H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 338 หัวเรื่อง
วิกฤตวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
ชัชวาล ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(บทความนี้ยาวประมาณ 18 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

010147
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

ปาฐกถาปาจารยสาร ประจำปี 2546
วิกฤต การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย
ชัชวาล ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ณ อาศรมวงศ์สนิท นครนายก วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

(บทความนี้ยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗


บทนำ
กราบนมัสการพระคุณเจ้า กราบเรียนท่านผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาทุกท่าน
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง ที่ท่านประธานมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในนามตัวแทนนิตยสารปาจารยสาร ได้ให้เกียรติเชิญผมมาแสดงปาฐกถาประจำปี 2546 ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญแก่ผมเป็นอย่างยิ่ง

เพราะปาจารยสารเป็นที่พึ่งทางความคิดของผมเสมอมา ให้ปัญญา ให้โลกทัศน์ที่ไม่เคยมอง หรือนึกไม่ถึง ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งทางความคิด ถกเถียง ตั้งปัญหาโดยเฉพาะกับตนเองอยู่เสมอ

ผมยังจำได้ถึงความประทับใจ เมื่อได้มาฟังปาฐกถาปาจายสารเป็นครั้งแรกในชีวิต คือ ปาฐกถาปาจารยสารประจำปี 2531 เรื่อง "อารยธรรมไทย : ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา" องค์ปาฐก คือ ท่านเจ้าคุณพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ผลจากการฟังในครั้งนั้น ทำให้ผมต้องไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยอีกมากมาย ทำให้ได้รู้จัก และร่วมกิจกรรมทั้งกับนักวิชาการต่างคณะและผู้ที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย ได้ออกพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตของผู้คน อย่างไม่เคยทำมาก่อน

และที่จำได้อีกเหตุการณ์หนึ่งในปาฐกถาครั้งนั้นก็คือ ได้รู้จักตัวจริงของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวทีและท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ในวาระแห่งการแสดงปาฐกถาครั้งนี้จึงเท่ากับว่า ผมได้มีโอกาสตอบแทนคุณทุกท่านผู้ให้ความคิดและประสบการณ์ผ่านปาจารยสาร เท่าที่สติปัญญาของผมจะทำได้

ผมขอให้ชื่อเรื่องว่า "วิกฤต การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย" เป็นเสมือนหนึ่งการบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่ผมได้ประสบพบเห็น จากอาชีพการงานของผมที่อยู่ในแวดวงการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นเวลาหลายสิบปี

วิทยาศาสตร์ เครื่องมือรับใช้อุตสาหกรรม
ทำไมผมจึงกล่าวว่า การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทยอยู่ในสภาพวิกฤต เพราะในยุคทุนนิยมนี้ จะเห็นได้ชัดว่าวิทยาศาสตร์ถูกจำกัดหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือรับใช้อุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านทางนโยบายของรัฐ และบรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

วิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาจึงไม่เคยเป็นอิสระทางความคิดอย่างแท้จริง เพราะขึ้นกับค่านิยมเป็นสำคัญ และค่านิยมก็มักจะถูกกำหนดแบบผูกขาดจากระบบเศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐาน สถาบันทางวิทยาศาสตร์ไทยแทบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทุน และไร้อิสรภาพ

การเห็นคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ จึงอยู่เพียงแค่ว่า มันได้ช่วยให้อุตสาหกรรมทำเงินได้มากขึ้น แต่วิทยาศาสตร์ควรทำหน้าที่อย่างไร ไม่ค่อยมีการตั้งคำถาม เพราะพูดแต่ความสำคัญของเทคโนโลยี และยิ่งถามว่า จรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน แทบไม่ต้องนึกถึงเลย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดการคัดค้านโครงการที่เป็นเสมือนสัญญลักษณ์ของความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน , ท่อก๊าซ , ตึกสูง , เตาเผาขยะ , ทางด่วน ,โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ,โรงไฟฟ้าถ่านหิน, GMOs ฯลฯ ผู้อยู่ในหน่วยงานวิทยาศาสตร์ จึงไม่อาจเข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นความผิดปกติของโลกทรรศน์ ที่ตนยึดถือไว้ เพราะถ้าไม่ "พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ตามคำขวัญของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่ประกาศเป็นอุดมการณ์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติแล้ว จะให้พัฒนาชาติด้วยวิธีไหนได้

การแก้ปัญหาจึงแทนที่จะเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบโลกทรรศน์ ก็กลายเป็นการลงโทษ ผู้อื่นด้วยอำนาจต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งกดดัน ปิดกั้น ป้ายสี ไปถึงขั้นทำร้ายชีวิตและทรัพย์สิน สารพัดวิธี ไม่แตกต่างจากที่ชุมชนวิทยาศาสตร์เองเคยถูกกระทำในยุคมืดมาก่อน

ทั้ง ๆ ที่ย้ำเสมอว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของธรรมชาติ จรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์อยู่ที่การเรียนรู้ เข้าใจ ความจริงของธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ แต่ในศตวรรษที่วิทยาศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เป็นศตวรรษที่ธรรมชาติถูกทำลายมากที่สุด วิทยาศาสตร์เป็นฐานให้กับการทำลายนั้น วิทยาศาสตร์จึงมิอาจรักษาแม้แต่ตัวจรรยาบรรณของตนไว้ได้

ยิ่งวิทยาศาสตร์ อับจนต่อการอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการกระทำของเทคโนโลยี ที่ไปมีผลกระทบต่อสังคมมากเท่าไรก็ยิ่ง แสดงให้เห็นถึงการติดตันของศาสตร์มากขึ้นเท่านั้น

ปรากฏการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผมได้เห็นถึงอำนาจของสถาบันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นไป ในทางทำลายล้างผู้ที่ต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องแผ่นดินถิ่นฐาน รักษาวิถีชีวิตชุมชน ทำลายล้างความสุขสงบตามวิถีทางที่ผู้คนอยากจะมีส่วนกำหนดชะตาชีวิตตนเอง

อนาคตองครักษ์ - เทคโนโลยีทำลายล้าง
ขอให้ดูเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกขณะนี้ว่า กำลังก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องค์รักษ์ และจะมีการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้น ซึ่งประชาชนจังหวัดนครนายกไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงในการรับรู้และร่วมตัดสินใจ ทั้ง ๆ ที่เขาจะต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

เมื่อค่ำวานนี้ (13 ธันวาคม 2546) ที่งานวัดสันติธรรมบำรุงราษฎร์ จัดร่วมกับอาศรมวงศ์สนิท ผมได้ฟังการบรรยายจากอาจารย์จรัล รุ่งเรือง ผู้นำการคัดค้านโครงการ มาเล่าถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ จนถึงอันตรายและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น แก่แผ่นดินถิ่นเกิดของตน เช่น หากเกิดอุบัติเหตุการรั่วไหลของรังสี จะกระจายไปครอบคลุมทั่วจังหวัด เพราะเป็นที่ราบลุ่ม และแผ่ไปถึงกรุงเทพฯได้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

จะว่าไปแล้ว ศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ก็ดี GMOs ก็ดี ถือเป็นศาสตร์ขยะ (Junk Science) คือในระหว่างการพัฒนาตัวมันเองขึ้นมา ก็ได้ก่อปัญหาการสร้างมลภาวะ และภัยอันตราย รวมถึงความเสี่ยงในความวิบัติอยู่ตลอดเวลา ศาสตร์เหล่านี้สนใจจะพัฒนาไปโดยไม่คำนึงถึงผลการประยุกต์ใช้ที่จะมีตามมา ด้านหนึ่งมุ่งหน้าไป อีกด้านก็ผลักภาระให้แก่คนอื่น

อย่างเช่น ที่เคยมีข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว ลงในปาจารยสาร บอกว่า แต่ก่อน การนำเอาโลหะที่ใช้แล้ว จากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูมาทำใหม่ จะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนด คือจะต้องมีปริมาณรังสีต่ำในระดับหนึ่ง จึงจะปลอดภัย และนำไปแปรรูปเป็นโลหะใช้ เช่น เป็นเหล็กเส้นใช้ในการก่อสร้าง ส่งออกขายได้

แต่ต่อมา คณะกรรมการการกำหนดค่ามาตรฐานนี้ ที่อเมริกาถูกกดดันโดยกลุ่มบริษัทกิจการรีไซเคิลโลหะกัมมันตภาพรังสี ซึ่งมีอำนาจมาก ก็เลยลดเกณฑ์มาตรฐานลง ทำให้โลหะต่าง ๆ มีปริมาณรังสีสูงกว่าเดิมก็สามารถแปรรูปขายได้ แล้วส่งออกไปขายต่างประเทศ ที่ไต้หวันตรวจพบตัวอาคารที่ใช้เหล็กเส้นเหล่านี้ในการก่อสร้าง มีรังสีแผ่ออกมา178 แห่ง เรานั่งทำงานในตัวอาคารที่มีรังสีอ่อน ๆ แผ่ออกมา เหมือนถูกฉายรังสีตลอดเวลา และไม่ใช่ว่าจะแปรรูปเป็นแค่เหล็กเส้นเท่านั้น เป็นแว่นตา เป็นสายนาฬิกา เป็นช้อน มีด หัวเข็มขัด ชิป วัสดุอุดฟัน มากมายไปหมด ผู้คนมีโอกาสที่จะสัมผัสได้ง่ายมาก

นี่คืออันตราย ที่ถูกผลักความเสี่ยงภัยไปให้แก่สังคม ไปให้ประชาชน เป็นผลพวงจากศาสตร์ขยะเหล่านี้

เพื่อนผมคนหนึ่งเรียนมาด้วยกัน เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ และได้ไปทำงานที่โรงเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่สวีเดน ซึ่งเตาปฏิกรณ์นั้นมีช่วงเวลาที่จะต้องทำการซ่อมบำรุง ดูแล ทำความสะอาด ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ตามกำหนดมาตรฐานอย่างเคร่งครัด กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงเวลาดังกล่าว จะมีนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งลาออก เพราะตระหนักถึงความไม่ปลอดภัย และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แม้จะดูเหมือนว่ามีมาตรการอย่างรัดกุมก็ตาม เพื่อนผมก็ลาออกด้วย นี่ขนาดบ้านเมืองที่เขาดูแลกันอย่างเข้มงวด ก็ยังไม่มีใครไว้วางใจ

แล้วในประเทศของเรา ที่อำนาจต่าง ๆ มักจะเหนือกว่าอำนาจการตรวจสอบเสมอนั้น ความประมาทเลินเล่อแม้เพียงเล็กน้อย ก็สร้างความหายนะได้ ขอให้ดูตัวอย่างกรณีโคบอลท์ 60 จะเห็นชัดว่า ไม่มีการระวังภัยให้กับสังคมเลย

ดังนั้น เมื่อชาวองค์รักษ์กลุ่มหนึ่ง ต้องการจะปกป้องรักษาจังหวัดนี้ ให้ปลอดพ้นจากนิวเคลียร์ ให้เป็นจังหวัดที่สะอาด ไม่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย เช่น จากการเป็นแหล่งเก็บกากนิวเคลียร์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ เป็นต้น นั้น ลองคิดดูว่า จะมีรถที่ขนกากนิวเคลียร์เข้ามาในตัวจังหวัดอยู่ตลอดเวลา หากเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่ง อะไรจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันกับอุบัติเหตุที่จะเกิดจากเตาปฏิกรณ์หากมีความประมาทพลาดพลั้งแบบเดียวกับกรณีโคบอลท์ 60 อะไรจะเกิดขึ้น เพราะเตาปฏิกรณ์ปรมาณูขนาด 10 เมกะวัตต์ อันตรายกว่าหลายเท่า

องค์กรทางวิทยาศาสตร์ กำลังพยายามจะเปลี่ยนจังหวัดนครนายก ให้เป็นจังหวัดนครนิวเคลียร์ให้ได้ โดยไม่แยแสว่าผู้คนทั้งหลายจะว่าอย่างไร กีดกันเขาออกไปจากกระบวนการตัดสินใจ จากกระบวนการกำหนดชะตากรรมในชีวิตของเขาอย่างสิ้นเชิง จึงจำเป็นต้องถามชาวจังหวัดนครนายกว่า ท่านเห็นชอบให้เปลี่ยน แผ่นดินถิ่นเกิดของท่าน นครนายก เป็นนครนิวเคลียร์หรือไม่ ถ้าไม่ต้องการ ท่านจะมีส่วนในเรื่องนี้ได้อย่างไร?

กรณีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงอำนาจของสถาบันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เพิ่มขึ้นไปในทางทำลายล้างผู้ที่ต้องการรักษาธรรมชาติ ทำลายความสงบสุข และทำลายการมีส่วนร่วมกำหนดวิถีชีวิตของตนตามที่ตนต้องการ

วัฒนธรรมแห่งการทำลาย
วัฒนธรรมแห่งการทำลาย มิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่เป็นขบวนการที่ผ่านการหล่อหลอมด้วยระบบการศึกษา ด้วยนโยบายที่เอียงข้างอย่างสุดโต่ง ด้วยการจับมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กับ หน่วยงานทางวิชาการ และด้วยการสกัดกั้นระบบความคิดอื่นไม่ให้เติบโตในสังคมได้ ดังจะขอกล่าวถึงปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบางกรณีเพื่อชี้ถึงเบื้องหลังของวิกฤตการณ์ ดังนี้

วิกฤต กรณีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ลานหอยเสียบ จังหวัดสงขลา กับ กรณีความร่วมมือทางวิชาการ
เป็นที่ทราบกันดีว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)เป็นองค์กรที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรเป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่ผลักดันโครงการพลังงานขนาดใหญ่หลายโครงการ ได้รับการต่อต้านคัดค้านจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ในโครงการนี้เองที่รัฐบาลทักษิณใช้อำนาจเข้าจัดการกับชาวบ้านที่ต้องการเข้ามายื่นหนังสือ เพื่อให้รัฐบาลทั้งสองประเทศทบทวนการก่อสร้าง ด้วยการใช้กำลังทุบตีชาวบ้านอย่างรุนแรง ที่สงขลา เมื่อค่ำวันที่ 20 ธันวาคม 2545 จากบันทึกภาพเหตุการณ์โดยช่างภาพอิสระ ได้แสดงอย่างชัดเจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนที่รัฐกระทำกับประชาชน ซึ่งพยายามใช้สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจกับเหตุการณ์นี้มาก

ทุนขนาดใหญ่กับการกำกับหลักสูตรการศึกษา
แต่มีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจกว่าอีก คือ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ได้มีการติดต่อขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก ปตท. สำหรับนักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโท สาขาวิชาธรณีฟิสิกส์ประยุกต์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยของผมเอง(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เมื่อได้อ่านหนังสือราชการที่มีไปขอทุน รวมทั้งการติดต่อกันจนบรรลุข้อตกลงให้ทุนการศึกษานั้น บทบาทและท่าทีของทั้งปตท.และสถาบันทางวิชาการ นับว่าน่าสนใจยิ่ง ผมคิดว่าน้อยคนที่อยู่นอกวงการจะได้ทราบ ผมอยากให้สังคมไทยร่วมรับรู้ ต่อไปนี้คือบทบาทและท่าทีเหล่านั้น

" ตามที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากท่าน มาตั้งแต่ปี 2537 นั้น คณะวิทยาศาสตร์รู้สึกซาบซึ้ง ในพระคุณของท่านเป็นอย่างยิ่ง และสืบเนื่องจากการที่ผู้บริหารของบริษัท ปตท.ส.ผ.จำกัด(มหาชน) ได้แก่ คุณสมเกียรติ จันทร์มหา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานเทคนิค คุณชุมพล โรจนจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล สายงานบริหารธุรกิจ และ คุณนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจ ได้ร่วมหารือ กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณอคุณ สิทธิพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2545 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติ ระดับ บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

คณะวิทยาศาสตร์ใคร่ขอเสนอรายละเอียด เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษาหลัก สูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโท สาขาธรณีฟิสิกส์ประยุกต์ จำนวน 10 ทุน โดยมีรายละเอียด ของหลักสูตรและอัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่งมาพร้อมกันนี้แล้ว… "

ปตท.ตอบกลับมาว่า

"บริษัทมีความยินดีจะสนับสนุน ทุนสำหรับการศึกษา 2546 เป็นจำนวน 3 ทุน โดยมุ่งเน้น ผู้สมัครขอรับทุนจากประเทศพม่า เวียดนาม และกัมพูชา" และกำกับมาว่า "บริษัทปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้รับทุน…"

จากนั้นก็มีการทำข้อตกลงเป็นบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding)และลงนามความร่วมมือ ระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับคุณปฤษดาพันธ์ พจน์ปรีชา รองผู้จัดการใหญ่สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด มหาชน เมื่อ 10 ตุลาคม 2546

ความร่วมมือดังกล่าวคืออะไร
" คือ การพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้แก่ การให้ทุนการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา การรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานทั้งในสำนักงานและพื้นที่ภาคสนามของบริษัทฯ การจัดสัมมนาและการประชุมทางวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร

สำหรับในปีการศึกษา 2546 บริษัทฯ ได้ให้ทุนการศึกษา จำนวน 2,500,000 บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน) แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อมอบให้นักศึกษาประเทศเมียนมาร์ 1 ทุน และประเทศเวียดนาม 2 ทุน คิดเป็นเงินทุนละประมาณ 800,000 บาท (แปดแสนบาทถ้วน) สำหรับระยะเวลาการศึกษา 2 ปี ในหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาธรณีฟิสิกส์ประยุกต์ ณ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "

จากเหตุการณ์ที่ยกมานี้ แสดงสถานภาพระหว่างสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับองค์กกรด้านพลังงาน ฝ่ายหนึ่งขอ ฝ่ายหนึ่งให้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถาบันใด ๆ ก็ล้วนจะต้องแสวงหาผู้มีอุปการะคุณที่ควรแก่การซาบซึ้ง เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยทุนมหาศาล และถือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องแสวงหา โดยไม่ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้ให้ กล่าวคือ ไม่ต้องคำนึงถึงจริยธรรมนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องถามก็ตอบได้ว่า หลักสูตรทั้งหลายในหลายสถาบัน ตอบสนองใคร? และที่ว่าทุนขนาดใหญ่สามารถกำกับหลักสูตรการศึกษาและแนวทางการวิจัยเป็นเช่นไร ? มันเป็นอย่างที่ได้เล่ามานี้

ลองจินตนาการดูว่า ภาพที่มองเห็นมันตัดกันขนาดไหน ระหว่างชาวบ้านที่สงขลาถูกกระบองไล่ทุบตีกลางถนน โดนฉุดกระชาก กับภาพคนใส่สูทยิ้มให้กัน ลงนามเอกสารในห้องแอร์ แล้วก็จับมือกัน

การสะกัดกั้นระบบคิดอื่นภายใต้อำนาจทุน
นอกจากการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างกลุ่มธุรกิจพลังงานกับหน่วยงานทางวิชาการแล้ว อีกทางหนึ่งก็คือ การสกัดกั้นมิให้ระบบคิดอื่นเติบโตหรือเป็นทางเลือกให้กับสังคม ซึ่งจริงๆแล้วสถาบันทางวิชาการมีหน้าที่ต้องแสวงหา แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะอยู่ในอำนาจครอบงำและเกรงกลัวอำนาจอื่น กลัวสูญเสียสถานภาพ จนกระทั่งกลัวแบบไม่รู้ตัวว่ากลัวอะไร

ผมจำเป็นต้องเล่าเหตุการณ์ย้อนหลังไปอีกเหตุการณ์หนึ่งเพื่อยืนยันว่า ทุนมีอำนาจกำกับพฤติกรรมของสถาบันได้ เพราะผมอยู่ในเหตุการณ์โดยตรง

เหตุเกิดเมื่อปี 2540 เมื่อเริ่มมีข่าวคัดค้านจากประชาชนที่จังหวัดกาญจนบุรีในโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ที่จะวางท่อก๊าซผ่านป่าที่อุดมสมบูรณ์ ที่สุดผืนหนึ่งของประเทศไทย สื่อเริ่มเสนอปัญหาสู่สาธารณอย่างกว้างขวาง อาจารย์สุลักษณ์ เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาแสดงเหตุผลคัดค้านรัฐบาลชวน และปตท.อย่างเต็มที่

ปี 2540 เดียวกันนี้เอง ที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยครั้งที่ 23 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนตุลาคม มีการเตรียมงานล่วงหน้าหลายเดือน ในการเตรียมงานฝ่าย มช. นั้น เสนอชื่อ อ.สุลักษณ์ มาเป็นผู้แสดงปาฐกถาในวันปิดงานประชุม ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับยกย่องรางวัลสัมมาอาชีวะ (The Right Livelihood Award) หรือที่เรียกกันว่า รางวัล Alternative Nobel เพื่อให้คู่กันกับปาฐกถาตอนเปิดงานประชุมที่ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาแสดง

เหตุผลสำคัญในการพิจารณาของกรรมการฝ่ายวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ มช. ที่เสนอชื่ออาจารย์สุลักษณ์ ก็คือ วงการวิทยาศาสตร์ ควรจะได้ฟังบุคคลที่เรียกว่าอยู่นอกวงการบ้าง เพื่อให้มีมุมมอง แง่คิดอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะจากนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เรื่องนี้เป็นที่ตกลงในที่ประชุมกรรมการเตรียมงานฝ่าย มช. และ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ก็เห็นชอบให้ติดต่อวิทยากรได้ ผมจึงติดต่อทาบทาม

อาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์แจ้งว่ามีกำหนดการแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน ตรงกันพอดี อาจารย์ขอเวลาสอบถามไปทางสวีเดนว่า หากสามารถเลื่อนหรือยกเลิกได้ ก็สามารถรับมางานนี้ได้ อีกหลายวันต่อมา อาจารย์จึงได้ตอบตกลง ผมก็ได้แจ้งให้กรรมการและผู้บริหารทราบทันที

ระหว่างนั้นเองมีโทรสารจากประธานจัดงานฝ่ายสมาคมวิทยาศาสตร์ที่กรุงเทพฯ แจ้งมาว่า ได้มีการประชุมหารือกันในกรรมการสมาคมฯ แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ให้เชิญอาจารย์สุลักษณ์ เพราะเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และบุคคลผู้นี้ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ผู้บริหารคณะเอาโทรสารฉบับนี้มาให้ผมอ่าน ผมจำได้ดีว่า ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2540

ผมตกใจและงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริหารก็เริ่มเอนเอียงเข้าข้างสมาคม พร้อมกับโน้มน้าวให้เหตุผลว่า เราควรเกรงใจสมาคมเพราะยังต้องทำงานร่วมกันไปอีกนาน อีกทั้ง ปตท.ก็ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ เราไม่ควรเอาบุคคลที่ขัดแย้งกับปตท.มาพูด ผมได้พยายามชี้แจงว่าเราได้เชิญวิทยากรได้แล้ว ผู้บริหารยืนยันเข้าข้างกับสมาคม กระทั่งผมเสนอว่า ขอเดินทางไปชี้แจง กับกรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์ที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเองเพื่ออธิบายว่า ทำไมกรรมการฝ่าย มช.จึงเสนอชื่อบุคคลนี้ ปรากฏว่าคณบดี สั่งให้ผมบอกเลิกการเชิญและระงับการติดต่อเสีย ผมจำต้องทำตามนั้น

ผมเริ่มตระหนักรู้ในขณะนั้นว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าภาพร่วมอย่างแท้จริง ไม่ยืนยันในมติของตน เพราะสิ่งที่สมาคมฯ ปฏิเสธไม่ให้เชิญอาจารย์สุลักษณ์ ก็ไม่มีเหตุผลในทางวิชาการใด ๆ ทั้งสิ้น วิธีการที่ทำอยู่ไม่เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อย่างที่ใช้สอนนักศึกษา แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่อง อคติ เกรงใจ ปตท. และกลัวว่า บุคคลผู้นี้จะมากล่าวตำหนิ ปตท.ในที่ประชุม ผมยอมรับว่าหนักใจมาก เพราะเพื่อนฝูงบ้าง รุ่นพี่บ้างทั้งนั้น ที่เป็นผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์อยู่

เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์เป็นวิทยากรคนหนึ่งที่ทางสมาคมได้เชิญให้พูดร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ และได้ตอบตกลงไปแล้ว อาจารย์นิธิตัดสินใจขอถอนตัวทันที เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดเช่นนี้ของสมาคมฯ ผมขอยกเอาจดหมายฉบับนี้มาแสดงไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐาน จดหมายลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ถึงประธานจัดการประชุม มีความว่า

ตามที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เชิญให้กระผมร่วมอภิปรายในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ของวิทยาศาสตร์ไทยในทศวรรษหน้า" ในการประชุมวิชาการครั้งที่ ๒๓ ของสมาคมนั้น กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และได้ตอบรับคำเชิญไปก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม กระผมเพิ่งได้รับทราบว่าทางสมาคมได้ปฏิเสธไม่ยอมเชิญคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ร่วมอภิปรายหรือเป็นองค์ปาฐกในการประชุมครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสมาคมฯ รังเกียจทัศนะของคุณสุลักษณ์ หรือสมาคมเกรงว่าคำพูดของคุณสุลักษณ์อาจก่อให้เกิดปัญหา ทางการเมืองหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่สมาคม ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติและความสามารถ ของคุณสุลักษณ์ซึ่งดูเหมือนสมาคมฯ ไม่ได้ปฏิเสธหรือสงสัยแต่ประการใด

กระผมเข้าใจดีว่าสมาคมฯ ในฐานะผู้จัดการประชุมย่อมมีสิทธิตั้งมาตรฐานของตนเอง ในการคัดสรรผู้อภิปรายหรือปาฐกถาอย่างแน่นอน แต่กระผมเชื่อว่ามาตรฐานดังกล่าวของสมาคม วิชาการจะต้องไม่เป็นอุปสรรคแก่การสื่อความคิดเห็นที่เป็นอิสระและมีเหตุผลของบุคคล แม้ว่าผู้จัด อาจไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นนั้นก็ตาม เพราะปราศจากการสื่อความคิดเห็นกันอย่างไม่ปิดกั้นแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่วิชาการใด ๆ ก็ตามจะมีประโยชน์แก่สังคมโดยรวมได้ ในทางตรงกันข้าม วิชาการ ก็อาจตกเป็นเครื่องมือสำหรับการครอบงำเอาเปรียบกันในสังคม

กระผมไม่อาจยอมรับมาตรฐานการคัดสรรบุคคลเช่นนี้ของสมาคมฯ ได้ ทั้งเห็นเป็นหน้าที่ จะต้องไม่ให้ความร่วมมือกับการประชุมทางวิชาการที่ใช้มาตรฐานการคัดสรรบุคคลกันเช่นนี้อีกด้วย กระผมจึงขอถอนตัวจากการร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของสมาคมฯ ในครั้งนี้

กระผมทราบดีว่า การร่วมอภิปรายของผมไม่ได้มีความสำคัญแก่การจัดประชุมแต่อย่างไร ทั้งสิ้น การถอนตัวนี้จึงไม่กระทบการจัดประชุมของสมาคมในทางหนึ่งทางใด อย่างไรก็ตาม การถอนตัวเป็นท่าทีซึ่งจำเป็นแก่เสรีภาพทางวิชาการ เท่าที่นักวิชาการเล็ก ๆ อย่างกระผมพึงทำได้ และกระผมจะไม่ปฏิเสธการกระทำซึ่งกระผมถือว่าเป็นความรับผิดชอบทางวิชาการนี้เป็นอันขาด

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อสมาคมฯ และผู้บริหารคณะวิทย์ มช. รับทราบเรื่องนี้ ก็ได้แต่เสียดาย แต่ก็ยืนยันท่าทีที่จะไม่ให้อาจารย์สุลักษณ์มาพูด โดยพยายามให้เรื่องเงียบไป ผมต้องคิดอยู่หลายอาทิตย์จนที่สุดผมตัดสินใจพึ่งสังคม

ผมตัดสินใจบอกเล่าเรื่องนี้ ลงในหนังสือพิมพ์มติชน ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับการเตรียมงานประชุม ปรากฏว่าทางสมาคมฯ ตกใจและถามมาทางคณะวิทยาศาสตร์ มช.ว่าไม่ทราบมาก่อนเลยว่า ได้มีการเชิญวิทยากร คืออาจารย์สุลักษณ์ไว้แล้ว และต่อมาต้องยกเลิกการเชิญ ไม่ทราบว่ามันเกี่ยวอะไรกับปตท.เป็น sponsor

นี่ก็ทำให้ผมจับได้ว่า ผู้บริหารคณะวิทย์ของผมไม่กล้าแจ้งผลการเชิญวิทยากรได้แล้ว ไปยังสมาคมที่กรุงเทพฯ ทำให้ทางกรุงเทพไม่ทราบ

คราวนี้สมาคมเปลี่ยนท่าที และมีหนังสือมาขอโทษอาจารย์สุลักษณ์ พร้อมกับเชิญให้อาจารย์เป็นวิทยากรร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน ปรากฏว่างานวันนั้น มีนักวิทยาศาสตร์ผู้เข้าร่วมฟังเต็มห้องประชุม และแน่นอนว่า ปตท.ก็มาจัดนิทรรศการ เรื่องการวางท่อก๊าซ ที่เมืองกาญจน์ อยู่ในงานประชุมตลอด 3 วัน

ที่ผมเล่าเบื้องหลังเหตุการณ์จัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในปี 2540 มา เพื่อให้เห็นความสลับซับซ้อนของบทบาทและอิทธิพลของทุน ที่มีต่อสถาบันทางวิชาการว่าเป็นอย่างไร มันก่อให้เกิดแรงเสียดทานทางความคิด เมื่อมีการกระทำใดๆก็ตามที่นอกเหนือไปจากการคาดหมายของสิ่งที่เคยปฏิบัติ มันก่อให้เกิดความเกรงใจทันที ที่ถ้าจะทำอะไรไปกระทบกระเทือนใจกัน จะมองหน้ากันอย่างไร เมื่อต้องขอทุนเขาอยู่

ผมตระหนักรู้จากการจัดงานครั้งนี้ว่า ชาวบ้านเมืองกาญจน์ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการวางท่อก๊าซ ไม่มีวันที่จะได้นำเสนอปัญหา โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะถูกทำลาย รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน อันเป็นผลกระทบมาจากการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมาคมทางวิชาการ หรือในคณะวิทยาศาสตร์หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันใดๆ ได้อย่างเด็ดขาด

ตรงข้าม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยสามารถเข้าถึงการจัดงานได้อย่างสง่าผ่าเผย สามารถแสดงนิทรรศการท่อก๊าซ แต่ฝ่ายเดียว ได้มาพูดงานวิจัยของตัวในการประชุมวิชาการ แต่ชาวบ้านไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาส และไม่มีช่องทางใด ๆ ก็ขนาดอาจารย์สุลักษณ์ยังโดนถึงขนาดนี้

ถามว่าสถาบันทางวิชาการ ที่องค์กรทุนขนาดใหญ่เอื้อมมือเข้าไปแทรกแซงอยู่ทั่วประเทศ จะสามารถมีเสรีภาพทางวิชาการ มีอิสระภาพในการกำหนดทิศทางการวิจัยของตนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายได้หรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาที่องค์กรผู้สนับสนุนทางการเงินแก่สถาบันเรานั้นมีข้อขัดแย้งกับประชาราษฎรเสียเอง

แต่คำถามเหล่านี้ไม่สามารถนำเข้ามาสู่จิตสำนึกทางจริยธรรมของสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ได้เลย เพราะถูกสกัดกั้นอย่างแนบเนียน

โลกทรรศน์ที่วิกฤต แยกส่วนและแข่งขัน
ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า โลกทรรศน์วิทยาศาสตร์ที่เข้ามาหล่อหลอมให้มองทุกอย่างเป็นกลไกและแยกส่วน ได้ทำลายสำนึกในคุณค่าที่มนุษย์พึงจะมีต่อกันในสังคมให้หมดไป โดยเริ่มต้นทำลายมาตั้งแต่ระดับเยาวชนทีเดียว และไม่ใช่ในวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่เป็นวิชาภาษาไทยด้วย

ในหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้น ป.6 เล่ม 1 ของกรมวิชาการที่ใช้เป็นแบบเรียนอยู่ในขณะนี้ มีบทอ่านเรื่อง " น้ำ ไฟ คือ ชีวิต" มีความตอนหนึ่งว่า

"การผลิตไฟฟ้า ต้องใช้พลังน้ำและเชื้อเพลิง ได้แก่ ลิกไนต์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน เชื้อเพลิง พลังน้ำที่ใช้ผลิตไฟฟ้าได้มาจากเขื่อนที่กักเก็บน้ำ การสร้างเขื่อนแต่ละแห่งต้องลงทุน สูงมาก บางครั้งก็สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และกระทบกระเทือนถึงที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ของประชาชนในบริเวณนั้น แต่ก็จำเป็นต้องสร้างเพื่อประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า…หากความต้องการ ใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เราก็ต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นและซื้อเชื้อเพลิงมาใช้มากขึ้นด้วย…"

แม้บทความพยายามให้ใช้ไฟอย่างประหยัด แต่ค่านิยมแห่งความจำเป็นต้องสร้างเขื่อน สร้างท่อก๊าซมันถูกฝังรากลึกอย่างเป็นกระบวนการมาตั้งแต่ระดับประถมแล้ว ชาวบ้านที่ปากมูล , ราษีไศล , เมืองกาญจน์ , จะนะ ฯลฯ จะเอาอะไรไปสู้ได้ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจของระบบการศึกษา มันจึงได้เกิดวิกฤต

การสร้างกำลังคนทางการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการศึกษาสายอื่น ที่มองนักเรียนนักศึกษาเป็นวัตถุดิบที่ต้องถูกป้อนเข้าในโรงงานการศึกษาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านโปรแกรมที่เรียกว่าหลักสูตร ตามที่รัฐต้องการกำลังคนเพื่อตอบสนองการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เป็นการปั้นแต่งคนขึ้น ภายใต้กการกำกับของรัฐและทุน

คำกล่าวของ M.N.Pokrovskiy ที่ว่า "เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบรรลุถึงความสมบูรณ์แล้ว ธรรมชาติก็จะกลายเป็นเสมือนขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือของมนุษย์ ซึ่งเขาสามารถจะปั้นแต่งให้เป็นรูปใดก็ได้ตามปรารถนา" เป็นดั่งอุดมคติของการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลผลิตจากการศึกษา ต้องปั้นแต่งธรรมชาติได้ตามต้องการ

เมื่อสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างคนด้วยท่าทีและโลกทรรศน์แบบนี้ และก็ตกอยู่ในวังวนของโลกทรรศน์แบบนี้ จึงหันกลับมาจัดการกับคนและธรรมชาติ ด้วยทรรศนะครอบงำแบบนี้เช่นกัน

ยิ่งสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปรียบทางด้านสังคมมากเท่าไร(ดังมีรายงานว่า เงินวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์เป็นสัดส่วนถึง 80: 20) ก็จะยิ่งเอาเปรียบทางความคิดและการกระทำมากขึ้นเท่านั้น ต้องการทรัพยากรมากขึ้น มองไม่เห็นความสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น

คำให้สัมภาษณ์ของนักเรียนที่ได้รับเหรียญโอลิมปิกวิชาการของไทย มักกล่าวซ้ำ ๆ กันแทบทุกปีว่า

"ที่บ้านเราขาดนักวิทยาศาสตร์ เพราะขาดแรงจูงใจ และรัฐบาลสนับสนุนน้อย เรียนหนักแทบตาย เงินเดือนน้อย เทียบกับคนที่เรียนจบสายสังคม เงินเดือนยังมากกว่า คนเรียนจบทางวิทยาศาสตร์เลย ถือเป็นอาชีพที่ไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย"

แทบไม่เคยมี นักเรียนโอลิมปิกคนไหนพูดว่า
"ที่ผมก้าวมาได้ถึงเพียงนี้ เป็นเพราะผมได้เปรียบคนอื่น ได้ใช้งบประมาณถึง หลายสิบล้านสำหรับพวกผมไม่กี่คน ผมระลึกถึงคนที่ขาดโอกาสเหล่านั้น ผมรู้สึกว่า มันไม่เป็นธรรม" ไม่เคยมีเลย

อนึ่งการเอาวิชาการความรู้เช่น วิทยาศาสตร์ไปอยู่ภายใต้คำว่า โอลิมปิก อันหมายถึงการแข่งขัน ยิ่งแสดงถึงความเชื่องของศาสตร์ ที่ไม่สามารถยืนเป็นตัวของตัวเองอย่างเป็นอิสระจากระบบแข่งขันได้ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่โอลิมปิกเป็นเรื่องของ เร็วกว่า (Citius) ,เหนือกว่า (Altius) และแข็งแรงกว่า (Fortius)

นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจึงถูกหล่อหลอมให้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกลไก ให้ความสำคัญเฉพาะการมองโลกเป็นส่วน ๆ จน

มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงทางสังคม ที่มีโครงสร้างไม่เป็นธรรม
มองไม่เห็นสภาพความเชื่อมโยงของปัญหา
มองไม่เห็นความอ่อนแอล้มเหลวของรัฐ

ผลก็คือ ทั้งสถาบันทางวิทยาศาสตร์ และบุคลากรทางวิทยาศาสตร์จึงถูกตรึงให้จำนนต่อ ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และ วัฒนธรรม

ไม่มีสถาบันทีสอนด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ใด จะออกมาร่วมกับชาวองครักษ์ ปกป้องอันตรายจากโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ไม่มีเวทีทางวิชาการใด จะเปิดให้กับข้อเสนอของอาจารย์จรัล รุ่งเรือง ครูโรงเรียนประถม วัดบางนางเล็ก อำเภอองค์รักษ์ และไม่มีช่องทางใด สำหรับชาวนครนายก ได้เผยแพร่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งออกสู่สาธารณะ

ไม่มีหน่วยงานราชการทางวิทยาศาสตร์ไหน หรือสมาคมวิศวกรใด เช่น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรงไฟฟ้าของบริษัทยูเนียนเพาเวอร์ ดีเวลล็อพเมนต์ ที่พยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูด หรือโรงไฟฟ้าของบริษัทกัลฟ์เพาเวอร์เจนเนอเรชัน ที่พยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก

ชาวบ้านต่างหากที่ลุกขึ้นมาศึกษา และปกป้องวิถีชีวิตและธรรมชาตินั้นไว้ จนกระทั่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคประชาชน , นักวิชาการอิสระ และสังคมในวงกว้าง 00000000 กลายเป็นว่านักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกว่าจ้างจากบริษัท ทำการศึกษาวิจัยด้วยข้ออ้างเสรีภาพทางวิชาการ แต่เอียงเข้าข้างโรงไฟฟ้า จนชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้ ผมเห็นว่าเวลานี้เรามีนักวิชาการประเภทนี้เป็นจำนวนมากเกินพอแล้ว วิกฤตแล้ว

เมื่อผมได้มีโอกาสพบกับชาวบ้านกรูดและบ่อนอกคราวหนึ่ง คุณจินตนา แก้วขาว และคุณเจริญ วัดอักษร กล่าวยืนยันว่า "เราไม่ต้องการให้นักวิชาการที่ทำการวิจัยมาเข้าข้างเราเลย ขอเพียงแต่ให้เขารายงานตามความเป็นจริง ก็เพียงพอแล้ว"

ชาวบ้านร้องขอความจริง จากนักวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่เหมือนตบหน้าจริยธรรมทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ผู้ซึ่งอ้างตลอดเวลาว่าเป็นนักค้นคว้าแสวงหาความจริง แต่สยบยอมให้กับทุนและอำนาจ พินอบพิเทาเกรงอกเกรงใจ และลืมหน้าที่ของตนเสียสิ้น

ไม่เว้นแม้แต่สถาบันทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติงานโครงการต่าง ๆ ซึ่งจำนนต่ออำนาจของรัฐ และนักการเมือง เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่านักการเมืองส่วนมากมักจะใช้ตำแหน่งงานทางการเมืองในการแสวงหาผลประโยชน์ วิธีการหนึ่งก็คือ การเสนอโครงการวิศวกรรมขนาดใหญ่ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการโดยไม่ได้สนใจพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่

โครงการเหล่านี้ ทั้งๆที่ทางวิศวกรผู้ปฏิบัติเองก็รู้ว่าไม่สมควรดำเนินการ เพราะประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ระบุ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะต้องทำตามนโยบายและคำสั่งของนักการเมือง ผลสุดท้ายก็คือ โครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายล้วนแต่ประสบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วง ประเทศชาติต้องเสียหาย และหมดเงินงบประมาณไปมากมายมหาศาล

ความไม่มีพลังของศาสตร์ อันได้แก่ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ทำได้แค่ยอมจำนน ยืนดูโครงการต่างๆ ที่สร้างความหายนะ โครงการแล้ว โครงการเล่า ปล่อยให้ประชาชนผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบและด้อยโอกาสด้วยประการทั้งปวง ต้องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมไปตามลำพัง

ตัวอย่างโลกทรรศน์ของชนชั้นนำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทัศนะครอบงำแบบแยกส่วน ได้ยึดครองพื้นที่ขององค์กรทางวิทยาศาสตร์อย่างเหนียวแน่น โดยส่วนที่มีอิทธิพลและก่อให้เกิดปัญหามากสุด คือ ส่วนของพลังงาน ผู้จบจากสายวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้าไปอยู่ในองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ., กระทรวงวิทย์ ,กระทรวงพลังงาน , กรมชลประทาน ,สถาบันวิจัยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ผู้บริหารหน่วยงานดังกล่าว ล้วนผ่านการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ เช่น ผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ส่วนใหญ่จบวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อได้ศึกษาถึงวิธีคิดของบุคคลชั้นนำในองค์กรเหล่านี้แล้ว สามารถบอกได้ว่าเป็นผลจากวิกฤตการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยแท้

ขอยกตัวอย่างดังนี้

ราวเดือนตุลาคมปี 2545 ภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่งของผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนใหม่ คือ คุณสิทธิพร รัตโนภาส มีการเชิญอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทุกคนมางานที่เรียกว่า"วันที่พี่ๆ กลับบ้าน" มีคุณเกษม จาติกวณิช , พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ , คุณเผ่าพัชร ชวนะลิขิกร ,คุณสมบูรณ์ มณีนาวา , คุณปรีชา จูงวัฒนา , คุณวีระวัฒน์ ชลายน และคุณวิทยา คชรักษ์

ผู้ว่า กฟผ.ปัจจุบันหารือเกี่ยวกับโครงการพลังงานในกลุ่มอาเซียน ว่า

"2 ปีก่อน เขมรใช้ไฟแค่ 150 เมกะวัตต์ ลาวใช้ 180 เมกะวัตต์ พม่าใช้ 900 เมกะวัตต์ เวียดนามใช้ 4,000 เมกะวัตต์ ไทยใช้ 13,200 เมกะวัตต์ มาเลเซียใช้ 9,500 เมกะวัตต์ อินโดนีเซีย 11,500 เมกะวัตต์ สิงคโปร์ 4,700 เมกะวัตต์……ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ มีทรัพยากร พลังงานกระจัดกระจายอยู่มหาศาล พม่ามีศักยภาพพลังน้ำอยู่ถึง 108,000 เมกะวัตต์ , ลาว มี 26,500 เมกะวัตต์ เวียดนามมี 68,000 เมกะวัตต์ ภาคใต้ของอาเซียน มาเลเซีย มีน้ำมัน 3.4 พันล้านบาเรล ก๊าซธรรมชาติ 84 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ถ่านหินกว่า 1,000 ล้านตัน อินโดนีเซีย ก็มีทั้งก๊าซ น้ำมัน และถ่านหินอยู่มหาศาล ถ้าประเทศอาเซียนร่วมมือกัน ก็สามารถนำพลังน้ำ จากลาว พม่า มาผลิตไฟฟ้าในช่วงใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน และใช้ถ่านหินกับก๊าซเป็นเชื้อเพลิงใน โรงไฟฟ้าฐาน โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน"

ผู้ว่าการเกษม "เรื่องนี้มีหลายปัจจัย…เขื่อนน้ำงึมของลาว เราก็พยายามเต็มที่ ใส่เงินเข้าไป พูดกับอเมริกันให้เขาช่วยกว่าจะสำเร็จ…สมัยก่อนแทบตาย ตอนนั้นน้ำมันจะ ขึ้นไป 40 ดอลล่าร์ต่อบาเรล แล้วไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไร เรากับปรีชา (ปรีชา จูงวัฒนา) ไปคิดเรื่องปรมาณูก็เกือบตาย อีกอย่าง ทั้งหมดอย่าลืมเรื่อง"ม็อบ""

ผู้ว่าการกำธน "ปัจจัยอื่น ๆ เข้ามามาก จะทำอะไรต้องดูจังหวะเวลาด้วย การเตรียมตัวให้ พร้อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทิ้งไพ่เร็วเกินไป ก็อาจเสียเปรียบเขาได้"

ผู้ว่าการวีรวัฒน์ "เป็นผู้ว่าการ กฟผ.หนักทุกยุค ข้อสอบเปลี่ยนตลอด…ผู้ว่าการไฟฟ้าต้องอดทน อดกลั้น ความสัมพันธ์กับบ้านเมือง สังคม ก็จำเป็น"

ผู้ว่าการวิทยา "ขอให้พวกเราสนับสนุนผู้ว่าการ ถ้าพวกเราเกาะกันแน่น คนที่มาจากภายนอก ก็คงกระทบเราไม่ได้ อย่างที่ประวัติศาสตร์ของเราหลายครั้งเคยสอนไว้"

ผมยกมาจากบทความของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ตีพิมพ์ในสกุลไทย ฉบับที่ 2510 ขอให้สังเกตถึงวิธีมองโลก มองประเทศชาติเพื่อนบ้านด้วยหน่วยของพลังงาน มองมาเลเซีย ลาว พม่า เป็น เมกะวัตต์ มองไม่เห็นความสำคัญของมิติอื่น ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคม มองไม่เห็นธรรมชาติแวดล้อม ดิน ป่า อากาศ น้ำ แต่สอดสายตาเพ่งมองไปยังสิ่งที่จะนำมาแปรรูปตีค่าเป็นเมกะวัตต์ได้ และคิดว่า เมกะวัตต์ คือ ดัชนีบ่งชี้ถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อันน่าจะหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง สะดวกสบาย

ดูธรรมชาติด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยความปรารถนาในเชื้อเพลิงอันมหาศาลเหล่านั้น และคิดว่ามันคงจะมีให้เราใช้ไปเรื่อย ๆ หมดที่นี่ก็ไปเอาจากที่อื่น ดูตนเองว่า จะต้องพร่อง จะต้องขาดอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยตั้งคำถาม กับการเร่งบริโภคว่ามีความถูกต้องชอบธรรมอย่างไร เพราะถือว่าไม่ใช่ภาระรับผิดชอบของหน่วยงานอยู่แล้ว ก็แยกกันทำ ต่างฝ่ายก็ควรจะต่างรับผิดชอบไป อาณาจักรของข้าพเจ้าไม่พึงใครจะแทรกแซงเข้ามามีส่วนร่วมโดยเด็ดขาด

นี่คือ ผลผลิตของสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ออกไปบริหารอำนาจรัฐและรัฐวิสาหกิจ รุ่นแล้วรุ่นเล่า เมื่อผมมองย้อนดูถึงวิธีการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย ก็พบด้วยความตกใจว่า ก็เราสอนเขาให้มีท่าทีและวิธีคิดแบบนี้เองมิใช่หรือ

วิกฤต การสอนให้จัดการกับธรรมชาติ
เราเริ่มมองแยกส่วนธรรมชาติในสาขาต่างๆของวิทยาศาสตร์ เราพยายามอธิบายมันด้วยตรรกะทางคณิตศาสตร์ สมการทางฟิสิกส์ และเคมี ฯลฯ อย่างไม่ระมัดระวัง รอบคอบ จะว่าไป เราสอนให้เขาคิดจัดการกับธรรมชาติ ตั้งแต่ สมการบนกระดานในห้องเรียนแล้ว เราสามารถสร้างสมการเพื่อพยายามลดให้เหลือตัวแปรอิสระและตัวแปรตามได้อย่างง่าย ๆ เพื่อจะหาว่าตัวแปรอิสระเปลี่ยนไปแล้ว ตัวแปรตามจะเปลี่ยนไปอย่างไร

เช่น ในสมการหาความดันของน้ำในการออกแบบสร้างเขื่อนนั้น ความสูงของระดับน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความดันเปลี่ยนไปตามต้องการ ทุกอย่างดูราบรื่นง่ายดายในหลักการไปเสียทั้งหมด เมื่อออกข้อสอบให้คำนวณออกมาเป็นตัวเลขถูกต้อง ก็ได้คะแนน ข้อสอบจำจะต้องออกให้คำนวณ วัด เป็นตัวเลขให้ได้ ดูแล้วมันเป็นเหตุเป็นผลดี ถ้าจะมีปัญหาทางเทคนิคของโจทย์ที่ยากขึ้น ก็ท้าทายทางความคิดมากขึ้นไปอีก

แต่ทว่า การเพิ่มความสูงของระดับน้ำเพียงแค่ไม่กี่เซนติเมตร ก่อให้เกิดผลต่อชีวิตของชาวบ้านอย่างไร เกษตรกรต้องสูญเสียที่ทำกินไม่รู้จักกี่หมื่นกี่แสนคน ไม่อยู่ในโจทย์บนกระดาน ไม่มีมาให้เฉลียวใจ ท่าทีของวิธีคิดแบบบุกรุกเอากับธรรมชาติ จึงสถาปนาแน่นแฟ้นมากในการศึกษาของเรา

ผมพบว่าการศึกษาธรรมชาติด้วยตรรกะทางคณิตศาสตร์แบบฉาบฉวย มีข้อน่าสังเกตเป็นพิเศษว่า สัมพันธ์กับวิธีคิดแบบโลกาภิวัตน์

นั่นคือเมื่อไรก็ตามที่เริ่มเขียนสมการบนกระดานดำ เรากำลังเริ่มต้นกำหนด ควบคุม กำกับ, รวมศูนย์ และบังคับตัวแปร ถ้าตัวแปรมีปัญหา ก็ต้องหาทางกำจัดและลดทอนมิติต่าง ๆ ลง ผลก็คือ

ประการแรก เราสามารถหาตัวแปรและจัดการกับตัวแปรอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีผลกระทบอย่างไรในชีวิตจริง เช่นเดียวกับระบบทุนโลกาภิวัตน์ องค์กรขนาดใหญ่สามารถทำกำไรอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับท้องถิ่น

ประการที่สอง สมการที่ยากและสลับซับซ้อนจะถูกควบคุมโดยระบบที่ใหญ่ เช่น ระบบประมวลผลขนาดใหญ่ เช่นเดียวกัน กับเงินตรา, เทคโนโลยีและตลาดในระดับโลกนั้น ความซับซ้อนของมันจะถูกควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติไม่กี่แห่ง

ประการที่สาม วิธีคิดคำนวณที่ลัดและเร็ว ทำให้เหลือวิธีเดียวในการแก้ปัญหาโจทย์ รวมทั้งพึงพอใจที่จะหาผลลัพธ์ในเชิงปริมาณ สอดคล้องกับวัฒนธรรมผู้บริโภคที่จะต้องถูกหล่อหลอมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อการแสวงหาความพึงพอใจจากวัตถุ

ประการสุดท้าย ความจริงที่ได้จากสมการเป็นสากล ใช้ได้ทุกเวลาและสถานที่ สอดคล้องกับวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ที่ไม่มีพื้นที่และเวลาสำหรับความจงรักภักดีต่อสถานที่และชุมชน

นี่คือการศึกษาที่ผมเห็นว่าวิกฤต เป็นการศึกษาที่ฝึกฝนให้บุคลากรทางวิทยาศาสตร์ นบนอบต่ออำนาจขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลครอบงำ ขณะเดียวกันก็แข็งกระด้าง ต่อระบบคิดอื่น ๆ ที่ตนเห็นว่าเป็นคนอื่น พวกอื่น

วิกฤต จากการมองไม่เห็นความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง
เมื่อศึกษาถึงแนวคิดของกลุ่มผู้นำทางวิทยาศาสตร์ ที่คิดวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ของวิทยาศาสตร์ เช่น

"วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย จากอดีตสู่อนาคต" จัดพิมพ์เมื่อ 2543 โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัยซึ่งพยายามศึกษารากฐานพัฒนาการ และสถานภาพของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย , และวิเคราะห์สาขาต่าง ๆ จากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต เช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ,เคมี ,วิทยาศาสตร์ชีวภาพ , วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ รวมไปถึง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสังคมไทยในอนาคต ก็ดี

"สมัชชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 2" (ส.ค.2543) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการจัดทำวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2543-2563 จัดทำโดย สวทช.ก็ดี

รวมถึง "แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(พ.ศ.2540-2549)" จัดทำโดย สำนักนโยบายและแผนสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม " ก็ดี

พบว่ามีโครงสร้างทางความคิดไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ มีลักษณะมองตนเองเป็นศูนย์กลางความรู้ที่ต้องเผยแพร่ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับคนอื่นที่ไม่รู้ให้มากยิ่งขึ้น วิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้ที่ได้รับการตรวจสอบสมบูรณ์ดีแล้ว การจัดปรับให้ความรู้นั้นเข้ากับสังคมไทย เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยกันผลักดัน ไม่เคยตั้งคำถามกับองค์ความรู้ที่ได้มา ว่ามาจากบริบทใด ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบใด นโยบายส่วนใหญ่จึงพยายามขับเคลื่อนความรู้ที่เป็นก้อน ๆ ออกไป โดยระดมสรรพกำลัง ทั้งเงินทุน งบประมาณ รวมทั้งการสร้างบุคลากร มีการเรียกร้องระดมทรัพยากรเพื่อตนเองสูง และเรียกร้องความภักดีในอุดมการณ์พัฒนาที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแกนนำสูง

มีการเอ่ยถึงการพัฒนาเพื่อความสมดุลยั่งยืนอยู่หลายบทความ แต่ไม่พูดถึงเรื่องความเป็นธรรมจากการพัฒนานั้น ไม่มีการกล่าวถึงเสรีภาพทางวิชาการ

มีการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจากพลังงาน มลพิษ และสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีการเอ่ยถึง ชื่อของหน่วยงานที่เป็นต้นตอของปัญหา เช่น ปตท., กฟผ. , กรมชลประทานหรือชื่อบรรษัทในนิคมอุตสาหกรรมใดๆ

น่าสังเกตด้วยว่าหลักสูตรสิ่งแวดล้อมที่เรียนในคณะวิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่ผลิตคนไปรับใช้บริษัท มิใช่ ปกป้องธรรมชาติ และแนวคิดในอนาคต ก็เป็นเช่นเดิม

ไม่มีบทบาทและท่าทีในการระวัง ปกป้อง คุ้มกันภัยให้กับสังคมไทย อันเนื่องมาจากอันตรายจากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น อันตรายจากการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) แต่กลับคิดและทำในทางตรงกันข้าม เช่น ท่าทีของ Biotech ต่อนโยบายสนับสนุน GMOs ปล่อยให้ประชาชน นักวิชาการอิสระ และองค์กรภาคประชาชน ช่วยกันทำหน้าที่เปิดโปงอันตรายของบรรษัทข้ามชาติ เช่น มอนซานโต ในท่ามกลางการต่อต้านจากหน่วยงานราชการ

โดยสรุป โลกทรรศน์ที่มีอยู่ในชนชั้นสูงของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย แข็งเกร็งตายตัว ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกต (subject) ที่หยิบยื่นความรู้ให้ ผู้ถูกสังเกต (Object) เป็นอิทธิพลของความคิดของโลกทรรศ์แบบนิวตัน (Newtonian World View) ที่ได้รับการรับรองโดยอำนาจรัฐ

โลกทรรศน์แบบนี้ มองไม่เห็นความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มต่างๆในสังคม ความได้เปรียบของกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจ เข้าถึงสถาบันการศึกษาสามารถกำหนดกรอบคิดในการวิจัย หรือ สร้างหลักสูตรได้อย่างที่ต้องการ มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ให้กับคนมั่งคั่งกลุ่มน้อย และปฏิเสธคนส่วนใหญ่ที่เข้าไม่ถึง และไม่เคยคิดอย่างจริงจังว่าควรจะแก้ไขกันอย่างไร

ฝ่าวิกฤตด้วยการไม่ยอมจำนน
ตราบใดที่องค์กรทางวิทยาศาสตร์ ไม่ย้อนกลับมาตั้งคำถามเชิงพื้นฐาน ถึงความไม่เป็นธรรมของสังคม ก็ไม่สามารถทะลุออกไปจากกรอบเดิม ตัวชี้วัดอันหนึ่งของท่าทีนี้ก็คือ ต้องเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ใหม่ ให้เห็นสัมพัทธภาพ (Relativity) ของความรู้

กล่าวคือ เป็นความรู้ที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน ให้พื้นที่และเวลา แก่ความคิดหลากหลาย ได้ขึ้นมาเสนอในสถาบันอย่างทัดเทียมกัน เข้าไปศึกษาชีวิตผู้คน และธรรมชาติ อ่านไวยากรณ์ของธรรมชาติ ด้วยท่าทีแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม มิใช่ท่าทีแบบเรียนรู้เพื่อจัดการ

การมีส่วนร่วมของสังคมไทยในการพัฒนานั้น จะต้องให้สังคมเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยระบุให้ชัดไปในกฎหมายให้ได้ เพราะถ้าการพัฒนาถูกกำหนดทิศทางมาแล้ว การมีส่วนร่วมที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ยาก และจะกลายเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ แผนการพัฒนา อย่างที่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจทั้งหลายทำอยู่ในเวลานี้

สภาวิทยาศาสตร์ หรือ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ ควรเป็นทั้งผู้รู้และผู้ประสานความรู้ที่มีอยู่ในสังคมทั้งหมด เพื่อนำไปสู่แผน มากกว่าการกำหนดแผนออกมาเองดังที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถาบันทางวิทยาศาสตร์ จะปรับเปลี่ยนตัวเองได้หรือไม่ แต่สังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของนโยบายการพัฒนาของรัฐ เช่น สมัชชาคนจน ,ชาวปากมูล ,ชาวบ่อนอก บ้านกรูด, กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้สูญเสียที่ดินทำกินทั้งหลายทั่วประเทศ ฯลฯ ต่างรู้ดีว่า นอกจากไม่สามารถหวังพึ่งกับสถาบันการศึกษาในฐานะหน่วยงานของรัฐได้แล้ว ยังต้องระแวดระวังภัยคุกคามจากอำนาจ ต่าง ๆ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นอีกด้วย

เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ไม่เคยมีหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ใด เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นผู้แสวงความจริง โดยการเปิดเวทีสาธารณะให้มีการเสนอความคิด ทั้งจากฝ่ายชาวบ้าน และฝ่ายรัฐ อย่างเท่าเทียมกันเลย มีแต่ภาคประชาชนและนักวิชาการอิสระ ที่ออกมารณรงค์ให้รัฐแถลงความจริงและตอบคำถามต่าง ๆที่ไม่เคยจะยอมเปิดเผย

กระนั้นก็ตาม ในบรรดานักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์หลายแห่ง ที่ต้องอยู่ในสภาวะไม่สามารถทำอะไรได้นั้น ยังมีผู้ไม่ยอมจำนน และไม่นิ่งดูดายได้ออกมาแสดงจุดยืน และเสนอประเด็นคำถามทางวิชาการแก่สังคม ผมขอแสดงความยกย่องอาจารย์ประสาท มีแต้ม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ คณาจารย์จากวิทยาลัยวันศุกร์ ที่กล้าหาญออกมาต่อสู้ทางความคิดกับรัฐและปตท. อย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะถูกคุกคามด้วยอำนาจมืดก็ตาม

นี่เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ยังมีนักวิทยาศาสตร์รักความเป็นธรรมกล้าแสดงออก แม้จะยังมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม แต่ถือเป็นแบบอย่างให้กับนักศึกษาวิทยาศาสตร์รุ่นต่อ ๆไป

ผมหวังว่า พลังจากภาคประชาชนจะเข้มแข็งขึ้น และตรวจสอบอำนาจที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของทุน หรืออำนาจจากระบบการศึกษา

วิกฤต การศึกษาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในสังคมไทย จะสามารถคลี่คลายไปได้หรือไม่ ไม่สามารถพึ่งหวังจากสถาบันการศึกษาได้มากนัก เพราะปรับเปลี่ยนยาก แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมากับจิตสำนึกใหม่ จะช่วยกันเรียนรู้จากพลังสังคมที่นำหน้าไปแล้วนั้นได้

ในที่สุดของปาฐกถานี้ ผมขอกราบนมัสการและขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมฟังในวันนี้ วันที่ท่านเจ้าคุณพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์สำคัญในด้านสังคมและวัฒนธรรมไทยถือกำเนิดขึ้น เมื่อ 114 ปีล่วงมาแล้ว กับทั้งปีนี้ยังเป็นปีที่ประธานมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ท่านอาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีอายุครบ 70 ปีอีกด้วย ผมขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองรักษาให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ เป็นปากเสียงเพื่อความเป็นธรรมของสังคมต่อไป ขอขอบพระคุณปาจารยสารอีกครั้งหนึ่ง ขอยุติการปาฐกถาเพียงเท่านี้

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความเรื่อง"วิกฤต การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย" โดย ชัชวาล ปุญปัน : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การสร้างกำลังคนทางการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมการศึกษาสายอื่น ที่มองนักเรียนนักศึกษาเป็นวัตถุดิบ... คำกล่าวของ M.N.Pokrovskiy ที่ว่า "เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบรรลุถึงความสมบูรณ์แล้ว ธรรมชาติก็จะกลายเป็นเสมือนขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือของมนุษย์ ซึ่งเขาสามารถจะปั้นแต่งให้เป็นรูปใดก็ได้ตามปรารถนา" เป็นดั่งอุดมคติของการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลผลิตจากการศึกษา ต้องปั้นแต่งธรรมชาติได้ตามต้องการ
H

คำให้สัมภาษณ์ของนักเรียนที่ได้รับเหรียญโอลิมปิกวิชาการของไทย มักกล่าวซ้ำ ๆ กันแทบทุกปีว่า "ที่บ้านเราขาดนักวิทยาศาสตร์ เพราะขาดแรงจูงใจ และรัฐบาลสนับสนุนน้อย เรียนหนักแทบตาย เงินเดือนน้อย เทียบกับคนที่เรียนจบสายสังคม เงินเดือนยังมากกว่า คนเรียนจบทางวิทยาศาสตร์เลย ถือเป็นอาชีพที่ไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย" แทบไม่เคยมี นักเรียนโอลิมปิกคนไหนพูดว่า "ที่ผมก้าวมาได้ถึงเพียงนี้ เป็นเพราะผมได้เปรียบคนอื่น ได้ใช้งบประมาณถึง หลายสิบล้านสำหรับพวกผมไม่กี่คน ผมระลึกถึงคนที่ขาดโอกาสเหล่านั้น ผมรู้สึกว่า มันไม่เป็นธรรม" ไม่เคยมีนักเรียนคนใดกล่าวออกมาเช่นนี้เลย (หมายเหตุ: มีรายงานว่า เงินวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าสังคมศาสตร์เป็นสัดส่วนถึง 80: 20)

เมื่อผมได้มีโอกาสพบกับชาวบ้านกรูดและบ่อนอกคราวหนึ่ง คุณจินตนา แก้วขาว และคุณเจริญ วัดอักษร กล่าวยืนยันว่า "เราไม่ต้องการให้นักวิชาการที่ทำการวิจัยมาเข้าข้างเราเลย ขอเพียงแต่ให้เขารายงานตามความเป็นจริง ก็เพียงพอแล้ว" ชาวบ้านร้องขอความจริง จากนักวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่เหมือนตบหน้าจริยธรรมทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ผู้ซึ่งอ้างตลอดเวลาว่าเป็นนักค้นคว้าแสวงหาความจริง แต่สยบยอมให้กับทุนและอำนาจ พินอบพิเทาเกรงอกเกรงใจ และลืมหน้าที่ของตนเสียสิ้น ไม่เว้นแม้แต่สถาบันทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติงานโครงการต่าง ๆ ซึ่งจำนนต่ออำนาจของรัฐ และนักการเมือง...(ดังนั้น ประชาชน ต้องต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมไปตามลำพัง...)
ภาพประกอบดัดแปลง ภาพพื้นหลังผลงานจิตรกรรมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ใช้เพื่อประกอบบทความฟรี บนเว็ปไซค์ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "วิกฤตการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย" โดย ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มช.