มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 321 หัวเรื่อง
การเมือง เศรษฐกิจ ในยุคทักษิณ
ดร.เกษียร
เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(บทความนี้ยาวประมาณ 16
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
เศรษฐกิจ-การเมือง
ในระบอบทักษิณ
เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(บทความนี้ยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4)
หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับมาจาก ดร.เกษียร เตชะพีระ (วันที่
1 พฤศจิกายน 2546)รวม 3 เรื่อง คือ
1. "นโยบายเคนเชียนแบบรากหญ้าของรัฐบาลทักษิณ (Grassroots Keynesianism)"
2. "หัวหน้าฝ่ายบริหารทางการเมืองของชนชั้นนายทุน (Capitalist Political CEO)"
3. "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (Elected Capitalist Absolutism)"
"นโยบายเคนเชียนแบบรากหญ้าของรัฐบาลทักษิณ
(Grassroots Keynesianism)"
การอ้างว่า "คิดใหม่ทำใหม่" ทางเศรษฐกิจของระบอบทักษิณอาจแบ่งได้เป็น ๒ เรื่องใหญ่คือ: -
-การ "คิดใหม่ทำใหม่" เชิงนโยบาย (policy innovation)
-การ "คิดใหม่ทำใหม่" เชิงการพัฒนา (development innovation)การ "คิดใหม่ทำใหม่" เชิงนโยบาย: ลัทธิเคนเชียนแบบรากหญ้า (grassroots Keynesianism) รัฐบาลทักษิณได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแนวทางลัทธิเคนเชียนแบบรากหญ้าขนานใหญ่ โดยใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐแบบขาดดุลและอาศัยเงินนอกงบประมาณจากสถาบันการเงินของรัฐ มากระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังวิกฤตให้ฟื้นตัวผ่านการบริโภคของคนชั้นล่าง
(สินีพร มฤคพิทักษ์, "ประชาชื่นชม แต่ไม่ประชานิยม" วิจารณ์ สามัคคี วิจารณ์ฉบับ 'ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ'," เนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๒: ๕๘๔ (๑๑-๑๗ ส.ค. ๒๕๔๖), ๒๒-๒๓)(อัมมาร สยามวาลา เห็นแย้งในประเด็นนี้โดยระบุว่าเอาเข้าจริงนโยบายอัดฉีดเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตาม "ทฤษฎีเก่า ๆ ของเคนส์" นั้น ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังของรัฐบาลชวน-ธารินทร์แห่งพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยใช้เงินกู้โครงการมิยาซาวาของญี่ปุ่น ผ่านกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมหรือ Social Investment Fund - SIF ซึ่งตนเองเป็นประธานกรรมการ แต่ก็ยอมรับว่า "รัฐบาลนี้ (ทักษิณ) ดูจะทุ่มเทมากเป็นพิเศษ" ดูสัมภาษณ์อัมมารใน ฐานเศรษฐกิจ, ๒๒: ๑๗๓๐ (๑๒-๑๔ ก.ย. ๒๕๔๕), ๑๖; ประชาชาติธุรกิจ, ๒๑: ๘๙๕ (๒๐-๒๓ ม.ค. ๒๕๔๖), ๑๑; และ October, ๒ (มีนาคม ๒๕๔๖), ๑๖๔-๘๗)
ในบริบทของแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลักระดับสากลและตลาดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศร่วมสมัย การ "ริเริ่ม" หรือ "ทุ่มเท" ดำเนินนโยบายเคนเชียนแบบรากหญ้าดังกล่าวนับว่ากล้าแหกคอกออกนอกกรอบ"ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่" (neoliberal economic orthodoxy) และ "ธรรมเนียมเคร่งวินัยทางการคลังแบบอนุรักษ์นิยมของเทคโนแครตไทย" (Thai technocrats' conservative norms of fiscal discipline) กล่าวคือ:-
ในบรรดามอเตอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติทั้ง ๔ อันได้แก่ การบริโภค, การใช้จ่ายภาครัฐ, การลงทุน, และการส่งออก (consumption, government spending, investment, export) นั้น กล่าวในทางอุดมการณ์ ลัทธิเสรีนิยมใหม่จะเน้นการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนในตลาด, ทว่าตัดรอนความสำคัญของการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคของคนจนระดับรากหญ้าผ่านสวัสดิการของรัฐและการถ่ายโอนรายได้ (government spending & consumption by the poor through public welfare & income transfer)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่มีอคติที่จะก่อเงินฝืด (deflationary bias) ด้วยความเกลียดกลัวเงินเฟ้อ (inflation) เพราะการที่ค่าเงินแข็งเป็นประโยชน์ต่อมูลค่าทรัพย์สินของนักลงทุน นักการเงินและคนรวย, เสรีนิยมใหม่จึงไม่ส่งเสริมให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณด้านสวัสดิการ-สังคมสงเคราะห์-การถ่ายโอนรายได้ให้คนจนไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศด้วยเงินหลวง งบฯหลวงผ่านคนจน, เห็นว่านั่นเป็นการฝ่าฝืนวินัยและบิดเบือนกลไกตลาด ใช้จ่ายเงินทุนและทรัพยากรอย่างด้อยประสิทธิภาพ, รัฐไหนประเทศใดดำเนินนโยบายแบบนั้น เสรีนิยมใหม่จะชี้แนะนักลงทุนข้ามชาติให้ขนเงินทุนเผ่นหนีเปิดแนบไปลงทุนประเทศอื่นที่รัฐบาลว่านอนสอนง่าย รู้จักประหยัดรัดเข็มขัด (austerity) ไม่ฟุ่มเฟือยงบประมาณด้านสวัสดิการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนจน หากปล่อยให้ทุกบุคคลดิ้นรนเสี่ยงชีวิตเอาตัวรอดเองอยู่เดียวดายแบบตัวใครตัวมันในตลาดเสรี
ในทางตรงข้าม เสรีนิยมใหม่คัดค้านนโยบายเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า (progressive tax ซึ่งถือว่าผู้ใดรายได้ยิ่งมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้น) แต่กลับสนับสนุนการลดภาษีให้คนรวย (regressive tax คือผู้ใดระดับรายได้ยิ่งสูง กลับยิ่งเสียภาษีในอัตราต่ำลงฉิบ) เพื่อที่คนรวยจะมีรายได้ในกำมือตนหลังหักภาษีแล้วล้นเหลือเฟือฟายขึ้น ด้วยความเชื่อว่าคนรวยจะใช้รายได้ส่วนเกินไปลงทุนต่อ หรือถึงใช้มันไปบริโภคนิยมอย่างฟุ่มเฟือย แต่นั่นก็จะหวนกลับมากระตุ้นการลงทุนและจ้างงานในที่สุดอีกนั่นแหละ
นโยบายเคนเชียนแบบรากหญ้านับเป็นการแหกกรอบลัทธิความเชื่อข้างต้นซึ่งครอบงำเป็นกระแสหลักในแวดวงเศรษฐศาสตร์และธุรกิจสากลในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่เรียกกันว่า "ฉันทามติวอชิงตัน" (Washington consensus) โดยมีบรรดาสถาบันโลกาภิบาลทางการเงิน การค้าและการพัฒนาระหว่างประเทศ, สื่อธุรกิจลูกโลก, บรรษัทข้ามชาติ, สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำ, ที่ปรึกษาการลงทุนและบรมครูผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นองครักษ์พิทักษ์กฎและนายตรวจความคิด
ผมจำได้ประทับใจว่า ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ บทความของสมาชิกกองบรรณาธิการนิตยสารธุรกิจแนวหน้าของไทยอย่าง Corporate Thailand เคยเอ่ยถึงแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของ เคนส์ ด้วยท่าทีดูเบาและปัดทิ้งอย่างไม่สนใจไยดีอย่างไร
อีกแง่หนึ่ง เทคโนแครตไทยก็มีธรรมเนียมยึดบรรทัดฐานอนุรักษ์นิยมในการจัดทำงบประมาณ เน้นวินัยการคลังมาแต่เดิม เท่าที่จำได้ ธรรมเนียมการจัดทำงบประมาณแบบอนุรักษ์นิยมนี้เคยถูกแหกกรอบสมัยนายบุญชู โรจนเสถียร เข้าร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจ
ในครั้งนั้น ดูเหมือนรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์จะเคยวิจารณ์ว่าเห็นด้วยที่บุญชูกล้าแหกกรอบ แต่ไม่เห็นด้วยในแนวทางที่เขาแหก อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมดังกล่าวมาอ่อนเปลี้ยลงมากในระยะหลัง ภายใต้ระบอบเลือกตั้งธิปไตยที่นักเลือกตั้งผู้กุมอำนาจบริหารแทรกแซงนโยบายการคลังขนานใหญ่ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและทุจริตคอรัปชั่นของตนและพรรคพวก
รัฐบาลทักษิณไม่ยอมให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางสากล และธรรมเนียมอนุรักษ์นิยมด้านการคลังของเทคโนแครตไทยมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการ "ริเริ่ม"/"ทุ่มเท" ดำเนินนโยบายเคนเชียนแบบรากหญ้าของตน โดยใช้เงินภาครัฐทั้งในและนอกงบประมาณไปกระตุ้นและเน้นความสำคัญของตลาด-อุปสงค์-เศรษฐกิจในประเทศมากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มา เดินเส้นทางที่เรียกว่า dual-track policy คือเดินคู่ขนานกันไปทั้งตลาดในประเทศ/ตลาดส่งออก, กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มรายได้และการบริโภคของมวลชนรากหญ้า/สนับสนุนการส่งออก ไปพร้อมกัน ท่ามกลางความหวาดเสียวใจหายใจคว่ำของฝ่ายค้าน นักวิจารณ์และผู้สังเกตการณ์
ต้องนับว่าเฮงจริง ๆ สำหรับรัฐบาลทักษิณที่กล้าเดินนโยบายเคนเชียนแบบรากหญ้า ย้ายน้ำหนักมาอาศัยพลังเศรษฐกิจในประเทศและภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นได้ถูกจังหวะที่เศรษฐกิจโลกทุนนิยมที่พัฒนาแล้วกำลังถดถอยพร้อมกันทั้ง ๓ ศูนย์ (อเมริกาเกิดฟองสบู่แตกและเศรษฐกิจถดถอย, ญี่ปุ่นยังติดกับดักสภาพคล่องและเงินฝืดเรื้อรังฟื้นไม่ขึ้นหลังวิกฤตนานนับสิบปี, ส่วนสหภาพยุโรปเกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือกระทั่งชะงักงันในประเทศสมาชิกหลัก ๆ อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส) เนื่องจากวงจรธุรกิจทุนนิยมระยะสั้นตกต่ำลงบรรจบกับคลื่นยาวของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอยู่ในช่วงขาลงพอดี ประจวบกับปัญหาการก่อการร้ายและสงครามสถาปนาจักรวรรดิโลกของอเมริกาซ้ำเติมเข้ามา
(ดู Walden Bello, "THE CRISIS OF THE GLOBALIST PROJECT & THE NEW ECONOMICS OF GEORGE W. BUSH" บทความนำเสนอในการประชุม McPlanet Conference ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, ๒๗ มิ.ย. ๒๕๔๕)
"หัวหน้าฝ่ายบริหารทางการเมืองของชนชั้นนายทุน (Capitalist Political CEO)"
บทบาทหัวหน้าฝ่ายบริหารทางการเมืองของชนชั้นนายทุน (Capitalist Political CEO) ของระบอบทักษิณแสดงออกอย่างรวมศูนย์ในแง่นโยบายเศรษฐกิจ โดยเล่นบทเป็นผู้ตัดสินคำถามหลักทางการเมืองในเรื่องของการจัดสรรแจกแจงผลประโยชน์แก่บรรดากลุ่มทุนฝ่ายต่าง ๆ ว่า "ใครจะได้อะไร, เมื่อไหร่, และอย่างไร?" (Who gets what, when & how?)
ดังที่ ธีรยุทธ บุญมี ได้บ่งชี้ประเด็นนี้ไว้ในการบรรยายหัวข้อ "การปลดปล่อยกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศจากการครอบงำโดยตะวันตก"แก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อ ๑๑ ก.ย. ศกนี้ตอนหนึ่งว่า: -
"ในปัจจุบันรัฐกลับเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์เศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศเกือบจะโดยผู้เดียว โดยดูเหมือนจะได้รับฉันทานุมัติจากเสียงสังคมด้วย"
(เส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน มติชนสุดสัปดาห์, ๒๓: ๑๒๐๕ (๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖), ๒๖)
ในการบรรยายครั้งล่าสุดหัวข้อ "Road Map ประเทศไทย" ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ ๓๐ ปีการลุกขึ้นสู้ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ธีรยุทธคิดรวบยอดประเด็นนี้กระชับชัดขึ้นว่าเป็นโยบาย "การ บูรณาการกับกลุ่มทุนต่าง ๆ" ของกลุ่มทุนใหม่แห่งพรรคไทยรักไทย กล่าวคือ: -
"อำนาจเด็ดขาดของไทยรักไทยจะทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ ถือว่า "อำนาจคือความสำเร็จ" จะหวังเข้าร่วมกับแกนเดิมของไทยรักไทย คือกลุ่มธุรกิจสื่อสาร กลุ่มบันเทิง เกษตรกรรม อุตสาหกรรมรถยนต์ มีโอกาสเกิดระบบพรรคการเมืองที่คุมโดยกลุ่มทุนใหม่ ดังเช่นพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่น.....
"ถึงที่สุดการบูรณาการกลุ่มทุนใหม่เข้ากับภาคการเมือง ภาคราชการ และอำนาจมาเฟีย ก็คือการจัดระเบียบอำนาจและผลประโยชน์ใหม่ให้ลงตัวตามกำลังของแต่ละส่วนในสภาพการเมืองใหม่นั่นเอง กล่าวคือ กลุ่มทุนใหม่ได้ประโยชน์ชัดเจนขึ้น กลุ่มการเมืองท้องถิ่นอิทธิพลมาเฟียและข้าราชการถูกลดผลประโยชน์ลง"
(เส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน มติชนรายวัน, ๖ ต.ค. ๒๕๔๖, น. ๒, ๑๕)
ในงานวิจัยเรื่อง "อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจกับพรรคการเมือง
ศึกษาเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย" ของสถาบันวิจัยพระปกเกล้าฯ ได้แจกแจงกลุ่มทุนใหม่ของพรรคไทยรักไทยว่าประกอบด้วย:
๑) กลุ่มคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ๒) กลุ่มนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ๓) กลุ่มนายอดิศัย
โพธารามิก ๔) กลุ่มนายประชา มาลีนนท์ ๕) กลุ่มนายธนินท์ เจียรวนนท์ ๖) กลุ่มนายเจริญ
สิริวัฒนภักดี ๗) กลุ่มนายประยุทธ มหากิจศิริ และ ๘) กลุ่มนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
(อ้างจาก ศัลยา
ประชาชาติ, "วิจัยร้อน 'สถาบันพระปกเกล้า' เปิดถุงเงิน 'อีแต๋น-ดาวเทียม' ทุนต่างพรรคแต่ใจเดียวกัน,"
มติชนสุดสัปดาห์, ๒๓: ๑๒๐๓ (๕ ก.ย. ๒๕๔๖), ๑๖)
ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับลักษณะร่วมของกลุ่มทุนใหม่แห่งพรรคไทยรักไทยเหล่านี้คือ ล้วนเป็นกลุ่มทุนใหญ่ระดับชาติ, การประกอบการมักเป็นแบบทำสัญญาสัมปทานผูกขาดกิจการกับรัฐ, หลายกลุ่มทำธุรกิจด้านสื่อสารไฮเทค, และสำหรับกลุ่มที่นำบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีมูลค่าหุ้นค่อนข้างสูงในระดับต้น ๆ
นั่นสะท้อนว่าความสำเร็จทางธุรกิจของพวกเขาที่ผ่านมาต้องอาศัยทักษะด้าน know-who ไม่ด้อยไปกว่าด้าน know-how หากยืมถ้อยคำสำนวนของนายอานันท์ ปันยารชุนมากล่าว
ในแง่พัฒนาการและแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ อัมมาร สยามวาลา ได้กล่าวในการบรรยายสาธารณะหัวข้อ "ครึ่งศตวรรษเศรษฐกิจไทย" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ ๒๘ ก.ย. ศกนี้ ("อัมมารวิพากษ์ทุนนิยมระบบใหม่จับตา Dual Track สไตล์แม้ว," มติชนรายวัน, ๒๙ ก.ย. ๒๕๔๖, น. ๒) ว่าสภาพปัจจุบันนับเป็นระยะที่ ๓ ของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจไทยสืบต่อจาก: -
ระยะที่ ๑) ทุนนิยมระบบราชการ (bureaucratic capitalism) ซึ่งอำนาจการจัดสรรทุนอยู่ที่ระบบราชการ, ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึงการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามใน พ.ศ. ๒๕๐๐
ระยะที่ ๒) ทุนนิยมนายธนาคาร (banker capitalism) ซึ่งอำนาจการจัดสรรทุนอยู่ที่นายธนาคาร, ตั้งแต่สิ้นรัฐบาลจอมพล ป. แล้วเริ่มการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เต็มตัวใน พ.ศ. ๒๕๐๑ มาสิ้นสุดลงในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดของไทยเมื่อกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังผลให้อัมมารฟันธงว่า "ในความคิดของผม ทุนนิยมระบบนายธนาคารจะไม่หวนกลับคืนมาอีกแล้วสำหรับระบบเศรษฐกิจไทย"
ระยะที่ ๓) ทุนนิยมแบบประชานิยม (populist capitalism) นี่คือชื่อที่อัมมารเรียกแบบจำลองการพัฒนาของรัฐบาลทักษิณ ในการบรรยายเนื้อหาใกล้เคียงกันในงานเลี้ยงอาหารเที่ยงของสโมสรโรตารี่เมื่อ ๑๙ สิงหาคม ศกนี้
(Nareerat Wiriyapong, "Populist Capitalism lifting consumption but not efficiency," Bangkok Post, 20 August 2003, Business Section, p. 1)
อย่างไรก็ตาม ชื่อ "ทุนนิยมแบบประชานิยม" คลุมเครือกว่า ๒ ชื่อแรกในแง่อำนาจการจัดสรรทุนว่าอยู่ที่ใครกันแน่ และอัมมารก็ระมัดระวังไม่ด่วนสรุปเรื่องนี้ โดยบอกว่า: -
"จะเป็นทุนนิยมของใคร ผมไม่มีคำตอบ ส่วนรูปแบบที่จะเกิดอาจมีหลายรูปแบบ ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐหรือคนในรัฐจะเป็นผู้จัดสรรทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป
(ขอให้เทียบกับธีรยุทธซึ่งระบุข้างต้นว่า "รัฐกลับเป็นผู้ผูกขาดการจัดสรรผลประโยชน์เศรษฐกิจต่าง ๆ ..." - ผู้เขียน) อีกทั้งเราต้องตั้งคำถามว่า อำนาจการจัดสรรจะอยู่ที่ใคร..." (มติชนรายวัน, ๒๙ ก.ย. ๒๕๔๖, น. ๒)
สำหรับแนวโน้มเกี่ยวกับอำนาจโดยเปรียบเทียบของกลุ่มทุนต่าง
ๆ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ตั้งข้อสังเกตในการบรรยายสาธารณะในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี
๑๔ ตุลาฯ ณ หอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ ๙ สิงหาคม ศกนี้ว่า
("ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิพากษ์สังคมไทยหลัง ๑๔ ตุลา," มติชนรายวัน, ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๖,
น. ๒): -
๑) "ในระบบทุนนิยมแบบโลกาภิวัตน์ ทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและทุนจากหุ้นจะเป็นทุนที่มีความสำคัญ"
๒) ขณะที่ "ทุนที่เกิดจากทุนนิยมล้าหลังคือทุนที่เกิดจากการค้ายาเสพติด ทุนของบ่อนของซ่อง...ทุนที่เกี่ยวกับท้องถิ่นที่มาจากหวยเถื่อน" กลับตกเป็นเป้าโจมตีของทุนหุ้นในฐานะ "แหล่งทุนที่จะเป็นศักยภาพของทุนทางการเมืองได้"
๓) ส่วน "ระบบเศรษฐกิจและระบบธนาคารที่เคยเป็นทุนของการปฏิวัติและทุนทางการเมืองก็พังทลายไป ดังนั้นในระบบธนาคารเป็นอย่างนี้ จะมีทุนใดที่จะทัดเทียมทุนหุ้นเป็นไม่มี" (ตรงกับบทสรุปเกี่ยวกับทุนนิยมนายธนาคารของอัมมารข้างต้น)
ความใหม่ทางการเมืองของระบอบทักษิณอยู่ตรงกลุ่มทุนใหม่แห่งพรรคไทยรักไทยได้เข้ายึดกุมอำนาจรัฐเอง บริหารเองโดยตรง แทนที่จะเป็นการบริหารเพื่อทุนนิยมผ่านตัวแทน เช่น ทหาร, เทคโนแครตหรือนักเลือกตั้งดังก่อน
ระบอบทักษิณยังได้ริเริ่มการคิดใหม่ทำใหม่เชิงนโยบาย
(policy innovation สำหรับประเด็นนี้อัมมารไม่เห็นด้วย) และการคิดใหม่ทำใหม่เชิงการพัฒนา
(development innovation) ที่สำคัญบางอย่าง เพื่อกอบกู้-ปกป้อง-ปฏิรูป-ชี้นำทุนนิยมไทยในภาวะคับขันหลังวิกฤตเศรษฐกิจให้อยู่รอดได้ในทุนนิยมโลก,
ชูธงทุนไทยต่อรองกับทุนต่างชาติ
(ประมวลจาก สุวินัย ภรณวลัย, ทัศนะวิพากษ์เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ," ฟ้าเดียวกัน,
๑: ๓ (ก.ค.-ก.ย. ๒๕๔๖), ๕๘-๕๙; สุวินัย ภรณวลัย, สัมภาษณ์โดยสุรพล ธรรมร่มดี,
"เข้าใจสรรพสิ่งด้วยแถบสีแห่งวิวัฒนาการของจิตและสังคมมนุษย์," October, ๒ (มีนาคม
๒๕๔๖), ๒๓๒, ๒๓๗-๓๘; สินีพร มฤคพิทักษ์, "'คุณทักษิณเป็นนายทุนเต็มตัว ต้องการปฏิรูปทุนน้อย
แต่เขาไม่ใช่นักสังคมนิยม' ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ," เนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๒:
๕๘๕ (๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๖), ๒๒-๒๓; และ "ชัยอนันต์ สมุทวณิชวิพากษ์สังคมไทยหลัง
๑๔ ตุลา")
จนได้รับการเปรียบเปรยยกย่องประดุจฉินซีฮ่องเต้ผู้นำอำนาจรัฐเด็ดขาดเข้มแข็งมารับใช้ทุนไทย (ความ เห็นประจำคงเส้นคงวาของ บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ เช่นในบทความ "ความเข้มแข็งหารสองของประเทศไทย...อีกครั้ง," มติชนรายวัน, ๑๔ ก.พ. ๒๕๔๖, น. ๖; หรือ "ซีอีโอต้นแบบ," มติชนรายวัน, ๑๕ ก.ย. ๒๕๔๖, น.๖ เป็นต้น)
เป็นชาตินิยมแบบใหม่ผ่านผู้นำคนเดียวที่รู้จักจัดการอธิปไตยไทยซึ่งจำเป็นแก่การต่อรองอยู่ร่วมกับมหา อำนาจเดี่ยวอเมริกา ("ชัยอนันต์ สมุทวณิชวิพากษ์สังคมไทยหลัง ๑๔ ตุลา") และเป็นระบบ "ทุนนิยมโดยรัฐ" (สุวินัย, "ทัศนะวิพากษ์ฯ" ซึ่งสรุปคล้ายธีรยุทธ เทียบกับการสงวนความ เห็นของอัมมารข้างต้นที่ยังไม่อาจสรุปชัดเจนว่ารัฐหรือคนในรัฐจะเป็นผู้จัดสรรทุน) ยิ่งกว่านั้น ในความเห็นของผาสุก พงษ์ไพจิตรกับคริส เบเคอร์ รัฐบาลทักษิณยังกระทั่งทำให้ทุนนิยมยิ่งแผ่ขยายกว้างและหยั่งรากลึกขึ้นในประเทศไทยด้วยซ้ำ ("extending & deepening capitalism in Thailand" ในการนำเสนอของทั้งคู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อมีนาคม ศกนี้)
น่าสนใจที่ทั้งนักวิชาการผู้วิจารณ์รัฐบาลทักษิณอย่างธีรยุทธ,
ผาสุกและเบเคอร์ และนักวิชาการที่เห็นอกเห็นใจรัฐบาลอย่างณรงค์ เพ็ชรประเสริฐและสุวินัย
ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าหลักนโยบายของระบอบทักษิณโดยเนื้อแท้เป็นทุนนิยมเต็มตัว
ไม่มีอะไร"สังคมนิยม" เกี่ยวกับมันเลย ตรงข้ามกับความเข้าใจนโยบายตัวเองของนายกฯทักษิณ
(Yuwadee Tunyasiri, "Thaksin to push on with 'parallel policy'," Bangkok Post,
7 September 2003, p.3) และทรรศนะของ "ทักษิณา" ในมติชนสุดสัปดาห์พอดี (ทักษิณา,
"แนวคิดทักษิณ ชินวัตรกับแนว Social Capitalism และ Dual Track," มติชนสุดสัปดาห์,
๒๓: ๑๒๐๖ (๒๖ ก.ย. ๒๕๔๖), ๘)
"ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (Elected Capitalist Absolutism)"
เราจะเข้าใจระบอบทักษิณว่าอย่างไรดี?
ความพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ระบอบทักษิณต่อไปนี้ประมวลสังเคราะห์ขึ้นมาจากข่าว สารข้อมูลและทรรศนะเชิงวิเคราะห์ของปัญญาชนสาธารณะและนักวิชาการบางท่านทั้งฝ่ายที่มองรัฐบาลในแง่เห็นอกเห็นใจ (เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช, สุวินัย ภรณวลัย), ในแง่เห็นขีดจำกัดข้อบกพร่อง (เช่น อัมมาร สยามวาลา, ผาสุก พงษ์ไพจิตร, คริส เบเคอร์, ธีรยุทธ บุญมี, รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, เอนก เหล่าธรรมทัศน์, บรรเจิด สิงคะเนติ, เวียงรัฐ เนติโพธิ์), รวมทั้งบุคคลในทีมที่ปรึกษาและคณะทำงานของรัฐบาลเอง (เช่น โอฬาร ไชยประวัติ, ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ) แน่นอนว่า การยอมรับหนี้ทางปัญญาข้างต้นมิได้หมายถึงการโบ้ยบอกปัดความรับผิด ชอบของผู้เขียนในการเลือกสรร ตีความและประกอบต่อเข้าด้วยกันเป็นภาพรวมซึ่งชิ้นส่วนทางความคิดเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม แวบประกายความคิดที่จุดใจผู้เขียนให้สว่างวาบขึ้นจนพลันคิดรวบยอดปัญหา "ระบอบทักษิณ" ได้ มาจากรายงานของนักศึกษาผู้หนึ่งที่ทำส่งวิชาสัมมนาปัญหาการเมืองการปกครองของไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้อความสำคัญที่คุณ ๔๓๐๓๖๘๐๑๑๒ เขียนมีว่า: -
"ตามบทสรุปของ Ben Anderson ในบทความ "ศึกษารัฐไทย: วิพากษ์ไทยคดีศึกษา" นั้น ปัญหาการเมืองที่แท้จริงของสยาม/ไทย ก็คือ ยังไม่มีการแตกหักอย่างเด็ดขาดจากระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ อันหมายถึงการแตกหักแบบที่ประชาชนลุกฮือเข้าร่วมและขับเคลื่อนด้วยแนวคิดที่มุ่งเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคนและลัทธิชาตินิยมของมวลชน คำถามที่น่าสนใจก็คือ มาจนถึงระบอบทักษิณในปัจจุบันและแน่นอนว่าต้องเรื่อยไปยังอนาคต (อันใกล้หรืออาจจะไกล) ปัญหาการเมืองไทยดังกล่าวแก้ตกหรือยัง? หรือยังไม่แก้? และถ้ายัง, มันได้กลายตัวเปลี่ยนรูปการแสดงออกไปบ้างหรือไม่อย่างไร?
"ซึ่งรายงานจะตอบคำถามนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกแก้ ทว่าได้กลายตัวเปลี่ยนรูปการแสดงไป โดยระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์ก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็มีการเปลี่ยนผู้กุมอำนาจ จากทหารในรัฐราชการ ไปสู่นักเลือกตั้งในห้วงเวลาสั้น ๆ จากนั้นก็กลายมาเป็นนายทุนที่มีอำนาจสัมบูรณาญาสิทธิ์ไม่ด้อยไปกว่าสมัยสฤษดิ์ อันมีที่มาจากการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน....."
แน่นอน สิ่งที่นักศึกษาผู้นี้หมายถึงมิใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ในอดีตเพราะผู้ปกครองมิใช่พระราชา, หากเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของคณะกรรมการจัดการผลประโยชน์ร่วมของชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย (capitalist political CEO), ผู้ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง (elected) และใช้อำนาจนั้นแบบอาญาสิทธิ์ (absolute power)
เพราะฉะนั้น เมื่อประมวลเชื้อมูลลักษณะสำคัญทางการเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้วคิดรวบยอด ก็อาจจะเรียกระบอบนี้ได้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนหรือระบอบอาญาสิทธิ์ทุนนิยมจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism) โดยชื่อที่ตั้งมิใช่เป็นเพียงการประดิษฐ์คำ หากแต่ละองค์ประกอบของมันมีความหมายเป็นแก่นสารสาระ กล่าวคือ: -
ลักษณะสมบูรณาญาสิทธิทุนในแง่การใช้อำนาจการเมือง
นี่เป็นระบอบที่พยายามรวมศูนย์อำนาจ สร้างเสริมความเข้มแข็งและการจัดการบริหารอย่างสมเหตุ
สมผลให้แก่รัฐ (rationalizing, centralizing & strengthening the state) โดยรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาดที่หัวหน้าฝ่ายบริหาร
ใช้อำนาจรัฐแก้ปัญหา เพื่อการนี้ ระบอบได้แสดงให้เห็นว่ามีความโน้มเอียงและความพร้อมที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพในร่างกาย
ชีวิต ทรัพย์สินของพลเมือง ก้าวล่วงรัฐธรรมนูญ ผูกขาดการเมือง และอุปถัมภ์ชาวบ้าน
กล่าวเฉพาะในแง่การใช้อำนาจการเมือง
ระบอบนี้ค่อนข้างมีลักษณะ "คิดเก่า ทำเก่า" รับทอดมรดกรัฐในยุคสงครามเย็น-ปราบคอมมิวนิสต์มา
และสืบสานต่อเนื่องธรรมเนียมการใช้อำนาจแบบอาญาสิทธิ์และเจ้าขุนมูลนาย, รวมศูนย์และผูกขาดอธิปัตย์
(absolutist & sakdina, centralist & monist tradition) ของรัฐไทยต่อไป
(จากข้อวิเคราะห์ลักษณะรัฐไทยของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนัคราประชาธิปไตยฯ,
๒๕๓๘) ซึ่งเท่ากับรื้อโละมรดกหลักนิติรัฐ (the rule of law) ซึ่งสถาปนาขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕ เลยทีเดียว (คำวิจารณ์ของ บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
อ้างใน Pradit Ruangdit, "A terribly important short-cut?," Bangkok Post, 23
August 2003)
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนได้ใช้อำนาจบริหารเข้มแข็งเด็ดขาดนั้นไปกำราบและปฏิรูปกลไกรัฐราชการที่อืดอาดเฉื่อยเนือยหย่อนยาน คอรัปชั่น ชอบปกครองควบคุม ไม่ค่อยรับใช้บริการ และมีอิสระโดยสัมพัทธ์มาก, ทำให้กลไกรัฐราชการยอมรับและเป็นเครื่องมือเชื่อง ๆ ว่านอนสอนง่ายแก่การนำทางการเมืองการบริหารของกลุ่มทุนใหญ่ (ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มทุนใหญ่ ๘ กลุ่มหลักของพรรคไทยรักไทยปรากฎใน ศัลยา ประชาชาติ, "วิจัยร้อน 'สถาบันพระปกเกล้า' เปิดถุงเงิน 'อีแต๋น-ดาวเทียม' ทุนต่างพรรคแต่ใจเดียวกัน," มติชนสุดสัปดาห์, ๒๓: ๑๒๐๓ (๕ ก.ย. ๒๕๔๖), ๑๖)
พร้อมกันนั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนก็ใช้อำนาจรัฐ "ทำสงคราม" แก้ปัญหาวิกฤตของชาติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาทิ สงครามปราบปรามยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า สงครามปราบปรามผู้มีอิทธิพล ฯลฯ โดยไม่จำกัดวิธีการแก้ไขแต่ในกรอบศีลธรรมและขอบเขตกฎหมาย และกลับได้รับคะแนนนิยมจากมหาชนอย่างกว้างขวางเพราะการนั้น ดังที่พระราชวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ โคราช ผู้ทรงฐานะบทบาทสำคัญเสมือนหนึ่งหลวงพ่อประจำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้เทศนายกย่องสนับสนุนแนวทางแก้วิกฤตของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรที่เดินทางเข้านมัสการเมื่อ ๒๙ ก.ย. ศกนี้ว่า: -
"ดีแล้วที่เกิดมาสร้างบารมี มาช่วยชาติ ถ้าไม่มีมึง ยาบ้าไม่หมดแน่นอน กลัวแต่ว่าเมื่อหมดอำนาจแล้ว จะไม่มีคนมาทำแทน ยาบ้าก็จะมาอีก จะหาคนอย่างมึงมันยากเต็มที นับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ก็มีมึงนี่แหละ เป็นคนสำคัญมาเกิด มากู้ประเทศชาติได้ทันเวลา..... คนค้าคนขายยาบ้าเอาไปขังคุกขื่อคา มันไม่จำ ยาบ้าเกิดที่ไหนดับที่นั่น ฆ่าคนขายยาบ้าบาปเท่ากับตบยุงตาย ๑ ตัว มึงไม่ต้องไปกลัวมันหรอก อย่าให้มันอยู่รกแผ่นดิน ไม่ต้องให้มันไปติดคุก มันก็ไปนอนกินยาบ้าในคุกสบาย เดี๋ยวก็ออกทำเหมือนเดิม"
("หลวงพ่อคูณชู 'แม้ว' เทียบ 'สฤษดิ์'," มติชนรายวัน, ๓๐ ก.ย. ๒๕๔๖, น. ๑๔)
เราจะเข้าใจวิธีคิดแบบนี้ว่าอย่างไรดี? ข้อถกเถียงดีที่สุดที่พอจะช่วยให้สาธุชนเข้าใจได้มาจากตำราคู่มือการเมืองการปกครองลือชื่อเรื่อง "เจ้า" (The Prince, เขียนราว พ.ศ. ๒๐๕๖) ของนิคโคโล มาเคียเวลลี (พ.ศ.๒๐๑๒ - ๒๐๗๐) ชาวอิตาเลียนผู้ได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวคือ เมื่อเผชิญวิกฤตที่คุกคามความอยู่รอดของรัฐ(ชาติ) เจ้าผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องกอบกู้รัฐ(ชาติ)เอาไว้ก่อน ถึงจะต้องละเมิดศีลธรรมและกฎหมายเพื่อการนั้นก็ต้องทำ, เพราะถ้าไม่มีรัฐ, รัฐประสบวิกฤตล่มสลายเสียแล้ว ศีลธรรมและกฎหมายก็จะมีไม่ได้ และวิถีชีวิตปกติสุขในบ้านเมืองก็จะสูญสิ้นไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะ (สมมุติฐานของมาเคียเวลลีที่ว่า) คนเรามีสันดานบาปหยาบช้าโดยธรรมชาติ จะตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและกฎหมายโดยลำพังตัวเองหาได้ไม่ มีแต่ต้องอาศัยรัฐคอยกำกับควบคุมตรวจตราลงโทษให้ยำเกรงเท่านั้น คนเราจึงจะยอมอยู่ในศีลในธรรมและเคารพขื่อแปของบ้านเมือง
จวบจนเมื่อเจ้าผู้ปกครองยอมละเมิดศีลธรรมและกฎหมายเพื่อกอบกู้รัฐ(ชาติ) เอาชาติบ้านเมืองให้อยู่รอดไว้ได้สำเร็จเสร็จแล้วนั่นแหละ บัดนั้นกฎหมายและศีลธรรมจึงจะหวนกลับมาบังเกิดมีขึ้นและธำรงคงอยู่ได้สืบไป.....จนกระทั่งบ้านเมืองค่อย ๆ เสื่อมถอยถึงขั้นวิกฤตอีก และเจ้าผู้ปกครองต้องลงมืออย่างเด็ดขาดเพื่อกอบกู้บ้านเมือง แม้จะต้องละเมิดศีลธรรมและกฎหมายอีก ฯลฯลฯลฯลฯ ad infinitum
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เจ้าผู้ปกครองจำต้องละเมิดศีลธรรมและกฎหมาย -> เพื่อรักษารัฐ(ชาติ)ให้อยู่รอด -> ก็เพื่อจะได้ผดุงรักษาไว้ซึ่งศีลธรรมและกฎหมายในท้ายที่สุดนั่นเอง
ผมยังกับรู้สึกว่านี่อาจพอช่วยให้เข้าใจวิธีคิดเบื้องหลังสงครามปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์, สงครามปราบยาบ้า, สงครามปราบผู้มีอิทธิพล, รวมทั้งรัฐประหารและการฆ่าหมู่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ขึ้นบ้าง.....
หรือหากจะกล่าวด้วยภาษาทฤษฎีบริหารรัฐกิจใหม่ล่าสุด ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายวิธีบริหารใหม่ของรัฐบาลทักษิณเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของชาติทั้งหลายว่าเป็นแบบ "การจัดการประเทศเชิงยุทธศาสตร์" กล่าวคือ "ไขว้ความสัมพันธ์ในแนวราบ" (น่าจะเป็นระหว่างหน่วยงานราชการต่าง ๆ ซึ่งฟังคล้ายสิ่งที่ในภาษาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเรียกว่า "สัมพันธ์ขวาง" แทนที่จะสัมพันธ์แบบขึ้นบน -> ลงล่างตามลำดับชั้นการจัดองค์กรแบบปกติธรรมดา) "ลุยปัญหาเป็นแนวหน้ากระดานทั้งระบบทั่วทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดแรงผลักที่หนักหน่วงพอ (critical mass) ที่จะข้ามห้วงแห่งปัญหา (treshold) ที่หมักหมมมานาน การจัดการเชิงมิติสัมพันธ์ (matrix management) นี้อาศัยยุทธศาสตร์การจัดการอย่างเป็นองค์รวมโดยใช้แนวทาง "พื้นที่-กลุ่มเป้าหมาย, ภารกิจหลัก, การมีส่วนร่วม" (Area, Function, Participation หรือ AFP)" ("สังคมไทยยุคหลังรัฐธรรมนูญ," ผู้จัดการรายวัน, ๙ มิ.ย. ๒๕๔๖) ซึ่งดูจะสะท้อนคล้องจองกับฉากลำดับขั้นตอนการรณรงค์ปราบยาเสพติดทั้งระบบทั่วประเทศที่ผ่านมา
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุน ยังใช้อำนาจรัฐแจกจ่ายงบประมาณ เงินทุน สวัสดิการ อุปถัมภ์ชาวบ้านเจ็บป่วยยากไร้ผ่านกลไกรัฐ
ภาพรวมของวัฒนธรรมการใช้อำนาจรัฐของระบอบนี้จึงดูจะเน้นรัฐ/รัฐนิยม (state/statism), ลดทอนความสำคัญและอิสระของประชาสังคม (civil society) ลง, และปฏิเสธเกลียดชังสิ่งที่ถูกมองเป็น "อนาธิปไตย" (anarchism) หรือนัยหนึ่งพลังหรือบุคคลในรัฐและสังคมที่ไม่เชื่อฟังรัฐ/เสียงข้างมาก ไม่อยู่ในกรอบวิถีแนวทางการนำของรัฐ/มติเสียงข้างมาก เป็นที่สุด การจำกัดอำนาจรัฐและถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยองค์การมหาชนอิสระตามรัฐธรรมนูญได้ถูกแทรกแซง บิดเบน ขัดขวางจากฝ่ายการเมืองจนค่อนข้างล้มเหลว หรือนัยหนึ่งมาตรการตามรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขอำนาจอาญาสิทธิ์ (absolutism) ไม่ทำงาน
ส่วนมาตรการกระจายอำนาจรัฐไปให้พลังสังคมนอกรัฐ (decentralization of power) เพื่อแก้ไขการรวมศูนย์อำนาจโดยรัฐ (state centralism) และมาตรการแบ่งปันอำนาจรัฐไปให้พลังสังคมนอกรัฐ (distribution of power) เพื่อแก้ไขการผูกขาดอธิปัตย์โดยรัฐ (state monism) ถูกบิดเบือนเฉไฉและไม่นำไปปฏิบัติ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)