มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมสำหรับสังคมไทย
QUOTATION
ส่วนใหญ่ของสถานการณ์ของปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม ผู้หญิงเกือบทั้งหมดต้องพึ่งตัวเอง
และไม่มีข้อมูล ไม่มีบริการ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเมื่อมีปัญหา ผู้หญิงต้องการแก้ปัญหา

ในงานวิจัยเราพบผู้หญิงหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองท้อง ซึ่งไม่ใช่วัยรุ่น แต่ก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ และการตั้งท้องนั้นเกิดจากเพศสัมพันธ์กับแฟน

เราพบว่าผู้หญิงเมื่อท้องแล้ว เขาอยากจะหาที่ปรึกษา แต่ก็หาคนที่จะพูดคุยด้วยได้น้อยมาก ถึงแม้เมื่อได้คนที่จะพูดคุย ได้ข้อมูลแล้ว แต่ข้อมูลก็มักเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เมื่อต้องการหาแหล่งบริการก็หาไม่ได้

สถานที่หนึ่งที่ผู้หญิงปรึกษาอยู่เสมอคือร้านขายยา โดยส่วนใหญ่จะบอกว่า เพื่อนมีปัญหา จะไม่บอกว่าตัวเอง

ภาพประกอบดัดแปลง 1. ผลงานประติมากรรมรูปเด็กผู้หญิง โดยศิลปินจีนที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 2. ภาพฉากหลังชื่อภาพ Alexander Guy - The Ascension 1992-3 นำมาเอียงภาพ จากหนังสือ Art today ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์ มช.
ภาพประกอบผลงานจิตรกรรมของ Alison Watt ชื่อภาพ Winter Nude, 1992 เทคนิคสีน้ำมัน ภาพจากหนังสือ Art today:
(ข้อความบางส่วนจากบทความ เขียนโดย...
กฤตยา อาชวนิจกุล / สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)
R
random
release date
010246
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 237 เดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผลงานต้นฉบับของ...
กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อเรื่อง"มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซาก ของการตั้งท้องไม่พร้อม"

Quotation
ผลจากการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการแก้กฎหมายทำแท้งโดยพลตรีจำลอง ที่ดิฉันกล่าวถึงไปแล้ว คือคำว่า แท้งเสรี ซึ่งหมายถึงอยากจะทำแท้งเมื่อไหร่ก็ได้ ทำโดยใครก็ได้

เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า แท้งเสรีแบบนี้ไม่มีในโลก เพราะแม้ในประเทศที่ทำแท้งถูกกฎหมาย ก็ยังมีเงื่อนไขว่าด้วยการทำแท้งหลายข้อ หรือหลายขั้นตอน ที่สำคัญๆคือใครบ้างเป็นผู้มีคุณสมบัติสามารถเป็นผู้ให้บริการได้ ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องพิจารณาว่า ทำแท้งได้หรือไม ่ เพราะฉะนั้นการทำแท้งเสรีไม่มีในโลกนี้
(บางตอนจากบทความ)

บทความชิ้นนี้ ปรับปรุงและเรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องไม่พร้อม' ในการสัมมนาระดับชาติเรื่อง 'ทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม ภาค 2 ตอนร่วมกันสร้างทางเลือกให้หลากหลาย' จัดโดย กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันกฎหมายอาญา สำนักอัยการสูงสุด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และสภาประชากร วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2545 ณ โรงแรมโซลทวิน กรุงเทพมหานคร

มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องไม่พร้อม (1)
กฤตยา อาชวนิจกุล
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

การก้าวไปสู่ประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องที่ไม่พร้อม แสดงว่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในอดีต มันคงมีอะไรที่ซ้ำซากอยู่แน่นอน เพื่อให้เข้าใจที่มาของประวัติศาสตร์ที่ซ้ำซาก ก่อนการเดินทางสู่ความไม่ซ้ำซาก ดิฉันจะแบ่งการพูดออกเป็นสามเรื่องใหญ่

เรื่องแรกที่จะพูด และคิดว่าจำเป็นต้องพูดก่อนก็คือ ส่วนของประวัติศาสตร์ที่ซ้ำซากมันมีอะไรที่ซ้ำซากบ้าง ในที่นี้จะพูดถึงเรื่องเดียวคือขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของการยุติการตั้งท้องที่ไม่พร้อมที่ผ่านมา ว่ามีความเป็นมาอย่างไรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำไมมันจึงซ้ำซากนัก

เรื่องที่สอง มีทั้งส่วนที่ซ้ำซากและส่วนที่ไม่ซ้ำซาก คือเรื่องปัญหาของผู้หญิงที่ตั้งท้องว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้ย่อมซ้ำซากกับสิ่งที่เคยมีการพูดกันในเวทีสัมมนาอื่นๆ หรือมีการนำเสนอในรูปแบบอื่นๆมาบ้างแล้ว แต่การสำรวจสถานการณ์ทำแท้งในปัจจุบัน จะทำให้เห็นภาพประเด็นใหม่ๆที่ชัดเจนมากขึ้นด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงจากงานวิจัย ข้อมูลจากเสียงสะท้อนจากประสบการณ์ของผู้หญิงที่เผชิญปัญหาเองโดยตรง ซึ่งส่วนนี้ไม่ซ้ำซาก และแน่นอนว่า

สุดท้ายดิฉันจะก้าวไปสู่การเสนอยุทธศาสตร์ของการมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องทีไม่พร้อมว่า ถ้าไม่อยากให้มันซ้ำซากซ้ำซ้อน เราควรทำอย่างไรบ้าง

ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำซากในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง(2)
เรื่องแรก ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องขยายสิทธิการทำแท้ง ต้องเน้นคำว่า 'ขยาย' ตรงนี้ เพราะการเคลื่อนไหวทั้งหมดจากอดีตจนถึงปัจจุบันหมาดๆ ล้วนมีเป้าหมายชัดเจนที่จะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง ที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 เพื่อขยายเงื่อนไขให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถยุติการตั้งท้องของตนเอง ไม่ให้จำกัดอยู่แค่ว่า เป็นท้องที่มีผลมาจากการถูกข่มขืน หรือการท้องนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงที่ท้องเอง ความพยายามจะแก้ไขกฎหมายมาตรา 305 เจ้าปัญหานี้ทำกันหลายครั้ง ทุกครั้งก็ล้มเหลวหมด ตรงนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำซาก

ความพยายามที่เห็นชัดเจนครั้งแรก ก่อตัวขึ้นในช่วงการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งเริ่มทำกันมาตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 4 จะสิ้นสุดลง (เริ่มจากปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา) แนวคิดเกี่ยวกับการทำแท้งทางประชากรศาสตร์ได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนฉบับที่ 5 ด้วยดังนี้

(1.3) ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 เพิ่มเหตุให้ทำแท้งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหลังการวางแผนครอบครัว เนื่องจากยังไม่มีการวางแผนครอบครัววิธีใดที่ได้ผลไม่มีการผิดพลาด

จากข้อเสนอในแผนชาติฉบับนี้ และแรงผลักดันจากแพทย์ที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรงผสานกับคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น นำโดยพรรคประชากรไทยร่วมกับพรรคการเมืองหลายพรรคเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 305 โดยขยายเงื่อนไขอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เงื่อนไข คือเมื่อผู้หญิงที่ตั้งท้องมีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือจิต และเมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการคุมกำเนิดล้มเหลวจากการปฏิบัติของแพทย์

กฎหมายเดินทางเข้าสู่สภาล่างคือสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2524 และผ่านสภาฯไปด้วยเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์คือ 174 เสียงต่อ 2 เสียง หลังจากที่กฎหมายผ่านสภาไปแล้วก็เกิดขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะแก้ไขกฎหมายนี้ โดยมีผู้นำขบวนการ คือพลตรีจำลอง ศรีเมือง (ยศในขณะนั้นคือพันเอก) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และเป็นวุฒิสมาชิกด้วย พลตรีจำลองประกาศต่อต้านการแก้กฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ แล้วมาตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อล้มกฎหมายนี้ในขั้นวุฒิสภา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะเมื่อกฎหมายผ่านถึงวุฒิสภา ปรากฏว่าวุฒิสมาชิกในสมัยนั้น ลงมติเสียงตรงกันข้ามกับสภาล่าง คือไม่เห็นด้วย 147 เสียง และเห็นด้วยเพียง 1 เสียง

ความพยามครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งแรกที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรา 305 และเป็นความพยายามครั้งเดียวที่น่าระทึกใจและน่าจดจำ เพราะว่าเกือบจะประสบความสำเร็จ

ความล้มเหลวครั้งนี้เป็นเรื่องของการคาดไม่ถึง และขาดประสบการณ์ของกลุ่มผู้สนับสนุน นั่นคือคิดไม่ถึงว่าจะมีขบวนการใหญ่โตออกมาต่อต้าน และนำโดยบุคคลระดับวุฒิสมาชิกและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่สามารถสร้างความสนใจ จูงใจ และดึงดูดใจให้คนคล้อยตาม และเชื่อในวาทกรรม 'แท้งเสรี' ที่ชูขึ้นมาในขณะนั้น กว่าที่ฝ่ายสนับสนุนจะตั้งหลักได้ทัน กระแสแท้งเสรีก็กระหึ่มไปทั่วประเทศแล้ว

มีประเด็นที่น่าใส่ใจตรงนี้คือ ในประวัติศาสตร์ของการพิจารณากฎหมายในรัฐสภาไทย มีน้อยครั้งมากที่กฎหมายซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภาล่างไปแล้วจะไปตกที่สภาบน เพราะสภาบนในสมัยที่ยังเป็นสภาแต่งตั้งมักจะไม่คัดค้านกฎหมายจากสภาล่าง แล้วเหตุใดเล่า วุฒิสมาชิกในยุคนั้นจึงยกมือคัดค้านกฎหมายนี้เกือบทั้งสภา?

จากการตรวจสอบเอกสารและพูดคุยกับบุคลต่างๆที่เคลื่อนไหวอยู่ในยุคนั้น พบว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านเป็นแนวทางด้านกว้างต่อสังคม มีข่าวปรากฏชัด แต่วิธีการที่จะทำให้สภาไม่รับนั้นทำกันเบื้องลึกคือ ต้องทำให้วุฒิสมาชิกยกมือต่อต้านกฎหมาย ถ้ายังจำกันได้ในสมัยนั้น จปร.7 มีอำนาจมาก เพราะเป็นกลุ่มที่ผลักดันสนับสนุนให้พลเอกเปรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรีจำลองเองก็เป็นแกนนำคนสำคัญของจปร.7 และแกนนำของจปร.7 เองเกือบทั้งหมดก็ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกด้วย วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มาจากสายทหารก็เป็นกลุ่มที่ จปร.7 เสนอชื่อขึ้นไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะลอบบี้ให้ได้เสียงจากวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นสายทหาร แล้วทำความเข้าใจกับกลุ่มวุฒิสมาชิกอื่นๆ จนสามารถบล๊อคโหวตได้

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวด้านกว้างของขบวนการต่อต้านที่ทิ้งผลตกค้างในความรู้สึกของสื่อมวลชนและในคนทั่วไปก็คือ คนมักเข้าใจว่าการเสนอขยายเงื่อนไขให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งท้องที่ไม่พร้อมของตนเอง คือการเปิดโอกาสให้เกิด "การทำแท้งเสรี" ขึ้นในสังคมไทย ต่อประเด็นนี้เราจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งในตอนท้าย

หลังจากความพยายามครั้งแรกแล้ว ในช่วงยุคที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีความพยายามเล็กๆอีกครั้งหนึ่ง โดยพรรคประชากรไทยและพรรคชาติไทยได้เสนอร่างกฎหมายเรื่องนี้เข้าสู่สภา พรรคประชากรไทยเสนอเพิ่มเงื่อนไขเฉพาะประเด็น 'หากทารกในครรภ์คลอดออกอาจพิการหรืออาจเป็นพาหะนำโรคร้าย' ในขณะที่พรรคชาติไทย เสนอเพิ่มอีกหนึ่งเงื่อนไขคือ 'เมื่อการคุมกำเนิดอย่างถาวรของหญิงนั้นผิดพลาด โดยได้รับความยินยอมจากสามี' ร่างกฎหมายนี้ไม่ถูกได้รับการพิจารณา เนื่องจากเกิดการยุบสภาไปก่อน

เมื่อเริ่มมีสถานการณ์เอดส์ขึ้นมา ได้มีความพยายามอีกหลายครั้งจากสายผู้ทำงานทางการแพทย์ และผู้ทำงานทางสุขภาพ ร่วมกันผลักดันเสนอให้เพิ่มเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งว่า ให้สามารถทำแท้งได้ถ้าทารกในครรภ์อาจจะเป็นพาหะของโรคร้าย หรือเกิดออกมาพิการ เขียนเป็นภาษาทางการว่า 'จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหลักฐานทางวิชาการแจ้งชัดว่าทารกในครรภ์คลอดออกมาแล้วอาจจะมีความพิการจนถึงขั้นทุพพลภาพหรือเป็นพาหะนำโรคร้าย'

หน่วยงานที่ออกจะมีบทบาทสำคัญหน่อยก็คือ แพทยสภาที่รับหน้าเสื่อเป็นผู้เสนอความเห็นไปยังกระทรวงสาธารณสุขหลายครั้ง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ร่างแล้วก็หายไปในกลีบเมฆ หมายถึงว่าเสนอต่อรัฐบาลโดยผ่านกระทรวงสาธารณสุขแล้วเรื่องก็เงียบไป ไม่มีปฏิกิริยาอะไรจากรัฐบาล แล้วภายหลังก็มามีความพยายามผลักดันร่างตัวนี้กันใหม่อีกเป็นรอบๆ

กล่าวได้ว่าตัวร่างกฎหมายเดินทางช้ามาก ตั้งแต่ปี 2531-32 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่างกฎหมายเดินทางออกจากแพทยสภาไปค้างที่คุณชวนอยู่นานและก็ไม่ผ่านคณะรัฐมนตรียุคพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่ก็ยังไม่หลุดไป ตัวร่างกฎหมายนี้ก็ยังอยู่ตลอดตั้งแต่มีคณะ รสช. และมาเป็นรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และต่อมาก็รัฐบาลนายชวน หลีกภัยสมัยที่หนึ่ง และมาเป็นนายกฯบรรหาร นายกฯชวลิต และจนกระทั่งนายกฯชวนสมัยที่สอง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ส่งไปให้กฤษฎีกาแก้ไขถ้อยคำ กฤษฎีกาแก้แล้วส่งกลับมาให้กระทรวงยุติธรรม รอให้กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้เสนอ จนเลือกตั้งใหม่ ได้นายกฯคนใหม่ชื่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2543

ดิฉันเข้าใจว่าร่างกฎหมายตัวที่เดินทางนี้ คงจะตกม้าตายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะในปี 2544 มีความพยายามใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากผลการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำการสำรวจเรื่องสถานการทำแท้งในประเทศไทยทั่วประเทศเมื่อปี 2542 ให้ภาพการทำแท้งชัดเจนขึ้นในระดับประเทศ ทำให้เกิดแรงผลักที่จะแก้ไขกฎหมายเหมือนเดิมอีก แต่เป็นการเริ่มใหม่ทั้งหมด

คราวนี้แพทยสภาในฐานะหน้าเสื่อก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาทำการร่างกฎหมายนี้ ดิฉันเองเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการด้วย ปรากฏว่าที่ประชุมของคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นพ้องกันว่าควรขยายเพิ่มเติม 2 เงื่อนไข คือควรอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งถ้ามีปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต และถ้าตัวอ่อนในครรภ์มีปัญหา ไม่ว่าเกิดมาแล้วจะพิการ หรือจะเป็นโรคร้าย หรือปัญญาอ่อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ที่ทำงานในสายสุขภาพหลายส่วนโดยเฉพาะแพทย์ต้องการจะแก้ไข อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายผ่านเข้าที่ประชุมแพทยสภาและส่งกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว(3)

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข นายแพท์สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ในช่วงนั้น (ขณะนี้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอทีแล้ว) ก็เสนอความคิดเห็นว่าน่าจะมีกฎหมายลงโทษผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงท้อง แล้วไม่รับผิดชอบจนผู้หญิงต้องไปทำแท้ง ทั้งหมดนี้เป็นแต่ข่าวเท่านั้น ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด

ฉะนั้นจะเห็นว่ามีความพยายามเพื่อแก้กฎหมายทำแท้งมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีความเห็นหลากหลายเสนอขึ้นมาตลอดเวลา มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ตัวร่างผ่านเข้าสภาฯไปได้ ครั้งหลังๆเป็นการได้แค่ร่างตัวกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำตัวร่างกฎหมายเสนอต่อสภาได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ของผู้หญิงท้องไม่พร้อม
ในประเด็นสถานการณ์การทำแท้งในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันอยากจะพูดถึงงานวิจัยสำคัญอยู่ 3-4 งานที่เกิดขึ้นในรอบ 2-3 ปีนี้ งานวิจัยที่สำคัญและนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ทำการวิจัยในลักษณะนี้คืองานของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลก ให้ตัวเลขที่น่าเชื่อถือว่าสัดส่วนผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยอาการที่เรียกว่า "ป่วยจากโรคแท้ง" มีสาเหตุจากการทำแท้งว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นการสำรวจจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 757 แห่งในรอบปี 2542 ได้จำนวนตัวเลขผู้หญิงทั้งหมด 45,900 กว่าคนเศษ(4) และจากจำนวนนี้กระทรวงสาธารณสุขทำการสุ่มตัวอย่าง (sub-sample) มา 10% เป็นจำนวน 4,000 กว่าคนเพื่อทำการสัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงปัญหาต่างๆของผู้หญิง

ผลพบว่าในจำนวนผู้หญิงที่เข้ามารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยโรคแท้งนี้ ร้อยละ 40 เป็นเพราะมีอาการภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการทำแท้ง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันลูกศิษย์ดิฉันทำปริญญาเอกได้สำรวจในจังหวัดหนึ่งและได้ภาพใกล้เคียงกันด้วย คือประมาณร้อยละเกือบ 50 ของผู้ป่วยโรคแท้งนั้นเป็นผลมาจากการทำแท้ง

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านี้คือใครเป็นคนทำแท้งให้ งานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้หญิงทำแท้งด้วยตัวเองร้อยละ 12 ในขณะที่งานของลูกศิษย์ดิฉันได้ร้อยละ 81 ซึ่งถือว่าตรงกันข้ามกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าใครผิดหรือใครถูก เพราะมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระเบียบวิธีวิจัย และตัวแบบสอบถาม เป็นต้น

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพของผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งท้องเมื่อไม่พร้อมได้ชัดเจนขึ้น คืองานวิจัยโดยสภาประชากร เรื่องประสบการณ์ของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม ซึ่งได้จัดสัมมนาไปเมื่อปี 2543 สิ่งที่เราพบจากงานวิจัย คือมีเหตุผลและเงื่อนไขที่หลากหลายมากที่ทำให้ผู้หญิงซึ่งตั้งท้องเมื่อไม่พร้อมแล้ว จะต้องไปทำแท้ง งานวิจัยชุดนี้ออกแบบมา เพื่อติดตามดูประสบการณ์ของคนซึ่งท้องไม่พร้อม แล้วอยากจะทำแท้งรวมสี่กลุ่มคือ

1. กลุ่มที่กำลังหาช่องทางอยู่ยังไม่ได้ทำแท้ง
2. กลุ่มที่ทำแท้งจนสำเร็จปลอดภัย
3. กลุ่มทำแท้งที่ตกเลือดจนต้องไปรับการรักษาพยาบาล และ
4. กลุ่มที่ไม่สามารถทำแท้งได้ ต้องตั้งท้องจนครบกำหนดคลอด

สิ่งที่น่าสนใจคือว่า ในกระบวนการแสวงหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหานั้น ผู้หญิงทุกคนต้องทดสอบจนแน่ใจก่อนว่าตัวเองท้อง ส่วนใหญ่ทดสอบเอง จำนวนหนึ่งหลังจากทดสอบแล้วไปร้านขายยา ไปหาหมอเพื่อจะยืนยันอีกครั้งว่าตัวเองท้องหรือไม่ท้อง และถ้าท้อง สิ่งที่ผู้หญิงต้องการคือข้อมูล ว่าจะมีทางเลือกอย่างไรบ้างในสถานกาณ์ของการตั้งท้องไม่พร้อม แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีข้อมูล ถึงแม้บางคนจะมีข้อมูล แต่ก็หาแหล่งบริการไม่ได้

ข้อมูลที่ว่านี้คือ ข้อมูลเพื่อจะทำให้ตัวเองสามารถจะแก้ไขปัญหาของตัวเองได้

ดิฉันจะยกตัวอย่างข้อมูลในกรณีที่ผู้หญิงต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ ผู้หญิงใช้วิธีหลากหลายมาก ตั้งแต่ใช้สูตรยาต่างๆ ซึ่งพิสดารพันลึกที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน เช่น กินยาทัมใจใส่น้ำปลาใส่พริกไทย มีสูตรยาซึ่งเป็นพวกเหล้าร้อนต่างๆ ใช้เหล้าผสมยาผงในท้องถิ่น เช่น ยาผงหอยแครงผสมเหล้าโรง สูตรคล้ายๆกันอย่างนี้เราพบในหลายจังหวัด แสดงให้เห็นว่าข้อมูลเหล่านี้ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาดั้งเดิมที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ที่ผู้หญิงสามารถทำด้วยตัวเองได้ ดิฉันแน่ใจว่าเราจะพบสูตรที่เรียกว่า 'ยาร้อน' นี้ในทั่วทุกท้องถิ่นของบ้านเรา

ปัจจุบันมีวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคือการใช้ยาเหน็บ ซึ่งอาจใช้เองหรือคนอื่นทำให้ ยาเหน็บนี้ที่จริงคือยากินใช้เพื่อรักษาอาการโรคกระเพาะ และระบุว่าหญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทาน ชื่อยาคือไซโตเทค (cytotec) หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมเขารู้จักกัน ดิฉันเข้าใจว่าเริ่มต้นอาจจะมีการใช้ยานี้ในโรงพยาบาล(5) เพื่อรักษาผู้ป่วยที่เข้ามาเพราะมีอาการที่เรียกกันว่าแท้งไม่ครบ (incomplete abortion) จากการใช้ในโรงพยาบาลก็อาจมีการบอกกันปากต่อปากต่อกันมาเรื่อยๆ เรื่องอย่างนี้มิได้เกิดเฉพาะในบ้านเรา มีงานวิจัยจากหลายประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เยอรมัน บราซิล อเมริกา พบว่ามีการใช้ยาเหน็บซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาอาการโรคกระเพาะ เพื่อการทำแท้งอย่างแพร่หลายเช่นกัน

ตรงนี้เป็นสิ่งที่บอกได้ว่า ผู้หญิงพยายามจะหาหนทางทุกอย่าง เมื่อรู้ปากต่อปากแล้วก็พยายามจะเข้าไปถึงยาตัวนั้นให้ได้ ยาจริงๆราคาไม่เกินร้อยบาท แต่ราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายและบอกกับเราผ่านงานวิจัยมีตั้งแต่ร้อยบาทถึงหมื่นบาท ตรงนี้เห็นชัดว่าวิธีนี้มีความนิยมมากขึ้น คนรู้แพร่หลายขึ้น แต่ก็ยังรู้ไม่หมด รู้ไม่ครบถ้วน ภายหลังที่มีงานวิจัยออกมาว่ามีการนำยาตัวนี้ไปใช้เพื่อการทำแท้ง ในบ้านเราจากที่เคยซื้อหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย.ก็ห้ามซื้อขายแบบธรรมดา ปัจจุบันจะซื้อได้เมื่อมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น

คุณหมอสุรพงษ์พูดถึงเทคโนโลยีต่างๆ ในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งมีปัญหาอยู่ที่เทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ยาเม็ดทำแท้ง ชื่อยาเรียกกันว่าอาร์ยูสี่แปดหก (RU 486) ซึ่งต้องกินภายใน 50 วันหลังที่ประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่มา ยานี้ใช้อย่างถูกกฎหมายในประเทศจีนและประเทศฝรั่งเศส และมีการทำวิจัยหลายครั้งเพื่อดูถึงประสิทธิภาพของการใช้ยา ดิฉันเชื่อว่าจะมีการลักลอบนำยานี้เข้ามา หรือไม่คนที่จะเข้าถึงได้จะเป็นคนที่มีเงินและไปซื้อมาจากต่างประเทศที่เขาอนุญาต

สรุปว่า ส่วนใหญ่ของสถานการณ์ของปัญหาท้องเมื่อไม่พร้อม ผู้หญิงเกือบทั้งหมดต้องพึ่งตัวเองและไม่มีข้อมูล ไม่มีบริการ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเมื่อมีปัญหา ผู้หญิงต้องการแก้ปัญหา

ในงานวิจัยเราเจอผู้หญิงหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองท้อง ซึ่งไม่ใช่วัยรุ่น แต่ก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ และการตั้งท้องนั้นเกิดจากเพศสัมพันธ์กับแฟน เราพบว่าผู้หญิงเมื่อท้องแล้ว เขาอยากจะหาที่ปรึกษา แต่ก็หาคนที่จะพูดคุยด้วยได้น้อยมาก ถึงแม้เมื่อได้คนที่จะพูดคุย ได้ข้อมูลแล้ว แต่ข้อมูลก็มักเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เมื่อต้องการหาแหล่งบริการก็หาไม่ได้ สถานที่หนึ่งที่ผู้หญิงปรึกษาอยู่เสมอคือร้านขายยา โดยส่วนใหญ่จะบอกว่า เพื่อนมีปัญหา จะไม่บอกว่าตัวเอง

กรณีหนึ่งที่เราพบ ผู้หญิงยืนยันว่า อย่างไรก็จะต้องทำแท้งให้ได้ เพราะที่บ้านมีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก นอกจากนั้นการทำงานก็เป็นอุปสรรคต่อการตั้งท้อง เมื่อได้พูดคุยกันและประสานความช่วยเหลือให้ผู้หญิงไปตรวจครรภ์ก็พบว่า ขณะนั้นเธอท้องได้แปดเดือนแล้ว แต่ผู้หญิงคิดว่าตัวเองท้องเพียงสี่เดือน เราจึงจำเป็นต้องพูดคุยและทำความเข้าใจถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำแท้งในครรภ์อายุมาก ท้ายที่สุดผู้หญิงคนนี้จึงเปลี่ยนใจ และไม่ได้ทำแท้ง

เราเจอผู้หญิงซึ่งไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามทุกวิถีทาง เช่น พยายามเดินให้ชนมุมโต๊ะ ทุบท้องตัวเอง ไปกระโดดน้ำ ทำทุกอย่างให้ตัวเองยุติการตั้งท้องได้ หรือไม่ก็ใช้วิธีดั้งเดิม คือให้หมอตำแยที่บ้านเป็นคนทุบท้อง บีบท้องให้ หมอตำแยบางคนก็ใช้วิธีขึ้นไปเหยียบท้อง ในหลายที่ยังคงใช้วิธีการที่น่าสยดสยอง เช่น การใช้ไม้ไผ่เหลาจนปลายแหลมเผาไฟ แล้วแยงเข้าช่องคลอดเพื่อคว้านก้อนเลือดออกมา

ดิฉันอยากย้ำว่า ผู้หญิงพยายามทุกวิธีทางเท่าที่ตัวเองมีข้อมูล ในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อน และเกือบทุกคนได้พยายามหลายหนทางและหลายวิธีมาก ในหลายวิธีนั้นก็เป็นการทำร้ายตัวเองโดยตรง และหลายคนก็ทำหลายครั้ง

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด จากงานวิจัยที่ท่านกำลังจะรับฟังในงานสัมมนาถัดจากดิฉันนี้ จะให้ภาพท่านเพิ่มจากเดิม ดิฉันขออนุญาตขโมยผลเขามาเล่าให้ฟังตรงนี้ก่อนว่า ในการสัมภาษณ์ประวัติการตั้งครรภ์ของผู้หญิง และจากจำนวนท้องทั้งหมดที่จดนับได้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มท้องที่วางแผนกับท้องที่ไม่ได้วางแผน ในภาพรวมจากจำนวนท้องทั้งหมด พบว่ามีการทำแท้งเกิดขึ้นร้อยละ 8 แต่เมื่อแบ่งกลุ่มเป็นวางแผนกับไม่วางแผนแล้ว กลุ่มท้องที่วางแผนพบว่าจบลงด้วยการทำแท้งเพียงร้อยละ 1 ในขณะที่กลุ่มท้องที่ไม่ได้วางแผนนั้นจบลงที่การทำแท้งถึงร้อยละ 16

ฉะนั้นเราต้องมาคิดกันต่อว่า ตัวเลขเหล่านี้จะนำไปสู่การวางโยบายหรือการสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้หญิงได้อย่างไร

ทำอย่างไรประวัติศาสตร์จึงจะไม่ซ้ำซาก
ประเด็นสุดท้ายคือทำอย่างไรประวัติศาสตร์จึงจะไม่ซ้ำซาก เราคงไม่สามารถจะทำให้ทางเลือกของผู้หญิงซึ่งมีปัญหานั้นแก้ไขได้ ถ้าเรายังไม่หลุดจากกรอบบางกรอบ

กรอบที่หนึ่ง: ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมไม่ใช่ผู้หญิงที่แร่ด ผู้หญิงแส่หาเรื่อง หรือผู้หญิงที่ไม่รักดี รักแต่ชั่ว ไม่หามจั่วหามแต่เสา รวมทั้งเป็นผู้หญิงที่ไม่รู้จักป้องกันตัวเอง เพราะมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ไม่มีผู้หญิงคนใดในโลกนี้ ที่ตั้งใจท้องเพื่อจะไปทำแท้ง ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งท้องทุกคนต้องแก้ไขปัญหาชีวิตตนเองคือ ปัญหาอันเกิดจาการท้องไม่พร้อมซึ่งอาจมาจากสาเหตุนานาประการ ปัญหาของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมแต่ละคนจึงมีทั้งที่แตกต่างกันและที่คล้ายคลึงกัน(6) แต่ที่เหมือนกันแน่ๆคือ เป็นปัญหาที่ผู้หญิงไม่ได้ต้องการเผชิญ และไม่ได้เป็นผู้เชื้อเชิญให้มันเกิด ว่ากันไปแล้วผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเอาชีวิตของตนเองเข้าเสี่ยง ทั้งรู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว ในการที่จะจัดการปัญหาชีวิตของตนเอง อย่างที่เล่ามาข้างต้นแล้ว

กรอบที่สอง: เป็นผลจากการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการแก้กฎหมายทำแท้งโดยพลตรีจำลอง ที่ดิฉันกล่าวถึงไปแล้ว คือคำว่า แท้งเสรี ซึ่งหมายถึงอยากจะทำแท้งเมื่อไหร่ก็ได้ ทำโดยใครก็ได้ เราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า แท้งเสรีแบบนี้ไม่มีในโลก เพราะแม้ในประเทศที่ทำแท้งถูกกฎหมาย ก็ยังมีเงื่อนไขว่าด้วยการทำแท้งหลายข้อหรือหลายขั้นตอน ที่สำคัญๆคือใครบ้างเป็นผู้มีคุณสมบัติสามารถเป็นผู้ให้บริการได้ ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องพิจารณาว่าทำแท้งได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นการทำแท้งเสรีไม่มีในโลกนี้

กรอบที่สาม: มีความสำคัญมาก คือกรอบความคิดที่เชื่อว่าการทำแท้งเป็นอาชญากรรม และผู้หญิงที่ทำแท้งก็คืออาชญากร ความจริงแล้วผู้หญิงซึ่งมีปัญหา แล้วต้องการยุติปัญหาของตัวเองไม่ใช่อาชญากร กฎหมายซึ่งเราใช้กันมาตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบัน เรารับความคิดมาจากทางตะวันตกแปลมาจากกฎหมายเยอรมัน ตอนที่แปลนั้นก็แปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงมาแปลเป็นภาษาไทยอีกที เรารับความคิดมาจากเยอรมัน จากตะวันตกซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา

ถ้าเรากลับไปสำรวจวัฒนธรรมไทย อาจารย์ธาวิต สุขพานิช เขียนไว้ชัดเจนว่า พี่ทำท้อง น้องทำแท้ง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพี่ทำท้องแล้วน้องไปทำแท้งนะ แต่หมายความว่าประเด็นเรื่องการท้องนั้นเป็นประเด็นของผู้หญิง-ผู้ชาย แต่เมื่อถึงประเด็นเรื่องการตัดสินใจทำแท้งแล้ว ในสังคมหลายแห่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย การตัดสินใจทำแท้งเป็นเรื่องซึ่งผู้หญิงจะตัดสินใจเอง ในอดีตนั้นกฎหมายลักษณะผัวเมียของเราจะไม่มีการเอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง ซึ่งภาษาสมัยก่อนเรียกว่ารีดลูก แต่กฎหมายมาเอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งหลังจากที่เรารับความศิวิไลซ์ แล้วรับเอากรอบวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามา

กฎหมายทำแท้งเป็นกฎหมายที่ประหลาด ประการที่หนึ่ง รวมอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ประการที่สองเป็นกฎหมายที่ไม่มีเหยื่อ เพราะฉะนั้นผู้หญิงถ้าพยายามทำแท้ง แล้วทำสำเร็จ จะมีความผิดต้องจำคุก แต่ถ้าพยายามไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร รวมทั้งคนทำแท้งให้ด้วยว่าถ้าทำแท้งไม่สำเร็จ กฎหมายก็ไม่เอาโทษ

ดิฉันอยากให้ข้อคิดว่า เมื่อคนฆ่าตัวตาย บ้านเมืองไม่เอาผิด เมื่อคนจนขายซี่โครงให้ไปทำดั้งจมูกให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง เรารู้สึกเศร้า แต่เขาก็ไม่ถูกจับ คนเสพยาเสพติดซึ่งอดีตเรามองว่าเป็นคนที่ต้องจับไปเข้าคุก ปัจจุบันกรอบวิธีคิดนี้เปลี่ยนเป็นว่า คนที่เสพยาไม่ได้เป็นคนผิด เพียงแต่ต้องไปปรับปรุงพฤติกรรมให้ยุติการเสพยาให้ได้ ดิฉันไม่ได้พูดว่า คนที่เสพยากับผู้หญิงที่ตั้งท้องนี้เหมือนกัน แต่เมื่อกรอบวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องคนเสพยาสามารถเปลี่ยนได้ ดิฉันเชื่อว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ถ้าเราพูด แล้วทำความเข้าใจกัน กรอบความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงที่ตั้งท้องไม่พร้อม แล้วต้องการแก้ไขปัญหาก็สามารถจะเปลี่ยนได้เช่นกัน

เราสามารถเปลี่ยนกรอบวิธีคิดนี้ได้ แต่การจะเปลี่ยนกรอบวิธีคิดได้ สาระของการเคลื่อนไหว หรือการทำความเข้าใจกับสังคมก็ต้องเปลี่ยนด้วย

ในการจะแก้ไขปัญหานี้ ประเด็นที่หนึ่งที่ต้องมองคือเรื่องนี้เป็นเรื่องสุขภาพผู้หญิง เป็นประเด็นทางสุขภาพ เพราะมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตายจากการทำแท้ง ตัวเลขนี้เราไม่รู้ แต่จำนวนที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลจากตกเลือด เกิดความพิการ สถิติของรัฐชี้ว่าอย่างต่ำปีละประมาณห้าหมื่นคนขึ้นไป ซึ่งความเจ็บป่วยเหล่านี้รัฐสามารถปกป้อง คุ้มครองและให้บริการได้ แต่รัฐยังไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้เต็มที่ เท่าที่ทำกันอยู่นั้นก็เป็นการทำงานขององค์กรสาธารณกุศลเท่านั้น

แต่ว่ากรอบความคิดแค่เรื่องสุขภาพก็ยังไม่พอที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ประการที่สอง เราต้องใช้ตัวผู้หญิงซึ่งมีประสบการณ์เหล่านี้มาบอกเล่าประสบการณ์ ซึ่งปรากฏอยู่แล้วในงานวิจัยจำนวนมากในช่วงหลังๆ เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อดูว่าผู้หญิงที่ประสบปัญหาต้องการอะไร มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วประการสุดท้ายคือ เรามาช่วยกันสร้างทางเลือกอย่างที่คุณหมอสุรพงษ์บอก

เราจะต้องสร้างทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างที่พักขึ้นมาให้กับผู้หญิงถ้าต้องการมีที่พัก ในงานวิจัยเราพบผู้หญิงที่ต้องการที่พักชั่วคราวในระหว่างรอคลอด จึงจำเป็นต้องมีที่พักให้กับผู้หญิง ซึ่งอย่างน้อยควรมีจังหวัดละหนึ่งแห่ง ปัจจุบันเรามีบ้านพักลักษณะใกล้เคียงกันนี้ของกรมประชาสงเคราะห์อยู่ใน 9 จังหวัด แต่ยังทำงานเชิงรับแบบไม่ประชาสัมพันธ์ จึงไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ หลายแห่งจึงเป็นที่เก็บของไป น่าเสียดาย

เราจำเป็นที่ต้องสร้างทางเลือกให้มีกระบวนการรับบุตรบุญธรรม แต่ขณะเดียวกันสำหรับผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ไม่ทำแท้งและไม่ต้องการยกลูกให้ใคร แต่มีเงื่อนไขของความไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดู เช่น เรื่องงาน เขาควรจะมีที่ฝากลูกไว้ช่วยดูแลชั่วคราว ดังเช่นที่สหทัยมูลนิธิให้ความช่วยเหลือ อาจจะเป็น 3 เดือน 6 เดือน หรือหนึ่งปี แต่ปัจจุบันเรามีมูลนิธิอย่างสหทัยน้อยมากที่จะรับฝากเลี้ยงเด็ก จนกว่าแม่จะพร้อมแล้วกลับมารับลูกกลับไป เราต้องการองค์กรแบบสหทัยมูลนิธิให้มีมากขึ้น อย่างน้อยควรมีจังหวัดละหนึ่งองค์กรก็ยังดี

นอกจากนั้น เราต้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือแม้แต่ครูหรือข้าราชการ ที่ระบุว่าผู้หญิงท้องไม่ได้ในขณะที่เป็นนักเรียน หรือในสถานที่ทำงานบางแห่ง ซึ่งมีทั้งรัฐและทั้งเอกชน ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานตั้งท้องขึ้นมาอาจจะถูกไล่ออกจากงานได้ หรือผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว แต่หากตั้งท้องก็อาจจะถูกไล่ออกได้เช่นกันเพราะการตั้งท้องเป็นอุปสรรคให้ทำงานได้น้อยลง

ปัจจุบันโรงเรียนบางแห่งดีมากที่อนุญาตให้เด็กลาไปคลอดก่อนแล้วจึงกลับมาเรียนใหม่ แต่ว่ายังไม่ได้เป็นแนวปฏิบัติทั่วไป ซึ่งถ้าเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ผู้หญิงก็จะสามารถมีทางเลือกอย่างนี้ได้ จะทำให้คนที่ไม่อยากทำแท้งก็ไม่ต้องทำแท้ง เพราะเรามีทางเลือกให้เขา

แต่สำหรับคนที่ต้องการทำแท้ง ถึงเราจะมีทางเลือกอยู่หลากหลาย แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเมื่อท้องแล้วมีปัญหา ยุติการตั้งครรภ์เป็นทางออกเดียวที่เขาต้องการ ในสถานการณ์และเงื่อนไขเฉพาะตัวของเขา

เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ซึ่งถามว่ามีบ้างไหม คำตอบก็คือ"มี" ปัจจุบันมีองค์กรสาธารณกุศลอย่างน้อยสองสามแห่งที่ทำงานอย่างนี้มา 20 กว่าปีแล้ว ถ้าออกชื่อมาทุกคนในห้องนี้คงรู้จักหมด เราคงต้องขอบคุณองค์กรสาธารณกุศลเหล่านี้ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้หญิงท้องไม่พร้อมจำนวนมาก แต่ว่าองค์กรสาธารณกุศลมีจำกัด มีอยู่ไม่กี่จังหวัด แต่เรากำลังพูดถึงปัญหาของผู้หญิงจำนวนหลายแสนคน เพราะฉะนั้นมีผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการท้องจำนวนเป็นแสนคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้

ใช่เรามีสถานบริการเอกชนอยู่มากในกรุงเทพฯ และมีพอควรตามหัวเมืองใหญ่ และใครๆก็รู้ว่าที่ไหนให้บริการบ้าง แต่สถานบริการเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อธุรกิจ ให้บริการเพื่อค้ากำไร หาใช่เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้หญิงไม่ และในหลายแห่งก็เป็นการให้บริการที่ไม่ปลอดภัย

แต่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสาธารณกุศล หรือสถานบริการเอกชน ว่าตามกฎหมายกันจริงๆแล้วผิด ที่เปิดกันอยู่ได้ ก็เพราะจริงๆแล้วก็มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เข้าใจปัญหา และไม่อยากจับกุม

ที่จริงแล้วมาตรการหนึ่งที่เรียกว่า การปรับประจำเดือน ซึ่งจะใช้ได้หากต้องการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เป็นมาตรการที่หลายประเทศ เช่น ประเทศบังกลาเทศใช้อยู่ หรือในอีกหลายประเทศที่แม้การทำแท้งจะยังผิดกฎหมายอยู่ ตรงนี้อาจจะเป็นอีกประตูหนึ่งที่เปิดขึ้น เพื่อให้การทำแท้งนั้นเป็นบริการที่ปลอดภัย และมีองค์กรเข้ามารองรับ

ถ้าเราต้องการเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้บริการทำแท้งเป็นบริการทั่วไป ลักษณะอย่างนี้ต้องเข้าไปอยู่ในเรื่องหลักประกันสุขภาพ แต่หลักประกันสุขภาพจำนวนมากไม่พูดเรื่องสุขภาพผู้หญิง แม้ว่าในร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับล่าสุด มีมาตราหนึ่งที่พูดเรื่องสุขภาพผู้หญิงอยู่ ดิฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติต่างหากที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพผู้หญิง เป็นพระราชบัญญัติที่ให้หลักประกันเรื่องสุขภาพผู้หญิงทุกด้าน รวมเรื่องการท้องที่มีปัญหาต่างๆด้วย เราจำเป็นต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเราเห็นพ้องกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข

กฎหมายนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ที่เกี่ยวกับการทำแท้งด้วย

ท่านใดรู้สึกไม่สบายใจที่จะสนับสนุนกฎหมายลักษณะนี้ เพราะท่านรู้สึกว่าเป็นการสนับสนุนให้มีการทำแท้ง ท่านก็ยังทำงานในด้านอื่นได้ เช่น ให้ท่านช่วยกันสร้างบ้านพักเยอะๆ ท่านใดที่รู้สึกไม่สบายใจเมื่อพูดถึงเรื่องเรื่องการทำแท้ง แต่ว่าสบายใจมากกว่าถ้าพูดถึงเรื่องการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศศึกษา เรื่องการคุมกำเนิด ก็ให้ท่านช่วยขยายแนวความคิดเพศศึกษา ขยายบริการคุมกำเนิดวิธีการต่างๆให้กับผู้หญิงทุกกลุ่ม แพทย์ท่านใดคิดว่าสามารถจะช่วยในเชิงเทคโนโลยีต่างๆได้ ก็ช่วยได้เลย ให้มาช่วยกันเปิดประตูตรงนี้เต็มที่ นักกฎหมายหรือองค์กรไหนก็ตามเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางกฎหมายจะทำให้ตรงนี้แก้ไขได้ ก็เคลื่อนไหวไปได้เลย

ประเด็นสุดท้ายที่มีความสำคัญมากคือว่า ประชาชนทุกส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ เราคงต้องทำให้ปัญหาของผู้หญิงที่ตั้งท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่สามารถยุติได้โดยที่ผู้หญิงนั้นยังมีสุขภาพสมบูรณ์ และสังคมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ดิฉันคิดว่าวันนี้คงถึงเวลาที่เราจะมาร่วมทลายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง แล้วลงมือสร้างป้อมปราการใหม่ เป็นป้อมปราการที่ไม่มีมิตร ไม่มีศัตรู มีแต่เพื่อนที่มาช่วยกันสร้างป้อมปราการที่มุ่งมั่นสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม

ดิฉันเชื่อว่า ความเข้าใจข้อจำกัดของมิติทางกฎหมายปัจจุบัน จะนำไปสู่การมีกฎหมายใหม่ที่สอดคล้องกับปัญหาและวัฒนธรรมของเรามากกว่า

ดิฉันเชื่อว่า ความเข้าใจมิติการให้บริการทางการแพทย์ปัจจุบัน ที่ยังไม่ครอบคลุมปัญหาผู้หญิงท้องไม่พร้อม จะนำไปสู่มิติบริการทางคุณภาพที่จะเข้ามาแทนที่ ที่สำคัญการให้คำปรึกษาอย่างละเอียดอ่อนต่อมิติหญิงชายต้องเข้ามาด้วย

ดิฉันเชื่อว่า ความเข้าใจมิติทางข้อมูลข่าวสารที่ไม่ขาดวิ่น ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุม ในเรื่องการป้องกันไม่ให้ท้องก็ดี การมีเพศสัมพันธ์อย่างตั้งใจและรับผิดชอบก็ดี มิติเพศศึกษาที่ต้องเริ่มเสริมให้แข็งแกร่งจากวัยเด็กจนถึงวัยแย้มฝาโลง จะนำไปสู่จำนวนการท้องไม่พร้อมที่ลดลง

ดั่งนี้แล้ว ประวัติศาสตร์ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจะไม่ซ้ำซากอีกต่อไป จะไม่ซ้ำซากกับการไม่มีทางเลือกในการแก้ปัญหาเลย มองไปทางใดก็ดูจะเป็นทางตันเสียสิ้น จะไม่ซ้ำซากกับหนทางการมุ่งหวังแก้ปัญหากฎหมายก่อนจึงค่อยไปแก้ปัญหาอื่นๆ และสุดท้ายจะไม่ซ้ำซากกับการลงโทษตราหน้าผู้หญิงท้องไม่พร้อมว่า เป็นผู้หญิงไม่รักดี หรือแม่ใจยักษ์ เพราะเข้าใจและรู้แล้วว่า ผู้หญิงคนนั้นมีปัญหาและกำลังแก้ปัญหาให้ตนเองอยู่

Footnote

(1) ปรับปรุงและเรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องไม่พร้อม' ในการสัมมนาระดับชาติเรื่อง 'ทางเลือกของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม ภาค 2 ตอนร่วมกันสร้างทางเลือกให้หลากหลาย' จัดโดย กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันกฎหมายอาญา สำนักอัยการสูงสุด สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และสภาประชากร วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2545 ณ โรงแรมโซลทวิน กรุงเทพมหานคร

(2) ผู้สนใจรายละเอียดของ 'ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการทำแท้ง' โปรดดูบทที่สองในหนังสือชื่อ 'การเมืองเรื่องเพศและร่างกายผู้หญิง: เอดส์ แท้ง ความรุนแรง และหญิงรักหญิง' โดยกฤตยา อาชวนิจกุล และกนกวรรณ ธราวรรณ (กำลังตีพิมพ์ 2546) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์.

(3) มีข่าวล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนธันวาคม 2545 ว่าร่างนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่ผ่านให้โดยจะรอให้แพทยสภาส่งข้อบังคับที่ว่าอย่างใดที่จะเข้าข่ายสุขภาพกายหรือจิต และสุขภาพทารกที่เป็นปัญหามาให้พิจารณาก่อน นั่นคือถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบต่อร่างข้อบังคับของแพทยสภาแล้ว ก็คงจะผ่านร่างกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรีเสนอขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฯผ่านกระบวนการทางรัฐสภาต่อไป

(4) คือเก็บตัวเลขผู้ป่วยทุกคนที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลในปี 2542

(5) ถือว่าเป็นการใช้นอกเหนือจากสรรพคุณยาที่ระบุไว้ในสลากยา เนื่องจากไซโตเทคมีตัวยาชื่อไมโซโพรสโตล (misoprostol) ซึ่งทำให้มดลูกหดรัดตัว (contraction of uterus)

(6) รายละเอียดชีวิตของผู้หญิงแต่ละคนในหนังสือเล่มนี้จะยืนยันคำพูดนี้ของดิฉันได้ดี (คำปาฐกถานี้จะถูกตีพิมพ์เป็นบทสรุปของหนังสือชื่อ 'มีเรื่องอยากเล่าให้ฟัง: บันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม' จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ซึ่งจะวางตลาดในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 นี้

 


ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard
I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)