มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
กฎหมายกับการเบียดบังคนจน
จากต้นฉบับเรื่อง
"บทนำ: คนจนภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย"
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์ประจำ สาขาวิชานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)
ความนำ
คนจนภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย งานชิ้นนี้มีฐานะเป็นเพียงบทนำทางความคิด เพื่อปูทางไปสู่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง
"คนจน" กับ "ปัญหาความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรม" ที่เกิดจากระบบกฎหมาย และในฐานะที่เป็นบทนำทางความคิด
เนื่องจากทั้งประเด็นเรื่อง"ความไม่เป็นธรรม"และเรื่อง"ความยากจน" ทั้งคู่ต่างเป็นประเด็นที่ใหญ่และซับซ้อนจึงส่งผลให้การสะท้อนภาพ กระทำได้แต่เพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งประเด็นดังกล่าวมีลักษณะที่มีพลวัตสูง ดังนั้น ข้อเสนอต่างๆที่เสนอในบทนำดังกล่าวนี้ จึงเป็นการเสนอเพื่อเจตนาที่ต้องการให้ท่านผู้อ่านได้นำไปขบคิดถกเถียงกันต่อไป
สำหรับเรื่องที่ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้คือว่า ในการศึกษาเรื่อง "คนจนภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย" เป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่ได้มีลักษณะที่ดีมากนัก ในสายตาของผู้ที่นิยมเรื่องความเป็นกลางในการวิจัย แต่ในการศึกษานี้มุ่งต้องการที่จะสะท้อนภาพความไม่สมดุล ความไม่เสมอภาค หรือความไม่เท่าเทียม ที่มีอยู่ในความเป็นจริง แต่ถูกตัดตอน ปิดปาก ไม่สามารถนำมาอ้างได้ในทางกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายไปสมมุติเสียแล้วในตอนต้นว่า ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย
แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า หลักการดังกล่าวมีความสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า หลักการที่ยอมรับกันจะต้องสามารถปฎิบัติได้จริงและสอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย ดังนั้น ในการศึกษาเบื้องต้นนี้จึงเป็นการศึกษาที่วางอยู่บนกรอบความคิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 30[1] ซึ่งยอมรับความเป็นจริงของความไม่เท่าเทียมกันและพยายามที่จะสร้างมาตราการเสริมเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน
เมื่อกล่าวถึง "ความยากจน" และ "กฎหมาย" ในทัศนะของคนทั่วๆไปอาจจะมองว่า เป็นเรื่องที่กฎหมายจะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาความยากจนได้ และละไว้ในฐานที่เข้าใจและถูกทำให้เชื่อมาโดยตลอดว่า การใช้อำนาจทางกฎหมายจะทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรมขึ้นมาในที่สุด แต่ในความเป็นจริงที่ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ก็คือ นับวันความรู้ว่าในทางกฎหมายที่จะนำไปสู่ความเสมอภาค ความเป็นธรรมกลับเลือนลางจางลง ไม่สามารถที่จะหวังพึ่งได้ สมดังที่มันควรจะเป็น
ในทางด้านสังคมศาสตร์ ปัญหาประการหนึ่งของความรู้ทางด้านนี้ก็คือ การที่ไม่สามารถที่จะจับต้องได้เป็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ แต่ในจุดด้อยดังกล่าวก็ถือเป็นจุดเด่นในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ การไม่ถูกจำกัดโดยสัมผัสทั้งห้า จึงทำให้สามารถที่จะใช้จิตนการได้กว้างไกลเท่าที่จะมีในการแก้ปัญหา แต่ก็ต้องเป็นจินตนาการที่ตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในการนำไปสู่การแสวงหาทางออกของปัญหา ดังนั้น แม้สังคมศาสตร์จะถูกนโยบายทางการศึกษากำหนดไว้ว่า ไม่ใช่สาขาที่ขาดแคลน(ในเชิงตัวเลขของ)ผู้สำเร็จการศึกษาก็ตาม แต่ในความเป็นจริงที่น่ากลัวก็คือ สังคมไทยขาดแคลนองค์ความรู้และเครื่องมือในการแสวงหา หรือสร้างองค์ความรู้ที่เป็นของสังคมไทยขึ้นมาเอง ดังจะเห็นได้จากการแก้ปัญหาหลายๆอย่างที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะในทางกฎหมาย ทุกๆปัญหาที่เกิดขึ้นถ้าหากจะถามว่ามีกฎหมายที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวหรือไม่ คำตอบก็คือมีและมีในระดับที่น่าจะเรียกได้ว่า "กฎหมายเฟ้อ" เสียด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เท่าที่ควร ในทางตรงกันข้ามกฎหมายที่มีอยู่มากมายเช่นนั้น ในหลายๆกรณีกลับหวนมาทำร้าย ทำให้เกิดบาดแผลและการฉีกขาดขึ้นในสังคม เพราะกฎหมายต่างๆเหล่านั้น อันที่จริงแล้วก็คือ ส่วนหนึ่งของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน หรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง
ดังนั้นถ้าหากโครงสร้างความสัมพันธ์ในทางกฎหมายเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้นำไปสู่การทำให้สังคมซึ่งมีความแตกต่าง เกิดความเสมอภาคในแง่ของโอกาสของแต่ละคนแล้ว ผลที่จะตามมาก็คือ ความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างสมาชิกในสังคม ก็ตกอยู่ในเค้าโครงหรือ plot ของความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค หรือความไม่เท่าเทียม
ในการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในสังคมซึ่งเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์ซึ่งมีเป้าหมายประการหนึ่งที่ต้องการที่จะอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่ความเป็นศาสตร์ในทางด้านสังคมศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลังความเป็นสังคม และมีความพยายามที่จะอธิบายสิ่งต่างๆที่เป็นมาแต่อดีต หรือที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ดี หรือมีความพยายามที่จะคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้เพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจในการจัดความสัมพันธ์ วางแผนในอนาคต รวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหาที่จะตามมาในอนาคต และยิ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมมากเพียงใด ความไม่แน่นอนในอนาคตก็มีมากขึ้น ความพยายามที่จะหาเครื่องมือ เพื่อที่จะแก้ไข ป้องกันปัญหาต่างๆก็มีมากเพิ่มขึ้นตามเป็นเงาตามตัว
กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสังคมซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ก็ถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงตลอดมาเช่นเดียวกัน ทั้งที่เป็นการตั้งคำถามต่อระบบกฎหมายทั้งระบบ( ซึ่งหมายถึง องค์กรที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมายในทุกๆด้านโดยเฉพาะต่อกระบวนการยุติธรรม ) รวมถึงการตั้งคำถามต่อจริยธรรมของระบบกฎหมาย ด้วย
เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องหันมาตั้งคำถามต่อระบบคิดที่ว่าด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาค ของสังคม ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ที่ทำหน้าที่หลักได้แก่สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านกฎหมาย ว่าในส่วนกระบวนการผลิตนักศึกษากฎหมาย ซึ่งเมื่อดูสัดส่วนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายกับปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคม มันกลายเป็นสัดส่วนที่ผกผันกันอย่างน่าตกใจ เพราะถ้าดูจากปัญหาที่เกิดขึ้นในทางกฎหมายแล้วคดีต่างๆที่เกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ด้อยโอกาศตกอยู่ในฐานะเป็น "จำเลย"ในคดี และเป็นแพะในทางสังคม ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ชาวบ้านเข้ามาเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่าประชาชนที่เข้ามาเรียกร้องตกเป็นฝ่ายผู้ถูกดำเนินคดีเสียนักต่อนักแล้ว
สภาพเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ในทางกฎหมายเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นลึกลงไปว่า ตัวองค์ความรู้ในทางกฎหมายไม่ได้ตั้งอยู่บน นิติวิธี ( legal methodology )ที่จะสามารถผลิตคำอธิบายที่มีเหตุผลและชอบธรรมในการใช้อำนาจในการจัดความสัมพันธ์ในทางกฎหมายได้ แต่กลับใช้อำนาจเป็นเหตุผลแทน ด้วยเหตุเช่นนี้จึงทำให้สังคมไทยมีผู้มีอิทธิพลควบคู่ไปกับการมีอำนาจรัฐ เพื่อต่อรองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม
สำหรับกรณีสังคมไทย ทัศนะและความรับรู้ที่ว่าด้วยความยากจน ถูกเสนอและถ่ายทอดในลักษณะที่ทำให้คนในสังคมรังเกียจความยากจนและมีผลไปถึงคนจนด้วย
ในการศึกษาความยากจนที่เป็นระบบเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงปัญหาเรื่องความยากจนมากที่สุดในทัศนะของผู้เขียน น่าจะเป็นวิชา"เศรษฐศาสตร์" และ"หลักสูตรพัฒนาสังคม" ซึ่งทั้งสองวิชาต่างมีการพัฒนาทั้งวิธีการศึกษา(methodology) เนื้อหา(content) และข้อมูล(data) เพื่อบอกถึงระดับความยากจนของประเทศ( หรืออาจจะใช้สะท้อนภาพระดับการไม่พัฒนาของประเทศเพราะการมีคนจนได้ในเวลาเดียวกัน) ในขณะที่ศาสตร์อื่นๆน้อยศาสตร์นักที่ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และถ้าจะกล่าวถึงความเป็นจริงในเวลานี้ก็มีศาสตร์ต่างๆอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคนจนดังกล่าวนี้เลย
ข้อจำกัดเช่นนี้ทำให้เวลาที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนและคนจน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่ปรากฎให้เห็นชัดขึ้น จึงทำให้เรื่องความยากจนและคนจนเป็นประเด็นหรือเรื่องที่ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการ บางครั้งดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมอันเป็นที่น่ารังเกียจ ทั้งๆที่คนจนและความยากจนอยู่คู่สังคมไทยมาโดยตลอด แต่ความเป็นศาสตร์ที่สอนในสาขานั้นๆไม่สามารถที่จะช่วยให้ผู้เรียนหลุดพ้นไปจากทัศนะครอบงำที่มองปัญหาความยากจน มองคนจน แบบเดิมๆและแสดงออกต่อคนจนเหล่านั้นในลักษณะที่เป็นภาระของสังคม
ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อต้องการที่จะศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มการศึกษาจากฐานที่พอมีมาอยู่บ้าง ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะต้องเริ่มต้นการศึกษา หรือใช้วิธีการในการเข้าสู่ปัญหา( approach ) โดยอาศัยแนวทาง วิธีการศึกษา และข้อมูลในกรอบความคิดและวิธีการแบบตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์
สำหรับจุดเด่นของการศึกษาโดยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจภาพความยากจนในลักษณะภาพรวมของประเทศได้ แต่ปัญหาก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนดังกล่าว ไม่อาจที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในสังคมวงกว้างได้ ไม่อาจที่จะเป็นส่วนที่มีพลังเพียงพอในการที่จะคัดง้างกับความคิดกระแสหลักของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีได้ ไม่อาจที่จะนำความคิดดังกล่าวไปสู่การผลักให้เป็นนโยบายสาธารณะได้ และในแง่ของประเด็นที่ต้องการที่จะศึกษา ก็จะสนใจอยู่แต่เฉพาะประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นเรื่องคนจนและความยากจนไม่ได้มีแต่ปัญหาเรื่องรายได้ เรื่องสวัสดิการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ในเวลาเดียวกันในหลักสูตรพัฒนาสังคมซึ่งก็มีวิธีการอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในการศึกษา ก็ทำให้ได้ภาพของปัญหาและข้อสังเคราะห์ไปอีกกรอบหนึ่ง[2]
ในทางการเมือง ปรากฎการณ์สมัชชาคนจนที่ปรากฎตัวขึ้นอยู่ในกระแสการเรียกร้องต่อรัฐบาล เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง ปัญหาและการปรากฎตัวของความยากจนและคนจน และมีการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนจนจากประเทศต่างๆและเครือข่ายพันธมิตรเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีการเรียกร้องต่อบริษัทข้ามชาติ ซึ่งแสดงออกโดยการคัดค้านต่อการประชุมขององค์การค้าระหว่างประเทศ ปรากฎการณ์เช่นนี้ทำให้นกลุ่มดังกล่าวมีสถานภาพทั้งในทางการเมือง ในความเป็นจริง และในทางวิชาการ[3]
การปรากฎตัวดังกล่าวมีผลที่มีนัยสำคัญเป็นอย่างมากในทางวิชาการ ทั้งเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ทำมาโดยตลอดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในเวลาเดียวกันก็ฟื้นกลุ่มองค์กรทางสังคมที่มีมาแต่เดิมให้มีบทบาทขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีนัยยะในทางการเมือง
ในทางกฎหมายเอง องค์ความรู้ที่ว่าด้วย "คนจน" และ " ความยากจน " เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่ามีอยู่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆได้มีการกล่าวถึงความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมประดับอยู่ในที่ต่างๆมากมาย[4] ด้วยเหตุดังนั้น การที่จะให้นักกฎหมายลุกขึ้นมาแก้ปัญหาความยากจน จึงไม่ใช่การทำเพียงให้เข้าใจอุดมการณ์เรื่องความเป็นธรรมและความเสมอภาค ที่ระบบกฎหมายเหยียบย่ำมาโดยตลอด หากแต่ต้องเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ในทางกฎหมายว่ามีส่วนในการผลักให้คนกลุ่มหนึ่ง ตกอยู่ในสภาวะความยากจนได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า เมื่อกฎหมายเข้าไปจัดความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย ระบบความสัมพันธ์ทางกฎหมายก่อให้เกิดความยากจนได้อย่างไร
" คนจน " และ"ความยากจน"
ภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย
ความสัมพันธ์ภายใต้โครงสร้างสังคม
ความเป็นปัจเจกบุคคลเป็นสถานภาพที่ระบบกฎหมายแบบตะวันตกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
จุดเริ่มต้นของความเป็นปัจเจกอยู่ที่ความต้องการที่จะดึงให้ประชาชนที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มต่างๆ
รวมถึงอำนาจรัฐในระบบการปกครองแบบเดิม ให้หลุดกลายมาเป็นเสรีชน ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองดังกล่าว
จึงส่งผลให้การก่อตัวของกรอบคิดในทางกฎหมายที่ให้ความสำคัญต่อการเป็นปัจเจก จึงนำไปสู่การสถาปนากลไกต่างๆในทางกฎหมายเพื่อพยายามในการปกป้องความเป็นปัจเจกไม่ให้อำนาจรัฐเข้ามาละเมิด
สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดระบบการจัดการขึ้นในสังคมไปอีกระดับหนึ่งที่ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น ในการที่จะสร้างความสัมพันธ์กัน และความสัมพันธ์ดังกล่าวก็มีผลในทางกฎหมาย โดยที่รัฐเข้าไปดูแลความสัมพันธ์ดังกล่าวให้
แต่สังคมตะวันตกไม่ได้พัฒนาระบบความสัมพันธ์เฉพาะในทางการเมืองการปกครองเท่านั้น ยังมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปแบบวิธีการผลิต ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบของระบบการผลิต วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป สภาพความเป็นเมืองที่ขยายตัวออกไปเพราะมีการเคลื่อนย้ายประชากร รวมถึงการเกิดขึ้นของปัญหาใหม่ที่ติดตามมามากมาย ฯลฯ
บนระบบการผลิตเช่นนี้ ทำให้เกิดระบบการจัดความสัมพันธ์ขึ้นอยู่ในสังคมซ้อนลงไปอีกชั้นหนึ่งเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้ที่อาศัยในที่แปลงนั้น และความสัมพันธ์อื่นๆอีกมากมาย ความสัมพันธ์ในรูปแบบเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับทางการเมือง บางช่วงก็ร่วมมือกัน บางช่วงก็เป็นปฎิปักษ์ต่อกัน บางช่วงก็ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเลย ในส่วนของความสัมพันธ์ในทางกฎหมายได้แฝงและแทรกตัวอยู่เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างสังคมเช่นนี้
ระบบความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย กล่าวโดยสรุปย่อๆแล้ว ถ้ามองกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ในทางสังคมอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากความสัมพันธ์ภายใต้ระบบความสัมพันธ์อื่นๆ กฎหมายใช้สิทธิ - หน้าที่ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ ระหว่างบุคคลกับรัฐ และเทคนิควิธีการของกฎหมายอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่ใช้ในการทำให้ระบบความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย มันสามารถที่จะคงความเป็นสถาบันไว้ได้ก็โดยการที่กฎหมายไปก่อตั้ง "สถานภาพ"ของบุคคลในทางกฎหมายขึ้น การก่อให้เกิดสถานภาพดังกล่าวก็คือการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในทางกฎหมายไว้ในสังคมนั้นเอง ว่าใครจะต้องทำหรือมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่น(ที่มีสิทธิ)อย่างไร อาทิเช่น
ในการกู้ยืมเงิน ในทางกฎหมาย จะกำหนดให้ ผู้ให้กู้มีสถานภาพเป็น เจ้าหนี้ และผู้กู้ มีฐานะเป็น ลูกหนี้ สถานภาพในทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้เกิดบทบาทของแต่ละฝ่ายว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกัน และถ้าหากมีการฝ่าฝืน กลไกในทางกฎหมายจะเข้ามาดำเนินการจัดการอย่างไร แต่ในความสัมพันธ์ตามตัวอย่างดังที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพของบุคคลมากนัก ต่อเมื่อมีอำนาจรัฐตามกฎหมายเข้าไปกำหนดสถานภาพใหม่อาทิเช่น
มีการฟ้องร้องขอให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย(เพราะเหตุที่ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้) สถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวเท่ากับผลักให้ลูกหนี้และบุคคลอื่นๆที่เป็นผู้พึ่งพา ต้องกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้( แต่ยังมีความสามารถในทางด้านเศรษฐกิจอยู่) ไม่อาจที่จะดำเนินการในด้านอื่นๆได้เลยในทางกฎหมาย
หรือในกรณีของการตกอยู่ในสถานภาพเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งตามหลักการของกฎหมายยืนยันว่า เป็นสถานภาพที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ยังไม่ได้เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้อง แต่ในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากไม่สามารถที่จะหาหลักทรัพย์หรือเงินมาประกันตัวได้ ก็ได้รับการปฎิบัติที่ไม่แตกต่างไปจากผู้ที่ได้รับการตัดสินคดีว่าเป็นผู้กระทำความผิด เนื่องจากเพราะความจนเงิน ระบบกฎหมายก็มาทำให้อับจนไปในทุกๆด้าน และที่สำคัญคือ ระบบความสัมพันธ์ในทางกฎหมายทำให้เกิดการกีดกันและตัดโอกาส เป็นต้น
จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่ระบบกฎหมายไปเปลี่ยนแปลงสถานภาพในทางกฎหมายของบุคคล ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็น "ราชภัย" ประการหนึ่ง แต่ราชภัยในปัจจุบันต่างไปจากราชภัยในอดีต ตรงที่ในอดีตถ้าประชาชนประสบราชภัยสามารถที่จะหลบได้ โดยที่ตนเองยังสามารถที่จะใช้ชีวิตได้เป็นปรกติ เว้นแต่จะเป็นความผิดที่ร้ายแรง แต่ราชภัยในปัจจุบันเนื่องจากมีระบบราชการ มีระบบการบัญชีควบคุม มีระบบทะเบียน online จึงทำให้ไม่สามารถที่จะหลบหลีกได้ง่ายๆ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส
ความเสี่ยงในการถูกเปลี่ยนสถานภาพในทางกฎหมายของคนจน ด้วยเหตุที่คนจนมีให้พบเห็นกันทั่วไป ดังนั้น การที่คนจนคนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนสถานภาพในทางกฎหมายไปจากที่เป็นอยู่ไปในทางที่เลวร้ายยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องปรกติ เพราะคนทั่วๆไปมองว่าเป็นเรื่องคราวเคราะห์ เป็นเพราะความซวยของตน ดังนั้น ทางแก้ก็ต้องฟาดเคราะห์ ไปลดน้ำมนต์ ไปทำพิธีขอขมาลาโทษ หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิฯก็ไม่อาจที่จะดำเนินการอะไรได้มากนัก เพราะระบบกฎหมายมักจะมีทัศนะที่ว่า ระบบกฎหมายจะคุ้มครองสิทธิให้สำหรับผู้ที่รักษาสิทธิของตนเองเท่านั้น
เมื่อคนจนที่ตกอยู่ในโครงสร้างของสังคมที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นบทบาทหน้าที่ของกฎหมายซึ่งควรพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโครงสร้างดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาผู้ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายไม่ได้ทำหน้าที่แทนประชาชนที่แท้จริง ประกอบกับทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดยการผูกขาดของอำนาจรัฐและของทุนที่ร่วมมือกัน จึงทำให้บทบาทของกฎหมายแทนที่จะมุ่งไปในการปรับโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น แต่กลับมุ่งไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุน( เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับต่างประเทศได้) นั่นเท่ากับว่า เป็นการผลักภาระทางต้นทุนในการประกอบการและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ผู้ประกอบการจะต้องออกไปให้บุคคลอื่นแบกรับภาระแทน วิธีการและกระบวนการผลักภาระดังกล่าวนี้ สามารถที่จะเห็นได้จากบทบัญญัติกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาในแต่ละช่วงภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละยุค[5]
ถ้าหากพิจารณาในแง่ขององค์กรหรือกระบวนการของระบบกฎหมาย ที่สามารถส่งผลกระทบต่อสถานภาพในทางกฎหมายของประชาชนแล้ว เราจะเห็นได้ว่าสถานภาพในทางกฎหมายของประชาชนโดยเฉพาะคนจนขึ้นอยู่กับ
1. กระบวนการนิติบัญญัติ ที่ทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย และรวมถึงจะต้องทำหน้าที่ในการทบทวนบทบัญญัติกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาส
2. การใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นส่วนที่มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อสถานภาพของบุคคลในทางกฎหมายและมีผลกระทบต่อบุคคลในวงกว้างอาทิเช่น มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งหลาย
3. การใช้อำนาจตุลาการ แม้จะมีลักษณะการใช้อำนาจที่แตกต่างไปจากอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร แต่โดยหัวใจของการใช้อำนาจตุลาการ คือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ด้วยเหตุที่วิธีการใช้อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร เป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่กำหนดหน้าที่มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิทธิ เมื่อเป็นเช่นนี้บทบาทของอำนาจตุลาการสามารถที่จะทำให้เกิด ความเป็นธรรม ความเสมอภาคได้ ในลักษณะที่ตรวจสอบและถ่วงดุลยกับอำนาจทั้งสอง
ภายใต้การจัดความสัมพันธ์ในระบบกฎหมาย สถานภาพทางกฎหมายของประชาชน อาจถูกเลื่อน หรือปรับเปลี่ยนสถานภาพได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจขององค์กรหรือกระบวนการดังกล่าวข้างต้น ในกรณีของ คนจน ที่เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย มีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่อาจจะถูกเลื่อนสถานภาพให้ตกต่ำลงไปอีก สำหรับคนชั้นกลางที่เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ในทางกฎหมาย ถ้าหากในความสัมพันธ์เรื่องนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงหรือผูกติดกับระบบความสัมพันธ์ของระบบอื่นๆเช่นที่มักจะพบกันเป็นประจำได้แก่
- ความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจกับระบบความสัมพันธ์ทางกฎหมาย
- ความสัมพันธ์ของระบบการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่จัดการโดยรัฐกับระบบความสัมพันธ์ตามกฎหมาย
- ความสัมพันธ์ของระบบกระบวนการในการตัดสินใจในทางการเมืองที่เกี่ยวกับการพัฒนา กับกระบวนการทางกฎหมายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ผูกโยงกันดังกล่าว อาจจะทำให้ผู้ที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบใดแบบหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้นถูกปรับเปลี่ยนสถานภาพในทางกฎหมายให้ตกต่ำลงไปก็ได้ ดังตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีดังต่อไปนี้
กรณีศึกษา ความไม่เป็นธรรม ความยากจน จากการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกิน เนื่องจากปัญหาของระบบการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน และปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน เป็นปัญหาที่รัฐไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ได้อย่างทั่วถึง อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดของงบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ( แต่จริงๆเป็นเพราะเหตุใดไม่มีการพิสูจน์กัน) จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานไม่มีเอกสารสิทธิ
หรือในบางกรณีเป็นเพราะระบบในการออกเอกสารสิทธิที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดิน ต้องคอยติดตามข่าวสารและต้องมาดำเนินการตามวันเวลานั้น ซึ่งระบบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประชาชนที่ไม่สามารถอยู่รอการมาดำเนินการของทางราชการได้( ซึ่งในกรณีเช่นนี้มักจะถูกมองว่าเป็นกรณีที่ไม่รักษาสิทธิของตนเอง) เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิจากรัฐมายืนยัน ผลในทางกฎหมายของสถานภาพในทางกฎหมายของที่ทำกิน จึงกลายสภาพเป็นพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ในขณะที่ความเข้าใจของประชาชนยังเข้าใจอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นที่ทำกินที่ทำตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นที่ยอบรับหรือมีสถานภาพในทางประเพณีหรือวัฒนธรรม ว่าที่ทำกินแปลงดังกล่าวเป็นของผู้ที่บุกเบิกทำกินมาอย่างต่อเนื่อง
และเมื่อต่อมามีการประกาศเป็นเขตอุทยานซ้อนทับลงไปในที่ทำกินแปลงดังกล่าว สถานภาพทางกฎหมายของที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิรับรอง ก็มีสถานภาพในทางกฎหมายเป็นพื้นที่ในเขตอุทยาน ผลของสถานภาพในทางกฎหมายผู้ถือครองที่ดิน ก็คือ เจ้าของที่ดินทำกินและเครือญาติที่อยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว กลายเป็นผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา
ถ้าหากในขณะที่เจ้าหน้าที่มาดำเนินการจับกุม เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวเชื่อโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว จึงไม่ยอมให้มีการจับกุม สถานภาพในทางกฎหมายของเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าว ก็จะถูกเลื่อนในตกต่ำลงไปโดยการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่มุ่งทำหน้าที่เพื่อเอาผลงาน( แต่ไม่เอาความถูกต้อง) ให้อยู่ในสถานภาพเป็นผู้กระทำผิดในอีกข้อหาหนึ่งก็คือ ผู้ต้องหาข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
หรืออาจจะมีข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานหากว่า ในระหว่างที่เข้าไปจับกุมมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าที่ของรัฐว่าไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ เนื่องจากเวลานักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการระดับสูง กระทำในสิ่งเดียวกัน เจ้าหน้าที่กลับไม่เข้าไปดำเนินการปฏิบัติบนมาตราฐานเดียวกัน และต่อเจ้าหน้าที่ที่ไปจับกุมผู้ต้องหาคนนี้ มีสถานภาพว่าเป็นพวกหัวแข็ง อันธพาล ซึ่งทำให้ได้รับการปฏิบัติพิเศษ เช่น การคัดค้านการประกัน การต้องตีตรวนเมื่อถูกฝากขัง หรือถึงขั้นที่อาจจะถูกใช้วิธีการที่รุนแรงในการสอบสวน
เมื่อมีการดำเนินการจับกุมแล้ว กระบวนการในชั้นต่อไปของกระบวนการยุติธรรมก็คือพนักงานสอบสวนก็ต้องดำเนินการสอบสวน ซึ่งต้องใช้เวลานานเนื่องจากต้องรอให้เจ้าพนักงานสอบสวนเสร็จจากคดีอื่น ในระหว่างนี้ถ้าหากไม่มีหลักทรัพย์มาประกันตัวก็ต้องถูกคุมขังในฐานะผู้ต้องหา หลักประกันที่มีในควาคิดของประชาชนได้แก่ ที่ดินทำกินแปลงที่อยู่ในเขตอุทยานก็ไม่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้เพราะไม่มีสถานะในทางกฎหมายเป็นที่ดินที่จะเป็นหลักประกันได้ เมื่อไม่มีหลักประกันใดๆในทางปฏิบัติก็คือต้องควบคุมตัว
ในชั้นแรกก็เป็นผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ ถ้าหากพนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จ และพ้นอำนาจที่พนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวไว้ได้ ก็ต้องไปฝากขังกับศาล ซึ่งศาลสามารถที่จะใช้ดุลยพินิจให้ความเป็นธรรมได้ แต่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากผู้ต้องหามิได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคม และอยู่ในเขตพื้นที่ป่าห่างไกลเกรงว่าจะหลบหนี อันจะทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับผู้กระทำผิดรายอื่นๆได้จึงให้ฝากขังได้ สถานภาพของผู้ต้องหาดังกล่าวจะเพิ่มไปอีกหนึ่งสถานภาพคือ เป็นผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของผู้ต้องขังให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันและไม่เลือกปฎิบัติ ด้วยเหตุที่พนักงานสอบสวนต้องทำคดีก่อนหน้านี้ให้เสร็จก่อน จึงส่งผลให้สถานภาพของผู้ต้องหากลายเป็นผู้ต้องขัง สภาพเช่นนี้( สถานภาพในทางกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลง)จะเป็นไปจนกว่าการดำเนินคดีจะเสร็จสิ้น
นอกจากผลในทางกฎหมายแล้วในทางสังคม ผู้ที่ถูกจับกุมดังกล่าวจะกลายสถานภาพเป็นคนผิด คนไม่รักแผ่นดินเพราะบุกรุกอุทยาน
ในแง่ของระบบเศรษฐกิจ ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีมูลค่าใดๆ ที่จะไปค้ำประกันเงินกู้ได้ทั้งๆที่ที่ดินแปลงดังกล่าวยังสามารถหรือมีศักยภาพในการผลิตอยู่
ในระหว่างที่ถูกดำเนินคดี อาจจะมีการยึดอายัดเครื่องมือทำกิน เครื่องมือทางการเกษตร ดังนั้น สิ่งต่างๆที่มีการลงได้ลงทุนไว้ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการอย่างใดต่อได้ แลอาจจะมีการขอให้ศาลสั่งขับให้ออกจากที่ทำกินดังกล่าวไป และเมื่อเสร็จสิ้นคดีไม่ว่าจะถูกพิพากษาว่าผิดหรือถูกก็ตาม บรรดาหนี้สินค่าใช้จ่ายต่างๆก็เป็นเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบกันเอาเอง ดังนั้นผลจากคดีดังกล่าวอาจจะมีคดีความอื่นๆตามมาอีกมากมาย เช่น คดีหนี้เงินกู้ คดีจำนอง ฯลฯ
ตัวอย่างจากคดีที่เกิดขึ้นจริงข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวในจำนวนเป็นหมื่นๆตัวอย่างที่สามารถสะท้อนภาพคนจน ความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค ได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยเหตุที่กระบวนการยุติธรรมของเรายังไม่มีโอกาสในการที่จะทำการศึกษาพฤติกรรมและธรรมชาติของคดีในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คนจนและผู้ด้อยโอกาสตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างและระบบกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของความยากจนและคนจน
และด้วยเหตุที่ครั้งนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกที่วงการกฎหมายไทยหยิบปัญหาความยากจนมาศึกษาแม้จะไม่ตรงกับโจทย์ใหญ่ของคนจนทั้งประเทศก็ตาม แต่ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมสามารถที่จะปลดปล่อย ถอดสลัก ผลักดัน ให้เกิดการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ในทางกฎหมายที่เป็นธรรมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในทางทฤษฎี ในทางวิชาการเราอาจจะมีตัวชี้วัดความไม่จนอีกเส้นหนึ่งโดยดูจากระบบกระบวนการยุติธรรมที่เปิดช่อง ให้โอกาส สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
อ้างอิง
[1] มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การ ศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียว กับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
[2] ท่านที่สนใจเพื่อต้องการเห็นขอบเขตการศึกษาโปรดดูรายละเอียดในกระบวนวิชาต่างๆของทั้งสองหลักสูตร( เศรษฐศาสตร์ และ พัฒนาสังคม ) ที่มีสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ
[3]"วิถีชีวิต วิธีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย " ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ โครงการพลวัตเศรษฐกิจการเมืองไทย สกว. สำนักพิมพ์ตรัสวิน(ซิลค์เวอร์มบุคล์) เชียงใหม่ ( 2545)
[4] สำหรับในกรณีหลักสูตรนิติศาสตร์(แทบจะทั้งหมดทุกหลักสูตรและในทุกระดับที่มีการสอนในประเทศไทย) อาจจะกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีการกล่าวถึง "คนจน" และ " ความยากจน " โดยตรงเลย แต่อาจจะมีการยกเป็นประเด็นเฉพาะขึ้นมาศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในบางกระบวนวิชา แต่โดยภาพรวมและในกระแสหลักแล้ว ไม่มีที่ของความรู้ว่าด้วยคนจนและความยากจน
[5] โปรดดูรายละเอียดใน " มติสำคัญของคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเศรษฐกิจยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ส.ค. 31 - ก.พ.34 " รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ,กัลยา อุดมวิทิต สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ( 2536 )
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 287 หัวเรื่อง "กฎหมายกับความยากจน" เขียนโดย ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำ สาขาวิชานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในชั้นแรกก็เป็นผู้ต้องหาที่ถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ ถ้าหากพนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จ และพ้นอำนาจที่พนักงานสอบสวนจะควบคุมตัวไว้ได้ ก็ต้องไปฝากขังกับศาล ซึ่งศาลสามารถที่จะใช้ดุลยพินิจให้ความเป็นธรรมได้
แต่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากผู้ต้องหามิได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคม
และอยู่ในเขตพื้นที่ป่าห่างไกลเกรงว่าจะหลบหนี อันจะทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับผู้กระทำผิดรายอื่นๆได้จึงให้ฝากขังได้
สถานภาพของผู้ต้องหาดังกล่าวจะเพิ่มไปอีกหนึ่งสถานภาพคือ เป็นผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์
โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของผู้ต้องขังให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันและไม่เลือกปฎิบัติ
ด้วยเหตุที่พนักงานสอบสวนต้องทำคดีก่อนหน้านี้ให้เสร็จก่อน จึงส่งผลให้สถานภาพของผู้ต้องหากลายเป็นผู้ต้องขัง
สภาพเช่นนี้( สถานภาพในทางกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลง)จะเป็นไปจนกว่าการดำเนินคดีจะเสร็จสิ้น
(ตัดมาบางส่วนจากบทความ "กฎหมายกับการเบียดบังคนจน")