Rethink World Politics : รื้อคิดการเมืองโลกใหม่หลังสงคราม
บรรษัทข้ามชาติและอภิมหาเศรษฐีโลกทั้งหลายได้รับการขอร้องเชื้อเชิญให้ช่วยสมทบทุนบริจาคเป็นค่าใช้จ่ายในการสืบสวนสอบสวนของศาล ด้วยเงื่อนไขกรอบจำกัดเช่นนี้ ต่อให้จับซัดดัมขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศได้ แต่วันที่เราจะได้เห็นผู้นำประเทศเผด็จการทรราชหรือที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนรายอื่น - ทว่าเผอิญโชคดีเป็นพรรคพวกอเมริกาหรือประเทศมหาอำนาจ - ถูกจับขึ้นศาลมั่ง คงยากจะมาถึง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีแอเรียล ชารอนแห่งอิสราเอล ซึ่งกดขี่ปราบปรามสังหารชาวปาเลสไตน์ใต้การยึดครอง หรือคนอื่นๆ (ตัดมาบางส่วนจากบทความ)
R
release date
090546
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 265 เดือนพฤษภาคม 2546 หัวเรื่อง "รื้อคิดการเมืองโลกหลังสงครามอิรัก" ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ครั้งแรก วันที่ 9พฤษภาคม 2546 (ความยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)
ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการนำไปใช้ประโยชน์ เฉพาะทางด้านวิชาการเท่านั้น
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง"รื้อคิดการเมืองโลกใหม่หลังสงครามอิรัก" โดย เกษียร เตชะพีระ / หากผู้อ่านและสมาชิกประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงจะแก้ปัญหาได้

นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและตลอดช่วงสงครามเย็น เป้าหมายยุทธศาสตร์ของจักรวรรดิอเมริกันมี ๒ ข้อไม่เคยเปลี่ยน คือ (ก) รักษาระบบทุนนิยมในโลกไว้ให้ปลอดจากภัยคอมมิวนิสต์ และ (ข) ประกันให้อเมริกาครองความเป็นใหญ่ไร้เทียมทานในระบบทุนนิยมโลกนั้นเอง
ในเมื่อบัดนี้สิ้นค่ายคอมมิวนิสต์ และระบบทุนนิยมสามารถโลกาภิวัตน์ไปครอบคลุมทั้งโลกแล้ว เป้าหมายประการหลังของจักรวรรดิอเมริกันในการครองโลกทุนนิยมทั้งใบ จึงได้โอกาสและถึงเวลาแสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มยิ่งขึ้นตามลำดับ ข้อต่างของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูก จากรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้พ่อและคลิน ตันอยู่ตรงเขาและสมัครพรรคพวกอนุรักษ์นิยมใหม่(neo-conservatives) กร้าวทื่อเหิมเกริมและไม่เกรงใจใครพอที่จะโยนวลีและจริตโก้หรูจอมปลอมเรื่อง"ประชาคมระหว่างประเทศ"ทิ้งลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

"รื้อคิดการเมืองโลกใหม่หลังสงครามอิรัก " โดย เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑) สิ่งที่เรียกว่า "ประชาคมโลก" หรือ "ประชาคมระหว่างประเทศ" นั้นไม่มีอยู่จริง
ดังที่ โยฮัน กัลตุง นักทฤษฎีสันติวิธีเคยล้อเลียนว่า ที่มักกล่าวอ้างกันถึง "ประชาคมระหว่างประเทศ" นั้น อันที่จริงก็คือคนแค่ ๑๕ คนที่นั่งลอยหน้าลอยตาอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั่นแหละ เบื้องหลังวลีสวยหรูดังกล่าว แต่ไหนแต่ไรมาก็คืออำนาจครองความเป็นใหญ่ของอเมริกา (American hegemony) นั่นเอง

นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและตลอดช่วงสงครามเย็น เป้าหมายยุทธศาสตร์ของจักรวรรดิอเมริกันมี ๒ ข้อไม่เคยเปลี่ยน คือ
(ก) รักษาระบบทุนนิยมในโลกไว้ให้ปลอดจากภัยคอมมิวนิสต์ และ
(ข) ประกันให้อเมริกาครองความเป็นใหญ่ไร้เทียมทานในระบบทุนนิยมโลกนั้นเอง

ในเมื่อบัดนี้สิ้นค่ายคอมมิวนิสต์ และระบบทุนนิยมสามารถโลกาภิวัตน์ไปครอบคลุมทั้งโลกแล้ว เป้าหมายประการหลังของจักรวรรดิอเมริกันในการครองโลกทุนนิยมทั้งใบ จึงได้โอกาสและถึงเวลาแสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มยิ่งขึ้นตามลำดับ ข้อต่างของรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้ลูกจากรัฐบาลประธานาธิบดีบุชผู้พ่อและคลินตันอยู่ตรงเขาและสมัครพรรคพวกอนุรักษ์นิยมใหม่(neo-conservatives) กร้าวทื่อเหิมเกริมและไม่เกรงใจใครพอที่จะโยนวลีและจริตโก้หรูจอมปลอมเรื่อง"ประชาคมระหว่างประเทศ"ทิ้งลงถังขยะประวัติศาสตร์เสีย แล้วสำแดงอำนาจครองโลกของจักรวรรดิอเมริกันออกมาอย่างล่อนจ้อนเปล่าเปลือยเท่านั้นเอง

ความจริงโลกเราเป็นอย่างนี้แหละ คืออยู่ใต้ส้นตีนมะริกัน จงหัดหดหัวหงอฝ่ออยู่ใต้ตีนมันให้คุ้นเคยเสียเถิด, ม่ายงั้น....ถูกกระทืบ!

๒) สหประชาชาติไม่ใช่ที่สถิตแห่งสิทธิอำนาจอันเที่ยงธรรมของโลก
โครงสร้างสหประชาชาติตั้งอยู่บนความเหลื่อมล้ำแล้วแต่ต้น โดยให้รัฐชาติทั้ง ๕ ผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งจบสิ้นไปแล้วตั้งเกือบ ๖๐ ปีก่อน ได้แก่อเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, (โซเวียต)รัสเซีย และจีน กุมอำนาจอภิสิทธิ์เหนือรัฐชาติอื่น ๆ อีกเกือบ ๒๐๐ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งมหาอำนาจทั้ง ๕ ได้เป็นสมาชิกถาวร แถมแต่ละมหาอำนาจยังมีสิทธิพิเศษในการวีโต้มติของคณะมนตรีฯโดยรวมอีกต่างหาก

สงครามเย็นซึ่งเริ่มราว พ.ศ. ๒๔๙๐ ช่วยแบ่งแยกมหาอำนาจเหล่านี้ออกเป็นสองค่ายและต่างก็คัดง้างคะคานถ่วงดุลกันไปในคณะมนตรีความมั่นคง ทว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ แล้ว นับวันสหประชาชาติก็ยิ่งกลายเป็นแค่หน้าฉากของอำนาจบงการอเมริกันมากขึ้น

แม้จะได้ชื่อว่าตั้งขึ้นเพื่อธำรงรักษาสันติภาพโลก แต่หากดูประวัติผลงานของสหประชาชาติจริง ๆ ก็จะพบว่าองค์การนี้ได้ลงมติทำสงครามเองถึง ๒ ครั้ง (คือทำสงครามกับเกาหลีเหนือ พ.ศ. ๒๔๙๓-๙๖ และทำสงครามอ่าวเปอร์เซียกับอิรักครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๓๔ ภายใต้แรงกดดันชักนำของอเมริกา) ทว่ากลับไม่เคยป้องกันสงครามใดได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว (อาทิสงครามที่อเมริการุกรานเวียดนาม พ.ศ. ๒๕๐๓-๑๘, รุกรานเกรนาดา พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๗, รุกรานปานามา พ.ศ. ๒๕๓๒-๓๓, ร่วมกับนาโต้รุกรานเซอร์เบีย พ.ศ. ๒๕๔๒, จนถึงรุกรานอิรักในปัจจุบันเป็นต้น)

มติของสหประชาชาติส่วนใหญ่พูดอย่างทำอีกอย่างและใช้มาตรฐานสองหน้าขึ้นอยู่กับว่าประเทศคู่กรณีเป็นพวกใคร?

จริงอยู่ที่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสหประชาชาติเช่น ยูเนสโก, ไอแอลโอ, อังค์ถัด, กองทุนเด็ก, สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมาธิการสถานภาพสตรี ฯลฯ ทำงานสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูล และปกป้องส่งเสริมสิทธิสวัสดิภาพของชาวโลกพอสมควร อีกทั้งสมัชชาใหญ่สหประชาชาติก็เป็นเวทีแถลงจุดยืนและสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นของนานารัฐชาติอย่างกว้างขวาง ทว่าเรื่องจะปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงเสียใหม่ เพื่อลิดรอนอำนาจอภิสิทธิ์ของประเทศมหาอำนาจลงไปนั้นเมินเสียเถอะ ป่วยการหวัง การดำรงอยู่ของสหประชาชาติในแง่หนึ่งจึงเป็นเครื่องพรางตาชาวโลก และกลายเป็นสถาบันรับรองความถูกต้องสถาพรของระเบียบปลาใหญ่หม่ำปลาเล็กอันไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมของโลกไป

๓) หลักการที่ให้เฉพาะ ๕ มหาอำนาจแห่งคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติได้ผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์นั้นไร้เหตุผลสิ้นดี สนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty) ซึ่งริเริ่มตกลงโดยอเมริกากับโซเวียตในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ทั้งไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม เพราะเท่ากับบรรดาประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองก่อนเรียบร้อยแล้ว ประกาศยืนกรานให้ประเทศอื่น ๆ ที่ไล่หลังยังไม่ทันจงละเลิกความพยายามแสวงหาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เสีย, เหลือแต่พวกตนมีได้โดยสิทธิ์ขาดกลุ่มเดียว (nuclear oligopoly) ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่มนุษยชาติ!?! ทั้งที่ตามหลักแล้ว ประเทศเล็ก ๆ ต่างหากมีเหตุผลสมควรกว่าที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อไว้ถ่วงดุลป้องปราม (nuclear deterrent) แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือล้ำท่วมท้นของมหาอำนาจชาติใหญ่

ทว่าเอาเข้าจริงสนธิสัญญาดังกล่าวก็ห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้ และในเมื่อประเทศมหาอำนาจเองก็ไม่ยอมละเลิกอาวุธนิวเคลียร์ของตัว จะมีหน้ามาห้ามประเทศอื่นได้ไง? ยิ่งอเมริกามาวางอำนาจแสดงพฤติการณ์ข่มขู่ก้าวร้าวรุกรานยึดครองประเทศโลกที่สามเล็ก ๆ ที่ขวางอำนาจและผลประโยชน์ของตนอย่างหน้าด้าน ๆ ให้เห็นกันจะ ๆ ในอัฟกานิสถานและอิรัก, แต่กลับเปิดไฟเขียวให้ประเทศสมุนบริวารอย่างอิสราเอลครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้หน้าตาเฉยแบบนี้, จะไม่ให้ประเทศเล็กอื่น ๆ เช่น เกาหลีเหนือเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นป้องกันตัวมั่งได้อย่างไร?

ในความเป็นจริง ภายใต้สภาวะจักรวรรดิอเมริกันครองโลก และเป็นตัวการก่อสงครามคุกคามความมั่นคงของโลกมากที่สุดเช่นในปัจจุบันนี้ ยิ่งอาวุธนิวเคลียร์แพร่กระจายออกไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งน่าจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมเหิมเกริมข่มขู่ก้าวร้าวรุกรานของอเมริกาและทำให้โลกมั่นคงขึ้นเท่านั้น, มิใช่หรือ? ดังผลการสำรวจความเห็นชาวยุโรป ๒ แสน ๕ หมื่นคนโดยนิตยสารไทม์ของอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า ต่อคำถามที่ว่าประเทศใดเป็นภัยต่อสันติภาพโลกสูงสุดในปีนี้? มีผู้ตอบว่าได้แก่อิรัก ๘%, ได้แก่เกาหลีเหนือ ๙ %, และได้แก่อเมริกาถึง ๘๓%!

แล้วประเทศไหนเล่าที่ควรถูกปลดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธมหาวินาศอื่น ๆ ก่อนใครเพื่อนเพื่อเห็นแก่สันติภาพโลก? อิรัก, เกาหลีเหนือ หรืออเมริกา?

"NO BUSH, NO SADDAM;
YES, YES FOR ISLAM"
คำขวัญบนผืนผ้าในการเดินขบวนประท้วงของชาวอิรักหลายพันคน ณ กรุงแบกแดดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ เมษายน ศกนี้

"สงคราม 'ปลดปล่อย' ของอเมริกาจบสิ้นลงแล้ว ส่วนสงครามของอิรักเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากชาวอเมริกันกำลังจะเริ่มขึ้น"
โรเบิร์ต ฟิสก์ ผู้สื่อข่าวคร่ำหวอดตะวันออกกลางนาน ๒๕ ปี แห่งหนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ, ๑๙ เมษายน ศกนี้

ในทรรศนะของ Perry Anderson สงครามอิรักเป็นวาระโอกาสให้รื้อคิดการเมืองโลกใหม่หลายประการ นอกจากประเด็น
๑) อำนาจครองโลกของอเมริกา
๒) ความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมของสถาบันสหประชาชาติ และ
๓) ระบบผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ แล้ว ก็ได้แก่: -

๔) การรุกรานยึดครองดินแดนประเทศอื่นจะถือว่าผิดและต้องถูกลงโทษหรือไม่ -
ขึ้นอยู่กับว่าประเทศผู้รุกรานเป็นพวกใคร?

การรุกรานยึดครองคูเวตในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ทำให้อิรักถูกสหประชาชาติภายใต้การนำของอเมริการะดมไพร่พลทำสงครามลงโทษโจมตีในต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แล้วปิดล้อมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยาวนานต่อเนื่องมาถึง ๑๒ ปี, แต่ในทางกลับกัน ทีอิสราเอลรุกรานยึดครองดินแดนประเทศเพื่อนบ้านอาหรับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐, ตุรกีรุกรานยึดครองดินแดนตอนเหนือของเกาะไซปรัสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗, อินโดนีเซียรุกรานยึดครองดินแดนเกาะติมอร์ตะวันออกระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๔๒, หรือมอร็อคโครุกรานยึดครองดินแดนทะเลทรายซาฮาร่าตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้น, กลับไม่ยังผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลุกขึ้นมาฮึดฮัดทำอะไรกับบรรดารัฐบาลสมัครพรรคพวกของอเมริกาเหล่านี้เลย

อุทาหรณ์เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "กฎหมายระหว่างประเทศ" กลายเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ละเมิดมิได้ ก็ต่อเมื่อมันถูกใช้เป็นข้ออ้างเล่นงานรัฐศัตรูที่ไม่ใช่พวกกู(คือพวกอเมริกา)เท่านั้น แต่ถ้าเป็นพวกกูแล้วไซร้ ถึงจะละเมิดกฎหมาย ทำลายสิทธิมนุษยชนแค่ไหน ก็ไม่พึงถือสาหาความแต่อย่างใด (ดังที่อเมริกาออกหน้ารับแทนแก้ต่างให้อิสราเอลในสหประชาชาติครั้งแล้วครั้งเล่า)

กล่าวเฉพาะกรณีอิรัก ข้อกล่าวหาที่อเมริกา-อังกฤษเที่ยวโพนทะนาว่า ระบอบซัดดัมมีพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกรานประเทศอื่นร้ายแรงเป็นพิเศษ จนต้องทำสงครามโค่นล้มให้เด็ดขาดจะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปนั้น เป็นนิทานหลอกเด็กทั้งเพ

๕) การก่อการร้ายแบบที่อัลเคด้าทำมิได้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อโครงสร้างอำนาจในโลกดังที่เป็นอยู่แต่อย่างใด ทว่าการปลุก "ผีอัลเคด้า" กลับเป็นประโยชน์ยิ่งต่อเกมการเมืองอเมริกัน
การก่อวินาศกรรมโดยจี้เครื่องบินแล้วพุ่งเข้าชนตึกที่โลกตกตะลึงตาค้างเมื่อ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๔ สำเร็จได้ด้วยอาศัยการโจมตีแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งพอผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการถึงลำที่ ๔ ฝ่ายตรงข้ามเริ่มตั้งตัวรับมือทัน ก็มิอาจทำสำเร็จซ้ำอีก

จะว่ากันไป หากแม้นอัลเคด้าเป็นองค์การที่เข้มแข็งจริง ก็น่าจะหันไปโจมตีรัฐลูกสมุนอเมริกาในตะวันออกกลางดีกว่าประเทศอเมริกาเอง เพราะถ้าโค่นระบอบปกครองแบบนั้นลงได้สักแห่ง ก็อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงการเมืองในตะวันออกกลางไปบ้าง ขณะที่การพยายามเล่นงานอเมริกานั้นแม้เพียงจะทิ่มตำให้รำคาญทางยุทธศาสตร์ก็ยังยากเลย

ประเด็นก็คืออัลเคด้าและองค์การก่อการร้ายทำนองเดียวกันอื่น ๆ เอาเข้าจริงไม่ได้เข้มแข็งใหญ่โตน่าสะพรึงกลัวขนาดที่อเมริกาปั้นให้เป็น ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อแท้แล้วมันเป็นอาการสะท้อนความอ่อนแอเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง ในสภาพที่ขบวนการมวลชนซึ่งเคร่งหลักศาสนามูลฐานของชาวมุสลิมในตะวันออกกลางและที่อื่น ๆ ค่อยเสื่อมถอยด้อยพลังลงในเวทีการเมืองต่างหาก กลุ่มก้อนโดดเดี่ยวที่หลงเหลือจึงหันไปต่อสู้รูปแบบอื่น ในลักษณะเดียวกับที่องค์การก่อการร้ายฝ่ายซ้ายเช่น กองทัพแดง (ROTE ARMEE FRAKTION หรือ RED ARMY FACTION) ในเยอรมนีตะวันตกและ กองพลน้อยแดง (BRIGATE ROSSE หรือ RED BRIGADE) ในอิตาลีปรากฏขึ้นภายหลังที่การลุกสู้ครั้งใหญ่ของขบวนการนักศึกษาทั่วโลกทุนนิยมตะวันตกต้นพุทธทศวรรษที่ ๒๕๑๐ ค่อย ๆ เสื่อมซาลงแล้ว, และองค์การทั้งสองก็ถูกรัฐในประเทศตนปราบราบคาบไปอย่างง่ายดาย

การที่อัลเคด้าไม่มีปัญญาจะก่อการร้ายโจมตีฝ่ายตะวันตกขนานใหญ่อย่างตื่นตาตื่นใจในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์ ๙/๑๑ อีกแม้แต่ครั้งเดียวขณะที่ฐานที่มั่นของตนถูกถล่มเป็นจุณมหาจุณและฝ่ายนำของตนถูกไล่ล่าเด็ดชีพอยู่ในอัฟกานิสถานนั้น บ่งชี้ความอ่อนแอยิ่งของอัลเคด้า กระนั้นก็ตาม ทั้งรัฐบาลรีพับลิกันของประธานาธิบดีบุชผู้ลูก และพรรคเดโมแครตฝ่ายค้านต่างก็อาศัยความสมยอมร่วมมือของบรรดากลุ่มทุนสื่อ มวลชนยักษ์ใหญ่ในอเมริกาช่วยกันปลุกปั้น "ผีอัลเคด้า" ให้ใหญ่โตมโหฬารมหากาฬลึกลับซับซ้อนยอกย้อนซ่อนเงื่อน ราวกับว่ามันพร้อมจะก่อการโจมตีอเมริกาและโลกตะวันตกได้ทุกเมื่อ ฯลฯ

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อสนองประโยชน์อำนาจเชิงกลยุทธต่าง ๆ ในเกมการเมืองของตนเองเหมือนที่เคยปลุกและใช้ประโยชน์จาก "ผีคอมมิวนิสต์" ในอดีต และประโยชน์เฉพาะหน้าประการหนึ่งย่อมได้แก่อาศัยความกลัว "ผีอัลเคด้า" ของชาวอเมริกันมาเปิดไฟเขียวให้ตนทำสงครามรุกรานยึดครองอิรักได้โดยสะดวก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลซัดดัมเกี่ยวข้องกับอัลเคด้า

๖) เกิดหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นในการเมืองโลกว่ามนุษยธรรมอยู่เหนืออธิปไตยแห่งชาติ
แต่ทว่าหลักเกณฑ์นี้ก็ถูกเลือกใช้เลือกปฏิบัติอีกตามเคย

บัดนี้โดยดูกรณีอเมริกา-อังกฤษทำสงครามรุกรานยึดครองอิรักเป็นแบบอย่าง หากประเทศใดปกครองด้วยระบอบเผด็จการทรราช หรือแม้จะมิได้ปกครองด้วยระบอบดังกล่าวแต่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศตนแล้ว นั่นก็ถือเป็นเหตุอันควรให้ประเทศอื่นใช้อ้างมาแทรกแซงด้วยกำลังทหารเพื่อเปลี่ยนระบอบปกครองในประเทศนั้น ๆ ได้โดยชอบ แต่ความอุบาทว์บัดซบอยู่ตรงหลักเกณฑ์นี้ก็ถูกเลือกใช้เลือกปฏิบัติอีกนั่นแหละ

รู้ ๆ กันอยู่ว่าระบอบซัดดัมเป็นเผด็จการทรราชอันโหดเหี้ยม แต่กลุ่มประเทศทุนนิยมตะวันตกก็ยังติดอาวุธอุดหนุนเงินให้ระบอบซัดดัมมาเรื่อย ๆ ตลอดช่วงพุทธทศวรรษที่ ๒๕๒๐ เพื่อเอาไว้โต้ต้านบ่อนทำลายสาธารณรัฐอิสลามในอิหร่าน จนเมื่อระบอบซัดดัมบังอาจเหิมเกริมรุกรานยึดครองคูเวตซึ่งเป็นเบี้ยบริวารของอเมริกาในอ่าวเปอร์เซียแล้วนั่นแหละ ท่าทีอเมริกาจึงกลับตาลปัตรไป

ถ้าจะว่าซัดดัมโหด ระบอบซูฮาร์โตในอินโดนีเซียยังเหี้ยมและมือเปื้อนเลือดกว่าหลายเท่า แต่ก็ไม่เห็นสหประชาชาติแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนระบอบอะไรในอินโดนีเซียตลอดสามทศวรรษที่ซูฮาร์โตยืนเป็นเสาหลักให้มหาอำนาจตะวันตกใช้ต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์

ในอิสราเอลนั้น เจ้าหน้าที่สอบสวนมีสิทธิ์ทรมานผู้ต้องหาก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ได้โดยศาลฎีกาเปิดไฟเขียวให้อย่างเปิดเผย ขณะที่นานาอารยประเทศตะวันตกซึ่งเป็นมิตรของอิสราเอลได้แต่ยืนดูตาปริบ ๆ, ตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกนาโต้และจ่อคิวอยากเข้าร่วมสหภาพยุโรปอยู่นั้น คุมขังทรมานนักโทษการเมืองเป็นนิจศีลและไม่ยอมแม้แต่ให้ชนชาติเคิร์ดส่วนน้อยได้ใช้ภาษาของตน ขณะที่อิรักยังยอม

กระทั่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ที่เพิ่งตั้งขึ้นก็อย่าพึงหวังว่าจะเป็นที่สถิตยุติธรรม ที่พึ่งทางกฎหมายและปกป้องสิทธิมนุยชนให้ชาวโลกอย่างมีประสิทธิผล เพราะก่อนอื่นอเมริกาปฏิเสธที่จะรับรองเข้าร่วม, คณะมนตรีความมั่นคง (หรือนัยหนึ่ง ๕ มหาอำนาจสมาชิกถาวรในคณะมนตรีฯนั่นเอง) มีอำนาจห้ามหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ของศาลที่ตนไม่ชมชอบ

บรรษัทข้ามชาติและอภิมหาเศรษฐีโลกทั้งหลายได้รับการขอร้องเชื้อเชิญให้ช่วยสมทบทุนบริจาคเป็นค่าใช้จ่ายในการสืบสวนสอบสวนของศาล ด้วยเงื่อนไขกรอบจำกัดเช่นนี้ ต่อให้จับซัดดัมขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศได้ แต่วันที่เราจะได้เห็นผู้นำประเทศเผด็จการทรราชหรือที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนรายอื่น - ทว่าเผอิญโชคดีเป็นพรรคพวกอเมริกาหรือประเทศมหาอำนาจ - ถูกจับขึ้นศาลมั่ง คงยากจะมาถึง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีแอเรียล ชารอนแห่งอิสราเอล ซึ่งกดขี่ปราบปรามสังหารชาวปาเลสไตน์ใต้การยึดครอง, ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ซึ่งกดขี่ปราบปรามสังหารชาวมุสลิมในเชชเนีย, หรือประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคแห่งอียิปต์ ซึ่งกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของฝ่ายค้านอย่างหนัก ฯลฯ

สรุป: - สงครามรุกรานยึดครองอิรักจึงเป็นเพียงอาการบอกเหตุโรคร้ายที่รุมเร้าการเมืองโลกอยู่ซึ่งพร้อมจะกำเริบอีกครั้งแล้วครั้งเล่า สมุฏฐานของมันไม่ใช่ซัดดัม ฮุสเซน, อัลเคด้า, จอร์จ บุช จูเนียร์ หรือโทนี แบลร์, หากคือโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมอันมีสหประชาชาติเป็นแกนกลางนั่นเอง

"ยุทธานุสติ"

1) อดีตผู้นำท่านหนึ่งแสดงความปลื้มปีติต่อผลสำเร็จของสงคราม ขณะอดีตผู้นำอีกท่านแสดงความกังขาในภาวะปกติทั่วไป คาดหมายได้ว่าความแตกต่างขัดแย้งนี้จะถูกสาธารณะสังเกตเห็น

ทว่าในภาวะปัจจุบัน การดำรงอยู่ของความแตกต่างขัดแย้งกลับถูกเพิกเฉยเสมือนไม่มีความแตกต่างขัดแย้ง ซึ่งก็เท่ากับความแตกต่างขัดแย้งดังกล่าวไม่ดำรงอยู่ในโลกของสื่อและความหมายสาธารณะ

เพื่อการนี้ ภาวะผิดปกติต้องถูกนิยามใหม่ให้เป็นภาวะปกติ ซึ่งสามารถบรรลุได้เมื่อไม่มีใครทักท้วงว่ามันผิดปกติ

ความเงียบต่อความจริง จึงเป็นภาษีอุดมการณ์ที่พลเมืองดีมีหน้าที่ชำระแก่รัฐ เพื่อจะได้ดำรงอยู่อย่างสงบภายใต้ระบอบวัฒนธรรมเสมือนสงคราม

2) "สงครามปลดปล่อยของต่างชาติจะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย" ความข้อนี้ยากจะรับได้จากจุดยืนของชาติ อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูประวัติศาสตร์การสร้างชาติ เรามักพบว่าอำนาจเดิมซึ่งรวมศูนย์และสมบูรณาญาสิทธิ์ของเจ้าศักดินาพื้นเมือง ถูกเบียดขับเปิดพื้นที่ให้แก่เทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรมทางการเมืองวัฒนธรรมด้วยอำนาจเจ้าอาณานิคมตะวันตก

แท่นพิมพ์ เทคโนโลยีการพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการซึ่งเป็นหมอสอนศาสนาหรือสัปเยกฝรั่ง เป็นเงื่อนไขโอกาส ที่แง้มให้ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบได้เริ่มลิ้มชิมรสอันเร้าใจของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเห็นต่างโดยอิสระจากอำนาจเดิม โดยอำนาจเดิมไม่อาจเงื้อมมือล่วงล้ำเข้าไปใต้ร่มธงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของต่างชาติได้ถนัดถนี่

จนยากจะหลีกเลี่ยงข้อสรุปที่ว่า "สิทธิเสรีภาพจะเกิดมีขึ้นได้ เอกราชอธิปไตยต้องไม่สมบูรณ์"

ทว่าที่ผ่านมาประชาธิปไตยดำเนินงานได้ ก็แต่ในชุมชนชาติที่มีเอกราชอธิปไตย ซึ่งพูดให้ถึงที่สุดแล้วก็ไปกันไม่ได้กับอำนาจยึดครองครอบงำของต่างชาติ

ดูเหมือนโลกกำลังถูกบังคับให้เลือกระหว่างสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยอันใดอันหนึ่งอย่างพะอืดพะอม

3) โลกทัศน์เสรีนิยมตะวันตกถือว่ามนุษย์ในภาวะธรรมชาติมีสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติ "เพียงแค่คุณถือกำเนิดมา คุณก็เสรีแล้ว" (All you have to do to be free is to be born)

ฐานคิดเช่นนี้ผูกหลักสิทธิเสรีภาพเข้ากับมนุษยภาพที่ปลอดนัยทางศีลธรรม(amoral human condition) คือคุณจะเป็นคนดีมีศีลธรรม หรือคนชั่วช้าระยำตำบอนก็แล้วแต่ นั่นไม่เกี่ยว ขอเพียงแต่คุณเป็นคน คุณก็มีสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติที่ได้เกิดมาเป็นคนแล้ว ต่อให้คุณมีสันดานชั่วช้าสารเลวก็ตาม(ง่า...ทั้งนี้ยกเว้นคนบ้า เด็กเล็ก ผู้หญิง ไพร่ทาส ชนชั้นไร้สมบัติซึ่งเป็นพวกไม่มีสิทธิเสรีภาพ แต่เอาเถอะนั่นมันอีกเรื่อง)

ภาวะเสมือนสงครามที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นและเข้าใจโลกทัศน์ไม่เสรีนิยมทั้งของตะวันตกและไม่ตะวันตก ในการมองและจัดการเรื่องนี้ผ่านวาทกรรม วัฒนธรรมและวิธีคิดเสมือนสงครามของผู้นำการเมืองและศีลธรรม ดูเหมือนว่าสำหรับโลกทัศน์ไม่เสรีนิยม ศีลธรรมถูกเน้นความสำคัญยิ่ง จนมนุษยภาพผูกติดกับนัยทางศีลธรรม(The human condition is amaral condition) หากผู้ใดไร้ศีลไร้ธรรม เป็นคนชั่ว(immoral)แล้ว มันผู้นั้นก็ไม่นับเป็นมนุษย์ หากเป็นเสมือนแค่มนุษย์ เปรต อสุรกาย ไม่พึงได้รับการปฏิบัติต่อจากรัฐและสังคมเยี่ยงเพื่อนมนุษย์และสมาชิกร่วมสังคม

หลักสิทธิเสรีภาพในโลกทัศน์ไม่เสรีนิยม จึงเป็นเรื่องที่สงวนไว้สำหรับประยุกต์ใช้กับคนดีเท่านั้น คนชั่วไม่มีสิทธิ และควรถูกริบเอกลักษณ์ความเป็นพลเมืองกับเอกลักษณ์ความเป็นมนุษย์ของมันเสีย

นี่คือกลวิธีการนิยามและสร้างภาพ "ศัตรู" ในสงครามของโลกทัศน์ไม่เสรีนิยมทั้งของตะวันตกและไม่ตะวันตก

4) หัวข้อพูดหลักในการเมืองระยะหลังคือ "ผู้นำที่เข้มแข็ง" "รัฐบาลที่เข้มแข็ง" "รัฐที่เข้มแข็ง" ฯลฯ

ถ้าวาทกรรมคือกระจกสะท้อนสภาวะจิตวิทยา-วัฒนธรรมของสังคม สังคมที่หมกมุ่นพูดเรื่องนี้ก็น่าจะกำลังอ่อนแอยิ่ง ไร้อำนาจยิ่ง อ่อนแอและไร้อำนาจในการจัดการกำกับควบคุมตัวเองและภาวะแวดล้อมทางสังคมเศรษฐกิจและธรรมชาติของตัวเอง จนพร่ำเพรียกเรียกหา "ความเข้มแข็ง" จากรัฐและผู้นำรัฐมาชดเชยและทดแทนไม่ขาดปาก

อุปสงค์ทางภาพลักษณ์ของสังคมได้รับอุปทานตอบสนองจากผู้นำการเมือง บทบาทอันเข้มแข็ง กราดเกรี้ยว เด็ดเดี่ยว เฉียบขาด ฉับพลัน ร้อนแรง รวดเร็ว รอบรู้สารพัดเรื่อง ไม่ฟังใคร ถึงลูกถึงคน ฟันฉับ ระเบิดเปรี้ยง เกทับปลั๊ฟแหลก ฯลฯ ได้รับเสียงไชโยโห่ร้องปรบมือต้อนรับเกรียวกราวสนั่นหวั่นไหว เรตติ้งพุ่งกระฉูด แสดงทีไรคนดูฮือฮาทีนั้น ไม่แสดงทีไรคนดูผิดหวังทีนั้น

จนน่าสงสัยว่าใครกันแน่ที่คุมเกม? ผู้นำหรือตัวภาพลักษณ์ "ความเข้มแข็ง" ที่ผู้นำพยายามแสดงสุดความสามารถ แสดงจนบ่อยครั้งเว่อร์ เพราะกลัวว่าจะแสดงได้ไม่สมภาพลักษณ์อันเข้มแข็งนั้น ไม่สมความคาดหมายของสาธารณชนผู้ชมเหล่านั้น ?

ความหิวกระหายภาพลักษณ์อัน "เข้มแข็ง" ของสังคมที่อ่อนแอไร้อำนาจจึงกลับมีอำนาจย้อนกลับมาควบคุมชักเชิดพฤติกรรมของผู้นำการเมืองได้อย่างเหลือเชื่อ ต่างก็ผูกตรึงซึ่งกันและกันไว้กับบท(ผู้ตามที่อ่อนแอ-ผู้นำที่เข้มแข็ง) อย่างซ้ำซากจำเจไปตลอดกาล

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

"ผมจะขอใช้เสรีภาพในการพูดเป็นครั้งแรกในชีวิตผม
ผมขอบอกให้พวกคุณกลับบ้านไปซะ"
คำกล่าวของชายชาวอิรักผู้หนึ่งต่อทหารอเมริกัน ที่บุกโค่นรัฐบาลเผด็จการซัดดัมและยึดครองกรุงแบกแดด

ในบรรดาบทวิจารณ์สงครามอิรักนานาภาษาจำนวนมากมายอ่านไม่หวาดไม่ไหว (โฟลเดอร์ข้อมูลเรื่องนี้ในคอมพิวเตอร์ของผมใหญ่กว่า ๕ เมกาไบต์แล้ว) ทรรศนะของนักวิจารณ์ที่ผมติดใจเพราะมองการเมืองโลกเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ได้เลือดเย็น ตรงไปตรงมา ไม่ไว้หน้าใครดีเป็นของนาย Perry Anderson บรรณาธิการเก่าแก่ของวารสาร New Left Review และอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคร์ลิฟอร์เนีย ณ นครลอส แองเจลีส

ในบทบรรณาธิการเรื่อง "Force and Consent" (New Left Review, 17 (September/ October 2002), 5-30; และบทความเรื่อง "Casuistries of Peace and War" (London Review of Books, 25:5 (6 March 2003), 12-13; เปอรี่เสนอว่าสงครามรุกรานอิรักของจักรวรรดิอเมริกันเป็นวาระโอกาสอันดี ที่จะรื้อคิดรื้อความเข้าใจการเมืองโลกเสียใหม่ ๖ ประการดังต่อไปนี้: -