มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 339 หัวเรื่อง
ศาสนาธรรมท่ามกลางความขัดแย้ง
พระไพศาล
วิสาโล
จัดโดยโครงการ Asian Public Intellecutal Fellowship
ของมูลนิธินิปปอน
(บทความนี้ยาวประมาณ
12 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
ศาสนาธรรมท่ามกลางความขัดแย้ง
ศาสนธรรมในกระแสแห่งกลียุค
พระไพศาล วิสาโล
http://skyd.org/html/life-social/stream.html
ปรับปรุงจากเค้าโครงการบรรยายในหัวข้อเดียวกัน
จัดโดยโครงการ Asian Public Intellecutal Fellowship
ของมูลนิธินิปปอน ณ ห้องประชุมจุมภฏ บริพัตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่
๒๔ มีนาคม ๒๕๔๖
(บทความนี้ยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๗
บทนำ
การพูดถึงศาสนธรรมท่ามกลางความร้อนแรงของสงครามในขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันมาก
แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้ว ทั้ง ๒ ประเด็นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมาก แม้ว่าการบรรยายในวันนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อรับกับสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในอิรัก
หากเป็นความบังเอิญที่มาประจวบเหมาะกัน แต่ก็คงจะให้แง่มุมบางประการที่ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น
ยุคแห่งความสุดขั้ว
กลียุคนั้นมีลักษณะสำคัญประการหนึ่ง คือมีลักษณะสุดขั้วมาก ๆ ถ้าดูให้ดี ยุคนี้จะมีลักษณะสุดขั้วหลายประการ
จนอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งความสุดขั้ว
ที่จริงคำว่า "ยุคแห่งความสุดขั้ว" นี้ เป็นสมญานามของศตวรรษที่แล้ว อิริค ฮอบสบอม ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ลือชื่อคนหนึ่งเป็นผู้ขนานนามนี้ เนื่องจากศตวรรษที่แล้วมีสงครามและการทำลายล้างที่สุดขั้วมากมายเป็นประวัติการณ์ เช่น สงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง, การล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนาซี, ในอาฟริกา, เขมรและ คาบสมุทรบัลข่าน, การทำลายชีวิตผู้คนนับแสนในพริบตาด้วยระเบิดปรมาณูในฮิโรชิม่าและนางาซากิ, อีกทั้งยังมีการปราบปรามทางการเมืองที่เหี้ยมโหดจนคนตายเป็นล้าน ๆ ในรัสเซียและจีน รวมทั้งความอดอยากหิวโหยจนคนล้มตายอย่างมหาศาลในอาฟริกา
อย่างไรก็ตามยุคแห่งความสุดขั้วไม่ได้ยุติไปพร้อมกับศตวรรษที่ ๒๐ แต่ยังตามมาถึงศตวรรษนี้ แม้ปรากฏในรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ความสุดขั้วในยุคโลกาภิวัตน์
ในยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นี้ มีความสุดขั้วเกิดขึ้นหลายประการ ประการแรกก็คือความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างคนรวยกับคนจน
อาทิ
- คนรวยที่สุดในโลก ๓ คนมีทรัพย์สินรวมกันแล้วมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศที่ยากจนที่สุด ๔๘ ประเทศรวมกัน
- คนรวยไม่กี่ร้อยคนมีสินทรัพย์รวมกันเท่ากับคนยากจน ๒,๕๐๐ ล้านคน หรือเกือบครึ่งโลก
- ในยุคที่มั่งคั่งล้นเหลือ คน ๓,๐๐๐ ล้านคนกลับขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในจำนวนนี้ ๑,๓๐๐ ล้านคนขาดน้ำ, อีก ๘๐๐ ล้านคนขาดอาหาร
ความแตกต่างอย่างสุดขั้วทางเศรษฐกิจนี้ ยังเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่คนนับพันล้านขาดน้ำและสาธารณูปการ ซึ่งหากจะให้คนมีน้ำสะอาดและสาธารณูปโภคพื้นฐานใช้อย่างทั่วถึง ต้องใช้เงิน ๙,๐๐๐ ล้านเหรียญ(สหรัฐ) แต่ปรากฏว่าเงินจำนวนนี้เทียบไม่ได้เลยกับเงินที่คนในยุโรปและสหรัฐจ่ายค่าน้ำหอม ซึ่งมากถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญ ในทำนองเดียวกันเงินค่าไอศครีมของคนยุโรปรวมกันแล้ว ๑๑,๐๐๐ ล้านเหรียญ ยังมากกว่าเงินที่จำเป็นสำหรับจัดการศึกษาให้แก่คนทั่วโลก คือ ๖,๐๐๐ ล้าน
นอกจากความสุดขั้วทางเศรษฐกิจแล้ว ยุคนี้ยังมีการแบ่งออกเป็นขั้ว ๆ หลายด้าน เช่น
- ขั้วตรงข้ามระหว่างสำนึกเรื่องพลโลกและความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก (globalism) กับการติดยึดกับหมู่พวกแคบ ๆ ของตัว ตามลักษณะเชื้อชาติ ภาษาและศาสนา (tribalism) เช่น ในคาบสมุทรบัลข่าน อาฟริกา อินเดีย อินโดนีเซีย ศรีลังกา
- ในขณะที่มีการขยายตัวขององค์การและเครือข่ายระดับโลกทั้งภาครัฐและประชาชน เช่น WTO และสหประชาชาติ ซึ่งนับวันจะอยู่เหนือรัฐทั้งหลาย ก็มีการขยายตัวของเครือข่ายอาชญากรรมใต้ดินระดับโลก เกิดองค์กรแบบอารยะ พร้อมไปกับ องค์กรแบบอนารยะ
- การแบ่งเป็นขั้วระหว่างโลกแห่งวัตถุนิยมและเทคโนโลยี กับโลกแห่งความเคร่งศาสนาจารีตและพระเจ้า ซึ่งมีผู้ตั้งฉายาว่า McWorld กับ Jihad
- ความคิดวัตถุนิยมแบบสุดขั้วที่เห็นว่า พฤติกรรมและชะตากรรมทั้งหมดของคนเรา (ไม่เว้นแม้กระทั่งความเจ้าชู้และความเสียสละ) ถูกกำหนดโดยยีนซึ่งอยู่ในเซล ส่วนจิตใจก็เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ทางชีวเคมีของก้อนเนื้อที่เรียกว่าสมอง แม้แต่ความเชื่อเรื่องพระเจ้าก็ถูกปลูกฝังมาอยู่ในโครงสร้างของสมองตั้งแต่เกิด ขณะเดียวกันก็เกิดความคิดแบบจิตนิยมสุดขั้วที่มอบชีวิตไว้กับการดลบันดาลของพระเจ้า สำนักทรง ไสยศาสตร์ ลัทธิพิธีที่มีใหม่ ๒-๓ ศาสนาทุกวัน เฉพาะในญี่ปุ่นซึ่งเจริญด้วยเทคโนโลยีมีศาสนาและลัทธิพิธีถึง ๑๒๐,๐๐๐ ศาสนา
ลักษณะร่วมในยุคแห่งความสุดขั้ว
การแบ่งฝ่ายหรือจับกลุ่มกันเป็นขั้ว ๆ โดยมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน จะเป็นเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ
การเมือง ศาสนา สีผิว และความเชื่อก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ เกิดการแบ่งเป็นเขาเป็นเราอย่างชัดเจน
และทั้ง ๒ ฝ่ายถูกแยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที จนยากที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ และทำให้เกิดอคติและความเป็นปฏิปักษ์รุนแรงมากขึ้น
ดังเห็นได้จากเหตุการณ์ในบอสเนีย เซอร์เบีย และโครเอเชีย ในอนุทวีป(ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน)
ในตะวันออกกลาง (อิสราเอลกับปาเลสไตน์และรัฐอาหรับ)
ที่ว่ามาข้างต้นเป็นคู่ปฏิปักษ์ที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปีเป็นอย่างน้อย แต่ที่เพิ่มมาใหม่ก็มี อาทิ การพยายามทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับหลายประเทศที่นับถืออิสลามหลังกรณี ๑๑ กันยา ให้กลายเป็นความขัดแย้งทางอารยธรรม ระหว่างอิสลามกับผู้ที่ไม่ได้นับถืออิสลาม แม้กระทั่งสงครามต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งนำโดยสหรัฐ ก็กำลังพาโลกถลำเข้าสู่ยุคสุดขั้วลึกขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีบุชประกาศว่า ถ้าไม่อยู่ข้างสหรัฐ ก็เท่ากับอยู่ข้างพวกก่อการร้าย
ในยุคแห่งความสุดขั้ว จะมีการขีดเส้นแบ่งฝักฝ่ายชัดเจน ไม่มีที่ว่างสำหรับฝ่ายที่สามหรือบริเวณที่เป็นสีเทา
บทบาทของศาสนา
น่าสังเกตว่า ความสุดขั้วในศตวรรษก่อน อุดมการณ์การเมืองมีส่วนมาก อาทิ ลัทธินาซี,
คอมมิวนิสต์, สังคมนิยม, ฟาสซิสต์, ลัทธิการเมืองเหล่านี้ทำให้เกิดการแบ่งกันเป็นขั้ว
ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยที่ตัวลัทธิการเมืองเหล่านี้ก็มีลักษณะสุดขั้วหรือสุดโต่งอย่างยิ่ง
แต่ในปัจจุบัน ศาสนากำลังมีบทบาทอย่างสำคัญในการแบ่งผู้คนออกเป็นขั้ว ๆ ดังจะเห็นได้ว่า สงครามและความขัดแย้งในคาบสมุทรบัลข่าน ในอินเดียและปากีสถาน ในตะวันออกกลาง เป็นต้น ล้วนเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับศาสนา
ในทำนองเดียวกัน คู่ขัดแย้งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีบินลาเดนและบุช เป็นตัวแทน ก็ล้วนอ้างอิงศาสนาหรือพระเจ้าเท่านั้น บุชนั้นเชื่อมั่นเลยว่าพระเจ้าเลือกสรรเขาให้มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เขาเปลี่ยนจากคนขี้เมามาเป็นผู้นำโลกในการทำสงครามขจัด "แกนแห่งความชั่วร้าย" ได้แก่ อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ. บุชนั้นเชื่อว่าการทำสงครามกับอิรักนั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าเลยทีเดียว (และเป็นความประสงค์ของบรรษัทข้ามชาติด้านน้ำมันด้วยเช่นกัน). ศรัทธาแนบแน่นในพระเจ้าทำให้เขามั่นอกมั่นใจมากในนโยบายนี้ และไม่ใช้เวลานานเลยในการตัดสินใจประกาศสงครามกับอิรัก ซึ่งหมายถึงการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนนับหมื่นนับแสน (ในทางตรงกันข้าม เขากลับใช้เวลาครุ่นคิดมากเมื่อจะต้องตัดสินใจขัดขวางการวิจัยเซลต้นกำเนิด ซึ่งอาจทำให้การทำแท้งมีมากขึ้น)
สาเหตุที่ศาสนามามีบทบาทในการต่อสู้ทางการเมือง
การที่ศาสนาเข้ามามีบทบาทในการแบ่งฝักฝ่ายและต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มต่าง
ๆ มีสาเหตุหลายประการ อาทิ
๑) ความล้มเหลวของรัฐ การพัฒนา สถาบันและอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ ในการสร้างความผาสุกแก่ประชาชนโดยเฉพาะระดับล่าง. ในอดีตประชาชนเคยฝากความหวังไว้กับรัฐว่าจะนำการพัฒนามาสู่ประชาชน แต่ปรากฏว่าความยากจนกลับแพร่ระบาด ประชาชนพลัดที่นา คาที่อยู่ มาแออัดในเมืองโดยไร้อนาคต และหางานทำแทบไม่ได้ ผู้คนเห็นชัดว่าสถาบัน(และอุดมการณ์)ประชาธิปไตย เช่น รัฐสภาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนสังคมนิยมก็มิใช่คำตอบอีกต่อไป แม้แต่ลัทธิชาตินิยม ในหลายประเทศเช่นในตะวันออกกลาง ประชาชนรู้สึกว่าลัทธิอุดมการณ์นี้ไม่ได้เป็นทางออกของเขาอีกต่อไป
๒) สิ่งเดียวที่ประชาชนระดับล่างจะไขว่คว้าหาที่พึ่งได้ในยามนี้ ก็คือทุนดั้งเดิม ได้แก่ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ผูกติดมาแต่ดั้งเดิม. ศาสนาได้กลายเป็นเครื่องมือของประชาชน ในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และต่อต้านการเอาเปรียบทั้งจากชนชั้นนำและจากต่างประเทศ เมื่อศตวรรษที่แล้ว ลัทธิชาตินิยมก็เคยเป็นเครื่องมือที่ผู้คนในอาณานิคมต่าง ๆ นำมาใช้ในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม แต่มาถึงศตวรรษนี้ชาตินิยมเริ่มแผ่วเบาลง และมักถูกผูกขาดโดยรัฐหรือผู้ปกครอง ประชาชนระดับล่างหรือคนชายขอบจึงหันไปพึ่งศาสนา
ในตะวันออกกลาง สุเหร่าเป็นที่เดียวที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมืองได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ
๓) ประชาชนไม่ได้เข้าหาศาสนาฝ่ายเดียว ศาสนาก็เข้าหาประชาชนด้วย เพราะต้องการประชาชนเป็นกำลังให้แก่ศาสนาในการต่อสู้กับการรุกรานของความคิดแบบโลกย์ (secularism) กับความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งขัดแย้งกับศาสนาในหลายเรื่อง เช่น การเปิดเสรีทางเพศ หรือแม้แต่เสรีในการทำแท้ง ยิ่งกว่านั้นศาสนาในหลายประเทศยังถูกลิดรอนโดยรัฐ และถูกผลักดันให้อยู่ชายขอบ หมดอิทธิพลในสถาบันต่าง ๆ ของสังคม เช่นระบบการศึกษา ทำให้ศาสนารู้สึกว่ากำลังถูกบ่อนทำลาย นับวันจะไม่มีที่ยืนในสังคม จึงจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องตนเอง จึงเกิดลัทธิเคร่งคัมภีร์ หรือ fundamentalism ขึ้นในตะวันออกกลาง อินเดีย ปากีสถาน แม้แต่สหรัฐก็ไม่เว้น ศาสนิกชนที่เคร่งศาสนารวมตัวกันได้มากขึ้นด้วยความรู้สึกดังกล่าว เมื่อผสมกับคนชายขอบที่หันไปหาศาสนาเป็นที่พึ่ง ดังที่กล่าวในข้อ ๒ ได้ทำให้กลุ่มศาสนามีพลังมากขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มสำคัญในสังคม
ศาสนากับการเมืองแบบอัตลักษณ์
การเมืองที่ชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ (เช่น ศาสนา ชาติพันธุ์) กำลังเป็นกระแสใหญ่ในโลกปัจจุบัน
เป็นการตอบโต้ของฝ่ายที่รู้สึกว่าตนถูกคุกคามมานาน เป็นการพยายามสู้เพื่อความอยู่รอด
และดังนั้นจึงมีลักษณะที่ก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย
ต้องไม่ลืมว่าคนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็รู้สึกแบบนี้ คือเชื่อว่าเยอรมันกำลังถูกคุกคามจากคนยิว ซึ่งด้านหนึ่งร่วมมือกับพวกคอมมิวนิสต์ในรัสเซียซึ่งอยู่ทางตะวันออก ส่วนด้านตะวันตกก็มีภัยจากอังกฤษซึ่งถูกพวกยิวเชิด ความคิดแบบนี้ทำให้ลัทธินาซีของฮิตเลอร์เป็นที่นิยม ยังไม่ต้องพูดถึงคนยิวอีกมากมายในประเทศที่คุมเศรษฐกิจและสื่อมวลชนเอาไว้ ผลก็คือเกิดการทำลายล้างคนยิวถึง ๖ ล้านคนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมไปถึงการทำสงครามทั่วยุโรปตั้งแต่รัสเซียไปถึงอังกฤษ
การเมืองที่ชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ รวมทั้งความรู้สึกว่า ตนกำลังถูกคุกคาม จากศัตรูทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง"ขึ้น ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก และได้รับความนิยมแพร่หลายในแต่ละประเทศ มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษามากขึ้นทุกที (ในอินเดียและ ตะวันออกกลาง พวกเคร่งคัมภีร์ซึ่งเคยกระจุกอยู่ในกลุ่มคนยากจน ได้กระจายไปสู่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษามากขึ้น ประจักษ์พยานข้อหนึ่งก็คือผู้ที่ก่อเหตุ ๑๑ กันยา หลายคนมีการศึกษาสูงและมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี) วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังได้กลายเป็นกระแสใหญ่ในระดับประเทศ ทั้งนี้โดยมีเชื้อจากการแบ่งขั้วในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนุน
ความสำคัญของศาสนธรรม
ศาสนธรรม หรือมิติด้านจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า spituality นั้น ไม่ใช่เรื่องผูกขาดหรือจำกัดเฉพาะศาสนาเท่านั้น
หากเป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เป็นสภาวะที่แนบแน่นอยู่กับความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน
ในยุคที่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังแพร่ระบาด ในรูปของเผ่านิยม เชื้อชาตินิยม ศาสนานิยม ศาสนธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยทัดทานกับวัฒนธรรมดังกล่าว จะตระหนักข้อนี้ได้ จำต้องเข้าใจคุณลักษณะของศาสนธรรมหรือความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ
คุณลักษณะของศาสนธรรมมีดังนี้
- การตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ ที่ไปพ้นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ หรืออุดมการณ์การเมือง รวมไปถึงการตระหนึกในความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพชีวิต
- เห็นทุกชีวิตมีคุณค่า ที่ควรได้รับความปกป้อง
- จิตใจแผ่กว้าง มีเมตตากรุณาอันกว้างใหญ่ ไม่เห็นแก่ตัว
- สัมผัสกับสภาวะที่เหนือกาละและเทศะ เหนือประสบการณ์สามัญของชีวิตประจำวัน
- ไปพ้นจากการแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขาหรือการมองแบบทวิภาวะ(dualism)
วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังกับการมองแบบทวิภาวะ
วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังตั้งอยู่บนความคิดแบบทวิภาวะ แบ่งเราแบ่งเขา เห็นคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนเป็นศัตรู
และมองโลกแบบเป็นขาว-ดำชัดเจน โดยเฉพาะคนที่เคร่งศาสนา มักจะตกอยู่ในกับดักแห่งความคิดดังกล่าว
คือขีดเส้นความดี-ความชั่วชัดเจน ใครที่ไม่ดีเหมือนตัวหรือคิดเหมือนตัว ก็ประณามว่าเป็นคนชั่ว
และเมื่อเป็นคนชั่วเสียแล้ว ย่อมเป็นการชอบธรรมที่จะกำจัดเขาด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้
บินลาเดน มองโลกเป็นขาว-ดำชัดเจน ว่าอเมริกาคือตัวแทนแห่งความเลวร้าย ที่นำความเสื่อมโทรมมาสู่โลกอิสลาม สมควรที่จะถูกทำลายให้สาสม ส่วนบุชก็มองโลกแบบนี้เช่นเดียวกัน คือเห็นอัลเคด้าและอิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือเป็นตัวแทนความชั่วร้าย ที่ต้องจัดการ
การมองโลกเป็นขาว-ดำ ขีดเส้นความดี-ความชั่วชัดเจน นอกจากจะทำให้มีเหตุผลและความชอบธรรมในการจัดการกับคนที่คิดไม่เหมือนตัว โดยติดฉลากว่าเป็นตัวชั่วร้ายแล้ว คนที่คิดแบบนี้ยังมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับการไล่ล่ากำจัดคนชั่วร้าย เพราะทำให้รู้สึกสบายใจว่าได้ทำหน้าที่คนดี และมั่นใจในความเป็นคนดีของตัว ยิ่งกำจัดคนชั่วมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกเป็นคนดีมากขึ้นเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริง โลกและชีวิตไม่ได้ขีดเส้นความดีความชั่วได้ง่ายอย่างนั้น ความดีกับความชั่วไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด คนเรามีทั้งดีและชั่วอยู่ด้วยกัน โซลเชนิตซิน นักเขียนรางวัลโนเบลชาวรัสเซีย ซึ่งเคยถูกจองจำในค่ายกักกันของสตาลิน พูดไว้อย่างน่าฟังว่า
"มันจะง่ายดายสักเพียงใด ถ้าเพียงแต่ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ไหนสักแห่ง และคอยทำแต่สิ่งชั่วร้าย เราก็แค่แยกคนพวก นั้นออกจากพวกเราแล้วก็ทำลายเขาเสีย เท่านั้นก็จบกัน แต่เส้นแบ่งความดีและความชั่วนั้นผ่าลงไปในใจของมนุษย์ทุกคน ใครเล่าที่อยากจะทำลายส่วนเสี้ยวในใจของตน?"
ในการกำจัดคนชั่ว เรามีหลักประกันได้อย่างไรว่า เราจะไม่กลายเป็นคนชั่วเสียเอง เหมือนกับที่สตาลิน, ฮิตเลอร์, เหมา, พอลพต, ได้พยายามชำระล้างความชั่วร้ายออกไปจากประเทศของเขา ด้วยการสังหารคนเป็นล้าน ๆ แต่แล้วคนเหล่านี้กลับกลายเป็นตัวแทนแห่งความชั่วร้ายในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ทุกครั้งที่ใช้ความรุนแรงกำจัดคนชั่วร้าย ใช่หรือไม่ว่าความโกรธเกลียดและพยาบาทที่เกิดขึ้นในใจเราจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายไปด้วย สุดท้ายกลายเป็นว่าคนชั่วร้ายคนเก่าตายไป แต่คนชั่วร้ายคนใหม่เกิดขึ้นมาแทน ได้แก่เรานั่นเอง
การต่อสู้กับวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง
วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก เพราะให้คำตอบสำเร็จรูป
เข้าใจง่ายเนื่องจากมองอะไรเป็นขาว-ดำชัดเจน เช่น ให้คำตอบว่าที่เยอรมันเสื่อมโทรมก็เพราะยิว
ศาสนาฮินดูในอินเดียตกต่ำก็เพราะมุสลิม ศาสนาพุทธในเมืองไทยวุ่นวายก็เพราะศาสนาคริสต์และอิสลามอยู่เบื้องหลัง
ใช่แต่เท่านั้น วัฒนธรรมแบบนี้ยังได้รับการหนุนหลังจากนักการเมือง ที่ต้องการหาคะแนนเสียงด้วยการสร้างความเกลียดชัง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการหาแพะรับบาปหรือโยนความผิดพลาดไปให้ผู้อื่น ยิ่งสร้างศัตรูภายนอกมาก ๆ ความจงเกลียดจงชังก็จะพุ่งเป้าไปที่คนเหล่านั้น แทนที่จะพุ่งมาที่รัฐบาล
เราจะต้องถือเป็นภารกิจในการต่อสู้ทัดทานวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง เริ่มต้นด้วยการไม่หลงติดกับการมองแบบทวิภาวะ แบ่งฝักฝ่ายหรือ ขีดเส้นขาว-ดำชัดเจน ตระหนักว่าเราเองก็มีส่วนแห่งความชั่วร้ายที่สามารถแปรเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายไม่ต่างจากคนอื่น ๆ
ความเกลียดชังนั้นเป็นปฏิปักษ์กับความจริง และชอบบิดเบือนความจริง กล่าวคือถ้าอยากจะทำให้ผู้คนเกลียดชังใครสักคนก็ต้องสร้างภาพคน ๆ นั้นให้เป็นยักษ์เป็นมาร และเมื่อเกิดความเกลียดชังแล้ว ก็เห็นเขาไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป ดังนั้นเราจึงต้องพยายามแสวงหาความจริงอยู่เสมอ และปกป้องความจริงมิให้เป็นเหยื่อของความเกลียดชัง
ในการรักษาใจไม่ให้ถูกครอบงำด้วยความเกลียดชัง นอกจากปัญญาที่แลเห็นความจริงแล้ว เมตตากรุณาก็สำคัญมาก ไม่ใช่เมตตากับคนใกล้ตัวเท่านั้น หากรวมไปถึงคนที่อยู่ไกลออกไป ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่เป็น "ศัตรู" หรือคนชั่วร้าย ที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ เมตตากรุณาเช่นนี้แหละที่จะทำให้เรามั่นคงในความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นคนเป็นผักปลา แม้เขาจะเป็นคนชั่วร้ายก็ตาม
เดี๋ยวนี้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมองคนบางประเภท อาทิอาชญากรว่าไม่ใช่คน ไม่มีสิทธิใด ๆ แม้กระทั่งสิทธิในชีวิต และสมควรถูกกำจัดโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น กรณี "ฆ่าทั่วไทย"ในสงครามยาเสพติดเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ผู้คนแทบจะทั้งประเทศพากันแซ่ซร้องสนับสนุนเมื่อเกิดการฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด โดยไม่สนใจว่าผู้ฆ่านั้นจะเป็นโจรด้วยกันหรือเป็นตำรวจ
เราต้องไม่ลืมว่าแม้ผู้ค้ายาจะเป็นอาชญากรร้ายแรง อย่างน้อยเขาก็ยังมีสิทธิในชีวิต ซึ่งอย่าว่าแต่ศาสนาที่ลุ่มลึกเลย แม้แต่กฎหมายอย่างโลก ๆ ก็ให้ความคุ้มครองคนเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่สมควรด้วยประการทั้งปวงที่ประชาชนเรียกร้องสนับสนุนให้รัฐยิงทิ้งคนเหล่านั้น ไม่ว่าด้วยการกระซิบหรือส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นผู้ลงมือโดยอ้างว่าเป็นการฆ่าตัดตอน และสามารถนำยอดคนตายไปเป็นผลงานได้
ถึงอย่างไรเขายังก็เป็นมนุษย์ รัฐไม่มีสิทธิยิงทิ้งเขาตามใจชอบ และถึงแม้ว่าผู้ฆ่าตัดตอนเป็นผู้ค้ายาบ้าเอง เราก็ยังจำต้องค้านนโยบายดังกล่าว ที่เปิดโอกาสให้ผู้ค้ายาบ้าไล่ฆ่ากันเองโดยตำรวจไม่สนใจติดตามดำเนินคดี ทั้งนี้เพราะเขาเป็นประชาชน มีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าเขาเป็นผู้ผิด แม้ถูกตัดสินว่าผิดแล้ว ก็ยังมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ใครจะยิงทิ้งเขาในคุกตามอำเภอใจไม่ได้
เวลานี้ใครที่ค้านนโยบายดังกล่าวจะถูกกล่าวหาว่า เป็นแนวร่วมผู้ค้ายาบ้าง เห็นว่าชีวิตของพวกค้ายามีความสำคัญมากกว่าตำรวจหรือผู้เสพยาบ้าง นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าความจริงมักตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง แท้ที่จริงการคัดค้านนโยบายดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะรักษาหลักนิติธรรม และการเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี และคุณค่าของทุกชีวิต
ที่สำคัญนี้เป็นการพยายามสถาปนาวัฒนธรรมแห่งสันติและสมานฉันท์ เพราะหากวันนี้ฆ่าคนค้ายาบ้าได้เสรี ต่อไปก็ฆ่าขโมยย่องเบาได้ไม่ยาก จากนั้นก็เป็นการง่ายที่จะฆ่าใครก็ได้ที่เห็นต่างจากรัฐหรือคนส่วนใหญ่ เมื่อไม่มีความอดกลั้น ไม่มีเมตตาธรรม ไม่เคารพกฎหมายหรือหลักนิติธรรม อะไร ๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น ดังที่พวกก่อการร้ายฆ่าคนบริสุทธิ์หากเป็นประโยชน์ต่อแผนการของเขา ทั้งนี้โดยอ้างศาสนา ความยุติธรรม หรือเหตุผลที่สวยสดงดงาม
อีกด้านหนึ่งของความสุดขั้ว
วัฒนธรรมแห่งความละโมบ
ในยุคแห่งความสุดขั้ว ไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังอย่างเดียว ควบคู่กับวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังก็คือ
วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ซึ่งมีอิทธิพลไม่น้อยในปัจจุบัน ทั้ง ๒ วัฒนธรรมมีลักษณะตรงข้ามกันหลายอย่างจนอยู่คนละขั้วก็ว่าได้
ขั้วหนึ่งมีลักษณะผลักไส อีกขั้วมีลักษณะพุ่งเข้าหา ขั้วหนึ่งต้องการทำลายให้ดับสูญ
อีกขั้วต้องการยึดถือครอบครองให้เป็นอมตะ
ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความละโมบ คือ ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งกลายเป็นกระแสใหญ่อีกกระแสหนึ่งที่ครอบงำทั่วทั้งโลก มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนตั้งแต่เด็กไปถึงผู้ใหญ่ แม้แต่วัยรุ่นก็ยอมขายตัวเพื่อจะได้มีโทรศัพท์มือถือ หรือกระเป๋ายี่ห้อแพงๆ ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เอาอัตลักษณ์ของตนไปผูกติดอยู่ที่การบริโภค ตัวเองจะมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำดีหรือชั่ว แต่ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของสินค้าที่สวมใส่หรือครอบครอง เวลาจะรวมกลุ่ม ก็รวมกลุ่มเพื่อบริโภคมากกว่า เช่นเที่ยวห้าง ดูคอนเสิร์ต หรือรวมกลุ่มในหมู่คนที่ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน
แทบไม่มีมุมไหนของโลกที่ปลอดจากบริโภคนิยม อันเป็นผลจากโทรคมนาคมยุคโลกาภิวัตน์ ดาวเทียมเป็นพาหะอย่างดีสำหรับการโฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่กระตุ้นบริโภคนิยม
เงินกลายเป็นสรณะอย่างใหม่ ผู้คนต่างมุ่งถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย สังคมจึงเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การคอรัปชั่น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขณะเดียวกันครอบครัวก็ร้าวฉาน ชุมชนแตกแยก เงินกลายเป็นตัวกลางความสัมพันธ์แทนที่ความรักความเอื้ออาทร ต่างเห็นซึ่งกันและกันเป็นเหยื่อที่จะเอาประโยชน์ หรือเป็นศัตรูที่จะมาแย่งผลประโยชน์ ใช่แต่เท่านั้นลึก ๆ ในจิตใจผู้คนก็แปลกแยกกับตัวเอง มีความเครียดและความกลัดกลุ้ม
วัฒนธรรมความละโมบกับความยากจน
วัฒนธรรมแห่งความละโมบทำให้ปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น
ในด้านหนึ่งผู้คนตกเป็นทาสของบริโภคนิยม ถอนตัวได้ยากเหมือนติดยาเสพติด เกิดปัญหาหนี้สิน
โดยเฉพาะ การมีเครดิตการ์ดอย่างง่ายดายทำให้ภาวะหนี้สินและล้มละลายเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ
อีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความละโมบ ก็คือการตักตวงทรัพยากร เช่น ที่ดิน แร่ธาตุ ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อมาตอบสนองลัทธิบริโภคนิยม ในกระบวนการดังกล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างถูกแปรให้เป็นสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง เด็ก ประเพณี สัญลักษณ์ทางศาสนา
สิ่งที่ตามมาคือการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดปัญหาความยากจน ควบคู่กับการกระจุกตัวของทรัพย์สิน
โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้ทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น อาทิ
- การเปิดเสรีทางด้านการนำเข้า ทำให้ชาวนาชาวไร่ขายพืชผลได้น้อยลง
- การเปิดเสรีทางด้านการลงทุน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายเร็วเข้า
- การเปิดเสรีให้แก่อุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มละลาย หาไม่ก็ต้องพึ่งวัตถุดิบ เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ทำให้อาหารมีต้นทุนสูงขึ้น
- การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้สาธารณูปโภคมีราคาแพงขึ้น
- การลดสวัสดิการและเงินอุดหนุนทางด้านสาธารณูปโภค มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านระดับล่างโดยตรง
สองวัฒนธรรมในยุคแห่งความสุดขั้ว
ความต่างและความเหมือน
กล่าวโดยสรุปในยุคแห่งความสุดขั้ว
มีวัฒนธรรม ๒ ขั้วที่กำลังบั่นทอนชีวิตและผู้คนทั้ง ๒ มีที่มาและแรงสนับสนุนต่างกัน
ในหลายประเทศ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง เป็นความพยายามของคนชายขอบที่ปกป้องตนเองและตอบโต้ภัยคุกคาม โดยอาศัยอัตลักษณ์และประเพณีดั้งเดิม ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความละโมบ มักถูกกำหนดและกำกับโดยกลุ่มอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้โดยอาศัยเทคโนโลยีและค่านิยมใหม่เป็นเครื่องมือ
สองกระแสใหญ่ยังมีความแตกต่างกันอีกหลายด้าน กล่าวคือ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง พยายามปลุกเร้าความกลัว เน้นความมั่นคง ความเป็นกลุ่มก้อน ขาดขันติธรรม และมีเส้นแบ่งความดีความชั่วชัดเจน ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ปลุกเร้าความฝัน เน้นเสรีภาพ มีลักษณะปัจเจกนิยม และถือว่าไม่มีอะไรถูก อะไรผิด
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ วัฒนธรรม มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต่างมีองค์ประกอบหรือลักษณะของศาสนา เช่น พิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังทำหน้าที่เหมือนศาสนา กล่าวคือ ทำให้ชีวิตมีค่า มีความหมาย สร้างความเต็มอิ่มให้แก่ชีวิต
วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังมีแรงดึงดูดไม่น้อยสำหรับคนที่ต้องการให้ชีวิตของตนมีคุณค่า คนเหล่านี้พร้อมตายได้เพื่อลัทธิศาสนา และเชื้อชาติของตน ส่วนวัฒนธรรมแห่งความละโมบแพร่หลายได้ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนรู้สึกว่าวัตถุหรือสิ่งเสพต่าง ๆ ทำให้ชีวิตมีเป้าหมายน่าภาคภูมิใจ ทั้ง ๒ วัฒนธรรมสามารถสร้างความปีติเอิบอิ่มให้แก่ผู้คนได้โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มประท้วงและทำลายศัตรูอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการรวมกลุ่มกันชมคอนเสิร์ตหรือดูฟุตบอลโลก
ที่สำคัญคือทั้ง ๒ วัฒนธรรมต่างตอบสนองความต้องการส่วนลึกของตัวตน วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังอาทิ ลัทธิเชื้อชาตินิยม และความเชื่อทางศาสนาแบบเคร่งจารีตหรือ fundamentalism เป็นที่นิยมเพราะตอบสนองความต้องการของผู้คนที่อยากมีตัวตนอมตะ ความเชื่อและความหวังว่า "ตัวตายแต่ชื่อยัง" ทำให้ผู้คนจำนวนมากมายยอมตายเพื่อเชื้อชาติหรือศาสนาของตน ขณะที่คนอีกมากรู้สึกว่าการเอาตัวตนไปผูกติดกับวัตถุสิ่งเสพทำให้รู้สึกว่าตัวตนมั่นคงไม่ว่างเปล่าหรือเคว้งคว้าง
จะเห็นได้ว่าทั้ง ๒ วัฒนธรรมมีแรงดึงดูดทางด้านศาสนา จึงสามารถจับจิตใจคนได้มาก แม้ในหมู่คนที่ไม่เชื่อศาสนาก็ตาม จะเรียกว่าทั้งสองเป็นศาสนาสมัยใหม่ก็ได้ แต่เป็นศาสนาเทียม ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการส่วนลึกซึ้งของมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน แค่ให้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราว อีกทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความสงบสันติแก่โลกได้อย่างแท้จริง
เราจะทำอะไรได้บ้าง
สิ่งที่เราทำได้ในสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ
๑) ไม่หลงตกเป็นเหยื่อของศาสนาเทียมเหล่านี้ ดังได้กล่าวแล้วว่าวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังและความละโมบมีแรงดึงดูดทางศาสนา และสามารถมีอิทธิพลในหมู่คนที่ต้องการแสวงหาความหมายของชีวิต นี้ก็ไม่ต่างจากลัทธินาซีที่สามารถดึงดูดหนุ่มสาวและปัญญาชนเยอรมัน ที่มีอุดมคติจำนวนมาก ให้มาสนับสนุนฮิตเลอร์อย่างสุดจิตสุดใจ ในทำนองเดียวกันลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัสเซียและจีน ก็ได้รับความสนับสนุนจากหนุ่มสาวจำนวนมากมาย. พร้อมกันนั้นเราก็ต้องมีความมั่นคงในจิตใจพอที่จะไม่ยอมให้วัฒนธรรมทั้ง ๒ ขั้วบีบบังคับให้เราเข้าไปสนับสนุนมัน หรือเป็นทาสของมัน แม้จะถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ รักศาสนา หรือถูกค่อนแคะว่าไม่ทันสมัย ไม่เอาเพื่อนก็ตาม
๒) พยายามเข้าถึงศาสนธรรมที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน ศาสนาที่แท้จริงนั้นสามารถนำทางให้เราเข้าถึงศาสนธรรมหรือความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณได้ แต่ศาสนาเทียม รวมทั้งลัทธิเคร่งจารีต อาจนำไปผิดทาง. ศาสนธรรมที่แท้ ต้องมีพื้นฐานอยู่ที่สำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ อันได้แก่ความเมตตา ไม่มุ่งเบียดเบียน จิตไม่คับแคบ และมีทัศนะที่ไปพ้นทวิภาวะ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา หรือขีดเส้นแบ่งดีชั่วชัดเจน จนเป็นสูตรสำเร็จรูป หรือเป็นกลไก ศาสนธรรมที่แท้ยังจะช่วยให้เราเข้าถึงความสุขประณีตจากภายใน ทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของวัตถุหรือบริโภคนิยม
ศาสนธรรมที่แท้ต้องช่วยให้เราตระหนักถึงจุดอ่อนหรือความชั่วร้ายที่แฝงฝังอยู่ในตัวเรา และไม่ปล่อยให้มันเข้ามาเป็นใหญ่ ตระหนักว่ากิเลสอาทิ ความมักใหญ่ใฝ่สูง อาจจะแฝงตัวมาในคราบของอุดมคติหรือแม้แต่กระแสเสียงของพระเจ้าได้ เช่นเดียวกับความโกรธเกลียดสามารถจะผลักดันให้ผู้คนเข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติในนามของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ดังกรณี ๖ ตุลา
๓) ตีแผ่และเปิดเผยความจริงที่ถูกบิดเบือนและปิดบัง ทั้งนี้เพราะความจริงมักเป็นเหยื่ออันดับแรกของวัฒนธรรมทั้ง ๒ ขั้ว ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังทำให้คนกลุ่มหนึ่งถูกวาดภาพว่าเป็นตัวเลวร้าย เพียงเพราะต่างเชื้อชาติต่างศาสนา (หรือเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนที่มีความเชื่ออันคับแคบดังกล่าว) วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ก็ใช้สื่อเพื่อวาดภาพสินค้าให้ดูสวยหรูเลอเลิศ และสามารถดลบันดาลให้ผู้บริโภคกลายเป็นคนใหม่ได้
๔) ร่วมกันยับยั้งมิให้วัฒนธรรมทั้ง ๒ ขั้วแพร่กระจาย ไม่ว่าจะสร้างความเกลียดชัง ความเป็นปฏิปักษ์ในสังคม หรือกระตุ้นตัณหาจนเกิดการเอารัดเอาเปรียบและแย่งชิงทรัพยากร ในการนี้เราควรยับยั้งขัดขวางกลไก มาตรการ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ในทางเชื้อชาติศาสนา หรือมุ่งแต่ความเจริญทางวัตถุโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตและความผาสุกในสังคม
๕) ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติและสมานฉันท์ อันมีพื้นฐานอยู่ที่ศาสนธรรมที่แท้จริง กล่าวคือเคารพคุณค่าของชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เห็นสรรพชีวิตเป็นพี่น้องกัน ควรส่งเสริมให้เกิดระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนที่ตั้งมั่นในสัจจะ และส่งเสริมภราดรภาพ ไม่ตกเป็นเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมตลอดจนเชื้อชาตินิยมแบบคับแคบ
๖) ผสานศาสนธรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งในด้านวิสัยทัศน์และในด้านปฏิบัติการทางสังคม
การมีวิสัยทัศน์ที่อิงอยู่กับศาสนธรรมหมายถึงการมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ความผาสุกทางจิตใจ มิใช่มุ่งแต่ความเจริญมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ ทั้งนี้โดยตระหนักว่าความสุขขั้นสูงสุดคืออิสรภาพทางจิตใจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดชีวิตที่ดีงามทั้งทางกายและใจ ไม่หยุดเพียงแค่อยู่ดีกินดีทางวัตถุ พร้อมกันนั้นก็ช่วยให้ตระหนักถึงความเป็นเอกภาพของมนุษยชาติ ไม่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย เห็นว่ามนุษย์กับธรรมชาติต้องอยู่อย่างบรรสานสอดคล้อง
ในด้านปฏิบัติการทางสังคมก็ควรอิงอยู่กับศาสนธรรม กล่าวคือมั่นคงในสันติวิธี มีเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ถือเอาความรุนแรงเป็นคำตอบ เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน มิใช่รวมศูนย์อยู่ที่ผู้นำ ทั้งนี้โดยตระหนักว่าวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังและความละโมบนั้น มีรากเหง้าที่ลึกลงลึกไปในจิตใจของผู้คน ขณะเดียวกันก็ครอบงำกำกับผู้คนผ่านโครงสร้างที่อยู่เหนือตัวบุคคล ความรุนแรงนั้นขจัดได้แค่ตัวบุคคล แต่ไม่สามารถขจัดความเกลียดชังและความละโมบไปจากจิตใจของผู้คนได้ อีกทั้งไม่สามารถสถาปนาโครงสร้างและวัฒนธรรมอันสันติขึ้นมาได้ มีแต่สันติวิธีเท่านั้นที่จะเปลี่ยนจิตใจของผู้คนและนำโครงสร้างใหม่มาแทนที่ได้
พลังของศาสนธรรมอีกประการหนึ่งก็คือ ความสามารถในการประสานผู้คนให้เชื่อมโยงถึงกันจนเกิดเป็นเครือข่ายระดับโลก ดังเห็นได้จากกระแสต่อต้านสงครามอิรักที่เกิดขึ้น กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นทุกมุมโลก และเชื่อมโยงกันหนาแน่นมาก ทั้งนี้เพราะมีความสำนึกร่วมกัน อันได้แก่ความเอื้ออาทรและความสำนึกในภราดรภาพระหว่างมนุษยชาติ แม้คนเหล่านี้จะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษาก็ตาม สำนึกดังกล่าวได้ทำให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็นพลังระดับโลกที่มหาอำนาจนึกไม่ถึง แม้วันนี้จะยังไม่อาจยับยั้งผู้นำที่คลั่งอำนาจได้
สงครามฉันใด วัฒนธรรมสุดขั้วทั้ง ๒ กระแสก็ฉันนั้น เครือข่ายประชาชนระดับโลกที่มีศาสนธรรมเป็นพื้นฐาน ย่อมสามารถทัดทานมิให้นำพาโลกสู่หายนะได้ในที่สุด แต่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องเริ่มต้นด้วยการกลับไปค้นหาศาสนธรรมในตัวเราให้พบ และนำมาเป็นพลังในการฝึกฝนตนและสร้างสรรค์สังคมอย่างไม่รู้จักย่อท้อหรือสิ้นหวัง...
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
ต้องไม่ลืมว่าคนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็รู้สึกแบบนี้ คือเชื่อว่าเยอรมันกำลังถูกคุกคามจากคนยิว ซึ่งด้านหนึ่งร่วมมือกับพวกคอมมิวนิสต์ในรัสเซียซึ่งอยู่ทางตะวันออก ส่วนด้านตะวันตกก็มีภัยจากอังกฤษซึ่งถูกพวกยิวเชิด ความคิดแบบนี้ทำให้ลัทธินาซีของฮิตเลอร์เป็นที่นิยม ยังไม่ต้องพูดถึงคนยิวอีกมากมายในประเทศที่คุมเศรษฐกิจและสื่อมวลชนเอาไว้ ผลก็คือเกิดการทำลายล้างคนยิวถึง ๖ ล้านคนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมไปถึงการทำสงครามทั่วยุโรปตั้งแต่รัสเซียไปถึงอังกฤษ การเมืองที่ชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ รวมทั้งความรู้สึกว่า ตนกำลังถูกคุกคาม จากศัตรูทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง"ขึ้น ซึ่งกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก และได้รับความนิยมแพร่หลายในแต่ละประเทศ มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษามากขึ้นทุกที (ในอินเดียและ ตะวันออกกลาง พวกเคร่งคัมภีร์ซึ่งเคยกระจุกอยู่ในกลุ่มคนยากจน ได้กระจายไปสู่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษามากขึ้น)