บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 350 หัวเรื่อง
การเมืองเกี่ยวกับชาติพันธุ์
สมชาย
ปรีชาศิลปกุล : เขียน
สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ
9 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์
กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
การเมืองเรื่องชาติพันธุ์
ภูมิบุตรา : การเมืองแห่งอัตลักษณ์
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความนี้ยาวประมาณ
9 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบทเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547
บทนำ
รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมาเลเซียรับรองสิทธิของชาวมาเลย์ (Malays) ให้มีสถานะแตกต่างไปจากคนกลุ่มอื่นในสังคม
โดยได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษในสิทธิหลายประการ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการอ้างอิงถึงสถานะของความเป็นภูมิบุตรา
(Bumibutra) หรือชนพื้นเมืองดั้งเดิม แม้ว่าหากพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มคนจีนและคนอินเดียแล้ว
ชาวมาเลย์สามารถจัดได้ว่าเป็นเป็นกลุ่มคนที่ดำรงอยู่มาก่อนและมีความชอบธรรมในการอ้างสิทธิของชนพื้นเมือง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระบวนการสร้างความหมายของภูมิบุตราก็เกิดขึ้นโดยการปิดกั้นคนกลุ่มอื่นที่แม้จะดำรงอยู่มาอย่างยาวนานในคาบสมุทรมลายา และอาจมีความยาวนานกว่าชาวมาเลย์ Orang Asli คือกลุ่มคนที่ถูกกีดกันจากความหมายของความเป็นภูมิบุตรา รวมถึงต้องตกอยู่ภายใต้กระบวนการถูกแปรให้เป็นชาวมาเลย์ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลมาเลเซียในปัจจุบัน การกำหนดหรือสร้างอัตลักษณ์ของชนแต่ละกลุ่มเพื่อยืนยันถึงตัวตนและสิทธิ จึงไม่ใช่ประเด็นของชาติพันธ์อย่างบริสุทธิ์เท่านั้น หากยังสัมพันธ์กับอำนาจและการเมืองอย่างลึกซึ้ง
1. ชาติพันธ์และอภิสิทธิ์
รัฐธรรมนูญของสหพันธ์รัฐมาเลเซีย มาตรา 153 กำหนดว่า กษัตริย์มีหน้าที่ในการปกป้องสถานะพิเศษของชาวมาเลย์
(Malays) และชนพื้นเมืองแห่งบอร์เนียว (Natives of Malaysian Borneo) บทบัญญัติดังกล่าวมีผลต่อการกำหนดสัดส่วนของการเข้ารับราชการ
การศึกษาในสถาบันของรัฐ การจัดสรรทุนและการออกใบอนุญาตเพื่อทำการค้าหรือธุรกิจ
รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้บทบัญญัตินี้เพื่อเพิ่มจำนวนชาวมาเลย์และชนพื้นเมืองในด้านธุรกิจและวิชาชีพต่างๆ ให้ทัดเทียมกับคนกลุ่มอื่น เฉพาะอย่างยิ่งกับชาวจีนในมาเลเซีย ผลอันเป็นรูปธรรมก็คือ มีชาวมาเลย์จำนวน 4 ใน 5 เข้าทำงานในตำแหน่งงานราชการ (public service) ถึง 4 ใน 5 (Dentan, 1997:20)
การให้อภิสิทธิ์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยอาศัยลักษณะทางชาติพันธุ์/วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากผู้คนกลุ่มอื่น เฉพาะอย่างยิ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏแพร่หลายทั่วไป ในเมื่อนานาอารยะประเทศทั้งหลายต่างยอมรับหลักความเสมอภาคแห่งบุคคลเป็นหัวใจหลักในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และในระหว่างประชาชนด้วยกันเอง
แม้ว่าในบางประเทศเช่น สหรัฐ มีนโยบายในการให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่คนผิวดำที่เรียกว่า Affirmative Program หรือ การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม (Positive Discrimination) อาทิ การกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของที่เรียนในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมัธยม ถึงนโยบายดังกล่าวจะมุ่งไปยังกลุ่มคนผิวดำ อันเป็นการเน้นถึงลักษณะทางชาติพันธุ์เช่นกัน แต่นโยบายนี้ก็มาจากเหตุผลที่คนผิวดำถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบมาอย่างยาวนาน จึงเป็นการเยียวยาให้เกิดความเสมอภาคระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาวมากกว่าเป็นผลให้เกิดช่องว่างที่ถ่างออกมากขึ้น
สำหรับในมาเลเซีย แม้ปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่การกำหนดสิทธิพิเศษให้กับชาวมาเลย์ จะมาจากความแตกต่างทางด้านฐานะของคนมาเลย์กับคนจีนที่ใหญ่มากขึ้นในทศวรรษ 1960 แต่เหตุผลสำคัญของการกำหนดสถานะพิเศษที่เกิดขึ้นด้วยการให้เหตุผลว่า ชนกลุ่มนี้คือชนพื้นเมืองดั้งเดิม (indigenous people) โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซียซึ่งสืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพ
ชาวมาเลย์และชนพื้นเมืองมีสถานะเป็นภูมิบุตรา (bumibutura) คำนี้เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง prince of the soil (ดูเล่มอื่น) นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ก็ยืนยันถึงสถานะพิเศษนี้ไว้ว่า ชาวมาเลย์คือผู้ดำรงอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิมหรือเป็นชนพื้นเมืองแห่งมาลายา และเป็นประชาชนผู้ซึ่งสามารถอ้างความเป็นเจ้าของประเทศได้ (Mahathir,1970:33)
2. Malays:
ชนพื้นเมืองสัมพัทธ์
มาเลเซียเป็นสังคมพหุนิยม (plural society) ที่ประกอบด้วยคน 3 กลุ่มสำคัญคือ
ชาวมาเลย์ (Malays) คนจีน และอินเดีย สามารถกล่าวได้ว่าไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศ
(ยกเว้นใน ค.ศ. 1969 ภายหลังการเลือกตั้งที่ชาวจีนประสบชัยชนะ และเป็นเหตุการณ์นองเลือดจากการปะทะกันของชาวมาเลย์และชาวจีน)
แม้ว่าจะมีความสมานฉันท์ทางชาติพันธุ์ แต่ก็มิได้หมายความว่าลักษณะทางชาติพันธุ์ไม่มีบทบาทและอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คน ในความเป็นจริง ผู้คนคิดและดำเนินชีวิตไปตามกลุ่มที่ตนสังกัด ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลักษณะของชาติพันธุ์กำลังมีความสัมพันธ์น้อยลง แต่ในวิถีชีวิตประจำวันยังคงถูกกำกับไว้โดยลักษณะทางชาติพันธุ์อย่างเข้มข้น การกลืนกลายระหว่างกลุ่มเป็นไปได้น้อยเพราะความแตกต่างอย่างมากของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา นอกจากนี้พรรคการเมืองหลัก ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานทางชาติพันธุ์เป็นหลัก
หากเปรียบเทียบกับชาวมาเลย์เห็นได้ชัดเจนว่า ชาวจีนและชาวอินเดียในประเทศมาเลเซียเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ภายหลังชาวมาเลย์ ชาวจีนเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรประมาณ 31.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ ค.ศ. 1989 ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนรุ่นปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพ ถือกำเนิดในมาเลเซียและได้สัญชาติโดยการเกิด มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นรุ่นที่อพยพมาด้วยตนเอง
บรรพบุรุษชาวจีนอพยพมาผืนแผ่นดินมลายาในช่วงที่ดินแดนแถบนี้ตกเป็นอาณานิคม ในราวทศวรรษ 1830 และช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อทศวรรษ 1930 ส่วนใหญ่จะเป็นชาวนาอพยพ หนีความวุ่นวายทางการเมืองและความยากจนจากพื้นที่ทางตอนใต้ที่ติดทะเลของจีน ในระยะแรกชาวจีนอพยพเข้าเป็นแรงงานในเหมือง จนต้นศตวรรษที่ 20 ได้เริ่มมีการค้าขายขนาดเล็กและเริ่มลงหลักปักฐาน ชุมชนชาวจีนได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในทศวรรษที่ 1930
อย่างไรก็ตามชาวจีนและชาวมาเลย์ก็ยังแยกห่างกันทั้งในทางสังคมและวัฒนธรรม การแต่งงานข้ามกลุ่มเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ชาวมาเลย์ยังคงไม่ยอมรับชาวจีนเป็นลูกสะใภ้ แม้ว่าเธอจะเปลี่ยนศาสนาหลักก็ตาม (Dentan; 1997,16)
ชาวจีนมีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในการเตรียมการเพื่อเอกราช ผู้นำชาวของมาเลย์ จีน และอินเดีย ได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่รู้จักกันในนามของการต่อรอง(Bargain) โดยสาระสำคัญของการต่อรองก็คือ ผู้นำที่มิใช่เชื้อสายมาเลย์ยอมรับว่าชาวมาเลย์คือเชื้อสายพื้นเมืองดั้งเดิมมีอำนาจเหนือในทางการเมือง และในทางกลับกันผู้นำชาวมาเลย์ก็ยอมรับบทบาททางเศรษฐกิจของกลุ่มที่มิใช่เชื้อสายมาเลย์
สำหรับชาวอินเดียมีประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรมาเลเซียบนฝั่งคาบสมุทร ชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดียส่วนมากคือพวกฮินดูทมิฬ (Hindu Tamils) จากทางใต้ของอินเดีย ซึ่งเดินทางเข้ามาในฐานะคนงานในสวน โดยอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประมาณครึ่งของชาวอินเดียยังคงเป็นแรงงาน impoverished tappers ในสวนยางและปาล์ม มีเป็นส่วนน้อยที่ทำงานในหน่วยงานรัฐหรือนักธุรกิจ
ถ้าคำนึงถึงการปรากฏตัวของกลุ่มชาวจีนและอินเดียบนคาบสมุทรมลายา ชาวมาเลย์จึงเป็นกลุ่มคนที่ดำรงอยู่มาก่อน แต่การนิยามถึงความเป็นคนมาเลย์ในเชิงเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า การเป็นมาเลย์มีลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ในความเป็นจริงการนิยามถึงการเป็นคนมาเลย์ก็มีความยุ่งยากอยู่เช่นเดียวกัน
ชาวมาเลย์บนคาบสมุทรมลายามีประชากรประมาณ 58 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในมาเลเซียทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรม แต่ใครที่อาจถูกนับได้ว่าเป็นคนมาเลย์ได้บ้าง
รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐมาเลเซียนิยามความเป็นมาเลย์ว่า คือบุคคลซึ่งพูดภาษามาเลย์ นับถือศาสนาอิสลามและปฏิบัติตามจารีตประเพณีมาเลย์ (one who speaks the Malay language, professes Islam and habitually follows Malay customs) ความหมายของการเป็นชาวมาเลย์ตามเงื่อนไขนี้เป็นสิ่งที่มีที่มาและประวัติศาสตร์แยกจากกัน แต่พึ่งจะมาถูกรวมเข้าด้วยกันภายหลังการรับศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ (Sunni Islam) โดยผู้ปกครองของ มาลากกา(Malacca) ในศตวรรษที่ 15 ภาษามาเลย์เป็นภาษาของผู้ปกครองรายแรกในมาลากกาและเป็นภาษาที่ใช้ในทางการค้า ที่ได้แพร่กระจายไปยังหมู่เกาะอินโดนีเซียและคาบสมุทรมลายา ช่วงเวลาที่มาลากกามีอิทธิพลทางการค้าทางทะเลและเข้าแทนที่ภาษาตระกูลมอญ-เขมร ที่ชนพื้นเมืองเดิมใช้กันอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายา
ผู้ปกครองของมาลากการับศาสนาอิสลามจากชาวอินเดียและชาวอาหรับ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือการค้าทางทะเลในเอเซียอาคเนย์ในช่วงศตวรรษที่ 13 และแพร่กระจายไปสู่คนพื้นเมืองและเข้าไปแทนที่ความเชื่อของศาสนาพุทธ-ฮินดู และการนับถือผี
จารีตประเพณีแบบมาเลย์ก็เป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดแม้กระทั่งในปัจจุบันทศวรรษที่ 1990 ชนชั้นปกครองประณามจารีตประเพณีของมาเลย์ เช่น หนังตะลุง(shadow-plays) หรือการแต่งกายของหญิงว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับอิสลามมิกชน(Insufficiently Islamic) ขณะเดียวกันวัฒนธรรมตะวันตกก็ได้แพร่เข้าไปและถูกยอมรับในชนชั้นปกครองมาเลย์
โดยที่ความเป็นมาเลย์ถูกกำหนดด้วยวัฒนธรรมมากกว่าการสืบเชื้อสาย บุคคลที่ไม่ใช่มาเลย์จึงอาจกลายเป็นชาวมาเลย์ด้วยการยอมรับแนวทางการปฏิบัติที่ถูกระบุไว้ และเนื่องจากชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ในปัจจุบันสามารถพูดภาษามาเลย์และประเพณีมาเลย์ก็มีความแตกต่างกันน้อย ศาสนาจึงมาเป็นเงื่อนไขหลักของการกลายเป็นชาวมาเลย์
ความลื่นไหล (flexibility) ในความหมายของการเป็นชาวมาเลย์เป็นสิ่งที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต ชาวมาเลย์มีต้นกำเนิดจากการผสมผสานกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์ จากพ่อค้าพูดภาษาออสโตนีเเชียน ชาวประมงโจรสลัดซึ่งตั้งถิ่นฐานลงบนคาบสมุทรเมื่อ 1000 ปี ก่อนคริสตกาล พ่อค้ามุสลิมส่วนใหญ่ คือ อินเดียและชาวอาหรับแต่งงานกับชนชั้นสูง ขณะที่ชาวอินโดนีเซียและชาวพื้นเมืองผสมกลมกลืนกับกลุ่มอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งหลังอังกฤษเริ่มต้นการปกครองขึ้น มีการอพยพขนานใหญ่จากหมู่เกาะในอินโดนีเซียจนประชากรมากกว่าชนพื้นเมืองเดิมอย่างมหาศาล
ในการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชจากอังกฤษ ชนชั้นปกครองจึงได้เริ่มให้ความหมายของตนเองกับประชาชนภายใต้ปกครองเสมือนหนึ่งว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน และก็หยิบยืมเอาคำที่ถูกใช้ในการปกครองยุคอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งรวมเอาชนพื้นเมืองคนมาเลย์ ผู้อพยพเชื้อสายอินโดนีเซีย และชนชั้นปกครองที่มีหลากหลายชาติพันธ์โดยรวม ๆ กันเป็นประชากรชาวมาเลย์(Malay Population) (Anderson 1991:164-165) แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม ซึ่งภายใต้การนิยามถึงประชากรชาวมาเลย์นี้เอง ได้นำไปสู่การสร้างความนิยมในการสนับสนุนบทบาทของคนเชื้อสายมาเลย์ภายหลังได้รับเอกราช
ดังนั้นแม้ว่าจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนของชาวมาเลย์กับชาวจีนและอินเดีย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความหมายของชาวมาเลย์เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาอย่างปราศจากความเปลี่ยนแปลง ความเป็นชาวมาเลย์เกิดจากการหยิบยืมและการเลือกสรรถ้อยคำ คุณลักษณะ ประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจมีที่มาที่แตกต่างกันอย่างมากเข้ามาประกอบและสร้างเป็นความหมายขึ้นอันสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้
ที่แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ ดังพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวมาเลย์คือพรรคอัมโน (UMNO: United Malays National Organization) ได้สนับสนุนให้ศาสนาอิสลามเป็นแนวทางของการบัญญัติกฎหมาย และวิถีปฏิบัติของประเทศ แม้ว่ายังยอมรับเสรีภาพทางศาสนาของบุคคลที่ไม่ใช่เชื้อสายของมาเลย์ ขณะที่ชาวมาเลย์จำนวนหนึ่งต้องการให้มาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม ที่กฎหมาย การเมือง และระบบเศรษฐกิจ ต้องถูกกำหนดจากคัมภีร์ Quran และประมวลกฎหมายของอิสลามซึ่งพรรคอิสลาม (The Islamic Party: PAS) สนับสนุนแนวทางนี้
3. Orang
Asli: ชนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ชนพื้นเมือง
สิทธิพิเศษของชาวมาเลย์ในรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมาจากเหตุผลว่า ชาวมาเลย์ เป็นชนพื้นเมืองหรือกลุ่มคนที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม
การเป็นกลุ่มคนผู้อยู่มาก่อนนี้เป็นความเชื่อที่ถูกยอมรับหากเปรียบเทียบกับชาวจีนและชาวอินเดีย
องค์การสหประชาชาติให้คำนิยามของชนพื้นเมืองว่าหมายถึง
ประชากรพื้นเมืองคือ ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษซึ่งดำรงอยู่ในดินแดนของประเทศทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน เมื่อผู้คนที่ต่างวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์จากดินแดนอื่นได้เดินทางมาถึง ได้ปราบปรามชนเหล่านี้และลงหลักปักฐานหรือด้วยวิธีอื่นใดทำให้พวกเขาไม่มีความสำคัญหรืออยู่ในสถานะอาณานิคม ชนพื้นเมืองซึ่งปัจจุบันยังคงดำเนินชีวิตไปตามจารีตประเพณีทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของตนเองมากกว่ากฎเกณฑ์ของประเทศที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่ง ที่ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของประชากรกลุ่มอื่นมีอิทธิพลครอบงำ ให้เรียกว่าชนพื้นเมือง (Burger 1987:6-7)
ถ้าพิจารณาตามความหมายข้างต้นนี้ ข้ออ้างเรื่องการเป็นชนพื้นเมืองของชาวมาเลย์ก็อาจสั่นคลอนได้ หากพิจารณาถึงชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า Orang Asli อันมีความหมายถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Aboriginal people) ซึ่งมีหลักฐานยืนยันของการดำรงอยู่อย่างยาวนานและก่อนการก่อตั้งการปกครองโดยชาวมาเลย์จะเกิดขึ้น
ใน ค.ศ.1995 Orang Asli มีจำนวนประมาณ 90,000 คน ซึ่งประกอบด้วยอย่างน้อย 19 กลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ขนาด 100 คน ไปจนถึง 20,000 คน และแตกต่างกันทางภาษา ระบบเศรษฐกิจ ศาสนา ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะร่วมของชนกลุ่มนี้คือ เป็นชาวพื้นเมืองที่ไม่ใช่ชาวมาเลย์ หากสืบทอดเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่อาศัยบนคาบสมุทรมาก่อนที่อาณาจักรของชาวมาเลย์ได้ก่อตั้งขึ้น ในช่วงราวคริสตศตวรรษที่ 2
Orang Asli อาศัยอยู่กระจากทั่วตามภูเขา เชิงเขา และที่ราบทั้งสองฝั่งของคาบสมุทร ส่วนใหญ่จะพูดภาษามอญ-เขมร(Mon-Khmer) ที่แสดงถึงสายสัมพันธ์กับกลุ่มชนทางด้านเหนือในแผ่นดิน แม้ในปัจจุบันบางส่วนได้สูญเสียภาษาดั้งเดิมของตนไป โดยหันไปใช้ภาษามาเลย์แทน แต่ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินวิถีชีวิตตามความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่ม
วิถีชีวิตของ Orang Asli มีรากฐานที่มาอันยาวนานไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าชนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากพวก Hoabinhians ที่ดำรงอยู่ในช่วง 8,000-1,000 ปีก่อนคริสตกาล บนคาบสมุทรมลายาเป็นกลุ่มที่ร่อนเร่หาอาหารและพักอยู่ในพื้นที่ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จนกว่าบริโภคหมด จึงค่อยเคลื่อนย้ายต่อไป
พวก Hoabinhians ไม่ค่อยทำการค้าเพราะความยากลำบากของพื้นที่ป่า อีกทั้งแต่ละกลุ่มก็มีผลผลิตที่คล้ายคลึงกัน การค้าปรากฏให้เห็นชัดในช่วงสหัสวรรษแรกพ่อค้าจากอินเดีย จีนและมอญเดินทางมาถึงคาบสมุทร กลุ่มชนบนผืนแผ่นดินด้านในเป็นผู้ป้อนสินค้าจากป่าให้แก่โลกภายนอก เช่น ไม้หอม เขาสัตว์ หนังสัตว์หรือแม้กระทั่งทองคำ การค้าจึงเริ่มมีความสำคัญขึ้นโดยทางด้านใต้ของคาบสมุทร ที่เป็นพื้นที่ราบสามารถใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างชายฝั่งกับดินแดนที่ลึกเข้าไปได้บนคาบสมุทรได้
รูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น ล่าสัตว์ หาของป่า เลี้ยงสัตว์ จับปลาและการค้าผลผลิตจากป่า ยังเป็นรูปแบบที่ส่วนใหญ่ของ Orang Asli ยังคงกระทำอยู่อย่างกว้างขวางก่อนการรุกเข้ามาของนโยบายการพัฒนาในปลายศตวรรษที่ 20
การสืบต่อจากบรรพบุรุษที่ยาวนานเช่นนี้ สามารถสั่นคลอนสถานะของการเป็นชนพื้นเมืองของชาวมาเลย์ได้ สำหรับชาวมาเลย์อาจสืบสาวถึงบรรพบุรุษของตนกลับได้ก็เพียง 3,000 ปีย้อนหลังกลับไปเท่านั้น (Dentan 1997:20) ซึ่งยังห่างไกลจากบรรพบุรุษของ Orang Asli อยู่มาก
แม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าชาวมาเลย์แต่ชนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้มีสถานะพิเศษหรือภูมิบุตราแต่อย่างใด ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลถึงการมองข้ามสถานะของ Orang Asli แต่ผู้นำของมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ให้คำอธิบายว่า (Mahathir 1970:126-127)
"ข้อสรุปจากการศึกษาถึงประเทศอื่นก็คือ การดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองก่อนการตั้งหลักปักฐานโดยชนกลุ่มอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นจะเป็นชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอีกไม่มาก ไม่มีแห่งใดที่ชนเหล่านี้ถูกพิจารณาว่าเป็นเจ้าของประเทศ ชนที่เป็นเจ้าของคือผู้ซึ่งก่อตั้งรัฐบาลแรกขึ้น และรัฐบาลนั้นคือผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตและดำเนินกิจการต่าง ๆ อย่างเป็นทางการและเงื่อนไขอีกประการหนึ่งก็คือ ประชาชนที่จัดตั้งรัฐบาลขึ้นต้องมีจำนวนที่มากกว่าชนดั้งเดิมในประเทศนั้นมาโดยตลอด
ในมาเลเซีย ไม่เป็นที่สงสัยว่าชาวมาเลย์ได้จัดตั้งรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพแห่งแรก ชาวมาเลย์ได้ยืนยันถึงฐานะของชนแห่งคามสมุทรมาเลย์ ชนพื้นเมืองไม่เคยยืนยันหรืออ้างถึงสิทธิในการยอมรับเช่นนี้ ไม่มีรัฐหรือรัฐบาลของชนพื้นเมืองซึ่งเป็นที่รับรู้กัน นอกจากนั้นไม่มีช่วงเวลาใดที่ชนพื้นเมืองมีจำนวนมากกว่าชาวมาเลย์"
การอ้างอิงถึงสถานะของผู้ที่ดำรงอยู่มาแต่ดั้งเดิม เพื่อให้ได้รับสิทธิที่แตกต่างหรือเหนือกว่ากลุ่มอื่นเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามในมาเลเซียแม้กระทั่งปัจจุบัน สถานะของความเป็นชนพื้นเมืองของชาวมาเลย์ เกิดและพัฒนามาโดยมีความแตกต่างไปจาก "คนพื้นเมือง" ในที่อื่น ท่ามกลางการก่อตั้งของรัฐชาติ เพราะหากเปรียบเทียบกับชนพื้นเมืองในประเทศอื่น ๆ หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย การก่อตั้งของรัฐชาติส่งผลให้ชนพื้นเมือง(Aborigine) กลายไปเป็นกลุ่มที่มีฐานะต่ำต้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งในทางกฎหมายและวัฒนธรรม ขณะที่ในมาเลเซีย การสร้างความหมายและความสำคัญของการเป็นภูมิบุตราทำให้บุคคลบางกลุ่มที่ได้รับสถานะพิเศษแตกต่างไปจากชนกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ในภายหลัง หรือกลุ่มคนทีไม่ถูกให้ความหมายว่าเป็นชนพื้นเมือง
4. อัตลักษณ์ใหม่ในรัฐชาติ
อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อความทรงจำและการหลงลืมเรื่องราวต่างๆ ตำนานในรัฐเปรัค
ผู้ก่อตั้งอาณาจักรมาเลย์ได้แต่งงานกับหญิงชนพื้นเมืองซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ
เลือดสีขาวและถือกำเนิดจากต้นไผ่ สะท้อนความหมายว่าราชวงศ์เปรัคสืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมือง
ตำนานเรื่องนี้ยังพบได้ในหมู่ชนพื้นเมืองจนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 แต่การถูกกีดกันออกจากการมีบทบาททางการเมือง
ชาวมาเลย์จึงหลงลืมเรื่องเล่าของชนพื้นเมืองในการก่อตั้งอาณาจักรมาเลย์ไปแทบสิ้นเชิง
ก่อนการใช้คำว่า Orang Asli ชนพื้นเมืองในคาบสมุทรมาเลย์รู้จักกันนามของซาไก(Sakai) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตซึ่งมีความหมายถึงเพื่อน มิตรสหาย (Couillard 1984: 85) แต่เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 คำว่าซาไกมีความหมายที่เปลี่ยนไปโดยมีนัยยะถึงผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ทาส ป่าเถื่อน ซึ่งอาจไม่แตกต่างจากการใช้คำว่า nigger กับชาวอเมริกันผิวดำอันมีความหมายถึงผู้ที่ต่ำต้อยกว่าทางชาติพันธุ์และไร้อำนาจ
ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธุ์ระหว่าง Orang Asli กับโลกภายนอก (outsiders) จากศตวรรษที่ 10 มาจนกระทั่งถึงกลางศตวรรษที่ 20 ใน ค.ศ. 1966 รัฐบาลมาเลเซียได้ยอมรับอย่างเป็นทางการในการใช้คำ Orang Asli แทนคำว่าซาไกด้วยความหวังการเปลี่ยนแปลงนี้ จะช่วยทำให้มีการมองคนกลุ่มนี้ในด้วยการยอมรับมากขึ้น
ในโลกยุคสงครามเย็น ปมแห่งความขัดแย้งสำคัญของมนุษย์คือคำถามว่า คุณอยู่ฝ่ายไหน? แต่ในปัจจุบันคำถามที่เป็นปมแห่งความขัดแย้งคือคำถามว่าคุณคือใคร? (ชัยวัฒน์ 2546: 18) กับคำถามนี้ คำตอบอาจเปลี่ยนแปลงได้ยากหรืออาจแทบไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับลักษณะทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ อันอาจชวนให้เข้าใจไปได้ว่า การเป็นใครเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดยปราศจากอำนาจและการสร้างความหมาย ตรงกันข้ามการเป็นใครในโลกปัจจุบันกลับถูกกำหนดไว้โดยกระบวนการที่ซับซ้อน/หลากหลาย จนทำให้อาจเกิดคำถามว่า เอาเข้าจริงแล้ว เรากำลังเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่จริงหรือ?
บรรณานุกรม
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. 2546 อาวุธมีชีวิต?: แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
Anderson, Benedict. (1991) Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism. London and New York: Verso.
Dentan, Robert Knox. (1997) Malaysia and the Original People. Massachusetts: Allyn and Bacon A Viacom Company.
Mahathir bin Mohamad. (1970) The Malay Dilemma. Singapore: Donald Moore for Asia Pacific Press.
Wu Min Aun. (2001) The Malaysian Legal System. Kuala Lumpur: Longman. 2222222
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
"ข้อสรุปจากการศึกษาถึงประเทศอื่นก็คือ การดำรงอยู่ของชนพื้นเมืองก่อนการตั้งหลักปักฐานโดยชนกลุ่มอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นจะเป็นชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอีกไม่มาก ไม่มีแห่งใดที่ชนเหล่านี้ถูกพิจารณาว่าเป็นเจ้าของประเทศ ชนที่เป็นเจ้าของคือผู้ซึ่งก่อตั้งรัฐบาลแรกขึ้น และรัฐบาลนั้นคือผู้ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตและดำเนินกิจการต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ..." (อดีตผู้นำของมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด )
ชาวจีนเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด มีประชา กรประมาณ 31.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ ค.ศ. 1989 ชาวมาเลย์เชื้อสายจีนรุ่นปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากผู้อพยพ ถือกำเนิดในมาเลเซียและได้สัญชาติโดยการเกิด มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นรุ่นที่อพยพมาด้วยตนเอง มาเลเซียเป็นสังคมพหุนิยม ที่ประกอบด้วยคน 3 กลุ่มสำคัญคือ ชาวมาเลย์ คนจีน และอินเดีย