บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 343 หัวเรื่อง
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
นิธิ เอียวศรีวงศ์
: บรรยาย
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ
11 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
บทความเกี่ยวกับนิติ-รัฐศาสตร์
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : บรรยาย
บทความนี้ยาวประมาณ
11 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 17 มกราคม 2547
คำบรรยายในโครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง
"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน"
วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2546 ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ที่ผ่านมาในโครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" เราได้พูดไป 6 เรื่องด้วยกัน โดยได้เริ่มต้นพูดถึง "ศาลรัฐธรรมนูญ : พิทักษ์รัฐหรือรัฐธรรมนูญ"(1), ต่อมาได้พูดถึง"พรรคการเมืองที่ไร้ประชาชน"(2), ต่อด้วยประเด็น "สิทธิชุมชน : ชุมชนไม่มีสิทธิ์"(3), พูดถึง"นิติธรรมอำพรางในนิติศาสตร์ไทย"(4) - เป็นการกล่าวถึงการศึกษากฎหมายไทยว่ามีปัญหาอะไรบ้าง, แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมาเราพูดถึงเรื่อง"สื่อกับรัฐธรรมนูญ"(5) และเรื่อง"รัฐธรรมนูญไทยภายใต้กะลาโลกาภิวัตน์"(6)
หัวข้อทั้งหมดที่ผ่านมาของโครงการ "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" เรามุ่งจะพิจารณาว่า มีเงื่อนไขหรือปัจจัย หรือสถาบันใดๆบ้างที่ทำให้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่ามีความสมบูรณ์ฉบับหนึ่ง มันไม่สามารถใช้การหรือถูกบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาเราพยายามพูดถึงประเด็นที่มีส่วนสำคัญต่อการทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีน้ำยามากเท่าไหร่
หลังจากที่เราพูดไปทั้งหมด 6 หัวข้อ วันนี้เราจะลองหันมาดูว่า ในแง่ขององค์กรภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการจะทำให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ หรือไม่มีผลใช้บังคับ อันนี้จึงเป็นหัวข้อสุดท้ายที่เราจะเสนอในวันนี้
ผู้ร่วมเสวนาในวันนี้มี
2 ท่านคือ 1. อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ส่วนคนที่ 2
คือ คุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน เป็นคนที่รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ค่อยชอบเท่าไหร่
ซึ่งส่วนใหญ่คนที่อยู่ในห้องนี้คงเป็นคนที่รัฐบาลไม่ค่อยชอบอยู่แล้ว
(หมายเหตุ: สำหรับในบทความถอดเทปชิ้นนี้ จะมีเพียงคำบรรยายของ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เท่านั้น, ส่วนของคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ จะนำเสนอในบทความถอดเทปชิ้นต่อไป)
หัวข้อวันนี้เราตั้งประเด็นสำคัญเอาไว้ 3 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งเป็นคำถามดังนี้
1. บทบาทขององค์กรภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีอยู่อย่างไร คือกำหนดบทบาท ภาระหน้าที่ภาคประชาชนไว้อย่างไร
2. การกำหนดภาระหน้าที่ และบทบาทของภาคประชาชนดังกล่าว ประสบความสำเร็จหรือประสบความล้มเหลวอย่างไรบ้าง ในตลอดช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา
3. ท่ามกลางความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เราจะสามารถเผชิญกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของรัฐ หรือในส่วนขององค์กรภาคประชาชน เราจะทำอย่างไรได้บ้างท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านี้ คือเราคิดว่านอกจากวิพากษ์วิจารณ์ถึงองค์กรหรือสถาบันต่างๆที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง สุดท้ายเราคิดว่า สิ่งหนึ่งซึ่งไม่อาจมองข้ามไปได้ แล้วเราจะคิดถึงตัวเราเองที่ในฐานะภาคประชาชน จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับได้อย่างไร
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอเรียนเชิญท่านอาจารย์นิธิ เสนอเป็นคนแรก
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ก่อนที่จะมาตอบคำถามถึงเรื่องหน้าที่และบทบาทของภาคประชาชนในรัฐธรรมนูญ คิดว่าควรจะทำความเข้าใจกันก่อนว่า จริงๆแล้วถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆซึ่งรัฐธรรมนูญได้ประกันให้กับปัจเจกบุคคลแล้ว เราจะพบได้อย่างหนึ่งว่า, ไม่ว่า สิทธิเสรีภาพนั้นก็ตาม ที่ให้กับปัจเจกก็ตาม สิ่งที่ภาคประชาชนจะเข้าไปทำอะไรก็แล้วแต่ เช่น การตรวจสอบรัฐตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้เรานั้น ประชาชนในฐานะปัจเจกทำอะไรได้ไม่มากเท่าไหร่หรอก
ที่จะทำอะไรได้มากนั้น หมายถึงกลุ่มที่จะต้องมีการจัดองค์กร ถ้าเป็นประชาชนที่เป็นปัจเจก แม้แต่ใช้สิทธิเสรีภาพของปัจเจกซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ โดยปราศจากกลุ่มที่มีการจัดองค์กรภายในของตนเอง จะรักษาสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นไว้ก็แทบจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป ทุกวันนี้ก็เห็นอยู่ว่ามีคนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยปัจเจกมากมายไปหมด เพราะฉะนั้นจะพูดถึงสิ่งต่อไปนี้ จะเน้นไปที่เรื่องของภาคประชาชนในความหมายที่เป็นกลุ่มซึ่งมีการจัดองค์กรภายใน ถ้าเป็นปัจเจกก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึง
และถ้ามองในแง่นี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดถึงบทบาทองค์กรภาคประชาชนดังกล่าว อย่างน้อยที่สุด 4 ด้านด้วยกัน
ด้านแรก ก็คือ การเปิดเวทีที่จะให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่ม และก็จัดองค์กรภายในได้มาก อย่างเช่น มาตร 40 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่เวลานี้ เป็นต้น. รัฐธรรมนูญไม่ได้คิดถึงว่ามีคนๆหนึ่งซึ่งมีเงินมาก แล้วก็ไปซื้อเครื่องส่งวิทยุมา แล้วไปตั้งที่บ้าน แล้วก็นั่งเปิดเพลงส่งกระจายเสียงเพียงคนเดียวอย่างนั้น แต่คิดถึงการสร้างคลื่นความถี่ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน กับผู้ฟัง อย่างน้อยที่สุด กล่าวนัยะหนึ่ง จะเป็นวิทยุชุมชน, วิทยุจังหวัด, วิทยุประเทศอะไรก็แล้วแต่ อันนี้ไม่ใช่ลักษณะที่ปัจเจกเข้าไปทำงาน
มาตรา 45 พูดถึงเสรีภาพในการจัดองค์กร พูดเอาไว้ชัดเจน จนกระทั่งถึงวันนี้เราก็ยังไม่ได้แก้กฎหมายอะไรเกี่ยวกับการจัดองค์กร
ในประเทศไทยแปลกมาก เวลาพูดถึงการจัดองค์กร คุณต้องไปขอลงทะเบียนหรือจดทะเบียนกับฝ่ายรัฐ อันนี้ประเทศไทยเราสับสนระหว่าง registration กับ licensing คือคุณไปจดทะเบียนเพื่อบอกให้รู้ว่าเราตั้งเป็นกลุ่มแล้ว เขาไม่มีอำนาจบอกคุณว่าได้หรือไม่ได้ อันนั้นเป็นเรื่อง licensing เป็นเรื่องของการอนุมัติว่าได้หรือไม่ได้
แต่ในเมืองไทย คุณต้องไปถามเขาก่อนว่าได้หรือไม่ได้ ซึ่ง 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกัน ระหว่าง"การลงทะเบียน"กับ"การขออนุมัติ" แต่เราเอามาปนกันเสีย เมื่อไหร่ที่คุณจะไปจดทะเบียนอะไรก็แล้วแต่ หมายความว่าเขามีอำนาจที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติด้วย เพราะฉะนั้น มาตรา 45 ซึ่งบอกว่าให้มีเสรีภาพในการจัดองค์กร ก็เขียนไปอย่างนั้น ในทางปฏิบัติหรือในแง่กฎหมายทำได้ไม่ค่อยสะดวกเท่าไรนัก
มาตรา 85 บังคับว่ารัฐจะต้องส่งเสริมระบบสหกรณ์ ระบบนี้ก็เป็นเรื่องของกลุ่มที่มีการจัดองค์กรภายในเหมือนกัน
นี่คือการที่รัฐธรรมนูญพยายามเปิดหรือสร้างเวทีให้ประชาชน สามารถรวมกลุ่มกันและก็มีการจัดองค์กรภายในระดับใดระดับหนึ่ง เพื่อปรากฎตัวขึ้นมาบนเวทีสาธารณะทั้งสิ้น
ด้านที่สอง ซึ่งผมคิดว่ารัฐธรรมนูญพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ก็คือ เรื่องของการจัดการทรัพยากร มีหลายมาตรา เช่น มาตรา 56, มาตรา 79, ต่างๆนาๆ คือ อันนี้เป็นการคิดถึงภาคประชาชนที่ไม่ใช่ปัจเจก ต้องมีการจัดองค์กรระดับใดระดับหนึ่ง ในการที่จะเข้ามาจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า ทั้งหมดเหล่านี้ ถามจริงๆจนกระทั่งถึงนาทีนี้ ซึ่งเราใช้รัฐธรรมนูญมา 5-6 ปีแล้ว ถามว่า มันมีอะไรเคลื่อนที่ในเรื่องนี้หรือเปล่า
คำตอบคือ พบว่าไม่มีเลย กฎหมายป่าชุมชนก็ยังไม่ได้ออกมาด้วยซ้ำไป เป็นต้น. แล้วก็ไม่ได้มีการแก้ไขส่วนไหนเลยที่จะทำให้ประชาชนสามารถจัดองค์กร และเข้ามาจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นตัวเองได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง
ด้านที่สาม ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เราสามารถปกป้องคุ้มครองตัวเองได้ การปกป้องคุ้มครองตัวเองก็ต้องมีการจัดองค์กรภายในเหมือนกัน เช่น มาตรา 57 พูดถึงผู้บริโภค เป็นต้น. ผู้บริโภคคนเดียวไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เป็นอันขาด แต่คุณจะต้องมีการรวมกลุ่ม อย่างใดอย่างหนึ่ง ในลักษณะใดก็แล้วแต่ เพื่อจะได้สามารถเข้าไปดำเนินการทางกฎหมาย เช่น ฟ้องร้องก็ตาม หรืออื่นๆ เพื่อที่จะปกป้องผู้บริโภคได้
หรือการรัฐธรรมนูญกำหนดในมาตรา 62 ที่เราสามารถฟ้องร้องหน่วยราชการได้ การฟ้องร้องหน่วยราชการโดยปัจเจก ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ว่ามันจะไม่มีพลังเท่าไหร่ ถ้าฟ้องร้องเป็นกลุ่ม มันจะมีพลังมากกว่า อันนี้เป็นตัวอย่าง
ด้านที่สี่ คือการตรวจสอบ สิทธิการรับทราบข้อมูลก็ตาม มีส่วนร่วมในการปฏิบัติราชการทางการปกครองในมาตรา 60 ก็ตาม ทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าหากเรามองในด้านของปัจเจก ขอรู้ข้อมูลโดยขาดกลุ่มซึ่งมีการจัดองค์กรอยู่เบื้องหลัง ในการจะดำเนินการหลังจากที่ทราบข้อมูลแล้ว ไม่เกิดผลอะไรเท่าไรนัก
นาย ก., นาย ข. ไปขอรับทราบข้อมูล ก็ไม่สามารถที่จะไปตรวจสอบควบคุมการบริหารของรัฐได้ อันนี้ต้องมีกลุ่มหรือมีการจัดองค์กรอยู่เบื้องหลัง ในการใช้สิทธิเหล่านี้เกี่ยวกับการตรวจสอบรัฐได้
ฉะนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ภาคประชาชนทำงานตามรัฐธรรมนูญไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่มีการรวมกลุ่ม แล้วก็มีการจัดองค์กรภายในระดับใดระดับหนึ่ง จำนวนมากมายหลากหลายเพียงพอ
เมื่อเป็นเช่นนี้ มาถึงคำถามข้อที่สอง เรื่องว่า มันเกิดผลสำเร็จหรือความล้มเหลวอย่างไร
อันนี้ค่อนข้างเห็นชัด ผมคิดว่า ถ้ามองจากแง่ประชาชน ในแง่นี้มันเป็นความล้มเหลว ความล้มเหลวที่ว่านี้มาจากความอ่อนแอของกลุ่มทางสังคมในประเทศไทย เรามีรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือสังคมเข้าไปตรวจสอบรัฐ เข้าไปคานอำนาจกับรัฐ เข้าไปถ่วงดุลรัฐแยะมาก แต่ปรากฏว่าสังคมของเราอ่อนแอกว่าจะใช้ประโยชน์เหล่านั้นจากรัฐธรรมนูญได้
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
รัฐไม่ได้ช่วยทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น อันนี้พูดกันมามาก เช่น ไม่มีการออกกฎหมายลูก ไม่มีอะไรต่ออะไรร้อยแปด ซึ่งผมจะไม่พูดถึง แต่ผมจะกลับมาดูในภาคประชาชนว่าทำไมเราถึงอ่อนแออย่างนี้ อันนี้อยากจะย้อนกลับไปถึงอดีตของเรานิดหน่อย
คือหันกลับไปดูการจัดองค์กรในสังคมไทย ตั้งแต่โบราณมา ถามว่าคนไทยรู้จักการจัดองค์กรมาตั้งแต่อดีตหรือเปล่า ผมก็อยากจะบอกว่ารู้จัก และปรากฏหลักฐานมากมายไปหมดเกี่ยวกับการจัดองค์กรในอดีตของสังคมไทย ภาคเหนือมีการจัดองค์กรที่จะจัดการน้ำ จัดการวัด และจัดการอื่นๆมากมาย ทุกภาคก็จะมีประวัติหรือเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดองค์กรในภาคประชาชน เพื่อที่จะจัดการดูแลสิ่งนั้นสิ่งนี้ของตัวเองตลอดมา
แต่เราจะพบว่า กลุ่มต่างๆที่มีการจัดองค์กรภายในเหล่านี้ และมีภารกิจที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลจัดการทรัพยากร สร้างเวทีสาธารณะของตนเอง และอื่นๆ ที่เคยมีมาในอดีต ได้ถูกทำลายลงไปหมด ถูกละเลยไป ถูกแข่งขันโดยองค์กรของรัฐ ในช่วงตั้งแต่เราเริ่มปฏิรูปประเทศมาสู่รัฐสยามใหม่ คือตั้งแต่รัชกาลที่ 5 พูดง่ายๆอย่างนั้นก็แล้วกันเป็นต้นมา กลุ่มเหล่านั้นถูกทำลายไปหมดโดยสิ้นเชิงก็ว่าได้
ฉะนั้นเราจึงไม่มีกลุ่มที่มีการจัดองค์กรภายใน กลุ่มทางสังคมที่เป็นฐานเดิม สำหรับปรับตัวเองเข้ามารับภารกิจของสังคมสมัยใหม่ คล้ายกับว่าสังคมสมัยใหม่โผล่มาหาเราโดยผ่านรัฐเข้ามา แล้วตัวเราหรือภาคประชาชนซึ่งเคยมีการจัดองค์กรของเราอยู่เอง ถูกทำลายหายไป ก็คล้ายๆว่าความเป็นสมัยใหม่ มันโผล่มาหาเรา จากเบื้องบนครอบงำลงมาสู่เบื้องล่าง โดยข้างล่างไม่มีพลังอะไรที่มาจัดการกับความทันสมัยที่โผล่เข้ามาด้วยตัวเองเลย
อันนี้ถ้าเราลองนำไปเปรียบเทียบกับอีกหลายสังคม เราจะพบว่าแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรานำไปเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตก มหาวิทยาลัยในสังคมตะวันตกก็คือเป็นกลุ่มที่มีการจัดองค์กรภายในระดับใดระดับหนึ่งนั่นเอง มหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกมันเกิดขึ้นก่อนหน้าความทันสมัยหรือยุคสมัยใหม่จะเกิดขึ้นในโลกตะวันตก แล้วเมื่อมันเกิดยุคสมัยใหม่ขึ้นมา มหาวิทยาลัยก็ยังคงอยู่ และก็ยังคงอยู่ในลักษณะที่เข้ามาต่อรองกับรัฐได้ระดับหนึ่งด้วย
หอการค้า, ฝรั่งก็มีหอการค้ามาตั้งแต่ปลายสมัยกลาง และหอการค้าของฝรั่งก็ไม่ได้มีหน้าที่คอยประจบประแจงนายกรัฐมนตรีแบบหอการค้าไทย เพราะว่าหอการค้าฝรั่งมันมีอิสระมาตั้งแต่ต้น และพอผ่านเข้ามาสู่ยุคที่มันเกิดมีรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา หอการค้าก็ยังเป็นองค์กรอิสระอีกอันหนึ่งในการที่จะเข้าไปต่อรองอยู่ สมาคมช่างฝีมือก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
ซึ่งในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมแพทย์ สมาคมทนายความ เกิดขึ้นทีหลังทั้งสิ้น และอำนาจต่อรองของมัน ที่จะไปต่อรองกับรัฐมีอยู่ค่อนข้างน้อย
ในประเทศแถบเอเชีย ผมนึกถึงตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในสมัยโบราณ รัฐจะบังคับให้แบ่งประชาชนออกเป็น 5 บ้านต่อ 1 หัวหน้า จะมีหัวหน้าคนหนึ่งต่อ 5 บ้านนั้น แล้วก็มีหน้าที่ที่จะติดต่อกับรัฐ แต่ในการจะติดต่อกับรัฐตัวจะต้องสามารถได้รับการยินยอมพร้อมใจของ 5 บ้านนั้น คือเป็นลูกน้องของตนเอง เช่นเป็นต้นว่า รัฐเรียกข้าว ถ้าเผื่อว่าลูกน้องไม่ยอมจ่ายให้ หรือว่ามันเบี้ยว ตัวก็ไม่สามารถเอาข้าวไปส่งให้กับรัฐได้ แล้วรัฐก็อาจจะลงโทษตัวเอง เพราะฉะนั้นจะเป็นที่หัวหน้า 5 หมู่บ้านจะต้องแนบแน่นกับลูกน้องของตนค่อนข้างมาก
คล้ายๆกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งกำเนิดขึ้นมาในสังคมไทย เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ได้มีการตั้งตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านขึ้น. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านสมัยก่อน โดยเฉพาะในภาคอีสาน เลือกเอาคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าหมอนั่นไม่กินเหล้าเมายา มันดีกว่าคนปกติ ที่จริงคือมันอ่านหนังสือไทยออก และมันพูดภาษาไทยพอได้ ไม่ต้องพูดภาษาลาว มันจะได้สามารถไปต่อรองกับเจ้านายได้
โดยสรุปก็คือ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนชาวบ้าน เป็นคล้ายๆกับด่านหน้าของชาวบ้านในการไปต่อรองกับรัฐ แต่พอในระยะยาว กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มันถูกรัฐดูดกลืนไปกลายเป็นตัวหางแถวของอำนาจรัฐที่อยู่เหนือหัวชาวบ้าน เดิมทีเดียวก็คือคนที่อยู่กับชาวบ้านซึ่งจะไปต่อรองกับรัฐ ไปๆนานเข้า กำนัน- ผู้ใหญ่บ้านถูกกลืนไป
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับในญี่ปุ่น อันนี้ไม่ใช่ ระบบหัวหน้าหมู่บ้านอย่างนี้ยังมีอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งเลือกขึ้นมาจากประชาชน และรัฐจะให้บริการผ่านหัวหน้าหมู่บ้านนี้ หัวหน้าหมู่บ้านก็ต้องการความยินยอมพร้อมใจระดับหนึ่งจากตัวชาวบ้านเองด้วยเหมือนกัน และหัวหน้าหมู่บ้านนั้นก็ไม่ได้ถูกรัฐกลืนเข้าไปแบบอย่างในปัจจุบันนี้ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปดูหลายสังคมด้วยกัน การเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของเขา มันไม่ได้ทำให้องค์กรภาคประชาชนถูกละลายหายสูญไป
ยิ่งในเมืองไทยมาคิดถึงเรื่องของวัด วัดในสมัยหนึ่ง พระค่อนข้างจะมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก แต่ว่าของเราในปัจจุบัน วัดก็ถูก พรบ.ปฏิรูปศาสนา, พรบ.ปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรก กลืนให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ในทัศนะผม พระท่านก็แต่งเครื่องแบบราชการก่อนข้าราชการด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเครื่องแบบของท่านไม่เหมือนกับข้าราชการทั่วๆไปเท่านั้นเอง ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไปเลย
ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่นแล้ว เราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เข้าสู่รัฐสมัยใหม่ โดยสังคมที่อ่อนแอมากมาตั้งแต่ต้น ฉะนั้นกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ไม่มี ในสังคมไทยเมื่อเข้ามาสู่ยุคสมัยใหม่ ก็มีกลุ่มใหม่ที่มีการจัดองค์กรภายในเกิดขึ้นมาเหมือนกัน แต่กลุ่มใหม่เหล่านั้นจะไม่ค่อยมีพลังเท่าไหร่ เพราะมันขาดฐานเดิมที่สามารถจะทำให้มันมีความเข้าใจกับสังคม หรือประชาชนที่อยู่รอบข้างเพียงพอ มันกลายเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะสัมพันธ์กับรัฐ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องจำกัดเวทีของตนเองเอาไว้กับเรื่องของการทำมาหากิน
เอาล่ะ ถ้าจะพูดกันในแง่กฎหมาย กฎหมายจะบังคับไว้เลยว่า เวลาที่คุณจะตั้งสมาคมหรือมูลนิธิอะไร จะต้องใส่เอาไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ผมคิดว่ากฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเรามีความต้องการจริง กฎหมายมันก็ต้องเปลี่ยน ใครมันจะสามารถผลักดันสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ปรากฎว่าเราเองก็ยอมรับว่าเราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เราจะยุ่งกับเรื่องเกี่ยวกับการทำมาหากินแต่เพียงอย่างเดียว หรือปกป้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มวิชาชีพเท่านั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแต่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ก้าวมาถึงปัจจุบันนี้แล้ว มันมีกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นมากพอสมควร นับตั้งแต่กลุ่มของพวก NGO เป็นต้น หรือกลุ่มประท้วงในท้องถิ่น ก็เกิดขึ้นทั่วไปหมด. กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งภายใน แล้วก็เข้ามาทำหน้าที่ ทำบทบาทในแง่ขององค์กรภาคประชาชน ทำหน้าที่และบทบาทในแง่ของสังคมอยู่มากทีเดียว
พวกนี้พยายามจะเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญพูดเอาไว้ แต่ว่าช่องทางในระบบการเมืองก็ตาม ในระบบการบริหารของเราก็ตาม ไม่ได้เปิดช่องให้กับคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมเลย ในขณะเดียวกัน กลุ่มใหม่เหล่านี้ก็พยายามที่จะหาทางเลือกใหม่ๆด้วย ไม่ว่าจะทางเลือกทางการศึกษา ก็มีกลุ่มที่จัดการศึกษาทางเลือกเกิดขึ้นในประเทศไทยมากมายไปหมด ทางเลือกในการทำมาหากิน ทางเลือกในสิ่งต่างๆที่มันไม่เป็นไปตามที่สภาพัฒน์ฯอยากให้เป็น อันนี้เกิดขึ้นเยอะแยะไปหมดในทุกๆทาง แต่มันไม่มีช่องทางที่จะขยายงานของตนเองออกไปได้มากเท่าไหร่นัก
และโดยธรรมชาติของมันเอง เมื่อมันไม่มีช่องทางในทางการเมืองและการบริหาร ตามธรรมชาติของมันก็เลยทำให้กลุ่มเหล่านี้กลายเป็นศัตรูของรัฐ ที่จริงทุกรัฐบาล ไม่เคยมีรัฐบาลไหนชอบ NGO เป็นแต่เพียงว่าเขาจะพูดออกมาได้แรงหรือสะใจเท่าไหร่เท่านั้นเอง
เรื่อง NGO รับเงินต่างชาติ ไม่ใช่ว่าคุณทักษิณเป็นคนแรกที่พูด เขาพูดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณชวน ตั้งแต่ก่อนหน้ารุ่นคุณชวน อันนี้เขาพูดกันมาแล้วด้วยซ้ำไปเกี่ยวกับ NGO รับเงินต่างชาติ
เพราะฉะนั้น กลุ่มเหล่านี้โดยธรรมชาติของมันในรัฐไทย ซึ่งไม่เปิดช่องให้มีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ ทำให้กลุ่มอิสระเหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นอริกับรัฐบาล ตัวมันเองจะเป็นหรือเปล่าไม่ทราบ แต่รัฐบาลจะมองมันในฐานะที่เป็นศัตรูหรืออริ แล้วจะตอบโต้มันด้วยวิธีการต่างๆ แรงบ้าง ค่อยบ้าง
ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันนี้ เขามีนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจนใน 2 อย่างด้วยกัน
อันที่หนึ่ง, เขาจะเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการทางสังคม คือบทบาททางสังคมคุณไม่ต้องมี คุณจะมาให้บริการกันเอง อันนี้ไม่ต้อง รัฐจะเป็นผู้ให้
เขาจะเอื้ออาธรให้ทุกอย่าง คุณขาดอะไรบอกเขา เขาจะเอื้ออาธรให้คุณได้หมด เขาจะเป็นผู้ผูกขาดบริการทางสังคม. การผูกขาดการบริการทางสังคม จะเพิ่มอำนาจทางการเมืองอย่างไร อันนี้ผมยังไม่พูดถึง ให้เราคิดกันเอาเองก็น่าจะคิดออกว่า ถ้าคุณสามารถผูกขาดบริการทางสังคมได้ คุณจะมีอำนาจทางการมเมืองเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
อันที่สอง, ในขณะเดียวกันคิดว่า ภายใต้รัฐบาลอันนี้ ประเทศไทยกำลังมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลนี้ เร่งรัดที่จะทำให้เศรษฐกิจแบบตลาดขยายตัวเต็มพื้นที่ในประเทศไทย
คือเมื่อก่อน คุณมีเศรษฐกิจตลาดที่ซับซ้อนมากพอสมควร มีเศรษฐกิจตลาดเปิด มีเศรษฐกิจตลาดใต้ดิน มีเศรษฐกิจที่กึ่งตลาดกึ่งพึ่งตนเอง อันนี้ซับซ้อนมาก แต่เขาพยายามจะทำให้เศรษฐกิจตลาดที่เป็นทางการ ขยายไปให้เต็มพื้นที่ให้หมด
เพราะฉะนั้น ดีหรือชั่วก็แล้วแต่ ถ้าทำอย่างนั้นได้แล้วมันจะดีหรือไม่ดี เราจะไม่พูดถึง แต่นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเมื่อเปลี่ยนไปสู่ระบบตลาดเปิดทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้กำหนด หรือกำกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างใกล้ชิด และเมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงคิดว่า ทำให้กลุ่มอิสระทั้งหลายที่เข้ามาต่อรอง มาถ่วงดุลในการกำหนดนโยบาย และหรือการบริการทางสังคมในเรื่องต่างๆ เป็นศัตรูที่น่ากลัวมากขึ้น
ดังนั้น คิดว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้ วิธีการตอบโต้ คือเขาทำแบบรัฐบาลอื่นที่เขาทำไว้แล้ว แต่วิธีการตอบโต้จะใช้วิธีการปราบปรามอย่างหนัก จะใช้วิธีการที่รุนแรงกว่า เช่นกรณี ปปง.ขึ้นบัญชี NGO และกลุ่มอิสระทั้งหลาย ผู้นำกลุ่มอิสระทั้งหลาย คือจ้องมึงไว้ก่อนเลย หรือทำให้มึงหนาวขึ้นมาล่ะ เป็นต้น
หรือใช้กำลังในการปราบในการต่อสู้ของประชาชน การประท้วงของประชาชน ด้วยวิธีรุนแรง อย่างกรณีจะนะ, กรณีบังคับให้สมัชชาคนจนต้องเดินทางกลับบ้าน, เหล่านี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น จากนี้เป็นต้นไป คิดว่าการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าจะมีช่องทางที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเล็กๆน้อยๆในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ผมว่าช่องทางนั้นมันตีบตันมากขึ้น เสร็จแล้วจะนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นไหม? อันนี้เป็นสิ่งที่น่าวิตก อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนคุณบีบมันไว้ตลอดเวลาไม่ได้ เมื่อคุณไปปิดช่องทางเหล่านี้ไว้ทั้งหมดแล้ว มันจะหันไปสู่ความรุนแรงขึ้นหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งซึ่งผมค่อนข้างจะวิตกว่า ทางเลือกมันจะเหลือน้อยลง
ในขณะเดียวกัน นอกจากว่ากลุ่มจะถูกทำลาย ไม่มีกลุ่ม ไม่มีอะไรต่างๆนาๆเหล่านี้แล้ว ผมคิดว่ามันยังมีความอ่อนแอภายในของโครงสร้างสังคมของเราเองอยู่อีก ก็คือว่า มันมีการแบ่งแยกสังคมออกเป็นสองส่วน ซึ่งแตกต่างกันอย่างค่อนข้างมาก
ส่วนหนึ่งก็คือ ส่วนที่ค่อนข้างจะผูกติดอยู่กับเรื่องการเกษตร ผูกติดนี้แม้แต่ในจินตนาการก็ได้ คือคนบางคนหลุดออกมาจากภาคการเกษตรนานแล้ว เช่น แรงงานภาคอุตสาหกรรม แต่ในความคิดของเธอยังผูกติดอยู่กับภาคการเกษตรก็มี ซึ่งผมจะกลับมาพูดละเอียดในเรื่องนี้ข้างหน้า. ถ้าเรามองในรูปนี้ คนที่ยังผูกติดอยู่กับภาคการเกษตร แม้แต่ไม่มีที่ดินของตนเอง แต่ว่าไปรับจ้างแรงงานในภาคเกษตรก็แล้วแต่ กับ
ส่วนทีสอง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่หลุดออกมาจากภาคการเกษตร เข้ามาสู่ภาคบริการและอุตสาหกรรมเต็มตัว ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มีการศึกษาดี เป็นพวกชนชั้นกลาง ว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน
สองส่วนนี้แยกออกจากกันค่อนข้างมาก อันนี้ถ้าเราย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ผมคิดว่า มันมีพัฒนาการในหลายๆด้านในสังคมไทย ที่จะทำให้เกิดการแยกตัวระหว่างสองกลุ่มนี้ออกจากกันอย่างมากทีเดียว
ดูนโยบายเศรษฐกิจก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายสิบปีในแผนพัฒนาของประเทศ เราจะพบได้อย่างว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลจะบอกได้เลยว่า เขาได้ลงทุนไปกับภาคการเกษตรตั้งเป็นพันเป็นหมื่นล้านด้วยซ้ำไป แต่เราจะพบได้อย่างว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเรา เป็นการพัฒนาที่ไม่เชื่อมโยงกับภาคการเกษตร
Dual trace เราใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ.2504 ไม่ใช่ของใหม่อะไร คือว่าอุตสาหกรรมก็ทำ เกษตรก็ทำ ส่งออกก็ทำ พัฒนาเกษตรก็ทำ แต่สองอย่างนี้ไม่สัมพันธ์กัน เราปลูกข้าวโพตแล้วเราก็เอาข้าวโพตไปขายเป็นเม็ดๆ ขายให้เขาไปเลี้ยงสัตว์ต่างประเทศ อันนี้เป็นตัวอย่าง คืออุตสาหกรรมของเราไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะใช้ข้าวโพตมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วขายออกไป คือมันจะแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด
คนที่อยู่ภาคการเกษตรก็จะขายสินค้าปฐมภูมิที่ตัวเองผลิตออกไปดิบๆ อุตสาหกรรมก็ไปสั่งวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาผลิต เสื้อผ้าเป็นต้น สั่งฝ้าย สั่งเส้นใยสังเคราะห์เข้ามา แล้วก็มาผลิตส่งออกไปอีก เป็น dual trace หรือเส้นขนานที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย
เพราะฉะนั้น ใครที่อยู่ในภาคไหน ต่างคนต่างก็ไม่ต้องมองเห็นกันและกัน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ไม่ต้องทะเลาะกันด้วย เพราะไม่ได้ซื้อของกัน คนซื้อไม่ได้อยู่ในประเทศ คนซื้ออยู่ต่างประเทศทั้งสิ้น เป็นต้น
แนวทางพัฒนาแบบนี้มันก็ทำให้สังคมแตกแยกออกจากกันค่อนข้างชัด ในขณะที่รัฐที่ผ่านมาหลายรัฐบาล ก็อย่างที่พูดกันอยู่แล้ว นโยบายสาธารณะจะเป็นเลี้ยงความเจริญเติบโตในด้านบริการและอุตสาหกรรมสูงมาก กฎหมายทั้งหลายที่ออกๆมาจะมองภาพของคนที่ทำงานและมีรายได้ประจำ คงจะเคยได้ยินใช่ไหมเกี่ยวกับนักสถิติที่ไปถามชาวนาว่า เดือนหนึ่งเองมีรายได้เท่าไหร่ ชาวนางงเป็นไก่ตาแตก กูไม่เคยนับเป็นเดือนเลย อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การวางแผนทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายสาธารณะ การจะไปทำสัญญากับต่างประเทศอะไร เรามองภาพของคนจากคนที่ทำงานและมีรายได้เป็นรายเดือน มีรายได้ประจำ ดังนั้น ทุกอย่างจึงเอียงหรือเบ้ไปในภาคอุตสาหกรรมและบริการของเมืองค่อนข้างมาก
ระบบการศึกษา ชนชั้นกลางที่ไม่รู้จักชาวนา ไม่รู้จักคนอื่นๆเลย ถามจริงๆ ในแง่หนึ่งน่าหมั่นไส้ก็จริง แต่ว่าก็น่าเห็นใจด้วย จะให้มันรู้จักได้อย่างไร ตั้งแต่เรียนหนังสือมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่มีใครพาเขาไปดูสิ่งเหล่านี้ ในแบบเรียนทั้งหมดไม่มีใครพูดถึงเกษตรกรไทยเอาเลยจริงๆ
คำว่า"เกษตรกรรายย่อย"ผมเข้าใจว่าไม่มีอยู่ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาเลย แต่เป็นสิ่งที่พวก NGO สร้างคำนี้ขึ้นมา เป็นต้น. ทั้งๆที่มีคนเหล่านี้ถึง 10 กว่าล้านคนถึง 20 กว่าล้านคนในประเทศ แต่คำๆนี้ไม่มีอยู่ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะฉะนั้น ตัวระบบการศึกษาทั้งหมดมันทำให้เราตาบอด คุณยิ่งเรียนหนังสือมาก คุณยิ่งตาบอดกับชนบท กับคนที่ผูกติดอยู่กับภาคการเกษตรในสังคมไทยมากขึ้นเท่านั้น
มาดูสื่อกับระบบการเรียนรู้ทั้งหมด ก็เหมือนกันอีก สื่อกับระบบการเรียนรู้ทั้งหมดก็ไม่ได้นำให้คนไปรู้จักกับสิ่งเหล่านี้ คนชั้นกลางเวลาพูดถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม นโยบายนิเวศวิทยาทั้งหลายต่างๆเหล่านี้ จะพูดถึงว่า เออ! เก็บป่าเอาไว้ให้ลูกหลานดู ไม่ได้คิดว่าคุณยายที่อยู่กับป่าเวลานี้กำลังจะอดตาย ในขณะที่ชาวบ้านกำลังคิดถึงคุณยายที่แก่แล้ว ซึ่งต้องใช้ป่าในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่คนที่มีการศึกษาคิดว่า ป่านี้ต้องเก็บเอาไว้ เพื่อว่ามันจะได้ทำน้ำให้เรา และท้ายที่สุดก็คือ เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานดู คือมันห่วงลูกหลาน มันไม่ได้ห่วงคุณยายที่มีลมหายใจอยู่แผ่วๆ อันนี้เป็นวิธีการมองโลกที่ไม่เหมือนกัน
แล้วถามว่า สื่อแก้ไขสิ่งเหล่านี้หรือไม่? คำตอบคือ"ไม่". สื่อก็เหมือนกัน รายการโทรทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหลายส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมด ก็จะพูดถึงเรื่องเก็บป่าเอาไว้ให้ลูกหลานดู เก็บเสือเอาไว้ให้ลูกหลานดู เก็บไอ้นั่นเอาไว้ให้ลูกหลานดู ตลอดเวลา
ระบบการเรียนรู้ทั้งหมดของสังคมจึงถูกเบ้ไปในทางที่ไม่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น เกิดสำนึกทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกันมากระหว่างคนที่ยังผูกติดอยู่กับภาคการเกษตร กับคนที่ก้าวเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการเต็มตัวในเมือง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของกันและกันโดยสิ้นเชิง
ในขณะที่ผลประโยชน์ของคนในเมืองจะถูกถือว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติเสมอ แล้วมองอะไรที่อยู่ในวิถีชีวิตชนบท คุณค่าของมันถูกตีค่าเป็นมูลค่า ถูกตีค่าเป็นเงิน เช่นวิถีชีวิตเหล่านั้นมีคุณค่าสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยว ฝรั่งมันจะได้ดูอะไรแปลกๆมั่ง หลังจากที่มันดูตึกละฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งเหมือนกับเมืองมันจนน่าเบื่อแล้ว
และในขณะเดียวกัน คนในภาคการเกษตรเอง ถ้าดัดจริตไปเรียนหนังสือมากเข้าก็จะดูถูกวิถีชีวิตตัวเองด้วย เพราะเห็นว่า วิถีชีวิตตัวเองเป็นวิถีชีวิตที่ไม่พัฒนา ที่ไม่ก้าวหน้า ที่ไม่เจริญ ไม่ช่วยชาติ มัวแต่ทำนาปลูกข้าวกินอยู่ได้อย่างไร ชาติกำลังจะพินาศแล้ว เองทำไมไม่ช่วยชาติ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนในภาคการเกษตรมีผลประโยชน์ที่จะปกป้อง เขาก็จะถูกคนอื่นมองว่า เขากำลังปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะว่าผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาไม่เคยถูกนำไปผูกติดกับผลประโยชน์ของชาติเลย เช่นตัวอย่าง เรื่องคนปากมูล คนปากมูลกำลังพยายามปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นของเขา ก็คือแม่น้ำที่เปิดกว้าง แม่น้ำที่ไม่ถูกพันธนาการ เพื่อเขาจะได้มีปลา
คนกรุงเทพจะมองว่า อ้าว! มึงจะกินปลานี่หว่า ทำไมมึงไม่ไปทำงานแล้วไปหาซื้อปลากินล่ะ ปลาก็เป็นผลประโยชน์ของมึงคนเดียว ขณะที่ไฟฟ้าเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และปลาเป็นผลประโยชน์ของคนปากมูล
ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนั้น ปลาไม่ได้เป็นอาหารสำหรับคนที่ไปจับปลาแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันก่อให้เกิดเศรษฐกิจปลา ที่กิน ที่ครอบคลุมจำนวนคนกว้างขวางกว่าคนที่ไปลงมือจับปลามากมาย จะพบไปถึงพ่อค้าแม่ขายที่อยู่แถวพิบูลมังสาหาร เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจปลาอันนี้ ซึ่งกว้างขวางมาก ไม่ว่าจะทำให้ขายของกันได้มากขึ้น เด็กจะมีเงินไปโรงเรียน ซื้อขนม ไอติม หรือขนมก๊อปแก๊ปที่คนกรุงเทพผลิตได้มากขึ้น และอื่นๆเหล่านี้ จะไม่ถูกคำนึงถึงเลย
ในขณะที่ไฟฟ้าบ้าๆจากเขื่อนปากมูล ซึ่งปีหนึ่งผลิตได้เพียงไม่กี่เมกกะวัตต์ เอาไปเปิดโรงงาน สร้างแรงงานได้ไม่กี่คน คุณสามารถจ้างงานได้ไม่กี่คน คุณสามารถอ้างได้เลยว่า ไอ้นี่คือผลประโยชน์ส่วนรวม แต่เศรษฐกิจปลาที่ครอบคลุมชีวิตคนเป็นหมื่นเป็นแสน ไม่สามารถจะอ้างได้ว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม กลายเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของคนปากมูล
นี่เป็นวิธีการพลิกวิธีมอง ซึ่งเกิดจากระบบการศึกษา เกิดจากสื่อ เกิดจากสิ่งต่างๆที่ผมได้พูดถึงไปแล้วสักครู่นี้ ที่ทำให้สังคมแยกขาดออกจากกัน แล้วลองหลับตาคิดว่า ถ้าเราเป็นคนปากมูลเราจะทำอย่างไรต่อไป ผมถึงบอกว่ามันน่าวิตกถึงการที่สังคมเรากำลังก้าวเข้าไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
อันที่จริง คนชั้นกลางมีความอ่อนแอทางสังคม ในทัศนะผมคิดว่า มีความอ่อนแอทางสังคมยิ่งกว่าชาวบ้านด้วยซ้ำไป เพราะเหตุผลที่ว่าชนชั้นกลางมองตัวเองเป็นปัจเจกแต่เพียงอย่างเดียว และคนชั้นกลางแทบจะไม่มีฐานอะไรอยู่เลย ชาวบ้านนั้นพอจะมีฐานบางอย่างอยู่บ้าง แต่ชนชั้นกลางไม่มีฐานของการจัดองค์กร หรือไม่มีฐานของการรวมกลุ่มซึ่งมีการจัดองค์กรภายใน เพราะฉะนั้น คนชั้นกลางจึงถูกรังแกมากพอสมควร
ไปดูบ้านจัดสรร เขารังแกคนชั้นกลางโดยนายทุนธุรกิจที่สร้างบ้านจัดสรร อันนี้ก็รังแกชนชั้นกลาง เทศบาลอยากจะเอาขยะไปทิ้งที่ไหนตามเมืองต่างๆ ก็เอาไปทิ้ง คนชั้นกลางตลอดชีวิตเก็บเงินซื้อที่ได้ 25 ตารางวา อยู่ในทาวน์เฮาส์ อ้าว! มีคนเอาขยะมาทิ้งหลังบ้าน ก็ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร ไม่รู้ว่าจะไปสู้กับใคร ทำอะไรไม่ได้ ในแง่นี้ชนชั้นกลางอ่อนแอกว่า
เพราะเหตุผลที่ว่า เครือข่ายของชนชั้นกลางแคบมาก เวลานี้เผื่อว่าเป็นคนชั้นกลางกรุงเทพ มันยังไม่นับญาติด้วยซ้ำไป ถ้าขืนนับญาติมันจะต้องเดินทาง 25 กิโลเมตรไปเยี่ยมญาติ ซึ่งมันไกลมากในกรุงเทพ เพราะรถมันติดตลอดทาง เพราะฉะนั้นเลิก ไม่ต้องเป็นญาติกันดีกว่า และเครือข่ายทางสังคมก็แคบมากอยู่แล้ว
ในทางตรงกันข้าม คนชั้นกลางเข้มแข็งในทางการเมืองค่อนข้างมาก เพราะชนชั้นกลางเป็นผู้ซื้อสื่อ ไม่ว่าสื่อโทรทัศน์หรือสื่ออะไรก็แล้วแต่ เวลาสื่อโทรทัศน์ตอนมันลงโฆษณา มันไม่คิดหรอกว่าคนปากมูลจะซื้ออะไรจากมันเท่าไหร่ แต่มันคิดว่า ไอ้เครื่องซักผ้า น้ำยาอะไรที่มันทาผิวแล้วขาวขึ้น ของพวกนี้ไม่คิดที่จะขายคนปากมูล เพราะฉะนั้นมันก็ขายคนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองนั่นแหละ คนชั้นกลางจึงคุมสื่อโดยทางอ้อม และคุมอย่างค่อนข้างเด็ดขาดด้วย
เราแทบจะพูดได้เลยว่า เราพลิกสื่อไปเลย โฆษณาต่างๆในสื่อเขาไม่ได้มองคนปากมูลเป็นลูกค้าเขาเลย ไม่ว่าทีวี ไม่ว่าหนังสือพิมพ์อะไรก็แล้วแต่ มันคุมสื่อได้มันจึงเข้มแข็ง
ในทางการเมือง เมื่อคุมสื่อได้ คุณก็คุมรัฐได้ คนสีลมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล คุณชวลิตลาออกเลย ไอ้คนปากมูลมาล้อมทำเนียบตั้ง 90 วัน รัฐบาลยังไม่ออกเลย แต่ไอ้พวกนั่นเดินขบวนทีเดียวออกเลย อันนี้สะท้อนให้เห็นว่า "อำนาจทางการเมืองสูง อำนาจทางสังคมต่ำมาก"
ผมขอหยุดเพียงเท่านี้ก่อน ในส่วนของรัฐทำอะไรได้บ้าง องค์กรภาคประชาชนทำอะไรได้บ้างนั้น ผมจะรอเอาไว้ข้างหน้า
(สำหรับผู้สนใจ สามารถอ่านต่อได้ในบทความถัดไป - บรรยายโดย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์)
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com