มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
การค้าระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่สาม ที่มีแต่คำว่า ผลประโยชน์ ไม่มีคำว่า เมตตา หรือแม้กระทั่งมิตร ไทยเราเป็นตัวเล่นเล็กๆตัวหนึ่ง เท่านั้นในสนามรบนี้ (พอล เลอมัง)
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / หากนักศึกษา สมาชิกประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้ (เว็ปไซค์นี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Internet Explorer)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 298 หัวเรื่อง
ข้อคิดในสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศปัจจุบัน
เขียนโดย พอล เลอมัง
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จาก ประเทศ สวิสเซอร์แลนด์
200846
release date
R
การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้จึงเป็นทางออกของสังคมไทยที่น่าสนใจที่สุด เหมาะกับยุคสมัย หากทุกครอบครัวมีความต้องการที่เหมาะสมกับสภาพของตน จะทำให้กระแสเศรษฐกิจที่ฟุ้งเฟ้อนั้น กลับมาสู่ความเป็นจริง หากทุกครอบครัวรู้จักการพึ่งตนเองในชีวิตประจำวันให้มากเท่าที่จะทำได้ ประเทศไทยจะประหยัดการรั่วไหลทางเศรษฐกิจได้มาก
ในเรื่องไวน์ของประเทศฝรั่งเศส ไวน์ฝรั่งเศสนั้นผลิตอย่างมีคุณภาพ มีการรับรองว่าทุกขั้นตอนได้รับการดูแล เอาใจใส่เป็นเสมือนภูมิปัญญาชาวบ้าน (ผู้ผลิต) ที่เป็นวัฒนธรรมตกทอดกันมานับพันปี แต่แม้จะมีอายุพันปี แต่การผลิตไวน์ก็ยังคงเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เคยปลูกไร่องุ่นเท่าใดก็ผลิตเท่านั้น บางปีผลิตได้เพียงหลักพันขวด ก็แค่นั้น.... ซึ่งก็เพราะความที่มีคุณภาพเช่นนี้เอง ไวน์ฝรั่งเศสจึงจัดเป็นสินค้าที่มีคุณค่า หายาก (มีปริมาณจำกัด) และมีราคาสูง
ผู้ผลิตสินค้าไทยจะเข้าใจหรือไม่ว่า สินค้าที่ดีไม่จำเป็นต้องผลิตให้มากมายป้อนตลาดโลก แต่ผลิตตามกำลังที่จะรักษาคุณภาพที่ดีที่เป็นเอกลักษณ์ให้คงที่เอาไว้
ท่ามกลางความเป็นไปของสถานการณ์การเมืองและการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และในขณะที่ WTO ซึ่งมีบทบาทสำคัญผลักดันนโยบายการค้าเสรีได้ถูกมองว่าเป็นองค์การของประเทศมหาอำนาจ กดขี่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อที่จะครอบครองตลาดโลกให้อยู่ในกำมือนั้น คำถามสำคัญที่ผมอยากจะขอคิดดังๆ ก็คือ คนไทยควรเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อรับมือกับกระแสการค้าเสรีที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็วทุกด้าน

9 ข้อ ที่คนไทยต้องปรับตัว
ในสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศปัจจุบัน
พอล เลอมัง - เจนีวา
(ความยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

ท่ามกลางความเป็นไปของสถานการณ์การเมืองและการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และในขณะที่ WTO ซึ่งมีบทบาทสำคัญผลักดันนโยบายการค้าเสรีได้ถูกมองว่าเป็นองค์การของประเทศมหาอำนาจ กดขี่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อที่จะครอบครองตลาดโลกให้อยู่ในกำมือนั้น คำถามสำคัญที่ผมอยากจะขอคิดดังๆ ก็คือ

คนไทยควรเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อรับมือกับกระแสการค้าเสรีที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็วทุกด้าน

ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเห็นสถานการณ์การเจรจาการค้าโลกที่สลับซับซ้อนจึงขอคิดดังๆในประเด็นดังกล่าว ขอให้ถือว่าช่วยกันคิดก็แล้วกัน ผมมี 9 ข้อที่อยากจะเสนอเป็นอาหารสมอง ดังนี้

1.จะต้องรีบศึกษาหาความรู้ให้มากๆ ในเรื่องที่สนใจ
สภาพในสังคมในปัจจุบันและในอนาคต เป็นสังคมที่ผู้มีการศึกษา ผู้มีความรู้เฉพาะด้านหรือหลายด้านเท่านั้นที่จะอยู่ได้ เราจึงต้องเร่งศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้นและตลอดเวลา ในจุดนี้ กระทรวงศึกษาธิการอาจจะต้องทบทวนระบบการศึกษาของไทยใหม่ เพื่อให้เยาวชนไทยสามารถเลือกเรียน/ศึกษาในด้านที่ตนเองสนใจและถนัด โดยเฉพาะในด้านที่เป็นศักยภาพต่อการพัฒนาประเทศ การเรียนตามหลักสูตรดั่งเดิมที่มุ่งให้สมองจำเพื่อตอบข้อสอบและให้ได้คะแนนสูงๆ เพียงอย่างเดียวนั้นล้าสมัยแล้ว

ในประเทศพัฒนาแล้วแทบจะทุกประเทศจะส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาทางสมองอย่างสมบูรณ์แบบ โดยการเรียนแบบเล่นและเรียนที่จะรู้ที่จะทำมากกว่าที่จะเรียนเพื่อจำตำราหรือจูงเด็กไปในทางเดียวกันหมด แต่จะปล่อยให้เด็กพัฒนาตามธรรมชาติ และอย่างเสรีตามความสนใจและความถนัดของแต่ละคน

ความจำเป็นในข้อนี้ก็เพราะที่ผ่านมา ระบบการศึกษาของไทย นิยมสอนเด็กให้เป็นแค่นักเรียนในห้องเรียน นักท่องจำตำรา จบออกมาจึงกลายเป็นนักวิชาการทั่วๆไป มากกว่าที่จะเป็นนักปฏิบัติหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่การค้าระหว่างประเทศที่นับวันจะเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องการนักปฏิบัติที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้วย ดังนั้นการเตรียมตัวและปรับตัวข้อแรกของคนไทย ก็คือสร้างนักปฏิบัติให้มากขึ้น เมื่อใดที่มีการเปิดเสรี คนเหล่านี้จะได้มีความสามารถที่จะแข่งขันกับต่างชาติได้ ผมมั่นใจว่าเด็กไทยมีความสามารถไม่ได้ด้อยไปกว่าเด็กชาติอื่น แต่เด็กไทยถูกจำกัดการพัฒนาของสมองมากไป จนกลายเป็นผู้เสียเปรียบในโลกเสรี

เราควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ จากการที่เคยยกย่องคนที่เรียน (ตามหลักสูตร) นานๆ ว่าเป็นปัญญาชน ควรที่จะหันไปมองนักปฏิบัติที่เรียนสายอาชีพบ้าง ประเทศไทยควรมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทุกด้านให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักวางแผน นักบริหาร นักบัญชี ช่างเครื่องยนต์ ช่างเขียน นักคิด นักประดิษฐ์ขออย่างเดียวให้เป็นมืออาชีพ คือรู้จริงและทำได้จริงๆเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ได้ เราก็ไม่ต้องไปวิตกกับการจะเปิดเสรีหรือไม่ เพราะสิ่งที่เราทำ ในทางการค้านั้นไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือการบริการ ถือว่ามีคุณค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาดโลก และแม้จะเปิดตลาดเสรี แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพดังกล่าว เราก็จะสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างแน่นอน

นอกจากนั้น รัฐก็จะต้องคำนึงถึงการส่งเสริมประชาชนให้สามารถเข้าถึงความรู้ที่หลากหลายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้แนวทางที่เหมาะสมและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารตามสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย และสิ่งที่ผมเห็นว่าสังคมไทยยังขาดมากก็คือองค์ความรู้ที่สาธารณชนจะเข้าถึงได้อย่างเสรี เช่นพิพิธภัณท์ และห้องสมุด เรามีพิพิธภัณท์น้อยมากเพราะเราหลงคิดกันว่าพิพิธภัณท์นั้นจะต้องใหญ่โตระดับชาติ มีของโบราณตั้งโชว์เยอะๆ จะเข้าไปดูกันทีก็ต้องเสียเงินแพงๆ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้เสมอไปอีกแล้ว ในสวิสเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณท์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ถ้าจำไม่ผิดมีมากหลายพันแห่ง แต่ละแห่งอาจจะเป็นเพียงบ้านธรรมดาที่เจ้าของเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ตนถนัด เปิดให้คนดูโดยไม่เสียเงินซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชน ยังไม่สายหรอกครับที่จะทำเช่นนี้บ้าง ภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยนั้นมีมากมายและจะก่อประโยชน์ต่อเยาวชนไทยได้อีกมาก

2.ต้องเรียนภาษาอังกฤษให้ดีในระดับใช้งานได้
ในประเด็นนี้มีความสำคัญมาก ในเมื่อประเทศต่างๆ จะเปิดตลาดการค้าเสรีกันทั่วโลกในไม่ช้า และอินเตอร์เน็ตก็เป็นผู้นำร่องเปิดเสรีไปแล้ว คนไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกที่ว่านี้ ดังนั้นเพื่อที่จะสื่อสารกับคนต่างชาติ ซึ่งหมายถึงผู้บริโภคและลูกค้า ผู้ประกอบการไทย รวมทั้งคนไทยทุกคน จะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้สามารถใช้การได้ดี เพื่อที่จะได้ประโยชน์จากตลาดเสรีนี้

ผลที่จะเกิดจากตลาดเสรีก็หมายความว่า ธุรกิจและลูกค้าจะวิ่งเข้ามาหาเราถึงในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่นั้น เป็นที่ทราบกันว่าไม่ชอบติดต่อค้าขายกับต่างชาตินัก แต่จะต้องปรับปรุงตัวแล้ว เพราะหากสื่อสารกันไม่รู้เรื่องก็ไม่มีการซื้อขาย ดังนั้นผมจึงอยากจะเน้นความสำคัญของภาษาสำหรับผู้ประกอบการไทย และโดยเฉพาะผู้ให้บริการทุกชนิดด้วย ทุกคนถือว่าอยู่ในข่ายหมด ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ แม่ค้าขายของ ช่างทำผม หมอนวดแผนโบราณ นางพยาบาล นักออกแบบ และนักกฎหมาย เป็นต้น ในโลกการค้าเสรี คนเหล่านี้คือผู้ประกอบการด้วย มิฉะนั้นในวันข้างหน้าเราอาจได้เห็นคนต่างชาติ เข้ามาให้บริการดังกล่าวแทนคนไทย เพราะเหตุผลที่เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ หรือไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเพียงพอ อย่ารอให้ถึงวันนั้นเลย รีบปรับตัวเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่สายเกินไป

ดูตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเราจะเห็นชัด เช่น ลาว เขมร และเวียตนาม ต่างมุ่งเรียนรู้ภาษาอังกฤษ อย่างจริงจัง ประเทศเหล่านี้เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เคยพูดภาษาฝรั่งเศสได้ แต่ในปัจจุบันก็หันมาให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากขึ้น ดังนั้นคนไทยจึงจำเป็นต้องรีบขวนขวายให้มากขึ้นมิฉะนั้นจะสู้เพื่อนบ้านมิได้

3.ต้องรู้จักคิดค้นผลิตสินค้าหรือนวัตกรรมใหม่ให้มากขึ้น
การจะอยู่ในโลกที่การค้ามีความเสรี หมายถึงความหลากหลายของสินค้าที่มีให้เลือกมากขึ้น และคำว่าสินค้าก็มิได้หมายความถึงเฉพาะแต่สินค้าที่จับต้องได้ เช่น ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหมไทย น้ำตาล ปลาทูน่ากระป๋อง ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เท่านั้น หากแต่สินค้าในปัจจุบันยังรวมถึง ภูมิปัญญา การคิดค้น หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมานานแล้ว รวมทั้งการบริการทุกชนิดด้วย

คนไทยนั้นมีสติปัญญาที่มิได้ด้อยไปกว่าชาติอื่นเลยในเรื่องของการคิดค้น แต่เราไม่ได้สนใจความเป็นไปในระดับระหว่างประเทศ รวมทั้งในเรื่องของกฎหมาย หรือสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ทำให้เราเสียโอกาสในสินค้าไปหลายชนิด อย่างเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง หากเปิดเสรีการค้า สิ่งเหล่านี้จะยิ่งมีมากขึ้น นักประดิษฐ์ นักคิดค้นตัวเล็กๆ ตัวอย่างเช่นตามสถาบันราชภัฏ โรงเรียนช่างกลในต่างจังหวัด จะกลายเป็นเป้าหมายที่จะถูกนำสิ่งที่คิดค้นขึ้นไปแปลงเป็นสินค้าในตลาดโลกได้ ถึงแม้จะฟังดูน่ากลัว แต่สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไปก็คือการคิดค้น ผลิตสินค้า หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ให้มาก เพื่อรองรับตลาดเสรีที่มีศักยภาพในการซื้อ-ขายสูงมาก ผู้ประกอบการธุรกิจในอนาคตจะหมายถึงนักคิดค้นตัวเล็กๆ และจะเป็นตัวเล่นที่มีบทบาทไม่น้อยเลยทีเดียว

สูตรในการรับมือกับโลกการค้าเสรี ก็คือ คิดค้นอะไรได้ ต้องปกป้องโดยการจดทะเบียนสิทธิบัตร จดลิขสิทธิ์ จดทะเบียนการค้า จดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เอาไว้ก่อน หากไม่แน่ใจว่าจะสามารถขายในเชิงพาณิชย์ได้ ก็อย่าเพิ่งเปิดเผยสิ่งที่คิดค้นนั้น หารายละเอียด ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อาจช่วยเหลือได้ และควรหาข้อมูลทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการและภาคเอกชนเพื่อจะได้ข้อมูลที่ดีที่สุด

4.ต้องเน้นคุณภาพให้มาก
ข้อนี้สืบเนื่องต่อมาจากข้อที่แล้ว สิ่งที่ผลิตหรือคิดค้น หรือการให้บริการต่างๆ นั้น จะต้องเน้นคุณภาพเป็นสำคัญ ผมหมายถึงคุณภาพของสินค้าที่จะต้องแข่งขันในตลาดที่กว้างขนาดระดับโลก เราต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด เหตุผลก็คือ คุณภาพคือคุณค่า และเอกลักษณ์ และก็คือราคาด้วย ที่จะทำให้สินค้านั้นประสบความสำเร็จในตลาดโลก

ประเด็นนี้สำคัญ ผมเห็นว่าคนไทยยังไม่ค่อยเข้าใจ การเน้นคุณภาพนั้นหมายความว่า อย่ามุ่งเรื่องปริมาณมากนัก ยกตัวอย่างให้เห็นชัดในเรื่องไวน์ของประเทศฝรั่งเศส ไวน์ฝรั่งเศสนั้นผลิตอย่างมีคุณภาพ มีการรับรองว่าทุกขั้นตอนได้รับการดูแล เอาใจใส่เป็นเสมือนภูมิปัญญาชาวบ้าน (ผู้ผลิต) ที่เป็นวัฒนธรรมตกทอดกันมานับพันปี แต่แม้จะมีอายุพันปี แต่การผลิตไวน์ก็ยังคงเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เคยปลูกไร่องุ่นเท่าใดก็ผลิตเท่านั้น บางปีผลิตได้เพียงหลักพันขวด ก็แค่นั้น.... ซึ่งก็เพราะความที่มีคุณภาพเช่นนี้เอง ไวน์ฝรั่งเศสจึงจัดเป็นสินค้าที่มีคุณค่า หายาก (มีปริมาณจำกัด) และมีราคาสูง

ผู้ผลิตสินค้าไทยจะเข้าใจหรือไม่ว่า สินค้าที่ดีไม่จำเป็นต้องผลิตให้มากมายป้อนตลาดโลก แต่ผลิตตามกำลังที่จะรักษาคุณภาพที่ดีที่เป็นเอกลักษณ์ให้คงที่เอาไว้ เพราะคุณภาพนี้ได้กลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น เรื่อง GI ลองยกตัวอย่างเล่นๆ ชาวนา ณ พื้นที่เฉพาะ ปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดี ปีหนึ่งผลิตได้ข้าวชั้นดีจำนวนหนึ่ง ปรากฏว่าขายได้ราคาดีในตลาดโลก เพราะขึ้นชื่อว่า ข้าวหอมมะลิที่มาจากพื้นที่ที่ดีที่สุดของประเทศ ถ้าหากมองตรงนี้ บางคนเกิดความคิดว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่ปลูกเยอะๆ ปลูกให้มากๆ ทุกภาคเลย จะได้มีปริมาณมากส่งไปขายตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะมองไปในอากาศก็จะเห็นตัวเลขเงินที่จะได้ เป็นเลขหลายหลัก จากพื้นที่เฉพาะก็จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิกันหมดทั่วประเทศ โดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพซึ่งมีรายละเอียดมากมาย คิดแต่จะผลิตข้าวหอมมะลิมากมายเพื่อที่จะขายให้ได้ปริมาณมากๆ

แนวคิดนี้ผิดถนัด... หากชาวไร่องุ่นในฝรั่งเศสคิดเช่นนี้ ก็คงพากันปลูกไร่องุ่นทั่วประเทศ และส่งออกไวน์ไปทั่วโลกมากกว่านี้สิบเท่าร้อยเท่าไปนานแล้ว แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พื้นที่ปลูกองุ่นก็ยังคงเท่าเดิม ปริมาณการผลิตยังใกล้เคียงกับที่เคยทำกันมาเป็นประเพณี การควบคุมคุณภาพก็ยังคงรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้... ไวน์ที่ออกมาจึงมีคุณภาพ หายาก และมีราคาสูง ถ้านักธุรกิจไทยเข้าใจตรงนี้ ก็จะต้องเน้นคุณภาพเป็นหลัก ไม่ต้องโลภมาก หวังว่ายิ่งขายปริมาณมากเท่าไหร่ ก็จะรวยมากขึ้นเท่านั้น

ผลิตอะไรก็ได้ ขอเพียงให้มีคุณภาพสูง และรักษาคุณภาพนั้นไม่ให้ต่ำลงเป็นใช้ได้ สินค้าไทยหลายชนิด ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดโลกเพราะไม่มีคุณภาพ

5.ต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารให้มาก
เนื่องจากต้องค้าขายกับต่างประเทศซึ่งมีการจัดการบริหารที่ดีและเป็นระบบกว่า เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้การบริหารให้มากๆ เพื่อให้ติดต่อค้าขายกันได้อย่างทัดเทียมกัน เป็นที่รู้กันว่าคนไทยนั้นค้าขายไม่เป็น ฟังดูเป็นเรื่องปรกติในอดีตที่ผ่านมา แต่ในโลกปัจจุบันนี้จะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้แล้ว ใครค้าขายไม่เป็น ไม่ประสบความสำเร็จ ความรู้ในเรื่องบริหารเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะธุรกิจในยุคนี้มีความสลับซับซ้อนมาก เกี่ยวข้องกับคน เครื่องมือเครื่องจักร กระบวนการผลิต การออกแบบ การประชาสัมพันธ์ การตลาด การจัดจำหน่าย เป็นต้น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมได้แก่ เทคโนโลยี ในยุคนั้นๆ ด้วย นักธุรกิจไทยไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จึงต้องขวนขวายเรียนรู้เรื่องการบริหารการจัดการด้วย ผมยังเคยคิดว่าหลักสูตรของกระทรวงศึกษาของนักเรียนประถมและมัธยมนั้น หากสามารถปรับปรุงได้ก็น่าจะคิดเรื่องแทรกวิชาบริหาร การจัดการและหลักการประกอบธุรกิจเบื้องต้น ให้เยาวชนได้เรียนรู้เสียตั้งแต่เด็ก จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับเยาวชนไทยทุกคนไม่ต้องรอให้จบปริญญาถึงจะไปเผชิญกับสังคมการค้าที่เสรี ถึงตอนนั้นวิชาการที่เรียนมาต่อให้ได้เกียรตินิยมก็ช่วยอะไรไม่ได้เลยหากค้าขายไม่เป็น

รัฐอีกนั่นแหละที่จะต้องส่งเสริมให้เอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้เข้าถึงการเรียนรู้เรื่องการบริการ การจัดการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียให้น้อยที่สุด

6.ต้องรู้จักการวางแผนและขยายธุรกิจไปในต่างประเทศให้มาก
โลกในยุคนี้เป็นโลกที่มีการไปมาหาสู่กันง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นคน สินค้า เงินทุน และความรู้ นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ไม่มีนิสัยที่จะออกไปติดต่อธุรกิจนอกประเทศ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นได้ชัดว่า นักธุรกิจไทยยังคงล้าหลังอยู่มาก ในขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียไปบุกตลาดต่างประเทศในทุกทวีปไม่เว้นแม้แต่แอฟริกา นักธุรกิจไทยยังคงพอใจที่จะรอให้ลูกค้าเข้ามาในประเทศไทยแทน ผมเห็นว่าต้องปรับตัวกันใหม่ รู้จักไปบุกตลาดใหม่บ้าง มีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งที่พร้อมจะสนับสนุนให้เอกชนไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ

7.ต้องเป็นชาวพุทธที่ดี
กระแสการค้าเสรีในโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงหรือลดลง สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาพยายามต่อรองก็คือ การค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าประเทศพัฒนาแล้วค้าขายเพื่อกำไรเพียงอย่างเดียวไม่นึกถึงความยากจนหรือเห็นแก่มนุษยธรรมของชาวโลก

ในประเด็นนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ นักธุรกิจไทยจะต้องใช้ความเป็นชาวพุทธที่ดีมาใส่ในธุรกิจด้วย คุณธรรมทั้งหลายเช่น ความสุจริต ซื่อตรง และเป็นธรรมจะต้องนำออกมาใช้ เพราะเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนประกอบกับการค้าขายไม่ต่างไปจากคุณภาพของสินค้า ผมเคยกล่าวถึงไวน์ของฝรั่งเศสในเรื่อง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI มาแล้ว สิ่งที่ทำให้ไวน์ฝรั่งเศสมีคุณภาพสูงก็เพราะผู้ผลิตมีการรักษาคุณภาพทุกขั้นตอน ไม่โลภมาก ซื่อตรงต่ออาชีพของตน สิ่งที่ทำให้เกิด GI ในทุกวันนี้เป็นเพราะมีผู้ใช้ชื่อเลียนแบบ มีการปลอมแปลงไวน์จนมีความจำเป็นต้องหามาตรการปกป้องสินค้าดั่งเดิมของแท้

ผมอาจจะเป็นผู้เดียวที่เห็นว่าการจะเข้าใจเรื่อง GI ที่กำลังเป็นปัญหาการเจรจาระดับโลกนี้ จะต้องเข้าใจพัฒนาการและการต่อสู้ของผู้ผลิตไวน์ฝรั่งเศสเสียก่อน ในเสี้ยวหนึ่งของเหตุผล 108 ประการที่มี ผมเห็นสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติและความจำเป็นที่จะปกป้องภูมิปัญญาดั่งเดิมของผู้ผลิตไวน์ฝรั่งเศส และผมก็เห็นอนาคตของภูมิปัญญาชาวบ้านของไทยที่จะได้ประโยชน์จากสิทธิเหล่านี้ เช่นกัน

ผมเห็นว่าการค้าขายไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม หากมีคุณธรรมเหล่านี้ ก็จะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน หากเราเป็นชาวพุทธที่ดี เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายอยู่แล้ว

8.ต้องรู้จักสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งตัวเองให้ได้
ประเด็นนี้อยากจะฝากบอกคนไทยทุกคนว่า หยุดได้แล้ว หยุดเสียเวลาไปตามกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่เป็นพิษต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม หันกลับมาสำรวจตัวเองกันเถิด ทั้งจิตใจและสภาพความเป็นอยู่ เริ่มจากการถามตัวเองว่า ในทุกวันนี้สิ่งใดจำเป็นสำหรับชีวิตบ้าง สิ่งใดไม่จำเป็นกับชีวิตบ้าง และเป้าหมายชีวิตของเราควรจะเป็นอย่างไร

ทางออกหนึ่งที่อยากจะเสนอก็คือ ทางสายกลาง ผมใช้คำ ทางสายกลาง ก็เพราะเราเป็นชาวพุทธ ทางสายกลางสำหรับเราก็คือ ความพอดีในทุกๆ เรื่อง ตามสภาพและฐานะของตน

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ได้พิจารณาเลยว่า สภาพชีวิตในทุกๆ วันนี้ ความพอดีในความต้องการของตนเป็นอย่างไร แต่ดูจะปล่อยใจไปตามกระแสสังคมทุนนิยม จนเสียความสมดุลของชีวิตไปมาก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ และชัดเจนของคน 2-3 ประเภทที่เป็นเช่นนี้ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน มุ่งมั่นที่จะตามกระแสทั้งจิตใจและร่างกายเป็นไปหมด แต่งตัวไม่สมกับวัย ประดับร่างกายไม่สมฐานะ ของใช้ (กระเป๋า นาฬิกา มือถือ) เกินความจำเป็น และอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีประโยชน์และไม่ควรอยู่ แม้จิตใจก็ไม่อยู่ในระดับที่พอดี แต่หมกมุ่นในเรื่องบันเทิง ความสนุก ความมันส์ ความตื่นเต้นเร้าใจ ความเสี่ยง มากกว่าที่จะเรียนหนังสือหาความรู้ และทำตัวตามสภาพแท้จริงของตน

ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผมเห็นว่าหากคนในสังคมหลงผิดเช่นนี้ กระแสทางเศรษฐกิจและธุรกิจก็จะมีลักษณะฟุ้งเฟ้อไปตามความต้องการของนายทุนที่พยายามจะปลุกปั่น จนถึงล้างสมองเยาวชนของชาติให้เป็นผู้ป้อนรายได้เข้ามาในวงจรการบริโภคทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พฤติกรรมของคนในสังคมหลายอย่างไม่จำเป็นต้องมีด้วยซ้ำไป หากคนไม่ดิ้นรนที่จะมี เช่น การเล่นเกมส์ออนไลน์ การจัดปาร์ตี้ยาอี ยาบ้า การไปนั่งมั่วสุมตามสถานบันเทิงของวัยรุ่น เป็นต้น

คนในสังคมไทยตามกระแสทุนนิยมถูกนำมาเล่นมากจนเกินพอดี คนที่ได้ประโยชน์คือ นายทุนที่ผลักดันกระแสสังคมสมัยใหม่ จนคนส่วนหนึ่งหลงผิดเข้ามาเป็นผู้บริโภคที่ถือว่าเป็นเหยื่อเพราะเป็นผู้ที่ต้องเอารายได้ป้อนเข้ามา โดยผู้บริโภคเหล่านี้ลืม หรือไม่สนใจฐานะเดิมของตนเลย

การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้จึงเป็นทางออกของสังคมไทยที่น่าสนใจที่สุด เหมาะกับยุคสมัย หากทุกครอบครัวมีความต้องการที่เหมาะสมกับสภาพของตน จะทำให้กระแสเศรษฐกิจที่ฟุ้งเฟ้อนั้น กลับมาสู่ความเป็นจริง หากทุกครอบครัวรู้จักการพึ่งตนเองในชีวิตประจำวันให้มากเท่าที่จะทำได้ ประเทศไทยจะประหยัดการรั่วไหลทางเศรษฐกิจได้มาก เช่น ทุกครอบครัวรู้จักการปลูกสวนครัว เลี้ยงสัตว์ รู้จักการใช้วัสดุในบ้านให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รู้จักการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการถนอมอาหาร ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่

ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้ว่า ไทยจะไม่เป็นประเทศที่ ขอ อีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่ขอ ก็ต้องพยายามยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้

9.ต้องรีบทำทันทีอย่ารอช้า
ข้อสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากคือ รีบทำทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาแล้วทันที ไม่ต้องรอ FTA หรือ WTO หรืออะไรก็ตามที่ต้องพึ่งคนอื่น 8 ข้อดังกล่าวเป็นเรื่องของเราเองที่ทำได้เลย และเป็นผลประโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ว่าผลการเจรจาใน WTO จะเป็นอย่างไร คนไทยควรปรับตัวเสียตั้งแต่ตอนนี้ ผมชื่นชมโครงการหลายโครงการของคนไทยเราที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสดีขึ้น เก่งขึ้น มีฐานะดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น ท่านผู้คิดโครงการดีๆ เหล่านั้น ล้วนแต่หวังดีกับประเทศชาติ อยากให้ไทยเป็นหนึ่งในโลกที่อยู่รอดในสังคมเสรีตลาดเดียว คนไทยจึงไม่ควรนิ่งเฉย ควรพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในทุกวันนี้

การค้าระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่สาม ที่มีแต่คำว่า ผลประโยชน์ ไม่มีคำว่า เมตตา หรือแม้กระทั่งมิตร ไทยเราเป็นตัวเล่นเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้นในสนามรบนี้

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)