บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 345 หัวเรื่อง
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
นิธิ เอียวศรีวงศ์
: นักวิชาการอิสระ
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์: ตัวแทน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
(บทความนี้ยาวประมาณ
23 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
บทความเกี่ยวกับนิติ-รัฐศาสตร์
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
: บรรยาย
บทความนี้ยาวประมาณ
23 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 21 มกราคม 2547
คำบรรยายในโครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง
"รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน"
วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2546 ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
บทบรรยายนี้
ต่อจากบทความลำดับที่ 344 ในหัวข้อเดียวกัน
สนใจคลิกไปอ่านได้จากที่นี่
สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ทั้งสองคนได้ชี้ให้เห็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทยที่ติดอยู่ในหล่มโคลนกันพอสมควร ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคสังคม ทีนี้ประเด็นคำถามหนึ่งที่สำคัญซึ่งคิดว่าจะต้องไตร่ตรองก็คือว่า ในท่ามกลางความล้มเหลวหากสามารถจะกล่าวได้เช่นนั้น รัฐและประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งคุณวนิดาก็ได้พูดถึงประเด็นนี้ไปบางส่วน และต่อไปผมขอเรียนเชิญอาจารย์นิธิ พูดในประเด็นนี้เพิ่มเติม หลังจากนั้นถ้าคุณวนิดามีอะไรเพิ่มเติมก็ขอเรียนเชิญด้วยครับ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมจะใช้เวลาที่เหลือนี้เพื่อตอบว่า รัฐทำอะไรได้บ้าง สังคมทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในภาคสังคมทำอะไรได้บ้าง ผมคงจะชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่เกิดขึ้นในช่วงสังคมสมัยใหม่ มีอะไรที่น่าจับตาดูแล้วมีความอ่อนแออยู่ตรงไหน และบกพร่องตรงไหนที่ทำให้มันขยับเขยื้อนแก้ปัญหาอันนี้ไม่ได้ แล้วก็มาดูอันสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้น สังคมจะหาทางออกอย่างไร?
ขอเริ่มที่ รัฐทำอะไรได้บ้าง? อันนี้ตอบได้ง่ายมาก คือถ้าเราดูจากสภาพการเมืองซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน ดูจากอคติของรัฐธรรมนูญก็ตาม เราจะพบได้อย่างหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญเอียงเข้าข้างเมือง ซึ่งประเด็นนี้อาจารย์เกษียร พูดเอาไว้ชัดเจนตอนพูดเรื่องพรรคการเมืองกับรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้มันยังเอียงเข้าข้างเงินด้วย ในขณะเดียวกันมันก็เอียงเข้าข้างชนชั้นกลางที่มีการศึกษาด้วย อย่างเช่นที่คุณวนิดาพูดถึงว่า ไม่จบปริญญาตรีสมัคร สส.ไม่ได้ เริ่มต้นก็คือ กันคนที่ไม่จบปริญญาตรีให้ออกไปจากเวทีกลางทางการเมืองตั้งแต่ต้นเลย
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผมเชื่อว่า รัฐซึ่งไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลชุดนี้ แต่หมายถึงรัฐไทยเราทั้งหมดคงไม่ทำอะไร ถามว่าทำอะไรได้ไหม? ตอบว่าทำได้แยะ แต่คงไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะว่ารัฐไทยไม่ต้องการจะไปเพิ่มอำนาจของกลุ่มคนที่เขาตั้งใจจะกันเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะเลือกพรรคใดก็แล้วแต่ ผมไม่เชื่อว่าพรรคซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ ดังนั้น รัฐคงไม่ทำอะไร
จริงๆแล้ว รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐทำอะไรเอาไว้ตั้งมากมายหลายอย่าง แล้วก็ไม่ได้ทำ อย่างที่คุณวนิดาพูด เลือกทำเฉพาะส่วนที่ตัวจะได้ประโยชน์ โดยไม่มีใครท้วงติงอะไรด้วย เช่นเป็นต้นว่า รัฐธรรมนูญพูดชัดเจน รัฐจะต้องกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ทุกคนก็ลืมไปเลย โดยเฉพาะตัวรัฐเองลืมไปเลยว่า รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
เราผ่านมา 6 ปี ยังไม่มีการแก้กฎหมายภาษีสักฉบับเดียว ทั้งๆที่ทุกคนก็รู้อยู่ว่า กฎหมายภาษีเป็นกฎหมายซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ก็ไม่มีการแก้กฎหมายภาษีสักอย่างเดียว ไม่มีการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ก็ยังคงมีการนำเอาที่ดินสาธารณะ พูดง่ายๆก็คือเอาที่ดิน สปก. เที่ยวแจกคนจน เพื่อไม่ให้มันเดินขบวนต่อไป แล้วคนรวยก็ไปแย่งเอาที่ สปก. ของคนจน ยิ่งแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ก็ยิ่งมีโอกาสในการที่จะเข้าไปใช้ที่ดินเหล่านั้นในราคาถูกได้ง่ายขึ้นไปอีก
ฉะนั้นผมคิดว่าทางออกหรือวิธีการจะแก้ปัญหาซึ่งเป็นอยู่ในเวลานี้ คิดว่าไม่มีทางจะหวังพึ่งรัฐ ต้องหันกลับมาดูตัวสังคมเองว่า ตัวสังคมเองจะทำอย่างไรให้ตัวเราเองมีสำนึกเพิ่มมากขึ้น มีความสามารถในการจัดองค์กรภาคประชาชนได้เข้มแข็งขึ้น พอที่จะเข้าไปทำหน้าที่หรือมีบทบาทตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด พอที่จะไปต่อรอง พอที่จะไปดึงให้รัฐทำ
คือรัฐจะทำก็ต่อเมื่อมันโดนบีบ ถ้าไม่โดนบีบก็ไม่มีวันที่จะทำสิ่งเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นคำตอบของผมก็คือว่า ต้องหันมาดูภาคสังคม ฉะนั้นจึงขอใช้เวลากลับมาวิเคราะห์ว่า แล้วภาคสังคมมีกึ๋นอะไรเหลืออยู่บ้าง
อันแรกสุดที่จะพูด
ซึ่งซ้ำกับคุณวนิดาพูดก็คือว่า พวกกลุ่ม NGO
ผมคิดว่า NGO เวลานี้มีปัญหา
อันนี้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ทีเดียวค่อนข้างจะขาดฐานประชาชน คือถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติ
NGO ในระยะแรกๆ เริ่มต้นจากฐานประชาชนค่อนข้างมาก คือได้เข้าไปทำงานในชนบท เข้าไปทำงานในหมู่บ้านและในที่ต่างๆ
และมีฐานประชาชนอยู่ค่อนข้างกว้างขวางพอสมควร แต่พัฒนาการของ NGO เองในเวลาต่อมา
จะด้วยเหตุผลใดไม่พูดถึง ฐานอันนั้นกลับค่อยๆเล็กลง แทนที่มันจะกว้างใหญ่ขึ้น
กลับแคบลง หรือมิฉะนั้นก็เท่าเก่า ดังนั้นจึงขาดฐานประชาชน
คงจำได้ว่า พรรคการเมืองหลายพรรคด้วยกัน รวมทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ NGO มีบทบาทมากในการดึงประชาชน ผมอยู่บ้านนอกได้เห็นเลยว่า NGO ไปดึงประชาชนเข้ามาร่วมประท้วงรัฐบาลชุดนั้นมหึมา ไม่ใช่เฉพาะคนที่มองเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นเรื่องของคนชั้นกลางเพียงอย่างเดียว แต่มีชาวบ้านเข้ามาร่วมสนับสนุนแยะมาก การเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญก็ตาม ตลอดจนพรรคการเมืองเข้าไป รวมทั้งพรรคการเมืองซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่เวลานี้ด้วย ได้พยายามเข้าไปเชื่อมต่อกับ NGO ด้วยความหวังที่จะดึงเอาคะแนนประชาชนมาเทให้ในการเลือกตั้ง แต่ผมคิดว่าในปัจจุบัน NGO หมดพลังนั้นเสียแล้ว ไม่สามารถที่จะไปทำอย่างที่เคยทำมาแล้วได้ เพราะว่าฐานประชาชนแคบลง
ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับคนกลุ่มอื่นๆได้ด้วย คนกลุ่มอื่นๆคือคนกลุ่มที่ NGO ไม่ได้ไปสัมผัสด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทหรืออยู่ในเมือง ที่อยู่ในเมืองเห็นได้ชัดเจนด้วยเหตุผลซึ่งจะไม่พูดถึงในที่นี้ ที่ทำให้ NGO ไทยไม่ได้ทำงานในเมือง หรือทำงานในเมืองน้อยมากๆ
จริงๆองค์กรที่เกิดขึ้นในเมือง เช่น องค์กรสลัม องค์กรอะไรต่างๆนาๆเหล่านี้ เป็นองค์กรภาคประชาชนมากกว่า NGO เขาทำของเขาเองมากกว่า เขาจัดการองค์กรของเขาเองมากกว่า แต่ NGO เข้าไปสัมผัส มีเหมือนกันแต่ไม่ค่อยมาก ฉะนั้น NGO จะหวังความเข้าใจกับคนชั้นกลางจึงยากมาก
คนชั้นกลางที่เคยเห็นหน้า NGO จริงๆและตัวเป็นๆอาจจะไม่ค่อยมีนะครับ เพราะฉะนั้น บอกว่าพวกนี้เป็นมนุษย์ต่างดาวมาจากไหน เชื่อเลย, รับเงินต่างชาติ ใช่เลย, พวกนี้มันน้องๆคอมมิวนิสต์นั่นแหละ คบไม่ได้. อันนี้ไม่รู้จักด้วยซ้ำไป
เมื่อครั้งที่เราต่อต้านคอมมิวนิสต์กันอย่างหนัก ผมจำได้ว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ได้มีโอกาสคุยกับคนรัสเซีย และกลับมาบอกผมว่า เฮ้ย! มันก็เหมือนเรานั่นแหละ มันก็เป็นคนอย่างเรานั่นแหละ อันนี้เป็นต้น. ผมคิดว่า NGO ก็แบบๆเดียวกันนี้ คือแบบพวกรัสเซีย ไม่เคยมีใครจับตัวหรือจับต้องมันมาก่อน
ฉะนั้น NGO จึงกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในสังคมไทยค่อนข้างมาก คุณจะขัดแย้งอะไร คุณโทษ NGO เอาไว้ก่อน แล้วคุณก็รอดตัว เพราะไม่มีใครรู้จักมัน สมัยหนึ่งเราโทษคอมมิวนิสต์แบบเดียวกัน
อีกกลุ่มหนึ่ง
คือคนชั้นกลางในเมือง
กลุ่มคนชั้นกลางในเมืองซึ่งผมได้พูดถึงไปแล้วเมื่อสักครู่นี้ มันอ่อนแอตรงที่ไม่มีเครือข่ายทางสังคม
ไม่เคยมีประสบการณ์การจัดองค์กรทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันมันเข้มแข็งทางการเมือง
แต่เนื่องจากว่ามันมีสำนึกทางสังคมและทางการเมืองที่เปราะบางมาก คือมันไม่ได้ฝังลึกลงไปในประเด็นปัญหาใดประเด็นปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ
เมื่อมันขาดเครือข่ายทางสังคม คุณก็มองเห็นปัญหาเฉพาะที่มันมากระทบกับตัวคุณ
แต่มองไม่เห็นปัญหาในวงกว้าง
ดูทีวีก็ไม่เห็น ก็เพราะทีวีก็ไม่ได้เสนอสิ่งเหล่านี้ อ่านหนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยเห็นอะไรต่างๆเหล่านี้ ผลก็คือว่า ผันผวนง่ายมาก คนชั้นกลางในกรุงเทพฯหรือในเมืองใหญ่ๆทั้งหลายผันผวนง่ายมาก อย่างที่คุณวนิดาพูดถึงว่า คนชั้นกลางลืมประชาธิปไตยไปแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วคนชั้นกลางก็มีส่วนในการต่อสู้เพื่อจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหวังพึ่งอะไรในตอนนี้ค่อนข้างยาก ไม่ว่าเป็นเรื่องของการเมืองหรือเป็นเรื่องของสังคมก็ตาม
องค์กรอันหนึ่งซึ่งเขาคิดกันตอนสร้างรัฐธรรมนูญก็คือ องค์กรอิสระว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค คือคุณจะคุ้มครองผู้บริโภคได้ คุณจะไปฝังไว้กับสำนักนายกฯ มันเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นองค์กรอิสระถูกไหมครับ อันนี้ก็จะกระทบกับคนชั้นกลางค่อนข้างมาก แต่ว่ามันก็ยังไม่เกิด จนบัดนี้มันก็ยังไม่เกิด
คือทำอย่างไรจะทำให้คนชั้นกลางเข้ามารู้จัก มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวในสิ่งต่างเหล่านี้ แม้แต่การเริ่มต้นจากการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ก็ยังดี. แต่ว่าอันนี้มันก็ไม่เกิด จึงทำให้คนชั้นกลางมีสำนึกทางการเมืองและสังคมที่เปราะบาง และผันผวนได้ง่าย
มีอีกข้อหนึ่งซึ่งผมสงสัย ยังไม่แน่ใจก็คือว่า จริงๆแล้วคนชั้นกลางไทยนั้นเป็นคนจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกันคนในสังคมไทยทั้งหมด เป็นคนจำนวนน้อยมาก และลึกๆลงไปผมสงสัยว่า คนชั้นกลางจะมีสำนึกว่าตัวเป็นคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบ ฉะนั้นสะดุ้งง่ายนะครับ ใครจะเปลี่ยนอะไรแรงๆ กูสะดุ้งแล้ว
อย่าลืมนะครับว่า สมมุติคุณเป็นคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในสังคมใดก็แล้วแต่ คุณก็รู้สึกว่า เอาเปลี่ยนได้ก็ดี เปลี่ยนนี่ก็ดี แต่ว่าถ้าเปลี่ยนแรงๆเดี๋ยวมันกระทบผลประโยชน์ของกู อันนี้จะจริงหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ แต่ผมค่อนข้างจะสงสัยอยู่ว่า คนชั้นกลางไทยมีสำนึกลึกๆอยู่ว่า กูเป็นอภิสิทธิ์ชน พูดง่ายๆอย่างนั้นก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นก็ระแวงหรือไม่ค่อยไว้วางใจกับอะไรก็แล้วแต่ ที่มันเป็นความเปลี่ยนแปลงแรงๆใหญ่ๆ
มองภาพสมัชชาคนจนมานั่งอยู่หน้าทำเนียบว่า เกิดมากูไม่เคยเห็นเลยที่คนแต่งตัวเหมือนผ้าขี้ริ้ว แล้วมาต่อรองกับรัฐบาลได้เท่ากันกับที่กูเคยต่อรอง กูเองไม่กล้าต่อรองแบบนี้ด้วยซ้ำไป กูต้องต่อรองผ่านสื่อ กูต้องต่อรองผ่านอื่นๆ ไอ้พวกนี้กลับไปต่อรองกับรัฐบาลได้เท่าๆกัน แสดงว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง หรือว่าถ้าปล่อยไป อภิสิทธิ์ที่กูได้อยู่จะหายไปหรือเปล่า มีความกลัวลึกๆอันนี้อยู่หรือเปล่า ผมสงสัยอยู่
แรงงานภาคอุตสาหกรรม
อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากก็คือ แรงงานภาคอุตสาหกรรม
นักวิชาการบางท่านยืนยันว่ามีมากกว่าเกษตรกรด้วยซ้ำไป มากน้อยเอาไว้ก่อน แต่มันกลุ่มใหญ่เอามากๆ
อย่างไรก็ตาม แรงงานภาคอุตสาหกรรมของเราขาดการจัดองค์กรที่เข้มแข็ง เรามีสหภาพ, สหพันธ์กรรมกรอะไรเยอะแยะไปหมด แต่ว่าเอาเข้าจริงแล้วไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่า หรือไม่มีพลังมากไปกว่าการจัดงานวันกรรมกรหรือวันแรงงานวันที่ 1 พฤษภาคมทุกปีที่ท้องสนามหลวง และบังคับให้นายกรัฐมนตรีขึ้นมาพูดอะไรนิดๆหน่อยๆแล้วกลับไปตีกอล์ฟต่อ ทุกๆปีทำอย่างเดียวกัน และมันทำอย่างอื่นไม่ได้มากไปกว่านี้
มีคนเคยอธิบายเมื่อสักสิบว่าปีมาแล้วว่า แรงงานภาคอุตสาหกรรมของไทยมันไม่ก่อตัวออกมาเป็นชนชั้น มันไม่มีความสำนึกของชนชั้น เหตุผลเพราะว่าแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทย ยังไม่ตัดขาดจากภาคเกษตรกรที่บ้าน เช่น คุณมาทำงานขับแท็กซี่ที่บ้าน ส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ที่บ้าน ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม คุณยังส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ที่บ้าน เอาไปลงทุนในภาคการเกษตรที่อยู่ที่บ้าน มันจึงยังไม่ขาดจากภาคการเกษตร
มีงานวิจัยบางชิ้นที่น่าสนใจ ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานทอผ้า มาทำงานทอผ้าในกรุงเทพฯเป็นเวลา 16 ปี ถามว่า วันหนึ่งในชีวิตข้างหน้า หลังจากที่เธอทอผ้าจนอายุมากแล้ว เธออยากจะทำอะไร? เธอบอกว่า เธออยากจะเก็บเงินแล้วก็กลับบ้านเพื่อไปเปิดร้านขายของชำ ตอนนั้นยังไม่มีแม็คโคร, โลตัส, บางคนก็บอกว่าอยากจะเก็บเงินเพื่อกลับไปซื้อจักรเย็บผ้าในหมู่บ้าน
จริงๆ 16 ปีมันทำให้คนขาดแล้วแน่นอน แต่ว่าในจินตนาการยังอยู่ในชนบทอยู่ ฉะนั้นสำนึกของชนชั้นแรงงานด้วยกัน อยู่ในโรงงานทอผ้าด้วยกัน มันไม่เกิดเพราะทุกคนต่างมีสายสัมพันธ์ที่จะแยกย้ายจากกันไปสู่ชนบทหมด ปัจจุบันนี้ยังเป็นอยู่หรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ เพราะเท่าที่เข้าใจ ไม่มีงานศึกษาต่อเนื่องแบบนี้
อย่างไรก็แล้วแต่ มันทำให้ง่ายต่อการที่ ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง จะเป็นรัฐ หรือไม่ว่าจะเป็นผู้นำสหภาพเองที่จะชักใยกรรมกร เพราะว่ากรรมกรขาดสำนึกอย่างนี้เพียงพอ ดังนั้นก็เป็นกลุ่มที่ผมคิดว่า แต่มันจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนานไหม อันนี้ไม่ทราบ แต่คิดว่านี่เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองว่า ในภายหน้ามันอาจจะเปลี่ยน อาจจะกลายเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีพลังมากขึ้น
อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักวิชาการ
จริงๆแล้วผมคิดว่ากลุ่มนักวิชาการ ถ้าแบ่งจริงๆผมอยากจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ
1. กลุ่มพวกเทคโนแครต
2. กลุ่มที่ผมเรียกว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะ
แต่จริงๆแล้วการแบ่งแบบนี้ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่นัก
กลุ่มเทคโนแครต คือกลุ่มที่ทำงานกับกรม กอง ราชการต่างๆเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กลุ่มปัญญาชนสาธารณะ มักจะสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัย ผมแบ่งทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันด้วยวิธีไหน? ผมแบ่งโดยตามใจตัวเอง ซึ่งไม่ตรงกับนักวิชาการอื่นหลายคนด้วยกัน เพราะผมแบ่งว่าเทคโนแครตมีความอิสระน้อยกว่า ในขณะที่ปัญญาชนสาธารณะ(public intellectual)มีความเป็นอิสระมากกว่า
ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับของอาจารย์อัมมาร์ อาจารย์อัมมาร์มองว่าคนอย่างอาจารย์ป๋วย เป็นเทคโนแครตคนท้ายๆของสังคมไทย และทำไม่ถึงเป็นอย่างนั้น นอกจากอาจารย์ป๋วยมีกึ๋นแล้ว อาจารย์ป๋วยมีความเป็นอิสระด้วย ทั้งๆที่อาจารย์ป๋วยไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะในระยะหนึ่งท่านทำงานอยู่ที่ธนาคารชาติ อยู่สภาพัฒน์ฯ อะไรต่างๆนาๆเหล่านี้ แต่ท่านมีความเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่เทคโนแครตจะต้องไม่อิสระ แต่ผมขอแบ่งเรื่องของความเป็นอิสระอย่างนี้ก็แล้วกัน
ส่วนใหญ่ของนักวิชาการไม่ว่าจะเป็นอิสระหรือไม่เป็นอิสระก็แล้วแต่ มันจะทำงานเฉพาะด้านแคบๆของตัว แม้แต่นักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็จะทำงานแคบๆของตัวเอง มากกว่าที่จะทำงานที่สามารถมองอะไรกว้างๆ เพื่อจะสามารถทำให้ตัวเป็นปัญญาชนสาธารณะได้ และด้วยเหตุดังนั้นก็จะมีกระบวนทัศน์ มีวิธีคิดของตัวเองในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ในทางสังคม ตามกระแสหลัก
โดยส่วนใหญ่ของนักวิชาการ ไม่ว่าจะอยู่ตามมหาวิทยาลัยหรือจะอยู่สังกัดหน่วยงานกรม กอง ราชการต่างๆ จริงๆแล้ว คิดอะไรในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตามกระแสหลัก โดยไม่ได้คัดค้านหรือเบี่ยงเบนจากกระแสหลัก ไอ้ที่เบี่ยงเบนนั้น มันเป็นพวกร้องแรกแหกกระเฌออยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่มันก็อยู่กับกระแสหลักนั่นแหละ ไม่ได้แตกต่างอะไร
เพราะฉะนั้นเวลาเขาบอกว่าให้มหาวิทยาลัยหาเงินเอง ก็เปิดปริญญาโท ซึ่งอันนี้จะโทษแต่มหาวิทยาธรรมศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกมหาวิทยาลัยก็เป็นแบบนี้ เสาร์อาทิตย์ไม่มีที่จอดรถหมด เพราะมันจะขายปริญญาโทกันทั้งนั้น ก็คิดอย่างเดียวกัน ทำอย่างเดียวกัน และอ้างอย่างเดียวกัน คิดแต่ว่าจะผลิตกำลังคนที่มีทักษะชั้นสูง เพื่อไปป้อนให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่ตัวเองก็ไม่เคยมองเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม ก็คิดว่ามันก็ดีแล้ว และก็เป็นไปอย่างนี้ อันนี้นี่คือนักวิชาการเป็นส่วนใหญ่
ส่วนพวกที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและค่อนข้างเป็นอิสระกว่า คือเข้าไปศึกษา เข้าไปเคลื่อนไหวร่วมกับสังคมในบางเรื่อง เช่น เคลื่อนไหวในเรื่องผู้หญิง เคลื่อนไหวในเรื่องแรงงาน เคลื่อนไหวในเรื่องเด็ก เคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อม เคลื่อนไหวในเรื่องสื่อต่างๆนาๆเหล่านี้ แต่จริงๆแล้วมีอยู่ไม่ค่อยมากเท่าไรนัก จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของนักวิชาการทั้งหมดของประเทศ ผมคิดว่าอาจจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ คือผมนับนักวิชาการที่อยู่ในกรมปศุสัตว์ ในกรมต่างๆเหล่านี้ถือว่าเป็นนักวิชาการด้วยนะครับ ถ้านับทั้งหมดแล้ว จริงๆไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
เพราะฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเทคโนแครต คือกลุ่มนักวิชาการอยู่ในสังกัดกรม กอง ต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนหนังสือเฉพาะด้านต่างๆแล้ว เราก็จะพบได้ว่า มีพลังไม่สู้จะมากเท่าไหร่นัก และร้ายไปกว่านั้นก็คือว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้หรือกลุ่มที่เป็นอิสระ จริงๆแล้วมีทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของตนเอง ก็ไม่มากเท่าไหร่ด้วย
อันนี้ผมก็ไม่ได้โทษนักวิชาการเหล่านี้ เพราะว่าระบบการศึกษาของเรามันเอียง หรือมันพยายามที่จะเบนให้เราสนใจที่จะเดินตามประเทศที่พัฒนา เสียจนกระทั่งที่เราไม่หันมาสนใจศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ไม่ได้ศึกษาที่จะสร้างทางเลือกที่แตกต่างสำหรับสังคมไทย เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติเช่นนี้ นักวิชาการก็แน่นอน ย่อมจะตามศึกษากับกระแสหลักมากกว่าที่จะมาหากระแสทางเลือก
ฉะนั้น กลุ่มที่เคลื่อนไหวเหล่านี้ พูดตรงๆก็ค่อนข้างจะกลวงอยู่ เพราะไม่มีเนื้อหาทางวิชาการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของตัวเองมากนัก จึงไม่มีพลังพอที่จะสนับสนุนจินตนากรรมใหม่ๆขึ้นมาได้
ผมขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็ได้ เช่น เมื่อตอนที่เรากำลังให้ความสำคัญ หรือตื่นตัวอย่างมากเกี่ยวกับช่วงตอนที่มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงออกมา
พอมีเรื่องนี้ออกมา ถามว่ามันมีงานวิชาการตามเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไหม? มีนักวิชาการที่เห็นด้วยในเรื่องนี้แยะมาก ถามว่ามีงานวิชาการตามเรื่องนี้ไหม? ผมคิดว่า เท่าที่ผมเข้าใจแทบจะพูดได้ว่าไม่มีเลย เมื่อไม่มีเลยเศรษฐกิจพอเพียงก็เลยไม่สามารถที่จะมาเป็นฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้จริงๆ เพราะว่า เมื่อเทียบกับฉันทามติวอชิงตัน มันมีงานวิชาการและแผนปฏิบัติการเพรียบพร้อมมาก แต่พอมาดูฉันทามติรัตนโกสินทร์ ตายห่า! มันไม่มีอะไร?
คือในเรื่องนี้ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าคนเราจะคิดอะไรก็แล้วแต่ เราคิดคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันคิด เข้าใจไหม? เราเห็นด้วยในแนวทางนี้ เราก็ช่วยกันสร้างเพื่อทำให้เศรษฐกิจพอเพียง มันมีความหมายสำหรับเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ด้วย คุณเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งออก แต่ดำเนินงานแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำได้อย่างไร? อันนี้ต้องมีคำตอบสำหรับสังคมสมัยใหม่ ไม่เช่นนั้นมันจะเหลือแต่ว่า เป็นเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับปัจเจก คนบางคนซึ่งมีที่ดินของตัวเอง แล้วก็ไปทำเศรษฐกิจพอเพียง, โอเค! มันก็เป็นไปได้ แต่ไม่สามารถจะแปลงมันมาเป็นระบบเศรษฐกิจของทั้งสังคมได้
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับฉันทามติวอชิงตันแล้ว มันเทียบกันไม่ได้เลย
ทั้งหมดเหล่านี้ก็เพราะว่า มันไม่มีเนื้อหาทางวิชาการที่จะส่งเสริม ผลักดัน หรือสร้างจินตนากรรมใหม่ๆของสังคมที่จะเป็นทางเลือกได้
กลุ่มนักวิชาการเหล่านี้ เป็นกลุ่มซึ่งยึดพื้นที่ในสื่อได้มาก คือเมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ เราจะพบว่านักวิชาการกลุ่มนี้ สามารถยึดพื้นที่ในสื่อได้มาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกันกลุ่มนักวิชาการที่เป็นเทคโนแครต กับกลุ่มที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ ผมคิดว่ากลุ่มนักวิชาการเทคโนแครตยึดพื้นที่ได้มากกว่า เป็นแต่เพียงกลุ่มเทคโนแครตเขายึดพื้นที่ได้ แต่เขาไม่มีชื่อตัวของเขาออกมา
เขาแถลงข่าวในนามของกรมพาณิชย์ กรมการบินพลเรือนอะไรต่างๆ แถลงข่าวออกมา หนังสือพิมพ์ก็ลง และก็เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีชื่อตัวบุคคลอยู่ ในขณะที่อาจารย์ ก. อาจารย์ ข. ออกมาแถลงข่าว มีชื่ออาจารย์ ก. อาจารย์ ข. แต่เนื้อหาข่าวหรือพื้นที่ในสื่อที่เขายึดได้ น้อยกว่ากลุ่มนักวิชาการที่อยู่เบื้องหลังนโยบายกระแสหลัก อย่างชนิดที่เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
และในขณะเดียวกัน กลุ่มปัญญาชนสาธารณะ ผมคิดว่าไม่มีลูกค้าประจำของตัวเอง ในขณะที่อีกกลุ่มมีลูกค้าประจำของตัวเองเยอะแยะมาก เพราะฉะนั้นคนชั้นกลางซึ่งเป็นผู้รับสื่อจากกลุ่มปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้ จะรับเป็นเรื่องๆไป คือถ้าในช่วงของรัฐบาลชวลิต รัฐบาลบรรหาร รวมทั้งรัฐบาลชวน ที่เศรษฐกิจมันเป็นขาลง ถ้าคุณอยากแถลงข่าวเมื่อไหร่ ได้ลงเมื่อนั้น เพราะว่าคุณอัดกับรัฐบาลเมื่อไหร่ สื่อพร้อมลงทันที
แต่ช่วงนี้คุณลองแถลงอะไรก็แล้วแต่ จะหาสื่อมา บอกคุณได้เลยว่าไม่มี ไม่ลงให้ หรือไม่สนใจ อย่างนี้เป็นต้น ส่วนหนึ่งเพราะอย่างที่เราได้พูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่า(หมายถึงการเสวนาครั้งที่เกี่ยวกับ"สื่อกับรัฐธรรมนูญ") ถูกพรรคการเมืองบางพรรคยึดไปแล้วจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันผมคิดว่า ลูกค้าอย่างที่บอก ชนชั้นกลางมันผันผวนได้มากในเรื่องจุดยืนทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีลูกค้าประจำ จึงไม่ค่อยมีพลังของตนเองเท่าไหร่
ถ้าสักวันหนึ่งในภายหน้ามันมีโอกาสของการที่จะสร้างพลังทางวิชาการเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ก็จะมีพลัง แต่โอกาสอย่างนั้นถามว่าจะเกิดขึ้นได้ไหม? อันนี้ผมยังมองไม่เห็นว่า โอกาสของนักวิชาการที่จะพยายามเสนอทางเลือก เสนอจินตนากรรมใหม่ๆเหล่านี้จะสร้างเนื้อหาทางวิชาการขึ้นมาสนับสนุนได้มากนัก
กลุ่มองค์กรวิชาชีพ
มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจคือ ในกลุ่มนักวิชาการด้วยกัน มีกลุ่มนักวิชาการที่ไปสร้างสิ่งซึ่งผมเรียกว่า"องค์กรวิชาชีพ"ขึ้นมา
ซึ่งก็จะตกอยู่ในฐานะที่คล้ายๆกันกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ก็คือว่า
มีเนื้อหาทางวิชาการน้อย
มีองค์กรวิชาชีพอันหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจมากที่จะยกมาเป็นตัวอย่าง คือ แพทยสมาคม, กับแพทยสภา, ซึ่งก็เหมือนกันกับพวก medical board ในอเมริกา กลุ่มนี้เป็นกลุ่มซึ่งมีพลังในการกำหนดนโยบายสาธารณะสูงมาก
คงจำกันได้ว่า แพทยสมาคม, แพทยสภาต่างๆเหล่านี้ สมัยหนึ่งเป็นตัวบล็อกไม่ให้บางมหาวิทยาลัยเปิดให้มีการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ อันนี้เป็นเรื่องของการชักใยอยู่เบื้องหลังในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนเอง แต่ที่มันน่าสนใจมากคืออย่างนี้ ถามว่ากลุ่มเหล่านี้มีฐานในทางสังคมไหม? ผมคิดว่าไม่มี. เพราะว่ากลุ่มนี้ไม่เคยมีงานวิชาการ หรือไม่เคยมีการเคลื่อนไหวอะไรที่สังคมจะเฮเข้าไปร่วมด้วยสักเท่าไหร่นัก
ดังนั้นมันจึงมีความอ่อนแอในตัวมันเอง ทั้งๆที่มีอำนาจแต่ก็มีความอ่อนแอในตัวของมันเองอยู่ด้วย น่าสังเกตนะครับว่าเมื่อรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมา และเสนอนโยบาย 30 บาท มันมีการเคลื่อนไหวในหมู่แพทย์ที่พยายามจะต่อต้านโครงการ 30 บาท อยู่ประมาณซึ่งผมคิดว่าไม่เกิน 6 เดือน แล้วเงียบหายไป บัดนี้ทุกคนยอมรับหมดแล้ว
แสดงว่าองค์กรวิชาชีพต่างๆเหล่านี้เมื่อมาเผชิญหน้ากับพรรคการเมือง หรือนักการเมืองที่เขาสามารถจับประชาชนได้เมื่อไหร่ องค์กรเหล่านี้หมดอำนาจลงไปเลย ตรงกันข้ามองค์กรวิชาชีพอย่าง medical board ในอเมริกา มันก็เห็นแก่ตัว มันก็พยายามปกป้องผลประโยชน์ของตัวมันเหมือนกันกับอื่นๆ ขัดขวางนโยบายสาธารณะใดๆก็แล้วแต่ ที่มันคิดว่าจะทำร้ายประโยชน์ของตัวมันเอง แต่มันดึงประชาชนได้ด้วย เช่น
ความพยายามของคลินตันในการที่จะปฏิรูปสาธารณสุขของอเมริกา ซึ่งต้องประสบกับความล้มเหลว ส่วนหนึ่งของแรงต่อต้านสำคัญก็มาจากแพทยสมาคมของอเมริกันเอง ที่จะขัดขวางไม่ให้ทำ แต่มันไม่ได้ขัดขวางเฉยๆ ไม่ใช่บอกว่ากูเป็นหมอนะเว้ย! มึงต้องฟังกู ไม่ใช่! เพราะว่ามันมีฐานของประชาชนพอสมควร มันมีงานวิชาการและอื่นๆในการที่จะเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนต่อเนื่องกันมาเป็นสิบๆปี เพราะฉะนั้นเวลาที่มันพูด มันก็มีลูกค้าประจำของมันในการที่จะช่วยสนับสนุน
แต่ของเรานี่ นักวิชาการที่ไปสร้างองค์กรวิชาชีพ ผมคิดว่ามันไม่มี ขาดฐานอันนี้เหมือนกันกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีพลังทางการเมืองเท่าไรนัก ผมไม่ทราบว่า สมาคมทนายความ, สภาหนังสือพิมพ์นั่นไม่มีความหมายไปแล้ว เป็นต้น เหล่านี้จะมีบทบาทในภายหน้าอย่างไร แค่ไหน?
อีกกลุ่มหนึ่งก็คือองค์กรชาวบ้าน
องค์กรชาวบ้านนี้เกิดขึ้นมากพอสมควรในประเทศไทยเวลานี้ ซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในบางเรื่องก็มี
ส่วนที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแยะกว่า ออกมาเพื่อจะช่วยสร้างแนวป้องกันไฟป่า องค์กรชาวสลัม
และออกมาเพื่อจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เยอะแยะมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายไม่มีพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหว
ในขณะที่องค์กรชาวบ้านส่วนใหญ่ต่อต้านการพัฒนาแบบที่รัฐทำมาเป็นเวลาหลายๆสิบปีแล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวขององค์กรชาวบ้าน ซึ่งเมื่อไหร่ที่อยากจะเคลื่อนไหว จะเป็นความเคลื่อนไหวที่ปริ่มกฎหมายเสมอ
คงทราบใช่ไหมครับว่า รัฐบาลไล่สมัชชาคนจนไม่ให้สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะประท้วงโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เขาไล่ให้สมัชชาคนจนไปด้วยเทศบัญญัติความสะอาด คือมึงสกปรกกูเลยไล่มึงกลับไป คือไม่มีพื้นที่ทางกฎหมายที่องค์กรชาวบ้านจะเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมได้มากนัก และพวกนี้เข้าไม่ถึงสื่อ รวมทั้งอะไรอีกร้อยแปด
เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวของตัวทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากการประท้วง พอประท้วงมันก็ปริ่มกฎหมายเสมอๆ จะเคลื่อนเข้ามาในเมืองก็ยากมาก เพราะมันมีคนชั้นกลางที่ไม่เอาด้วย อย่างที่คุณวนิดาพูด หุ้นกำลังขึ้นมึงเข้ามาทำไมวะ ดังนั้นเข้ามาในเมืองก็ยากมาก อันนี้ทำให้เขาไม่สามารถเสนอนโยบายสาธารณะได้ หรือเข้าไปมีส่วนในการสร้างนโยบายสาธารณะได้ง่ายนัก
ตรงนี้ ขณะที่องค์กรชาวบ้านก็เกิดมากขึ้นตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างเฉพาะตัวของเขาอยู่เวลานี้ ไปในภายหน้ามันจะเกิดเครือข่ายองค์กรชาวบ้านมากขึ้นไหม? เครือข่ายก็มีการสร้างกันมากขึ้น สมัชชาคนจนก็เป็นเครือข่ายอันหนึ่งที่กว้างขวางและใหญ่ๆมากๆ, สกน.ในภาคเหนือก็เป็นเครือข่ายที่ใหญ่มากอีกอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นการสร้างเครือข่ายและอื่นๆจะทำให้องค์กรชาวบ้านสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ยึดกุมพื้นที่ในสื่อได้มากขึ้นหรือไม่ อันนี้ก็เป็นปัญหา
กล่าวโดยสรุป
คือว่า โดยรวมแล้วผมคิดว่า สังคมไทยอ่อนแอเกินไปกว่าที่จะใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เต็มที่
และทางแก้ก็คือว่าเราต้องหันกลับมาสร้างความเข้มแข็งของสังคม ในการที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งพอที่จะไปใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้
ทางออกจะเป็นอย่างไร?
กล่าวโดยสั้นๆสรุปว่า ถ้ามองโดยทั่วไปแล้ว ผมอาจจะมองไม่หมด และคิดไม่ออกเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าสิ่งต่อไปนี้น่าจะมีความสำคัญในการที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น
อันที่หนึ่ง, ต้องคิดถึงเรื่องการศึกษาทางเลือก จริงๆแล้ว พรบ.การศึกษาที่ออกมาซึ่งพวกเราใช้อยู่เวลานี้ จะปฏิรูปการศึกษาในแนวไหนก็แล้วแต่ แต่คิดถึงความหลากหลายในระบบการศึกษาน้อยมากหรือแทบจะไม่ได้คิดเลย เมื่อไรที่มันมีความหลากหลาย เขาก็จัดให้มันเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ถ้าชอบเล่นแสตมป์ คุณก็ไปศึกษาเอาเองซิว่าแสตมป์ดวงนี้มันพิมพ์ พศ.ไหน รัชกาลที่เท่าไหร่? อะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องอย่างนั้นไป
แต่การศึกษาทางเลือกในความหมายที่ว่า คนเราจะเรียนรู้เพื่อที่จะดำเนินชีวิตของตนเองอีกทางหนึ่ง ที่จริงที่เราดำเนินชีวิตทุกวันนี้มันมีฐานก็คือ ฐานการศึกษาที่เราได้เรียนมา เพื่อที่จะทำให้เราสามารถเลือกดำเนินชีวิตแบบนี้ได้ ก็ถ้าเราไม่อยากจะเลือกดำเนินชีวิตแบบนี้ อยากเลือกการดำเนินชีวิตอีกอย่างก็ต้องมีฐานการศึกษาอีกอย่างหนึ่ง คิดถึงระบบของการศึกษาที่มีความหลากหลาย ผมคิดว่าอันนี้เขาไม่ได้คิด
เพราะฉะนั้น ต้องคิดถึงเรื่องการสร้างการศึกษาทางเลือก อาศัยช่องโหว่ที่มีในกฎหมายในเวลานี้ หรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อสร้างการศึกษาทางเลือกขึ้นมาให้มากๆ
อันที่สอง, ต้องคิดถึงสื่อทางเลือก อันนี้ผมเองก็คิดไม่ค่อยออกเหมือนกัน เมื่อครั้งที่แล้วซึ่งมีการพูดถึงเรื่องของสื่อ ว่าสื่อมันเป็นยังไง นอกจากสื่อมันถูกการเมืองยึดไปเป็นจำนวนมากแล้ว มันมีเงื่อนไขภายในของสื่อหลายอย่างด้วยกันที่ทำให้โอกาสที่จะเกิดสื่อทางเลือกนี้ยาก เช่น ที่อาจารย์นวลน้อยพูดถึง ไทยรัฐที่ขายหนังสือพิมพ์ได้มากที่สุดในเวลานี้ ดูเหมือนว่า 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะไม่ยอมขึ้นราคาจาก 8 บาทเป็นอันขาด เพราะว่า 8 บาทนี้มันทำให้คู่แข่งรายเล็กไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้
มันมียุทธวิธีร้อยแปดที่จะทำให้สื่อทางเลือกเกิดขึ้นได้ยาก แต่ต้องคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง internet ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่างๆนาๆ ต้องคิดให้ดีๆว่า ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างสื่อทางเลือกได้ สื่อที่ไม่ได้แข่งในตลาดแบบนี้ แต่แข่งในการนำเสนอเนื้อหาอีกชนิดหนึ่ง และ
อันที่สาม, เรื่องของเครือข่ายทางเลือก ต้องคิดถึงเครือข่ายทางเลือก เครือข่ายทุกชนิดไม่ว่าเครือข่ายทางสังคม เครือข่ายทางเศรษฐกิจ เครือข่ายทางการเมืองอะไรก็แล้วแต่ เช่นเป็นต้นว่า
เครือข่ายทางเศรษฐกิจ คิดถึงเครือข่ายซึ่งไม่ได้ผูกติดอยู่กับตลาดหลัก ไม่ได้คิดว่าผลิตอะไรแล้วเราจะต้องส่งมาสู่ตลาดหลักแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องคิดว่าเราจะต้องไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือรับจ้างเป็นแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว
คงเคยได้ยินข่าวไม่กี่เดือนมานี้ว่ามีกรรมกรที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทเย็บผ้าส่งออกแห่งหนึ่ง ที่เขาปิดโรงงานและไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่คนงาน คนงานก็ต้องต่อสู้เป็นเวลาหลายเดือนมาก ในที่สุดก็ได้ค่าชดเชยมาคนละ 2-3 หมื่นบาท
แรงงานเหล่านั้นเอาเงินคนละ 2-3 หมื่นบาทมารวมกัน แล้วสร้างโรงงานเล็กๆของตนเพื่อรับจ้างเย็บผ้าบ้าง ปรากฎว่าปัจจุบันนี้เขาได้รายได้ ยังต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำ คือพอสิ้นเดือนเอาเงินมาแบ่งกัน บางคนได้ 4500 บาท, บางคนได้ 5000 บาท ซึ่งต่ำกว่ารายได้ที่รับจ้างเขาเย็บผ้าเป็นรายวัน แต่คนเหล่านี้ก็ยังคงทนที่จะอยู่กันต่อไป โดยหวังว่าจะไปเที่ยวหา order มา แล้วขยายโรงงานของตัวเอง อันนี้ก็เป็นเครือข่ายทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง ที่จะสร้างทางเลือกของเครือข่ายทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ผมว่าต้องคิดถึงเรื่องนี้ให้มากๆ
นักวิชาการน่าจะลงไปช่วยเขาว่า เขาจะหาตลาดได้อย่างไร วิธีการจัดการภายในทำอย่างไร? อันนี้เขาคงไม่มีเงินมาเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์ แต่หวังว่าธรรมศาสตร์จะส่งพวก MBA ไปช่วยเขาบ้าง
เศรษฐกิจทางเลือกมีบ้างไหม เช่น อุตสาหกรรมที่ผูกติดกับการผลิตในท้องถิ่น ซีอิ้ว เป็นต้น แทนที่จะเป็นโรงงานซีอิ้วขนาดใหญ่ ก็เป็นซีอิ้วใส่ตุ่ม รับซื้อถั่วเหลืองจากชาวบ้านที่ปลอดสารพิษ แล้วก็ผลิตซีอิ้วมียี่ห้อขวดละ 150 บาท ที่หอมจริงๆออกมาขาย อย่างนี้ทำได้ไหม? คือ ไม่ใช่ OTOP แบบที่คิดผลิตกันในแต่ละตำบล และคิดจะส่งออกอย่างเดียว แต่เป็น OTOP ที่ผูกพันอยู่กับระบบการผลิตของทั้งระบบในท้องถิ่นหนึ่งๆ อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจทางเลือกชนิดต่างๆ 22222222 ผมคิดว่าอันนี้เป็นคำตอบที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น
มีทางเลือกการจัดการทรัพยากรอีกบ้างไหม คือคิดถึงทางเลือกต่างๆให้มากๆ ที่จะทำให้สังคมสามารถปฏิบัติการร่วมกัน ถึงจะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้นได้ เพราะเวลานี้เราจัดโครงสร้างที่จะให้คนในสังคมกลายเป็นปัจเจกหมด แล้วทุกคนก็ทำงานคนเดียว และก็เชื่อมต่อกับรัฐจุดเดียวเป็นจุดๆ ให้เรามาลองคิดถึงทางเลือกที่ทำให้คนในสังคมเชื่อมโยงกันเองให้มากๆ ไม่ว่าสื่อ หรือไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เชื่อมโยงกันเองให้มาก แทนที่จะเป็นปัจเจกแต่ละคนมาเชื่อมต่อกับรัฐ
อันที่สี่, ท้ายที่สุดก็คือพรรคการเมืองทางเลือก ซึ่งอันนี้มีเครื่องหมายคำถาม เพราะผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน พรรคทางเลือกซึ่งเราก็ทราบกันอยู่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีตัวแทนในสภา ไม่ใช่เพียงว่าไม่จบปริญญาตรีก็เลยไม่สามารถเป็น สส.ได้ แต่หมายความว่า สส.เอง สว.เองที่คิดที่จะเป็นตัวแทนของเกษตรกรรายย่อย อันนี้ไม่มี, แรงงาน ไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นตัวแทนของแรงงาน
น่าคิดน่าทำไหม ในการที่จะมีพรรคการเมืองทางเลือก อันนี้ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน
ผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยจะเชื่อพรรคการเมือง เพราะโตขึ้นมาในประเทศไทยก็ได้เห็นพรรคการเมืองมาตลอดชีวิต แล้วรู้สึกว่าไม่มีความไว้วางใจพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีคำตอบ แต่ก็มีนักวิชาการอีกหลายท่านด้วยกันที่เชื่อในเรื่องของ ความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีพรรคการเมืองของประชาชนจริงๆขึ้นมา อันนี้ก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นมาไว้นั่นเอง
ขอบคุณมากครับ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล : แม้ว่าสังคมไทยจะอ่อนแอเกินไปกว่าจะใช้รัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพในความเห็นของอาจารย์นิธิ และอาจารย์ก็ชี้ให้เห็นการพยายามที่จะสร้างสิ่งที่เป็นทางเลือกในหลายๆด้าน ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ในการที่จะหลุดพ้นไปจากความอ่อนแอ อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องการให้ไปขบคิด ในส่วนของคุณวนิดา ไม่ทราบว่ามีอะไรเพิ่มเติมครับ
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ : เรื่องของทางเลือก ก็เป็นเรื่องซึ่งพวกเราพยายามทำกันค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องร่วมกันคิดก็คือว่า เรื่องทางเลือก เราจะต้องลงไปคิดค้นกระบวนการที่จะนำเสนอทางเลือกสู่สังคมอย่างค่อนข้างหนัก
คือไม่ใช่ว่าเราได้แบบจำลอง หรือ model อะไรสักอย่างหนึ่งในพื้นที่ แล้วเราก็ไปป่าวร้องโฆษณา แต่ในงานที่เราทำร่วมกันกับชุมชน อาจจะต้องมีการค้นคว้ากันอย่างจริงจังว่า ทำอย่างไรให้ทางเลือกเหล่านี้มันสามารถที่จะกระจายออกไปสู่สังคมในวงกว้างได้ ตัวนี้คิดว่าน่าจะเป็นประเด็นสำคัญ นั่นคือ วิธีการน่าจะสำคัญด้วย
คือ เป้าหมายถ้ามันชัดเจน แต่ไม่มีวิธีการที่รองรับที่ดี ก็อาจจะไม่เกิดผล
มีเรื่องหนึ่งซึ่งอาจารย์สมชายพูดบ่อยๆก็คือ "สิทธิในการดื้อแพ่ง" คืออาจารย์พยายามที่จะมาบอกว่า การดื้อแพ่งต่อรัฐที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ถูกต้อง
แต่พอเราพูดอย่างนี้แล้ว สังคมเกิดรับไม่ได้ พวกอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องรุนแรง รับไม่ได้ แต่ความจริงการดื้อแพ่งไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โตเลย เช่น การละเมิดกฎจราจรไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเลย เปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านไปสร้างสิ่งก่อสร้างอะไรใหญ่โตแล้วเป็นอนุสาวรีย์เอาไว้ และยังหาคนผิดไม่ได้ มันคนละเรื่องเลยสำหรับความผิดแบบนี้
การที่ประชาชนต้องละเมิดกฎจราจร การทำเช่นนี้ก็เพราะไม่มีทาง ไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างคุณถ้าชาวบ้านไม่เดินทางมาที่กรุงเทพ ไม่มีทางที่สื่อมวลชนหรือหนังสือพิมพ์จะรู้ข่าวของเขา เขาพยายามจะใช้ตัวของเขาเองเป็นตัวสื่อออกไปสู่สาธารณะ คือเอาความทุกข์ยากของเขาไปอยู่บนท้องถนน เมื่อสื่อมวลชนมาเห็นชาวบ้านเกะกะ ก็มาถ่ายรูป ถ่ายทอดทีวีออกไปให้เห็น แต่เวลาอ่านข่าวก็อาจจะอ่านข่าวไปอีกทางหนึ่งก็ได้ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด คนทั่วประเทศได้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านกลุ่มนี้
คือเวลาชาวบ้านมา เขาไม่ได้หวังผลว่าเขาจะเข้ามายึดครองพื้นที่สื่อได้ เพียงแต่ว่าเขาไม่มีทางเลือก เขาต้องใช้ตัวของเขาเองเข้ามา มาพูดคุยกัน เพราะว่ามันไม่มีช่องทางอื่นเลย และเมื่อเขามาถึงแล้ว เขาก็ต้องใช้พื้นที่สาธารณะ จะไปชุมนุมหน้าบ้านใครได้ไหม? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หรือจะไปชุมนุมอยู่บนฟุตบาท แม่ค้าก็อยู่กันเต็มไปหมด มันก็มีทางเดียวคืออยู่บนท้องถนน และก็อุตส่าห์เลือกถนนที่คนใช้กันน้อยที่สุดแล้ว คือถนนหน้าทำเนียบ เพราะเป็นถนนที่ใช้น้อยที่สุด เนื่องจากคนไม่จำเป็นก็ไม่อยากมาทำเนียบกัน พวกเราเมื่อไม่จำเป็นก็ไม่อยากยุ่งกับคนมีสี คนมีตำแหน่ง
นี่คือการที่เราพยายามใช้สิทธิ์ในการดื้อแพ่ง หรือการพยายามที่จะบอกว่า สิ่งที่เราทำอยู่นี้ แม้ว่าจะผิดกฎของท่าน แต่ว่ามันเป็นความถูกต้อง อย่างเช่นกรณีของป่าชุมชน รัฐบาลถึงแม้ว่าพยายามเตะถ่วง ไม่ยอมออก พรบ.ป่าชุมชน แต่ว่าชาวบ้านตอนนี้ก็ทำป่าชุมชนไปแล้ว มีการรวมตัวกันกำหนดเขต ปักแนวเขตเพื่อบอกว่าตรงไหนเป็นป่าชุมชน และให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา มีกฎมีกติกาของเขา อันนี้ก็เกิดขึ้นทั่วไปโดยไม่ต้องรอ พรบ.ป่าชุมชน เพราะรอไม่ไหวแล้ว ไม่รู้ว่าท่านจะกรุณาให้เมื่อไหร่
หรือว่าการรักษาทรัพยากรน้ำ การดูแลแหล่งน้ำต่างๆ อันนี้ก็มีกลุ่มชาวบ้านทำกันอยู่แล้ว ในบางครั้งชาวบ้านต้องเข้าไปช่วยกันทุบฝายของทางการทิ้ง หรือเข้าไปทุบเขื่อน อันนี้ถือเป็นการดื้อแพ่ง ถือเป็นการผิดกฎหมาย แต่มันจำเป็นต้องทำเพราะว่า เขื่อนหรือฝายแห่งนั้นมันจะมาทำลายทรัพย์สิน ไร่น่า หรือปากท้องของคนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น
กรณีของพี่น้องท่อแก๊สไทย-มาเลย์ก็เหมือนกัน ไปรวมตัวกันตั้งเป็นชุมชนลานหอยเสียบเพื่อที่จะบอกว่า พวกเรามาชุมนุมกันอย่างสงบเพราะว่าไม่อยากให้ท่านทำโครงการนี้ แต่ว่าลานหอยเสียบก็กลายเป็นสิ่งที่ขัดลูกหูลูกตา กลายเป็นสิ่งที่รัฐคอยหวาดเกรงชาวบ้าน
หรืออย่างกรณีหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน จนกระทั่งรัฐบาลก็สั่งเผาไปเมื่อต้นปี 46 แล้วก็ขับไล่ชาวบ้านออกจากหมู่บ้านจนหมด ใช้ความรุนแรงจัดการกับชาวบ้าน อันนี้ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งพูดง่ายๆว่าไม่อยากจะทำ แต่ว่ามันไม่มีทางอื่นให้เลือก ชาวบ้านก็จำเป็นต้องทำ
ตอนนี้ชาวบ้านปากมูล ชาวบ้านราศีไศลที่รณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องแม่น้ำมูล ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้ง"ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ในภาษาอีสานเราเรียกว่า"ไทบ้าน" เรียกว่า"ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน" ศูนย์อันนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร? สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาของเขาขึ้นมา ภูมิปัญญาที่กำลังหมดไปแล้วในหมู่บ้าน เพราะว่าลูกหลานก็ต้องแตกออกไปข้างนอกหมด ไม่มีใครสืบทอดต่อ เพื่อที่จะบอกว่าอันนี้คือเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งทำให้เขาสามารถที่จะสืบทอดหรือดำรงเผ่าพันธุ์ ดำรงชุมชนของเขาต่อไปได้
การจัดสร้างศูนย์อันนี้ไม่ได้เพื่อที่จะ อยู่ดีๆมานั่งสานแห หรืออยู่ดีๆมานั่งทำกระติ๊บข้าว แล้วเอาไปขายตลาด ไม่ใช่. แต่มันเป็นศูนย์การเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพื่อที่จะเชื่อมความคิดกันระหว่างข้างนอกและข้างใน ให้เกิดการผสมผสานกันว่า อันนี้เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งพวกเรา หรือชาวบ้านเสนอต่อสังคมข้างนอกว่า โอเค! ข้างนอกจะใช้ตลาดหุ้น จะใช้เครดิตการ์ด, แต่ข้างใน ถ้าทำอย่างนี้อยู่ได้ แต่ถ้าให้ใช้มือถือ ใช้เครดิตการ์ดอันนี้อยู่ไม่ได้ค่ะในหมู่บ้าน
แค่ได้เงินทุนจากกองทุนหมู่บ้านละล้านมา ก็ไม่รู้จะไปทำอะไรแล้ว เอาไปซื้อมือถือจนหมด เพื่อที่จะโทรไปบอกให้บักหล่าเอ๋ยส่งมาสัก 500 สัก 1000 เด้อ บ่มีแล้ว แค่นั้นเอง
เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจะบอกกับสังคมว่า การพัฒนามีหลายอย่าง การดำรงชีวิต วิถีชีวิตมีหลายรูปแบบ และเขาควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าเขาอยากจะอยู่แบบไหน? อะไรแบบไหน วิธีไหน? ที่ทำให้เขาอยู่ได้ อันนี้คือสิ่งที่เขาพยายามกำลังทำ
ที่ศูนย์นี้ก็มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ปากมูล การต่อสู้ของชาวปากมูลขึ้นมา ก็เริ่มมีคนทะยอยเดินทางไปดู จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อที่จะประจานรัฐบาล หรือเพื่อที่จะบอกว่าฉันไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่จุดประสงค์เพื่อบอกต่อคนรุ่นหลังว่า ในอดีตเขาอยู่กันอย่างไร?
สิ่งหนึ่งซึ่งเราขาดก็คือการเรียนรู้ประสบการณ์ หรือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของตนเองในขณะนี้ที่เล่า หรือถ่ายทอดเพียงทางเดียว โดยผ่านพ่อแม่ ปู่ย่าตายาเท่านั้น
แต่ตอนนี้เราเอาเด็กๆของพวกเราไปอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่ 4 ขวบในตอนนี้ ขณะนี้ทุกๆแห่งในชนบทตั้งศูนย์เด็กเล็กขึ้นมา แล้วบังคับให้ชาวบ้านเอาเด็กเข้าไปอยู่ในศูนย์เด็กเล็ก พูดง่ายๆก็คือ ตั้งแต่ 4-5 ขวบก็ถูกล้างสมองแล้ว และการล้างสมองอันนี้เป็นอันตรายมาก ถ้าเขายังอยู่ในบ้าน อย่างน้อยเขาช่วยจับปลา ช่วยเลี้ยงควาย ช่วยหักฟืน ช่วยหาบน้ำ ช่วยนวดเฟ้นคนเฒ่าคนแก่ รู้จักเรียนรู้ยารักษาโรค สมุนไพรพื้นบ้าน รู้จักหุงข้าว รู้จักเอาตัวรอดในขอบเขตหรือสิ่งแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่
แต่ว่าโรงเรียนได้ทำให้เขาแปลกแยกกับสิ่งแวดล้อมของเขาเสียเอง เด็กถูกส่งเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 4 ขวบจนถึงอายุ 15 นี่การศึกษาภาคบังคับนะคะ ระยะเวลาขนาดนี้ ได้เปลี่ยนคนให้กลายเป็นเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ ทำงานอะไรไม่ได้เลยในหมู่บ้าน นอกจากเข้าสู่โรงงานเท่านั้น แล้วเขาเข้ามาเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อดูแลตัวเองหรือครอบครัวนะคะ แต่มารับใช้ภาคอุตสาหกรรม มารับใช้ภาคบริการ แล้วก็ได้เงินจำนวนน้อยนิดเพื่อที่จะส่งเงินกลับบ้าน ในขณะที่สังคมหรือครอบครัวเขาแตกสลาย
สิ่งที่ชาวบ้านพยายามบอกเราก็คือว่า นี่ไม่ใช่ทางเลือก และถ้าสังคมในชนบทหรือสังคมของคนจนล่มสลายลงหมด ถามว่าชนชั้นบนที่อยู่เหนือขึ้นไปจะอยู่ได้ไหม? ดิฉันคิดว่าอยู่ไม่ได้ ไม่มีทาง เพราะสังคมนั้นเราอยู่ร่วมกันเป็นรูปสามเหลี่ยม คนส่วนใหญ่อยู่ฐานล่าง ถ้าวิถีชีวิตของพวกเขาไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ ฐานข้างล่างไม่สามารถเข้มแข็งอยู่ได้ ข้างบนก็ต้องล่ม
ดิฉันไม่ค่อยรู้เรื่องต่างประเทศมากนัก แต่เท่าที่มีการติดตามข่าว วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศลาตินอเมริกา หรือในอัฟริกา หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ก็มาจากอย่างนี้ทั้งสิ้น มาจากการที่กระบวนการพัฒนาหรือเราได้เข้าไปทำลายฐานล่างทั้งหมด แล้วในที่สุดข้างบนก็ตกลงมาด้วย แต่เนื่องจากว่าคนข้างบนอาจจะคิดว่าตนมีทางเลือก มีทางที่จะไป มีทางที่จะหนีได้ แต่ชนชั้นกลางหนีไม่ได้ เพราะชนชั้นกลางไม่มีทรัพย์เพียงพอที่จะไปก่อตั้งวิถีชีวิตใหม่ขึ้นมาในต่างแดน นี่เป็นเรื่องยาก
เพราะฉะนั้น ชนชั้นกลางต้องร่วมมือกับชาวบ้าน ต้องสนับสนุนเขา ต้องออกมาเป็นปากเป็นเสียง จะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ต้องทำ เพราะว่าวิกฤตนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สิบปีที่ดิฉันอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ดิฉันเห็นความเปลี่ยนแปลงของชนบท เห็นการแตกสลายของครอบครัวจำนวนมาก อันนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก คือเขาปรับตัวไม่ทัน คือในอดีตไดโนเสามันถูกทำร้ายอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น อันนั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่อันนี้เป็นเรื่องของมนุษย์
ที่น่ากลัวก็คือว่า จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ เรียกว่าเกือบจะติดอันดับในภาคอีสาน อาจจะเป็นอันดับหนึ่งด้วยซ้ำ เพราะในน้ำก็มีปลา พื้นที่ก็กว้างใหญ่ไพศาล สามารถเพาะปลูกทำการผลิตได้ แต่ว่าคนยากจนมหาศาล
ลองสุ่มดูก็ได้ว่า ในหมู่บ้าน ในสลัม หรือในตรอก ในซอกในซอย ในโรงแรมต่างที่มีผู้คนทำงานล้างจาน หรือเช็ดถูทำความสะอาด มีคนมาจากภาคอีสานหรือมีคนที่มาจาก จ.อุบลฯมากน้อยแค่ไหน? ตอบได้ว่า มาก!
ประชากรของ จ.อุบลฯมีตั้งล้านกว่าคน ล้านกว่าคนนี่คือตัวเลขทางการ แต่จริงๆล้านกว่าคนอยู่ตรงไหนไม่รู้ อาจจะไม่ได้อยู่ใน จ.อุบลฯ อาจจะมีแค่ชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ตัวไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าเดือนนี้ฉันก็ไปอยู่พิษณุโลก อีกสามเดือนฉันก็ไปอยู่ จ.สุโขทัย อีกห้าเดือนก็ไปอยู่ภาคใต้ เพราะฉะนั้นทุกคนกระจัดกระจายไปหมด กลายเป็นผู้อพยพเร่ร่อน
ผู้อพยพเวลาเรามองมีที่แต่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นพม่า กระเหรี่ยง หรืออะไรก็ว่าไป แต่ผู้อพยพที่อยู่ในเมืองไทยในสังคมไทยเรามองไม่เห็น เพราะว่าเขายังคงถือบัตรประชาชนไทยอยู่ แต่ว่าตัวเขาอยู่ที่ไหนเราไม่รู้ ขนาดพ่อแม่ซึ่งอยู่ที่บ้านยังไม่รู้เลยว่าลูกไปอยู่ที่ไหนตอนนี้ ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ยังดีที่มีโทรศัพท์มือถือยังพอโทรมาบอกได้บ้าง อันนี้ต้องขอขอบคุณ คุณทักษิณ ที่ทำให้การสื่อสารของคนในชนบทดีขึ้น ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก
ทีนี้ทางเลือกที่ว่า ทำไมประชาชนต้องดื้อแพ่ง อันนี้เป็นความจำเป็น การผิดกฎหมายเล็กๆน้อยๆต้องยอมเขา ต้องให้อภัยเขา ผิดกฎหมายเล็กๆน้อยๆแต่ไม่ผิดศีลธรรม ดิฉันคิดว่าดีกว่า เพราะการผิดกฎหมายเล็กๆน้อยๆนี่เป็นเครื่องชี้วัดว่า ประชาชนกลุ่มนั้นเข้มแข็ง คือคนที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะกล้ารุกขึ้นมาทำผิดกฎหมายได้
สำหรับตัวดิฉันก็ไม่ใช่คนเข้มแข็ง แต่บังเอิญไปอยู่กับชาวบ้านเลยโดนข้อหาผิดกฎหมายไปด้วย แต่ถ้าดิฉันอยู่ตัวคนเดียวโดดๆ ดิฉันก็ทำไม่ได้ ใครจะไปยืนขวางรถแทรคเตอร์บ้าง รถแมคโครบ้าง อันนี้ไม่มีทาง ไม่สามารถทำได้ เจอตำรวจยืนถือโล่ห์ถือกระบอง มีแต่คนซึ่งไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้วเท่านั้น ถึงจะมีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้าได้ เช่น คนงานที่ตนเองถูกไล่ออกจากงาน หรือคนที่ถูกลอยแพไม่มีงานทำ หรือชาวบ้านซึ่งได้ถูกทำลายที่ทางทำมาหากิน
เพราะฉะนั้น เราจะต้องส่งเสริมการรวมตัวของชาวบ้าน นักกฎหมาย นักวิชาการจะต้องออกมาบอกว่าชาวบ้านทำถูกแล้ว กฎหมายต่างหากที่ผิด ระเบียบต่างๆต่างหากที่พูดออกมาไม่ถูกต้อง และรัฐไม่ควรเลือกใช้สถานการณ์แบบนี้กับระเบียบแบบนี้ กับเหตุการณ์อย่างนี้ อันนี้เราจะต้องกล้าพูดออกไป เพราะว่าเวลาชาวบ้านพูด เขาไม่มีน้ำหนัก และชนชั้นกลางน้อยมากที่จะกล้าพูดเรื่องเหล่านี้ ดิฉันก็เห็นอยู่ไม่กี่ท่าน อันนี้เราจะต้องกล้าพูดว่า เฮ้ย! มันถูก ทำอย่างนี้มันถูกต้อง
NGO, หรือองค์กรต่างๆ ที่คิดว่าอยากจะทำงานซึ่งคิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นอกจากจะต้องสร้างกลุ่มขึ้นมาแล้ว ยังจะต้องช่วยคิดค้นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพในที่นี้คือว่า คิดอย่างรอบคอบ วางแผน และต้องประเมินผลมันด้วย ไม่ใช่อยากจะทำก็ทำ ต้องสรุปบทเรียนเพื่อที่จะให้กิจกรรมนั้นเกิดผล และเกิดการขยายผล ไม่ใช่เกิดผลอย่างเดียวแล้วมานั่งพึงพอใจกับทางเลือกที่เราได้นำเสนอไปแล้วเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างไรให้เกิดการขยายผลมากขึ้น
ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล เขาพูดชัดเจนค่ะ แต่บางครั้งเราจับไม่ได้ในทางทีวี เขาพูดชัดเจนว่าเปิดไม่ได้เขื่อนปากมูล เพราะจะมีผลกระทบกับเขื่อนอื่นๆ นี่คือการขยายผล ชาวบ้านปากมูลได้ทำเรื่องของการขยายผลในเชิงยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงเรื่องของการพัฒนา ดังนั้นเขาจึงถูกเล่นงานอย่างหนัก เพราะฉะนั้น เราจะต้องสนับสนุนขบวนการต่อสู้แบบนี้ ที่ทำงานในเชิงลึก ในเชิงยุทธศาสตร์
เพราะการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลได้สำเร็จ มิใช่เป็นเพียงเครื่องชี้วัดว่า เกิดชัยชนะของประชาชน แต่สิ่งซึ่งจะตามมาภายหลังก็คือ สังคมทั้งสังคมจะต้องทบทวนการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าการต่อสู้ของพี่น้องไทย-มาเลย์สำเร็จ การสร้างความคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานของประเทศก็จะเกิดขึ้นในสังคมไทย
ตรงนี้ดิฉันคิดไม่ออก มีพวกเราส่วนหนึ่งซึ่งพยายามที่จะทำเรื่องนี้อย่างหนัก เพื่อที่จะให้การต่อสู้ของชาวบ้านทะลุทะลวง ฟันฝ่าสถานการณ์ทักษิณาธิปไตยนี้ออกไปได้ แต่ว่ามันก็ยังเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส แค่ชาวบ้านปากมูลตอนนี้ไปตั้งเสาวิทยุ เพื่อที่ตั้งวิทยุชุมชนขึ้นมา กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งก็ออกไปป่าวประกาศเลยว่า นี่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นวิทยุเถื่อน ใครทำจะต้องถูกจับ ใครเข้าไปร่วมมือจะต้องถูกจับ อันนี้ยังไม่ได้เปิดสถานีนะคะ แค่เอาเสาไปตั้งเฉยๆ ชาวบ้านเขายังไม่เปิดตอนนี้ เพราะถ้าเปิดตอนนี้โดนแน่
ตอนนี้ชาวบ้านทำงานอย่างไร คำตอบก็คือลงพื้นที่ ลงไปพูดคุย ไม่ว่ากับกำนัน, ผู้ใหญ่, อบต. ให้เข้าใจว่าสถานีวิทยุชุมชนคืออะไร เขาจะได้ประโยชน์อะไร เขาจะมีส่วนร่วมอย่างไร? อันนี้เป็นการสร้างแนวร่วมมหาศาลขึ้นมาในพื้นที่ชนบท อันนี้เป็นการเตรียมการก่อน ก่อนที่จะมีการเปิดสถานีวิทยุชุมชน มิเช่นนั้นแล้วคุณก็จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กในพื้นที่ขึ้นมา ถูกโดดเดี่ยวจากมวลชน และถูกทำลายในที่สุด
นี่คือการสรุปบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนที่จะเกิดยุทธวิธี เกิดความคิดเหล่านี้ขึ้นมา
ชาวบ้านราศีไศล ตอนนี้จัดการประชุมจากผู้เดือดร้อนเนื่องมาจากผลกระทบเขื่อนทั่วโลก ถามว่าชาวบ้านตัวเล็กๆต้องรับภาระการประชุมที่ใหญ่แบบนี้ ทำไมเขาถึงกล้าที่จะคิดได้ ก็ไม่รู้ รู้แต่เพียงว่านี่คือแนวร่วมมหาศาลของเขา นี่คือแนวร่วมซึ่งเป็นโอกาสเดียวที่เขาจะได้ขยายผลการต่อสู้จากการประชุมกับแนวร่วมครั้งนี้
ชาวบ้านราศีไศลลงทุนก่อสร้างการประชุมขึ้นมา เงินก็ไม่มี แรงงานก็ไม่มี ต้องไปเกี่ยวข้าวบ้าง ต้องไปทำนาบ้าง ต้องหาปลาบ้างสารพัด ตอนนี้สร้างเสร็จ เสร็จแบบพออยู่ได้และใช้ประชุมได้ แต่อันนี้ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ก็คือว่าทางการจะจับตามองพวกเขาอย่างไร?
เมื่อวานนี้ดิฉันได้ไปกับชาวบ้านเพื่อไปรับคนที่มาประชุมที่สนามบิน จ.อุบลฯ มาจากหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะลำเดียวมาเกือบ 90 คน สันติบาลวิ่งกันวุ่น อยู่ดีๆไม่รู้ มีฝรั่งบ้าง จีนบ้าง ไม่รู้ชาติใดบ้างมากันเต็มไปหมดทั้งสนามบิน จ.อุบลฯ หอบข้าวของกันพะลุงพะลัง ขึ้นรถตู้แล้วก็ไปรวมกันอยู่ในทุ่งนา คือไม่ได้ไปอยู่ที่โรงแรม แต่เขาก็พอรู้ข่าวอยู่ซึ่งเราต้องปิดข่าวเงียบ เพราะอะไรคะ ก็เพราะกลัวท่านทักษิณท่านจะได้ยินเรื่องเสียก่อน แล้วผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหลายก็จะมาไม่ได้ แต่ตอนนี้มาหมดแล้วก็เลยพูดได้
บางทีเราก็ต้องทำแบบหลบๆซ่อนๆ ไม่อยากให้ใครรู้ อันนี้ยังดีว่าสันติบาลระดับท้องถิ่นจึงยังไม่ได้รายงานไปถึงข้างบนเท่าไหร่ ถ้าเรื่องถึงคุณทักษิณ ป่านนี้ถูกบล็อคหมดแล้วที่สนามบิน แต่ขาออกคงไม่เป็นไร เขาคงให้ออกอยู่
วันนี้เป็นการเปิดการประชุม โดยส่วนตัวคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ คือถ้าเราบอกว่าเอเปคยิ่งใหญ่ อันนี้ก็ไม่ค่อยน้องเอเปคเท่าไหร่ ดีไม่ดีว่าระดับผู้นำของประชาชนซึ่งได้มาร่วม มากกว่าผู้นำรัฐบาลที่มาในงานเอเปค ที่มาก็แบบจำใจมา แต่นี่เป็นผู้นำระดับปาติสต้า, ผู้นำ MST ในบราซิล, ผู้นำขบวนการชาวนาโลก อันนี้มากันเยอะ
ถามว่าสถานการณ์แบบนี้ใครกล้าจัดบ้าง NGO ธรรมดาอาจจะไม่กล้าจัดก็ได้ เพราะว่ากลัวเกิดความยุ่งยากไปหมด เดี๋ยวฉันก็ถูกถอนใบอนุญาตทำงานในประเทศไม่ได้ แต่ว่าชาวบ้านทำได้ เพราะว่าชาวบ้านเขาไม่มีใครไปถอนใบอนุญาตเขาแล้ว เขาก็อยู่ของเขาและก็อยู่อย่างนั้นได้
วันที่ 1 ธันวาคม 2546 จะเดินทางไปปากมูล 200 กว่าคน จะไปดูเขื่อนให้ได้ แต่ขณะนี้มีการสร้างลวดหนามขนาดใหญ่ปิดกั้นทางเข้าออก ไม่ให้เข้าเขื่อนปากมูลประมาณ 7 เดือนมาแล้ว ปิดกั้นไม่ให้คนไปดูเขื่อนปากมูล แต่คิดว่าก็คงเข้าไปได้เพราะชาวบ้านที่นั่น คงหาทางให้เข้าไปจนได้
ดิฉันคิดว่าอันนี้เรื่องใหญ่ ค่ายทหารยังไม่มีรั้วลวดหนามขนาดใหญ่อย่างนี้ อันนี้ไม่รู้ว่ามันสงครามอะไร แต่ว่าพวกเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้เพราะว่าข่าวทีวี เขาไม่เล่นเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะเขาคงไม่กล้า สำหรับบรรดาสื่อมวลชนในระดับท้องถิ่น
เราเคยข้อร้องให้สื่อมวลชนส่วนกลางลงพื้นที่ หลายครั้งหลายหน เก็บหอมรอมริดเพื่อที่จะให้ค่าเดินทางสำหรับสื่อมวลชนลงมายังพื้นที่ แต่ว่าเขาก็ไม่มา เขาบอกว่าถึงทำไปข้าง บนเขาก็ไม่ออกข่าวให้ รายการของชาวบ้านหลายรายการถูกแบนหรือถูกตัด ทีวีซึ่งรายการสารคดีต่างๆไปทำก็ถูกแบนจนออกไม่ได้ จนกระทั่งคนทำสารคดี พวกสื่อมวลชนเองก็ลาออกไปเป็น NGO ก็เยอะ อันนี้พูดถึงอดีตที่ผ่านมา
ก็ไม่รู้ว่ามันจะทะลุทะลวงกันได้อย่างไร แต่ขณะนี้เท่าที่ตัวเองมีกำลังใจเพราะว่า เห็นข่าวพี่น้องเราที่เพชรบุรี ที่สมุทรสาคร เคยเห็นเขา present งานวิจัยชุมชนในที่สัมนาต่างๆ ก็มีพวกเราซึ่งเป็นคนชั้นกลางเข้าร่วมเยอะมาก
มหาวิทยาลัยท้องถิ่นแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเพชรบุรี สมุทรสาคร นคปฐม ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ ดิฉันคิดว่าเริ่มมีการรวมกลุ่มกันเงียบๆ เพียงแต่เขารู้ตัวดีว่า ในขณะที่เขายังเป็นลูกอ่อน เขาไม่ควรทำอะไรที่กระโตกกระตากจนทำให้ผู้มีอำนาจเกิดความรู้สึกผิดปกติขึ้นมา เขาก็ทำกันอย่างเงียบๆ เหมือนกับว่าฉันไม่ได้มีพิษสงอะไรมากมาย แต่เท่าที่ได้ข่าวเพราะได้เข้าร่วมเวทีหลายเวที การรวมตัวของประชาชนไทยในขณะนี้คิดว่ามีอนาคต
เพราะดิฉันคิดว่าเรามีพื้นฐานที่ดีของสังคมไทยในเรื่องความหลากหลายของการที่ กลุ่มคนจำนวนมากสามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่มีความขัดแย้ง ดังนั้นมันจึงทำให้เกิดการเรียนรู้ เวลาร่วมมือกันจึงไม่ค่อยมีช่องว่างหรือความขัดแย้งมากมายนักในแต่ละพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม คริสต์ พุทธ รวมกันได้ ไม่มีความขัดแย้งกัน พ่อค้าแม่ค้ากับชาวบ้านก็เหมือนกัน แม้ว่าในด้านหนึ่งจะแบ่งแยกโดยสื่อของรัฐ ซึ่งตัวนี้ก็มีอยู่แล้วดำรงอยู่แล้วแน่นอน อันนี้ที่ตัวเองคิดว่าคงเห็นอนาคตอยู่ พอที่จะเห็นทางออกอยู่
ขอบคุณค่ะ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล :
มีท่านใดอยากจะแลกเปลี่ยนหรือมีคำถาม ขอเชิญได้เลยครับ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงของการรวบรมคำถามทั้งหมดพร้อมกันไปเลยทีเดียว
และสุดท้ายจะให้วิทยากรเป็นผู้ตอบคำถามเท่าที่มีปฏิกริยากับคำถาม
(หมายเหตุ : สำหรับในส่วนท้ายนี้
ได้เลือกถอดเทปบางคำถามเท่านั้น)
อดินันท์ เหมือนยัง : ผมเป็นนักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ ผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ปกติแล้วเราในฐานะคนชั้นกลางเวลาติดตามเรื่องแบบนี้ ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งติดตามเรื่องแบบนี้มาตลอด และพอเข้าใจ แต่ความเข้าใจของเรา มันเหมือนกับว่าไม่มีเวทีที่เราจะไปทำอะไรต่อ เต็มที่คือ ผมอาจจะไปนั่งดูข่าวกับเพื่อน อาจได้ดูข่าวสมัชชาคนจนแล้วนั่งเถียงกับเพื่อน เพื่อนอาจจะเชียร์รัฐบาล เราจะเชียร์อีกฝั่งหนึ่ง แล้วก็จบกันไป
ผมจึงมีความรู้สึกว่า หลังจากออกจากห้องประชุมนี้แล้ว ผมควรจะไปทำอะไรต่อ อันนี้ก็นึกไม่ออกเหมือนกัน ถามว่าผมเข้าใจไหม ผมเข้าใจแต่ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า ต่อไปนี้ผมควรจะไปทำอะไรบ้าง เต็มที่ที่จะปลุกกระแสอะไร คือ ผมอาจจะคุยกับเพื่อนได้ไม่มากเกินไปกว่า 5 คน แล้วก็คงจะจบกันไป ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หลังจากนี้เราควรจะทำอะไรกันดี เพื่อว่าการมาฟังในวันนี้มันจะได้ไม่เสียเปล่า และคนข้างนอกอาจจะรู้เท่ากับที่เรารู้ในตอนนี้ด้วย
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ : อยากจะหยิบยกประเด็นสิทธิดื้อแพ่ง คือนึกถึงบทความของ อ.ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช ที่พูดถึง"พลเมืองดี" กับ"คนดี"ของสังคม อาจารย์ให้นิยามว่า "พลเมืองดี"ก็คือ คนที่เชื่อฟังรัฐ ปฏิบัติตาม ยินยอมพร้อมใจกับนโยบายที่รัฐกำหนด ส่วนสำหรับ"คนดี"คือคนแบบไหน? คือคนที่ทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นความชอบธรรม ยุติธรรม อันนี้คิดว่าจะไปโยงกับเรื่องของสิทธิของการดื้อแพ่ง
เราจะใช้สิทธิในฐานะเป็น"พลเมืองดี"หรือเป็น"คนดี" เราจะใช้อะไร?
เรื่องของสิทธิการดื้อแพ่ง ดิฉันอยากจะมองด้วยว่า รัฐเองจะพยายามบอกว่า รัฐธรรมนูญให้สิทธิเยอะแยะ แล้วพวกคุณทำหน้าที่กันหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นการตีความผิด หรือเป็นการตีความแบบนักบิด ดิฉันมองว่ารัฐบาลชุดนี้ชอบบิดและมีความสามารถในการบิดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าฉงน
คือรัฐธรรมนูญให้สิทธิกับประชาชน แล้วก็มีเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม การที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นซึ่งแตกต่างจากรัฐบาล ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมว่า เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ในฐานะที่เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม
อันนี้อยากจะมองว่า สิทธิในการดื้อแพ่งเป็นวาทกรรมในสังคมที่ถูกมองในภาพลบ
ประจักษ์ ก้องกรีติ : ผมอยากจะพูดในส่วนที่ว่า ควรจะทำอะไรบ้างและทำอะไรได้บ้าง? ขอพูดในส่วนนักศึกษากับนักวิชาการนะครับ ผมคิดว่าอันหนึ่งซึ่งนักศึกษาน่าจะทำ เผอิญเป็นที่ปรึกษานักศึกษาอยู่หลายกลุ่มในธรรมศาสตร์ ตอนนี้เริ่มเกิดกลุ่มนักศึกษาเล็กๆขึ้นหลายกลุ่ม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความพยายามที่พวกเขาจะเชื่อมความเข้าใจ ในส่วนของช่องว่างที่มีอยู่ และวิถีชีวิตซึ่งไม่เข้าใจกันและกัน ระหว่าง"เมือง"กับ"ชนบท" โดยเฉพาะนักศึกษาที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย
ผมคิดว่านี่เป็นบทบาทที่ น.ศ.น่าจะทำได้ และมีหลายกลุ่มเริ่มทำแล้วเป็นกลุ่มเล็กๆ อย่างเช่นตอนบ่ายนี้ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ชื่องาน "คนเลรักแผ่นดิน คนเมืองต้องร่วมแรง" เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา กลุ่มที่จัดงานก็เป็นกลุ่มนักศึกษา เขาตั้งชื่อว่า"กลุ่มนักศึกษาค้นความจริง" เป็นนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย พวกเขาได้ลงไปในพื้นที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านว่า เกิดอะไรขึ้น? แล้วพยายามกลับมาคุยกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจขึ้น
ผมคิดว่านี่คือบทบาทที่ น.ศ.น่าจะทำ หรือว่ากลับไปแล้ว อาจจะร่วมกับเพื่อนซึ่งมีอยู่ 4-5 คน อาจริเริ่มแบบนี้ ทำจุลสาร ทำหนังสือ ซึ่งต่อไปอาจจะขยับขยายไปเป็นแบบอื่นๆต่อไปได้
ในส่วนของนักวิชาการ เห็นด้วยกับ อ.นิธิ ว่าเรามีกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ไปช่วยเหลือ และมีความเห็นอกเห็นใจชาวบ้าน พร้อมทั้งพยายามที่จะเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวตรงนี้ แต่สิ่งที่ผมพบว่าค่อนข้างจะอ่อนไปก็คือ ฐานทางวิชาการที่จะไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคม
สำหรับผมสิ่งที่สำคัญและมาก่อนในฐานะที่เป็นนักวิชาการ คือบทบาทในการนำเสนอความคิดที่มาจากฐานทางวิชาการซึ่งมีการค้นคว้าอย่างเข้มแข็ง อันนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมมีความหนักแน่นขึ้น พูดง่ายๆก็คือ อยากเรียกร้องให้นักวิชาการที่เคลื่อนไหวทางสังคม มีความเป็น"หอคอยงาช้าง"ด้วย ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคม เวลาไปพูดหรือนำเสนอ ก็จะมีข้อมูล บทวิเคราะห์ที่มาจากการค้นคว้าอย่างหนักแน่น
อันนี้น่าจะเป็นบทบาทหลักก่อน
ส่วนการเคลื่อนไหวจริงๆแล้ว บทบาทหลักคงอยู่ที่องค์กรชาวบ้าน และ NGO มากกว่า
อานนท์ นำพา : นักศึกษาจากรามคำแหงครับ ผมเป็นคนบ้านนอก ซึ่งกำลังจะแปรผันเป็นชนชั้นกลาง และมีเพื่อนอีกหลายคนที่อยากจะเป็นชนชั้นสูง เมื่อเช้านั่งรถแท็กซี่มาจากรังสิตกับพวกพี่ๆธรรมศาสตร์ สิ่งที่ได้พบสดๆร้อนๆก็คือ คำหนึ่งที่แท็กซี่พูดเมื่อเช้าคือ ถ้าไม่มีทักษิณ ยาบ้าคงไม่หมด คือมันมีนัยะดังที่อาจารย์ว่า คนยอมรับเผด็จการว่ามันสามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้จริง อันนี้ผู้รู้สึกตกใจ
ประเด็นต่อมา เรื่องของการดื้อแพ่ง ซึ่งเพิ่งรู้จักเมื่อต้นเดือนเพราะว่าเพิ่งอยู่ปี 1 อันนี้ได้รับฟังมาจากรุ่นพี่ว่ามันเป็นอย่างไร จริงๆแล้วรัฐบาลปัจจุบันก็ดื้อแพ่ง แต่ไม่ใช่ดื้ออย่างเดียว เรียกว่า"ดื้อด้านแพ่ง" คือพยายามทำเรื่องซึ่งมันผิดกฎหมายให้มันถูกกฎหมาย อันนี้แตกต่างจากคนจนก็คือ คนจนทำผิดแล้ว ก็ผิด, แต่อันนี้ทำผิด แต่ถูก
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมคิดว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นผู้ใช้อย่างเต็มภาคภูมิ คือผ่าน 5 ปีมา อันนี้ยังไม่สามารถแยกฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันได้ คือเมื่อเช้าได้คุยกับรุ่นพี่ รู้สึกมันตลก คือ สส.ต้องจบปริญญาตรี แต่พอเข้าสภาฯ ต้องบล็อกโหวด ออกเสียงตามมติพรรค ทำไมไม่เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญว่า ให้หัวหน้าพรรคจบปริญญาตรีก็เสร็จ สส.จบอะไรก็ได้เพราะทำอย่างไรก็ต้องไปยกมือตามมติพรรคอยู่แล้ว อันนี้ผมเข้าใจอย่างนี้นะครับ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เรื่องจะไปทำอะไรต่อ หลังจากฟังอันนี้แล้ว นอกจาก อ.ประจักษ์แนะนำคือไปทำกิจกรรมได้หลากหลายชนิด ถ้าเผื่อเห็นด้วยกับสิ่งที่เราพูดกันในวันนี้
อีกอันที่ผมอยากจะนึกถึงด้วย คือ มันมีช่องทางที่เป็นไปได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะผมก็ห่างจากการเป็น น.ศ.มานานแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำให้ฐานคิดแบบนี้มันเข้าไปในวิชาการ เช่น สมมุติว่าคุณมาจากเกษตร บังเอิญคุณเรียนป่าไม้ และถูกบังคับให้ทำ paper ในงานสัมนา วิชาป่าไม้ที่สอนกันที่ ม.เกษตร เท่าที่ผมเข้าใจจะเน้นเรื่องการทำป่าไม้เชิงพาณิชย์สูงมาก และคิดถึงเรื่องการทำป่าไม้ในเชิงที่จะรับใช้ชีวิตของชุมชนน้อย
จริงๆแล้วผมคิดว่ามันมีการแทรกเรื่องของอคติลงไปด้วยว่า ถ้าคุณทำป่าไม้ที่รับใช้ชีวิตชุมชน ป่าไม้จะไม่ยั่งยืน ถ้าเผื่อว่าคุณต้องทำ paper เหล่านี้ เป็นไปได้ไหมที่จะเริ่มต้นด้วยการศึกษาจากฐานคิดอีกอันหนึ่งว่า การจัดการป่าไม้แบบที่เอื้อต่อประโยชน์ชาวบ้าน และยั่งยืนได้นั้น มันเป็นอย่างไร? จากตัวอย่างของจริงซึ่งมีหลายแห่งมากในประเทศไทย อันนี้ก็หวังว่าจะ educate เพื่อนคุณให้รู้จักมองฐานคิดที่แตกต่าง และหวังว่าจะ educate อาจารย์คุณด้วย อย่างนี้เป็นต้น
คือผมคิดว่าอยากจะให้มันทำทั้งกิจกรรม และวิชาการด้วย ผมไม่ทราบว่าบทบาทของ น.ศ. เวลานี้ที่จะเข้าไปแทรกในกระบวนการเรียนรู้ของชั้นเรียนหรือหลักสูตรนั้น มันเพิ่มมากขึ้นไหม? เพราะผมเชื่อว่าครูมหาวิทยาลัย ต้องการการเรียนรู้แยะมากเลยจากนักศึกษา
อีกประเด็นหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับเผด็จการแก้ปัญหา จริงๆแล้วเผด็จการจะพยายามแก้ปัญหาที่สังคมคิดว่าเป็นปัญหา ถ้าสังคมไม่คิดว่าเป็นปัญหา เขาจะพยายามทำก่อนให้สังคมคิดว่านี่เป็นปัญหา แล้วเขาจะเข้าไปแก้ อันนี้เป็นสิ่งที่เผด็จการทุกแห่งทำ แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเผด็จการทำไปพร้อมๆกับแก้ปัญหา คือ"การกลบปัญหา" ทุกแห่งเหมือนกันหมด
ฉะนั้น ผมไม่แน่ใจว่ายาบ้าหมดไปแล้ว อันนี้จริงหรือเปล่า ใครเป็นคนบอกเรา กระทรวงมหาดไทยกับคณะกรรมการอะไรก็ไม่รู้ บอกว่าเหลือ 5%, 7%, 16%, น่าประหลาดมากครับ ประเทศไทยที่เราดูๆว่าพัฒนามามากแล้ว แต่เราอ่อนแอทางวิชาการมาก คือมันไม่มีองค์กรเช่นกระทรวงสาธารณสุข หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มีตัวเลขที่มันอิสระ
เพราะฉะนั้น เราจะมีตัวเลขเดียวเสมอ เราจะมีตัวเลขเดียวเสมอที่วางมาให้ แล้วบอกว่า"หมด" แล้วทุกคนก็บอกว่า"หมด" ไม่มีตัวเลขอื่นๆมาบอกว่า มันหมด 16% หรือ 16.3% กันแน่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องคัดค้านกันเสมอไป ตัวเลขยืนยันกันและกันก็ได้ ทำให้ตัวเลขทุกตัวไม่ว่าจะมาจากธนาคารชาติ มาจากกระทรวงสาธารณสุข มาจากกระทรวงมหาดไทย หรือมาจากไหนก็แล้วแต่ในประเทศไทย เป็นตัวเลขที่เชื่อไม่ได้สักตัวเดียว
เพราะไม่มีสังคมไหนที่คุณจะเชื่อตัวเลขที่มาจากแหล่งเดียวได้ มันจะต้องมีมหาวิทยาลัยเป็นต้น มหาวิทยาลัยไม่เคยเสนอตัวเลขอะไรเลย มีแต่ TDRI กับสภาพัฒน์ฯ โชคดีหน่อยที่มี TDRI ซึ่งบางครั้งมันทำให้ตัวเลขมันไม่ตรงกับสภาพัฒน์ฯ ไม่ตรงกับธนาคารชาติบ้าง แต่ตัวเลขประเภทอื่นๆไม่มี ซึ่งอันนี้มันแสดงฐานที่อ่อนแอมากของทางวิชาการ จึงทำให้เผด็จการไทยกลบปัญหาได้ง่ายขึ้น
คุณอยากจะทำอะไร สำเร็จทุกเรื่อง เพราะผมเป็นคนบอกเองว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ : ก็ยังคิดไม่ค่อยออกเหมือนกันค่ะ ดังที่น้องจาก ม.เกษตรตั้งคำถาม แต่ว่าอาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แต่ที่คิดได้อีกอันหนึ่งก็คือ อาจจะนำเอาเทคนิคการตลาดเข้ามาช่วย อันนี้ไม่รู้ว่าจะเพี้ยนหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือบางครั้งสิ่งที่เราทำหรือความคิดแบบใหม่ มันจำเป็นต้องหาวิธีการที่จะต้องออกสู่สาธารณะให้ได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดการ debase กันขึ้นในสังคม
อย่างกรณีที่เราเคยใช้กัน เช่นเวลาที่ชาวบ้านมาประท้วง จะมีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ ก็มีการนั่งคุยกันเองล่วงหน้าว่า เวลาที่เรามีอยู่ในการออกสื่อ 1-2 นาทีก็ตาม เขาจะตั้งคำถามอะไรก็ช่าง เราจะพูดในส่วนของเรา คือให้ข้อมูลของเราออกไปให้ได้ เพราะว่าจริงๆแล้วสื่อมวลชนเวลาตั้งคำถาม ก็จะไม่สามารถเจาะลึกลงไปได้ เนื่องจากภูมิความรู้ของเขาไม่มีเกี่ยวกับเรื่องของเรา เขาจะถามเรื่องพื้นๆซึ่งตอบไปคนก็จะไม่สนใจ
เพราะฉะนั้นก็จะมีการคุยกันว่า เขาจะถามอะไรก็ช่าง แต่พยายามเลี้ยงคำตอบให้มาเข้าทางเราให้ได้ภายในหนึ่งนาที ภายในหนึ่งนาทีผู้ฟังจะต้องเข้าใจปัญหาของดิฉัน ของข้าพเจ้า เราต้องเตรียมกันขนาดนี้เวลาออกสื่อ นี่คือสิ่งที่พยายามทำกัน ก็เป็นการพลิกแพลงอย่างหนึ่ง
แต่ว่าในส่วนของพวกเราน่าจะมีเทคนิคที่ดีกว่านี้ เพราะเราก็เรียนเรื่องการตลาดอะไรมาเยอะ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล : คงสมควรแก่เวลา ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของการจัดเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเราหวังว่าการจัดครั้งนี้ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับการพูดถึงหรือถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทยต่อไป
โดยเฉพาะในช่วงนี้ ดูเหมือนว่ามีคนหลายส่วนกำลังสนใจอยากจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่เราอยากจะเสนอประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งของการไร้น้ำยาของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากตัวรัฐธรรมนูญเองเท่านั้น แต่มาจากตัวขององค์กรและสถาบันต่างๆในทางสังคมด้วย ดังประเด็นต่างๆที่เราพยายามจัดขึ้นมาทั้งหมด
วันนี้เป็นครั้งสุดท้ายของการนำเสนอ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณวิทยากรทุกท่านที่ได้ให้เกียรติมาเข้าร่วม และขอขอบคุณผู้ฟังทุกท่านที่มาร่วมฟังในวันนี้ ขอบคุณครับ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com