บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 591 หัวเรื่อง
การเมืองเรื่องความคิด
ศิริจินดา ทองจินดา
มหาวิทยาลัยพายัพ, เชียงใหม่
บทความมหาวิทยาลยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
(การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)
ความคิดเชิงวิพากษ์
การเมืองเรื่องความคิด-มีอะไรซ่อนอยู่ในหัวคิด
ศิริจินดา ทองจินดา
มหาวิทยาลัยพายัพ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 591
หมายเหตุ : จากบทความเดิมชื่อ
"การเมืองเรื่องความคิด กรณีศึกษาคลื่นยักษ์สึนามิกับการเร่ขายใบปริญญา"
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
3.5 หน้ากระดาษ A4)
"คิดได้แล้วทำได้หรือเปล่า" หรือ "พวกนักคิดก็เอาแต่คิด แต่ไม่เห็นลงมือทำอะไร" หรือ "ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ดีแต่คิด" เหล่านี้ดูจะเป็นบรรยากาศร่วมสมัยอยู่ในขณะนี้ บรรยากาศแห่งการพยายามแบ่งข้างกันอย่างชัดเจนระหว่าง "ความคิด" และ "การกระทำ" ราวกับว่ามันไม่เคยเกี่ยวพันกันมาก่อน
ได้ยิน ได้ฟังแล้วก็ให้รู้สึกตั้งคำถามกับขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่า "ความคิด" และ "การกระทำ" ว่ามันมีความแคบกว้างขนาดไหนกัน? และใครคือผู้ระบุหรือกำหนดขอบเขตดังกล่าว? จากมาตรฐานใด? แล้วทำไมการนำเสนอสิ่งที่คิดออกสู่สังคมจึงไม่ถูกนับรวมในฐานะที่เป็นการกระทำอย่างหนึ่งของนักคิด?
ไม่ใช่เพียงแค่การถูกตั้งคำถามกับการคิดเท่านั้นที่เป็นตัวสะท้อนว่าผู้ถามกำลังแยกการคิดออกจากการกระทำ หากแต่การถูกตั้งคำถามดังกล่าวของการคิดยังเป็นภาพสะท้อนของการให้ค่าต่อการคิดของผู้คนในสังคมอีกด้วย
สังคมที่ไม่ให้คุณค่าต่อกระบวนการคิดจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร? สังคมที่มุ่งเน้นแต่เพียงการกระทำเป็นสังคมที่ปราศจากการคิดจริงหรือ?
เพื่อที่จะตอบคำถามทั้งหมด ผู้เขียนขอย้อนไปถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การโยกย้ายอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา โทษฐานที่ "รู้แล้วแต่ไม่เตือน" ราวกับว่าการโยกย้ายจะนำพาไปสู่การ "รู้แล้วจะเตือน" ในคราวหน้าของอุบัติภัยทั้งหลายแหล่ ทั้งๆ ที่การไม่เตือนภัยก่อนล่วงหน้าในระดับที่จะป้องกันการสูญเสียชีวิตผู้คนได้ของกรมอุตุฯ นั้นมาจากฐานคิดที่ซับซ้อนมากกว่าแค่เตือนหรือไม่เตือน นั่นคือ
การเอาฐานคิดเรื่องเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวอันผูกโยงอยู่กับเงินทอง หน้าตาและภาพลักษณ์ของประเทศ บวกรวมเข้าไปกับฐานคิดทางประวัติศาสตร์แบบหยุดนิ่ง คือ มันไม่เคยเกิดที่นี่มาก่อน มันจึงย่อมจะไม่เคยเกิดต่อไป และเมื่อผนวกรวมปิดท้ายเข้ากับฐานคิดว่าด้วยผลประโยชน์ส่วนตนที่จะเกิดขึ้นตามมาจากทั้งการเตือนและไม่เตือน โดยมีตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นตัวประกัน มากไปกว่าการคำนึงถึงจรรยาบรรณในฐานะผู้รู้ของศาสตร์นั้น ผลลัพธ์จากการตัดสินใจเลือกของ "ผู้รู้" และผู้รับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าวจึงออกมาอย่างที่รู้ๆ กัน พร้อมกับเหตุผลแสนง่ายว่าขาดเครื่องมือเตือนภัยที่มี "ประสิทธิภาพ"
ทั้งที่ในความเป็นจริงปรากฎการณ์นี้สะท้อนภาพของการขาดประสิทธิภาพด้านอื่นมากกว่า นั่นก็คือ "ประสิทธิภาพในการคิด" ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจกระทำการใดๆ ซึ่งเป็นการคิดที่ผูกติดอยู่กับฐานคิดว่าด้วยจรรยาบรรณต่อหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมซึ่งพ่วงมากับการเป็นผู้รู้ในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง เฉกเช่นจรรยาบรรณของการเป็นแพทย์อย่างที่เข้าใจกันง่ายที่สุด และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สามารถหวังถึงการเตือนภัยล่วงหน้าที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคตได้อีกจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ตราบเท่าที่เหตุผลว่าด้วยความซ้ำซากทางประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ (มันไม่เคยเกิดขึ้น/มันเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก) และตราบเท่าที่เทคโนโลยียังคือคำตอบที่สำเร็จรูปกับทุกสถานการณ์ (ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย) และตราบเท่าที่ระบบคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหน้าที่ดังกล่าวยังคิดได้เพียงพื้นผิวของผลประโยชน์ที่ไปได้ไกลแค่ผลประโยชน์ส่วนตนคนเดียว มนุษย์ผู้มีการกระทำเป็นที่ตั้งย่อมคิดไปไม่ไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองต้องกระทำ เพราะคิดเพียงแค่ทำๆ ไป และสร้างแพะขึ้นมาเพื่อโยนบาปไปให้เป็นระยะๆ ไม่เห็นต้องคิดอะไรมาก!
ความด้อยประสิทธิภาพในการคิดของ "ผู้รู้" ในสังคม ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงแค่ภายในอาณาบริเวณของกรมอุตุฯ หากแต่แผ่ขยายวงกว้างครอบคลุมไปทั่วทั้งสังคมไม่ว่าจะในอาณาบริเวณของผู้คนหรือในอาณาบริเวณของความรู้ พร้อมไปกับการตอกย้ำภาพดังกล่าวจากผู้นำประเทศที่อ้างตัวเองในฐานะนักคิด หากแต่คิดได้ไม่พอที่จะ "กว้าง" หัวใจยอมรับการมีอยู่ของผู้คิดได้และผู้คิดต่างคนอื่นๆ ในสังคม
สภาวะด้อยประสิทธิภาพในการคิดของผู้คนในสังคม ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาในเชิงคุณค่า ในขณะที่เราต่างก็ก่นด่านักคิดทั้งหลาย (โทษฐานที่พูดอะไรที่ทำให้เราคิดไม่ทัน) เราอีกหลายๆ คนกลับขวนขวายที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต ตั้งแต่ภาคปกติไปจนถึงภาคพิเศษและภาคพิศดาร (ณ ปัจจุบัน คุณภาพของแต่ละประเภทการศึกษาคงไม่แตกต่างกันมาก เพราะเริ่มมีจุดร่วมเดียวกันในทางอุดมการณ์ .เงิน)
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายอมรับตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าวในฐานะคุณค่าอันทรงเกียรติของผู้มี "ความรู้และความคิด" และนี่ดูเหมือนจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมที่จะประกอบไปด้วยผู้คนซึ่งให้คุณค่าและความสนใจขวนขวายหาความรู้เพื่อพัฒนาความคิดของตนเองต่อไป เพราะอานิสงส์ดังกล่าวย่อมตกแก่สังคมนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
หากแต่การณ์กลับตรงกันข้าม เมื่อพบเราว่ามีผู้ที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าวมากมาย พลเมืองรุ่นใหม่ของประเทศไทยต่างเป็นผู้ทรงความรู้ด้วยดีกรีในระดับต่างๆ จากทั้งในและนอกประเทศ หากแต่หลายๆ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมกลับสะท้อนภาพผู้ทรงความรู้ หากแต่ขาดความคิด ซึ่งฟ้องตัวเองออกมาจาก "การกระทำ" และ "การไม่ยอมกระทำ" ของพวกเขาเหล่านั้น (วิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คงเป็นตัวชี้วัดการกระทำและการไม่กระทำของผู้รู้ทั้งหลายได้เป็นอย่างดี หรืออีกทีก็หลับตานึกถึงเอนรอนบริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ได้ว่า อะไรซ่อนอยู่ในหัว (ไม่) คิดของคนเหล่านี้)
ฤดูกาลแห่งการล่านักศึกษาเพื่อกวาดต้อนให้เข้าไปเรียนในหลักสูตรของตนเองที่คิดขึ้นมาเพื่อดึงดูดลูกค้านักศึกษาให้ได้มากที่สุดเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง การดำรงคงอยู่ของสาขาวิชา เป้าหมายอยู่ที่จำนวนลูกค้า ที่หากแม้หาไม่ได้ตามเป้าก็ปิดไปซะ! ปรากฎการณ์เหล่านี้คือการคิดเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ด้วยการเอาความรู้เข้าสู่กระบวนการเร่ขายในระดับราคาเดียวกับสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลายที่มีดีแค่แพงกับโก้หรูเท่านั้น นอกนั้นเนื้อในไม่ได้บรรจุอะไรลงไปนอกจากความกลวงเปล่า
นี่คือหนึ่งในปรากฎการณ์ทางสังคมที่พอย้อนไปมองเรื่องการตัดสินใจกระทำการใดๆ ของกรมอุตุฯ เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์จริงที่หลุดลอยออกมาจากตำรา จึงพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดผลลัพธ์จึงเป็นความสูญเสียที่ยากแก่การประเมินค่า เพราะสังคมแห่งนี้เป็นเพียงแค่สังคมแห่งการ "เรียน" ที่ไม่เคยสอนให้ "รู้" หรือ "คิด" อะไรได้ไกลไปกว่าการลอกเลียนท่าทางให้เหมือนกับว่า "คิดได้"
จะไปโทษใครได้ ในเมื่อเราเลือกที่จะวางอุดมการณ์ทางการศึกษาไว้บนหิ้ง แล้วทั้งคนสอนและคนเรียนก็ประกอบพิธีกรรมบางอย่างให้ดูประหนึ่งราวกับเป็น "อาจารย์" และ "นักศึกษา" สังคมที่ไม่ได้มุ่งจะสั่งสม ให้คุณค่าและสานต่อการสร้างกระบวนการคิดอย่างแยบยลให้กับพลเมืองในสังคม จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะได้ยินประโยคแห่งการแบ่งข้างระหว่างนักคิดกับนักปฏิบัติในนัยยะที่ไม่เข้าใจแม้กระทั่งว่าการแบ่งข้างนั้นมันเป็นอย่างไร และปรากฎการณ์แห่งการ "รู้แล้วไม่เตือน" แบบคลื่นยักษ์สึนามิก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้เสมอๆ ตราบเท่าที่เรายังคิดไม่ได้ว่าการเตือนและไม่เตือนควรเป็นไปบนตรรกะคิดใด นอกเหนือไปจากการห่วงหน้าที่การงานของตนที่จะต้องพังพาบลงมา ฐานทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสียชื่อเสียงอันเนื่องมาจากการกระทบกับภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว...มันตีบตันและตื้นแคบมากเกินไป
ระวังว่าจะต้องเจอข้ออ้างที่ว่าด้วย "ประเทศเราไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน" หรือ "เราไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย" มันจะย้อนกลับมาสร้างความชอบธรรมให้กับการคิดตื้นๆ ของ "ผู้รู้" ในฐานะนักปฏิบัติกันอีกเรื่อยไป
ธรรมชาติสร้างความหลากหลายผ่านรูปแบบต่างๆ ของภัยพิบัติ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยที่จะมอบความหลากหลายทางความคิดมาให้แก่มนุษยชาติ อย่ามัวแต่ไปยึดติดกับความคิดแคบๆ ตื้นๆ เพียงอันเดียว มันใช้ได้เฉพาะบางสถานการณ์เท่านั้นแหละ เงินก็เงินเถอะ บางครั้งมันก็ล่อหลอกให้เราดูโง่และทำอะไรโง่ๆ ได้เหมือนกัน
เราสักแต่เรียนเพื่อ "ให้ได้ชื่อว่าเรียน" กันมามากพอแล้ว หันมาให้คุณค่ากับการ "เรียนเพื่อรู้" กันบ้างก็คงยังไม่สาย
ศิริจินดา
ทองจินดา
มหาวิทยาลัยพายัพ
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com