เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยิน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ประธานาธิบดี Jacques Chirac ใช้โอกาสนั้นพูดถึงโลกหลายขั้วที่เขาอยากเห็น มันเป็นโลก 5 ขั้ว กล่าวคือ โลกหลายขั้วที่ Chirac ต้องการคือยุโรปที่เข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นหุ้นส่วนและไม่ได้เป็นพันธมิตรของอเมริกา แต่เป็นแรงถ่วงดุลกับอเมริกา เป็น counter weight กับอเมริกา มีเพื่อไม่ใช่ไปอยู่เคียงแนบชิดกับอเมริกา แต่อยู่เพื่อถ่วงอเมริกา
ในโลก 5 ขั้วนี้จะมี อเมริกาหนึ่งขั้ว, ยุโรปหนึ่งขั้ว, จีนหนึ่งขั้ว, อินเดียหนึ่งขั้ว, และลาตินอเมริกาหนึ่งขั้ว. นี่คือโลก 5 ขั้วที่ Chirac อยากเห็น
(ตัดมาบางส่วนจากบทความ)
110646
Unipolar World
Unipolar World
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว"
4 ประเทศไปประชุมกันที่บรัสเซลเพื่ออะไร? เพื่อจะหาทางสร้างแกนการประหารของยุโรปนอก NATO อยากจะมีกองกำลังทางทหาร อยากจะมีแผนการณ์การทหารของ 4 ประเทศนี้เป็นอิสระจาก NATO ก็คืออยากจะเป็นแรงถ่วงดุลจากอเมริกา ดังนั้น Blair จึงให้สัมภาษณ์ดักหน้าว่ากูไม่เอาด้วยกับมึงนะ กูเห็นด้วยกับโลกขั้วเดียว

Tony Blair ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Time ของอังกฤษ ณ วันที่ 28 เมษายน 2003 โดยมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยวคือ... เป็นโลกขั้วอำนาจเดี่ยวที่ยุโรปเป็นพันธมิตรและเป็นหุ้นส่วนกับอเมริกา โดยยุโรปควรจะเข้มแข็งขึ้น และมีพลังมากขึ้น แต่ไม่ได้แยกตัวไปต่างหากแล้วก็ถ่วงอเมริกา

โดยที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ข้างเดียวกันโดยเรียกว่า"เสรีประชาธิปไตย" และข้างตรงข้าม ศัตรูของข้างนี้ในโลกคือสิ่งที่เขาเรียกว่า"Fundamentalism"หรือลัทธิเคร่งศาสนาทั้งหลาย กับ Terrorism หรือลัทธิการก่อการร้าย
ภายใต้โลกที่มีขั้วอำนาจเดี่ยวโดยมีอเมริกาและยุโรปจับมือร่วมกันเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตร กลุ่มอำนาจอื่น มหาอำนาจอื่นสามารถมาร่วมมือกันได้ มาเป็นข้างเดียวกันได้ สุดท้ายโลกเราจะมีขั้วอำนาจเดียวคือ อเมริกากับคนอื่นๆทั้งหลาย คนยุโรปจะเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรกับอเมริกา นี่คือภาพที่เขาวาด

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 276 เดือนมิถุนายน 2546 หัวเรื่อง "The Unipolar World" โดย เกษียร เตชะพีระ

โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว(ตอน ๒)
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาฯ คณะสังคมศาสตร์ มช.
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนับสนุนโดย สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นำสนทนาโดย ดร.เกษียร เตชะพีระ, ดร.ประมวล เพ็งจันทร,์ อ.ซอและฮ์ แสวงศิริผล, อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 เวลา 13.30 -- 16.00 น
ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติงาน ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว (ตอนที่สอง)
(ความยาวประมาณ 24 หน้ากระดาษ A4)

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ผมต้องออกตัวเช่นเดียวกันว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ส่วนประเด็นที่จะพูดในวันนี้มีด้วยกัน 4 ประเด็น

อันแรก เป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศกับระเบียบโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นว่ามีปัญหาความไม่ลงรอยอย่างไรบ้าง?
ประเด็นที่สอง คิดว่าสิ่งที่เรียกว่า Preventive War หรือสงครามเพื่อการป้องกันล่วงหน้า มันกำลังเป็นข้อเสนอจาก ดอน คาริโอเน่ที่ปฏิเสธไม่ได้หรือเปล่า?

อันที่สาม สิ่งที่เราจะต้องคิดกันคือว่า สิ่งที่เรียกว่า Preventive War เอาเข้าจริงๆแล้วมันต่างจากสิ่งเรียกว่าการก่อร้ายหรือไม่ ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่เราจะต้องขบคิด เพราะหลังจากที่มันถูกเสนอขึ้นมาเป็นมาตรการหรือกฎเกณฑ์อันใหม่ที่อเมริกาพยายามนำเสนอให้โลกรับรอง ผมคิดว่าการทำงานของสิ่งที่เรียกว่า Preventive War มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ซึ่งควรจะต้องวิเคราะห์กันดู
อันที่สี่ คือเรื่องอนาคตของโลกในยุคที่เรียกว่า มหาอำนาจเดี่ยว จะเป็นไปอย่างไร?

ประเด็นแรก กฎหมายระหว่างประเทศกับระเบียบโลกใหม่
บนรากฐานของกฎหมายระหว่างประเทศยุคใหม่ เขาเชื่อว่า รัฐแต่ละรัฐเท่าเทียมกัน ไม่ว่าลาวหรืออเมริกา การป้องกันตนเองให้พ้นจากการคุกคามของรัฐอื่นโดยใช้กำลังเข้ามารุกรานเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เนื่องจากว่ารัฐแต่ละรัฐต่างมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง

กฎเกณฑ์ของโลกที่ดำรงอยู่ ทั้งองค์กรและสถาบันที่มีอยู่ในปัจจุบัน กฎเกณฑ์ของมันเหล่านี้เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเป็นการจัดระเบียบโลกครั้งสำคัญ ถ้าเรามองดูประเทศที่เป็น Big 5 อยู่ในองค์การสหประชาชาติ ล้วนแต่เป็นผู้ชนะสงครามทั้งสิ้น หมายความว่าอะไร? หมายความว่านี่คือการจัดระเบียบของกลุ่มประเทศที่มีอำนาจในโลก แล้วก็บวกประเทศเล็กประเทศน้อย อย่างประเทศไทยรวมเข้าไปด้วย

การเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มา ผมคิดว่าสิ่งที่องค์การสหประชาชาติได้ทำคือ มันได้พยายามจะสร้างกฎเกณฑ์สากลว่า ต่อไปนี้การใช้กำลังของรัฐแต่ละรัฐ จะต้องไม่เกิดขึ้นโดยรัฐนั้นๆ แต่ต้องกระทำผ่านสหประชาชาติ คือพูดง่ายๆเปรียบเทียบกันสิ่งที่เรารู้จักก็คือ แทนที่แต่ละรัฐซึ่งมีความขัดแย้งกัน แทนที่จะปล่อยให้ชาวบ้านกับชาวบ้านตีกันเอง ต่อไปนี้กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศบอกว่า อย่าตีกัน ถ้ามีอะไรให้มาผ่านองค์การสหประชาชาติ เพราะองค์การสหระชาชาติจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรใช้หรือไม่ควรใช้กำลังในการแก้ไขความขัดแย้ง อันนี้เป็นความพยายาม แต่มันจะสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สิ่งที่ตามและสำคัญคือ สหประชาชาติมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่จะสามารถอนุญาตให้ใช้กองกำลังของสหประชาชาติได้ ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง อันนี้เป็นข้อสรุปซึ่งเป็นบทเรียนจากเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวยิวกว่า 6 ล้านคน บวกกับพวกยิปซีเกือบ 5 แสนถูกฆ่าตาย

แม้ว่าระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะบอกว่า รัฐแต่ละรัฐมีอธิปไตยห้ามรุกรานกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราก็ไม่ได้ปล่อยให้รัฐแต่ละรัฐมีเอกราชอย่างสุดขั้ว มันมีโอกาสที่จะเปิดให้องค์การสหประชาชาติเข้าไปแทรกแซงได้ ถ้ามีการกระทำที่เป็นการกดขี่ทารุณอย่างรุนแรงและชัดเจน หรือพูดง่ายๆ จากบทเรียนของสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บางสิ่งบางอย่างมันเปิดโอกาสให้สหประชาชาติเข้าไปได้ อันนี้เป็นมรดกที่ถูกสืบทอดมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ว่าแน่นอน การบังคับใช้มันไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนี้ทั้งหมด

ข้ออ่อนหรือจุดบกพร่องของกฎหมายระหว่างประเทศที่มันชัดเจน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้แม้กระทั่งปัจจุบันคือ มันไม่เหมือนกับกฎหมายภายในรัฐ ภายในรัฐมันมีรัฐที่ใช้อำนาจอยู่ แต่ถามว่าในกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเกิดคู่กรณีไม่เคารพ ไม่สนใจกับสหประชาชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร?

ผมคิดว่าในแง่มุมหนึ่งซึ่งมีคนโต้แย้งกฎหมายระหว่างประเทศคือ เอาเข้าจริงๆ กฎหมายระหว่างประเทศมันอาจไม่ต่างไปจากกฎหมู่ระหว่างประเทศก็ได้ คือ ถ้าเรื่องไหนที่ชาติใหญ่ๆเห็นด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เห็นด้วย เป็นอันว่าเรื่องนั้นตกลงกันได้ แต่ถ้าเกิดมีปัญหาที่ชาติใหญ่ๆเหล่านี้ตกลงกันไม่ได้ ไม่เห็นด้วยก็เป็นปัญหา และทำให้องค์การสหประชาชาติไร้น้ำยา เหมือนกับกรณีที่มันไร้น้ำยาในกรณีของสงครามอิรัค

ตัวอย่างในราวันดาในปี 1994 ซึ่งก็เป็นประเทศที่ถูกขีดลงบนแผนที่โดยตะวันตกอีกเหมือนกัน ผลปรากฎว่ามันเกิดสงครามระหว่างเผ่าตุ๊ดซี่กับเผ่าวูตู มีคนตาย 8 แสนคนภายใน 2 เดือน มีนักวิชาการบางคนคำนวณแล้วว่า ด้วยอัตราการตายโดยความเร็วขนาดนี้ เขาบอกว่ามันเหนือกว่าสมัยที่เยอรมันทำกับยิวไม่ต่ำกว่า 4 เท่าตัว แม้ว่าชาวยิวจะตายมากกว่า แต่ด้วยสัดส่วนที่คำนวณแบบนี้ มันเจ๋งกว่า

UN ทำอะไรบ้างกับกรณีนี้. UN ไม่ได้เข้าไปทำอะไร, UN ถอนกำลังออกมา เพราะว่าอะไร? เพราะอเมริกาไม่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ประเทศเพื่อบ้านทนดูไม่ได้ อัฟริกากับเคนยาส่งกองกำลังเข้าไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสหประชาชาติ เพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มันเกิดขึ้นกับชนสองเผ่านี้

คำถามคือว่า การละเมิดของอัฟริกากับเคนยาโดยตรงแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นหรือไม่ควรเกิดขึ้น? ผมว่าต่อกรณีนี้ ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดประณามอัฟริกากับเคนยา ด้วยการส่งกองกำลังเข้าไปเพื่อยุติการนองเลือด

ระเบียบโลกที่มันถูกจัดขึ้นโดยมีสหประชาชาติ และองค์กรอื่นๆ คิดว่ามันดำรงอยู่ได้จนกระทั่ง 1989 ปีที่รัสเซียคอมมิวนิสต์ล่มสลาย เกิดสิ่งที่ขั้วอำนาจที่เคยมีเป็นคู่ บัดนี้มันได้เปลี่ยนไป มันทำให้เกิดมหาอำนาจ หรือ Hyper Power อย่างที่ อ.เกษียรว่า เราเกือบจะได้เห็นอะไรสำหรับสงครามอิรัคครั้งนี้ สิ่งที่เราเกือบจะได้ดูก็คือ การเพิกเฉยต่อการวีโต้ของ Big 5 เป็นครั้งแรก

หมายความว่าอะไร? ตอนที่อเมริกาหึ่มๆว่าจะเข้าไปในอิรัค อเมริกาพยายามจะเข้าไปขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งผลปรากฏว่า รัสเซีย ฝรั่งเศส เตรียมตั้งท่าอยู่แล้ว ถ้าเผื่อเข้ามาจะวีโต้ ถ้าเกิดมีการวีโต้เกิดขึ้นแล้วอเมริกาไม่ฟังเสียงการวีโต้ และบุกเข้าไปในอิรัค นี่จะถือเป็นครั้งแรกที่ Big 5 มันไม่สนใจกัน เราเกือบจะได้เห็นปรากฏการณ์อันนี้เกิดขึ้นก็คือว่า

มีประเทศมหาอำนาจ 5 วีโต้ แต่อเมริกาไม่สนใจ และได้ลุยเข้าไปในอิรัค อันนี้จะถือเป็นครั้งแรก แต่ผลปรากฏว่า อเมริกาเลือกที่จะไม่ใช้ช่องทางนี้ อเมริกาไม่ขอมติจากสภาความมั่นคงอีกต่อไป พร้อมลุยเข้าไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ระเบียบโลกที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พอมาถึงปัจจุบัน มันผ่านการล่มสลายของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่าองค์กรระหว่างประเทศและกฎเกณฑ์ต่างๆ มันเริ่มไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง

มีนักประวัติศาสตร์ชื่อ พอล เคนเนดี้ จากมหาวิทยาลัย Yale ได้ลองวิเคราะห์ว่า องค์กรต่างๆมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร? ผมขอยกตัวอย่างบางองค์กร เช่น นาโต้ เขาบอกว่าจะเปลี่ยนแน่ เพราะอะไร? เพราะว่านาโต้เกิดขึ้นมาในยุคสงครามเย็น มันมีกลุ่มประเทศอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า วอร์ซอ แพค อันเป็นกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์มารวมตัวกัน นาโต้เกิดขึ้นมาเพื่อการณ์นี้ แต่ว่าตอนนี้มันไม่มีแล้ว กลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ เพราะบางประเทศมันสลายตัวและตั้งท่าจะมารวมอยู่ในนาโต้เสียด้วยซ้ำ คือพวกที่เคยเป็นศัตรูตอนนี้กลืนมาเป็นพวกเดียวกันแล้ว

ประเด็นที่สอง"ภัยคุกคามสหรัฐฯ" ซึ่งเมื่อก่อนมันตั้งฐานอยู่ในยุโรป แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มันกระจายไปอยู่ไหน? คำตอบคือ มันกระจายไปอยู่ในกลุ่ม"พันธมิตรแห่งมาร" ไม่ใช่พันธมิตรแห่งแหวน หรือ Lord of the Ring. มันเป็น"พันธมิตรแห่งมาร"ที่อเมริกากำลังพูดอยู่ อิรัคโดนไปแล้ว ตอนนี้ก็เหลือเกาหลีเหนือ จอร์แดน เหลือใครต่อใคร

อันที่สาม ประเทศในยุโรปทั้งหมดถ้าดูแล้วไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำสงครามด้วยตัวเอง ยกเว้นอังกฤษ ฝรั่งเศส ทั้งหมดต้องพึ่งพาสหรัฐฯ เขาบอกว่า NATO เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งต้องเปลี่ยนแน่ในอนาคต ภาระหน้าที่ในทางประวัติศาสตร์ของมันได้เสร็จสิ้นลงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? คำถามต่อมาก็คือว่า แล้ว UN ล่ะ, UN จะเป็นอย่างไรในอนาคต? ผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจครับ

ถ้าเกิดสหรัฐฯประกาศว่า จะบุกประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรแห่งมาร จะเกิดอะไรขึ้นกับ UN รอยแตกที่มันเคยฉีกขาดออก มันจะฉีกกว้างขึ้นกว่านั้นหรือเปล่า หรือ UN จะแปลงสภาพไปเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้อำนาจของอเมริกา สิ่งที่เราเห็นเค้าลางในตอนนี้ในระดับโลกก็คือว่า UN ยังอยู่ ยังจะไม่ไปไหน แต่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นคือ อเมริกาก็สถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นองค์กรโลกบาลอีกองค์กรหนึ่งควบคู่กันไป ผมคิดว่านี่จะเป็นปรากฎการณ์ในระยะสั้นที่จะทำให้เราเห็นว่า UN จะอยู่ก็อยู่ไป เรื่องไหนจำเป็นต้องใช้ UN ก็ใช้ไป เรื่องไหนไม่จำเป็นต้องผ่าน UN ไม่ต้องผ่าน

เพราะฉะนั้น กฎเกณฑ์หรือระเบียบโลกซึ่งเคยพูดกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ถึงวันนี้มันต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไรคงต้องว่ากัน

เรื่องที่สอง ซึ่งสำคัญคือ Preventive War หรือเราจะเรียกมันว่า "สงครามที่เป็นการป้องกันล่วงหน้า"
ปกติแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศโดยจารีต การใช้กำลังซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ ก่อนหน้าที่อเมริกาจะบุกอิรัค การใช้กำลังซึ่งเป็นที่ยอมรับกันคือ แต่ละรัฐจะใช้ได้เพื่อเป็นการป้องกันการรุกรานของรัฐอื่นด้วยอาวุธ ส่วนการรุกเข้าไปในดินแดนของรัฐอื่นอย่างเปิดเผยคือสิ่งที่ต้องห้าม

UN จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรจะส่งกองกำลังเข้าไปหรือเปล่า ผมคิดว่านี่เป็นจารีตที่ถูกกำหนดขึ้นมานับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่ขณะนี้กฎเกณฑ์ดังกล่าว มิได้หมายความว่าจะไม่มีใครฝ่าฝืน ความจริงมันมี

ถ้าเราดูหนังเรื่อง Black Hawk Down นั่นเป็นตัวอย่างที่อเมริกาบุกเข้าไปในประเทศอื่น แต่เวลาเราดูเราจะลุ้นว่า อเมริกาจะรอดไหม? ทหารอเมริกันเข้าไปรุกรานในประเทศอื่น อเมริกาไม่ได้ทำเพียงแค่นั้น ในนิคารากัว อเมริกาทำสิ่งที่แย่กว่านั้น กล่าวคือได้ไปวางระเบิดโรงกลั่นน้ำมันในประเทศนิคารากัว ไปวางทุ่นระเบิดทำลายท่าเรือ แล้วส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปรบ

ถามว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้มันเกิดขึ้นขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศหรือเปล่า? มันขัด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การที่อเมริกาทำแบบนี้ไม่ได้ทำแบบที่ทำกับอิรัค ไม่ได้ออกมาประกาศทาง CNN ว่าจะรุกแล้วนะ ไม่ใช่! อเมริกาทำแบบกระมิดกระเมี้ยนทำ ทำแบบปิดๆ. แต่ถึงแม้ว่าจะทำแบบปิดๆ อเมริกาเคยถูกพิพากษาโดยศาลโลกว่า การที่คุณเข้าไปในนิคารากัว มันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ว่าก็ทำอะไรอเมริกาไม่ได้

การใช้กำลังเพื่อป้องกันตนเอง เป็นไปได้ ส่วนการรุกเข้าไปในประเทศอื่น เป็นไปไม่ได้. แต่สิ่งที่อเมริกาทำอยู่ในขณะนี้ อเมริกาบอกว่า ต่อไปนี้การรุกเข้าไปในประเทศอื่น สามารถทำได้. อเมริกาเสนอว่าจะต้องมีสงครามที่เป็นการป้องกันล่วงหน้า หรือ Preventive War หรือมันเป็น anticipatory self defense คือถ้าอเมริกาคาดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น สามารถป้องกันตนเองเอาไว้ก่อนได้

แต่เดิมต้องรอให้มีการใช้อาวุธเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงลุยเข้าไปในรัฐนั้น แต่สิ่งที่เรียกว่า สงครามเพื่อป้องกัน มันต่างไปจากเดิม ตอนที่อเมริกาบุกเข้าไปในอิรัค ผมคิดว่าเป็นการบอกกับโลกยุคใหม่ว่า ต่อไปนี้ถ้าเราจะทำสงคราม จะไม่ทำแบบเดิมแล้ว สงครามที่บอกว่าเป็นการป้องกันล่วงหน้ามีอะไรต่างจากเดิม ผมคิดว่ามันมี 3 อย่างที่สำคัญคือ

1. เป็นการทำสงครามเพื่อป้องกันการคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มันไม่ใช่สงครามที่สามารถจะคาดหมายหรือเห็นได้ในปัจจุบัน

2. มันไม่ใช่การป้องกันตนเองในดินแดน แต่เป็นการรุกเข้าไปในประเทศอื่น เช่นที่อเมริกาไปช่วยคูเวต ขับไล่อิรัคออกไปจากคูเวต พอจะเหยียบเข้าไปในอิรัค เนื่องจากคอมมิวนิสต์เพิ่งล่มสลาย ทำให้ยังไม่มั่นใจในตนเอง คือ 1989 และสงครามอ่าว 1991 ทั้งหมดเป็นการป้องกันอยู่ในดินแดนตนเอง. แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว Preventive War จะเกิดขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้ ที่ซึ่งอเมริกาเล็งเห็นว่า ณ ที่แห่งนั้น เป็นที่ๆมีเหตุการณ์ที่จะเกิดความวุ่นวายแล้วจะไปกระทบต่อโลกและอเมริกาได้ เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะส่งกองกำลังเข้าไปได้

3. ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ Preventive War ซึ่งยอดนิยมในเวลานี้ มีอยู่ 2 ข้อหาคือ

3.1 มีอาวุธร้ายแรง(weapon of mass destruction) ซึ่งจริงๆแล้ว อเมริกามีมากกว่าคนอื่น
3.2 ให้การสนับสนุนกับการก่อการร้าย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อการร้ายโดยตรง แต่ให้การสนับสนุนต่อการก่อการร้าย อเมริกาก็สามารถบอกได้ว่า จากนี้ไปเป็นกฎเกณฑ์ของสงครามอันใหม่ที่อเมริกาจะบุกเข้าไป

นี่เป็นข้อเสนอจาก ดอน คาริอเน่ หรือเปล่าไม่รู้ เป็นข้อเสนอที่โลกปฏิเสธไม่ได้หรือเปล่า? แต่ว่ามันกำลังเกิดขึ้นอยู่

สิ่งที่ผมอยากจะพูดต่อไปคือ ผมจะลองดูว่า สิ่งที่เรียกว่าสงครามซึ่งรุกรานเข้าไปในประเทศอื่น มันทำงานได้อย่างไร? คือคิดว่า แม้อเมริกาจะใหญ่ก็ตาม จะเป็น Hyper Power ก็ตาม แต่การรุกเข้าไปโดยใช้กำลังแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สร้างความชอบธรรม ผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหา

ประเด็นที่สาม ผมอยากจะลองวิเคราะห์ดูถึงสิ่งที่เรียกว่า Preventive War มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ทำไมคนในโลกถึงเงียบ แม้แต่คนอเมริกันยังยอมรับ เพราะอะไร? สิ่งที่น่าสนใจคือว่า การที่อเมริกาจะบุกเข้าไปในอิรัค. 15 กพ. 2546 อ.เกษียรได้บอกไปแล้วว่า คนชุมนุมต่อต้านมากกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ถือเป็นการชุมนุมของคนทั้งโลกที่มากมายพอสมควร แต่ผลปรากฎว่าสงครามนี้ก็เกิดขึ้น

Preventive War มันทำงานอย่างไร? สงครามป้องกันตนเอง(ล่วงหน้า)ไม่ใช่สงครามในพื้นที่ มันเป็นสงครามที่อเมริการุกเข้าไปโจมตีโดยทำผ่านกลไกด้านอื่นๆ ซึ่งอยากจะให้ลองลำดับเหตุการณ์ก่อนที่อเมริกาจะบุกเข้าไปในอิรัค ก่อนจะเข้าไปถึงกรุงแบกแดด สิ่งที่เราคาดคะเนคืออะไร?

ผมในฐานะที่ติดตามข่าวสารนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเนื่องจากรักสันติภาพ ไม่ต้องการเห็นสงคราม ผมก็ดูข่าว สิ่งที่เห็นเป็นภาพผ่าน BBC ได้เห็นการวิเคราะห์อย่างละเอียดยิบ มีการทำเป็นตารางเปรียบเทียบ รวมไปถึงนักวิชาการ และนักการทหารของไทยด้วย วาดภาพเลยว่าถ้าอเมริกาเข้าไป จะเจอกับการต่อต้านอย่างเข้มแข็ง โอเค! ถ้าผ่านเมืองทางใต้เข้าไปถึงกรุงแบกแดด ที่นั่นจะเป็นหลุมฝังศพของทหารอเมริกัน เพราะแบกแดดเต็มไปด้วยตึก และอิรัคอาจจะใช้อาวุธเคมี-ชีวภาพ ก่อนที่อเมริกาจะบุกเข้าไป ภาพที่เราเห็นในหัว มันจะต้องเป็นสงครามที่มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

แต่ผลที่เกิดขึ้นคืออะไร? ทหารอเมริกันตายกี่คน และที่ตายผมไม่แน่ใจว่าปืนลั่นใส่กันเองหรือเปล่า อเมริกาบุกเข้าไปอย่างราบเรียบมากเลย ผมคิดว่าสิ่งนี้คือการพยายามทำให้พื้นที่ในสังคม ทั้งในอเมริกาและในโลก ยอมรับกับสิ่งที่สร้างภาพกันขึ้นมาว่า ที่นั่นต้องมีอะไรแน่ มันจะจริงหรือไม่ ไม่รู้ แต่ต้องมีอยู่แน่ๆ ถ้าเกิดตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการทั้งหลายรวมทั้งนักวิชาการไทยเราด้วย ว่าถ้าบุกเข้าไปจะต้องตายๆ จะต้องเป็นหลุมฝังศพ แบกแดดไม่รู้จักหรือ เข้ามาแล้วหาทางออกไม่ได้ จะไปรู้หรือว่ามันมีอะไรอยู่ตรงไหน

พวกเราดูกันแล้วก็รู้สึกร่วมไปว่า ใช่ มันอาจจะต้องเป็นแบบนั้น แล้วก็คอยลุ้นกัน แต่ผลปรากฎว่าไม่มีการต่อต้านที่รุนแรงมากนัก สิ่งที่ถูกโหมประโคมมันไม่เป็นความจริง ประธานาธิบดีซัดดัมกลายเป็นผู้ปกครองที่โหดเหี้ยม อำมหิต ผมนึกถึงสงครามคลองสุเอดเมื่อประมาณปี 1958 ตอนนั้นผู้นำฝรั่งเศสเรียกประธานาธิบดีนัสเซอร์ ซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งว่า "ฮิตเลอร์อีกคน" มันคือ another Hitler เช่นเดียวกัน ซัดดัม ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการทำให้สงครามแบบนี้อาจได้รับการยอมรับมากขึ้น

New York Time วันที่ 8 กันยายน ได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันว่า ท่านจะสนับสนุนการโจมตีอิรัคหรือไม่ ถ้าหากว่าจะมีการสูญเสียทางด้านการทหารของอเมริกันอย่างมากมาย ผลปรากฏว่ามีศาสตราจารย์คนหนึ่งทางด้านประวัติศาสตร์บอกว่า ถามแบบนี้มันไม่แฟร์ ควรจะต้องถามใหม่ว่า "ท่านจะสนับสนุนหรือเปล่าถ้าบุกเข้าไปแล้ว ประชาชนและพลเรือนชาวอิรัคจะต้องบาดเจ็บล้มตายจากการนี้เป็นจำนวนมาก" ผลปรากฏว่าการเปลี่ยนคำถามนี้น่าสนใจครับ มันทำให้ยอดคนที่สนับสนุนสงครามลดลง แต่อาจจะไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามทำให้ยอดผู้สนับสนุนการทำสงครามกับอิรัคลดลงจากคำถามแรก แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า อันนี้ได้ถูกถามใน New York Time ในเดือนตุลา ผลปรากฏว่า พอเดือนมีนาคมปีถัดมา มีการทำโพลอีกครั้งหนึ่ง ว่าท่านสนับสนุนหรือเปล่า ผลปรากฏว่าคำถามที่เมื่อสักครู่นี้ผมพูดไป ท่านจะสนับสนุนหรือไม่ถ้าหากว่าบุกเข้าไปในอิรัคแล้ว คนอิรัคจะต้องตายเป็นจำนวนมาก คำถามนี้ได้ถูก drop เอาไว้ในเดือนมีนาคม ผลปรากฏว่าหลังจากที่ drop คำถามนี้ไปหนึ่งอาทิตย์ สหรัฐฯก็เริ่มโจมตีอิรัค

ระหว่างสงคราม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านข่าวกรองของสถานีโทรทัศน์หมาจิ้งจอก หรือ Fox News บอกว่า การบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนมิใช่ข่าว อันนี้สมกับการเป็นหมาจิ้งจอกจริงๆ การล้มตายของพลเรือนไม่ใช่ข่าว ไม่จำเป็นต้องให้ความใส่ใจมาก

พร้อมกันนั้นถ้ามองย้อนกลับไปก็มีวารสารในอเมริกาบอกว่า ในสงครามกับอัฟกานิสถาน เขาบอกว่า อย่าใช้ภาพบนหน้าหนึ่งที่มันแสดงถึงความเสียหายของพลเรือน จากการที่อเมริกาโจมตี มีคำสั่งจากบรรณาธิการออกมา ห้ามตีพิมพ์ภาพหน้าหนึ่งเป็นภาพชาวอัฟกันที่บาดเจ็บล้มตายจากสงคราม

ในช่วงสงครามอิรัค มีการถล่มโรงแรมที่ชื่อปาเลสไตน์ ชื่อนี้คงเป็นที่ชัดเจนว่าอิรัคสนับสนุนใครระหว่าง"อิสราเอล"กับ"ปาเลสไตน์" ในระหว่างนั้น โรงแรมแห่งนี้เป็นที่พักของนักข่าวอิสระจำนวนหนึ่ง ผลปรากฏว่าโรงแรมแห่งนี้ถูกถล่ม มีนักข่าวอิสระตายไปเยอะ ทหารอเมริกันบอกว่า ที่ยิงเข้าไปนั้นมันมีกระสุน จรวด ถูกยิงออกจากโรงแรมนี้ ปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ของฝรั่งเศส จับภาพเพื่อชี้ให้เห็นว่าก่อนที่ทหารอเมริกันจะยิง เอาเข้าจริงๆแล้วโรงแรมแห่งนี้เงียบสงบ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนักข่าวอิสระที่รอดชีวิต

หลังสงคราม สหรัฐฯประกาศว่ายังไม่เจอ WMD อาจเป็นเพราะผู้นำอิรัคได้ทำลายไปก่อนการเริ่มสงคราม อันนี้เพื่ออะไร? เมื่อกำลังจะถูกโจมตีอยู่แล้ว คือพูดง่ายๆ สมมุติผมเห็นคนที่ตัวใหญ่กว่าผมกำลังถือไม้ที่จะมาตีหัวผม ผมมีปืนอยู่ในมือ แต่โยนมันทิ้ง เพราะเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธร้ายแรง ดังนั้นจึงโยนปืนทิ้ง มันเลยตีเราตายเลย

จนกระทั่งบัดนี้ สงครามผ่านไปแล้ว 2 เดือน ผลปรากฏว่า ผู้คนทั้งหลายไม่เห็นเลยครับว่า อาวุธที่บอกว่าเป็นอาวุธร้ายแรงเคมี-ชีวภาพ มันอยู่ไหน? และถามว่า จากที่ผมพูดมาพวกเราจะเห็นว่ามันมีความพยายามจะบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร แล้วถามว่า เรายังจะเชื่ออะไรที่มันเป็นความจริงอยู่ได้บ้าง? รวมกระทั่งถึงหลังสงคราม สิ่งที่อเมริกาทำ อเมริกาพยายามจะปิดไม่ให้คนที่ถูกจับกุมจากสงครามพูด หรือให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อใดๆได้

ผมขอยกตัวอย่าง เชลยศึกชาวอัฟกันซึ่งเป็นทหารตาเลบัน ถูกจับกุมไป ซึ่งโดยปกติมันมีสนธิสัญญาเจนีวาที่บอกว่าจะต้องให้การคุ้มครอง จะนำไปทรมานนั้นทำไม่ได้ ต้องให้มีการปฏิบัติที่ดีในระดับหนึ่งซึ่งมนุษย์พึงได้รับ ผลปรากฏว่าอเมริกาปฏิบัติกับเชลยศึกชาวอัฟกันอย่างไรทราบไหมครับ?

อเมริกาบอกว่า เชลยศึกชาวอัฟกันมิใช่"เชลยศึก" แต่พวกนี้เป็น"นักรบนอกกฎหมาย" เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาเจนีวา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เราแทบไม่รู้เลยว่า เชลยศึกอัฟกันมีชะตากรรมและชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรกันแน่ รวมถึงบรรดาผู้นำของอิรัคอีก 55 คน ซึ่งอเมริกันประกาศล่าหัวเท่ากับจำนวนไพ่หนึ่งสำรับ

นี่คือทั้งหมดที่ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือความจริง เพราะความจริงที่เราต่างได้รับรู้กันเป็นความจริงทางด้านเดียว แต่บาปกรรมมีจริง ฟ้ามีตา หลังจากที่ตอนนี้เริ่มเกิดการตั้งคำถามว่า อาวุธทำลายสูงสูงเคมี-ชีวภาพไม่มีอยู่จริง ผลปรากฏว่าตอนนี้ลูกสมุน Tony Blair กำลังเผชิญศึกหนัก เพราะว่าฝ่ายค้านกำลังกดดันในสิ่งที่ Tony Blair กระทำไปในสงครามอิรัค เพราะเขาได้ขยายความจนเกินความเป็นจริง มีการใช้ข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยงานความมั่นคง คือพูดง่ายๆตามภาษาชาวบ้านก็คือ Blair โม้เกินไป เอาข้อมูลมาแล้วขยายเกินความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตอนนี้มันเกิดขึ้นในอังกฤษ Tony Blair กำลังเผชิญกับแรงกดดันซึ่งจะไปได้ขนาดไหนผมไม่รู้ แต่คิดว่านี่เป็นสิ่งที่บอกให้เรารู้ว่า Preventive War ไม่ได้แค่รบในอิรัค แต่มันรบในพื้นที่ทั่วไป รบแม้กระทั่งกับพวกเราด้วย แต่ว่าเราจะสามารถจัดการกับมันอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นสุดท้ายคือว่า อนาคตของโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยวจะเป็นอย่างไร?
ข่าวจากวิทยุ BBC เมื่อวันที่ 4 เดือนมิถุนายน กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯยืนยันว่า จะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อจัดการกับประเทศที่ครอบครองอาวุธที่มีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูง หรือให้การสนับสนุนต่อองค์การดังกล่าว สงครามป้องกันตนเองที่อเมริกาเสนอมา ไม่ได้จำกัดแค่การก่อการร้าย หรือให้การสนับสนุนเท่านั้น มันขยายไปถึงเรื่องอื่นๆด้วย

อนาคตจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าคำให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีมูบาลัคแห่งอียิปต์ ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากสิบวันที่อเมริการุกรานเข้าไปในอิรัค อันนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ในระดับหนึ่ง ประธานาธิบดีมูบาลัคบอกว่า ถ้ามีบินลาเดนอยู่จริงก่อนหน้านี้ ต่อจากนี้ไปจะมีบินลาเดนร้อยคน

ซอและฮ์ แสวงศิริผล : ซาลามมาเลกุม ขอความสันติจงมีแด่ท่านอาจารย์เกษียร อาจารย์สมชาย และอาจารย์ประมวลนะครับ ขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้มาร่วมพูดคุย เพราะจริงๆแล้วผมเองเป็นจำเลยมานานพอสมควร เพราะว่าบางทีกระแสข่าวของเรารับกันเต็มๆเป็นเพียงด้านเดียว ซึ่งเกือบจะไม่มีโอกาสได้รับข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอาหรับ อัลจาซิเลาะห์ก็เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวที่เรารับ ผมคิดว่ามายังไม่เต็มที่

ผมขอยกตัวอย่างนิดหนึ่งว่า เมื่อสองเดือนที่แล้วไปแม่สอด จังหวัดตาก ตำรวจตั้งด่านตรวจ พอเขาเจอหน้าผม ถามเลยว่าพวกบินลาดินหรือเปล่า และถามว่าจะไปไหน? ผมก็บอกว่าไปแม่สอดเพื่อไปบรรยายศาสนา อย่างนี้เป็นต้น… เมื่อสักครู่อาจารย์สมชายบอกว่า จะมีบินลาดินเกิดขึ้นเป็นร้อย ความจริงน้อยไป จะมีเป็นหมื่นครับ

ตามรายงานที่ผมทราบ ขณะนี้ถ้าเหตุการณ์ของโลกเป็นอยู่อย่างนี้ ปล่อยให้อันธพาลอเมริกากระทำอยู่อย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิสลามมองว่า เหตุผลของอิสลามก็มีอยู่ 2 ข้อคือ

1. ทำลายอิสลาม
2. เอาผลประโยชน์ ซึ่งก็คือน้ำมัน

อเมริกาจะอ้างอยู่ตลอดถึงประชาธิปไตย โดยเข้าไปถล่มประเทศไหนก็ได้ จริงๆแล้วจะเห็นว่า ประเทศที่ยอมเข้าไปสวามิภักดิ์โดยสิ้นเชิงต่ออเมริกาคือ ซาอุดีอารเบีย ผมใช้คำว่าโดยสิ้นเชิงเพราะทหารอเมริกันเข้าไปอยู่ในซาอุดิอารเบียเต็มไปหมด แต่ในขณะนี้ตัวอเมริกาเองกำลังประสบปัญหาในซาอุดิอารเบียอยู่ ตามกำหนดการณ์ผมจะไปประเทศนี้ตอนสิ้นเดือน แต่ไปไม่ได้เนื่องจากเกิดระเบิดในกรุงริยาร์ดหลายครั้ง

แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือว่า ในซาอุดิอารเบีย มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเองกำลังถูกนำคำนี้มาใช้คือคำว่า "กลุ่มฮาวาบี" พวกนี้เป็นกลุ่มที่เคร่งครัดในศาสนา แล้วในซาอุดีไม่มีความยุติธรรม ไม่มีประชาธิปไตยเพราะเป็นระบบกษัตริย์ อันที่จริงคนที่สบายที่สุดก็คือ บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย

เมื่อปี 2535 ผมได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัชส์ที่ซาอุดิอารเบีย แล้วก็เป็นปีที่คนไทยอย่างผมซวยที่สุด เพราะเนื่องจากมีคนไทยคนหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนามคือ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ไปลักของเขา ขนกลับมาประเทศไทยแล้วมาหายที่นี่ ผมไปปีนั้นพอดี พอเขาเจอ passport ประเทศไทย ผมโดนกักอยู่ที่สนามบินทันที 9 ชั่วโมงกว่า ไม่ได้ไปไหนเลยเพราะมาจาก Thailand อันนี้เขาโกรธกันทั้งประเทศ หลังจากที่ผมได้ passport คืนมา ผมก็เป็นอินโดนีเซียบ้าง มาเลเซียบ้าง เพราะหน้ามันคล้าย

ผมได้มีโอกาสไปศูนย์การค้าทั้งหลาย มันเป็นของกษัตริย์หมด ส่วนชาวบ้านยังคงยากจนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น อเมริกาที่เข้าไปขุดน้ำมันในซาอุดิอารเบีย 70% อเมริกาเอาไปหมด จะเหลืออยู่เพียง 30% แล้วแบ่งให้กษัตริย์ เหลือตกมาถึงชาวบ้านแค่ประมาณ 20% แต่เนื่องจากว่าก่อนเกิดสงครามอ่าวเปอร์เชียครั้งที่หนึ่ง ขอทบทวนนิดหนึ่งว่า มันมีคนยุแหย่ให้ปัญหาเกิดขึ้นบนโลก ก็คือจริงๆแล้ว การกระทำของซัดดัม ถ้ามองดูมีความผิดหนักๆอยู่ 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งก็คือการรุกรานอิหร่าน แล้วครั้งที่สองก็คือรุกรานคูเวต

ในขณะที่เข้าไปรุกรานอิหร่าน ถ้าเราตรวจสอบดูจะเห็นว่า คนที่สนับสนุนอาวุธทั้งหลายคืออเมริกานั่นเอง แต่ก่อนอิรัคไม่มีอะไร ซัดดัมก็คือสมุนมือขวาของอเมริกา ไม่ใช่ใครหรอกครับ เป็นคนของ CIA นั่นแหละ แม้กระทั่งบินลาดิน ท่านทั้งหลายเชื่อไหมครับว่าบินลาดินตายไม่ได้ ในความเชื่อของผม บินลาดินตายไม่ได้ เขาต้องอยู่

แล้วในขณะนี้อย่างที่อาจารย์สมชายพูดเมื่อสักครู่ว่า ก่อนที่จะถึงกรุงแบกแดด ซัดดัมไปไหน? รวมทั้งครอบครัว รวมทั้งทหารจำนวนมากไปไหน? ตอนนี้ไม่มีใครทราบ มีคนบางคนพูดเล่นๆกับผม, ผมก็ไม่เชื่อ, บอกว่า อยู่ในอเมริกานั่นแหละ

บินลาเดนต้องอยู่ อยู่เพื่ออะไร? อยู่เพื่อต่อไปมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น แล้วในอนาคตมันอาจจะเกิดขึ้นในอเมริกาก็ได้ อาจจะเกิดขึ้นในกลุ่มพันธมิตรของอเมริกา จะเป็นอังกฤษ ออสเตรเลีย หรืออะไรก็แล้วแต่ ผลที่สุดแล้วก็ปลุกผีบินลาดินขึ้นมาอีกครั้ง จะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็หาทางถล่มไปเรื่อยๆอย่างนี้ล่ะครับ

ในซาอุดิอารเบียเอง เป็นประเทศหนึ่งที่ร่ำรวย แต่เนื่องจากว่าไปบ้าสงครามอยู่ 8 ปี ไปสนับสนุนอาวุธ เหมือนกับคนๆหนึ่งที่ไม่มีกำลังเท่าไหร่ เสร็จแล้วก็ถูกติดอาวุธ ติดกำลังมากมาย จนกระทั่งรบกัน 8 ปี เลิกกันเอง ไม่มีใครห้ามหรอก ผลที่สุดหันไปหันมาก็มุสลิมด้วยกัน เพียงต่างกันที่นิกาย นิกายสุหนี่กับชิอะห์

ท่านทั้งหลายครับ อิรัคเขามีหลายพวก เขามีทั้งชิอะห์ เขามีทั้งสุหนี่ แล้วยังมีพวกเคริทอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าจะเอาคนที่จะเป็นประธานาธิบดีหรือนายกฯไปอยู่อิรัคนะครับ มันก็จะเหมือนอัฟกานิสถานที่ อ.เกษียร พูดเมื่อสักครู่นี้ เหมือนกับคาร์ไซ ไม่มีทาง มันจะวุ่นวาย และต่อไปจะมีกลุ่มที่ซุ่มโจมตีอยู่เรื่อยๆ แล้วหนักขึ้นจะมีพวกพลีชีพ ซึ่งอันนี้สำคัญ เชสเนียก็เจอแล้ว และต่อไปมันจะระบาด

แต่การที่ในขณะนี้ ในความสงสัยของอเมริกา ถ้าสงสัยแล้วบุกอิหร่าน อิหร่านจะไม่เหมือนอิรัค เพราะว่าอิหร่านเขาปฏิวัติอิสลาม เขาเข้มมากยิ่งกว่าอิรัคเพราะเขาทำเพื่อศาสนา แต่จะเห็นว่าซัดดัมไม่ได้ทำเพื่อศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าดึงมาโยงกันมันเป็นไปไม่ได้ แล้วที่โยงกันว่าซัดดัมกับบินลาดิน สองคนนี้ไม่ถูกกัน เนื่องจากมีแนวความคิดกันคนละอย่าง

เหตุการณ์วันที่ 11 กันยา ผมมีหนังสือ บินลาดินบอกว่าเขาไม่ได้ทำ ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นคนทำ แล้วบินลาดินประกาศมาตลอดบอกว่า เราพร้อมทุกเวลาและทุกสถานที่ในการต่อสู้ในศาลซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย หากผู้เป็นโจทย์เป็นสหรัฐอเมริกา เราเองก็จะฟ้องร้องกลับไปในหลายข้อหาด้วยกัน หลายสิ่งที่สหรัฐฯได้กระทำต่อดินแดนมุสลิม แล้วหลังจากการบุกถล่มอิรัค เราไม่เคยเห็นภาพเด็กที่ตายหลายแสนคน, 4-5 แสนคน, ตายเป็นจำนวนมากด้วยการบอยคอต และมันเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่ให้สหประชาชาติไปปลดอาวุธ แล้วทำลายอาวุธหมด จนเขาไม่มีอาวุธ มีแต่ตัว แล้วในที่สุดก็เข้าไปถล่มเขาจนถึงขณะนี้ เพราะฉะนั้น ความเจ็บแค้นมันมีแน่นอน

ซาอุดิก็ดำเนินนโยบายที่ไม่ถูก ซื้ออาวุธจนกระทั่งยากจน อาวุธทั้งหมดที่ซื้อมาจากอเมริกาแล้วส่งไปให้อิรัค ขอพูดตรงๆนะครับ ซื้ออาวุธให้อิรัคสู้กับอิหร่าน ในฐานะที่เกรงว่า ชีอะห์จะขยายเข้ามา แล้วเข้ามาปกครองมุสลิม กลัวมาก เพราะจะมีผลกระทบต่อกษัตริย์เขา ในที่สุดก็ทุ่มเข้าไปจนกระทั่งยากจนลง

หากใครไปดูประวัติของซาอุดีในอดีต คนที่นั่นจะมีความสุขมากจนคนอื่นอิจฉา เพื่อนที่ไปเรียนยังซาอุดิที่ได้ทุน ไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว เพื่อนผมไปเรียน 7 ปี กลับมาปลูกบ้านได้หลังใหญ่อย่างกับวัง เพราะว่าคนที่ไปเรียนนั้น นอกจากเรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรีแล้ว ยังมีเงินเดือนให้ด้วย คนไทยได้เงินเดือนประมาณ 5 พันบาท แต่ถ้าคนซาอุเอง มีลูก 3 คนแล้วไปเรียน พ่อแม่ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เบิกเงินจากรัฐได้

ของที่สั่งไปจากต่างประเทศ รัฐบาลจะออกเงินให้ 20% ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติซื้อโทรทัศน์มาเครื่องหนึ่ง ราคา 1 หมื่นบาทจากสั่งนอกเข้ามา ประชาชนจะซื้อเพียง 8000 บาท อีก 2000 รัฐออกเงินให้ แต่ในขณะนี้ยากจนลงอันเนื่องมาจากสงคราม

ในขณะที่อเมริกาถล่มอิรัค ซาอุดีก็สนับสนุน คูเวตก็สนับสนุน จะเห็นว่าประเทศมุสลิมแบ่งออกเป็น 2 พวกทันที พวกหนึ่งอยู่เฉยๆ อีกพวกหนึ่งจำเป็น อย่างตุรกี ปากีสถาน พวกนี้จำเป็น. พวกที่อยู่เฉยๆนี้เพราะอะไร? เพราะกลัวว่าถ้าขยับตัวนิดเดียวจะโดนถล่มด้วย

ท่านจำได้ไหมครับ เมื่อก่อนนี้กั๊ดดาฟี ถ้ามีการก่อการร้ายจะบอกว่ากั๊ดดาฟีมีส่วน และจะถูกถล่ม พอมาถึงสงครามครั้งนี้ท่านได้ยินชื่อกั๊ดดาฟีไหม? ไม่มีครับ ไม่กล้าพูด เพราะถ้าพูดหรือเข้าไปเกี่ยวจะถูกถล่มด้วยทันที

ถ้าข่าววันนั้นบอกว่าซัดดัมหนีเข้าซีเรีย ซีเรียต้องโดนด้วย ถ้าหนีเข้าอิหร่าน อิหร่านโดนเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ ซาอุดีอารเบียสนับสนุนอเมริกาเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน ความเสียหายขณะนี้เกิดขึ้นในซาอุดีอารเบียเองแล้ว หนึ่ง, อย่างน้อยที่สุดมีกลุ่มฮาวาบี กลุ่มที่ต้องการปฏิวัติ และอีกส่วนหนึ่งก็คือ…

จริงๆประเทศมุสลิมเขาจะไม่มีสิ่งมึนเมา ไม่มีสิ่งเสพติด ไม่มีบาร์ ไม่มีคลับ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบ แต่ในขณะนี้เมื่อกองกำลังทหารอเมริกันเข้าไป การแต่งกายก็ดี สิ่งพวกนี้มันเริ่มเข้าไปแล้ว และก็มีพวกที่เคร่งครัดในศาสนาเริ่มไม่ยอม ในขณะนี้ตัวอเมริกาเองประกาศแล้ว บอกว่า ซาอุดิอารเบียเองไม่ถูกในเรื่องที่ว่ากีดกันทางด้านศาสนา เพราะคนในประเทศซาอุดิอารเบียเองจะนับถืออิสลามร้อยเปอร์เซนต์ ตอนนี้อเมริกาโจมตีแล้ว เพราะฉะนั้น นี่คือความไม่ยุติธรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยอเมริกัน

เมื่อเป็นอย่างนี้ คนที่เป็นมุสลิม พอเกิดสงครามอัฟกานิสถานจึงไปประท้วงกัน หน้ากงสุลอเมริกัน แล้วก่อนที่อเมริกาจะเข้าโจมตีอิรัค พวกผมและคณะก็เข้าพบกับกงสุลใหญ่ เข้าไปนั่งคุยเป็นชั่วโมง ผมถามความเห็นเขาว่าคิดอย่างไร เขาบอกว่าเขาไม่เห็นด้วย แต่พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ พวกเราได้ไปเรียกร้องต่อต้านสงครามโดยตลอด เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นและผมเกรงว่า ภาพมันจะถูกดึงกัน เพราะผู้ก่อการร้ายมีในอินโดฯ มีในฟิลิปปินส์ แล้วมันจะถูกดึงเข้าในประเทศไทย นี่คืออันตราย

ผมเองนี่ สันติบาลโทรถึงตลอด ถามว่าเป็นอย่างไร? ขยับไหม? ผมบอกว่าผมเองจำเป็นจะต้องพามุสลิมไปประท้วง ผมจำเป็นต้องพามุสลิมกลุ่มหนึ่งไปที่กงสุล เพราะผมไม่อยากให้อะไรมันเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะถ้าเราไม่ขยับเลย… เวลาท่านดูข่าว เครียดไหม? ตอนช่วงนั้นรู้สึกเครียดมากๆเพราะข่าวมันมาทางเดียว และคนมุสลิมที่เห็นภาพเหตุการณ์คนของเขาถูกรังแก ถูกทำร้ายเขาเครียด เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแสดงออกเพื่อแบ่งเบาความรู้สึกที่เจ็บปวด

เราใช้วิธีเรียกมาที่มัสยิด แล้วเราก็ให้ทำละหมาด ท่านทั้งหลายจะเห็นว่ามุสลิมในประเทศไทยจะฟังเสียงจุฬาราชมนตรี ผมรับรองว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่ว่าต้องไม่ตามกระแสนะครับ ต้องไม่ใช่อเมริกาชี้แล้วต้องทำตาม อันนี้มันยุ่งนะ ต้องเชื่อว่าเป็นความจริงและมุสลิมในประเทศไทยยังเชื่อฟังจุฬาฯ ดังนั้นสิ่งที่เราทำมาตลอดนั้นก็คือ เรียกมาแล้วทำละหมาด หลังจากนั้นก็ขอพร

แต่สิ่งหนึ่งนั้นผมเชื่อว่า ในขณะนี้อเมริกาเองถูกสาปแช่ง และผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะล่มสลาย เหมือนกับอาณาจักรทั้งหลายล่มสลายมาแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นมองโกล ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรอ็อดโตมาน เชื่อว่าจะล่มสลายสักวันหนึ่ง เพราะเมื่อมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นที่ไหน จะมีการต่อต้าน เช่นภาพของชาวปาเลสไตน์ ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดู เขาถูกฆ่าโดยการเอาปืนจ่อหัว บางทีเขาขอชีวิต และมีอยู่ภาพหนึ่งน่าอเน็จอนาจมาก พ่อกำลังกอดลูกอยู่ แล้วขอชีวิตลูกโดยให้ฆ่าตัวเสีย แต่ในที่สุดก็ถูกยิงตายทั้งคู่

ท่านทั้งหลายดูซิครับ วันนี้ประชุมกัน แล้วจะตั้งประเทศปาเลสไตน์ สำเร็จหรือเปล่าไม่ทราบ ถ้าสำเร็จทุกอย่างมันอาจจะดีขึ้น แล้วการที่จะมีกลุ่มพลีชีพ ท่านทั้งหลายครับ คนที่ถูกกดดันมากๆ เขาไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไร? แต่บอกตรงๆว่าอิสลามไม่ได้สอนแบบนี้ ทว่าเราปฏิเสธไม่ได้ คนที่เขาหัวรุนแรง คนที่เขาเคร่งครัดศาสนา ผมไม่เชื่อนะครับว่า ไม่ว่าจะเอาระบอบอะไรมา อเมริกาจะอ้างประชาธิปไตยหรืออะไรก็แล้วแต่ จะไม่สามารถที่จะถอดแบบฟอร์มแบบนี้ ไม่สามารถที่จะถอดแบบฟอร์มที่ผู้หญิงมุสลิมที่เขาแต่งกายและมีผ้าคลุมผมได้ อันนี้อย่างเบา และจะมีพวกอย่างหนักคือคลุมทั้งหมด เขาจะไม่ยอมเพราะเขาถือว่าเป็นศาสนาของเขา

สิ่งที่อเมริกาต้องการ อเมริกาต้องการมุสลิมแบบตุรกี คงไม่สำเร็จ ท่านทราบไหมครับว่ามุสลิมแบบตุรกีเป็นอย่างไร? มุสลิมแบบตุรกีคือแบบสากล กินเหล้า เมายา มีบาร์ เที่ยวคลับ

ผมขอฝากเอาไว้แค่นี้ครับเป็นแง่คิดว่าอย่างน้อยที่สุด ในฐานะผมเป็นคนไทยและเป็นมุสลิม ไม่อยากเห็นภาพที่อเมริกาไปทำร้ายใครเช่นนี้ และขอตั้งคำถามนิดหนึ่งว่า… อย่างทุกวันนี้ เกาหลีเหนือ, มีคนถามผมว่า ทำไมเมื่อสงสัยว่าอิรัคมีอาวุธร้ายแรง แล้วไปถล่มเขาจนเรียบ จนกระทั่งวันนี้ยังหาไม่เจอ แต่ทั้งๆที่เกาหลีเหนือมีจริงๆ ทำไมจึงไม่จัดการเพราะอะไร?

อันนี้มันต่างๆกัน ถ้าไปถล่มเกาหลีเหนือ จะเอาเงินที่ไหนมาบูรณะประเทศ แต่ถล่มอิรัคนี้ ขุดน้ำมันมา เขาสามารถที่จะแบ่งเค็กกันได้ ผมขอจบแค่นี้ครับ

ประมวล เพ็งจันทร์ : ขอบพระคุณ อ.ซอและห์ครับ เวทีเปิดสำหรับทุกท่าน ขอเรียนเชิญครับ

สมเกียรติ ตั้งนโม : วันนี้ที่ได้ฟังอาจารย์เกษียร อาจารย์สมชาย และอาจารย์ซอและห์พูด ในส่วนตัวผมคิดว่าเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะของอาจารย์เกษียร เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตาม คำถามที่ค้างคาใจของผมที่อาจารย์เสนอมา คิดว่าเป็นเพียงแค่รายงาน คำถามจริงของผมก็คือว่า โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว เราจำเป็นที่จะต้องเอาชนะมันหรือไม่? เพื่อทำให้ภาวะไร้ดุลยภาพแบบนี้มันยุติลง

ผมมีคำถามสั้นๆกับสิ่งที่อาจารย์เสนอมา        5 หัวข้อด้วยกัน อยู่สองหัวข้อว่า
        อันดับแรก เราจำเป็นต้องเอาชนะจักรวรรดิ์นิยมอเมริกันหรือไม่        
        หัวข้อที่สอง ก็คือว่า โลกภายใต้อำนาจทางทหารที่เด็ดขาดแบบอเมริกัน เราจำเป็นต้องเอาชนะหรือไม่        ถ้าคำตอบคือต้อง วิธีการคืออะไรครับ? 

เกษียร เตชะพีระ : ในลักษณะว่าชอบหรือไม่ชอบส่วนตัว ทั้งจุดยืนและทัศนะ วิธีการ ผมไม่ค่อยชอบโลกขั้วเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเหมือนว่ามันปิดความเป็นไปได้อื่นๆจำนวนมาก แน่นอน ถ้าค้านได้ก็คงค้าน ในแง่การเมืองค้านแน่ แต่การชนะอเมริกาทางด้านการทหาร ผมรู้สึกว่ายาก และอย่างที่บอก ความเป็นไปได้ 20 ปีข้างหน้าคงเป็นไปได้ยาก

คือผมค้นเรื่องนี้บ้าง แล้วจะค่อยๆทะยอยเขียนออกมาครับ ยิ่งในเรื่องการปฏิวัติทางด้านการทหาร revolution military affair คืออีกไกล แต่ไม่ได้แปลว่าอำนาจทางทหารของอเมริกาจะไม่มีการท้าทาย การปฏิวัติกิจการทางด้านการทหาร ตอนต้นจะเป็นประโยชน์ต่ออเมริกา แต่ในที่สุดประเทศต่างๆจะ catch up (ไล่ทันกัน) แล้วการปฏิวัติเทคโนโลยีทางการทหารอันนี้ จะสามารถใช้ได้ในการตั้งรับได้ด้วย

คือผมไม่ได้เอารายละเอียดต่างๆมา แต่คือเมื่อถึงจุดหนึ่ง แม้ความเหนือกว่าทางด้านการทหารที่สร้างขึ้นบนการปฏิวัติทางด้านการทหารและเทคโนโลยี ในที่สุดจะ catch up ได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศทำได้นะครับ และเมื่อ catch up ได้แล้วในระยะยาว เป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีในทางการตั้งรับ เพื่อป้องกันตัวที่สามารถรับมืออเมริกาได้

ในแง่กลับกันนะครับ ภาพเลวร้ายที่สุดของมัน จะทำให้การทหาร a new special of place control ผมอ่านแล้ว เฮ้ย! ฉิบหาย มันจะทำให้การไปจัดการฝ่ายค้านในประเทศอื่นๆของโลก เป็นแค่เหมือนกับการไปกำจัดปลวก บริการกำจัดปลวก คือส่งคนจำนวนน้อยๆ เหมือนกับบริการกำจัดผีหรือกำจัดปลวก ไปถึงแล้วใช้ไฮเทค คือโลกมันจะสงบมากเลย

ทีนี้เห็นด้วยไหม ? เห็นด้วย ในแง่การทหารคงยาก เงื่อนไขในอนาคตมีไหม? มี. คราวนี้มันมีอีกอันหนึ่งคือ บางทีไอ้จุดยักษ์ตีเลน ทีนี้ยักษ์ตีเลนของอเมริกาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ยักษ์ตีเลนอันนี้เสพติดเงินออมของโลก ซึ่งแล้วแต่ว่าจะใช้ตัวเลขแบบไหน จะเป็นของนักเศรษฐศาสตร์อินเดียแนวมาร์กซิสท์ที่บอกว่า อเมริกาต้องเสพเงินออมของโลก 70% ปีละประมาณ 4 แสนล้านดอลล่าร์

ถ้าใช้ตัวเลขของนักเศรษฐศาสตร์อเจนตินา ซึ่งประเทศจะเจ๊งอยู่แล้วเวลานี้ เป็นมาร์กซิสท์ แกบอกว่า 70% นั้นไม่ใช่เงินออมของโลก แต่เป็น 70% ของ Gross Global Capital import การนำเงินทุนเข้าทั่วโลก อเมริกาเป็นคนนำเงินเข้าถึง 70% เพื่อเลี้ยงวิถีชีวิตแบบจักรวรรดิ์ของตัวไว้

อเมริกาตอนนี้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลบัญชีเงินทุนจำนวนมาก ที่มันดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะว่าอาศัยประเทศต่างๆที่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจอเมริกา แล้วขอเอาเงินออมของตัวซึ่งล้นไปรวมกันที่นั่น ทั้งยุโรป ทั้งญี่ปุ่น คือตอนนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกาสูงถึงประมาณ 5% ของ GDP. ถ้าอเมริกาจะธำรงอัตราการเจริญเติบโตแบบที่ปกติเอาไว้ คือ 2-3% ไปถึงปี 2008 การขาดดุลอันนี้จะต้องถึง 8-9% ของ GDP.

พูดง่ายๆก็คือ แล้วถ้าเกิดประเทศต่างๆในโลกสะดุ้งขึ้นมา แล้วไม่อยากจะลงทุนในอเมริกาอีกต่อไป และถอนทุน มันจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาได้ อย่างไรก็แล้วแต่ที่ผมพูดว่า มันเป็นจักรวรรดิ์ไฮเปอร์ที่ตั้งอยู่บนเงินออมของโลก ตราบใดที่คนอื่นทั่วโลกยังคงเทเงินให้อเมริกา อเมริกาก็มีเงินไปรบกับประเทศอื่น อันนี้บ้าฉิบหายเลย คือพวกนายทุนในโลกเสือกเอาเงินทุนไปเทให้มัน แล้วแม่งก็เลยแข็งแรงไปตีหัวคนอื่นได้ทั่วโลก

แต่เพื่อจะธำรงระบอบนี้ไปได้เรื่อยๆ แค่อเมริกาได้เปรียบ resource balance โอเค! อเมริกาทุกวันนี้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด บัญชีเงินทุน แต่อเมริกาได้เปรียบดุลทรัพยากร คือถ้าเราลืมเรื่องเงินให้หมด แล้วดูว่าทรัพยากรไหลเข้าอเมริกากับไหลออกจากอเมริกา มันไหลเข้าอเมริกามากกว่า แต่เท่านี้ไม่พอ เพื่อจะธำรงรักษาให้เงินทุนไหลเข้าอย่างไม่หยุด อเมริกาจะต้องคุม World Trade organization, อเมริกาต้องคุม IMF, อเมริกาต้องคุมระเบียบเศรษฐกิจการค้าการเงินของโลก ประเภทแบบสั่งซ้ายหันขวาหันได้ อันนี้ไม่แน่ว่าจะทำได้ ถ้าคุณทำอันนี้ได้เงินก็ยังคงไหลเข้าเรื่อยๆ เพราะเหตุจำนวนหนึ่ง เช่น ภาพพจน์อเมริกาเลวร้ายลงมาก คืออย่างที่มีตัวเลขต่างๆ คนในโลกตอนนี้มองอเมริกาในแง่ลบสูงขึ้น พวกซาอุดิอารเบียถอนเงินที่เคยไปลงในอเมริกาออก

อันที่สอง Washington Consensus (ฉันทามติแห่งวอชิงตัน) Neo-Liberal คนเลิกเชื่อไปเยอะ. อันที่สามคือ จักรวรรดิ์ในโลกมันก็ลงเอยแบบนี้ จักรวรรดิ์ในโลกก็คือว่า มันอาศัยการสร้างตัวขึ้นมาซึ่งแพงมาก แล้วก็ over reach แล้วก็ดูดทรัพยากรของคนอื่น ถึงจุดหนึ่งมันพยุงตัวของมันเองไม่ไหว

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : คือผมไม่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ แต่ว่ามีคำถามเมื่อสักครู่นี้ที่ว่า อเมริกากำลังทำลายระเบียบโลก หรือกฎเกณฑ์ที่ยึดถือกันมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแง่ที่ว่า เคารพในอธิปไตยของรัฐชาติ เมื่ออเมริกาไม่เคารพในกฎนี้แล้ว คำถามก็คือว่า สภาวะดังกล่าวมันน่าจะนำไปสู่ความไร้ระเบียบเต็มที่ คือ

อเมริกาละเมิดขึ้นมาเป็นชาติแรก ทำให้คนอื่นมีสิทธิ์ที่จะละเมิดได้อีกมากมาย มันจะเกิดสภาวะโกลาหลขึ้นไหม? เพราะว่ามันไม่มีหลักเกณฑ์ใดที่จะเป็นตัวกลาง นอกจากการใช้อำนาจแบบอเมริกา เมื่อไรคุณไม่ยอมรับมัน มันก็จะจัดการกับคุณทำนองนี้

ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าก่อนที่จะเกิดลัทธิอาณานิคม มันเป็นอะไรที่คล้ายๆกับอย่างนี้หรือเปล่า แล้วมันจะกลายเป็นการล่าอาณานิคมแบบใหม่ หรือว่ามันจะเป็นอย่างไร?

และที่พูดกันมา ส่วนใหญ่แล้วจะพูดกันในมิติเศรษฐกิจ หรือมิติทางการทหาร หรือมิติทางการเมือง แต่ผมในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยา ผมก็มองว่ามีอะไรที่เราจะคิดได้บ้าง ในลักษณะของเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลก

ผมคิดว่าปัญหาลึกๆของเหตุการณ์นี้ มันเป็นพัฒนาการของระบบทุนนิยมอีกขั้นหนึ่ง จะเห็นว่าระบบสังคมนิยมอะไรบ้าบอนี่ของใครๆก็เข้าสู่ระบบตลาดหมดแล้ว ระบบทุนนิยมโลกที่สำคัญปัจจุบันนี้ มันเห็นอะไรต่างๆเป็นวัตถุหมด กฎเกณฑ์หรืออะไรต่างๆก็ทำให้มันเป็น fetish หมด หรือทำให้เป็นทาสของวัตถุแล้วก็สู้เพื่ออันนี้ ดังนั้น ข่าวสารต่างๆที่หยิบขึ้นมาพูด มันทำให้สิ่งเหล่านั้นดูเสมือนกับว่าเป็นความชอบธรรม หรือทำให้เราเหมือนกับว่าเป็นทาสของความคิดนั้นไป

ไม่ว่าจะเป็นคำว่า"ประชาธิปไตย" เพื่อประชาธิปไตยกูจะทำอย่างไรก็ได้ คือมันเอาคำต่างๆมาทำให้เป็นวัตถุ คล้ายกับเป็นป้ายคล้ายกับเป็นยันต์กันผี ทำได้ทุกอย่าง ลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะของพัฒนาการของระบบทุนในปัจจุบันที่ทำใหทุกคนเป็นทาสของความคิดที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แล้วใช้ความคิดนี้ทำลายความเป็นมนุษย์

ผมสงสัยว่า ถ้าทุนนิยมสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นลักษณะนี้ได้ มันก็มีคนมาใช้ประโยชน์จากพัฒนาการอันนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ อย่างอเมริกามันใช้ได้ผลมาก เพราะว่ามันสามารถทำได้บนฐานเศรษฐกิจที่ไปดูดจากคนอื่นเขามา และมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีการทหาร อะไรต่างๆเหล่านี้ ที่ทำได้เพราะทุกคนไปเชื่อในวัฒนธรรมทุนนิยมแบบนี้ มันจึงสามารถทำให้อเมริกามีความสามารถไปทางนี้ได้

ใครที่คิดว่าจะขึ้นมาค้านก็ค้านได้ไม่เต็มที่เพราะมันตกอยู่ในกรอบคิดเดียวกัน และรัฐบาลไทยก็เป็นแบบเดียวกัน คือ ถ้าเผื่อมีพรรคควบคุมใหญ่คนเดียว มันก็ดีกว่าอย่างอื่น เพราะเป้าหมายของมันคือต้องการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นวิธีการจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ จะฆ่าคน จะทำลายคน ทำได้ทั้งนั้น ขอให้ท้ายที่สุดแล้วมีความเจริญ มีประชาธิปไตย ใช้คำอะไรมันก็เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้คือวัฒนธรรมของระบบทุนที่กำลังพัฒนาอยู่ขณะนี้ ประเด็นก็คือว่า มนุษย์เราจะรับหรือยอมกับวัฒนธรรมแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเมื่อก่อนนี้มันมีสังคมนิยม มันมีทางเลือกของวิถีชีวิตที่เป็นวัฒนธรรมอย่างอื่นๆได้ เวลานี้คุณอาจจะบอกว่ามันมีวัฒนธรรมแบบชาตินิยม วัฒนธรรมแบบการแสดงถึงอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่พวกนี้มันเป็นเรื่องกระจอกงอกง่อย กระจัดกระจาย มันไม่เหมือนกับวัฒนธรรมกระแสหลักแบบทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับความคิดที่เปลี่ยนเป็นวัตถุ แล้วใช้ความคิดนั้นมาเป็นตัวชี้นำ สร้างความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจอะไรต่างๆได้

ดังนั้น ประเด็นก็คือว่า วัฒนธรรมแบบทุนนิยมสมัยใหม่นี้ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมที่ต่อต้านความเป็นมนุษย์ ผมก็ไม่รู้ว่ามนุษย์เราจะสามารถยอมรับความคิดที่ทำลายความเป็นมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะว่าเรื่องที่พูดถึง มันไม่ใช่แค่ประเด็นทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร มันมากกว่านั้น มิเช่นนั้นแล้ว ปรากฏการณ์แบบนี้จะไม่สามารถจะเชื่อได้ถ้ามันไม่มีความชอบธรรม เวลาที่มีการอ้างความชอบธรรม เป็นการอ้างความชอบธรรมภายใต้วัฒนธรรมแบบทุนนิยมปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้มันทำอย่างนี้ไม่ได้

เกษียร เตชะพีระ : คืออาจารย์ถามถึง scenario ที่เป็นไปได้ คือมีข้อมูลจำนวนหนึ่งซึ่งผมจะค่อยๆเล่าให้ฟัง

อันที่หนึ่ง มองในแง่ดีที่เป็นปรากฏการณ์ในระยะสั้น เป็นข้อสังเกตของชอมสกี้คือว่า ไม่เคยมีครั้งใดที่ชนชั้นปกครองอเมริกันแตกแยกขนาดนี้ โดยเฉพาะชนชั้นปกครองที่เป็นเสรีนิยมรู้สึกตกใจมากกับขวาจัดแบบ Bush หรือ Neo-con ที่ขึ้นไปกุมอำนาจตอนนี้ และพยายามเหนี่ยวรั้งทำทุกอย่างเพื่อที่จะเปลี่ยนอันนี้ แม้แต่ตัว Bush เองหรือแม้แต่พวก Neo-con เองก็, คือแล้วแต่จะเชื่อเขาไหม หรือจะมองมุมไหนคือ มีพวกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เอาเข้าจริงๆนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศว่า Preventive War ใครขึ้นมากูเหยียบแหลก อาจจะเป็น One Country Doctrine ก็ได้ คือมีไว้ตีหัวอิรัคประเทศเดียว ไม่แน่ว่าจะใช้แบบนี้กับทุกประเทศหรือที่อื่นด้วย

กรณีเกาหลีเหนือ อาจจะมีการส่งเครื่องบินไปบอมบ์เฉพาะจุดที่คิดว่าจะเป็นที่สร้างอาวุธนิวเคลียร์ ประเภทยกกำลังบุกผมคิดว่าไม่เกิดในกรณีเกาหลีเหนือ เพราะมีจีนอยู่ มีรัสเซียอยู่ จะเกิดความยุ่งยากมากมายตามมา

ถ้าเป็นแบบนี้ ชนชั้นปกครองอเมริกันแตกแยกกันมากพอที่จะเปลี่ยนรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ไหม? อันนี้คงไม่ง่าย เพราะแม่งเพิ่งชนะสงครามด้วย แต่จะมีการดึงให้เบาลง ซึ่งอันนั้นไม่ได้เปลี่ยนพื้นฐานที่ว่าอเมริกายังคงเป็นใหญ่ไปอีกนาน แต่อาจจะฟื้นฟูแนวร่วม ทำอะไรต้องปรึกษากับกูก่อนนะ พรรคพวกที่ยุโรป

มีชนชั้นปกครองอเมริกาที่ไม่เห็นด้วยกับ Bush แล้วออกแถลงการณ์บอกว่า เราเห็นว่า เราควรจะรักษา partnership ระหว่างอเมริกากับยุโรปไว้ แล้วก็มีพวกยุโรปที่เป็นชนชั้นปกครองเห็นด้วยกับอันนี้ ออกแถลงการณ์ขานรับ Yes! บอกว่าเราควรจะคบกันต่อไป ไม่ควรจะบุ่มบ่ามแบบ Bush

ขยับมาที่อิรัค สมมุติว่ามันเป็น One Country Doctrine มันแปลว่าอะไร? ผมคิดว่าความเปรียบของ Wolfowitz ที่ว่าอิรัคเหมือนญี่ปุ่นอันนี้สำคัญ คือหลับตานึกภาพนะครับว่าญี่ปุ่นเป็นฐานแล้วเป็นตัวผลักทางด้านเศรษฐิกจในเอเชีย สำหรับเขตเอเซียในทัศนะของอเมริกามันเป็นเหมือนเขตที่ค่อนข้างสงบ อันนี้หมายถึง South East Asia ในที่สุดคอมมิวนิสต์ก็หมดไป ผมคิดว่าถ้ามองในมุมแคบ มันคงต้องการที่จะให้ Middle East เป็นเหมือนกับ South East Asia คือมีอิรัคเป็นฐานแล้วสร้างระบอบปกครองที่สงบแล้วมันคุมได้

อันนี้มองในแง่ที่มันมีสติแล้วมันไม่บ้านะครับ พวกที่คิดแบบนี้จะบอกว่า ไอ้พวกที่ขึ้นมาในอเมริกาตอนนี้เป็นพวก Hobbesian ก็คือโลกเราเต็มไปด้วยหมาป่า หรือหมาจิ้งจอก ตีหัวกันแหลก ต้องมีจิ้นซีฮ่องเต้ ใต้ฟ้ามีเจ้าเดียวถึงจะเป็นโลกที่ดี

ส่วนอีกพวกหนึ่งคือพวก Kant คือโลกที่ดีไม่ใช่โลกแบบที่ทุกคนตีกัน แล้วมีคนหนึ่งใหญ่เพื่อรักษาความสงบ สถาปนาสันติภาพขึ้นมา แต่ควรเป็นโลกที่อยู่ด้วยกันแบบมีกฎหมายระหว่างประเทศ มีคนบอกว่ายุโรปเป็น Kantian ส่วนอเมริกาเป็น Hobbesian ผมนึกถึงอันนี้เพราะผมอ่านบทความหนึ่งแล้วเสียวแปล็บเลย

มีศาสตราจารย์ทางปรัชญาของฝรั่งเศสคนหนึ่ง บอกว่า คือต้องอธิบายแบบ Hegel ที่ว่า ดังที่ Hegel ได้ใช้นโปเลียนมาประจักษ์ซึ่งความก้าวหน้าและสันติภาพของยุโรป บัดนี้ Hegel ก็ได้ใช้ Bush Junior ซึ่งพูดอังกฤษถูกบ้างผิดบ้าง มาประจักษ์ซึ่งสันติภาพในโลก เย่…

ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมมีประเด็นที่ต่อจาก อ.อานันท์ ซึ่งเสนอขึ้นมาเมื่อสักครู่นี้ ที่ว่าเรามาอยู่ในวัฒนธรรมเดียวที่มันทำให้เราไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่น เพราะเราคิดอยู่ภายใต้กรอบคิดเดียวกัน ขณะที่นั่งฟังอาจารย์ ผมเลยคิดต่อว่า แล้วเราจะมีการสถาปนาวัฒนธรรมอื่นที่มันพอจะมีทางให้เราคิดในวิธีอื่นได้ไหม?

อย่างของ อ.ซอและห์ ที่มีวัฒนธรรมมุสลิม ซึ่งก็เป็นปัญหาอีกว่า คนต่างวัฒนธรรมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมชาวมุสลิมจึงคิดเช่นนั้น แต่ผมคิดว่า บรรดาวัฒนธรรมที่จะโต้ตอบวัฒนธรรมบริโภคนิยมหรือทุนนิยมที่เข้มแข็งที่สุดในปัจจุบัน มุสลิมคงเข้มแข็งที่สุด เพราะฉะนั้น อเมริกันจึงพยายามสร้างภาพให้เห็นว่า วัฒนธรรมที่พอจะโต้ตอบได้กลายเป็น วัฒนธรรมซึ่งเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นความชั่วร้าย

ผมเองคิดว่าในโลกเช่นนี้ หลังจากฟัง อ.อานันท์ พูดจบ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็มานั่งคิดว่าเราควรจะมีวิธีคิดอย่างไร? ผมมานึกถึงภาพว่าในทางคติของชาวพุทธ จะมีสิ่งพึงระวังในทางสังคมที่จะไม่ไปรวมอำนาจ หรือคุณค่า 3 ส่วนให้ไปอยู่ด้วยกัน คือ

อำนาจบังคับด้วยศัสตราวุธ ควรจะไปอยู่กับคนกลุ่มหนึ่งคือในทางพุทธศาสนาควรจะไปอยู่กับพวกกษัตริย์ และห้ามไม่ให้พวกกษัตริย์ไปมีส่วนอื่น ถ่วงดุลกษัตริย์โดยให้มีพวกผู้รู้หรือพระ พวกผู้รู้หรือพระนี้ต้องไม่มีศัสตราวุธ ต้องไม่มีทรัพย์ เพราะเมื่อใดที่พระมีศัตราวุธหรืออำนาจบังคับ และมีทรัพย์หรืออำนาจทุน มันก็จะเสียดุลเช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน พวกที่ครอบครองทรัพย์หรือพ่อค้า ก็จะต้องไม่มีอำนาจของศัตราวุธ และไม่มีอำนาจของการชี้นำ เพราะฉะนั้นในคติของทางศาสนาพุทธ อำนาจของศัตราวุธ คืออำนาจบังคับ จะเรียกนักการเมืองหรือกฎหมายก็ตาม อำนาจของทรัพย์คือพ่อค้าวานิชต่างๆ และอำนาจความรู้คือพระ จึงถูกแยกอย่างเด็ดขาด

ถ้าเมื่อใดอำนาจทั้ง 3 ส่วนนี้แยกกันอยู่ จะมีการถ่วงดุลกันได้ เพราะคนที่มีอำนาจชี้นำสังคมคือพระ พระไม่มีทรัพย์ ไม่มีศัตราวุธ เพราะฉะนั้นในกระบวนการของสังคมจะมีการถ่วงดุลกันพอประมาณ แล้วมีการสั่งสอนให้ผู้มีอำนาจต่างๆรู้จักใช้อำนาจนั้นอย่างถ่องแท้ เช่น ถ้ามีอำนาจอาวุธ จะมีพระไปคุมไว้ ถ้าพระมีอำนาจ จะมีอำนาจของทรัพย์และศัตราวุธไปคุมไว้อีกทีหนึ่ง

เพราะฉะนั้น จะวิกฤตทันทีถ้าพระมีทั้งอำนาจบังคับและอำนาจทรัพย์อยู่ในมือพระ และจะเป็นปัญหาทันที ถ้ากษัตริย์มีทั้งอำนาจความรู้ และมีอำนาจของทุนไปอยู่ในมือ ดังนั้นปัจจุบันผมหลับตามองเห็น ดูเหมือนประหนึ่งว่า อำนาจทั้ง 3 อำนาจ ไปอยู่ในคนกลุ่มเดียว และอำนาจทั้ง 3 นี้ไปรวมศูนย์อยู่ที่อเมริกา

อเมริกามีทั้งอำนาจชี้นำทางความรู้ ที่ปัจจุบันคนทั่วโลกต้องรู้ตามอเมริกาบอก มีอำนาจอาวุธบังคับให้ทุกคนปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะโดนอย่างกรณีอิรัคเป็นตัวอย่าง และที่สำคัญคือมีอำนาจของทุน ซึ่งอ.เกษียร บอกว่า มันมีทุนทรัพย์มากมาย ทั้งๆที่อเมริกาก็ไม่ได้แสวงหาเอง แต่ได้เก็บเอาส่วนเกินอันนั้นไว้ที่อเมริกา

ด้วยเหตุนี้ ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้อำนาจทั้ง 3 นี้ มันไม่ไปรวมอยู่ในที่ที่เดียว และให้มันมีการถ่วงดุล. ผมคิดว่าโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว มันไม่อันตรายเท่ากับ 3 อำนาจนี้ไปรวมอยู่ในคนๆเดียว หรือในกลุ่มคนกลุ่มเดียว ทำอย่างไรให้คำว่าเดี่ยวนี้มันถูกกระจายออกไป การพูดถึงมิติทางวัฒนธรรมมันน่าจะมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมด้วย

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : ผมพูดถึงมิติทางวัฒนธรรมก็เพราะว่า เท่าที่สังเกตดูไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่า คือสิ่งที่เราพูดอยู่มันเป็นไปได้เพราะเวลานี้ อันนี้ก็เหมือนกระแสโลกาภิวัตน์ มันมาผ่านสื่อ โดยเฉพาะข่าวหรือการรับรู้ของเรา ซึ่งมันใช้ระบบวิธีคิดแบบภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์มากขึ้น แล้วเราก็ไปเชื่อถือกับภูมิปัญญาทำนองนี้ โดยที่มันมีสื่อโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ อะไรต่างๆ มันทำให้ความสามารถในการสร้างความชอบธรรมมีความเป็นไปได้มากขึ้น

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นซึ่งเราพูดๆกัน มันไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าไม่มีสื่อ เพราะฉะนั้นสงคราม ที่เราพูดถึง มันอาจรบกันจริงๆ แต่ว่า ไอ้ที่มันรบและชนะได้ มันชนะในสื่อในความรับรู้ของคนจำนวนมาก ดังนั้น เวทีของการต่อสู้ทางความคิด เวทีของการต่อสู้ในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ตราบใดที่เราปล่อยให้การครอบงำของสื่อมันดำเนินไปอย่างไร้ขอบเขต มันยากที่การต่อสู้ที่การต่อสู้จะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นต้องมีการทำอะไรสักอย่างให้มากขึ้น

เท่าที่สังเกตดู หนังสือพิมพ์ที่เราอ่านแต่ละวัน ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ความจริงมันมาจากสื่อไม่กี่ตัว ดังนั้นความสามารถในการครอบงำโลก ที่เราเรียกว่าโลกภายใต้มหาอำนาจเดียว มันไม่ใช่มหาอำนาจเดียว พวก Bush หรืออะไรพวกนี้ สื่อนี่แหละตัวร้าย มันทำหน้าที่ในการสร้างความชอบธรรม และสื่อนี่มันก็เป็นแขนขาที่สำคัญในระบบทุนที่เป็นผลผลิตของมันด้วย

ดังนั้น อย่างเมื่อสักครู่พูดถึงว่า เราจะต่อสู้หรือไม่ สู้ได้หรือไม่อะไรต่างๆ อ.เกษียรไปตอบว่าเป็นอาวุธไปสู้อาวุธไม่ได้ อย่างนั้นมันไม่ได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือว่า ความชอบธรรมอันนี้มันไม่ใช่จะถูกทำลายไม่ได้ เราต้องสร้างพื้นที่ในโลกของการสื่อสารแบบใหม่ โอเค! ทีวีต่างๆเราจะต้องดู แต่จะต้องมีการสร้างการสื่อสารหรือการรับรู้ การถ่ายเทรื่นไหลของข่าวสารข้อมูลในโลกนี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการใหม่ หมายความว่าจะต้องไม่ผ่านระบบอย่างที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้

ปัจจุบันพลังของการต่อสู้ของเรามันแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้สู้แล้ว ดังนั้นการคิดว่าเราจะไปต้านได้อย่างไร แค่คิดจะต้านก็คิดไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่ามีคนต่อต้านไอ้โน่นไอ้นี่ แต่มันกลายเป็นความชอบธรรมของระบบเศรษฐกิจที่เราต้องอยู่กับมัน คุณยังต้องซื้อขายกับตลาดโลก เพราะอันนี้เป็นวัฒนธรรมของระบบคิดที่ให้ความชอบธรรมกับระบบเศรษฐกิจการเมือง และการทหารที่เป็นอยู่ทุกวันนี้โดยผ่านกลไกของสื่อ

ดังนั้นทุกวันนี้ผมไม่เอาทั้งนั้น โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรผมไม่ใช้ทั้งนั้น ผมไม่เอา เพราะมันบ้า ยิ่งรับ UBC ยิ่งไม่เล่นด้วย เพราะว่าคุณซวยเลย อยู่ดีๆแทนที่จะเป็นคนที่เป็นอิสระอะไรต่างๆ กลายเป็นถูกครอบงำ เขาจะมาครอบงำ คุณก็ยังยอมโดนครอบงำด้วยการยอมรับอย่างดุษฎีโดยไม่คิดอะไรเลย อันนี้ตายแน่ๆ

ดังนั้นหากมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันต้องทำตรงจุดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้หรือรับรู้การลื่นไหลของข่าวสารพวกนี้ ต้องมีการหาวิธีพูดคุยกันในการที่จะปรับเปลี่ยนมันก่อนเพื่อนเลย เพราะไม่มีใครทำอะไรได้ แม้ว่าคุณจะมีพลังอำนาจแบบ Bush ที่มหาศาลอะไรต่างๆ แต่ถ้าหากว่ามันไร้ซึ่งความชอบธรรม คนก็ไม่เห็นด้วย ดูสิครับตอนที่ก่อนจะรบ ยังมีการถามโพลอยู่เลย เพราะมันเป็นปัญหาเหมือนกันที่ว่าคนจะให้ความชอบธรรมกับมันหรือเปล่า

แต่ความชอบธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราเข้าใจ หรือเป็นสิ่งที่เราคิดเอง ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมเราถูกครอบงำมาก่อนหน้านั้นแล้ว เราให้ความชอบธรรมตามที่เราได้รับข้อมูลข่าวสาร ไม่ใช่เพราะว่ามันชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ดังนั้นถ้าเผื่อเราไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่เราเอามาคิดว่าจะให้ความชอบธรรมหรือไม่ให้ความชอบธรรมเสียก่อนแล้วละก็ มันก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราให้การยอมรับ เราให้การยอมรับด้วยการที่เราคิดอย่างอิสระ หรือยอมรับเพราะเราตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบคิด ซึ่งมันเป็นระบบคิดของสมัยปัจจุบัน

ชัชวาล ปุญปัน : ผมในฐานะที่เป็นคนมาจากสายวิทยาศาสตร์ ผมอยากจะขอเสนอมุมมองมาจากมุมแคบๆนี้สักหน่อยว่า ถ้ามองโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว คิดว่าภายหลังจากระเบิดปรมาณูลูกที่สองลงที่นางาซากิแล้ว มันกลายเป็นโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยวไปเลยคือ มหาอำนาจทางเทคโนโลยีซึ่งมันไม่มีใครได้ใช้อีกต่อไป และกลุ่มพรรคพวกของประเทศสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นผู้มีอำนาจและทรงอิทธิพลมากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา

เวลานี้โลกของมหาอำนาจเดี่ยวทางด้านเทคโนโลยี ปรากฏอย่างน้อย 3 ลักษณะใหญ่ๆคือ 1. ทางด้านอวกาศ 2. พันธุวิศวกรรม และ 3. ทางด้านคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่สำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังของความคิดที่สำคัญของมหาอำนาจเดี่ยว ไม่ได้หมายถึงจะเป็นตัวอำนาจรัฐ…

พอดีที่ อ.อานันท์ พูด ผมก็คิดคล้ายๆกันคือว่า ผมพยายามจินตนาการถึงการสร้างระบบการศึกษาที่จะทำให้เป็นอิสระจากความรู้และวิธีวิทยาแบบนี้ให้ได้ ซึ่งไม่รู้ทำอย่างไร? แต่ทำอย่างไรจะให้มันเป็นอิสระจากวิธีคิดแบบนี้ที่มันสถาปนาขึ้นในโลกนี้ให้ได้ เช่น

วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องศึกษาในลักษณะที่วิพากษ์นโยบายของรัฐอย่างถึงรากถึงโคนที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมันไม่มีอย่างนั้น ปัจจุบันเราก็โหมโฆษณาว่าเราจะต้องไปนาโนเทคโนโลยีอะไรต่างๆ โดยไม่มีการถามถึงเป้าหมายของสังคมเลย ประเด็นต่อมาคือ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างการศึกษาที่เป็นอิสระจากสื่อ โดยการสร้างสื่ออิสระที่ทำให้เรารู้ทั่วถึงอย่างเท่าทัน ซึ่งผมก็ตอบคำตอบนี้ไม่ได้เหมือนกัน

เกษียร เตชะพีระ : คือที่ผมพูดนั้นอาจจะไม่สอดคล้องกับที่อาจารย์อานันท์ เนื่องจากมาจากภาษาคนละแบบ แต่ถ้าสมมุติมองว่ามันเป็นปัญหาของการใช้กำลังทางทหารกับการยึดใจคน ผมรู้สึกว่า ถ้าอาจารย์วาดภาพระบบว่า ศัตรูที่เราสู้ ผมเห็นด้วยว่ามันมีความเกี่ยวพันกัน มันไม่ใช่ Bush กับแก๊ง มันเป็นปัญหาระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ แต่ถ้าเราเริ่มต้นใหญ่อย่างนั้น เราคงจะหาจุดตั้งต้นที่จะคิดกับมันยากเหลือเกิน เพราะว่ามันรุกเข้ามาเต็มไปหมด อาจจะต้องเริ่มต้นจากว่ามีสติ

ผมว่าเราสังเกตได้ว่า มันตลกดีถ้าเราดูในช่วงสงครามอิรัค พูดได้ว่าในระดับโลก อเมริกากำลังเสียหมา ผลโพลของการสำรวจของอเมริกาเองก็พบว่า ภาพพจน์อเมริกาทั่วโลกตกต่ำลง แม้แต่ในยุโรปเอง แต่ในอเมริกาเอง นโยบายแบบ Bush กำลังคะแนนดี มันกลับกัน คือระบอบบ้าที่จะใช้กำลังทหารไปครองโลก ได้รับการเชียร์หนักเลยจากคนอเมริกัน

เราจะวิเคราะห์ว่าชาตินิยมอย่างไรก็แล้วแต่ ขณะที่คนข้างนอกทั้งโลก คนไม่เอากับมันเยอะนะครับ แล้วมีการแสดงออกขนาดที่ว่า ถ้าเรายอมรับว่าโลกถูกครอบโดยสื่อโลก คนเราก็ร้ายเหมือนกันนะ ขนาดที่มันครอบเราอย่างนี้ เรายังลุกเลยตั้ง 8 ล้านคน ผมสงสัยว่าคนจำนวน 8 ล้านไม่เคยดูโทรทัศน์หรือเปล่า

คือ เพราะฉะนั้นจะเป็นทีวีหรืออินเตอร์เน็ทก็ตาม มันดาบสองคมครับ บรรดาข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์อเมริกา หรือนโยบายที่อเมริกาทำ หรือแม้แต่ด่าทุนนิยมมันก็มาจากสื่อเหล่านี้ ผมเลยรู้สึกว่าจะเชื่อตรงนี้อย่างไร? คือตอนนี้มันแย่ตรงที่ว่าคนอเมริกันคิดไปทางซึ่งเอากับ Bush ในขณะที่คนของโลกไม่เอาด้วยเลย หรือไม่เอาด้วยเป็นกระแสหลัก กำแพงนี้มันจะทะลวงอย่างไร ทำอย่างไรอเมริกันถึงจะเข้าใจโลก หรือเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น กำแพงสื่อสารตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

เพราะในที่สุด บางทีที่มั่นทางยุทธศาสตร์ที่จะหยุด Bush ก่อนอื่น ก็คือต้องในอเมริกา ถ้าคนอเมริกันลุกขึ้นมาค้าน Bush เป็นขบวนการสันติภาพ ขบวนการต้านสงครามขนานใหญ่เมื่อไหร่ ก็ต้องหยุดแบบที่เวียดนามหยุด เวียดกงอาจจะรบเก่ง แต่สงครามเวียดนามมันรบชนะกันที่วอชิงตัน อันนี้อันหนึ่ง

อันที่สองคือว่า มองในแง่กว้างอย่างที่อาจารย์บอกว่า โยงมาถึงระบบคิดหรือหลักคิดนี้ ผมรู้สึกว่าวิธีคิดที่โคตรอันตรายตอนนี้นี่ ซึ่งผมเห็นแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ Bush ตั้งแต่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันขึ้นมา คือ การรวมศูนย์นั้นดี การกระจายศูนย์เหี้ย ทุกอย่างต้องรวมศูนย์แล้วใช้อำนาจแก้ปัญหา ผมว่าโคตรชัดเลย แล้วมันเหมือนกันทั้งระดับโลก และระดับประเทศ ทุกวันนี้จะแก้ปัญหาต้องรวมศูนย์อำนาจ แล้ววิธีแก้ปัญหาคือเอาอำนาจไปฟัดมันเลย แล้วอำนาจนั้นไม่ต้องเคารพกฎหมายก็ได้ ถึงจุดหนึ่งฆ่าเลย แล้วดูเหมือนว่ามันได้ผล

ผมว่าอันนี้น่ากลัวมาก มันอาจจะเกี่ยวกับทุนนิยม แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดของทุนนิยม คือแก้ตรงนี้ได้แต่คงแก้ทุนนิยมไม่ได้ อันนี้ deadly. แล้วทุกเรื่องเลยนะครับ จะนะ หรือที่อื่นๆแม่งคิดอย่างนี้ตลอด

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมคิดถึงวิธีการต่อสู้ซึ่งไม่ใช่เป็นวิธีการต่อสู้แบบตาชั่ง หมายถึงว่าอำนาจสู้กับอำนาจ เราอาจต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ซึ่งต่างบริบทนิดหน่อยในยุคอาณานิคม คิดว่าคล้ายๆกับเมื่อ 200 ปีที่แล้ว อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ฮอล์แลนด์ มีอำนาจเหนือเอเชียและแอฟริกาอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกับวันนี้ ประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมหลายๆประเทศปลดปล่อยตัวเองได้อย่างไร? ในฐานะที่มียุทธภัณฑ์น้อยกว่า ล้าสมัยกว่า แม้ว่ามันจะต่างบริบทกันก็ตาม

เรื่องต่อมาที่อาจารย์บอกว่า post colonial สิ้นสุดลงแล้วเมื่อขั้วอำนาจสองขั้วสิ้นสุดลง ผมคิดว่า เราต้องการคนอย่างซาอิด หรือที่เพื่อนเขาชาวอเมริกันเรียกเขาว่า ยิวแห่งอเล็กซานเรียมากกว่านี้ เพื่อที่จะให้ความรู้อีกด้านหนึ่งมากยิ่งขึ้น

อำนาจอาจจะต้องต่อรองกับความรู้ อำนาจอาจไม่ต้องต่อสู้กับอำนาจด้วยกัน เพราะอาจารย์ได้วิเคราะห์มาแล้วว่า อีก 20 ปีข้างหน้ายังคงจะไม่มีชาติใดสามารถทัดเทียมกับสหรัฐได้ ตัวเก็งอาจจะเป็นจีน แต่สิ่งที่อาจารย์อานันท์เสนอ การเปิดสื่อ หรือการเปิดแนวรบด้านสื่อที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น หมายถึงการ inform อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้านอำนาจ หรือวิธีการเอาชนะในสมัยอาณานิคมบางลักษณะ อาจจะเป็นวิธีหนึ่งซึ่งเราต้องกลับไปค้น

ผมคิดว่าช่วงนี้เป็น colony without area มันเป็น neo-imperialism มันไม่ต้องการดินแดน แต่มันงำอยู่ภายในสมองเรา เราจะปลดปล่อยตัวเราเองได้อย่างไร ผมคิดว่าวิธีการต่อสู้จะไม่เป็นแบบตาชั่ง หรือฟันต่อฟัน ตาต่อตา…

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : ผมเห็นด้วยกับ อ.เกษียร ที่ว่า สิ่งซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเรา มันรับเอากระแสคิดอย่างนี้มาดำเนินนโยบายทางการเมืองอะไรต่างๆ และมันจะสาหัสมาก จะมีปัญหาต่อไปและมีผลกระทบต่อเนื่องในอนาคตยาวนานมากในการที่ว่า อำนาจนิยมแบบใหม่ เพราะคนไทยเป็นประเภทอำนาจนิยมอยู่แล้ว ทุกคนต่างยิ้มย่องยอมรับแบบจอมพลสฤษฏ์ อันนี้มาใหม่ เป็นอำนาจนิยมแบบใหม่ที่อาศัยประชาธิปไตยในการสร้างความชอบธรรมด้วย เพราะมันกระทบในหลายเรื่องอย่างที่ว่าไปแล้ว

แม้แต่เรื่องที่ผมสนใจคือการวางนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศ ตอนนี้เละเลยคุณเอ๋ย! มันก็จะเอาแบบนี้ โอ้โห! อะไรก็ต้องความได้เปรียบในการแข่งขันบนเวทีโลก คือทุกอย่างจะต้องแข่งขันอย่างเดียว ผมว่ามันจะบ้ากันใหญ่แล้วเวลานี้ คือเขาบ้าที่อื่นก็บ้ากันไป แต่พอมาบ้าใกล้ตัวมันชักจะบ้ากันใหญ่แล้ว ถ้าเกิดเราไม่พูดอะไรเลย เราก็คงจะบ้าไปด้วย

นักศึกษา : มีข้อสงสัยนิดหน่อยครับ เพราะเป็นนักเรียนที่ขี้สงสัย เป็นไปได้ไหมครับว่าเบื้องหลังของมันคือเงินสกุลดอลล่าร์กับเงินสกุลยูโร เพราะทำไมฝรั่งเศสไม่เห็นด้วย อาจเป็นเพราะฝรั่งเศสรับเครื่องยนต์จากเยอรมัน และเครื่องยนต์ต้องใช้น้ำมัน ฝรั่งเศสจึงไม่อยากให้อเมริกาไปรบกับอิรัค เพราะถ้าอเมริกาได้น้ำมันไป ค่าเงินดอลล่าร์มันก็จะมีเสถียรภาพกว่า และตอนนี้เงินยูโรก็ค่อนข้างมีเสถียรภาพ จึงไม่ต้องการให้เงินสกุลดอลล่าร์มันขึ้นมา

มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งพูดว่า อเมริกาเป็นโรคอย่างหนึ่ง Anemy deprivation syndrome คือโรคขาดศัตรูไม่ได้หรือเปล่า เพราะว่าตั้งแต่ที่แล้วๆมา เขาจะมีศัตรูตลอด ถ้าขาดศัตรูสักวันหนึ่ง เขาจะชักดิ้นชักงอหรือเปล่า

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : มีนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การที่ค่าเงินยูโรแข็ง มันไม่ได้เป็นข้อดีของยุโรป มันกลายเป็นปัญหาเงินลงทุนเพราะว่า อย่างเมืองไทยเรา ค่าเงินมันแข็งขึ้นไม่ใช่ดีนะ เนื่องจากเศรษฐกิจต่างๆเป็นเศรษฐกิจส่งออกอะไรต่างๆมากมาย ดังนั้น ค่าเงินยูโรสูงเวลานี้ จะมีปัญหาในเชิงเศรษฐกิจเพราะมันขายของไม่ได้ ถ้าขายในทวีปของตัวเอง อียู.อาจจะใหญ่ค้าขายกันได้ แต่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ผมไม่แน่ใจเท่าที่ติดตามข่าว

แต่ปัญหาของค่าเงินดอลล่าร์อ่อน อเมริกาอาจจะจงใจทำเพื่อให้ขายของได้มากขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจมันเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้พบว่าปัญหาของค่าเงินดอลล่าร์อ่อนตัวลง มันไม่ได้มาจากการจงใจ แต่มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของอเมริกามันเริ่มอ่อนลงไปด้วยอันนี้อาจจะเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อไปทั่วโลก เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกจะมีปัญหาไปด้วย เนื่องจากอเมริกาเป็นตลาดใหญ่

นักศึกษาอีกคน :มีคำถามอยู่ว่า สงครามที่เกิดขึ้นมันเป็นแนวคิดแบบอำนาจนิยม ที่นิยมการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง แล้วผมก็ลองมองย้อนมาที่รัฐบาลของเราเอง ก็นิยมแก้ไขด้วยการใช้ความรุนแรง และพยายามทำให้รัฐบาลตัวเองมีความถูกต้องชอบธรรม ผมมีคำถามว่า พอเราเป็นทุนนิยม เป็นบริโภคนิยม จะซาดิสท์ชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไปทั้งหมดหรือเปล่าครับ

เกษียร เตชะพีระ : เป็นคำถามที่แปลกมาก ผมไม่เคยคิดมาก่อน จะลองขอเก็บไปคิดดูก่อน ทีนี้ขอย้อนนิดหนึ่งครับเกี่ยวกับคำถามเรื่องดอลล่าร์ คือผมเจอบทความทำนองนั้นอยู่ซึ่งพยายามจะพูดทำนองนี้ว่า เพราะมันเกลียดอิรัคฉิบหายเลย เนื่องจากว่าอิรัคจะเปลี่ยนการซื้อขายน้ำมันเป็นเงินยูโร แล้วมันไปทำลายดุลยภาพของเงินดอลล่าร์ที่ผูกอยู่กับการค้าน้ำมัน แล้วมีนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันฝ่ายซ้ายอยู่คนสองคนที่เขียนบทความทำนองนี้ ก็คือว่า สงครามอิรัคส่วนหนึ่งที่สำคัญเป็นเรื่องของการที่จะต่อสู้ เพื่อจะทำให้การซื้อขายน้ำมันยังคงผูกอยู่กับเงินดอลล่าร์ต่อไป

จริงเท็จไม่ทราบ เพราะผมอ่านแต่หัวบทความ คือเรื่องอิรัคกับเรื่องของอเมริกา ตอนนี้มันเกือบ 10 เมกกะไบต์แล้ว แค่ผมตามอ่านหัวข้อข่าวผมก็ตาลายแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะทำอันนี้ได้ เนื่องจากยังไม่รู้จริงเท็จนะครับ คือถ้าคุณให้เบอร์ E-mail ผมไว้ ผมจะส่งข้อมูลนี้ให้คุณ แล้วคุณไปอ่าน และถ้าคุณคิดว่ามันฟังขึ้นก็ช่วยบอกผมที

ประมวล เพ็งจันทร์ : มีใครจะเสนอประเด็นเพิ่มเติมไหมครับ ถ้าไม่มี ผมคิดว่าเวลาที่เรากำหนดไว้ก็สิ้นสุดลงพอดี ประเด็นของการสนทนากันในวันนี้ ทุกท่านที่เข้าร่วมเสวนาแม้ว่าจะไม่ได้แสดงความคิดเห็นออกมา แต่คิดว่าก็คงมีประเด็นอะไรที่มีอยู่ในใจซึ่งจะต้องไปหาคำตอบต่อ

ท่านผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน ผมในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มากำกับเวทีวันนี้ ในนามของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภาควิชาสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต้องขอขอบคุณที่ทุกท่านได้มาใช้เวลาในช่วงบ่ายวันนี้สนทนาปัญหาระดับโลก แต่ความจริงก็คือสัมพันธ์กับพวกเราทุกคน

ผมติดในในประเด็นที่ อ.เกษียรพูดถึงเรื่องการเสพติด ผมคิดว่าการต่อต้านสงคราม หรือการต่อต้านระบบโลก ถ้าเราปลอดพ้นจากการเสพติด บางทีเราจะมีทางได้ชัยชนะ เพราะปัจจุบันที่เราทำอะไรไม่ได้ เพราะเสพติดความสะดวกความสบายในแบบวิถีชีวิตที่อเมริกันที่มอบให้กับเรา จนกระทั่งเหมือนกับว่าเราติดยาเสพติด ที่สุดท้ายถ้าเราจะดื้อดึงต่อเขา เราก็ไม่มียาที่จะเสพ ดังนั้นถ้าเราสามารถทำตัวเองให้ปลอดพ้น เช่นตัวอย่าง อ.อานันท์ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ก็จะสามารถปลอดพ้นได้ อันนี้เป็นวิธีต่อสู้กับสงครามอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ขอฝากพวกเราทุกท่าน วิธีการต่อต้านสงคราม ต่อต้านระบบอำนาจเดี่ยวของโลกก็คือ ทำตัวให้ปลอดพ้นกับสิ่งเสพติดที่อเมริกาเผยแพร่ไปทั่วทุกอณูของโลก แล้วเราอาจจะมีอำนาจลุกขึ้นมาชี้หน้าอเมริกาวันใดวันหนึ่งก็ได้ คือหมายความว่าไม่ยอมทำตามที่อเมริกาสั่ง แล้ววันนั้นเราอาจจะมีอำนาจในตัวเราเอง

ผมคิดว่าข้อสรุปในวันนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่า การที่พวกเราช่วยไปคิดต่อ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยินดีที่จะเป็นผู้ประสานในการจัดเวทีอย่างนี้ขึ้นอีก วันนี้ขอขอบคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่าน และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคน ขอยุติและปิดเวทีเพียงแค่นี้ครับ

ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ : หัวข้อการเสวนาวันนี้คือ โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ภาควิชาสังคมวิทยาฯ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โดยมีผู้ให้การสนับสนุนคือ สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพราะฉะนั้น วันนี้เราจึงมีเจ้าภาพหลายฝ่าย

บรรยากาศวันนี้ จะคล้ายๆกับการที่เราเคยจัดกิจกรรมกันในสถานที่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือท่านผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านมีอำนาจ มีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นกันอย่างอิสระเสรี แต่เนื่องจากวันนี้เรามีวิทยากร 3 ท่านมาอยู่ ณ ที่นี้ เราจะให้วิทยากรแต่ละท่านซึ่งมีประเด็นที่จะมาให้ข้อมูลว่า มีอะไรมาเสนอแนะ และมีความคิดเห็นกันอย่างไร เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ดังนั้นเราจึงจะให้วิทยากรทั้ง 3 ท่านเสนอประเด็นหลักก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นเวทีของทุกท่านให้ช่วยเสนอข้อคิดเห็นและนำประเด็นมาแลกเปลี่ยนกัน

ผมขอใช้เวลาสั้น แนะนำวิทยากรครับ คนที่นั่งอยู่ทางขวามือสุดของผมคือ ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนทางด้านซ้ายของผมคือ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เป็นอาจารย์จากสาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านสุดท้ายคือ อ.ซอและฮ์ แสวงศิริผล ท่านอยู่ในเชียงใหม่ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวมุสลิม วันนี้ท่านจะมาร่วมเป็นวิทยากรกับพวกเรา เราจะให้เกียรติวิทยากรที่มาจากที่ไกลก่อน เพราะฉะนั้น จึงขอเริ่มต้นที่ อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้เสนอประเด็นในเรื่อง"โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว"ก่อน ขอเชิญครับ

(คลิกกลับไปตอนที่ ๑)

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

บทความฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าว กรุณาอ้างอิงตามสมควร - สมาชิกและผู้สนใจทุกท่าน ถ้าประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง

ชาตินิยมอเมริกัน มันเป็นชาตินิยมที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเชื้อชาติ หรือศาสนา เท่ากับอุดมการณ์ทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตย ขณะที่คุณตั้งอยู่บนชาติพันธุ์ เช่น ความเป็นไทย ความเป็นพม่า มันเฉพาะใช่ไหม มันของคนชาติพันธุ์นี้เท่านั้น หรือคนในลัทธิศาสนาก็จะแบ่งแยกกัน แต่มันเสือกตั้งอยู่บนประชาธิปไตย เสรีภาพ ตลาดเสรี ซึ่งฟังๆดูมันเหมือนกับ Universal ใครๆก็แชร์กับกูได้ แจกได้ นี่เป็นของดี มันเป็นชาตินิยมที่ว่ากูดี ไม่ใช่เพราะว่ากูเป็นอเมริกัน. Bush พูดหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 ว่าไม่มีเชื้อชาติอเมริกา มีแต่ความเชื่ออเมริกา มันตั้งอยู่บนฐานความเชื่ออันนี้มันจึงเชื่อของมัน export ได้ทั่วโลก...

 

มันเป็นชาตินิยมที่พ่ายแพ้น้อยครั้ง หรือแทบไม่เคยเลย ขณะที่ชาตินิยมประเทศอื่นแพ้มา ถูกยึดครอง เจ็บช้ำ ถูกฆ่า แล้วสร้างชาติขึ้นมาจากการไล่เจ้าอาณานิคม ชาตินิยมอเมริกาไม่เคยหรือน้อยครั้งมาก นานแล้วไล่อังกฤษเมื่อ 200 ปีก่อน คือมันเป็นชาตินิยมที่ชนะบ่อย มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้นมันจึงเป็นชาตินิยมที่หึกเหิมมาก
สุดท้ายมันเป็นชาตินิยมที่แลไปข้างหน้า และเชื่อเลยว่า เราจะทำให้โลกดีขึ้น โลกข้างหน้า bright new world - เป็นชาตินิยมที่มองไปข้างหน้าแต่ความจำสั้น
N
next
R
random

(คลิกกลับไปตอนที่ ๑)