โครงสร้างการรักษาพยาบาลที่ Foucault พูดถึงนี่ มันเป็นโครงสร้างอำนาจ ไม่ใช่โครงสร้างของการดูแลตัวเอง หรือเป็นนายตัวเอง อันนี้ไม่ใช่. โครงสร้างสุขภาพที่เราจัดการมาในสองสามร้อยปีที่ผ่านมา มันเป็นโครงสร้างอำนาจโดยมีโรงพยาบาลเป็นกระทรวงกลาโหมของโครงสร้างอันนี้ อันนี้คือประเด็นที่ผมอยากพูดถึง....
แต่ถ้าพยาบาลคิดว่า ตัวน่าจะมีบทบาทอยู่ในสถาบันที่พวกหมอได้สัมปทานไปหมดแล้ว ผมว่ามันไม่มีทาง. นอกจากว่าต้องสู้กันอย่างหนัก ล้มล้างกัน ทะเลาะกัน ทำสงครามกัน เพื่อจะชิงเอาตัวสถาบันนี้กลับคืนมา และผมไม่แน่ใจว่าไอ้ตัวสถาบันแบบนี้ ตกอยู่ในมือพยาบาลจะดีกว่าตกอยู่ในมือหมอ
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
เพราะฉะนั้น ปัญหานี้ก็นำมาสู่การนิยามใหม่ ในทศวรรษหลังๆนี้ก็มีการพยายามนิยามเรื่องของสุขภาพกันใหม่ ว่า "สุขภาพ"ไม่ได้หมายถึงเรื่องของ"ชีวมิติ"เพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงเรื่องของ bio - psycho - แล้วก็ social ด้วย.
สามมิติอันนี้ มันมีงานวิจัยรองรับหลายอย่างทีเดียว เช่น การศึกษาเมื่อตอนปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ เราพบว่า วิถีชีวิตของคนมันสัมพันธ์กับโรคด้วย เช่น ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนได้เข้ามาอยู่ในลอนดอนมาก หรือในเมืองใหญ่ๆมาก และ พบว่าวัณโรคและไข้ทรพิษมันเกิดขึ้นเยอะเลย. แต่ถ้าวิถีชีวิตไม่เป็นแบบนั้น โรคพวกนี้ก็ไม่ค่อยมีหรือระบาด เพราะฉะนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับระเบียบวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนด้วย ไม่ใช่เรื่องของชีวมิติแต่เพียงอย่างเดียว
เขาพบว่า มีคนญี่ปุ่นที่อพยพไปอยู่ที่อเมริกา... ผู้หญิงอเมริกันเป็นมะเร็งเต้านมกันเยอะเมื่อเทียบกับผู้หญิงญี่ปุ่น แต่พอผู้หญิงญี่ปุ่นอพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกา ด้วยวิถีชีวิตแบบอเมริกันก็ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นเป็นมะเร็งเต้านมในแบบเดียวกันเพิ่มมากขึ้น อันนี้ก็คงเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ยืนยันว่า การบำบัดรักษาหรือวิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเป็นมาแบบเดิมที่ดำเนินมาเป็นศตวรรษนั้น ก็คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป
การเคลื่อนย้ายอพยพชาวอินเดียนแดงออกไปจากถิ่นที่อยู่เดิม เพียงระยะทางไม่ไกลจากที่เดิมเลย ก็พบว่าคนอินเดียนแดงป่วยเป็นวัณโรคอย่างน่าตระหนกตกใจ คือมันพรากคนออกไปจากท้องที่ และมิติอันนี้ไม่เคยถูกนำมาคิดมาก่อนเลย ในเวลาที่เราสร้างเขื่อน แล้วก็มีการย้ายคนออกไป ในมิติของการพรัดพรากจากถิ่นที่รัก แม้ว่าห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ประเด็นเหล่านี้ผมคิดว่ามันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง หรือการนำมาสู่การปฏิวัติทางความคิดเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งผมขออนุญาตนำเสนอสั้นๆเพียงแค่นี้ก่อนครับ
นักศึกษาพยาบาล(1) : ก็เห็นด้วยกับท่านอาจารย์นะคะ ที่ได้เล่าเรื่องวิธีคิดทางการแพทย์มา และเราเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ แต่ทีนี้ในทางการพยาบาล คือในระยะแรกๆเราก็คงได้รับความคิดในเรื่อง Mechanistic มาเช่นเดียวกัน เพราะว่าทำงานใกล้ชิดกับสายทางการแพทย์ แต่พอมันดำเนินไป เราก็เริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่เผชิญหน้าเราอยู่ มันไม่ใช่ตรงใจเรา เพราะว่างานการพยาบาลเราเกี่ยวข้องกับคน เราคิดถึงสิ่งแวดล้อม เราคิดถึงสังคมวัฒนธรรมที่ประกอบเป็นเขาขึ้นมา และสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบทำให้เกิดการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงได้มีการทบทวนในเรื่องเหล่านี้
ปรัชญาในเรื่องการพยาบาล เรามองในเรื่องของ holistic มาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ว่าในสังคมอาจจะไม่เห็นว่า พยาบาลมองคนแบบ holistic แต่เราก็รู้ตัวว่าเรามองแบบ holistic ซึ่งประเด็นนี้ส่วนหนึ่งมันอาจเกิดจากเรื่องของ professional class ที่เราเคยพูดกันอยู่ว่า มันถูกระบบอำนาจนิยมมาครอบงำมาเป็นเวลานาน แม้แต่ในปัจจุบันนี้ในเรื่องของการปฏิรูประบบสุขภาพ เราก็ยังเห็นอำนาจอันนี้ที่มันแฝงอยู่
เพราะฉะนั้น ปัญหาก็คือว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมรู้ว่า สิ่งที่พยาบาลได้ให้บริการคนไข้ เราไม่ได้มองคนแค่ mechanistic หรือศาสตร์ที่ใกล้เคียงเราจะได้เข้าใจเราว่า เราไม่ได้มองคนแค่เป็นกลไก แต่โดยความเห็นคิดว่า professional class หรืออำนาจที่มันครอบ ทำให้คนอื่นมองเราไม่เห็นหรือเปล่า หรือตัวเราเองไม่ได้ทำให้คนอื่นเห็นด้วยก็ได้ ทั้งๆที่พยาบาลมองเรื่องของ holistic หรือ"องค์รวม"มาตั้งนานแล้ว
รวมทั้งเรื่องการศึกษา มันก็ได้พัฒนาวิธีคิดของเรา แต่ว่ามันก็ยังจำกัดอยู่ในแค่กลุ่มของเรา ซึ่งสังคมไม่รู้เลยว่าเราคิดเรื่องนี้กันอย่างไร หรืออย่างบางทีคุยกับญาติหรือคนใกล้ชิด ทำให้เข้าใจว่า พยาบาลทำอะไรมากกว่านั้นนะ มากกว่าที่ปรากฎให้เห็นในสังคม
นักศึกษาพยาบาล(2) : ดิฉันอยากจะเพิ่มเติมในประเด็นนี้นะคะ จากการที่อ่านบทความของ Foucault ที่อาจารย์สมเกียรติ แปลและเผยแพร่เอาไว้ใน website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพวกเราเป็นอย่างมากเลยในการนำเอามาอ่านสำหรับการที่จะสัมนาเรื่องของ postmodern ในบทความนั้นได้พูดถึง แนวคิดของ Foucault ที่พูดเกี่ยวกับในเรื่องของโรงพยาบาล และได้พูดถึงเรื่องทางการแพทย์ในสมัยที่ท่านเป็นนักศึกษาอยู่ว่า อำนาจทุกอย่างอยู่ที่หมอ แล้วเป็นลักษณะของ Investigation ก็คือว่า จะต้องรู้ให้ได้ว่า โรคมันอยู่ตรงไหน ยังไง ? แม้กระทั่งตายไปแล้ว ก็ยังนำเอาศพขึ้นมาผ่า อ่านแล้วก็รู้สึกว่ามัน in เข้าไป... อืม มันก็จริงนะคะว่า คนตายไปแล้วก็ยังอุตสาห์ไปดูว่าโรคมันอยู่ตรงไหน เป็นอะไร ? ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องเชิงประจักษ์มาก
ทีนี้ดิฉันเองก็มามองว่า ในโรงพยาบาล ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดคือหมอ แล้วก็ในสังคมก็มองว่า ระบบสุขภาพก็คือตัวหมอ เพราะฉะนั้น ก็มามองว่าทั้งระบบเป็นเรื่องของ biomedical แต่ในขณะเดียวกัน ระบบสุขภาพไม่ได้มีเฉพาะ physician หรือหมอเพียงอย่างเดียว มีนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งเราทำงานอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา แต่สังคมก็ไม่ได้มองตรงนั้นมากเท่าไหร่ สังคมยังมองว่า ระบบสุขภาพเป็นระบบของการดูแลแต่ทางด้าน bio เพียงด้านเดียว
ในเรื่องของ holistic ที่เราจะต้องไปเยี่ยมบ้านในชุมชน เพราะดิฉันเองเป็นพยาบาลชุมชน เราต้องไปทำความเข้าใจในชุมชนและทำความเข้าใจกับครอบครัว เพื่อให้ดูแลตัวเองดีขึ้น มีการปรับเปลี่ยนบทบาทในทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ในความคิดของตัวเองคิดว่า ทำอย่างไรที่เราจะให้ประชาชนเห็นว่า พยาบาลก็เป็นสังคมหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งในระบบสุขภาพที่เราน่าจะมี power ขึ้นมาตรงนี้
นักศึกษาพยาบาล(3) : มาถึงตรงนี้จึงอยากจะถามคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า ท่านมองพยาบาลที่ทำกันอยู่อย่างนี้ ท่านมองเห็นบทบาทของพยาบาลบ้างหรือเปล่า
นิธิ เอียวศรีวงศ์
: ผมไม่แน่ใจว่าจะตอบปัญหานี้ได้
แต่อยากจะเสริมอะไรนิดหน่อยที่พูดกันเมื่อสักครู่นี้ แล้วก็จะโยงมาถึงเรื่องบทบาทพยาบาลด้วย
คือ สืบเนื่องจากที่ อ.ชัชวาล พูดเมื่อสักครู่นี้ ผมคิดว่าจริงๆแล้วในปัจจุบันนี้
พวกโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย จะเป็นเพราะว่าการแพทย์มันเก่งมากหรืออะไรก็แล้วแต่
เรากลับพบว่า โรคภัยไข้เจ็บในเวลานี้ มาจากสิ่งที่ อ.ชัชวาล เรียกว่า ระเบียบแบบแผนหรือพฤติกรรมกับสังคม
คือ สองอย่าง เช่น คุณไปอยู่ที่แม่เมาะ อย่างนี้เป็นต้น คุณก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจากขบวนการสร้างพลังงานในสังคม
หรือมิฉะนั้น โรคเอดส์มาจากพฤติกรรมแน่ๆ
ฉะนั้น การมองการรักษาพยาบาล เฉพาะแต่เรื่อง biomedicine จึงไม่ตอบปัญหาของโรคของโลกในปัจจุบันเพียงพอ ผมว่าสำนึกอันนี้มันมีกว้างขวาง แต่อยากให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในขณะเดียวกันมันมีการต่อสู้กับสิ่งที่อาจารย์ท่านหนึ่งใช้คำว่า professional class หรือว่า professionalism ด้วย กล่าวคือ เวลานี้พอเราพูดถึงสุขภาพ เรานึกถึงเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสังคม มีคนเติมเรื่องสุขภาพจิตวิญญานเข้าไปอีกด้วยซ้ำไป
ถ้าสุขภาพหมายความกว้างขวางอย่างนี้ คำถามคือว่า ถ้าเช่นนั้นมันเป็นหน้าที่ของใคร คำตอบคือ มันเป็นหน้าที่ของทุกคนซิ ถูกไหม ? การออกระเบียบสังคมไม่ให้เที่ยวเกินตีสอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระทบกับเรื่องสุขภาพแน่ๆ การที่พระมีเมียหรือซื้อล็อตเตอรี่ มันก็กระทบสุขภาพ เพราะจิตวิญญานของเราเสียไปด้วย อะไรต่างๆนาๆ
ตกลง เวลาเรามองเรื่องสุขภาพ แล้วไปมองว่ามีแพทย์ มีพยาบาล มีนักเทคนิคการแพทย์ อันนั้นก็แคบเกินไปซิถ้าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ผมคิดว่ามันมีความสำคัญ เพราะว่า พร้อมๆกันไปกับการสำนึกว่า สุขภาพมันกว้างขวาง ไม่ได้มีความหมายเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว มันก็มีอีกแรงหนึ่งที่พยายามจะทำให้สุขภาพทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของ professionalism หมายความว่า คนที่อาจจะไม่จัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์เลย เช่น นักสังคมวิทยา ถ้าเผื่อว่าเขาเกิดสนใจในเรื่องของสุขภาพขึ้นมา เขาจะบอกคล้ายๆว่า แต่ละคนดูแลสุขภาพทางสังคมไม่ดีเท่าเขา นี่เป็นเรื่องของ professionalism ซึ่งรับสืบทอดมาจากพวกแพทย์ พวกพยาบาล พวกเทคนิคการแพทย์ คือหมายความว่า มองสุขภาพเป็นเรื่องของ expertee ที่คนบางคนต้องเรียนรู้ หรือต้องอะไรก็แล้วแต่ แล้วจึงสามารถที่จะจัดการให้กับคนอื่นได้ ซึ่งก็กลับทำให้สุขภาพแคบลงไปอีกแล้ว สุขภาพตกไปอยู่ในมือของ professional class ที่พูดถึงเมื่อสักครู่นี้เพียงจำนวนน้อย แล้วคนอื่นๆไม่เกี่ยว ผมก็เลยสูบบุหรี่ต่อไปไง ปล่อยให้หมอและให้คนอื่นๆเขาดูแลให้ผมแทน แทนที่จะกลับมาดูแลตัวเองว่า เราเป็นผู้ดูแลและควบคุมสุขภาพเราเอง ไม่ใช่คนอื่น
ผมคิดว่าโลกในปัจจุบัน เวลาเราพูดถึงเรื่องของสุขภาพ มันกำลังต่อสู้กันระหว่างคนที่ตั้งตัวเองเป็น expert ในเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมวิทยา เป็นอะไรก็ตามแต่ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนทางด้านการแพทย์อย่างเดียว กับ สำนึกอีกชนิดหนึ่งซึ่งผมคิดว่าพูดกันมาก แต่ว่า ในขณะเดียวกันที่พูดถึงเรื่องสำนึกว่า เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ก็พยายามที่จะสร้างกลุ่มคนที่เป็นนักสุขภาพขึ้นมากำกับผู้อื่นเขา ซึ่งก็วนกลับมาถึง Foucault ที่อาจารย์พูดถึงเมื่อกี๊นั่นเองก็คือว่า โครงสร้างการรักษาพยาบาลที่ Foucault พูดถึงนี่ มันเป็นโครงสร้างอำนาจ ไม่ใช่โครงสร้างของการดูแลตัวเองหรือเป็นนายตัวเอง อันนี้ไม่ใช่. โครงสร้างสุขภาพที่เราจัดการมาในสองสามร้อยปีที่ผ่านมา มันเป็นโครงสร้างอำนาจโดยมีโรงพยาบาลเป็นกระทรวงกลาโหมของโครงสร้างอันนี้ นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่ผมอยากพูดถึง
ประเด็นที่สองต่อมาก็คือว่า ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดนะ ผมคิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาเป็นลูกน้องเขาตั้งแต่ต้น คือหมายความว่า เมื่อตอนก่อนหน้าที่จะมีพยาบาล มันมีหมอมาก่อน และพยาบาลคิดว่าตัวนี่จะเข้าไปช่วยหมอ แล้วผมคิดว่าจนถึงนาทีนี้ พยาบาลยังคิดว่าตัวเองเป็น"แขนขา"ของหมอ แล้วหมอก็รู้สึกว่า ตัวเองเป็น"หัว" หมอชอบคิดว่าตัวเองเป็นหัว แต่เสือกไม่ทำหน้าที่หัวอย่างเดียว อยากทำตัวเป็นมีแขนมีขา ทำเองบ้าง อะไรบ้างร้อยแปด แล้วก็หวงอำนาจไม่ให้แขนขามันคิดอะไรของมันเองตลอดเวลา
ทีนี้พยาบาลก็พยายามจะต่อสู้กับหมอ โดยการบอกว่า เฮ้ย แขนมันก็มีหัวของมันเองต่างหาก ก็ขอให้แขนมันทำอะไรของมันได้มากขึ้น ผมคิดว่าตราบเท่าที่ยังต่อสู้อยู่ในโครงสร้างอันนี้ คือโครงสร้างที่ว่า มีหมอ มีพยาบาล แล้วก็พยาบาลขอแบ่งอำนาจขึ้นมาอะไรต่างๆเหล่านี้ ผมว่ามันจะไปไม่ถึงไหน จนกว่าจะต้องกลับมาคิดใหม่ว่า ถ้าในสังคมเรามองโดยมีสำนึกสุขภาพอย่างที่ได้พูดถึงเมื่อสักครู่ว่ามันกว้างขวาง ทุกคนเกี่ยวข้องกับสุขภาพหมด ทำอย่างไรพยาบาลจึงจะสามารถ perceive สามารถที่จะมองหรือนึกถึงบทบาทของตนที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่บทบาทที่สัมพันธ์อยู่กับโรงพยาบาล ไม่ใช่บทบาทที่สัมพันธ์กับหมอ บทบาทของพยาบาลที่สัมพันธ์กับสังคมโดยตรงนี่ นอกจากอยู่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลทำอะไรได้อีกในสังคม
ผมก็ไม่รู้นะครับ แต่ลองคิดถึงว่า ทุกคนมีหน้าที่ดูแลสุขภาพตนเอง และดูแลสุขภาพกันและกัน ถ้าคิดอย่างนี้ผมคิดว่า มันคงมีบทบาททางด้านสุขภาพ อย่าว่าแต่เฉพาะพยาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใครๆอีกซึ่งน่าจะแยะมากเลย... แต่ถ้าพยาบาลคิดว่า ตัวน่าจะมีบทบาทอยู่ในสถาบันที่พวกหมอได้สัมปทานไปหมดแล้ว ผมว่ามันไม่มีทาง. นอกจากว่าต้องสู้กันอย่างหนัก ล้มล้างกัน ทะเลาะกัน ทำสงครามกัน เพื่อจะชิงเอาตัวสถาบันนี้กลับคืนมา และผมไม่แน่ใจว่าไอ้ตัวสถาบันแบบนี้ ตกอยู่ในมือพยาบาลจะดีกว่าตกอยู่ในมือหมอ
ไม่ได้แปลว่าพยาบาลไม่เก่งนะ แต่ว่า มันก็เป็นพวกอำนาจนิยมพอๆกันนั่นแหละ คือพอเดินเข้าไป แทนที่จะโดนหมอดุ ก็โดนพยาบาลดุ แล้วหมอมาปลอบอะไรอย่างนี้ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์. คิดว่าจำเป็นที่พยาบาลจะต้องนึกถึงบทบาท ซึ่งผมนึกไม่ออก นึกถึงบทบาทตัวเองในสังคม
นักศึกษาพยาบาล(4) : กราบเรียนอาจารย์นิธิค่ะ และผู้ร่วมเสวนา ดิฉันอยากจะร่วมวงด้วยนะคะว่า เท่าที่ทราบนะคะจากประวัติศาสตร์สมัยก่อน คนไทยพึ่งตนเอง ก่อนที่วิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้ามา เราพึ่งตัวเอง เราปวดศีรษะ เราปวดท้อง เรามีแผล เราสามารถดูแลกันได้ คนคลอดลูกเราก็คลอดกันได้ อยู่กันได้ แต่พอเมื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามา เขาทำอย่างไรไม่ทราบทำให้เราป้อแป้ พึ่งตัวเองไม่ได้. ปวดศีรษะก็ดูแลตัวเองไม่ได้ กินพาราฯ กินมากจะเป็นโรคตับ เป็นโรคไต สารพัด จึงทานไม่ได้. เป็นหัด ต้องทานนั่นทานนี่ ทั้งๆที่เราทานยาเขียวเราก็หาย
นักศึกษาพยาบาล(5) : เมื่อสักครู่มีประเด็นหนึ่งนะคะ เหมือนกับว่าประชาชนเขาโยนความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องของความเจ็บป่วยมาให้เรา แต่ในขณะเดียวกันเราต้องมองว่า เราเองไป Take over เขาหรือเปล่า บางครั้งเรากลับไปสั่งเขาว่าห้ามทำโน่น ห้ามทำนี่ ทั้งๆที่เขาอยากจะทำเหมือนกัน แต่ประเด็นสุดท้ายก็จะลงเอยเหมือนกันว่า ตอนนี้เรารู้แล้วว่าจุดยืนของเราคืออะไร เป้าหมายเราคืออะไร ? ก็เลยออกมาในทำนองเดียวกันว่า กลยุทธของเราจะต้องมีการปรับ เพื่อที่จะไปให้การดูแลหรือการช่วยเหลือ ก็ต้องเน้นให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เราเองอาจเป็นเพียงแค่ผู้ช่วยสนับสนุนในบางส่วนที่เขายังขาดอยู่ให้เต็ม เพราะฉะนั้น ต้องมองทั้งสองฝ่าย คือเขาเองดูแลตัวเองได้ไหม ? หรือว่าเราเป็นคนพยายามไปทำให้เขาเป็นแบบนั้น
นักศึกษาพยาบาล (6) : พอได้มาเรียนกันในวิชาปรัชญา ทำให้รู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ คือเราเป็นพยาบาล เราถูกกระทำมาตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่สมัย mechanism แล้วก็มาถึงสมัยที่ Kuhn ซึ่งได้วิวัฒนาการมา และมันไม่แปลกหรอกที่ทุกวันนี้ พยาบาลจึงตกอยู่ใน paradigm แบบนี้ มันไม่แปลกหรอกที่จะปรับปฏิรูปนี่มันเป็นเรื่องยาก เพราะมันต้อง shift ใหม่ อันนี้หมายถึงการ shift แบบ nursing นะคะ ไม่ใช่ paradigm shift แบบ Kuhn.
เพราะฉะนั้น เวลานี้เราพูดคุยกันมากใน class ว่า multiple truth ที่เราจะไปช่วยคน เราต้องมาแสวงศาสตร์ของเราก่อน เพราะว่าถ้าเราไม่ชัดเจนในคำว่า holistic ของเรา หรือในแง่ของคนไข้ เราจะไปทำคนอื่นได้ไหม เพราะว่าในตัวของเราเองเรายังไม่ชัดเจนเลย. ที่ผ่านมา การที่วิทยาศาสตร์มาครอบงำ วิทยาศาสตร์ไม่เพียงครอบงำแค่พยาบาล แต่ได้ครอบงำทุกคนที่อยู่ในโลกนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะ shift จากตรงนี้ให้ออกไป โดยการมองที่เป็นธรรมชาติมันจึงไม่ง่ายเลย
ทุกวันนี้ พยาบาลเราต้องต่อสู้ในส่วนของพวกเราเอง ที่เรามองแบบนี้ การพยายามที่จะไปสู่แนวคิดใหม่ ปฏิรูปแนวคิดหรือรื้อระบบของเราใหม่ หรือจะ deconstruct มันจะได้หรือเป็นอย่างไร ? ตรงนี้เราต้องการมาก เพราะว่ามันคงไม่ง่าย แล้วก็เราถูกกระทำมาไม่ใช่แค่เรื่องของปรัชญาที่มันมีผลกระทบกับแนวคิดของเราอีกเยอะแยะ แล้วมันก็ยังขึ้นอยู่กับสังคมอีกที่มันถูก paradigm อันเดียวกัน แต่มากระทำกับเราอีกต่างหาก ซึ่งมันเหมือนใยแมงมุมเลย แล้วตรงนี้ล่ะที่อยากจะให้อาจารย์ที่เป็นนักปรัชญาที่นี่ ช่วยไขปริศนาให้เราตรงนี้นิดหนึ่ง
อาจารย์สมจิต หนุเจริญกุล : ความจริงพูดถึงเรื่องการปฏิรูป เราก็พูดกันมาก เป็นวิชาชีพทุกวิชาชีพ แพทย์, พยาบาล, ขณะนี้ เภสัช, ทันตะ, การแพทย์แผนไทย, และยังมีองค์กรเอกชนเข้ามาร่วมด้วย. แต่ว่าสิ่งที่อาจารย์นิธิพูดเมื่อสักครู่นี้ ที่ว่าทุกคนมาต่อสู่กันในระบบ ซึ่งพยาบาลเองตอนนี้ เราก็ยอมรับนะคะว่าเราก็กำลังต่อสู่อยู่ในระบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออำนาจเงินเข้ามา เรื่องของประชาชนจะมีค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพรายหัว แล้วมันจะไปที่ไหน อะไรอย่างนี้ ทุกๆครั้งที่มีการประชุม จะมีการตั้งคำถามเรื่อง 175 บาท ค่าส่งเสริมสุขภาพ อีกเท่าไหร่จะเป็นค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมันค่อนข้างสูงในค่ารักษาพยาบาล แล้วเราจะเห็นเลยว่าทุกคนจะมุ่งไปที่เรื่องของการรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่งการรักษาโรคเบื้องต้น ประชาชนส่วนใหญ่ โรคที่เป็นอยู่ง่ายๆ มันเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งคนไม่ค่อยเจ็บป่วยอยู่แล้ว และทุกวิชาชีพก็จะมุ่งตรงไปส่วนนั้น เพราะมีความรู้สึกว่า ตรงนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทองด้วยที่จะได้ จะเป็นพยาบาล จะเป็นเภสัช เขาก็จะคิดถึงว่า เขาสามารถรักษาโรคเบื้องต้นได้
ทีนี้ถ้าเราจะคิดในเรื่องของอีกมิติหนึ่งว่า ถ้าเรามองสุขภาพในลักษณะที่กว้างแบบนั้น เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพจริงๆ ไม่มีใครที่จะเป็นแกนนำ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่มันจะต้องมีแกนนำ และเมื่อป่วยแล้ว ก็จะอยู่กับความเจ็บป่วยอย่างไร อันนี้ก็ไม่ค่อยมีใครยุ่ง เรื่องของการฟื้นฟูสมรรถภาพอะไรอย่างนี้ ซึ่งตรงนั้นมองว่า พยาบาลทำอะไรได้เยอะนะคะในแกนตรงนั้น ถ้าเราไม่มุ่งไปตรงที่การรักษาเพียงอย่างเดียว
แต่ว่าถ้าทำตรงส่วนนั้น มันจะไปผูกพันกับเรื่องเงินทอง อันนั้นเป็นเรื่องใหญ่เลยนะคะ ถ้าสมมุติในระบบทำ แต่ว่าไม่มีเงินที่จะสนับสนุนนี่ก็ยาก เพราะต่อไปประชาชนเขาไป register ที่ไหน เขาก็ต้องไปรับบริการที่นั่น แล้วเขาก็จะได้เบิก แล้วเขาก็จะส่งต่อ
คือเท่าที่ทำงานอยู่ที่ทราบนี่นะคะ เรื่องเงินนี่ ถ้าไม่มีแพทย์ก็จะไม่มีเงินไปที่นั่น เพราะฉะนั้น พยาบาลก็จะเป็นได้อย่างมากก็อาจจะเป็นลูกจ้างแพทย์อีกทีหนึ่ง ที่จะรับในเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งตรงนี้ดิฉันก็เห็นด้วยกับอาจารย์นิธินะคะ ตรงที่ว่า เราไม่หลุดพ้นจากตรงนี้ แล้วเราก็หลุดพ้นยากมาก เพราะว่าถ้าเราไปทำแล้วไม่มีเงิน พยาบาลไม่มีเงินที่จะไป support เขาก็ทำไม่ได้ เพราะว่าไม่ทราบว่าเขาจะอยู่อย่างไรเหมือนกัน
นิธิ : ผมเห็นด้วยนะครับว่า การต่อสู้ในระบบนี่รู้สึกว่ามันยากมากๆ จนรู้สึกว่าไม่มีทางที่พยาบาลจะสามารถปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับคนอื่นๆ ที่มีอยู่ในระบบการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ เพราะจริงๆแล้ว ระบบอันนี้มันใหญ่กว่าระบบโรงพยาบาลแยะ ผมคิดว่ามันไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับอำนาจเทคโนโลยี และอำนาจเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันนี้ด้วย
หมายความว่า หมอที่ดูกร่าง ใหญ่น่าดูในโรงพยาบาล พอไปเจอฝรั่งเข้า เหลือตัวแค่นี้ นิดเดียวเอง เผลอๆตัวเองรู้สึกว่าตัวเองพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะต้องอาศัยวิทยาการจากเขา แม้แต่เครื่องมือทุกชิ้นก็ต้องไปซื้อมาจากเขาด้วยราคาแพงๆ เพราะไม่สามารถที่จะพัฒนาเครื่องมือของตนเองขึ้นมาได้ หรือดัดแปรงเครื่องมือที่มีอยู่เดิมได้ เพื่อให้ใช้ในกิจกรรมใหม่ก็ทำไม่เป็น เช่น ที่พูดๆกันอยู่ในทุกวันนี้ หมอเองก็ซักประวัติกันไม่เป็นแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเข้าห้องแล็บหมด เป็นต้น
แสดงว่ามันเป็นโครงสร้างอำนาจที่ผูกพันกันทั้งโลก และพยาบาลเองก็เป็นเพียงจุดนิดเดียวเองในโครงสร้างมหึมาอันนี้ เพราะฉะนั้น การต่อสู้ในระบบนี่ ผมคิดว่าค่อนข้างยากมาก ดังนั้น ที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ก็จึงอยากจะเห็น พยาบาลพยายามมองหาบทบาทการต่อสู้ที่อยู่นอกระบบ มันมีทางเป็นไปได้ไหม ?
อันหนึ่งซึ่งเดี๋ยวอาจารย์ไพสิฐอาจจะบอกได้ว่า เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้คือว่า เวลานี้ถ้าเรามองเงินเรื่องของสุขภาพ ที่มันไหลจากกระทรวงสาธารณสุข หรือที่จริงแม้แต่การศึกษาที่มันไหลจากกระทรวงศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ผมว่าผิดแล้ว. ประเทศไทยกำลังเปลี่ยน เวลานี้เงินจำนวนอย่างน้อยที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า จะไหลไปที่ อบต. และจำนวนเงินตรงนี้จะเพิ่มมากขึ้น เพราะอำนาจการเก็บภาษีของท้องถิ่นจะเพิ่มมากขึ้นด้วยในอนาคต อันนี้เราหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะว่าเราเริ่มทำมาปีสองปีแล้ว และผมคิดว่า พอคนเริ่มเคยชินกับมีอำนาจจากการเก็บเงิน มันก็จะไม่ยอมคืนให้ใครง่ายๆ
ตรงนี้ แหล่งของงบประมาณหรือทรัพยากรที่จะเข้ามาหนุนเรื่องของสุขภาพ ไม่ได้ไหลมาจากส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ลองมองตรงนี้ให้ดีๆว่า นี่เป็นตัวอย่างเพียงอันเดียวนะครับว่า ช่องทางที่พยาบาลจะเข้าไปมีบทบาท.
อาจารย์ประเวศ พูดเสมอว่า คือมี อบต.ดีๆจำนวนมาก แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร ตั้งแต่หลายชั่วโครตมาแล้ว ก็สร้างถนนกับสร้างปะปามาโดยตลอด เพราะว่าเขาอยากจะทำดี เขาก็สร้างถนน สร้างปะปา แต่อาจารย์ประเวศบอกว่า ทำอย่างไรให้เขา ทำง่ายๆก่อนด้วยการเริ่มต้นเก็บความรู้ สำรวจสุขภาพของคนในตำบล แล้วเขาจะได้มองเห็นว่า งานที่เขาพึงทำ มันจะสัมพันธ์กับคนอย่างไร ? ไม่ใช่เรื่องของถนนแต่เพียงอย่างเดียว เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าเราสามารถผลักดันให้ อบต. เริ่มมาสนใจคนมากขึ้น ผมคิดว่าเขามีเงิน ภายในห้าปีต่อจากนี้ไป มีหลายตำบลในประเทศไทย มีเงินที่จะจ้างเจ้าหน้าที่สุขภาพประจำตำบลโดยไม่สังกัดราชการตรงไหนทั้งสิ้น มีเงินเดือนจ่ายในราคาที่สมควร มีสวัสดิการ และบำนาญในชีวิตต่อไปได้ ผมว่าพยายามนึกถึงบทบาทตรงนี้ ที่อยู่นอกระบบเก่าให้มากขึ้น ผมยกตัวอย่าง อบต.เป็นแต่เพียงตัวอย่างเดียวนะครับว่า ลองดูนะ ผมคิดว่ามันมีอยู่อีกแยะอยู่พอสมควร
นักศึกษาพยาบาล (7) : ขอเสริมนิดหนึ่งนะคะ ก็เห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่า ต้องมองว่าเราจะเข้าไปตรงที่จุดไหนในโครงสร้างอันนี้ที่อยู่นอกระบบ ซึ่งของพยาบาลนี่ก็กำลังพัฒนาของเราเอง คือสำคัญที่สุดก็คือคุณภาพนะคะ คือคุณภาพของวิชาชีพของเราต้องเพิ่มขึ้น ก็โดยที่เรามีการปฏิบัติการวิชาชีพขั้นสูง ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจจะยังมองไม่เห็น อย่างเช่น ในที่นี้อาจารย์นิโรบล ชำนาญเรื่องการทำแผลมาก ซึ่งจุดนี้พยาบาลกำลังพัฒนาคุณภาพของพวกเรากันเอง แล้วก็เป็นจุดที่น่าจะพัฒนาตัวเราเองแล้วเข้าไปสู่การเสนอโครงการเข้าไปสู่ระบบ อบต. หรือระบบโครงสร้างใหม่ที่อาจารย์บอกว่าจะมีเงิน ที่สามารถจะมาจ้างพวกเราได้ อันนี้คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าตอนนี้วิชาชีพของเรากำลังพัฒนาไปมากขึ้น คือผลงานของเราก็เยอะ แต่ประชาชนนั้นอาจจะยังไม่ทราบ
นักศึกษาพยาบาล (8) : ไอเดียที่ว่าเราจะต้องพัฒนาอะไรที่อยู่นอกระบบ เรามีไอเดียนี้มานานแล้ว แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือมันไม่มีกฎหมายรองรับ ว่าที่เราจะทำนั้นมันมีสิทธิที่จะทำได้หรือเปล่า ? จะเป็นที่ยอมรับของสังคมไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในระบบหรือคนในวงการแพทย์ก็ยังครอบงำเราอยู่ และคิดว่าตรงนี้มันจะไปไม่ได้
คนที่ยอมรับเรานี่ จะเป็นบางส่วนคือคนที่ได้รับบริการจากเรา ซึ่งก็เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ว่าการยอมรับในสังคมทั้งหมด ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แล้วก็ไม่แน่ใจว่ามันจะมีวิธีการไหนซึ่งจะผลักดัน. คิดว่ายังไงก็ตาม จากประสบการณ์ ไม่คิดว่าเราจะทำจากข้างล่างขึ้นไปหาข้างบนได้ทางฝ่ายเดียว คิดว่าข้างบนก็จะต้องมีส่วนลงมาแล้วมาช่วยเสริมข้างล่างด้วย มันจะมีทางไหม
นักศึกษาพยาบาล (9) : ณ ปัจจุบันนี้ อย่างที่อาจารย์บอกว่า เราจะออกไปสู่ที่มันเป็นนอกระบบ จะเป็นระบบกระทรวงหรือโรงพยาบาลอะไรก็ตามแต่ เราจะพบว่า ปัจจุบันนี้จะมีพยาบาลบางส่วนที่เขาเปิดเหมือนกับว่าเป็นคลินิคในสถานพยาบาลหรือสถานผดุงครรภ์ของเขาเอง แต่ทีนี้ในส่วนซึ่งทำให้เราไม่สามารถรักษาคนไข้ได้อย่างเต็มที่นี่ จุดหนึ่งมันมาจาก พรบ. วิชาชีพ. ซึ่งใน พรบ. หรือตามกฎหมายแล้ว เขาจะจำกัดสิทธิพยาบาลให้ทำได้เพียงแค่นี้ๆ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว สิ่งซึ่งเราทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เราทำมากกว่าที่เขากำหนดเอาไว้ใน พรบ. ซึ่งพอปฏิรูประบบสุขภาพขึ้นมา มันก็ควรจะเป็นในลักษณะที่ว่า เรากระทำอยู่แล้ว เรารักษาคนไข้อยู่แล้ว เราให้บริการอยู่แล้ว ควรจะได้ทำสิ่งเหล่านั้นต่อไป แต่พอมีการปฏิรูปสุขภาพ เขามองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิทธิ์ของแพทย์ที่จะเป็นผู้ทำ พอปฏิรูปขึ้นมาก็จะเอาสิ่งที่เราเคยทำอยู่แล้วกลับไปให้แพทย์ทำ
อย่างเรื่องที่อาจารย์สมจิต พูดถึง มันมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น เขาก็เลยจำกัดสิทธิ์ของเรามากขึ้น กลายเป็นว่าถ้าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ คือ ต้องภายใต้คำสั่งหรือภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งพอปฏิบัติจริงๆ เขาก็ไม่ได้ค่อยมาดูหรอก เราทำกันเองทั้งนั้น
นิธิ : คืออย่างนี้นะครับ การทำจากข้างล่าง สำคัญที่สุดอยู่นั่นเอง สำคัญกว่าการทำจากข้างบน อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัว ก็ไม่เถียงกันในเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า ถ้าข้างบนมีส่วนในการช่วยบ้าง ก็จะทำให้ทุกอย่างสะดวกมากขึ้น ผมไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรให้ข้างบนลงมามีส่วนช่วย แต่ผมอยากจะบอกแต่เพียงว่า ระบบของกฎหมายและอื่นๆของข้างบนกำลังพัง ถึงแม้ว่าอย่างที่อาจารย์พูดเกี่ยวกับการที่เขากำลังดึงเอาอำนาจต่างๆกลับคืนไป แต่ขอโทษทีเถอะ อำนาจเดิมที่มีอยู่ตามกฎหมาย ยังไม่ต้องดึงนะ รักษาเอาไว้ให้ได้ก่อนเถอะเวลานี้ เพราะว่ามันไปขัดแย้งกันกับเรื่องของ การส่งเสริมแพทย์แผนไทย
ถ้าคุณจะรักษากฎหมายประกอบโรคศิลป์อันเก่า แพทย์แผนไทยไม่มีทาง และแพทย์แผนไทยเวลานี้มาถึงจุดวิกฤตแล้ว เพราะว่า วิกฤตนี้มิได้หมายความว่ามันจะ extinct ไปหรือสูญพันธุ์. วิกฤตในความหมายว่าเมื่อคุณไปทำให้มันโตขึ้นมาแล้วบอกว่า เฮ้ย! เองทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้นะ มันเป็นไปไม่ได้
เช่น ในตำราแพทย์แผนไทย การที่องค์กรเภสัชกรรมยุยงให้คนทำสมุนไพรต่างๆในเวลานี้ ในความคิดแบบแพทย์แผนไทยอันตรายที่สุดเลย เพราะว่า ยาทั้งหมดที่โรงพยาบาลในปราจีนฯ อภัยภูเบศ หรืออะไรต่างๆนาๆ ทั้งหมดเป็นยาเดี่ยวหมด เพราะกฎหมายมันไม่อนุญาตให้คุณผสมยาได้ คุณต้องทำขึ้นมาเป็นยาเดี่ยวหมด แล้วตำราแพทย์แผนไทยบอกว่า คุณอย่าใช้ยาเดี่ยว เพราะว่ายามันมีฤทธิ์ที่จะต้องคุมกันไปคุมกันมา คุณใช้ยาเดี่ยวตลอดเวลา กินแต่ฟ้าทะลายโจรตลอดเวลา มันอาจจะไม่เป็นหวัด อาจจะไม่เป็นโรคไอเลย แต่เป็นมะเร็งที่คอแทน อะไรก็แล้วแต่ อันนี้มันผิดหลักการแพทย์แผนไทย เพราะฉะนั้น ตัวกฎหมายที่เป็นอยู่ในเวลานี้มันไปไม่รอด อย่าไปห่วงมันเลย มันจะพังมิพังแหล่อยู่แล้ว ถึงอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ จะต้องมีการปรับปรุงแน่
อันที่สองต่อมา ในหมู่ประชาชนที่ผมรู้จัก เขาไม่ได้แยกนะครับว่า แพทย์ได้บอร์ดหรือไม่ได้บอร์ด อันนั้นมันคนชั้นกลาง ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแพทย์กับพยาบาลมันต่างกัน เขาก็เรียกว่าหมอตลอดแหละ ใครที่ทำอะไรให้เขาได้เขาก็เรียกว่าหมอทั้งนั้น รวมทั้งหมอชาวบ้านเขาก็เรียกหมอ. เพราะฉะนั้น โดยสภาพความเป็นจริง มันเอื้อต่อฝ่ายการต่อสู้อยู่แล้ว
ประเด็นที่สามก็คือว่า อย่ามองว่าเราจะไปทำหน้าที่แทนแพทย์ คืออย่างที่ผมพูดมาก่อนหน้านี้ เรากลับเข้าไปทำงานแทนแพทย์ ในระบบอันเก่า เราก็จะเป็นอัปรียชนเหมือนกับแพทย์ทุกวันนี้นั่นแหละ ไม่ต่างอะไรกันเลย ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะทำอย่างนั้น ผมถึงบอกว่าให้พยายามนึกถึงอื่นๆ อย่างเป็นต้นว่า กรณี อบต.ที่พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ ผมไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่สุขภาพจะเป็นผู้ลงมือผ่าตัดเอง ถึงบทที่จะต้องผ่าตัด คุณก็ต้อง refer แล้วระบบ refer ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ พอคุณเริ่ม 30 บาทรักษาทุกโรค พยายามหลีกเลี่ยงนะ เราพยายามพูดถึงเรื่องนี้มากัน 20 กว่าปีในประเทศไทย, หลีกเลี่ยงพยายามไม่ยอมทำ แต่พอคุณทำ 30 บาท คุณไม่ทำเรื่องระบบ refer ไม่ได้ คุณต้องทำเพราะสถานการณ์บังคับให้คุณต้องทำจนได้
อีกเรื่องที่สำคัญคือ สิ่งที่ผมคิดว่าวงการแพทย์ให้ความสนใจน้อย จะว่าไม่สนใจเลยก็ไม่ได้ก็คือ preventive medicine เข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม และผลของเราไม่ใช่การที่คนๆหนึ่งหายเจ็บหายไข้ขึ้นมา แต่ว่าเราสามารถแสดงสถิติของตำบลได้ว่า สุขภาพของเขาดีขึ้นอย่างไร ไม่ว่าทางกาย ทางใจ หรือทางอะไรก็แล้วแต่ เราสามารถแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาในรูปของสถิติได้มากขึ้น
เท่าที่ผมรู้ preventive medicine ทุกวันนี้ในทุกมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง เลิกใช้คำนี้หมด กลายเป็น community med หรืออะไรก็แล้วแต่ เลิกภาควิชานี้ไปหมดแล้ว และหน่วยกิตก็น้อยมาก ไม่มีความสำคัญอะไรเลยทำนองนี้ สิ่งเหล่านี้เราเข้าไปทำได้ และผมคิดว่า ไม่ใช่ว่าพยาบาลเก่งนะ แต่ผมคิดว่า ใครก็ตามแต่ที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ทำงานต่อมา 5 ปีเก็บสะสมประสบการณ์ มีการติดต่อกับชาวบ้านตลอดเวลา ทำเป็นทุกคน ยิ่งมีความรู้ทางด้านพยาบาลอยู่แล้วยิ่งเก่งใหญ่ และอย่ามองแค่ อบต. เพราะ อบต.เป็นเพียงสิ่งที่ผมยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเท่านั้นเอง
ผมคิดว่าถ้าอุตสาหกรรมไทยขยับจากนี้ และอุตสาหกรรมไทยต้องขยับจากนี้ด้วย พอจีนเข้า WTO ไทยอยู่ไม่รอดหรอก ถ้าคุณจะขยับมากขึ้นกว่านี้ เขาต้องให้ความสนใจสุขภาพของคนงานมากขึ้น เวลานี้ตามโรงงานต่างๆไม่สนใจเรื่องสุขภาพของคนงานเลย มึงตายๆไปเลย เพราะว่าเขาสามารถหาคนใหม่มาได้ภายในพริบตา แต่เผอิญพี่สาวผมเป็นแพทย์ และเผอิญไปเป็นหมอประจำอยู่ AIT.
AIT ทั้งคนงานและนักเรียนของเขาราคาแพงลิบลิ่วเลย ทำไมเขาถึงไปเอาหมอมา เพราะไม่มีใครอยากทำหรอกครับตรงนั้น แต่เผอิญพี่สาวของผมเป็นคนแบบผม คือเป็นคนขี้เกียจ ไม่ชอบอยู่โรงพยาบาล อยู่อย่างนั้นง่ายดี เงินเดือนก็ดี งานก็ไม่ค่อยต้องทำด้วย เพราะไอ้พวกนี้มันรวย พอรวยก็ไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไร คุณก็อยู่ตรงนั้นจนเขาเกษียร ทาง AIT บอกว่าอย่าเพิ่งเกษียร อยู่ต่อไปอีก เพราะเขาไม่สามารถไปหาหมอใหม่มาได้อีก ไม่มีใครอยากอยู่ตรงนั้น
ลองคิดดูซิครับ ถ้าอีกหน่อยอุตสาหกรรมไทยขยับขึ้นมาอยู่ตรงนี้ คุณต้องได้ skill labor มากขึ้น เขาต้องมีคนดูแลสุขภาพอยู่ตรงนั้น เพราะเขาต้องรักษาฝีมือแรงงานเอาไว้ คือมองดูซิครับว่าโลกมันกำลังเปลี่ยน ไอ้ที่นอกระบบบทบาทพยาบาลมันแยะมากๆเลย แต่ถ้าเรายังขืนมองแต่เรื่องของโรงพยาบาล ๆ ยังไงๆก็หนีไม่รอด อย่างที่ผมบอกว่ามันเป็นระบบโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่มาก หมอเองที่คิดว่าใหญ่ พอไปถึงอเมริกาแล้ว มันกระจอกไม่เหลืออะไรเลย. เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดสู้ตรงนั้น สู้ได้ก็สู้ไปเถอะ แต่ที่สำคัญกว่าคือข้างนอกระบบ
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : ขอมองแบบคนนอกวงการนิดหนึ่ง จากการที่พูดกันถึงเรื่องพยาบาลต้องออกไปหาพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ เท่าที่ฟังดูก็ยังคงรักษาองค์ความรู้ในเรื่องการพยาบาลศาสตร์หรือเรื่องของสาธารณสุขศาสตร์อยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะออกไปหาพื้นที่ใหม่ๆ กลไกใหม่ๆมารองรับ อาจจะเข้าไปหาทรัพยากรใหม่ๆอย่าง อบต.ก็ตาม
ข้อสังเกตของดิฉันก็คือว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้องค์ความรู้ในการดูแลรักษาเหล่านี้ มันไปสู่มือของประชาชนธรรมดา เช่น กลุ่มแม่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ หรือเยาวชน ที่ active ในหมู่บ้าน. เอาแค่การดูแลรักษาง่ายๆ เช่น เด็กในบ้าน ไข้ขึ้นสูง จะลดไข้ยังไง จะทำอย่างไร ทำยังไงจึงจะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้จากตัวท่านผู้รู้ หรือพยาบาลเหล่านี้ออกไปสู่มือของชาวบ้านธรรมดา
อันที่สอง อยากชวนให้คิดข้ามศาสตร์ของการรักษาพยาบาลด้วย คือว่า เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ ความรู้ทางด้านพยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์เหล่านี้ มันได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลไกอื่นๆของสังคม อย่างเช่นเวลานี้ กำลังมีการตื่นตัวกันมากในชุมชนในเรื่องของการทำวิทยุชุมชน ที่จะทำให้วิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือหรือช่องทางที่ทำให้ชาวบ้าน นอกจากจะสื่อสารกันเองในเรื่องคุณภาพชีวิตของเขา การเพิ่มพูนศักยภาพของเขา ที่จะสื่อสารในเรื่องความสำเร็จของเขา ทำยังไงที่จะให้องค์ความรู้เหล่านี้มันไปอาศัยกลไกที่มีอยู่เหล่านี้ให้มันเกิดการสื่อสารแนวราบในหมู่ประชาชนด้วยกัน แล้วจะทำให้พยาบาลศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์มันมีค่ามากขึ้น มันรับใช้ชีวิตจริงๆของท้องถิ่น ชีวิตจริงๆของชาวบ้าน
ส่วนประเด็นที่สาม จะเป็นการตั้งข้อสังเกตหรือคำถามก็ได้ คือว่า เวลานี้มันมีแรงกระทำจากตลาดตอนนี้สูงมาก ก็คือเรื่องของธุรกิจสุขภาพ และธุรกิจยาต่างๆ ที่มันได้อาศัยกลไกตลาด ธุรกิจโฆษณา dump เข้ามาในความรับรู้ของคนในสังคม ตั้งแต่ระดับชาวบ้านที่อมก๋อยจนไปถึงสุไหงโกลกอะไรก็แล้วแต่ ให้เชื่อว่า เป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยการอาศัยยา ถึงแม้ว่าเขาจะเริ่มได้รับข้อมูลใหม่ๆว่า มันมีทางเลือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขมูลฐาน สมุนไพร หรือมีเรื่องของแนวทางสุขภาพองค์รวมเกิดขึ้น การป้องกันดูแลตัวเองก่อนที่จะเกิดโรค เขาก็รู้ แต่เขาก็ยังเชื่อว่า "ยา"เป็นทางออกที่ดีที่สุด ฉับไว รวดเร็วที่สุด
ดิฉันพบคนจำนวนมากเลย ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่า สมุนไพรมันไม่มี side effect มันดีกว่า มันได้ช่วยทำให้ภูมิปัญญาของเราเข้มแข็งขึ้น รู้หมด. แต่อยากจะเอาเร็ว ปวดหัวปุ๊บ ต้องพาราฯ มันดี, คือกินฟ้าทะลายโจร มันกี่วันก็ไม่รู้, แอนตี้เซฟติค ซื้อจากร้านขายยามันเร็วกว่า, 3 วันก็หาย มันมีแรงต่อสู้กันอันนี้อยู่ ทำอย่างไร... ซึ่งที่จริงก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เอาเป็นการตั้งคำถามก็แล้วกันว่า พยาบาลยุคใหม่ พยาบาลปริญญาเอกท่านทั้งหลายนี่ คิดจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แล้วก็ทำให้ประชาชนรู้เท่าทันแรงกระทำเหล่านี้อย่างไรบ้าง
นักศึกษาพยาบาล (10) : ในเรื่องของการพยาบาล เราเริ่มแล้วค่ะที่จะพัฒนาศาสตร์ของเราไปสู่ชุมชนในแง่ที่อาจารย์ให้ข้อคิดเห็นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะคะ และอาจจะเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของหลายๆคนที่จะไปทำเรื่องของ promotion เรื่องของ prevention เพื่อทำให้ความรู้ที่เรามี ที่เราได้มาไปสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน, อบต., หรือ อสม. ที่ยังอยู่นะคะ ที่จะทำให้เขาพึ่งตนเองและมองเห็นถึงความเป็น holistic care ซึ่งเขาสามารถที่จะทำได้ด้วยตัวของเขาเอง
อีกอันหนึ่งที่น่าจะทำได้ก็คือ การปฏิรูปความคิดของชาวบ้าน ซึ่งการปฏิรูปความคิดของชาวบ้านนั้น มันคงต้องใช้หลายๆกลยุทธ์ คงจะไม่มีคำตอบที่นี่ มันคงอาจจะเป็น, หนึ่ง. พวกเราอาจจะต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา หรือช่วยกันค้นหา อาจจะจากหลายๆฝ่าย อีกประเด็นหนึ่ง คือที่มองเองนะคะคือว่า เรื่องของยา เรื่องของแรงที่มีการผลักดันเข้ามา อาจจะเป็นเรื่องของธุรกิจ เรื่องของตะวันตกที่เข้ามา แต่มันก็มีกระแสบ้านเราที่เห็นด้วยก็คือ ร้านขายยาปัจจุบันนี้ เป็นไงคะ ผุดเป็นดอกเห็ด แล้วก็ไม่เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งอยากจะชื่นชมนะคะว่า การที่คนๆหนึ่งจะซื้อยา anti-biotic จะต้องมีใบสั่งยา แต่ในเมืองไทยง่ายมากเลยค่ะ แค่เดินไปปากซอยก็ซื้อได้แล้ว ซึ่งอันนี้เป็นอันหนึ่งนะคะที่บ้านเรายังไม่ได้ควบคุม
อาจจะเป็นประเด็นและทั้งข้อสังเกตว่า มันไม่ยากหรอกที่ชาวบ้านจะคิดว่าตรงนั้นคือทางออกที่ดีที่สุด เพราะแค่เดินไปสองสามก้าว เขาก็ซื้อพาราฯได้แล้ว แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่มันมีระบบขึ้นมาเหมือนต่างประเทศก็คือว่า การที่พวกเขาจะกินยาพวกนี้เข้าไป โดยมีพยาบาลเป็นส่วนเสริมว่า คุณต้องดูสาเหตุของการปวดศีรษะของคุณ ซึ่งอาจจะมาจากความเครียดของคุณ วิธีการแก้ความเครียดอาจจะมาจาก ทำสมาธิได้ไหม ? หรือผ่อนคลายด้วยการทำ relaxation ด้วยตัวของเขาเอง. แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่คุณไม่ได้แล้ว ถึงจะไปใช้ยาตัวนี้. แต่พอไปซื้อยา อาจจะผ่านพยาบาลขั้นต้น เพื่อที่จะไปซื้อ เพราะพยาบาลเป็นผู้ดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนทั่วไป กว่าจะไปซื้อยามันต้องมีขั้นตอน ซึ่งอันนี้ก็อาจจะลดความรุนแรงในการใช้ยา และการที่เราจะต้องเสียดุลการค้าเกี่ยวกับเรื่อง"ยา"
ที่ดิฉันทราบมาคือ แม้แต่เภสัชกรเอง ปัจจุบันวัดความดันกันแล้วนะคะ มีการวัดความดันกันในร้านขายยา แล้วก็มีการเจาะน้ำตาลตรวจให้กับคนไข้ด้วย แล้วก็จ่ายยาให้เอาไปกิน แล้วอันนี้มันคืออะไร ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะทำงานร่วมกับเราหรือว่าจะมาเป็นคู่อริกันหรือเปล่า เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นข้อสังเกต
ส่วนต่อมา ตี๋ หรือว่าเจ็ก หรือว่าคนที่ได้รับใบประกอบการค้าที่มาเปิดร้านขายยา เขายังให้คำแนะนำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ถูก ตรงนี้ล่ะคะ ที่ดิฉันให้ข้อสังเกตว่า ไม่มีกลไกอะไรที่จะไปคัดค้านเขาได้ ไม่แปลกที่ปัจจุบันเรายังเจอปัญหาแบบนี้ แต่เราคิดว่า ถ้าต่อไปเรามีขั้นตอนอะไรที่ทำให้การซื้อยานั้น มีเหตุมีผลมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่ามันจะช่วยลดตรงนี้ลงได้ และจะทำให้ชุมชนหรือชาวบ้านได้พึ่งตนเอง และได้ค้นหาสาเหตุของปัญหาสุขภาพของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น
ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล : ผมคิดว่าวันนี้หลายคนคงจะมาตามล่าหาตัวเอง ในความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นในโลกไร้พรมแดน เรากำลังอยู่ในระบบสุขภาพที่รัฐไร้เสถียรภาพ คิดว่า คำว่า"ไร้เสถียรภาพ"ในเวลานี้ มันกระพือโหมจนกระทั่ง ไม่ว่า หมอ, พยาบาล, ทันตะ, ต่างๆ หรือแม้กระทั่งนักวิชาชีพที่ส่งเสริมสุขภาพก็ตกอยู่ในภวังค์ของความทุกข์ระทม คือเมื่อก่อนนั้น อยู่ในสถานการณ์ที่อบอุ่น มีเปลือกที่ห่อหุ้มไม่รู้กี่เปลือก แต่ตอนนี้เราถูกปลอกเปลือกออกทีละเปลือก ตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูประบบวิชาชีพ และอีกหลายปฏิรูป
เพราะฉะนั้น ที่อาจารย์นิธิ พยายามให้พวกเราสลัดออกมาจากโลกเก่า แล้วมาค้นหาตัวเองภายใต้โลกใหม่ ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ผมกำลังเดินอยู่ ที่ผมบอกว่ากำลังเดินอยู่ก็คือว่า ผมใช้เวลาอยู่กับภาพวิชาทันตกรรมชุมชนในฐานะหัวหน้ามาตลอดชีวิต แล้วผมก็ลาออกมาได้ 2 ปี ตอนนี้ผมทำอะไรบ้าง
ผมมาเป็นผู้อำนวยการวิทยุชุมชนนำร่องของเชียงใหม่ ผมเข้าไปต่อสู้ในฐานะขององค์กรประชาชน แล้วก็ไปมีที่นั่งคณะกรรมการสุขภาพพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในสายชาวบ้านด้วยความภาคภูมิใจ ไม่ใช่ในสายของทันตแพทย์อุทัยวรรณ แต่ในสายชาวบ้านที่เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับกลุ่มของชาวบ้านที่มากันอีก 3 คนที่เข้าไปอยู่ในนั้น ซึ่งมีนักวิชาชีพอยู่ 5 คน และอีก 9 คนคือองค์การบริหารท้องถิ่นที่มาจากสายเทศบาล สาย อบจ. และสาย อบต.
ตอนนี้ข้างในเต็มไปด้วยการไม่มีเสถียรภาพ เพราะว่าต่างฝ่ายต่างต้องการที่จะต่อสู้กันอย่างสุดฤทธิ์เพื่อให้ได้มาซึ่ง อำนาจและเงินภายในนั้น. เพราะว่าตอนนี้ โครงการนำร่องของเชียงใหม่ เกี่ยวข้องกับเรื่องโครงการ 30 บาท แล้วก็โครงการกระจายอำนาจที่กำลังลงมา ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา โดยคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้บริหาร
ผมได้เข้าไปทำงานอีกกลุ่มหนึ่งคือ องค์กรส่งเสริมสุขภาพ ที่นี่กำลังเริ่มต้นระดมสรรพกำลังที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพอยู่แต่เดิม และกำลังผลิกฟื้นอำนาจของชาวบ้านที่ดูแลกันเอง อำนาจหมอเมืองที่ตกอยู่ในสภาวะเถื่อน อำนาจของผู้ที่ทำงานในสายของการส่งเสริมสุขภาพและถูกจัดหาว่าเถื่อนต่างๆ ซึ่งผมคิดว่า สิ่งเหล่านี้มันกำลังเริ่มกลายเป็นกระแสทางเลือกใหม่ที่ทำให้ชาวบ้านเองก็หันกลับมาปรับพฤติกรรมใหม่
ผมสรุปลงข้างต้นว่า ภายหลังจากที่ผมผ่านโดยเอาตัวของผมเองเข้าไปอยู่ในระบบของ Patron Client System ก็คือระบบอุปถัมภ์ โดยประชาชนได้รับการอุปถัมภ์ในฐานะลูกค้าหรือผู้ป่วย แล้วเราก็อยู่ในฐานะ care giver มันเปลี่ยนมาแล้ว ไปเป็นระบบที่เรียกว่าระบบ contractarien ก็คือระบบรับเหมาทำแทน คือทำโครงการให้มันดียอดเยี่ยม ได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้วก็ทำไปสุดชีวิต แล้วก็ไประเมินด้วยตัวเองสุดท้ายว่า ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน
เรากำลังผ่านช่วงที่หนึ่งมาสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจช่วงที่สอง แล้วตอนนี้มัน shaky มันกำลังเสียดุลยภาพ เพราะว่ามันกำลังจะโดดไปสู่ส่วนที่สามคือ communization หรือ communitarien system ก็คือ ชุมชนกำลังเริ่มหาทางทำกันเอง ซึ่งมันไปได้กับระบบโลก.
ในขณะนี้ระบบโลก มันเปลี่ยนจากเดิมที่เคยให้มดหมอหยูกยาเป็นตัวกำกับ กลายเป็นตัวสุขภาพเป็นตัวกำกับ เพราะฉะนั้น บทบาทใหม่แห่งยุคของทุกคนที่มาตั้งแต่ปี 1985 จึงกลายเป็นอะไรที่ชูขึ้นมาในระหว่างคนที่คิดขบถในกระทรวงสาธารณสุขส่วนหนึ่ง คนที่คิดขบถในระดับนานาชาติส่วนหนึ่ง เมื่อผสมปนเปกันแล้ว กลายเป็นผู้คิดขบถนอกวิชาชีพ ดันเข้ากับพวกคิดขบถในวิชาชีพ จึงเปลี่ยนจากความมีเสถียรภาพนั้นไปเป็นความไม่มีเสถียรภาพ เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังรณรงค์อยู่ในเวลานี้ก็คือว่า ทำยังไงถึงจะทำให้ chaotic situation หรือสถานการณ์อภิมหาโกลาหลที่มีอยู่ตอนนี้ เราสามารถปรับตัวทำใจใหม่ แล้วก็กระโดดข้ามสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นปัญหาอุปสรรคเดิม.
ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Frog Syndrome ก็คือสัญชาตญานกบ เคยได้ยินไหมครับ ? เรื่องของเรื่องคือว่า...
มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง ให้นักศึกษาเอากบไปเลี้ยงไว้ โดยให้โถแก้วใบใหญ่ไปด้วย วันดีคืนดีท่านก็เอาตะเกียงมาไว้ข้างใต้ แล้วให้นักศึกษาคนนี้จับตาดูอย่ากระพริบตา ดูซิว่ามันเป็นอย่างไร ? ทุกๆ 5 นาที ก็เอาเทอร์โมมิเตอร์ไปจุ่ม ดูซิว่าในแต่ละอุณหภูมิที่มันเปลี่ยนไป กบมันทำอย่างไร. ตั้งแต่ 30 องศา มันก็ยังว่ายน้ำเฉยๆอยู่ พอ 50 องศา มันเริ่มขยับแข้งขยับขา มันกำลังอุ่น พอรนด้วยตะเกียงไปครึ่งชั่วโมง มันเริ่มสั่นใหญ่เลย บังเอิญว่าตะเกียงมันเหมือนแท่งเทียนอันเดียว แต่ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้กบมันรู้สึกไม่สบาย แล้วท้ายที่สุดมันก็กระโดดผึงออกไปจากโถแก้ว
ทีนี้เอาใหม่ แทนที่จะใช้โถแก้วเพียงใบเดียว เขาก็เอาบ่อซีเมนต์มา แล้วก็จุดไฟอยู่ข้างใต้ เอากบลงไป 20-30 ตัว ลองคิดดูซิครับว่า ในช่วงเวลาแรกมันเป็นยังไง มันก็เฉยๆอยู่ดี ต่อไปมันทำอย่างไร มันก็กระโดดหยองแหยงๆต่อไปมันทำยังไง... ไม่ตาย ปรากฏว่ามันขึ้นไปขี่อยู่บนตัวของกบอีกตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้น กบตัวข้างล่างตาย แต่กบตัวข้างบนไม่เคยตาย มันขี่กันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ กลายเป็นกบต้มโค้งอยู่ข้างล่าง แต่ข้างบนมันไม่ตาย
สัญชาตญานคนก็เหมือนกัน เมื่อภัยมาแล้ว คนอื่นตายก่อน แล้วเราก็ปีนป่ายศพเหล่านั้นขึ้นไปอยู่ข้างบน ไม่ต่างอะไรจากเดี๋ยวนี้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประเด็นก็คือว่า ทำอย่างไรเราถึงจะรู้ตัวก่อน แล้วกระโดดออกไปจากโถแก้วนี้ก่อนที่จะชีวามันจะอาสัญ.
ประเด็นตรงนี้ล่ะครับที่ผมคิดว่า วิชาชีพทันตแพทย์ วิชาชีพพยาบาล ไม่ค่อยต่างกันไม่ต่างกันคือว่า ในขณะปัจจุบัน พันธกรณีนี้มันไปหุ้มห่อแต่เรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ทำอย่างไรที่ท่านอาจารย์นิธิบอกว่า จึงจะกระโดดออกไปจากแวดวงวิชาชีพที่เป็นผู้รักษาพยาบาลมาอยู่ในโลกแห่งสุขภาพที่แท้จริง
โลกสุขภาพที่แท้จริงที่มีอัศวินคนใหม่ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่นักวิชาชีพ ที่ดูแลผู้ป่วย ทำอย่างไรถึงจะทำให้สิ่งที่ อ.สุชาดาว่าเมื่อสักครู่นี้ว่า ชาวบ้านเป็นหมอเองได้ เด็กสามารถบอกได้ว่า เด็กรุ่นใหม่ฟันไม่ผุ หรือว่า ครอบครัวของฉันดูแลกันเองด้วยความรู้สึกเอื้ออาทร หมู่บ้านกินอิ่ม นอนอุ่น ฝันดี.
เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตที่มีอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งยิ่งใหญ่ที่เราจะอยู่ด้วยกันยังไงถึงจะเป็นปกติสุข แทนที่จะมาพูดกันถึงเรื่องของภาพลบโดยตลอด ทำอย่างไรจึงจะสามารถจัดการกับสิ่งที่มันเป็นการปรักหักพังทางวิญญานของเราก่อน คือว่า เรากำลังเผชิญอยู่กับเรื่องของระบบราชการ เรากำลังเผชิญอยู่กับรองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ เรากำลังเผชิญอยู่กับวิชาชีพ และปริญญาเอก ผมคิดว่าประเด็นตอนนี้ต้องถามตัวเองว่า ได้ปริญญาเอกแล้วจะทำอะไร ? เอาไปแช่น้ำกิน หรือเราจะกลับสู่ชุมชน บ้านใครบ้านมัน แล้วก็ไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน ริเริ่มจากรากหญ้า เร่งศึกษาจากชุมชน เรียนรู้จากใจคน รับรู้คนคิดอะไร รองรับความต้องการ ไม่หักหาญซึ่งน้ำใจ ประชาไม่ใช่ไพร่ ต้องก้าวไปคู่เคียงกัน
ทำอย่างไรจึงจะก้าวไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน ที่เขากำลังลุกขึ้นมาทำอะไรๆ โดยกลุ่มองค์กรชุมชนของเขาเอง คิดว่าตรงนี้คือคำตอบที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าหมอ ไม่ว่าพยาบาล ไม่ว่าทันตแพทย์ หรือนักวิชาชีพที่เราเรียกว่านักส่งเสริมสุขภาพ หรือแม้กระทั่งนักสังคมศาสตร์ หรือนักมานุษยวิทยา ผมคิดว่านักเหล่านี้ก็มีสิ่งที่หุ้มห่ออยู่ ซึ่งความจริงแล้วท่านพุทธทาสก็บอกว่า เมื่อปลอกไปมันเหมือนกับหัวหอมหัวหนึ่ง ปลอกไป มันทำให้น้ำตาไหล ปลอกไปก็ร้องไห้ไป แต่เมื่อปลอกไปถึงสุดท้ายแล้วก็พบว่าไม่มีอะไรเลย
ประเด็นก็คือว่า ปล่อยก็ว่าง วางก็เบา เอาก็หนัก
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
ชัชวาล ปุญปัน : ผมขออนุญาตเป็นผู้เปิดประเด็นเท่าที่ผมพอมีความรู้อยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์สุขภาพ...ก็คือ เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม หรือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกมองเห็นความสำคัญของเรื่องกลไกมากขึ้น โดยมีโลกทัศน์ในแบบ Mechanistic World view คือ มองโลกในแบบแยกส่วน ในแบบกลไก ผลก็คือทำให้เราสนใจในเรื่องสุขภาพอย่างที่ทราบ... ผมคิดว่าอาจจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ก็คือว่า เราสนใจในเรื่องของชีวมิติมาก หรือ biomed (biomedicine - The branch of medical science that applies biological and physiological principles to clinical practice) ค่อนข้างสูง
ในการสนทนาใจเรื่องชีวมิติค่อนข้างสูงนี้
ทำให้การพัฒนาทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขในปัจจุบันที่ผ่านมา มันมี 2 ลักษณะที่สำคัญใหญ่ๆคือ
1. Over investigation ก็คือ การวินิจฉัยเกินความจำเป็น และได้นำเอาเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาใช้
2. Over Medication ก็คือ การดูแลรักษาหรือการให้ยามากเกินความจำเป็น
ผมคิดว่าอันนี้มันมาจากการครอบงำของวิธีคิดวิทยาศาสตร์ ที่มองเห็นเรื่องกลไกและการแยกส่วนเป็นสิ่งที่สำคัญ ก็คือ มองว่าเชื้อโรคเป็นเรื่องของสิ่งที่ถูกแยกย่อยออกไป เพราะฉะนั้น ศัพท์ทางการแพทย์มักจะมีคำว่า warfare คือการรักษาโรคนี่ มันคล้ายกับการเข้าสู่สงคราม การที่แพทย์เผชิญหน้ากับเชื้อโรค เหมือนกับการเข้าทำสงคราม เพราะฉะนั้น ท่าทีแบบนี้ มันก็จะแตกต่างไปจากภูมิปัญญาเดิมที่มันเคยมีมาก่อน ว่า เรามองโรคในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้. อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคงรับรู้กันอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ผมอยากทราบและรับรู้ความคิดเห็นของพวกเราและคณาจารย์ทุกท่านด้วย