H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

R
h
o
m
e
THE SUFFERING NOSE
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความของ โกสุม โอมพรนุวัฒน์, เรื่อง
เรื่อง "จมูกแห่งความเจ็บปวด" (บทความวิชาการ-ฟรี-ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บริการโดยไม่คิดมูลค่า และไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปใช้ กรุณาอ้างอิงถึงแหล่งที่มาตามสมควร) เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 15 กันยายน 2546 : ความยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4
release date
150946

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 305 หัวเรื่อง
วาทกรรมเกี่ยวกับร่างกาย-โครงการแห่งความเจ็บปวด

นำเสนอโดย โกสุม โอมพรนุวัฒน์
บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com

ในงานเขียนเรื่อง The Phantom of the Opera (1911) ของ Gaston Leroux (1868-1927)
Phantom ผู้มีรูปกายราวกับปีศาจ คอยหลอกหลอนผู้คนและหลบซ่อนตัวอยู่ในโรงละครโอเปร่าแห่งปารีส Phantom ลุ่มหลงในตัวคริสทีน (Christine) นักแสดงละครโอเปร่า และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองคริสทีน จนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา ความมาเปิดเผยในภายหลังว่า Phantom มิใช่ Opera Ghost หรือผีโรงละครโอเปร่าอย่างที่หลายคนสะพึงกลัว แต่ Phantom เป็นคนบ้าชื่อเอริค ที่หลบหนีมา แล้วกำลังถูกตำรวจตามล่าตัว ในตอนท้ายเอริคถูกฝูงชนรุมทุบตีจนเสียชีวิต
จากหนังสือเรื่อง The Lord of the Rings (1954 - 1955)
ของ J.R.R. Tolkien (1892 - 1973)

Peter Jackson (1961 - ) ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 3 ภาค คือ The Fellowship of the Ring (2001), The Two Towers (2002) และ The Return of the King ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอภาพตัวละครเผ่าพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า Orc ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาสร้างเป็น Orc พันธุ์ใหม่เรียกว่า Uruk-hai ว่ามีทั้งความอัปลักษณ์ทางกาย และความโหดเหี้ยมชั่วร้ายในจิตใจ ภาพตัวแทนของจมูกของ Orc ในต้นศตวรรษที่ 21 ก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทนจมูกของ Phantom ในต้นศตวรรษที่ 19 และก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทนจมูกของผู้ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เวลา 500 ปี จมูกยุบแบนจมูกโหว่ ก็ยังคงถูกใช้เป็นหนึ่งในสัญญะแทนความหมายของความอัปลักษณ์และความชั่วร้ายอย่างแนบเนียน
ภาพประกอบจาก The Lord of the Rings

THE SUFFERING NOSE
จมูกแห่งความเจ็บปวด

โกสุม โอมพรนุวัฒน์

"โครงสร้างของใบหน้าที่งดงามประกอบไปด้วย รูปโครงหน้า คิ้ว ตา ปาก และจมูก ถ้าคุณมีรูปหน้าดี คิ้วดี ตาสวย ปากบาง แต่จมูกแบนบาน คุณก็ดูแค่ธรรมดา แต่หากมีจมูกเป็นสันสวยรับกับใบหน้า คุณก็จะเป็นคนที่สวยโดดเด่นขึ้นมาในทันใด ดังนั้นจึงไม่แปลกใช่มั้ยถ้าหมอจะบอกว่า การเสริมจมูก เป็นศัลยกรรมตกแต่งที่สาวไทย (หนุ่ม ๆ ด้วย) นิยมทำกันมากที่สุดอย่างหนึ่ง ใคร ๆ ก็อยากสวยอยากหล่อดูดีมีดั้งโด่งเป็นสันคมเข้มทั้งนั้นแหละครับ

"จมูก" องค์ประกอบหนึ่งซึ่งทำหน้าที่หายใจ รับกลิ่น และกรองอากาศก่อนเข้าสู่ร่างกาย จมูกของคนเรามีลักษณะต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของแต่ละคนและเชื้อชาติ เช่น ฝรั่งจมูกจะโตกว่าคนเอเชีย แต่บางครั้งก็มีมากเกินความต้องการ บางคนเกิดมามีดั้งโด่งก็เหมือนบุญพาวาสนาส่งที่สั่งสมจากบรรพบุรุษที่มีดั้งมาก่อน แต่บางคนเกิดมาพร้อมมีดั้งติดมาด้วยพอสมควรก็นับว่ายังพอมีบุญอยู่บ้าง คนที่มีจมูกแบนบานมีดั้งอันน้อยนิดหรือไม่มีดั้งเสียเลย นับว่าโชคไม่ดี แต่อย่าเพิ่งน้อยใจนะครับ เพราะหมอสามารถเสริมจมูกทำให้คุณมีดั้งได้ อยากรู้มั้ยหมอทำอย่างไร งั้นตามหมอมา…"(i)
ที่มา: สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย โดย คณะแพทย์โรงพยาบาลยันฮี (2545: 33 - 34)

หนังสือคู่มือแนะนำการทำศัลยกรรมเสริมความงาม สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย เขียนโดย คณะแพทย์โรงพยาบาลยันฮี หน้าปกสีชมพูสดใส หนา 384 หน้า ราคา 150 บาทออกวางแผงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความ รุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการทำศัลยกรรมเสริมความงาม และการตอบรับของสังคมไทยที่มีต่อกระบวนการดังกล่าว

ภายในหนังสือเล่มนี้ ได้แนะนำการทำศัลยกรรมเสริมความงามประเภทต่าง ๆ ไว้ถึง 45 วิธี นับตั้งแต่ ทำตาสองชั้น, ลดถุงไขมันใต้ตา, เสริมจมูก, ตัดปีกจมูก, ตบแต่งปากแหว่ง เพดานโหว่, เสริมคาง, ตัดกราม, ทำลักยิ้ม, ดึงหน้า ดึงหน้าผาก ดึงคอ, เสริมหน้าอก, ลดขนาดเต้านม, ตบแต่งหัวนม, กำจัดเหงื่อ, ดูดไขมันหน้าท้อง, แปลงเพศ, ทำรีแพร์, ตบแต่งแคมเล็ก, ตบแต่งเยื่อพรหมจารี, กำจัดสิว, ฝ้า, กระ, ลบรอยแผลขรุขระบนใบหน้า, ทำหน้าขาวใส, รักษากลากเกลื้อน และโรคเชื้อราบนผิวหนัง, จี้ไฝ หูด ขี้แมลงวัน ติ่งเนื้อ, รักษาปานและลบรอยสัก, รักษาแผลเป็น, ลดรอยตีนกา, รักษาด้วย IOTO และ PHONO, ขจัดเซลลูไลท์, การผลัดผิว, ปลูกผม, รักษาเส้นเลือดขอด, ลดน้ำหนัก, กำจัดขนรักแร้, สักเพื่อการรักษาและความงาม, ขัดผิวให้ขาวเนียน, ฟอกสีฟันให้ขาว, จัดฟัน, ทำเขี้ยว, ติดเพชรที่ฟัน, ไปจนถึง ตบแต่งช่องฟันห่าง เพื่อ "คุณจะได้สวยสมใจ สวยอย่างปลอดภัย สวยด้วยแพทย์"

โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ คือ ในแต่ละเรื่องจะเป็นการเขียนกล่าวทักทาย แสดงทัศนะ จากนั้น ก็ให้ความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมบนส่วนนั้น ๆ ของร่างกาย พร้อมทั้งมีภาพประกอบของผู้หญิง "สวยด้วยแพทย์" ตลอดเล่ม ประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือ การใช้สรรพนามว่า "หมอ" แทนผู้เขียน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการที่จะพูดถึงเรื่องทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและไว้วางใจได้ และในส่วนของการกล่าวทักทายและแสดงทัศนะของ "หมอ" ที่ดูเป็นกันเอง แต่เป็นการให้ความหมายกับความสวยอย่างแนบเนียน พร้อมทั้งสร้างเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงคุณและโทษของการมีและไม่มีความสวยด้วย

นอกจากหนังสือที่ตีพิมพ์ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการทำศัลยกรรมตกแต่งโดยเฉพาะ ยังพบว่ามีโฆษณาสถานบริการและโรงพยาบาลที่ให้บริการการทำศัลยกรรมเสริมความงามอยู่มากมาย ลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์และนิตยสารสำหรับผู้หญิง อีกทั้งจุลสารที่ทางสถานบริการและโรงพยาบาลจัดทำขึ้นเอง และแจกจ่ายไปยังสมาชิก ก็ชี้ให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมการแพทย์นี้ในสังคมไทยในปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ตื่นตัวกับการทำศัลยกรรม ภาครัฐบาลก็ตระหนักถึงเม็ดเงินที่จะได้จากธุรกิจนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ช่วยส่งเสริมโรงพยาบาลชั้นหนึ่งต่าง ๆ ให้รับทำ ศัลยกรรมเสริมความงามให้แก่ชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อทำศัลยกรรมโดยเฉพาะ เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยมีศัลยแพทย์เพียง 10 คน แต่ปัจจุบันประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น "แหล่งรวมการทำศัลยกรรม"(ii)

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งประเด็นความสนใจไปที่อุตสาหกรรมการทำศัลยกรรม แต่อุตสาหกรรมการทำศัลยกรรมที่รุ่งเรืองชี้ให้เห็นถึง การให้คุณค่าต่อความสวยงามทางกายอย่างมากมายของคนในสังคม

การทำศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย คือ การทำศัลยกรรมตาสองชั้น และการทำศัลยกรรมจมูก ผู้เขียนเลือกศึกษา จมูก เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงสัญญะทางชาติพันธุ์ที่แฝงอยู่ในจมูก เพราะเหตุใดคนไทยหลาย ๆ คนจึงได้นิยมการทำศัลยกรรมจมูก และเพราะเหตุใดจมูกที่สวยจึงเป็นจมูกโด่งเพียงแบบเดียว

จมูกอันชั่วร้าย

"ตา… ช่างลึกนักจนแทบมิอาจเห็นนัยน์ตา ท่านจะเห็นได้เพียงเบ้าตาลึกทมิฬโตสองข้าง ดั่งเบ้าตาของกะโหลกคนตาย ผิวหนังที่รั้งติดกระดูกของมันดูราวกับหนังหน้ากลองมิได้เป็นผิวขาว แต่เป็นสีเหลืองสกปรกน่าเกลียดชัง จมูกของมันเล็กเสียจนมิอาจเห็นได้จากด้านข้าง ไร้ค่าเกินกว่าที่จะเอ่ยถึง จมูกที่โหว่ไปนั้น มองดูน่าสยดสยองยิ่งนัก"(iii) (หน้า 9)

บทพรรณนาข้างต้นนี้เป็นการพรรณนาถึงรูปลักษณ์ของ Phantom หรือตัวละครที่ชื่อว่าเอริค (Erik) ในงานเขียนเรื่อง The Phantom of the Opera (1911) ของ Gaston Leroux (1868-1927) Phantom ผู้มีรูปกายราวกับปีศาจ คอยหลอกหลอนผู้คนและหลบซ่อนตัวอยู่ในโรงละครโอเปร่าแห่งปารีส Phantom ลุ่มหลงในตัวคริสทีน (Christine) นักแสดงละครโอเปร่า และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองคริสทีน จนเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา ความมาเปิดเผยในภายหลังว่า Phantom มิใช่ Opera Ghost หรือผีโรงละครโอเปร่าอย่างที่หลายคนสะพึงกลัว แต่ Phantom เป็นคนบ้าชื่อเอริค ที่หลบหนีมา แล้วกำลังถูกตำรวจตามล่าตัว ในตอนท้ายเอริคถูกฝูงชนรุมทุบตีจนเสียชีวิต

"มันมักปรากฏตัวพร้อมกับ จมูกยาว บาง และโปร่งใส อันบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเป็น "จมูกปลอม" (หน้า 30) "เมื่อมันออกไปเดินตามท้องถนน ปรากฏตัวต่อสาธารณะ มันสวมจมูกปลอมพร้อมกับติดหนวด เพื่อบดบังช่องจมูกอันน่าสะพึงกลัว เกือบจะ ข้าพเจ้ากล่าวว่าเกือบจะ พอทนมองดูมันได้" (หน้า 207) "จมูกที่โหว่ไปของมันทำให้มันเกลียดคนที่มี "จมูกจริง" จมูกที่โหว่ไปนั้นทำให้ใบหน้าของมันมีความขลังของศีรษะของคนตาย (หน้า 227) มันรู้สึกว่าตนเองถูกสร้างมาจากความตาย นับตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าพร้อมกับเนื้อหนังที่ตายไปแล้ว" (หน้า 129)

จากบทพรรณนารูปลักษณ์ของเอริคที่ยกมานี้ ได้ให้ภาพตัวแทนของจมูกที่มองไม่เห็นว่าเป็นจมูกของเอริค สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความหมายกับจมูกเล็กแบนโหว่ว่า "อัปลักษณ์ ไร้ค่า และน่าสะพึงกลัว" เป็นการประเมินคุณค่าตามความเชื่อสมัยวิคตอเรียน (Victorian belief)(iv) ว่าคุณลักษณะของบุคคลสามารถมองเห็นได้ผ่านรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคลนั้น และความสวยงามทางรูปกายภายนอก ก็สะท้อนถึงความสวยงามในเชิงจิตวิญญาณภายในของบุคคล (Sennett, 1977; Finkelstein, 1991 cited in Tse?lon, 1995: 79) ในทางกลับกันความอัปลักษณ์ของรูปกายภายนอกก็สะท้อนถึงความชั่วร้ายของจิตวิญญาณภายในเช่นกัน

ภาพตัวแทนของจมูกที่หายไปของเอริคที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความชั่วร้ายและน่าสะพึงกลัวมิใช่เรื่องใหม่สำหรับต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อ Leroux เขียนนิยายเรื่องนี้ แต่การเชื่อมโยงนั้นเป็นผลึกของความรังเกียจและเกลียดชังที่ชาวตะวันตกมีต่อคนที่ไม่มีจมูกหรือจมูกยุบแบน อาจกล่าวได้ว่าปรากฏตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16

ยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เชื่อมต่อกับศตวรรษที่ 16 ได้เผชิญกับโรคใหม่ชนิดหนึ่ง ที่ถือเป็นตราบาปแก่ผู้ป่วยอย่างยิ่ง คือ โรคซิฟิลิส (syphilis) อาการที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคซิฟิลิส คือ ดั้งจมูกจะยุบหายไป กระดูกบริเวณจมูกจะติดเชื้อและถูกทำลาย ส่งผลให้จมูกโหว่ไป (Gilman, 1999: 49) โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จมูกที่หายไปจึงประจานถึงศีลธรรมที่หายไปของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย "จมูกซิฟิลิส" ได้ทำเครื่องหมายไว้บนร่างกาย ว่าร่างกายของผู้นั้นชั่วช้าและเป็นอันตราย จมูกซิฟิลิสเป็นสัญญะของ "ลักษณะที่ไม่ดี" ที่เขียนไว้อย่างจงใจบนใบหน้า (Gilman, 1999: 49)

เมื่อผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่ ตราบาปที่เกิดจากโรคซิฟิลิสนี้อาจยุติชีวิตทางสังคมของผู้ป่วย แต่เมื่อชีวิตของผู้ป่วยยุติลงตราบาปกลับไม่สิ้นสูญไปพร้อมกับร่างกายที่ดับสูญ แต่ยังคงเป็นมรดกทาง พันธุกรรมตกทอดมาถึงลูกหลาน จมูกที่ยุบหายไปยังติดตามมาจนถึงศตวรรษที่ 19 แสดงถึงอาการของโรคซิฟิลิสที่ถ่ายทอดมายังทารกเกิดใหม่ ซึ่งสืบทอดมาจนถึงเจ็ดชั่วอายุคน (Gilman, 1999: 50) ทารกที่เกิดมาพร้อมกับจมูกที่ยุบหายไป ต้องเติบโตมาพร้อมกับตราบาปของการเป็นลูกหลานของผู้ป่วยที่สังคมยุโรปในสมัยนั้นมองว่าไร้ศีลธรรม

จมูกอันเป็นศูนย์กลางของความน่าสะพึงกลัวบนใบหน้าของเอริค ใน The Phontom of the Opera (1911) แสดงถึงตราบาปของผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ภาพตัวแทนของจมูกของเอริคในนิยาย จึงเป็นการผลิตซ้ำและตอกย้ำภาพของจมูกที่บี้แบนว่าเป็นจมูกแห่งความเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ The Phantom of the Opera (1925) ได้กลายเป็นภาพยนตร์อเมริกันโดย รูเปอร์ จูเลียน (Rupert Julien, 1889 - 1943) นักแสดงลอน เชเนย์ (Lon Chaney, 1883 - 1930) ที่รับบทบาทเป็น Phantom ยิ่งช่วยตอกย้ำภาพความน่าสงสารและน่าสะพึงกลัวให้กับใบหน้าของ Phantom ในความรู้สึกของผู้ชม เชเนย์พยายามใช้เทคนิคการแต่งหน้าแต่งให้เหมือนกับลักษณะของใบหน้าของผู้ที่เป็นซิฟิลิสแต่กำเนิด ในการสร้างภาพตัวแทนจมูกที่หายไปของเอริคว่า เป็นสัญญะของจิตวิญญาณที่เป็นป่วยเป็นโรค

จากหนังสือเรื่อง The Lord of the Rings (1954 - 1955) ของ J.R.R. Tolkien (1892 - 1973) Peter Jackson (1961 - ) ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 3 ภาค คือ The Fellowship of the Ring (2001), The Two Towers (2002) และ The Return of the King ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอภาพตัวละครเผ่าพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า Orc ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาสร้างเป็น Orc พันธุ์ใหม่เรียกว่า Uruk-hai ว่ามีทั้งความอัปลักษณ์ทางกาย และความโหดเหี้ยมชั่วร้ายในจิตใจ

ภาพตัวแทนของจมูกของ Orc ในต้นศตวรรษที่ 21 ก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทนจมูกของ Phantom ในต้นศตวรรษที่ 19 และก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทนจมูกของผู้ป่วยเป็นโรคซิฟิลิสนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เวลา 500 ปี จมูกยุบแบนจมูกโหว่ ก็ยังคงถูกใช้เป็นหนึ่งในสัญญะแทนความหมายของความอัปลักษณ์และความชั่วร้ายอย่างแนบเนียน

ปัจจุบัน ในศตวรรษที่ 21 โรคซิฟิลิสอาจเลือนหายไปจากความคิดคำนึงของชาวตะวันตก อาจเหลือไว้เพียงเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดจากการระบาดของโรคร้ายนี้ แต่ภาพตัวแทนของ "จมูกซิฟิลิส" ที่ถูกมองว่าเป็นลักษณะอันเลวร้ายทางร่างกาย แล้วถูกนำมาเชื่อมโยงว่าสะท้อนถึงลักษณะอันเลวร้ายทางจิตใจของเจ้าของจมูก กลับมิได้เลือนหายไป แต่แอบซ่อนตัวอยู่จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และยังคงถูกผลิตซ้ำเรื่อยไป

จมูกอันต่ำต้อย

การสร้างความหมายให้กับจมูกโหว่จมูกที่จมหายไปนั้นว่าเป็นสัญญะของจมูกของคนชั่วร้ายไร้ศีลธรรม ผ่านวาทกรรมและภาคปฏิบัติการของวาทกรรมต่างๆ เป็นการใช้อำนาจของผู้ที่มี "จมูกปรกติ" กีดกันผู้ที่มี "จมูกผิดปรกติ" ออกไป สร้างความเป็นอื่นให้กับจมูกที่เป็นโรคนั้น ผ่านวาทกรรม "ความไร้ศีลธรรม"

อาจมองได้ว่า การใช้อำนาจนั้นเป็นการกดทับและกีดกันระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวขาว ชาวตะวันตกกับชาวตะวันตก โดยประเด็นของความเป็นอื่นหรือความผิดปรกตินั้นเกิดจากการเป็นโรค แต่การแบ่งแยกขั้วตรงข้ามระหว่าง "จมูกปรกติ" และ "จมูกผิดปรกติ" มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น แต่ยังได้ขยายขอบเขตของ "จมูกผิดปรกติ" ออกไป ประเด็นของการสร้างความเป็นอื่นมิใช่เกิดจากการเป็นโรค แต่เกิดจากการที่เจ้าของจมูกเป็นคนที่มีชาติพันธุ์ที่แตกต่างออกไป การใช้อำนาจนั้นข้ามผ่านทั้งเวลาและสถานที่ เป็นการใช้อำนาจของคนผิวขาวกับคนผิวสีอื่น ชาวตะวันตกกับคนชาติพันธุ์อื่น

ในหนังสือเรื่อง Making the Body Beautiful: A Cultural History of Aesthetic Surgery (1999) แซนเดอร์ กิลแมน (Sander Gilman)(v) ได้ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ของการทำศัลยกรรมเสริมความงามของตะวันตก ความน่าสนใจของการศึกษาของกิลแมนอยู่ที่การเปิดโปงให้เห็นถึงการใช้อำนาจผ่านวาทกรรมของชาวตะวันตกในการให้ความหมายกับร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ และจากคำอธิบายเกี่ยวกับร่างกายนี้เอง ที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ชาวตะวันตกในการล่าอาณานิคม และเข้าครอบครองดินแดนและทรัพยากรของชนชาติอื่น ๆ

กิลแมน (Gilman, 1999) กล่าวว่า ในโลกของวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่า และความเป็นมนุษย์ที่ด้อยกว่าถูกมองในเรื่องของ "ความสวย" และมาตรฐานของความสวยนั้น วัดได้จาก จมูก. จมูกเล็ก จมูกแบนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความหมายกับชาติพันธุ์ ความแตกต่างของจมูกที่เล็กเกินไปเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็บ่งถึงความแตกต่างทางคุณลักษณะ

ยิ่งกว่านั้น ความคิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่รับมาจากการศึกษาทางมานุษยวิทยา กล่าวว่า จมูกแบบของคนดำและชาวยิวเป็นสัญลักษณ์ของ "ความป่าเถื่อน" (primitive) ของคนชาติพันธุ์นี้ เพราะจมูกที่แบนเกินไปถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับลักษณะของจมูกของผู้ป่วยด้วยโรคซิฟิริส(vi) ซึ่งเป็นเครื่องหมายของบาปและอันตราย และจมูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ "ลักษณะอันเลวร้าย" นี้ ได้ประทับตราไว้บนใบหน้าอย่างชัดเจน (Gilman, 1999: 49) จากความคิดเช่นนี้ จมูกแบนจึงถูกมองว่าเป็นสาส์นเตือนภัยจากธรรมชาติ ถึงอนามัยและความเป็นอันตรายของคนชาติพันธุ์ที่มีจมูกแบนนี้ (Gilman, 1999: 85)

วาทกรรมที่กล่าวอ้างว่า จมูกเล็กเกินไปเป็นเครื่องหมายของความอัปลักษณ์ ของเชื้อชาติที่ด้อยกว่าได้แพร่กระจายออกไป ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ่านผลงานของนักกายวิภาคชาวดัทช์ Petrus Camper (1722 - 1789) ที่ "ค้นพบ" องศาของใบหน้า (facial angle) และดัชนีจมูก (nasal index)(vii) ดัชนีจมูกเป็นเส้นที่ลากเชื่อมต่อจากหน้าผากผ่านจมูกมายังริมฝีปากล่าง จากการลากเส้นดังกล่าว สามารถกำหนดองศาของใบหน้าได้ โดยดูจากการนำเส้นนี้มาตัดกับเส้นแนวตั้งที่ลากลงมาถึงขากรรไก เส้นนี้ใช้เป็นมาตรฐานการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์วานร (anthropoids)

นักกายวิภาคในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นต่อมา เช่น Theodor Soemmering ได้นำองศาของใบหน้าตามแนวคิดของ Camper จัดแบ่งมนุษย์ชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยนำมาเปรียบเทียบว่าจมูกและองศาของใบหน้ามีความแตกต่างไปจากลิงมากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาจัดลำดับชั้นของเผ่าพันธุ์มนุษย์ Camper นิยาม "ใบหน้าที่สวยงาม" หมายถึง เส้นที่ลากจากใบหน้าทำมุม 100 องศา กับเส้นที่ลากลงมาในแนวดิ่ง จากมาตรฐานนี้เอง ในงานเขียนของ Camper จึงกล่าวว่าคนแอฟริกันมีความสวยงามน้อยที่สุด เพราะมีความใกล้เคียงกับลิงมากที่สุด

จากแนวคิดดังกล่าว จมูกที่แบนสั้นจนเกินไปจึงแสดงถึงความป่าเถื่อนและการเป็นโรคเนื่องจากมีสัดส่วน "ไม่เหมาะสม" หรือ "ไม่สมมาตร" ทั้ง ๆ ที่สามารถทำหน้าที่ได้ก็ตาม จมูกที่สั้นแบนจนเกินไปเป็นสัญญะของความสัมพันธ์ระหว่างความไร้สุนทรียะและความชั่วร้าย รูปร่างของจมูกจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ถูกนำมาใช้นิยามความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง (Gilman, 1999: 87)

ในวัฒนธรรมตะวันตก วาทกรรมหลักเกี่ยวกับร่างกาย สร้างความชอบธรรมให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในสังคม ทำให้ร่างกายของตนเองอยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่า และกลายเป็นผู้กำหนด มาตรฐานและตัดสินผู้อื่น ผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า ถูกนิยามจากร่างกายและนิยามตามบรรทัดฐานซึ่งทำให้ผู้ที่ด้อยกว่าไม่มีตัวตนหรือถูกลดคุณค่าลงไป ผู้ที่ถูกกำหนดจากวัฒนธรรมกระแสหลักว่า "เป็นอื่น" กลับถูกจองจำอยู่ในร่างกายของตนเอง

ในบทความเรื่อง "Changing Faces" รายงานสถานการณ์กระแสความนิยมการทำศัลยกรรมเสริมความงามของเอเชีย ที่ตีพิมพ์ใน Time Magazine(viii) เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ลิซา ทาเคอุชิ คูลเลน (Lisa Takeuchi Cullen, 2002) ได้แสดงความคิดเห็น ว่า

"ประเด็นปัญหาทางวัฒนธรรมที่สำคัญในปัจจุบันนี้ คือ คนเอเชียจำนวนมากต้องการสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาใหม่ให้มีรูปลักษณ์ดูเป็นชาวตะวันตกมากขึ้น การกล่าวหาเช่นนี้หลาย ๆ คนปฏิเสธ แต่หลายคนก็ยอมรับว่าการจู่โจมอย่างต่อเนื่องของฮอล์ลีวู้ด รายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเมดิสันเอเวอนิว ทำให้อุดมคติทางสุนทรียะของชาวเอเชียเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกใจ… ต่างขอให้ศัลยแพทย์ ทำดวงตาของตนให้โตขึ้น จมูกโด่งขึ้น หน้าอกอิ่มเอิบขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะทางกายภาพที่ต่างไปจากชาติพันธุ์ของตน"

เช่นเดียวกับในซีรีย์ชุดสองตอนเรื่อง "Bodysnippers" ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Channel 4 ของประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 ได้ตรวจสอบปรากฏการณ์ที่ ผู้หญิงเอเชียและผู้หญิงผิวสีจำนวนมากมายในประเทศอังกฤษที่เข้ารับการทำศัลยกรรมเสริมความงามเพราะ "ต้องการมีรูปลักษณ์ที่สวยขึ้น หรือเป็นคนผิวขาวมากขึ้น" หนึ่งในศัลยแพทย์ (ผิวขาว) ได้กล่าวในรายการว่า "มีคนจากแอฟริกาหรือคนอินเดียที่ต้องการทำศัลยกรรมจมูกเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อทำให้ตนเองเป็นตะวันตกมากขึ้น … ผมคิดว่าจมูกแบบชาวยุโรปสวยงามมากกว่าเยอะ"(ix)

ทั้งมุมมองที่แสดงอยู่ใน "Changing Faces" และ "Bodysnippers" ต่างก็พูดถึงสิ่งเดียวกัน คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวเอเชียที่อาศัยการศัลยกรรมเสริมความงามในการทำให้ตนเองมีรูปลักษณ์เป็นตะวันตกมากขึ้น แต่ต่างกันตรงที่ ปรากฏการณ์ใน "Changing Faces" เป็นเรื่องของ คนเอเชียในประเทศของตน ส่วน "Bodysnippers" พูดถึงคนเอเชียและแอฟริกันที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมประเทศอังกฤษ ซึ่งการศึกษาทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงผิวดำและผู้หญิงเอเชีย มีแนวโน้มที่มีความรู้สึกในเชิงบวกต่อร่างกายของตนเองมากกว่าผู้หญิงผิวขาว และมีพฤติกรรมการการกินแบบผิดปรกติน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่ายิ่งผู้หญิงเอเชียและผู้หญิงผิวดำเข้าไปรวมอยู่ในของสังคมผิวขาวมากเท่าไร ยิ่งทำให้รู้สึกวิกฤติต่อรูปลักษณ์ของตนมากขึ้นเท่านั้น และอาจมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าอาจมีปัญหาด้านการรับประทานอาหารมากกว่าผู้หญิงผิวขาวอีกด้วย (Branigan, 2001)

ในบทความเรื่อง "What is Beauty" ใน fm - Fifteen Minutes(x) โดย Debra Hunter และ Jennifer Hyman (2001) ได้ตรวจสอบปรากฏการณ์การแข่งขันกันระหว่างนักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่การแข่งขันนั้น มิใช่การแข่งขันเพื่อความสำเร็จทางการเรียนและอาชีพการงาน แต่เป็นการแข่งขันเรื่องความสวยงามทางร่างกายเพื่อความสำเร็จในการดึงดูดใจชาย "ความสวยเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแข่งขันภายใต้บรรยากาศของความกดดันอย่างสูงของมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด" บทความนี้ได้นำเสนอมุมมองของนักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่ม คือ นักศึกษาชาวยิว, นักศึกษาเอเชีย และนักศึกษาผิวดำ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในมหาวิทยาลัย

การทำศัลยกรรมเสริมความงาม ได้กลายเป็นทางเลือกกระแสหลักสำหรับผู้ที่ไม่พึงพอใจในความสวยตามธรรมชาติของตน ความสวยที่มีลักษณะที่เด่นชัดของชาติพันธุ์ของตนเองติดอยู่ จมูกโตของชาวยิวได้ถูกเหน็บแนมไว้ทุกหนทุกแห่ง นับตั้งแต่ละครตลกของเชคเปียร์ไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย ในชุมชนชาวยิวในอเมริกาหลาย ๆ แห่ง การทำศัลยกรรมจมูก (rhinoplasty) เกือบจะเป็นพิธีกรรมในการเปลี่ยนผ่าน (Hunter and Hyman, 2001)

นักศึกษาเชื้อสายยิวคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า

"ในช่วงสี่ปีที่ฉันเรียนในโรงเรียนไฮสคูลแถบชานเมืองนิวยอร์ค รู้สึกว่ามีเด็กผู้หญิงอย่างน้อย 30 คนมั้งทีไปทำจมูกมา แล้วทุกคนก็เป็นยิว โดยส่วนตัวแล้ว ฉันไม่เคยรู้สึกพอใจกับจมูกของตัวเอง ไม่ชอบเลยเวลาที่ถ่ายรูปแล้วจมูกมันยื่นออกมา ฉันเริ่มคิดจริงจังว่าจะต้องทำจมูก ก็ตอนที่เพื่อนสนิทสองคนเขาไปทำมาแล้วก็รู้สึกว่ามั่นใจขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฉันคิดว่าเพื่อนดูน่ารักขึ้น และความยโสของฉันก็ชี้ทางว่าฉันจะเดินเส้นทางเดียวกัน แต่ฉันก็ยังรีรอ จนกระทั่งฉันมาถูกห้อมล้อมด้วยทะเลของจมูกเล็ก ๆ แบบคนขาว ฉันก็เลยตกลงใจเข้ารับการผ่าตัด ตอนนี้ฉันดูเป็นยิวน้อยลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อน แต่ก็ยังอายๆ นะที่จะยอมรับว่า ฉันคิดว่า ฉันได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมฮาร์วาร์ด"

คำบอกเล่าของนักศึกษาเชื้อสายยิวคนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกเป็นอื่นที่มีต่อชาติพันธุ์ของตนเอง การปรับเปลี่ยนรูปร่างของจมูกซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของชาวยิว จึงเป็นทางเลือกในการปรับปรุงอัตลักษณ์ของตน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคม ไม่เพียงแต่เฉพาะชาวยิวในสังคมอเมริกัน ชาวเอเชียน-อเมริกันก็มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ผู้ชายชาวเอเชียน-อเมริกันมักมีภาพเหมารวมว่า "เตี้ย หน้าแบน ตาตี่" หนทางในการเยียวยาการรับรู้เช่นนี้ บางคนก็อาศัยการทำศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อให้ "ปรากฏลักษณะที่เป็น 'เอเชียนน้อยลง' และเป็น 'ชาวผิวขาวมากขึ้น'" (Gilman, 1999: 99)

ส่วนผู้หญิงเอเชียน-อเมริกันก็เข้ารับการ "ผ่าตัดทำตาสองชั้น เสริมจมูก และปรับเปลี่ยนปลายจมูกให้เรียวขึ้น"(xi) การทำศัลยกรรมที่คิดกันว่าจะได้ผลในการทำให้เป็น 'เอเชียนน้อยลง' คือการทำศัลยกรรมจมูก (rhinoplasty) และการทำศัลยกรรมตาสองชั้น (blepharoplasty)(xii) ซึ่งต่างก็มุ่งไปที่การปรับแต่งอวัยวะที่เรียกได้ว่า เป็นสัญญะของความแตกต่างและลักษณะทางชาติพันธุ์ของบุคคลชาติพันธุ์นั้น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสิ่งที่กิลแมนเรียกว่า "ผ่าน" ไปสู่ "ความเป็นเอเชียที่น้อยลง" ในสังคม ตะวันตกได้

ในการศึกษาเรื่องกระบวนการทำศัลยกรรมความงามของ เชาวเลิศ มากสมบูรณ์ (2539) นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ทำศัลยกรรมเสริมความงามซึ่งเคยรับรู้เกี่ยวกับหน้าตาของตนเองว่าไม่สวย ไม่มีเสน่ห์ ไม่ดึงดูดเพศตรงข้าม ได้ตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมจมูก หรือทำตาสองชั้น เพราะต้องการให้ตนเองมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในการคบหาสมาคมกับผู้อื่น ต้องการให้ตนเองเป็นที่สนใจของบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้าม ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นในการพบปะสังสรรค์กับเพศตรงข้าม และการหาคู่ครอง รวมทั้งต้องการสร้างภาพความประทับใจแก่ผู้พบเห็น เพื่อความสำเร็จทางหน้าที่การงาน ยังเผยให้เห็นถึงการให้ความหมายกับจมูกของผู้หญิงด้วย

"หน้าพี่ตอนยังไม่ได้ทำนะดูไม่ได้ จมูกแบนมากเพื่อนชอบทัก ชอบแซวว่าเป็นคนอีสานรึเปล่า เป็นคนลาวเหรอ พี่ก็บอกเค้าไปนะว่าพี่เป็นคนเหนือ พี่กลุ้มใจมาก เราไม่ได้เป็นคนอีสานซักหน่อยมาว่าเราเป็นคนอีสาน พี่เห็นว่า มันเลวร้ายมากนะ" พี่เกด (นามสมมติ) ช่างเสริมสวยวัย 31 ปี ภูมิลำเนาเดิมจังหวัดเชียงราย เล่าถึงความรู้สึกก่อนทำศัลยกรรมจมูก (หน้า 44)(xiii) …

"คนในครอบครัวว่า จมูกแบนเหมือนคนลาว เพื่อนก็ล้อ รับไม่ได้ ต้องทำ" น้องแหม่ม (นามสมมติ) พนักงานประชาสัมพันธ์วัย 21 ปี ก็รู้สึกอย่างเดียวกัน

จากความรู้สึกของทั้งพี่เกดและน้องแหม่มเกี่ยวกับจมูก และความสวยของตนเองก่อนทำ ศัลยกรรมเสริมจมูก สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก "เป็นอื่น" กับจมูกของตนเอง เพราะรับรู้ความหมายเชิงสัญญะของจมูกที่สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงต่างชนชั้น และชาติพันธุ์

ตามความเข้าใจโดยทั่วไป การทำศัลยกรรม"เสริมความงาม" เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ความงาม" หรือกล่าวอย่างเจาะจง คือ "ความสวย" "ความน่าดึงดูดใจ" ทางร่างกาย ในปริบทของคนเอเชียการทำศัลยกรรมเสริมจมูก อาจหมายถึง การที่เจ้าของจมูกรู้สึกว่าจมูกของตนไม่สวย แบน ไม่มีดั้ง จึงอาศัยการทำศัลยกรรมเสริมให้จมูกโด่งขึ้น แลดูสวยขึ้น เกิดความสบายใจและมั่นใจในตนเอง เป้าหมายจึงเป็นไปเพื่อการได้ครอบครอง "ความสวย" แบบที่เจ้าของจมูกปรารถนา

แต่ถ้าลองตั้งคำถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดเจ้าของจมูกจึงรู้สึกว่าจมูกแบนของตนไม่สวย? หรือเพราะว่าจมูกแบนเป็นคู่ตรงข้ามกับจมูกโด่ง? หรือเพราะจมูกโด่งเป็นจมูกที่สวย? แล้วใครกันที่มีจมูกโด่ง? หรือคำตอบอาจเป็นไปได้ว่าเจ้าของจมูกแบนอยากมีจมูกโด่งสวยเหมือน "ฝรั่ง" เหมือน "ชาวตะวันตก"?

การทำศัลยกรรมเสริมความงามซึ่งรวมไปถึงการทำศัลยกรรมเสริมจมูก จึงไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงจมูกเพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ของ "ความสวย" ให้กับเจ้าของร่างกาย แต่ยังมีมิติของการปฏิเสธลักษณะทางชาติพันธุ์ของตนเพื่อแสวงหาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แบบใหม่ แล้วแบบที่ถูกเลือกว่ามีคุณค่าและมูลค่า คือ แบบคนผิวขาวชาวตะวันตก ดังที่ Balsamo (1992: 228) ได้กล่าวว่า "'ใบหน้าอันสวยงาม' ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของความสวยในอุดมคติตามมาตรฐานแบบคนผิวขาวไปแล้ว"(xiv)

จมูกของมนุษย์มีหลากหลายรูปร่างขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์ของผู้นั้น แต่ดูเหมือนว่ามีจมูกเพียงแบบเดียวที่ได้รับการให้คุณค่า ถือเป็นต้นแบบในอุดมคติ ปรากฏการณ์การทำศัลยกรรมจมูกมิใช่มีอยู่เฉพาะในกลุ่มคนเอเชียที่ต้องการเสริมจมูก แต่การทำศัลยกรรมจมูกยังพบในกลุ่มคนดำ คนยิว คนไอริช และคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มีจมูกเล็กเกินไป ใหญ่เกินไป. "เกินไป" จากมาตรฐานของใคร ผู้เขียนมองว่าการสร้างความหมายให้กับจมูกที่สวย และสร้างแบบที่เป็นมาตรฐานขึ้นมา เป็นการใช้อำนาจกระทำความรุนแรงที่สุดต่อร่างกายของมนุษย์ชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ต่างไปจากตน

จมูกไม่รู้จบ
รายงานฉบับนี้ยังไม่ "จบบริบูรณ์"

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ความนิยมกิจกรรมการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยเฉพาะการทำศัลยกรรมจมูก (Rhinoplasty) ที่นิยมแพร่หลายและได้รับการยอมรับในสังคมไทยในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยขยายขอบเขตความปรารถนาของมนุษย์ ในการสร้างอัตลักษณ์ของตนผ่านการจัดกระทำกับร่างกาย แพทย์เป็นผู้ช่วยเหลือให้ความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจได้เผยตัวออกมาเป็นรูปธรรมบนร่างกาย บนจุดศูนย์กลางของใบหน้า บนจมูก

รายงานฉบับนี้อาจตอบคำถามได้บางส่วนแล้วว่า กระแสความนิยมทำศัลยกรรมจมูก หรืออาจรวมไปถึงการทำศัลยกรรมตาสองชั้น การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและปกป้องผิวให้ขาว เป็นผลมาจากการนิยมและยกย่องชาวตะวันตกให้เป็นต้นแบบของร่างกายในอุดมคติ แล้วต้นแบบเหล่านั้นก็ถูกผลิตซ้ำและแพร่กระจายมาทางสื่อมวลชน ผลผลิตทางวัฒนธรรมจากตะวันตก เจ้าของร่างกายที่รู้สึกว่าตนเองเป็นอื่นจากต้นแบบนั้น จึงพยายามจัดกระทำกับร่างกายให้เข้าสู่มาตรฐานของแบบในอุดมคติ การทำศัลยกรรมเสริมความงาม ก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อการเข้าสู่มาตรฐานนั้นด้วย

ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่อยู่แค่เรื่องของ "ความสวย" แต่ผูกโยงกับ "ความแตกต่างทางชาติพันธุ์" โดยเป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์บนความไม่เท่าเทียมกันด้วย ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นถึงปริบททางประวัติศาสตร์ของตะวันตกคือ การระบาดของโรคซิฟิลิสที่ทำให้มีการสร้างความหมายให้กับจมูกโหว่จมูกแบนว่าเป็นจมูกของความชั่วร้าย อีกทั้งการสร้างคำอธิบายของผู้มีความรู้เพื่อจัดลำดับ "ความเป็นมนุษย์" โดยใช้จมูกเป็นเกณฑ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตะวันตกในการล่าอาณานิคม จากปริบททางประวัติศาสตร์ทั้งสองกรณีนี้ เผยให้เห็นว่าชาวตะวันตกให้ความหมายกับลักษณะที่ต่างไปจากจมูกของตนอย่างไร

แต่ส่วนที่ขาดหายไป คือ รายละเอียดของคำอธิบายกระบวนการว่า แล้วผู้ที่เป็นเจ้าของจมูกที่ถูกตะวันตกให้ความหมายว่าเป็นอื่น ไปรับเอาความหมายนั้นมาได้อย่างไร การเปิดรับเอาต้นแบบและมาตรฐานความสวยมาจากผลผลิตทางวัฒนธรรมของตะวันตกอาจเป็นคำตอบส่วนหนึ่ง แต่ปรากฏการณ์การแสวงหาอัตลักษณ์ของคนเอเชีย ผ่านการทำศัลยกรรมเสริมความงามเป็นปรากฏการณ์ที่สลับซับซ้อน ย่อมมีปัจจัยที่ซับซ้อนซ่อนอยู่เบื้องหลัง

การที่จมูก "ผิดปรกติ" เพราะเป็นโรคแล้วโหว่ไป จนต้องอาศัยการทำศัลยกรรม (reconstructive surgery) เพื่อให้เจ้าของจมูกสามารถดำเนินชีวิตสังคมต่อไปได้ ทำให้แพทย์สามารถอธิบายได้อย่างชอบธรรมถึงการรักษาร่างกายภายนอกเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจภายใน ต่างกับการที่จมูกตามธรรมชาติที่ยังทำหน้าที่หายใจ ดมกลิ่น กรองอากาศได้ดี แต่ "ผิดปรกติ" เพราะต่างจากแบบในอุดมคติของความสวย จนต้องอาศัยการทำศัลยกรรม (aesthetic surgery) เพื่อให้เจ้าของจมูกรู้สึกดีกับตัวเองจนสามารถดำเนินชีวิตสังคมต่อไปได้ ทำให้แพทย์สามารถอธิบายได้อย่างชอบธรรมถึง "การรักษา" ร่างกายภายนอกเพื่อเป็นการเยียวยาจิตใจภายใน ความแตกต่างนี้ชี้ให้เห็นถึงการใช้ในอำนาจในการให้ความหมายกับสิ่งที่เป็น "ปรกติ" ให้กลายเป็นสิ่ง "ผิดปรกติ" ทำได้อย่างไร?

เมื่อมองเฉพาะเจาะจงมาที่ปริบทของสังคมไทย ได้มีผู้ทำศัลยกรรมจมูกเอ่ยถึง "ไม่อยากมีจมูกแบน เพราะถูกล้อว่าเป็นคนอีสาน คนลาว" จึงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า มิใช่เพียงแต่ชาวตะวันตกเท่านั้นที่ใช้อำนาจ แต่การใช้อำนาจนั้นมีอยู่ทุกระดับ แล้วคนไทยเองได้สร้างความหมายให้กับจมูกแบบต่าง ๆ อย่างไร? มีการใช้อำนาจเพื่อสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับคนอีสาน คนลาวอย่างไร? แล้วการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับตะวันตกเป็นอย่างไร? อย่างไรก็ตาม การมุ่งประเด็นไปที่ตะวันตกเพียงอย่างเดียว ทำให้ละเลยมิติด้านอื่น ๆ ไป ยังมีกระแสวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกที่เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจากจีน ขอม และอินเดีย รวมทั้งวัฒนธรรมอื่น ๆ

ความยากของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์อยู่ที่การหาคำตอบเฉพาะเกี่ยวกับสังคมไทย เพราะข้อมูลกระจัดกระจาย และมีผู้ศึกษาไว้น้อยมาก ดังนั้น รายงานฉบับนี้จึงยังไม่ "จบบริบูรณ์" ยังต้องมีการตั้งคำถาม และตรวจสอบแกะรอยต่อไป

The SUFFERING Nose
โกสุม โอมพรนุวัฒน์ - มกราคม 2546

เชิงอรรถ

(i) คณะแพทย์โรงพยาบาลยันฮี (2545) สวยด้วยแพทย์ คู่มือ 45 วิธีสวยอย่างปลอดภัย, กรุงเทพฯ: บริษัท กิจพาณิชย์ จำกัด.

(ii) Lisa Takeuchi Cullen (2002) "Changing Face", In Time Magazine, August 5, 2002

(iii) ตัวบทที่ตัดตอนมาแปลและเรียบเรียงจาก Gaston Leroux (1987), The Phantom of the Opera, New York: New American Library. อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้จาก Slovoj Zizek (1991), "Grimaces of the Real; or, When the Phallus Appears," October 58 (1991): 45-68, และ Hinrich Hudde, "?dipus als Detektive: Die Urszene als Gehimnis des geschlossenen Raums," Zeitschrift f?r franz?sische Sprache und Literatur 86 (1976): 1-25. ทั้งหมดนี้อ้างใน Sander L. Gilman (1999) Making the Body Beautiful: A Cultural History of Aesthetic Surgery, New Jersey: Princeton University Press. ภาพจาก http://www.thephantomoftheopera.com และ http://www.lonchaney.com

(iv) Tse?lon, Efrat (1995). The Masque of Femininity: The Presentation of Woman in Everyday Life. London: Sage Publications Ltd.

(v) ศาสตราจารย์เซนเดอร์ กิลแมน (Professor Sander Gilman) จากมหาวิทยาลัยอิลินอยและชิคาโก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของศัลยกรรมเสริมความงาม (aesthetic surgery) ได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม ได้แก่

Making the Body Beautiful: A Cultural History of Aesthetic Surgery (1999) Creating Beauty to Cure the Soul: Race and Psychology in the Shaping of Aesthetic Surgery (1998) Venus Envy: A History of Cosmetic Surgery (1997) Health and Illness (1995) Freud, Race and Gender (1993) The Jew's Body (1991)

(vi) การทำศัลยกรรมความงาม (aesthetic surgery) ในยุโรปเริ่มก่อตัวขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีที่มาจากการแพร่ระบาดของโรคซิฟิริส (syphilis) ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 โรคซิฟิริสเป็นโรคที่สร้างตราบาปให้กับผู้ป่วยอย่างยิ่ง การทำศัลยกรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า chirurgia decoratoria จึงพัฒนาขึ้นเพื่อเสริมจมูกที่โหว่ไปจากอาการของโรคขึ้นใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเป็นที่สังเกตุเห็นได้เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Gilman, 1999: 10)

(vii) Peter Camper (1792) ?ber den naturlichen Unterschied der Gesichtsz?ge in Menschen verschiedener Gegenden und verschidenen Alters, trans. S. Th. S?mmerring, Berlin: Voss. Miriam Claude Meijer (1991) อ่านเพิ่มเติมใน "The Anthropology of Petrus Camper (1722 - 1789)," Ph.D. dissertation, University of California, Los Angeles. และ Stephen Jay Gould (1996) The Mismeasure of Man, New York: W. W. Norton. อ้างใน Sender Gilman (1999) อ้างแล้ว.

(viii) Lisa Takeuchi Cullen (2002) "Changing Face", In Time Magazine, August 5, 2002

(ix) Tania Branigan (2001) "In the Eye of the Beholder," The Guardian, Monday October 15, 2001 หรือ http://education.guardian.co.uk/Print/0,3858,4277156,00.html

(x) Debra P. Hunter and Jennifer Y. Hyman (2000) "What Is Beauty?," Fifteen Minutes Online, http://fm.thecrimson.com:88/fm_10_05_2000/article3A.shtml

(xi) Eugenia Kaw (1993), "Medicalization of Racial Features: Asian American Women and Cosmetic Surgery, " Medical Anthropology Quarterly 7, pp. 74 - 89 อ้างใน Gilman (1999: 99)

(xii) Edward Falces and John Imada (1991), "Aesthetic Surgery in Asians," in Eugene H. Courtiss (ed.) Male Aesthetic Surgery, St. Louis: Mosby, pp. 159 - 169 อ้างใน Gilman (1999: 99)

(xiii) เชาวเลิศ มากสมบูรณ์ (2539) กระบวนการทำศัลยกรรมเสริมความงาม, วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

(xiv) A. Balsmo (1992) "On the Cutting Edge: Cosmetic Surgery and the Technological Production of the Gendered Body, pp. 223 - 233, In N. Mirzoeff (ed.) The Visual Culture Reader, New York: Routledge. อ้างใน ไม่ทราบผู้แต่ง (2000), "Almost Me," http://www.ithaca.edu/students/breynol1.virtuality.html

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

ยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เชื่อมต่อกับศตวรรษที่ 16 ได้เผชิญกับโรคใหม่ชนิดหนึ่ง ที่ถือเป็นตราบาปแก่ผู้ป่วยอย่างยิ่ง คือ โรคซิฟิลิส (syphilis) อาการที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคซิฟิลิส คือ ดั้งจมูกจะยุบหายไป กระดูกบริเวณจมูกจะติดเชื้อและถูกทำลาย ส่งผลให้จมูกโหว่ไป (Gilman, 1999: 49) โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จมูกที่หายไปจึงประจานถึงศีลธรรมที่หายไปของผู้ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย "จมูกซิฟิลิส" ได้ทำเครื่องหมายไว้บนร่างกาย ว่าร่างกายของผู้นั้นชั่วช้าและเป็นอันตราย จมูกซิฟิลิสเป็นสัญญะของ "ลักษณะที่ไม่ดี" ที่เขียนไว้อย่างจงใจบนใบหน้า (Gilman, 1999: 49)---
การประเมินคุณค่าตามความเชื่อสมัยวิคตอเรียน (Victorian belief)(iv) ว่าคุณลักษณะของบุคคลสามารถมองเห็นได้ผ่านรูปลักษณ์ภายนอกของบุคคลนั้น และความสวยงามทางรูปกายภายนอก ก็สะท้อนถึงความสวยงามในเชิงจิตวิญญาณภายในของบุคคล (Sennett, 1977; Finkelstein, 1991 cited in Tse?lon, 1995: 79) ในทางกลับกันความอัปลักษณ์ของรูปกายภายนอกก็สะท้อนถึงความชั่วร้ายของจิตวิญญาณภายในเช่นกัน
เรื่องราวของจมูก ใน ประวัติศาสตร์ของยุโรป เกี่ยวกับเรื่องโรคซิฟิลิส และความเชื่อในสมัยวิคตอเรียน
บทความวิชาการ จากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เว็ปไซค์นี้ออกแบบขึ้นเพื่อใช้กับโปรแกรม Microsoft Internet Explorer ขนาดหน้าจอ 800 X 600 pixels
N
ext
Next