บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 344 หัวเรื่อง
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์:
บรรยาย
ตัวแทนสมัชชาคนจน ปากมูล
(บทความนี้ยาวประมาณ
8 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
บทความเกี่ยวกับนิติ-รัฐศาสตร์
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ : บรรยาย
บทความนี้ยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 18 มกราคม 2547
คำบรรยายในโครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง
"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน"
วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2546 ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
บทบรรยายนี้
ต่อจากบทความลำดับที่ 343 ในหัวข้อเดียวกัน
สนใจคลิกไปอ่านได้จากที่นี่
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ : ความจริงดิฉันตอนนี้หนาวแอร์ ถ้าจะใช้แอร์น้อยกว่านี้ตามสถาบันต่างๆ วิกฤตการณ์ในชนบทอาจจะน้อยกว่านี้ก็ได้
ตอนแรกที่ดิฉันได้รับเกียรติจากทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จากอาจารย์นิธิว่า ให้ช่วยพูดเรื่องรัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน ก็รู้สึกหนักใจ เพราะโดยส่วนตัวต้องขอพูดว่า เป็นคนที่มีประสบการณ์ที่แคบคนหนึ่ง ครั้นเราต้องพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ มันเป็นเรื่องใหญ่ ก็เลยไปเตรียมเอกสารที่จะพูด กว่าจะเตรียมเสร็จก็เมื่อคืนนี้และเมื่อเช้านี้
พอเตรียมเสร็จแล้วได้มาฟังอาจารย์นิธิพูด ก็เลยรู้สึกว่าที่ตัวเองเตรียมมาก็ไม่ได้เรื่องแล้วค่ะ เพราะว่าอาจจะไม่เข้ากับสิ่งที่เรานำมาเสวนากันในวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เตรียมตัวมาแล้วก็จะขอพูดสิ่งที่ตนเองเตรียมมาบ้าง รวมทั้งหัวข้อที่อาจารย์นิธิได้ให้มา เพื่อเป็นการช่วยวิเคราะห์
ในความเห็นของดิฉัน รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน หรือฉบับประชาชนปวกเปียก อันนี้เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน เพราะประชาชนไม่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญเลยไปติดอยู่ในหล่มโคลน เพราะว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการต่อสู้ของประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีรัฐธรรมนูญมาก็เกือบ 70 ปีแล้วในการปกครองประเทศ แล้วเราก็มีแล้วก็เลิก เลิกแล้วก็มี จนกระทั่งปัจจุบันนี้ที่เรามี แต่ก็ไม่ได้ใช้ทั้งฉบับ ใช้เพียงบางมาตราเท่านั้น แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะเลือกใช้มาตราไหน มาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเขา หรือทำให้เขาเข้ามาสู่อำนาจ เขาก็จะใช้มัน อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ในความเห็นของดิฉัน เห็นว่า สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการกำหนดเรื่องบัญชีรายชื่อ ตัวนี้น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มธุรกิจการเมือง สามารถเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้อย่างรวดเร็ว ดิฉันไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญในประเทศอื่นเป็นอย่างไร
และอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติของคนที่ต้องจบปริญญาตรี บางด้านถ้าเรามองในแง่ของคนชั้นกลาง เพื่อที่จะขจัด สส.ทั้งหลายซึ่งไม่มีความรู้ออกไป แต่เรามาดูซิคะว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดสอนพิเศษให้กับ สส.ทั้งหลาย ได้จบปริญญาตรีทางลัด โดยที่พวกเขาไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย
หรือแม้กระทั่งคนที่จบ ดร. จบสาขาต่างๆที่มาจากหลายประเทศ ก็ไม่เห็นใช้ความรู้อะไรในการที่จะกระทำการตามรัฐธรรมนูญ เราจะได้เห็นว่ามีรัฐมนตรีทั้งหลายที่มาจากการศึกษาชั้นสูง รู้เรื่องระบอบประชาธิปไตยและรู้เรื่องกฎหมายเป็นอย่างดี ไม่ต้องเอ่ยชื่อนะคะว่ารองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐบาลชุดนี้ เป็นคนซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายเกือบจะมากที่สุดในประเทศไทย แต่ว่าการที่รัฐบาลนี้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญ เขาไม่เคยพูดถึงเลย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มันไม่จริง
สำหรับวันนี้ ดิฉันอยากจะพูดในฝ่ายของชาวบ้าน ฝ่ายประชาชนคนที่อยู่ข้างล่าง บรรดาพวกชายขอบทั้งหลายซึ่งพวกเราไม่ค่อยได้เห็นภาพหรือข่าวคราวของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทางทีวีหรือหนังสือพิมพ์ก็ตาม คือในความเห็นของดิฉัน ชาวบ้านคือคนที่อยู่ในชนบท อันนี้เนื่องมาจากประเทศไทยเป็นประเทศซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์แบบป่าฝนเมืองร้อน ดังนั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านจึงพึ่งพาธรรมชาติสูงมาก
เพราะว่าการดำรงชีวิตของชาวบ้าน สามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงตลาด หรือใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย คือพูดง่ายๆปากท้องของพวกเขา สามารถพึ่งพาธรรมชาติแบบดิบๆได้เลย เช่นเข้าไปในป่า ลงไปในแม่น้ำ ก็สามารถหาของป่าและจับปลาขึ้นมากินได้ เอาไปแลกข้าวหรือเอาไปแลกเกลือได้ อันนี้คือสภาพพื้นฐานทั่วไป
เพราะฉะนั้น การเมืองการปกครองแทบไม่ต้องเข้าไปยุ่งกับเขาเลย เขาก็สามารถอยู่ได้ หรือพูดง่ายๆก็คือว่า เขาสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องมีระบบการปกครองด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีระบบการปกครองท้องถิ่น หรือการปกครองจากส่วนกลางเข้าไป อันนี้ได้ไปทำลายการพึ่งตนเอง
เพราะว่าการปกครองนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองชาวบ้านให้สามารถอยู่ได้ แต่เป็นระบบที่เข้าไปแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ หรือเข้าไปจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติเสียใหม่ เพื่อที่จะนำเอาส่วนเกินหรือส่วนที่ชาวบ้านใช้อยู่นั้น ดูดเข้าสู่ส่วนกลางหรือผู้มีอำนาจ
ในระบบการปกครองแบบนี้ นอกจากจะเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังสร้างกฎและปราบปรามชาวบ้านอย่างเหี้ยมโหด ผู้นำท้องถิ่นในสมัยนั้นก็แข็งขืนโดยร่วมมือกับชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจรัฐส่วนกลางที่ไปจากรัตนโกสินทร์
ทีนี้ ทำไมชาวบ้านจึงรวมตัวกัน การที่ชาวบ้านรวมตัวกันเพราะมีความจำเป็นที่บังคับอยู่เบื้องหลัง เมื่อไม่มีจะกิน เมื่อมีความเดือดร้อนก็ต้องรวมตัวกัน พอรวมตัวกันได้ก็มาดูว่า พวกเขาจะมีช่องทางอะไรซึ่งจะใช้ในการต่อกรกับอำนาจรัฐได้ ก็ต้องมาดูมาศึกษารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่มีอยู่
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่า ชาวบ้านมักจะหยิบยกมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญขึ้นมาพูดบนเวทีต่างๆ เพื่อเป็นที่รองรับความชอบธรรมของเขาในการเคลื่อนไหวต่อสู้ แต่อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของชาวบ้านที่เกิดขึ้นก็เพราะไม่มีทางเลือก ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนกล้าหาญ เขาเป็นคนที่มีโลกทัศน์อยู่แล้วนะคะว่าจะต้องรวมตัวกัน เพื่อต่อสู้กับรัฐ, อันนี้ไม่ใช่. แต่มันเป็นความจำเป็นที่ไม่มีทางเลือก
กลุ่มต่อไปที่อยากจะพูดก็คือ ผู้ใช้แรงงานและคนจนเมือง
การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ดึงดูดคนในชนบทจำนวนมากมายมหาศาล นับล้านๆคน ซึ่งได้เข้ามาแออัดอยู่ในกรุงเทพ ที่กรุงเทพรถติดอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการพัฒนาแบบนี้ ถ้าเราลดการพัฒนาลงในกรุงเทพเสียครึ่งหนึ่ง ดิฉันคิดว่ากรุงเทพจะเป็นสวรรค์ของชนชั้นกลางมากขึ้น เพราะอะไร
เพราะว่าคุณทำให้คนที่อยู่รอบนอกอยู่ตามจังหวัดต่างๆไม่มีจะกิน พอพวกเขาไม่มีจะกิน เข้าก็ต้องเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง ซึ่งแน่นอน งานตามหัวเมืองต่างๆก็ไม่มีให้เขา จะไปทำงานก่อสร้างที่ไหน สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตล้วนมีอยู่แต่ในกรุงเทพ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงหลั่งไหลเข้ามา
ขบวนรถไฟสายอีสานใต้ ดิฉันอาศัยโดยสารเป็นประจำ ไม่เคยไม่แน่น เป็นสายที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และไม่เคยมีวันไหนที่ไม่เต็ม ไม่ใช่เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ไม่เคยมีวันไหนเลยที่ไม่แน่น เพราะอะไร? เพราะคนเป็นล้านๆ หลายสิบล้านคนที่อพยพไป อพยพมาเข้าสู่กรุงเทพ เพราะการพัฒนาเริ่มที่ภาคอีสานก่อน แล้วเราก็ไปทำลายการพึ่งตนเองของภาคอีสาน จนกระทั่งเขาจะต้องเข้ามาพึ่งรัฐหรือพึ่งกลุ่มอาชีพต่างๆในเมือง
พอเข้ามา ก็ต้องมาอยู่มากินที่นี่ เดินทางไปกลับบ่อยๆเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อมาอยู่มากิน เขาอยู่กันอย่างไร? รัฐไม่เคยให้สวัสดิการหรือให้คุณค่ากับคนเหล่านี้ มีไหมคะที่การเคหะทั้งหลายไปสร้างบ้านให้กับผู้ใช้แรงงานอยู่ หรือคนที่ทำงานก่อสร้าง ชีวิตของคนงานก่อสร้างเท่าที่เราเห็น มันแย่ยิ่งกว่าส้วมของพวกเราเสียอีก
ราคาค่าที่อยู่อาศัยของพวกเขามันต่ำกว่าส้วมที่เราสร้าง อันนี้พูดถึงคนชั้นกลางแบบเรา เอาสังกะสีมาปะ เอาไม้มาปู แล้วก็นอนเพื่อที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ไปทำงานแล้วกลับมานอนในตอนเย็น นี่คือสภาพชีวิตของคนที่อพยพเข้ามา และเมื่อเขามาอยู่นานขึ้นมันก็กลายเป็นสลัม
สลัมเราก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีอะไรรองรับเลย ไม่ว่าจะน้ำประปา ไฟฟ้า ชาวสลัมต้องใช้น้ำราคาแพง ใช้ไฟฟ้าราคาแพงมากกว่าพวกเรา ทั้งๆที่พวกเขาเป็นผู้เสียสละบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาอพยพเข้ามา อุตสาหกรรมก็ต้องการแรงงานราคาถูก แพงก็ไม่เอา เพราะจะทำให้กำไรลดลง
แรงงานที่ถูกที่สุดก็คือแรงงานเด็กกับแรงงานหญิง อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหญิงมาก เพราะต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และผู้หญิง น่าจะเป็นคนซึ่งทำงานเหล่านี้ได้ดี เพราะเป็นที่ว่านอนสอนง่าย หรือว่าไม่ค่อยแข็งข้อ หรือว่าทำงานละเอียด แรงงานหญิงก็จึงถูกอพยพเข้าสู่เมือง เพราะฉะนั้น ในหมู่บ้านก็จะไม่เหลือทั้งแม่บ้านและพ่อบ้าน ลูกเด็กเล็กแดงก็ต้องเข้าเมืองกันเพราะไม่มีจะกิน
คุณไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คุณไปแย่งยึดที่ดินทำกิน รวมถึงป่าไม้ของพวกเขา แม่น้ำและทะเลของพวกเขา เพราะฉะนั้นเขาก็เลยไม่มีจะกิน จึงต้องแตกกระสานซ่านเซ็นเข้ามาในเมือง การต่อสู้ของชาวสลัมและผู้ใช้แรงงานก็เช่นเดียวกับการต่อสู้ของผู้คนในชนบท ต้องผ่านความยากลำบาก ผ่านความทรหดอดทน ผ่านการถูกปราบปรามที่เหี้ยมโหด
เราจะเห็นภาพต่างๆเหล่านี้ แต่ความจริงไม่ค่อยได้เห็นในสื่อมากนักที่ชาวสลัมถูกรื้อบ้าน ลูกเด็กเล็กแดงร้องไห้กระจองงองแง อันนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้ารื้อแล้วยังไม่ไป ก็เผา. ทุกวันนี้ก็ยังมีการยื้อแย่งกันระหว่างที่อยู่อาศัยของคนจนและคนรวยที่อยู่ในเมือง ไม่ว่าจะมีหมู่บ้านเอื้ออาธร โครงการเอื้ออาธร แต่ความอาธรเหล่านี้ก็ไปไม่ถึงประชาชนเหล่านี้ ไปไม่ถึงผู้คนเหล่านี้ เพราะว่าพวกเขาถูกกันเอาไว้อยู่แล้ว
พวกเขาถูกออกแบบเอาไว้แล้วว่า เขาจะต้องถูกกีดกันออกไปจากการรับบริการเหล่านี้ ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพยายามโฆษณาว่าคนจนจะหมดไป ในความเห็นของดิฉันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าโครงสร้างในการแก้ไขปัญหานั้น ได้กันผู้คนเหล่านี้ออกไปแล้วจากการรับบริการ โดยหลายๆวิธีการ
อีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันจะพูดถึงก็คือว่า คำว่าสิทธิชุมชน, สิทธิพลเมือง, สิทธิเกษตรกร, หรือสิ่งทั้งหลายแหล่ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ มันเกิดขึ้นภายหลังจากการต่อสู้อย่างแสนสาหัสของชาวบ้าน ของประชาชนที่ถูกกดขี่ มันไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาจากความเมตตาปรานีของผู้ที่อยากร่างรัฐธรรมนูญ เขาถูกกดดันให้เขียนมาตราเหล่านี้ขึ้นมา เพราะไม่เขียนไม่ได้ จะเกิดจลาจล จะเกิดวิกฤต เขียนขึ้นมาเพื่อจะได้ให้ประชาชนสบายใจได้ว่า เขามีเกราะคุ้มครองแล้ว
ที่นี้มาพูดถึงชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่อ่อนแอ อ่อนแอทางด้านความคิดแต่ไม่ได้อ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจ อ่อนแอทางด้านจิตใจ เพราะพวกเขาถูกครอบงำโดยโลกาภิวัตน์ ถูกครอบงำด้วยลัทธิวัตถุนิยมและลัทธิบริโภคนิยม สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาอ่อนแอ อ่อนแอถึงกระทั่งเขาพูดว่า "เผด็จการก็ดีเหมือนกัน เพราะการพัฒนาจะได้ทำได้" อันนี้ดิฉันได้ยินด้วยหูตัวเอง
บางครั้งเขาก็พูดว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นการเคลื่อนไหวแบบ"อนาธิปไตย" ของเขานี่แหละเป็น"ประชาธิปไตย" ก็คือการได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาฯ ได้รับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้าคุณอยากจะแก้ปัญหา คุณก็เข้ามาแก้ในสภาฯซิ คุณก็ไปลงสมัครเป็น สส.หรือ สว.ซิ หรือไม่คุณก็ส่งคนของคุณเข้ามาซิ อันนี้คือสิ่งที่ชนชั้นกลางบางกลุ่มได้พยายามพูดว่า นี่คือ"ประชาธิปไตย"
อาจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วซึ่งลงในหนังสือพิมพ์ว่า รัฐธรรมนูญได้ถูกทำรัฐประหารแล้ว กรณีการฆ่าตัดตอน หรือในอีกหลายๆกรณีก็เป็นกรณีที่คนชั้นกลางบางกลุ่มบอกว่า "ถูกต้องแล้ว"
อำนาจอธิปไตยซึ่งเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็นของปวงชน คงไม่ใช่ เพราะปวงชนไม่มีตัวตน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือในการกรุยทางเข้าสู่อำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทที่ว่าด้วยการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล แล้วรัฐธรรมนูญก็ถูกขยำขยี้ทิ้ง เมื่อ พณ. ท่านสมปรารถนา
ประชาธิปไตยไม่ใช่หลักการที่จะนำมาใช้ในการปกครอง แต่เป็นหลักกูต่างหาก เรียกให้โก้หรูหน่อยก็คือ CEO ดังนั้น การประกาศใช้ระบบ CEO ก็คือการเลิกใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยมีชนชั้นกลางไทยบางส่วนยืนดูด้วยความงงงวยเป็นไก่ตาแตกว่า ระบอบประชาธิปไตยของพวกข้าทั้งหลายกลายเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
แต่ช่างมันเถอะเพราะราคาหุ้นในตลาดกำลังขึ้น การกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกำลังเป็นไปอย่างเมามัน หรือชนชั้นกลางไม่ต้องการประชาธิปไตยอีกต่อไป จะปกครองด้วยระบอบใดก็ได้ ขอให้เงินไหลมาเทมาเท่านั้น อันนี้ก็เป็นคำถาม
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนชั้นกลางอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถนิ่งดูดายให้ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญถูกย่ำยีได้ พวกเขาและพวกเธออยู่ในส่วนต่างๆของสังคมไทย อยู่ในอาชีพต่างๆหลากหลาย และกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าวิกฤตเยาวชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม จริยธรรม วัฒนธรรม วัฒนรรมชุมชนต่างๆที่เคยเป็นเกราะคุ้มครองความสงบสันติของครอบครัวและชุมชน ก็กำลังล่มสลาย
ขบวนการเพื่อประชาธิปไตยของไทย 60-70 ปีที่ผ่านมา ดิฉันคิดว่ามีประสบการณ์ยาวนานพอสมควร การที่เรามีประสบการณ์อย่างนี้ ทำให้การต่อสู้ของเราคงจะมีความสุขุมรอบคอบมากขึ้น ถึงแม้ว่าอำนาจรัฐไทยในปัจจุบันจะกลายเป็นอำนาจรัฐที่ผูกขาดทางด้านธุรกิจการเมือง กระทั่งรัฐธรรมนูญในมาตราที่ 87 หมวดที่ 5 ได้บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด อาจกล่าวได้ว่า ระบอบทุนนิยมได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วอย่างมั่นคงแข็งแรงในสังคมไทย
ดังนั้น เราจะก้าวไปทางไหน? เราจะเป็นทุนนิยมแบบก้าวหน้าหรือเปล่า? หรือเราจะเป็นสังคมนิยมแบบอ่อนๆ อันนี้ก็คงกำลังคิดกันอยู่
ในอีกด้านหนึ่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ได้หยั่งรากลึกลงสู่ชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ชาวประมงพื้นบ้าน คนงาน คนจนเมือง กลายเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิแรงงาน สิทธิในที่อยู่อาศัย การต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคัดค้านอภิมหาโครงการต่างๆซึ่งเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของธุรกิจการเมือง
การต่อสู้เพื่อเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นในวงการสาธารณสุข การคอรัปชั่นเชิงนโยบายของธุรกิจการสื่อสาร โดยมี NGO นักวิชาการ สื่อมวลชนบางส่วน เป็นผู้วิ่งประสานและนำข้อมูลออกสู่สาธารณะ เกิดการประสานงานอย่างเป็นระบบและนอกระบบ จัดตั้งเป็นเครือข่ายต่างๆที่มีเป้าหมายร่วมกันในการเคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น
เครือข่ายป่าชุมชน ผลักดันการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติที่อยู่อาศัย เครือข่ายผู้ป่วยและการทำงานจากสิ่งแวดล้อม ผลักดันพระราชบัญญัติความปลอดภัยของสถานประกอบการและสิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ขบวนการประชาชนจะขยายลงฐานล่างมากขึ้น กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยทางตรง คู่ขนานกับระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างองค์กรที่เข้มแข็งระดับท้องถิ่น แต่จุดอ่อนก็คือ การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังกระจัดกระจาย และเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละพื้นที่ แต่ละเครือข่าย การจะต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ในขณะที่ผู้เข้ายึดกุมอำนาจรัฐเป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองที่เข้มแข็งใหญ่โต และยังได้รับการหนุนหลังจากบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่ง
จริงอยู่ความเคลื่อนไหวทางสังคมต้องเริ่มจากระดับฐานราก ที่มีมวลชนเข้มแข็ง ค่อยๆยกระดับสู่การเคลื่อนไหวระดับชาติ แต่การเคลื่อนไหวที่จะระดมผู้คนเข้าร่วมได้อย่างมหาศาล จำเป็นต้องสร้างประเด็นร่วมที่เป็นหลักการ สามารถครอบคลุมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะมีผลต่อการแก้ปัญหาในระดับชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย
การหยิบยกเอารัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว จะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและมีผลสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ซึ่งคนทั่วไปยอมรับ ดิฉันคิดว่า การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะว่า คนทั่วไปนั้นมักจะไม่ยอมรับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่มักจะคิดว่า ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องทำให้ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น เป็นผลประโยชน์ของชาติ ในแง่ที่ว่าการนำรัฐธรรมนูญมาใช้ทุกมาตราอย่างเป็นจริงเป็นจัง นั่นคือการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือการทำให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ข้อเสนอของดิฉันต่อนักเคลื่อนไหวทั้งหลาย หรือ NGO ในที่นี้คือ
1. รูปแบบความเคลื่อนไหวจะต้องหลากหลาย โปร่งใส เพราะจะต้องถูกตรวจสอบจากสาธารณชนอย่างเข้มงวด ต้องประสานงานกับสื่อมวลชนตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด หรือถูกแปรเปลี่ยนข้อเท็จจริงไปเป็นอย่างอื่น
การเคลื่อนไหวทุกครั้งและทุกขั้นตอนจะต้องวางแผนอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุม โดยคำนึงถึงความชอบธรรมที่สาธารณชนจะยอมรับได้ การใช้สื่อและการสื่อสารทุกชนิด ทุกรูปแบบ ต้องคิดค้นวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ไม่สามารถใช้วิธีการหรือรูปแบบที่ซ้ำซากได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ต้องแสวงหาพันธมิตร แนวร่วม ทุกจังหวะก้าวในการเคลื่อนไหว
2. การขยายฐานการต่อสู้เดิมเป็นสิ่งจำเป็น เช่น กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก การศึกษาวิจัยของชุมชน การรณรงค์เศรษฐกิจพอเพียง การเคลื่อนไหวให้ออกกฎหมายต่างๆ เพราะเป็นการลงทุนทำงานที่คุ้มค่า เนื่องจากได้สะสมภูมิปัญญาของท้องถิ่น และสร้างพันธมิตรแนวร่วมไว้แล้ว
NGO, นักวิชาการ, หรือปัญญาชนนักเคลื่อนไหว, จะต้องเกาะติดพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและยกระดับตลอดเวลา ไม่ควรทำงานอย่างฉาบฉวย หรือเพียงต่อยอดทางด้านข้อมูล และเพียงพึงพอใจกับการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น
จะต้องสร้างนักคิดและนักเคลื่อนไหวในระดับต่างๆเพื่อสืบทอดการเคลื่อนไหวในระยะยาว เพราะการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยก็คือการทำงานระยะยาว ใช้รัฐธรรมนูญเป็นฐานในการเคลื่อนไหวในประเด็นรูปธรรมต่างๆ เป็นเรื่องที่ชอบธรรม แต่ต้องใช้เวลาเพราะต้องการภาวะที่สุกงอมทางความคิด
ควรเชื่อมการทำงานเฉพาะส่วนเข้ากับการทำงานส่วนอื่นๆ เรียนรู้ระดับโลกแต่ทำงานที่ใกล้ตัว สร้างกลุ่มที่มีสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน
สรุป
รัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า แต่เกิดจากครรภ์ของกระบวนการประชาชนไทย ที่อุทิศชีวิตเลือดเนื้อให้กับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองสิทธิ
เสรีภาพ และการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น การทำงานอย่างหนักเพื่อผลักดันให้เจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นจริง
จึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่ากับการลงแรง
เจตนารมณ์ที่ว่านี้ก็คือ การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง ไม่เช่นนั้น การใฝ่ฝันถึงสังคมที่สงบสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็เป็นเรื่องเพ้อฝัน
การจะต่อสู้ให้รัฐธรรมนูญออกจากหล่มโคลนนั้น ต้องใช้พละกำลังที่เข้มแข็งของขบวนการประชาชน ประชาชนที่อ่อนปวกเปียกไม่สามารถที่จะผลักดันกงล้อรัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตยไทยให้ออกจากปลักโคลนได้ การสร้างฐานประชาชนที่เข้มแข็งในแต่ละท้องถิ่น เป็นสิ่งจำเป็นในการปูพื้นฐานไปสู่กระบวนการประชาชนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
บทเรียนในประวัติศาสตร์สอนเราว่า ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง เมื่อโอกาสมาถึงคราใด เรามักจะพลาดโอกาสตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือถูกฉวยโอกาส ถูกปล้นชิงชัยชนะของประชาชนไปสู่ผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียวอยู่เสมอๆ การไม่สามารถเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ก็เพราะเรามัวแต่ทำงานอย่างฉาบฉวย
NGO จำนวนมากไม่ลงพื้นที่ทำงานค้นคว้าร่วมกับมวลชนอย่างจริงจัง หากเพียงโฆษณาเป่าร้องถึงสังคมใหม่ ถึงสังคมทางเลือก โดยไม่เคยฉุกคิดว่าทางเลือกที่เราเพียรนำเสนอมานับสิบๆปีมันขยายผลได้เพียงใด แม้ตัวผู้โฆษณาเป่าร้องเองก็ยังมีวิถีชีวิตที่ไม่ใช่ทางเลือก ยังคงเสพวัตถุและยังคงใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย มีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อในบางโอกาส
พวกเราผู้ปฏิบัติการเพื่อสังคมใหม่พึงตระหนักว่า ไม่มีสังคมที่ฟุ่มเฟือยได้อีกต่อไป ในทศวรรษหน้าหรือปีหน้า คือความขาดแคลน ยากแค้น ที่จะเกิดขึ้นทุกวันกับพลโลกนับล้านๆ เราจะมีวิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว
เพียงแต่เราสามารถผลักดันให้กติกาที่เขียนขึ้นในรัฐธรรมนูญเป็นจริงขึ้นมา โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อรุณรุ่งของประชาธิปไตยที่แท้จริงก็น่าจะเริ่มเห็นรำไรแล้ว ณ ขอบฟ้า
เพราะสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาตินับแต่อดีตอันยาวนาน นั่นคือ ที่มาของวิกฤตการณ์ทั้งปวง
สุดท้าย
ขณะที่ดิฉันกำลังพูดอยู่นี้ กำลังมีการเปิดงานการประชุม"แม่น้ำเพื่อชีวิต"ในระดับโลกขึ้น
ที่อำเภอราศรีไสล จังหวัดศรีษะเกศ โดยมีผู้แทนองค์กรประชาชนจากทั่วทุกมุมโลก
กว่า 70 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นเวลา 6 วัน คือตั้งแต่วันที่ 29
พฤศจิกายน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2546 เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนและประสบการณ์
ความเห็นร่วมกัน ในประเด็นหัวข้อต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต่างๆที่มีอยู่มากมายทั่วโลก
ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนราศรีไสล เขื่อนปากมูล รวมทั้งชาวบ้านซึ่งเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วประเทศ ได้มารวมตัวกันที่บ้านทุ่งน้อย อำเภอราศรีไสล ริมแม่น้ำมูล เพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลกนี้ขึ้น โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรพันธมิตรจำนวนมาก ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้
ถ้าไม่มีการต่อสู้ในระดับชาวบ้านท้องถิ่นอย่างเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่อาจมีการรวมตัวกันในระดับโลกได้ ในกระบวนทัศน์ใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลก รู้จัก"แม่น้ำมูล"มากกว่า"แม่น้ำเจ้าพระยา"เสียอีก ชาวบ้านจากลุ่มน้ำมูลได้บอกเราว่า โลกาภิวัตน์คือสิ่งที่คนจนจะเข้าถึงและควบคุมมันได้อย่างไร
คน 300 กว่าคน ต่างเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ผิวพรรณ เพศ และวัย มารวมตัวกันอย่างเงียบๆริมฝั่งแม่น้ำมูล เพื่อสร้างงานวิชาการที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติอย่างสันติสุข
ดิฉันขอภาวนาให้การประชุมครั้งนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ขอบคุณค่ะ
(ยังมีการบรรยายต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจ สามารถอ่านต่อได้ในบทความถัดไป)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com