เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ไทยกับ WTO กับทางออกที่ดีที่สุด
โดย พอล เลอมัง
(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

คำนำ
ผู้ที่ติดตามข่าวการระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศจะทราบดีว่าองค์การการค้าโลกมีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศและเป็นข่าวมาโดยตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องนโยบายการค้าเสรี เรื่องที่เป็นข่าวดังได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วโลกมากที่สุดก็เมื่อตอนที่องค์การประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ที่นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการประท้วงที่รุนแรงถึงกับมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และอีกครั้งหนึ่งที่คนไทยให้ความสนใจ WTO ก็เมื่อมีการเลือกสรรผู้อำนวยการคนใหม่ระหว่างนายไมค์ มัวร์ของนิวซีแลนด์กับนายศุภชัย พาณิชภักดิ์ จากประเทศไทย เป็นศึกระดับโลกที่ยิ่งใหญ่โดยนายศุภชัยได้ชัยชนะร่วมกัน โดยได้เป็นผู้อำนวยการต่อจากนายมัวร์

ข่าวเกี่ยวกับองค์การการค้าโลกหลังจากนายศุภชัยได้เป็น ผอ.ใหญ่แล้วก็ยังเป็นข่าวดังอยู่เสมอมา โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดการค้าเสรีที่คนทั่วไปเห็นว่า ไทยยังไม่พร้อมและเสียเปรียบมาก และเรื่องที่ดูจะเป็นรูปธรรมที่ถูกหยิบยกเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ เช่น เรื่องข้าวหอมมะลิ การคุ้มครองพันธ์สัตว์และพืชของไทย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การเปิดเสรีการค้าบริการ แม้กระทั่งเรื่องร้านค้าปลีกไทยที่ต้องหมดอนาคตเพราะสู้ยักษ์ใหญ่ต่างชาติไม่ได้ ก็ถูกมองว่าเป็นเพราะการเปิดเสรีการค้า....หลากหลายเรื่องที่ล้วนแต่กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทย........จนต้องตั้งคำถามในใจอยู่บ่อยๆ ว่าองค์การการค้าโลกนี้เป็นพระเอก หรือผู้ร้าย หรืออะไรกันแน่

กระแสที่ปรากฏในสังคมไทยและโลกเกี่ยวกับองค์การการค้าโลกมีอยู่สองด้านหรือสองกลุ่ม
กระแสแรกคือ กลุ่มที่สนับสนุนนโยบายการค้าเสรี ได้แก่บรรดาประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประชาคมยุโรป และประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ โดยเชื่อมั่นว่าการค้าเสรีจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวและทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์จาก WTO ส่วนในประเทศไทยก็ได้แก่ บรรดานักการเมือง นักธุรกิจที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนย่อมสนับสนุนในสิ่งที่ตนได้รับมอบหมายและทำอยู่

ส่วนกระแสที่สอง หรือกลุ่มที่สองได้แก่พวกต่อต้านองค์การการค้าโลกหรือต่อต้านนโยบายการเปิดการค้าเสรี ได้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย นักวิชาการอิสระ องค์กรเอกชนที่มิใช่รัฐ(NGO) นักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เสียประโยชน์ นักเคลื่อนไหวอิสระ สื่อมวลชนและประชาชนจากทุกมุมโลก

ในการประชุมกลุ่มจี 8 ครั้งหลังสุดที่เจนีวา เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2546 ที่ผ่านมา มีการประท้วงอย่างหนักจากกลุ่มคนจากหลายประเทศโดยเฉพาะที่สวิสและที่เมืองเอเวียงของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม แต่กระนั้น การดำเนินงานขององค์การการค้าโลกก็ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ โดยไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ในปีนี้จะมีการประชุมครั้งสำคัญอีกครั้งก็คือการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ในเดือนกันยายน 2546 ที่เมืองแคนคูนประเทศเม็กซิโก ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมเพื่อทบทวนและเร่งรัดเรื่องการเจรจาต่างๆ ในองค์การการค้าโลกก่อนถึงกำหนดเส้นตายที่ให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นใน วันที่ 1 มกราคม 2548

ในประเทศไทยเองก็มีกระแสการต่อต้านองค์การการค้าโลกและการค้าเสรีอย่างหนักเหมือนกัน ถึงขนาดว่านายศุภชัยได้รับเชิญมาบรรยายในประเทศไทยเรื่องการค้าเสรีที่โรงแรมหนึ่งในตอนเช้า แต่ตอนบ่ายก็มีอีกกลุ่มหนึ่งจัดการสัมมนาต่อต้านและโจมตีนายศุภชัยและองค์การการค้าโลกที่อีกโรงแรมหนึ่ง ข้อมูลทั้งสองเหตุการณ์ขัดแย้งกันมากทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนกับสีดำกับสีขาว ทำให้คนไทยทั่วไปที่ติดตามเรื่องนี้คงจะสับสนพอสมควรเพราะไม่รู้ว่าใครพูดถูกหรือใครโกหก และจะเชื่อใครดี

นอกจากนั้นหากใครได้ติดตามข้อเขียนที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก็จะพบว่าบรรดานักวิชาการและนักเขียนหลายท่านทั้งไทยและเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม NGO ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านองค์การการค้าโลกกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะนโยบายของประเทศไทยที่ถูกมองว่าเป็นเด็กดีเดินตามก้นประเทศอุตสาหกรรมและบรรษัทข้ามชาติที่อยู่เบื้องหลังและเปิดเสรีมากเกินไป และว่าข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นสมุนรับใช้ต่างชาติ

ความเห็นของฝ่ายต่อต้านส่วนใหญ่มอง WTO ว่าเป็นองค์กรที่มุ่งประโยชน์ในเรื่องการค้าและผู้ค้า (บรรษัทข้ามชาติ) มากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมและประชาชนในโลก และได้ขนานนามองค์การการค้าโลกว่าเป็น องค์การครอบโลกโลกาภิบาลบ้าง เป็นกรงขังเหล็กบ้าง บ้างสงสัยว่าองค์การการค้าโลกเป็นสมาคมคนรวย หรือหนักกว่านั้นกล่าวหาว่าเป็นทรราชจนต้องมีการฉีกหน้ากากองค์การการค้าโลก ข้อเขียนเหล่านี้ผมได้จัดทำรายชื่อรวบรวมไว้ในภาคผนวกเท่าที่จะหาได้ เพื่อให้มีการศึกษาค้นคว้ากันด้วย

ท่ามกลางความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว ผมเห็นความจำเป็นที่จะต้องเขียนเรื่องนี้บ้าง จากมุมมองของผม เพื่อที่จะให้ความรู้กับคนไทยและเพื่อจะบอกว่ากระแสทั้งสองด้านนั้น โดยเฉพาะในฝ่ายต่อต้าน ควรที่จะได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดและควรได้รับการมองด้วยทัศนคติที่ดี การต่อต้านเพราะมีความเห็นต่างกัน ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะอาจมาจากความห่วงใยเหมือนกัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อส่วนรวม ผมเห็นความจำเป็นที่ทั้งสองกระแส ซึ่งความจริงอาจจะมีทั้งส่วนถูกบ้างและผิดบ้างด้วยกันทั้งคู่ก็ได้ ถูกคนละส่วน ผิดคนละส่วน ควรจะหันหน้ามาร่วมมือกัน เพื่อประเทศชาติ ผมขออนุญาตที่จะเสนอความเห็นหรือทางออกที่น่าจะดีที่สุด สำหรับไทยใน WTO ก็เป็นความห่วงใยและความหวังดีเช่นเดียวกับทุกฝ่าย

ผมจะเปิดโฉมหน้าขององค์การการค้าโลกให้ทุกท่านทราบ ซึ่งจริงๆ แล้วโฉมหน้านี้ไม่ได้ปิดบังเท่าใดนัก เพียงแต่ว่าคนที่มีโอกาสมาเห็นมีไม่มาก ไม่จำเป็นต้องฉีกหน้ากากอะไรหรอก
( พอล เลอมัง/ เจนีวา กรกฏาคม 2546)

คุณรู้จัก WTO แค่ไหน
ผมเคยคิดว่า องค์การการค้าโลกเป็นเพียงสถานที่ที่ผู้แทนประเทศสมาชิก 146 ประเทศมาประชุมกัน ก็เท่านั้นเอง เป็นอาคารที่ใหญ่โต ไม่ว่าจะเดินไปทางมุมใดซอกใดไหนก็เจอแต่ผู้แทนประเทศต่างๆ แต่งตัวโก้ๆ เป็นคล้ายกับองค์การสหประชาชาติแห่งที่สอง งานประจำของคณะผู้แทนในองค์การการค้าโลกก็คืองานประชุม มีประชุมกันได้ทุกวันไม่เคยหยุด บางครั้งทำให้ความน่าสนใจขององค์การนี้ดูเหมือนจะมีอะไรไม่มากไปกว่านี้ แต่ความเข้าใจนี้ผิดถนัด เมื่อลองคิดดูดีๆ จะพบว่าองค์การการค้าโลกมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการเป็นเพียงแค่เป็นสถานที่ประชุมเท่านั้น

นอกจากประวัติความเป็นมา โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงตรงนี้ เพราะท่านสามารถหาอ่านได้เองจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะเว็บ www.wto.org (ข้อมูลภาษาไทยเปิดดูที่ www.dtn.moc.go.th ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) อย่างไรก็ดี ผมจะขอเรียนว่าที่ทำการของ WTO นั้นมีสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจในที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก เพราะไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือสนใจจะนำมาเล่า แต่ผมเห็นว่าน่าสนใจดี เช่นรูปปั้นหินหญิงสาวและเด็กน้อยตั้งคู่อยู่หน้าประตูทางเข้าอาคาร บริเวณสวนด้านในและด้านหลังที่สวยสง่างาม รูปปั้นม้าตัวใหญ่ริมทะเลสาบ หรือแม้แต่ชื่อของอาคารที่ตั้งชื่ออาคารว่า William Rappard ซึ่งหลายคนก็คงไม่รู้เลยว่าเจ้าของชื่อนี้เป็นใคร นอกจากนั้นก็ยังมีห้องประชุมและห้องเฉพาะกิจต่างๆ เช่นห้องแสดงนิทรรศการศิลปะในอาคาร รวมทั้งของที่ระลึกของบุคคลสำคัญที่ได้มอบให้ WTO ล้วนเป็นสิ่งที่น่ารู้ ซึ่งผมจะหาโอกาสนำมาเล่าในโอกาสต่อไป

ผมคิดว่าคงจะเป็นการไม่ถูกต้องนักหากจะนำเสนอเรื่องขององค์การการค้าโลกต่อสาธารณชนโดยให้ทราบในด้านเดียวคือ ด้านที่ไม่ดี ทำให้รู้สึกเหมือนกับการจับผิด หรือในด้านที่ดีเพียงด้านเดียวซึ่งก็ดูไม่สมดุลเท่าไหร่นัก ยิ่งทราบว่าข้อเขียนเกี่ยวกับ WTO หลายเรื่องมีนักศึกษาและนักเรียนสนใจอ่านกันด้วยแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะให้คนเหล่านั้นทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และทั้งสองด้าน ส่วนเมื่อทราบแล้วจะเห็นด้วยและสนับสนุนด้านใดก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจไปชี้แนะได้

จับมาเผชิญหน้ากัน
ผู้ที่ตามข่าวเรื่อง WTO คงจะพอทราบดีว่า ข่าวที่ปรากฏทั่วไปนั้นจะมีอยู่ 2 กระแสคือ ด้านที่ดีและด้านที่ต่อต้าน ผมจะกล่าวถึงทั้งสองด้านและจะจับประเด็นของทั้งสองด้านมาเผชิญหน้ากัน ผมเห็นว่าความคิดเห็นของทั้งสองด้านเป็นข้อเท็จจริงที่มองข้ามไปไม่ได้

ในขณะที่ WTO แจงเหตุผลที่ดีของการมี WTO 10 ข้อ กลุ่มต่อต้านก็มีเหตุผล 10 ประการที่จะล้มล้างเหมือนกัน

ข้อดีทั้ง 10 ข้อของการมีองค์การการค้าโลกคือ

1. ส่งเสริมสันติภาพ โดยมองว่าเมื่อการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจในระดับระหว่างประเทศ ส่งผลต่อสันติภาพของโลก
2. ข้อขัดแย้งได้รับการดูแลให้มีการแก้ไขอย่างสันติและอย่างสร้างสรรค์
3. กฎระเบียบทำให้ง่ายขึ้นสำหรับทุกฝ่าย เพราะใช้ระเบียบเดียวกัน
4. การค้าเสรีลดต้นทุนและค่าครองชีพ
5. ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
6. เพิ่มรายได้ให้กับประเทศและคนในประเทศ
7. ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และส่งผลดีต่อตลาดแรงงาน
8. หลักการพื้นฐานทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
9. รัฐบาลลดความเสี่ยงจากการถูกวิ่งเต้นและลดการคอร์รัปชั่น
10. ส่งเสริมธรรมาภิบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน

ผมยอมรับว่าข้อดีของ WTO เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิบัติให้บรรลุผลได้ทั้งหมด หลายข้อในหลักการนั้นดีแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติอาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเพราะกฎระเบียบต่างๆ ไม่สามารถที่จะใช้ได้ดีกับทุกประเทศเท่ากัน และในเวลาเดียวกัน เนื่องจากการพัฒนาของประเทศต่างๆ ไม่เท่ากัน ทำนองว่าเสื้อผ้าหากมิได้สั่งตัดเฉพาะตัวก็คงยากที่จะให้ทุกคนใส่ได้พอดีเหมือนกันหมด ก็คงต้องแก้ไขกันให้พอดีสำหรับทุกคน ผมเห็นว่าข้อดีเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด หากแต่ว่าสมาชิกทุกประเทศยอมที่จะให้มีการแก้ไขตามความเหมาะสมก็จะทำให้คุณค่าขององค์การการค้าโลกดีขึ้นมาก

นอกจากข้อดี 10 ข้อดังกล่าวแล้วผมยังเห็นว่ามีความสำคัญอีกบางประการที่จะขอเสริมดังนี้

WTO เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านการค้าที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลกในปัจจุบัน ไม่ผิดเลยที่จะกล่าวเช่นนี้ จากสมาชิกของแกตส์เดิมเพียง 23 ประเทศ กลายมาเป็น 146 ประเทศ (มิถุนายน 2546) และยังมีอีก 30 กว่าประเทศกำลังเข้าแถวรอการรับเข้าเป็นสมาชิกอย่างใจจรดใจจ่อ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกเป็นสมาชิกขององค์การนี้หมดแล้ว หากเปรียบองค์การเป็นกลุ่มสมาคม หรือชมรม ก็เป็นสมาคมที่สำคัญที่ประกอบไปด้วยทั้งคนรวยและคนไม่รวยอยู่ด้วยกัน การเห็นความสำคัญของสมาคมนี้ จึงถูกต้องแล้วเพราะไทยเป็นหนึ่งในสังคมโลก

WTO เป็นเวทีกลางการเจรจาของสมาชิกในเรื่องการค้า ในทางการทูตนั้น การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะติดต่อกับประเทศอื่นต้องผ่านระเบียบขั้นตอนที่เรียกว่าพิธีการทูต ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครก็สามารถติดต่อกันได้ ประเทศในโลกนี้มีประมาณ เกือบ 200 ประเทศ ถ้าไม่มีการรวมกลุ่มของประเทศเหล่านี้ ก็คงเป็นไปได้ยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถติดต่อได้กับทุกประเทศทั้ง 200 ประเทศ เวทีระหว่างประเทศจึงเป็นเสมือนศูนย์กลางที่ทุกประเทศส่งผู้แทนมาอยู่รวมกันในที่เดียว ใครจะติดต่อเรื่องใดก็สามารถทำได้ ณ ที่นี้ เช่นองค์การสหประชาชาติก็เป็นเช่นนี้

ในเรื่องการค้าถือว่าองค์การการค้าโลกเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ การเป็นสมาชิกจึงได้สิทธิ์ที่จะติดต่อและเจรจากับทั้ง 145 ประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไทยในฐานะสมาชิกได้ตั้งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา มีหน้าที่ดูแลติดตามการเจรจาในองค์การการค้าโลก ซึ่งก็คือการติดต่อกับอีก 145 ประเทศที่เหลือนั่นเอง งานหลักและเป็นงานที่หนักมากก็คือการประชุมและเจรจาในเรื่องการค้าซึ่งมีมากและมีทุกวัน วันละหลายเรื่องหลายคณะกรรมการ เนื่องจากการค้านั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ทุกประเทศสมาชิกต่างให้ความสำคัญ จึงมีเรื่องให้เจรจา มีเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์กันมากเหลือเกิน ถ้าไม่มีเวทีองค์การการค้าโลก ประเทศต่างๆ ก็คงไม่สามารถที่จะติดต่อสัมพันธ์กันได้มากมายเช่นนี้

เมื่อมีการติดต่อกันมากระหว่างสมาชิก ผลประโยชน์ที่ได้ชัดๆ ก็คือการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือร่วมกันหาผลประโยชน์ ประเทศสมาชิกจึงสามารถรวมกลุ่มกันเจรจาในเรื่องที่ตนเองมีผลประโยชน์ ทำให้เกิดการต่อรองที่มีน้ำหนักมากขึ้น จึงปรากฏว่าบรรดาสมาชิก WTO 146 ประเทศนั้น มีการรวมกลุ่มผลประโยชน์กันอยู่เสมอๆ และมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจเหมือนกัน เช่น

กลุ่มแครนส์ Cairns (กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร), กลุ่ม AD (การต่อต้านการทุ่มตลาด) กลุ่ม GI (กลุ่มสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์), กลุ่ม Friends of Fish (กลุ่มผลักดันให้การอุดหนุนประมงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) เป็นต้น การรวมกลุ่มดังกล่าวนี้ประเทศพัฒนาแล้ว ก็สามารถรวมกลุ่มกับประเทศกำลังพัฒนา ต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆได้ หรือประเทศพัฒนาแล้วรวมกลุ่มกันกดดันประเทศกำลังพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ร่วมกันในแต่ละเรื่อง ถ้าไม่มีเวทีดังกล่าว สิ่งต่างๆ เหล่านี้คงไม่สามารถทำได้เลย

เวทีในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ การแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางการค้าในองค์การการค้าโลกมีมากหลายร้อยเรื่องในแต่ละปีที่มีการฟ้องร้องกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงการฟ้องร้องที่ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากสามารถเจรจาและหาทางออกของความขัดแย้งได้ในเวลาต่อมาก็มีไม่น้อย กระบวนการฟ้องร้องอยู่ในระเบียบที่ชื่อว่ากระบวนการระงับข้อพิพาท Dispute Settlement Understanding หรือ DSU ซึ่งประเทศสมาชิกยอมรับที่จะใช้แนวทางตามกระบวนการนี้ในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการฟ้องร้องจะมาจากประเทศพัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนาก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ทุกประเทศมีสิทธิและโอกาสในการฟ้องร้องเท่าเทียมกัน นอกจากนั้นสมาชิกยังมีสิทธิที่จะเสนอให้มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบ DSU ดังกล่าวที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมในทุกๆ เรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการยื่นขอให้ปรับปรุงกฎระเบียบและความตกลงใน WTO แทบจะทุกคณะกรรมการ โดยเฉพาะกระบวนการระงับข้อพิพาท (DSU) ในเรื่องการให้แต้มต่อ ต่อประเทศกำลังพัฒนา (Special and Differential Treatment) และในเรื่องการปรับปรุงกฎเกณฑ์การทุ่มตลาด เป็นต้น การเรียกร้องเหล่านี้ ประเทศกำลังพัฒนาได้ร่วมกันผลักดันมานานแล้วและมีความคืบหน้าเป็นระยะซึ่งก็ยังคงมีการผลักดันต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

เป็นเวทีที่สมาชิกสามารถตรวจสอบและให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกอื่นได้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศอยู่ในกติกาอย่างต่อเนื่อง องค์การการค้าโลกมีระเบียบที่กำหนดให้ทุกประเทศสมาชิกถูกตรวจสอบและทบทวนนโยบายการค้าเป็นประจำซึ่งเป็นการถูกตรวจสอบจากสมาชิกทุกประเทศที่สามารถทักท้วงและขอให้มีการชี้แจง แก้ไขมาตรการต่างๆ ที่อาจจะไม่ถูกต้องหรือผิดต่อระเบียบการค้าที่ได้ตกลงกันไว้

สถาบันการเรียนรู้เรื่องการค้าและการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ประสบการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาที่ผ่านองค์การการค้าโลกมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมากมายของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งทำให้ประชาชนทั่วโลกตื่นตัวในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานของตนมากขึ้น ผู้แทนประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ในองค์การการค้าโลกหลายต่อหลายคนได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการค้าจากการที่เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการและคณะทำงานมากมายหลายคณะ ซึ่งมีการประชุมและเจรจากันเป็นเวลาหลายปีจนรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการ อะไรคือสิ่งที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเสียเปรียบ

สิ่งที่เห็นได้ชัดและถือเป็นพัฒนาการที่ดีก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มรู้จักเรียกร้องในสิ่งที่คิดว่าเสียเปรียบ และต้องการให้มีการแก้ไข นอกจากนั้น จากเหตุการณ์ที่ซีแอตเติ้ล และวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าการเจรจาเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้ และบัดนี้ท่าที จุดยืนในเรื่องต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว ก็ถูกประเทศกำลังพัฒนารู้เท่าทันมากขึ้นจนเกือบหมดแล้ว ในช่วงหลังนี้ ที่เรียกว่าการเจรจารอบโดฮาใน WTO ถึงได้ขยายขอบเขตครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากมาย มีความสลับซับซ้อนและยากมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตหากประเทศกำลังพัฒนาสามารถรวมตัวกันได้จริงๆ และใช้ประโยชน์จากกฎกติกาที่จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น ก็เชื่อแน่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใน WTO อย่างแน่นอน

สังคมโลกเพื่อการบริโภค ต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ในเรื่องการค้าในสังคมโลกนั้นเหมือนเค้กก้อนโต ที่ประเทศสมาชิกต่างก็ต้องการแย่งชิงกัน ซึ่งก็สามารถแบ่งกันกินได้ทุกคนแต่บางคนอาจได้ชิ้นโต บางคนได้ชิ้นเล็ก คงไม่มีใครได้ทั้งหมดแม้จะตัวใหญ่เพียงใดก็ตาม

ตราบใดที่ไทยยังเป็นหนึ่งในสังคมบริโภคของโลก ไทยก็ยังมีสิทธิในเค้กก้อนนั้นอยู่เสมอ ส่วนจะได้เค้กชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาประเทศของเราเป็นสำคัญ ผมเห็นว่า ผลประโยชน์ใน WTO ของไทยนั้น หากจะมีปัญหาหรืออุปสรรคที่จะทำให้หมดไปหรือลดลงไป ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความขัดแย้งภายในของไทยเอง โดยไม่ต้องไปกล่าวโทษ WTO ความไม่พร้อมในการเปิดเสรีของไทย ที่เป็นข้ออ้างของภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในวันนี้ (รวมทั้งเมื่อวานนี้) ไม่ควรจะปล่อยให้เป็นข้ออ้างอยู่ตลอดไป ไทยควรจะต้องรีบสร้างความพร้อมในเรื่องการค้าโลกให้ได้ มิฉะนั้นเค้กที่เคยได้กิน อาจจะถูกคนอื่นแย่งไปต่อหน้าต่อตา

ด้านลบ
หลังจากที่กล่าวถึงข้อดีของ WTO ซึ่งผมพยายามอย่างยิ่งที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง ในด้านลบ WTO ถูกกล่าวหาและมองในแง่ร้าย ซึ่งผมก็ถือว่านี้ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งก็ได้รวบรวมมาจากข้อเขียนต่างๆ เท่าที่จะหาได้มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลทั้งสองด้านอย่างเท่าเทียมกัน ประเด็นที่ถูกโจมตีและถือเป็นเหตุผลที่จะล้มล้างมีหลายข้อแต่จะขอกล่าวถึงประมาณ 10 ข้อดังนี้

1. เป็นองค์การที่ต้องการครอบโลก ทำลายระบอบประชาธิปไตย
2. กล่าวหาว่ามุ่งเปิดเสรีเต็มรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมและความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา
3. เป็นองค์การที่ไม่โปร่งใสเลย ไม่ว่าจะในเรื่องวัตถุประสงค์ หลักการ ระเบียบและการปฏิบัติที่ผ่านมา
4. เป็นองค์การที่คิดถึงแต่เรื่องการค้าและกำไรจนลืมเรื่องสิทธิมนุษยชน
5. เป็นองค์การที่ทำลายอธิปไตยและบทบาทของรัฐ เพื่อเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติสามารถหาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
6. มีกฎระเบียบที่ไม่ยุติธรรม เอาเปรียบประเทศเล็กและเป็นการยากที่จะแก้ไข
7. เป็นองค์การที่เลือกปฏิบัติ ระบบฉันทามติที่เป็นกฎเกณท์ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ถูกมองว่าในความเป็นจริงไม่โปร่งใส เพราะมีการเลือกจำกัดเพียงบางประเทศในการตัดสินใจ (greenroom) รวมทั้งเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วเลือกปฏิบัติในการใช้กฎระเบียบหรือหลักการที่เห็นว่าตนได้รับประโยชน์เท่านั้น
8. เป็นองค์การที่ทำลายชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น
9. เป็นองค์การที่ทำลายความหลากหลายของสังคมต่างๆ ในโลกโดยกำหนดมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกที่ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างที่มีและเป็นอยู่

10. ด้านลบข้อหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาโจมตีคือการที่องค์การการค้าโลกมีคนไทยเป็นผู้อำนวยการซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นได้แค่ตรายาง ผมเห็นว่าเราคงต้องให้ความเป็นธรรมกับคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ด้วย องค์การการค้าโลกเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่และสำคัญของโลกมีประเทศสมาชิกถึง 146 ประเทศและในอนาคตก็คงจะมีเท่ากับองค์การสหประชาชาติ การเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์การระดับโลกเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นก็ได้และไม่ใช่ว่าเป็นแล้วจะทำได้ดีทุกคน ผมอยากจะให้เรามองอย่างเป็นกลางว่า การที่คนไทยได้ดำรงตำแหน่งนี้ถือว่ามีเกียรติและเป็นชื่อเสียงของคนไทยทั้งชาติ ทำให้ผมนึกถึงการที่อูถั่นของพม่าได้เป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติอยู่หลายสมัย ซึ่งทำให้คนเอเชียต่างภูมิใจตลอดมา ผมคงไม่อยู่ในฐานะและไม่กล้าที่จะเปรียบเทียบในตัวบุคคลดังกล่าวกับคุณศุภชัยฯ แต่บุคคลทั้งสองนี้ก็เป็นคนเอเชียมิใช่หรือ สมควรที่เราจะให้เกียรติในระดับหนึ่ง

กลับมาถึงประเด็นที่ถูกโจมตี ซึ่งผมจะไม่ลงในรายละเอียดเพราะต่างทราบกันดีแล้ว ผู้ที่ต่อต้านองค์การการค้าโลกส่วนใหญ่ นอกจากจะเรียกร้องแล้วก็เสนอแนะให้มีการแก้ไขด้วย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงถึงความห่วงใยและหวังดีอยากมีส่วนร่วมด้วย ผมกลับเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรรับฟังเพราะประเทศชาติของใครใครก็รัก หากคิดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะกระทบต่อส่วนรวมก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยกันคิดหาทางแก้ไขกัน ทางออกที่กลุ่มผู้ต่อต้านองค์การการค้าโลกเสนอซึ่งผมได้รวบรวมไว้บางส่วนมี ดังนี้

- ควรมีการส่งเสริมการเผยแพร่เรื่ององค์การการค้าโลกให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่านี้เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน (ซึ่งผมเห็นด้วยและทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาดำเนินการอยู่แล้ว)

- ควรให้มีการแจ้งจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลให้ทราบทั่วกัน รวมทั้งต้องมีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน (ในจุดนี้ผมทราบว่ามีการประชาสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากเรื่ององค์การการค้าโลกเป็นเรื่องที่เข้าใจยากจึงอาจทำให้ไม่สามารถสื่อให้สาธารณชนเข้าใจได้ทั้งหมด)

- ควรให้ประชาชนทราบสถานะของการเจรจาและความคืบหน้าในองค์การการค้าโลกที่เกี่ยวข้องด้วย (ผมพบว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ผู้สนใจเปิดดูได้จากเว็บของกรมเจรจาฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง)

- ควรสร้างเครือข่ายความรู้เรื่ององค์การการค้าโลกทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้มีการประสานกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีความเข้าใจกันมากขึ้นและเป็นไปในแนวเดียวกัน (ในประเด็นนี้ก็เช่นกัน ผมทราบว่ามีการจัดตั้งองค์การร่วมรัฐเอกชนตลอดจนตั้งศูนย์ศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้ว หากได้มีการประสานกันอย่างใกล้ชิดก็น่าจะเกิดประโยชน์มากขึ้นกว่านี้)

- ต้องปกป้องสาธารณสมบัติของชาติ โดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งในเรื่องสาธารณสุขและการเข้าถึงยาในราคาถูกของประชาชนที่ยากจน (ในเรื่องนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการเจรจาในองค์การการค้าโลก ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ไทยและประเทศกำลังพัฒนาร่วมกันผลักดันเพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ประเทศกำลังพัฒนาอยู่แล้ว ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป)

- ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะในภาคบริการซึ่งไทยมีจุดแข็ง (ในประเด็นนี้ประเทศไทยยังมิได้ผูกพันเปิดเสรีภาคบริการทั้งหมดทุกสาขา และในสาขาที่ผูกพันก็มิได้เปิดตลาดมากไปกว่าที่กฎหมายไทยได้กำหนดเอาไว้ก่อนแล้ว)

เปรียบเสมือนว่าหากเรามีบ้านหลังหนึ่ง วันหนึ่งมีระเบียบในหมู่บ้านให้เปิดให้ต้อนรับผู้มาเยือน เราก็เปิดให้ผู้มาเยือน ได้แต่เนื่องจากเรามีรั้วบ้านที่สร้างเอาไว้ก่อนแล้ว จึงปรากฏว่าผู้มาเยือนมาได้อย่างมากก็ยืนรออยู่ริมถนนอีกฟากหนึ่งนอกรั้ว ซึ่งเราบอกว่าขอกำหนดให้เส้นริมถนนอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นเขตที่ผู้มาเยือนจะเข้ามาได้ ก็แค่นั้น ดังนั้นในความเป็นจริงสิ่งที่หลายคนเกรงว่าไทยจะเสียเปรียบจึงยังไม่เกิดขึ้นเลย

- เสนอให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ซึ่งผู้ต่อต้านที่เสนอแนะทางนี้ก็ยอมรับว่า เป็นไปได้ยากที่ไทยจะถอนเพราะจะทำให้เสียประโยชน์มากกว่าได้)

- เสนอให้ต่อต้านและพยายามลดอำนาจและขัดขวางให้ทำงานขององค์การการค้าโลกให้ยากขึ้น ( นักวิชาการและเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งเห็นว่า เมื่อไม่มีทางอื่นก็ควรจะเลือกทางนี้ในการต่อต้าน ผมเห็นว่าหากจะมี ก็คงเป็นการกระทำในระดับระหว่างประเทศเสียมากกว่า สำหรับไทยนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียประโยชน์หรือเสียเปรียบหรือเสียรู้ในองค์การการค้าโลกเสมอไปเนื่องจากไทยอยู่ในกลุ่มกลางๆ)

ข้อเสนอดังกล่าวเหล่านี้ของกลุ่มต่อต้านมองอีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์และอาจนำมาคำนึงในการกำหนดนโยบายของไทยต่อ WTO ด้วย

ทางออกที่ไม่เลือกไม่ได้...ที่ดีที่สุด
ที่ผมเล่ามาทั้งหมดตั้งแต่ต้นนี้เพื่อจะบอกว่า การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของไทยซึ่งเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วและเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น เป็นทางเลือกที่ต้องเลือกและเลือกแล้วของไทย ผมถือว่าเป็นทางออกที่ควรจะต้องเข้าใจว่าไม่เลือกไม่ได้ และเมื่อเลือกที่จะเป็นสมาชิกแล้ว ยังไม่สามารถจะถอนตัวออกได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งกลุ่มที่ต่อต้านก็เห็นด้วย

นอกจากนั้นยังหากคิดจะถอนตัวออก ก็ดูจะสวนทางกับประเทศอีกกว่า 30 ประเทศทั้งใหญ่และเล็กที่พยายามจะขอเข้าเป็นสมาชิกโดยรอคิวกันอย่างอดทน ถ้าจะยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเราที่กำลังจะได้เข้าเป็นสมาชิกก็คือกัมพูชา ซึ่งก็คงจะได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในไม่ช้านี้ รวมทั้งเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในเมื่อยังไม่สามารถออกจาก "สมาคมคนรวย" นี้ได้ ความสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่า ไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้งประเทศหนึ่ง จะทำอย่างไรให้อยู่ในสมาคมนี้แล้วได้ประโยชน์มากที่สุด และเสียประโยชน์น้อยที่สุด

ณ ตรงนี้ ณ เวลานี้ บทบาทของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องประสานกัน สามัคคีกัน ให้ความรู้กันและกัน ผมเชื่อว่าไทยคงไม่สามารถถอนตัวออกจากองค์การการค้าโลกในระยะอันใกล้นี้ และแม้ถอนได้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อองค์การการค้าโลกมากนักหรือไม่กระทบเลย แต่คนที่จะถูกกระทบก็คือไทยเราเอง

เมื่อเข้าใจตรงกันว่าไทยต้องอยู่ในองค์การการค้าโลก ทางเลือกจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เราได้ประโยชน์มากที่สุด

อย่าลืมว่าไทยเองนั้นมีบทบาทที่จะต้องหาผลประโยชน์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และไม่ใช่หาประโยชน์อย่างเดียว แต่ปกป้องรักษาผลประโยชน์ที่พึงจะได้นั้นๆ มิให้ลดน้อยหรือหายไปด้วย

ปัจจุบันนี้ หน่วยราชการที่มีหน้าที่ดูแลและประสานเรื่ององค์การการค้าโลกได้แก่กระทรวงพาณิชย์ โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรับผิดชอบในเรื่องการประสานนโยบายในประเทศและคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์เป็นหน่วยงานด่านหน้าในการเจรจาในองค์การการค้าโลก

ผมพูดได้เต็มปากว่า เจ้าหน้าที่คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกที่มีเพียง 10 กว่าคนที่ต้องทำหน้าที่ดูแลการเจรจากับประเทศสมาชิกถึง 145 ประเทศ ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และสุดความสามารถ ผู้แทนถาวรไทยฯเข้าประชุมในทุกเรื่องและทุกคณะกรรมการที่มีอยู่ สิ่งสำคัญที่ผมเห็นว่าทุกคนได้ทำอยู่ตลอดเวลาก็คือพยายามเจรจาเพื่อให้ไทยเสียประโยชน์น้อยที่สุดหรือไม่เสียเลย ซึ่งผมถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องและ....ดีที่สุด

ส่งท้าย
ผมหวังว่าข้อเขียนนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่กระแสทั้งสอง ในเรื่อง WTO กำลังเผชิญหน้ากัน และจะดุเดือดขึ้นทุกครั้ง ในช่วงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีในทุก 2 ปี

ประเทศไทยคงต้องคิดที่จะเป็นมหาอำนาจ...อาจจะ...ในภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเทศไทยไม่ควรทำเช่นประเทศมหาอำนาจในเรื่องการค้า นั่นคือส่งเสริมการค้าที่เสรีอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับคำว่า "ยุติธรรม" การค้าเสรีจะต้องเน้นคำ "ยุติธรรม" ก่อนคำว่า "เสรี" มิฉะนั้นก็อย่ามีเสียดีกว่า ทางเลือกที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญเลยก็คือ ทางสายกลาง ระหว่างพัฒนากับด้อยพัฒนา ก็คือ พัฒนาอย่างพอดีๆ สมเหตุสมผลของแต่ละประเทศ สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม ประเพณีและวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ ทำไมไทยไม่ใช้แนวทางนี้.....ทำไมถึงอยากเป็นประเทศที่ร่ำรวย ขายสินค้าได้มากที่สุดในโลก โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ สถานะ และจิตใจของประชาชนในชาติ ที่อาจไม่ได้ประโยชน์ กับรายได้ที่เป็นเงินตรานั้นเท่าใดนัก

ทางออกที่ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่เพียงแค่การรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยใน WTO อย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่ที่การสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในประเทศเป็นสำคัญ...

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

 

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "ไทยกับ WTO กับทางออกที่ดีที่สุด" เขียนโดย พอล เลอมัง(สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จากเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์) - เผยแพร่ครั้งแรก 16 กรกฎาคม 2546

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 288 หัวเรื่อง ""ไทยกับ WTO กับทางออกที่ดีที่สุด" เขียนโดย พอล เลอมัง(สมาชิกทางไกล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จากเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์)

หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

 

160746
release date
R
relate topic
The Midnight University
ไทยไม่ควรทำเช่นประเทศมหาอำนาจในเรื่องการค้า นั่นคือส่งเสริมการค้าที่เสรีอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับคำว่า "ยุติธรรม"
สิ่งที่เห็นได้ชัดและถือเป็นพัฒนาการที่ดีก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มรู้จักเรียกร้องในสิ่งที่คิดว่าเสียเปรียบ และต้องการให้มีการแก้ไข นอกจากนั้น จากเหตุการณ์ที่ซีแอตเติ้ล และวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าการเจรจาเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ไขความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นได้ และบัดนี้ท่าที จุดยืนในเรื่องต่างๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว ก็ถูกประเทศกำลังพัฒนารู้เท่าทันมากขึ้นจนเกือบหมดแล้ว ในช่วงหลังนี้ ที่เรียกว่าการเจรจารอบโดฮาใน WTO ถึงได้ขยายขอบเขตครอบคลุมเรื่องต่างๆ มากมาย มีความสลับซับซ้อนและยากมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตหากประเทศกำลังพัฒนาสามารถรวมตัวกันได้จริงๆ และใช้ประโยชน์จากกฎกติกาที่จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นธรรมขึ้น ก็เชื่อแน่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ใน WTO อย่างแน่นอน
บทความวิชาการของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

ต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ในเรื่องการค้าในสังคมโลกนั้นเหมือนเค้กก้อนโต ที่ประเทศสมาชิกต่างก็ต้องการแย่งชิงกัน ซึ่งก็สามารถแบ่งกันกินได้ทุกคนแต่บางคนอาจได้ชิ้นโต บางคนได้ชิ้นเล็ก คงไม่มีใครได้ทั้งหมดแม้จะตัวใหญ่เพียงใดก็ตาม

ตราบใดที่ไทยยังเป็นหนึ่งในสังคมบริโภคของโลก ไทยก็ยังมีสิทธิในเค้กก้อนนั้นอยู่เสมอ ส่วนจะได้เค้กชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการพัฒนาประเทศของเราเป็นสำคัญ (ข้อความตัดมาบางส่วนจากบทความ)

An Article from the Midnightuniv's member