H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com


เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 332 หัวเรื่อง
บทความเกี่ยวเนื่อง โครงการ
"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน"
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

141246
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

รัฐธรรมนูญใหม่กับปรากฏการณ์ไทยรักไทย

ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

(หมายเหตุ: บทความนี้ สังเคราะห์จากบทความของ ดร.เกษียร เตชะพีระ 3 เรื่องคือ รัฐธรรมนูญใหม่ กับปรากฏการณ์ไทยรักไทย, ปรากฏการณ์ไทยรักไทย จากพรรคอุปถัมภ์สู่พรรคชนชั้น (ต้น) และ ปรากฏการณ์ไทยรักไทย จากพรรคอุปถัมภ์สู่พรรคชนชั้น (จบ) ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาแล้วเห็นว่า บทความทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้อธิบายสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองไทย ได้อย่างดี จึงนำมารวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - เดือนพฤศจิกายน 2546 )

๑. รัฐธรรมนูญใหม่ กับปรากฏการณ์ไทยรักไทย
บนฐานงานศึกษาวิจัยชิ้นใหญ่เรื่อง เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ : บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 (2546) ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองได้เปลี่ยนโฉมการเมืองไทยไปอย่างสำคัญในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยผ่านมาตรการต่างๆ ที่สำคัญดังนี้

ก) รัฐธรรมนูญ 2540 มีอคติว่าด้วยขนาดของพรรคการเมือง เห็นว่าพรรคใหญ่ดีกว่าพรรคเล็ก
ทั้งนี้ มาจากฉันทาคติที่ไร้ข้อพิสูจน์ยืนยันเชิงประจักษ์ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า ระบบทวิพรรคดีกว่าระบบพหุพรรค จึงร่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่มากกว่าพรรคเล็ก โดยผ่านระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อของพรรค (party list) ซึ่งตัดสิทธิพรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่า 5% มิให้ได้ส่วนแบ่ง ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อแต่อย่างใด (under-representation) แต่กลับยกคะแนนเหล่านี้ไปแถมพกให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงกว่า 5% อันเป็นการเปิดช่องให้พรรคใหญ่ได้สัดส่วนที่นั่ง ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อมากกว่าคะแนนเสียงที่พรรคได้จริงจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (over-representation) โดยปริยาย

ข) รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการให้มีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง และนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง (Strong Executive, Strong Prime Minister) จึงวางกฎกติกาต่างๆ เพื่อการนี้ ที่สำคัญได้แก่มาตรา 217 ของรัฐธรรมนูญซึ่งระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ" ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในการปลดรัฐมนตรีอย่างที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ

ช่วยยกฐานะนายกรัฐมนตรีจาก "หัวหน้าหมู่" (first among equals) แต่เดิมให้กลายเป็นเสมือน "ผู้บัญชาการสูงสุด" (Supreme Commander) ของคณะรัฐมนตรี

ผู้เขียนใคร่ขอตีความข้อวิเคราะห์ของรังสรรค์ข้างต้นในทางเศรษฐกิจการเมืองขยายเพิ่มเติมออกไปว่า

1) หากยึดตามข้อเสนอของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (ใน สองนัคราประชาธิปไตย: แนวทางปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อประชาธิปไตย 2538, น. 13-21, 52-53) เป้าปฏิรูปที่แท้จริง ของการนำระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทบัญชีรายชื่อของพรรค (party list) หรือนัยหนึ่งการเลือกผู้แทนตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้ (proportional representation) มาใช้กับการเมืองไทยนั้น อยู่ที่การทำให้การเมืองระดับชาติหลุดพ้นอำนาจครอบงำของผู้แทนท้องถิ่นต่างจังหวัดโดยเฉพาะชนบท (delocalization of national politics) โดยเปิดโอกาสให้พลเมืองผู้ออกเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ได้มีสิทธิเลือกตัวเลือกทางการเมือง (หมายถึงพรรคและ ส.ส. ผู้มีชื่อเสียง ความสามารถโดดเด่นระดับชาติในบัญชีรายชื่อของพรรค) ซึ่งอยู่พ้นบรรดานักเลือกตั้ง-นักการเมืองท้องถิ่นของตนออกไปในระดับชาติ

อีกทั้งช่วยยึดโยงรวบรวมสะสมคะแนนเสียงชาวเมืองส่วนข้างน้อย ซึ่งปกติแตกกระจายและถูกกดกลบโดยเสียงชาวชนบทส่วนข้างมากที่ท่วมท้นเข้าด้วยกัน

ให้คะแนนเสียงชาวเมืองสามารถสำแดงออกเป็นกลุ่มก้อนอย่างมีพลังมีน้ำหนักมากขึ้น

ลึกๆ แล้ว ระบบเลือกตั้ง ส.ส. partylist จึงสะท้อน อคติเข้าข้างเมือง หรือ urban bias ของรัฐธรรมนูญ

2) ข้อวิเคราะห์ของรังสรรค์ที่ว่า รัฐธรรมนูญมีอคติว่าด้วยขนาดของพรรคนั้น เมื่อพิจารณาดูในบริบทของระบบการเมืองแบบเลือกตั้งปัจจุบัน ที่ต้องพึ่งพาเงินเป็นทรัพยากรหลักในการสร้างพรรค และรณรงค์โฆษณาหาเสียง (money politics)แล้ว อคติว่าด้วยขนาดของพรรคดังกล่าวย่อมแปลตรงตัวไปเป็น อคติว่าด้วยขนาดของทุน ในทางปฏิบัติ นั่นหมายความว่า จะโดยจงใจหรือไร้เจตนาก็ตาม รัฐธรรมนูญมีอคติส่งเสริมอำนาจของทุนใหญ่ในทางการเมืองมากกว่าทุนเล็กโดยอัตโนมัติในความเป็นจริง

3) มาตรการเสริมสร้างอำนาจการนำของฝ่ายบริหาร และนายกรัฐมนตรีให้เข้มแข็งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้หัวหน้าพรรคเป็นใหญ่ และมีอำนาจต่อรองถีบห่างเหนือบรรดาหัวหน้ามุ้งร่วมพรรค และร่วมรัฐบาลมากขึ้นเมื่อเทียบกับในระบบเดิม

กล่าวอีกนัยหนึ่งรัฐธรรมนูญมีอคติเข้าข้างหัวหน้าพรรคเหนือหัวหน้ามุ้งนั่นเอง

เมื่อประมวลข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับอคติประการต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเข้าด้วยกัน ก็พอจะสรุปภาพรวมได้ว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540....

- กลุ่มทุนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
- ขณะที่นักการเมือง-นักเลือกตั้งลดอำนาจลง
- เสียงประชาชนชาวเมืองมีน้ำหนักมากขึ้นในการเมืองระดับชาติ (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งให้คนชั้นกลางในเมืองมีช่องทางที่จะเป็นฐานเสียง และตั้งรัฐบาลได้มากขึ้น)
- ประชาชนชาวชนบทเปลี่ยนฐานะบทบาทจาก ผู้รับการอุปถัมณ์ในเครือข่ายอุปถัมภ์-เลือกตั้งของระบอบเลือกตั้งธิปไตย จากสภาพที่มันเป็นเหมือนร้านโชห่วยรายย่อยของ ส.ส.เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลสังกัดมุ้งนักเลือกตั้งต่างๆ ที่ขายปลีกการอุปถัมภ์แก่ชาวบ้านแต่เดิม ให้กลายเป็นเหมือน superstores/chain stores ในทำนอง Makro, Lotus, Carrefour & 711 (ความเปรียบของชัยอนันต์ สมุทวณิชคือทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นเหมือน "ชุมสายโทรศัพท์")

โดยเดินแนวทางมวลชนแบบ 3 เหมาที่ปรับแก้ให้เข้ากับโมเดลองค์การธุรกิจทุนนิยม : คือเหมาซื้อ, รับเหมาทำแทน, และเหมาลูกค้าหมด

ในฐานะแกนนำไทยรักไทยเป็นนายทุนใหญ่ระดับชาติที่มีฐานในกรุงเทพมหานครฯ, แทนที่พวกเขาจะพึ่งพาเส้นสายนักเลือกตั้งเป็นนายหน้าคนกลางทางการเมือง เพื่อเชื่อมต่อกับชาวบ้านผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยอิงกับสถาบันแห่งระบบรัฐสภาถ่ายเดียวดังแต่ก่อน (หรือนัยหนึ่งแทนที่จะพึ่งพา "ระบบสายพาน" แบบเดิมตามความเปรียบของชัยอนันต์) ซึ่งจะจำกัดอำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่เจ้าของพรรคลงดังที่เคยเป็นมาในระบอบเลือกตั้งธิปไตยก่อนปฏิรูป

พวกเขากลับทำการเมืองเป็นเรื่องนโยบายระดับชาติ ทำการตลาดแบบขายตรงนโยบายให้ชาวบ้านเลยทีเดียว

เข้าสัมพันธ์กับมวลชนลูกค้าโดยตรง เริ่มจากมวลชนลูกค้าและกลับไปสู่มวลชนลูกค้า ผ่านเซลส์แมน และผู้จัดการสาขา โดยมีนโยบายเป็นตัวสินค้า และการอุปถัมภ์เป็นบริการหลังการขาย

จากนั้นก็ค่อยๆ กดดันลดทอนอิทธิพลของนายหน้าคนกลางทางการเมืองตัวใหญ่ๆ ลง, กำราบมุ้งนักเลือกตั้งให้สยบยอมต่อการนำของตน

รื้อปรับเครือข่ายอุปถัมภ์-เลือกตั้งในท้องถิ่นให้มาขึ้นต่อ พรรค - รัฐ - รัฐบาลส่วนกลางมากขึ้น

ลดลักษณะส่วนตัวของเครือข่ายอุปถัมภ์-เลือกตั้งที่เป็นเหมือนสมบัติเฉพาะตัวของ ส.ส.เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลบางคนลง ทำให้มันไม่ใช่เป็นแค่สมบัติส่วนตัวแต่เป็นส่วนแบ่งของพรรคยิ่งขึ้น

เจ้าของร้านโชห่วยทั้งหลาย (หมายถึงบรรดาเจ้าพ่อ หัวคะแนน) จะค่อยแปรสภาพไปเป็นแค่เซลส์แมน และผู้จัดการสาขาของพรรคซึ่งเปรียบเหมือนสำนักงานใหญ่ (headquarters) ของซูเปอร์สโตร์/เซนสโตร์ โดยมีนายกฯ ทักษิณเป็นซีอีโอของพรรค 000000000 นี่ดูเหมือนจะเป็นเค้าโครงการทางการเมือง (political project) ของแกนนำทักษิณ ณ ไทยรักไทยที่จะเปลี่ยนระบบพรรคการเมืองไทยใหม่ไปตามโฉมของตน

๒. ปรากฏการณ์ไทยรักไทย จากพรรคอุปถัมภ์สู่พรรคชนชั้น (ต้น)
ก่อนเกิดปรากฏการณ์ไทยรักไทย ระบบพรรคการเมืองไทยเป็นพรรคอุปถัมภ์ในระบอบเลือกตั้งบนฐานรัฐรวมศูนย์ องค์ประกอบหลักของมันกล่าวโดยสังเขปได้แก่

1) รัฐราชการไทย ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ
- โครงสร้างรัฐรวมศูนย์สูงแต่ขาดเอกภาพ เหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง (overcentralized but underunified state structure, like a fragmented pyramid)
- สัมพันธภาพทางอำนาจระหว่าง [ภาครัฐและภาคเอกชน] กับ [ภาคประชาชน] ขาดสมดุล คืออำนาจเอียงกระเท่เร่เบ้ไปทางภาครัฐเมื่อเทียบกับสังคม, และเอียงกระเท่เร่เบ้ไปทางภาคเอกชนเมื่อเทียบกับภาคประชาชน
- ภาคประชาชนขาดแคลนตัวแทนปากเสียงที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ในสถาบันการเมืองทางการของรัฐทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น

หากกล่าวโดยสรุปตามข้อวิเคราะห์วิจารณ์ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็คือ รัฐไทยมีลักษณะและมรดกทางประวัติศาสตร์ที่รวมศูนย์และผูกขาดอธิปัตย์ (สองนัคราประชาธิปไตย : แนวทางการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ เพื่อประชาธิปไตย, 2538, น.42-43)

2) สังคมทอนกำลังอันเป็นฐานล่างของระบอบเลือกตั้ง
ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยแบบทุนนิยมไม่สมดุล ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืนภายใต้เผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ นับแต่สมัยระบอบสฤษดิ์สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการยักย้ายถ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรขนานใหญ่ ส่งผลให้รัฐใหญ่ ทุนขยาย เมืองโต แต่ชนบทลีบ, สังคมไทยเกิดช่องว่างแตกต่างถ่างห่างจากกันเป็น 2 เสี่ยง ระหว่างชนบทที่ จน-โง่-เจ็บ กับ เมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองโตเดี่ยว

ความแตกต่างนี้นำไปสู่สภาพไม่เข้าใจและมองต่างมุมทางวัฒนธรรมการเมืองซึ่งกันและกัน ระหว่างชนบทที่ถูกคนชั้นกลางในเมืองมองเป็น "ทรราชของเสียงชนบทข้างมาก" (the tyranny of the rural majority) ที่ส่งนักเลือกตั้งเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมาโกงบ้านกินเมือง กับ เมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ถูกชาวนาชาวไร่ในชนบทมองเป็น "สังคมอนารยะ" (uncivil society) ที่ส่งพ่อค้าผู้รับเหมา นักลงทุน นักบริโภค นักท่องเที่ยว มาแย่งชิงทรัพยากรชนบท ใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ และไม่ยั่งยืน

เกิดสภาพ "สองนัคราประชาธิปไตย" (เอนก เหล่าธรรมทัศน์) หรือ "หนึ่งรัฐ สองสังคม" (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, "ศตวรรษที่ 21 กับคำถามต่อนักรัฐศาสตร์", ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 53 ปี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 14 มิ.ย. 2545) ซึ่งทอนกำลังซึ่งกันและกันจนคุมนักเลือกตั้งผู้กุมอำนาจอธิปไตยตามกฎหมายไม่ได้

3) หัวคะแนน
หัวคะแนนราว 1 ล้านคนเป็นห่วงโซ่ยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ออกเสียงเลือกตั้ง-รับการอุปถัมภ์ในชนบททั่วประเทศ เข้ากับ นักเลือกตั้งผู้อุปถัมภ์และกุมอำนาจรัฐในกรุงเทพฯ, ทำหน้าที่หาและรวบรวมคะแนนเสียงเป็นกลุ่มก้อนให้เจ้านายผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และส่งเงินรวมทั้งข้าวของทรัพยากรต่างๆ ให้ชาวบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นการตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรณรงค์หาเสียง

หัวคะแนนเหล่านี้ตั้งรกรากเป็นหลักเป็นฐานอยู่ในเครือข่ายท้องถิ่น ที่เชื่อมโยงครอบคลุมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต., อบจ. ฯลฯ) หน่วยราชการ ธุรกิจเอกชน พระเณร ครู และธุรกิจผิดกฎหมายใต้ดิน พวกเขาเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของชาวบ้าน โดยค่อยๆสร้างสมอิทธิพลขึ้นมา ผ่านการหมั่นติดต่อสัมพันธ์ รู้จักมักคุ้น อุปถัมภ์ช่วยเหลือชาวบ้านเป็นประจำต่อเนื่องกันยาวนาน ไม่ว่าจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากเดือดร้อนต่างๆ หาช่องทางเข้าถึงทรัพยากรที่หายาก และเป็นคนกลางคอยประสาน-เวลาชาวบ้านจำต้องติดต่อกับคนภายนอกที่เป็นตัวแทนของรัฐและตลาดซึ่งพวกเขาไม่คุ้นเคย-

ดังนั้นเอง หัวคะแนนจึงเป็นเสมือน ตลาดผู้ปฏิบัติงานการเมืองที่ในท้องถิ่นหนึ่งๆ มีตัวเลือกจำกัดเพื่อประกันชัยชนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะขาดพวกเขาไม่ได้ แถมจู่ๆ เกิดเหตุร้ายฉุกละหุกอะไรขึ้นมา จะหาตัวสำรองมาแทนหัวคะแนนเหล่านี้บัดเดี๋ยวนั้นก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกว่าจะสร้างตัวเป็นหัวคะแนนขึ้นมาในท้องที่หนึ่งๆ ได้ก็ต้องใช้เวลาซื้อใจชาวบ้าน ไม่เหมือนหาผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือนายทุนหนุนหลังสำรอง ซึ่งหาง่ายกว่าเพราะไม่ถูกจำกัดปิดกั้นโดยท้องที่ ทำให้มีตัวเลือกมากกว่า

ผลลัพธ์มรณะน่าอเนจอนาถอย่างหนึ่งของการนี้ก็คือ เมื่อใกล้ฤดูเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หัวคะแนนท้องถิ่นมักจะตกเป็นเป้าสังหารหลักของมือปืนที่ผู้สมัครคู่แข่งจ้างวานมา ฉะนั้นพวกเขาก็เลยมักต้องตายก่อนเพื่อน กลายเป็นวีรชนจำใจแห่ง "ระบอบประชาธิปไตย" จากการเลือกตั้ง

4) นักเลือกตั้ง-ผู้มีอิทธิพล-ผู้อุปถัมภ์
นี่คือที่ตั้งแกนกลางของผู้กุมอำนาจในระบอบเลือกตั้งธิปไตย พวกเขาขึ้นชื่อว่าสังกัดพรรค แต่ความจริงอยู่เป็นมุ้งหรือคอก (factions) อุดมการณ์คือมุ่งหน้าร่วมรัฐบาลให้จงได้ อาศัยจำนวน ส.ส.ลูกมุ้งต่อรองเอาเก้าอี้รัฐมนตรีให้หัวหน้าและแกนนำมุ้งตามหลักคณิตศาสตร์การเมือง จะสังเกตได้ว่าในการเมืองระบอบเลือกตั้งธิปไตยไทย พรรคการเมืองค่อนข้างไร้เสถียรภาพ เดี๋ยวตั้งเดี๋ยวยุบ ขณะมุ้งการเมืองก่อตัวเกาะติดกันเหนียวแน่นมั่นคงกว่าคงรวมตัวอยู่เป็นมุ้งเดียวถึงจะย้ายมา 3-4 พรรคแล้วก็ตาม เอาเข้าจริงมุ้ง is everything, ส่วนพรรค is nothing

ในมุ้งนี่แหละที่เกิดกระบวนการประมวลรวบยอดผลประโยชน์ (interest aggregation) เฉพาะผลประโยชน์ของเครือข่ายเลือกตั้ง-อุปถัมภ์ต่างๆ ทว่าไม่กำเนิดกระบวนการสร้างทางเลือกเชิงนโยบาย (policy alternatives) จริงจังต่อเศรษฐกิจมหภาคของชาติหรือต่อชนบทโดยรวม ซึ่งส่วนมากมักวางกรอบแนวทางใหญ่ๆ มาจากสถาบันเทคโนแครตของรัฐ

5) คณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในระบอบเลือกตั้งธิปไตยคือที่ประชุมคณะกรรมการบริหารผลประโยชน์ของบรรดาหัวหน้ามุ้ง เพื่อแจกจ่ายการอุปถัมภ์จากรัฐไปตามเส้นสายมุ้งสู่ -> ส.ส.ลูกมุ้ง -> หัวคะแนน -> ถึงผู้ออกเสียงในเขตเลือกตั้งของตน, นายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นแค่อภิมหาหัวหน้ามุ้ง (firsts among equals), อำนาจต่อรองของนายกฯ จึงไม่มาก, มักถูกหัวหน้ามุ้งร่วมรัฐบาลข่มขู่ถอนตัวบ่อยๆ

ก่อนปรากฏการณ์ไทยรักไทย ระบบพรรคอุปถัมภ์ในระบอบเลือกตั้งบนฐานรัฐรวมศูนย์ ได้กลายเป็นตัวการขัดขวางและสลายการเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มมวลชนและชนชั้นต่างๆ ในสังคมอย่างเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง (autonomous & independent organized articulation of class interests & demands) หากกลุ่มชนและชนชั้นใดไม่มีเส้นสายอุปถัมภ์กับนักเลือกตั้ง พวกเขาก็ประสบปัญหาที่จะเรียกร้องและนำเสนอผลประโยชน์ของตนให้เข้าถึงและเข้าสู่ระบบการเมือง ความนี้เป็นจริงแม้ในกรณีชนชั้นนายทุนเอง ดังที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิเคราะห์ฟันธงไว้อย่างรวมศูนย์ใน รัฐไทยในศตวรรษที่ 21: ปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 46 ปี สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ (2543) ว่า:-

"การไม่มีทั้งลักษณะประชาชาติและลักษณะทางชนชั้น ทำให้พรรคการเมืองในประเทศไทยกลายเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์โดยตัวเอง เป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ของบุคคลจากชั้นชนต่างๆ ที่มุ่งดูดถ่ายผลประโยชน์ที่รัฐเอามาจากสังคมมาสู่กลุ่มของตน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกอะไรเลยที่พรรคการเมืองในประเทศไทยมักไม่มีนโยบายที่แตกต่างกันชัดเจน" (น.28)

"ความโน้มเอียงของรัฐไทยในปัจจุบันไม่ใช่รัฐที่เลือกบริการชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หากเป็นรัฐที่เอาประโยชน์จากทุกชนชั้น รวมทั้งชนชั้นนายทุนด้วย เมื่อใครให้ได้มากก็บริการมาก หากเป็นบริการที่ให้กับกลุ่มย่อยมากกว่าที่จะเป็นแนวนโยบายทั่วไป" (น.29)

ขณะเดียวกัน บทบาทประมวลรวบยอดผลประโยชน์ของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในสังคมเพื่อสร้างเป็นนโยบายซึ่งเทคโนแครตเคยทำ ก็กลับถูกละวางทอดทิ้งไปทุกที เพราะเทคโนแครตรุ่นหลังอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพลง และถูกนักเลือกตั้งเล่นการเมือง (politicized) จนหยุดทำงาน

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จึงเป็นผู้มาวางกรอบนโยบายให้แทน บนฐานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนการเงินข้ามชาติ แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนหรือกลุ่มทุนไทย

ก่อนที่ปรากฏการณ์ไทยรักไทยจะเข้ามาผลักดันเปลี่ยนแปลงระบบพรรคการเมืองไทย จากพรรคอุปถัมภ์ไปสู่พรรคชนชั้นของกลุ่มทุนใหญ่โดยตรง

๓. ปรากฏการณ์ไทยรักไทย จากพรรคอุปถัมภ์สู่พรรคชนชั้น (จบ)
Dr.James Ockey อดีตศิษย์เก่าร่วมรุ่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และปัจจุบันเป็นผู้บรรยายอาวุโส คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเตอร์เบอรี่ เมืองไครส์ตเชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ได้เกาะติดศึกษาวิจัยการเมืองในระบอบเลือกตั้งไทยอย่างต่อเนื่องมาสิบกว่าปี

ล่าสุด ดอกเตอร์โอ๊กกี้ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ไทยรักไทย ไว้ในบทความเรื่อง "Change and Continuity in the Thai Political Party System" ในวารสารวิชาการ Asian Survey (2546) ซึ่งมีประเด็นแง่มุมการวิเคราะห์ที่น่าสนใจใคร่นำมาปรับประยุกต์เล่าต่อดังนี้

ปมเงื่อนที่จะใช้ตรวจวัดว่า พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนระบบพรรคการเมืองไทยไปแค่ไหนเพียงใดก็คือ ไทยรักไทยจะต้อง "เปลี่ยนรูปการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับมุ้งเสียใหม่" ซึ่งจากการสำรวจ 4 ปริมณฑลหลัก พบผลดังนี้

1) การวางหลักนโยบายของพรรค
เดิมที - มีแต่การอุปถัมถ์รายปลีกของมุ้งแต่ละมุ้งและ ส.ส. แต่ละคนเพื่อเคลมเครดิตเข้ามุ้งหรือเข้าตัวโดยไร้การพัฒนาเป็นนโยบายภาพรวมของพรรค

ทำใหม่ - พรรคไทยรักไทยสร้าง นโยบายประชานิยมเพื่อทุนนิยม ที่ขายตรงให้ทั้งคนชนบทรากหญ้ายากไร้ (เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน, พักชำระหนี้เกษตรกร, 30 บาทรักษาทุกโรค, แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ฯลฯ) กับกลุ่มทุนไทยเอ็นพีแอลในกรุง (เช่น นโยบายก่อตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เพื่อซื้อโอนหนี้เน่าจากธนาคารพาณิชย์มาบริหาร, แนวนโยบายเอื้ออาทรทุนไทยโดยทั่วไป ฯลฯ) โดยนโยบาย

2 ด้านถูกยึดโยงเข้าไว้ด้วยกันด้วย วาทกรรมชาตินิยม ที่ป่าวร้องผลประโยชน์ไทยทั้งในชนบทและธุรกิจเมืองต่อสู้กับ IMF

2) ยุทธศาสตร์สร้างรัฐบาลผสม
เดิมที - รัฐบาลชุดต่างๆ ในระบอบเลือกตั้งธิปไตยที่ผ่านมาจะเดินยุทธศาสตร์สร้างรัฐบาลผสมแบบ "ยำเล็กสุดแซบชนะ+สำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด" (a minimum winning coalition, plus a safety margin) กล่าวคือ ระดมรวบรวม ส.ส.ต่างพรรคต่างมุ้งมาเข้าร่วมรัฐบาลให้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส ในสภาผู้แทนราษฎรไปในระดับไม่มากนัก โดยบวกสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้นิดหน่อยเท่าที่จำเป็น ในกรณีบางมุ้งการเมืองเกิดถอนตัว (=กึ่งหนึ่งของสภาฯ+1+ สำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด)

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้สามารถแบ่งสันปันส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีแก่มุ้งการเมืองต่างๆ ที่เข้าร่วมรัฐบาลได้ทั่วถึงอิ่มหนำสำราญพออกพอใจกันทั่วหน้า ตามสูตรคณิตศาสตร์การเมืองที่คิดโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีอิงจำนวน ส.ส.ในแต่ละมุ้ง (ตกราว 5-7 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี)

ทำใหม่ - พรรคไทยรักไทยแปลงสูตรผสมรัฐบาลไปเป็นยุทธศาสตร์ "ยำใหญ่" (the grand coalition strategy) กล่าวคือดึง ส.ส.ต่างพรรคต่างมุ้งเข้าร่วมรัฐบาลให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่มากได้ ด้วยวิธีดูดซื้อ ส.ส.ต่างพรรค และยุบควบรวมกิจการของพรรคอื่นเข้ามา (merger & acquisition) จนกระทั่งเหลือจำนวน ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไม่พอยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป

ผลของยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งต้องอาศัยกำลังทุนหนุนหลังใหญ่โตอู้ฟู่พอจึงจะทำได้นี้ นอกจากเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งนายกฯในสภาฯแล้ว ยังเป็นการลดทอนอำนาจต่อรองของแต่ละมุ้งแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลที่จะบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลผสมลง และเพิ่มอำนาจควบคุมของหัวหน้าพรรคใหญ่เหนือมุ้งทั้งหลาย ไม่ว่ามุ้งร่วมพรรคหรือต่างพรรคมากขึ้น

3) การจัดสรรแจกจ่ายการอุปถัมภ์
เดิมที - การอุปถัมภ์มักทำกันเป็นรายปลีกรายย่อย โดยส่งผ่านเงินงบประมาณ สัมปทาน ใบอนุญาต โครงการก่อสร้าง ค่าเช่าเศรษฐกิจหรือส่วยประดามีที่อาศัยอำนาจฝ่ายบริหารฉกฉวยได้มา ฯลฯ ไหลเวียนจากเก้าอี้รัฐมนตรีสู่ -> มุ้งซึ่งจะควบคุมการจัดสรรแจกจ่ายผลประโยชน์ต่อไปยัง -> หัวคะแนนและชาวบ้านในเครือข่ายอุปถัมภ์

ทำใหม่ - เปลี่ยนเป็น การอุปถัมภ์โดยรัฐอย่างถูกกฎหมาย (legalized state patronage) หรือที่มักเรียกกันว่า "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" ซึ่งให้ก้อนผลประโยชน์มหาศาลชนิดการอุปถัมภ์รายปลีกรายย่อยแบบเก่าซึ่งผิดกฎหมายเทียบไม่ติด เช่น กรณีการออกพระราชกำหนดแปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม ยุติการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แก่องค์กรโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แล้วเก็บภาษีสรรพสามิตแทน มูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาท เป็นต้น

4) เครือข่ายเลือกตั้งและการซื้อเสียง
เดิมที - เครือข่ายเลือกตั้งและการซื้อเสียงเป็นของมุ้งการเมืองและ ส.ส.ผู้มีอิทธิพลรายคน, พรรคเป็นฝ่ายอาศัยพึ่งพาเครือข่ายเลือกตั้ง-อุปถัมภ์ของมุ้งและ ส.ส.เหล่านี้

ยังไม่ทำใหม่ - ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งหลังที่ผ่านมา มีการประกาศนโยบายและแสดงความพยายามที่จะขจัดผู้มีอิทธิพลหรือนายหน้าคนกลางทางการเมืองรายใหญ่ๆ ลง ทว่ากระบวนการที่องค์การจัดตั้งของพรรคจะคัดสรรบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงาน เกาะติดยึดกุมมวลชน หยั่งรากเติบใหญ่ในแต่ละพื้นที่ได้เข้มแข็งมั่นคงพอ จนสามารถเข้าแย่งยึดเครือข่ายเลือกตั้งเก่า หรือพัฒนาเครือข่ายเลือกตั้งใหม่ของพรรคเองขึ้นแทนที่ยังไม่ปรากฏประจักษ์ชัดและไม่ง่ายที่จะทำในเวลาอันสั้น

ทั้งนี้ ปมเงื่อนใจกลางอยู่ตรงต้องทำลายห่วงโซ่สัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างมุ้งการเมืองกับชาวบ้านผู้ออกเสียงให้แตกหักสะบั้นลง-ซึ่งก็คือตัดหัวคะแนนทิ้งนั่นเอง

จากบทวิเคราะห์ข้างต้น พอประมวลสรุปเป็นข้อสังเกตส่งท้ายได้ว่า

1) ปมเงื่อนของความเปลี่ยนแปลงในระบบพรรคการเมืองไทย จากพรรคอุปถัมภ์สู่พรรคชนชั้น เกิดจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2540 โดยการกล้า "คิดใหม่ ทำใหม่" ของไทยรักไทยมีส่วนสำคัญในการรู้เลือกหยิบฉวยใช้ประโยชน์ "แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส" มาเสริมสร้างอำนาจพรรค

ข้อสังเกตของดอกเตอร์โอ๊กกี้นี้ มีจุดเน้นต่างจากการวิเคราะห์ตีความของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ให้น้ำหนักกับกรอบบทบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยรังสรรค์ชี้ว่า รัฐธรรมนูญมีอคติเกี่ยวกับขนาดของพรรคการเมือง คือลงโทษพรรคเล็กที่ได้คะแนน Party List ต่ำกว่า 5% ของผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยไม่ให้พรรคเหล่านั้นมี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรค แต่เอื้อประโยชน์พรรคใหญ่ที่ได้คะแนน Party List สูงกว่า 5% โดยถ่ายโอนส่วนแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเล็กแถมพกไปให้ ("ทักษิณาธิปไตยในมุมมอง "รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" ระบอบการเมืองของทักษิณ โดยทักษิณ เพื่อทักษิณ", สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, 50:9 (25-31 กรกฎาคม พ.ศ.2546), 10-12)

ขณะที่ชัยอนันต์เห็นว่ากรอบรัฐธรรมนูญซึ่งเอื้อให้มีพรรคเดียว เกิดจากนักวิชาการไทยเข้าใจสังคมไทยผิดหมด ไปลอกเลียนระบบสองพรรคมา ทั้งที่ดูจากความเป็นจริงของสังคมไทยแล้วควรจะมีได้ 3-5 พรรค ("ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิพากษ์สังคมไทยหลัง 14 ตุลา", มติชนรายวัน, 10 ส.ค.2546, น.2)

แต่ทั้งนี้เราไม่จำต้องเลือกปัจจัยหนึ่งใดเป็นเหตุอธิบายแต่เพียงหนึ่งเดียว เพราะทั้งสองปัจจัย อันได้แก่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ กับกรอบรัฐธรรมนูญใหม่ ต่างก็เกื้อกูลหนุนเสริมกัน เปิดโอกาสให้ไทยรักไทยคิดใหม่ทำใหม่ต่อระบบพรรคการเมืองไทยด้วยกันทั้งคู่

2) ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจได้เปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองระหว่างพลัง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทุนใหญ่เจ้าของพรรคไทยรักไทย, กลุ่มทุนใหญ่ไทยอื่นๆ และ เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในหัวเมืองต่างจังหวัด ไป

กล่าวคือทรัพยากรทุนการเงินที่งวดตัวน้อยลงหลังวิกฤต ทำให้บรรดากลุ่มทุนใหญ่ไทยใหญ่อื่นๆ และเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลในหัวเมืองต่างจังหวัดทั้งหลายอ่อนแอลงทางเศรษฐกิจ จึงหันมาเทความสนับสนุนให้หรือพึ่งพิงเงินทุนและเข้าร่วมพรรคไทยรักไทยเป็นขบวน ทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่มทุนใหญ่เจ้าของพรรคไทยรักไทยมีอำนาจต่อรองและควบคุมเหนือมุ้งการเมืองต่างๆ ในพรรคตนเองและเหนือพรรคอื่นอย่างเข้มแข็งเด็ดขาด

พรรคไทยรักไทยจึงนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย, เพื่อชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย และโดยชนชั้นนายทุนใหญ่ไทยอย่างแท้จริง

3) อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนที่อาจทำให้พรรคไทยรักไทยเสื่อมอำนาจมี 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ

3.1) ปฏิทรรศน์ทางเศรษฐกิจ(economic paradox) ที่ว่า "หากไทยรักไทยฟื้นเศรษฐกิจสำเร็จ พรรคก็จะสูญเสียความเหนือกว่าทางการเงินอย่างท่วมท้นที่มีอยู่ไป ในทางกลับกัน หากพรรคฟื้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จ พรรคก็จะเสียเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้ง"

ทั้งนี้ เพราะในระยะยาวแล้วรัฐบาลผสมสูตรยำใหญ่มีเสถียรภาพน้อยกว่าและรักษาไว้ได้ยากกว่ารัฐบาลผสมสูตรยำเล็กสุดแซบชนะ กลุ่มทุนและมุ้งการเมืองต่างๆ สังกัดฝ่ายรัฐบาลย่อมหิวกระหายโหยหาและรอเวลาจ้องตะครุบเก้าอี้รัฐมนตรีที่มีน้อยตัวลงกว่าแต่ก่อน เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวน ส.ส.ร่วมรัฐบาลที่มากกว่าแต่ก่อนยิ่งขึ้น ความข้อนี้มีส่วนอธิบายการปรับ ครม.บ่อยครั้งของรัฐบาลทักษิณว่าเพื่อพยายามเปิดโอกาสจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีหมุนเวียนไปให้กลุ่มทุนและมุ้งต่างๆ อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ กลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ ที่เริ่มฟื้นตัวและมีผลประโยชน์แตกต่าง กระทั่งขัดแย้งกันอาจพบว่า พรรคเดียวใต้การนำเดี่ยว แคบไปสำหรับสนองผลประโยชน์ตนในการแข่งขันกับกลุ่มอื่น และแสวงหาตัวแทนการเมืองอื่นๆ แทน

ความเป็นไปได้ของการนี้คงขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ ของไทยมีความแตกต่างหลากหลายทางผลประโยชน์มากพอที่จะขัดแย้งกันอย่างรอมชอมไม่ได้, จริงหรือไม่?

และพรรคไทยรักไทยมีสมรรถนวิสัยจะรอมชอมรวบรวม และประสานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ต่างๆ เข้าด้วยกันในพรรคตนภายในการนำเดี่ยวของท่านผู้นำคนเดียวอย่างแนบแน่นมั่นคง ยั่งยืนหรือเปล่า?

3.2) วัฒนธรรมการเมืองฝ่ายค้านซึ่งหยั่งลึกในหมู่ปัญญาชนสาธารณะ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน นับย้อนหลังได้ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 6, พุทธทศวรรษ 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง, ช่วงขบวนการประชาธิปไตยก่อน 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519, กบฏทางปัญญาและวัฒนธรรมต่อเผด็จการของ พคท.ในป่า, และเกือบศตวรรษหลังพฤษภาประชาธรรม 2535 เป็นต้น

รากเหง้าแบบแผนปฏิบัติอันเป็นธรรมเนียมยาวนานของการเมืองวัฒนธรรมเสรีประชาธิปไตยไทยนี้ มิใช่จะยกเลิกถอนรากได้ง่ายๆ ชั่วข้ามคืน เพราะมีคนรักมันมาก มีคนคุ้นเคยกับมันมาก มีคนได้ประโยชน์จากมันและให้คุณค่าแก่มันมาก และฉะนั้นจึงมีคนพร้อมที่จะต่อสู้ปกป้องหวงแหนมันมาก แม้จะเสี่ยงกับการเสียสินบนหวานๆ ทางการเมืองและถูกพรรค-รัฐบาลเลือกไม่รัก หรือชังน้ำหน้าก็ตาม

ในภาวะเผชิญหน้าคับขันกับอำนาจรัฐ มรดกไทยที่เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมเพื่อการต่อต้านทางการเมือง อันนี้อาจถูกพลังสังคมเรียกระดมมาเวียนใช้อีกได้

3.3) ความบกพร่องล้มเหลวในการปฏิบัตินโยบายที่เริ่มปริแยกให้เห็น เช่นปัญหาการบริหารงบประมาณในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น

"คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" ที่เกิดขึ้นเป็นพักๆ หรืออหังการแห่งอำนาจ เช่น การใช้อำนาจบริหารออกพระราชกำหนดในกรณีชวนโต้แย้ง เสมือนหนึ่งริบฉวยเอาอำนาจนิติบัญญัติไปไว้ในมือตน

การปราบปรามมวลชนฝ่ายค้านด้วยกำลังในลักษณะล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างไม่แยแสรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนอาจทำให้ประชามติเปลี่ยน คะแนนนิยมรัฐบาลดิ่งตก เปิดทางให้มุ้งแยกตัวและรัฐบาลล้มได้

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความสังเคราะห์ โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เกี่ยวเนื่องกับโครงการ"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" - สนใจที่มา คลิก
บนฐานงานศึกษาวิจัยชิ้นใหญ่เรื่อง เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ : บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 (2546) ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองได้เปลี่ยนโฉมการเมืองไทยไปอย่างสำคัญในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา (รัฐธรรมนูญใหม่ กับปรากฏการณ์ไทยรักไทย - เกษียร เตชะพีระ)

ความแตกต่างนี้นำไปสู่สภาพไม่เข้าใจและมองต่างมุมทางวัฒนธรรมการเมืองซึ่งกันและกัน ระหว่างชนบทที่ถูกคนชั้นกลางในเมืองมองเป็น "ทรราชของเสียงชนบทข้างมาก" (the tyranny of the rural majority) ที่ส่งนักเลือกตั้งเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมาโกงบ้านกินเมือง กับ เมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ถูกชาวนาชาวไร่ในชนบทมองเป็น "สังคมอนารยะ" (uncivil society) ที่ส่งพ่อค้าผู้รับเหมา นักลงทุน นักบริโภค นักท่องเที่ยว มาแย่งชิงทรัพยากรชนบท ใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ และไม่ยั่งยืน

เกิดสภาพ "สองนัคราประชาธิปไตย" (เอนก เหล่าธรรมทัศน์) หรือ "หนึ่งรัฐ สองสังคม" (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, "ศตวรรษที่ 21 กับคำถามต่อนักรัฐศาสตร์", ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 53 ปี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 14 มิ.ย. 2545) ซึ่งทอนกำลังซึ่งกันและกันจนคุมนักเลือกตั้งผู้กุมอำนาจอธิปไตยตามกฎหมายไม่ได้

H
นี่คือที่ตั้งแกนกลางของผู้กุมอำนาจในระบอบเลือกตั้งธิปไตย พวกเขาขึ้นชื่อว่าสังกัดพรรค แต่ความจริงอยู่เป็นมุ้งหรือคอก (factions) อุดมการณ์คือมุ่งหน้าร่วมรัฐบาลให้จงได้... ขณะมุ้งการเมืองก่อตัวเกาะติดกันเหนียวแน่นมั่นคงกว่าคงรวมตัวอยู่เป็นมุ้งเดียวถึงจะย้ายมา 3-4 พรรคแล้วก็ตาม เอาเข้าจริงมุ้ง is everything, ส่วนพรรค is nothing (ตัดมาบางส่วนจากบทความ)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขออนุญาตใช้ภาพประกอบ นำมาประกอบบทความฟรี บนเว็ปไซค์ - สมเกียรติ ตั้งนโม : ผู้ขอใช้