มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 274 เดือนมิถุนายน 2546 หัวเรื่อง "แปลงทรัพย์ให้เป็นทุน กระบวนการแย่งชิงทรัพย์จากคนจน" โดย กฤษฎา บุญชัย โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
หากสมาชิกและผู้สนใจ
ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้
หากไม่นับว่าผืนดิน มันควรเป็นทุนประเภทอื่นๆ ทั้งด้านสังคม นิเวศ และเศรษฐกิจ และจัดการด้วยระบบอื่นๆ เช่น สิทธิชุมชน เพื่อความมั่นคงของชุมชนร่วมกันแล้ว เอาแค่สิทธิปัจเจกของชาวนากับการสร้างทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น ก็พบว่ามีปัญหาใหญ่ก็คือ ชาวนาไม่ได้มีทรัพยากรอยู่ในมือที่จะให้แปลงแล้ว เกษตรกรไร้ที่ทำกินไม่ต่ำกว่า 8 แสนครัวเรือน เขาจะเอาที่ดินที่ไหนไปแปลงเป็นทุนได้
สำหรับพื้นที่ สปก.ที่จัดสรรให้เกษตรกรแล้ว 2 ล้านกว่าไร่ โดย สปก.สำรวจว่ามีแค่ร้อยละ 5 ที่มีปัญหาว่าไม่ใช่เกษตรกรจริง แต่ข้อมูลในพื้นที่กลับชี้ในด้านตรงข้าม ชื่อเกษตรกรที่ปรากฏในเอกสาร สปก. ในความเป็นจริงได้ครอบครองโดยกลุ่มทุนผู้มีอำนาจในท้องถิ่น และระดับชาติเป็นจำนวนมาก รัฐจะสะสางอย่างไร หากรัฐบาลจะเร่งแปลงทรัพย์ให้เป็นทุนให้ได้ตอนนี้ ผู้ที่ได้ก็คือ กลุ่มทุนที่ผูกขาดที่ดินมายาวนานแล้วนั่นเอง
จะแปลงทรัพย์ให้เป็นของกลุ่มทุน
หรือจะแปลงสิทธิให้ประชาชน
กฤษฎา บุญชัย - โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
(บทความนี้ยาวประมาณ 5.5 หน้ากระดาษ A4)
นโยบายแปลงทรัพย์ให้เป็นทุน จะสร้างทุนทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร และคนยากจนเพื่อให้สามารถ "รวย" ได้ตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง จนถึงกลับจะทำให้จีดีพีโตขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 หรือจะกลับกลายเป็นกระบวนการแย่งชิงทรัพย์จากคนจนครั้งใหญ่ โดยกลุ่มทุนที่ครองทรัพย์อยู่แล้วในนาม "เกษตรกร" ไม่ว่าจะเป็นที่ สปก. ที่ดินสาธารณะ ที่ป่า และอื่นๆ หรือกำลังจะคิดเข้ามาครอง เพราะนโยบายดังกล่าว สามารถแสวงหาความมั่งคั่ง และผูกขาดทรัพยากรอย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น
ดูเหมือนข้อถกเถียงดังกล่าวจะดุเด็ดเผ็ดมันมากขึ้น แต่จะทำให้เกิดความเข้าใจกระบวนการแปลงทรัพย์และสิทธิเป็นทุนในบริบททุนนิยมของสังคมไทยได้ลึกขึ้นหรือเปล่า ยังเป็นคำถาม เพราะดูเหมือนวิวาทะที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้พยายามตั้งคำถามต่อวิธีคิด และสรุปบทเรียนของการสร้างสิทธิ แปลงสิทธิต่อทรัพยากรให้เป็นทรัพย์ เปลี่ยนให้เป็นทุนและสินค้า ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ป่า และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราไม่ต่ำกว่า 40 ปีได้อย่างเพียงพอ
รัฐบาลทักษิณ ได้นำเข้าแนวคิดแปลงทรัพย์ให้เป็นทุนมาจากนายเออนันโด เดอโซโต นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมชาวเปรู ที่ได้วิเคราะห์ปัญหาความบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ของระบบทุนนิยมในประเทศเปรูเองว่า ระบบโครงสร้างกลไกรัฐ และอื่นๆ ที่มีปัญหาคอรัปชั่น และระบบอำนาจนิยมของราชการ เป็นอุปสรรคให้ระบบทุนนิยมไม่สามารถเข้าถึงและครอบครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงเกิดระบบเศรษฐกิจนอกระบบจากฐานล่างที่หลุดลอด ข้ามพ้นกลไกตลาดในภาคทางการไป เช่น ระบบการผลิต ค้าขายของท้องถิ่นที่ไม่มีพื้นที่ในระบบตลาด กระบวนการบุกยึดที่ดินของคนจนเมือง อันเนื่องจากความล้มเหลวของการปฏิรูปที่ดิน จนเกิดภาวะเก็งกำไรที่ดินอย่างรุนแรง
อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการเศรษฐกิจนอกระบบ เกิดขึ้นจากปัญหาโครงสร้างของรัฐ และตลาดที่ทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งนับวันเศรษฐกิจนอกระบบจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนใหญ่กว่าเศรษฐกิจในระบบ จนรัฐและกลุ่มทุนคุมไม่ได้หรือตักตวงได้น้อยด้วย
หลักการแปลงสิทธิ หรือทรัพย์ให้เป็นทุนจึงเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยน ถ่ายโอนเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบที่รัฐและกลไกตลาดคุมได้ นั่นหมายความว่า ให้คนจนทั้งหลายขึ้นมาชกบนเวทีกับคนรวย ภายใต้กติกาที่รัฐและทุนกำหนดไว้ แทนที่จะไปชกนอกเวที โดยต้องปรับรื้อระบบกรรมสิทธิ์ต่อทรัพย์สินให้ชัดเจน แทนที่คนจนจะใช้สิทธิการใช้ทรัพยากรเพื่อทำกินแบบปัจเจก และชุมชน ก็เปลี่ยนให้เป็นกรรมสิทธิ์ปัจเจกตามกฎหมาย แล้วทีนี้ดูเหมือนว่า คนจนจะมีเครื่องมือต่อสู้กับคนรวยในเวทีเศรษฐกิจในระบบแล้ว
คำถามพื้นฐานก็คือ เราอยากให้กลไกของทุนนิยมครอบครองทุกปริมณฑลอย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่เดอโซโต้ และรัฐบาลทักษิณต้องการหรือไม่ ในสังคมไทยยังมีพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สังคมแบบอื่นๆ ที่ยังเล็ดรอดการผูกขาดโดยกลไกตลาดหรือไม่ ถ้ามีเราควรจะเหลือพื้นที่เหล่านี้ไว้ไหม แม้กระทั่งสร้างให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ สังคมแบบอื่นๆ ที่เข้มแข็งและถ่วงดุลกับกลไกตลาดที่มีลักษณะกึ่งผูกขาดในเวลานี้หรือไม่ ถ้าใช่ควรจะแปลงอะไรเพื่ออะไร บทเรียนของสังคมไทยตอบคำถามได้บ้างไหม
รัฐไทยเริ่มสร้างสิทธิ์แบบใหม่ คือ กรรมสิทธิ์ปัจเจกต่อทรัพยากร ครอบทับลงไปบนสิทธิการใช้ทรัพยากรของท้องถิ่นมาตั้งแต่สนธิสัญญาเบาวริ่ง (พ.ศ.2398) โดยเฉพาะในเรื่องที่ดิน และป่าต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ออกประกาศโฉนดที่ดิน ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) โดยนำแนวคิดระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกมาจากประเทศออสเตรเลีย การรื้อสิทธิแบบเดิมของชาวบ้าน แทนที่ด้วยสิทธิปัจเจก เพื่อให้เป็นทรัพย์และทุนนั้นมิได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นจากความต้องการของรัฐในการเร่งผลิตข้าวเพื่อส่งออก โดยมีพื้นที่เป้าหมายการผลิตคือ ภาคกลาง ทั้งนี้รัฐยังได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โครงการขุดคลองรังสิต สร้างระบบชลประทาน
ผลที่ตามมาในไม่นานก็คือ เราผลิตข้าวส่งออกได้มากขึ้น แต่คนที่ได้โฉนด ครอบครองที่ดินกลับเป็นคนชั้นสูง เช่น บริษัทขุดคลองแลคันนาสยาม เป็นเจ้าของที่ดินถึง 8 แสนไร่ในจังหวัดปทุมธานี อยุธยา และสระบุรี เมื่อมาถึงปี 2470 ก็เริ่มพบแล้วว่า ร้อยละ 36 ของชาวนาภาคกลางไร้ที่ทำกิน
โฉนดที่รัฐอยากออกให้ ไปไม่ถึงมือชาวนา เพราะในช่วงนี้ระบบทุนนิยมยังไม่ครอบงำในระดับล่าง ชาวนายังมองนาเป็น "ผืนดิน" อันเป็นฐานที่ชุมชนใช้ทำมาหากิน ที่ต้องโยงกับป่า และน้ำ ในระบบนิเวศร่วมกัน ต้องโยงการเข้าใช้ดินและทรัพยากรอื่นๆ ระหว่างครอบครัวกับเพื่อนบ้านในฐานะที่เป็นฐานทางสังคมร่วมกัน ต้องโยงเรื่องความมั่นคงของชุมชนกับปากท้องของครอบครัว ดังนั้น ผืนดิน ไม่ใช่ "ที่ดิน" โดดๆ โดยตัวมันเอง ชาวนาช่วงนั้นจำนวนไม่น้อยจึงไม่อยากได้โฉนด และเกรงจะต้องเสียภาษี แต่คนที่อยากได้คือชนชั้นสูงที่กำลังเร่งสั่งสมความมั่งคั่งจากทรัพยากร
แม้ต่อมาระบบคิดของชาวนาต่อ "ผืนดิน" ได้เริ่มเปลี่ยนมาเป็น "ที่ดิน" มากขึ้น ตามแรงผลักของกลไกทุนนิยม กระนั้นที่ดินก็ยังไม่ได้อยู่ในมือชาวนาอยู่ดี เพราะเมื่อฐานทรัพยากรของสาธารณะ เช่น ผืนป่า ที่ดินสาธารณะที่รัฐดูแล ฐานทรัพยากรของท้องถิ่น ที่ดินของชุมชน ป่าชุมชน ที่คนในท้องถิ่นจัดการร่วมกัน เพื่อทุนหลายประเภทที่เชื่อมโยงกัน คือ ทางเศรษฐกิจ กับทุนทางสังคม ภูมิปัญญา และทุนนิเวศ ได้ลดทอนเหลือทุนทางเศรษฐกิจของปัจเจก ชาวนาทิ้งความเป็นชุมชน อาศัยความเป็นปัจเจกเข้าไปสู้กับกลไกตลาด และยังถูกกำกับด้วยนโยบายการเกษตรเชิงพาณิชย์ และนโยบายการพัฒนาชุดอื่นๆ ที่เน้นการถ่ายโอนมูลค่าภาคเกษตร ภาคชนบทมาสร้างเมืองและอุตสาหกรรม โดยกดสินค้าเกษตรให้ต่ำเข้าไว้
เกษตรกรทั่วประเทศจึงประสบปัญหาหนี้สินพ้นตัว แม้รัฐจะตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในปี 2509 เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบของชาวนา แปลงหนี้นอกระบบให้กลายเป็นหนี้ในระบบ แต่กลับเป็นว่า เป็นการสร้างเจ้าหนี้เพิ่มให้ชาวนามากขึ้นกว่าเดิม วงจรหนี้ทบหนี้จึงเพิ่มพูน ทั้งๆ ที่แปลงทรัพย์เป็นทุนให้แล้ว สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แล้ว จัดการระบบการเงินให้ด้วย พร้อมกับส่งเสริมเทคโนโลยี อีกทั้งประกันราคาพืชผลให้อีก
อาจโต้แย้งได้ว่า รัฐพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ให้ซ้ำรอยเดิมโดยการใช้นโยบาย กฎหมายเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าเข้ามาจัดการกับการกระจุกตัวที่ดิน และมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิอย่างจริงจัง แต่คำถามก็คือ แนวคิดที่ใช้ต่างกับบทเรียนอันล้มเหลวอย่างไร ในเมื่อปัญหาการสูญเสียที่ดินที่ผ่านมา ไม่ใช่ปัญหาแค่การปฏิบัติการ แต่เป็นปัญหาเชิงฐานคิดว่า การแปลงทรัพย์เป็นทุน มันตอบคำถามกับความมั่นคงและยั่งยืนของชีวิตชาวนาหรือไม่ ?
หากไม่นับว่าผืนดิน มันควรเป็นทุนประเภทอื่นๆ ทั้งด้านสังคม นิเวศ และเศรษฐกิจ และจัดการด้วยระบบอื่นๆ เช่น สิทธิชุมชน เพื่อความมั่นคงของชุมชนร่วมกันแล้ว เอาแค่สิทธิปัจเจกของชาวนากับการสร้างทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น ก็พบว่ามีปัญหาใหญ่ก็คือ ชาวนาไม่ได้มีทรัพยากรอยู่ในมือที่จะให้แปลงแล้ว เกษตรกรไร้ที่ทำกินไม่ต่ำกว่า 8 แสนครัวเรือน เขาจะเอาที่ดินที่ไหนไปแปลงเป็นทุนได้
สำหรับพื้นที่ สปก.ที่จัดสรรให้เกษตรกรแล้ว 2 ล้านกว่าไร่ โดย สปก.สำรวจว่ามีแค่ร้อยละ 5 ที่มีปัญหาว่าไม่ใช่เกษตรกรจริง แต่ข้อมูลในพื้นที่กลับชี้ในด้านตรงข้าม ชื่อเกษตรกรที่ปรากฏในเอกสาร สปก. ในความเป็นจริงได้ครอบครองโดยกลุ่มทุนผู้มีอำนาจในท้องถิ่น และระดับชาติเป็นจำนวนมาก รัฐจะสะสางอย่างไร หากรัฐบาลจะเร่งแปลงทรัพย์ให้เป็นทุนให้ได้ตอนนี้ ผู้ที่ได้ก็คือ กลุ่มทุนที่ผูกขาดที่ดินมายาวนานแล้วนั่นเอง
หรือหากเป็น สปก.ในส่วนที่เกษตรกรถือครองจริง เมื่อสิทธิที่ดินถูกแปลงให้เป็นทุน มีสถานภาพเป็นหลักทรัพย์ได้ แต่ธนาคารจะปล่อยเงินกู้โดยดูที่หลักทรัพย์เท่านั้นหรือ? คำตอบคงไม่ใช่ เพราะต้องดูความเป็นไปได้โครงการดังกล่าวจะมีหลักประกันว่าสร้างกำไรได้แน่ ด่านนี้เกษตรกรก็เจอกำแพงอันใหญ่โตแล้ว เพราะสินค้าเกษตรทุกประเภทภายใต้ระบบการค้าเสรี มีราคาตกต่ำลงตลอด จะผลิตอะไร แค่ทุนที่เป็นผืนดินกระจ้อยร่อยพอไหมที่จะแข่งกับกลุ่มทุนในสินค้าประเภทเดียวกัน ภูมิปัญญาชาวบ้าน และระบบเศรษฐกิจพอเพียงลืมไปได้เลย เพราะต้องเป็นเทคโนโลยีและทุน และสายป่านที่เข้มแข็งถึงจะตอบคำถามเรื่องกำไรได้
แม้ธนาคารเอกชนจะไม่ยอมรับโครงการที่ดูไม่กำไร แต่หากรัฐผลักให้ธนาคารรัฐมารับ ปล่อยเงินกู้ให้ชาวบ้านได้ ปัญหาหนี้สินก็ยิ่งหนักหน่วง เพราะรัฐยังตอบคำถามไม่ได้เรื่องตลาด ท้ายที่สุดหนี้เสียที่พอกพูน ทรัพยากรในมือของชาวบ้านก็จะหลุดลอย ดังที่รัฐระบุไว้แล้วว่า เกษตรกรที่มีปัญหาใช้หนี้ก็ต้องเปลี่ยนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้อื่นที่มีความสามารถมากกว่า มีทุนและเทคโนโลยีมากกว่า
ดูเหมือนนโยบายแปลงทรัพย์ให้เป็นทุนจะไม่ได้สร้างแนวคิดใหม่เลย เพียงแต่ทำให้ระบบทุนนิยม กลไกตลาดเข้าไปทำงานให้สมบูรณ์แบบ และทรัพยากรทั้งหมดก็จะไหลไปสู่มือกลุ่มทุน การจัดการทรัพยากรก็เพื่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น
มีความเป็นไปได้ไหมที่เราจะหาทางแปลงสิทธิให้เป็นทุนอย่างไรที่จะไม่กลับไปสู่วงจรเก่าๆ เราอาจจะต้องเริ่มต้นจากคำถามพื้นฐานว่า ประชาชนมีสิทธิในทรัพยากรแล้วหรือยัง ถ้ายังทำอย่างไรให้มี
นโยบาย กฎหมายเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ภาษีอัตราก้าวหน้า การวางผังจัดการที่ดินจะต้องเป็นนโยบายชุดแรกที่ต้องปฏิบัติการ เพื่อลดทอนการกระจุกตัวของที่ดินลงมา ให้ที่ดินราคาถูกลง ที่รัฐสามารถเข้าถึงและกระจายที่ดินให้แก่ประชาชนได้อย่างพอเพียง ในขั้นนี้ต้องยังไม่ดำเนินการแปลงทรัพย์เป็นทุนอะไรทั้งสิ้น จนกว่าเกษตรกร คนจนจะเข้าถึงที่ดินได้
ระบบสิทธิที่จะนำมาใช้ควรมีหลายประเภท หากมองพัฒนาการที่ผ่านมาในระดับพื้นที่ เราจะพบว่า ชาวบ้านพยายามที่จะพัฒนาระบบสิทธิต่อการจัดการที่เหมาะสม เมื่อระบบสิทธิปัจเจกในที่ดินหรือทรัพยากรอื่นๆ เป็นจุดอ่อนของเกษตรกร ทำอย่างไรถึงจะทำให้เกษตรกรที่เคยสู้แบบปัจเจก นำความเป็นชุมชนเข้ามาสนับสนุน ใช้ระบบชุมชนเข้ามากำกับ ไม่ให้ตนเองต้องเสียเปรียบกับกลไกตลาด
เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากขบวนการเคลื่อนไหวผลักดันป่าชุมชน ที่ใช้ความเป็นชุมชนเข้ามาปกป้องการบุกรุก แย่งชิงทรัพยากรจากภาครัฐและทุน ทำให้ชาวบ้านยังคงรักษาป่าไว้ได้ อีกทั้งยังยกระดับสร้างสิทธิการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชนโดยยกระดับให้เป็นกฎหมาย นั่นเท่ากับแปลงสิทธิแบบปัจเจก หรือสิทธิรัฐที่เป็นสิทธิเชิงเดี่ยวให้เป็นสิทธิชุมชนอันเป็นสิทธิเชิงซ้อน เพื่อทุนทางนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจของชุมชน
หลักการดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นในการจัดการที่ดินด้วย ชาวนาในภาคเหนือ อีสาน แม้แต่ชุมชนแออัด ได้เริ่มเสนอระบบโฉนดที่ดินชุมชนขึ้นมาแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า สิทธิการจัดการที่ดินร่วมจะไม่ทำให้ที่ดินเป็นสินค้า นายทุนจะไม่สามารถมาซื้อที่ดินทั้งชุมชนได้ ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชนจึงเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงในที่ดินของชุมชน
จากระบบสิทธิสู่การแปลงให้เป็นทุน ชาวบ้านก็พบอีกเช่นกันว่าหากสร้างสิทธิการจัดการที่ดิน เราสามารถสร้างทุนหลายประเภทได้ ป่าชุมชนได้สร้างทุนทางนิเวศในเรื่องการรักษาต้นน้ำลำธาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และทุนทางสังคมในด้านความร่วมมือ ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน การสร้างความรู้ พัฒนาภูมิปัญญาร่วมกัน ก็เป็นทุนทางวัฒนธรรมอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น เป้าหมายการแปลงสิทธิให้เป็นทุน จึงต้องคิดถึงทุนที่หลากหลาย เพราะหากเน้นแต่ทุนเศรษฐกิจประเภทเดียว ก็จะไปสร้างปัญหาให้กับทุนประเภทอื่น และในชีวิตจริงชาวบ้านต้องอยู่กับทุนทุกประเภท
แม้แต่การสร้างทุนทางเศรษฐกิจเอง ก็มีตัวอย่างมากมายของระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ตั้งแต่กลุ่มออมทรัพย์ที่ชาวบ้านมีวินัยมากกว่ากองทุนหมู่บ้านหลายเท่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าชุมชน ลุ่มน้ำ การวางแผนการใช้ที่ดิน การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นก็สร้างเศรษฐกิจชุมชนเติบโตขึ้นมากมาย และการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่หลากหลาย การสร้างตลาดท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับภาคการบริโภคในเมือง
ทุนทางเศรษฐกิจในข้อนี้เห็นได้ชัดเจนระหว่าง การสู้ลำพังของเกษตรกรรวยเอง จนเอง กับการมีชุมชนเป็นหลังอิงในการต่อสู้ อย่างไหนจะเข้มแข็งกว่ากัน
กระบวนการสร้างสิทธิให้ประชาชน โดยใช้ระบบสิทธิการจัดการร่วมของท้องถิ่น และแปลงให้เป็นทุนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และนิเวศนั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีโครงสร้างทางนโยบาย กฎหมายรองรับ ทั้งการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญ การออกกฏหมายเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน กฎหมายที่รับรองโฉนดชุมชน กฎหมายการใช้มาตราภาษีอัตราก้าวหน้า นโยบายการวางแผนการใช้ที่ดินโดยประชาชน นโยบายสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่หลากหลาย โดยทั้งนี้ยังจะต้องมีนโยบาย กฎหมาย ควบคุมการผูกขาดการเกษตร ปกป้องเกษตรกรจากระบบการค้าเสรี แทนที่จะให้ชุมชนปะทะกับทุนโลกาภิวัตน์โดยตรง
ชุดข้อเสนอเหล่านี้ หาได้เกิดจากนักวิชาการคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทุนทางปัญญาที่ประชาชนร่วมกันสร้างมา โดยชี้ให้เห็นว่า มีพื้นที่แบบอื่น เศรษฐกิจแบบอื่นที่เป็นไปได้ ไม่ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาดที่ผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ ประชาชนสามารถสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ตนเองมีอำนาจควบคุมได้ แทนที่จะดันเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ ให้คนจนสู้ในเวทีเดียวเงื่อนไขเดียวกับคนรวยโดยที่ตนเองกำหนดชะตากรรมไม่ได้ ดังที่รัฐบาลทักษิณกำลังจะทำตามข้อเสนอของเดอโซโต้
ไม่คิดบ้างหรือครับว่าเปรูน่าจะดูบทเรียนไทยด้วย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)