงบทั้งหลายที่คิดกันนี้ มูลฐานที่สุดก็คือ ต้องทำให้เขาสงสัยให้ได้ว่า ทำแบบนี้แล้วเขาจะได้หรือเสียสิ่งที่เขาต้องการ ตราบใดที่เราทำให้พวกเขาสงสัยไม่ได้ ไม่คุยกับเขา ไม่เข้าใจเขา ไม่เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของเขา เราไม่มีทางทำให้เขาสงสัยได้เลย ถึงแม้ว่าเราจะปรารถนาดีและพับนกส่งลงไปก็ตาม

อันนี้ผมพูดจากประสบการณ์ ผมเคยอยู่ในขบวนการอย่างเดียวกับรองนายกฯ จาตุรนต์ คือขบวนการคอมมิวนิสท์ในป่า การยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธจะนำไปสู่สิ่งดีงานหรือเปล่า รัฐบาลไม่ต้องเอาระเบิดมาบอม มีคนวางปืนเดินออกจากป่าเป็นทิวแถว และกระบวนการที่ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นในสมัยนั้น คือคุยกับเขา สร้างเงื่อนไขที่เขาจะวางปืนออกมาได้ แล้วส่งเอกสารข้อมูลต่างๆเข้าไป เพื่อให้เขาได้สื่อสารกับสังคมข้างนอก กระบวนการเหล่านี้ผมรู้สึกว่าในปัจจุบันไม่ค่อยได้เกิด

ลองตั้งคำถามง่ายๆ เราท่านทั้งหลายคงอ่านไทยรัฐ ตื่นเช้าขึ้นมาอ่านมติชน อ่านเดลินิวส์ หรืออะไรก็แล้วแต่ และเราก็ดูทีวีช่อง 3 หรือช่อง 9 ก็แล้วแต่ ผู้ก่อการเขาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับไหน? เขาดูทีวี เขาฟังวิทยุสถานีอะไร ทราบไหมครับ? จะว่าเป็นสถานีเดียวกันกับเรา ผมสงสัยว่า ผู้ก่อการจำนวนมากใช้ภาษามาลายู เรามีสื่อภาษามาลายูที่จะคุยกับเขาไหม? เรามีผู้เชี่ยวชาญภาษามาลายูที่จะลองทำให้เขาเกิดความสงสัยในสิ่งที่เขาเชื่อ แล้วฆ่าคนด้วยความเชื่อหรือยัง

ตราบใดที่กระบวนการเหล่านี้ไม่มี และต่างฝ่ายต่างมั่นใจในพวกของตน ทั้งในฝ่ายเสียงข้างมาก และอีกฝ่ายก็มั่นใจในการก่อการร้ายบนพื้นฐานศรัทธาศาสนา ผมเกรงว่าไฟแห่งความรุนแรงก็จะไม่ดับ ผมเกรงว่าแม้แต่ประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่มีใครสงสัยเลย จะดับไฟความรุนแรงนี้ได้
ขอบคุณครับ


บทความต่อเนื่อง คลิกไปอ่านบทความลำดับที่ 517



 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความถอดเทปเรื่อง การเมืองภาคพลเมืองเรื่องหมากัดกัน เฉพาะในส่วนของอาจารย์
เกษียร เตชะพีระ (องค์กรร่วมจัด : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

หมากัดกันในสำนวนของภาษาไทย จะหมายความว่า ปล่อยหมาไปแล้วมันกัดกันตามใจชอบ แต่ไม่ใช่ หมากัดกันของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนหมายความว่า กูสั่งให้มึงกัดใคร ไม่ใช่มึงกัดกันเองตามใจชอบ ฉะนั้นการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงมีความสำคัญ แต่ว่าไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อเลือกเครื่องมือทางการเมืองของเรา ไม่ใช่เลือกตัวแทนของเรา คนที่เราสามารถสั่งได้ ไม่ใช่คนที่ไปคิดหรือทำอะไรแทนเราไปหมด

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ทั้งหมดเหล่านี้ถามว่าเมืองไทยพร้อมหรือไม่ ที่เราจะเป็นประชาธิปไตยทางตรง ผมคิดว่าพร้อม และถ้าดูในสังคมไทยให้ดี เราจะพบว่า พร้อมมากขึ้นแต่ก่อนนี้ด้วยซ้ำไป เพราะว่ามีคนจำนวนมากขึ้น ที่กำลังก้าวเข้ามาสู่การใช้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงเช่นนี้มากขึ้นๆทุกที เป็นแต่เพียงว่ารัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามจะปิดพื้นที่นี้ ไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้สิทธิในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยวิถีทางต่างๆตลอดมา เช่น ตีหัวเขาบ้าง เอากฎหมายเทศบาลมาจับเขาหรืออุ้มขึ้นรถไปบ้าง และอื่นๆอีกร้อยแปด ในการที่จะไม่ให้ประชาชนปกครองตนเองอย่างแท้จริง และผมขอย้ำว่าไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ที่หัวประชาชนนั้นเป็นเป้าหมายสำหรับการตีกระบาล

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
R
คลิกกลับไปอ่านบทความลำดับที่ 515