มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : มหาวิทยาลัยภาคประชาชน : กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน ส่วนกลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ - กุมภาพันธ์ 46
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 236 หัวเรื่อง "โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก"
บทสัมภาษณ์ อ.สุชาดา จักรพิสุทธิ์
next
ภาพประกอบดัดแปลง 1. ภาพถ่าย portrait พ่อทองเจริญ(สมัชชาคนจน) 2. ภาพผลงานภาพพิมพ์ เทคนิค Linocut ผลงานของ John Muafangejo, Preparation for the Flood,1979 จากหนังสือ Art today หนังสือของห้องสมุดคณะวิจตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
R
relate topic
260146
release date
QUOTATION

Setting ที่ 4 คือ การเรียนรู้หรือความรู้ที่เกิดจากครูภูมิปัญญา เราจะ
มีครูภูมิปัญญาอยู่ทั่วทุกภาค และคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วยังคงถ่ายทอด หรือต้องการผู้สืบทอดความรู้ที่เขามีอยู่ หลายๆที่มีการถ่ายทอดอย่างเป็นแบบแผน มีการจัดสถานที่

หรืออย่างทางเหนือ ครูภูมิปัญญาที่สอนเรื่องอักษรธรรม ตัวหนังสือเมือง หรืออย่างพ่อสิงห์แก้ว มโนเพชร ที่สอนวิชาตัดตุง คนเหล่านี้มีชุดความรู้ของเขาที่อาจจะถ่ายทอดโดยวิธีบอกเล่า อาจจะถ่ายทอดโดยวิธีการเขียนเป็นตำรับตำรา อย่างการรำผีมดผีเม็งมีตำรับตำรา

กำลังคิดว่าผู้รู้บางอย่าง อย่างเช่น ผู้รู้ที่เป็นนักคิด แล้วมีผลงานเสนอต่อสังคมให้คนที่ติดตามได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆกับผู้รู้คนนั้นด้วย บุคคลเหล่านี้ก็น่าจะจัดอยู่ในข่ายของความรู้ที่เกิดขึ้นจากผู้รู้และครูภูมิปัญญา ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์นิธิ, หรือพ่อหลวงจอนิ เป็นต้น
บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ อ.สุชาดา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่ของความรู้นอกระบบการศึกษาซึ่งแฝงอยู่ในชุมชนกว่า 66,000 ชุมชนทั่วประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก
โดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์
ผู้สัมภาษณ์ สมเกียรติ ตั้งนโม
(ความยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)

ผู้สัมภาษณ์ : อยากเรียนถาม อ.สุชาดา ถึงเรื่องภาพรวมปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยโดยทั่วไปว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างไร มีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : โดยภาพรวมของสังคมไทยปัจจุบัน มีความเป็นพลวัตสูงมาก มีความรู้ที่ไหลถ่ายเทอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่มหาวิทยาลัยกลับหยุดนิ่งซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติ ฉะนั้น ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างปัจจุบันนี้ คิดว่าไม่ช้าก็เร็ว มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัว

จากตรงนี้จึงมองว่า มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยส่วนกลาง หรือมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค หรือแม้แต่ปัจจุบันซึ่งมีมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศ 54 แห่ง จากสถานการณ์ตรงนี้ คือพูดง่ายๆเป็นภาษาการตลาด มันเกิดการแข่งขันสูงมาก และตัวนี้มันเป็นปัจจัยธรรมชาติที่จะผลักให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องปรับตัว แต่คำถามก็คือ จะปรับตัวจากอะไร?

ดิฉันอยากจะเริ่มต้นมองว่า มหาวิทยาลัยมีจุดแข็งอะไรบ้าง ? ส่วนจุดอ่อนที่เห็นๆกันก็คือ มันไม่ทำให้คนคิดเป็น, ทำให้ความรู้เป็นเรื่อง static, ส่วนจุดแข็งของมันก็คือ มหาวิทยาลัยเป็นช่องทางที่ทำให้เราเข้าถึงเทคโนโลยีและวิทยาการที่เป็นสากล พูดง่ายๆก็คือ มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่เข้าถึงและเป็นแหล่งรวมวิทยาการที่ทันสมัย โดยที่มันถูกจัดตั้งให้มีหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรและงบประมาณ รวมถึงการมีเสรีภาพทางวิชาการ

โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่ามหาวิทยาลัยไทยมีเสรีภาพทางวิชาการพอสมควร พอๆกับสื่อมวลชนไทย ตราบใดที่ไม่ไปเหยียบปลายจมูกของผู้บริหารโดยตรง นักวิชาการในมหาวิทยาลัยทำอะไรโดยรัฐไม่รู้เรื่องอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด. แต่อย่างไรก็ตาม คิดว่ามีนักวิชาการอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้สำเหนียกถึงเสรีภาพเหล่านี้ที่มีอยู่ว่าจะใช้มันอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เขารู้แค่ว่า เขามีเสรีภาพที่จะไปทำงานหรือหาประโยชน์จากงานวิชาการของเขาเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

ผู้สัมภาษณ์ : ที่พูดถึงเสรีภาพที่มีอยู่พอสมควรนั้น พูดในฐานะอาจารย์ที่เป็นปัจเจก หรือว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่มีเสรีภาพ

สุชาดา : พูดในฐานะตัวอาจารย์ เพราะตัวองค์กรมีสายบังคับบัญชาของตัวอยู่แล้ว ซึ่งยกตัวอย่างง่ายๆว่า มีนักวิชาการหลายคนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่าง อ.นิธิ, หรือรุ่นเล็กลงมาอย่าง อ.อรรถจักร, อ.สมชาย, หรือคนอื่นๆ, จะมีนักวิชาการเหล่านี้ที่ปรากฎขึ้นมาและรู้ว่าจะใช้เสรีภาพเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างไร แต่ส่วนใหญ่ของนักวิชาการไม่รู้สึกถึงเรื่องเหล่านี้ บางคนก็เอาเสรีภาพทางวิชาการไปทำงานในด้านอื่นๆ เช่นวิ่ง job ตามมหาวิทยาลัยเอกชน

แล้วสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของมหาวิทยาลัยเอกชนก็คือ เริ่มมีการทำงานเชิงพาณิชย์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ที่ได้เข้ามาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเอกชนไทย จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ๆที่มีชื่อเสียงเป็นลูกครึ่ง ชื่อเสียงเป็นฝรั่ง เรียนจบแล้วได้รับปริญญาของเขา อย่างนี้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ามีมหาวิทยาลัยทำนองนี้เยอะมาก ซึ่งจริงๆแล้วเป็นกลยุทธทางการตลาดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วสังคมไทยก็ไปเห่อ ปัญหาที่มันซับซ้อนคือว่า ทำไมสังคมไทยจึงไปเห่อมหาวิทยาลัยสัญชาติฝรั่งตอนนี้ ก็เพราะส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยมันล้มเหลว ไม่เป็นความหวัง ดังนั้นคนที่พอจะมีกำลังซื้อจึงสร้างทางรอดเฉพาะของตนเองขึ้นมา ซึ่งก็คือชนชั้นกลางขึ้นไป ที่พยายามจะหาทางเลือกใหม่ๆและก็คิดว่านี่จะเป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง อย่างน้อย น่าจะดีกว่ามหาวิทยาลัยสัญชาติไทยที่มันไม่ค่อยได้เรื่อง

ผู้สัมภาษณ์ : หรือว่าเป็นเรื่องของค่านิยม คือถ้า อ.สุชาดา มองว่ามันเป็นความล้มเหลว ความไม่ค่อยได้เรื่องของมหาวิทยาลัย อันนี้ผมไม่แน่ใจเพราะว่า คนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังคงมีคุณภาพอยู่จำนวนมาก

สุชาดา : เป็นเรื่องค่านิยมด้วย เป็นค่านิยมที่ว่าอะไรซึ่งมันเป็นฝรั่ง มัน civilize กว่า, คุณภาพเหนือกว่า อันนี้เป็นสำนึกที่ฝังอยู่ในหลายๆเรื่อง

ผู้สัมภาษณ์ : ที่นี้จุดแข็งที่อาจารย์มองเห็น นอกจากเสรีภาพทางวิชาการ แล้วก็เป็นแหล่งที่เข้าถึงเทคโนโลยีและวิทยาการสากล ยังมีประเด็นอื่นอีกไหม?

สุชาดา : เรื่องของทรัพยากร, คน, และงบประมาณด้วย คือถ้าคิดแค่นี้ เขาก็มีเครื่องมือ มีปัจจัยที่จะพัฒนาอะไรได้เยอะมาก ความคาดหวังต่อมาของตัวเองก็คือ มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัว เปิดรั้วออกมา แต่การที่มหาวิทยาลัยจะเปิดรั้วออกมาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า เขาเห็น เขาเชื่อหรือยังว่า ความรู้ที่เขามีอยู่นั้นมันไม่พอ

จริงๆเวลานี้มันมีกระแสเรื่องสิทธิชุมชนสูงมาก และจากการวิจัยในโครงการการศึกษาทางเลือก อย่างที่เคยพูดคุย ดิฉันส่งเพื่อนร่วมงานวิจัยลงไปในชุมชนกว่า 66,000 ชุมชน และพบว่ามี intentional communities อยู่จำนวนมาก อันนี้มีเครื่องยืนยันนอกไปจากโครงการวิจัยของตัวเองที่ทำอยู่ ซึ่งบอกกับเราว่า ชุมชนต่างๆเหล่านี้มีความรู้ และสามารถที่จะเสนอทางเลือกหลายๆอย่างได้ ซึ่งไม่เป็นทางเลือกเฉพาะของเขาเท่านั้น

ถ้ามหาวิทยาลัยมองเห็นตรงนี้ สิ่งที่คาดหวังก็คือ มหาวิทยาลัยควรจะเริ่มที่จะสร้างความรู้ร่วมกับชุมชน คือไม่ใช่ไหลออกมาโดยเข้าใจว่าความรู้ของตนมีศักดิ์และสิทธิ์ หรือศักดิ์ศรีเหนือกว่า ถ้ามันไหลออกมาในลักษณะที่ความรู้ของเขา 20% มันแน่กว่าหรือเหนือกว่า มันก็ไหลออกมาครอบงำ ซึ่งก็จะเป็นเหมือนอย่างเดิม. มหาวิทยาลัยควรจะนำความรู้ที่ไหลออกมาในการสร้างความรู้ หรือต่อยอดความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ร่วมกับชุมชน หรือ integrate ความรู้ 20% ของเขากับความรู้ 80% ข้างนอก ให้เป็นอะไรที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ยืดหยุ่น หลากหลายมิติ

ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนมีความรู้ในเรื่องสมุนไพรมาก ถ้ามหาวิทยาลัยเอาความรู้หรือวิทยาการสมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่, ลองเอาสมุนไพรเหล่านี้มาวิจัยในห้อง Lab ใช้เทคโนโลยีในห้อง lab เพื่อที่จะยกระดับมันได้ไหม. หรือภาควิชาออกแบบ เข้ามาทำวิจัยร่วมกับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทางด้าน packaging กับสินค้าหรือผลผลิตต่างๆของชุมชนให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อสร้างรายได้และเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น อันนี้ทำได้ไหม หรือแม้กระทั่งไปเชื่อมกับตลาดสากลก็ยังได้ ถ้ามหาวิทยาลัยมองเห็นว่าจะหลอมรวมความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร

ตัวอย่างต่อมา เช่น ชุมชนส่วนใหญ่ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวมาก และชุมชนส่วนใหญ่เขาจบการศึกษาระดับหนึ่ง โดยที่เขาไม่มีโอกาสศึกษาต่อ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเขาต้องการจะมีความรู้แบบวิทยาการสมัยใหม่ เช่น อยากรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่า เขาเรียนอะไรกัน. มหาวิทยาลัยจะสร้างสะพานเชื่อม หรือสร้างกลไก สร้างระบบอะไรที่ทำให้ชุมชนหรือชาวบ้าน เข้ามาใช้ความรู้ ใช้วิทยาการที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ได้อย่างไร ?

มหาวิทยาลัยควรจะเป็นตัวต่อยอดทางความคิด อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายมหาวิทยาลัยว่าจะเปิดตัวเองสู่ชุมชนไหม ถ้ามหาวิทยาลัยจะเปิดตัวเองเข้าสู่ชุมชน เขาจะต้องเห็นว่า เขาจะเป็นผู้นำชุมชนในแง่ที่นำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาให้ชุมชนปรับใช้ หรือชาวบ้านนำเอาชุมชนเข้ามาเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างไร รวมถึงให้โอกาสกับชุมชนชาวบ้านที่จะเข้ามาใช้วัสดุอุปกรณ์ ใช้สถานที่ ใช้เวทีในมหาวิทยาลัยด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยาก เพราะมันจะไปติดที่วิธีคิดของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ว่าความรู้ที่เขามีอยู่เหนือกว่าชาวบ้าน และชาวบ้านก็ไม่มีค่าอะไรสำหรับเขา ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังเอาไว้ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่เปลี่ยนฐานคิดอันนี้

จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยสามารถที่จะเป็นพี่เลี้ยง อันนี้หมายความว่า มหาวิทยาลัยที่ establish แล้วหรือ firm แล้ว อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควรที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ อย่างสถาบันราชภัฎฯ เป็นพี่เลี้ยงในแง่ของการถ่ายเทวิทยาการซึ่งตัวเองมีมากกว่า หรือการให้ความช่วยเหลือบางด้าน เช่น ตัวเองอาจมีห้องสมุดที่สมบูรณ์ มีห้อง lab ที่ดีกว่า มหาวิทยาลัยบ้านนอกทั้งหลาย มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง น่าจะเข้ามาใช้ได้โดยมีระบบตอบแทนอะไรกัน หรือแม้แต่ว่าจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของงานวิจัย โดยให้ใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ตัวเองมีมากกว่า อันนี้อยากให้ครอบคลุมไปถึงโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่นด้วย ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันของการสร้างคนให้มีคุณภาพ ก็จะต้องไปช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ต้นทาง อันนี้ไม่อยากให้ช่วยเหลือแต่เฉพาะตัวผู้เรียนเท่านั้น แต่อยากให้ไปช่วยเหลือต่อสถาบันของผู้เรียนด้วย

ถ้าจะพูดในภาษาเชิงธุรกิจ มหาวิทยาลัยควรจะมอง marketing ทั้งระบบ ในเมื่อจะทำให้การขายความรู้เป็นเรื่องพาณิชย์แล้ว เขาก็ควรจะมีวิธีคิดทั้งระบบว่า เขาจะทำเรื่องการขายความรู้โดยที่มีการขายอนาคต เตรียมกลุ่มเป้าหมายล่วงหน้า เตรียมผู้ซื้อ ผู้บริโภคของเขาล่วงหน้ายังไง คือการเข้าไปจัดกิจกรรมเชื่อมประสาน หรือเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงของสถาบันที่เป็นน้องกว่าได้อย่างไร

อาจเกิดปัญหาข้อสงสัยว่า มีสถาบันการศึกษาที่อยู่ชายขอบเป็นหมื่นๆ จะทำอย่างไรกับไอเดียอันนี้ ซึ่งอันที่จริงเวลานี้มันมีเขตการศึกษาที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงของโรงเรียนต่างๆ สาย ก. สาย ข. แล้วโรงเรียนต่างๆก็จะมีสายจัดตั้ง อย่างโรงเรียนเอกชนก็มีสายจัดตั้งของโรงเรียนเอกชน คือ ใน location อันนี้ ในเขตพื้นที่นี้เขาจะเป็นเครือข่ายกัน ตั้งแต่มี สมส.(สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานฯ) ได้เข้ามาจัดเครือข่ายแบบนี้ขึ้น

อันนี้เป็นเรื่องทั้งสองฝ่าย จะไปเรียกร้องกับมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ คือโรงเรียนเองก็จะต้องคิดว่าจะเตรียมคนของเราสำหรับวันข้างหน้าอย่างไรด้วย ไม่ใช่แค่ทำสถิติว่านักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้กี่คนต่อปี ถ้าคิดอย่างนี้... การตรวจสอบมาตรฐานในปัจจุบัน ไม่มีความรู้เลยว่า มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ paper work แต่เวลานี้โรงเรียนยังทำเรื่อง paper work อยู่

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือว่า ยุคหน้าของมหาวิทยาลัยต้องคิดให้หนักเรื่องจะหลอมรวมความรู้ของตัวเอง กับความรู้ของชุมชนได้อย่างไร และจะต่อยอดความรู้อย่างไร จะขยายความรู้ใหม่ๆได้อย่างไร ? อาจจะเป็นแนวทางหรือหลักการมาก

ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์ช่วยขยายเรื่องเกี่ยวกับความรู้ของชาวบ้านในงานวิจัยที่ทำอยู่ได้ไหมครับ ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มต้นคุยกันเรื่องนี้ จะทำให้เราเห็นภาพว่ามหาวิทยาลัยควรจะปรับตัวได้ชัดขึ้น เท่าที่ผมทราบ สมมุติฐานที่ตั้งเอาไว้ในงานวิจัยเรื่องการศึกษาทางเลือกของอาจารย์ตั้งเอาไว้ว่า ความรู้ไม่ได้มีอยู่ในสถาบันการศึกษาอย่างเดียว แต่มันแฝงอยู่ในกลุ่มของชุมชนชาวบ้าน และได้แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ อันนี้คิดว่าน่าจะเริ่มต้นกันตรงนั้นดีไหมครับ

สุชาดา : งานวิจัยชิ้นนี้ทำขึ้นเพื่อจะสร้างข้อมูลความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งยืนยันว่ามีความรู้อยู่นอกระบบโรงเรียนที่มีอยู่เยอะมาก โดยสมมุติฐานอันนี้เชื่อว่า ความรู้ที่อยู่นอกระบบมีอยู่มากกว่าในระบบโรงเรียนด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงต้องหาข้อมูลที่จะมายืนยันว่า มีอยู่จริงไหม, อยู่ที่ไหนบ้าง, แล้วความรู้ที่ว่านั้นคืออะไร, คนเขาเรียนรู้กันอย่างไร?

เมื่อลงไปเก็บข้อมูลก็พบว่า ชุมชนที่รวมตัวกันโดยเจตนา(intentional communities) เกิดขึ้นจากปัญหาที่สั่งสมขึ้นมาก่อนหน้านี้ คาดว่าจะในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งชุมชนชาวบ้านในชนบทได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาแบบนี้ของรัฐ ที่มันทำให้เขาต้องเสียเปรียบ สิ้นเนื้อประดาตัว ลูกหลานของเขาต้องไปทำงานที่อื่น หรือลูกหลานที่ส่งไปเรียนตามโรงเรียน กลับมาแล้วอยู่กับบ้านไม่ได้ ต้องไปทำงานที่อื่น

สิ่งเหล่านี้เป็นวิกฤตซึ่งสะสมอยู่ที่ทำให้เกิดความจำเป็นโดยธรรมชาติที่เขาต้องคิดหาทางออก คิดคนเดียวไม่ออก ก็ต้องพูดจาแลกเปลี่ยนกับคนอื่น มารวมตัวกัน เมื่อมีการมารวมตัวกัน มีการแลกเปลี่ยนปัญหากัน มีการคิดค้นร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้น กลุ่มเหล่านี้จึงรวมตัวกันโดยเอาทุกข์เป็นตัวตั้ง รวมกลุ่มกันโดยเนื่องมาจาก problem base คือมีปัญหาเป็นตัวตั้ง

เมื่อเกิดการรวมกลุ่มแล้ว ก็เกิดการคิดหาทางออกจากปัญหา เกิดการเรียนรู้ขึ้นว่า แบบนี้สำเร็จ แบบนี้ล้มเหลว แก้ปัญหาอย่างนี้ตามมาด้วยปัญหาอย่างนั้น ก็ต้องแก้กันต่อไป จะทำอย่างไรที่จะรวมกลุ่มกันเป็นทางการ จะไปเอาทรัพยากรมาจากไหน จะเอาคนเข้ามาร่วมให้มากที่สุดยังไง กลุ่มแบบนี้โดยธรรมชาติพอมีคนเข้ามาร่วมเยอะๆ เอาทุกข์เป็นตัวตั้ง มันจะมีลักษณะการมีส่วนร่วม มันมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่อำนาจอย่างทางการ และความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่อำนาจ มันเกิดการเรียนรู้ได้เยอะมาก

การเรียนรู้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการอ่านออกเขียนได้ อาจจะเป็นชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือเลยก็ได้ แต่การรวมกลุ่มกันแบบนี้ เกิดการเรียนรู้ เกิดการแก้ปัญหา ฉะนั้นกลุ่มเหล่านี้ พบว่าหลายๆกลุ่มมีการจัดตั้งตัวเองเป็นแบบแผน มีการรวบรวมความรู้ของตัวเองขึ้นมาเป็นประสบการณ์ บอกเล่าบ้าง รวบรวมความรู้ของตัวออกมาเป็นหนังสือบ้าง เทียบได้กับเนื้อหาหลักสูตรของชีวิตจริง อันนี้ก็มี หรือแม้กระทั่งเขาจะถอดบทเรียนของเขาออกมาเป็นแบบแผนอะไรบางอย่าง แล้วก็ส่งทอดให้กับคนกลุ่มอื่น ข้ามกลุ่ม ข้ามประเด็นปัญหา ข้ามภูมิภาคก็มี

ทั้งหมดนั้นยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน, intentional communities ซึ่งเราได้ศึกษากว่า 66,000 ชุมชนบวก มันมีความรู้แฝงอยู่ในกระบวนการรวมตัวกันเหล่านั้นทั้งหมด และเมื่อเอาโจทย์เข้าไปจับก็พบว่า เราพอที่จะ define ออกมาได้เป็น 7 setting ใหญ่ๆ คือ

Setting ที่ 1, เป็นเรื่องของ home school ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มการศึกษาที่ก้าวหน้าที่สุด เพราะว่าคนซึ่งคิดจะทำ home school คือพ่อแม่ที่เห็นวิกฤตของโรงเรียนแบบเดิม ระบบการศึกษาแบบเดิมที่ทำให้ลูกเป็นทุกข์ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน. พ่อแม่ที่ทำ home school ให้ลูกหรือเด็กที่ออกมาเรียน home school มีเหตุปัจจัยหลักเป็นเรื่องทุกข์จากการไปโรงเรียนทั้งนั้น กลุ่มนี้จะมีการรวมตัวกันอย่างมีรูปแบบองค์กรที่ชัดเจน มีการจัดตั้งกันค่อนข้างรัดกุม แล้วมีการต่อสู้ในเชิงกฎหมายและกฎกระทรวงสูงกว่า setting อื่นๆทั้งหมด เป็นการรวมตัวกันโดยตั้งใจมาก เช่น มีการรวมตัวเพื่อต่อสู้กับกฎกระทรวงมาตรา 12

ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนที่จะข้ามไปถึง Setting ต่อไป ผมอยากเรียนถามว่า home school นี้จุดที่เข้มข้นที่สุดอยู่บริเวณไหนของประเทศ เท่าที่ได้วิจัยมา

สุชาดา : กรุงเทพฯ มากที่สุด. ตอนนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 100 ครอบครัว ที่อยู่ในกรุงเทพฯประมาณ 40-50 ครอบครัว แล้ว home school ที่ทำอยู่มีทั้งแบบครอบครัวเดี่ยว และแบบครอบครัวเครือข่าย และพวกที่อยู่ยาวนานส่วนใหญ่จะเป็น home school แบบเครือข่าย พวกนี้มีการรวมตัวกันต่อสู้เรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายยังไม่รับรองว่าจะให้เด็ก home school วัดและประเมินผลที่ต่างออกไป? กฎหมายยังต้องการให้สอบข้อสอบของโรงเรียนอยู่

ครอบครัวเหล่านี้จะเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป เพราะฉะนั้นพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์ มีการจัดองค์กร แต่ความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่า home school ค่อนข้างจะมีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจาก setting อื่นๆ ตรงที่ว่า home school เน้นการแก้ปัญหาเชิงปัจเจก ในขณะที่การรวมตัวของชุมชนใน setting อื่นๆ มันเป็นการแก้ปัญหาปัจเจกภายใต้บริบทของชุมชน โดยความเชื่อว่าถ้าไม่มีชุมชนเขาแก้ปัญหาปัจเจกไม่ได้. แต่ home school เชื่อว่า ปัจเจกแก้ปัญหาปัจเจกได้ ฉะนั้นจึงเป็นการหาทางรอดของตัวเองค่อนข้างมาก

Setting ที่ 2 ต่อมาก็คือ กลุ่มการเรียนรู้ที่ตั้งใจจะเป็นสถาบันนอกภาครัฐ กลุ่มนี้ตั้งใจเลยที่จะเป็นองค์กรความรู้ที่อยู่นอกระบบ พวกนี้จะตั้งชื่อตัวเองเป็นชื่อสถาบัน หรือเลียนแบบสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, วิทยาลัยวันศุกร์, มหาวิชชาลัยชุมชนปักษ์ใต้, มหาวิทยาลัยคืนถิ่น, โรงเรียนใต้ร่มไม้, โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา, เสมสิกขาลัย, สาวิกาสิกขาลัย, ทั้งหลายเหล่านี้ มีวิธีคิดการต่อสู้เรื่องการสร้างความรู้เชิงวาทกรรม ดังนั้นจึงได้ตั้งชื่อตัวเองเป็นสถาบัน อย่าง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นได้ชัด

Setting ที่ 3 คือบรรดาสถาบันในภาค NGO ทั้งหลาย ตั้งชื่อเป็นสถาบันทั้งหมดเลย อันนี้จัดเป็นกลุ่มที่อยู่ในสังกัดของระบบ แต่สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมความรู้ใหม่ๆ โดยเอาตัวผู้เรียนเป็นตัวตั้ง เอาปัญหา เอาชีวิตจริงของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง พวกนี้เป็นโรงเรียนในสังกัดของรัฐ แต่ว่าพยายามที่จะคิดค้น หาวิธีการเรียนการสอนซึ่งจะทำให้เด็กมีความสุข ทำใหเด็กอยากเรียน แล้วเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาของเด็กโดยเฉพาะ อย่างเช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ซึ่งก็เป็นโรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษา แต่เขาจัดหลักสูตรโดยใช้ช่องว่างของหลักสูตร 30% สร้างหลักสูตรของตัวเองสำหรับเด็กที่ถูก abuse มา แล้วใช้แนวคิดของ Summer Hill เข้ามาบูรณาการด้วย

หรืออย่างโรงเรียนรุ่งอรุณ ก็จัดการเรียนการสอนแบบทดลองปฏิบัติค่อนข้างมาก เด็กสามารถจะไปปลูกข้าว เด็กชนชั้นกลางในเมืองไปปลูกข้าว ไปปลูกผัก ทำแปลงทดลองของตัวเอง หรือว่าใช้แนวคิดทฤษฎีการเรียนการสอนแบบฝรั่งเข้ามาบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็น Waldorf หรือ Montessory คือพยายามจะค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ มีการวิจัยในชั้นเรียน มีการให้เด็กทำแฟ้มงานเพื่อที่จะสังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเอง สร้างความรู้ได้เอง เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้

Setting ที่ 4 คือ การเรียนรู้หรือความรู้ที่เกิดจากครูภูมิปัญญา เราจะมีครูภูมิปัญญาอยู่ทั่วทุกภาค และคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วยังคงถ่ายทอด หรือต้องการผู้สืบทอดความรู้ที่เขามีอยู่ หลายๆที่มีการถ่ายทอดอย่างเป็นแบบแผน มีการจัดสถานที่ อย่างโรงเรียนหมอลำ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ก็มีการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้โดยเก็บค่าใช้จ่ายด้วย มันเหมือนกับโรงเรียนเสริมหลักสูตรที่ผู้จบการศึกษา ซึ่งอาจจะเรียนจากในระบบมา แล้วมาเพิ่มทักษะตรงนี้ และนำเอาทักษะตรงนี้ไปทำมาหากินได้

หรืออย่างทางเหนือ ครูภูมิปัญญาที่สอนเรื่องอักษรธรรม ตัวหนังสือเมือง หรืออย่างพ่อสิงห์แก้ว มโนเพชร ที่สอนวิชาตัดตุง คนเหล่านี้มีชุดความรู้ของเขาที่อาจจะถ่ายทอดโดยวิธีบอกเล่า อาจจะถ่ายทอดโดยวิธีการเขียนเป็นตำรับตำรา อย่างการรำผีมดผีเม็งมีตำรับตำรา พวกตัวหนังสือบท ตำราสมุนไพร ทั้งหมดนี้มีตำรับตำรา มีแบบแผน มีองค์กรของคนเหล่านี้อยู่ เช่น กลุ่มหมอเมืองก็มีลักษณะการจัดตั้งเป็นเครือข่ายเป็นกลุ่มๆ หรือภูมิปัญญาประเภทงานช่าง งานศิลปวัฒนธรรม มีตัวกลางคือครูภูมิปัญญาเหล่านี้ในการถ่ายทอดอยู่ทั้งนั้น

กำลังคิดว่าผู้รู้บางอย่าง อย่างเช่น ผู้รู้ที่เป็นนักคิด แล้วมีผลงานเสนอต่อสังคมให้คนที่ติดตามได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆกับผู้รู้คนนั้นด้วย บุคคลเหล่านี้ก็น่าจะจัดอยู่ในข่ายของความรู้ที่เกิดขึ้นจากผู้รู้และครูภูมิปัญญา ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์นิธิ, พ่อหลวงจอนิ, พ่อทองเจริญ.

พ่อหลวงจอนิ นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือของคนในชนเผ่าตัวเองแล้ว ยังข้ามกลุ่ม ข้ามชาติพันธุ์ คือคนหนุ่มสาวที่รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจแล้วติดตามความคิดของพ่อหลวงจอนิ ได้พัฒนาตัวเองไปท่ามกลางการศึกษาของผู้รู้เหล่านี้ คนเหล่านี้คือครูภูมิปัญญาประเภทหนึ่ง เพราะภูมิปัญญาไม่ใช่เรื่องของการสืบทอดของเก่าเท่านั้น

ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าผมจะลองคิดตามอาจารย์ก็คือว่า อย่าง หมอประเวศ จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้ไหม หรืออย่างอาจารย์อัมมาร์ ถ้าเราสนใจงานทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรืออย่างคนที่หนุ่มขึ้นมาหน่อยอย่างอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่?

สุชาดา : ใช่! แต่จุดหนึ่งก็คือว่า ต้องมีการเสนอความคิดและความรู้ของเขาต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ จะต้องเป็นการผลิตซ้ำ ต่อเนื่อง ยาวนาน ทำให้คนที่ติดตามต่อเนื่องได้ยกระดับในความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา อย่างตัวเองได้เรียนรู้จากอาจารย์นิธิ ได้มุมมองข้ามศาสตร์ การคิดนอกกรอบ เราได้ยกระดับตัวเอง

หรืออย่างวิธีคิดเกี่ยวกับบริบทของประวัติศาสตร์ที่มันไม่ได้มีมิติเดียว จากการติดตามอ่านงานของอาจารย์นิธิหลายเล่มและต่อเนื่อง ต้องมีผลผลิตที่ต่อเนื่อง ตลอดเวลา ตัวเองเชื่อว่าคนที่ติดตามผู้รู้เหล่านี้ ได้เรียนรู้

Setting ที่ 5, คือความรู้ที่เกิดจากศาสนาและการปฏิบัติธรรม ในประเทศไทยนี้ชัดเจน เรามีการปฏิบัติธรรม ลัทธิศาสนา พวกนี้มีข้อเสนอที่เป็นของตัวเองซึ่งเสนอให้กับสังคม และมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่ติดตามเรียนรู้แนวทางเหล่านั้น อย่างเช่น สันติอโศกที่เสนอเรื่องการต่อต้านทุนนิยม เรื่องการอยู่อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ แล้วก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่แนวทางของเขา และมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข มีสันติ หรืออะไรก็แล้วแต่

อันนี้เป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิต เป็นการเรียนรู้เพื่อจะแก้ปัญหาของมนุษย์จำนวนหนึ่ง หลายๆแห่งมีแนวทางปฏิบัติของตัวเอง ซึ่งอาจจะเน้นหนักไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างเช่น เน้นไปเรื่องศีล เน้นเรื่องสมาธิ อย่างเช่นของธรรมกาย ก็มีสมาชิกเครือข่าย มีผู้บริโภคของเขาอยู่เยอะมาก

คนที่เรียนรู้จากลัทธิความเชื่อ อันนี้ดิฉันมีเส้นแบ่งอยู่ตรงที่ว่า คนที่ไปสู่ลัทธิความเชื่อเหล่านี้ เพื่อที่จะเอาตัวเองรอดเท่านั้น อย่างเช่นพวกที่ไปหาลัทธิเจ้าแม่กวนอิม หรืออะไรทำนองนี้เพื่อที่จะต้องการปฏิหาริย์ เปลี่ยนชะตาชีวิต ต้องการเรื่องเหนือธรรมชาติ สำหรับตัวเอง กลุ่มนี้ไม่จัดอยู่ในความรู้เรื่องการศึกษานอกระบบ พูดง่ายๆคือไม่จัดอยู่ใน setting ที่ 5 นี้

สำหรับตัวเองมีข้อสังเกตก็คือว่า setting ที่ 5 จะต้องมีความต้องการที่จะสร้างชุมชน สร้างโลกที่ตัวเองจะอยู่ได้ มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ใช้ความรู้ซึ่งตัวเองได้รับมาจากลัทธิความเชื่อ จากแนวทางปฏิบัติอันนี้ไปแผ่ขยายสู่คนอื่น แล้วอยากให้คนอื่นเป็นอย่างเรา และเพื่อที่จะเปลี่ยนโลกให้เป็นอย่างที่เราต้องการ พูดง่ายๆก็คือต้องการชุมชน ถ้าเป็นอย่างนี้ถึงจะอยู่ใน setting นี้

ผู้สัมภาษณ์ : ผมเริ่มสงสัยในนิยามความรู้ที่อาจารย์สร้างขึ้นมาว่า ถ้าเกิดรวม setting ที่ 5 เข้ามา นิยามความรู้ของงานวิจัยชิ้นนี้ที่ทำอยู่ มันมีนิยามขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน อย่างเท่าที่ฟัง ผมคิดว่า setting ที่ 5 น่าจะเป็นความเชื่อ มากกว่าความรู้

สุชาดา : มันมีความเชื่อเป็นที่ตั้ง แต่อย่างสันติอโศกที่เขาคิดว่า เขาจะต้องต่อต้านบริโภคนิยม เพราะบริโภคนิยมมันบริโภคมากเกินไป แล้วมันเสพโดยที่สร้างมลภาวะให้กับโลกธรรมชาติ หรือคนอื่นๆ ไปเบียดเบียนคนอื่นๆเพื่อที่จะบริโภคให้มากที่สุด อันนี้เป็นความรู้ไหม?

ผู้สัมภาษณ์ : หรือกลุ่มสายของท่านพุทธทาสภิกขุ คิดว่ากลุ่มนี้ไม่เล็ก และแฝงอยู่ในบรรดานักวิชาการจำนวนมาก

สุชาดา : อันนี้ไม่ได้ยกตัวอย่าง ซึ่งแต่ละแห่งแล้วแต่ว่าจะมีจุดเน้นอะไร แล้ววัตรปฏิบัติอย่างไร อย่างสายท่านพุทธทาส เน้นเรื่องปัญญา แต่ทั้งหมดเขาต้องการชุมชนที่คิดเหมือนเขาเหมือนกัน ต้องการให้คนเห็นว่าแนวทางพุทธ ถ้านำมาใช้กับชีวิต มันจะนำมาซึ่งความสมดุล นำมาซึ่งสันติสุขของชุมชนและของตัวเอง แม้แต่แนวทางท่านพุทธทาสก็ไม่ได้คิดจะเอาตัวรอดเฉพาะวิมุติของตัวเอง ดังนั้นเส้นแบ่งจึงอยู่ที่ว่า ต้องการชุมชน หรือมีชุมชนอยู่ด้วย หรืออย่างความรู้ที่สันติอโศกมี แล้วเขาพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆตรงที่ว่า เขาคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเขาจะผลิตอะไรเพื่อบริโภคแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีการคิดค้นเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วบ้าง พัฒนามาใหม่บ้าง สร้างอะไรขึ้นมาใหม่บ้าง หรือว่าเขาสร้างชุดความรู้การบริหารจัดการองค์กรแบบของเขาขึ้นมา อันนี้เป็นความรู้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้นิยามความรู้ว่ามีความหมายอย่างไร ก็คือ ความรู้ที่มนุษย์จะมีต่อตัวเอง และความรู้ที่มนุษย์จะใช้สัมพันธ์กับคนอื่น และความรู้ที่มนุษย์จะใช้ในการแก้ปัญหา ดังนั้นความรู้ในนิยามของดิฉันต้องมีปัจเจกและชุมชนพัฒนาไปพร้อมกัน จริงๆถ้าพูดง่ายๆก็คือว่า คืออะไรก็ได้ที่มีผลในเชิงการยกระดับความคิด จิตวิญญาน ตัวตน และชุมชน อะไรก็ได้

ถ้าสมมุติว่าในที่สุดมีใครคนหนึ่งคิดขึ้นมาได้ว่า เอาข้อห้ามทางศาสนามาใช้ในการบอยคอทท์คนติดยา คนขายยาบ้าในหมู่บ้านเรา เสร็จแล้วก็มีการคุยกันไปคุยกันมา จากข้อห้ามข้อเดียวก็กลายเป็น 10 ข้อขึ้นมา อันนี้เป็นความรู้ไหม? ซึ่งความรู้แบบนี้มีในโรงเรียนไหม มีในมหาวิทยาลัยไหม? ตอบได้ว่าไม่มี

Setting ที่ 6 ซึ่งพบว่ามีมากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะอดีตของปัญหาที่ผ่านมาที่ก่อให้เกิดความจำเป็นของการรวมตัว อันนี้ไม่ใช่การรวมตัวที่มานั่งนับนิ้วกันเฉยๆ แต่มันจะเกิดการแลกเปลี่ยน การถ่ายเทและถ่ายทอดปัญหาซึ่งกันและกัน เกิดการทดลองหาทางออก กลุ่มพวกนี้เยอะมาก เช่น เมื่อคนเป็นหนี้มากๆเข้า ต้องไปกู้ ธกส. แล้วดอกเบี้ยก็ทบกันไปทบกันมา ทำเท่าไหร่ก็ใช้หนี้ไม่หมด

จากวิกฤต จากทุกข์อันนี้ ก็เกิดมีคนคิดว่า ถ้างั้นเราทำไมไม่ออมทรัพย์กันเอง ดังนั้นจึงเกิดอัมพร ด้วงปาน ผู้ริเริ่มกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ บ้านน้ำขาวหรือ พระสุบิน ปณีโต กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์คลองเปียะ. อย่างกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของ อัมพร ด้วงปาน ซึ่งเริ่มจากคนแค่ 7 คน ออมเงินได้ 2000 กว่าบาท เอาไปฝากธนาคาร ได้ด้อกเบี้ยมาน้อยมาก เอามาแบ่งกัน เสร็จแล้วคนที่เป็นสมาชิกยังต้องไปกู้เงิน ธกส.อีก ก็เลยมาคิดว่า วิธีนี้ไม่ถูก ทำไมเรายังต้องไปกู้เงิน ธกส.อยู่อีก ถ้าอย่างนั้น เราให้สมาชิกกู้จากเงินที่เรามาออมกันไหม? แทนที่จะเอาเงินก้อนนี้ไปฝากธนาคาร แล้วก็ไปกู้ธนาคาร ก็เอาเงินก้อนนี้วางที่ตักเรา ใครจะใช้ก็มากู้จ่ายดอกเบี้ยเข้ามาตรงที่ตักเรานี่ ก็เกิดการทดลองปฏิบัติ สังเคราะห์, แก้ปัญหา, ได้แนวทางใหม่ๆขึ้นมาได้เสมอ จนกระทั่งกลุ่มออมทรัพย์ของอัมพร ด้วงปาน ก็กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ 12 ปีผ่านไป เขามีเงินจาก 2500 กว่าบาทเป็น 17-18 ล้าน มีสวัสดิการ สามารถที่จะจ้างคนในชุมชน และมีมิติอื่นๆของมันอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่การจัดองค์กรเพื่อที่จะบริหารเงิน

ถามว่าชาวบ้านที่จบ ป.4 หรือ ม.ศ.3 สามารถที่จะทดลองปฏิบัติ หาทางเลือกว่าระบบบัญชีควรจะอย่างนี้อย่างนั้น สวัสดิการอย่างเช่น คนป่วยคนนี้ไม่มีญาติพี่น้อง เราต้องให้สวัสดิการที่จะให้มีคนไปผลัดเปลี่ยนดูแล ไปอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วย เราจะไปเรียกร้องจากผู้ป่วยไม่ได้ จ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงเล็กๆน้อยๆอะไรอย่างนี้ เงินเหล่านี้มันจะหมุนไปๆ แล้วมันอยู่ในชุมชนจริงๆไม่ได้หมุนออก ทุกคนในชุมชนได้รับ แล้วมันก็สร้างมิติความสัมพันธ์ แล้วได้หรือฟื้นระบบความสัมพันธ์แบบชุมชนเมื่อก่อนขึ้นมาใหม่ อันนี้ยกระดับจิตใจของคนอย่างมาก ทั้งหมดเป็นความรู้แบบชาวบ้าน

ผู้สัมภาษณ์ : ผมใคร่จะเรียนถามอาจารย์ ซึ่งมีอีก 4 ตัวอย่างที่อาจารย์อาจช่วยแยกแยะให้ได้เห็นชัดขึ้นคือ อย่างของครูชบ ยอดแก้ว แตกต่างไหม? ของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต แตกต่างไหม? และการผลิตธนบัติท้องถิ่นขึ้นมาใช้เองอย่างชาวบ้านกุดชุม รวมไปถึงสหกรณ์เกี่ยวกับการช่วยเหลือการทำศพ หรือค่าฌาปนกิจ พวกนี้แตกต่างกันไหม? หรือว่าอันไหนสอดคล้องกับอันไหน? และอันไหนไม่จัดอยู่ใน setting ที่ 6 นี้

สุชาดา : ทั้งหมดนี้จัดอยู่ใน setting ที่ 6 เพราะได้ค้นพบว่าใน setting ที่ 6 มันจะผ่านกิจกรรมเรื่องการทำมาหากิน เรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด มากกว่ากิจกรรมอื่นๆซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า มันคือปัญหาจริงของเขา ปัญหาที่ใกล้ตัวและทุกข์ที่สุดของเขา ทั้งหมดอยู่ใน setting เดียวกันแล้วก็มันมีจิตวิญญานอันหนึ่ง

ผู้สัมภาษณ์ : ทั้งหมด 4 กรณีนี้มีอะไรโดดเด่น ที่อาจารย์ยังไม่ได้อธิบายมีไหม?

สุชาดา : มันอยู่ในจิตวิญญานเดียวกัน อยู่ใน concept เดียวกัน จริงๆของครูชบ ได้แรงบันดาลใจจากอัมพร ด้วงปาน ของอัมพร ด้วงปานถือเป็น priority แล้วพระสุบิน ก็ต่อแถวจากครูชบ

ในเรื่องของฌาปนสงเคราะห์ในกลุ่มเหล่านี้ ในที่สุดเขาก็คิดหาบริการที่จะให้บริการแก่สมาชิกตามความต้องการอยู่แล้ว ก็คือจะเกิดฌาปนสงเคราะห์ทุกกลุ่ม อันนี้เป็นสวัสดิการที่มีให้ ศพละ 1500-2500 บาท อันนี้แล้วแต่ข้อตกลงของกลุ่ม

และกลุ่มเหล่านี้มีลักษณะพิเศษคือเขาบริหารกันเป็นคณะกรรมการ และที่น่ารักมากก็คือว่า เขาจะไม่มีการปลดคณะกรรมการเลย คณะกรรมการคนไหนป่วย แก่เฒ่า ชราภาพ เขาก็จะเอาคนใหม่เข้ามา ดังนั้นคณะกรรมการของเขาก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นความสัมพันธ์เชิงจิตใจซึ่งน่ารักมาก

ผู้สัมภาษณ์ : กรณีเกี่ยวกับการทุจริต อาจารย์เคยพบบ้างไหมในกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เหล่านี้ ถ้ามีเขาแก้ปัญหาอย่างไร? เขาใช้องค์ความรู้อะไรไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น?

สุชาดา : มี. เขาใช้ชีวิตรวมหมู่เป็นตัววิพากษ์ เป็นตัวบอยคอทท์คน ใช้สัจจะและศีลธรรมของชุมชนเข้ามาจัดการกับปัญหา

ผู้สัมภาษณ์ : ผมสงสัยอยู่นิดหนึ่งเกี่ยวกับสหกรณ์เหล่านี้ ดังที่เคยได้ยินมาเกี่ยวกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นคริสเตียน พวกนี้เป็นต้นแบบหรือเปล่า? อย่างเช่น สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน เท่าที่อาจารย์ทำวิจัยมา อาจารย์สนใจหรือไม่สนใจในปัญหาเรื่องใครเกิดก่อนเกิดหลัง หรือใครเอาแบบอย่างไปจากใครใช่ไหม?

สุชาดา : ความจริงประเด็นของการวิจัยไม่ได้อยู่ตรงนี้ เอาเป็นความรู้ที่ดิฉันมีอยู่ สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนมาก่อน มากับพวกมิชชันนารี แต่เป็นรูปแบบที่เขาเอามาเลย แล้วเอารูปแบบของเขาเป็นตัวตั้ง คือใครเห็นด้วยก็เข้ามาร่วม อันนี้กลับหัวกลับหางกับสัจจะสะสมทรัพย์ เพราะสัจจะสะสมทรัพย์เกิดขึ้นมาจากปัญหา ในที่สุดจึงค่อยหา model อันนี้เจอ แต่สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน เอา model มาก่อนแล้วหาผู้สมัครใจหรือหาสมาชิก

Setting ที่ 7 คือ กลุ่มนี้เป็นความรู้ที่มีอยู่ในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แหล่งเรียนรู้ในที่นี้หมายถึง"สื่อมวลชน", สื่อที่ทุกวันนี้มีอิทธิพลสูงมาก เป็นการให้การเรียนรู้ทั้งทางบวกและทางลบ อย่างที่เป็นข่าวว่าถ้าอยากผลิตระเบิดก็เปิด internet เรียนรู้ได้ สื่อมวลชนทั้งวิทยุ-โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ทั้งหลาย มีสื่อดีๆที่สร้างการเรียนรู้ในเรื่องการศึกษาได้ อย่างเป็นตัวอย่างรูปธรรม เช่น "รายการชีวิตและสุขภาพ"ของหมออำพล สุวอำพันธ์ ที่ออกรายการผ่านโทรทัศน์ช่อง 9 มาถึง 13 ปี รวมแล้ว 1100 กว่าตอน ถามว่า คนที่ติดตามรายการของหมออำพล ได้ความรู้ในเรื่อง preventive หรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคไหม? คำตอบก็คือ"รู้"

หรืออย่างรายการ"ทุ่งแสงตะวัน"ของนิรมล เมธีสุวกุล ก็ได้สร้างเด็กที่มีหัวใจอนุรักษ์ไว้หลายรุ่น หรือรวมไปถึงรายการของเอสโซ่ อย่างรายการ"ความรู้คือประทีป" อะไรพวกนี้. หรือรายการวิทยุอย่างเพื่อนเกษตรที่ได้ให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมของชาวบ้าน เช่น มีสารชีวภาพตัวใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับศัตรูพืชตัวนั้นตัวนี้ อันนี้ก็เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับเกษตรกร

หรือตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวบางที่ อย่างพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวี ที่พิษณุโลก ซึ่งได้สะสมเครื่องมือพื้นบ้านทั้งหมดในแถบนั้นเอาไว้ และยังมีตัวครูจ่าทวีเอง ซึ่งมีชีวิตชีวา และมีความรู้มากเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ตนสะสมเอาไว้ หรือพิพิธภัณฑ์บางแห่ง แหล่งท่องเที่ยงบางแห่งที่มีข้อมูล มีสื่อแสดงที่นำเสนอได้ค่อนข้างดี อย่าง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่คลองหลวง พิพิธภัณฑ์เด็กที่กรุงเทพฯ ท้องฟ้าจำลอง เหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่ง ถ้ารัฐจะปฏิรูปการศึกษา จะต้องคิดให้ถึงสิ่งเหล่านี้ คือต้องสร้างเงื่อนไขเชิงสังคมขึ้นมาถึงจะปฏิรูปการศึกษาได้

แต่เวลานี้มันเป็นการปฏิรูปกระทรวงศึกษา คือมองไม่เห็นปัจจัยรอบตัวเด็กว่าจะหันไปทางไหน จะมองไปทางไหน เดินไปตรงไหนก็เจอเงื่อนไขการเรียนรู้ ถ้าเรามีแหล่งเรียนรู้อย่างนี้มากๆ เช่น ในที่สุดคุณเข้าใจว่า การสร้างเงื่อนไขในเชิงสังคมสำคัญอย่างไร เราจะคิดออกเองว่า จะต้องมีวิทยุการศึกษา รายการทีวีการศึกษา

ผู้สัมภาษณ์ : ส่วนอีกคำถามหนึ่งซึ่งไม่รวมอยู่ใน setting ทั้ง 7 นี้คือว่า ผมคิดว่ากลุ่มคนพิการ หรือพวก homosexual หรือกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี พวกนี้รวมตัวกันอยู่ในเมืองที่ค่อยๆยกระดับชุมชนของตัวเองให้สังคมยอมรับมากขึ้น และแก้ปัญหาความทุกข์อย่างที่อาจารย์พูดมาโดยตลอด อันนี้ผมคิดว่าอยู่ในนิยามความรู้ด้วย น่าจะอยู่ในชุดความรู้ของการวิจัยนี้ด้วย อาจารย์ได้ทำการศึกษาครอบคลุมไปถึงกลุ่มต่างๆเหล่านี้บ้างไหม?

สุชาดา : ความจริงกลุ่มเหล่านี้ถูกมองเห็นอยู่ ซึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มของความรู้ผ่านกิจกรรมก็ได้ กลุ่มเหล่านี้เปิดเผยตัวเองออกมาไม่ชัดเจน และขนาดที่มีการจัดตั้งแบบมีแบบแผน หรือตั้งใจจะสร้างความรู้อะไรจริงๆ มีกิจกรรมต่อเนื่องอะไรเหล่านี้น้อยมาก

ผู้สัมภาษณ์ : ผมไม่แน่ใจ คิดว่ากลุ่มเหล่านี้มีการเรียกร้องบางอย่างเพื่อชุมชนของตัวเอง คือเป็นอย่างที่อาจารย์พูดเลยว่าตั้งต้นที่ทุกข์ เพราะเขาเป็นพวก handicap ซึ่งกลุ่มเหล่านี้พยายามต่อสู้เพื่อชุมชนของตัวเอง อย่างเช่น กลุ่มคนพิการน่าจะเด่น คุณต้องทำทางเท้าให้เขา คุณต้องทำลิฟท์สำหรับคนพิการเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า อันนี้เขาต่อสู้ในหลายเรื่องเพื่อชุมชนของเขา

หรืออย่างกลุ่ม homosexual ที่คิดว่า กลุ่มนี้กำลังสร้างการยอมรับให้กับสังคมเพิ่มขึ้น. หรือสิ่งที่อาจารย์วิจัยอยู่ในเวลานี้ งานส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คนชายขอบ แต่พวกนี้เป็นคนชายขอบที่หลงเหลืออยู่ในเมือง

สุชาดา : กำลังคิดว่าการเป็นชุมชนของพวกเขา มันเป็นชุมชนปิดที่ยังไม่ได้พาชุมชนของตนเองไปเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ เขามีกิจกรรมอะไรของเขาเอง แล้ววิธีที่เขาสื่อสารสู่สังคมเป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อชุมชนของเขา ชุมชนเกย์ เลสเบี้ยน ยังต่างจากชุมชนคนพิการ ตาบอด พวกนี้มีการจัดตั้งองอค์กรของตัวเองชัดเจน มีกฎหมายรองรับ อย่างสมาคมผู้พิการทุกประเภท สมาคมคนตาบอด ก็จะมีหลายๆสมาคม แล้วพวกนี้เขาก็รวมกลุ่มกันต่อสู้ในเชิงสิทธิประโยชน์ สิทธิชุมชนของเขา ความจริงโครงการวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ลงไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้

แต่จะต่างไปจากลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งได้นับรวมเข้ามาอยู่ในงานวิจัย เป็นกลุ่มการเรียนรู้โดยผ่านกิจกรรม เพราะเขาไม่ได้เป็นชุมชนปิด เขาจะสู้เพื่อประชากรเอดส์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แล้วการสู้ของเขามีประเด็นทางสังคมสูงมาก ประเด็นเพื่อชุมชน ประเด็นเพื่อยกระดับสังคมโดยรวม อันนี้ต่างจากกลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน เพราะเขาต้องการให้กลุ่มชุมชนของเขาถูกยอมรับ

สำหรับกลุ่มผู้พิการนั้น ไม่ได้มองถึงเลยเพราะว่ามันกระจัดกระจาย อย่างเช่นสมาคมผู้พิการต่างๆ ก็ถูกจัดตั้งโดยมีแขนขาของรัฐลงไป แล้วมีวาระการประชุม ทำอะไรในลักษณะที่เลียนแบบรัฐมาก เป็นเรื่องของกรมประชาสงเคราะห์เข้าไปให้การสนับสนุน ซึ่งไม่เห็นว่าเป็นภาคประชาสังคม แต่งานวิจัยนี้เน้นในภาคประชาสังคม

ผู้สัมภาษณ์ : ใช่ ถ้าหากว่าอาจารย์โฟกัสหรือขอบเขตที่ค่อนข้างแน่นอน สิ่งที่ผมถาม บางทีเราอาจจะไม่เห็นเส้นขอบของเขาที่ชัดเจน แต่ว่าของคนตาบอดอันนี้เห็นชัด แต่เป็นเรื่องของกรมประชาสงเคราะห์อะไรไป ซึ่งไม่ใช่ภาคประชาชนเท่าไหร่

สุชาดา : แต่ในทั้ง 7 setting ก็มีกลุ่มที่ไปร่วมมือกับรัฐก็เยอะ หรือรัฐเข้ามา provide ทรัพยากรอะไรต่ออะไรก็มาก อย่างที่เชียงราย จะมีกลุ่มม่อนแสงดาว ซึ่งเป็น NGO มาก่อน ทำไปทำมาก็จัดตั้งขึ้นมาเป็นสถาบัน ใช้ชื่อโรงเรียน ก็แสวงหาความชอบธรรมทำให้ถูกกฎหมาย. กสน.ก็เข้ามาช่วย ก็เลยกลายเป็นโรงเรียนของ กสน. แต่เป็นเรื่องที่ราชการ อย่าง กสน.ทำงานร่วมกับ NGO ได้อย่างกลมกลืน ทำเพื่อเด็กชาวเขาที่อยู่ชายขอบ ก็เลยต้องมีงานวิจัยตามมาอีกซึ่งมีความสลับซับซ้อนในแต่ละ setting ของมัน

อย่าง Home School ซึ่งดิฉันได้เจอกรณีหนึ่งที่โคราช เป็นนายทหารยศใหญ่โต แล้วลูกเป็นเกย์ ไปโรงเรียนมัธยมปลาย ไปโรงเรียนแล้วถูกล้อเลียน มีความทุกข์จากการไปโรงเรียน แต่เขายังเชื่อ ศรัทธาในสิ่งที่โรงเรียนมีอยู่ เขาก็เอาลูกออกมาแล้วจ้างครูมาสอนที่บ้าน แล้วก็เอาลูกตัวเองไปฝากที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก แบบเดียวกับที่ home scool ทั้งหลายทำ แต่ไม่ได้มีแนวคิดศรัทธากับเรื่อง home school แต่อย่างใด ไม่เกี่ยวอะไรกับการศึกษาทางเลือก แต่ต้องการให้ลูกของตัวเองเคลื่อนย้ายสถานะไปสู่มหาวิทยาลัยในที่สุด เขาบอกว่าเขาเป็น home school อันนี้ดิฉันไม่เอา กรณีนี้ต้องตัดออก เพราะดิฉันก็ขีดเส้นของตัวเองว่า มันต้องไม่ใช่เพื่อปัจเจก ดิฉันเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ชุมชนในที่นี้คือมากกว่าคนสองคนขึ้นไป

ผู้สัมภาษณ์ : ผมยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมต่อมาคือ กลุ่มที่มีปัญหาของชุมชนร่วมกัน อย่างชุมชนเมืองในกรุงเทพ เรื่องการจราจร ร่วมด้วยช่วยกัน อันนี้ได้จัดอยู่ในการศึกษาข่ายที่อาจารย์สนใจด้วยหรือไม่?

สุชาดา : อันนี้ต้องดูจากกิจกรรมของเขา ถ้าจะใช่ จะต้องเป็นความรู้ผ่านกิจกรรม แต่พอลงไปดูว่าเขาทำกิจกรรมอะไร ก็พบว่าไม่ใช่ เพราะว่าเขาทำกิจกรรมอะไร ก็คือรถติด รถไปเส้นทางโน้นเส้นทางนี้ แล้วก็มีการนัดพบ มีงานปาร์ตี้กัน จัดขึ้นเป็นรายเดือน มีการจัดแรลลี่ มีการนัดกันไปทำสังคมสงเคราะห์ ไปเลี้ยงเด็กอ่อนบ้านพญาไท กิจกรรมอะไรต่างๆซึ่งเป็นอย่างนี้ มีจดหมายข่าวของเขา แต่ก็เป็นจดหมายข่าวประเภทที่มีคอลัมภ์ gossip คนนั้นอย่างนั้นคนนี้อย่างนี้ คุณนายฮิๆแฮะๆ อะไรแบบนี้ นี่คือกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งไม่ได้ยกระดับความรู้อะไรขึ้นมาเลย

ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้อาจารย์พูดถึงการแลกเปลี่ยนกันระหว่างมหาวิทยาลัยในรั้ว กับความรู้นอกระบบเหล่านี้ ซึ่งมันควรจะประสานเข้าหากันอย่างไร?

สุชาดา : อันนี้ต้องเริ่มต้นจากฐานคิดก่อน ให้เกิดการยอมรับว่าความรู้ที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย มีอยู่มากกว่าที่มหาวิทยาลัยในระบบมีด้วย แล้วการที่มหาวิทยาลัยจะนำความรู้ที่มีเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ไปถ่ายเทให้กับชุมชน หลายอย่างชุมชนมีจุดอ่อนในด้านเทคโนโลยี การไม่เข้าใจวิทยาการสมัยใหม่ แล้วยังใช้ศรัทธาความเชื่อเป็นที่ตั้ง หรือภูมิปัญญาบางอย่างที่มองว่าต้องรักษาของเก่าเท่านั้น อันนี้คือจุดอ่อนของชุมชนที่มีอยู่ มหาวิทยาลัยน่าจะใช้จุดแข็งที่ตนเองมีเข้าไปถ่ายทอด หรือไปบูรณาการอย่างไร

แต่อย่าไปโดยที่ 20% ของความรู้ที่ตนเองมี มีศักดิ์ศรีเหนือกว่า อันนี้ก็จะไปเป็นนายเหนือเขา ไปครอบงำ ไปมองเขาด้อยกว่า ต้องบูรณาการโดยเสมอภาค เน้นการมีส่วนร่วมเป็นหลัก การมีส่วนร่วมซึ่งไม่ใช่ไปขอความร่วมมือ เป็น participation ไม่ใช่ cooporation นะ ไม่ใช่แบบที่มหาวิทยาลัยบางแห่งทำ. อย่างสถาบันราชภัฎบางแห่ง เขาบอกว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชน เขาก็จะเอาชุมชนมาประชุมว่า ถ้าเขาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะขอให้ชุมชนให้ความร่วมมืออย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่

Participation จะต้องเริ่มต้นจาก การร่วมคิด, ค้นหาประเด็นความสนใจร่วมกัน ค้นหาประเด็นปัญหาร่วมกัน ทำงานร่วมกัน รับผลประโยชน์อย่างมีสิทธิเสมอภาคกัน ผลประโยชน์ในที่นี้ไม่ใช่ตัวเงิน ผลประโยชน์เรื่องความรู้ เรื่องศักดิ์ศรีหรืออะไรก็แล้วแต่อย่างเสมอภาคกัน ก็คือต้องไปอย่างมีส่วนร่วม

ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะพบว่า ตัวเองมีช่องทางที่จะสร้างความรู้ สร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเยอะมาก เพราะว่าชุมชนเต็มไปด้วยปัญหา ปัญหาคือปัญญา ปัญหาคือความรู้ ทุกปัญหาเป็นงานวิจัยได้หมด หนึ่งปัญหาเป็นงานวิจัยได้เป็นร้อยชิ้น แล้วนี่จะเป็นประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ ทางด้านความรู้ให้กับตัวมหาวิทยาลัยเอง

แล้วถ้ามหาวิทยาลัยคิดไปถึงตัวผู้เรียนด้วย ชุมชนก็เป็นครู มีครูให้กับนักศึกษาของเราเยอะแยะไปหมด ยิ่งมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ จำเป็นต้องลดขนาดของบุคลากรลง อาจารย์เริ่มสมองไหลออกไปสู่มหาวิทยาลัยเอกชน ครูชุมชนไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ถ้าให้เขาร่วมคิดตั้งแต่ต้น แล้วร่วมรับผลประโยชน์ ผู้เรียนหรือนักศึกษาของเราก็จะได้ประโยชน์ด้วย อย่าไปเอาเปรียบเขานะ มหาวิทยาลัยจะลดงบประมาณลงไปมากเลย

เช่น ชุมชนกำลังเกิดมีปัญหาว่า... ตอนนี้เรื่องไวน์ผลไม้กำลังบูม แต่ชุมชนมีปัญหาว่าจะหยุดการ ferment ของมันอย่างไร? ทำไมตลาดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไวน์ไทย ทำไมหวานจัดเกินไป อันนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร? มหาวิทยาลัยอยากมีส่วนร่วมและรับผลประโยชน์ตรงนี้ไหม? ตัวเองมีวิทยาการสมัยใหม่ มีแล็ปที่จะมาทดลอง มาพิสูจน์และแก้ไขปัญหา หาทางออกร่วมกันกับชุมชน ก็ได้ตั้งแต่คณะวิทยาศาสตร์ลงไป ถึงอุตสาหกรรมเกษตร เอาปัญหาเหล่านี้มาแก้ไข ช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มชาวบ้านที่ผลิตไวน์ หรือแม้แต่จะส่งไปคณะวิจิตรศิลป์ ไปออกแบบตราผลิตภัณฑ์ใหม่ แล้วให้คณะบริหารธุรกิจทำวิจัยเกี่ยวกับการตลาดให้เขาได้ไหม?

สิ่งเหล่านี้จะมีค่ากว่าการที่รัฐบาลส่งออกนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ คือให้แต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนค้นหาผลิตภัณฑ์มาคนละหนึ่งอย่าง แต่มันไม่ทำครบวงจร มันไม่ได้ทำโดยคิดถึงความเข้มแข็งและพัฒนาการของชุมชนอย่างแท้จริง ก็คือคุณมีสินค้ามา ฉันก็ promote ในเชิงของการท่องเที่ยวไป แล้วเงินมันไปไหน ก็ไหลออกไปเฉยๆ ชุมชนได้เงินมาก็ไหลออกไปซื้อโน่นซื้อนี่ มีเงินที่จะจับจ่ายบริโภคมากขึ้น แต่การที่มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนจริงๆ ร่วมทุกข์ร่วมสุข จะร่วมสุขมากหน่อยก็ได้ เพราะชุมชนเขาทุกข์เป็นหลักของเขาอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยจะได้ผลงานเยอะมาก

ผู้สัมภาษณ์ : ผมขอย้อนกลับมานิดหน่อย คือก่อนมีการบันทึกเทป เราได้คุยกันถึงเรื่องของความรู้นอกระบบ 80% ของชาวบ้านที่จะไหลเข้าไปในมหาวิทยาลัยด้วย ผมอยากให้อาจารย์ช่วยขยายความอีกครั้งหนึ่งครับ

สุชาดา : จริงๆความรู้ 80% ตอนนี้ที่จะไหลเข้าไป ก็มีอีกกระแสหนึ่งที่บอกว่า เขาไม่เห็นต้องง้อความรู้ในระบบ เพราะความรู้ 80% ที่เขามี ทำให้ไหลถ่ายเทกันในหมู่ภาคประชาชน ชุมชนกันเองก็ได้ มีส่วนหนึ่งที่ไม่ง้อความรู้สมัยใหม่. แต่อีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ชุมชนเองก็ต้องปรับตัว ชุมชนจะต้องไม่แยกตัวโดดเดี่ยวจากโลกาภิวัตน์ ชุมชนไม่ใช่ต้องแยกตัวโดดเดี่ยวจากสังคมสมัยใหม่

จะกล่าวไปแล้ว ตอนนี้ชุมชนกำลังเป็นกระแสใหญ่มาก เป็นคลื่นลูกใหญ่ แม้กระทั่งสื่อเริ่มจะต้องจับชีพจรชุมชน สื่อกระแสหลักทั้งหลายจะต้องหันมามอง เพราะว่ามันมีแรงกดดันโดยธรรมชาติอันนี้อยู่ มันเป็นวิวัฒนาการ เรื่องนี้สายสังคมศาสตร์ประสบก่อน คิดได้ก่อน พูดง่ายๆก็คือ จะพลันคิดได้ในที่สุดจากวิกฤตอันนี้ แล้วก็มีครูบาอาจารย์สายสังคมฯเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างเรื่องการท่องเที่ยว ชุมชนริเริ่มเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะมาเด็ดยอดไป ถามว่า ถ้าคุณต้องการความรู้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจริงๆ จะทำอย่างไร? ตำรับตำราไม่มีเลย ชุดความรู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะหลังนี้ ใครจะเป็นคนสร้างตำราเหล่านี้ขึ้นมา ก็ต้องลงไปหาจากชุมชนอยู่ดี

ผู้สัมภาษณ์ : เท่าที่ผมทราบ อย่างการท่องเที่ยวแบบ green เคยได้เห็นในโทรทัศน์ และมีการให้ป้ายสัญลักษณ์ หรือเกียรติบัตรว่าเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็น alternative tour. สำหรับ Alternative tour ซึ่งเมื่อ 10-15 ปีก่อน มีอาจารย์ธรรมศาสตร์เคยริเริ่มทำ. จริงๆแล้วที่อาจารย์บอกว่า ชุมชนเป็นคนพัฒนาการท่องเที่ยวแบบนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะมี NGO ได้ช่วยเข้าไปแนะนำสิ่งเหล่านี้

สุชาดา : ใช่ๆ! NGO แต่ว่าอย่างนี้ เท่าที่รู้เฉพาะในภาคเหนือ เฉพาะที่แม่ทา เกือบ 20 ปีมาแล้วที่เขาพากันไปดูป่าสมุนไพร พากันไปดูแปลงผัก พากันไปดูตาน้ำ เขาก็ทำของเขาอย่างนี้อยู่แล้ว ที่นี้การท่องเที่ยวมาประทับตรา มาเด็ดยอดไป. คือ NGO อาจจะมีส่วนไปให้แนวคิดเขาว่า มีกิจกรรมอะไรที่น่าทำ ชุมชนน่าจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับเยาวชน เป็นการปลุกสำนึกให้กับเยาวชนขึ้นมา จัดค่ายให้กับเยาวชน แล้วก็ค่อยๆพัฒนาตัวเองขึ้น มีการจัดการอย่างเป็นรูปแบบ มีการตระเตรียม มีอุปกรณ์อะไรเหล่านี้ ส่วนการท่องเที่ยวของไทยก็เข้ามาทีหลัง แต่ชุมชนก็ยังจัดของเขาอยู่

มีอีกอย่างหนึ่งที่มหาวิทยาลัยน่าจะทำ ซึ่งเป็นความคาดหวังอีกเช่นกัน เคยฟังจาก ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ว่าที่อินเดียยังทำอย่างนั้นอยู่ ก็คือมีกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ที่นักศึกษาไปเรียนจากผู้รู้นอกรั้วมหาวิทยาลัย แบบตักศิลา. แต่ในอินเดียอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทำในลักษณะอย่างนี้ อาจารย์กับนักศึกษาไม่ได้เจอกันเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น นักศึกษาจะไปที่บ้านอาจารย์ แล้วทั้งหมดในชีวิตของอาจารย์คือความรู้ที่จะถ่ายทอดให้ เช่น มีการเป็นอยู่แบบนี้ มีบ้านอย่างนี้ มีบรรยากาศการทำงาน มีนิสัยการทำงานอย่างนี้ แล้วทำงานจากแรงจูงใจอะไรบ้าง ทั้งหมดคือสิ่งที่นักศึกษาต้องเรียน เป็นตักศิลา สิ่งที่อาจารย์พูดอย่างไม่เป็นทางการ คือสิ่งที่อาจารย์จะถ่ายทอดให้ทั้งหมด

ความจริงมหาวิทยาลัยไทยน่าจะศึกษาข้อดีอะไรมา และไม่จำเป็นที่อาจารย์กับนักศึกษาต้องเจอกันที่มหาวิทยาลัยเสมอ ความสัมพันธ์ไม่ใช่เป็นแบบระบบแลกเปลี่ยนอย่างที่เป็นทางการ แต่น่าจะเป็นความสัมพันธ์เชิงระบบคุณค่า ถ้ามีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบตักศิลาขึ้นมา เรายังมีอาจารย์ที่ไม่ใช่อาจารย์จบด็อกเตอร์ ซึ่งมีกันมากมายในมหาวิทยาลัย คนอย่างพ่อหลวงจอนิ ก็น่าจะมีนักศึกษามหาวิทยาลัยไปหา ไม่ใช่ไปเอาพ่อหลวงจอนิมา ไม่ใช่ทำแบบการท่องเที่ยวนะ ไปขุดเอามา ขอให้เราลงไปหา จะได้พบเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวพ่อหลวงจริงๆ อันนี้จึงจะเกิดการเรียนรู้

เพราะว่าคนเราคิดได้ตั้ง 360 องศา นักศึกษา 10 คนลงไป เรียนรู้ไม่เหมือนกันเลย และอันนี้คือความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ เป็นการสร้างความหมายของการเรียนรู้ของตัวเอง อันนี้คือ learn how to learn. มหาวิทยาลัยต้องสร้าง learn how to learn ไม่ใช่สร้าง knowledge เอานักศึกษาลงไป แล้วพวกเขาจะเรียนรู้เอง เพราะคนเรามีธรรมชาติการเรียนรู้เมื่อปะทะสังสรรค์สิ่งที่ตาดู หูฟัง อันนี้จะได้ประโยชน์มากมายต่างๆนาๆ แล้วแต่ background ของใคร

ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้ทำให้ผมคิดถึงรูปแบบของการเรียน ซึ่งอาจจะไปตรงกับ setting อย่างใดอย่างหนึ่งของอาจารย์ คือ ผมอยากจะเรียนถามว่า อาจารย์พอจะพูดถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาแบบเสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยนาโรปะ หรือ ชูเมกเกอร์คอลล์ลิจ ได้ไหม? สถาบันการศึกษาเหล่านี้ อาจารย์พอทราบไหมว่าเขามีปรัชญาแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันอย่างไร?

สุชาดา : ความจริงไม่รู้มากเท่าไหร่ แต่ถ้าจะให้นิยาม พวกนี้คือความรู้แบบสถาบันนอกภาครัฐ ก็คือโดยตั้งใจที่จะยืนอยู่ตรงข้ามความรู้ในระบบที่มันแข็งตัวที่มันไม่ได้เพื่อส่วนรวม ฉะนั้นกระบวนทัศน์ของสถาบันเหล่านี้ก็ตรงกันข้าม ก็ต้องเป็นความรู้เพื่อส่วนรวม ความรู้ที่มนุษย์จะอยู่คู่กับโลกอย่างสันติ

ผู้สัมภาษณ์ : ในงานวิจัยของอาจารย์ ได้แยกแยะขนาดที่ว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีไอเดียแบบนี้, เสมสิกขาลัยมีไอเดียแบบนี้, อันนี้แยกแยะถึงขนาดนั้นไหม?

สุชาดา : ในงานวิจัยได้ทำบทคัดย่อทั้งหมด ทุกๆกรณี ทั้งหมด 200 กว่ากรณี ทุกกรณีจะมีบทคัดย่อที่ตอบคำถาม 5 ข้อ. อันที่หนึ่งคือความเป็นมา เพื่อจะทำให้เห็นว่ามันมาจากทุกข์อย่างไร ทุกข์ต่างกันอย่างไรในแต่ละกรณี. อันที่สองคือ มีเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์อะไร ข้อนี้จะเป็นจุดสำคัญด้วย คืออย่างที่บอกว่าเพื่อปัจเจกหรือเพื่ออะไร?. อันที่สาม มีเนื้อหาหรือหลักสูตรเป็นอย่างไร? อันที่สี่กระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างไร? อันที่ห้า เป็นเรื่องของผลกระทบ คือผลกระทบที่มีต่อตัวเขาและชุมชนของเขา หรือแก้ปัญหาได้

อย่างบางทีเขามีการวัดผล อย่างเช่นกลุ่มที่ Home School เขามีการวัดผล มีการทำ portfolio บางกลุ่มก็มีการถอดบทเรียนของเขาว่า เช่นกลุ่มที่มารวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, แต่ละปีเขาจะมาดูว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นการวัดผลที่มีการสรุปออกมาแล้ว แต่ถ้ามีการวัดผลในเชิงนามธรรม ก็ต้องเขียนบรรยายเอา สำหรับเรื่องเหล่านี้ นักวิจัยในแต่ละภาคจะทำบทคัดย่อเหล่านี้มาให้ จากการไปสัมภาษณ์ซึ่งลงไปทุก case แล้ว case เหล่านี้เราก็กรองมา 3 ชั้น กรองจากแบบสอบถาม กรองจากการส่งนักศึกษาลงไป ก่อนที่ตัวนักวิจัยจะลงไปสัมภาษณ์

ผู้สัมภาษณ์ : ผมขอย้อนมาถามเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดของ Home School ในประเทศไทยว่าเริ่มต้นขึ้นมาอย่างไร? ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ

สุชาดา : เริ่มมา 20 กว่าปีแล้ว เริ่มต้นจากหมอโชติช่วง ชุตินธร ซึ่งเป็นแคธอลิคที่เคร่ง แกย้ายมาจากต่างประเทศ ลูกคนโตเกิดที่ต่างประเทศเ เคยเข้าโรงเรียน Primary School ที่ต่างประเทศมาแล้ว เสร็จแล้วพอย้ายมาประเทศไทย ลูกต้องเข้าโรงเรียนไทย อันนี้เป็นคนละเรื่องกันเลย ลูกต้องพบกับปัญหามากมาย สุขภาพจิตเสื่อม ไม่อยากไปโรงเรียน. พอถึงลูกคนที่สองต้องไปโรงเรียน คุณหมอก็เริ่มคิดหนัก คือจะให้ไปโรงเรียนแบบนี้ได้ยังไง

ตอนแรกเริ่มต้นจากการไปทำงานความคิดกับโรงเรียนที่ลูกอยู่ แต่เปลี่ยนโรงเรียนไม่ได้ โรงเรียนไม่เข้าใจ สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้นคุณหมอจึงตัดสินใจทำเอง ซึ่งมันก็เหมือนกับ Home school ในต่างประเทศหลายๆที่ พวกที่เคร่งศาสนาจะเอาลูกของตนมาเรียนที่ Home school แทน เพราะเกรงว่าลูกจะรับเอาอิทธิพลที่ตัวเองไม่ต้องการเข้ามาในชีวิต หมอโชติช่วงก็เริ่มอย่างนั้นในปี พ.ศ.2522 ก็สอนลูกเองโดยตลอด แล้วให้ลูกไปสอบต่างประเทศ ลูกบางคนก็ใช้วิธีสอบเทียบเอา เพื่อเอาวุฒิจนเข้ามหาวิทยาลัยในไทยก็มี

แล้วก็ตามมาด้วยพิภพ ธงไชย และรัชนี ธงไชย ซึ่งได้ตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็กในปี 2525 มันต่อมาเป็นระลอก แนวคิดของอาจารย์พิภพ กับอาจารย์รัชนี ก็คือ ระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้นเป็นระบบอำนาจที่มันทำให้เด็กหมดคุณค่าในตัวเอง แล้วก็ไม่สามารถเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ จึงได้ตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็กของตัวเอง จากปัญหาที่มูลนิธิเด็กเผชิญอยู่ด้วยคือว่า มูลนิธิเด็กต้องเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ถูก abuse ปัญหาที่ตามมาก็คือต้องหาบ้านพักให้ เป็นเด็กที่ถูกพ่อข่มขืนก็มี ถูกแม่ทำร้ายร่างกายก็มี ก็มาสู่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก แล้วอาจารย์พิภพ ก็ได้อิทธิพลทางความคิดมาจาก Summer Hill ของอังกฤษ แต่โรงเรียน Summer Hill ของอังกฤษเป็นโรงเรียนประจำ ที่ต้องการสร้างโรงเรียนพิเศษให้กับลูกของตัวเอง ใช้วิธีคิดแบบเสรีประชาธิปไตย คือต้องให้เสรีภาพแก่ผู้เรียน ความรักและเสรีภาพจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของ Summer Hill

อาจารย์พิภพ ได้อิทธิพลทางความคิดของ Summer Hill อันนี้ ประจวบกับที่เห็นปัญหาเด็กที่มาสู่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กว่า ต้องเยียวยา คือเด็กมาถึงแล้วไม่สามารถจะเรียนได้หรอก เด็กต้องได้รับการเยียวยาก่อน ก็เอาแนวคิดเรื่องความรักและเสรีภาพมาใช้ ลูกตัวเองก็เลยต้องออกมาเรียนโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ตอนจัดตั้งเนื่องจากแม่แอ๊ว อาจารย์รัชนี ธงไชย เรียนมาทางสายคุรุศาสตร์ สามารถมีใบประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ใหญ่ได้ จึงได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น ความจริงทั้งสองคนจบคุรุศาสตร์มา เขาก็จัดตั้งโรงเรียนได้ตามกฎหมาย

จาก 2525 ของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ก็มาปรากฎขึ้นอีกทีหนึ่งตอนครูส้ม เมื่อราวๆปี 2535 เป็นต้นมา ช่วงนั้นบรรยากาศมันอึดอัด ความจริงการปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นมา 3 ช่วงด้วยกัน แล้วทุกครั้งดิฉันตั้งข้อสังเกตว่า อันที่หนึ่ง, เกิดขึ้นมาราวในช่วง พ.ศ.2516-17 ซึ่งเป็นช่วงยุคขบวนการประชาธิปไตย 14 ตุลา ได้เกิดการระเบิดหรือ Big Bang ในเรื่องความต้องการทางเลือก เสรีภาพใหม่ๆ. ยุคที่สองของการปฏิรูปการศึกษา เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2522 หลัง 6 ตุลา. ยุคที่สาม, เกิดจากเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2535 ตามมาด้วยการชูธงเขียวว่า วิกฤตบ้านเมืองต้องแก้ด้วยการศึกษา การศึกษาเป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่จะใช้แก้ปัญหาคนและสังคม มีเสียงอย่างนี้เกิดขึ้นกับเทคโนแครตก่อน จากภาคประชาสังคมจนกระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการบรรจุสิ่งเหล่านี้เข้าไปว่าต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ครูส้มเกิดขึ้นมาในช่วงหลังปี 2535

ยุทธชัย เฉลิมชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายบ้านเรียนปัญญากร ก็ใช่ คนนี้อยู่กลุ่มบริษัทแปลน แล้วมาทำหนังสือสารแสงอรุณ ก็เป็นพวกแสวงหาทางเลือกของชีวิตเหมือนกัน คุณยุทธชัยทำ Home School ประเภทเครือข่าย และเป็นหัวหอกในการต่อสู่กฎหมายเรื่อง Home School แล้วเขาเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ในสำนักงานการศึกษาแห่งชาติได้ จนกระทั่งสำนักงานการศึกษาฯยอมรับกฎกระทรวงที่เขาเสนอ เพียงแต่ว่ามันยังไม่ผ่านรัฐ ก็มาบูมหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีข้อกำหนดว่าต้องประกาศใช้ พรบ.ปฏิรูปการศึกษาภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็เลยเกิดเป็น พรบ.ปฏิรูประบบการศึกษาเมื่อเดือนสิงหาคม 2542

จริงๆแล้ว พรบ.ปฏิรูประบบการศึกษาฉบับนี้ก้าวหน้ามา ตัวหนังสือของมันก้าวหน้ามาก แต่ได้ถูกปู้ยี่ปู้ยำจนกลายเป็น พรบ.ปฏิรูปกระทรวงศึกษา. ก้าวหน้ามากในการแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือได้มีการพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการ พูดถึงการปฏิรูปการเรียนรู้ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ผู้เรียนควรจะได้ และพูดถึงเรื่องบุคลากรการศึกษา. ทั้งหมด 3 อย่างอันนี้ครอบคลุมหมด

ในเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้นี้ก้าวหน้ามาก มีหลักสูตรท้องถิ่น, มีการเปิดรั้วโรงเรียน, มี home school, เป็นการปฏิรูประบบการศึกษาที่นิยามการศึกษาคืออะไรที่ก้าวหน้า ทำให้มนุษย์สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งจิตวิญญาน อันนี้สมบูรณ์มากเลย แล้วก็มีเรื่องของการมีส่วนร่วมโดยสังคมชุมชน อย่างมาตรา 12 ก็ระบุว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ชุมชน องค์กรทางสังคม สถาบันทางสังคม วัด บ้าน องค์กรทางธุรกิจ สามารถจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้

แต่ความที่คนร่าง พรบ.ฉบับนี้ คงไม่มี imagination ทั้งหมดว่าจะแปลสิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมอย่างไร? ในที่สุดก็เลยกลายมาล็อคภาคประชาสังคมไป อย่างการศึกษา 3 ระบบ การศึกษาแห่งชาตินิยามว่ามี 3 ระบบเท่านั้น. อันที่หนึ่ง, คือการศึกษาในระบบโรงเรียน. อันที่สอง, คือการศึกษานอกระบบ ก็คือ กสน. อันที่สาม, คือการศึกษาตามอัธยาศัย. แล้วก็มาบอกกับพวกเราว่า สิ่งที่พวกคุณเย้วๆอยู่เวลานี้ ที่เราเรียกว่าการศึกษาทางเลือก คือการศึกษาตามอัธยาศัย. แต่จริงๆแล้วภาคประชาชนบอกว่าไม่ใช่

เพราะว่าการศึกษาตามอัธยาศัยตามความหมายของรัฐ ยังเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่จะเรียนรู้ และเป็นการแก้ปัญหาของปัจเจกบุคคลค่อนข้างมาก เช่น เด็กที่ป่วยนานๆซึ่งต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานเป็นปี เกิดการศึกษาตามอัธยาศัยคือ เอาหลักสูตรของโรงเรียนไปสอน หรือเด็ก autistic แต่ต้องมีโรงเรียนรับรอง ต้องได้ใบวุฒิบัตร เขาก็บอกว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย

หรือคนแก่อยากจะเริ่มเรียนหนังสือใหม่ ก็เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย หรือคุณอยากจะไปเรียนตัดผม ทำเล็บ ตัดเสื้อตัดผ้า เป็นการศึกษาตามอัธยาศัยหมด ไปเสริมภาษาอังกฤษ เสริมภาษาญี่ปุ่น เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย แต่ตามที่ดิฉันนิยาม อันนี้ไม่ใช่ ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร เพื่อเคลื่อนย้ายตัวคุณเอง เพื่อยกระดับตัวคุณเอง ทั้งหมดยังเป็นปัจเจกอยู่ แต่เขาบอกว่าสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องคือ ระบบนี้แหละ คือการศึกษาตามอัธยาศัย

อันนี้ก็เลยต้องเคลื่อนไหวต่อสู้กัน ซึ่งคิดว่าวิธีแรกต้องหาเครื่องมือยืนยันให้ได้ก่อน งานวิจัยเป็นเครื่องมือยืนยันที่ดีที่สุด เพราะสังคมไทยยังให้ความเชื่อถือต่องานวิจัยอยู่

ผู้สัมภาษณ์ : งานวัจัยส่วนใหญ่ของ สกว. ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะได้กว้างขวางไหม ในทัศนะส่วนตัวของอาจารย์

สุชาดา : จริงๆเขามีข้อกำหนดว่าต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ อย่างน้อยหนึ่งครั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการ แต่โครงการของดิฉัน บอกไว้เลยว่า จะเผยแพร่ทางสื่อมวลชนไม่ต่ำกว่ากี่ครั้ง หลังจากที่ได้ shape แล้ว และยังคิดว่าจะทำโครงการต่อเนื่องโดยการสร้างสื่อจาก case เหล่านี้ให้มากที่สุด ให้กว้างที่สุด อาจจะเป็น CD ที่ dump เข้าไปในโรงเรียนต่างๆ หรือว่าจะเป็นหนังสือ หรือข้อมูลที่ลงตามนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นประจำ อาจจะสัปดาห์ละ case อย่างต่อเนื่อง คิดว่าจะทำอย่างนั้นหลังจากจบ เพราะว่าเราต้อง dump ข้อมูลเหล่านี้ลงไปบ้างมันถึงจะสั่นคลอนความเชื่อเดิม

ผู้สัมภาษณ์ : หน้าการศึกษาทางหน้าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในทัศนะของอาจารย์เป็นอย่างไรครับ

สุชาดา : ทราบไหมคะว่าการปฏิรปการศึกษาครั้งนี้ จนทุกวันนี้เขายังสรุปว่า ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูประบบการศึกษา คือการทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะฉะนั้น เขาก็ซื้อเนื้อที่เยอะมาก งบประมาณของเขาจำนวนมากทุ่มลงไปกับหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหลาย ทุกฉบับ ถูกซื้อเนื้อที่สำหรับประชาสัมพันธ์เรื่องการปฏิรูประบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบมาตรฐาน คูปองครู เรื่องแท่งเงินเดือน พวกนี้เป็นเนื้อที่โฆษณาหมด แล้วความเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอยู่แค่นี้จริงๆ

ดร.ปรัชญา ประธานโครงการสภาปฏิรูปการศึกษา บอกเลยว่าอุปสรรคการปฏิรูประบบการศึกษาอยู่ที่ผู้บริหารกระทรวง คุณลองดูซิว่าเปลี่ยนมากี่คนแล้ว หมอเกษม เด็งไปแล้ว คุณสุวิทย์ เด้งไปแล้ว ตอนนี้เป็นปองพล, สิริกร, แล้วจริงๆเขาก็ทำตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบอกว่าต้องตั้งองค์กรอิสระในการที่จะจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ลงรายละเอียด 3-4 หมวด เขาก็มี สปส. สำนักงานปฏิรูประบบการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมี ดร.ปรัชญา เวสารัตน์เป็นประธาน และ 9 อรหันต์ พวกนี้เป็นเทคโนแครตหัวก้าวหน้า พิมพ์เขียวที่เขาร่างขึ้นส่งให้กับมือของทักษิณ ที่ดิฉันได้มีโอกาสดูเพราะได้เคยสัมภาษณ์คุณเจือจันทร์ด้วย มันเป็นแบบพิมพ์เขียวที่ภาคประชาชนต้องการ แต่ทักษิณไม่เอา

อย่างที่ทราบ ทักษิณตีปี๊บว่าจะลงมาปฏิรูประบบการศึกษาเอง ก็ทำไม่สำเร็จ ในที่สุดก็เหมือนเดิม ตอนนี้ครูหกแสนกว่าคนปั่นป่วนไม่สิ้นสุด ปั่นป่วนเนื่องมาจากจะต้องเทียบวุฒิกันใหม่ ต้องเข้าฝึกอบรม จะต้องถูกตรวจสอบมาตรฐาน ดูวุ่นวายไปหมด

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม word)

พ่อหลวงจอนิ นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือของคนในชนเผ่าตัวเองแล้ว ยังข้ามกลุ่ม ข้ามชาติพันธุ์ คือคนหนุ่มสาวที่รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจแล้วติดตามความคิดของพ่อหลวงจอนิ ได้พัฒนาตัวเองไปท่ามกลางการศึกษาของผู้รู้เหล่านี้ คนเหล่านี้คือครูภูมิปัญญาประเภทหนึ่ง เพราะภูมิปัญญาไม่ใช่เรื่องของการสืบทอดของเก่าเท่านั้น

คำโปรย (คัดมาจากบทสัมภาษณ์ อ.สุชาดา จักรพิสุทธิ์)

หรือตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวบางที่ อย่างพิพิธภัณฑ์ของจ่าทวี ที่พิษณุโลก ซึ่งได้สะสมเครื่องมือพื้นบ้านทั้งหมดในแถบนั้นเอาไว้ และยังมีตัวครูจ่าทวีเอง ซึ่งมีชีวิตชีวา และมีความรู้มากเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ตนสะสมเอาไว้ หรือพิพิธภัณฑ์บางแห่ง แหล่งท่องเที่ยงบางแห่งที่มีข้อมูล มีสื่อแสดงที่นำเสนอได้ค่อนข้างดี อย่าง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่คลองหลวง พิพิธภัณฑ์เด็กที่กรุงเทพฯ ท้องฟ้าจำลอง เหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ซึ่ง ถ้ารัฐจะปฏิรูปการศึกษา จะต้องคิดให้ถึงสิ่งเหล่านี้ คือต้องสร้างเงื่อนไขเชิงสังคมขึ้นมาถึงจะปฏิรูปการศึกษาได้

แต่เวลานี้มันเป็นการปฏิรูปกระทรวงศึกษา คือมองไม่เห็นปัจจัยรอบตัวเด็กว่าจะหันไปทางไหน จะมองไปทางไหน เดินไปตรงไหนก็เจอเงื่อนไขการเรียนรู้ ถ้าเรามีแหล่งเรียนรู้อย่างนี้มากๆ เช่น ในที่สุดคุณเข้าใจว่า การสร้างเงื่อนไขในเชิงสังคมสำคัญอย่างไร เราจะคิดออกเองว่า จะต้องมีวิทยุการศึกษา รายการทีวีการศึกษา

อย่างรายการ"ทุ่งแสงตะวัน"ของนิรมล เมธีสุวกุล ก็ได้สร้างเด็กที่มีหัวใจอนุรักษ์ไว้หลายรุ่น หรือรวมไปถึงรายการของเอสโซ่ อย่างรายการ"ความรู้คือประทีป" อะไรพวกนี้. หรือรายการวิทยุอย่างเพื่อนเกษตรที่ได้ให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมของชาวบ้าน