H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 346 หัวเรื่อง
เวทีประชาชนที่เมืองมุมไบ
บทรายงานจากสำนักข่าวประชาธรรม
ส่งถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(บทความนี้ยาวประมาณ 11 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
บทความเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

210147
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความเกี่ยวกับเวทีประชาชน
เวทีสังคมโลกเมืองมุมไบ(บอมเบย์)
รายงานจาก สำนักข่าวประชาธรรม และ
สำนักข่าวเชื่อม

บทความนี้ยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 21 มกราคม 2547
(ปรับปรุง-เพิ่มเติม 30 มกราคม 2547)

หมายเหตุ: บทรายงาน 7 ชิ้นที่กำลังจะอ่านต่อไปนี้ ได้รับมาจากสำนักข่าวประชาธรรม และสำนักข่าวเชื่อม เพื่อเผยแพร่ถึงกิจกรรมภาคประชาชนในสังคมโลก ประกอบด้วย

1. เวทีสังคมโลกเมืองมุมไบ เมืองแห่งความล้มเหลวจากการเปิดเสรี
2. ส่งสารจากมุมไบถึงจอร์จบุช โลกต้องไม่มีอันธพาลสงคราม
3. นักเคลื่อนไหวพม่าเข้าร่วมเวทีประชุมสังคมโลก
4. เวทีสังคมโลก เกษตรกรตื่นตัวบทเรียนเปิดเสรีสินค้าเกษตร
5. รัฐบาลเป็นศัตรูของประชาชน หนุนเปิดเขตการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรม
6. เวทีสังคมโลก ชี้การค้าเสรี -สงครามทำร้ายผู้หญิงมากที่สุด
7. เวทีสังคมโลก ชี้จีเอ็มโออันตราย บรรษัทผูกขาด ละเมิดสิทธิเกษตรกร

1. เวทีสังคมโลกเมืองมุมไบ เมืองแห่งความล้มเหลวจากการเปิดเสรี

อินเดีย/เวทีสังคมโลกครั้งที่ 4 เริ่มต้นแล้ว เผยเมืองมุมไบ หรือบอมเบย์สถานที่จัดงานเป็นเมืองตัวอย่างชั้นดีของความล้มเหลวจากเปิดเสรีการค้า จากรัฐที่เคยจัดสวัสดิการให้ประชาชนดีเยี่ยม เริ่มไม่สนใจประชาชน พบสลัมสูงเป็น 8 เท่าของสลัมคลองเตย ประชากรถึง 800,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเมืองมุมไบ (บอมเบย์) ประเทศอินเดียว่าวันนี้ (16 ม.ค.) เวทีสังคมโลกครั้งที่ 4 เริ่มต้นเป็นวันแรก โดยเวทีสังคมโลกถือเป็นเวทีที่กลุ่ม องค์กรเครือข่ายขบวนการประชาชนจากทั่วโลกมาร่วมเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอตัวอย่างทางเลือกในกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีการค้า ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประเทศเล็ก ๆ ชุมชนเล็ก ๆ ที่ผ่านมามีการจัดเวทีสังคมโลกไปแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 และ 2 จัดขึ้น ณ เมืองปอโตร เอเลเกร ประเทศบราซิล ครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ เมืองไฮเดอร์ราบัด ประเทศอินเดีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่จัดงานเวทีสังคมโลก มีอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองบอมเบย์ โดยคนอินเดียมักจะเรียกกันว่าเมืองมุมไบ ถือเป็นเมืองแห่งการต่อสู้ เมืองแห่งการเปลี่ยนผ่านและความแตกต่าง มีประชากร 16 ล้านคน เคยเป็นเมืองท่าของอาณานิคมในการครอบครองของโปรตุเกส ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ศูนย์กลางแรงงาน ทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองแห่งการต่อสู้นับตั้งแต่การเรียกร้องเอกราชจากจักรวรรดิ์นิยม การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และกลุ่มจัณฑาล (หรือวรรณะที่ต่ำที่สุด) การต่อสู้ของกลุ่มสิทธิสตรี สันติภาพ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

มุมไบถือว่าเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์มาทุกยุคสมัยนับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันรัฐอินเดียไม่เชื่อในระบบรัฐสวัสดิการอีกต่อไป ไม่เชื่อว่ารัฐมีหน้าที่ต้องดูแลสมาชิกจำนวนมากโดยไม่มุ่งแสวงหากำไร แต่มุ่งให้สังคมอยู่ดีกินดี ขณะที่ในอดีตอินเดียสามารถดูแลประชาชนอย่างดีเยี่ยม แต่ปัจจุบันการเข้าสู่กระแสการค้าเสรีนิยมใหม่ เป็นศูนย์กลางนโยบายเปิดเสรี และขายทุกสิ่งทุกอย่างทำให้มีแต่คนมีเงินเท่านั้นที่จะอยู่ได้อย่างสบาย ขณะที่คนจนจะไร้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ขณะที่เมืองมุมไบมีมันสมองระดับเทคโนโลยี ก็มีสลัมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีคนสลัมถึง 800,000 คน (8 เท่าของสลัมคลองเตย) ดังนั้นเวทีประชาสังคมโลกจึงนับว่าท้าทายอย่างยิ่งในการหาทางออกท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด และยังมีความพยายามบ่อนทำลายจากเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเวทีของประเทศร่ำรวย กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ และตัวแทนองค์กรโลกบาลทั้งหลาย อาทิ องค์การการค้าโลก เวทีดังกล่าวพยายามสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแย่งชิงทรัพยากรจากประเทศเล็ก ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวทีสังคมโลก มีตัวแทนภาคประชาชนไทย ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ องค์กรชุมชนเข้าร่วมด้วย โดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยกล่าวว่ามีคาดหวังว่าจากการเข้าร่วมเวทีนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมจากทั่วโลกที่มีประสบการณ์การต่อสู้กับโลกาภิวัฒน์ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน จะนำประสบการณ์ ตัวอย่างของเพื่อน จากเวทีนี้ไปต่อสู้ต่อในประเทศของตนเอง เพื่อต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ไม่เป็นธรรมและหาทางออกร่วมกัน.

2. ส่งสารจากมุมไบถึงจอร์จบุช โลกต้องไม่มีอันธพาลสงคราม

อินเดีย/ภาคประชาสังคมร่วม 80,000 คนส่งสารถึงจอร์จ บุช และกลุ่มอภิมหาทุน "ต้องไม่มีอันธพาลสงครามอีกต่อไป" ประนามทำสงครามอิรัค เปิดประเด็นโลกาภิวัฒน์กับรัฐบาลโลก ชี้รัฐบาลเกือบทั่วโลกล้วนสัมพันธ์เหนียวแน่นกับกลุ่มทุน มุ่งแสวงหากำไร ไม่ใช่รัฐบาลเพื่อประชาชนของตัวเอง

วันนี้ (17 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากเมืองมุมไบ (บอมเบย์) พิธีเปิดเวทีสังคมโลกอย่างเป็นทางการเริ่มต้นขึ้น ณ สนามบินเมืองมุมไบ มีเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนกว่า 80,000 คนจากทั่วโลกมาร่วมเวทีอย่างคับคั่ง พร้อมกับส่งสารตรงถึงนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และอภิมหาทุนที่เป็นตัวผลักดันสงครามอิรัค โดยชูคำขวัญว่า "โลกต้องไม่มีอันธพาลสงครามอีกต่อไป" ภายในงานประกอบด้วยสีสันอันหลากหลาย ศูนย์แสดงสินค้าเมืองมุมไบเต็มไปด้วยผู้คนจากทั่วโลก มีการจัดแสดงนิทรรศการจากกลุ่ม องค์กรต่าง ๆ เพื่อสะท้อนปัญหาจากโลกาภิวัฒน์ เช่น ปัญหาที่ดินทั้งจากชนบทและในเมือง การเหยียดผิว การเหยียดเพศ และปัญหาแรงงาน เป็นต้น

เวทีสัมมนาเปิดประเด็นเรื่อง "โลกาภิวัฒน์ รัฐบาลโลก และรัฐชาติ" ในเวทีมีการกล่าวถึงรูปแบบของรัฐชาติที่มีความสัมพันธ์กับทุนในลักษณะต่าง ๆ คือรัฐชาติที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นและเอื้อประโยชน์ต่อทุน เช่นรูปแบบของสหรัฐฯ รัฐชาติที่เดินหน้ากำจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อทุน แสวงหากำไรอย่างเต็มที่ ดังที่เห็นในสงครามอิรัค ไม่มีใครได้ประโยชน์ คนอิรัคถูกทำร้ายมากขึ้น มีเพียงกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ดังนั้นข้ออ้างของรัฐชาติประเภทนี้จึงมิได้มีไว้เพื่อประชาชนของตนเอง แต่มีเพื่อนายทุน

นอกจากนี้ในเวทียังกล่าวถึงรัฐชาติอีกประเภทหนึ่ง คือรัฐชาติที่มีความอ่อนแอ เมื่อเทียบกับกลุ่มทุน โดยเฉพาะทุนภายนอก ดังนั้นจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อทุน เช่น เดินตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ เปิดเสรี ปล่อยเสรี และขายทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งทุนทางสังคมของตัวเอง อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากความสัมพันธ์ภายในประเทศ รัฐบาลประเภทนี้จะอ่อนแอต่อทุน แต่กลับแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประชาชนของตนเอง

เสียงของผู้เข่าร่วมจากเวทีทั่วโลกมีความเห็นว่าทางเลือก ทางออกที่กลุ่มประชาชนคนด้อยโอกาส สหภาพแรงงาน คนชายขอบจะไม่ถูกกดขี่เป็นภาระกิจของคนทั้งโลก ข้อสรุปจากเวทีไม่ใช่คำตอบ แต่สิ่งสำคัญคือการรวมตัวกันสร้างเครือข่ายของขบวนการทางสังคม ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหา เพื่อเป็นการเตือนไม่ให้คนอีกสังคมหนึ่งต้องเดินตามหายนะของอีกสังคมหนึ่ง ต้องเท่าทันและป้องกันไว้ก่อน

3. “นักเคลื่อนไหวพม่าเข้าร่วมเวทีประชุมสังคมโลก”

19 ม.ค.2547 – สำนักข่าว Mizzima รายงานว่า ในการประชุมสังคมโลก ซึ่งจัดขึ้นในกรุงบอมเบย์ ประเทศอินเดีย มีนักเคลื่อนไหวพม่า เข้าร่วมประมาณ 30 กว่าคน จาก นักเคลื่อนไหวทั่วโลกเกือบ 100,000 คน จาก 100 กว่าประเทศ

การประชุมสังคมโลก เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าสำหรับชาวโลก

การประชุมนี้มีสโลแกนว่า “Another world is possible” ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวพม่าที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นสตรีไทใหญ่ อาทิ นางแสงน้อง เลขาธิการสมัชชาสตรีแห่งพม่า หรือ WLB และนางสาวจามตอง จาก WLB นอกจากนั้น ยังมีนายโซเมี้ยน บรรณาธิการของสำนักข่าว Mizzima ,นายอ่องไหน่อู ,นายอ่องตูเญง และนายคะเซา มอญ โดยพวกเขาได้พูดถึงประเด็นเรื่องบทบาทของสตรีในขบวนการประชาธิปไตย, ประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยกลุ่มทหาร,ประเด็นเรื่องการขาดอิสระภาพทางสื่อเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และประเด็นเรื่องการกีดกันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนประเด็นเรื่องผลกระทบของการท่องเที่ยวในพม่า

นอกจากนี้ นางสาว Sally Mawlay จากศูนย์บรรเทาทุกข์พม่า (BRC) ได้พูดถึงกรณีการขุดก๊าซธรรมชาติโดยบริษัทน้ำมันต่างประเทศ ว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในพม่า เนื่องจากพวกเขา(บริษัทน้ำมันต่างประเทศ) เป็นคนให้เงินทุนแก่รัฐบาลทหารในการซื้ออาวุธเพื่อมากดขี่ข่มเหงประชาชนของตน ซึ่งโครงการท่อก๊าซต่างๆนี้ส่งผลให้มีการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานในหลายๆหมู่บ้าน ,การวิสามัญฆาตกรรมต่างๆ, การทรมานทำร้ายร่างกาย, การข่มขืน และการบังคับใช้แรงงานต่างๆ

นับแต่ฟอรั่มสังคมโลกได้จัดการประชุมประจำปีมาตั้งแต่ปี 2544 นี่เป็นครั้งแรกที่ปัญหาเรื่องประชาธิปไตยในพม่าเป็นเรื่องไฮไลท์
รายงานโดยสำนักข่าวเชื่อม
(สำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N ทำหน้าที่เสนอข่าวสารเกี่ยวกับพม่าเป็นภาษาไทย และเป็นเครือข่ายหนึ่งของศูนย์ข่าวสาละวิน หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ [email protected] และ [email protected])

4. เวทีสังคมโลก เกษตรกรตื่นตัวบทเรียนเปิดเสรีสินค้าเกษตร
อินเดีย / เวทีสังคมโลกถกบทเรียนการเปิดเสรีสินค้าเกษตร เกษตรกรย่ำแย่ ไม่มีอธิปไตยทางอาหาร ผู้ได้ประโยชน์คือนายทุนและเจ้าที่ดิน หลายส่วนเห็นร่วมกันต้องเชื่อมโยงพลังภาคเกษตรและคนจนเมืองในภาคอุตาสหกรรมต่อต้านโลกาภิวัฒน์

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเวทีสังคมโลกที่จัดขึ้น ณ เมืองมุมไบ (บอมเบย์) ประเทศอินเดียว่าวานนี้ (18 ม.ค.) มีการประชุมโดยมีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ที่ประเด็นการเกษตรและอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งเกษตรกรจากทั่วโลกให้ความสนใจมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตรอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยเวทียังมีข้อเสนอให้มีการเชื่อมโยงระหว่างคนจนจากภาคเกษตรกรรม กับแรงงานในภาคเมืองและอุตสาหกรรมด้วย เพราะถูกเอารัดเอาเปรียบจากเศรษฐกิจเสรีนิยมเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อผนึกกำลังต่อต้านโลกาภิวัฒน์

นายโฮเซ่ โบเว่ เกษตรกรจากฝรั่งเศสที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของเกษตรกรจนรัฐบาลจับกุมตัวไป กล่าวว่า ในอดีต ภาคเกษตรกรรมของยุโรปก็มีลักษณะทำการเกษตรขนาดใหญ่ที่นายทุนและเจ้าที่ดินมีอิทธิพลอย่างมาก แต่ในช่วงหลังเกษตรกรเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เกษตรกรจะเป็นแค่แรงงานภาคเกษตรเท่านั้น นายทุนและเจ้าที่ดินที่ได้ประโยชน์ เกษตรกรจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิด ปรับระบบเกษตรที่คำนึงถึงวิถีชีวิตของเกษตรกร เน้นการพึ่งตนเองมากขึ้น

นายบุญส่ง มาดขาว เกษตรกรอินทรีย์จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท แต่เกษตรกรกลับเป็นฝ่ายที่ไม่มีความมั่นคงในอาหาร เมื่อดูตัวเลขการส่งออกข้าวเทียบกับการนำเข้าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงปีละ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ดังนั้นการทำให้เกษตรกรพึ่งตัวเอง แทนการพึ่งสารเคมีและเทคโนโลยีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอธิปไตยทางอาหาร

นอกจากนี้ในเวทียังมีการแลกเปลี่ยนปัญหาที่ดินทำกินของคนยากจน โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายแรงงานไร้ที่ดิน หรือ เอ็มเอสที ประเทศบราซิล มาร่วมแลกเปลี่ยน เอ็มเอสทีเป็นเครือข่ายที่ทำการปฏิรูปที่ดินโดยยึดที่ดินนายทุนที่ครอบครองไว้เป็นจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลยอมรับในสิทธิในที่ดินของประชาชน

ภายหลังจากที่ปฏิรูปที่ดินแล้ว เอ็มเอสที.มีการรักษาที่ดินโดยทำเกษตรอินทรีย์พึ่งตนเอง และสร้างตลาดโดยเชื่อมกับคนจนในเมือง เพื่อให้ผลิตผลจากเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีไว้เพื่อคนชั้นกลางและชั้นสูงเท่านั้น

นักวิชาการด้านแรงงานจากฟิลิปปินส์ ชี้ให้เห็นว่า การวางยุทธศาสตร์ร่วมของภาคส่วนต่างที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมยังคงมีจุดอ่อนอยู่ เช่น การเชื่อมโยงเกษตรกรมักเน้นที่เกษตรกรรายย่อย ทั้งที่ในความเป็นจริง มีแรงงานไร้ที่ดินที่ต้องไปเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรจำนวนมาก และคนพวกนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบเสียยิ่งกว่าเกษตรกรรายย่อย และอีกกลุ่มคนที่ต้องพิจารณาก็คือ แรงงานในอุตสาหกรรมค้าปลีกขนาดใหญ่ เพราะเมื่อเกษตรอุตสาหกรรมสามารถยึดครองการผลิตได้แล้ว ก็เริ่มแทรกซึมเข้ามาควบคุมธุรกิจค้าปลีก แรงงานส่วนนี้ จะถูกกดราคาค่าจ้าง และเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก

นายจินดา เจริญสุข ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า การมาร่วมเวทีสังคมโลกถือเป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะบทเรียนความล้มเหลวของโลกาภิวัตน์ของทุนนั้น มีหลายประเทศได้ประสบมาอย่างแสนสาหัสแล้ว ขณะที่ประเทศไทยกำลังถลำเข้าสู่กระบวนการนี้อย่างน้อย 50-60% แต่กลับพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เท่าทันกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้นเวทีเช่นนี้จะเป็นการให้ข้อมูล เพื่อให้นักศึกษาและชนชั้นกลาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสังคมตระหนัก และร่วมกันป้องกันกระแสโลกาภิวัฒน์เศรษฐกิจที่กำลังเข้ามาสู่ประเทศไทย

5. รัฐบาลเป็นศัตรูของประชาชน หนุนเปิดเขตการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรม
อินเดีย/เสียงจากเวทีสังคมโลกสะท้อนชัดรัฐบาลทั่วโลกเป็นศัตรูสำคัญ เหตุหนุนนโยบายเสรีนิยมใหม่ เครือข่ายปฏิบัติการชาวเกาหลีเผยบทเรียนรัฐบาลหนุนเปิดเขตการค้าเสรี ออกกฎหมายเอื้อนักลงทุนต่างชาติ ประชาชนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น พร้อมหนุนช่วยต่อต้านเขตการค้าเสรีเพื่อนบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเวทีสังคมโลก ณ เมืองมุมไบ (บอมเบย์) ประเทศอินเดียว่าหนังสือพิมพ์ "เทอราวีว่า" หนังสือข่าวทางการรายวันของเวทีสังคมโลกฉบับวันที่ 18 ม.ค. นำเสนอข่าวของสำนักข่าวอินเตอร์เพรส พาดหัวว่า "รัฐบาลทุกรัฐบาลตกเป็นเป้าหมาย" เนื้อหาข่าวคือ หากไปสอบถามบรรดาผู้เข้าร่วมการประชุมเวทีสังคมโลก โดยไม่แยกสัญชาติให้ลองบอกศัตรูที่สำคัญที่สุด ทุกคนแทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิดก่อนจะบอกว่า จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช และรัฐบาลสหรัฐฯ แต่อีกไม่กี่วินาทีต่อมาก็จะมีคำตอบเพิ่มขึ้นมาว่า ทุกรัฐบาลในโลกเป็นศัตรูสำคัญของประชาชน

นายอาชิน วาเนค ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นอาวุธนิวเคลียร์ชาวอินเดีย และผู้ก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์และสันติภาพกล่าวว่า ทุกรัฐบาลทั่วโลกเป็นตัวปัญหาเพราะพยายามผลักดันนโยบายเสรีนิยมใหม่ตามแบบฉบับของตัวเอง สนับสนุนการเปิดตลาดเสรีที่ไม่มีความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามแม้ศัตรูของประชาชนจะไม่สามารถถูกโค่นล้มได้โดยง่ายดาย แต่ก็เชื่อว่าการต่อสู้จะเป็นไปได้อย่างแน่นอน

ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิบัติการชาวเกาหลีใต้ อันเป็นเครือข่ายร่วมระหว่างสหภาพแรงงานกล่าวยกตัวอย่างรัฐบาลเกาหลีใต้ที่หวังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ด้วยการออกกฎหมายให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ ออกกฎหมายและระเบียบเพื่อกดขี่แรงงาน อาทิ การยกเลิกการให้เงินระหว่างลาคลอด สิทธิการลาหยุดงานต่อเดือน และการมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร

นอกจากนี้ยังเดินหน้าเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี คือ เขตการค้าเสรีเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และข้อตกลงอื่นๆ ที่เปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการและธุรกิจบริการต่างๆ รวมทั้งการศึกษา ทำให้ขณะนี้ มีโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานสูงขึ้น เพราะไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเช่นที่ผ่านมา

ประชาชนในเกาหลีใต้จึงร่วมมือกันเป็นเครือข่ายเพื่อต่อต้านการเปิดเขตการค้าเสรี ขณะนี้สามารถหยุดยั้งการลงนามเขตการค้าเสรีเกาหลีใต้-ชิลีไปได้ชั่วคราว อย่างไรก็ตามรัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีความพยายามที่จะลงนามเขตการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ อีก เครือข่ายเพื่อต่อต้านการเปิดเขตการค้าเสรีจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหยุดยั้งต่อไป

ผู้นำสหภาพแรงงานในเกาหลีใต้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักของขบวนการบางส่วนอาจดูเหมือนชาตินิยม แต่ในความเป็นจริงเป็นเสียงที่แท้จริงจากผู้ได้รับผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ ต้องหยุดยั้งกลไกต่างๆ ของเสรีนิยมใหม่ที่ทำลายสังคม ขณะที่นักลงทุนชาวเกาหลีใต้ที่มีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบ เอาแต่กอบโกยประเทศอื่นโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางเครือข่ายฯ ก็ร่วมมือกับพันธมิตรประเทศนั้นๆ ในการสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

อย่างไรก็ตาม ข้ออ่อนของเครือข่ายฯ ยังอยู่ที่การเชื่อมกับชนชั้นกลางและผู้บริโภคที่ยังไม่ตระหนักเพียงพอถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเขตการค้าเสรี ดังนั้นจึงมียุทธศาสตร์หลักที่ทำงานกับชนชั้นกลางเพื่อร่วมมือต่อต้านการค้าเสรีด้วย

นอกจากนี้ในเวทีสังคมโลกยังมีการประชุมเรื่องพรรคการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคม ผู้เข้าร่วมจากเวทีทั่วโลกพบว่าการพัฒนากระบวนการทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม และสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ขบวนการประชาชนรากหญ้าที่เข้มแข็ง อันหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทางตรง เนื่องจากที่ผ่านมาขบวนการประชาชนมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมกับการเมืองในระบบตัวแทนหรือระบบรัฐสภา แต่พบว่าหลายครั้งตัวแทนที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประชาชน เมื่อเข้าไปอยู่ในระบบการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองเก่าๆ ก็ไม่สามารถทำอะไร หรือแก้ปัญหาที่จะสามารถตอบสนองปัญหาของประชาชนได้

ตัวอย่างการตั้งพรรคการเมืองของประชาชน เช่นพรรคกรีนในเยอรมัน เดิมเป็นฝ่ายค้าน มีช่องทางส่งผ่านความคิดมากมาย แต่เมื่อเป็นรัฐบาลไม่สามารถเชื่อมโยงความคิดในประเด็นสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ก็ประสบปัญหา ดังนั้นการพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จึงต้องพัฒนากลไกในการเชื่อมโยงความต้องการและแนวคิดของกระบวนการในระดับรากหญ้ากับการเมือง กระบวนการตัดสินใจในระดับรัฐสภาให้ได้ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังตัวอย่างขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน หรือเอ็มเอสทีในประเทศบราซิลประสบความสำเร็จในการเข้าไปจัดตั้งคณะเทศมนตรี จนสามารถเปิดให้ประชาชนมีมีส่วนร่วมทางการเมืองในนโยบายระดับท้องถิ่นโดยตรง

6. เวทีสังคมโลก ชี้การค้าเสรี -สงครามทำร้ายผู้หญิงมากที่สุด
อินเดีย/เวทีสังคมโลกมุมไบ ถกโลกาภิวัฒน์กับผู้หญิง ชี้การขยายตัวของจักรวรรดิ์นิยม การค้าเสรี และสงครามกระทบผู้หญิงมากที่สุด ผู้หญิงต้องเป็นทั้งแรงงาน และมีภาระดูแลครอบครัว แนะการปลดปล่อยเสรีภาพผู้หญิง ผู้หญิงต้องปลดปล่อยตัวเองด้วย ไม่ควรทำร้ายกันเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเวทีสังคมโลกเมืองมุมไบ (บอมเบย์) ประเทศอินเดียว่า (20 ม.ค. 47) ในเวทีมีการพูดถึงผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อผู้หญิง โดยเฉพาะการขยายตัวของจักรวรรดินิยมใหม่ การขยายตัวของการค้าเสรี และสงคราม. ผู้หญิงเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุด ผู้หญิงในเมืองมีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในฐานะที่ตกเป็นแรงงานกลไกการผลิตของทุนนิยม และมีหน้าที่หลักดูแลสถาบันครอบครัว ส่วนผู้หญิงยากจนในชนบท ภายใต้กระแสบริโภคนิยมและวงจรหนี้สิน ผู้หญิงต้องแบกรับภาระดังกล่าวอย่างหนัก

ดร.นาวาเรส ซาดาวี นักเขียนและนักวิชาการจากประเทศอียิปต์ กล่าวว่า 3 ธุรกิจหลักที่มีกำไรสูงสุดจากโลกคือ อาวุธสงคราม ยา และเครื่องสำอาง ยิ่งผู้หญิงใช้เครื่องสำอางมากขึ้นเท่าไร ก็เท่ากับสนับสนุนกำไรให้กับบริษัทข้ามชาติ การที่เด็กสาวชาวมุสลิมในฝรั่งเศสคัดค้านกฎหมายห้ามสวม "ฮิญาบ" หรือ "ผ้าคลุมหน้า" ในโรงเรียน แต่เด็กผู้หญิงเหล่านั้นกลับแต่งหน้าแต่งตา ใส่ยีนส์รัดรูปภายใต้ผ้าคลุมหน้า ดังนั้นการจะเปิดหรือปิดผ้าคลุมหน้านั้นไม่สำคัญเท่ากับต้องเปิดผ้าคลุมหัวใจออกก่อน เพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระ ปลดปล่อยจากสังคมที่เป็นการค้า

ดร.นาวาเรส กล่าวว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับอิรัก มีการยกข้ออ้างเรื่องการปลดปล่อยผู้หญิงให้มีเสรีภาพ แต่สิ่งที่ผู้หญิงอิรัก ประกาศก็คือ เขาจะได้รับเสรีภาพได้อย่างไร เพราะผู้หญิงเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ เมื่อประเทศไม่มีเสรีภาพผู้หญิงก็ไม่มีเสรีภาพ เสรีภาพไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดิน อิสรภาพของประเทศ. ขณะนี้ ร้อยละ 35 ของผู้ชายร่วมต้านสงครามและต่อสู้กับสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ดังนั้นการต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีจึงไม่ควรสู้เฉพาะผู้หญิง แต่ควรหาพันธมิตรและมีประเด็นร่วมกัน

ด้านตัวแทนองค์กรการตรวจสอบสงครามอิรักกล่าวว่า สถานการณ์ในอิรักการยึดครองของสหรัฐอเมริกาขณะนี้เลวร้ายเสียยิ่งกว่าสมัยซัดดัม ฮุสเซน เพราะมีความรุนแรงเต็มไปทั่วท้องถนน ทหารอเมริกันอ้างว่ากวาดล้างผู้ต่อต้าน แต่ทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก ค่าชดเชยชีวิต หากตายจะได้ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่บาดเจ็บ ดังมีกรณีของเด็กผู้หญิงที่ถูกระเบิด ไฟไหม้ไปครึ่งตัวได้ค่าชดเชย 1,000 เหรียญสหรัฐ แต่มีบางกรณีที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น เด็กผู้หญิงคนหนึ่งตายเพราะทหารอเมริกัน ถูกนำศพไปส่งที่โรงพยาบาลทหาร แต่จนถึงขณะนี้ครอบครัวยังตามไม่พบศพ เพราะกองทัพอเมริกันไม่ต้องการให้มีการนับศพพลเรือน

อรุณธาตุ รอย นักเขียนชื่อดังชาวอินเดีย กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาในอินเดียที่รัฐกุฏจราฎว่า มีผู้หญิงมุสลิมถูกทำร้ายอย่างทารุณ แต่ที่น่าสะพรึงกลัวกว่าก็คือ มีผู้หญิงที่ร่วมขบวนการในการทำร้ายผู้หญิงมุสลิมเหล่านั้นด้วย การที่ผู้หญิงทำร้ายผู้หญิงก็เท่ากับทำร้ายตัวเอง ไม่มีผู้ใดถูกลงโทษจากการกระทำดังกล่าว และเชื่อว่ารัฐบาลฮินดูขวาจัดก็จะได้รับการเลือกตั้งอีกในปีนี้

ซาฮา ซาบา จากขบวนการปลดปล่อยผู้หญิงในอัฟกานิสถานกล่าวว่า ผู้หญิงเป็นเหยื่อของสงคราม ไม่ใช่แค่หลัง 11 กันยา แต่เริ่มมาตั้งแต่โซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ อ้างว่าจะเข้ามาปลดปล่อยผู้หญิง ทั้งๆที่ตัวเองมีส่วนในการสนับสนุนตอลิบัน สร้างบาปจนมาถึงทุกวันนี้ สงครามยังดำเนินอยู่ มีผู้หญิงฆ่าตัวตายจำนวนมาก ยิ่งกว่าในยุคตอลิบัน บางคนถูกจับกุมคุมขัง ใส่เครื่องพันธนาการ

ในประชุมใหญ่สภาร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะมีผู้หญิงอยู่ครึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในเมื่อสหรัฐ ฯ สนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่า ที่เคยเข่นฆ่าประชาชนขึ้นมากุมอำนาจ

7. เวทีสังคมโลก ชี้จีเอ็มโออันตราย บรรษัทผูกขาด ละเมิดสิทธิเกษตรกร
อินเดีย / เวทีสังคมโลกเผยจีเอ็มโออันตราย สะท้อนความเป็นเผด็จการของบรรษัทข้ามชาติ มอนซานโต้ละเมิดสิทธิทำจีเอ็มโอปนเปื้อนในไร่ข้าวโพดเกษตรกรแคนาดา แต่กลับฟ้องร้องค่าเสียหายเกษตรกร เกษตรกรยันพร้อมถอนทำลายพืชจีเอ็มโอ ชี้สถานการณ์อาหารโลกผูกขาดจากบรรษัทข้ามชาติเพียง 10 บรรษัท มอนซานโต้รายใหญ่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเวทีสังคมโลก ณ เมืองมุมไบ (บอมเบย์) ประเทศอินเดียว่าในเวทีสังคมโลก ประเด็นพันธุ์พืชวิศวกรรม หรือจีเอ็มโอ เป็นประเด็นที่ประชาสังคมโลกมีความห่วงกังวลมาก และเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวันที่ เพอร์ซี่ ชไมเซอร์ เกษตรกรจากแคนาดาขึ้นศาลสูงสุดของแคนาดา ในคดีที่ถูกบริษัทมอนซานโต้ฟ้องร้อง ฐานที่มีข้าวโพดจีเอ็มโอในไร่ข้าวโพด ทั้งที่เป็นการปนเปื้อนมา แต่มอนซานโต้เรียกร้องค่าเสียหาย นักวิชาการและนักกิจกรรมด้านการเกษตรจึงรวมตัวกันแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องสิทธิแก่เกษตรกร

ดร.วาดานา ชิวา ผู้อำนวยการมูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโยลีและระบบนิเวศ กล่าวว่า เสรีภาพของจีเอ็มโอ ถือเป็นการแสดงถึงเสรีภาพของความเป็นเผด็จการของบรรษัทข้ามชาติในการควบคุมอาหารและการเกษตร คดีของนายเพอร์ซี่จึงไม่เป็นเพียงการแสดงเสรีภาพของนายเพอร์ซี่เอง แต่เป็นการแสดงเสรีภาพของเกษตรกร

มอด เบอร์โร ประธานสภาแคนาดา กล่าวว่า จะต้องมีการต่อสู้ทางกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อหยุดยั้งบรรษัทข้ามชาติอย่างมอนซานโตที่เป็นโจรปล้นเมล็ดพันธุ์จากแผ่นดิน

ดร.โทนี่ คาร์ก จากสถาบันโพลาริส กล่าวว่า คำพิพากษาในคดีนี้ จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมอนซานโต้ เพราะขณะนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกกำลังต่อต้านบริษัท เพราะบริษัทมีพฤติกรรมบีบบังคับให้แต่ละประเทศเปิดประเทศให้กับพืชจีเอ็มโอ

โฮเซ่ โบเว่ เกษตรกรจากฝรั่งเศส ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังยาวนานถึง 8 เดือนในข้อหาถอนทำลายพืชจีเอ็มโอ กล่าวว่าหากปล่อยให้พืชจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศจะเกิดหายนะกับเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่กลัวที่จะถูกจับกุม เมื่อถูกจับกุมก็จะแจ้งกับตำรวจไปเลยว่า ต่อไปจะไปถอนทำลายพืชจีเอ็มโอที่ไหนบ้าง เพื่อให้สามารถรวมพลังทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคในการต่อต้านจีเอ็มโอ

แพท มูนี่ นักวิชาการและนักวิจัยด้านอาหารและเกษตร กล่าวถึงการผูกขาดอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมของโลกว่า ในช่วงปี 1970-80 พืชหลักของโลก 1 ใน 3 สูญหายไปจากการปลูกพืชเพื่อการค้า ขณะนี้ทั่วโลกมีเพียง 10 บริษัทคุมส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ของเมล็ดพันธุ์และสารเคมีทางการเกษตร ในจำนวนนี้มี 5 บริษัทที่มีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ และมอนซานโต้เพียงบริษัทเดียวมีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอมากกว่า 90 %

นอกจากนี้ 10 บริษัทนี้คุมตลาดสารเคมีทางการเกษตรซึ่งมีมูลค่าการค้าทั่วโลก 1,222,320 ล้านบาท (หรือเท่ากับงบประมาณประเทศไทยทั้งปี) และคุมยาที่ใช้กับสัตว์และพืช จากเดิมที่มี 65 บริษัท แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4-5 บริษัทเท่านั้น

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

"เวทีสังคมโลกเมืองมุมไบ : เมืองแห่งความล้มเหลวจากการเปิดเสรี" บทรายงานจาก สำนักข่าวประชาธรรม - มค.๔๗
H

ขณะที่เมืองมุมไบมีมันสมองระดับเทคโนโลยี ก็มีสลัมขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีคนสลัมถึง 800,000 คน (8 เท่าของสลัมคลองเตย) ดังนั้นเวทีประชาสังคมโลกจึงนับว่าท้าทายอย่างยิ่งในการหาทางออกท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด และยังมีความพยายามบ่อนทำลายจากเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นเวทีของประเทศร่ำรวย กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ และตัวแทนองค์กรโลกบาลทั้งหลาย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เมืองมุมไบ ถือเป็นเมืองแห่งการต่อสู้ เมืองแห่งการเปลี่ยนผ่านและความแตกต่าง มีประชากร 16 ล้านคน เคยเป็นเมืองท่าของอาณานิคมในการครอบครองของโปรตุเกส ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ศูนย์กลางแรงงาน ทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองแห่งการต่อสู้นับตั้งแต่การเรียกร้องเอกราชจากจักรวรรดิ์นิยม การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และกลุ่มจัณฑาล (หรือวรรณะที่ต่ำที่สุด) การต่อสู้ของกลุ่มสิทธิสตรี ฯลฯ
ที่ผ่านมามีการจัดเวทีสังคมโลกไปแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 และ 2 จัดขึ้น ณ เมืองปอโตร เอเลเกร ประเทศบราซิล ครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ เมืองไฮเดอร์ราบัด (อินเดีย)
เสียงของผู้เข่าร่วมจากเวทีทั่วโลกมีความเห็นว่า ทางเลือก ทางออกที่กลุ่มประชาชนคนด้อยโอกาส สหภาพแรงงาน คนชายขอบจะไม่ถูกกดขี่เป็นภาระกิจของคนทั้งโลก ข้อสรุปจากเวทีไม่ใช่คำตอบ แต่สิ่งสำคัญคือการรวมตัวกันสร้างเครือข่ายของขบวนการทางสังคม ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนกัน