ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
161247
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 494 หัวเรื่อง
ความรุนแรงและประชาธิปไตย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รวมบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์
จากนกที่โบยบิน ถึงถนนราชดำเนินใต้ดิน
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ:
บทความวิชาการของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ต่อไปนี้ เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ประกอบด้วย ๑. เจ้าโบยบินไปหาอะไร ๒. ความสงบ สงบความไม่สงบ ๓. ประชาธิปไตยบนท้องถนน
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)

 


1. เจ้าโบยบินไปหาอะไร
วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9774
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act01131247&show=1&sectionid=0130&day=2004/12/13

บัดนี้จำนวนมากของนกกระดาษ 120 ล้านตัว คงโบยบินไปทั่วสามจังหวัดภาคใต้(ที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งต้องส่งไปทางรถไฟ) แต่ละตัวสื่อความหมายไปสู่พี่น้องในสามจังหวัด ทั้งแก่คนที่เก็บนกมาแลกกับนม หรือคนที่ไม่ได้เก็บนกเลย

น่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้แน่ว่า ความหมายที่นกกระดาษนำลงมาจากฟากฟ้านั้นคืออะไรแน่ ผู้นำมุสลิมคนหนึ่งกล่าวว่า ในวัฒนธรรมอิสลาม นกมีความหมายทั้งดีและไม่ดี แต่ผู้สั่งให้พับนกและส่วนใหญ่ของผู้พับนกไม่เคยทราบและไม่เคยสนใจว่า นกมีความหมายอย่างไรในวัฒนธรรมนั้น พวกเขายึดถือความหมายของนกเพียงอย่างเดียว คือสัญลักษณ์ของสันติภาพ อันเป็นความหมายตามวัฒนธรรมฝรั่ง บวกกับประเพณีญี่ปุ่นนิดหน่อย(เพราะฝรั่งใช้นกเป็นๆ ไม่ใช่กระดาษ)

น่าเสียดายอีกเหมือนกันที่ความหมายฝรั่งของนก คงไม่เป็นที่รู้กันแพร่หลายนักในหมู่ชาวบ้านที่นั่น ดังที่ผู้นำมุสลิมอีกท่านหนึ่งกล่าว เหตุดังนั้นผู้คนจำนวนมากซึ่งนกกระดาษโปรยปลิวไปหาคงไม่ทราบเหมือนกันว่า มีใครพยายามจะสื่ออะไรให้แก่เขา… ถ้านมหรือของรางวัลอย่างใดจะช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น เหตุใดจึงไม่ "จัดการ" กระจายวัสดุเหล่านั้นให้ถึงมือคนที่เข้าไม่ถึง แทนที่จะต้องใช้วิธีเสี่ยงโชคเช่นนี้

แล้วก็ยังน่าเสียดายอีกเหมือนกัน ที่ในจำนวนนกกระดาษ 120 ล้านตัวนี้ มีอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นกอบเป็นกำพอสมควรทีเดียว(จะมากน้อยเท่าไร ประมาณไม่ถูก) ไม่ได้มีความหมายอย่างไรในใจผู้พับอย่างแท้จริง นั่นคือนกที่เกิดจาก "โควต้า" เช่น มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดแห่งหนึ่งได้รับ "โควต้า" นกมาจำนวนหนึ่ง แต่มหาวิทยาลัยไม่รู้จะไปสั่งใครได้ง่ายเท่ากับโรงเรียนสาธิตของตัวเอง ฉะนั้นนักเรียนสาธิตจึงได้รับส่วนแบ่ง "โควต้า" ไปเป็นส่วนมาก นก "โควต้า" เช่นนี้จะมีมากน้อยเท่าไรไม่ทราบได้ แต่แน่ใจว่า "โควต้า" จะถูกแจกจ่ายไปยังหน่วยราชการ และกึ่งราชการอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึง "ฟีเวอร์" ที่กระบอกเสียงโทรทัศน์ทุกช่องพยายามปลุกปั่นให้คลั่งกันสุดสุด ในรายการข่าวของตัว นกกระดาษ "แฟชั่น" ที่ไร้ความหมายเหล่านี้ย่อมปนอยู่จำนวนหนึ่งในนก 120 ล้านตัว

น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ความหมายจากความบริสุทธิ์ใจของนกกระดาษ 120 ล้านตัว - ไม่ว่าจะมีว่าอย่างไร - ถูกทำให้แปดเปื้อนไปด้วย "รางวัล" นี่อาจเป็นวิธีเดียวที่คนเหล่านี้รู้จักในการให้ความหมายแก่ทุกส่วนของชีวิต นั่นคือกำไรทางวัตถุ ฉะนั้นนกกระดาษจากความบริสุทธิ์ใจอีกจำนวนมากจึงไม่สื่อความหมายอะไรเลย เพราะมีหน้าที่เป็นเพียงส่วนที่ไร้ค่าในเกมล่ารางวัลครั้งมโหฬารเท่านั้น

ทุกอย่างดูน่าเสียดายไปหมด เพราะในจำนวนนก 120 ล้านตัวนี้ จำนวนไม่น้อยทีเดียวคงมาจากความปรารถนาดี, ความเพียรพยายาม, และความบริสุทธิ์ใจของผู้คน กระจายไปยังทั่วประเทศ และกระจายไประหว่างคนต่างวัย ต่างเพศ และต่างปูมหลัง เป็นพลังแผ่นดินที่หากถูกนำมุ่งไปสู่ทิศทางที่สร้างสรรค์แล้ว ก็น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการนำความสงบมาสู่ภาคใต้ ไม่ว่าจำนวนนี้จะมีมากน้อยเท่าไร ก็ไม่ควรถูกทำให้เปล่าเปลืองไปโดยใช่เหตุ

นกกระดาษคงไม่มีพลังจะไปสร้างความสงบได้ แต่หัวใจที่ต้องการความสงบของพี่น้องไทยจำนวนหลายล้าน แม้ไม่ได้อยู่ในเขตสามจังหวัด ย่อมเป็นพลังอย่างแน่นอน ในการสร้างบรรยากาศแห่งศานติธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรมและศาสนา ถ้าความเพียรพยายามทุ่มเทพับนกกระดาษถูกให้ความหมายที่ชัดเจนและถูกทำนองคลองธรรมมาแต่ต้น แม้นกกระดาษไม่มีพลังอะไรในกระดาษ แต่นกกระดาษเป็นเครื่องมือการระดมพลังได้ เหมือนการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหลายย่อมมีผลในทางจิตใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารสังคมขนาดใหญ่เช่นสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การระดมพลังแผ่นดินในรูปของนกกระดาษครั้งนี้ไม่เคยถูกให้ความหมายที่ชัดเจน ยังไม่พูดถึงการประคองให้ความหมายนั้นมีความถูกต้องทำนองคลองธรรมตลอดไป ในระยะแรก ดูเหมือนจะเป็นที่เข้าใจกันว่า นกกระดาษจะสื่อความปรารถนาดีและสันติสุขจากพี่น้องไทยทั่วประเทศ ไปยังพี่น้องทุกฝ่ายในสามจังหวัดภาคใต้ โดยไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่แบ่งแม้แต่ผู้ที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐไทยด้วยวิธีก่อการร้าย

แต่ความหมายนี้ไม่ได้ถูกเน้นย้ำ และว่าที่จริงก็เป็นความเข้าใจเอาเองของผู้คนมากกว่าการนำของรัฐบาล ฉะนั้นในเวลาต่อมาความหมายนี้ก็ค่อยๆ เลือนไป กลายเป็นการส่งความปรารถนาดีไปยังเหยื่อของเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งเหยื่อโดยตรง ทั้งครอบครัวของเขา และทั้งคนที่ตกอยู่ในความหวาดกลัวภยันตรายนานาชนิดว่าจะตกเป็นเหยื่อ ความหมายนี้กีดกันเอาฝ่ายที่มีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมกับกลุ่มผู้ต่อสู้กับรัฐออกไปโดยปริยาย เพราะเขาไม่ใช่เหยื่อในความหมายนี้ ตรงกันข้าม เขาต่างหากที่ทำให้เกิดเหยื่อขึ้นมากมาย

ยิ่งมาในระยะท้ายๆ ของการรณรงค์ ดูเหมือนความหมายจะเคลื่อนไปเป็นการส่งกำลังใจให้แก่กลุ่มประชาชนที่แคบลงไปตามลำดับ จนบางกลุ่มที่พับนกพูดออกมาชัดๆ ในรายการปลุกปั่นแฟชั่นในกระบอกเสียงทีวีเลยว่า จะส่งกำลังใจให้แก่ชาวไทยพุทธในภาคใต้

จากคนสองล้านที่ควรเป็นผู้รับลดลงเหลือไม่กี่แสน
แท้จริงแล้ว ความหมายที่จะได้จากการรณรงค์ในเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ควรส่งถึงใครกันแน่?

ก็ดีอยู่หรอกที่จะทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายในสามจังหวัดภาคใต้ ได้รับรู้ถึงความปรารถนาดีที่คนไทยทั้งประเทศมีต่อพวกเขา ในฐานะที่เป็น "พวกเรา" ด้วยกัน แต่ความหมายนี้จะมีนัยอะไรมากกว่า "ลมปาก" ขึ้นอยู่กับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องที่ และที่สำคัญไปกว่านั้น จะมีนัยอะไรมากกว่า "ลมปาก" ยังขึ้นอยู่กับสำนึกอย่างจริงใจของพี่น้องไทยทั่วประเทศอีกด้วยว่า มองเห็นประชาชนมลายูมุสลิมในภาคใต้เป็น "พวกเรา" อย่างแท้จริงแค่ไหน ในเมื่ออนารยชนฝูงใหญ่(ซึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาของเราเอง) เขียนข้อความลงในเว็บบอร์ดสาธารณะ จุดไฟเผาบ้านเมืองตัวเอง ด้วยการประกาศความจงเกลียดจงชังชาวมลายูมุสลิมของตนออกเผยแพร่อยู่เป็นประจำ เขาพากันกู่ตะโกนด้วยถ้อยคำเดียวกับที่ฝูงชนนอกรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกปลุกปั่นให้แบ่งคนไทยเป็น "พวกเรา" และ "พวกเขา" ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า "ฆ่ามัน ฆ่ามัน ฆ่ามัน"

ฉะนั้น สารสำคัญของการรณรงค์พับนก - หากเป็นสารแห่งการไม่แบ่งพวกเราพวกเขา - ที่ควรสื่อไปถึงอย่างมากที่สุดคือพี่น้องไทยทั่วไป ทั้งในและนอกสามจังหวัดภาคใต้ การรณรงค์จนทำให้ผู้คนลุกขึ้นพับนกเอง(โดยไม่มีโควต้าหรือแฟชั่นบังคับ) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารนี้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ยิ่งทำให้การรณรงค์มีความหมายของการไม่แบ่งแยกอย่างชัดเจน ก็ยิ่งทำให้สารนี้มีพลังมากขึ้น
(อนารยชนที่ยังอยากตะโกน "ฆ่ามัน ฆ่ามัน ฆ่ามัน" อยู่ก็ไม่ต้องพับ จนถึงอาจต่อต้านการรณรงค์นี้ด้วยก็ได้)

การขนนกกระดาษขึ้นเครื่องบินไปโปรยก็นับว่าเข้าที เพราะเป็นการสร้าง "เหตุการณ์"(ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ) เพื่อสื่อสารที่ต้องการออกไปให้ชัดเจนขึ้น แต่ปัญหาก็คือจะโปรยที่ไหนดี? ส่วนหนึ่งคงต้องโปรยในสามจังหวัดภาคใต้แน่ เพื่อบอกประชาชนที่นั่นว่าเขาคือส่วนหนึ่งของ "พวกเรา" แต่ที่สำคัญกว่าคือโปรยไปทั่วประเทศไทยในทุกจังหวัดที่เหลือต่างหาก เพื่อตอกย้ำสารของการไม่แบ่งพวกเขาพวกเราแก่พี่น้องไทยทั้งประเทศ ระดมพลังแห่งไมตรีจิตที่พวกเราควรมีแก่กันและกัน

นี่คือพลังแผ่นดินที่จะคอยกำกับให้มาตรการทุกอย่างที่จะจัดการกับปัญหาในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางทหารหรือการเมืองและสังคม จะต้องเป็นมาตรการที่เหมาะกับการปฏิบัติต่อ "พวกเรา" ด้วยความหวังว่าเหตุการณ์เช่นกรือเซะหรือตากใบจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก และผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันได้รับการยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษ" แม้แต่อนารยชนก็อายที่จะยกย่องคนเหล่านี้เป็น "วีรบุรุษ"


2. ความสงบสงบความไม่สงบ
วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9767
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act02061247&show=1&sectionid=0130&day=2004/12/06

สภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังจะผลักดันให้ออกพระราชกำหนดปรามความไม่สงบ (ไม่ต้องผ่านสภา สภามีหน้าที่เพียงอย่างเดียวเมื่อถึงสมัยประชุมหน้า คือจะรับหรือไม่รับพระราชกำหนดนี้ทั้งฉบับ ทั้งหมดนี้หมายความว่าไม่ต้องฟังความเห็นจากภาคประชาชนในกระบวนการกลั่นกรองของสภาด้วย) ผู้ยกร่างหลัก นอกจาก สมช.แล้วก็คือ กอ.รมน.เจ้าเก่า ส่วนผู้ที่จะเข้าไปตรวจสอบคือกระทรวงยุติธรรม เพื่อไม่ให้ไปละเมิดสิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมากเกินไป (แปลว่าละเมิดแน่)

จุดมุ่งหมายของ พ.ร.ก.นี้ก็คือ จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานของรัฐเป็นพิเศษ เช่นแทนที่จะควบคุมผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมงตามกฎหมาย ต้องไปขออำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาต่อจากนั้น ก็ให้อำนาจควบคุมได้เกินเวลานั้นไปอีกโดยไม่ต้องไปขออำนาจศาล สำนักงานตำรวจฯอาจเป็นผู้ผลักดันที่จะเพิ่มอำนาจส่วนนี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในภาคใต้ เพราะตรงกับข้อเรียกร้องของผู้บัญชาการ นอกจากนี้จะเพิ่มอำนาจเจ้าพนักงานอะไรที่เหนือไปจากกฎหมาย และกฎอัยการศึกอีกบ้าง เนื้อข่าวไม่ได้ระบุ

ก่อนจะพิจารณาวิธีการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของหน่วยงานประเภทมือปราบเหล่านี้ ผมคิดว่าคงจะดีถ้าจะทำความเข้าใจร่วมกันก่อน ถึงข้อกำหนดของกฎหมายที่ให้อำนาจตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 2 วัน

อำนาจตำรวจซึ่งหมายถึงอำนาจรัฐชนิดหนึ่ง อันมิได้มีแต่กับผู้ที่เป็นตำรวจเท่านั้น ศุลการักษ์หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มีอำนาจตำรวจอยู่ในมือเหมือนกัน เป็นอำนาจรัฐส่วนที่กระทบถึงประชาชนที่สุด เพราะอาศัยอำนาจตำรวจเท่านั้นที่รัฐจะเข้าไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพนานาประการของประชาชนได้ ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจตำรวจในรัฐประชาธิปไตยทั้งหลายจึงต้องถูกควบคุมอย่างรัดกุมจากกฎหมาย อำนาจตำรวจทำอะไรได้แค่ไหน ภายใต้เงื่อนไขอะไร มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และไม่ยอมให้ละเมิดได้ง่ายๆ

ถ้าไม่อย่างนั้น ผู้ที่ถืออำนาจตำรวจก็สามารถฉ้อฉลอำนาจนี้ได้อย่างง่ายดาย ไม่เฉพาะตำรวจไทยเท่านั้น ตำรวจที่ไหนๆ ก็มีแนวโน้มจะฉ้อฉลอำนาจดังกล่าวทั้งนั้น สังคมจะต้องตื่นตัวตรวจสอบและควบคุมให้ดีเสมอไป

ที่กฎหมายเขียนให้อำนาจตำรวจในการควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมง ก็เพื่อประกันว่า ตำรวจจะไม่ฉ้อฉลอำนาจมหึมานี้ได้ง่ายๆ เหตุที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขออำนาจศาล จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อให้ผู้พิพากษา ซึ่งในบทบาทตรงนี้คือผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้ซักถามให้แน่ใจว่า การจับกุมคุมขังผู้ต้องหาดังกล่าวนั้น เป็นเหตุสุดวิสัยที่ตำรวจไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงๆ ผู้พิพากษามีหน้าที่ซักให้ดีว่าเหตุที่ตำรวจยกขึ้นมาอ้างนั้นสุดวิสัยจริงหรือไม่

เช่นถ้าตำรวจรายงานว่า ยังหาพยานหลักฐานไม่พอจะทำคดีได้ ผู้พิพากษาควรอุทานว่า อ้าวแล้วคุณไปจับเขาทำไม ในเมื่อไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอขนาดนั้น ตำรวจจะต้องชี้แจงให้ผู้พิพากษา(ซึ่งควรเป็นคนเชื่อยาก) เชื่อว่า ในเวลาอีกไม่นานตำรวจก็จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน เพราะตำรวจได้เตรียมการไว้ตั้งแต่ก่อนจับกุมแล้ว ที่ยังรวบรวมไม่ได้ทันเป็นเหตุสุดวิสัยอย่างไร

อย่าลืมนะครับว่า สิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ไม่ถูกจับกุมคุมขังนั้น เป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานอย่างยิ่ง เมื่อใครถูกตำรวจละเมิดสิทธิ์อันนี้ กลไกที่มีหน้าที่ตรวจสอบจึงต้องทำงานอย่างรัดกุม

ความคิดที่จะขยายเวลาจาก 48 ชั่วโมงให้ยาวนานออกไปกว่านี้อีกจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะให้อำนาจที่ไม่อาจตรวจสอบได้แก่ตำรวจไปเฉยๆ อันตรายอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ความคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดที่ใหญ่กว่า คือการให้รัฐอยู่เหนือกฎหมาย (ซึ่งส่วนสำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่คือ "จำกัดอำนาจรัฐ") เป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับสภาวะสู้รบ ดูเหมือนความคิดนี้แหละที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นมรดกตกทอดมาจากเผด็จการทหาร ซึ่งยึดอำนาจการเมืองในสังคมไทยไปนาน

แต่จริงหรือว่า การปล่อยให้รัฐอยู่เหนือกฎหมายเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ในสมัยที่ต่อสู้กับ พคท. รัฐไทยใช้วิธีประกาศกฎอัยการศึกตามจังหวัดต่างๆ ไปกว่าครึ่งประเทศ แต่แทนที่จะปราบได้สำเร็จกลับยิ่งทำให้ พคท.มีกำลังกล้าแข็งขึ้น ก็ถ้าศัตรูของรัฐรู้เสียแล้วว่า ภายใต้กฎอัยการศึกจะต้องระวังในเรื่องอะไรบ้างมิให้รัฐจับกุมได้ เขาก็ไม่ทำสิ่งนั้น เช่น พคท.คงอยากชุมนุมประชาชน เพื่อโฆษณาปลุกระดมที่หน้าศาลากลางจังหวัดเหมือนกัน แต่ภายใต้กฎอัยการศึกทำอย่างนั้นไม่ได้ ก็ไม่ทำ เปลี่ยนไปหาวิธีอื่นซึ่งปลอดภัยแก่เขามากกว่า และได้ผลไม่แพ้กัน เช่นการทำงานมวลชนในพื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐอ่อน

ข้อบังคับนานาประการของกฎอัยการศึก จึงไม่ได้กระทบต่อ พคท.เท่ากับกระทบต่อประชาชนไทยส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นพลพรรค พคท. หรืออาจไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติด้วยอาวุธ เป็นคนธรรมดาๆ ที่อยากทำมาหากินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียไปตามปกติ รวมทั้งใฝ่ฝันให้ลูกได้มีชีวิตที่ดีกว่าตัว แต่จะทำทั้งหมดนั้นได้สะดวกก็อาจต้องทำอะไรที่กฎอัยการศึกห้ามไม่ให้ทำ เช่นชุมนุมกันขับไล่กำนันขี้ฉ้อ หรือเจ้าอาวาสทุศีล หรือประชุมกันจัดตั้งองค์กรที่จะต่อรองกับเถ้าแก่รับซื้อพืชผลในตลาด เป็นต้น

กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการข้ามกฎหมาย จึงไม่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ต่อสู้หรือปราบปรามศัตรูของรัฐสะดวกขึ้นตรงไหน แต่กลับทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องมาต่อสู้ปราบปรามคนบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง อันเป็นคนส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าไม่สามารถคุมมิให้เจ้าหน้าที่รัฐฉ้อฉลอำนาจที่ได้มานี้ ยิ่งเละมากขึ้น จนทำให้คนบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่มีที่จะอยู่ ต้องหลบเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.มากขึ้น

เช่นเดียวกับกฎอัยการศึกซึ่งประกาศในภาคใต้มาร่วมปีแล้ว ไม่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของรัฐได้เลย มีแต่ทำให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอีก 2 ล้านคน (คือรวมทั้งมุสลิมและไม่ใช่) ในบริเวณนั้นประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตต่างๆ นานามากมาย นับตั้งแต่ไม่อาจออกไปตัดยางในเวลาเช้ามืดได้ ไปจนถึงไปเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ไม่สะดวก

การประกาศเคอร์ฟิว (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นรุนแรงมากเหมือนกัน) ก็ไม่ช่วยอะไร จริงอยู่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับความสะดวกในการแยกคนร้ายคนดีออกจากกันในช่วงเคอร์ฟิวแน่ แต่คนร้ายที่ไหนจะโง่ออกมาปฏิบัติการในช่วงที่เจ้าหน้าที่รัฐมีความสะดวกอย่างนั้นเล่าครับ เอาไว้เวลานอกเคอร์ฟิวค่อยปฏิบัติการก็ยังได้ และในความเป็นจริงกลุ่มที่ต่อต้านรัฐไทยในภาคใต้ก็ออกปฏิบัติการนอกเวลาเคอร์ฟิว

ครั้นจะประกาศเคอร์ฟิวไปไม่มีที่สิ้นสุด คนเดือดร้อนก็คือคนบริสุทธิ์ 2 ล้านคนที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่นั่นเอง
ในที่สุด คนบริสุทธิ์เหล่านี้ก็คงอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ใครกันแน่ล่ะหว่าที่ทำให้ชีวิตตูลำบากลำบนอย่างนี้

ตรงกันข้ามกับการให้อำนาจรัฐอยู่เหนือกฎหมาย เราควรทำสิ่งตรงกันข้าม คือบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด คนที่ร่วมในการต่อสู้กับรัฐในภาคใต้นั้น คงมีจำนวนไม่น้อยที่มีข้อเดือดร้อนนานัปการจากรัฐในชีวิตของเขา จำเป็นจะต้องต่อสู้เพื่อขจัดความเดือดร้อนนั้น ถ้าไม่มีพื้นที่อื่นสำหรับการต่อสู้ นอกจากการใช้อาวุธและความรุนแรง เขาก็ต้องเลือกพื้นที่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น เราเปิดพื้นที่แห่งการต่อสู้โดยสันติ โดยมีระเบียบสังคมและกฎหมาย ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ทั้งแก่ฝ่ายที่ต่อสู้และฝ่ายรัฐกำกับเป็นกติกาของพื้นที่นั้นไม่ดีกว่าหรือ อำนาจเหนือกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือกฎหมายพิเศษที่ดำริจะออกมาเป็นพระราชกำหนดนี้ ไม่ช่วยทำให้พื้นที่ดังกล่าวได้เปิดขึ้นเลย และตราบเท่าที่ไม่มีพื้นที่ดังกล่าว การต่อสู้เพื่อขจัดความเดือดเนื้อร้อนใจของเขาก็ไม่มีทางอื่น นอกจากการใช้อาวุธและความรุนแรง

รักชาติด้วยการร้องเพลงรักเธอประเทศไทย ดูจะเขลาเสียจนทำให้อดสงสัยต่อแรงจูงใจของผู้กระทำไม่ได้ รักชาติคือการทำให้ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราเป็นพื้นที่เปิดกว้าง ที่ให้อิสระเสรีแก่คนทุกหมู่ทุกเหล่า ได้ใช้พื้นที่นี้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันอันชอบธรรมของเขาอย่างสันติ ชนิดที่เขาไม่อาจหาพื้นที่อย่างนี้ที่ไหนได้ในโลก นอกจากในประเทศไทยของเราทุกคน

สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันควรเรียนรู้ก็คือ ความไม่สงบใดๆ สามารถยุติลงได้ด้วยความสงบเท่านั้น

3. ประชาธิปไตยบนท้องถนน
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9760
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon.php?s_tag=01act03291147&show=1&sectionid=0130&day=2004/11/29

โต๊ะบุฟเฟ่ต์ "การจราจรของกรุงเทพฯ" เป็นโต๊ะที่มีอาหารไพบูลย์มั่งคั่งที่สุด และนักการเมืองจากรัฐบาลทุกชุดจะไปออกันแน่นที่นั่นเสมอ

หลังจาก ครม.ผ่านความเห็นชอบโครงการของกระทรวงคมนาคมเป็นแสนๆ ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนและถนนหนทางในกรุงเทพฯไปแล้ว คราวนี้รองนายกรัฐมนตรีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็มีข้อเสนอโปรเจ็คต์มโหฬารขึ้นมาเหมือนกัน ไม่เสียประวัติทางการเมืองของท่านซึ่งมักร่วมในงานเลี้ยงเสมอ ท่านเสนอการแก้ปัญหาจราจรแสนคับคั่งบนถนนราชดำเนินด้วยการสร้างถนนใต้ดินครับ เจาะมันมาตั้งแต่ทางลงทางด่วนที่ยมราชไล่ตามถนนหลานหลวง(กระมัง) ไปทะลุราชดำเนิน แล้วลอดใต้แม่น้ำไปโผล่โน่นเลย ฝั่งธนฯครับ

เจ้าหน้าที่หรือบ๋อยประจำโต๊ะบุฟเฟ่ต์แถลงว่า จะไม่มีการรื้ออาคารอะไรสักหลังเดียว แต่ก็มีรายงานลับๆ มาว่าต้องรื้อบางส่วนแถวโรงแรมรัตนโกสินทร์ เพื่อทำลานจอดรถสัก 10 ไร่ ผมไม่ทราบว่าเขาแถลงหรือไม่ว่าจะใช้เงินสักเท่าไรเพื่อทำอภิมหาโปรเจ็คต์นี้ แต่หนังสือพิมพ์ไม่ได้รายงานไว้ เข้าใจว่าคงจะมากเสียจนต้องประกาศด้วยว่าถนนใต้ดินสายนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตามแบบปฏิบัติที่ทำกันมานานในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ คือจะทำโปรเจ็คต์อะไรที่เกรงว่าจะถูกค้าน ก็จะดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอุดปากประชาชน โชคดีที่ครั้งนี้ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์รีบออกมาท้วงว่า จะสร้างถนนก็สร้างไป ไม่เกี่ยวกับการฉลองพระชนมพรรษาแต่อย่างใด

ผมเชื่อว่าอภิมหาโปรเจ็คต์นี้คงแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนราชดำเนินไปได้ในระยะหนึ่งแน่ แต่จะผลักสภาพติดขัดไปยังที่ไหนอีกบ้าง เช่นฝั่งธนฯ อันนี้ผมเดาไม่ถูก แต่ไม่เป็นไร ติดขัดก็ดี เพราะทำให้ถนนสายนั้นได้ถูกยกขึ้นโต๊ะบุฟเฟ่ต์ แล้วก็จะมีอภิมหาโปรเจ็คต์ตามไปแก้อีก นอกจากนี้ในระยะยาว ตราบเท่าที่การแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯยังเป็นเรื่องของการทุ่มเทคโนโลยีแบบนี้ ก็หวังได้เลยว่า เราจะติดแหง็กอยู่ถนนราชดำดินซึ่งอยู่ใต้ราชดำเนินเป็นชั่วโมงในอนาคต

จราจรติดขัดของกรุงเทพฯนั้นสะท้อนการเมืองไทยให้เห็นได้ถนัดชัดเจนดีกว่าแบบเรียนรัฐศาสตร์แยะเลย จนอาจกล่าวได้ว่าปัญหาจราจรของกรุงเทพฯนั้นเกิดขึ้นมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทยเอง

คนส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯนั้นคือคนเดินถนนและคนนั่งรถสาธารณะ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิพิเศษในฐานะคนส่วนใหญ่ให้เดินทางได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยกว่าคนอื่น ตรงกันข้ามถ้าถือความไม่สะดวกสบายและไม่ปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะเป็นบรรทัดฐานแล้ว คนส่วนใหญ่กลับถูกเลือกปฏิบัติให้ลำบากลำบนกว่าคนอื่นๆ ในท่ามกลางความเสมอภาคของจราจรติดขัด

มีคนพูดเสมอว่า จะต้องทำให้คนกรุงเทพฯทิ้งรถยนต์ของตัวไว้กับบ้าน (หรือไม่ซื้อมาครอบครอง) แต่ใครเล่าครับจะเลือกลงมาเป็นคนนั่งรถเมล์และเดินถนน เพื่อให้ถูกปฏิบัติเหมือนหมูเหมือนหมา ในเมื่อยังพอมีกำลังถีบตัวให้พ้นจากสภาพนั้นได้ ในเมื่อต้องติดรถกลางถนนเท่าๆ กัน ก็ขอติดอยู่ในแอร์เย็นๆ โดยไม่ต้องเบียดเสียดกับใครดีกว่า

นับตั้งแต่เริ่มนโยบายพัฒนาภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเป็นต้นมา รถยนต์ส่วนบุคคลถูกถือว่าต้องได้รับการปฏิบัติดีที่สุดเป็นอันดับแรก ไล่ลงมาจนถึงคนเดินถนนและหมาข้างถนนเป็นอันดับสุดท้าย

ไม่มีมหานครที่แก้ปัญหาจราจรได้สำเร็จที่ไหนในโลกปฏิบัติต่อคนส่วนใหญ่อย่างนี้ ในท่ามกลางการติดขัดของการจราจร คนส่วนใหญ่ซึ่งเดินหรือใช้รถสาธารณะจะได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น เขาคือคนที่เดินทางได้เร็ว, สะดวก และปลอดภัยที่สุด ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลคือคนมีสิทธิ์น้อยที่สุดเสมอ รถยนต์ส่วนบุคคลคือผู้ที่ได้เปรียบในสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐจึงไม่เอาเงินของคนอื่นมาอุดหนุนความได้เปรียบนั้นให้หนักมากขึ้นไปอีก

ยิ่งระบบการขนส่งมวลชนแย่มากเท่าไร คนก็ยิ่งจะใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งใช้รถยนต์ส่วนตัวมากเท่าไรก็ยิ่งไปกระทบต่อการวางผังเมือง และการตั้งภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย จนกลายเป็นชุมชนเมืองที่รถยนต์ส่วนตัวกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต เหมือนเมืองในสหรัฐ ถึงตอนนั้นใครก็ไม่สามารถปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนได้อีกแล้ว เพราะขาดทุน ถ้าจะรักษาเอาไว้ก็ต้องรักษาในสภาพที่ขาดความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งก็ยิ่งผลักให้ทุกคนต้องหารถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นไปอีก เป็นงูกินหางไม่รู้จบ

ฉะนั้น การปรับปรุงการขนส่งมวลชนจึงต้องมาพร้อมกับการริบเอาอภิสิทธิ์ของรถเก๋งคืนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นบัสเลนย่อมทำให้รถติดมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่คนส่วนใหญ่จะเดินทางได้รวดเร็วขึ้น จนกระทั่งการใช้รถส่วนตัวชักจะเริ่ม "ขาดทุน"

ผู้ใหญ่ที่มีผู้นับถือทั่วบ้านเมืองเคยบอกผมว่า ในความคิดของท่าน ควรมีเทศบัญญัติหรือกฎหมายของรัฐ ห้ามสร้างที่จอดรถหรือลานจอดรถในเขตชั้นในของกรุงเทพฯ ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์จนลืมถามเหตุผลจากท่านไป จึงไม่ทราบว่าท่านมีเหตุผลเดียวกับผมหรือไม่ แต่เหตุผลของผมก็คือรถส่วนบุคคลจะไม่ได้รับความสะดวกในเขตชั้นใน ถ้าคุณอยากเข้าไปในนั้น ก็นั่งรถสาธารณะ นับตั้งแต่แท็กซี่, ตุ๊กๆ, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปจนถึงรถเมล์และเดินไปสิครับ

เพียงแค่ขจัดรถส่วนบุคคลออกไปจากถนนสักครึ่งหนึ่ง รถเมล์จะวิ่งมาถึงป้ายได้คล่องขึ้น จนกระทั่งความเบียดเสียดในรถเมล์จะหมดไป รวมทั้งวิ่งไปถึงปลายทางได้เร็วขึ้น ผู้คนบนรถเมล์จะกลับมาเป็นอารยชนกันใหม่ คือรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนที่อ่อนแอกว่า

ปัญหาจราจรกรุงเทพฯจึงไม่ใช่ปัญหาเทคโนโลยีอย่างที่นักการเมืองทุกยุคทุกสมัยกล่าวอ้าง เพื่อจะได้โซ้ยอาหารบนโต๊ะบุฟเฟ่ต์ ปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ในระดับรากฐานเลยคือปัญหาทางการเมืองและวัฒนธรรม ตราบเท่าที่ยังไม่เข้าใจตรงนี้ ถึงจะทุ่มเทคโนโลยีไปเท่าไรก็แก้ไม่ได้

ผมเกรงว่า นักการเมืองก็รู้เหมือนกับที่ผมรู้ แต่ไม่ต้องการแก้ นอกจากเพื่อโอกาสโซ้ยอาหารบนโต๊ะแล้ว ยังเห็นว่ามีอุปสรรคทางการเมืองมากเกินไปในการแก้ให้ถูกวิธี

ก็คนส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯที่อยู่บนทางเท้าและบนรถเมล์นั้น คือคนที่ไร้อำนาจทางการเมืองน่ะสิครับ อย่าลืมว่านโยบายพัฒนา (ซึ่งนำความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการพัฒนามาให้แก่ผู้คนด้วย) เริ่มขึ้นภายใต้เผด็จการทหาร และการพัฒนานั้นคืออะไรเล่าครับ นอกไปเสียจากกระบวนการทางการเมืองที่จะตัดสินใจนำเอาทรัพยากรส่วนใดมาให้ใครใช้ ภายใต้ระบอบเผด็จการ กระบวนการทางการเมืองนั้นจึงไม่มีการต่อรอง นอกจากในบรรดาผู้นำและบริษัทบริวารของเผด็จการ

ถนนก็เป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งที่ถูกตัดสินใจมาแต่ตอนนั้นแล้วว่า เก็บเอาไว้ให้รถเก๋งได้ใช้ก่อน พัฒนาการทางการเมืองของไทยในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ ล้วนทำให้คนบนรถส่วนตัวมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น แต่ทำให้คนเดินถนนและบนรถเมล์มีอำนาจการเมืองเพิ่มขึ้นไม่เท่าไหร่

ฉะนั้นการจราจรในกรุงเทพฯจึงต้องแก้กันอย่างที่คนบนรถส่วนตัวรับได้เท่านั้น นับว่าลงล็อคพอดีกับการที่นักการเมืองอย่างกินอาหารบนโต๊ะบุฟเฟ่ต์

ใครอยากจะดูว่าประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร ก็ไปดูได้ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตอนเลิกงาน ดูให้ลึกลงไปในใบหน้าและแววตาของคนที่นั่งบนรถส่วนตัวและบนรถเมล์กับบนทางเท้า ความแตกต่างทางเศรษฐกิจนั้นเห็นได้ชัด แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือความแตกต่างทางอำนาจการเมือง ไม่จำเป็นที่ความยากจนจะต้องถูกซ้ำเติมให้หนักขึ้นด้วยความอยุติธรรมทางการเมืองที่ดำรงอยู่ แต่นั่นแหละครับ ความยากจนของผู้คนก็กำลังถูกนำขึ้นโต๊ะบุฟเฟ่ต์ไปอีกจานแล้ว โดยคนจนไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นเลย

คนชั้นกลางที่นั่งอยู่บนรถส่วนตัวก็รู้เหมือนผมว่า ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯเป็นอาหารบนโต๊ะบุฟเฟ่ต์ พวกเขารังเกียจการคอร์รัปชั่น แต่ในบรรดาการคอร์รัปชั่นทั้งหมด การคอร์รัปชั่นที่ทำให้เขาได้ประโยชน์ด้วย เช่นมีถนนใต้ดินให้รถติดน้อยลงเป็นการคอร์รัปชั่นที่น่ารังเกียจน้อยที่สุด ดังคำยกย่องสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าถึงโกงก็ยัง "พัฒนา" ประเทศ

นี่ก็เป็นมิติทางการเมืองของประชาธิปไตยไทยที่คนชั้นกลางออกแบบไว้อีกอย่างหนึ่ง



 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
คนไทยหลายคนถูกเกณฑ์ให้พับนกกระดาษ ซึ่งตอนแรกคงหมายถึงสันติภาพ แต่ต่อมาความหมายก็แคบเข้า และมาสิ้นสุดลงที่นกแลกรถจักรยาน และนมกล่องไปในที่สุด

น่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้แน่ว่า ความหมายที่นกกระดาษนำลงมาจากฟากฟ้านั้นคืออะไรแน่ ผู้นำมุสลิมคนหนึ่งกล่าวว่า ในวัฒนธรรมอิสลาม นกมีความหมายทั้งดีและไม่ดี แต่ผู้สั่งให้พับนกและส่วนใหญ่ของผู้พับนกไม่เคยทราบและไม่เคยสนใจว่า นกมีความหมายอย่างไรในวัฒนธรรมนั้น พวกเขายึดถือความหมายของนกเพียงอย่างเดียว คือสัญลักษณ์ของสันติภาพ อันเป็นความหมายตามวัฒนธรรมฝรั่ง บวกกับประเพณีญี่ปุ่น

นกกระดาษคงไม่มีพลังจะไปสร้างความสงบได้ แต่หัวใจที่ต้องการความสงบของพี่น้องไทยจำนวนหลายล้าน แม้ไม่ได้อยู่ในเขตสามจังหวัด ย่อมเป็นพลังอย่างแน่นอน ในการสร้างบรรยากาศแห่งศานติธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรมและศาสนา ถ้าความเพียรพยายามทุ่มเทพับนกกระดาษถูกให้ความหมายที่ชัดเจนและถูกทำนองคลองธรรมมาแต่ต้น แม้นกกระดาษไม่มีพลังอะไรในกระดาษ แต่นกกระดาษเป็นเครื่องมือการระดมพลังได้ เหมือนการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหลายย่อมมีผลในทางจิตใจ และเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารสังคมขนาดใหญ่เช่นสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ...ยิ่งมาในระยะท้ายๆ ของการรณรงค์ ดูเหมือนความหมายจะเคลื่อนไปเป็นการส่งกำลังใจให้แก่กลุ่มประชาชนที่แคบลงไปตามลำดับ กล่าวคือ จะส่งกำลังใจให้แก่ชาวไทยพุทธในภาคใต้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์