มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมสำหรับสังคมไทย
บทความมหาวิทยาเที่ยงคืนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความเรื่อง "มหาวิทยาลัยในอินเดียเชิงเปรียบเทียบ" โดย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ 1. ภาพ portrait จากบทความเรื่อง Marco Polo part III นำมาจากหนังสือ National Geographic ฉบับเดือน July 2001 2. ภาพฉากหลัง Figure คน มาจากบทความเรื่อง Earth Pulse นำมาจากหนังสือเล่มเดียวกัน (เทคนิค photo collage)
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความเรื่อง "มหาวิทยาลัยในอินเดียเชิงเปรียบเทียบ" นำมาจากหนังสือ National Geographic ฉบับเดือน July 2001 จากหน้า 111
R
relate
release date
040246

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 238 เดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผลงานต้นฉบับของ...
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
ภาควิชา ปรัชญาและศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ในอดีตสถาบันการศึกษามันเป็นเทวาลัยแห่งการเรียนรู้ ขอใช้คำของอินเดีย, แต่ในปัจจุบันมันได้เปลี่ยนมาเป็นตลาดแห่งการค้า อย่างไรก็ตาม สภาพการแปรเปลี่ยนจากภายในไม่ปรากฎชัดจากข้างนอก

ในขณะที่เรากำลังพูดถึงสถาบันระดับอุดมศึกษา ในบางมิติยังเป็นประดุจเทวาลัย ก็คือยังต้องการให้สังคมยกย่อง ยอมรับ สังคมต้องเสียสละให้กับการสร้างสถาบันอุดมศึกษาขึ้น แต่เนื้อในของสถาบันอุดมศึกษากลายมาเป็นตลาดการค้า

"ตลาดการค้า"กับ"เทวาลัย"มันจะแตกต่างจากกันมากอย่างมากมายมหาศาล

แม้กระทั่งปัจจุบัน เป็นคำถามที่ดีมากที่ชาวบ้านปากมูลถามว่า เสรีภาพทางวิชาการ เป็นเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะในอดีตที่เราทำให้เสรีภาพทางวิชาการ หมายถึงเสรีภาพของคนๆหนึ่งในมหาวิทยาลัย มันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงเลยถ้าเป็นอย่างนั้น

 

H
บทบาทแรก มหาวิทยาลัยต้องนำสังคม บทบาทที่สอง มหาวิทยาลัยต้องตอบสนองสังคม : ประมวล เพ็งจันทร์

เว็ปไซค์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงอุดมศึกษาทางเลือกได้อย่างเท่าเทียม

หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง จะแก้ปัญหาได้

มหาวิทยาลัยในอินเดียเชิงเปรียบเทียบ
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์
ผู้สัมภาษณ์ สมเกียรติ ตั้งนโม
(ความยาวของบทสัมภาษณ์ ประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)

ผู้สัมภาษณ์ : สวัสดีครับ สำหรับในหัวข้อที่จะพูดคุยกับอาจารย์ในวันนี้ ผมตั้งใจจะสนทนากับอาจารย์ในหัวข้อ "มหาวิทยาลัยในอินเดียเชิงเปรียบเทียบ" ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ดังนั้นก่อนอื่น ผมใคร่เรียนถามอาจารย์ถึงเรื่องงานวิจัยของอาจารย์ชิ้นหนึ่งซึ่งอาจารย์ได้ทำขึ้นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในอินเดีย ผมขอทราบชื่อที่เป็นทางการของงานวิจัยชิ้นนี้ก่อนครับ

ประมวล เพ็งจันทร์ : งานที่ผมทำชื่อว่า"ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย"

ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อสักครู่ก่อนมีการบันทึกเทป อาจารย์ได้พูดถึงแนวนโยบายหรือปรัชญาที่น่าสนใจบางอย่างของมหาวิทยาลัยในอินเดียซึ่งมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน อาจารย์พอจะพูดอีกครั้งได้ไหมครับ

ประมวล : ได้ครับ ความจริงเป็นแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการตั้งขึ้นมา หลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อจะมากำหนดแนวทางการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดี ราธะ กฤษณัน ของอินเดียเป็นประธาน

ที่นี้ในส่วนของการกำหนดทิศทางการศึกษา ส่วนที่เป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย คณะกรรมการชุดนี้ได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลถือปฏิบัติว่า มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย ซึ่งกล่าวโดยย่อๆในเชิงสรุปมีภารกิจ 3 ประการ คือ

หนึ่ง, มหาวิทยาลัยมีภารกิจที่จะสร้างชาติ นั่นคือทำให้ประชาชนซึ่งได้รับการศึกษามีสำนึกร่วมกันในความเป็นชาติอินเดีย แม้ว่าจะแตกต่างกันด้วยภาษาและวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์ แต่จะต้องมีความสำนึกความเป็นอินเดียร่วมกัน

ภารกิจข้อที่สองก็คือ, ต้องทำให้ประชาชนชาวอินเดียมีความอยู่ดีกินดีพอสมควรตามอัตภาพ นั่นคือให้มีอาชีพที่เหมาะสมกับอัตภาพ และ

สุดท้าย, ต้องสร้างจิตสำนึกที่สูงส่งของอินเดีย ก็คือ อินเดียมีความสำนึกในความเป็นมนุษยชาติ ที่ไม่ติดข้องอยู่เพียงว่าจะมีอาชีพอยู่กินเท่านั้น แต่มีจิตสำนึก มีเป้าหมายตามคติโบราณเดิมของอินเดีย ก็คือ ต้องมีจิตที่มุ่งไปสู่ความหลุดพ้น

ผมคิดว่านโยบายทั้งสามประการนี้ เกิดขึ้นมาเนื่องมาจากปัญหาที่อินเดียเผชิญอยู่ในเวลานั้น คืออินเดียก่อนได้รับอิสรภาพ อินเดียตกอยู่ในภาวะที่แตกแยกอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ คนอินเดียได้แตกออกเป็นกลุ่มๆ เป็นพรรค เป็นพวก เป็นฝักเป็นฝ่าย

ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์พอจะอธิบายได้ไหมว่า อะไรเป็นสาเหตุของความแตกแยกอันนี้

ประมวล : มีอยู่หลายส่วน ตามประวัติวัฒนธรรมอินเดียคือ ความแตกแยกของอินเดียมีอยู่แล้วตามปกติ แต่เป็นความแตกแยกที่ต่างคนต่างอยู่และช่วยเหลือกัน กล่าวได้ว่า ชมพูทวีปมีความเป็นแคว้น เป็นชุมชนเล็กๆซอยย่อยอยู่ ความเป็นรัฐที่มีเอกภาพไม่มีอยู่ก่อนแล้วเป็นปกติ แต่ว่าทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยความเชื่อทางศาสนา

เมื่อความเชื่อทางศาสนาถูกทำลายลงหลังจากที่มีกษัตริย์ชาวมุสลิม ซึ่งเมื่อศาสนาอิสลามรุ่งเรืองขึ้นในตะวันออกกลาง ก็แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่อินเดีย ช่วงนั้นเองที่ทำให้ความเป็นอินเดียกระจัดกระจาย ไม่มีการประสานกัน สุดท้ายกลายมาเป็นอริศัตรูกัน

และที่สำคัญที่สุดตอนที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย อังกฤษใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง ก็คือทำให้เกิดความแตกแยกกัน แล้วอังกฤษเข้าไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำเช่นนี้ ทำให้อังกฤษปกครองอินเดียอยู่ได้นานร่วม 200 ปี

ความแตกแยกตรงนี้ ได้กลายมาเป็นปัญหาทำให้ชาวอินเดียที่เป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมในสมัยนั้นคิดว่า นี่คือปัญหาหลักของอินเดีย ถ้าจะสร้างประเทศอินเดียให้มั่นคง จะต้องลบความแตกแยกอันนี้ออกไป เพราะฉะนั้น ภารกิจดังกล่าวจึงถูกนำมาเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา ว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนชาวอินเดียมีความสำนึกเป็นแบบชาตินิยม ก็คือ การมีความรู้สึกร่วมกันในความเป็นอินเดีย แล้วทำให้ความแตกต่างนั้นเป็นเพียงความแตกต่างที่เป็นของเฉพาะบุคคล ซึ่งจะไม่นำมาสู่ความอ่อนแอของชาติ ดังนั้นเป้าหมายประการแรกก็คือ ทำให้เกิดลัทธิชาตินิยมนั่นเอง

ส่วนประการที่สอง เนื่องจากอินเดียตกอยู่ในสภาพความตกต่ำในด้านการเป็นอยู่ ประสบกับความยากจน มีประชาชนจำนวนมากที่ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิต เพราะฉะนั้นการจะพัฒนาอินเดียให้มั่งคั่งได้ ต้องให้ประชาชนมีอยู่มีกิน ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจึงมีหน้าที่ตระเตรียมผู้คนให้มีความรู้เพียงพอที่จะทำให้เกิดการผลิต และแบ่งปันผลผลิตกันในสังคมอินเดียได้

ส่วนสุดท้าย เนื่องจากสังคมอินเดียมีความรู้สึกว่า ตัวเองเคยยิ่งใหญ่ ในอดีตอินเดียเคยเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลก โดยเฉพาะในเอเชียใต้ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียมีอิทธิพลมาก อิทธิพลที่ว่านี้ หมายความว่า อินเดียยิ่งใหญ่ได้ก็เพราะอินเดียมีจิตสำนึกที่สูงส่ง มีความรุ่งเรืองทางจิตวิญญาน ก็คือมีศาสนา เพราะฉะนั้นอินเดียอยากจะกลับคืนไปสู่สภาวะนั้นอีกครั้งหนึ่ง จึงพยายามสร้างเป้าให้ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงจะต้องทำให้คนอินเดียมีจิตสำนึกที่สูงส่งดั่งอินเดียในอดีตให้ได้

ในวัตถุประสงค์ทั้งสามประการนี้ การจัดวางวัตถุประสงค์ ผมคิดว่ามีเจตนาแอบแฝงก็คือ ให้นโยบายข้อที่สองคือเรื่องการทำมาหากินหรือเศรษฐกิจมาอยู่ตรงกลาง ก็คือหมายความว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดีย จะต้องเป็นไปภายใต้ชาตินิยม และขณะเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องเป็นไปภายใต้จิตสำนึกของจิตวิญญาน ไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่เหนือเรื่องจิตวิญญาน ซึ่งเป็นระบบคุณค่าของอินเดีย และไม่ปล่อยให้เรื่องเศรษฐกิจไปทำลายความสามัคคีในชาติ ว่านี่คือโครงสร้างที่เขาพยายามจัดไว้

แนวความคิดที่ว่านี้ รัฐบาลอินเดียจึงให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาจัดเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องให้กับประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ประชาชนเข้ามาจัดการศึกษาอย่างอิสระ แม้ว่าจะอนุญาตให้จัดตั้งการศึกษาระดับวิทยาลัยขึ้นมาก็จริง แต่ก็ต้องเป็นไปภายใต้ข้อกำหนดของรัฐบาล ตรงนี้เองซึ่งได้เป็นปัญหามาเรื่อยๆ

ที่ใช้คำว่าเรื่อยๆเพราะ เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลง คือ อินเดียช่วงที่พรรคคองเกรสเป็นผู้นำทางการเมืองร่วม 2-3 ทศวรรษ เป็นช่วงที่การเมืองมีเสถียรภาพสูงมาก เพราะฉะนั้นการทำเช่นนี้มีความหมายในเชิงปฏิบัติได้ แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลพรรคคองเกรสมีปัญหาเรื่องผู้นำ คือตอนที่นางอินทิรา คานธี ถูกฆ่าตาย ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายคู่แข่งพยายามจะลุกขึ้นมาต่อสู้

และในการต่อสู้ พรรคการเมืองคู่แข่งมีความรู้สึกสำนึกบางอย่างว่า จะสู้กับพรรคคองเกรสได้อย่างไร แนวนโยบายทางการศึกษาจึงถูกเปลี่ยนแปลงทันที เมื่อพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคคองเกรสขึ้นมา โดยเฉพาะการตีความตรงนี้ มันถูกตีความใหม่ เช่น การตีความเรื่องชาตินิยม

การตีความเรื่องชาตินิยม ก่อนหน้านี้ได้มีการเอาเรื่องศาสนาเข้ามาพัวพันด้วย พรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรคของชาวฮินดูมีความรู้สึกว่า ความเป็นอินเดียจะต้องทำให้เป็นฮินดู เพราะว่าอินเดียที่แตกแยกถูกแตกแยกเพราะศาสนา ดังนั้นจึงเกิดปากีสถานและบังคลาเทศ ที่เกิดเพราะมันมีความต่างกันทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ อินเดียในปัจจุบันซึ่งเป็นฮินดูสตาน ก็ต้องเป็นของชาวฮินดู เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นเอกภาพผ่านศาสนาฮินดู

แนวนโยบายเช่นนี้เองทำให้เกิดปัญหาการจัดการภายในเยอะมาก หลังจากนั้นมา เราจะพบว่ามีการเบียดเบียนกันทางศาสนาเยอะมาก ขนาดเกิดเป็นวิกฤตการณ์ในสังคมอินเดียเลยทีเดียว และในส่วนของเรื่องเศรษฐกิจ พรรคที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองของอินเดีย เขาเริ่มมีความรู้สึกว่า ถ้าเขาจะทำให้ประสบความสำเร็จ ก็คือต้องทำให้เรื่องเศรษฐกิจประสบความสำเร็จได้

ในปี 1991 อินเดียประกาศแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่ และแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ ได้ถูกทำให้มีความหมายในเชิงของการเปิดประเทศ ต้อนรับทุนต่างประเทศ และปล่อยให้ต่างประเทศเข้าไปลงทุนได้ กระบวนการนี้ทำให้เศรษฐกิจมีความสำคัญเหนือเรื่องของศาสนา และเหนือเรื่องชาติ เพราะเหตุว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจริงๆ ประชาชนเกิดความรู้สึก และตรงนี้ไปกระทบกับสิ่งที่ผมเชื่อว่า มันเป็นโครงสร้างของระบบคิดสามประการที่กล่าวมา

ระบบคิดทั้งสามประการของอินเดียที่เราพูดกัน ถ้าจะถอดระหัสก็ได้ว่า มาจากระบบคุณค่า 4 ประการของอินเดียเดิมนั่นเอง คือคุณค่าที่เชื่อว่า ชีวิตมนุษย์หรือสังคมมนุษย์ ต้องยอมรับหรือเป็นไปภายใต้คุณค่า 4 ประการคือ ธรรมะ, อรรถะ, กามะ, และโมกษะ.

ในส่วนที่เป็น"ธรรมะ"กับ"โมกษะ" คือสิ่งที่ทำขึ้นมาให้มีความหมายเชิงที่จะโอบอุ้มอินเดียให้สูงส่งเอาไว้ได้ แต่ทันทีที่ระบบการศึกษาถูกเปลี่ยนแปลงไปให้ความหมายกับเรื่องเศรษฐกิจ ก็คือ "อรรถะ"กับ"กามะ"สูง ประเด็นเรื่อง"ธรรมะ"กับ"โมกษะ"ก็น้อยลง

เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่มีปัญหามาก ก็คือหมายความว่า เมื่อก่อนระบบคุณค่าที่วางอยู่บนเรื่อง"ธรรมะ" ปัญหาอาชีพหรือการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่แสวงหาความหลุดพ้นหรือแสวงหาทางรอดของคนๆเดียว แต่เพื่อจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นคนๆหนึ่งเมื่อทำหน้าที่ใดๆ เช่น ถ้าคุณเป็นกษัตริย์ คุณก็ทำหน้าที่กษัตริย์ ไม่ใช่เพราะว่าคุณยิ่งใหญ่ แต่เพื่อให้ประชาชนมั่งคั่ง. คุณจะเป็นพวกศูทร เป็นจัณฑาล คุณกวาดถนนเพื่อถนนสะอาด ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว

แต่ทันทีที่ระบบ"อรรถะ"และ"กามะ"แบบใหม่เข้ามา คือ ตอนที่อังกฤษเข้ามาสู่อินเดีย สถาบันการศึกษาของอินเดียที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยชาวอังกฤษ ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อผลิตบุคลากรป้อนระบบอังกฤษ ก็คือส่วนหนึ่งป้อนระบบราชการที่อังกฤษปกครองอยู่ อันที่สองป้อนระบบการค้าที่อังกฤษยึดครองอยู่ เพราะฉะนั้นชาวอินเดียที่ผ่านระบบการศึกษาแบบใหม่ จึงถูกทำให้มีความรู้สึก ความคิด ค่านิยมแบบอังกฤษ เพราะว่าในระบบการศึกษาแบบอังกฤษ เขาออกแบบและประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่า เขาต้องการจะสร้างสถาบันอุดมศึกษาเพื่อผลิตคนอินเดียวรรณะใหม่ ที่มีเลือดเนื้อเป็นอินเดีย แต่มีรสนิยมเป็นอังกฤษ

รสนิยมเป็นอังกฤษตรงนี้ก็คือ การสร้างระบบคุณค่าขึ้นมาใหม่ในสังคมอินเดีย เช่น ตัวอย่างกรณีการประกอบอาชีพที่ถูกประเมินค่าจากสิ่งที่เรียกว่า"เงิน"หรือ"ค่าจ้าง" เพราะฉะนั้นอาชีพใดก็ตามที่ได้ค่าจ้างสูง อาชีพนั้นก็จะถูกตีความว่ามีคุณค่าสูง ดังนั้นการประกอบอาชีพก็หมายถึงการแสวงหาเงิน ตรงนี้เองที่ทำให้ระบบคุณค่าเปลี่ยนแปลงไป และผมคิดว่าโครงสร้างเหล่านี้ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปในกระบวนการจัดการศึกษาของอินเดียยุคใหม่

ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความเกี่ยวกับระบบคุณค่าของอินเดียอีกสักนิด เพื่อความเข้าใจของคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมฮินดู อย่างเช่นคำว่า ธรรมะ, อรรถะ, กามะ และโมกษะ ถ้าจะแปลให้เข้าใจ หมายความว่าอะไรครับ?

ประมวล : อินเดียมีความเข้าใจและเชื่อว่าชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นมา เรามีเป้าหมายที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ และเป้ามหมายนั้นจะทำให้เรามีความหมายในขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจึงกำหนดไว้เลยว่า ชีวิตของคนเราต้องทำชีวิตให้มีความหมายผ่านคุณค่า 4 ประการ กล่าวคือ

"ธรรมะ"หมายความว่าคนอินเดียเชื่อว่า คนเราจะมีความหมายในชีวิต เมื่อเราได้ปฏิบัติ"หน้าที่"อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ทีนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมวลมนุษยชาติ ก็คือสังคมที่จะขับเคลื่อนไปได้ก็จะต้องมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ในการแบ่งหน้าที่กันทำนี้หมายความว่า ถ้าใครทำหน้าที่ดีที่สุด ก็จะเป็นคนดีที่สุด

ถ้าคนๆหนึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ และปกครองประเทศอย่างดีเขาก็จะเป็นคนดี ในขณะที่คนวรรณะจัณฑาลกวาดขยะ ล้างทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ ถ้าเขาทำความสะอาดห้องน้ำได้ดีเขาก็เป็นคนดีเท่ากับพระราชา แต่ถ้าสักวันหนึ่งถ้าพระราชาปกครองประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว ในขณะที่จัณฑาลกวาดถนนเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัณฑาลก็ย่อมจะสูงส่งกว่าพระราชา

ที่เป็นอย่างนี้ก็หมายความว่า เราทำหน้าที่นั้นเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าสันติสุข หรือสงบสุข หรือประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นคนอินเดียจึงเสนอสิ่งเหล่านี้ เช่นเสนอผ่านพระคัมภีร์ภควัคคีตาให้เราทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ นั่นคือหมายความว่าทำหน้าที่นั้นเพื่อทำให้ตัวเองมีความหมาย การทำหน้าที่ให้มีความหมายนี้ ชีวิตต้องมีสิ่งที่ปิติเบิกบานบ้าง จึงมีข้อเสนอว่าชีวิตเราจะต้องเป็นไปในลักษณะที่มี"อรรถะ" ทำให้ชีวิตมีความหมายในการได้ครอบครอง มีอำนาจที่จะจัดการสิ่งต่างๆ เพราะความเป็นชีวิตของเราหมายถึงว่า เรามี"อรรถะ"คือทำให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย, "กามะ"คือการทำให้เรามีความปิติเบิกบาน ในขณะที่ทำงาน ในขณะที่มีชีวิตอยู่

คือชีวิตนี้เป็นภาระ เมื่อเป็นภาระ การที่เรามี"กามะ"ก็คือเหมือนกับว่าเรารู้สึกมีความเบิกบานเป็นสินตอบแทน เขาบอกว่าเหมือนกับเรากินอาหาร เรานึกถึงสภาพของอาหารที่เราต้องเคี้ยวแล้วเราต้องกลืน เป็นภาระอันหนัก แต่เมื่ออาหารนั้นมีรสชาติอร่อย ทำให้การเคี้ยวกลืนอาหารเป็นไปอย่างมีความสุข ความพอใจ ความยินดีที่จะกินอาหาร ทั้งๆที่ความจริงแล้วอาจจะเหนื่อยก็ได้ถ้าต้องเคี้ยวอะไรเหนียวๆแข็งๆ "กามะ"ก็เปรียบเหมือนรสชาติของชีวิต ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเอร็ดอร่อยในการดำเนินชีวิต

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ แม้ว่าเราจะครอบครองทรัพย์สิน มีอำนาจ หรือมีความสุขกับการมีชีวิต แต่เราต้องมีเป้าหมายที่สำคัญนั่นคือ"โมกษะ" "โมกษะ"คือการทำให้ชีวิตเราไม่ได้มีตัวเราเป็นส่วนตัว แต่ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งคือธรรมชาติ "โมกษะ"ก็คือการหลุดออกมาจากการยึดมั่นในตัวตนคนเดียว แล้วทำให้ตัวเรากับโลกทั้งมวลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เพราะฉะนั้น กระบวนการปฏิบัติแบบนี้จึงเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างระบบคุณค่าพื้นฐานของชาวอินเดีย ดังนั้นชาวอินเดียแม้เขาจะครอบครองทรัพย์สิน ก็ต้องครอบครองในความหมายที่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่จะเข้าสู่โมกษะ แม้เขาจะบริโภคกาม เขาก็จะบริโภคกามในความหมายว่า จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่โมกษะ

กระบวนการการคิดแบบนี้ทำให้มีอาศรมหรือจังหวะของชีวิต ที่เราพูดถึงพรหมจรรย์, คฤหัส, วนปรัส, สันยาสี ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งเป็นโครงสร้างทางสังคม แต่โครงสร้างทางสังคมที่ว่านี้มันถูกทำลายลงในปัจจุบัน ดังนั้นอินเดียจึงมีความรู้สึกวิตกว่า สิ่งที่เป็นระบบคุณค่าเดิมมันถูกทดแทนโดยระบบคุณค่าใหม่

ผมยกตัวอย่างประกอบคือ คุณค่าใหม่ที่ถูกเสนอเข้ามาในยุคปัจจุบัน เช่น เรามองสังคมเป็นส่วนๆ, เป็นปัจเจก, เช่น เราเสนอสิ่งที่เรียกว่า"สิทธิ"เข้ามาในสังคม คำว่า"สิทธิ"คือกายึดถือเอาปัจเจกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน พอเราพูดถึง"สิทธิ"กับ"ธรรมะ"ในสังคมอินเดียจึงขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อคนยึดติดกับเรื่อง"สิทธิ"คนจะทำลายความรู้สึกเรื่องของ"ธรรมะ"ลงไปเลย เพราะคนจะคิดแต่ว่าตัวเองจะได้อะไร? ซึ่งเป็นสิทธิของตัวเอง ทำให้คนขาดความสำนึกเรื่อง"ธรรมะ"หรือ"หน้าที่" นี่คือตัวอย่างที่พยายามจะชี้ให้เห็นว่า ระบบคุณค่าแบบใหม่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในแนวความคิดตามระบบคุณค่าแบบเดิมในสังคมอินเดีย

ผู้สัมภาษณ์ : สำหรับเรื่อง"สิทธิ"ที่อาจารย์อธิบายว่ามันมีลักษณะปัจเจก ตอนนี้มีคำอธิบายของนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา รวมถึงนักนิติศาสตร์ที่พูดถึง"สิทธิชุมชน" คำว่า"สิทธิชุมชน"นี้ยังขัดแย้งกับ"ธรรมะ"ที่ชาวฮินดูหรือคนอินเดียส่วนใหญ่นับถืออยู่หรือเปล่าครับ

ประมวล : ถ้าเป็น"สิทธิชุมชน"จะไม่ขัดแย้ง เพราะคนอินเดียเขาจะถือสิ่งที่เรียกว่า"ธรรมะ" ถ้าเราจะแปลก็คือ"สิทธิของชุมชน"นั่นเอง ที่จะได้เป็นส่วนกลาง. คำว่าชุมชนเราไม่ได้มองเป็นคนๆ แต่เรามองคนเป็นจำนวนมาก เมื่อมาอยู่ร่วมกันควรจะมีอะไรที่ควรจะปกป้องตัวของเขาเองได้ ผมเข้าใจว่าระบบคิดของอินเดียก็คือระบบคิดแบบ"สิทธิชุมชน"นั่นเอง ไม่ใช่"สิทธิ"ของปัจเจกบุคคล

ดังนั้นเวลาเราพูดถึงกรอบคิดของธรรมะ ที่เราบอกว่าจัณฑาลก็มีศักดิ์ศรีไม่ด้อยกว่าพระราชา เพราะอะไร ก็เพราะเรามองเรื่องชุมชน ชุมชนที่ถ้าไม่มีใครกวาดขยะ ชุมชนนั้นก็มีมลทิน ชุมชนใดถ้าไม่มีการจัดระเบียบ ชุมชนนั้นก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะคนที่มากวาดขยะให้ชุมชนนั้นสะอาด คนที่มาจัดระเบียบให้ชุมชนนั้นเป็นไปได้อย่างสะดวกก็มีความหมายพอๆกันต่อชุมชนนั้น

เหมือนกับว่าถ้าเรามีทีมฟุตบอลหนึ่งทีม จริงๆแล้วนักกีฬาที่เล่นฟุตบอลทุกๆตำแหน่ง มีความหมายต่อทีม ถ้าเรามีนักฟุตบอลที่เตะเก่งกองหน้า แต่ไม่มีกองกลาง และกองหลัง ทีมฟุตบอลนั้นก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ อินเดียก็มองสังคมแบบนี้

อินเดียจึงพยายามเสนอระบบการจัดสรรแบ่งงานกันทำ แต่ในความหมายของชุมชน ไม่ใช่ในความหมายของปัจเจกบุคคล ดังนั้นเวลามีการศึกษาเรียนรู้ใดๆ ความรู้ที่เป็นความรู้ของชุมชนจึงมีความสำคัญกว่าความรู้ของปัจเจกบุคคล ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดเพราะปัจจุบัน เราทำให้ความรู้เป็นของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นความรู้ของชุมชน

ผู้สัมภาษณ์ : ผมอยากจะพลิกกลับมา ซึ่งเมื่อสักครู่ก่อนการบันทึกเทป อาจารย์บอกว่าปัญหานี้ตอบยาก ไม่รู้ว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? คำถามของผมก็คือว่า เราจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในอินเดียหรือในประเทศไทย ระบบบริหารที่เป็นอยู่ปัจจุบันมีปัญหามาก เช่น ทำให้คนที่ทำงานร่วมกันเกิดความแตกแยก อาจารย์ก็บอกเองว่าในอินเดียยิ่งระส่ำระสายกว่านั้นอีก อาจารย์คิดว่าประเด็นเกี่ยวกับการบริหารที่มีปัญหาในมหาวิทยาลัย สาเหตุจริงๆเกิดขึ้นมาจากส่วนไหน และทางออก อาจารย์คิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไร?

ประมวล : เรื่องความแตกแยกของบุคลากรในมหาวิทยาลัย สาเหตุผมคิดว่ามีเยอะและซับซ้อนมาก ทั้งนี้เนื่องจากขบวนการแปรเปลี่ยนของระบบการศึกษา มันมีพัฒนาการในการเปลี่ยน ผมใช้คำว่าของผมว่า ในอดีตสถาบันการศึกษามันเป็น"เทวาลัยแห่งการเรียนรู้" ขอใช้คำของอินเดีย, แต่ในปัจจุบันมันได้เปลี่ยนมาเป็น"ตลาดแห่งการค้า" อย่างไรก็ตาม สภาพการแปรเปลี่ยนจากภายในไม่ปรากฎชัดจากข้างนอก ในขณะที่เรากำลังพูดถึงสถาบันระดับอุดมศึกษา ในบางมิติยังเป็นประดุจเทวาลัย ก็คือยังต้องการให้สังคมยกย่อง ยอมรับ สังคมต้องเสียสละให้กับการสร้างสถาบันอุดมศึกษาขึ้น แต่เนื้อในของสถาบันอุดมศึกษากลายมาเป็นตลาดการค้า

"ตลาดการค้า"กับ"เทวาลัย"มันจะแตกต่างจากกันอย่างมากมายมหาศาล ในขณะที่เป็น"เทวาลัย" เราไปด้วยจิตคารวะ ไปเพื่อทำบุญบริจาค แต่ขณะที่เราไป"ตลาด" เราไปด้วยความระมัดระวัง จะจ่ายเงินสักอย่างจะต้องต่อรองราคา ผมเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการของอุดมศึกษาในทุกๆสังคม ทำให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการในสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบัน

แม้กระทั่งปัจจุบัน เป็นคำถามที่ดีมากที่ชาวบ้านปากมูลถามว่า เสรีภาพทางวิชาการ เป็นเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะในอดีตที่เราทำให้เสรีภาพทางวิชาการ หมายถึงเสรีภาพของคนๆหนึ่งในมหาวิทยาลัย มันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงเลยถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าคุณคิดว่าคุณมีเสรีภาพเป็นปัจเจก แต่ถ้าบอกว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นเสรีภาพของประชาชนในสังคมที่จะได้แสวงหาความรู้ และเทียบเคียงชุดคำตอบอย่างอิสระต่างๆ อันนี้มีความหมายมาก

เพราะฉะนั้นปัญหาของอุดมศึกษาของไทยในปัจจุบัน ผมคิดว่าที่มันมีปัญหามากเพราะเรายังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความชัดเจนว่าสถาบันอุดมศึกษาคือมหาวิทยาลัย สถานภาพของมันจริงๆคืออะไร? ผมคิดว่าในขณะที่เราบอกว่า มหาวิทยาลัยคือมันสมองหรือจะเรียกว่าสถาบันทางวิชาการของสังคม แต่จริงๆตามข้อเท็จจริงก็บอกได้ว่า มหาวิทยาลัยก็คือสถาบันรับใช้อะไรบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน ดังนั้นกระบวนการจัดการตรงนี้ จึงมีลักษณะที่เป็นปัญหา เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ทำให้การจัดการแบบนี้เกิดความลักลั่น

ลักลั่นก็คือ เมื่อจะปฏิบัติแบบ"ตลาด" ก็เสียมารยาทในฐานะที่บอกว่าเป็น"วัด" จะบอกว่าเป็น"วัด"ก็รู้สึกว่าจะเสียเปรียบ เพราะจริงๆมันคือ"ตลาด" เพราะฉะนั้นลองนึกถึงภาพดูว่า ถ้ามีคนเข้าไปในวัด และคิดเสียว่าเป็นตลาด ก็จะต่อรองกับพระว่าอย่าเก็บเงินค่าทำบุญแพงนัก ควรจะลดราคาลงบ้าง แต่ประชาชนก็ไม่กล้าจะต่อรอง เพราะรู้สึกว่านั่นคือ"วัด" นั่นคือ"พระ". แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราไป"ตลาด" แล้วบอกว่า"แม่ค้า"คือ"พระ" เราก็ไม่กล้าต่อรองอีกเหมือนกันเมื่อแม่ค้าบอกราคาแล้ว

เพราะฉะนั้น กระบวนการผิดปกติในเชิงความหมายเช่นนี้ ผมคิดว่ายังคงเป็นปัญหาในเชิงการบริหารจัดการอยู่ จะใช้ระบบตลาดกับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ก็ดูเหมือนกับว่าจะไม่เหมาะสม จะใช้ระบบการบริหารแบบสถาบันวิชาการอย่างอดีตก็รู้สึกว่าไม่ได้ ไม่มีผลในเชิงปฏิบัติ

ผมไม่สามารถพูดเจาะลงไปในรายละเอียดได้หมด แต่ผมคิดว่าในเชิงโครงสร้างที่ไม่ชัดเจนในเชิงความเป็นมหาวิทยาลัย ว่ามีภารกิจอะไรอย่างแน่ชัด เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างขึ้น

ผู้สัมภาษณ์ : ผมอยากจะเจาะลึกลงไปเลยว่า ระบบบริหารภายในทุกๆส่วน ที่ล้วนมีความแตกแยกของบุคลากรภายใน อาจารย์คิดว่าสาเหตุจริงๆมาจากเรื่องอะไร?

ประมวล : ผมคิดว่าเรื่องจริงๆก็คือ เมื่อเราเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย ความเป็นปัจเจกบุคคลที่ถูกทำให้ผลประโยชน์เป็นตัวแลกเปลี่ยนมีส่วนอย่างมาก ก็คือหมายความว่า ทันทีที่เราเข้ามาสู่สถาบันอุดมศึกษา แล้วเป้าหมายของการเข้ามาสู่ ในฐานะที่เป็นพนักงานที่ต้องการเงินเดือน ผมว่ามันมีปัญหาทันทีแล้ว ตรงนี้มันจะไม่มีปัญหาถ้าเราไปทำงานกับเอกชนที่มี CEO ที่เด็ดขาด คือมีการตกลงกันเลยว่า ฉันจะทำงานให้คุณแล้วคุณก็จ่ายเงินค่าตอบแทนให้ฉัน ถ้าคุณจ่ายค่าตอบแทนให้ฉันไม่ดีฉันก็จะออกไปหาที่ใหม่

แต่เวลาเราเข้ามาสู่สถาบันการศึกษา มีปัญหาว่าเราแสดงตนสำหรับสถานภาพของเราต่อสาธารณะ ในฐานะที่ไม่ใช่เป็นลูกจ้างที่จะมากินเงินเดือน แต่เรามาทำหน้าที่เป็นพระ เป็นครู ความเป็นจริงของเรา เรากำลังทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจัดองค์กรในเชิงโครงสร้างที่ไม่ชัดเจน ว่าองค์กรนี้จะมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมขององค์กรเป็นแบบครู อาจารย์ หรือเป็นแบบพ่อค้าแม่ค้า ดังนั้นกระบวนการที่เป็นปัญหา พอมีคนๆหนึ่ง... สมมุติตัวอย่าง มีอาจารย์คนหนึ่ง ตอนเป็นอาจารย์ดีมาก แต่พอไปเป็นผู้บริหาร จะถูกทำให้เปลี่ยนไปทันที เช่น จะต้องมีการต่อรองกันในเชิงผลประโยชน์ จะต้องรักษาอำนาจของตัวเองกับอำนาจที่เหนือกว่า จะต้องจัดสรรผลประโยชน์กับคนระดับล่างลงมาเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับเชิงอำนาจ

ขบวนการเหล่านี้ ความคิดในการบริหารเชิงวิชาการด้อยคุณภาพลงทันทีเมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะต้องจัดการบริหารในเชิงผลประโยชน์ขึ้นมาแทน การบริหารในเชิงผลประโยชน์ตรงนี้ไม่มีกติกาที่ชัดเจน เพราะเหตุว่าเราไม่กล้าที่จะกำหนดกฎกติกาเช่นที่ว่านั้น

กระบวนการที่กำลังเกิดการเรียกร้องขึ้นมาใหม่ ที่เรียกว่ากระบวนการมหาวิทยาลัยในกำกับ ก็คือกำลังจะทำให้เกิดระบบตลาดที่ชัดเจนนั่นเอง เพื่อที่ว่าจะได้แก้ปัญหาความไม่ชัดเจน เรื่องของความเป็น"เทวาลัย"หรือเป็น"ตลาด" ผมคิดว่าตรงนี้คือปัญหาที่อยู่ในจิตใจของประชาชนซึ่งอยู่ในส่วนขององค์กรทางการศึกษา

ผู้สัมภาษณ์ : ผมมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสำหรับบุคลากรที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง ซึ่งหลังจากนี้ผมใคร่จะฟังความคิดเห็นของอาจารย์ด้วยครับ คือ นอกจากผลประโยชน์ที่แต่ละบุคคล หน่วยงานของคณะ ภาควิชา สาขา ที่มีความขัดแย้งกันในการแย่งชิงผลประโยชน์แล้ว ผมยังมองเห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับการแยกย่อย ซอยออกเป็นส่วนๆของสาขาวิชาต่างๆที่มีอยู่อย่างมากมายด้วย ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกัน และความแยกขาดออกจากกัน

อันที่สองก็คือ แม้จะอยู่สาขาวิชาเดียวกันก็ตาม แต่ความรู้ที่มันพัฒนาอยู่ตลอดเวลา บางคนล้าหลัง บางคนก้าวหน้า ความขัดแย้งแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับบุคลากรเช่นเดียวกัน

ผมคิดว่าอีก 2 ส่วนที่พูดถึงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแยกย่อย ซอยออกเป็นส่วนๆของสาขาวิชา และความก้าวหน้าทางวิชาการที่ไม่เท่าเทียมกัน อาจารย์เห็นด้วยไหมว่า มีส่วนทำให้บุคลากรไม่สามารถประสาน หรือปรองดองกันเป็นหนึ่งเดียวได้

ประมวล : ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าโครงสร้างของมหาวิทยาลัยที่เราจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งหมายถึงหลายๆส่วน มันทำให้วิชาการกลายเป็นเทคนิค เป็น how to พอมันกลายเป็นเรื่องเทคนิค มันทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะเทคนิค เฉพาะทาง กระบวนการแบบนี้ทำเหมือนกับว่าต่างคนต่างก็จะเติบโตได้ ไม่จำเป็นต้องไปอาศัยผู้อื่น เพราะสายความรู้เชิงเทคนิค เป็นสายความรู้เฉพาะทาง และความรู้เฉพาะทาง แต่ละคนก็พยายามจะบอกว่า เทคนิคที่ฉันรู้สำคัญที่สุดในองคาพยพขององค์ความรู้ และกระบวนการแบบนี้เองที่ทำให้เกิดการต่อรอง

แม้กระทั่งระบบคณะ ที่ประกอบด้วยหลายภาควิชา หลายสาขาวิชา ก็จะมีการจัดเกรดหรือความรู้สึกลึกๆว่า เทคนิคหรือ how to แบบไหนจำเป็นที่สุด สำคัญที่สุด และกระบวนการมองแบบนี้เป็นกระบวนการมองแบบดูถูกคนอื่นอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าจะบอกว่าอย่างไร ผมอาจจะใช้คำไม่สุภาพ คำว่า"ดูถูก"หมายถึงเห็นว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น และความรู้สึกว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่นมันไปฝังอยู่ในใจ ทำให้การบริหารจัดการเกิดความรู้สึกว่า คนที่อยู่ในกลุ่มหนึ่งมีความสำคัญกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง กระบวนการแบบนี้จึงทำให้ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการมันแตก

มันแตกตั้งแต่มหาวิทยาลัยพยายามจะแบ่งส่วนให้มีข้าราชการ 3 กลุ่ม คือสาย ก., สาย ข., สาย ค. ทั้ง 3 สายนี้ต่างคนต่างไป ในเวลาเดียวกัน สาย ก.ก็จะมาแบ่งซอยย่อยไปอีก คือ แต่ละวิชาชีพ แต่ละวิชาการมีความเป็นเลิศในแต่ละส่วนที่ไม่เหมือนกัน กระบวนการแบบนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ตรงๆ ว่านี่คือโครงสร้างของความคิด ความสำนึกทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัญหาต่อองค์กรคือสถาบันอุดมศึกษาเมืองไทยสูงมาก สูงถึงขนาดที่มาถึงวันหนึ่ง วิชาชีพเดียวกันหรือใกล้ๆกันก็ยังมีความรู้สึกมีปัญหา เช่น หมอกับพยาบาลยังมีปัญหาเลย แม้ว่าจะต้องช่วยคนป่วยคนเดียวกัน แต่แทนที่จะเอาผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นตัวตั้ง กลับเอาความเป็นหมอและความเป็นพยาบาลมาเป็นตัวตั้ง ในการพิจารณาสัดส่วนของความสำคัญ วิชาการด้านอื่นๆก็เช่นกัน

อันนี้มีส่วนอย่างมาก เป็นผลกระทบเชิงจิตสำนึกของคนโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ความสำนึกเป็นส่วนๆจึงทำให้องค์กรของเรามีปัญหาในเชิงการปฏิบัติหน้าที่สูงมาก

ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่าคำตอบของการแก้ปัญหาเรื่องความแตกแยกของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ในระบบโครงสร้างการบริหารปัจจุบัน มันคงไม่ง่ายเพียงแค่ย้อนทวนปัญหาแล้วก็พบคำตอบได้ เช่น เราเข้ามาเป็นลูกจ้างซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ อันที่สองมีความแตกแยกทางวิชาการ ก็อย่าแตกแยกกันสิ หรืออันที่สามความคับแคบทางวิชาการหรือการไม่พัฒนาทางวิชาการที่เท่าเทียม ก็กระตุ้นการเรียนรู้สิ ผมคิดว่าไม่ใช่เพียงแค่นี้เพราะมันง่ายเกินไปที่จะทวนปัญหาขึ้นไปแล้วพบคำตอบ

อาจารย์คิดว่า อะไรจริงๆสำหรับปัญหาสิ่งเหล่านี้ ถ้ามันไม่ใช่แค่การทวนปัญหาเพื่อไปพบคำตอบแล้ว มันมีทางออกอย่างอื่นไหมที่ไม่เป็นอุดมคติ แต่เป็นไปได้จริงบ้างไหม?

ประมวล : ผมมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ต้องยอมรับเสียก่อนว่า เมื่อใดที่เราเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคม มันก็จะกระทบทั้งหมด คือ ปัจจุบันเราไปมองแต่เพียงว่าสถาบันอุดมศึกษา จะเป็นฝ่ายกระทำกับสังคม ทั้งๆที่ความจริงไม่ใช่ สังคมทั้งหมดมีปฏิกริยาโต้ตอบซึ่งกันและกัน

กรณีที่เราพูดถึง เช่นเมื่อเราพูดถึงสังคมยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การผลิตในสังคม กระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจนี้ มันมีผลกระทบไม่เพียงสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น แต่มันกระทบกับทุกๆส่วนของสังคมด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมาบอกว่า จะทำอุดมศึกษาให้เหมือนเดิมโดยที่เราไม่เปลี่ยนโครงสร้าง อันนี้ทำไม่ได้แน่นอน

พูดตรงๆ ในสังคมที่เราเป็นสังคมตลาด แล้วเราจะบอกว่าให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยคิดแบบโบราณ อันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะทันทีที่เขาออกจากห้องสอน เขาก็กลายเป็นคนๆหนึ่งที่อยู่ในกลไกตลาด เขาไปซื้อของในตลาด เขาต้องซื้อของในราคาตลาด ไม่ใช่ในราคาอาจารย์ เมื่อเขาไปทำอะไรสักที่หนึ่ง เขาก็ต้องไปทำในความหมายของโลกในยุคการตลาด มีการคำนวณเรื่องต้นทุน กำไร อยู่ตลอดเวลา

หรือแม้กระทั่งปัจจุบันเรากำลังพูดถึงอุดมศึกษา เราก็กำลังพูดถึงการเปิดหลักสูตรที่ต้องคำนวณถึงต้นทุน กำไร เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะกลับไปสู่ประเด็นว่า ถ้ามันเป็นอย่างนี้ เราก็อย่าทำอย่างนั้นสิ เหมือนกับปัจจุบันเวลาที่เราบอกถึงปัญหาเรื่องสุขภาพ ถามว่าทำไมเราไม่กินสมุนไพรอย่างอดีต เพราะสมุนไพรที่เรากินในวันนี้ก็ไม่เหมือนกับอดีตอีกแล้ว เนื่องจากสมุนไพรมีการปลูกโดยใช้สารเคมีเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราจะกลับไปกินสมุนไพร ก็ไม่เหมือนที่ผ่านมาแล้ว

หรืออย่างเช่นถามว่า ทำไมไม่กลับไปดื่มฉี่ เพราะฉี่ในสมัยปัจจุบันไม่เหมือนฉี่หรือปัสสาวะในสมัยพุทธกาลแล้ว ฉี่ในสมัยพุทธกาลมันออกมาจากการกินอาหารประเภทหนึ่ง ฉี่ในปัจจุบันเกิดมาจากการกินอาหารอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นกระบวนการที่จะเทียบโยงอย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้

แต่คำถามที่อาจารย์ถามผม ถ้าถามกับสังคม ผมคิดว่าสังคมก็ยังมึน ยังตื้อนะว่าจะตอบยังไง คือที่สำคัญ เราไม่สามารถหันหลังกลับไปสู่อดีตที่เราต้องการได้ เพราะมันไม่มีเกียร์ถอยหลัง แต่ว่าการจะไปข้างหน้า จะไปอย่างไร?

ผมคิดว่าต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมโลกที่ถูกกำหนดด้วยระบบตลาด เมื่อถูกกำหนดโดยระบบตลาด ทำอย่างไรให้ระบบตลาดมีส่วนของการถ่วงดุล ทำให้การศึกษาการเรียนรู้ ไม่ให้ตลาดครอบครองทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ควรจะมีมิติอะไรบางอย่างที่มันสามารถที่จะทำให้เกิดการคานกับระบบตลาดได้

คิดว่านี้เป็นคำถามที่ต้องให้สังคมช่วยกันคิดว่า เราจะเอาอะไรมาคานหรือถ่วงดุลระบบตลาด ไม่คิดว่าอันนี้จะเป็นคำถามที่ใครคนใดคนหนึ่งจะตอบได้ ที่สำคัญคือระบบตลาด ไม่ใช่ระบบเหลวไหล หรือไร้สาระอย่างสิ้นเชิง มันมีพลังของมัน ถ้ามันไม่มีพลังมันคงจะทำอย่างนี้ไม่ได้ เมื่อมันมีพลังก็แสดงว่ามันมีอะไรบางอย่างที่จะต้องยอมรับ คำว่าต้องยอมรับมิได้หมายความว่าจะต้องยอมจำนน แต่หมายความว่าเราจะถ่วงดุลมันอย่างไร?

เหมือนกับเราอยู่ในสภาพแวดล้อมหนึ่งที่อากาศไม่เหมาะกับตัวเรา เช่นหนาวจัด เราต้องหาวิธีอย่างไรมากันหนาว ถ้ามันร้อนจัดทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ ต้องคิดไปข้างหน้าว่า สถานะที่ระบบตลาดเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตเราอย่างมากมายเวลานี้ เราจะจัดการศึกษาอย่างไรให้ระบบตลาดไม่มีอำนาจมากเกินไป อันนี้เหมือนกับเรื่องทางการเมือง ถ้าคนๆหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ทำอย่างไรให้มีการถ่วงดุล เพื่อให้เกิดการควบคุมกันในลักษณะที่ไม่ทำให้เขาใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ในระบบการศึกษา เราจะต้องไม่ตามตลาดจนทุกสิ่งถูกตีค่า ตีราคา เป็นเรื่องของต้นทุน กำไร ขาดทุน ทั้งหมด แต่การศึกษาควรจะมีลักษณะที่ถ่วงดุล ผมเข้าใจว่าชีวิตของการเป็นนักศึกษา เขาต้องได้รับรู้อะไรที่นอกเหนือไปจากการคำนวณเรื่องต้นทุน กำไร และตรงนี้สถาบันการศึกษาจะต้องคิด เราไม่สามารถใช้กรอบคิดแบบเดิมได้ แบบเดิมเป็นแต่เพียงแค่บทเรียนให้เราลองดูเท่านั้นเอง เพราะแบบเดิมมันก็สร้างขึ้นมาจากการโต้ตอบอะไรบางสิ่งบางอย่างในบริบทของมันเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่ในเวลานี้ กำลังเป็นคำถาม ซึ่งผมเองก็ตอบไม่ได้ ใครก็ตอบไม่ได้ว่าเราจะทำอย่างไร? แต่คำถามของเราอยู่ที่ว่า การทำอย่างไรของเรา เราเคยคิดไหมว่าเราจะหาระบบที่จะมาถ่วงดุลโดยที่ไม่ให้ระบบตลาดไหลแรงจนเกินไป กระทั่งพัดพาชีวิตเราเป็นเรื่องของการคำนวณชีวิตทั้งชีวิตออกมาเป็นค่าเงิน ถ้าจะคำนวณเป็นค่าเงินผมคิดว่าจะเป็นปัญหามาก เพราะชีวิตทั้งชีวิตจะถูกตีราคาว่า วันหนึ่งเรามีรายได้เท่าไหร่ แล้วเราก็คิดต่อมาว่า ชีวิตทั้งชีวิตมีมูลค่าเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเงิน...

ผู้สัมภาษณ์ : พอฟังอาจารย์แล้ว ผมได้ลองนึกมาเปรียบเทียบกับบริษัท ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นคำตอบไหม อย่างเช่น เป้าหมายของบริษัทธุรกิจต่างๆก็คือ การแข่งขัน และเพื่อมุ่งสร้างผลกำไรสูงสุด เป็นไปได้ไหมที่มหาวิทยาลัยจะมีอุดมการณ์สักอย่างหนึ่ง เช่น ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ชุมชน และประโยชน์สังคม คือ เราใช้อุดมการณ์บางอย่างเป็นแกนกลางเชื่อมประสาน เช่นเดียวกับที่บริษัทมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่แน่นอนมาเป็นตัวที่ก่อให้เกิดเอกภาพ อาจารย์คิดว่าอันนี้พอจะเป็นไปได้ไหม หรือจะปล่อยให้มันไร้ระเบียบเหมือนเดิม เพราะมันเป็นอิสระดีหรืออย่างไร?

ประมวล : ส่วนตัวผม ผมไม่มั่นใจว่าแนวคิดนี้จะถูกหรือผิด และผมไม่ต้องการที่จะตรวจสอบว่าผิดหรือถูกด้วย แต่ในความเชื่อส่วนตัวของผมก็คือ

อันที่หนึ่ง, ตามทัศนะของผม ต้องทำให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นเรื่องของชุมชนและสังคม นั่นคือหมายความว่า การผลิตความรู้ การสร้างความรู้ต้องไม่ใช่เป็นไปในลักษณะที่เป็นเรื่องของคนเป็นคนๆ จะต้องทำให้สถาบันการศึกษาเป็นเรื่องของชุมชน สังคม

ผมคิดว่าการที่จะฝึกทักษะเพื่อให้รู้เทคนิคอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องของคนเป็นคนๆ อันนี้ถูกต้อง แต่การจะให้ความรู้ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา เพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออกถึงการที่คนๆหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมา เขาสามารถมีความชำนาญเฉพาะทางได้ และความชำนาญเฉพาะทางนั้นก็จบไปเมื่อเขาจบชีวิต ดังนั้นถ้าคนๆหนึ่งมีชีวิตอยู่และเขาทำอะไรบางอย่างได้ เมื่อเขาตายไป ความรู้ของเขาก็จบลงไปด้วย

แต่ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ต้องการสร้างความรู้ประเภทนั้น มหาวิทยาลัยต้องการสร้างความรู้ที่มันไม่ได้ติดกับคน แต่มันติดกับสังคม ติดกับชุมชน

ผมขอยกตัวอย่างเช่น ผมได้ทำวิจัยการศึกษาของอินเดีย และผมพบว่าการศึกษาของอินเดียที่มันสูงส่ง มันถูกผลิตขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี เริ่มตั้งแต่พวกอารยันเข้ามาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธู ก่อนพุทธศาสนา 2000 กว่าปี แล้วความคิดของอารยัน ผมคิดว่ามันยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะเขาคิดจะสร้างความรู้ ความรู้ที่ไม่ใช่ความทรงจำที่เป็นของปัจเจกบุคคล แต่เป็นจินตนาการที่เมื่อผ่านมาเป็นร้อยเป็นพันปี จินตนาการนั้นก็ถูกส่งผ่านมาสู่คนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเราจึงได้สัมผัสรับรู้กับจินตนาการอันงดงามของชาวอารยันเมื่อหลายพันปีมาแล้ว

หรือถ้าเราจะเชื่อเชิงศาสนา เช่น เราสามารถจะบอกได้ว่าการที่เรารู้บางสิ่งบางอย่างตามที่พระพุทธเจ้ารู้ พระพุทธองค์ทรงเกิดขึ้นมา 2500 กว่าปีมาแล้ว ความรู้ประเภทที่พระพุทธเจ้ารู้หรือใครรู้ ผมคิดว่านั่นคือภารกิจของอุดมศึกษา อุดมศึกษาที่ไม่ใช่ทำให้ความรู้เป็นของนาย ก., นาย ข. แต่ทำให้ความรู้เป็นของชุมชน เป็นของสาธารณะ

คิดว่าการที่ชาวบ้านในอำเภอแม่แจ่ม เขาสร้างเหมืองฝายได้ เหมืองฝายแม้จะมีช่างคนหนึ่งตายไปแล้ว แต่ความรู้เรื่องเหมืองฝายก็ยังมีอยู่ต่อมา ชุมชนสามารถที่จะทำเหมืองฝายต่อไปได้ หรือความรู้บางประเภทที่ทำให้ชาวบ้านทำบางสิ่งบางอย่างได้ มันถูกถ่ายทอดกันได้ต่อมาในชุมชน ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องทำตรงนั้น ก็คือทำในความหมายที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันในการสร้างความรู้ที่เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นสมบัติของคนเป็นคนๆ และความรู้ที่เป็นสมบัติสาธารณะนี้ มหาวิทยาลัยจึงต้องยืนอยู่ในจุดที่เป็นสาธารณะ มหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของชุมชนสังคม

เพราะฉะนั้น ชุมชนที่เรากำลังพูดถึง แน่นอน เราไม่รังเกียจพ่อค้าเลย ถ้าพ่อค้าจะทำอะไรในลักษณะเชิงตลาด แต่เราก็ต้องมีพื้นที่ให้กับคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อค้าเหมือนกัน ดังนั้น ความรู้ที่ไม่ใช่เป็นความรู้เชิงตลาดก็ต้องถูกผลิตเหมือนกัน มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยผลิตความรู้ให้กับกลุ่มชนเฉพาะกลุ่ม ก็คือ"พ่อค้า"

และผมเชื่อว่า มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นสถาบันสร้าง ผลิตความรู้ที่เป็นสาธารณะ แต่ปัจจุบันเรากำลังบีบให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ผลิตความรู้เป็นคนๆ เป็นรายๆ ที่เราเรียกว่าการผลิตช่าง ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

ผู้สัมภาษณ์ : ผมอยากจะข้ามมาถึงเรื่องของบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม อาจารย์มองเห็นว่า ปัจจุบันบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อชุมชน สังคม เป็นอย่างไรบ้างครับ?

ประมวล : ผมมีความคิดอย่างนี้เป็นเบื้องต้นก่อนคือ มหาวิทยาลัยมี 2 บทบาทที่ต้องทำ

บทบาทที่หนึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยต้องนำสังคม
บทบาทที่สองก็คือ มหาวิทยาลัยต้องตอบสนองสังคม

บทบาทที่มหาวิทยาลัยต้องนำสังคม ผมถือว่านี่คือบทบาทหลัก นั่นก็คือ ถ้าเราเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางวิชาการ เป็นสติปัญญาของสังคม ก็คือ มหาวิทยาลัยสามารถที่จะรู้ล่วงหน้า บอกได้ก่อนว่าสังคมกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องคิดแก้ไขปัญหา ไม่ใช่รอให้เกิดวิกฤตแล้วจึงมาแก้ปัญหา พูดกันง่ายๆ ถ้ามหาวิทยาลัยไทยทำหน้าที่ดี มหาวิทยาลัยต้องเตือนก่อนว่าจะเกิดวิกฤตถ้าทำอย่างนี้ นั่นก็คือบทบาทแรกของมหาวิทยาลัย

ส่วนที่สอง แน่นอน มหาวิทยาลัยต้องมีภาระด้วย เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ต้องหาวิธีแก้ไข เพราะฉะนั้นการหาวิธีแก้ไขจึงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยต้องคิดเหมือนกัน

แต่ผมคิดว่าปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ 2 ประการนี้ ลดลงมาเหลือเพียงแค่บทบาทการตามสังคม ก็คือคอยตามแก้ปัญหาให้กับสังคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน ก็คือเมื่อมีปัญหาทางด้านการผลิต ก็สร้างความรู้ที่จะแก้ปัญหาการผลิตเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ หรือเมื่อมีปัญหาในเรื่องระบบโครงสร้างของสังคม ก็มาแก้ปัญหาเรื่องการจะจัดโครงสร้างสังคมใหม่อย่างไร

ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยทำตรงนี้ จนกระทั่งลืมว่าจริงๆแล้ว มหาวิทยาลัยต้องคิดไปข้างหน้าไกลกว่านั้นด้วย มหาวิทยาลัยต้องคิดว่าถ้าเราไม่แก้อย่างนี้ มันมีทางเลือกอื่นๆไหม ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่ค่อยทำหน้าที่นำสังคม คือไม่ได้บอกทางเลือกหลายๆทางให้กับสังคม

ผมจึงพยายามจะใช้คำซ้ำๆว่า มหาวิทยาลัยเป็นเพียงแค่"ช่าง"ของสังคม คือเมื่อมีอะไรเสียแล้วก็ไปซ่อมให้ ไม่ได้ผลิตไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นกระบวนการที่มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่ของตนเองได้ อย่าลืมว่าตัวยังมีบทบาทอีกบทบาทหนึ่งที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำ หรือชี้นำสังคม

ซึ่งสังคมที่เรากำลังพูดถึงอยู่เวลานี้ เช่นในปัจจุบัน สังคมจะไปในทิศทางนี้ มหาวิทยาลัยต้องชี้ว่าทางเลือกอื่นมีไหม? ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักวิชาการไปเป็นเพียงแค่นักวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ไปบอกเพียงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ได้อย่างไร? แต่นักวิชาการไม่ได้บอกว่า ถ้าจะทำอย่างอื่นที่ไม่ให้เป็นปัญหาอย่างนี้จะทำอย่างไร?

ยกตัวอย่างเช่นการวิจัยที่ยืนยันว่าสามารถสร้างเขื่อนได้ แต่ปัญหาคือว่าพอสร้างเขื่อนแล้วไปปิดทางน้ำตามธรรมชาติ ปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ ก็แก้โดยการทำบันไดปลาโจน แทนที่มหาวิทยาลัยจะบอกเขาว่า เขื่อนตรงนี้ไม่ควรสร้าง ถ้าจะสร้างควรไปสร้างที่อื่นแล้วจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำก็คือ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คอยตอบคำถามว่าปัญหานี้จะแก้อย่างไร? แต่มหาวิทยาลัยต้องบอกได้ว่า ถ้าไม่ให้เกิดปัญหาต้องทำอะไรบ้าง

ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง อย่างคณะแพทยศาสตร์ ถ้าจะทำให้เป็นไปตามปรัชญาที่อาจารย์วางไว้ว่า มหาวิทยาลัยต้องนำสังคม และต้องตอบสนองสังคม ตัวอย่างคณะแพทยศาสตร์ ทำให้เป็นรูปธรรมจะทำอย่างไร?

ประมวล : กรณีของคณะแพทยศาสตร์เป็นกรณีหนึ่งที่จะยกตัวอย่างได้ง่าย คือคณะแพทยศาสตร์ไม่ใช่มามีหน้าที่เพียงเพื่อยืดอายุคนเท่านั้น หรือรักษาโรค แต่คณะแพทยศาสตร์ต้องมีความรู้ชุดหนึ่งที่จะอธิบายให้คนเห็นถึงความเป็นปกติของร่างกาย ที่เขาสามารถจะดูแลรักษาร่างกายของเขาได้ด้วยตัวของเขาเอง

นี่คือตัวอย่างของความรู้ที่เป็นคนไงครับ เพราะหมอเอาความรู้มาเป็นสมบัติของหมอ เพราะฉะนั้นเมื่อใครป่วยจึงมาหาหมอ ดังนั้น หมอก็เหมือนกับช่างซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ ที่ถ้าคุณใช้อุปกรณ์เหล่านี้แล้วเสียงไม่ดี รับภาพไม่ได้ คุณก็มาหาช่าง, ช่างก็ซ่อมให้. หมอไม่ได้บอกว่าการใช้ทีวีที่ดี แล้วไม่ให้มันเสียควรใช้อย่างไร? และถ้าเผื่อมันเสียขึ้นมาคุณจะซ่อมเองได้อย่างไร?

ผมคิดว่ากรณีหมอ ต้องทำให้ความรู้เป็นสาธารณะ นั่นคือต้องทำให้เกิดเป็นความรู้ของชุมชน ไม่ใช่เป็นของหมอ ปัจจุบันความรู้เป็นของหมอ เป็นของโรงพยาบาล คนทุกคนเลยคิดว่าต้องมาโรงพยาบาลเมื่อตัวเองมีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพเป็นปัญหาของคนที่ชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษา ไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอที่จะต้องมาหวงแหนสิทธิในการดูแลสุขภาพของคนอย่างในปัจจุบัน

ตัวอย่างกรณีของหมอ นับเป็นเรื่องที่อธิบายให้เห็นชัดว่า ถูกทำให้ความรู้เป็นของคน ไม่ใช่เป็นความรู้ของชุมชน และทำให้ความรู้นี้มีการหวงแหนความรู้ เพราะความรู้กลายมาเป็นสิทธิประโยชน์ กลายมาเป็นรายได้ ซึ่งความรู้แทนที่จะเกื้อกูนกันก็กลายมาเป็นเครื่องมือในการที่จะแสวงหารายได้ไป

ผู้สัมภาษณ์ : เคยได้ยินอาจารย์พูดถึงการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ของอินเดีย ผมคิดว่ามีประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจมาก จึงอยากให้อาจารย์พูดถึงเรื่องของการศึกษาทางด้านการแพทย์ และสถานะของผู้เรียนแพทย์ของอินเดียว่าเป็นอย่างไรในเชิงเปรียบเทียบกับสังคมไทย

ประมวล : คือที่ผมสนใจปัญหานี้ เนื่องจากว่าผมไปพบกรณีที่เกิดขึ้นในอินเดีย ก็คืออันที่หนึ่ง คนไม่ได้เห่อเรียนแพทย์ ผมจึงตั้งคำถามว่าทำไมคนอินเดียจึงไม่เห่อเรียนแพทย์ จึงได้ไปศึกษาหาที่มาที่ไป

ผมพบว่าการเรียนแพทย์... แพทย์ในที่นี้หมายถึงแพทย์แบบใหม่หรือแพทย์แผนปัจจุบัน ถูกนำเข้ามาสู่อินเดียผ่านพวกหมอสอนศาสนาคือพวก"มิชชันนารี" หมอสอนศาสนาได้เอาแพทย์มาเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้คนเห็นว่าเขามีจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ คือจริงๆแล้วเขามีจิตเมตตาจริงๆ ไม่ใช่แกล้งแสดง วิชาการแพทย์จึงถูกนำมาใช้และสอนให้ประชาชนได้มีความรู้

ในการสอนให้ประชาชนมีความรู้ ไม่ได้สอนให้คนไปหาสตางค์ แต่สอนให้คนไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นจิตสำนึกแบบนี้จึงถูกปลูกฝังไว้ ประกอบกับคนอินเดียเองมีความรังเกียจที่จะเรียนวิชาชีพแพทย์ เพราะเนื่องจากว่าการเรียนวิชาชีพแพทย์ ต้องไปคลุกคลีกับผู้ป่วยซึ่งอาจจะเป็นคนชั้นต่ำ ซึ่งอินเดียถือเรื่องวรรณะ ดังนั้นคนที่เรียนแพทย์ได้จึงต้องมีจิตสำนึกว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ

ผมขอเปรียบเทียบกับอีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในขณะนี้อินเดียมีวิชาการสมัยใหม่ คือวิชาการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่วิชาการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นำเข้ามาโดยระบบการค้า ดังนั้นทุกคนที่ถูกชวนไปเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนเพื่อที่ตัวเองจะหาสตางค์ได้ง่าย คุณสามารถจะไปทำงานต่างประเทศได้ คนอินเดียจึงแห่เรียนเรื่องคอมพิวเตอร์ เพราะคนที่จบมาทางด้านนี้สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยง่าย เนื่องจากบริษัทต่างประเทศจะจ้างชาวอินเดีย เขาให้วีซ่า ให้ที่อยู่ในต่างประเทศได้

คนสองกลุ่มนี้มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิงในทางความคิด ในทางพื้นฐานการตัดสินใจเรียน คนไปเรียนแพทย์ไปเรียนด้วยความรู้สึกว่าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ส่วนคนที่ไปเรียนคอมพิวเตอร์ไปเรียนเพื่อตนจะได้มีรายได้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นคนสองกลุ่มนี้จึงมีความต่างกัน ผมไปดูว่าคนสองกลุ่มนี้มีความต่างกันเนื่องมาจากอะไร พบว่าเนื่องมาจากกลไกทางการตลาดในการเรียนรู้

คนอินเดียที่เรียนคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีความกดดันสูงมาก เมื่อเขาไม่สามารถจะหาสตางค์ได้ตามที่เขาคาดเอาไว้ ปัจจุบันอินเดียมีปัญหามากมายเมื่อเกิดกรณี 11 กันยา โรงงานและบริษัทในสหรัฐอเมริกาไม่สามารถที่จะขยายกิจการได้ โครงการที่จะจ้างคนที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ไปเพิ่มต้องหยุดลง และมีการปลดตำแหน่งคนที่ทำงานอยู่เดิมออกอีกด้วยซ้ำไป คนอินเดียส่วนหนึ่งที่ตกงานก็กลับมาบ้านมาแย่งงานในอินเดีย ทำให้คนที่กำลังใกล้จะจบซึ่งมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล เพราะเหตุว่าอินเดียได้มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะผลิตปีละเท่าไหร่ และมันก็หยุดไม่ได้เพราะได้วางแผนไปแล้ว ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ 11 กันยา

เพราะฉะนั้น พอเกิดกรณีนี้ทำให้พวกที่เรียนจบคอมพิวเตอร์มาเป็นปัญหาอย่างมาก ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องคนตกงาน แต่เป็นปัญหาที่พวกนี้มีความสำนึกว่า อินเดียนี่แย่มากๆเลยซึ่งทำให้เขาที่มีความรู้ไม่มีงานทำ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในอินเดียมาก จึงต้องคิดโครงการที่จะต้องตั้งโรงงานเอง เพื่อผลิตไมโครชิพ เพื่อผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ราคาถูกขาย ตอนนี้กำลังคิดกันใหญ่

ถามว่าทำไมต้องคิดกันมากมายขนาดนั้น เพราะมันมีปัญหาพวกที่เรียนคอมพิวเตอร์มา คาดหวังว่าจะได้เงินเยอะๆ ซึ่งต่างจากพวกเรียนแพทย์ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในอินเดียใช้มาตั้งนานแล้ว คนเรียนแพทย์ไม่ได้มีความใฝ่ฝันอะไรมากมายเลย เมื่อเรียนจบแพทย์แล้วจะหาสตางค์ไปเช่าห้องแถวเล็กๆสักห้องหนึ่ง ซื้อโต๊ะหนึ่งตัว เก้าอี้สามตัว คือหมายความว่าให้ตัวเองนั่งหนึ่งตัว แล้วให้ผู้ป่วยนั่งหนึ่งตัว และญาติผู้ป่วยหนึ่งคน แล้วมีเครื่องตรวจวัดความดัน ตรวจวัดอุณหภูมิ เพราะหมอในอินเดียไม่ได้รับอนุญาตให้หาสตางค์จากผู้ป่วย ดังนั้นหมอจึงมีหน้าที่เพียงตรวจวินิจฉัยโรค ค่าตรวจเพียงแค่ครั้ง 10-15 รูปี แล้วก็เขียนใบสั่งยา ผู้ป่วยก็เอาใบสั่งยาไปซื้อยาเอง หมอไม่มีสิทธิขายยา ทางการห้ามเด็ดขาด

กระบวนการคิดแบบนี้ หมอจึงไม่มีสำนึกว่าตนเองตกงานหรือหวาดกลัวอะไรเลย ผมคิดว่าความคิดแบบนี้ ถ้าเราลองเทียบเคียงดูกับบัณฑิตในประเทศไทยเราทั้งหมด อยู่ในกลุ่มประเภทพวกคอมพิวเตอร์ คือมีความคิดว่าตัวเองไปเรียนเพราะตัวเองจะได้งาน และตัวเองจะได้เงิน เพราะฉะนั้นเมื่อตัวเองไม่ได้งานและหาเงินไม่ได้ ปัญหาจึงเกิด

ผมเคยคุยกับคนที่จบหมอมา เขาไม่ค่อยมีความรู้สึกกังวลกับเรื่องงานเรื่องการ และไม่มีความรู้สึกว่าต้องร่ำรวยอะไร อาจจะเป็นความรู้สึกของเขาที่ถูกปลูกฝังโดยโรงเรียนแพทย์ก็ได้ และโรงเรียนแพทย์เท่าที่ผมดู ก็ไม่ได้มีการขยายตัวรวดเร็วอะไร เพราะความต้องการที่จะเรียนแพทย์ไม่ได้มากมายอะไร ยังเป็นไปตามอัตราปกติ ทั้งๆที่ความจริงแล้วตลาดแรงงาน ถ้ามองจากทั่วโลกตลาดแรงงานความรู้แบบแพทย์ ถ้าความรู้เป็นสินค้า สินค้าตัวนี้ที่เรียกว่า"แพทย์"มีราคาดีมากในตลาดโลก แต่สินค้านี้ที่ซื้อขายในตลาดอินเดีย สินค้าตัวนี้ราคาถูก สามารถซื้อได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินอะไรมากมาย

ผู้สัมภาษณ์ : แต่อันนี้ไม่ได้หมายรวมถึงว่า สถานภาพของแพทย์ตกต่ำ

ประมวล : ไม่ใช่ครับ แพทย์ในชนบทยังเป็นพ่อพระ พูดกันตรงๆ แพทย์ถูกนำเข้ามาโดยมิชชันนารี ภาพของแพทย์ยังคล้ายๆกับมิชชันนารีอยู่ มีความรู้สึกว่าที่เราไปหาแพทย์ เราไปหาพระ ท่านจะช่วยเรา ท่านไม่กังวลว่าจะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ หมายความว่า เมื่อดูคุณภาพเมื่อเทียบเคียงกับประเทศไทย อาจจะดูไม่ดี คือมีคนไทยจำนวนมากรังเกียจหมออินเดียมาก หมายความว่าเมื่อป่วยก็ไม่ยอมรักษาโดยหมอชาวอินเดีย คือเห็นแล้วไม่น่าศรัทธา เพราะเขาตั้งโต๊ะไว้ง่ายๆอยู่ในร้านห้องแถวเล็กๆ เพียงแค่ตัวเองนั่งได้ แล้วมีผู้ป่วยเข้ามาหา มันไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือหมอ

คือถ้าเป็นบ้านเรา พอเราเข้าไปในโรงพยาบาลมันจะมีความศักดิ์สิทธิ์ และหมออยู่ในสถานะที่สูงส่ง แต่คนอินเดียเขารู้สึกชาชินและเป็นปกติแบบนี้ เพราะเหตุว่าหมอของเขา เขามีความรู้สึกเหมือนกับว่า เป็นคนให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพ ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ และจริงแล้ว หมอก็มีความสำนึกอย่างนั้นจริงๆ เขาไม่ได้รู้สึกว่าถ้าเขาจนแล้ว จะเป็นปัญหา อาชีพหมอนี้ผิดปกติ แต่เป็นเรื่องปกติที่อาชีพหมอนี้จะไม่รวย แต่บ้านเราถ้าใครเป็นหมอแล้วจน อันนี้จะค่อนข้างผิดปกติ

ผู้สัมภาษณ์ : อยากเรียนถามอาจารย์อีกเรื่องหนึ่งคือ เท่าที่สังเกตพบซึ่งคล้ายๆกันเกือบทุกมหาวิทยาลัย นั่นคือ จะมีอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่มีความสำนึกต่อสังคม ได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม ผมพบว่าในหลายๆมหาวิทยาลัย บุคลากรประเภทนี้มักจะถูกรังเกียจจากเพื่อนผู้ร่วมงานและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย อาจารย์คิดว่าเรื่องเหล่านี้ ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ประมวล : ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องของค่านิยมในสังคม คือ มันหมายความว่า ใครที่ไม่เป็นไปตามกระแส จะรู้สึกเหมือนกับว่าแปลก เป็นคนอื่น เป็นคนนอก ผมคิดว่าค่านิยมในสังคมไทยเป็นค่านิยมที่น่าคิดมาก เป็นค่านิยมที่สังคมควรตั้งคำถามด้วยคือ

สมมุติตัวอย่างว่า อาจารย์คนไหนในมหาวิทยาลัยสามารถทำงานวิจัยได้ค่าตอบแทนสูงๆ มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจดี อาจารย์คนนั้นจะดูโก้ ดูน่าเชื่อถือ แต่ถ้ามีอาจารย์สักคนหนึ่ง ไม่ได้ทำวิจัยสนองตอบรายได้อะไร แต่ไปศึกษาค้นคว้าช่วยเหลือประชาชน จะกลับมองว่าทำหน้าที่ไม่สมหน้าที่ ทำหน้าที่นอกหน้าที่ และความคิดเช่นที่ว่านี้เกิดขึ้นในใจของผู้นำ หรือในใจของคนที่มีอำนาจในสังคม

คือผมเชื่อว่า ชาวบ้านไม่ได้รังเกียจอาจารย์ที่ออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ชาวบ้านเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนมีอำนาจ ไม่ได้มีโอกาสสร้างวาทกรรมในทางสังคม เพราะฉะนั้นผู้นำในทางสังคมมาบอกว่า อาจารย์คนนั้นเป็นเจ้าลัทธิ เป็นคนแบบนั้นแบบนี้ คำพูดเหล่านี้มันทำให้เกิดความหมายในเชิงลบกับอาจารย์ที่ไปทำงานในเชิงสังคม

ทั้งที่ความจริง ความหมายแบบนั้นควรจะเป็นความหมายที่ถูกทำให้เกิดความภาคภูมิใจด้วยซ้ำไป อาจารย์ลองนึกถึงภาพตอนไปเปิดข่าวสารของมหาวิทยาลัย เขาจะตีพิมพ์ภาพของอาจารย์ที่ได้รางวัลเกี่ยวกับการวิจัย ซึ่งมีสถาบันบางแห่งประกาศให้ แล้วอาจารย์เหล่านี้ได้ไปทำวิจัยสนองตอบตลาด สนองตอบอุตสาหกรรม และได้รับการเชิดชูเกียรติ รู้สึกว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ

แต่มีอาจารย์คนหนึ่งไปทำวิจัยหรือช่วยเหลือชาวบ้าน กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องนอกรีตนอกรอย ผมว่านี่คือกระบวนการที่ทำให้เกิดกระแสค่านิยมในสังคม ที่ทำให้เกิดความหมายที่บอกได้ว่าสังคมนั้นมีค่านิยมอย่างไร?

ผมอยากจะเปรียบเทียบกับอินเดียเพื่อให้อาจารย์เห็นค่านิยม อินเดียเองก็มีความเห่อในสิ่งที่เรียกกันว่าเครื่องมือเครื่องใช้เหมือนกัน แต่อินเดียเอง กระแสค่านิยมยังไม่เป็นเช่นนี้ เช่น มีอาจารย์ท่านหนึ่ง แต่งงานได้ค่าสินสอดเป็นรถเก๋งคันใหม่ แต่อาจารย์ท่านนั้นไม่กล้าขับรถคันนั้นไปทำงาน ยังต้องถีบจักรยานไปทำงาน ถามว่าทำไมไม่กล้าขับ ก็เพราะเขามีความรู้สึกอาย อายว่าตัวเองเป็นอาจารย์แล้วไปขับรถใหม่ มันไม่ใช่เรื่อง

ตรงนี้มันเป็นกระแสค่านิยมที่แสดงให้เห็นว่า สังคมนั้นรับไม่ได้ที่อาจารย์จะมีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย ดังนั้น อาจารย์ที่มาทำงานด้วยการถีบจักรยานเก่าๆ หิ้วปิ่นโตมาสำหรับทานมื้อเที่ยง แล้วก็กินข้าวมื้อเที่ยงที่ภรรยาจัดใส่ปิ่นโตให้ เป็นภาพที่ลูกศิษย์เห็นแล้วยกมือไหว้ แต่ถ้าหากว่าเห็นอาจารย์คนหนึ่งขับรถเก๋งมา แล้วออกไปกินข้าวข้างนอก ลูกศิษย์อาจจะไม่ยกมือไหว้เลยก็ได้ อันนี้เป็นกระแส และกระแสนี้เป็นเรื่องของสังคมที่อธิบายอะไรบางอย่าง

ผมอยากจะเปรียบเทียบกับนักการเมืองด้วย ในประเทศไทยเราคงเคยเห็นภาพ มีนักการเมืองบางคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขามีรถเก๋งประมาณ 10 คันอยู่ที่บ้าน ราคาคันละ 2-3 ล้านขึ้นไป หรือบางคัน 20-30 ล้าน เขาสร้างที่จอดรถดีกว่าบ้านของคนจำนวนมาก เราได้ยินเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่าเก่งจังเลย ชื่นชมจังเลย แต่ทราบไหมครับในประเทศอินเดีย เวลาใครเป็นนักการเมือง ถ้าเกิดสืบรู้ว่ามีนาฬิกาข้อมือเป็นยี่ห้อต่างประเทศ มีรถยนต์ขับที่ไม่ได้ผลิตในอินเดีย นักการเมืองนั้นจะหมดอนาคตในทางการเมืองทันที

แม้แต่คนที่ร่ำรวยอย่างมหาศาลอยู่แล้ว อย่างเช่นดาราหนังคนหนึ่ง อมิตา ปัจจัน ดาราค่าตัวแพงที่สุด วันหนึ่งที่เขาต้องมาช่วยเพื่อนเล่นการเมือง ที่เขาเคยใส่สูตรตัดจากอิตาลี เขาต้องถอดทิ้ง เพื่อมาใส่เสื้อที่ทอมือผ้าฝ้าย เขาต้องมาขับรถยี่ห้อของอินเดีย ของต้องแขวนนาฬิกาที่ผลิตขึ้นในอินเดีย ถามว่าทำไมเขาจึงต้องทำเช่นนั้น เพราะกระแสสังคมไงครับ สังคมรับไม่ได้ที่ผู้นำหรือนักการเมืองของประเทศไปเห่อของนอก ผมคิดว่านี่คือคำอธิบายว่า สถานภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เป็นอยู่ก็กำลังอธิบายกระแสค่านิยมที่เป็นอยู่ในสังคมได้เช่นกัน

ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์มองอย่างไรกับกลุ่ม NGO ต่างๆที่ถูกหาว่า รับเงินต่างชาติ

ประมวล : คำกล่าวที่ว่า NGO รับเงินต่างชาติ ผมว่าน่าคิดมาก ในความหมายคือมันทำให้สังคมเราพบความจริงข้อหนึ่งว่า จริงๆแล้วสิ่งที่เรากำลังพูด... ถามว่า NGO ที่กำลังพูดถึงอยู่คือใคร NGO ที่เรารู้จักภาพส่วนใหญ่เป็นคนทำงานภาคประชาชน ที่ช่วยเหลือประชาชนระดับล่าง NGO ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกสังคมที่ สิ่งที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึง หรืออำนาจรัฐบกพร่อง อำนาจรัฐหมายความว่าการบริการจากรัฐไม่ดี

NGO ไม่ค่อยเกิดหรอกครับในประเทศสังคมนิยม NGO จะต้องเกิดในประเทศทุนนิยม ที่ทิ้งคนจำนวนหนึ่งไว้ข้างหลัง แล้ว NGO เข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูนคนเหล่านั้น เพราะคนเหล่านั้นไม่มีโอกาสไม่มีอำนาจเข้าถึงทุน และไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงอำนาจทางการเมืองได้ง่ายๆ NGO คือบุคคลที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้มาพอสมควร เพราะ NGO คือเขาเรียนหนังสือ เขารู้ในเรื่องนั้นแล้วเขากลับไปช่วยเหลือประชาชน

ดังนั้นการตำหนิประณาม NGO ไม่ว่าจะเป็นการรับทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นพวกขัดขวางความเจริญ มันมีความหมายเพียงอย่างเดียวก็คือ สังคมนั้นกำลังจะหันไปในทิศที่เป็นการตลาด อุตสาหกรรม โดยไม่มองส่วนอื่นเลย เพราะแน่นอน NGO จะต่อต้านและโต้ตอบกับกระแสทุนนิยม กับกระแสตลาด ที่จะมาทำลายสิ่งที่เป็นรากฐานหรือรากหญ้าของสังคม

เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่ว่าพวก NGO รับเงิน แน่นอนมีคนกล่าวแน่ แต่สังคมไทยสนองตอบความหมายนี้ไหม? ถ้าสังคมไทยสนองตอบความหมายนี้ แสดงว่าสังคมไทยกำลังถูกครอบงำโดยระบบตลาดอย่างมาก

เช่น NGO กลุ่มที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ก็ต้องออกมาให้ข้อมูลว่าสินค้าใดเอาเปรียบ สินค้าใดไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นประโยชน์ และ NGO ประเภทเหล่านี้ ต้องถูกโต้ตอบโจมตีจากผู้ผลิตสินค้าอยู่แล้ว และในเชิงอำนาจก็เหมือนกัน NGO บางกลุ่มออกมาตอบโต้อำนาจรัฐ ที่จะไปทำอะไรปู้ยี่ปู้ยำกับชุมชน เพราะฉะนั้นอำนาจรัฐก็ต้องโต้ตอบกับ NGO ด้วยการประณาม คำถามก็คือ สังคมจะฟังเสียงอำนาจรัฐ หรือว่าจะฟังเสียง NGO

จริงๆแล้ว คำว่ารับเงินต่างประเทศ อำนาจรัฐรับเงินต่างประเทศมากที่สุด รับในลักษณะที่ฉ้อฉลด้วย รับในลักษณะที่ประชาชนไม่รู้ เพราะอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังทำในสิ่งที่เรียกว่า อำนาจของคนภายในประเทศด้อยลงทุกวัน เช่น ยกตัวอย่างซึ่งอาจารย์ก็เคยกล่าวถึง

มีรัฐมนตรีคนหนึ่งมาทำเรื่องให้มี พรบ.คุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทย โอ้โห! คึกคักมากเลย ปั่นราคาตัวเองขึ้นสูงเลย สักพักเท่านั้นเอง ก็วูบหายไป สุดท้าย ห้างหรือบริษัทข้ามชาติก็มีอำนาจอยู่ในสังคม ถามว่าทำไมมันจึงหายไป หายไปเพราะอำนาจของต่างประเทศ อำนาจผ่านเงินผ่านทองเข้ามาปิดหมด พรบ.ที่จะคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยก็ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด กระบวนการเหล่านี้มันอันตรายยิ่งกว่าการรับเงินเป็นก้อนๆเพียงไม่กี่ร้อย เพราะว่ามันหมายถึงการทำลายผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ของประชาชนจำนวนมาก

ผู้สัมภาษณ์ : คำถามสุดท้าย อยากจะเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาที่มีต่อสังคมและชุมชนในปัจจุบัน ไม่ทราบว่าอาจารย์มีทัศนะอย่างไรบ้างครับ?

ประมวล : คือผมเชื่อโดยหลักการและอุดมคติ และคิดว่ามันถูกต้องว่า สถาบันอุดมศึกษาคือสถานที่กล่อมเกลาคนให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม คำถามคือเราจะกล่อมเกลาเขาให้เป็นลักษณะอย่างไร?

ผมเข้าใจว่าในอดีตมีบทเรียนที่ชัดเจนคือในช่วงก่อน 14 และหลัง 14 ตุลา เรากล่อมเกลาให้นักศึกษามีภารกิจที่จะร่วมกันแก้ปัญหาสังคม แต่ปัจจุบันที่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเราทำให้นักศึกษาเข้ามาสู่สถาบันการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาให้กับตัวเองเท่านั้น

เพราะนักศึกษาคิดแต่จะแก้ปัญหาให้กับตัวเอง เริ่มต้นจากการที่จะเรียนวิชาอะไร ก็เรียนวิชานั้นเพราะตัวเองมีปัญหา เช่นมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ก็จะเรียนวิชาที่ทำให้ตัวเองหาเงินได้ หรือตัวเองมีปัญหาเรื่องสถานภาพทางสังคม เป็นคนต่ำในสังคม ก็จะเรียนวิชาอะไรที่ยกตัวเองให้สูงขึ้นในสังคม ด้วยวิธีคิดแบบนี้ จึงทำให้นักศึกษาตัดขาดออกมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชน แต่เราไม่โทษนักศึกษา คำถามก็คือ มหาวิทยาลัยเองได้ชักชวนเขาให้นักศึกษาเปลี่ยนแปลงความคิดอะไรไหม เมื่อเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย. อันนี้กลับไม่ได้มีการชักชวน

มหาวิทยาลัยกลับไปตอกย้ำสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นการยืนยันความเชื่อของเขา ซึ่งเมื่อวิชาการถูกซอยย่อย ดังที่อาจารย์ตั้งประเด็นไว้ตอนต้น แต่ละวิชาก็ย้ำให้นักศึกษาเห็นว่า เข้ามาถูกทางแล้ว ทางนี้แหละคุณจะรอด ทางนี้ล่ะที่คุณจะหลุดพ้น คุณจะรอดจากความยากจน คุณจะหลุดพ้นจากความต่ำต้อย เพราะฉะนั้นนักศึกษาจึงไม่มีความคิดเลยที่จะมาช่วยเหลือประชาชน หรือสำนึกที่จะทำกิจกรรมทางสังคม ถ้าจะมีบ้างก็จะกลายเป็นพวกแกะดำ พวกที่นอกคอก กลายเป็นคนที่อาจารย์จะตำหนิด้วยว่า หน้าที่ของตัวเองไม่ทำ แต่ไปทำหน้าที่ของคนอื่น

ดังนั้น กระบวนการที่ว่านี้จะต้องมองทั้งสองส่วน คือ นักศึกษาถูกป้อนข้อมูลว่า เขาเข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อแก้ปัญหาให้กับตัวเอง และเมื่อเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยแล้วอาจารย์ก็ตอกย้ำอีกว่า คุณสามารถแก้ปัญหาให้ตัวเองได้แล้ว คุณจงออกไปสู่โลกกว้างเถิด อาจารย์ไม่ได้ทำให้เขาเห็นว่าปัญหาของนักศึกษาเป็นปัญหาของสังคม ปัญหาของสังคมเป็นปัญหาของนักศึกษา เพราะฉะนั้นคุณต้องแก้ปัญหาตัวคุณ พร้อมกับการแก้ปัญหาสังคม อาจารย์ไม่ค่อยได้บอกอย่างนี้

เพราะฉะนั้นปัจจุบัน ถ้ามหาวิทยาลัยจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร มหาวิทยาลัยต้องตระหนักถึงภารกิจที่ทำให้นักศึกษาคิดว่า ปัญหาของเขาคือปัญหาของสังคม และปัญหาของสังคมคือปัญหาของเขาให้ได้ และนักศึกษาก็ต้องออกไปสู่การเรียนรู้โลก

ผมไม่เห็นด้วยเลยที่เขามีการถามมาว่าจะเปิดสอน summer ไหม? ผมบอกว่า summer ควรให้นักศึกษาออกไปเรียนรู้สังคมข้างนอก อยู่ในมหาวิทยาลัยนานไปแล้ว หนึ่งปีมีสิบสองเดือน ควรจะมีช่วงหนึ่งที่นักศึกษาออกไปสัมผัสกับปัญหาสังคม ปัญหาสังคมมีตั้งมากมาย นักศึกษาควรออกไปเรียนรู้ เพราะก่อนที่เขาจะจบการศึกษา เขาควรจะรู้ว่าเขาจะออกไปทำอะไร ไม่ใช่ว่าออกไปแล้วเขาเกลียดสังคม เขากลัวปัญหาสังคม

ผมแปลกใจมากกับการที่ชาวบ้านปากมูลไปอยู่ที่กรุงเทพแล้ว กรุงเทพไม่สามารถเรียนรู้ปัญหาปากมูลได้ เพราะเหตุว่าคนกรุงเทพรู้สึกว่าปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาของเขา และนี่คือวิธีคิดของคนที่ออกไปจากมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ น่าแปลกใจจริงๆ


 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)