ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
251247
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 498 หัวเรื่อง
ทักษิโณมิกส์ เศรษฐศาสตร์ทักษิณ
ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความทางเศรษฐศาสตร์
ทักษิโณมิกส์ เศรษฐศาสตร์แบบทักษิณ

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้เคยเผยแพร่แล้วในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทางกองบรรณาธิการใคร่ขออนุญาตอาจารย์
นำมาเผยแพร่ต่อบนเว็ปไซต์ ม.เที่ยงคืน เพื่อเป็นบทสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจในรอบสี่ปีที่ผ่านมา
ภายใต้การนำของรัฐบาลไทยรักไทย สำหรับนักศึกษา สมาชิกและผู้สนใจ
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)

 

ทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics) ตอนที่ 1-2
หมายเหตุ : บทความนี้มาจากการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "Thaksinomics" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547
ผู้เขียนขอขอบคุณนายสุปรีดี พิบูลย์พัฒน์ ซึ่งช่วยเรียบเรียงจากการอภิปรายดังกล่าวนี้
จาก http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9470000093643

ภาคที่ 1-ทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics) คืออะไร
8 ธันวาคม 2547 19:58 น.

คำว่า "ทักษิโณมิกส์" (Thaksinomics) มาจากคำว่า "ทักษิณ" (Thaksin) ผสมกับคำว่า "อีโคโนมิกส์" (Economics) ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วอาจจะมีความหมายว่า "เศรษฐศาสตร์ของคุณทักษิณ" "เศรษฐศาสตร์โดยคุณทักษิณ" หรือ "เศรษฐศาสตร์เพื่อคุณทักษิณ"

เราสามารถวิเคราะห์ทักษิโณมิกส์ได้หลายแนวทาง ดังเช่น การวิเคราะห์ทักษิโณมิกส์ในฐานะสำนักความคิดทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ทักษิโณมิกส์ในฐานะเมนูนโยบายเศรษฐกิจ หรือการวิเคราะห์ทักษิโณมิกส์ในฐานะยี่ห้อทางการเมือง (Political Brandname)

แนวทางแรก คือ การมองทักษิโณมิกส์ในฐานะ "สำนักความคิดทางเศรษฐศาสตร์" จะเห็นได้ว่าทักษิโณมิกส์ มิได้ ผลิตองค์ความรู้ใหม่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ และมิได้ ผลิตปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายพฤติกรรม ปรากฏการณ์ และปัญหาทางเศรษฐกิจในสังคม แต่ต้องการนำเสนอเมนูนโยบายเศรษฐกิจสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน

แนวทางที่ 2 คือ การมองทักษิโณมิกส์ในฐานะ "เมนูนโยบายเศรษฐกิจ" ทักษิโณมิกส์มีเมนูนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ 2 เมนู ได้แก่ นโยบายประชานิยม (People-centered Policy Menu) และยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี (Dual-Track Economic Development Strategy) สาระสำคัญของทักษิโณมิกส์มีการลื่นไหล ไม่คงตัว ขึ้นอยู่กับ Hyper-Activeness ของคุณทักษิณ ดังนั้น เราจึงต้องประมวลอย่างรอบด้านโดยวิเคราะห์จากสุนทรพจน์และบทสัมภาษณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รวมตลอดจนข้อเขียนของที่ปรึกษาผู้ชิดใกล้คุณทักษิณ และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพบว่ามีความไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คุณทักษิณพรรณนาว่าเป็นทักษิโณมิกส์

แนวทางที่ 3 คือ การมองทักษิโณมิกส์ในฐานะ "ยี่ห้อทางการเมือง" (Political Brandname) คำถามประกอบการวิเคราะห์ได้แก่ เหตุใดเมนูนโยบายจึงต้องมียี่ห้อ? ทั้งๆ ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้นำเสนอเมนูนโยบายโดยที่ไม่ต้องมียี่ห้อ และ ใครเป็นผู้สร้างยี่ห้อทักษิโณมิกส์? ในความเห็นส่วนตัว "ทักษิโณมิกส์ เป็นประดิษฐกรรมเพื่อการตลาดการเมืองระหว่างประเทศของพรรคไทยรักไทย มีเป้าประสงค์ที่จะสร้างบารมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้เป็นผู้นำแห่งอุษาคเนย์"

ภาคที่ 2-สาระสำคัญของทักษิโณมิกส์
เป้าหมายการดำเนินนโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์
รัฐบาลทักษิณมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการที่บางครั้งสอดคล้องกัน บางครั้งขัดแย้งกัน ได้แก่ การดำเนินนโยบายเพื่อให้ได้คะแนนนิยมทางการเมืองสูงสุด (Vote-gains Maximization) ที่มุ่งเน้นนโยบาย "ประชานิยม" และ การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด (Private-Interest Maximization) โดยไม่สนใจประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) และการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ศิลปะของการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่การกำหนดและบริหารนโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งสองอย่างผสมกลมกลืนกัน

สังคมการเมืองภายใต้ทักษิโณมิกส์
ผู้นำทางการเมืองภายใต้ระบอบนี้ต้องการความ "นิ่ง" ทางการเมือง ระบบการเมืองภายใต้ทักษิโณมิกส์เป็น "ระบบเถ้าแก่" ซึ่งเป็นระบบการเมืองการปกครองของเถ้าแก่ โดยเถ้าแก่ และเพื่อเถ้าแก่ โดยหลงจู๊และลูกจ้างต้องฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของเถ้าแก่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มาตรา 217 ให้อำนาจ "เถ้าแก่" ในการปลดหลงจู๊อย่างเต็มที่ หลงจู๊จึงต้องกลัวเถ้าแก่ ถ้าลูกชายเถ้าแก่จะจัดงานสังคม หลงจู๊ต้องไปร่วมงาน

เถ้าแก่ไม่ต้องการระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งประกอบด้วย ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) และการรับผิด (Accountability) แต่ต้องการ "ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" และการอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ ผู้ใดก็ตามที่วิพากษ์เถ้าแก่จะถูกตอบโต้อย่างรุนแรง นอกเสียจากว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจเหนือเถ้าแก่ สมาชิกในสังคมรวมถึงข้าราชการ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรอิสระต้อง "อนุวัตร" ตามเถ้าแก่

ระบบเถ้าแก่อาจนำสังคมการเมืองไทยไปสู่ระบอบเผด็จการประชาธิปไตย (Democratic Authoritarianism) เนื่องจากรัฐบาลทักษิณมียุทธวิธีการเพิ่มพลวัตโดยการเพิ่มพื้นที่การยึดครองรัฐสภา....

ระบบการบริหารจัดการภายใต้ทักษิโณมิกส์
ภายใต้ทักษิโณมิกส์ การบริหารรัฐกิจยึดระบบและวิธีการเดียวกับการบริหารวิสาหกิจเอกชน แต่แท้จริงแล้ว ปรัชญาพื้นฐานของการบริหารรัฐกิจคือ การก่อให้เกิดสวัสดิการทางสังคมหรือผลประโยชน์สาธารณะสูงสุด ในขณะที่เป้าประสงค์ของการบริหารวิสาหกิจเอกชนนั้น ก็เพื่อการสร้างมูลค่ากำไร ยอดขาย และสินทรัพย์ให้สูงที่สุด

นอกจากนี้ แม้ว่าการบริหารจัดการแบบ CEOs จะเป็นหัวใจของทักษิโณมิกส์ แต่ว่ารัฐบาลทักษิณปราศจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ วัฒนธรรมการบริหารแบบ CEOs และบุคลากรที่มีความสามารถในการบริหารแบบ CEOs นายทุนในรัฐบาลส่วนมากมีประสบการณ์เป็นเถ้าแก่ ไม่เคยเป็น CEOs

ยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้ทักษิโณมิกส์
ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้ทักษิโณมิกส์คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี (Dual-Track Development Strategy) ซึ่งแบ่งออกได้ 2 วิถี ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด (Outward Orientation) และการพัฒนาในระดับรากหญ้า (Grass-Root Development) ซึ่งมีมาตรการทางนโยบายมากมาย เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ข้างต้น มาตรการทางนโยบายเพื่อเกื้อหนุน ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิดเป็นนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน การปฏิรูปทางการเงิน (โดยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ TAMC) มาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการส่งออก

ในส่วนของมาตรการทางนโยบาย เพื่อเกื้อหนุนการพัฒนาในระดับรากหญ้านั้น ประกอบด้วย นโยบายพักหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน สินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี (SMEs) สินเชื่อสำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ นโยบายเอสเอ็มแอล (SML) โครงการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทักษิณยังมีมาตรการทางสังคมที่เกื้อหนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบทวิวิถี ได้แก่ นโยบายเพื่อสวัสดิการสังคม ซึ่งจะเห็นได้จากการประกันสุขภาพ "30 บาทรักษาทุกโรค" การสงเคราะห์คนยากจน การจดทะเบียนคนจน การสงเคราะห์ชนชั้นกลางด้วยโครงการเอื้ออาทร (บ้าน, แท็กซี่, คอมพิวเตอร์) รวมถึงนโยบายเพื่อการพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยี เช่น การปฏิรูปการศึกษา การแจกทุนการศึกษาเอื้ออาทรและทุนนักเรียน-นักศึกษาอัจฉริยะให้ไปศึกษาต่อขั้นสูงทั้งในและต่างประเทศ

บทบาทของรัฐภายใต้ทักษิโณมิกส์
ปรัชญาพื้นฐานในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ทักษิโณมิกส์ ทำให้ทักษิโณมิกส์ไม่สามารถกำหนดบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐอย่างชัดเจนได้ ความต้องการคะแนนนิยมทางการเมืองทำให้ต้องเพิ่มบทบาทของรัฐด้วยการดำเนินนโยบายประชานิยม ในขณะที่ความต้องการผลประโยชน์ส่วนบุคคล บางครั้งต้องลดบทบาทของรัฐ บางครั้งต้องเพิ่มบทบาทของรัฐ ดังจะเห็นได้จากนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีหลักตรรกที่สอดคล้องต้องกัน

โครงสร้างอุปสงค์มวลรวมภายใต้ทักษิโณมิกส์
ในช่วง 9 เดือนแรกของ พ.ศ. 2544 นายกรัฐมนตรีได้วิพากษ์วิจารณ์แบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพาว่า ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกและการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศทำให้เกิดความง่อนแง่นและการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความแปรปรวนของตลาดสินค้าส่งออก ด้วยเหตุดังนั้น นโยบายรัฐบาลทักษิณจึงเน้นการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศ เพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต โดยเร่งการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชนด้วยการอัดฉีดเงินให้ประชาชนระดับรากหญ้า (การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและธนาคารประชาชน การพักหนี้เกษตรกร) เพราะว่าแนวโน้มส่วนเปลี่ยนแปลงในการบริโภค (Marginal Propensity to Consume: MPC) ของคนจนสูงกว่าคนรวย ดังนั้นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในระดับรากหญ้าจึงส่งผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ต่อรายได้ประชาชาติได้สูง

นอกจากนี้ ทักษิโณมิกส์ยังส่งเสริมให้ประชาชนใช้บัตรเครดิต ส่งเสริมการซื้อสินค้าเงินผ่อน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเกินตัว และส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายด้านอบายมุข โดยหวังว่าจะส่งผลให้อัตราส่วนของการบริโภคมวลรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสูงขึ้น และ อัตราส่วนของ "มูลค่ารวมของสินค้าเข้าและสินค้าออก" ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (ขนาดการเปิดประเทศ) มีค่าลดลง

แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุปสงค์มวลรวมมิได้ เป็นไปตามการคาดการณ์ดังที่กล่าวข้างต้น เพราะการลื่นไหลของเมนูนโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์ โดยหันมาเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด (Outward Orientation) ดังเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศภายใต้ชุดนโยบาย FTAs

การคลังรัฐบาลภายใต้ทักษิโณมิกส์
ภายใต้ทักษิโณมิกส์ ไม่มีความชัดเจนว่า ขนาดของรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางใด การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) ทำให้ภาครัฐบาลมีขนาดเล็กลง ในขณะที่นโยบายประชานิยมและการแปรรูปให้เป็นสาธารณะ (Publicization) ทำให้ภาครัฐบาลมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งแรงหลังน่าจะมีขนาดมากกว่า

นโยบายการคลังภายใต้ทักษิโณมิกส์ ครอบคลุมทั้งด้านรายจ่ายและรายได้ กล่าวคือ นโยบายรายจ่ายของรัฐบาลเป็น "นโยบายเจ้าบุญทุ่ม" เพราะความต้องการคะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในส่วนของนโยบายด้านรายได้ รัฐบาลพยายามแสวงหารายได้ที่มิใช่ภาษีอากรและไม่มีการปฏิรูประบบภาษีอากร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมได้ รัฐบาลทักษิณจึงพึ่งพิงรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทำให้มีการขยายกิจกรรมโดยการนำหวยใต้ดินขึ้นสู่บนพื้นดิน นอกจากนี้ รัฐบาลทักษิณรุกคืบไปหารายได้จากกาสิโนด้วยการอนุญาตให้จัดตั้งสถานบันเทิง (Entertainment Complex)

ความคล่องตัวในการใช้จ่ายเป็นปรัชญาสำคัญของทักษิโณมิกส์ รัฐบาลทักษิณเน้นการใช้ทรัพยากรการคลังที่ไม่ต้องขออนุมัติรัฐสภาในการใช้จ่าย และทรัพยากรการคลังที่ปลอดพ้นจากการตรวจสอบของรัฐสภา ด้วยเหตุดังนั้น "วินัยทางการคลัง" จึงมิได้ อยู่ในพจนานุกรมของทักษิโณมิกส์

ภาคที่ 3-มายาคติว่าด้วยทักษิโณมิกส์
มายาคติที่ 1-ทักษิโณมิกส์เป็นนวัตกรรมทางความคิด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์

มายาคติที่ 1 ถือเป็น "โฆษณาชวนเชื่อ" เพราะทักษิโณมิกส์ มิได้ นำเสนอปรัชญาใหม่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มิได้ นำเสนอ Systematic Analytical Framework ใหม่ และมิได้ นำเสนอแนวความคิดใหม่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ว่าทักษิโณมิกส์ผสมผสานแนวคิดดั้งเดิมเพื่อนำเสนอเมนูนโยบาย

ที่มาของแนวความคิดสำคัญของทักษิโณมิกส์
1. การฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะตกต่ำ ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (ที่มา - Keynesianism)
2. นโยบายเอื้ออาทรและสวัสดิการสังคม (ที่มา - รัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตก)
3. การพัฒนาเศรษฐกิจชนบท และเศรษฐกิจรากหญ้า (ที่มา - นักวิชาการไทยจำนวนมากนำเสนอนโยบายนี้มาช้านาน แต่ไม่มีรับาลใดสนใจดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง)
4. การพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับอุปสงค์ภายในประเทศ (Domestic Demand)มากกว่าอุปสงค์ภายนอก(External Demand) (ที่มา - Demand-led Growth Model)
5. นโยบายประชานิยม (ที่มา - ละตินอเมริกา)
6. กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน SML (ที่มา - Microfinance Grameen Bank)
7. การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน (ที่มา - Hernando de Soto)
8. การใช้นโยบายกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Policy) (ที่มา - มีหลายประเทศดำเนินการมาก่อนแล้ว)

ทฤษฎีใหม่ทฤษฎีเดียวของทักษิโณมิกส์ คือ การซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลใน Premier League ก่อให้เกิดการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยอย่างก้าวกระโดด และก่อให้เกิดความรุ่งโรจน์แก่เศรษฐกิจไทยอย่างสุดขีด

มายาคติที่ 2-ทักษิโณมิกส์ปฏิเสธแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพา (East Asian Economic Development Model: EAEDM)
ทักษิโณมิกส์วิพากษ์แบบจำลองนี้ว่าเป็น Single-Track Development แต่ว่ารัฐบาลทักษิณเองในภายหลังก็ดำเนินตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด และให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกับแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพา นอกจากนี้ นโยบายการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งนโยบายเพื่อคนรากหญ้าทั้งหลาย ได้มีการดำเนินการในหลายประเทศในเอเชียบูรพามาก่อนแล้ว จึงไม่ถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายของทักษิโณมิกส์

มายาคติที่ 3-ทักษิโณมิกส์ปฏิเสธฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) และ Neoliberalism
ฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) ประกอบด้วย การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Liberalization) การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) การลดการกำกับ/ควบคุม (Deregulation) และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Stabilization) รัฐบาลทักษิณได้ดำเนินนโยบายสามประการแรก และเดินตาม Neoliberalism ในระดับที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

มายาคติที่ 4-ทักษิโณมิกส์เน้นนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม (Nationalism)
พรรคไทยรักไทยขี่กระแสชาตินิยมหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 จนชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 ใน 9 เดือนแรก ทักษิโณมิกส์เอียงข้างนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม เพราะความต้องการคะแนนเสียง แต่ก็ลื่นไหลมาสู่นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมมากขึ้น เพราะความต้องการผลประโยชน์ส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงกลิ่นอายความเป็นชาตินิยมอยู่บ้าง ดังเห็นได้จากการปลุกกระแสชาตินิยมเรียกร้องให้คนไทยโบกธงชาติไทยด้วยความสง่างาม และด้วยความภาคภูมิใจภายหลังการชำระคืนเงินกู้ IMF

ภายใต้ทักษิโณมิกส์ รัฐบาลจะยึดลัทธิเศรษฐกิจใดก็ได้ที่ให้ผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง.....

มายาคติที่ 5-ทักษิโณมิกส์เน้น Inward-Looking Strategy
ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถีภายใต้ทักษิโณมิกส์ให้ความสำคัญแก่ Domestic-Led Growth กอปรกับการเอียงข้างจุดยืนชาตินิยมในระยะแรกเริ่ม ทำให้มีความเข้าใจกันว่า ทักษิโณมิกส์ยึด Inward-Looking Strategy ทว่ารัฐบาลทักษิณค่อย ๆ เปลี่ยนเมนูนโยบายไปสู่ Outward-Looking Strategy มากขึ้น เช่น นโยบายส่งเสริมสินค้า OTOP เพื่อเพิ่มการส่งออก นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว การทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแฟชั่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับนานาประเทศ (FTAs) เป็นต้น

มายาคติที่ 6-ทักษิโณมิกส์ลดการพึ่งพิงต่างประเทศ
เนื่องจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าขนาดของการเปิดประเทศจะลดลงตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของทักษิโณมิกส์ โดยที่ผลของการยึดนโยบาย Consumption-Led Growth การทุ่มการใช้จ่ายของภาค รัฐบาลและการส่งเสริมการส่งออก ทำให้ขนาดการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น การลดลงของอัตราส่วนเงินออมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ การกระตุ้นการใช้จ่ายนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอกที่เพิ่มขึ้น

มายาคติที่ 7-ทักษิโณมิกส์เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีความเข้าใจผิดโดยทั่วไปว่า ทักษิโณมิกส์เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แท้ที่จริงแล้ว ทักษิโณมิกส์มิได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิได้เดินตามยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ชุมชนกับผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ ทักษิโณมิกส์จะเข้าข้างกลุ่มทุน

ความแตกต่างระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี (DTDM) กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (BC)
1. การผลิต (DTDM - การผลิตเพื่อการพาณิชย์ เพื่อการส่งออก) (BC - การผลิตเพื่อการยังชีพ ผลิตให้พอใช้เหลือจึงขาย)
2. การเกษตร (DTDM - เกษตรกรรมปนเปื้อน GMO) (BC - เกษตรกรรมธรรมชาติ)
3. การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (DTDM - การผลิตตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ จะเห็นได้จาก FTAs, โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) (BC - การกระจายการผลิต [Diversification of Production] ไม่ยึดหลักการผลิตตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
4. การบริโภค (DTDM - อยู่ดี กินดี [Consumption Maximization - Consumption-Led Growth]) (BC - อยู่พอดี กินพอดี [Optimal Consumption - Maximizing Welfare by Minimizing Consumption])
5. วิถีการดำเนินชีวิต (DTDM - ส่งเสริมการใช้จ่ายในการบริโภค ส่งเสริมการใช้จ่ายเกินตัว ส่งเสริมการใช้จ่ายในการเล่นหุ้นเพื่อเพิ่มดัชนีในตลาดหลักทรัพย์) (BC - อยู่พอดี กินพอดี ไม่ต้องการสังคมที่มีความเสี่ยง [Risk Society])
6. อบายมุข (DTDM - ส่งเสริมการใช้จ่ายในการเล่นหวย ส่งเสริมการจัดตั้งกาสิโน สถานบันเทิง ส่งเสริมกิจกรรมอบายมุข) (BD - อบายมุขเป็นของต้องห้าม อบายมุขขัดต่อหลักการ อยู่พอดี กินพอดี)
7. การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น (DTDM - เป็นบทบาทของรัฐบาลส่วนกลางในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน) (BC - เป็นบทบาทของชุมชน สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มสิทธิให้กับชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น)
8. องค์กรประชาชน (DTDM - ต้องการองค์กรประชาชนอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล และเชื่อฟังรัฐบาล) (BC - ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประชาชน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และ Cllective Action)

มายาคติที่ 8-ทักษิโณมิกส์สลัดแอกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
หลังจากที่รัฐบาลชำระหนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้หมดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 นายกรัฐมนตรีทักษิณประกาศย้ำว่า รัฐบาลจะไม่คลานไปหา IMF อีกแล้ว แต่ว่า "แอกทางความคิด" ยังคงอยู่ จากการที่รัฐบาลกำหนดนโยบายตามเมนูนโยบายของ IMF เพราะการไม่ปฏิบัติตามเมนูนโยบายของ IMF ในประเด็น "การรักษาเสถียรภาพ" มีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน (International Credit Rating) รัฐบาลทักษิณยังคงปฏิบัติตาม "IMF Policy Conditionalities" ในประเด็นการถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) เมื่อการถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชนให้ประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง นอกจากนี้ IMF ยังคงมีอิทธิพลต่อกระบวนการกำหนดนโยบายในประเทศไทย อย่างน้อยในหมู่ขุนนางนักวิชาการ (Technocrats)

รัฐบาลไทยไม่ต้องคลานไปหา IMF อีกแล้วหรือ?-ไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาลไม่ต้องขอ Stand-By Arrangements จาก IMF อีกในอนาคต ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องขอ Stand-By Arrangements ในอนาคตคือ ความผิดพลาดในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ "ความไม่มีโชค"

มายาคติที่ 9-ทักษิโณมิกส์ไม่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลทักษิณย้ำประชาสัมพันธ์อยู่เสมอว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังที่เกิดขึ้นในปี 2540 จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก จนดูเสมือนหนึ่งว่า ทักษิโณมิกส์จะไม่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ นโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์ เช่น การส่งเสริมการใช้จ่ายในการบริโภค การทุ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้ชุดนโยบายเอื้ออาทรโดยมิได้ปฏิรูประบบภาษีอากร และการทุ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยหลบเลี่ยงกลไกการตรวจสอบและการรับผิดต่อรัฐสภา อาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อันอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตที่มีรูปลักษณ์แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และยากที่จะสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System)

มายาคติที่ 10-ไม่มีอะไรดีในทักษิโณมิกส์
แม้ว่าทักษิโณมิกส์จะไม่มีอะไรใหม่ในด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์ ระเบียบวิธีการวิเคราะห์ และแนวความคิดพื้นฐาน ไม่มีกรอบการวิเคราะห์ที่เป็นระบบและชัดเจนเกี่ยวกับขนาดของการเปิดประเทศและขนาดของภาครัฐที่เหมาะสม แต่ทักษิโณมิกส์ใช่ว่าจะไม่มีอะไรดีเสียเลย

จุดเด่นของทักษิโณมิกส์อยู่ที่ การวางกรอบความคิดและนำกรอบความคิดไปดำเนินนโยบายในการสถาปนา Social Safety Net แต่ว่าการสถาปนา Social Safety Net โดยรัฐบาลมุ่งเอื้ออาทรประชาชนมากเกินไป อาจทำให้ Social Safety Net อยู่ในระดับที่ Marginal Social Cost มากกว่า Marginal Social Benefit ได้ ดังนั้น การสถาปนาดังกล่าว ควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimal Social Safety Net) ซึ่งเป็นระดับที่พึงปรารถนาในแง่ของสังคมโดยส่วนรวม

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทสรุปแนวคิดเศรษฐกิจที่ไม่คงเส้นคงว่าของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย ในรอบ ๔ ปีที่ผ่านมา โดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ทักษิโณมิกส์เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง... มีความเข้าใจผิดโดยทั่วไปว่า ทักษิโณมิกส์เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แท้ที่จริงแล้ว ทักษิโณมิกส์มิได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิได้เดินตามยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ชุมชนกับผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ ทักษิโณมิกส์จะเข้าข้างกลุ่มทุน

ในช่วง 9 เดือนแรกของ พ.ศ. 2544 นายกรัฐมนตรีได้วิพากษ์วิจารณ์แบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพาว่า ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกและการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศทำให้เกิดความง่อนแง่นและการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความแปรปรวนของตลาดสินค้าส่งออก ด้วยเหตุดังนั้น นโยบายรัฐบาลทักษิณจึงเน้นการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศ เพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต โดยเร่งการใช้จ่ายในการบริโภคของประชาชนด้วยการอัดฉีดเงินให้ประชาชนระดับรากหญ้า (การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและธนาคารประชาชน การพักหนี้เกษตรกร) เพราะว่าแนวโน้มส่วนเปลี่ยนแปลงในการบริโภค (Marginal Propensity to Consume: MPC) ของคนจนสูงกว่าคนรวย ดังนั้นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในระดับรากหญ้าจึงส่งผลทวีคูณ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ