มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 334 หัวเรื่อง
ถอดระหัสสื่อ : รู้เท่าทันสื่อ
นิษฐา หรุ่นเกษม
นิสิตปริญญาเอก, นิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
(บทความนี้ยาวประมาณ 4
หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
บทความเกี่ยวกับสื่อและสังคม
รู้เท่า รู้ทัน "สื่อ"
นิษฐา
หรุ่นเกษม
นิสิตปริญญาเอก : นิเทศศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(บทความนี้ยาวประมาณ
4 หน้ากระดาษ A4)
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๖
ในปัจจุบัน โลกของเรามีสื่อรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย และขยายขอบเขตจาก
รูปแบบเดิมๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง นับจากสื่อแบบเก่าๆ ที่เราคุ้นเคย เช่น หนังสือพิมพ์
นิตยสาร โทรทัศน์ และภาพยนตร์ สื่อบุคคล สื่อพื้นบ้าน หรือสื่อเฉพาะกิจเพื่อการประชาสัมพันธ์
ไปจนถึงสื่อในรูปแบบที่เรียกกันว่าวัฒนธรรมแบบประชานิยม หรือ "วัฒนธรรมป็อบ"
อย่างเช่น แฟชั่นการแต่งกายและทรงผม ของเล่นและตุ๊กตา งานฉลอง งานเทศกาลต่างๆ
ฯลฯ ดังนั้น การที่จะเข้าใจความหมาย รวมถึง "รู้เท่าทัน" อิทธิพลจากสื่อต่างๆ
ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่เหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีกรอบความคิดที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ
ของสื่อแต่ละประเภทที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน
กรอบความคิดดังกล่าวได้ดัดแปลงและปรับปรุงจากแบบจำลองในการรู้เท่าทันสื่อของ Eddie Dick (แปลเรียบเรียงและสรุปใจความสำคัญ พร้อมทั้งขยายความเพิ่มในบางส่วน จากบทความเรื่อง "A Critical Framework For Media Education" จาก web site http://www.media-awareness.ca/english/resources/educational/teaching-backgrounders/med [date access 2/11/46]) จาก the Scottish Film Council โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ
แนวความคิดหลักของแบบจำลองเพื่อรู้เท่าทันสื่อตามแบบของ Eddie Dick นี้มองว่า การสื่อสารทุกรูปแบบ ล้วนเป็นวาทกรรมที่ใช้เพื่อประกอบสร้างความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่า ทุกครั้งๆ ของการสร้างภาพตัวแทนในโลก เช่น การสร้างภาพว่าผู้หญิงที่สวยจะต้องขาว ผอมเพรียวหุ่นบาง และรักเด็ก หรือถ้าเป็นมุสลิมแล้วจะต้องหัวรุนแรงไปเสียทั้งหมด และทุกๆครั้งของการสร้างเรื่องเล่าต่างๆ ของสื่อ ซึ่งอาจพบเห็นได้จากรายการสนทนาข่าว และวิเคราะห์ข่าว ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเตอร์เน็ท รายการปกิณกะบันเทิง แม้กระทั้งรายการละคร ทั้งหมดนี้มันก็คือความพยายามที่จะอธิบายหรือนิยามความเป็นจริง และในบางครั้งมันก็คือ "การประกอบสร้าง"
เนื่องจาก สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของเรานั้น ได้ผ่านการคัดเลือกหรือจัดเรียบเรียง รายละเอียดข้อมูล เนื้อหาสาระ หรือภาพต่างๆ มาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสื่อสารความเป็นจริงตามมุมมองของ "ผู้สร้าง" ออกมา ทำให้สารหรือสิ่งต่างๆที่สื่อนำเสนอออกมานั้น แม้ว่าจะดูเหมือนจริงเพียงไรก็ตาม แต่มันก็ไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่เคยปราศจากอคติของผู้สร้างในการอธิบายความเป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสิ่งพิมพ์ คำพูด หรือปรากฏออกมาเป็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา หรือเป็นข่าวก็ตาม
การเข้าใจว่าสื่อเป็นผู้ประกอบสร้างความเป็นจริงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่วิธีการตั้งคำถามที่จะช่วยเราในการ "รื้อสร้าง"(deconstruction) สื่อได้ใน 3 ส่วน คือ
1. ตัวบท (text)
2. ผู้รับสาร (audience) และ
3. ขั้นตอนการผลิต (production)
1. ตัวบท (text)
คำว่า ตัวบท หรือ text ก็คือผลิตผลของสื่อทุกชนิดที่เราสามารถนำมาตรวจสอบได้
ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ หนังสือ โปสเตอร์ เพลงยอดนิยม แฟชั่นล่าสุด ฯลฯ โดยเราอาจ
เริ่มต้นในการตั้งคำถามได้ว่า ประเภทของตัวบทต่อไปนี้ต่างจากตัวบทประเภทอื่นๆอย่างไร
อย่างเช่น ความแตกต่างระหว่าง การ์ตูน วิดีโอร็อค นิทานก่อนนอน ละครแบบตำรวจจับผู้ร้าย
นอกจากนั้นแล้ว เรายังอาจใช้วิธีการค้นหาถึงความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวบทเหล่านั้น โดยดูที่โครงสร้างของการเล่าเรื่อง วิธีการสื่อความหมายในเรื่อง ค่านิยมที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากตัวบทนั้น เช่น สอนให้เราเป็นคนซื่อสัตย์ สอนให้เราประหยัด หรือว่า สอนให้เราเป็นคนช่างซื้อ และความเชื่อมโยงระหว่างตัวบทนี้กับตัวบทอื่นๆ เช่น ผู้ร้ายในละครโทรทัศน์มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกับ ผู้ร้ายที่ตกเป็นข่าวในชีวิตจริง หรือความเหมือนและความต่างของนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านรูปแบบของสื่อต่างๆ เช่น ได้รับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ เป็นละครทางโทรทัศน์ เป็นหนังสือเล่มละ 25 บาท หรือเป็นนวนิยายทางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
2. ผู้รับสาร (audience)
ใครก็ตามที่ได้รับสารจากสื่อ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็กหรือผู้สูงอายุ อาจเป็นคนที่กำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่เพียงลำพังคนเดียว
หรืออยู่ภายในโรงภาพยนตร์ที่มีผู้ชมอยู่มากมาย ล้วนแล้วแต่เป็น "ผู้รับสาร" (audience)
ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นก่อนก็คือว่า
สื่อทุกรูปแบบล้วนผ่านการวางแผน พิจารณา คัดเลือก กลั่นกรอง และถูกออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี
เพื่อผลิตกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายของตัวเอง เพื่อที่สื่อ ในฐานะที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่ต้องการผลกำไร
จะได้ "ขาย" กลุ่มผู้รับเหล่านั้น (ซึ่งก็คือตัวเรา ในฐานะของผู้อ่าน ผู้ดู หรือผู้ชมรายการ)
ให้กับผู้โฆษณาด้วยกันทั้งสิ้น
แม้ว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับสารที่ช่วยเพิ่มยอดขายโฆษณาให้กับสื่อด้วยจำนวน "เรตติ้งผู้ชม" ทว่าทฤษฎีการสื่อสารในยุคปัจจุบันต่างก็หันมาเน้นที่ "อำนาจในการต่อรอง" ของผู้รับสาร นั่นคือ ผู้รับสารแต่ละคนอาจจะอ่านความหมายจากตัวบทต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปตามเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศที่สาม หรือเพศชาย ตามเชื้อชาติ เป็นไทย หรือ "ไม่ใช่ไทย" หรือเบื้องหลังทางวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล ตามความสามารถในการอ่าน ตามอายุ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังเช่นที่ ผู้ดูละครเรื่องนางโชว์บางคนอาจจะรู้สึกว่า เรื่องนี้ได้ทำโลกของเกย์หรือเพศที่สามนั้นต้องถูกเบียดขับออกไป ให้อยู่อย่างไร้ตัวตนอีกครั้ง เพราะนางโชว์คราวนี้ล้วนแล้วแต่เป็น "ชะนี" ทั้งสิ้น
หรือแม้แต่ในเรื่องของผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยและความงามต่างๆ ในกลยุทธ์สารพัดสารพันรูปแบบที่ใช้หลอกล่อผู้บริโภคอยู่นั้น ก็ยังมีผู้รับสารธรรมดาๆกลุ่มหนึ่งที่ยังรู้สึกว่า ยิ่งขาวเร็วเท่าไร ผอมลงเร็วเท่าไร ผลแทรกซ้อนในทางลบต่อร่างกายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามอัตราความเร็วนั้น
ความหมายที่อ่านได้จากตัวบทเหล่านั้นจึงมิได้ถูกกำหนดมาแล้วโดยผู้เขียนหรือแม้กระทั่งนักวิจารณ์ แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่าน ผู้ชม หรือผู้รับสารกับตัวบทนั้นๆ ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์ในขณะๆ นั้นด้วย
ดังนั้น ในฐานะผู้รับสาร เราจึงควรพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้รับสารที่มีอำนาจ สามารถต่อรองความหมายกับสื่อได้ ต้องระลึกถึงความหมายอีกมากมายที่สามารถจะเกิดขึ้นได้จากตัวบทเหล่านั้น ต้องเห็นถึงค่านิยม และอคติที่เกิดจากความหมายเหล่านั้น จากการอ่าน การดู การฟังของเรา หรือการรับสารของคนอื่นๆ เพื่อให้เราซึ่งเป็นผู้รับสารมีพลังอำนาจอยู่ในมือ ในการที่จะเป็นฝ่ายต่อรองและเป็นฝ่ายเลือกรับสารนั้นๆ มิได้เป็นผู้รับสารที่คล้อยตามและรับสารอย่างที่ผู้ส่งต้องการเสมอไป
3. ขั้นตอนการผลิต (production)
ขั้นตอนในการผลิตนี้หมายความครอบคลุมถึงทุกสิ่งในระหว่างการผลิตตัวบทของสื่อในประเภทต่างๆ
ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยี อำนาจการตัดสินใจจากความเป็นเจ้าของสื่อและระบบเศรษฐกิจ
เช่น บริษัทผลิตสินค้าและบริการต่างๆที่เป็นผู้โฆษณา สนับสนุนรายการ หรือที่เรียกว่า
"สปอนเซอร์" นั่นเอง สถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นทางด้านกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ
และบทบาทต่างๆ ของคนทำงานสื่อในกระบวนการผลิต เช่น นักข่าว บรรณาธิการ ช่างภาพ
เจ้าหน้าที่ตัดต่อ ผู้กำกับ ฯลฯ
ในระหว่างที่เรากำลังฟังเพลงจากวิทยุ ดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์ หรือกำลังรับสารจากสื่อต่างๆ อยู่นั้น เรามักหลงเพลิดเพลินและตื่นตาตื่นใจไปกับเทคนิคใหม่ๆ ในการผลิตอยู่เสมอ อยากให้นึกถึงภาพของโฆษณาที่เจาะลึกให้เห็นถึงภายใต้ร่างกายของเรา หรือภาพร่างกายของเราที่เป็นเหมือนกระดาษ สามารถใช้กรรไกรตัดส่วนเกินออกไปได้อย่างง่ายดาย ภาพใบหน้าหรือรักแร้ของเราที่ค่อยๆเปลี่ยนจากดำมาเป็นขาวขึ้น ขาวขึ้น เพียงชั่วพริบตา
สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงและถามตัวเองอยู่เสมอก็คือ อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาในเรื่องกับความตั้งใจในการขายสินค้าผ่านสื่อ ค่านิยมที่ปรากฏในตัวบทนั้นๆ มีความ เกี่ยวโยงกับความเป็นเจ้าของ รวมถึงการควบคุมหรือการเซ็นเซอร์อย่างไร
เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การทำงานของสื่อในหลายๆครั้งขาดความเป็นกลางและความเป็นอิสระ ที่จะคิดหรือคัดเลือกประเด็นข่าวและเรื่องราวต่างๆที่จะมานำเสนอ เพราะไม่อาจปฏิเสธคำขอร้องจากภาครัฐหรือกลุ่มนายทุนได้ รวมไปถึง เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยกำหนดสิ่งที่เราจะได้เห็นได้อย่างไร ราคาและต้นทุนของการใช้เทคโนโลยีต่างๆนั้นเป็นตัวกำหนดว่าใครจะก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตสื่อรายใหม่ได้อย่างไร การทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงขั้นตอนในการสร้างสารหรือผลิตตัวบทของสื่อต่างๆ ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราจำเป็นต้องคำนึงอยู่เสมอด้วยว่า ในระหว่างการ "รื้อสร้าง" สื่อเพื่อให้เกิดความรู้เท่าทันนี้ เราจะไม่สามารถแยกพิจารณาทั้ง 3 ส่วนออกจากกันอย่างเด็ดขาดได้ แต่ต้องพินิจพิเคราะห์และตั้งคำถามควบคู่กันไปอยู่เสมอ ต้องหมั่นตั้งคำถามและเตือนตนอยู่ตลอดเวลาว่า ในระหว่างที่เรากำลังบริโภคหรือรับสารจากสื่อนั้น มีสิ่งที่สื่อเลือกมานำเสนอ เลือกมาจุดประเด็น และเลือกตัดทิ้งออกไปอยู่เสมอ และ "ความเป็นจริง" อย่างที่ปรากฏในสื่อนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ได้เห็นหรือได้ยินเสมอไป
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
ใครก็ตามที่ได้รับสารจากสื่อ
ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย เด็กหรือผู้สูงอายุ อาจเป็นคนที่กำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่เพียงลำพังคนเดียว
หรืออยู่ภายในโรงภาพยนตร์ที่มีผู้ชมอยู่มากมาย ล้วนแล้วแต่เป็น "ผู้รับสาร" (audience)
ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องเข้าใจร่วมกันในเบื้องต้นก่อนก็คือว่า
สื่อทุกรูปแบบล้วนผ่านการวางแผน พิจารณา คัดเลือก กลั่นกรอง และถูกออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี
เพื่อผลิตกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายของตัวเอง เพื่อที่สื่อ ในฐานะที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่ต้องการผลกำไร
จะได้ "ขาย" กลุ่มผู้รับเหล่านั้น (ซึ่งก็คือตัวเรา ในฐานะของผู้อ่าน ผู้ดู หรือผู้ชมรายการ)
ให้กับผู้โฆษณาด้วยกันทั้งสิ้น ...
... เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การทำงานของสื่อในหลายๆครั้งขาดความเป็นกลางและความเป็นอิสระ
ที่จะคิดหรือคัดเลือกประเด็นข่าวและเรื่องราวต่างๆที่จะมานำเสนอ เพราะไม่อาจปฏิเสธคำขอร้องจากภาครัฐหรือกลุ่มนายทุนได้
รวมไปถึง เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยกำหนดสิ่งที่เราจะได้เห็นได้อย่างไร การทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงขั้นตอนในการสร้างสารหรือผลิตตัวบทของสื่อต่างๆ
ได้