จะเห็นว่าประวัติความเป็นมานับตั้งแต่การมีมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการสำรวจไปถึงปรัชญา, เจตนารมณ์ และการสำรวจถึงปัญหาสถานภาพ รวมกระทั่งถึงบทบาททางวิชาการ, การเรียนการสอน, การวิจัย, คุณภาพบัณฑิต, โครงสร้างระบบบริหาร และรวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม เช่น การนำทางสังคม, การรับใช้สังคม, และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เมื่อมองโดยวิธีการดังกล่าวแล้ว ล้วนตรวจพบถึงปัญหาทั้งสิ้น

ในบทวิจัยชิ้นนี้ เราจะได้มาดูถึง"สาเหตุของปัญหา" ซึ่งเป็นที่มาของการตรวจพบข้อบกพร่องดังกล่าวว่ามีสาเหตุหรือปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ หรือไม่บรรลุเจตนารมณ์ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งในที่นี้จะจำแนกสาเหตุของปัญหาเป็นปัญหาโครงสร้างหลักๆเอาไว้ 3 ประการด้วยกัน โดยมีปัญหาแยกย่อยอยู่ในโครงสร้างนั้นๆอย่างสอดคล้องดังนี้ คือ

1. สาเหตุของปัญหาโครงสร้างการบริหาร และการขัดแย้งภายในองค์กร

1.1 ความสับสนในบทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร
1.2 ปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร

2. สาเหตุของปัญหาโครงสร้างวิชาการ

2.1 มหาวิทยาลัยแยกภารกิจ 4 อย่างออกจากกัน
2.2 ขาดงานวิจัยและองค์ความรู้ที่ลงไปในพื้นที่และการบูรณาการ

3. สาเหตุของปัญหาการบริการสังคม

3.1 มหาวิทยาลัยขาดความรู้ ความเข้าใจ และการบริการชุมชน
3.2 ปัญหาของการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม
3.3 ปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษาในฐานะผลผลิตของสถาบัน

จะเห็นว่า หัวข้อที่ลำดับมาข้างต้น ล้วนเป็นปัญหาที่ได้รับการขมวดในรูปของโครงสร้างหลัก เพื่อให้มองเห็นภาพชัดและสะดวกแก่การตรวจสอบ ที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อได้มีการขมวดเข้าเป็นโครงสร้างหลักเช่นนี้แล้ว จะทำให้การสืบสาวถึงสาเหตุและมองถึงความสัมพันธ์กันของปัญหาได้อย่างชัดเจน อันจะนำไปสู่การหาหนทางแก้ไขไปถึงรากหรือที่มาของปัญหาซึ่งมารุมเร้ามหาวิทยาลัยไทยอยู่ในปัจจุบัน คือ

1. สาเหตุของปัญหาโครงสร้างการบริหาร และการขัดแย้งภายในองค์กร

หากเราทั้งหลายได้มีโอกาสดูแผนภาพโครงสร้างการบริหารของมหาวิทยาลัยต่างๆส่วนใหญ่ จะพบว่า แผนภาพที่แสดงโครงสร้างดังกล่าวและรายละเอียดคำอธิบาย โดยภาพรวมจะมีโครงสร้างการบริหารที่คล้ายๆกัน ซึ่งมีการจัดโครงสร้างวิธีการบริหารแบบราชการ มีอำนาจสั่งการและลงโทษไม่ต่างๆจากกระทรวงมหาดไทย เพียงแต่อยู่ในกรอบที่เล็กกว่าคือภายในองค์กรมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ในส่วนของผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการแก้ไขและออกระเบียบข้อบังคับที่หยุมหยิมเป็นจำนวนมาก โดยใช้ถ้อยคำในลักษณะที่เป็นคำสั่งสูงเพื่อให้ถือปฏิบัติโดยพร้อมเพรียง แม้กระทั่งระเบียบการแต่งกายของนักศึกษา สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้บั่นทอนขวัญและกำลังใจ รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง แทนที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการทำกิจกรรมทางสังคม

สาเหตุสำคัญของความคิดในระบบราชการเช่นนี้ หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของการศึกษาจะพบว่า การจัดการศึกษาแบบใหม่ให้ทันสมัยนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มุ่งหวังเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกับอารยประเทศตะวันตก เพื่อต้านทานกระแสการล่าอาณานิคม และเพื่อสร้างรัฐชาติขึ้นมาให้เป็นปึกแผ่น และในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จะพบว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกนั้น ตั้งขึ้นเพื่อผลิตข้าราชการไปรับใช้หน่วยงานต่างๆตามวัตถุประสงค์ข้างต้น เป็นการเตรียมกำลังคนให้กับหน่วยงานดังกล่าวให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง ทรงอำนาจ และสำคัญกว่าประชาชน ซึ่งแน่นอนเมื่อพิจารณาจากกรอบของบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไทย จะเห็นว่าภารกิจของมหาวิทยาลัยไทยเมื่อแรกก่อตั้งมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของตนเอง

จากเหตุผลดังกล่าว ระเบียบปฏิบัติในระยะแรกจึงนำเอากฎระเบียบและข้อบังคับของทางราชประยุกต์เข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย โดยไม่ต่างไปจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว รวมกระทั่งถึงอัตราเงินเดือนก็มีขีดขั้นในลักษณะเดียวกัน

ในส่วนของกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการนั้น หากตรวจตราถึงรายละเอียดแล้วจะพบว่า ระเบียบข้อบังคับต่างๆที่ออกมาเป็นกฎนั้น มีนัยะแฝงอันหนึ่งที่เห็นว่า"มนุษย์เกิดมาล้วนเป็นคนเลว หรือเป็นคนบาป ผู้ซึ่งมีบาปของอาดัมติดตัวมาแต่กำเนิด". การณ์ปรากฎเป็นเช่นนี้ก็เพราะ อิทธิพลของแนวคิดย้อนยุคในตะวันตกที่หวนกลับไปสู่กรอบอันเคร่งครัดทางศาสนาคริสต์ในสมัยวิคตอเรีย ซึ่งข้าราชการไทยไปร่ำเรียนมาจากยุโรป ในสมัยที่ยุโรปกำลังพัฒนายุคอุตสหากรรม พร้อมทั้งล่าอาณานิคมออกไปทางประเทศชายขอบทั่วโลก ได้ประยุกต์นำมาใช้

จากฐานคิดความเข้าใจมนุษย์เช่นนี้เอง ซึ่งได้นำมาวางเป็นกฎระเบียบและข้อบังคับภายในมหาวิทยาลัย ทำให้บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยมีแต่การจ้องจับผิดกันเรื่องระเบียบอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารหน่วยงานก็ระวังตัว บุคลากรในหน่วยงานก็ไม่กล้าทำอะไรเกินเลยไปจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ภายใต้บรรยากาศนี้ นักศึกษาคือตัวต่อสุดท้าย ซึ่งจะถูกกดทับมาจากทุกส่วนลงไปจนถึงที่สุด

และผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกฎระเบียบจำนวนมากนี้คือ ทำให้เกิดปัญหาอันไม่คาดคิดเกี่ยวกับภาวะการขาดแคลนผู้นำทางวิชาการ ทำให้มหาวิทยาลัยขาดผู้มีความรู้ความสามารถและความกล้าในการบุกเบิกทางวิชาการ อันเป็นผลเนื่องมาจากข้าราชการส่วนใหญ่มักจะเลือกคนที่ไม่มีภัย ซึ่งรู้จักการประสานประโยชน์ ชอบประนีประนอมขึ้นมาเป็นผู้นำ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษโดยไม่รู้ตัวจากระเบียบข้อบังคับที่หยุมหยิมที่มีอยู่อย่างมากมายนั่นเอง

โดยเหตุนี้ หากยังคงปล่อยให้บรรยากาศเช่นนี้มีอยู่ต่อไปภายในมหาวิทยาลัย ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานในเชิงสร้างสรรค์และการนำทางวิชาการ รวมถึงการบริการสังคม เพราะจะทำให้ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่มีความบีบคั้น ขาดความรัก ความจริงใจ และความเข้าใจต่อกันในบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตร ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข เพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการทำงานในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ เหมาะแก่การนำสังคมและบริการสังคม

1.1 ความสับสนในบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

เป็นที่ทราบกันดีว่า บทบาทหลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัยทั่วไปในสังคมก็คือ บทบาทการนำสังคม และ บทบาทในการบริการและรับใช้สังคม รวมไปถึงการผลิตบัณฑิตเพื่อออกไปนำและสนองตอบต่อสังคมให้มีความเจริญพัฒนายิ่งๆขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม นับจากอดีตเป็นต้นมาดูเหมือนว่า บทบาทในส่วนนี้ไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องมาจาก ความสับสนในบทบาทหน้าที่ขององค์กรมหาวิทยาลัยทั้งระบบ

ในส่วนนี้ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์(นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ได้ให้สัมภาษณ์ผู้วิจัยว่า มหาวิทยาลัยกำลังสับสนในบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งในส่วนขององค์กร, บุคลากร, และนักศึกษา, ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็น"เทวาลัย" หรือเป็น"ตลาด" เพราะเหตุว่า ในด้านหนึ่งนั้นก็มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม ส่วนในอีกด้านหนึ่งกลับมุ่งหารายได้จากตลาดและผู้มีอำนาจซื้อโดยละเลยเรื่องคุณธรรม ดังนั้น งานวิชาการและความรู้ที่ผลิตในมหาวิทยาลัยจึงลักลั่นระหว่าง"ความรู้ที่เป็นสัมมาทิฐิ" และ"ความรู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ"

เมื่อมหาวิทยาลัยสับสนในบทบาทหน้าที่ข้างต้น พร้อมผลพวงที่ตามมา จึงเป็นเหตุให้ภารกิจในการนำสังคมของมหาวิทยาลัยเริ่มถูกปฏิเสธจากสังคมมากขึ้น เช่น การขาดความเชื่อถือในการทำ EIA ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้กับโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงานของภาครัฐ และของเอกชน. การขาดความเชื่อถือในโครงการหลักสูตรพิเศษต่างๆที่สร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ในส่วนของการบริการและรับใช้สังคมในวงกว้างก็จะเห็นได้ชัดว่า ภารกิจด้านนี้ได้ถูกเลือกปฏิบัติกับผู้ที่สามารถตอบแทนหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับทางมหาวิทยาลัยได้เป็นส่วนใหญ่ เช่นภาคราชการ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

นอกจากนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยไม่แน่ใจว่าตนเองเป็น"เทวาลัย"หรือ"ตลาด" ประกอบกับการที่ภาครัฐต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ กลายเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ จึงทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง และสร้างโครงการต่างๆขึ้นมาเพื่อขายให้กับสังคม

โดยเหตุที่ "มหาวิทยาลัยมีจุดแข็งทางด้านวิชาการ" เป็นองค์กรของการสั่งสมและสร้างความรู้ และเป็นที่เชื่อถือดั่ง"เทวาลัย" จึงคิดหาหนทางนำเอาจุดแข็งดังกล่าวมาใช้ในการหารายได้กับ"ตลาด" ด้วยเหตุนี้ จึงจัดให้มีโครงการศึกษาภาคพิเศษ, และหลักสูตรเร่งรัดต่างๆเกิดขึ้นในคณะทั้งหลายเป็นจำนวนมาก. นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพื่อจูงใจผู้มาเรียน(โดยอาศัยค่านิยมของคนไทยที่ยอมรับในสถาบันต่างประเทศ), มีการตั้งหน่วยงานทำวิจัยให้กับภาคราชการและเอกชนในชื่อต่างๆ เพื่อบริการสังคมที่มีอำนาจซื้อ

ส่วนของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในสายอาจารย์เอง มีอาจารย์หลายท่านซึ่งมีพฤติกรรมอย่างเดียวกัน โดยตั้งหน้าตั้งตาสอนพิเศษทั้งภายในสถาบันของตนเองและภายนอกสถาบัน ภายใต้กรอบการบริการสังคมที่เป็นช่องทางเปิดให้ ทำให้ละเลยต่อการค้นคว้าและสร้างผลงานวิจัยอันเป็นภารกิจที่สำคัญของความเป็นนักวิชาการ

ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยยังมุ่งที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาโดยมีภารกิจในการนำและรับใช้สังคมอยู่อีก สิ่งสำคัญดังกล่าวข้างต้น จะต้องนำมาใช้เป็นฐานคิด วิเคราะห์ และหาหนทางแก้ไข มิฉะนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยจะไม่ต่างอะไรไปจากตรายาง และคำรับรองที่นับวันมีแต่จะเสื่อมค่าและปราศจากความน่าเชื่อถือลงไป ในฐานะองค์กรแห่งสติปัญญาของสังคมมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

1.2 ปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร

จากสาเหตุของความสับสนในบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันซึ่งทำหน้าผลิตงานทางวิชาการอันทรงคุณค่า(เทวาลัย) หรือการเป็นแหล่งที่หารายได้(ตลาด) จึงทำให้องค์กรภายในเกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งความขัดแย้งกันนี้แสดงออกมาในสามรูปแบบ คือ

รูปแบบแรก ความขัดแย้งกันในเชิงผลประโยชน์
รูปแบบที่สอง ความขัดแย้งกันทางวิชาการ
รูปแบบที่สาม ความขัดแย้งในเรื่องสำนึก ค่านิยม ปรัชญา และทัศนคติทางการเมือง

รูปแบบแรก : ความขัดแย้งกันในเชิงผลประโยชน์
เกิดขึ้นระหว่าง"องค์กร"กับ"บุคคล" และระหว่าง"บุคคล"กับ"บุคคล". ซึ่งสาเหตุหนึ่ง แน่นอน สืบเนื่องมาจากความสับสนต่อบทบาทข้างต้นดังที่ได้ชี้แจงแล้ว

ในส่วนของคู่ขัดแย้งระหว่าง "องค์กร"กับ"บุคคล" :
ในที่นี้หมายถึง"ผู้บริหาร"กับ"บุคลากร"ในมหาวิทยาลัย. ความขัดแย้งข้างต้นก่อให้เกิดการขาดความร่วมมือซึ่งกันและกัน บั่นทอนประสิทธิภาพ เพราะต่างฝ่ายต่างคิดไปคนละทาง ดังจะเห็นได้จากกรณีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับบรรดาคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นที่ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆในปีที่ผ่านมา ซึ่งต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง. ในส่วนของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอย่างเช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้เรื่องของความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ที่ซ่อนเร้นอยู่ จะยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ตาม แต่เท่าที่ผู้วิจัยสัมผัส เห็นว่าบรรยากาศกำลังกรุ่นๆ กำลังสั่งสมเหตุของความขัดแย้งในเชิงปริมาณอยู่ในทุกๆขณะ

โดยทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยต่างๆ มักจะใช้วิธีการการออกกฎระเบียบและข้อบังคับมาเป็นเครื่องมือ เพื่อปรับทิศทางและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเสมอๆ(โดยไม่ได้คิดถึงวิธีการจูงใจอย่างอื่นๆ) ทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนฐานคิดการทำงานของผู้บริหารที่มุ่งบรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

การเร่งรัดผลงานและการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยวิธีการออกระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ส่วนหนึ่งนั้น จัดเป็นเป็นวิธีการในแบบ"อำนาจนิยม" ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลกับหน่วยงานราชการอื่นๆที่เน้นให้ปฏิบัติตาม ไม่ต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อบรรลุผลที่ตั้งใจของผู้บังคับบัญชาได้อย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อนำมาใช้กับองค์กรและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ การค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาขีดความรู้ความสามารถเพื่อมุ่งสู่การนำทางสังคม เน้นการนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์เพื่อบริการสังคม(ความเป็นเทวาลัย) กลับกลายเป็นความบีบคั้น กดดัน ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศน่าหวาดหวั่น ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในทางตรงข้าม ขาดอิสรภาพและเสรีภาพ และทำลายบรรยากาศของความเป็นกัลยาณมิตรของผู้ร่วมกันแสวงหาความรู้ลงไปอย่างสิ้นเชิง

ผลของการนี้ ย่อมทำให้องค์กรมหาวิทยาลัยอ่อนแอ ขาดความรัก ความสามัคคี และปราศจากความอดกลั้นต่อกันมากขึ้น รอเวลาที่จะระเบิดออกมา จึงทำให้ภาพรวมของมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปขาดประสิทธิภาพ เป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจ และกำลังความคิด-สติปัญญา เพื่อจะพุ่งเป้าไปในทิศทางที่องค์กรทางด้านญานวิทยาแบบมหาวิทยาลัยมุ่งหวัง

แน่นอน เป็นที่ยอมรับว่า ความขัดแย้งภายในองค์กรเป็นเรื่องสุดวิสัย ซึ่งย่อมเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ และมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าการมองอะไรเป็นสาเหตุเพียงประการเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลไกอันนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างองค์กรกับบุคลากร มีบางเรื่องสำคัญกว่าบางเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่เป็นเป็นไปได้มาก เกิดขึ้นมาจากความสับสนในบทบาทหน้าที่ของตัวองค์กรเอง

ในส่วนของคู่ขัดแย้งระหว่าง "บุคคล"กับ"บุคคล" :
ในที่นี้เห็นว่าความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาจาก การมองว่าตนสำคัญกว่าคนอื่น ภาควิชาตนได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า จึงเกิดการอ้างความชอบธรรมเพื่อดูดดึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเป็นของตน หรือภาควิชาตน

สาเหตุของปัญหาข้างต้น อันที่จริงแล้วมาจาก "การแบ่งซอยแยกส่วน"กระบวนวิชา, สาขาวิชา, ภาควิชาต่างๆมากจนเกินไป จนทำให้สังกัดของแต่ละคนแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย งบประมาณจำเป็นต้องจัดสรรตามลงไปจนกระทั่งถึงหน่วยงานที่เล็กที่สุด จึงเกิดการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กันขึ้นภายใน ซึ่งมีผลก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำที่ทำให้ความร่วมมือ ความสมานฉันท์ต่างๆไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในเชิงสร้างสรรค์ได้

รูปแบบที่สอง : ความขัดแย้งเชิงวิชาการ
จะเห็นว่าความขัดแย้งในทางวิชาการนั้น เกิดขึ้นได้ระหว่าง"องค์กร"กับ"บุคคล" และระหว่าง"บุคคล"กับ"บุคคล"เช่นเดียวกัน ซึ่งสาเหตุสำคัญเนื่องมาจาก "การแบ่งซอยแยกส่วนในทางวิชาการ" และ"ความไม่เท่าทันทางวิชาการ"ที่พัฒนารุดหน้าไป

ในส่วนของการแบ่งซอยแยกส่วนทางวิชาการ
ความจริงแล้ว มหาวิทยาลัยคือผลพวงของกระบวนทัศน์แบบกลไกของยุคอุตสาหกรรมนั่นเอง ที่คิดว่า ฟันเฟืองหรือกลไกต่างๆในแต่ละส่วนที่มาประกอบกันอย่างเหมาะสม และโดยแรงกระตุ้นจากแหล่งพลังงาน จะทำให้เครื่องจักรขนาดใหญ่ทำงานได้ และสร้างผลผลิตออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งความคิดเช่นนี้ ในส่วนตัวของผู้วิจัยคิดว่าใช้ได้เพียงกับเครื่องจักรเท่านั้น แต่ไม่อาจใช้ได้กับมนุษย์ซึ่งมีจิตวิญญาน และเป็นสิ่งสร้างซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากเนื้อเยื่อชีวภาพ อันมีความสลับซับซ้อนทางอารมณ์และพฤติกรรมซึ่งยากแก่การควบคุม. ด้วยเหตุนี้ การแบ่งซอยแยกส่วนดังกล่าว จึงทำให้เกิดการฉีกขาดออกจากกัน เกิดความไม่ประสานปรองดอง เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่นับวันไม่ได้ไปปะติดปะต่อกับส่วนใดมากขึ้น, ประกอบกับการซ้อนทับเข้ามาในเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจการต่อรอง จึงทำให้ทุกอย่างไม่สามารถเป็นไปอย่างที่คาดหวังได้ ผลผลิตจึงตกต่ำ การทำงานจึงขาดประสิทธิภาพโดยภาพรวม

ในส่วนของความไม่เท่าทันทางวิชาการ
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และพัฒนาการทางวิชาการซึ่งก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดนิ่ง อาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต้องรู้เท่าทันความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ หากยังต้องการรักษาสถานะความเป็นผู้นำทางปัญญา และธำรงไว้ซึ่งการยอมรับจากสังคม และทำประโยชน์ต่อสังคมที่ซับซ้อนขึ้นอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น จึงต้องขวนขวายหาความรู้มาเพิ่มเติมอยู่ตลอด

แต่อย่างไรก็ตาม มีอาจารย์เป็นจำนวนมากประพฤติตนดั่งเตวิชชะ หรือผู้ได้วิชชา 3, ซึ่งในความเป็นจริงมีลักษณะคล้าย dead wood มากกว่า กล่าวคือเลิกค้นคว้าและเลิกทำวิจัยแล้ว แต่ยังทำการสอนอยู่ และการสอนก็สอนไปวันๆ ไม่ได้มีข้อมูลใหม่หรืองานวิจัยอะไรเพิ่มเติมการเรียนการสอน

นอกจากนี้ยังยึดติดกับตำราเก่าๆ และมีความเชื่อที่พ้นสมัย ขาดการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ ในขณะเดียวกันก็มีอาจารย์อีกกลุ่มหนึ่งกระทำในสิ่งตรงข้าม ดังนั้น เมื่อมีการประชุมทางวิชาการ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น และทำให้เกิดความขัดแย้งทางวิชาการตามมา

นอกจากนี้ ในส่วนของสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ การเติบโตทางวิชาการจากคนละสำนักความคิด หรือลัทธิสไตล์ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันทางวิชาการได้ เพราะต่างได้รับการปลูกฝังทางด้านค่านิยมและความรู้ที่แตกต่างกันมานั่นเอง

รูปแบบที่สาม : ความขัดแย้งในเรื่องสำนึก ค่านิยม ปรัชญา และทัศนคติทางการเมือง
ความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากการมีสำนึก ค่านิยม ปรัชญา และความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้น ซึ่งแน่นอน ต่อกรณีข้างต้นนี้อาจเป็นสาเหตุสุดวิสัยที่จะปรองดองกันได้ก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ มหาวิทยาลัยควรจะเป็นเวทีที่ปัญญาชนเสรีทุกคน ควรมีเสรีภาพที่จะคิด, จะเชื่อ, และยึดถือตามกรอบความคิดของตนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนมีสิทธิ, เสรีภาพ, และความเสมอภาคเหมือนกัน

ในส่วนของมหาวิทยาลัย ควรอย่างยิ่งที่จะธำรงตนเป็นตัวอย่างของสังคมที่จะรักษาพื้นที่ขององค์กรแห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ทดลองในเรื่องของสิทธิ, เสรีภาพ, และความอดกลั้นข้างต้น, ตราบใดที่ความคิด, ความเชื่อ, ทัศนคติ, หรือค่านิยมของตนไม่ได้ไปทำร้ายผู้ใด หรือองค์กรใดที่ตั้งอยู่ในเหตุผล และทำนองคลองธรรม

แต่ถ้ามองในภาพกว้างออกไป หากมหาวิทยาลัยพบว่า บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใดประพฤติผิดจากทำนองคลองธรรม มหาวิทยาลัยควรที่จะต้องแสดง"ความกล้าหาญทางจริยธรรม"เพื่อชี้ให้สังคมเห็นถึงความทุจริต การคิดและการประพฤติมิชอบอันนั้น เพื่อทำให้สังคมได้รับรู้และเท่าทัน และเพื่อว่าสังคมจะได้ระวังตัว ไม่ถูกครอบงำ หรือถูกกระทำในฐานะคนที่ตกเป็นเหยื่อจากความทุจริตคิดและประพฤติมิชอบดังกล่าว

ย้อนกลับมาภายในองค์กรมหาวิทยาลัย จะเห็นว่า เกือบทุกมหาวิทยาลัยจะมีอาจารย์กลุ่มหนึ่งที่มีความสำนึกต่อสังคม ได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม บุคลากรประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีสำนึก ค่านิยม และปรัชญาที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัย และมักจะถูกตั้งข้อสงสัย ซึ่งบางครั้งถึงกับถูกตั้งข้อรังเกียจจากเพื่อนผู้ร่วมงานและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ข้อสงสัยและความรู้สึกรังเกียจดังกล่าวมิเพียงเกิดจากสำนึก ค่านิยม และปรัชญา หรือทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกันเท่านั้น

แต่สาเหตุเป็นเพราะ การขาดความเข้าใจในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างเดียวกัน ขาดการตระหนักในการนำและการรับใช้สังคมในภาพกว้าง(หรือไม่ก็มีการตีความเรื่องดังกล่าวไปกันคนละทาง) ซึ่งเป็นภาระหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย. ทั้งนี้เนื่องมาจากหน่วยงานมหาวิทยาลัยโดยส่วนใหญ่ นับจากเริ่มก่อตั้งขึ้นมาในอดีต ได้ถูกครอบงำโดยโครงสร้างส่วนบนจากระบบราชการ, การเมือง, และกระแสธุรกิจมาโดยลำดับ โดยผ่านช่องทางระบบอุปถัมภ์มาอย่างยาวนานนั่นเอง ดังนั้น จึงยากที่จะหลุดรอดออกจากการถูกครอบและกรอบความคิดที่มางำสติปัญญาได้

ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า ตัวระบบโครงสร้างราชการ โครงสร้างการเมือง และกระแสธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เหมาะสมกระทั่งถือว่าถูกต้อง โดยปราศจากการตั้งคำถามและข้อสงสัย รวมทั้งมองไม่เห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในภาพกว้างของสังคมที่ตกเป็นเหยื่อโครงสร้างเหล่านี้มาเป็นเวลานาน

ต่อกรณีนี้ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักวิชาการท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า "ความจริงแล้วในหมู่ชาวบ้านมิได้รังเกียจนักวิชาการที่ออกไปทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม แต่ชาวบ้านเหล่านั้นปราศจากซึ่งอำนาจ ไม่ได้มีโอกาสสร้างวาทกรรมในทางสังคม จึงไม่อาจมีเสียงสะท้อนของตนออกมาสู่สังคมได้ให้รับรู้ได้ ดังนั้น นักวิชาการจำนวนหนึ่งซึ่งทำงานบริการสังคมในภาคส่วนของประชาชนที่ขัดแย้งกับรัฐ จึงตกเป็นจำเลยของสังคม(โดยเฉพาะสังคมชนชั้นกลางที่ใกล้ชิดกับสื่อ) และดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง ทั้งที่ความจริงความหมายเช่นนั้นควรจะเป็นความหมายที่ถูกทำให้เกิดความภาคภูมิใจ แต่ในโลกของความผกผันเช่นนี้ ทุกสิ่งจึงกลับข้างกันอย่างที่พบเห็น"

จากสาเหตุเหล่านี้ ดังที่ชี้แจงและจากบทสัมภาษณ์ของผู้วิจัย จะเห็นว่า ความคิดความเชื่อดังกล่าวเป็นตัวบั่นทอนความตั้งใจทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งไปอย่างสำคัญ และทำให้สังคมไม่ได้รับบริการจากมหาวิทยาลัย สมกับงบประมาณที่ภาคประชาชนร่วมกันสนับสนุนทั่วทั้งประเทศในรูปของภาษีทางตรงและทางอ้อมที่จ่ายให้กับรัฐ ดังนั้น ปัญหาข้างต้นจึงจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อลดความขัดแย้งนี้ลง อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยภาพรวมในอนาคต

2. สาเหตุของปัญหาโครงสร้างทางวิชาการ

หลักสูตร, การเรียนการสอน, การวิจัย, คุณภาพบัณฑิต, การเปิดโครงการหลักสูตรภาคพิเศษ, ปัญหาคุณภาพบัณฑิตศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาโครงสร้างทางวิชาการทั้งสิ้น

เมื่อมองจากมุมมองในลักษณะปฏิบท ได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า : ทำไมหลักสูตร, การเรียนการสอน, การวิจัย จึงยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ, ด้านการเป็นศูนย์กลางความรู้ทางวิชาการ ซึ่งรวมเรียกว่าเป็น"ปัญหาการนำของมหาวิทยาลัย"

และทำไมคุณภาพบัณฑิต, การเปิดโครงการหลักสูตรภาคพิเศษ, ปัญหาคุณภาพบัณฑิตศึกษา ซึ่งรวมเรียกว่า"ปัญหาการตอบสนองสังคมของมหาวิทยาลัย"จึงยังไม่บรรลุผลตามบทบาทและภารกิจขององค์กรทางวิชาการเหล่านี้

ทั้งโครงสร้างทางวิชาการดังกล่าว(ด้านการนำและการตอบสนองสังคม) การที่มหาวิทยาลัยต่างๆยังไม่สามารถบรรลุความสำเร็จได้ สาเหตุประการสำคัญเป็นเพราะ

2.1 มหาวิทยาลัยได้แยกภารกิจ 4 อย่างออกจากกัน
2.2 ขาดงานวิจัยและองค์ความรู้ที่ลงไปในพื้นที่และการบูรณาการ

2.1 มหาวิทยาลัยได้แยกภารกิจ 4 อย่างออกจากกัน
โดยภาพรวมของสังคมทั่วไปมองมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นองค์กรทางวิชาการและเป็นสติปัญญาด้านการนำทางสังคม จากผลของการวิจัยชิ้นนี้พบว่า มหาวิทยาลัยมีปัญหาบางอย่าง ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ดังที่สังคมวาดหวังเอาไว้หรืออยากเห็น ทั้งนี้เป็นเพราะ มหาวิทยาลัยได้แยกภารกิจ 4 อย่างที่กำหนดขึ้นโดยองค์การ UNESCO ออกจากกันคือ ด้านการสอน, การวิจัย, การบริการชุมชน, และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (นิธิ เอียวศรีวงศ์)

ผลที่ตามมา ทำให้ภารกิจเหล่านี้ได้ตัดขาดออกจากกัน โดยสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นวัตถุพยานนับจาก บางมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งรองอธิการบดีขึ้นมารองรับในแต่ละภารกิจเป็นเรื่องๆไป และนอกจากนี้ยังปรากฎออกมาในรูปของการแยกคณะ, สำนัก, ศูนย์, และภาควิชา, ยิบย่อยแบ่งซอยออกไปอีกเป็นจำนวนมากตามลำดับ

โดยการสอนได้ให้คณะแต่ละคณะเป็นผู้รับผิดชอบ, ส่วนงานวิจัยก็ให้ศูนย์หรือสถาบันที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบ, การบริการชุมชนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมก็เช่นกัน ได้มีการตั้งหน่วยงาน โครงการ และมีการสถาปนาองค์กรใหม่ๆขึ้นมารองรับงานดังกล่าว

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่า การแยกซอยออกเป็นหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เฉพาะเรื่องดังกล่าวจะสามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้และมีประสิทธิภาพเป็นเพราะ การเชื่อในเรื่องความชำนาญเฉพาะด้าน, ความเชื่อในเรื่องผู้เชี่ยวชาญ, และประสิทธิภาพ, ซึ่งความคิดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรไปจากฐานคิดวิธีบริหารจัดการแบบ Mcdonal Management ที่เติบโตขึ้นมาจากระบบคิดหรือกระบวนทัศน์แบบที่เชื่อว่า การทำเช่นนั้นจะทำให้มีประสิทธิภาพ, คาดการณ์และคำนวณผลสัมฤทธิ์ล่วงหน้าได้, และสามารถควบคุมได้โดยเทคนิค ซึ่งในปัจจุบันถูกนำมาใช้ในร้านอาหารประเภท fast food หรือสถานปรับปรุงสุขภาพแบบ fitness โดยทั่วไป
(โปรดดู: โกสุม โอมพรนุวัฒน์, McDonaldization กับร่างกายคนไทย, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ../midfrontpage/newpage10.html)

ดูเหมือนว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นองค์กรที่เข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าองค์กรอื่นใดในสังคม ได้แสดงบทบาทของตนเองออกมาอย่างเด่นชัดในแง่นี้ คือการนำเอากระบวนทัศน์แบบอุตสาหกรรมมาใช้ แต่สิ่งที่น่าเศร้าในเชิงเปรียบเทียบก็คือ คนที่คอยคำนับอยู่หน้าร้าน, คนที่ทอดมันฝรั่ง, คนที่ทำแฮมเบอร์เกอร์, และคนทำหน้าที่รับเงิน, ไม่ได้รู้หน้าที่ของคนอื่นๆเลย. ในทำนองเดียวกัน, แต่ละส่วนราชการในมหาวิทยาลัยที่ฉีกขาดออกจากกันนี้ก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับส่วนหน่วยราชการอื่นๆเช่นกันว่าทำอะไร รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย

2.2 ขาดงานวิจัยและองค์ความรู้ที่ลงไปในพื้นที่และการบูรณาการ
ต่อประเด็นปัญหาในหัวข้อนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวทำนองว่า การเรียนการสอน การวิจัย การบริการชุมชนและสังคม เป็นวงกลมที่หมุนย้อนขึ้นลง กลับไปกลับมา เช่น

"...ประเด็นหัวข้อการวิจัยต้องมาจากสังคมเราเอง แล้วนำผลนั้นไปสอน แล้วย้อนกลับลงมาวิจัย มันเป็นเหมือนวงกลมที่หมุนจากบนลงล่าง แล้วหมุนย้อนกลับขึ้นไปข้างบน เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยไป ถ้ามันย้อนอยู่อย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็จะเริ่มสั่งสมความรู้เพิ่มขึ้นได้..." และสามารถบริการสังคมของตนเองได้อย่างครบถ้วน
(โปรดดู "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท : (ปัญหาและจุดคานงัดมหาวิทยาลัยไทย), ประเวศ วะสี, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ยังกล่าวอีกว่า "ระบบการศึกษาไทยทั้งหมดในร้อยปีเศษที่ผ่านมา ได้สร้างคนไทยที่ไม่รู้จักแผ่นดินไทยขึ้นมาเต็มประเทศไปหมด เพราะเราไม่ได้ศึกษาจากความเป็นจริง แล้วก็ท่องวิชา เราตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศหมด เรียนหนังสือก็เอาหนังสือมาท่องกัน หนังสือก็คนกรุงเทพแต่ง คนกรุงเทพก็ไปลอกฝรั่งต่างประเทศมา ไปแปลเขามาหรืออะไรก็แล้วแต่ เราเรียนกันแบบนั้น เราไม่ได้เรียนรู้จักแผ่นดินไทย เพราะเราเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงเป็นตัวตั้ง"

จากข้อความทั้งสองส่วนประกอบกัน จะเห็นว่า ทั้งงานวิจัย และการสร้างองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ดูเหมือนจะไม่ผิดไปจากที่อาจารย์ประเวศ วะสีกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาสำรวจถึงงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแล้ว ส่วนใหญ่(ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด)เป็นงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ และผู้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่คือภาคราชการ ภาคเอกชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมไปถึงคนป่วยที่มีสตางค์ซึ่งป่วยกันในโรคที่คนส่วนใหญ่ไม่ป่วย. ดังนั้นงานวิจัยและองค์ความรู้ที่สั่งสมขึ้นมาในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จึงยังลงไปไม่ถึงระดับพื้นที่หรือท้องถิ่นโดยตรง

สำหรับในเรื่องนี้ แม้แต่"งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี" ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าผู้วิจัยว่า "งานวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ เรื่องเหล็กที่จะนำมาใช้ทำผานไถ หรืองานวิจัยทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล เรื่องรถอีแต๋น หรือเรือหางยาว จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและการประกอบอาชีพของผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่มันกลับเกิดขึ้นนอกรั้วมหาวิทยาลัย"

จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ของชุมชนสังคมในวงกว้างที่อยู่ติดดินกับภาคเกษตร. แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับพบว่า ภาคราชการ และอุตสาหกรรมได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ (แม้จะไม่มากนักก็ตาม)

ดังนั้นทางออกสำหรับปัญหานี้ การลงไปศึกษาวิจัยในระดับพื้นที่จึงเป็นหนทางที่ควรนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ต่อไปในอนาคตของมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้มีส่วนช่วยให้สังคมในภาพกว้างได้รับประโยชน์จากงานวิจัย ที่เป็นต้นธารของการสั่งสมองค์ความรู้และส่งทอดไปถึงงการให้บริการแก่สังคมโดยภาพกว้าง

ซึ่งจากการกำหนดยุทธศาสตร์เช่นนี้ นักวิจัยเองยังจะได้เรียนรู้ขนบประเพณีของท้องถิ่น และรู้จักคนพื้นบ้านในระดับรากหญ้า เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิชาการกับชุมชนสังคม เป็นการเรียนรู้และได้ประโยชน์จากกันทั้งสองฝ่าย และนอกจากนี้ ยังทำให้นักวิจัยมองศาสตร์ของตนเองในลักษณะบูรณาการมากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยให้นักวิชาการเห็นถึงปัญหาสังคมที่มีอยู่มากมายรายรอบรั้วมหาวิทยาลัย บรรดานักวิจัยทั้งหลายไม่ว่าจะในส่วนของวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ จะมองสังคมด้วยสายตาที่กว้างขวาง และคิดถึงสิ่งต่างๆได้สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่สำคัญของปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น หากเรามาวิเคราะห์เพื่อค้นหาสาเหตุของการที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำเช่นนี้ได้มานับแต่อดีต จะพบว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดขึ้นมาจากปัญหาอย่างเดียวกับที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วคือ การที่มหาวิทยาลัยได้ถูกครอบงำโดยระบบอุปถัมภ์มาโดยตลอดจากโครงสร้างส่วนบน ที่โถมทับลงมาเป็นช่วงๆ นับจากระบบราชการ, การเมือง, และกระแสทุนนิยมตามลำดับ จนทำให้มองว่าการทำงานเพื่อสนองตอบต่อหน่วยงานราชการบางหน่วยที่มีโครงการขนาดดมหึมา และนักธุรกิจภาคเอกชนผู้เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นการทำประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมแล้ว ซึ่งในข้อเท็จจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

เพราะคนที่ยังต้องการใช้บริการและต้องการประโยชน์จากมหาวิทยาลัยในส่วนอื่นๆโดยภาพรวมยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ต้องการปุ๋ยราคาถูก ต้องการที่ทำกินของตนเอง ต้องการพัฒนาสมุนไพร ต้องการความรู้ในการประกอบอาชีพเสริม หรือต้องการปกปักษ์รักษาและได้คืนทรัพยากรที่ถูกปล้นชิงไป ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้กลับถูกละเลย ไม่เคยมีการทำวิจัย หรือสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาให้กับชาวบ้านที่จะนำมาใช้ในการพิทักษ์ รักษา หรือปกป้องชุมชนของตนเอง ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยมองไม่เห็นความเดือดร้อนของผู้คนเหล่านั้น เนื่องจากถูกปิดตาและอยู่ภายใต้ร่มเงาของระบบอุปถัมภ์ที่เปลี่ยนมือกันมาเรื่อยๆจนมาอยู่ในห้วงหัตถ์ของการแสทุนเช่นในทุกวันนี้

ทางออกต่อประเด็นนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยต้องหลุดออกไปจากระบบอุปถัมภ์ที่มาปิดตานั้น แล้วใช้สังคมเป็นตัวตั้ง เพื่อมองภาพให้กว้างออกไปจึงจะสร้างงานวิชาการ และใช้ผลงานเหล่านั้นตอบสนองต่อสังคมได้

ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยกล่าวเอาไว้ในที่อื่นว่า "เวลาเราจะทำอะไรกันก็แล้วแต่ ควรจะเอาเรื่องสังคมเป็นตัวตั้ง เพราะสังคมคือเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์, ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม... ถ้าเราไม่เอาสังคมเป็นตัวตั้ง เอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง มันจะไขว่เขวไปทางอื่น..."

กล่าวโดยสรุปในที่นี้ก็คือ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยยังไม่รู้จักชุมชน และอันที่จริงขาดความเป็นไทในตัวเองด้วย ไม่มีงานวิจัยที่ลงไปในพื้นที่โดยภาพกว้าง ไม่มีการสั่งสมความรู้ในลักษณะเดียวกันนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะมหาวิทยาลัยถูกครอบงำและการอุปถัมภ์โดยโครงสร้างส่วนบนเป็นหลัก ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมากระทำชำเรากับองค์กรการศึกษาแห่งนี้ มหาวิทยาลัยจึงมองการรับใช้สังคมที่ตนทำอยู่ในช่องแคบๆ ไม่ได้มองเห็นความเดือดร้อนของทั้งสังคมที่ต้องการใช้บริการทางด้านความรู้จากมหาวิทยาลัย.

สำหรับทางออกในส่วนนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยต้องมองสังคมทั้งสังคมเป็นตัวตั้ง และทำในสิ่งที่กว้างกว่าที่เคยทำมาโดยตลอด

3 สาเหตุของปัญหาการบริการสังคม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นต้นตอการศึกษาที่พัฒนามาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา มีภัยที่คุกคามประเทศอยู่ในเวลานั้นคือภัยจากการล่าอาณานิคม และความต้องการรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ดังนั้นการศึกษาที่เกิดขึ้นมาในเวลานั้น จึงพยายามจัดการศึกษาขึ้นมาแบบประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เพื่อยืนยันถึงความศิวิไลซ์ของตัวเอง และคิดว่าจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือกับการต่อสู้กับลัทธิล่าเมืองขึ้น ซึ่งในเวลาเดียวกันก็ต้องการที่จะรวมประเทศให้เป็นรัฐชาติ
(พระไพศาล วิสาโล : มหาวิทยาลัยภายใต้กระแสทุนนิยม, ปาฐกถามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

จะเห็นว่า การศึกษาไทยแบบใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นจนกระทั่งถึงการสถาปนามหาวิทยาลัยในสมัยนั้น มีภารกิจหลักในการเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองความจริงหรือความต้องการของยุคสมัย และนับแต่นั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยก็ลอยอยู่ในระดับดังกล่าวอยู่เกือบตลอดเวลา แทบไม่เคยลงมาสัมผัสถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้คนในท้องถิ่นโดยภาพกว้างแต่อย่างใด

โดยการนี้ มหาวิทยาลัยจึงมุ่งพัฒนาวิชาการให้ก้าวทันสมัยอยู่เสมอ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วไป ความเป็นเช่นนี้มิใช่ข้อดีทีเดียวนัก ซ้ำยังกลับเป็นข้อบกพร่อง ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อบกพร่องเพียงประการเดียวที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ เนื่องเพราะว่าเมื่อถามถึง"มหาวิทยาลัยได้ตอบสนองความจริงในระดับพื้นฐานหรือไม่" ซึ่งในที่นี้หมายถึง "ธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตและโลกที่เราอยู่ ที่ทำให้เกิดความเป็นไทแก่ชีวิต ทั้งในระดับจิตวิญญาน กายภาพ และสังคม(พระไพศาล วิสาโล), ตอบได้ว่ายังไม่เคยบรรลุถึงความต้องการในระดับนั้นเลยแม่แต่นิดเดียว. โดยเหตุนี้ ผู้คนยังคงปราศจากความสุข ไม่มีสันติ ไม่มีความเป็นไท และรูปธรรมที่ปรากฎแก่สังคม ประชาชนส่วนใหญ่จึงยังคงยากจนอยู่เช่นเดิม ทั้งทางวัตถุ และจิตใจ

ในส่วนของข้อ 3 นี้ เราจะได้มาสำรวจถึงสาเหตุของปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการที่ ทำไมมหาวิทยาลัยจึงไม่ประสบผลสำเร็จในด้านการบริการสังคม ซึ่งในที่นี้มองเห็นปัญหาหลักๆอยู่ 3 ประเด็นคือ

3.1 มหาวิทยาลัยขาดความรู้ ความเข้าใจ และการบริการชุมชน
3.2 ปัญหาของการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม
3.3 ปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษาในฐานะผลผลิตของสถาบัน

3.1 มหาวิทยาลัยขาดความรู้ ความเข้าใจ และการบริการชุมชน
เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนมีหลายมิติ ชุมชนที่กล่าวถึงนี้ เริ่มตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไล่เรียงขึ้นไปถึงชนชั้นกลาง จนกระทั่งถึงสังคมของชนชั้นสูง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไม่ว่าตัวองค์กรเองหรือบุคลากรส่วนใหญ่ มีความรู้จักมักคุ้นกับชุมชนระดับกลางขึ้นไปที่อยู่ในเขตเมือง และรอบชานเมือง ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนน้อยในสังคมไทยที่อยู่ในภาคราชการ, ภาคอุตสาหกรรม, ภาคธุรกิจ, และภาคบริการ.

ในภาคส่วนของชุมชนระดับรากหญ้าที่เป็นชนชั้นล่างที่มีอยู่จำนวนมาก มหาวิทยาลัยในฐานะองค์กรของรัฐได้ให้ความสำคัญกับในภาคส่วนนี้น้อย หรือไม่ได้ให้ความสนใจเลย โดยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงไม่เคยรู้ถึงปัญหาและความเดือดร้อน รวมกระทั่งถึงความต้องการรับการบริการจากคนส่วนข้างล่างนี้จากมหาวิทยาลัยเลย

คำถามตั้งต้นที่ตรงประเด็นก็คือ ทำไมมหาวิทยาลัยจึงขาดความรู้ความเข้าใจชุมชน คำตอบง่ายๆก็คือ มหาวิทยาลัยไม่เคยลงไปคลุกกับชุมชนท้องถิ่นตนนั่นเอง เมื่อไม่ได้ลงไปคลุกเพื่อทำความเข้าใจปัญหาของชุมชน จึงไม่สามารถบริการสังคมหรือแก้ปัญหาสังคมของตนได้อย่างตรงจุด คำถามต่อมาคือ ทำไมมหาวิทยาลัยจึงไม่เคยลงไปคลุกกับชุมชน คำตอบก็คือ มหาวิทยาลัยถูกครอบงำและถูกอุปถัมภ์โดยผู้มีอำนาจทั้งในด้านผลประโยชน์ และการปรนเปรอด้วยเกียรติยศมาโดยตลอด นับจากระบบราชการ, นักการเมือง, และนักธุรกิจภายใต้กระแสทุน

อีกประการหนึ่งนอกจากสาเหตุอันเนื่องมาจากข้อชี้แจงข้างต้นแล้ว คนจนหรือคนชายขอบส่วนใหญ่ไม่มีผลประโยชน์อะไรตอบแทนให้กับมหาวิทยาลัยโดยตรง ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มหาวิทยาลัยเองปัจจุบัน สับสนในบทบาทของตนเองในฐานะที่เป็น"เทวาลัย"หรือ"ตลาด" ในส่วนของการเป็น"เทวาลัย" มหาวิทยาลัยต้อง"ให้"อย่างเสมอหน้า แต่สำหรับความเป็น"ตลาด"แล้ว สำนึกของการให้ไม่มีอยู่ในสารบบการค้าแบบทุนนิยม มหาวิทยาลัยเพียงขายให้กับผู้มีกำลังซื้อเท่านั้น ตลาดจึงมีสินค้าเอา"ไว้ขาย"ไม่ใช้"ให้ทาน" คนจน คนชายขอบ คนในระดับรากหญ้าที่ไหนเล่า จะจ่ายให้กับความรู้ที่มหาวิทยาลัยผลิตได้ ดังนั้น พวกเขาจึงอยู่นอกขอบรั้วของตลาดหรือเทวาลัย จึงไม่ได้รับส่วนแบ่งจากผลพวงทางสติปัญญาที่มหาวิทยาลัยมีอยู่และผลิตได้

3.2 ปัญหาของการไม่มีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม
ก.ปัญหาการมีส่วนร่วมในทางการศึกษาของชุมชน
สังคมไทยปัจจุบันมีพลวัตสูงมากตามกระแสโลก แม้แต่"รัฐธรรมนูญ" ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการเรียกร้องของภาคประชาชนให้มีการปรับปรุงให้สมสมัย ทั้งนี้เป็นเพราะผู้คนส่วนล่างเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนามาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ประชาชนคนยากจนเหล่านี้ต้องทนทุกข์กับการพัฒนาที่ดูดดึงเอาทุนทรัพยากรของพวกเขาไปจนเกือบจะหมดสิ้น กระทั่งแทบจะไม่มีที่ยืนอยู่ในสังคม ซึ่งไม่จำต้องพูดถึงการมีที่ทำกินเพียงพอหรือไม่ ต่อการขยายตัวของครอบครัวของพวกเขา จนบางครั้งต้องอพยพเพื่อเข้าไปหางานชั้นต่ำทำในเมือง บ้างก็ต้องไปเก็บขยะ

ด้วยเหตุที่การพัฒนาที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม บางภาคส่วนของสังคมได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอันนั้น ส่วนที่เหลือคือผู้ที่ไม่ถูกเลือก ดังนั้นในยุค"หลังสมัยใหม่" หรือ"หลังพัฒนาอุตสาหกรรม" ทุนธรรมชาติและฐานทรัพยากรจึงตกไปอยู่ในมือของนายทุนขนาดใหญ่ และขนาดกลางตามลำดับ และกำลังร่อยหรอลงอยู่ตลอด คนจนจึงเหลือที่ทางซึ่งเป็นทางเลือกของตัวเองอยู่ไม่มากนัก และหนทางที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานทุนของตัวได้ก็คือ การเรียกร้องเข้ามามีสิทธิ์มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจต่างๆร่วมกับโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อต้องการปรับความสมดุล และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

พูดง่ายๆก็คือ ก่อนหน้านี้เวทีการต่อรองการใช้ฐานทรัพยากรหรือฐานทุนธรรมชาติ ไม่มีคนจนอยู่บนเวทีแห่งนั้น. การต่อรองกันเป็นเรื่องของชนชั้นนำและนักธุรกิจ รวมไปถึงนักการเมืองที่ล้วนทรงอำนาจ. มีการสร้างคำอธิบายที่ตราขึ้นเป็นกฎหมายโดยรัฐในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพยากรทั้งมวลของประเทศ ซึ่งคำอธิบายที่มีอำนาจทางกฎหมายค้ำยันดังกล่าวมีพลังครอบงำ และสะกดให้คนจำนวนมากในเมืองและคนจนในเขตรอบนอกยอมรับและเชื่อถือ

แต่นับวันคำอธิบายและกฎหมายเหล่านี้กลับมาทำร้ายผู้คนเป็นจำนวนมากที่อยู่กินกับฐานทุนธรรมชาติ ทรัพยากรรายรอบชีวิตความเป็นอยู่ในชนบทของผู้คนเหล่านี้ถูกแย่งชิงไป. ดังนั้น โดยพื้นฐานปัญหาดังกล่าว จึงนำมาสู่การคิดหาทางออกและหนทางแก้ไข ซึ่งก็คือการขอเข้าไปมีส่วนร่วมบนเวทีการต่อรองร่วมกับกลุ่มพลังอื่นๆ เพื่อทวงถามสิทธิที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเท่าเทียม เสมอหน้ากับภาคส่วนอื่นๆของสังคม

สำนึกการมีส่วนร่วมนี้ได้แพร่ขยายไปกับสิ่งซึ่งไปพัวพันเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนในเกือบทุกด้าน นับจากเรื่องของปากท้องไปจนกระทั่งถึงศิลปวัฒนธรรม รวมกระทั่งถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษา. เพราะเท่าที่ผ่านมา การศึกษาได้ละเลยพวกเขาเอาไว้ ณ ชายขอบของผู้ได้รับประโยชน์ อีกทั้งความรู้ที่ผลิตขึ้นมาและลูกหลานของพวกเขาได้เข้าไปร่ำเรียน กลับจบออกมาโดยมีสำนึกไปในทางตรงข้าม หลายคนไม่อาจจะหวนคืนกลับสู่ชนบทได้ "ดุจนกน้อยที่บินจากรัง"ดังที่ พ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา(ผู้นำชาวกระเหรี่ยง ในจังหวัดเชียงใหม่)เคยพูดเอาไว้, เพราะความรู้ที่ไปรับเอามา ส่งเสริมให้ไปเป็นลูกจ้างราชการ หรือเอกชนในเมือง ไม่เช่นนั้นก็ทำงานภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

แม้แต่ความรู้ในด้านเกษตรกรรมที่ไปเล่าเรียนมาก็ตาม ก็ต่างไปจากเกษตรกรรมชุมชนภายใต้กรอบของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกษตรกรรมที่สอนกันในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นการไปเพิ่มผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังปลูกฝังค่านิยมชนชั้นกลางขึ้น ซึ่งปฏิเสธชุมชนและสังคม, เน้นเรื่องความเป็นปัจเจก, มีทัศนะที่บ่งนัยถึงการดูถูกคนจน รังเกียจวิถีชีวิตชาวไร่ชาวนาในทำนองเป็นคนบ้านนอกคอกนาหูตาพร่ามัว และยังโยงไปถึงการปฏิเสธค่านิยมและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆด้วย ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ จึงนำมาสู่ความจำเป็นที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางด้านการศึกษา ซึ่งถึงแม้ว่าความคิดในลักษณะนี้ยังไม่ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ปัญญาชนและนักวิชาการส่วนหนึ่งได้เริ่มตระหนักแล้วว่า การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรมีสิทธิ์เข้าไปมีส่วนร่วมในตัดสินใจเชิงนโยบายทางการศึกษา โดยมีตัวแทนของตนคอยทำหน้าที่นี้ให้กับชุมชน

สำหรับประเด็นนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความเห็นว่า "การมีส่วนร่วมของชาวบ้านกับมหาวิทยาลัยในระดับนโยบาย ไม่อยากให้มีแต่เพียงที่นั่งในสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะมีการล็อคคะแนนเสียงกันได้. แต่ถ้ามี, คนที่จะไปนั่งเป็นตัวแทนชาวบ้านควรจะเป็นผู้นำชาวบ้าน หรือผู้ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จกับชาวบ้านมาแล้ว... ที่สำคัญคือ participation น่าจะหมายถึงอะไรที่มากกว่าที่นั่งในสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมันจะไม่ต่างอะไรกับสภาผู้แทนราษฎร แต่น่าจะหมายถึงว่า ทำอย่างไรที่จะให้นโยบายของมหาวิทยาลัยถูกนำออกมา discuss ในวงกว้างมากขึ้น และสังคมมีโอกาส input เรื่องต่างๆเข้ามาในมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ แต่มหาวิทยาลัยเองกลับขยับตัวต่อเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งนี้เป็นเพราะมหาวิทยาลัย ยังมองว่าตนคือสถาบันทางการศึกษาอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทวสถานที่เต็มไปด้วยความรู้ที่ชุมชนและสังคมยังไม่มีความเข้าใจ ดังนั้นช่องทางการมีส่วนร่วมนี้จึงยังไม่เปิดให้กับสังคมส่วนใหญ่ แต่กลับเปิดให้กับนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง ทั้งนี้โดยเล็งเห็นว่าบุคคลเหล่านี้จะมีส่วนให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณหรือผลประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยได้นั่นเอง(ชยันต์ วรรธนะภูติ)

เมื่อมหาวิทยาลัยมองเห็นการมีส่วนร่วมเพียงเพื่อประโยชน์เท่านี้ คนจนจึงหมดโอกาสเข้าไปใช้เวทีดังกล่าวเพื่อบอกถึงความต้องการของตนเอง เพื่อกำหนดเป็นนโยบายทางการศึกษาขึ้นมา และเพื่อให้การศึกษาเป็นประโยชน์ครอบคลุมมาถึงพวกตนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

ข. การเรียกร้องการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชาการ
อีกประเด็นหนึ่งที่ก้าวหน้ามาอีกขั้นหนึ่งก็คือ"การเรียกร้องการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชาการ" สำหรับเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลังจาก"งานวิจัยไทบ้าน"ซึ่งว่าด้วยการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลโดยสมัชชาคนจน ได้รับรางวัลชนะเลิศงานวิจัยโดยชุมชน ในการประชุมทางวิชาการหัวข้อ "สร้างงานวิจัยสร้างกำไรสู่สุขภาพสังคม" ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) (โปรดดูหลักฐาน CD-ROM ชื่อเดียวกันนี้) และยังได้รับรางวัลจากอีกหลายองค์กร รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย (โปรดดู บทความลำดับที่ 228 "คำสดุดดีงานวิจัยไทบ้าน" โดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 21 ธันวาคม 2545) แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจนำงานวิจัยดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูลแต่อย่างใด

โดยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงเรียกร้องเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในเชิงวิชาการ โดยเรียกหาเสรีภาพที่จะสร้างผลงานทางวิชาการโดยปลอดจากการแทรกแซง และเพื่อเข้ามีส่วนร่วมปันในอำนาจทางวิชาการนี้ด้วย ซึ่งสมัชชาคนจนได้ตั้งคำถามว่า "เสรีภาพทางวิชาการ เป็นเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย" คำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่น่านำมาพิจารณาอย่างยิ่ง ในส่วนสุดท้ายของปัญหาในประเด็นของการมีส่วนร่วมนี้ (ประมวล เพ็งจันทร์)

เกี่ยวกับเรื่องข้างต้น ดร.ประมวล เพ็งจันทร์(นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "เพราะในอดีตที่เราทำให้เสรีภาพทางวิชาการ หมายถึงเสรีภาพของคนๆหนึ่งในมหาวิทยาลัย มันไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าคุณคิดว่าคุณมีเสรีภาพเป็นปัจเจก. แต่ถ้าบอกว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นเสรีภาพของประชาชนในสังคมที่จะได้แสวงหาความรู้ และเทียบเคียงชุดคำตอบอย่างอิสระต่างๆ อันนี้มีความหมายมาก"

สำหรับต้นสายปลายเหตุของการเรียกร้องการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชาการนั้น โดยนัยะเป็นการบ่งบอกถึงว่าชาวบ้านพร้อมประกาศตน"ไม่ใช่คนโง่อีกต่อไป" หลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้วาทกรรม"โง่ จน เจ็บ"มาเป็นเวลานาน เมื่อ"โง่"จึง"ไร้อำนาจทางวิชาการ" เมื่อปราศจาก"อำนาจทางวิชาการ"จึง"ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการเสนอความคิดเห็น" เพื่อนำไปสู่ฐานคิด วิเคราะห์ ในกระบวนการตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่สำคัญ อันจะย้อนกลับมาสู่การถูกริบเอาฐานทรัพยากรของชุมชนไปจากอ้อมกอดของพวกเขา

ดังนั้น การประกาศถึงการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชาการ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการมีอัตลักษณ์ในการเป็นผู้มีความรู้ ซึ่งร่วมอยู่ในเครือข่ายทางวิชาการของสังคม และพร้อมที่จะแสวงหาความรู้มาใช้เป็นฐานทางวิชาการให้กับตนเอง เพื่อมีอำนาจขึ้น และเพื่อเป็นทนายแก้ต่างให้กับสถานภาพของตนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของภาครัฐและเอกชนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

แน่นอน โดยภาพนี้หากเป็นจริงขึ้นมาได้ในอนาคต ย่อมทำให้สังคมมีสุขภาวะที่ดีขึ้นโดยรวม ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งที่สังคมยอมเปิดให้ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นเวลาช้านาน ได้มีที่ทางของตนเองเพื่อลุกขึ้นมาทวงถามถึงสิทธิของตนและชุมชนในฐานะเจ้าของทุนธรรมชาติ เจ้าของทรัพยากรและวิถีชีวิต ซึ่งได้ถูกยื้อแย่งยื้อเอาไป โดยการครอบงำทางความคิดและสร้างวาทกรรมขึ้นมากดทับ เสมือนเป็นโศกนาฏกรรมโบราณที่ภายในเต็มไปด้วยความอยุติธรรม และปราศจากความเสมอภาค ดังนั้นการเรียกร้องในประการหลังนี้ จึงถือเป็น"มิติใหม่ของคำประกาศถึงความไทจากความโง่เขลา"ที่ถูกยัดเยียดมาจากผู้อื่นที่ต้องการประโยชน์จากชุมชน

3.3 ปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษาในฐานะผลผลิตของสถาบัน
ในหัวข้อนี้เราจะมาพิจารณากันถึงปัญหาต่างๆซึ่งพัวพันถึงนักศึกษา ซึ่งจะให้ภาพกว้างเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวเนื่องถึงปัญหาก่อน ว่ามีปัญหาในด้านใดบ้าง และหลังจากนั้นจะมาค้นถึงสาเหตุของปัญหาเหล่านั้นว่ามีต้นตอเกิดขึ้นมาจากอะไรโดยลำดับ ซึ่งในที่นี้ได้แบ่งปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษาออกเป็น 3 ข้อย่อยคือ

ข้อแรก เป็นเรื่องของ"ค่านิยมที่ติดตัวมากับนักศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย"
ข้อที่สอง"มหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมนักศึกษาให้เป็นผู้รอบรู้และมีจินตนาการ" และ
ข้อที่สาม"มหาวิทยาลัยผลิตความรู้ให้กับนักศึกษาเป็นคนๆ"

ข้อแรก. ค่านิยมที่ติดตัวมากับนักศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
การปลูกฝังค่านิยมให้นักเรียนมุ่งหน้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย มิใช่ค่านิยมลอยๆที่ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ในสมัยที่นักเรียนทั้งหลายได้รับการบ่มเพาะสิ่งดังกล่าวมาจากโรงเรียนมัธยมปลาย. ความจริงแล้ว การมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายของการขยับสถานะทางสังคม และเศรษฐกิจ รวมกระทั่งถึงความภาคภูมิใจในการมีชัยชนะเหนือผู้อื่น เพราะมหาวิทยาลัยทำตัวเป็นสัญลักษณ์เช่นนั้นมาโดยตลอด

นอกจากนี้ สื่อต่างๆยังปลูกฝังค่านิยมให้ทุกคนมุ่งความสำเร็จในชีวิตในฐานะปัจเจกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้แต่ละคนมุ่งความสำเร็จเฉพาะตัว โดยมีสำนึกต่อสังคมน้อยมาก พ่อแม่ผู้ปกครองเองส่วนใหญ่ก็มองลูกๆด้วยสายตาห่วงใย เกรงว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ และจะไม่มีงานดีๆทำ รวมไปจนถึงสังคมก็มีความเข้าใจเช่นเดียวกันนั้นด้วย

เกือบจะพูดได้ว่า สังคมทั่วไปที่ผ่านมาไม่เคยมีคำถามเลยว่า ทำไมนักเรียนจึงจะต้องมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัย? เพราะคำตอบต่างอยู่ในค่านิยมพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว และตัวอย่างก็มีแล้ว ซึ่งได้เห็นว่าผู้ที่จบมาจากมหาวิทยาลัย ล้วนมีงานทำ. แต่เมื่อเวลาผ่านมา ภาพเก่าๆเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป แม้ว่าจะยังไม่ทำให้กระบวนการเช่นนี้สดุดลงก็ตาม

ทั้งหมดที่กล่าว เป็นภาพของความมุ่งหวังสู่ความสำเร็จในฐานะปัจเจกทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีภาพของสังคมเลยที่ผุดขึ้นมาได้รับประโยชน์จากการที่นักศึกษาคนหนึ่งจบจากสถาบันอุดมศึกษา และสังคมเองก็ไม่เคยสงสัยไต่ถามถึงสิ่งที่เป็นอยู่ว่าถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร? เพราะทั่วทั้งสังคมต่างคิดมุ่งความสำเร็จเฉพาะตัวในอย่างเดียวกัน. คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

อาจกล่าวได้ว่า สังคมที่คิดเช่นนั้น หากมองผ่านสายตาของนักสังคมวิทยาอย่าง Weber สังคมเหล่านี้ล้วนคือลูกหลานของแนวคิด Calvinism ที่เชื่อว่า การทำงานหนัก ความประหยัด และความมีประสิทธิภาพในอาชีพการงาน เป็นเครื่องหมายที่เชื่อว่าเขาเป็นคนๆหนึ่งที่ถูกเลือก, หรือให้พบทางรอดชั่วนิรันดร์ (in sociological theory, the value attached to hard work, thrift, and efficiency in one's worldly calling, which, especially in the Calvinist view, were deemed signs of an individual's election, or eternal salvation. [โปรดดูหัวข้อ The Protestant Ethic หรือใน Encyclopedia Britannica 97 ฉบับ CR-ROM) ซึ่ง Max Weber ผู้เขียน The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism (1904-05) เชื่อว่า, จริยธรรมโปรเตสแตนต์เช่นนี้เป็นต้นตอที่มาของทุนนิยมในปัจจุบัน ผสมกับแนวคิดแบบ Darwinian ที่เชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของผู้(ที่แข็งแกร่งกว่า)ที่ปรับตัวได้อย่างเหมาะสมจึงจะเป็นผู้อยู่รอด

แนวคิดเหล่านี้เป็นรากฐานของทุนนิยมที่เน้นการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของปัจเจก ไม่ใช่ของชุมชน, และนอกจากนี้ ทุนนิยมยังไม่มีกฎเกณฑ์ของขีดขั้นความเพียงพอของการบริโภคและการเป็นเจ้าของทุนด้วย. ความคิดเหล่านี้ แน่นอน ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไร้สาเหตุ อันที่จริงได้มาพร้อมกับฝรั่งที่ซึ่งเข้ามายังเอเชีย และบ่มเพาะจนกลายเป็นค่านิยมผลพวงให้กับสังคมไทยเมื่อเวลาผ่านมาราวสองร้อยปี

การที่นักศึกษาคนหนึ่งเรียนอย่างหนัก(ทำงานหนัก) ไม่เที่ยวเตร่(มัธยัสถ์) และเข้าใจสิ่งที่ครูสอน(มีประสิทธิภาพ) เป็นเครื่องหมายว่าเขาจะเข้ามหาวิทยาลัยได้(พบทางรอดและถูกเลือก) ดังนั้น เมื่อเขาจบมาและสำเร็จได้ถึงขั้นนี้ก็เพราะ ผลของการทุ่มเทและลงแรงไปทั้งหมดอย่างหนักของเขาเอง ดังนั้นเขาจึงควรเป็นเจ้าของในความสำเร็จหรือทรัพย์สินที่ได้มานั้นแต่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคม

สมการเช่นนี้ สังคมทั้งสังคมก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นถ้าตนได้กระทำอย่างมุ่งมั่นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ค่านิยมดังกล่าวที่มุ่งความสำเร็จของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ผิดฝาผิดตัวอะไร

แต่ที่สำคัญก็คือ สมการชุดนี้เป็นเพียงภาพของการลงทุนส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้รวมทุนของสังคม ซึ่งได้ทุ่มเทเอาไว้จนเป็นสถาบันทางวิชาการขึ้นมาไว้ด้วย ทุนที่สังคมเตรียมให้นี้มาจากภาษีของทุกภาคส่วนของสังคมที่ร่วมลงทุน เพื่อหวังว่าผลผลิตของสถาบันอุดมศึกษาจะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้สังคมฉลาดขึ้น แก้ปัญหาได้

นอกจากนี้สมการข้างต้นยังใช้ได้กับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือหรือไม่จำกัด แต่ที่น่าเศร้าคือทรัพยากรบนโลกใบนี้มีอยู่อย่างจำกัด และถ้าเผื่อเราต้องการบริโภคอย่างที่เราปรารถนาแล้วละก็ มันจะพอเพียงสำหรับทุกคนได้อย่างไร ดังมีผู้ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าทุกคนบนโลกยึดถือ American Standard เราต้องมีโลกซึ่งมีทรัพยากรอย่างเดียวกันนี้อีก 4 ใบ จึงจะพอต่อ"มาตรฐานอเมริกัน"

ที่สำคัญยิ่งก็คือ มหาวิทยาลัยเองซึ่งเป็นสถาบันแห่งญานวิทยาหรือความรู้ ต่างก็ตกอยู่ในค่านิยมและกำลังสับสนกับบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็น"เทวาลัย"หรือ"ตลาด" จึงไม่อาจมีสติปัญญามากพอที่จะต่อต้านหรือคัดค้านค่านิยมดังกล่าว ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ มหาวิทยาลัยก็ตั้งหน้าตั้งตาหารายได้เช่นเดียวกัน เพื่อความอยู่รอดและจะได้ถูกเลือกจากสังคมเช่นกัน ค่านิยมเช่นนี้จึงวนเวียนอยู่ทั่วไปในสังคม โดยไม่มีใครระวังตัว

หากจะมีใครสักคนตั้งข้อสงสัยขึ้นมา เขาผู้นั้นก็จะไม่ต่างอะไรไปจากคนหลังตรง ที่เข้าไปในเมืองของคนหลังค่อม และคนหลังตรงผู้นั้นจะเป็นคนแปลกหน้าในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนหลังค่อม ซึ่งพร้อมจะสวดอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าให้เมตตาต่อคนหลังตรงนั้น เพื่อว่าจะช่วยให้คนหลังตรงมีชีวิตคืนกลับมาสู่ความเป็นปกติ. (โปรดดูเปรียบเทียบ เรื่อง "การวิพากษ์วัฒนธรรมมวลชน ของ นิทเช่ : Nietzsche's Critique of Mass Culture เขียนโดย Douglas Kellner - เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม,)

ข้อที่สอง. ปัญหาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมนักศึกษาให้รอบรู้และมีจินตนาการ
เมื่อมหาวิทยาลัยเองก็ตกอยู่ในท่ามกลางค่านิยมข้างต้น ทำให้เกิดความสับสนในบทบาทระหว่างความเป็น"เทวาลัย"หรือ"ตลาด" ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถทำหน้าที่สถาบันทางญานวิทยาได้ และไม่อาจที่จะดำรงอัตลักษณ์การใฝ่รู้และการเป็นสถาบันนำทางวิชาการได้อีกต่อไปหากไม่เร่งแก้ไข ดังนั้นสภาพของมหาวิทยาลัยจึงมีนัยะคล้ายใกล้จะล้มละลาย เนื่องจากขาดความเชื่อถือในภาคส่วนของประชาชนทั่วไปในวงกว้างมากขึ้นๆเรื่อยๆ

นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้นักศึกษาขาดความรอบรู้ เป็นเพราะมหาวิทยาลัยเองได้มีการแบ่งซอยแยกส่วนวิชาการมากจนเกินไป มีการแบ่งสาขาวิชา และภาควิชาออกไปเป็นจำนวนมาก เหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวคิดจักรกลดังที่ชี้แจงไปแล้ว, ซึ่งจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สำหรับการแยกย่อยออกไปดังกล่าว ทำให้นักศึกษามีความรู้เฉพาะทาง และมีความสามารถโดดๆ(single tasking system) ที่ไม่ต่างอะไรไปจากเครื่องมือที่ผลิตโดยขบวนการทางด้านอุตสาหกรรม เช่นเครื่องตัดหญ้า

เครื่องตัดหญ้าจะเอาไปตัดกิ่งไม้ก็ไม่ได้ จะเอาไปปลอกมะพร้าวก็ไม่ได้ จะเอาไว้ป้องกันตัวก็ไม่ได้เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับพร้าสักเล่มที่ชาวบ้านมีแล้ว พร้าเล่มเดียวมีคุณสมบัติการทำงานได้อย่างหลากหลาย หรือเราสามารถที่จะจัดให้พร้าเล่มหนึ่งเป็นระบบ multi tasking system ได้เลยโดยไม่ขัดเขิน

นอกจากนี้ความรู้ในด้านภาษาของนักศึกษาที่ไม่ดีเพียงพอ อันนี้นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้นักศึกษาขาดเครื่องมือไปขุดค้นทางด้านความรู้ เพราะความรู้ส่วนใหญ่ในห้องสมุดเมืองไทย เป็นตำราภาษาต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% และเป็นความรู้ใหม่ที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ ดังนั้นการขาดความสามารถทางด้านภาษา จึงเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญในการเปิดสมองของนักศึกษาให้เป็นคนรู้รอบ, รู้ลึก, รู้ทัน, และรู้จริงทางวิชาการ

ในส่วนของจินตนาการพูดโดยภาพรวมคือความคิดสร้างสรรค์นั้น เมื่อมหาวิทยาลัยเองก็ยังพร่องอยู่ในหลายๆเรื่อง ในทางที่เสริมทับกันเข้าไปคือ มหาวิทยาลัยเองก็มุ่งแต่หารายได้โดยอาศัยความเป็น"เทวาลัย"เข้าแลกกับรายได้จากตลาด จึงทำให้มหาวิทยาลัยละเลยการสร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจักนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง แม้แต่ในเรื่องของ"การหาช่องทางประกอบอาชีพก็ตาม" -จินตนาการจะทำให้นักศึกษาสามารถคิดงานขึ้นมาเองได้ สร้างโอกาสให้กับตัวเอง มากกว่านักศึกษาจะต้องพึ่งพาโอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้ เช่นเป็นลูกจ้างบริษัทธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือทำงานด้านบริการ และงานราชการ เท่านั้น-(นิธิ เอียวศรีวงศ์)

มองจากด้านนี้ เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่สร้างจินตนาการให้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยจึงเป็นเพียงแต่สถาบันผลิตลูกจ้างชั้นสูงให้กับสังคมไทยเท่านั้น หาได้เป็นที่บ่มเพาะจินตนาการ และสถาบันที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ และสถาบันนำของสังคมไม่

ข้อที่สาม. มหาวิทยาลัยผลิตความรู้ให้กับนักศึกษาเป็นคนๆ
ปกติแล้ว หน่วยงานราชการทุกแห่งได้รับงบประมาณมาจากภาษีอากรของราษฎร รวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วย แต่ด้วยการครอบงำและระบบอุปถัมภ์ของระบบราชการ นักการเมือง และกระแสทุนมาตามลำดับ ทำให้มหาวิทยาลัยไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ว่า ผู้เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยที่แท้จริงก็คือชุมชนและสังคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชุมชนและสังคม และการผลิตความรู้หรือการผลิตบัณฑิตจะต้องตระหนักว่า ตนมีบทบาทและภารกิจที่จะต้องกระทำต่อสังคมทั้งสังคม ไม่ใช่ผลิตความรู้หรือสร้างความรู้ให้กับคนเป็นคนๆ หรือให้กับหน่วยราชการ หรือเอกชนเท่านั้น

ในเรื่องนี้ ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ (นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) กล่าวว่า "ผมคิดว่าการที่จะฝึกทักษะเพื่อให้รู้เทคนิคอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องของคนเป็นคนๆ อันนี้ถูกต้อง แต่การจะให้ความรู้ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน เป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา เพราะฉะนั้นเราต้องแยกให้ออกถึงการที่คนๆหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมา เขาสามารถมีความชำนาญเฉพาะทางได้ และความชำนาญเฉพาะทางนั้นก็จบไปเมื่อเขาจบชีวิต ดังนั้นถ้าคนๆหนึ่งมีชีวิตอยู่และเขาทำอะไรบางอย่างได้ เมื่อเขาตายไป ความรู้ของเขาก็จบลงไปด้วย"

"แต่ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ต้องการสร้างความรู้ประเภทนั้น มหาวิทยาลัยต้องการสร้างความรู้ที่มันไม่ได้ติดกับคน แต่มันติดกับสังคม ติดกับชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ผมศึกษาการศึกษาของอินเดีย และผมพบว่าการศึกษาของอินเดียที่สูงส่งนั้น เป็นเพราะได้ถูกผลิตขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี เริ่มตั้งแต่พวกอารยันเข้ามาสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธู ก่อนพุทธศาสนา 2000 กว่าปี แล้วความคิดของอารยัน ผมคิดว่ามันยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะเขาคิดจะสร้างความรู้ ความรู้ที่ไม่ใช่ความทรงจำที่เป็นของปัจเจกบุคคล แต่เป็นจินตนาการที่เมื่อผ่านมาเป็นร้อยเป็นพันปี จินตนาการนั้นก็ถูกส่งผ่านมาสู่คนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นเราจึงได้สัมผัสรับรู้กับจินตนาการอันงดงามของชาวอารยันเมื่อหลายพันปีมาแล้ว"

"เมื่อย้อนกลับมาที่เชียงใหม่ คิดว่าการที่ชาวบ้านในอำเภอแม่แจ่ม เขาสร้างเหมืองฝายได้ เหมืองฝายแม้จะมีช่างคนหนึ่งตายไปแล้ว แต่ความรู้เรื่องเหมืองฝายก็ยังมีอยู่ต่อมา ชุมชนสามารถที่จะทำเหมืองฝายต่อไปได้ หรือความรู้บางประเภทที่ทำให้ชาวบ้านทำบางสิ่งบางอย่างได้ มันถูกถ่ายทอดกันได้ต่อมาในชุมชน ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องทำตรงนั้น ก็คือทำในความหมายที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันในการสร้างความรู้ที่เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นสมบัติของคนเป็นคนๆ และความรู้ที่เป็นสมบัติสาธารณะนี้ มหาวิทยาลัยจึงต้องยืนอยู่ในจุดที่เป็นสาธารณะ มหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของชุมชนสังคม"

"กรณีของคณะแพทยศาสตร์เป็นกรณีหนึ่งที่จะยกตัวอย่างได้ เช่น คณะแพทยศาสตร์มิได้มีหน้าที่เพียงเพื่อยืดอายุคนเท่านั้น หรือรักษาโรค แต่คณะแพทยศาสตร์ต้องมีความรู้ชุดหนึ่งที่จะอธิบายให้ชุมชนและสังคมเห็นถึงความเป็นปกติของร่างกาย ซึ่งชุมชนสามารถดูแลรักษาร่างกายของตนเองได้พอสมควรด้วยฐานความรู้ชุดหนึ่งของตัวเอง. ผมคิดว่ากรณีหมอ ต้องทำให้ความรู้เป็นสาธารณะ นั่นคือต้องทำให้เกิดเป็นความรู้ของชุมชน ไม่ใช่เป็นของหมอ ปัจจุบันความรู้เป็นของหมอ เป็นของโรงพยาบาล คนทุกคนเลยคิดว่าต้องมาโรงพยาบาลเมื่อตัวเองมีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพเป็นปัญหาของคนที่ชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษา ไม่ใช่เป็นเรื่องของหมอที่จะต้องมาหวงแหนสิทธิในการดูแลสุขภาพของคนอย่างในปัจจุบัน"

ตัวอย่างกรณีของแพทย์ นับเป็นเรื่องที่อธิบายให้เห็นชัดว่า ความรู้ถูกทำให้เป็นของคนๆไป ไม่ใช่เป็นความรู้ของชุมชน และทำให้มีการหวงแหนความรู้ เพราะความรู้กลายมาเป็นสิทธิประโยชน์ กลายมาเป็นรายได้ ซึ่งความรู้แทนที่จะเกื้อกูนกันก็กลายมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหารายได้และผลประโยชน์ไป" (ประมวล เพ็งจันทร์)

สรุป
ทั้งหมดที่นำเสนอในบทวิจัยนี้ โดยภาพรวมทำให้เราเห็นว่า สาเหตุของปัญหาทั้งมวลของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างการบริหารและการขัดแย้งภายในองค์กร, ความสับสนในบทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร, สาเหตุปัญหาโครงสร้างวิชาการ, การขาดงานวิจัยและองค์ความรู้ในพื้นที่และการบูรณาการ, สาเหตุของปัญหาการบริการสังคม, ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม, รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษาในฐานะที่เป็นผลผลิตของสถาบัน ล้วนเกิดขึ้นมาการถูกครอบงำ 2 ประการ ภายใต้กระบวนทัศน์สมัยใหม่ ได้แก่

หนึ่ง : การครอบงำจากสถาบันที่เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม
สอง : การครอบงำจากแนวคิดในยุคสมัยใหม่ ที่มีระบบคิดแบบกลไก

ประการแรกคือ การครอบงำจากสถาบันที่เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม
จากงานวิจัยนี้พบว่า นับจากการถือกำเนิดมหาวิทยาลัยเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ถูกครอบงำโดยระบบราชการมาตามลำดับ ถัดจากนั้นก็ถูกครอบงำโดยนักการเมือง และท้ายสุดตกอยู่ภายใต้การครอบงำของแนวคิดกระแสทุนนิยม โดยที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบกระบวนทัศน์สมัยใหม่ในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา

ช่วงที่มีการสถาปนาการศึกษาสมัยใหม่ขึ้นมานั้นในรัชการที่ 5 ภารกิจหลักของการศึกษาในเวลานั้นคือต้องการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย เพื่อต้านทานหรือต่อสู้กับการล่าอาณานิคม และเป็นการสร้างรัฐชาติ. ต่อมาเมื่อเกิดมหาวิทยาลัยขึ้น ภารกิจของมหาวิทยาลัยก็ต่อเนื่องมาในด้านการผลิตข้าราชการไปสังกัดในหน่วยงานต่างๆตามแบบอย่างอารยประเทศ ซึ่งการครอบงำของช่วงที่หนึ่งนี้ดำรงอยู่เป็นระยะเวลาอันยาวนาน มีการนำกฎระเบียบแบบราชการเข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ส่งผลในระยะแรก แต่เมื่อเป้าหมายและทิศทางเปลี่ยนไป ข้อบังคับหรือกฎระเบียบราชการเช่นนั้นกลับมาลดทอนประสิทธิภาพการทำงานลงเมื่อมาถึงปัจจุบันนี้

ในช่วงถัดมา นักการเมืองได้เข้ามามีส่วนในการครอบงำกิจการของมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงนี้อิทธิพลของระบบราชการยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น เพราะนักการเมืองไม่ได้เป็นคนฉลาดนักแต่ไหนแต่ไรมา ดังนั้น จึงไม่ได้มีการพัฒนามหาวิทยาลัยไปในทิศทางใดอย่างเห็นได้ชัด การบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยก็ยังคงใช้กฎระเบียบราชการเหมือนเดิม แต่ได้เข้ามาแทรกแซงทางวิชาการ ไม่ให้มีการเรียนการสอนบางรายวิชาที่จะเป็นภัยต่อประเทศในเวลานั้น เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือแนวคิดแบบสังคมนิยม ในส่วนนี้นักการเมืองไทยได้ถูกครอบงำจากแนวคิดอเมริกันอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเข้ามากดบีบไม่ให้มีการแสดงทัศนะทางการเมืองที่จะเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองด้วย

ในช่วงปัจจุบัน ภายใต้กระแสทุนนิยมที่โหมกระพือไปทั่วทุกหย่อมหญ้าที่มาจากสื่อต่างๆทั่วทั้งสังคม โดยรับมาจากประเทศทุนนิยมตะวันตก ทำให้มหาวิทยาลัยต้องซัดเซไปอยู่ในอ้อมกอดของพ่อคนที่สาม และดำเนินรอยตามกระแสทุนนิยม. ในยุคนี้มหาวิทยาลัยถูกเปลี่ยนสถานะจากความเป็น"เทวาลัย"ให้กลายเป็น"ตลาด"อย่างเห็นได้ชัด ผู้บริหารหลายคนสับสน บุคลากรก็สับสน นักศึกษาเองก็สับสนเพราะถูกสื่อและค่านิยมสังคมเมืองครอบงำตามกระแสทุน ดังนั้นจึงทำให้องค์กรทั้งองค์กรปั่นป่วน, วิชาการตกต่ำ, การบริการสังคมกลายเป็นเรื่องของคนเป็นคนๆ มากกว่าจะกระจายทั่วไปทั้งสังคม

แน่นอนการครอบงำเหล่านี้ มิได้มีมาในลักษณะบีบคั้น แต่มาในรูปของการอุปถัมภ์และการเอื้อประโยชน์ในด้านต่างๆ พร้อมลาภ ยศ สรรเสริญ

ประการที่สอง การครอบงำจากแนวคิดในยุคสมัยใหม่ ที่มีระบบคิดแบบกลไก
ในช่วงที่มหาวิทยาลัยได้รับการก่อตั้งขึ้น อยู่ในช่วงที่พัฒนาการของทุนนิยมอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้นมาแล้วในโลกตะวันตก และได้ค่อยแผ่ซ่านเข้ามาในสังคมเกษตรกรรมแบบสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นการย้ายกระบวนทัศน์จากสังคมเกษตรไปสู่กระบวนทัศน์อุตสาหกรรม ผ่านมาทางภาคราชการ และภาคธุรกิจตามลำดับ ซึ่งได้นำเอาแนวคิดแบบจักรกลเข้ามาด้วย

ความคิดแบบจักรกลนั้นเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า กลไกหรือฟันเฟืองต่างๆที่มาประกอบกันอย่างเหมาะสม และโดยการกระตุ้นของแหล่งพลังงานจะทำให้เครื่องจักรสร้างผลผลิตออกมาได้ หรือเป็น A system of parts that operate or interact like those of a machine แนวคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งซอยแยกส่วน และได้พัฒนามาสู่ความเชี่ยวชาญและความชำนัญการ ตามลำดับ

สังคมไทยได้รับเอาสิ่งเหล่านี้มา รวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วย จึงเกิดการแบ่งแยกในทุกภาคส่วนขององค์กรภายในมหาวิทยาลัย ทั้งการแยกคณะออกจากกันอย่างชัดเจน ภายในคณะก็มีการแยกภาควิชา แต่ละภาควิชาก็มีการแยกสาขา และแต่ละสาขาเต็มไปด้วยกระบวนวิชาต่างๆ ซึ่งความคิดเช่นนี้ใช้ได้เพียงกับเครื่องจักรเท่านั้น แต่ไม่อาจใช้ได้กับมนุษย์ซึ่งมีจิตวิญญาน และเป็นสิ่งสร้างซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากเนื้อเยื่อและชีวิต อันมีความสลับซับซ้อนของจิตวิทยาและอารมณ์ซึ่งยากแก่การควบคุม

ด้วยเหตุนี้ การแบ่งซอยแยกส่วนดังกล่าว จึงทำให้เกิดการฉีกขาดออกจากกัน เกิดความไม่ประสานปรองดอง เกิดการต่อสู้แข่งขัน เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่นับวันไม่ได้ไปปะติดปะต่อกับส่วนใดมากขึ้นทุกที ความรู้ที่ผลิตขึ้นเป็นไปอย่างขาดปฏิสัมพันธ์ เป็นเรื่องของเทคนิคเฉพาะด้าน ขาดการบูรณาการ

เมื่อการครอบงำทั้งสองส่วนมาประกอบกัน คือ "การครอบงำจากโครงสร้างส่วนบนซึ่งผ่านมาทางระบบราชการ นักการเมือง และกระแสทุน" มาผสมผสานกับ "การครอบงำของแนวคิดแบบจักรกลในยุคอุตสาหกรรม" จึงทำให้ภารกิจของมหาวิทยาลัยขาดความเป็นอิสระ และไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยดังที่ตั้งไว้ในปณิธานและปรัชญาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยจึงขาดภาวะการนำทางสังคม และการรับใช้สังคมก็จำกัดขอบเขตแคบลงมาอยู่ในเฉพาะภาคส่วนของคนชั้นกลางในเมือง ระบบราชการ ระบบธุรกิจ (อุตสาหกรรมและภาคบริการ)

ในส่วนของงานวิจัยก็ทำเพื่อภาคส่วนที่กล่าวมานี้เป็นส่วนใหญ่ งานวิชาการที่ผลิตขึ้นจึงขาดความรอบด้าน และไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ ไม่อาจแก้ปัญหาสังคมในภาพกว้างได้. ซ้ำร้ายคือ งานวิจัยเหล่านั้นบางครั้ง กลับไปเป็นการยืนยันหรือเป็นนายหน้าความชอบธรรมให้กับโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งได้หวนกลับมาทำร้ายสังคม ชุมชน ที่ไม่อาจต่อสู้ได้ในทางความรู้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชาการเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นล่าง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังเกิดความเข้าใจผิดจากโครงสร้างส่วนบนข้างต้นที่โถมทับและไหลถ่ายเทลงมาครอบงำโดยผ่านระบบอุปถัมภ์ จนกระทั่งทำให้มหาวิทยาลัยลืมตัว และหลงผิดคิดไปว่าสถาบันอุดมศึกษาคือองค์กรของภาครัฐ ที่สถาปนาขึ้นมาเพื่อรับใช้ระบบราชการ ซึ่งเมื่อรัฐมีนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงทำหน้าที่รับใช้นโยบายดังกล่าวไปอย่างไม่มีการตั้งคำถาม และไม่มีการตรวจสอบตัวเอง

ความจริงแล้ว มหาวิทยาลัยไม่ใช่องค์กรขุนนางที่แยกส่วนไปจากประชาชน มหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของประชาชนผู้ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินงบประมาณดำเนินการของมหาวิทยาลัยผ่านการเสียภาษีทั้งในรูปทางตรงและทางอ้อม รัฐมีหน้าที่จัดสรรนำเอาภาษีส่วนที่ประชาชนเสียให้นั้นไปจัดการศึกษาให้กับประชาชนเท่านั้น ดังนั้นรัฐจึงเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน มิได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคหลังสมัยใหม่ ยุคหลังอุตสาหกรรม ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างกำลังถูกตรวจสอบและตั้งคำถามข้อสงสัยว่า การดำเนินการที่ผ่านมาในยุคสมัยใหม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับสังคมและชุมชนบ้าง สำหรับยุคหลังสมัยใหม่เป็นยุคที่ตั้งคำถามกับการครอบงำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมวัฒนธรรมที่ผ่านมา

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง ก็มีการรื้อสร้าง(Deconstruction)และแกะออกดู เพื่อให้เห็นถึงสาระและความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์และกระบวนทัศน์ภายในของมันว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจะได้ค้นพบความจริงที่สัมพันธ์กับบริบทที่ผ่านมา และเริ่มกระบวนการใหม่เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ความจริงที่สัมพันธ์กับชีวิตร่วมสมัยหลังสมัยใหม่อย่างเหมาะสม ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของบทวิจัยชิ้นนี้ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาสาเหตุและปัญหาที่รุมเร้ามหาวิทยาลัยในยุคของเรา

บรรณานุกรม

1. โกสุม โอมพรนุวัฒน์, McDonaldization กับร่างกายคนไทย, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2546
2. "คำสดุดดีงานวิจัยไทบ้าน" โดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 21 ธันวาคม 2545
3. "งานวิจัยไทบ้าน" รางวัลชนะเลิศงานวิจัยโดยชุมชน หัวข้อ "สร้างงานวิจัยสร้างกำไรสู่สุข ภาพสังคม"
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.), CD-ROM. 2545
4. ชยันต์ วรรธนะภูติ ปัญหาและทางออกมหาวิทยาลัยไทย (บทสัมภาษณ์ - มกราคม 2546)
5. พระไพศาล วิสาโล : มหาวิทยาลัยภายใต้กระแสทุนนิยม, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2545
6. พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์(ฉบับประมวลศัพท์), มหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย, 2527
7. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อุดมศึกษาในทัศนะของนิธิ (บทสัมภาษณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - มกราคม 2546)
8. ประมวล เพ็งจันทร์ มหาวิทยาลัยในอินเดียเชิงเปรียบเทียบ (บทสัมภาษณ์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - มกราคม 2546)
9. ประเวศ วะสี, ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท : (ปัญหาและจุดคานงัดมหาวิทยาลัย ไทย)มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2545
10. สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บทสัมภาษณ์ : โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก (บทสัมภาษณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - มกราคม 2546)

11. Douglas Kellner, Nietzsche's Critique of Mass Culture : เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
12. Max Weber, The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism (1904-05), Encyclopedia Britannica 97 ฉบับ CR-ROM).
13 . Merriam-Webster's Collegiate Dictionary, Tenth Edition, CD-ROM 1996.
14. The American Heritage Dictionary, Third Edition, CD-ROM 1994.
15. Webster's New Biographical Dictionary,1983.

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

QUOTATION
R
อีกประเด็นหนึ่งที่ก้าวหน้ามาอีกขั้นหนึ่งก็คือ
"การเรียกร้องการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชา
การ" สำหรับเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลังจาก"งานวิจัยไทบ้าน"ซึ่งว่า
ด้วย การวิจัยเรื่องเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลโดยสมัชชาคนจน ได้รับรางวัลชนะเลิศงานวิจัยโดยชุมชน ในการประชุมทางวิชาการหัวข้อ "สร้างงานวิจัยสร้างกำไรสู่สุขภาพสังคม" ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)

และยังได้รับรางวัลจากอีกหลายองค์กร รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจนำงานวิจัยดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูลแต่อย่างใด

โดยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงเรียกร้องเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในเชิงวิชาการ โดยเรียกหาเสรีภาพที่จะสร้างผลงานทางวิชาการโดยปลอดจากการแทรกแซง และเพื่อเข้ามีส่วนร่วมปันในอำนาจทางวิชาการนี้ด้วย ซึ่งสัชชาคนจนได้ตั้งคำถามว่า "เสรีภาพทางวิชาการ เป็นเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย" คำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่น่านำมาพิจารณาอย่างยิ่ง

สำหรับต้นสายปลายเหตุของการเรียกร้องการมีส่วนร่วมในเสรีภาพทางวิชาการนั้น โดยนัยะเป็นการบ่งบอกถึงว่าชาวบ้านพร้อมประกาศตน"ไม่ใช่คนโง่อีกต่อไป" หลังจากที่ต้องตกอยู่ภายใต้วาทกรรม"โง่ จน เจ็บ"มาเป็นเวลานาน เมื่อ"โง่"จึง"ไร้อำนาจทางวิชาการ" เมื่อปราศจาก"อำนาจทางวิชาการ"จึง"ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการเสนอความคิดเห็น" เพื่อนำไปสู่ฐานคิด วิเคราะห์ ในกระบวนการตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่สำคัญ อันจะย้อนกลับมาสู่การถูกริบเอาฐานทรัพยากรของชุมชนไปจากอ้อมกอดของพวกเขา (บางส่วนของบทความ)

ภาพประกอบสังเคราะห์ 1. ภาพถ่ายชาวบ้านกรณีที่ดินที่ จ.ลำพูน 2545 2. ภาพฉากหลัง ผลงานของ William Conger. ชื่อภาพ South Beach, ค.ศ. 1985
บทความชิ้นนี้ ปรับปรุงจากงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง การประเมินสถานภาพและบทบาทมหาวิทยาลัยในประเทศไทย 2546
หากสมาชิกประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะสามารถแก้ปัญหาได้ : เว็ปไซค์ของม.เที่ยงคืน ออกแบบขึ้นสำหรับหน้าจอ 800 X 600 px.
นับจากอดีตมา มหาวิทยาลัยได้ถูกครอบงำโดยโครงสร้างส่วนบนมาโดยตลอด จนทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถเป็นอิสระได้ ดังนั้นจึงทำภารกิจของตนได้บางส่วนเท่านั้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคหลังสมัยใหม่(Postmodern) ยุคหลังอุตสาหกรรม ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างกำลังถูกตรวจสอบและตั้งคำถามข้อสงสัยว่า การดำเนินการที่ผ่านมาในยุคสมัยใหม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับสังคมและชุมชนบ้าง สำหรับในยุคหลังสมัยใหม่ เป็นยุคของการตั้งคำถามกับการครอบงำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมวัฒนธรรมที่ผ่านมา

 

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง ก็มีการรื้อสร้าง(Deconstruction)และแกะออกดู เพื่อให้เห็นถึงสาระและความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์และกระบวนทัศน์ภายในของมันว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจะได้ค้นพบความจริงที่สัมพันธ์กับบริบทที่ผ่านมา และเริ่มกระบวนการใหม่เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ความจริงที่สัมพันธ์กับชีวิตร่วมสมัยหลังสมัยใหม่อย่างเหมาะสม ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของบทวิจัยชิ้นนี้ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาสาเหตุและปัญหาที่รุมเร้ามหาวิทยาลัยในยุคของเรา

งานวิจัยสาเหตุและปัญหามหาวิทยาลัย(ฉบับสังเคราะห์)
มหาวิทยาลัยไทยโดนไวรัส
สมเกียรติ ตั้งนโม
(บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 242 กุมภาพันธ์ 2546)
(ความยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)

ภารกิจของ"งานวิจัยประเมินสถานภาพและบทบาทของอุดมศึกษาไทยฉบับนี้" โดยข้อเท็จจริง เป็นงานวิจัยที่มุ่งเพื่อสำรวจถึงปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยโดยภาพรวมเป็นหลัก แม้ว่าจะมีการวางบทต่างๆดูไม่ต่างไปจากรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับมีลักษณะเป็นปฏิบท(anti-thesis)หรือเป็นการมองในลักษณะวิภาษวิธี(dialectic)กับรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย
( บทความนี้นำเสนอในลักษณะปรับปรุงเฉพาะส่วนที่ผู้วิจัยรับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งทำร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น)