H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com


เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 337 หัวเรื่อง
ความเข้าใจเรื่องสื่อกับอำนาจ
นิษฐา หรุ่นเกษม
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นิสิต ป.เอก นิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

301246
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความเกี่ยวกับสื่อและสังคม
ความเข้าใจเรื่องสื่อกับคำว่าอำนาจ
นิษฐา หรุ่นเกษม : สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖



อำนาจของสื่อมวลชนนั้นปฏิบัติการใน 2 ระดับ คือ อำนาจในการกำหนดและอำนาจในการควบคุม (Grossberg, Wartella, & Whitney, 1998)

อำนาจในรูปแบบของอิทธิพล
ในความหมายอย่างกว้างๆแล้ว คำว่า "อำนาจ" ในประการแรกนั้นจะหมายถึง ความสามารถที่จะสร้างอิทธิพล สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในโลกใบนี้ หากเราพิจารณาตามความหมายนี้แล้ว เราจะพบว่าทุกๆปฏิบัติการของสื่อล้วนแล้วแต่มีอำนาจอยู่ด้วยกันในระดับหนึ่ง และมีอำนาจในประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น สื่อโทรทัศน์มีอำนาจในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงตารางเวลาในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เช้ามาต้องดูรายการสนทนาและวิเคราะห์ข่าว ตกค่ำต้องรีบกลับบ้านเพื่อดูรายการละคร หรือถ้ามีรายการถ่ายทอดสดกีฬาช่วงเย็น ต้องรีบกลับบ้านให้ทันการถ่ายทอด เป็นต้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับนิตยสารแล้ว ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตารางเวลาในชีวิตประจำวันของเราจะมีน้อยกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น โทรทัศน์ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจัดการพื้นที่ใช้สอยภายในบริเวณบ้านของเราอีกด้วย ลองนึกถึงช่วงเวลาก่อนที่เราจะซื้อทีวีจอยักษ์ ที่เราจำเป็นต้องวางแผนคิดคำนวณก่อนว่า จะวางโทรทัศน์ไว้ตรงไหนได้บ้าง แล้วอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ จะวางอย่างไร ในขณะที่เราไม่ต้องวางแผนเรื่องการใช้พื้นที่แบบนี้เมื่อเราซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม เราอาจกล่าวได้ว่า สื่อมวลชนทุกประเภท นับตั้งแต่สื่อหนังสือไปจนกระทั่งถึงสื่ออิเลคโทรนิคส์สมัยใหม่นั้น ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลที่สำคัญในการกำหนดประสบการณ์ของมนุษย์ ทั้งในเรื่องของเวลาและความรู้สึกอีกด้วย

ทัศนะที่มองว่าอำนาจเปรียบเสมือนกับความสามารถในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรืออิทธิพลนั้น มีความคล้ายคลึงกับความคิดในเรื่องของอำนาจในการกำหนด และโดยทั่วไปแล้ว การใช้คำว่า " การกำหนด" นั้นก็มีความคล้ายคลึงกับการใช้คำว่า "เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน" ยกตัวอย่างเช่น บางคนมีความเชื่อว่า สถิติระหว่าง"การศึกษา"กับ"รายได้"มีความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน นั่นคือ หากว่าใครก็ตามมีการศึกษาสูงแล้ว คนนั้นย่อมมีรายได้ที่สูงตามไปด้วย ในที่นี้ การศึกษาเป็นตัวกำหนดรายได้

ขณะเดียวกัน หลายๆคนอาจมีความเชื่อว่าการดูภาพโป๊นั้น ส่งผลให้ผู้ดูเกิด พฤติกรรมในทางลบ มีทัศนคติในทางที่ไม่ดีต่อผู้หญิง และนอกเหนือไปจากนั้น บางคนยังเชื่ออีกด้วยว่า สื่อลามกทั้งหลายแหล่ล้วนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อพฤติกรรมรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง ในกรณีนี้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ภาพโป๊หรือสื่อลามกเหล่านั้นเป็นตัวกำหนด ทัศนคติและพฤติกรรมในทางลบต่อผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของคำว่าการกำหนดนั้น ถูกมองว่าเป็นผลมาจากปริบททางสังคมทั้งหมด นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างปฏิบัติการใดๆต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น เราไม่สามารถแยกหรือระบุอย่างเฉพาะเจาะจงได้เลย ว่าอะไรเป็นเหตุและอะไรเป็นผล เนื่องจากมันขึ้นอยู่กับปริบททั้งหมด หากว่าปฏิบัติการใดๆสามารถจำกัดขอบเขตหรือกำหนดผลลัพธ์ได้ เราจะมองว่าอิทธิพลของมันนั้นเป็นการกำหนดที่เกินกว่าความเป็นจริง

และเมื่อเราเชื่อตามทัศนะที่ว่า อำนาจในการกำหนดมาจากปริบททางสังคมทั้งหมด ดังนั้น การเปิดรับสื่อลามกหรือภาพโป๊เปลือยต่างๆ จะไม่สามารถแยกออกจากการนำเสนอภาพตัวแทนของผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศที่ถูกใช้โดยผู้ชายในสื่อทั้งหมดไปได้เลย (ลองนึกถึงสินค้านานาชนิดที่ใช้ผู้หญิงในภาพโฆษณาต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ คัทเอาต์ข้างทาง หรือแม้แต่เหล่าพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ ) อิทธิพลของการนำเสนอภาพตัวแทนในสื่อเหล่านี้ เราไม่สามารถจะแจกแจงออกมาหรือระบุให้เฉพาะเจาะจงโดยละเลยปริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นตัวช่วยในการให้คำนิยาม วางรูปแบบ และกำหนดโครงสร้างของอัตลักษณ์และความแตกต่างทางเพศไปได้

ความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ภาพโป๊มีอิทธิพลขึ้นมาได้ แต่ยังช่วยทำให้ ขั้นตอนในการผลิตวัตถุทางเพศต่างๆง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยหากเราจะพบว่า ในสังคมของเราจะมีสื่อลามกต่างๆเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ทำรายได้ได้ดี พร้อมๆกับที่เห็นผู้หญิงเป็นเพียงตัวประกอบทางอารมณ์เรื่องเพศเท่านั้น

ทีนี้เราลองย้อนกลับไปพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับการประสบความสำเร็จในด้านรายได้ดูอีกที ทำไมจึงกล่าวว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการกำหนดที่เกินกว่าความเป็นจริง ลองนึกดูดีๆว่า ความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาหรือโอกาสที่จะได้เข้าศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆมากมายหลายประการ อาทิ ชนชั้น เชื้อชาติ เพศสภาพ และรายได้ของครอบครัว ที่เป็นตัวกำหนดโอกาส ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็ยังคงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายจนกระทั่งปัจจุบัน

นอกเหนือไปจากนั้น ความหมายที่แท้จริงของคำว่าการศึกษายังจำเป็นที่จะต้องนำมาคิดใหม่ รื้อใหม่อีกด้วย นั่นคือ ประสบการณ์ชีวิตของคนเราจะสามารถให้เครดิตเทียบเท่ากับการศึกษาในโรงเรียนได้หรือไม่ว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาเท่านี้จะเทียบเท่ากับระดับโรงเรียนหรือเท่ากับระดับมหาวิทยาลัย แล้วการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั้น ควรจะเป็นการอบรมให้เชี่ยวชาญเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต หรือเพียงให้ความรู้ในระดับที่สูงขึ้นเท่านั้น

และที่สำคัญคือ การจะเป็นคนที่มีการศึกษาดีคือคนที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกอย่างทะลุปรุโปร่งเท่านั้น หรือว่าคือคนที่เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย และประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก ดังนั้น ระดับการศึกษากับระดับรายได้จึงเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมอื่นๆอีกมากมาย ทำให้การจะกล่าวว่าการศึกษาสูงทำให้ได้เงินเดือนดีจึงเป็นการกำหนดที่เกินกว่าความเป็นจริง

อำนาจในรูปแบบของการควบคุม : ความสอดคล้องและความขัดแย้ง
ความหมายที่สองของความคิดเกี่ยวกับคำว่า"อำนาจ" ก็คือคำว่า "การควบคุม" เป็นการควบคุมประชาชนและทรัพยากรต่างๆ ตามความหมายนี้แล้ว "อำนาจ"ก็คือ"การผลิต" และปฏิบัติการหรือใช้ประโยชน์โดยผ่านทางความแตกต่างในสังคม

แบบจำลองว่าด้วยความสอดคล้อง
การที่จะทำความเข้าใจว่าสื่อมีอำนาจได้อย่างไรนั้น เราต้องการแนวคิดที่ว่าด้วยสังคมที่มีความแตกต่างนั้นถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็คือ "แบบจำลองแห่งความสอดคล้อง" ซึ่งเน้นไปที่ความปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ตลอดจนความสามารถในการทำให้คนที่มีความแตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมเดียว

ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือการที่ชาวอเมริกันคิดว่าประเทศของตนเองเปรียบดังหม้อหลอม ซึ่งหลอมรวมให้กลุ่มคนต่างๆที่มีความแตกต่างกันให้เหลือเพียงอัตลักษณ์หนึ่งเดียวที่ทุกคนมีร่วมกัน นั้นคือ เราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นอเมริกัน

สำหรับตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ศึกษาเรื่องสื่อในเรื่องแบบจำลองแห่งความสอดคล้อง ก็คืองานของจอห์น ดิวอี้. ดิวอี้เสนอแบบจำลองทางด้านการสื่อสารซึ่งวางอยู่บนฐานความคิดที่ว่า การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ถูกใช้ในกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในสังคม ทำให้ผู้คนในกลุ่มเหล่านั้นเกิดความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน. การสื่อสารถูกใช้เป็น เครื่องมือในการหล่อหลอมคนในชาติให้มีอัตลักษณ์ร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และมีมติในเรื่องต่างๆเป็นหนึ่งเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ดิวอี้มีความรู้สึกว่าสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ภาพยนตร์ และวิทยุนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาซึ่งมีความสลับซับซ้อนในสังคมอเมริกันในช่วงยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ศตวรรษที่ 20 ได้ ปัญหาดังกล่าว ได้แก่ เรื่องของจำนวนผู้อพยพที่มาจากทางยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนใต้ ปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นของประชากรจากชนบทเข้าสู่เมือง ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจของประชาชนในแต่ละเขต ปัญหาและความแตกต่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประชากรในสังคมที่มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และไม่สามารถจะกระทำการใดๆ ภายใต้จุดประสงค์เดียวกันได้

สื่อมวลชนต่างล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกิจที่จำเป็นของตน นั่นก็คือการสร้างภาษาร่วมกัน ที่จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นชาติเดียวกัน ทำให้คนในชาติสามารถเข้าใจกันและกัน และกระทำในสิ่งต่างๆร่วมกัน

ความศรัทธาอย่างมากมายในพลังอำนาจของสื่อ และความสามารถในการสร้างความปรองดองในรูปแบบใหม่ในสังคม ที่กำลังระส่ำระสายยุ่งเหยิงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นั้น เป็นคำอธิบายได้อย่างดีถึงความเชื่อของดิวอี้ที่ว่า "ในบรรดาสิ่งต่างๆแล้วนั้น การสื่อสารคือสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุด"

แม้ว่างานที่ดิวอี้เขียนไว้นั้น จะอยู่ในช่วงทศวรรษที่สองและสามของศตวรรษที่ 20 ที่เพิ่งผ่านไป แต่ทว่าข้อคิดเห็นของเขาก็สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ ทุกวันนี้หลายๆคนก็ยังคงมีความเชื่ออยู่ว่า สื่อเป็นตัวสร้างโอกาสในการดึงเอาผู้คนมาอยู่ร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ทและกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ต่างๆจากอินเตอร์เน็ท สามารถแสดงให้เห็นว่า การเป็นชุมชนผ่านการสื่อสารเป็นความฝันที่สามารถเป็นความจริงได้ ทางด่วนของการสื่อสารไร้สายเป็นทางเปิดสำหรับทุกคน
(อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็น "digital divide" ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าทางด่วนของการสื่อสารแบบไร้สายจะเป็นทางเปิด แต่ก็เปิดสำหรับบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ต้องมีเงิน ต้องรู้ภาษาอังกฤษ ต้องพิมพ์ดีดได้ เป็นต้น)

แบบจำลองว่าด้วยความขัดแย้ง
นอกเหนือจากแบบจำลองแห่งความสอดคล้องปรองดองแล้ว ยังมีอีกแบบจำลองหนึ่งในสังคม ที่ว่าด้วยความขัดแย้ง แบบจำลองแห่งความขัดแย้งเน้นหนักไปที่ปัญหาด้านความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียมกัน และความยากลำบากของผู้คน ซึ่งมีความแตกต่างกันที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในสังคม ทฤษฎีวิพากษ์สังคมดังกล่าวนี้เน้นให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า แหล่งทรัพยากรหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมนั้น ได้ถูกแจกจ่ายออกไปอย่างไม่เท่าเทียม จะได้รับมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างของความแตกต่างในสังคม

ทุกๆสังคมล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรซึ่งได้รับการให้คุณค่า เช่น พลังอำนาจ เงินตรา ความหมาย คุณธรรม อัตลักษณ์ ตำแหน่งทางการเมือง อารมณ์ความรู้สึก ความพึงพอใจ และอื่นๆอีกมากมาย ทรัพยากรบางอย่างก็ถูกให้คุณค่ามากกว่าบางอย่าง และทรัพยากรแต่ละอย่างก็ทำให้ผู้ที่ครอบครองและได้ใช้ประโยชน์จากมัน มีอำนาจและความสามารถที่จะทำให้เกิดความแตกต่าง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอำนาจในการกำหนดตามความหมายแรกที่ได้กล่าวมาแล้ว

หากยกตัวอย่างด้วยเรื่องของเงิน คงจะทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนที่สุด เงินสามารถสร้างเงิน และต่อเงินให้เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเรารู้จักวิธีใช้เงิน และมันทำให้ผู้ครอบครองสามารถจะซื้ออะไรก็ได้ที่ตนต้องการ แม้แต่อำนาจ ตำแหน่งทางการเมือง หรืออารมณ์ความรู้สึก แม้ว่าวงบีทเทิลส์จะเคยครวญเพลงไว้ว่า "เงินไม่สามารถซื้อหัวใจรักของฉันก็ได้" ก็ตาม

ในอีกด้านหนึ่งนั้น เราอาจไม่คิดว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า จนกว่าเราจะมองเห็นถึงวิธีการที่คนเราใช้อารมณ์ความรู้สึกในการควบคุมบุคคลอื่น หรือความจริงที่ว่าคนเราต้องการสายใยทางอารมณ์เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี และด้วยความคิดในแบบเดียวกันนี้เอง อำนาจที่มีอิทธิพลต่อความหมายจึงเป็นอำนาจในการกำหนด

คำถาม อะไรถามได้ อะไรไม่ควรถาม หรืออะไรที่ไม่ต้องถามเลย รวมถึงอำนาจในการกำหนดว่าทัศนะใดที่มีความสำคัญ และควรจะคิดถึงทัศนะนั้นๆอย่างไร และนี่แหละคืออำนาจที่แท้จริงตามความหมายของการควบคุม

ทรัพยากรต่างๆที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนี้นั้นถูกแจกจ่ายไปยังสมาชิกกลุ่มต่างๆในสังคมอย่างไม่เท่ากัน ความเป็นจริงที่รับรู้กันอยู่ก็คือ ในระหว่างการแจกจ่ายทรัพยากรต่างๆ นั้น เราไม่ได้แจกโดยใช้วิธีการสุ่มเหมือนกับการทำวิจัย เพื่อให้ทุกกลุ่มมีโอกาสของความเป็นไปได้ในการรับทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน แต่การแจกจ่ายทรัพยากร กลับเป็นไปตามโครงสร้างลำดับชั้นของระบบสังคมที่มีความแตกต่างกัน นั่นคือ เราจัดสรรปันส่วนทรัพยากรตามความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ อายุ และความสามารถในด้านอื่นๆ เช่น คนยิ่งรวยยิ่งได้มาก ผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง ผิวขาวได้มากกว่าผิวดำหรือผิวสี คนในเมืองได้มากกว่าคนชายขอบ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของกลุ่มต่างๆแล้ว ความสามารถในการใช้ทรัพยากรนั้นก็ยังไม่เหมือนกันตามความแตกต่างของแต่ละกลุ่มอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีสตรีนิยมที่เน้นหนักในด้านความไม่เท่าเทียมในการได้รับทรัพยากร อันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางเพศสภาพและเพศวิถีของแต่ละบุคคล ซึ่งส่องสะท้อนภาพของสังคมให้เราได้เห็นว่า สังคมของเรากดผู้หญิงให้อยู่ในฐานะต่ำและยกย่องเพศชายให้เป็นใหญ่ เป็นสังคมแบบปิตาธิปไตย

นักสตรีนิยมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระบุถึงรูปแบบเฉพาะของความไม่เทียมเทียมกัน ที่ก่อร่างให้เกิดเป็นสังคมดังเช่นในปัจจุบันให้ได้ เช่น ค่าแรงของผู้หญิงที่น้อยกว่าผู้ชาย และบ่อยครั้งที่ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้เป็นฝ่ายทำงานบ้าน ไร้ค่าตอบแทน หรือการที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะถูกก้าวร้าว และกระทำรุนแรงทั้งด้วยคำพูดและการกระทำจากเพศชาย ขณะเดียวกันผู้หญิงก็ยังถูกขายและถูกใช้เป็นเพียงวัตถุทางเพศ และถูกมองว่าเป็นพวกใช้อารมณ์ความรู้สึก มากกว่าการใช้เหตุผลซึ่งถูกระบุว่าเป็นคุณสมบัติของเพศชาย

สตรีนิยมเป็นทฤษฎีซึ่งพยายามที่จะเปิดให้เห็นความไม่เท่าเทียม และท้าทายต่อการกดขี่ผู้หญิงในระบบสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง ขณะเดียวกัน สตรีนิยมในสายสื่อมวลชนก็พยายามที่จะตรวจสอบให้เห็นถึงความเกี่ยวโยง ระหว่าง"สื่อ"กับ"การสร้างความไม่เท่าเทียมในระหว่างกลุ่มเพศหญิง เพศชาย และเพศที่สาม"

นอกเหนือจากนั้นแล้ว เรายังมีทฤษฎีที่ว่าด้วยความขัดแย้งอื่นๆในสังคม ที่มุ่งมองมายังการด้อยความสำคัญของเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ต่างๆเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนผิวขาว, ความแตกต่างระหว่างกลุ่มชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนำในสังคม, ระหว่างกลุ่มเด็ก, กลุ่มวัยรุ่น, วัยกลางคนและกลุ่มคนแก่, หรือกลุ่มรักร่วมเพศกับรักต่างเพศ, หรือระหว่างศาสนาต่างๆ รวมถึงนิกายที่แตกต่างกันในร่มธงศาสนาเดียวกัน, และความแตกต่างระหว่างคนปกติกับคนพิการหรือไร้ความสามารถในด้านต่างๆ

บทสรุป
ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า เราอยู่ในห้วงเวลาที่กลุ่มซึ่งเคยถูกกดขี่เป็นรองเหล่านี้ล้วนลุกขึ้นมาท้าทายต่อสภาพที่ตกเป็นรองของตน รวมกระทั่งถึงการตอบโต้ต่อการถูกนำเสนอภาพเหมารวมผ่านสื่อ คำถามมากมายล้วนพุ่งเป้าตรงไปยังวัฒนธรรมและสื่อมวลชน จนกระทั่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางชีวิตวัฒนธรรม โดยเฉพาะในสังคมอเมริกา ตลอดจนมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการศึกษาด้านสื่อ ที่ขยายความสนใจต่ออำนาจในรูปแบบของการควบคุมให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้ระเบียบวินัย โดยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือของกลุ่มต่างๆมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะต้องเลือกระหว่างแบบจำลองแห่งความสอดคล้องหรือความขัดแย้ง หรือจะเลือกใช้จากทั้งสองแบบ เนื่องจาก นักทฤษฎีด้านสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญกับแบบจำลองแห่งความขัดแย้งในสังคม ก็มักจะมองว่าทางเลือกต่างๆในแบบจำลองแห่งความสอดคล้องนั้นเป็นตัวปกป้องสถานภาพ และความไม่เท่าเทียมต่างๆที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันให้คงอยู่ตลอดไป

แต่ในทางกลับกัน นักทฤษฎีด้านสื่อที่มุ่งความสนใจมายังแบบจำลองแห่งความสอดคล้อง ก็ปกป้องความคิดของตนเอง โดยให้ความเชื่อมั่นต่อเสรีภาพว่าจะทำให้สังคมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างก้าวหน้า และทุกๆชีวิตภายในสังคมนั้นจะค่อยๆปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตเหมือนกับที่ได้เคยเป็นมาแล้วในอดีต และนอกเหนือจากนั้น นักทฤษฎีกลุ่มนี้ยังมองอีกด้วยว่าทฤษฎีที่ว่าด้วยความขัดแย้งนั้น ให้ความสำคัญกับปัญหาในเรื่องของอำนาจมากจนเกินไป จนมองข้ามความก้าวหน้า ตลอดจนความปรองดองกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ

รายการอ้างอิง
Grossberg, Lawrence, Wartella, Ellen, and Whitney, D. Charles. 1998. Media making : Mass media in a popular culture. CA: Sage

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "สื่อกับคำว่าอำนาจ" โดย นิษฐา หรุ่นเกษม : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การที่จะทำความเข้าใจว่าสื่อมีอำนาจได้อย่างไรนั้น เราต้องการแนวคิดที่ว่าด้วยสังคมที่มีความแตกต่างนั้นถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็คือ "แบบจำลองแห่งความสอดคล้อง" ซึ่งเน้นไปที่ความปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือการที่ชาวอเมริกันคิดว่าประเทศของตนเองเปรียบดังหม้อหลอม ซึ่งหลอมรวมให้กลุ่มคนต่างๆที่มีความแตกต่างกันให้เหลือเพียงอัตลักษณ์หนึ่งเดียวที่ทุกคนมีร่วมกัน นั้นคือ เราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นอเมริกัน
H

และเมื่อเราเชื่อตามทัศนะที่ว่า อำนาจในการกำหนดมาจากปริบททางสังคมทั้งหมด ดังนั้น การเปิดรับสื่อลามกหรือภาพโป๊เปลือยต่างๆ จะไม่สามารถแยกออกจากการนำเสนอภาพตัวแทนของผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศที่ถูกใช้โดยผู้ชายในสื่อทั้งหมดไปได้เลย (ลองนึกถึงสินค้านานาชนิดที่ใช้ผู้หญิงในภาพโฆษณาต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ คัทเอาต์ข้างทาง หรือแม้แต่เหล่าพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ ) อิทธิพลของการนำเสนอภาพตัวแทนในสื่อเหล่านี้ เราไม่สามารถจะแจกแจงออกมาหรือระบุให้เฉพาะเจาะจงโดยละเลยปริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นตัวช่วยในการให้คำนิยาม วางรูปแบบ และกำหนดโครงสร้างของอัตลักษณ์และความแตกต่างทางเพศไปได้
ความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ภาพโป๊มีอิทธิพลขึ้นมาได้ แต่ยังช่วยทำให้ ขั้นตอนในการผลิตวัตถุทางเพศต่างๆง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยหากเราจะพบว่า ในสังคมของเราจะมีสื่อลามกต่างๆเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ทำรายได้ได้ดี พร้อมๆกับที่เห็นผู้หญิงเป็นเพียงตัวประกอบทางอารมณ์เรื่องเพศเท่านั้น

ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า เราอยู่ในห้วงเวลาที่กลุ่มซึ่งเคยถูกกดขี่เป็นรองเหล่านี้ล้วนลุกขึ้นมาท้าทายต่อสภาพที่ตกเป็นรองของตน รวมกระทั่งถึงการตอบโต้ต่อการถูกนำเสนอภาพเหมารวมผ่านสื่อ คำถามมากมายล้วนพุ่งเป้าตรงไปยังวัฒนธรรมและสื่อมวลชน จนกระทั่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางชีวิตวัฒนธรรม