นีโอคอนส์
การเมืองอเมริกันหลังสมัยใหม่
ดร. เกษียร เตชะพีระ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำชี้แจง : บทความขนาดยาวนี้ ได้รับมาจากอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ซึ่งเป็นการรวบรวมมาจากงานเขียนเกี่ยวกับนีโอคอนส์ 4 เรื่อง คือ 1."นีโอคอนส์: นักปฏิวัติโลกแห่งลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่" 2."นีโอคอนส์: เครือข่ายอำนาจนำอนุรักษ์นิยมใหม่" 3."นีโอคอนส์: กระบอกเสียง ถุงเงิน คลังสมอง แนวร่วม" 4."นีโอคอนส์: วิถีของซ้ายกลับใจ" (บทความเหล่านี้เคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน)
เนื่องจากกองบรรณาธิการเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า บทความขนาดยาวชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อวงการรัฐศาสตร์ไทยในการเข้าใจปัญหาโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว จึงนำมาเผยแพร่เป็นบทความวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบหัวข้อการเสวนาเรื่อง "โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว" (บทความลำดับที่ 276 บนเว็ปไซค์แห่งนี้)
1.
"นีโอคอนส์: นักปฏิวัติโลกแห่งลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่"
ความเปรียบแรก ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก, ๑๒ เมษายน ศกนี้
โดยไม่มีใครในห้องแถลงข่าวทันคาดคิด ไม่ว่าประธานาธิบดี จ๊าก ชีรัค แห่งฝรั่งเศสหรือนายกรัฐมนตรี
เกอฮาร์ด สโครเดอร์ แห่งเยอรมนีผู้ร่วมเป็นแกนนำคัดค้านสงครามรุกรานอิรักของอเมริกามาด้วยกัน,
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียชี้นิ้วไปยังตากล้องผู้ใส่เสื้อยืดติดรูปเช
กูวาร่า พลางกล่าวว่า: -
"เชเป็นตัวอย่างอันดีของการปฏิวัติสังคมนิยมส่งออกซึ่งเคราะห์ดีที่มันล้มเหลว มาคราวนี้ประธานาธิบดีบุชก็กำลังพยายามจะส่งออกการปฏิวัติทุนนิยมมั่ง แต่เขาก็อาจล้มเหลวเหมือนกันนั่นแหละ"
ความเปรียบสอง ณ กรุงวอชิงตัน
ดีซี, ก่อนอเมริกาบุกอิรักไม่นาน
แดเนียล คอน-เบนดิต อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายเยอรมันเชื้อสายยิวผู้นำการลุกขึ้นสู้ต่อต้านรัฐบาลของนักศึกษาฝรั่งเศสในกรุงปารีสเมื่อปี
ค.ศ. ๑๙๖๘ และปัจจุบันเป็นผู้นำพรรคกรีนในสภายุโรป เปิดฉากวิวาทะระหว่างยุโรป
VS อเมริกา จัดโดยมูลนิธิไฮน์ริช บอลล์ ด้วยการตอกหน้าริชาร์ด เพิร์ล อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมอเมริกันอย่างแหลมคมแหวกแนวว่า:
-
"มาพักหลังนี้รัฐบาลของคุณชักทำตัวเหมือนพวกบอลเชวิคในการปฏิวัติรัสเซีย คุณต้องการจะเปลี่ยนโลกทั้งโลก! คุณอ้างเหมือนพวกบอลเชวิคว่าประวัติศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่าสัจธรรมอยู่ข้างคุณ คุณต้องการให้โลกเอาอย่างความฝันอเมริกัน และคุณเชื่อว่าตัวเองรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับอิรัก, ซีเรีย, ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีเหนือ, อัฟริกา, ไลบีเรีย, เยเมนและประเทศอื่น ๆ ทั้งหมด คุณก็เหมือนพวกนักปฏิวัติทั้งหลายนั่นแหละที่มีความคิดดี ๆ แต่ปัญหาอยู่ตรงวิธีการที่คุณอยากใช้ไปบรรลุความคิดนั้นต่างหาก จู่ ๆ คุณก็อยากจะเอาประชาธิปไตยไปโปรดชาวโลกโดยเริ่มจากอิรัก.....เพราะคุณเป็นอเมริกัน คุณมีกองทัพใหญ่โตที่สุดในโลก - คุณนึกอยากทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น ไอ้นี่มันความหลงตัวแบบนักปฏิวัติชัด ๆ"
ถ้าคิดตามความเปรียบของประธานาธิบดีรัสเซียและสมาชิกสภายุโรปข้างต้น ทำเนียบขาวก็คงจะเป็นสำนักงานใหญ่ของสากลที่ ๕ (The Fifth International or Capitalist International or Capintern) ทำหน้าที่ส่งออกการปฏิวัติทุนนิยมประชาธิปไตยแบบอเมริกันไปทั่วโลกด้วยแสนยานุภาพแห่งกองทัพเขียวและเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ - ตามแนวทางโลกาภิวัตน์หรืออเมริกันภิวัตน์ทางการเมือง (political globalization or Americanization) อันมีสงครามรุกรานยึดครองอัฟกานิสถานและอิรักเป็นขั้นตอนเริ่มแรก
นั่นเป็นความเหมือน แต่ความต่างอยู่ตรงอุดมการณ์ชี้นำการปฏิวัติโลกของสากลที่ ๕ ไม่ใช่ลัทธิคอมมิวนิสต์, หากคือลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neoconservatism) ปัญญาชนสาธารณะสังกัดลัทธินี้นี่แหละ ที่แวดล้อมรับใช้ประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ช่วยวางฐานคิดปรัชญาและชี้นำยุทธศาสตร์การเมืองโลกของรัฐบาลอเมริกันชุดนี้ ดังที่บุชกล่าวยกย่องชื่นชมด้วยความปลาบปลื้ม ณ AMERICAN ENTERPRISE INSTITUTE สถาบันคลังสมองอนุรักษ์นิยมใหม่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่มี ริชาร์ด เพิร์ล เป็นนักวิชาการประจำสถาบันและนาง ลินน์ เชนีย์ ภรรยาของรองประธานาธิบดีดิค เชนีย์ เป็นกรรมการอำนวยการคนหนึ่ง เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ศกนี้ว่า: -
"พวกคุณ ณ สถาบันแห่งนี้จัดอยู่ในบรรดามันสมองที่ดีที่สุดของชาติเรา สถาบันของคุณทำงานดีเสียจนกระทั่งรัฐบาลของผมต้องขอยืมมันสมองของสถาบันนี้ไปใช้งานถึง ๒๐ คน"
พวกนีโอคอนส์คือใคร? มีประวัติความเป็นมาอย่างไร? ใครเป็นปรมาจารย์ทางความคิดของพวกเขา? บรรดาปัญญาชนสาธารณะหัวอนุรักษ์นิยมใหม่ผู้กำลังครองอำนาจนำในสังคมและรัฐบาลอเมริกัน อีกทั้งชี้นำการปฏิวัติโลกของอเมริกาเหล่านี้ ยึดถือฐานคิดปรัชญาและแนวทางยุทธศาสตร์อันใด? ปรัชญาและยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีกำเนิดทางภูมิปัญญาจากแหล่งไหน? ฯลฯ เหล่านี้คือข้อมูลภูมิหลังที่จะช่วยปูพื้นความเข้าใจโครงการปฏิวัติโลกเพื่อครองโลกของจักรวรรดิอเมริกันในด้านความคิดการเมืองและอุดมการณ์
นีโอคอนส์กับพาเลโอคอนส์:
ขวาใหม่ที่ไม่เหมือนขวาเก่า
พวกอนุรักษ์นิยมอเมริกันขนานแท้และดั้งเดิมหรือขวาเก่าไม่ชอบขี้หน้าพวกอนุรักษ์นิยมใหม่หรือนีโอคอนส์
เพราะฝ่ายหลังดันเปลี่ยนแปลงแล้วก็ฉวยคว้ายึดครองนิยาม "ความเป็นฝ่ายขวา" ในการเมืองอเมริกันไปจากตน
พวกเขาจึงตั้งสมญาตนเองเป็น "อนุรักษ์นิยมเก่า" หรือ "พาเลโอคอนส์" (paleoconservatives)
เสียเพื่อขีดเส้นแยกก๊กจากพวกนีโอคอนส์
พวกพาเลโอคอนส์สำแดงพลังทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๖ โดยระดมพลห้อมล้อมเชิดเชียร์นาย แพ็ต บูชานัน ให้ลงสมัครแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในนามกลุ่มตน ปรากฏว่านายบูชานันปราชัยแก่นายบ็อบ โดล ในการซาวเสียงสรรหาผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบแรกในพรรครีพับลิกันไป แต่กระนั้นเขาก็ได้คะแนนถึง ๒๑% ของผู้ร่วมซาวเสียงทั้งหมด
นีโอคอนส์ต่างจากพาเลโอคอนส์ตรงไหน? พอจะประมวลความแตกต่างทางแนวคิดเบื้องต้นเป็นตารางได้ดังนี้: -
พาเลโอคอนส์หรือขวาเก่าอเมริกัน
๑) มีฐานอยู่ในหมู่ผู้ยึดถือหลักศาสนาคริสต์มูลฐาน (Christian fundamentalism) ที่ฝังหัวกับธรรมเนียมประเพณีและปฏิเสธวิวัฒนาการทุกชนิด โดย เฉพาะกระแสดังกล่าวในศาสนิกนิกายโปรเตสแตนท์ซึ่งเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งจากมลรัฐทางใต้ของอเมริกาที่เรียกว่าแถบ "เข็มขัดคัมภีร์ไบเบิ้ล", มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมทางสังคม, ต่อต้านการทำแท้ง, เรียกร้องให้สวดมนต์ในโรงเรียน, พวกนี้เป็นกลุ่มพลังหนึ่งที่กำลังทวีอิทธิพลขึ้นในพรรครีพับลิกัน๒) มีทรรศนะการเมืองทั่วไปตามแบบฉบับอนุรักษ์นิยมคลาสสิค กล่าวคือมองสันดานมนุษย์เลวร้าย, ฉะนั้นจึงต้องรักษาสืบทอดระเบียบสังคมดังที่เป็นอยู่ซึ่งตั้งบนฐานขนบธรรมเนียมประเพณีและระบบศักดินาอาวุโสอันเก่าแก่ดีงามไว้สืบไป
๓) ปฏิเสธรัฐสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลของพรรคเดโมแครต (สมัยประธานาธิบดีเคนเนดี้และจอห์นสัน) และพรรค รีพับลิกัน (สมัยประธานาธิบดีนิกสัน) สร้างขึ้นเพื่อหาทางแก้ปัญหาสังคม เห็นว่ามันเป็นแนวทางของฝ่ายซ้าย, ต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทแทรกแซงสังคมน้อยที่สุด (minimal government) และให้ชุมชนศาสนาดั้งเดิมมีบทบาทแทน
๔) เดินนโยบายต่างประเทศแบบลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยว (isolationism) เน้นสนใจทุ่มเทแก้ไขปัญหาการเมืองภายในมากกว่าการเมืองต่างประเทศ
๕) เห็นว่าการปลุกและปราบผีคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวอเมริกันแบบเหวี่ยงแหภายใต้การนำของวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธีในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เพื่อรับมือการบ่อนทำลายภายในประเทศเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมและจำเป็น
นีโอคอนส์หรือขวาใหม่อเมริกัน
๑) ส่วนใหญ่มาจากแถบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา มีบ้างที่มาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียทางชายฝั่งตะวันตก บรรดาเจ้าลัทธินีโอคอนส์เป็นปัญญาชน และมักเป็นอดีตฝ่ายซ้ายเชื้อสายยิวจากนิวยอร์คด้วย บางคนในกลุ่มนี้ประกาศตัวเป็นชาวพรรคเดโมแครตเสมอ, ชอบพกพานิตยสารการเมืองหรือวรรณกรรมติดตัวแทนพระคัมภีร์ไบเบิ้ล, ใส่สูทสวมเสื้อนอก, แสดงทรรศนะทางสังคมและศีลธรรมแบบเสรีนิยม
๒) ไม่ต้องการรักษาระเบียบสังคมเก่า, ปฏิเสธทรรศนะอนุรักษ์นิยมทางการเมืองเดิมเกือบหมด, ตรงกันข้าม มีแนวทรรศนะมองโลกในแง่ดีแบบอุดมคติ เชื่อมั่นคุณค่าสากลของแม่แบบประชาธิปไตยอเมริกัน, ต้อง การยุติสภาพเดิมที่เป็นอยู่ ล้มเลิกฉันทามติหน่อมแน้มดังที่มีมา, เชื่อในการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง๓) ถึงจะวิจารณ์รัฐสวัสดิการอเมริกันบางด้าน แต่ยังเชื่อว่ามันชอบธรรมและหลีกเลี่ยงไม่ได้, ในแง่นี้ จึงถูกพวกขวาเก่าวิจารณ์ว่ายังต้องการสงวนรักษาไว้ซึ่งรัฐบาลใหญ่โตมีบทบาทมาก (big government) แบบพวกฝ่ายซ้าย
๔) ทวนกระแสหลักนโยบายต่างประเทศอเมริกันที่ผ่านมา กล่าวคือคัดค้านการทูตแบบสัจนิยม (realism) ของเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๖๐, ประณามการทูตแบบผ่อนคลายความตึงเครียด (d?tente) ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ โดยเห็นว่ามัน เป็นประโยชน์ต่อสหภาพโซเวียตมากกว่าตะวันตก, ในยุคหลังสงครามเย็น พวกนีโอคอนส์เสนอให้ยึดหลักสองประการทางนโยบายต่างประเทศ คือ ปฏิเสธลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยวของขวาเก่า และต้องพร้อมใช้กำลังผลักดันการส่งออกประชาธิปไตยและอุดมคติอเมริกันอื่น ๆ ไปทั่วโลก
๕) เห็นว่าการปลุกและปราบผีคอมมิวนิสต์แบบลัทธิแม็คคาร์ธีนั้นผิดพลาด
แม้แนวคิดอุดมการณ์จะแตกต่าง ทว่าขวาเก่าพาเลโอคอนส์กับขวาใหม่นีโอคอนส์ทั้งสองกระแสกลับถูกประธานาธิบดีจอร์จ บุชผู้ลูกเกลี้ยกล่อมหว่านล้อมรวบรวมเชื่อมผสานเข้าด้วยกันได้ อันนับเป็นจุดโดดเด่นเป็นเอกของรัฐบาลขวาเก่า + ขวาใหม่ของเขา ทั้งนี้โดยพวกขวาเก่าเคร่งหลักศาสนาคริสต์มูลฐานมีนาย จอห์น แอชครอฟท์ กุมตำแหน่งอัยการสูงสุดเป็นตัวแทนในรัฐบาล ส่วนพวกขวาใหม่ก็มีนาย พอล วูลโฟวิตซ์ หนึ่งในดาวเด่นของกลุ่มตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
ด้วยการเดินแนวทางขวาสายกลางและไม่แสดงจุดยืนทางการเมืองแน่ชัดตายตัวเกินไปตลอดช่วงรณรงค์หาเสียง บุชได้ปรุงแต่งสังเคราะห์ค็อกเทลทางอุดมการณ์ที่น่าอัศจรรย์ระเบิดเถิดเทิงออกมา คือจับ วูลโฟวิตซ์ แต่งกับ แอชครอฟท์, หรือนัยหนึ่งจับนีโอคอนส์แต่งกับพาเลโอคอนส์สำเร็จ ทั้งที่สองฝ่ายแทบว่าจะอยู่กันคนละโลกในทางความคิดอุดมการณ์เลยทีเดียว
2. "นีโอคอนส์: เครือข่ายอำนาจนำอนุรักษ์นิยมใหม่"
"นีโอคอนส์มันเป็นตัวอะไรกันแน่?
ตอบ: พวกนีโอคอนส์เชื่อในการใช้กำลังอำนาจของอเมริกามาส่งเสริม อุดมคติแบบอเมริกันในต่างแดน"
(แม็กซ์ บูต คอลัมนิสต์หนุ่มดาวรุ่งนีโอคอนส์ อดีตบรรณาธิการหน้าบทนำ-ทรรศนะของ The Wall Street Journal)"สามีของฉันบอกว่าไม่มีประธานาธิบดีคนไหนจะสามารถเดินนโยบายล้ำเส้นที่ได้มีการปูพื้นวัฒนธรรมรองรับเอาไว้ ฉะนั้นในแง่นี้คุณก็อาจพูดได้ว่ามีการเตรียมการทางวัฒนธรรมรอรับสิ่งที่จอร์จ บุชต้องการ ไม่มีใครคอยเป่าหูเขาหรอก พวกที่คุณเรียกว่านีโอคอนส์ได้ช่วยเตรียมพื้นฐานทางวัฒนธรรมให้สร้างข้อถกเถียงแบบนี้ขึ้นมาได้ต่างหาก"
( นางมิดจ์ เด็คเตอร์ เจ้าแม่นีโอคอนส์ กรรมการอำนวยการสถาบันฮัดสันของฝ่ายขวา)
ใครเป็นใครในหมู่ปัญญาชนนีโอคอนส์ผู้บุกเบิกปูพื้นทางวัฒนธรรมมานานปี จนแนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่สามารถขึ้นกุมอำนาจนำทิศทางยุทธศาสตร์โลกของจักรวรรดิอเมริกันในปัจจุบันผ่านรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ บุชผู้ลูก? เครือข่ายแกนนำทางความคิด, ตัวแทนเชิงนโยบายในรัฐบาล, กลุ่มทุนหนุนหลัง, สื่อสิ่งพิมพ์-อิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันวิจัยที่เป็นกระบอกเสียงและฐานที่มั่นของนีโอคอนส์มีอะไรบ้าง? ข้อมูลเบื้องต้นจากแหล่งต่าง ๆ ที่รวบรวมได้พอประมวลภาพบางส่วนให้เห็นดังนี้: -
แกนนำความคิดของนีโอคอนส์
เออร์วิ่ง คริสทอล: ปัญญาชนนิวยอร์คอาวุโส ผู้ยังขันแข็งเอาการเอางานแม้ย่างเข้าวัย
๘๓ ปี หนึ่งในแรงผลักดันเบื้องหลัง American Enterprise Institute ซึ่งเป็นสถาบันหลักแห่งหนึ่งของพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ในกรุงวอชิงตัน
ดีซี เขาเองเป็นผู้บัญญัติศัพท์ "neoconservatism" ขึ้นมาและได้รับยกย่องเป็นเจ้าพ่อผู้ก่อตั้งลัทธินี้ร่วมกับ
นอร์แมน โพดเฮอตซ์ และภรรยา
ในบันทึกความทรงจำเชิงอัตชีวประวัติ เออร์วิ่งเล่าว่าตลอดชีวิตทางการเมืองที่ผ่านมา เขามักถูกตั้งสมญาว่า "นีโอนั่น นีโอนี่" เป็นนิจศีล เริ่มจาก "นีโอมาร์กซิสต์, นีโอทรอตสกี้อิสต์, นีโอโซเชียลิสต์, นีโอลิเบอรัล และล่าสุดคือ นีโอคอนเซอร์เวทีฟ"
สมัยปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๖๐ เออร์วิ่งเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายคนแรก ๆ ที่แตกหักกับความคิด "ก้าวหน้า" ทั้งหมด เขาเป็นศาสตราจารย์สังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค และสนใจประเด็นปัญหาการศึกษาและนโยบายทางสังคมเป็นพิเศษ ลูกชายของเออร์วิ่งชื่อ วิลเลียม คริสทอล เป็นนักหนังสือพิมพ์และหัวหน้าบรรณาธิการ The Weekly Standard ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์นีโอคอนส์ชั้นแนวหน้า, กรรมการสถาบันวิจัยแมนฮัตตัน ของฝ่ายขวา, นักวิจารณ์ประจำรายการโทรทัศน์ This Week ของเครือข่ายข่าว ABC, และอดีตหัวหน้าคณะทำงานของรองประธานาธิบดี แดน เควล
นอร์แมน โพดเฮอตซ์ กับ มิดจ์ เดคเตอร์: สองสามีภรรยาปัญญาชนนิวยอร์คอดีตฝ่ายซ้ายร่วมรุ่นกับเออร์วิ่ง คริสทอล ผู้ได้รับขนานนามเป็นเจ้าพ่อกับเจ้าแม่ของลัทธินีโอคอนส์เคียงข้างเออร์วิ่ง, ทั้งสองได้ร่วมก่อตั้งนิตยสารแกนความคิดนีโอคอนส์ชื่อ Commentary ต่อมานอร์แมนยังคบคิดวางแผนร่วมกับ วิลเลียม คริสทอล ก่อตั้งนิตยสาร The Weekly Standard ด้วย, ส่วนมิดจ์ เดคเตอร์ดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการสถาบันวิจัยฮัดสันของฝ่ายขวา, จอห์น โพดเฮอตซ์
ทายาทสืบสกุลและอุดมการณ์ของทั้งสองเป็นคอลัมนิสต์และอดีตบรรณาธิการหน้าบทนำของหนังสือพิมพ์ The New York Post
ริชาร์ด เพิร์ล: อดีตประธานคณะกรรมการนโยบายกลาโหมอันเป็นองค์กรที่ปรึกษาของกระทรวงกลาโหมอเมริกันวัย ๖๒ ปี ผู้เพิ่งถูกบีบให้ลาออกไปก่อนเกิดสงครามอิรักไม่นานเพราะปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอันอื้อฉาว เพิร์ลได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "วีรบุรุษสงครามเย็น" และ "บิดาแห่งสงครามอิรัก" เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมรับผิดชอบด้านนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๘๗ จัดได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในบรรดากุนซือหลักผู้ร่วมวางนโยบายต่อสหภาพโซเวียตในสมัยรัฐบาลชุดนั้น
เพิร์ลเริ่มก้าวสู่เส้นทางการเมืองโดยร่วมทีมงานของเฮนรี่ แจ็คสัน ผู้นำสำคัญคนหนึ่งของพรรคเดโมแครต เขาใกล้ชิดกับพรรคลิคูด ซึ่งเป็นพวกขวาจัดในอิสราเอล ด้านรสนิยมส่วนตัว เขาปลื้มอะไรต่อมิอะไรของฝรั่งเศสถึงขั้นมีบ้านส่วนตัวและมักไปเที่ยวพักผ่อนวันหยุดที่นั่น เพิร์ลเป็นที่เชื่อถือรับฟังของนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รมว.กลาโหมอเมริกันคนปัจจุบัน และเป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่าการโค่น ซัดดัม ฮุสเซ็น จะช่วยเปิดช่องคลี่คลายสถานการณ์ในตะวันออกกลางให้ดีขึ้น
ลินน์ เชนีย์: ภรรยาวัย ๖๒ ปีของรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนีย์ เธอเป็นนักประวัติศาสตร์และนักเขียนความเรียง เชี่ยวชาญปัญหาการศึกษา เคยเป็นประธานมูลนิธิเอกชน The National Foundation for Humanities ซึ่งให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และศึกษาศาสตร์ นอกจากงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อเมริกันแล้ว เธอยังเคยเขียนงานแหวกแนวทีเล่นทีจริงเรื่องผลกระทบของเครื่องปรับอากาศและเครื่องถ่ายเอกสารต่อชีวิตการเมืองในวอชิงตันดีซีด้วย ปัจจุบันเธอเป็นนักวิจัยอาวุโสประจำสถาบัน American Enterprise Institute และนักวิจารณ์ข่าวฝีปากจัดจ้าน ขาประจำทางรายการวิทยุโทรทัศน์ต่าง ๆ ประเด็นหลักของงานวิจัยและบทความข้อเขียนต่าง ๆ ของลินน์ เชนีย์ทุกวันนี้คือปัญหาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และการถ่ายทอดความทรงจำในฐานะเงื่อนไขให้เกิดจิตสำนึกแห่งชาติ
เดวิด บรู๊คส์: อดีตนักเขียนสังกัดหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ก่อนจะมาร่วมรับผิดชอบนิตยสาร The Weekly Standard ของพวกนีโอคอนส์ มีงานเขียนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times และร่วมออกรายการข่าวสถานีโทรทัศน์ Public Broadcasting Service เป็นประจำ เขาอายุราว ๔๐ จบมหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นนีโอคอนส์ประเภทจำอวดขี้เล่น ชอบทำตลกล้อเลียนความหน้าไหว้หลังหลอกทางศีลธรรมของพวกฝ่ายซ้ายลูกเศรษฐีมีวัฒนธรรมทั้งหลาย ซึ่งเขาตั้งฉายาให้ว่าพวก "bobos" (ย่อมาจาก bourgeois bohemians) สรุปรวมความคือเดวิด บรู๊คส์เห็นว่าชนชั้นนำเอียงซ้ายแสร้งทำทีต่อต้านระบบสังคมไปยังงั้นเอง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เห็นทำอะไรจริงจังเพื่อเปลี่ยนมัน เพราะเนื้อแท้แล้วตนได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว
ตัวแทนเชิงนโยบายของนีโอคอนส์ในรัฐบาลบุช
ประธานาธิบดีจอร์จ บุชผู้ลูก แถลงยุทธศาสตร์โลกของจักรวรรดิอเมริกาอย่างรวมศูนย์ครั้งสำคัญเมื่อวันที่
๑๗ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๒ ที่ทำเนียบขาว ภายใต้ชื่อเรื่องว่า "The National Security
Strategy of the United States of America" จุดใหญ่ใจความของคำแถลงทางการดังกล่าวสรุปได้ว่า:
-
1. อเมริกาต้องธำรงรักษาฐานะครองโลกที่ได้มาหลังสงครามเย็นเอาไว้ กล่าวคือรัฐบาลอเมริกันต้องพร้อมรับผิดชอบเป็นตำรวจโลก กองทัพอเมริกันต้องเข้มแข็งพร้อมรบศัตรูในปัจจุบันและว่าที่ศัตรูในอนาคต และนโยบายต่างประเทศอเมริกันต้องส่งเสริมหลักการแบบอเมริกันในต่างแดนทั่วโลก
2. เพื่อการนี้ อเมริกาต้องพร้อมใช้กำลังทหารไร้เทียมทานของตนเป็นเครื่องมือทุกที่ทุกเวลาที่จำเป็น
3. โดยดำเนินสงครามตัดไฟแต่ต้นลม และเชือดไก่ให้ลิงดูต่อประเทศเป้าหมายที่ถูกมองว่าอาจเป็นภัยคุกคาม หรือแม้เพียงทำท่าว่าอาจจะเติบกล้าขึ้นมาท้าทายอำนาจครองโลกของอเมริกาได้ในอนาคต
ที่น่าสนใจยิ่งคือ ทั้งวัตถุประสงค์ เนื้อหาและการใช้ภาษาของคำแถลงของประธานาธิบดีบุช ใกล้เคียงมากจนกล่าวได้ว่ามันสืบเนื่องลอกแบบมาจากพิมพ์เขียวที่ออกมาสองปีก่อนหน้านั้นในเดือนกันยายนปี ค.ศ. ๒๐๐๐ เอกสารชิ้นดังกล่าวเป็นรายงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ในโครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกา (Project for the New American Century) อันมี วิลเลียม คริสทอล เป็นประธาน ชื่อ "Rebuilding America's Defenses: Strategy, Forces and Resources For a New Century" ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาถกเถียงจัดเตรียมร่างทั้งสิ้น ๒๗ คน ปรากฏว่าต่อมา ๖ คนในจำนวนนี้ได้ขึ้นกุมตำแหน่งสำคัญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศในรัฐบาลอเมริกันชุดปัจจุบัน ได้แก่: -
พอล วูลโฟวิตซ์: บัณฑิตมหาวิทยาลัยคอร์แนว ดุษฎีบัณฑิตรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกและคณบดีโครงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอพกินส์ ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ เขาเคยทำงานกระทรวงต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีเรแกน, แล้วย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายสมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ, เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลบุชผู้ลูก เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๑
จอห์น บอลตั้น: บัณฑิตนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล เคยทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการสูงสุดในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเรแกน ย้ายไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการองค์การระหว่างประเทศในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ เขาเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงต่างประเทศด้านควบคุมอาวุธและความมั่นคงระหว่างประเทศในรัฐบาลอเมริกันชุดปัจจุบันเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๑
อีเลียต โคเฮน: ดุษฎีบัณฑิตทางการเมืองการปกครองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและวิทยาลัยยุทธนาวี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ และเขียนหนังสือเรื่องยุทธศาสตร์การทหารออกมาหลายเล่ม เขาเคยอยู่ในทีมวางแผนนโยบายของกระทรวงกลาโหมสมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อและขณะนี้เป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายกลาโหมที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีกลาโหมนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์
ไอ. เลวิส ลิบบี้: จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเยล และปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาต่าง ๆ ในกระทรวงต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีเรแกน เคยเป็นหุ้นส่วนบริษัททนายความในกรุงวอชิงตันดีซี ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายสมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ โดยทำงานอยู่ใต้การบังคับบัญชาของริชาร์ด เชนีย์, ปัจจุบันเขาเป็นหัวหน้าคณะทำงานของรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนีย์
ดอฟ ซาไคม์: ดุษฎีบัณฑิตเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ทำงานด้านนโยบายในกระทรวงกลาโหมสมัยประธานาธิบดีเรแกน จากนั้นไปทำงานบริษัทเอกชนให้คำปรึกษาด้านกิจการป้องกันประเทศในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ เขารับเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศให้แก่ทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของจอร์จ บุชผู้ลูกในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ดอฟ ซาไคม์ ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมด้านตรวจเงินงบประมาณและหัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินของกระทรวงกลาโหมอเมริกันเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๑
สตีเฟ่น แคมโบน: ดุษฎีบัณฑิตรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ รับผิดชอบด้านนโยบายยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศในกระทรวงกลาโหมสมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสำนักงานโครงการ, วิเคราะห์และประเมินค่าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
สงครามยึดครองอิรักมีสถานะตรงไหนอย่างไร
ในภาพรวมยุทธศาสตร์โลกของอเมริกาที่วาดวางโดยปัญญาชนนีโอคอนส์?
วิลเลียม คริสทอล
ได้เฉลยไว้ในหนังสือ The War over Iraq (ตีพิมพ์เมื่อกุมภาพันธ์ ศกนี้) ที่เขาเขียนร่วมกับ
ลอว์เรนซ์ แคปแลน ว่า: -
"ภารกิจของเราเริ่มที่แบกแดด ทว่ามันไม่ได้จบลงที่นั่น...เรากำลังยืนอยู่ตรงข้อต่อไปสู่ยุคใหม่ทางประวัติศาสตร์...นี่เป็นจังหวะสำคัญขั้นชี้ขาด...เห็นได้ชัดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่กว่าอิรัก มันใหญ่กว่าอนาคตของตะวันออกกลาง และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องที่ว่าสหรัฐอเมริกาตั้งใจจะเล่นบทประเภทใดในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑"
3. "นีโอคอนส์: กระบอกเสียง
ถุงเงิน คลังสมอง แนวร่วม"
การที่ลัทธิอุดมการณ์หนึ่งจะเบียดแย่งที่ยืนกระทั่งขึ้นครองอำนาจนำทางการเมืองวัฒนธรรมในสังคมทุนนิยมตลาดเสรีได้
นอกจากมีเครือข่ายปัญญาชนและผู้วางนโยบายในรัฐบาลแล้วก็ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมต่าง
ๆ หนุนส่ง ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นกระบอกเสียง, กลุ่มทุนหนุนหลังชุบเลี้ยงอุปถัมภ์,
สถาบันคลังสมอง (think tanks) ทำงานวิจัยสร้างฐานความรู้รองรับการวางนโยบาย,
และแนวร่วมนักหนังสือพิมพ์นักวิชาการเป็นกองเชียร์ เป็นต้น
นีโอคอนส์อเมริกันก็เช่นกัน เครือข่ายปัญญาชนนักคิดนักเขียนและที่ปรึกษาผู้วางนโยบายสังกัดแนวคิดนี้ในรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ก้าวมาสู่ฐานะตำแหน่งและอิทธิพลทางการเมืองชั้นนำในปัจจุบันได้ก็โดยอาศัยถุงเงิน กระบอกเสียง คลังสมองและแนวร่วมมากมายรองรับ จากข้อมูลที่พอประมวลได้ขั้นต้น โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย นีโอคอนส์อเมริกันมีดังนี้
กระบอกเสียงนีโอคอนส์
บรรษัท News Corporation
ซึ่งมี รูเพิร์ท เมอร์ดอค เจ้าสัวสื่อระดับโลกชาวออสเตรเลียผู้แปลงสัญชาติเป็นอเมริกันดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอ
เมอร์ดอคชุบเลี้ยงอุปถัมภ์นักข่าวนักวิจารณ์และผู้บริหารสื่อ ที่สมาทานลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่หลายต่อหลายคนไว้ตามสื่อสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ในเครือบรรษัทของตัว
อาทิ โรเจอร์ อายล์ ประธานและซีอีโอของ Fox News Corporation เครือข่ายข่าวเคเบิ้ลทีวีอเมริกันที่เชียร์สงครามอิรักสุด
ๆ, บ็อบ แม็คมานัส บรรณาธิการหน้าบทนำของหนังสือพิมพ์ The New York Post, จอห์น
โพดเฮอตซ์ คอลัมนิสต์ The New York Post เป็นต้น บรรษัท News Corporation ของรูเพิร์ท
เมอร์ดอคยังเป็นเจ้าของนิตยสารนีโอคอนส์ชั้นนำ The Weekly Standard ที่มีวิลเลียม
คริสทอล เป็นหัวหน้าบรรณาธิการ ทุกสัปดาห์นิตยสาร The Weekly Standard ๓๐ ฉบับจะถูกจัดส่งไปยังสำนักงานของรองประธานาธิบดี
ริชาร์ด เชนีย์ ถึงในทำเนียบขาว
หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal มีดารานีโอคอนส์ชั้นแนวหน้าพาเหรดมาผลัดกันเขียนคอลัมน์ในหน้าบทนำ-ทรรศนะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้แทบทุกวันของสัปดาห์ คอลัมนิสต์และบรรณาธิการ The Wall Street Journal ที่เป็นพวกนีโอคอนส์หรือแนวร่วมมีอาทิ ริชาร์ด เพิร์ล, พอล จิโกต์, โรเบิร์ต บาร์ตเล่ย์, โดโรธี ราบิโนวิตซ์, แดน เฮนนินเกอร์, ตุนกู วาราดาราจัน, แม็กซ์ บูต เป็นต้น
หนังสือพิมพ์ The New York Sun ซึ่งมี เซ็ธ ลิพสกี้ เป็นประธานและบรรณาธิการ, และอีร่า สตอล เป็นรองประธานและบรรณาธิการผู้จัดการ จงใจก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นคู่แข่งและปรปักษ์ฝ่ายขวาใหม่สู้กับหนังสือพิมพ์ The New York Times ของฝ่ายเสรีนิยม นายทุนหนุนหลัง The New York Sun ได้แก่ โรเจอร์ เฮอร์ถอก, บรูซ คอฟเนอร์ และคอนราด แบล็ค ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
นิตยสาร Commentary Magazine (ค.ศ. ๑๙๔๕-ปัจจุบัน) ของ The American Jewish Committee นอร์แมน โพดเฮอตซ์ และ มิดจ์ เดคเตอร์ สองสามีภรรยาเข้าร่วมกองบรรณาธิการตั้งแต่ยุค ๑๕ ปีแรก จนโพดเฮอตซ์ได้ขึ้นกุมตำแหน่งบรรณาธิการในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ เขาค่อย ๆ เริ่มนำนิตยสารฉบับนี้ตะแคงไปทางขวาตามลำดับ นับแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๖๐ จนมันเอียงขวากระเท่เร่ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และกลายเป็นป้อมปราการทางอุดมการณ์และกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของพวกนีโอคอนส์ อันมีเขากับภรรยา และ เออร์วิ่ง คริสทอล อยู่หัวขบวนนับแต่นั้นมา ปัจจุบัน Commentary มี นีล โคโซดอย เป็นบรรณาธิการใหญ่
วารสาร First Things อันเป็นวารสารเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตสังคม กำกับดูแลโดยบาทหลวงนิกาย คาทอลิก คุณพ่อ ริชาร์ด จอห์น นูฮอส เจ้าตำรับเทววิทยาแนวอนุรักษ์นิยม (theocon) ที่โดดเด่นที่สุด
นิตยสาร National Review ของ วิลเลียม เอฟ. บัคเล่ย์ จูเนียร์ ปัญญาชนขวาเก่าชั้นนำ นิตยสารฉบับนี้เคยถูกพวกนีโอคอนส์ดูแคลนว่าเป็นซากเดนตกค้าง แต่เครดิตดีขึ้นหลังจากรับเอา เจย์ นอร์ดลิงเกอร์ จาก The Weekly Standard มาเป็นบรรณาธิการเมื่อปีก่อน โจนาห์ โกลด์เบอร์ก คอลัมนิสต์เจเนเรชั่น Y ก็เขียนประจำให้ที่นี่
บรรณาธิการ อาดัม เบลโลว์ ลูกชายหัวเอียงขวาของ Saul Bellow นักเขียนนวนิยายอเมริกันชื่อดัง อาดัมเคยเป็นบรรณาธิการใหญ่สำนักพิมพ์ The Free Press ของพวกนีโอคอนส์ซึ่งเลิกกิจการไปแล้ว ตอนนี้เขาเป็นบรรณาธิการอิสระของสำนักพิมพ์ Doubleday ล่าสุดเขาพิมพ์หนังสือวิพากษ์ซาอุดีอาระเบีย ชื่อ The Two Faces of Islam เขียนโดย Stephen Schwartz
สำนักพิมพ์ Crown Forum แนวอนุรักษ์นิยมตั้งใหม่ในเครือ Random House Inc. มีแผนจะพิมพ์หนังสือฝ่ายขวาปีละ ๑๕ เล่ม เริ่มด้วยหนังสือวิพากษ์กล่าวหาเสรีนิยมอเมริกันชื่อ Treason: Liberal Treachery from the Cold War to the War on Terrorism เขียนโดย Ann Coulter
สำนักพิมพ์ใหม่ในสังกัด Penguin เดวิด แชงค์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ Penguin ประกาศว่าสำนักพิมพ์ซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่อแห่งนี้ จะพิมพ์หนังสือแนวอนุรักษ์นิยมเป็นหลักโดยให้ Adrian Zackheim บรรณาธิการฝ่ายขวาเป็นผู้บริหาร เพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่าสำนักพิมพ์กระแสหลักชั้นนำไม่นับถือความคิดอนุรักษ์นิยมและไม่ไยดีผู้อ่านแนวนี้
ถุงเงินนีโอคอนส์
โรเจอร์ เฮอร์ถอก
รองประธานบริษัท Alliance Capital Management ผู้มีบทบาทออกทุนหนุนหลังให้ขบวนการนีโอคอนส์ยืนยงอยู่ได้เหนือใครอื่นทั้งหมด
เขาเป็นกรรมการของสถาบันคลังสมองนีโอคอนส์ชั้นนำอย่างเช่น Manhattan Institute
for Policy Research และ American Enterprise Institute นายเฮอร์ถอกยังเป็นนายทุนหลักที่หนุนหลัง
The Shalem Center สถาบันคลังสมองขวาจัดชั้นนำของอิสราเอล, เขายังร่วมทุนในกิจการหนังสือพิมพ์
The New York Sun และนิตยสาร The New Republic
บรูซ คอฟเนอร์ ประธานบรรษัท Caxton Corporation ผู้เป็นที่นับหน้าถือตาในย่านธุรกิจการเงินวอลล์ สตรีทของนิวยอร์ค เขาเป็นกรรมการ Manhattan Institute และประธาน American Enterprise Institute เขาร่วมทุนในกิจการหนังสือพิมพ์ The New York Sun และนิตยสาร The New Republic เช่นกัน
คอนราด แบล็ค ประธานและซีอีโอของ Hollinger International Inc. อดีตเจ้าสัวหนังสือพิมพ์แคนาดา เขาร่วมทุนในหนังสือพิมพ์ The New York Sun ด้วย น่าสนใจว่า ริชาร์ด เพิร์ล ปัญญาชนนีโอคอนส์ชั้นแนวหน้าและอดีตที่ปรึกษา รมว. กลาโหมอเมริกันก็เป็นกรรมการบริหารบริษัท Hollinger ด้วย
มูลนิธิจอห์น เอ็ม โอลิน องค์การการกุศลภายใต้การกำกับดูแลของเจมส์ พีแอร์สัน ได้ช่วยออกทุนอุดหนุนทั้ง American Enterprise Institute และ Manhattan Institute
คลังสมองนีโอคอนส์
American Enterprise Institute สถาบันวิจัยนีโอคอนส์ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันดีซี
มี บรูซ คอฟเนอร์ เป็นประธาน, ริชารด์ เพิร์ล เป็นนักวิชาการประจำสถาบัน และนาง
ลินน์ เชนีย์ ภรรยาของรองประธานาธิบดี ริชาร์ด เชนีย์และโรเจอร์ เฮอร์ถอก ร่วมเป็นกรรมการอำนวยการ
สถาบันแห่งนี้เคยถูกเปรียบเปรยว่าเสมือนแผนกจัดหาจัดจ้างเจ้าหน้าที่ให้รัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ
บุชผู้ลูก ดังที่ตัวประธานาธิบดีเองเคยกล่าวว่า เขาได้ยืมตัวนักวิชาการจากที่นี่ไปใช้งานในรัฐบาลของตนถึง
๒๐ คน
Manhattan Institute for Policy Research ฐานที่มั่นทางปัญญาของฝ่ายขวาในนิวยอร์ค เป็นที่ทำการวารสารนีโอคอนส์ชื่อ City Journal ของไมรอน แม็กเน็ต และที่ตั้งของสมาคม Fabiani อันเป็นแหล่งพบปะสังสันท์สนทนาของนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักเคลื่อนไหว และนักวิชาชีพรุ่นหนุ่มหัวเอียงขวาทั้งหลาย (ชื่อสมาคมตั้งล้อเลียนนาย Mark Fabiani อดีตผู้ช่วยประธานาธิบดีคลินตัน ซึ่งกล่าวหาว่าฝ่ายขวาคบคิดวางแผนกันใหญ่โตมโหฬารเพื่อโค่นนายตน)
คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันวิจัยแห่งนี้ล้วนเป็นชนชั้นนำขวาใหม่ อาทิ โรเจอร์ เฮอร์ถอก, บรูซ คอฟเนอร์, วิลเลียม คริสทอล, มาร์ก เกอร์สัน (ซีอีโอกลุ่มบริษัท Gerson Lehrman, บรรณาธิการหนังสือ The Essential Neoconservative Reader), และฟารีด ซาคาเรีย บรรณาธิการนิตยสาร Newsweek International
แนวร่วมนีโอคอนส์
โดนัลด์ คากัน ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล
ภรรยาของเขา นางวิคตอเรีย นูลันด์ เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของรองประธานาธิบดีริชาร์ด
เชนีย์ บุตรของทั้งสองชื่อ โรเบิร์ต คากัน เป็น คอลัมนิสต์ด้านกิจการระหว่างประเทศของหนังสือพิมพ์
The Washington Post และบรรณาธิการของนิตยสาร The Weekly Standard และ The New
Republic
โรเบิร์ต คากันได้ร่วมกับวิลเลียม คริสทอล เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Present Dangers: Crisis and Opportunity in America's Foreign and Defense Policy (ค.ศ. ๑๙๙๖) ซึ่งเรียกร้องให้พลิกเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศอเมริกันเสียใหม ่เนื่องจากภัยคุกคามของลัทธิก่อการร้ายต่ออเมริกาทวีความร้ายแรงขึ้น โดยเสนอแนะให้ปฏิบัติการโจมตีแบบตัดไฟแต่ต้นลม, ล่าสุด โรเบิร์ต คากันเพิ่งตีพิมพ์หนังสือของเขาจังหวะเดียวกับสงครามอิรักระเบิดชื่อ Paradise and Power: America and Europe in the New World Order เสนอว่าความแตกต่างระหว่างยุโรปกับอเมริกาปัจจุบันคือ ยุโรปมองการเมืองโลกแบบค้านท์ (นักปรัชญาการเมืองเยอรมัน หมายถึงเน้นกฎกติกา การเจรจา ความร่วมมือระหว่างประเทศ) ขณะที่อเมริกามองการเมืองโลกแบบฮ๊อบส์ (นักปรัชญาการเมืองอังกฤษ หมายถึงถือหลักอำนาจเป็นธรรมในโลกอนาธิปไตย)
นอกจากนี้ยังมี อารอน ฟรีดเบอร์ก ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยพริ้นซ์ตั้น ซึ่งกำลังจะเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของรองประธานาธิบดีริชาร์ด เชนีย์, และ เฟรด ซีเกล ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งวิทยาลัยคูเปอร์ ยูเนียน ผู้สนับสนุนนโยบายต่างประเทศแนวนีโอคอนส์
ฟารีด ซาคาเรีย บรรณาธิการมุสลิมเชื้อสายอินเดียของนิตยสารข่าว Newsweek International และอดีตบรรณาธิการผู้จัดการของวารสารวิชาการกิจการต่างประเทศอเมริกันชั้นนำ Foreign Affairs กล่าวขานกันว่า เขาอาจจะเป็นแขกคนแรกที่ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันต่อไปด้วย ฟารีดสนับสนุนสงครามบุกอิรัก เรียกร้องให้สร้างประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง และเป็นกรรมการสถาบันแมนฮัตตัน แม้เขาจะไม่เรียกตัวเองเป็นนีโอคอนส์ก็ตาม หนังสือของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาสด ๆ ร้อน ๆ ชื่อ THE FUTURE OF FREEDOM: ILLIBERAL DEMOCRACY AT HOME AND ABROAD
โธมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ข่าวต่างประเทศชื่อดังของหนังสือพิมพ์ The New York Times ผู้เขียนหนังสือปลื้มโลกาภิวัตน์ขายดีชื่อ The Lexus and the Olive Tree (ค.ศ. ๑๙๙๙) ฟรีดแมนมีแนวคิดเสรีนิยม ทว่าเขาเชียร์สงครามอิรัก ตามฐานคิดที่ปรากฏในหนังสือข้างต้นตอนหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์กับสงครามว่า
"มือที่มองไม่เห็นของตลาดจะทำงานไม่ได้หากไม่มีหมัดที่ซ่อนเร้น กิจการแม็คโดนัลด์จะไม่เจริญรุ่งเรืองหากไม่มีบริษัทแม็คดอนแนล ดักลาส ผู้ผลิตเครื่องบินรบเอฟ-๑๕ และหมัดที่ซ่อนเร้นซึ่งทำให้โลกมั่นคงปลอดภัยสำหรับเทคโนโลยีจากซิลิคอน แวลลี่นั้นเรียกว่ากองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและนาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกานั่นเอง"
4. "นีโอคอนส์: วิถีของซ้ายกลับใจ"
"ขบวนการอนุรักษ์นิยมได้ถูกจี้ชิงไปแล้วเปลี่ยนอุดมการณ์เป็นฝักใฝ่หมกมุ่นกิจการของโลก, ชอบแทรกแซงโลกและเปิดพรมแดน ซึ่งไม่ใช่ขบวนการอนุรักษ์นิยมแบบที่ผมโตมากับมันเลย"
( แพ็ต บูชานัน นักการเมืองอนุรักษ์นิยมเก่าอเมริกันชั้นนำ หนังสือพิมพ์ The New York Times, ๘ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๒)
คำบ่นว่าพวกนีโอคอนส์หรืออนุรักษ์นิยมใหม่ของนายบูชานันข้างต้นสอดรับกับข้อสังเกตของ รัสเซล จาโคบี้ ในหนังสือ The Last Intellectuals: American Culture in the Age of Academe (ค.ศ. ๑๙๘๗) ที่ว่าเอาเข้าจริงลัทธิอนุรักษ์นิยมขนานแท้และดั้งเดิมไม่เคยหยั่งรากลึกในสังคมอเมริกัน (อาจเพราะมันเป็นสังคมคนผิวขาวอพยพซึ่งไม่เคยผ่านยุคศักดินาในประวัติศาสตร์อย่างยุโรป) ดังนั้นความคิดอนุรักษ์นิยมของพวกอนุรักษ์นิยมใหม่จึงเป็นแบบเสรีนิยม, หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่เป็นอนุรักษ์นิยมเสรี (liberal conservatism) นั่นเอง
ซึ่งอันนี้คล้องจองกับคำนิยามที่ อลัน เอ็ม. วอลด์ ศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ณ แอนน์ อาเบอร์ให้ไว้ในหนังสือ The New York Intellectulas: The Rise and Decline of the Anti-Stalinist Left from the 1930s to the 1980s (ค.ศ. ๑๙๘๗) ว่า "คำว่า 'พวกอนุรักษ์นิยมใหม่' นี้โดยแก่นแท้แล้วหมายถึงพวกเสรีนิยมที่เพิ่งเปลี่ยนลัทธิความเชื่อเป็นอนุรักษ์นิยมได้ไม่นาน"
อาจกล่าวได้ว่าบรรดาดารานีโอคอนส์อย่างพอล วูลโฟวิตซ์, ริชาร์ด เพิร์ล, วิลเลียม คริสทอล, จอห์น โพดเฮอตซ์, แดเนียล ไป๊ป์ส ฯลฯ ที่กุมตำแหน่งการเมืองและที่มั่นวัฒนธรรมสำคัญในอเมริกาขณะนี้ เป็นนีโอคอนส์รุ่นลูกหรือ "เหยี่ยว(ค่อนข้าง)หนุ่ม" (relatively young hawks) ส่วนใหญ่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และไม่มีประวัติเอียงซ้าย พวกเขาจึงเดินจากทางขวาไปหานีโอคอนส์โดยตรง
ต่างจากนีโอคอนส์รุ่นพ่อหรือ "เหยี่ยวแก่(หง่อม)" (extremely old hawks) อย่างเออร์วิ่ง คริสทอล, นอร์แมน โพดเฮอตซ์, มิดจ์ เดคเตอร์, ริชาร์ด ไป๊ป์ส, แดเนียล เบล, นาธาน เกลเซอร์, ซีมอร์ มาร์ติน ลิพเส็ต ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญญาชนนิวยอร์คเชื้อสายยิวอพยพที่แตกเนื้อหนุ่มสาวตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และเคยเป็นฝ่ายซ้ายมาร์กซิสต์หรือซ้ายเสรีนิยมในสมัยนั้น พวกหลังนี้จึงออกเดินจากทางซ้ายอ้อมไปหานีโอคอนส์
เส้นทางการเปลี่ยนแปลงด้านอุดมการณ์ความคิดของนีโอคอนส์รุ่นพ่อจึงขยับไปทางขวาขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากเป็น [ฝ่ายซ้ายต่อต้านลัทธิสตาลินก่อนสงครามโลกครั้งที่สองในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๓๐] -> [ฝ่ายเสรีนิยมต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็นในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๕๐] -> [ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ระหว่างและภายหลังการเคลื่อน ไหวประท้วงของนักศึกษาซ้ายใหม่ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๖๐-ปัจจุบัน]
ปัญญาชนนีโอคอนส์ประสบยุคทองสองครั้ง ครั้งแรกในช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีเรแกนต่อประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ (ค.ศ. ๑๙๘๑-๘๙ ต่อ ๑๙๙๓) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้การยอมรับนับถือจากรัฐบาล เข้าถึงอำนาจรัฐสูงสุดส่วนกลาง ครอบงำวงการปัญญาชนสาธารณะ อำนาจวาสนาชื่อเสียงเกียรติยศลาภสักการะไหลมาเทมา สามารถขยายเครือข่ายโฆษณา รับลูกศิษย์ลูกหาสมัครพรรคพวกมากมาย บางคนได้รับเชิญเป็นแขกเกียรติยศร่วมโต๊ะทานอาหารเย็นกับประธานาธิบดีในทำเนียบขาวเป็นที่ฮือฮา, แม้ว่าพวกนีโอคอนส์จะไม่ชอบประธานาธิบดีบุชผู้พ่อนักที่หันไปวางท่าแข็งกร้าวต่ออิสราเอล และดันสั่งหยุดสงครามอ่าวเปอร์เซียก่อนที่ทัพอเมริกันจะบุกถึงแบกแดดและโค่นซัดดัมให้หมดเสี้ยนหนามไป
พวกนีโอคอนส์ดวงตกในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตันแห่งพรรคเดโมแครต (ค.ศ. ๑๙๙๓-๒๐๐๑) ซึ่งถือว่าทำให้ "การปฏิวัติเรแกน" หยุดชะงักไป ๘ ปี, แล้วก็กลับดวงพุ่งรุ่งโรจน์ครั้งที่สอง เมื่อนีโอคอนส์หลายคนเข้ารับตำแหน่งสำคัญด้านกลาโหมและการต่างประเทศในรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูก
ปัจจุบันในเงื่อนไขสถานการณ์ใหม่ที่เกื้อหนุนเป็นคุณยิ่งหลังปิดฉากสงครามเย็น และเปิดฉากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไม่รู้จบด้วยแสนยานุภาพทางทหารเกรียงไกรไร้เทียมทานของอเมริกา
อย่างไรก็ตามในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของท่าทีการเมืองและป้ายยี่ห้ออุดมการณ์, ความต่อเนื่องด้านแนวคิดกลับเห็นได้ชัดในบรรดานีโอคอนส์รุ่นพ่อ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่งานศึกษาเกี่ยวกับปัญญาชนอเมริกันหลายชิ้นเห็นตรงกัน ดังรัสเซล จาโคบี้ชี้ว่าลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่แห่งคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ เป็นเพียงการกล่าวซ้ำลัทธิอนุรักษ์นิยมแห่งคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๕๐ บ่อยครั้งโดยฝ่ายขวาหน้าเดิม, จึงนับได้ว่ามีความต่อเนื่องของลัทธิอนุรักษ์นิยมในอเมริกาตลอดยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง;
ส่วนอลัน เอ็ม. วอลด์ก็ระบุว่าความคิดการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของเออร์วิ่ง คริสทอล บิดานีโอคอนส์นั้นมีที่มาย้อนไปหลายทศวรรษ จนกล่าวได้ว่ามีความต่อเนื่องระหว่างลัทธิเสรีนิยมต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น กับลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่โดยเออร์วิ่ง คริสทอลเองเป็นสัญลักษณ์ตัวแทน ตรงที่ทั้งสองลัทธิต่างมุ่งมาดที่จะปกป้องระบบการเมืองเดียวกันเพียงแต่ด้วยยุทธวิธีที่แตกต่างกัน
อเล็กซานเดอร์ บลูม อาจารย์ประวัติศาสตร์แห่งวิทยาลัยวีตันในมลรัฐเม็สสาจูเส็ตซ์ได้ระบุประเด็นแนวคิดที่ต่อเนื่องของนีโอคอนส์รุ่นพ่อจากสมัยสงครามเย็นไว้ในงานเรื่อง Prodigal Sons: The New York Intellectuals and Their World (ค.ศ. ๑๙๘๖) ว่าได้แก่: -
-คัดค้านสิทธิพิเศษแก่ชนกลุ่มน้อย เช่น ระบบโควต้าที่กันที่เรียนและตำแหน่งงานจำนวนหนึ่งไว้ให้ชนกลุ่มน้อยด้อยโอกาส เป็นต้น
-ต่อต้านความเสมอภาค เชื่อว่าคนเรามีพรสวรรค์และความสามารถแตกต่างกัน รายได้และอำนาจจึงไม่ควรจะเท่ากัน, ฉะนั้นไม่พึงแสวงหาความเสมอภาค, การยึดมั่นถือมั่นความเสมอภาคอย่างไม่เหมาะสม จะนำไปสู่ลัทธิเฉลี่ยแบบประชานิยม และอาการริษยาชิงชังสิทธิอำนาจของบุคคลชั้นนำที่เก่งกว่าเหนือกว่า
-เกลียดม็อบ ขบวนการมวลชนแบบประชานิยมที่ต่อต้านอำนาจบุคคลชั้นนำ เนื้อแท้แล้วเป็นพลังอนุรักษ์นิยมที่ขัดขวางการปฏิรูปและอาจเอียงขวาตกขอบได้
-ถวายปัญญาแก่อำนาจ ปัญญาชนมีบทบาทสำคัญเป็นอุตสาหกรรมผลิตความรู้แก่สังคม พวกเขาพึงทำหน้าที่เป็นคลังสมองถาวรของอำนาจทางการเมือง การทหาร ราชการและเศรษฐกิจ, ควรเดินทางไปวอชิงตันดีซีเป็นประจำ เข้าหารับใช้รัฐบาล ช่วยวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ วางโครงการใหม่ต่าง ๆ ให้ ฯลฯ
-นโยบายต่างประเทศสายเหยี่ยว เน้นว่าหัวใจอยู่ที่อำนาจของอเมริกาในโลก ต้องปักใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะกอบกู้และปกป้องอำนาจอเมริกันไว้อย่างแข็งกร้าวชนิดไม่ยอมอ่อนข้อถอยหลังให้ใครแม้แต่ก้าวเดียว ถึงจะต้องเสี่ยงทำสงครามก็ตามที ขนาดที่ว่าถ้าต้องใช้การทูตเรือปืนไปปิดอ่าวเปอร์เซียเพื่อแก้วิกฤตน้ำมันอาหรับก็ต้องเอา, ปฏิเสธลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยว (isolationism) อันเป็นผลจากกลุ่มอาการหักศึกเวียดนาม (the Vietnam syndrome), วิพากษ์ วิจารณ์ปัญญาชนหัวก้าวหน้าไร้เดียงสาที่มองเจตนาศัตรูในแง่ดีและประจบเอาใจศัตรู
-การทูตสองหน้า ยอมรับมาตรฐานสองหน้า (double standard) ในการต่างประเทศ อาทิ อเมริกาควรถือสาหาความวิพากษ์วิจารณ์เอาเรื่องเล่นงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการที่ไม่เป็นมิตรกับตน แต่ควรทำเฉยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียหากรัฐบาลเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นพันธมิตร ตามหลักที่ว่าเมื่อเผชิญสถานการณ์ยุ่งยากใจที่ต้องเลือกระหว่างมารหลายตนซึ่งชั่วร้ายต่างกัน ควรเลือกมารที่ชั่วน้อยกว่า (the lesser evil)
-ปลุกชาตินิยมใหม่ แสดงความรักชาติอเมริกันที่มีประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีภาพอิสรภาพมาแต่ครั้งอดีต และฉะนั้นชาติอเมริกันจึงถูกชะตาฟ้าลิขิตให้นำพรแห่งเสรีภาพอิสรภาพไปประทานแก่ชนทุกชาติในโลกด้วย แม้จะต้องใช้กำลังอาวุธนิวเคลียร์เพื่อการนี้ก็ตาม
เออร์วิ่ง คริสทอลถึงขนาดเคยเขียนคอลัมน์ร้องเรียนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯว่า เดี๋ยวนี้ทหารอเมริกันบางนายไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติและเรียกร้องให้จัดพิธีเดินขบวนสวนสนามของกองทัพขึ้นใหม่ เพื่อให้ประชาชนพลเรือนเคารพยำเกรงทหาร
พวกนีโอคอนส์ถือว่าภาระหน้าที่ทางการเมืองวัฒนธรรมของตนคือ บำเพ็ญตนเป็นปัญญาชนของชนชั้นปกครองอเมริกัน, เหมือนอวัยวะสมองและหัวใจที่ทำหน้าที่คิดแทนรู้สึกแทนชนชั้นนี้, คอยเสกสรรปั้นแต่งหลักเหตุผลที่ฟังดูดีมีศีลธรรมและศิวิไลซ์ ให้บรรดานักการเมืองฝ่ายขวาและซีอีโอบรรษัทข้ามชาติอเมริกันได้รู้สึกมั่นอกมั่นใจ สบายใจ และภาคภูมิใจเวลาไปขูดรีดเอารัดเอาเปรียบชาวอเมริกันและชนชาติอื่น
รางวัลสมนาคุณที่นีโอคอนส์ได้คือเงินทุนสนับสนุนก้อนโตที่ไหลมาเทมาไม่ขาดสายสู่สิ่งพิมพ์ องค์การและงานวิจัยในเครือข่ายของพวกตนจากกองทุน มูลนิธิ สถาบันวิจัยและบรรษัทเอกชน, รวมทั้งตำแหน่งเงินเดือนงามในหน่วยงานต่าง ๆ ที่เบื้องหลังน่าเคลือบแคลงและรับใช้ภารกิจยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอเมริกัน เช่น วารสารเสรีนิยมแอนตี้คอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สองชื่อ Encounter ซึ่งเออร์วิ่ง คริสทอลเป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการภายใต้การอุปถัมภ์ของสภาเพื่อเสรีภาพทางวัฒนธรรม (the Congress for Cultural Freedom) ที่ถูกเปิดโปงภายหลังว่าแอบรับทุนหนุนหลังจากซีไอเอ, คณะ กรรมการเพื่อโลกเสรี (the Committee for the Free World) องค์กรโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยประธานาธิบดีเรแกน ซึ่งนางมิดจ์ เดคเตอร์ เป็นผู้อำนวยการบริหารและปัญญาชนนีโอคอนส์ยกโขยงไปร่วมสนับสนุนนั้น ก็รับทุนโดยตรงจากแหล่งเงินอนุรักษ์นิยม เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาระหน้าที่สำคัญอีกประการซึ่งปัญญาชนนีโอคอนส์ทำอย่างมีสำนึกคือสร้างปัญญาชนชั้นนำรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นทายาทสืบทอดอุดมการณ์และภารกิจ โดยทำตัวเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่คอยอุปถัมภ์ค้ำชู จัดแจงหาตำแหน่งงานและวางตัว "เด็กนีโอ" (neo-boys) ร่วมอุดมการณ์ให้เข้าไปทำตามกองบรรณาธิการวารสาร หนังสือพิมพ์ สำนักพิมพ์ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ตนมีเส้นสายอิทธิพล, เสมือนเป็นศูนย์กลางคอยประสานเชื่อมโยงเครือข่ายขวาใหม่ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมผู้นำผู้บริหารระดับสูงในแวดวงการเมือง หน่วยงานราชการ บรรษัทเอกชน ปัญญาชนสาธารณะ วิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์และมูลนิธิสถาบันการศึกษาและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน, สลับสับเปลี่ยนบุคลากรกัน, ก่อเกิดเป็นระบบคุณค่าแทรกซ้อนในวงวิชาการและวัฒนธรรมอเมริกันที่เลือกเลื่อนตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัย, แต่งตั้งบรรณาธิการนิตยสาร, ให้ทุนวิจัยและตีพิมพ์ผลงานของนักวิชาการโดยถือความภักดีทางการเมืองต่อนีโอคอนส์เป็นที่ตั้ง ยิ่งกว่าความสามารถส่วนบุคคลหรือคุณภาพผลงาน
ตัวอย่างอันดีได้แก่สถาบันกิจกรรมการศึกษา (The Institute for Educational Affairs) ที่เออร์วิ่ง คริสทอล เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงริเริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. ๑๙๗๘ ด้วยเงินทุนขั้นต้น ๔ แสนดอลล่าร์สหรัฐฯซึ่งเรี่ยไรจากมูลนิธิชั้นนำ ๔ แห่ง ไม่ช้าบริษัทอเมริกัน ๗๔ แห่งก็ลงขันสมทบทุนร่วมอุปถัมภ์สถาบันนี้ด้วย ช่วยให้เงินทุนบริจาคที่ได้มาในปี ค.ศ. ๑๙๘๐ เพิ่มเป็นกว่า ๕ แสนดอลล่าร์ฯ
งานอย่างหนึ่งของสถาบันคือออกทุนจัดพิมพ์หนังสือ "วิชาการ" แนวนีโอคอนส์หลายเล่ม รวมทั้งอุดหนุนเครือข่ายวารสารหนังสือพิมพ์แนวอนุรักษ์นิยมของนักศึกษาตามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ราว ๓๐ ฉบับ อดีตนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เคยร่วมงานเครือข่ายวารสารหนังสือพิมพ์เหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้วก็ได้เข้าทำงานให้รัฐบาลประธานาธิบดีเรแกน
เหยี่ยวหนุ่มนีโอคอนส์รุ่นลูกที่กำลังชี้นำจักรวรรดิอเมริกันในภารกิจครองโลกเป็นผลผลิตจากการชุบเลี้ยงหนุนส่งของเหยี่ยวแก่ซ้ายกลับใจเหล่านี้นี่เอง
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 294 หัวเรื่อง "นีโอคอนส์ การเมืองอเมริกันหลังสมัยใหม่"
เขียนโดย ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์
ม.เที่ยงคืน 4 สิงหาคม2546
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com