มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๐๕ กันยายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 445 หัวเรื่อง
เวทีสาธารณะสถานการณ์ภาคใต้
กองบรรณาธิการเว็ปไซท์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight University

 

R
relate topic
050947
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
เปลือยถ้อยร้อยความบางคน จากบนเวทีสาธารณะ - สถานการณ์ภาคใต้ อะไรคือปัญหาฯ
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

โครงการเวทีสาธารณะ (๑)
สถานการณ์ใต้ : อะไรคือปัญหา อะไรคือทางออก ?
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ร่วมกับองค์กรพันธมิตร
และ นิตยสารฟ้าเดียวกัน

โครงการเวทีสาธารณะ ภาคบ่าย
สถานการณ์ใต้ : อะไรคือปัญหา อะไรคือทางออก ?
วันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ระหว่างเวลา 13.00 -- 17.00 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 31 หน้ากระดาษ A4)


ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ (ผู้ดำเนินรายการ): ผมคงไม่ต้องเกริ่นนำภาคบ่าย เพราะเมื่อเช้าเป็นการเกริ่นนำไปเรียบร้อยแล้ว โดยคณะวิทยากรที่มาให้ความเห็นต่อปัญหาและทางออกต่อสถานการณ์ภาคใต้ ผมขอทำความเข้าใจเงื่อนไข เนื่องจากเวทีนี้เป็นเวทีสาธารณะ ก็อยากให้ทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง แต่การที่จะให้ทุกท่านแสดงความคิดเห็นก็มีเวลาจำกัด ผมต้องยุติเวทีนี้ภายในเวลาสี่โมง จึงกราบขออภัยในเบื้องต้นที่จะใช้เวลาอย่างนี้

เราจะเริ่มต้นจากการเชิญวิทยากรให้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นเมื่อเช้า หลังจากนั้นจะเปิดเวทีให้ทุกท่านที่มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเมื่อเช้าที่ท่านวิทยากรพูดไป ท่านมีประเด็นโต้แย้งหรือประเด็นที่บนเวทีไม่ได้กล่าวถึง และสำคัญที่เวทีนี้ควรรับรู้ร่วมกัน ตามสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันก็ขอเชิญทุกท่าน

ขอเริ่มต้นจากวิทยากรที่มีชื่อในแผ่นประชาสัมพันธ์ขอความกรุณาช่วยแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่คณะวิทยากรเมื่อเช้าแสดงไว้ ท่านแรกน่าจะเป็นนักวิชาการขอเชิญ อ.เกษียร เตชะพีระ ครับ

ดร. เกษียร เตชะพีระ : คิดจากตอนเช้านี้ ผมอดรู้สึกไม่ได้ครับคือผมเป็นอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในสมัยที่อยู่ป่าก็มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นเยอะ แต่กลางป่าที่เห็นชัด กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ตอนนี้ ผมรู้สึกที่ฆ่ากันทุกวันที่ภาคใต้ตอนนี้คือ ฆ่าโดยที่จะไม่ได้นำไปสู่อะไรเลยและนับวันมันจะเป็นเรื่องของ(การฆ่ากันไปฆ่ากันมา)

คือผู้ก่อการทำร้ายตำรวจบาดเจ็บล้มตายสองคนถือเป็นชัยชนะ ตำรวจก็จะหาวิธีการที่จะเล่นงานคืน ตราบใดที่เหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เพราะผมไม่เชื่อว่าโดยวิธีการที่ฝ่ายผู้ก่อการทำร้ายตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนไปวันละคนสองคน จะนำไปสู่การแยกดินแดนได้ ต่อให้ฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกวันวันละสองคน ก็จะไม่นำไปสู่การแยกดินแดน…แล้วฆ่าทำไม คนเหล่านั้นตายไปเพื่ออะไร

ในแง่กลับกันทางเจ้าหน้าที่ทุ่มเทกำลังลงไป ผมทราบข่าวว่า กำลังจะเพิ่มกำลังอีกเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะกวาดล้างเพื่อที่จะจับกุมอะไรต่างๆ แต่ผมคิดว่าที่ท่านทำนั้น จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาภาคใต้ที่รากเหง้า จะไม่มีทางนำไปสู่สันติสุขได้ คือสองอย่างที่ผมรู้สึกชัดขึ้นจากที่ฟังเมื่อเช้านี้

อย่างแรก ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ภาคใต้ไม่มีการเมืองเลย มีแต่การทหาร ผมฟังท่านรองแม่ทัพภาคที่ ๔ ด้วยความเข้าใจในภารกิจหน้าที่ของท่าน ท่านต้องดูแลความมั่นคง แต่วิธีการที่ท่านนิยามปัญหา วิธีการที่ท่าน คือท่านดีใจกับเหตุการณ์ ๒๒ เมษา หรือ ๒๗ เมษา ทำให้ท่านเริ่มทำไปสู่กลุ่มคนที่ทำการได้ จริงๆ แล้วคือวิธีการแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางการทหารทั้งนั้น แต่ไม่มีทางออกทางการเมืองว่า ทั้งสังคมไทยและทั้งภาคใต้จะเดินออกจากการที่ต้องฆ่ากันรายวันอย่างไร แล้วคนที่มีศักยภาพที่จะทำอันนี้ก็ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ

มันแปลกดีนะครับ ฝ่ายผู้ก่อการก็ไม่เคยมีข้อแถลงทางการเมืองที่ชัดเจนว่าที่ก่อการไม่สงบ ทำร้ายผู้คนไปทุกวัน ทำไปเพื่อจะบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอะไร แล้ววิธีที่ทำจะนำไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร ไม่เคยมี ที่เป็นทางการเป็นตัวเป็นตนไม่มี ราวกับว่าที่ทำทั้งหมดนั้นมันไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย

ในแง่กลับกันตัวแทนการเมืองในระบบที่เป็นทางการของประชาชนภาคใต้ สส. สว. ถึงทุกวันนี้กำลังแก้คดีข้อกล่าวหาเรื่องมีส่วนพัวพันกับผู้ก่อการร้ายทั่วทุกตัวคน นี่คือกลุ่มคนที่ต้องทำหน้าที่เสนอทางออกทางการเมืองแทนประชาชนภาคใต้ แต่ไม่ว่าจะเป็นคุณเด่น โต๊ะมีนา คุณนัจห์มุดิน อะไรก็แล้วแต่ ทุกวันนี้กำลังกลัวถูกอุ้มบ้าง ต้องป้องกันข้อกล่าวหาต่างๆบ้าง ฉะนั้นทางออกทางการเมือง ที่จะมาจากตัวแทนทางการในระบบการเมืองของภาคใต้ก็ไม่มีอีกนั่นแหละ

ทางฝ่ายรัฐบาลผมก็รู้สึกว่าไม่เป็นเอกภาพ เรรวนเสียจนกระทั่งไม่สามารถเสนอทางออกทางการเมืองต่อปัญหาภาคใต้ได้ ผมจะกลับมาสู่ประเด็นนี้ทีหลัง แต่ว่ามันเศร้า เพราะมันมีแต่คำถามก็รบกันไป จนกว่าฝ่ายหนึ่งจะฆ่าอีกฝ่ายได้มากกว่าแล้วชนะกระนั้นหรือ

อันที่สอง ด้วยความเคารพ ผมดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภาคใต้ พูดได้อย่างเดียวว่าไม่มีข้างให้เลือก ผมรับไม่ได้ที่ผู้ก่อการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ประชาชนรายวัน ทุกคน ชีวิตทุกชีวิตมีค่า ทุกคนมีคนที่เขารัก มีพ่อแม่พี่น้อง เขาตายมีคนร้องไห้ให้เขา ในแง่กลับกันวิธีการที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยภาคใต้ พาดหัวข่าวบางกอกโพสต์เช้านี้ก็พูดถึงการทรมาน มีผู้ที่ถูกเป็นพยานในคดีคุณนัจห์มุดินให้การต่อศาลว่า เขาถูกตำรวจซ้อมและทรมานให้ ให้การซัดทอดคุณนัจห์มุดิน การอุ้มในคดีคุณสมชาย นีละไพจิตร ต่างๆ เหล่านี้ จะให้เลือกรัฐที่กระทำการนอกกฎหมายต่อประชาชนร่วมแผ่นดิน ผมเลือกไม่ลง

ผมเป็นคนไทยรักรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดกฎหมายแล้วไปทำให้พี่น้องภาคใต้เดือดร้อน แล้วจะให้ผมรู้สึกว่าเป็นข้างเดียวกับท่าน ผมก็เลือกไม่ลงเหมือนกัน ที่มันแย่กว่านั้นคือ ผมมีความรู้สึกว่าตอนนี้มีปีศาจที่หลอนคนไทยทั้งประเทศ และหลอนภาคใต้อยู่ คือปีศาจแยกดินแดน รู้สึกว่านี่คือผู้ร้ายตัวจริงและนี่คือตัวก่อการที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด คือผมไม่เชื่อ

อันนี้ไม่ได้แปลว่าผมไม่คิดว่ามีคนที่อยากแยกดินแดน หรือมีคนที่ฝันถึงการแยกดินแดน อาจจะมี แต่ผมไม่เชื่อว่าในสภาพการเมืองระหว่างประเทศปัจจุบัน การเมืองในประเทศปัจจุบัน การแยกดินแดนเป็น variable political alternative เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะแยกสามจังหวัดเป็นดินแดนต่างหาก ภายใต้สภาวการณ์เมืองในประเทศการเมืองโลกอย่างที่เป็นอยู่

ปัจจุบัน ต่อให้กลัวมัน แล้วมันหลอนคุณทุกคืน ประทานโทษมันไม่มีวันเป็นจริง ปีศาจตัวจริง คือเนื่องจากเราไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องภัยแยกดินแดน ผมรู้สึกตัวการตัวจริงที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ political status quo ในภาคใต้ต่างหาก คือสภาวะการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในภาคใต้ต่างหากที่มีการใช้กำลังกดขี่ข่มเหงกันและมีการใช้กำลังเพื่อที่จะแก้เผ็ดล้างแค้น

ถ้าขยายความลงไปก็คือว่าการส่งสัญญาณจากผู้นำประเทศให้ใช้วิธีอุ้มวิธีเก็บในการแก้ปัญหา วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิด มีผลการสืบสวนของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งแต่กรือเซะบอกว่า มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ท่านรัฐมนตรีกลาโหมตอบทันทีเลยว่า ไม่มีใครต้องมีความผิด

ประเด็นมันลึกกว่านั้นเยอะ ประเด็นไม่ใช่ว่า ในฐานะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาท่านไม่สามารถเอาผิดลูกน้องที่ไปเสี่ยงตายได้ หรือลูกน้องที่ได้รับความบาดเจ็บล้มตายในการรบ อันนี้เข้าใจได้ แต่ตราบใดที่หลักอันนี้ยังอยู่ จะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนเกรงกลัวในการที่จะละเมิดกฎหมายหรือนโยบาย เพราะไม่เคยมีใครต้องรับผิด จะมีเจ้านายออกมาปกป้องเสมอ ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ เพราะรัฐจะไม่เคารพกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่เคารพนโยบายและพร้อมจะใช้กำลังเกินกว่าเหตุ โดยการอ้างภาวะคับขันอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

วัฒนธรรมของการไม่ยอมรับผิดหรือไม่พร้อมรับผิด นำไปสู่เรื่องสุดท้ายคือระบบการเมืองไม่รับผิดชอบเลยกับสิ่งที่ตัวเองทำ ถ้ากรณีกรือเซะใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ผู้บริหารระดับนโยบายมีใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้บ้างมั้ย คนที่ส่งสัญญาณมรณะลงไป มีใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้บ้าง ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง สัญญาณมรณะทำนองนี้

ผมสงสัยอยู่อย่าง คือเคยรบกันมากับกองทัพแล้วกองทัพก็ชนะ ที่กองทัพชนะคอมมิวนิสต์เพราะสามารถใช้การเมืองนำการทหารได้ ผมสงสัยว่า ทำไมรอบหลังนี้ทั้งที่ผู้นำกองทัพหลายคนหรือผู้นำรัฐบาลหลายคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาคใต้ ก็เป็นมือเก่าที่เคยรบกับคอมมิวนิสต์มาก่อน ทำไมไม่พยายามใช้การเมืองนำการทหาร ผมไม่แน่ใจ แต่ผมรู้สึกว่าเผลอๆ กองทัพทุกวันนี้ไม่สามารถใช้การเมืองนำการทหารได้ เพราะการนำทางการเมืองไม่ได้อยู่กับกองทัพอีกต่อไปแล้ว การนำทางการเมืองภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน กลับไปอยู่กับผู้นำรัฐบาลและผู้นำการเมือง ทหารก็เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานที่รับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น

ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถขบคิดช่องทางทางการเมืองหรือเข้าใจปัญหาภาคใต้ว่า นี่เป็นปัญหาการเมืองที่คุณต้องเปลี่ยน หาทางออกการเมืองให้กับอันนี้ มันก็ไม่มีทางออกมันก็จะรบกันไปเรื่อยๆ เป็นไปได้ว่าท่านจะชนะ เป็นไปได้ว่าโดยการให้ข้อมูลของคนที่กลับใจมาร่วมกับท่าน ท่านจะสามารถรบ หนึ่งคือผู้สอนศาสนาบางคนที่ท่านพูดถึงหรือเยาวชนที่เป็นผู้ปฏิบัติการในหมู่บ้านได้หมด เป็นไปได้ แต่จะมีรุ่นใหม่เกิด จะมีรุ่นใหม่เกิดมาอีก ตราบใดที่ไม่แก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนภาคใต้ที่รากเหง้า

ผู้ดำเนินรายการ : ขอบคุณ อ.เกษียร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอชี้แจงว่าเราจะเริ่มต้นเวทีภาคบ่ายนี้ด้วยคณะวิทยากรที่เป็นทั้งนักวิชาการ สื่อสารมวลชน และบุคคลหลายท่านที่คิดว่ามีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ภาคใต้

เกรียงกมล : ผมจะพูดต่อเนื่องกับที่ อ.เกษียรได้อภิปรายมา คือจริงๆ แล้วที่ประชุมวันนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก แม้มันจะเล็กมากเมื่อเทียบกับปัญหาที่ใหญ่ จริงๆ มันต้องมีคนคุยอย่างนี้มานานแล้วในเมืองไทย แต่ว่ามันก็เป็นความอ่อนด้อยของสังคม ดังนั้นในวันนี้อยากให้เราเห็นว่าปัญหามันใหญ่มันร้ายแรง แล้วต้องค่อยๆ ดูมัน

ผมไม่อยากให้เรามีความรู้สึก ซึ่งจะต้องไปโกรธหรือไม่โกรธอย่างไร แล้วก็สิ่งที่ท่านได้พูดไปมันก็เป็นผลจากความไม่รู้ ผลจากอคติของสังคมที่ท่านเป็นเจ้าของด้วย ด่าไปด่ามาเราก็จะโดนตัวเองคนไทยคนหนึ่ง ผมด่าตัวเองมากที่สุดว่าเป็นพวก ๑๔ ตุลาออกจากป่าแล้วก็ทิ้งสังคม ผมก็ด่าผมกับเพื่อนๆ ผมด้วย ถ้าพวก ๑๔ ตุลามันไม่ทิ้งสังคม เอาตัวรอดกันไป มันทำงานต่อเนื่องแม้พรรคคอมมิวนิสต์จะแพ้ สังคมไทยก็น่าจะดีกว่านี้

ฉะนั้นผมถึงห่วง ผมคิดว่าวันนี้ลองคิดเพื่อจะแก้ปัญหา ตั้งสติดีๆ ท่านจะใช้คำว่าเหยื่อ รองแม่ทัพภาค ๔ ก็เป็นเหยื่อเหมือนกัน ทหารก็เป็นเหยื่อ ตำรวจก็เป็นเหยื่อ เหยื่อของสังคมซึ่งไม่มีปัญญา ซึ่งก็รวมพวกเราไปด้วย ฉะนั้นวันนี้พูดอะไรก็ได้ หยิบเรื่องกรือเซะมาพูดก็ได้ จำเป็นต้องพูด มันจะมีขอบเขตมีเวทีมีแวดวงที่จะพูดกันไป แต่ว่าที่ประชุมใหญ่ขนาดนี้ ผมคิดว่าตั้งหลักกันดีๆ แล้วจัดเลยว่าเราจะทำกันอย่างไร เพราะว่าสื่อมวลชนที่มานั่ง ถ้าเขาเข้าใจเขาก็เสนอไป ถ้าเผื่อเขาไม่เข้าใจเขาก็หยิบประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เสนอไป แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ที่ประชุมนี้ควรจะต้องคิดต้องอะไรไป

ผมคิดว่าอยากเสนอให้เราจัดวงใหญ่ไปเลย เพราะรัฐไม่เข้าใจ ถ้ารัฐเข้าใจไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าสังคมใหญ่เข้าใจ กลไกรัฐก็ทำอย่างนี้ไม่ได้ สังคมใหญ่ก็ไม่เข้าใจด้วย ฉะนั้นมันเป็นผลของความไม่เข้าใจ ผลจากการไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ จะแก้อย่างไร ถามว่าค่อยศึกษาไปทันไหม ตอบได้เลยว่าไม่ทัน

ผู้ดำเนินรายการ : คุณเกรียงกมลครับ ผมคิดว่าถ้าเป็นความเห็นเดี๋ยวเราจะแลกเปลี่ยนกันแต่ลองฟังนักวิชาการหลายๆ ท่าน ผมขออนุญาตผ่านไปที่นักวิชาการอีกท่าน, อ.เกษียร อยู่ที่กรุงเทพฯ อาจเห็นภาคใต้ไม่ชัดนัก ขอเรียนเชิญ ดร.เลิศชาย ศิริชัย จาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ดร. เลิศชาย : ผมก็เป็นคนภาคกลางอยู่นครศรีธรรมราช ก็ไกลจากปัตตานีประมาณ ๓๐๐ กว่า กม. แต่ว่าในวันเกิดเหตุวันที่ ๒๘ บังเอิญผมพานักศึกษาปริญญาโทไปลงพื้นที่อยู่ที่ปัตตานี แต่ว่าไม่ได้ไปศึกษาเรื่องพวกนี้ เพราะไม่เคยคิดว่ามันจะเกิด ไปศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากร ตื่นมาตอนเช้าพอเปิดทีวีดู ก็เห็นศพนอนอยู่ริมทางเท้า บนถนน นุ่งผ้าโสร่งโพกหัวบ้าง แล้วได้ยินคำว่า ๖๐ ศพ ผมก็นึกว่าอิรัก ธรรมดาเป็นข่าวที่อิรัก

แต่พอมาดูจริงจัง ก็ทราบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ภาคใต้ มีเยาวชนหลายคนล้มตาย จากนั้นผมก็ติดตามมาเรื่อยๆ ผมคิดว่า เท่าที่สังเกตดูและพยายามศึกษาข้อความดู ผมคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้ รัฐและกลไกของรัฐกำลังติดกับตัวเอง หมายความว่า การเกิดเหตุการณ์ที่ภาคใต้ตั้งแต่เริ่มต้น รัฐพยายามจะใช้วิธีคล้ายๆ กับที่ใช้กรณีปากมูล ความจริงใช้มานานแล้วที่ภาคใต้ แต่ว่าในช่วงปัจจุบันเห็นชัดเลย กรณีปากมูล กรณีท่อก๊าซจะนะ ก็คือพยายามใช้เสียงของคนส่วนใหญ่ไปกำราบปราบปรามคนส่วนน้อยอย่างชอบธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐทำ ผมคิดว่าชัดเจนมาตั้งแต่ต้นคือพยายามสร้างอคติทางชาติพันธุ์ พอเริ่มเหตุการณ์ รมว.กลาโหมขณะนั้น ขอประทานโทษ ความจริงพูดตรงนี้ผมไม่ได้เพื่อจะบอกใครถูกใครผิด ผมคิดว่าทุกคนก็พยายามทำตามหน้าที่แต่ว่าเราก็พยายามร้อยสถานการณ์เข้ามา ถ้าไปกระทบใครบ้างก็ขอประทานโทษด้วย บอกว่าอีกพันวันจะยึดนราธิวาสจะชักธงที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อะไรทำนองนี้ อันนี้ก็ชัดเจนเลยโยงอันนี้เข้าไปสู่สถาบันเพื่อที่จะสร้างอะไรออกมา ความจริงมันมีเยอะเลย

วันที่ ๒๘ ผมก็กลับมาจากปัตตานี ตอนกลางคืน รายการของคุณสรยุทธ์ สัมภาษณ์แม่ทัพภาค ๔ กับ รมว.กระทรงกลาโหม แล้วให้ประชาชนโทรมาแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยมั้ยกับการปราบปรามของรัฐวันนั้น ซึ่งแน่อยู่แล้ว มีผู้ให้การสนับสนุนเต็มไปหมด แล้วข่าวสารที่ออกมาในช่วงนั้นตลอดเวลาเป็นข่าวไปในทางประณามหยามหยันพวกนี้ว่า เป็นผู้ก่อการร้าย

ผลที่ตามมา เว็บไซต์ทุกเว็บด่าพี่น้องชาวมุสลิม ผมก็บังเอิญเข้าไปเกี่ยวอย่างแบบว่าฟลุคๆ วันนั้นผมกลับมาจากปัตตานีก็เชิญอาจารย์ในสำนักได้กลุ่มหนึ่งมานั่งคิดกันก็เขียนคำวิงวอนลงส่งมาตามสื่อสารมวลชน ท่านก็พยายามลงกันใหญ่เป็นฉบับแรกๆ ก็ปรากฏว่ารุ่งขึ้นทหารก็เข้ามาขู่ผมที่พักที่บ้าน ตอนนั้นก็งงมากว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน แต่ตอนหลังก็รู้ว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติการพิเศษของ กอ.รมน. ก็มาด่าผมต่างๆ นานาข่มขู่ แล้วก็ให้ข้อมูลด้วยครับ ไม่เหมือนที่ท่านรองแม่ทัพฯ พูด บอกว่า

จะบอกให้เอาบุญ ที่วันนั้นเราเตรียมแผนอยู่แล้วเพราะรู้อยู่แล้วว่า จะต้องมีเยาวชนออกมา จากการที่จับเด็กได้ก่อนจะไปเผาโน่นเผานี่เผาตู้โทรศัพท์แล้ว จับเด็กได้สิบกว่าคน ตอนนั้นข้อมูลเรารู้อยู่แล้วจะต้องมีพวกนี้ออกมา เพราะฉะนั้นเราเตรียมฆ่าไว้แล้ว

นี่คือที่นายทหารคนนี้มาบอกผม มาด่าผมและก็อบรมด้วย ผลตามมาก็อันเดียวกันเลย ก็มีคนเอาคำวิงวอนที่ลงหนังสือพิมพ์ไปโพสต์ตามเว็บไซต์ รวมทั้งเว็บไซต์ของหอการค้านครศรีธรรมราช ดอทคอม ก็มีคนด่าแบบไม่ได้โต้แย้งแต่ด่าไอ้ควายก็มี วิทยุชุมชนตามเทศบาลเอาอันนี้ไปออกแล้ว ให้คนโทรเข้ามาก็จะมีแต่คนด่า เพราะมันไปตาม เขาเรียกว่ามันเป็นการสร้างของรัฐขณะนั้นที่ต้องการเอาเสียงของคนส่วนใหญ่ไปรับรองปฏิบัติการของรัฐ

แล้วที่มันออกมา วาทกรรมตอนนั้น สิ่งที่รัฐพยายามอธิบายก็คือ หนึ่ง, เยาวชนถูกหลอกออกมาปฏิบัติการ สองคือ, โดยคนในชุมชนและคนในท้องถิ่นและเชื่อมเครือข่ายกับเครือข่ายของมุสลิม ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่ามันออกมาตั้งแต่รุ่นจับผู้นำศาสนาและหมอ ๓ คนด้วยข้อหาเจไอ แล้วก็มาเชื่อมโยงกับตอนหลังๆ ก็จะเห็นคำว่า โต๊ะครู ปอเนาะ เต็มไปหมดก็ติดอยู่แค่นี้เลยไม่รู้ว่าผู้นำสูงกว่านี้คืออะไร

เมื่อมองอย่างนี้ก็พอจะเข้าใจว่า ตามที่ผมดู มันคล้ายๆ ว่าถ้ารัฐไม่สร้างเหตุผลรองรับชุดนี้มาอย่างต่อเนื่อง มันก็จะไปขัดกับสิ่งที่รัฐพยายามใช้เป็นเหตุผล หรือเป็นฐานรองรับอำนาจในการที่รัฐเข้าไปจัดการ คือถ้ามาพูดใหม่อีกแบบ ไม่มีโต๊ะครู ไม่มีมัสยิด ไม่มีอะไรพวกนี้แล้ว logic ที่ตัวเองวางไว้แต่เดิมมันก็หาย พอรัฐมาติดกับตรงนี้แล้วมันก็จะต้องสร้างตัวนี้ออกมา ผมจึงได้ข่าว มีคนมาพูด ก็ไม่คิดว่ามันอาจถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แต่มันก็จะเห็นความพยายามของคนที่คิดอีกแบบ เช่น กรณีที่เห็นในข่าวปัจจุบัน รัฐพยายามสร้างกระบวนการที่ให้เห็นว่ามีเยาวชนหลงผิดมอบตัว โดยเฉพาะสถาบันราชภัฏ ยะลา จะโดนมากกว่าพวก

ลองตามข่าวนี้ดู ผมคิดว่าต้องเข้าใจว่าสถาบันราชภัฏ ยะลา เป็นสถาบันของคนในท้องถิ่น พี่น้องมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้เขาไม่ค่อยไปเรียนที่อื่น เพราะพูดภาษาไทยก็พูดไม่ค่อยได้ เขาถนัดภาษามลายู เป็นวัฒนธรรมของเขา เขาก็ไม่อยากไปไหน ฉะนั้นราชภัฏก็จะมีเด็กสามจังหวัดมาเรียนมาก ทั้งนราธิวาส ปัตตานี ยะลา มันมีการออกข่าวว่าที่นี่เป็นศูนย์ของสายการปฏิบัติการ

จากการลงไปศึกษาดู นักศึกษาที่มาจากที่อื่น ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เขาจะไปปฏิบัติการตรงไหนได้ ทีนี้ทางราชการ… อันนี้อาจจะผิดก็ได้หรืออาจถูกคนละครึ่งก็ได้ บอกว่า ใครอยากปลอดภัยก็ไปรายงานตัวว่า เราเป็นใคร มาทำอะไร อยู่ที่ไหน แต่เวลาข่าวออกมามันเป็นมอบตัว เราก็ไม่เห็นเลยว่าที่มามอบตัว หลงผิด มันไปทำอะไร ที่ไหน มันก็ไม่มีข่าวออกมา แต่ว่าข่าวอีกด้านหนึ่งมันออกว่ามันไม่ได้มามอบตัว แต่มันบอกว่าใครอยากปลอดภัยก็ไปรายงานตัวกับทางราชการ เขาก็ไปเพื่อความปลอดภัย ไม่รู้เรื่องอะไร

หรือกรณีข่าว โต๊ะครูเป็นคนยิง โต๊ะครูสารภาพ หรือเด็กที่ถูกจับไปสารภาพมีโต๊ะครูอยู่เบื้องหลัง มันก็ต้องเอาพวกนี้ออกมา จริงเท็จพูดอีกที แต่ถ้าพูดตรงนี้ออกมามันไม่ได้มีผลแค่นั้น มันจะมีผลใหญ่กว่านั้น ตรงนี้คิดว่า ถ้าหากสิ่งที่ผมพูดมันมีนัยยะอยู่บ้าง แล้วรัฐยังอยู่ในกับนี้ ผมคิดว่าไม่มีทางไป

ขณะนี้สถานการณ์ไม่เปลี่ยนเลยคือยิงกันรายวัน แล้วก็มีคำว่าโต๊ะครู ปอเนาะ แบบเดิมเลย มีเยาวชนหลงผิด logic เดิมหมด ถามว่าทางไปแบบนี้มันจะแก้ได้ไหม ลองดูว่าสิ่งที่กำลังทำ มันอยู่ในกับของตัวเองที่วางไว้หรือเปล่า

อีกประเด็นที่ตั้งไว้ว่าปัญหาภาคใต้เกิดจากอะไร อันนี้ยากที่จะตอบ เมื่อวานผมได้คุยกับ อ.ไชยันต์ รัชชกูล พอดีท่านไปร่วมสัมมนากับเครือข่าย พอช. ที่ยะลา อ.ไชยันต์ บอกว่าแต่เดิมท่านก็มีสมมติฐานอยู่ในใจเกี่ยวกับอิทธิพลต่างประเทศ แต่พอไปฟัง ต้องเปลี่ยนไปหมดเลย เปลี่ยนเป็นแบบไม่เชื่อใครเลย คือมี ๕-๖ ทฤษฎีบอกเหตุการณ์เกิดจากอะไร และแต่ละทฤษฎีก็มีเหตุผลสนับสนุนหนักแน่น บางทฤษฎีก็อยู่ตรงกันข้ามกันเลย ฉะนั้น อ.ไชยันต์ ก็เตือนผมว่า ปัจจุบันถ้าพูดทางวิชาการว่าเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้เกิดจากอะไร ยากที่จะฟันธง คงไม่สามารถพูดฟันธงได้ แต่ผมก็คิดว่า แม้ไม่สามารถจะพูดฟันธงได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พูดอะไรเลย หรือปล่อยไปอย่างนี้

ถ้าเราลองยกระดับ แม้ว่ามันจะมีหลายทฤษฎี ตั้งแต่ทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน ทฤษฎีซีไอเอ ทฤษฎีของมุสลิม ทฤษฎียาเสพติดก็มี ผมคิดว่า ถึงแม้มันจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ หรือมีเหตุผลสลับซับซ้อนที่เรายังหาได้ไม่ชัดเจนอะไรก็แล้วแต่ คิดว่าแนวทางในการแก้ปัญหา รัฐไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปกระทำการในลักษณะของความมั่นใจ ถึงแม้จะมั่นใจในบางจุด แต่ถ้ามันไปกระทำการแล้วมันทำให้สถานการณ์สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น… ผมคิดว่ามันไม่มีทางที่จะไปไหนได้

ผมขอเสนออย่างนี้ อันแรกผมคิดว่า ขณะนี้รัฐที่เขาเรียกเป็นรัฐซีอีโอ รัฐพยายามที่จะทำให้ตัวเองเข้มแข็งแล้วก็โดดเดี่ยวองค์กรฝ่ายอื่นหมด โดดเดี่ยวคือไม่ร่วม ใครพูดหน่อยก็บอกเป็นนักเรียนแถวหลังห้อง อย่างผมคงอยู่นอกห้องเลย ผมคิดว่าถ้ารัฐยังทำอย่างนี้ปัญหาภาคใต้จะสลับซับซ้อนมากกว่านี้ ถ้าไม่ร่วมกับท้องถิ่นและภาคประชาสังคมต่างๆ ร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง

บทเรียนที่ผมเห็น ผมลงพื้นที่มากมายหลายแห่ง ที่ผมเห็นก็คือว่า ในช่วงที่รัฐไม่ได้เข้าไปปราบปราม หลังจากที่ขบวนการแยกดินแดนทั้งหลายอ่อนแอลงแล้ว รัฐก็ไม่ได้เข้าไปใช้กำลังแบบเดิม แต่สิ่งที่รัฐทำก็คือไม่เห็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของท้องถิ่น ก็คือว่าไม่สนใจไยดี อยู่เฉพาะที่อำเภอและจังหวัด มึงจะทำอะไรก็ทำไป มึงไปทำอะไรกูก็จับผิดอยู่อย่างนี้ ถ้าไปศึกษาไปคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านเขาไม่อยากยุ่งกับรัฐ

ชาวบ้านสามจังหวัดนี้เวลาเขามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ประมงพื้นบ้านที่ผมศึกษาอยู่ เขาจับปลาไม่ได้เพราะโดนรุกราน เขาไปมาเลย์หมด ครึ่งหนึ่งของแรงงานไปอยู่มาเลย์ เพราะฉะนั้นประเด็นแรงงานสองสัญชาติ รัฐไปมองเป็นความมั่นคง แต่สำหรับชาวบ้านเป็นเศรษฐกิจของเขา พอเขามีสัญชาติมาเลย์ โอกาสทางเศรษฐกิจในมาเลย์คนละแบบกันเลย และเขาส่งเงินกลับบ้าน

คือประเด็นเหล่านี้มันเยอะมากในท้องถิ่น แต่ว่าไม่เคยที่จะบอกว่ามันมีความหมายมากกว่าเรื่องของความมั่นคง ฉะนั้นมันมีทางเดียวก็คือจะต้องร่วมมือและต้องเริ่มต้นค้นหาตัวตนของท้องถิ่นให้เจอ ขณะนี้ไม่มีงานหรือไม่มีความพยายามที่จะค้นหาตัวตนของท้องถิ่นเลย แล้วก็พยายามจะเริ่มแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจตรงนั้นร่วมกัน ถ้าจะลุยแบบนี้ผมคิดว่าเมื่อไรก็มีปัญหา

อ. รตยา : ขอความสันติสุขมีแด่พวกเราทุกท่าน ดิฉันมองปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือกำลังเสียใจกับตัวเอง หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุการณ์คือก่อนวันที่ ๒๘ เมษายน ดิฉันเพิ่งพูดกับเพื่อนฝูงที่มาจากที่อื่นด้วยความดีใจว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีปัญหาอะไรมากแล้วและเย็นวันนั้นบังเอิญดิฉันก็ไปที่กรือเซะนั้นอีก ไปนั่งกินข้าวยำอยู่หน้ามัสยิดกรือเซะ แต่หลังจากเย็นวันนั้นกลับไปถึงสงขลา พอรุ่งเช้าก็เห็นภาพทางทีวีเป็นอย่างนั้น

ได้โทรศัพท์ถามไปทางญาติที่ปัตตานีว่าเป็นยังไงบ้าง ภาพที่เห็นวันนั้นเป็นความจริงหรือ คือดิฉันพยายามปฏิเสธตัวเองว่ามันไม่จริง เห็นแล้วไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริงไม่เชื่อว่ามันจะเกิดได้อีก ยังไงก็ตามดิฉันพยายามมองอย่างเป็นธรรมที่สุด ดิฉันไม่ทราบว่าใครผิดใครถูก ดิฉันไม่ว่าเจ้าหน้าที่ผิด แล้วก็ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ถูก ดิฉันไม่กล้าที่จะบอกว่าคนที่ก่อการเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะเขาเองเขาว่าเขาต้องก่อการดี ถ้าเขาไม่คิดว่าเขาก่อการดีเขาคงไม่ทำ เพราะฉะนั้นตรงนี้ดิฉันไม่สรุปว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นปฏิบัติการก่อการร้าย แต่มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มันเกิดจากความขัดแย้งทางด้านความคิดและฉวยผลประโยชน์ มันไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากกว่า

ที่ดิฉันพูดอย่างนี้ ในวันนั้นลูกศิษย์ของดิฉันคนหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่แล้วเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง เรียนพิเศษภาษามลายูกับดิฉันส่วนตัว ท่านต้องไปทำหน้าที่พลิกศพผู้ตายทั้งหมดที่สะบ้าย้อย วันนั้นท่านบอกว่าเดินอยู่ในกองเลือดตลอดวัน ตั้งแต่ ๑๑ โมงเช้า ถึง ๕ โมงเย็น ดิฉันได้ข้อมูลตรงนี้อย่างใกล้ชิดมาก

ดิฉันถามว่าเจออะไรบ้าง ท่านบอกว่าเจอเอกสารที่ตัวผู้ตายหลายๆ เรื่อง ที่สำคัญที่สุดมีแผนที่ด้วย อยู่ในเป้ บอกว่าเดี๋ยวปฏิบัติการเสร็จแล้วไปรวมตัวกันที่กรือเซะ ฉะนั้นเหตุการณ์นี้มันไม่ได้บังเอิญเกิดขึ้น มันเป็นปรากฏการณ์ที่มีการเตรียมการและวางแผนอย่างรอบคอบทีเดียว

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้วดิฉันไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่บอกว่าเป็นที่ไหน ตอนนี้คนภาคใต้เขาจะไม่บอกใครชื่ออะไร ใครเป็นผู้เล่า ไปไหนมา เขาไม่พูดตอนนี้ ไว้สิบปีค่อยเขียน มันปลอดภัยแล้วค่อยว่ากัน ไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งดิฉันยิงคำถามไปที่ชาวบ้านระดับผู้นำ ถามว่าลุงได้ยินข่าวที่เกิดขึ้นที่ปัตตานีที่กรือเซะ ลุงมีความรู้สึกยังไงและลุงเข้าใจว่ายังไง ลุงก็บอกว่าก็เข้าใจอย่างที่เป็นนั่นแหละ ก็มันเป็นปรากฏการณ์ที่ธรรมดาที่สุดแล้วไม่ใช่เหรอที่เจ้าหน้าที่ต้องฆ่าประชาชน เขายิงคำตอบให้อย่างน่ากลัวมาก

ถามว่าทำไมลุงว่าอย่างนั้น เขาก็บอกว่าก็มีที่ไหนล่ะ ประชาชนมีแต่มีดแล้วใช้อาวุธรุนแรงยิงขนาดนั้น จะไม่ให้ว่ารังแกประชาชนได้ยังไง ทำนองนั้น เลยถามว่าลุงได้ยินแค่นี้เหรอ ก็บอกได้ยินอีกมาก แต่ดิฉันจะสรุปตรงนี้ว่า แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนั้นกับสิ่งที่ชาวบ้านอีกมุมหนึ่งได้รับมา ก็แสดงว่าก่อนที่ดิฉันจะไปถึง ต้องมีหน่วยไหนหน่วยหนึ่งเข้าไปแล้วกระจายให้เขารับรู้สิ่งเหล่านี้ในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว ดิฉันก็บอกตัวเองว่าไม่มีประโยชน์ที่เราจะต้องพูดอะไรตรงนั้นอีก คือไม่ชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น เป็นฝ่ายฟังมากกว่า

ย้อนไปที่ข้อมูลที่ได้จากลูกศิษย์ที่ไปพลิกศพ เอกสารที่เจอเหล่านั้นเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในนั้นจะมีพร้อมเลย มีประคำ มีหนังสือ…….. ดิฉันมองว่าผู้ตายเหล่านี้ส่วนหนึ่ง ไม่ทั้งหมด เป็นผู้ที่เคร่งศาสนา เขาคิดว่าเขาพยายามทำตนให้เป็นผู้เคร่งศาสนา แต่ทีนี้ถ้าผู้เคร่งศาสนาเหล่านี้ ที่ดิฉันใช้คำว่าเคร่งศาสนาเพราะอะไร วิถีชีวิตของมุสลิมยึดหลักการอิสลาม เรื่องสัจจะวาจาเป็นสิ่งที่เหนืออื่นใด มุสลิมเขาก็แบ่งสมบัติ สมัยก่อนเขาไม่ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เขาแบ่งกันด้วยปากเท่านั้นเอง เขาสัญญาอะไรเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสัญญาของเขา เขาถือสัจจะมาก ดิฉันว่านั่นเป็นจุดเด่นของกลุ่มนี้

แต่มันมีกลุ่มคลั่งศาสนาที่พยายามใช้จุดเด่นและจุดแข็งของคนกลุ่มนี้มาใช้ประโยชน์กับเขา เขาเก่งกว่า คนเหล่านี้ควรได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เขาเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีจุดแข็งอยู่ในตัวและแย่งเขามาเป็นประโยชน์ให้กับตัวเอง คนเหล่านี้เป็นใคร อันนี้ต่างหากเป็นคำถามที่น่าจะต้องหาคำตอบ

ดิฉันคิดว่าดูจากปรากฏการณ์ที่มีสตางค์อยู่ในกระเป๋าผู้ตายคนละ ๓,๐๐๐ หลายศพ สตางค์เหล่านั้นเอามาจากไหน ต้องมีผู้ว่าจ้าง แล้วผู้ว่าจ้างเป็นใคร ต้องเป็นคนมีเงินแน่ และต้องไม่ใช่คนมีเงินน้อย แล้วทำไมต้องลงทุนจ้าง ถ้าจะแบ่งดินแดนเขาไม่จ้างหรอก ๓,๐๐๐ อันนี้อาจจะเดาไว้ก่อน ถ้าเอ็งทำสำเร็จไปรวมกันที่กรือเซะแล้วปฏิบัติการต่อ ค่อยจ่ายเพิ่มทีหลัง ก็อาจจะเป็นไปได้

ฉะนั้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ดิฉันคิดว่านอกจากผู้คลั่งศาสนาแล้ว ก็ยังมีกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ หลังจากการที่รัฐบาลมีการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่และมีการปราบปรามเจ้าพ่อ เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นทีหลัง…

สาม, อาจจะเป็นไปได้ว่านักการเมืองท้องถิ่น เพราะกลุ่มพรรคการเมืองท้องถิ่นเองก็มีความขัดแย้งระหว่างกัน และสี่, เจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ทุกคน ดิฉันก็เป็นข้าราชการเหมือนกัน เจ้าหน้าที่บางคนก็พยายามใช้จุดแข็งเหล่านี้มาเป็นประโยชน์ส่วนตัวเหมือนกัน ผู้นำบางคนที่พยายามต่อสู้กับยาเสพติดที่พยายามปกป้องไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ เพื่อไปเอาผลประโยชน์ในพื้นที่ของตัวเอง บางคนถูกวางเงินค่าจ้าง มีการเดิมพันสี่แสน ถ้าฆ่าคนนี้ได้สี่แสน ปรากฏว่าพอทำไม่ได้เปลี่ยนมือเป็นค่าหัวหนึ่งล้าน แต่โชคดีคนที่ถูกวางค่าหัวนั้น ตอนนี้ท่านเสียชีวิตแล้วด้วยโรคตามธรรมชาติไม่ถูกกระสุน คนเหล่านั้นเป็นวิทยากรในงานวิจัยของดิฉันทั้งหมด

มุสลิมกันเองก็รังแกกันเอง ดิฉันจะพูดแค่นี้ มุสลิมกันเองก็รังแกกันเองถ้าไปขัดผลประโยชน์ของเขา เขาไม่สนใจ เผอิญถ้ามุสลิมคนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ถ้าไปขัดผลประโยชน์ของเขา เขาทำตัวไม่ได้เขาก็ทำร้ายทรัพย์สิน มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนราธิวาสไม่กี่วันนี้สวนยางแปดร้อยต้นของท่านโดนโค่นเกลี้ยงเลย ไม่มีใครไปแก้ปัญหาได้ ฉะนั้นตอนนี้มุสลิมทำร้ายมุสลิมก็มีแล้ว ถามว่าทำไมจึงเกิด เพราะไปขัดผลประโยชน์ ฉะนั้นใครอยู่เบื้องหลังคนเหล่านี้ที่ให้เขาทำอย่างนั้น

ดิฉันคิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเล็ก เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้ใจพูดกับใจ ต้องใช้คนที่พูดภาษาเดียวกันมาแก้ปัญหาให้ได้ ภาษามันเป็นชีวิตของชาติพันธุ์ ภาษาจึงเป็นตัวแทนของชาติพันธุ์นั้น คนที่พูดภาษาเดียวกันถึงจะไปคุยกันได้ สมัยก่อนเวลาเขาจะแก้ปัญหาคนที่ขัดแย้งกันระหว่าง A กับ B บางทีเขาต้องสาวไปว่า A อยู่ใต้อิทธิพลของใคร B อยู่ใต้อิทธิพลของใคร

ดิฉันเคยไปแก้ปัญหามือปืนคนหนึ่ง ที่เขาไปรับจ้างจะไปยิงคนๆ หนึ่ง จากการที่เขาเคยเป็นคนที่เข้าป่า ตอนอยู่ในป่าออกมาปฏิบัติการภายนอกไม่ได้ แต่พอมีการมอบตัว เขากล้าที่ออกมาปฏิบัติการภายนอกได้ เดินอย่างสง่างามในสังคมแล้วก็จะไปยิงคนๆ หนึ่ง เดินเข้าเดินออกในหมู่บ้าน ๒-๓ คืนแล้ว แต่ชาวบ้านมุสลิมบางคนเขาก็ไม่อยากโต้ตอบเพราะเขาก็ปฏิเสธกระสุนแล้วเหมือนกัน เขาจะไปละหมาดให้สบายใจ แต่ก็ยังมีคนเหล่านี้เมื่อมีผู้อยู่เบื้องหลังที่อยู่ใน uniform ทำให้เขากล้าที่จะทำ

วิธีแก้ปัญหาก็คือดิฉันต้องไปหาว่าคนๆ นี้ก่อนที่จะมอบตัวเขาอยู่จุดไหนของป่าในสามจังหวัด เขาอาศัยอยู่บนเขาลูกไหน และตอนนั้นมีใครที่เขาพึ่งพาอาศัยอยู่ที่เขาเกรงใจ ดิฉันต้องไปหาคนนั้นบอกว่า ลูกท่านปฏิบัติการอย่างนี้ท่านช่วยหนูที แล้วท่านก็คุยให้เสร็จ

ทีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราสามารถหามือที่สามได้หรือยัง ไม่ใช่มือที่สามที่ก่อการ แต่เป็นมือที่สามเพื่อแก้ปัญหา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะฝากความหวังไว้มากกับผู้นำศาสนา หลายๆ ครั้งก็ฟังผู้นำศาสนาพูดกี่วัน เวลาจะทำประชาพิจารณ์ก็นำผู้นำศาสนามาพูด แล้วเผอิญเป็นผู้นำกลุ่มเดียวกันตลอด ความเห็นก็จะเหมือนกันเกือบทุกวง ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วฝ่ายผู้จัดต้องการคำตอบอย่างไร ขอจบแค่นี้ก่อน

อ.ชิดชนก : ขอพูดประเด็นสั้นๆ ว่าการแก้ปัญหา มันก็เหมือนกับวนไปวนมา อย่างที่ อ.เกษียร พูดว่า มันไม่มีข้างให้เลือก ประเด็นแรกขอถามท่านรองแม่ทัพฯ ก่อนว่า ท่านรู้ว่าทหารในกองทัพภาค ๔ หรือแม้แต่สันติบาลหรือตำรวจก็มีส่วนในการก่อปัญหา ทางภาครัฐเวลามีปัญหา ท่านมองว่าท่านอยากจะปรับหลักสูตรโรงเรียนปอเนาะ อยากจะพัฒนาเยาวชนให้มันดีขึ้น แต่ท่านเคยมีความคิดอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐบ้างหรือเปล่าในพื้นที่ อันนี้ไม่เคยได้ยินเลย

ถ้าท่านจะปรับปรุงคุณภาพ คุณธรรม หรือสิ่งดีๆ ในสังคมมันต้องทำทั้งสองฝ่าย เคยพูดตั้งหลายครั้งอยู่กับท่านแม่ทัพฯ ทั้งผู้อำนวยการกองข่าวก็เคยพูดว่า การปฏิบัติงานของการข่าวในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกลียดทางการ ตัวอย่างเช่น ท่านไม่เคยมีความคิดเลยหรือว่า จะอบรมศีลธรรมจริยธรรมแก่การข่าวในพื้นที่ ให้เขามีความรู้สึกรักประชาชนโดยไม่มองประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับทางการเป็นศัตรู

ตัวอย่างเช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะถูกทางการมองว่าเป็นผู้ที่ชี้นำสังคมให้ต่อต้านคัดค้านรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่อก๊าซ เรื่องประมงชายฝั่ง กระทั่งเรื่องปัญหาการก่อการร้าย เวลาให้สัมภาษณ์ลักษณะที่ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะข่าวของกองทัพภาค ๔ เอง เจ้าหน้าที่ระดับล่างจะต้องโทรมาถามว่าไอ้พวกนี้พูดจาเข้าข้างโจรรึเปล่า ไอ้พวกนี้พูดสวนทางรัฐบาล แนวร่วมรึเปล่าวะ คือมีลักษณะอย่างนี้ตลอดเวลาต่อเนื่องกันหลายปี

ทำไมไม่คิดปรับปรุงคุณภาพคุณธรรมของคนที่มาหาการข่าวให้รัฐบาลบ้าง ทั้งๆ ที่ท่านนายกฯ ก็พูดหลายครั้งว่าข่าวกรองมันขาดที่กรอง ได้ข่าวไม่ดีมา ทำไมถึงยังไม่ปรับปรุงทั้งๆ ที่มีคนดูแลด้านการข่าวในพื้นที่มากมายแต่คนเหล่านี้สร้างศัตรูของรัฐมากมาย มองประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยเหมือนเป็นศัตรู แล้วก็มีวิธีการต่างๆ นานา รายงานข่าวเท็จ เขียนนิยาย แต่งเรื่อง สารพัดอย่างที่จะคิดขึ้นมาได้โดยเอาข้อมูลจากวงเหล้าแล้วก็แลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าว

ยกตัวอย่างเช่นก่อนมานี่ พอดีทราบข่าวมาว่า ตัวเองถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในทีมงานของกองทัพภาค ๔ ส่วนหน้า จะไปเจรจากับเบอร์ซาตู สืบเนื่องจากคราวที่แล้วได้ไปพูดกับ ดร.วัณห์ กาเลเจ๊ะมัน ที่มาเลเซียก็มีรายงานว่า…… ผู้กำกับนั่งอยู่ตรงนี้ ดิฉันไม่เคยติดต่อมาตั้งหลายเดือนแล้ว รวมทั้งทหารอีกคนหนึ่งจากกองทัพภาค ๔ ส่วนหน้า พยายามจะติดต่อขบวนการเบอร์ซาตูให้รัฐบาล

แล้วอีกทีมหนึ่งก็เป็นทีมตำรวจ ผลปรากฏว่า ก็คุยไปคุยมาถามว่าข่าวนี้มาจากไหน เขาบอกข่าวมาจากพื้นที่ภาคใต้ ถามว่าได้ข่าวมาอย่างไร บอกว่าตำรวจเขาคุยกันในวงเหล้า ทำงานบ้านเมืองทำกันอย่างนี้ ประเด็นคือถ้าท่านไม่สังคยานา อบรมการข่าวให้มีประสิทธิภาพในการข่าวที่ดีกว่านี้ ท่านจะสร้างศัตรูในพื้นที่มากมาย

ประเด็นที่สอง สื่อท้องถิ่น ยกตัวอย่างขอเอ่ยชื่อ หนังสือพิมพ์… หนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน ซึ่งไม่ค่อยมีคุณภาพ อยากจะขายข่าวเด็ดในพื้นที่ ไปหาข่าวกับการข่าวภาคใต้ แล้วการข่าวภาคใต้ที่ไม่มีจรรยาบรรณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ชื่อ ให้นามสกุล ให้โรงเรียนกับสื่อมวลชนเหล่านั้นลงเผยแพร่ ผลปรากฏว่าโต๊ะครูต่างๆ ที่มีชื่อ ทั้งที่เป็นโต๊ะครูและไม่ใช่โต๊ะครู เขากลัว เขารู้สึกหวาดกลัว แล้วก็บางคนอาจจะไปรายงานกับกองทัพว่าเขาไม่เกี่ยวข้อง แต่ความรู้สึกของเขา ข้อหากบฏแผ่นดินมันเป็นข้อหาที่ค่อนข้างรุนแรง และสังคมก็ได้พิพากษาเขาไปแล้ว

ยอดขายมันอาจจะดีแต่คุณรู้มั้ยว่าชีวิตคนที่ตายทั้งเป็นในสังคมภาคใต้เท่าไร การทำงานของสื่อและการข่าวของรัฐต้องบอกเลยว่าแย่มาก เพราะว่ามันเป็นความรู้สึกของคนในพื้นที่ว่าเมื่อไรจะปรับปรุงหน่วยงานของท่านซักที พูดวนไปวนมา คุณธรรมอย่างโน้น ไม่ติดในวัฒธรรมอย่างนี้ อะไรที่เห็นชัดๆ ว่าต้องทำ ทำไมยังเฉยๆ อยู่ อันนี้อยากจะวิงวอนว่าผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ หนึ่ง, ขอให้รักประชาชนในพื้นที่บ้าง สอง, ถ้าใครพูดอะไรแล้วขัดหูบ้าง อดทนแล้วก็อย่ามองว่าเป็นศัตรู

ประเด็นถัดไปคือว่าในส่วนของภาคประชาชนเอง ก่อนที่จะมาก็ได้คุยกับทางคณะของวิทยาลัยอิสลามศึกษา รองอธิการบดีของวิทยาลัยบอกว่า มันเป็นความสุดโต่งของคนสองฝ่าย ฝ่ายรัฐฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายมุสลิมเอง อย่างที่ อ.เกษียร พูดว่า คุณใช้วิธีการฆ่าในการต่อสู้ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ทางอาจารย์เองก็บอกว่า ทางอธิการบดีของท่านก็พยายามออกมาชี้แจงแล้วว่า หลักศาสนาอิสลามไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ แต่ทางวิทยาลัยอิสลามศึกษาเองก็มีปัญหา หรือตัวคนที่เป็นมุสลิมเองออกมาพูดว่า มุสลิมเรา ทำไมเราต่อสู้เพื่อเอกราช ต่อสู้ในความยุติธรรม แต่ทำไมเราฆ่าคน ไม่มีใครกล้าพูดเลยในสังคมมุสลิม

เราจะถูกมองว่าไม่เห็นอกเห็นใจพวกเดียวกัน แต่ทีนี้ถามว่าคนในสังคมมุสลิมเองเราจะต้องเกรงใจกันในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกนานเท่าไร ทำไมเราไม่พิสูจน์ตัวเราว่าเรามีอารยะกว่าฝ่ายรัฐที่กดขี่เรา เราจะมีวิธีการต่อสู้เป็นพลังเงียบเป็นสันติวิธีโดยที่ไม่ฆ่าคนได้มั้ย เป็นคำถามตรงนี้

เราจะมีจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาโดยถอยมาสักหนึ่งก้าว โดยไม่เอาการฆ่ามาเป็นตัวตัดสินว่า ฝ่ายหนึ่งต้องตาย ฝ่ายหนึ่งต้องเจ็บปวด แล้วมันไม่มีที่สิ้นสุด แต่พอบางท่านออกมาพูดว่าไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ ถือว่าเป็นหลักศาสนา ก็ถูกคนในสังคมมุสลิมต่อต้านว่าวิทยาลัยอิสลามศึกษาขายตัวต่อภาครัฐ รับใช้รัฐใช่มั้ย ก็คือมองในแง่อคติด้วยกันเอง

เราก็มีปัญหาภายในสังคม บางครั้งการแก้ปัญหามันอาจจะต้องยอมพ่ายแพ้บางอย่างในการลดทิฐิ เราไม่อยากจะขอให้ภาครัฐพ่ายแพ้ก่อนเพราะเป็นไปไม่ได้ เราอยากจะขอให้สังคมมุสลิมที่เราพูดอยู่ทุกวันว่า เรามีหลักศาสนาที่ดี ถอยมาหนึ่งก้าวได้มั้ย มีวิธีการต่อสู้ใหม่ได้มั้ย ไม่ใช่บอกว่าเราจะไม่ต่อสู้แล้ว เราจะต่อสู้ต่อไป แต่เราจะไม่ทำลายคนของเราเอง เราจะไม่ฆ่าผู้บริสุทธิ์และจะทำให้เห็นว่า เรานั้นแตกต่างจากภาครัฐ เราไม่ใช้ความรุนแรง เราจะมีจุดยืนตรงนี้ได้มั้ย เพื่อหาทางออกใหม่

รองแม่ทัพฯ ภาค 4 : ขอบคุณมากครับ อ.ชิดชนก ขออนุญาตชี้แจงเล็กน้อย สำหรับประเด็นเจ้าหน้าที่ข่าวหรือเจ้าหน้าที่บางคนที่เข้าไปปฏิบัติงาน แล้วอาจไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามที่อาจารย์ได้ชี้แจง ก็คงต้องยอมรับว่าบางส่วนก็คงจะต้องมีบ้างแน่นอน ในสังคมทุกสังคมก็ต้องมีทั้งคนดีคนไม่ดี ไม่ว่าเราจะสั่งสอนขนาดไหน มันก็จะต้องมีหลงหูหลงตาบ้าง อันนี้ยอมรับ

แต่ถามว่าเราได้อบรมเพิ่มเติมสั่งการเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร ถ้ามีหลักฐานชัดเจนและทราบชัดเจนไปสอบถามดูได้ว่า มีคนไหนบ้างที่ไม่ได้รับการลงโทษจากผู้บังคับบัญชา มีแน่นอนครับ ก็อยากจะกล่าวว่าถ้า ท่านไปพบเห็นบุคคลดังกล่าวก็ขอให้กำหนดมาให้ชัดเจนว่า ผู้นี้ผู้นั้นได้กระทำในสิ่งนั้นๆ และเราจะดำเนินการทันที

เหมือนกับที่หลายๆ ฝ่ายเคยเสนอมาทางกองทัพว่า อย่าเหมารวมว่าเป็นโต๊ะครูทั้งหมด อย่าเหมารวมว่าเป็นโรงเรียนสอนศาสนาทั้งหมด มันต้องเจาะจงลงมา ก็ฝากว่าบางครั้งถ้าท่านเจาะจงเราก็สามารถจะชี้แจงได้ทันที ก็ต้องขอขอบคุณมากครับในเรื่องนี้ ที่เราจะไปดำเนินการในเรื่องการอบรม ไม่ใช่ว่าแก้ไขในส่วนที่เราค้นพบอย่างเดียว

ส่วนในการค้นพบนั้นผมยังไม่ได้เสนอวิธีการแก้ไขเพียงแต่ว่าอันนี้คือสิ่งที่เสียในร่างกายของมนุษย์ จุดหนึ่งก็คือเยาวชน ท่านจะแก้ยังไงก็เป็นเรื่องของแต่ละส่วนที่จะมาช่วยกัน จุดที่สองก็คือผู้นำศาสนา ที่เรามีหลักฐานชัดเจนแล้วและเจ้าตัวยอมรับสารภาพ ก็จะแก้อย่างไรก็อยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นี่คือที่เราค้นพบจากผู้ที่มารับสารภาพ

ส่วนเราก็มีหน้าที่จะก้าวขึ้นบันไดต่อไปเพื่อหาหัวหน้าสูงสุดต่อไปให้ได้ หลายท่านก็สงสัยว่าทำไมยังไม่ได้ก็อาจเพราะยังไม่ขึ้นถึงบันไดสูงสุด ก็ยอมรับ ส่วนตรงนี้ถ้าเผื่อใครพบก็แจ้งมาก่อนเราจะได้รีบดำเนินการในจุดนี้ ก็ต้องขอความร่วมมือส่วนหนึ่ง

ย้อนกลับไปที่ท่านอาจารย์เกษียร คำแนะนำของท่านเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องงานการเมืองที่จะต้องควบคู่ไปกับการทำงานด้านทหาร โดยข้อเท็จจริงแล้วเราทำและเราก็ทำก่อน เช่น เยาวชนสิบคนแรกที่เราจับกุมได้ เอาไปไว้ที่บ้านเมตตาธรรม เอามาให้ความรู้เอามาสลายความคิดของเขาส่งเขาไปอบรมที่ลพบุรี ให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษดำเนินการ กลับมาส่งมอบให้ทางจังหวัด ส่งหางานทำให้ ไปส่งเสริมอาชีพที่เขาทำอยู่ ทราบว่าเขาทำงานคลองประปา เราก็ไปส่งที่สำนักงานพัฒนาที่ดูแลงานจังหวัดก็ไปเสริมความรู้ ให้เขาเรียนเพิ่มขึ้น เด็กที่ไม่มีที่เรียนเราติดต่อที่เรียน อันนี้เป็นขั้นต้นสำหรับเยาวชน

หลังจากกลับจากลพบุรีแล้ว เรียกผู้ปกครองมา ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสบางคนร้องไห้ ไม่นึกว่าฝ่ายทหารของเราจะปฏิบัติกับลูกหลานของเขาซึ่งหลงผิดไปในลักษณะนั้น ก็กลับไปด้วยความยินดี หลังจากนั้นก็มีที่ติดต่อมา อยากจะเข้ามาเป็นทหารอยากจะมาช่วยชาติ อยากจะมาช่วยเป็นวิทยากร

เรื่องที่สองสำหรับผู้หลงผิดที่ได้กระทำไปเมื่อวันที่ ๒๘ เราก็เปิดโอกาสจากเมตตาธรรมพร้อมที่จะรับเข้ามา ขณะนี้เราได้เปิดโรงเรียนโครงการสรรสร้างสันติสุขเข้าไปอบรมเพื่อสลายความคิดตามที่ท่านเสนอ ก็ดำเนินการไปควบคู่กันอยู่ เปิดมาแล้วสองรุ่นก็จะดำเนินการต่อไป อันนี้มีแนวโน้มว่าจะมีผู้เข้ามารายงานตัวมอบตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นระยะๆ นอกจากนั้นเราก็มีโรงเรียนการเมืองเปิดไปแล้ว ๘ รุ่น มีทั้งฝ่ายเรา ฝ่ายราชการด้วยกัน เราก็มาสร้างความเข้าใจให้เกิดเอกภาพในการรับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของเราที่ลงไปอบรมไปแล้วทั้ง ๓ จังหวัด ทั้งสาม ฉก. ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหารและทุกส่วนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ให้รับรู้ว่าสถานการณ์ที่แท้จริงคืออะไรและเราจะต้องทำอะไรต่อไป

ใครมีความคิดอะไรที่จะเสนอก็เสนอขึ้นมา เมื่อข้าราชการหมดเราก็เรียนเชิญผู้นำศาสนาที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับหมู่บ้าน ลงมาสร้างความเข้าใจเช่นเดียวกัน อันสุดท้ายไปถึงประชาชน นี่ก็เป็นงานการเมืองที่เราตั้งใจปฏิบัติ ก็ขอเรียนให้ทราบว่าเป็นข้อเสนอที่ถูก และเราก็คงทำควบคู่กันไปทั้งงานด้านการทหารและการเมือง

สุวัฒน์ : ผมเป็นตัวแทน………เพื่อสันติภาพ ประชาสังคมที่ จ.ปัตตานี เมื่อสักครู่มีการพูดถึงเรื่องภาคประชาสังคม ผมจะพูดในตอนหลัง แต่ว่าผมจะต่อให้ติด ผมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากที่พี่น้องพูดๆ กันมาผมมองว่าเป็นอาการเท่านั้น เรายังไม่ได้สาวลึกไปถึงตัวเบื้องหลังผู้กำกับการแสดง ตอนนี้เราพูดถึงตัวประกอบ ตัวประกอบจำเป็นที่ถูกยิงรายวัน มันเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ผมก็ผ่านมาหลายเวทีรู้สึกเบื่อๆ ฟังเรื่องเก่าๆ น่าจะมีเรื่องใหม่ๆ กันบ้าง

ผมมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายแหล่ตั้งแต่ปล้นปืน มันมีอยู่สองกลุ่มเท่านั้นเอง ก็คือกลุ่มต่างประเทศและก็กลุ่มภายในประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นระบบราชการที่ยังล้าหลังอยู่หรือว่าภาคประชาชนซึ่งยังอ่อนแออยู่ หรือว่าภาคศาสนาซึ่งก็ยังอ่อนแออยู่ สองขบวนการนี้ถูกถลุงราบเรียบไปแล้วหลังเหตุการณ์ ๔ มกราแล้วก็มาแสดงอาการดิ้นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๘ เมษา แล้วก็จะมีอีกต่อไป

ผมเดาไว้เลย จะมาในรูปแบบไหนไม่รู้ แต่ว่าผมมีความรู้สึกว่าตอนนี้ประเทศของเราโดยเฉพาะสามจังหวัดภาคใต้กำลังถูกทำให้แรงขึ้นๆ ถ้าพี่น้องสังเกตดูให้ดี ก่อนฟันพระ ยังไม่ฟัน ไปฟันพวกข้าราชการก่อน ตอนนี้มาเล่นข้าราชการที่เป็นมุสลิม เพื่อจะบอกว่าทหารที่ลงมา ตำรวจที่ลงมาในพื้นที่ภาคใต้บ่มีไก๊ ชาวบ้านถามว่าลงมาทำไม จับไม่ได้สักที คนที่ทางการไล่ยิงและไล่ฟันทั้งหลายแล้วลงมาทำไมเยอะแยะ

ผมสงสารทหาร ทหารที่เป็นคนจากปราจีนบุรีวันนั้นไปยืนอยู่ปากซอยบ้านผม แกเหงาครับ ผมถือกระเป๋านักข่าว แกคงเดาออกว่าผมกำลังทำเกี่ยวกับเรื่องสื่อมวลชนแน่ๆ ไม่รู้จะคุยกับใคร แกก็กวักมือเรียกผมไป ผมไปคุยกับแก ถามว่ามาจากไหน บอกมาจากปราจีนบุรี มีลูกสามคน คือแกพยายามจะหาเพื่อน ทหารทุกคนที่ไปที่นั่นผมรู้สึกแกหาเพื่อน แต่สายตาที่ประชาชนมอง วันที่ ๒๘ ยิงพวกกูไปตั้ง ๑๐๗ ศพ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ประชาชนยังติดตรึงอยู่ครับท่านรองแม่ทัพฯ และเป็นสิ่งที่ผมกับหลายๆ ภาคประชาชนพยายามจะเข้าไปมีส่วนให้มันเกิดประโยชน์ตรงนี้บ้าง

ผมว่าประเทศชาติของเราตอนนี้อันตราย ผมทำข่าวมา มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามจับตาอยู่ในสามจังหวัด ถ้าแก้ตรงนี้ได้มีส่วนที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากเลย ผมเคยถาม อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ว่าอาจารย์ครับ จะทำยังไงให้คนสามจังหวัดเลิกกลัวเจ้าหน้าที่รัฐเสียที อาจารย์บอกว่าคุณกำลังถามผมในเรื่องใหญ่ๆ ถ้าอัดเทปไว้ผมก็ไม่กล้าคุย วันนั้นก็คุยกันนอกรอบ

คือตอนนี้ผมมีความรู้สึกว่าภาคใต้มันเป็นดินแดนที่กลัวกันไปหมดแล้ว เมื่อเกิดเหตุที่เจาะไอร้องใหม่ๆ หลังปล้นปืน ผมลงไปกับพี่น้องของผมที่เจาะไอร้อง ผมไปนอนอยู่สองคืน มีนักข่าวตามไปด้วย ไปถามกำนันว่ากลัวไหม เขาบอกว่ากลัว แล้วความกลัวของมันเพิ่มขึ้นไหมหลังเกิดเหตุขโมยปืน เขาบอกยิ่งเพิ่มมากขึ้นเลย

เขาพูดกับผมว่าเหมือนกลัวผี ชาวบ้านคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะก่อนนี้ถ้ามีการยิงหรือฆ่าใครสักคน คนในหมู่บ้านจะรู้เลยว่าคนนี้สมควรถูกฆ่า แล้วเขาจะไม่รู้สึกว่าคนที่ตาย พวกเราต้องไปต่อสู้แทนเขา คนเหล่านี้มีเบื้องหลังที่ไม่ดีงาม เป็นคนเลวระยำ ชาวบ้านรู้สึกอย่างนั้น แต่ปัจจุบันคนขายส้มข้างทาง ขายทุเรียนขายอะไรก็ถูกอุ้มไป แล้วมีความแตกต่างอะไรระหว่างฆ่าผู้บริสุทธิ์กับฆ่าคนไม่ดีตอนนี้

คือประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไปไหนมันไม่ปลอดภัย เขาเองไม่มีเรื่องอะไรอาจถูกฆ่าก็ได้ กับคนบางส่วนสมควรจะถูกยิงก็พอเจ๊ากันไป แต่ประชาชนธรรมดาหาเช้ากินค่ำมันไม่มีความรู้สึกปลอดภัยเลยในชีวิต จะไปไหนทีตอนเช้า จะออกไปละหมาด ถ้าบ้านไหนเดินไกลๆ ละหมาดที่บ้านดีกว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่สื่อทั้งหลายก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องความกลัวของประชาชน แต่ถ้าเป็นหน่วยราชการถูกกระทำ สื่อชอบเอามาเป็นข่าว

ขณะเดียวกันทางรัฐก็บอกว่าข่าวแบบนี้อย่าเอาออกเลยคนฆ่ากัน แล้วมีการคุยกันเมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าเอาไหม เลิกไหมสักเดือนหนึ่ง สื่อจะไม่นำเสนอเลยใครถูกฆ่า ผมก็นั่งหัวเราะอยู่ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะหนังสือพิมพ์ต้องแข่งเรื่องธุรกิจด้วย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมกังวลก็คือตอนนี้ทำยังไง เป็นคำถามที่ผมจะตั้งให้กับทุกท่านว่า จะทำยังไงให้ความรู้สึกของคนที่มันกลัวและหวาดระแวงคลายลงบ้าง จะมีทฤษฎีอะไร นักวิชาการผมก็เสนอให้ทำไปเลยตอนนี้ ไม่ใช่เกิดเหตุแล้วแห่กันลงไปที่ภาคใต้

พูดตรงๆ ผมเคยมีเพื่อนอยู่ที่กรุงเทพฯ ตอนปล้นอาวุธที่นราฯ บอกลงมาได้แล้วคุณ ลงมาเลยตอนนี้ฝุ่นตลบคุณต้องลงมาเลย ผมว่าการเคลื่อนไหวหรือการดำเนินการ มันต้องช่วยเหลือกันจริงจังต่อไป แล้วผมทำภาคประชาชน ผมเสียใจอยู่เรื่องเมื่อเดือนที่แล้ว มีการระดมความคิดเรื่องกองทุนที่จะพัฒนาทางยุทธศาสตร์ภาคใต้ ชาวบ้าน ๓๓ อำเภอประชุมจัดเวทีตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ปรากฏว่ามีนักวิชาการทั้งหลายไปร่วมน้อยมาก

ผมสงสารชาวบ้าน ตอนหลังไปทำงานกับชาวบ้านเยอะ ไม่มีการแสดงความเห็น เชิญแล้วก็ไม่มาบ้าง แต่ว่าเวลาเกิดเหตุแล้วมีคนมาสามจังหวัดภาคใต้เยอะ ผมก็ต้องขอขอบคุณแต่ว่าขอให้รักไปนานๆ เริ่มรักตั้งแต่วันนี้และรักไปนานๆ อย่าได้ทอดทิ้งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมอยู่ในพื้นที่บางทีต้องหนีขึ้นมากรุงเทพฯ ช่วงเกิดเหตุเพราะเหล่าเพื่อนฝูงเหล่าคณาจารย์ผมรู้จักหมดเลย ไปก็มาหาผม แต่ไปไม่พร้อมกัน

ตอนนี้ชาวบ้านเขามีการจัดตั้งที่ดี เขาบอกข้าราชการเลยว่าถ้าทหาร ตำรวจ นักวิชาการจะไป นัดไปให้พร้อมกันได้มั้ย กำหนดไปเลยวันที่เท่าไร เพราะถ้าไปทีละคนในพื้นที่รับไม่ไหวครับ ตอบคำถามเดียวกันสิบหน่วยงาน มันไม่ไหว ฉะนั้นอยากจะสะท้อนตรงนี้ให้พี่น้องฟัง และก็จะทำยังไงให้พื้นที่นี้ ทำให้คนไทยมุสลิมกับไทยพุทธ สามารถอยู่กันแบบสนิทเหมือนเดิม ตอนนี้รู้สึกมันไม่เหมือนเดิม มันมีอะไรที่ต้องเว้นวรรค จะพูดอะไรต้องดูว่าฝ่ายไหน เดี๋ยวนี้ผมว่าต้องระวัง มันจะทำให้เหตุการณ์นี้ร้อนขึ้นๆ

ตอนนี้ที่ยังขาดอยู่ที่ยังไม่ทำ แต่ไม่ขาดแล้ว ตอนนี้มีการฆ่าสตรีที่แต่งฮิญาบ ก็ไปแล้วที่ยะลา ถ้าท่านติดตามเหตุการณ์ ตรงนี้เป็นความรุนแรงยุคใหม่ ความรุนแรง ผู้หญิงเราต้องดูแล กลับเป็นว่าผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อกระสุนปืน เด็กสาวที่ทำงานเพื่อองค์กรเอ็นจีโอด้วย แต่ข่าวนี้ไม่ถูกนำเสนอที่กรุงเทพฯ เท่าไร ตรงนี้ผมอยากจะทิ้งไว้ว่า ทำยังไงให้คนสองศาสนิกหรือว่าคณาจารย์ทั้งพุทธและมุสลิมได้มาคุยกัน เพื่อหามาตรการอะไรออกมาก็แล้วแต่ เขาเรียกว่าปฏิสัมพันธ์ ผมว่าปีนี้เราผ่านขั้นตอนมาแล้ว ปีที่แล้วเป็นปีที่ต้องจัดอันนี้แต่น่าเสียดายไม่ได้จัดจนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแล้วก็ผมคิดว่า เรายังจัดได้อยู่ก็ควรจะทำกัน เวทีแบบนี้ถ้าลงไปที่สามจังหวัดภาคใต้บ่อยๆ อย่ากลัวเลยครับนักวิชาการ โจรเขาไม่ทำอะไรหรอกครับ ภาพพจน์ของอาจารย์ยังดีอยู่

โสภณ สุภาพงษ์ : ผมคงไม่ได้พูดในฐานะดูแลนโยบายอะไรเพราะผมไม่มีอำนาจอะไรขนาดนั้นและคงไม่ได้พูดในฐานะองค์กรอะไร เพราะการทำงานระดับองค์กรมีการทำอยู่มากแล้ว และท่านอาจารย์ได้พูดหมดแล้ว อยากจะพูดจากคนที่ลงไปพบกับคนเล็กๆ ทุกๆ คนในสามจังหวัดเท่าที่ทำได้

ผมมีโอกาสเข้าไปในหลายๆ ฐานะ โดยเฉพาะต้องขอบคุณคุณวสันต์ กรรมการสิทธิฯ หรือแม้แต่นักข่าว คุณศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ที่สร้างความคิดบางอย่างให้ผม แต่ที่ผมจะพูดจากการที่ได้คุยในฐานะต่างๆ และเข้าไปในช่องทางต่างๆ หลายช่องทาง เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน พูดคุยกับครอบครัวคนตาย ญาติพี่น้องเขา ไม่ว่าจะตายเพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิง ตายเพราะถูกโจรผู้ร้ายฆ่าตาย และก็นำมาเล่าให้ฟังว่า ผมคิดเรื่องนี้อย่างไร

ผมได้เข้าไปคุยกับคนเล็กๆ และครอบครัวทุกครอบครัวเท่าที่ทำได้ คุยกับเด็ก คุยกับภรรยาเขา และคุยขึ้นมาถึงโครงสร้างอำนาจ ผมอยากพูดว่า เมื่อคุยเรื่องความจริงกับคนเล็กๆ ในพื้นที่แล้วค่อยๆ คุยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอำนาจทางศาสนา หรือโครงสร้างอำนาจของรัฐ เราจะพบความไม่จริงมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีความจริงเหลืออยู่เลย เมื่อถึงระดับสูงสุดของประเทศ

และในข้อสรุปอันที่สอง ผมสรุปได้อันหนึ่งว่า คงจะสรุปเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น เพราะไม่มีความรู้ลึก พื้นที่สามจังหวัดมันเป็นข่ายแต่มันไม่มีเครือ มันไม่ใช่เครือข่าย มันเป็นข่ายหลายๆ ชั้นแต่ไม่ได้เชื่อมโยงในเรื่องการปฏิบัติ สิ่งที่เชื่อมข่ายเหล่านี้เข้าสู่จิตใจเดียวกันคือความขมขื่น ความขมขื่นที่ทำให้เกิดข่ายของผู้ที่ขมขื่น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ และก็เป็นชาวบ้านจำนวนมากที่สุดมากกว่าล้านหกแสนคนอยู่ในข่ายความขมขื่น

อีกข่ายหนึ่งที่เห็นก็คือข่ายของผู้ที่คับแค้น อีกข่ายก็จะเป็นข่ายของผู้ที่ชิงชัง คนที่รดน้ำพรวนดินให้ข่ายเหล่านี้เติบโตและพัฒนาขึ้นมา ก็จะเป็นโจรผู้ร้ายที่บงการ เป็นผู้นำที่มีอำนาจและนายกรัฐมนตรี. นายกฯ ได้รดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยความขมขื่นสูงมาก เมื่อไปคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านได้พูดถึงมันอยู่ในอะไรลึกๆ การรดน้ำพรวนดินโดยผ่านคำพูดเหยียดหยามดูถูกไม่เข้าใจนี้ ทำให้ข่ายเหล่านี้มีความขมขื่นร่วมกัน ตรงนี้จะเข้าไปในประเด็นแรกที่ทำไมผมเห็นอย่างนั้น

คือหนึ่ง มันมีปัญหาว่าการเข้าไปแก้ปัญหาภาคใต้ของโครงสร้างรัฐ ไม่เหมือนสมัยที่ผมทำงานกับพลเอกเปรม ต่างกันมาก การเข้าแก้ปัญหา มันมีอำนาจที่ทำให้จิตไม่สะอาด คืออยากจะเข้าไปปราบมากกว่าการเข้าไปช่วย จิตที่เริ่มต้นอันนี้มีปัญหามาก

ประเด็นที่สอง มันมีความเข้าใจของสังคมใหญ่ซึ่งหลายคนพูดถึง มันมีความจริงว่าคนในสามจังหวัดภาคใต้คือชาวบ้านทั้งหมดในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เขาเป็นเจ้าของแผ่นดินที่นั่นรวมทั้งเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ด้วย ถ้าไม่ยอมรับสิ่งนั้นเราจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เหมือนกับคนกรุงเทพฯ ที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ และเป็นเจ้าของสามจังหวัดนั้น จะต้องเข้าใจด้วยว่าคนสามจังหวัดนั้นเขาก็เป็นเจ้าของที่นั่นและเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ เราเหมือนกัน ถ้าไม่เข้าใจอันนี้ คิดว่าคนที่นั่นอาศัยอยู่ จะแก้ปัญหาไม่ได้

แต่ส่วนมากความเข้าใจของสังคมใหญ่เหมือนกับคนที่นั่นอาศัยอยู่ เขาเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ นะครับเพราะเขาเป็นคนไทย เขาเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ด้วย เขาเป็นนายรัฐบาลด้วย

ผมคิดว่าสำคัญ การไม่เข้าใจนี้มันนำไปสู่ปัญหา เช่น เวลามีคนไม่ดีไปทำหน่อยแล้วพกคำสอนอะไรสักอัน แล้วก็บอกว่าศาสนาอิสลามมีปัญหา เราก็พบเยอะโจรที่เข้าไปปล้นแล้วแขวนพระ ผมก็ไม่เห็นเราจะต้องสังคายนาพุทธศาสนา เพราะโจรมันแขวนพระ โจรมันก็โจรมันไม่ได้เกี่ยวกับพระที่แขวน การเอาไปผูกโดยมีอคติเป็นอันตรายของการแก้ปัญหา

ทั่วทุกสังคมมีทั้งดีสุดถึงเลวสุด มันไม่ได้เกี่ยวกับอคติในใจ หรือหลายคนก็บอกว่าถ้าลงไปภาคใต้ เกิดรถไปชนมอเตอร์ไซค์ รีบวิ่งหนีเลยนะเพราะเขาจะมารุมเลย เขาจะเอาแต่พวกเขาศาสนาเดียวกัน ผมบอกพูดอย่างนี้ได้ไง ปากตรอกบ้านผม ลองผมไปชนมันก็รุมผมอยู่ดี มันไม่ไช่ปัญหา แต่อคติไปโยงว่าสิ่งเหล่านี้มันคนละข้างไปหมด นี่ประเด็นที่สอง คือต้องเข้าใจว่าคนที่สามภาคใต้เขาเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ

ประเด็นที่สาม จะเห็นว่าในเหตุการณ์ที่เกิดมา ฆ่าตัดตอนตั้งแต่เดือน ม.ค. มีคนถูกฆ่าตายมากกว่า ๑๖๐ คน บาดเจ็บมากกว่า ๑๔๐ คน สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ๙๐% เป็นเจ้าหน้าที่ มากกว่า ๕๐% เป็นตำรวจ มันบอกแล้วว่าเป็นการทำร้ายเชิงสัญลักษณ์ เป็นชาวบ้านสัก ๑๐% เท่านั้นเอง มันเป็นการทำร้ายเชิงสัญลักษณ์โดยเฉพาะเจาะจงที่ตำรวจ เพราะว่ามันมาจากความขมขื่นเบื้องหลัง คนที่ทำร้ายเป็นข่ายในทุกระดับที่เกี่ยวข้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงแต่ไม่ได้เชื่อมกัน

ประเด็นที่สี่ สภาพที่เห็น จะเห็นได้ชัดว่าเหมือนคุณสุวัฒน์พูด เมื่อลงไปเราจะเห็นกลุ่มสองกลุ่มเลย กลุ่มแรกคือเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ น่าสงสาร ผมรวมเจ้าหน้าที่ด้วย ทหารที่ไปยืน แกหลบตา ประชาชนผ่านไปผ่านมามองด้วยความเกลียดชัง แกก็ไม่รู้จะยืนทำไม มาจากปราจีนฯ จะโดนยิงเมื่อไรก็ไม่รู้ เขาก็ไม่ชอบแล้วจะให้มายิงใคร ที่เดินผ่านเขาก็มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก แต่ตัวเองอาวุธครบมือกระสุนเต็มหลัง มันท้อแท้ในตัวมันเอง น่าสงสาร แกเครียดทีเดียว ผมคิดว่ามีความเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่มาจากส่วนกลางเรื่องนั้นค่อนข้างมาก และประชาชนผู้บริสุทธิ์

ประเด็นอันหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ ประชาชนที่นั่นศีลธรรมสูงมาก การเอาคนที่ศีลธรรมต่ำไปแก้ปัญหาให้เขา อันตรายมาก คนที่คิดว่าบ่อนเป็นเรื่องดี การพนันเป็นเรื่องดี ไปแก้ปัญหาให้คนมีศีลธรรมสูง เป็นเรื่องขมขื่น อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เราจะรู้สึกด้วยตัวเองถ้าใครเอาโจรมาแก้ปัญหาให้บ้านเรา ในกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้ไม่ดี ก็เป็นโจรที่เป็นข้าราชการและโจรที่เป็นผู้ร้าย และอเมริกัน กลุ่มนี้ทำร้ายทั้งสองกลุ่มแรก ทำร้ายทั้งชีวิต ทำร้ายทั้งฆ่าฟัน การที่เราไปคิดรวมๆ กันหมดว่าปัญหาภาคใต้มันอันตรายที่สุด ที่จริงแล้วกลุ่มโจรที่เป็นข้าราชการและกลุ่มโจรที่เป็นผู้ร้ายรวมทั้งอำนาจนอกประเทศมีส่วนในการฆ่าฟันคนที่นั่น

ประเด็นที่ห้า สภาพความขมขื่นมันเป็นยังไง ผมคิดว่าสภาพความขมขื่นมันขยายตัวและรัฐกำลังแพ้ไปเรื่อยๆ ผมยืนยัน มันไม่ได้วัดจากความรุนแรงแต่มันวัดจากความขมขื่น ชิงชัง คับแค้น กดดัน อ.ชิดชนก ซึ่งเป็นคนน่ารักกลายเป็นคนรุนแรง อย่างนี้จะไม่เรียกขมขื่นได้ยังไง ทำไมต้องมาชนกับเรื่องอะไรแบบนี้ ท่านอาจารย์จาก ม.วลัยลักษณ์ ผมคิดว่าอันนี้ต้องระวังมาก ท่านที่ทำดีๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่เราคงต้องให้กำลังใจ แต่วิธีการมันมีปัญหา

ประเด็นที่หก มันขยายตัวอย่างไร ผมไปคุยกับครอบครัวตอนไปกับคุณวสันต์ ไปคุยกับคุณยาดีละห์ มีลูก ๕ คน ตอนเช้าวันที่ ๒๘ สามีชวนลูกคนโตอายุ ๑๗ บอกว่าไปละหมาดตอนตี ๕ สามสี่โมงเช้า ก็มีคนมาบอกว่าสามีตายพร้อมกับลูกที่สถานีตำรวจแม่ลาน ทิ้งลูก ๔ คนไว้ สามีมีรายได้ ๕๐-๒๐๐ บาทต่อวัน ที่นั่นคนมีรายได้ขนาดนี้ทั้งนั้น ค่ารับจ้างกรีดยางก็ ๕๐ บาท ถ้ามีสวนด้วยก็มากสุด ๒๐๐ บาท เขามีเงิน ๓-๔ พันบาทเขาเลี้ยงลูก ๖-๙ คนได้ เพราะว่าเขาใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เขาต้องการแบงค์บาท เพียงเพื่อส่งลูกไปโรงเรียน ผมก็ถามว่าสั่งเสียอะไรไหม ไม่สั่งไม่บอกไม่ฝากฝัง ก็มีปัญหามีหนี้อีก ๗ หมื่นเพราะไปกู้ตอนคุณทักษิณ เอามาซ่อมบ้าน ก็มีปัญหาทิ้งให้กับภรรยาและลูก

ผมเข้าไปด้วยตัวเองเพราะดูแลมูลนิธิเด็ก ดูแลมูลนิธิครอบครัวผู้ห่วงใย ก็ถามว่ามีญาติพี่น้องไหม เขาก็บอกมีน้องสองคน น้องผู้ชายคนเล็กยืมตังค์แม่ ๔ หมื่นมาแต่งงานกับผู้หญิงคืนวันที่ ๒๗ เช้าวันที่ ๒๘ ก็ไปตาย อีกคนหนึ่งมีลูก ๓ คน เมียลูกยังอยู่ในท้องและมีตัวเล็กๆ ๒-๓ ขวบอีก ๒ คน ไม่บอกอะไร ไม่มีทางออก รู้ว่ามีปัญหา เหมือนกับเขาคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างที่มันเป็นหน้าที่ที่สำคัญและสูงกว่าหน้าที่ที่มีต่อครอบครัว เขารู้ว่าเขาจะไปตาย

ไปคุยกับครอบครัวคุณรอมมาละห์ อายุ ๖๕ มีลูก ๓ คน เมื่อเช้าบอกว่าจะไปดาวะห์ ๔-๕ โมงก็มีคนบอกว่าตายที่ชลประทานแม่ลาน นึกถึงหลานอีกคนที่โตแล้ว ๓-๔ โมงเย็นก็มีคนมาบอกว่าตายที่กรือเซะ ข้างหลังแกเด็กๆ มากกว่า ๑๐ คนที่ทิ้งไว้ให้แกเลี้ยง ไม่มีเงิน มีแต่ปัญหา มีหนี้ ไม่ฝากฝังไม่บอกกล่าว ตายหมดแล้ว ทุกคนที่ไปตายจะพบว่าอยู่ในศาสนา เลี้ยงดูครอบครัว ทำมาหากิน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทำงาน มีลูกเต็ม ไม่โง่ มีความคิด แต่รู้ว่ามีหน้าที่บางอย่างที่เขาขมขื่น อันนี้ต้องดูว่ามันมีอะไรบางอย่างเหมือนกันที่ตอบคำถามนี้ไม่ได้

ไปพบคุณมาซุนีห์ มีลูก ๕ คน สามีเป็นโต๊ะครู เงินเดือน ๒-๓ พันบาท สามีก็ตาย ทิ้งหนี้ไว้แสนสี่ เพิ่งกู้ ธกส. เมื่อวันที่ ๒๗ เอามาผลัดหนี้เพราะเอามาสร้างบ้าน ถูกไล่ออกจากที่เหลือแต่หนี้ให้ตัว สำหรับเงินจากการขายบ้าน ๘๐% ก็ต้องให้แม่สามี ตัวเองได้มา ๒๐% ตัวเองก็มีหนี้พร้อมกับลูก ๕ คน

ลูกที่นั่งคุยตัวเล็ก ๒ ขวบสั่น ก็ถามว่าทำไมลูกสั่น เขาพูดภาษาไทยไม่ได้เลย พูดยาวีทั้งนั้น ลูกตัวเล็กบอกว่าเมื่อไรคนที่มาบ้านจะกลับซักที ถามว่าทำไม ตอบว่ากลัว เพราะวันแรกที่พ่อตาย ทหารเข้าไปค้นบ้านแล้วขนของออกจากบ้านหมดเลย เด็กยังช็อคอยู่

สิ่งที่น่าห่วงใย มีเด็กจำนวน ๖๐๐-๗๐๐ คนที่กำพร้า แล้วสงสัยว่าเด็กเหล่านี้เขาจะมีทัศนะต่อสังคมยังไง เขาจะขมขื่นชิงชังคิดแก้แค้น เขาเป็นระเบิดเวลาในอนาคต เขาไม่เข้าใจ มีญาติพี่น้องเขาจำนวนมาก แล้วนายกฯ ก็ให้สัมภาษณ์ว่าถ้ามีวันที่ ๒๘ อีกก็ดีจะได้ลดกำลังมันลงซะบ้าง ถามว่าเด็กเหล่านี้เขาจะคิดยังไง เขาขมขื่นนะครับ พ่อเขา คือเราไม่ควรจะสะสมให้มันมากไปกว่านี้อีก

ผมคิดว่ามันควรจะต้องยื่นมือเข้าไปตามครอบครัวเหล่านี้ว่า ยังมีเพื่อนคนไทยทั่วประเทศ คือถ้าเรามีญาติเป็นผู้ร้าย เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายด้วย ทำไมต้องมาใส่เราทั้งครอบครัว ทำไมต้องมาใส่ญาติพี่น้องใส่ทุกคนหมด ประชาชนที่ขมขื่นทั้งล้านหกแสนคนถูกกระทำ เวลานี้การปราบมันไม่ได้ปราบที่โจร มันมาปราบที่ประชาชน ผมคิดว่าสิ่งพวกนี้หละหลวมมากจนผมคาดไม่ถึง ขาดความเป็นมนุษย์มากในการสัมพันธ์กับคนที่นั่น นี่คือสิ่งที่พบตรงๆ ผมก็อยากจะเรียนว่ามันถึงเกิดข่ายว่า มันมีข่ายของความขมขื่นก็คือคนทั่วไป และมันก็ขยายวงและมันก็ลามอยู่นั่นแหละ เพราะเขาถูกกระทำหลายๆ อย่าง ข่ายของความชิงชังก็มี ไปคุยนี่รู้เลย "มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ล่ะครับคุณโสภณ" อายุ ๗๐ แล้ว "ไม่ถึงวันผมบ้างก็แล้วกัน" ไม่จบ มันขมขื่นครับ

มีกลุ่มที่เป็นเรื่องของความคับแค้น ซึ่งถ้าใครให้เครื่องมือก็พร้อมจะก่อเหตุ ก็เป็นข่าย แต่ผมว่า ในครอบครัวที่เราไปคุย เห็นชัดว่าในครอบครัวเดียวกันไปตายหลายแห่ง ในแห่งเดียวกันมาจากหลายจังหวัด มีคนบงการ มีคนวางแผน อันนี้แน่นอน แต่คนเหล่านี้ที่ไปตายเป็นเหยื่อ เหยื่อของความขมขื่นที่เขาสะสมแล้ว เขาได้ทำแล้วเขาคิดว่า มีหน้าที่บางอย่างที่สูงกว่าหน้าที่ต่อครอบครัวที่เขาต้องทำ

ผมอยากจะพูดเลยไปถึงทางออก ผมคิดว่าการที่ท่าน อ.ศรีศักร อ.นิธิ ให้องค์ความรู้ดีมาก มันเป็นสติอันแรกว่าการลงไปที่นั่นต้องเป็นกระบวนการและเรียนรู้ ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะไปปราบ เก่งหรือศีลธรรมสูง คนที่คิดว่าบ่อนเป็นสิ่งที่ดี การพนันควรจะเสรี แก้ปัญหาศีลธรรมไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้นการคิดสำเร็จรูปของผู้มีอำนาจเหล่านี้ไม่มีทาง การเริ่มที่องค์ความรู้สำคัญสำหรับคนข้างนอก

อันที่สอง การเคลื่อนไหว จำเป็นที่ภาคสังคมและมหาวิทยาลัยจะใช้องค์ความรู้ลงไปเคลื่อนระดับไมโครที่ครอบครัวผ่านภาครัฐ แล้วอย่าไปหวังว่าภาครัฐจะเป็นผู้ที่เริ่มต้นสิ่งที่ถูกต้อง ผมหวังนักศึกษา มอ. มาก เพราะ มอ. ๕๐% ก็เป็นมุสลิม ซึ่งจะเข้าไปได้แนบเนียน ผมเข้าไปกับเด็กผู้หญิงมุสลิม เขาไปเจอกับครอบครัวคนตายเขาจับไม้จับมือร้องไห้ด้วย กอดเด็ก จับมือภรรยาเขา สิ่งนั้นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มันเริ่มต้นตรงนั้น มันไม่ได้เริ่มต้นด้วยการแบ่งข้าง

อันที่สาม กระบวนการพัฒนาที่เข้าไปที่กระทบ เมื่อเราเดินเข้าไปจะพบว่าที่นั่นสมบูรณ์มาก เขาอยู่ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงทั้งทุนทางทรัพยากรและทุนทางสังคม เป็นชีวิตที่เราใฝ่ฝันเลยว่าอยากให้คนไทยเป็นอย่างนั้น ผมเห็นเด็กเล่นเป็นฝูง เขาโดดน้ำเป็นฝูง เขาทำอะไรเป็นฝูงเลย เราเข้าใจเลยทำไมเขาถึงไปตายร่วมกันได้ เพราะมันเป็นฝูงมาตั้งแต่เด็ก มันสาบานกันมาตั้งแต่เด็ก เหมือนครอบครัวคนไทยสมัยก่อน ที่จริงมันเป็นชีวิตที่ดี แต่เมื่อไรมันขมขื่นมันขมขื่นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราเดินเข้าไปที่นั่นเราจะพบอันหนึ่งว่าทำไมเราถึงทำให้สังคมหรือครอบครัวที่ดีเหล่านี้ทุกข์ทรมาน นี่เป็นจิตสำนึกของรัฐที่ต้องมี

ฉะนั้นการพัฒนาที่เข้าไป ตัวอย่างเช่น ซีฟู้ดแบงค์ที่กำลังเข้าไปที่จะเปลี่ยนพื้นดินสาธารณะในทะเลทั้งหมด เพื่อออกกรรมสิทธิ์ให้เอกชนแล้วเอาองค์กรสะพานปลาเข้าไป เพื่อนำหุ้นเข้าขายในตลาดหลักทรัพย์ นี่เป็นมติ ครม. ซึ่งจะกระทบภาคใต้มากจนลุกเป็นไฟ ไปเอาที่ทำกินเขามาให้กับบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ สี่แสนกว่า ตร.กม. ทั่วอ่าวไทย

ในประเด็นที่สี่ ในระดับรัฐ ผมไม่อยากเรียกร้องใครแต่อยากเรียกร้องรองนายกฯ ชวลิต และคุณจาตุรนต์ว่ากลับไปสู่ความแข็งแรงของท่านดั้งเดิมที่คิดว่าชาติสำคัญกว่าพรรค ผมคิดว่าท่านมีความรู้สึกนั้นเมื่อไร ชนะ อย่าอยู่ในความกลัว ท่านมีความดีของท่านอยู่แล้ว

ในประเด็นที่ห้า การมองปัญหาพวกนี้จะต้องมองแบบข้างเดียวกัน ตัวอย่างเช่น กองทัพเข้าไปค้นบ้านนักศึกษา ที่ทำงานให้คุณวสันต์เพื่อไปช่วยเด็กๆ เหล่านี้ เขาไปทำเรื่องที่ดีให้กับบ้านเมืองแต่ถูกค้น แล้วการออกข่าวก็ออกข่าวผิด เช่นออกข่าวว่าไปพบกัญชา มันเป็นบ้านอื่นครับ รวมเป็นพวก ความสูญเสียคืออะไร เด็ก มอ. จำนวนมากจะเกลียดชังรัฐ มันขยายผลออกไปทั้ง มอ.เลย อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้ไม่ทันระวัง ผมคิดว่าต้องระมัดระวัง ผมพยายามติดต่อแล้วบอกว่าระวังหน่อย เขากำลังทำสิ่งที่ดีแต่ไปทำให้เขาขมขื่นและเกลียดชัง คือถ้าเมื่อไรมองข้างเดียวกัน การกระทำจะไม่เป็นอย่างนั้น ภาคใต้ต้องแก้ด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นข้างเดียวกันทั้งหมด เขาเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ด้วย ผมคิดว่าจำเป็นต้องเริ่มจากตรงนั้น

วสันต์ พานิช : ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าผมไม่ทราบว่าที่คุณสุวัฒน์เอ่ยถึงว่าพรรคพวกที่กรุงเทพฯ จะรวมหมายถึงทางพวกผมด้วยหรือเปล่า เพราะว่าลงไปก็ไปกวนคุณสุวัฒน์หลายทีเหมือนกัน อาจจะมองเหมือนว่ากรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ทำอะไร ความจริงเราทำ เราทำแล้วเสนออะไรเมื่อไร ปรากฏว่าก็ขึ้นเว็บไซต์เป็นสถิติ เดิมเราเสนออะไรสถิติอาจจะขึ้นสัก ๑๐๐-๒๐๐ แต่พอเราเสนอกรณีปัญหาความรุนแรงภาคใต้ สถิติโด่งกระฉูดเลย ๕๐๐-๖๐๐ ถือเป็นสถิติที่ขึ้นเว็บไซต์ที่น่าสนใจ

ผมย้อนกลับไปในข้อเสนอที่เราเคยนำเสนอต่อรัฐบาลตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.๔๗ คือก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ๒๘ เมษา ก็เสนอว่าหลักการที่หนึ่ง ที่เราเสนอหลังจากที่คุณสมชาย นีละไพจิตรหายไป เราเองก็นำเสนอต่อรัฐบาลเลย ซึ่งในการเก็บข้อมูลของเราลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ครั้งแรกเลยก็คิดว่าการทำงานของเราเพื่อจะช่วยเสนอต่อรัฐบาล สมมติว่ารัฐบาลนำไปปฏิบัติ เราคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาในภาคใต้

ที่เราเสนอก็คือว่าในการประกาศใช้กฎอัยการศึก คือเดิมประกาศอยู่แล้วตอนหลังลามเข้ามาคือประกาศเพิ่มเข้ามา แม้กระทั่งตัวจังหวัดตัวอำเภอเมือง ปรากฏว่าหลังจากประกาศใช้แล้วมีปัญหาก็คือ มีการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพเกิดขึ้นจำนวนมาก เราเองก็มองว่าโดยหลักการแล้วเราเห็นว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพต้องเป็นตัวหลัก ก็คือเราถือว่าสิทธิเสรีภาพมันติดตัวมาแต่กำเนิด ดังนั้นสิทธิเสรีภาพที่รับรองในรัฐธรรมนูญ เป็นแค่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น ในการที่จะใช้บังคับกฎหมาย มันมีแต่ที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทว่าพอมาใช้กฎอัยการศึกแล้วกลายเป็นว่าเอาปัญหาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง กลายเป็นลบสิทธิเสรีภาพเราหายไปเลย

หรือว่าสิทธิเสรีภาพเราเหลือน้อยนิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราก็มองว่ามันเป็นปัญหา ควรจะพิจารณายกเลิกได้ไหม เป็นพื้นที่ๆไป แล้วก็หันกลับมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เช่น การจะเข้าไปตรวจค้นใคร ก็ขอให้กลั่นกรองโดยศาล เอาหมายศาลเข้าไปตรวจค้น แล้วแจ้งข้อหา รายละเอียดของข้อหาก็แจ้งให้ทราบเสีย

หลังจากจับกุมตัวเขามาได้ ต้องแจ้งให้ญาติเขาทราบหรือผู้ที่เขาไว้วางใจให้ทราบ ไม่ใช่หายไปเลย ไม่รู้ว่าตัวไปอยู่ที่ไหน ยังไม่พอ เราก็เสนอไปอีกว่า นอกจากนี้แล้วเขามีสิทธิที่จะพบทนายความ ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว แล้วก็มีสิทธิจะให้ทนายความร่วมฟังการสอบสวน ปรากฏหลายครั้งหลายหนที่เราเจอในข้อมูลก็คือ ไม่เลย ทนายไปขอเยี่ยมในคุกไม่ได้ ปฏิเสธประกัน

สุดท้าย สิทธิของผู้ต้องหาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก็คือ ที่จะถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับการสอบสวน ๔๘ ชั่วโมง ปรากฏว่า ๔๘ ชั่วโมงเหมือนกันไปขอฝากขังต่อศาล แต่ว่าเอาตัวมาควบคุมตัวต่อที่โรงพัก อ้างว่าเพื่อขยายผล ผมก็ตั้งคำถามว่าแล้วถ้ามันกลับไปอยู่ที่เรือนจำ มันขยายผลไม่ได้หรือ ก็ไปสอบสวนที่เรือนจำสิ แล้วมันทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่โปร่งใส เพราะในเรือนจำ ก่อนเข้าเรือนจำไปเขาจะมีการตรวจร่างกาย ถ้าหากว่ามีบาดแผลอะไรเขาจะมีการตรวจและบันทึกไว้ ซึ่งก็เป็นการยอมรับว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นที่ยอมรับคือ มีการตรวจสอบและคานอำนาจโดยหน่วยงานอื่น นี่คือสิ่งที่เรานำเสนอไป

ประการต่อมา เราเสนอเรื่องกรณีการหายตัวไปของคุณสมชายว่า ให้เร่งรัดให้หาตัวให้ได้แล้วคืนเขาสู่ครอบครัว แต่จนบัดนี้ ๕ เดือน ไม่มีร่องรอยไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น ผมไม่ทราบว่าการข่าวในประเทศนี้มันเป็นยังไงแล้ว ไหนว่าการข่าวดี รู้หมดอะไรเป็นอะไร รู้กระทั่งว่าวันแรกที่คุณสมชายออกจากบ้านเพราะเหตุปัญหาทางครอบครัว ไปรู้เรื่องกระทั่งในบ้านเขาเลย แต่ทำไมขณะนี้ตอบไม่ได้ว่าคุณสมชายหายไปไหน ยังไม่พอ หายใจกลางเมืองหลวง ใจกลางกรุงเทพฯ ไม่ต้องพูดถึงในพื้นที่ห่างไกลเกิดอะไรขึ้น นั่นคือข้อเสนอครั้งแรก

ต่อมาด้วยความเป็นห่วงของเราว่า เราจะเดินผิดทางหรือเปล่า ก็มีการบวกองค์กรพันธมิตรเข้าไป ทั้งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ชมรมนักกฎหมายมุสลิม สภาทนายความ และองค์กรอื่นๆ อีก เข้ามาร่วมกันปรึกษาหารือกันว่า จะเดินหน้าร่วมกันยังไง ในที่สุดก็ยื่นเสนอนายกฯ หลังจากประชุมเครือข่ายองค์กรของเราครั้งแรก ก็นำเสนอสิ่งที่ประชุมไปครั้งแรกเมื่อกลางเดือน มี.ค. ครั้งที่สองเมื่อเดือน เม.ย. เงียบหาย หลังสุดเลย เราก็เสนอไปเมื่อปลายเดือน พ.ค.

ประเด็นที่เรานำเสนอก็คือว่าให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายหรือบอบช้ำจากสถานการณ์ภาคใต้ ที่เราเสนอรวมทั้งหมดก็คือ รวมทั้งคนที่เสียหายตั้งแต่วันที่ ๔ ม.ค.เป็นต้นมา กรณีของคนที่เสียหายเมื่อวันที่ ๒๘ เมษา ในส่วนของทางเจ้าหน้าที่รัฐ ทางรัฐบาลเอง เท่าที่ทราบก็คือได้มีการยื่นมือให้ความช่วยเหลือไปเรียบร้อยแล้ว แล้วก็มีกฎหมายมารองรับด้วย

นอกจากนี้เราก็ยังเสนอเรื่องนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน คือจริงๆ แล้วภาวะวิถีชีวิตของเขาที่เขาดำรงอยู่ อยู่ในเศรษฐกิจที่พอเพียง จะเห็นได้ว่าจากเดิมถ้าเราดูประมงพื้นบ้าน เขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างดี แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน มีเรือปั่นไฟปลากะตัก อวนรุนอวนลาก รวมตลอดทั้งมีการทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งเพาะสัตว์น้ำทำให้ชีวิตของเขายากลำบากมากขึ้น เมื่อยากลำบากปัญหาก็อย่างที่ว่าไปประกอบอาชีพในมาเลเซีย กลายเป็นปัญหาถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนไม่น่าไว้วางใจคือคนสองสัญชาติ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก

ต่อมาเราก็เสนอว่าถ้ามีการออกกฎหมายหรือกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบอะไรต่างๆ ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิต และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นด้วย จริงๆ ข้อเสนอของเราก็เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรื่องการปกครอง ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม เราต้องยอมรับถึงความแตกต่าง ปัจจุบันนี้มันต่างออกไป ถ้าใครเห็นต่าง สังคมมันแปลกที่ว่ามองคนที่คิดต่างเห็นต่าง แทนที่จะอธิบายกันด้วยเหตุผลกลับใช้ถ้อยคำที่ชิงชังดูถูกเหยียดหยาม

ผมเคยไปเปิดอ่านดู กลายเป็นถูกกล่าวหาว่าเป็นเอ็นจีโอใหญ่ ซึ่งมันไม่ใช่ เราเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เราเกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๙, ๒๐๐ นอกจากนี้แล้วข้อนำเสนอของเราก็คือว่าให้รัฐบาลประกาศนโยบายให้ชัดเจนว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แล้วต้องไปกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง เมื่อเรานำเสนอไปแล้วครั้งที่สามอีกเช่นเดียวกัน เงียบหายไป

ล่าสุด เราเองก็มองว่าในการแก้ปัญหาแบบนี้ เมื่อไม่รับฟังเราเองก็อยากจะเตือนในฐานะที่เราเองก็คือคนที่อยู่ตรงกลาง เราเองไม่เห็นด้วยไม่ว่าการใช้ความรุนแรงภาคประชาชน หรือความรุนแรงของรัฐบาลเองก็ตาม เราก็อยากจะสะท้อนเสียงของประชาชนที่อยู่ตรงกลางของทุกภาคส่วนเลย ไม่ว่าข้าราชการเองหรือส่วนไหนก็ตามในพื้นที่ภาคใต้ว่า เป็นปัญหาเพียงไหนกลับการเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง ทางออกปัญหาคืออะไร เราเองก็เปิดเวทีไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้เอง เพียงแต่ว่าได้สำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นเท่านั้น

โดยการทำงานเราก็อาศัยนักศึกษา มอ. เรียกว่าอาสาสมัครสิทธิมนุษยชน ตอนแรกเริ่มเข้าไปทำงานก็มีนายทหารท่านหนึ่งไปพูดคุยด้วย สอบถามข้อมูลว่าเป็นมายังไง ก่อนกลับไปท่านก็ให้นามบัตรไว้ นักศึกษาก็ไม่สบายใจก็แจ้ง ผมก็เลยโทรไปคุยด้วย ว่าในการหาข้อมูลช่วยรัฐด้วยซ้ำไป กรณีคนเสียชีวิตคนหายไปทั้งหมดว่า จะเสนอต่อรัฐว่าควรจะเยียวยาตรงไหน ลงไปเก็บข้อมูล

หลังสุดผมก็ลงไปอีกที จัดเวทีเรื่องซีฟู้ดแบงค์ที่ว่า แปลงสินทรัพย์ในทะเลเป็นทุน แนวคิดแบบเดียวกับกุ้งกุลา ที่เปลี่ยนภาคใต้กลายเป็นเมืองสว่างไสว คือให้ชาวบ้านเป็นปัจเจกมาเลี้ยงโดยที่ว่าเอาที่ดินในทะเลมาออกเอกสาร รายหนึ่งประมาณ ๒.๗ ไร่ เป็นปัจเจกไม่ใช่ชุมชน ไปกู้มาเลี้ยงเพื่อจะส่งออก มันทำลายวิถีชีวิตของชุมชนอย่างร้ายแรง คือคิดจากข้างบนลงไปแล้วลงไปกำหนด ทั้งที่รัฐธรรมนูญบอกว่าให้ประชาชนชุมชนมีส่วนร่วมในการคิด ในการกำหนด ปรากฏว่า ยิ่งเป็นนโยบายที่พุ่งลงไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราถึงจำเป็นต้องรีบจัดเพื่อเป็นการเตือนว่าอย่าหลงเข้าไปในวิถีนั้น ไม่งั้นแย่แน่

เมื่อเรานำเสนอไป ในที่สุดแล้ว เพื่อเตือนชาวบ้าน คือปัตตานีกับนราธิวาสเท่านั้นที่ติดทะเล ในวันนั้นนักศึกษาก็มาพบผมที่สงขลา ก็กลับไปที่ปัตตานี คืนนั้นตีสองก็มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ ๓๐ คนพกปืนเอ็ม ๑๖ พร้อมหน้าเข้าไปค้นที่หอพักเขา ซึ่งเป็นที่รวมสำหรับจัดพิมพ์เอกสารที่ทำรายงานให้กับเรา ก็ไปค้นตอนตีสองแต่ไม่ได้อะไร ทว่าไปค้นเป็นชั่วโมงอย่างละเอียด ที่ผมไม่สบายใจหลังจากแถลงข่าวจากความเป็นจริง แต่ข่าวออกมากลายเป็นว่าผมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยในการตรวจค้น ยังไม่พอบอกว่า ที่ผมจำเป็นต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อปกป้องเพราะผมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยแล้วมีข่าวว่าเจอกัญชา ผมว่าการข่าวเช่นนี้มองได้สองนัยยะ ถ้ารายงานข่าวมาเช่นนี้จริง ผมว่าน่าเป็นห่วงการข่าว อันตราย เพราะผมเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เลย และบ้านพักนั้นก็ไม่เจอกัญชาแต่อย่างใด

แต่ถ้าหากว่าให้ข่าวเพื่อทำลายผม ทำลายความน่าเชื่อถือของกรรมการสิทธิฯ ผมยอมรับได้ ผมให้อภัย ผมถือว่าให้เด็กทำงานได้อย่างยาวๆ ผมไม่มีปัญหาอะไร เพราะมันไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว ถูกด่าถูกประณามเยอะแยะ

ในแนวทางแก้ไขปัญหา หลังสุดเราจัดตั้งเครือข่ายสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างสันติสุข ที่เราพยายามจะสร้างพันธมิตรให้กับบรรดาคนในพื้นที่ว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ ยังรักและห่วงใยเขาอยู่ ผมขอจบเท่านี้

ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า: ข้อเสนออันที่หนึ่งคือขอร้องให้รัฐยุติความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่นนโยบายของรัฐที่บอกว่า ลงไปจะเอาเงินไปช่วย แล้วเชิญชาวบ้านมาเหมือนกับว่าช่วยกันวางแผน ข้อเท็จจริงแล้วในที่สุดชาวบ้านเสนออะไรก็ตามแต่ รัฐก็มีแผนของตัวเองออกมาแบบนี้ ก็คือรัฐมีสูตรสำเร็จแล้ว แต่ว่าเชิญชาวบ้านมา ชาวบ้านบอกว่าเขาเป็นไม้ประดับในพิธีตัดเค้ก

ต่อไปก็คือเรื่องนโยบายเกี่ยวกับกฎอัยการศึก หรือการที่ทหารเอารถถังไปวิ่งตามหมู่บ้าน ชาวบ้านเขาไม่มีสถานภาพอะไรเลยเห็นรถถังวิ่งไปวิ่งมา ตอนแรกๆ มันก็เป็นความกลัว ต่อมามันก็จะเป็นความเกลียดชัง แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น อันนี้เป็นการขยายความเกลียดชังไปให้มากยิ่งขึ้น และก็การไปอุ้ม ได้ไปสัมภาษณ์ญาติพี่น้องที่ถูกอุ้มฆ่า คือรัฐต้องนำความยุติธรรมมาให้กับเขา ไม่ใช่ว่าให้ญาติพี่น้องเขาถูกอุ้มฆ่าไปโดยไม่มีการสอบสวน

ต่อมาก็คือการจำกัดวงศัตรูของรัฐ มิใช่ว่าใครก็แล้วแต่ที่คุณไปแบล็คลิสต์เขาแล้ว คนนี้ไปอยู่วงไหนกลายเป็นว่าวงนั้นเป็นศัตรูของรัฐเพิ่มขึ้นไปด้วย เท่ากับคุณไม่ได้จำกัดศัตรูของรัฐ แต่คุณขยายขอบเขต

ต่อมามีคนบ่นเรื่องสื่อ อันที่จริงแล้วคือสื่อกระแสหลักพูดตามรัฐ เพราะว่าข้อมูลของรัฐถูกต้องตามข้อจำกัดความ ข้อมูลของรัฐถูกเสนอ ส่วนนักข่าวที่พยายามตั้งคำถามกับข้อมูลของรัฐไปมากกว่านี้ นักข่าวพวกนี้จะถูกเรียกว่าลำเอียง ตัวของสื่อมวลชนก็จะต้องทบทวนอันนี้ด้วยว่าข้อมูลที่ถูกชี้นำโดยราชการ ข่าวที่เขียนว่าทหารพูดว่าอะไร ถูกหมด นายกฯ พูดอะไรเอามาลงหมด

ต่อมาก็คือนักข่าวจะต้องเลิกสนใจที่ว่า เช่นวันที่ ๒๘ มันเหมือนกับเล่นกีฬา ว่าเหรียญทองได้เท่าไร ฝ่ายไหนฆ่าใครได้มากกว่าใคร แบบนี้มันจะต้องหยุดไป อะไรทำนองนี้… นักข่าวจะต้อง คิดว่าต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่พูดตามเจ้าหน้าที่ของรัฐ และก็การฆ่ากันรายวันนี้ ไม่ควรจะทำให้เห็นว่าเหมือนกับว่าฝ่ายรัฐเป็นคนฆ่าประชาชน หรือฝ่ายประชาชนเป็นคนฆ่ารัฐ หรือฝ่ายก่อการร้าย ข้อเท็จจริงแล้ว สื่อจะต้อง…ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่มีแค่สองฝ่าย ไม่ใช่มีแค่ฝ่ายรัฐจ้องจะฆ่าผู้ก่อการร้าย และก็ไม่ใช่มีแค่ฝ่ายผู้ก่อการร้ายจ้องจะฆ่าฝ่ายรัฐ จริงๆ แล้วขณะที่ภาคใต้มันมีความซับซ้อนมากหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีแค่นั้น มันมีทั้งผู้มีอิทธิพล มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการค้าอาวุธสงคราม มีพวกค้ายาเสพติด มีคนที่เกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้นสื่อไม่ควรจะจำกัดว่ามีแค่สองฝ่ายเท่านั้น จริงๆ แล้วมันมีมากกว่าสองฝ่าย

เพราะฉะนั้นเวลาที่รายงาน เราจะต้องรายงานให้ถี่ถ้วน มีการสืบสวนสอบสวน และก็การฆ่ารายวันไม่ควรจะทำให้ ทหารหรือตำรวจก็จะให้สัมภาษณ์ทำนองนี้เลยว่า อันนี้เป็นการก่อความไม่สงบรายวัน ซึ่งมันเป็นสูตรสำเร็จที่ง่ายเกินไป โดยที่เราไม่ได้ไปสืบสวนสอบสวน จริงๆ มันอาจจะเป็นความขัดแย้งส่วนตัวหรือคนนี้เป็นนายหน้าค้าอาวุธหรือเปล่า มันมีจุดที่เกี่ยวโยงอีกมากมาย

แต่ที่อยากจะเน้นมากๆ เลยกลับมาเรื่องหลัก กระแสหลักก็คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นโยบายต่างๆ ที่มันลงไปกระทำต่อคนที่ภาคใต้ คือจะต้องเน้นหนักมากเลยถึงเรื่อง ซีฟู้ดแบ็งค์ มันจะทำให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งไปกว่าเดิม แค่ปัจจุบันนี้ กฎหมายประมงพื้นบ้านที่รับรองเขต ๓ กม.ทะเลหน้าบ้าน รัฐก็ทำไม่ได้ คุณไปแย่งชิงทรัพยากรของเขา ทรัพยากรเช่น นอกจากป่าชายเลน ประมงพื้นบ้านแล้ว ยังมีการประกาศอุทยานทับที่ทำกินชาวบ้าน เช่น ในเขตเทือกเขาบูโด อะไรแบบนี้ มันยังมีความขัดแย้งในที่ต่างๆ มากมาย แล้วก็คนไม่ควรจะเข้าไปสรุปอะไรง่ายๆ

ที่สำคัญรัฐควรจะทบทวนนโยบายของตัวเอง ว่าความมั่นคงที่ตัวเองต้องการที่จะทำแบบนี้ มันเป็นความมั่นคงของใครกันแน่ เพราะการที่คุณขนทหารลงไปมากมาย มันเป็นความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความมั่นคงของประชาชน

อ. ศรีศักร : ผมอยากพูดแบบฟันธงไปเลย ขณะนี้สังคมใหญ่ สังคมมหาชนเจ็บป่วย เจ็บป่วยเรื่องความเป็นมนุษย์ ใน ๔๐ ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้อบรมในการศึกษาของไทย ไม่เคยอบรมให้คนรู้จักเรื่องมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ความเป็นมนุษย์ยังไงที่ดี ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกหน่อยทั้งสังคม เวลานี้ปัญหามันจึงเกิดขึ้นว่าทั้งสังคมใหญ่กำลังดูถูกสังคมมุสลิม

สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีความเป็นมนุษย์ มีความเป็นมนุษย์เพราะเขามีศาสนา สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีศีลธรรม ปอเนาะคือตัวสร้าง moral community ให้กับสังคมมุสลิม ถามว่าสังคมใหญ่มีไหม สังคมใหญ่ไม่รู้จักตัวเอง ๖๐ ล้านคนไม่รู้จักตัวเอง ทะเลาะกันฉิบหายวายป่วง แล้วรัฐคือตัวทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามสร้างชาตินิยมให้เกิดขึ้น พอถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์สร้างเศรษฐกิจแบบพัฒนาขึ้น ในการพัฒนามันทำลายทุกหนแห่ง พอดีมันทำลายไม่ไหวเพราะมาเจอสังคมที่เป็นมนุษย์แบบสังคมมุสลิม เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ถ้าหากว่าไม่หยุดตรงนี้ ทั่วราชอาณาจักรจะเดือดร้อน

ปัญหาขณะนี้เราต้อง educate คนในชาติให้รู้ว่า มันเป็นยังไงในความเป็นมนุษย์ของเรา และผ่านความเป็นมนุษย์ เพราะในสังคมไทยส่วนมาก demoralize และพฤติกรรมบางอย่าง dehumanize โดยตรงเลย สิ่งบางอย่างเป็น cultural suicide ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าการพนันหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้แล้วมันทำลายความเป็นมนุษย์ของเขา ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าจำเป็นต้องยอมรับ

ที่มาประชุมวันนี้ ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจว่า สังคมใหญ่กระบวนการเรียนรู้ต้องเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐทำห่วยแตกทุกวันนี้คือปฏิรูปการศึกษา ทั้ง"ประชาธิปัตย์"และ"ไทยรักไทย"ไม่ได้เรื่องเลย ไม่เคยจะอบรมสิ่งเหล่านี้ให้คนได้รับรู้ ความรู้ที่จะต้อง popularize ออกไป ความรู้ที่จะต้องรู้จักตัวเอง อ.นิธิ เป็นคนตั้งใจที่จะสร้างความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทย วัฒนธรรมไทย ลงไปข้างล่าง แต่รัฐไม่เคยกระจายความรู้นี้เลย มันถึงเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา อันนี้ประเด็นหนึ่งผมคิดว่าจำเป็นต้องทำ

อันนี้ตรงกับที่คุณพูดว่า สังคมใหญ่เป็นโจทย์ ที่ไม่เข้าใจสังคมมุสลิมและก็ไม่เข้าใจตัวเอง อันที่สองจะจัดการกับเรื่องที่เดือดร้อนขนาดนี้ ภาคใต้คือ case ที่เป็นปัญหา

ขณะนี้มีทักษิณธิปัตย์ ต่อไปจะมีอุดรธิปัตย์, พายัพธิปัตย์จะเกิด เราต้องเอาอันนี้เป็นบทเรียน ฉะนั้นสิ่งที่รัฐทำที่ภาคใต้ที่น่ากลัวที่ end up เมื่อเร็วๆ นี้ คืออาหารฮาลาล กับมหานครปัตตานี ซึ่งคนในปัตตานีรับไม่ได้หรอก ขณะนี้จะต้องทำความเข้าใจคนปัตตานีว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นคนตานี ไม่ใช่คนมาเลย์ คนตานีมีศักดิ์ศรีของตัวเอง แล้วคนตานีอยู่ในสังคมไทย ในสยามประเทศ สังคมไทยจะต้องยอมรับว่าคนตานีอยู่ในสยามประเทศ ไม่จำเป็นต้องสังคมไทยทั้งหมด

ขณะเดียวกันถ้าจะขจัดความรุนแรงต้องมีวิธีการ วันนี้เราควรจะพูดถึง how มากกว่า why. How ที่สำคัญขณะนี้คือ ต้องเคลียร์ตำรวจออกจากภาคใต้ สถาบันนี้แย่มาก รัฐบาลต้องทบทวนตรงนี้ เรื่องอุ้มทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่อุ้มเฉพาะเหตุภาคใต้ อุ้มทั่วราชอาณาจักร สถาบันนี้เป็นสถาบันที่น่ากลัว แล้วมันทำให้สถาบันทหารที่เคยคิดว่าประชาชนเป็นที่พึ่ง เกิดความแหลกราญไปด้วย หลังจากเหตุการณ์ที่กรือเซะ จำเป็นต้องทบทวน ภาครัฐต้องทบทวนเรื่องนี้ เคลียร์เรื่องความปลอดภัยของประชาชน และหยุดการแย่งทรัพยากร ผมขอพูดแค่นี้

ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า: ข้อเสนออันที่หนึ่งคือขอร้องให้รัฐยุติความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่นนโยบายของรัฐที่บอกว่า ลงไปจะเอาเงินไปช่วย แล้วเชิญชาวบ้านมาเหมือนกับว่าช่วยกันวางแผน ข้อเท็จจริงแล้วในที่สุดชาวบ้านเสนออะไรก็ตามแต่ รัฐก็มีแผนของตัวเองออกมาแบบนี้ ก็คือรัฐมีสูตรสำเร็จแล้ว แต่ว่าเชิญชาวบ้านมา ชาวบ้านบอกว่าเขาเป็นไม้ประดับในพิธีตัดเค้ก

ต่อไปก็คือเรื่องนโยบายเกี่ยวกับกฎอัยการศึก หรือการที่ทหารเอารถถังไปวิ่งตามหมู่บ้าน ชาวบ้านเขาไม่มีสถานภาพอะไรเลยเห็นรถถังวิ่งไปวิ่งมา ตอนแรกๆ มันก็เป็นความกลัว ต่อมามันก็จะเป็นความเกลียดชัง แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น อันนี้เป็นการขยายความเกลียดชังไปให้มากยิ่งขึ้น และก็การไปอุ้ม ได้ไปสัมภาษณ์ญาติพี่น้องที่ถูกอุ้มฆ่า คือรัฐต้องนำความยุติธรรมมาให้กับเขา ไม่ใช่ว่าให้ญาติพี่น้องเขาถูกอุ้มฆ่าไปโดยไม่มีการสอบสวน

ต่อมาก็คือการจำกัดวงศัตรูของรัฐ มิใช่ว่าใครก็แล้วแต่ที่คุณไปแบล็คลิสต์เขาแล้ว คนนี้ไปอยู่วงไหนกลายเป็นว่าวงนั้นเป็นศัตรูของรัฐเพิ่มขึ้นไปด้วย เท่ากับคุณไม่ได้จำกัดศัตรูของรัฐ แต่คุณขยายขอบเขต

ต่อมามีคนบ่นเรื่องสื่อ อันที่จริงแล้วคือสื่อกระแสหลักพูดตามรัฐ เพราะว่าข้อมูลของรัฐถูกต้องตามข้อจำกัดความ ข้อมูลของรัฐถูกเสนอ ส่วนนักข่าวที่พยายามตั้งคำถามกับข้อมูลของรัฐไปมากกว่านี้ นักข่าวพวกนี้จะถูกเรียกว่าลำเอียง ตัวของสื่อมวลชนก็จะต้องทบทวนอันนี้ด้วยว่าข้อมูลที่ถูกชี้นำโดยราชการ ข่าวที่เขียนว่าทหารพูดว่าอะไร ถูกหมด นายกฯ พูดอะไรเอามาลงหมด

ต่อมาก็คือนักข่าวจะต้องเลิกสนใจที่ว่า เช่นวันที่ ๒๘ มันเหมือนกับเล่นกีฬา ว่าเหรียญทองได้เท่าไร ฝ่ายไหนฆ่าใครได้มากกว่าใคร แบบนี้มันจะต้องหยุดไป อะไรทำนองนี้… นักข่าวจะต้อง คิดว่าต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่พูดตามเจ้าหน้าที่ของรัฐ และก็การฆ่ากันรายวันนี้ ไม่ควรจะทำให้เห็นว่าเหมือนกับว่าฝ่ายรัฐเป็นคนฆ่าประชาชน หรือฝ่ายประชาชนเป็นคนฆ่ารัฐ หรือฝ่ายก่อการร้าย ข้อเท็จจริงแล้ว สื่อจะต้อง…ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่มีแค่สองฝ่าย ไม่ใช่มีแค่ฝ่ายรัฐจ้องจะฆ่าผู้ก่อการร้าย และก็ไม่ใช่มีแค่ฝ่ายผู้ก่อการร้ายจ้องจะฆ่าฝ่ายรัฐ จริงๆ แล้วขณะที่ภาคใต้มันมีความซับซ้อนมากหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีแค่นั้น มันมีทั้งผู้มีอิทธิพล มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการค้าอาวุธสงคราม มีพวกค้ายาเสพติด มีคนที่เกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้นสื่อไม่ควรจะจำกัดว่ามีแค่สองฝ่ายเท่านั้น จริงๆ แล้วมันมีมากกว่าสองฝ่าย

เพราะฉะนั้นเวลาที่รายงาน เราจะต้องรายงานให้ถี่ถ้วน มีการสืบสวนสอบสวน และก็การฆ่ารายวันไม่ควรจะทำให้ ทหารหรือตำรวจก็จะให้สัมภาษณ์ทำนองนี้เลยว่า อันนี้เป็นการก่อความไม่สงบรายวัน ซึ่งมันเป็นสูตรสำเร็จที่ง่ายเกินไป โดยที่เราไม่ได้ไปสืบสวนสอบสวน จริงๆ มันอาจจะเป็นความขัดแย้งส่วนตัวหรือคนนี้เป็นนายหน้าค้าอาวุธหรือเปล่า มันมีจุดที่เกี่ยวโยงอีกมากมาย

แต่ที่อยากจะเน้นมากๆ เลยกลับมาเรื่องหลัก กระแสหลักก็คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นโยบายต่างๆ ที่มันลงไปกระทำต่อคนที่ภาคใต้ คือจะต้องเน้นหนักมากเลยถึงเรื่อง ซีฟู้ดแบ็งค์ มันจะทำให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งไปกว่าเดิม แค่ปัจจุบันนี้ กฎหมายประมงพื้นบ้านที่รับรองเขต ๓ กม.ทะเลหน้าบ้าน รัฐก็ทำไม่ได้ คุณไปแย่งชิงทรัพยากรของเขา ทรัพยากรเช่น นอกจากป่าชายเลน ประมงพื้นบ้านแล้ว ยังมีการประกาศอุทยานทับที่ทำกินชาวบ้าน เช่น ในเขตเทือกเขาบูโด อะไรแบบนี้ มันยังมีความขัดแย้งในที่ต่างๆ มากมาย แล้วก็คนไม่ควรจะเข้าไปสรุปอะไรง่ายๆ

ที่สำคัญรัฐควรจะทบทวนนโยบายของตัวเอง ว่าความมั่นคงที่ตัวเองต้องการที่จะทำแบบนี้ มันเป็นความมั่นคงของใครกันแน่ เพราะการที่คุณขนทหารลงไปมากมาย มันเป็นความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความมั่นคงของประชาชน

อ.ศรีศักร : ผมอยากพูดแบบฟันธงไปเลย ขณะนี้สังคมใหญ่ สังคมมหาชนเจ็บป่วย เจ็บป่วยเรื่องความเป็นมนุษย์ ใน ๔๐ ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้อบรมในการศึกษาของไทย ไม่เคยอบรมให้คนรู้จักเรื่องมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ความเป็นมนุษย์ยังไงที่ดี ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกหน่อยทั้งสังคม เวลานี้ปัญหามันจึงเกิดขึ้นว่าทั้งสังคมใหญ่กำลังดูถูกสังคมมุสลิม

สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีความเป็นมนุษย์ มีความเป็นมนุษย์เพราะเขามีศาสนา สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่มีศีลธรรม ปอเนาะคือตัวสร้าง moral community ให้กับสังคมมุสลิม ถามว่าสังคมใหญ่มีไหม สังคมใหญ่ไม่รู้จักตัวเอง ๖๐ ล้านคนไม่รู้จักตัวเอง ทะเลาะกันฉิบหายวายป่วง แล้วรัฐคือตัวทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามสร้างชาตินิยมให้เกิดขึ้น พอถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์สร้างเศรษฐกิจแบบพัฒนาขึ้น ในการพัฒนามันทำลายทุกหนแห่ง พอดีมันทำลายไม่ไหวเพราะมาเจอสังคมที่เป็นมนุษย์แบบสังคมมุสลิม เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ถ้าหากว่าไม่หยุดตรงนี้ ทั่วราชอาณาจักรจะเดือดร้อน

ปัญหาขณะนี้เราต้อง educate คนในชาติให้รู้ว่า มันเป็นยังไงในความเป็นมนุษย์ของเรา และผ่านความเป็นมนุษย์ เพราะในสังคมไทยส่วนมาก demoralize และพฤติกรรมบางอย่าง dehumanize โดยตรงเลย สิ่งบางอย่างเป็น cultural suicide ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าการพนันหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้แล้วมันทำลายความเป็นมนุษย์ของเขา ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าจำเป็นต้องยอมรับ

ที่มาประชุมวันนี้ ผมอยากจะให้ทำความเข้าใจว่า สังคมใหญ่กระบวนการเรียนรู้ต้องเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐทำห่วยแตกทุกวันนี้คือปฏิรูปการศึกษา ทั้ง"ประชาธิปัตย์"และ"ไทยรักไทย"ไม่ได้เรื่องเลย ไม่เคยจะอบรมสิ่งเหล่านี้ให้คนได้รับรู้ ความรู้ที่จะต้อง popularize ออกไป ความรู้ที่จะต้องรู้จักตัวเอง อ.นิธิ เป็นคนตั้งใจที่จะสร้างความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทย วัฒนธรรมไทย ลงไปข้างล่าง แต่รัฐไม่เคยกระจายความรู้นี้เลย มันถึงเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา อันนี้ประเด็นหนึ่งผมคิดว่าจำเป็นต้องทำ

อันนี้ตรงกับที่คุณพูดว่า สังคมใหญ่เป็นโจทย์ ที่ไม่เข้าใจสังคมมุสลิมและก็ไม่เข้าใจตัวเอง อันที่สองจะจัดการกับเรื่องที่เดือดร้อนขนาดนี้ ภาคใต้คือ case ที่เป็นปัญหา

ขณะนี้มีทักษิณธิปัตย์ ต่อไปจะมีอุดรธิปัตย์, พายัพธิปัตย์จะเกิด เราต้องเอาอันนี้เป็นบทเรียน ฉะนั้นสิ่งที่รัฐทำที่ภาคใต้ที่น่ากลัวที่ end up เมื่อเร็วๆ นี้ คืออาหารฮาลาล กับมหานครปัตตานี ซึ่งคนในปัตตานีรับไม่ได้หรอก ขณะนี้จะต้องทำความเข้าใจคนปัตตานีว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นคนตานี ไม่ใช่คนมาเลย์ คนตานีมีศักดิ์ศรีของตัวเอง แล้วคนตานีอยู่ในสังคมไทย ในสยามประเทศ สังคมไทยจะต้องยอมรับว่าคนตานีอยู่ในสยามประเทศ ไม่จำเป็นต้องสังคมไทยทั้งหมด

ขณะเดียวกันถ้าจะขจัดความรุนแรงต้องมีวิธีการ วันนี้เราควรจะพูดถึง how มากกว่า why. How ที่สำคัญขณะนี้คือ ต้องเคลียร์ตำรวจออกจากภาคใต้ สถาบันนี้แย่มาก รัฐบาลต้องทบทวนตรงนี้ เรื่องอุ้มทั้งหลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่อุ้มเฉพาะเหตุภาคใต้ อุ้มทั่วราชอาณาจักร สถาบันนี้เป็นสถาบันที่น่ากลัว แล้วมันทำให้สถาบันทหารที่เคยคิดว่าประชาชนเป็นที่พึ่ง เกิดความแหลกราญไปด้วย หลังจากเหตุการณ์ที่กรือเซะ จำเป็นต้องทบทวน ภาครัฐต้องทบทวนเรื่องนี้ เคลียร์เรื่องความปลอดภัยของประชาชน และหยุดการแย่งทรัพยากร ผมขอพูดแค่นี้

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

 


ประเด็นอันหนึ่งที่เห็นชัดก็คือ
ประชาชนที่นั่นศีลธรรมสูงมาก การเอาคนที่ศีลธรรมต่ำไปแก้ปัญหาให้เขา อันตรายมาก คนที่คิดว่าบ่อนเป็นเรื่องดี การพนันเป็นเรื่องดี ไปแก้ปัญหาให้คนมีศีลธรรมสูง เป็นเรื่องขมขื่น อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
เราจะรู้สึกด้วยตัวเองถ้าใครเอาโจรมาแก้ปัญหาให้บ้านเรา
ในกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้ไม่ดี ก็เป็นโจรที่เป็นข้าราชการและโจรที่เป็นผู้ร้าย และอเมริกัน กลุ่มนี้ทำร้ายทั้งสองกลุ่มแรก ทำร้ายทั้งชีวิต ทำร้ายทั้งฆ่าฟัน การที่เราไปคิดรวมๆ กันหมดว่าปัญหาภาคใต้มันอันตรายที่สุด ที่จริงแล้วกลุ่มโจรที่เป็นข้าราชการและกลุ่มโจรที่เป็นผู้ร้ายรวมทั้งอำนาจนอกประเทศมีส่วนในการฆ่าฟันคนที่นั่น สภาพความขมขื่นมันเป็นยังไง ผมคิดว่าสภาพความขมขื่นมันขยายตัวและรัฐกำลังแพ้ไปเรื่อยๆ ผมยืนยัน มันไม่ได้วัดจากความรุนแรงแต่มันวัดจากความขมขื่น ชิงชัง คับแค้น กดดัน

เขาพูดกับผมว่าเหมือนกลัวผี ชาวบ้านคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะก่อนนี้ถ้ามีการยิงหรือฆ่าใครสักคน คนในหมู่บ้านจะรู้เลยว่าคนนี้สมควรถูกฆ่า แล้วเขาจะไม่รู้สึกว่าคนที่ตาย พวกเราต้องไปต่อสู้แทนเขา คนเหล่านี้มีเบื้องหลังที่ไม่ดีงาม เป็นคนเลวระยำ ชาวบ้านรู้สึกอย่างนั้น แต่ปัจจุบันคนขายส้มข้างทาง ขายทุเรียนขายอะไรก็ถูกอุ้มไป แล้วมีความแตกต่างอะไรระหว่างฆ่าผู้บริสุทธิ์กับฆ่าคนไม่ดีตอนนี้ คือประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไปไหนมันไม่ปลอดภัย เขาเองไม่มีเรื่องอะไรอาจถูกฆ่าก็ได้