บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 585 หัวเรื่อง
กระแสบริโภคนิยมการดูดดื่ม
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
โครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ
บทความมหาวิทยาลยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ
ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
(การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)
เตือนภัยเรื่องการบริโภค นม น้ำ
สารผสม
กระแสบริโภคนิยมการดูดดื่ม ที่กำลังแอบดูดเด็ก
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
โครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 585
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๗ มิถุนายน ๒๕๔๘
หมายเหตุ : ชื่อเดิมของบทความ
"ดูดดื่ม หรือดูดเด็ก" :
"นม น้ำ สารผสม" รู้ทันภัยเงียบในวิถีบริโภคของเด็กยุคใหม่
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
5 หน้ากระดาษ A4)
ความนำ
ท่ามกลางกระแสสังคมบริโภคที่โลกาภิวัฒน์ได้นำมาซึ่งวัฒนธรรมใหม่นั่นคือ "วัฒนธรรมกินดื่มช็อป"
ที่อิทธิพลของกระแสดังกล่าวได้ส่งผลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตการกินอยู่ใช้สิ่งของต่างๆ
ของคนในปัจจุบัน และไม่ว่าคนเราจะทันรู้ตัวหรือไม่ก็ตามก็ดูจะหลีกไม่พ้นต้องเป็น
"ผู้บริโภค" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เช่นเดียวกับเด็กที่เป็นผู้บริโภคโดยกำเนิดอันเนื่องด้วยวิถีการกิน ดื่ม ใช้สิ่งต่างๆ ล้วนแล้วแต่ถูกเลือกให้หรือจัดหามาโดยผู้ใหญ่ที่รักและห่วงใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการ "ดูดดื่ม" ที่ถือเป็นวิถีธรรมชาติ สัญชาติ และพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และเมื่อลืมตาดูโลกและเติบโต แม้พฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นสัญชาติหรือพฤติกรรมการตอบสนองตามธรรมชาติ แต่เมื่อเด็กเจริญวัย การเรียนรู้ของเด็กต่อเรื่องการดูดดื่มจากสิ่งที่เด็กสัมผัสในรายวันก็จะแปรเปลี่ยนไปโดยค่านิยมที่ถูกปลูกฝัง ที่สุดลักษณะนิสัยและพฤติกรรมต่างๆ จะดีหรือร้าย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กได้สัมผัสสัมพันธ์ รับรู้อะไร และเรียนรู้อย่างไร
มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ข้อมูลที่สะท้อนวิถีชีวิตและพฤติกรรมเด็กยุคใหม่ที่เรื่องการ "ดูดดื่ม" นม น้ำ เครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่เสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการดูดดื่มเครื่องดื่มทั่วไปที่อยู่ใกล้ที่ดูไม่น่าจะมีพิษมีภัยอะไร แต่แท้จริงกลับส่งผลกระทบต่อเด็กที่ไม่ใช่เฉพาะแค่เด็กไทย อาทิ
"นมเพื่อหนู
/ นมพรากหนู"?
สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เปิดเผยถึงผลการสำรวจและวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของเด็ก
0-3 ปี โดยเฉพาะการดื่มนม พบว่า เด็กกินนมผงรสหวานและนมรสน้ำผึ้งสูงถึงร้อยละ
39.1 นมพร้อมดื่มรสหวานร้อยละ 35.1 และนมเปรี้ยวร้อยละ 14.6 โดยเด็กจะกินนมหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุ
12 เดือนขึ้นไป และในส่วนของเด็กอายุ 3-5 ปีกินนมกล่องบรรจุพร้อมดื่มรสหวานมากถึงร้อยละ
38.4 และกินนมเปรี้ยวร้อยละ 62 ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลทำให้ทราบได้ว่า
เด็ก 0-3 ปีจำนวน 937 คน กินน้ำตาลเฉลี่ย 13.5 กรัม หรือ 3.4 ช้อนชาต่อวัน
แต่ถ้าจำแนกเฉพาะเด็กที่ดื่มนมรสหวานซึ่งมีร้อยละ 20.4 เด็กกลุ่มนี้จะได้รับน้ำตาลมากถึง 36.4 กรัม หรือ 8.7 ช้อนชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลจากนมผงชนิดหวาน (42.9%) และนมผงผสมน้ำผึ้ง (38.6%) เด็กที่ดื่มนมหวานจึงได้รับน้ำตาลมากกว่าเด็กธรรมดาถึง 3 เท่า และมากกว่าปริมาณที่องค์กรด้านโภชนาการและเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานแนะนำว่า เด็กไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
รายงานของสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังระบุว่า ปัจจุบันนี้เด็กไทย 6 ใน 10 คนบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนมหวาน รองลงไปจะเป็นขนมหวานและน้ำอัดลม ที่ร้ายก็คือพ่อแม่มักจะเปลี่ยนสูตรนม ผงเลี้ยงลูกเมื่อเด็กอายุ 1 ปี โดยซื้อนมผงสูตรอื่นๆ ที่เติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งในรูปแบบต่างๆ ผลกระทบก็คือทำให้เด็กต้องกินนมผงรสหวานที่มีปริมาณน้ำตาลมาก ทำให้เกิดโรคอ้วน และตามมาด้วย เบาหวาน หัวใจ ฯลฯ (1)
"น้ำอัดลม
= น้ำอัดเด็ก?"
นอกจากเรื่องนมแล้ว เรื่องน้ำอัดลมที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของเด็กและเยาวชนก็เป็นปัญหาใหญ่อยู่มาก
รายงานการศึกษาในสหรัฐอเมริกา รายงานสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริโภคน้ำอัดลมว่า
- ชาวอเมริกันกว่าครึ่งบริโภคน้ำอัดลม
- ในประเทศสหรัฐฯ มีการขายน้ำอัดลมถึง 15 พันล้านแกลอนในปี 2000 (15 billion gallons)
- ชายอเมริกันโดยเฉลี่ยเด็ก ผู้หญิงและผู้ชายแต่ละคนจะดื่มน้ำอัดลมเป็นอย่างน้อย 12 ออน์ต่อวัน
- ร้อยละ 56 ของเด็กวัย 8 ขวบ ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน
- 1 ใน 3 ของเด็กวัยรุ่นชายดื่มน้ำอัดลมอย่างน้อย 3 กระป๋องต่อวัน
- น้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่พบเห็นได้ทุกที่ ทั้งจากร้านฟาตส์ฟูดจนถึงในทีวี ร้อยละ 60 ในโรงเรียนของรัฐทั้งโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ มีการขายน้ำอัดลม
นอกจากนี้ผลการสำรวจโดย Center for Science in the Public Interest (CSPI) ในสหรัฐอเมริกา ยังให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า เด็กวัยรุ่นอเมริกันอายุระหว่าง 13-18 ปี โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นชายดื่มน้ำอัดลมโดยเฉลี่ยวันละ 3 กระป๋องหรือมากกว่านั้น และในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 10 ที่ดื่มถึง 7 กระป๋องต่อวัน ขณะที่เด็กวัยรุ่นหญิงดื่มโดยเฉลี่ยวันละ 2 กระป๋องหรือมากกว่านั้น และร้อยละ 10 ของวัยรุ่นหญิงดื่มถึงวันละ 5 กระป๋อง (2)
ที่น่าห่วงคือแนวโน้มการบริโภคน้ำอัดลมของเด็กอเมริกันที่สูงขึ้น
ข้อมูลจากผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า การบริโภคน้ำอัดลมของเด็กและวัยรุ่นอเมริกันได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ
41 ระหว่างปี 1989-1991 และปี 1994-1995 เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ
ปัญหาของน้ำอัดลมนอกจากจะมีคาเฟอีน และให้น้ำตาลสูง ยังไม่มีสารอาหารประเภท
แคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินเอ อย่างเครื่องดื่มทั่วไปด้วย (3)
ผลการสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มของเด็กอเมริกัน (4)
เด็กอายุ 2-5 ปี มีการดื่มนม 75% ---- มีการดื่มน้ำผลไม้ 53% ---- มีการดื่มน้ำอัดลม
34%
เด็กอายุ 12-17 ปี ----- เด็กชาย มีการดื่มนม 63%--- ดื่มน้ำผลไม้ 34%--- ดื่มน้ำอัดลม
68%
เด็กอายุ 12-17 ปี ----- เด็กหญิง มีการดื่มนม 49%--- ดื่มน้ำผลไม้ 34%---
ดื่มน้ำอัดลม 63%
ที่สำคัญผลกระทบของน้ำอัดลมที่มีต่อเด็กนั้น มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องอันเนื่องมาจากการบริโภคน้ำอัดลมมากเกินไป
ซึ่งในน้ำอัดลมมีทั้งน้ำตาลและสารคาเฟอินยังนำไปสู่ปัญหา "เด็กติดน้ำอัดลม"
และการ "ติดหวาน ติดสาร" ในน้ำอัดลมด้วย
งานวิจัยชี้ว่า เด็กอเมริกันอายุ 12 ปี ที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำจะอ้วนกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มเป็นประจำหรือไม่ดื่มน้ำอัดลม แล้วเด็กเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนมากกว่าคนทั่วไปถึง 1.6 เท่า ในขณะเดียวกันการดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมากเป็นประจำยังนำไปสู่การติดสารคาเฟอินที่อยู่ในน้ำอัดลม งานวิจัยชี้ว่า น้ำอัดลม 1 กระป๋องหรือประมาณ 12 ออน์มีสารคาเฟอินถึง 35-38 มิลลิกรัม และยังพบว่า ร้อยละ 28 ที่พบว่ามีสารคาเฟอินในน้ำอัดลมขนาด 8 ออน์/หนึ่งถ้วยกาแฟ โดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทไดเอทจะมีสารคาเฟอินซึ่งมากกว่าน้ำอัดลมทั่วไปคือมีถึง 42 มิลลิกรัมหรือมากกว่านั้น
นอกจากผลกระทบต่อการ "ติดหวาน ติดสาร" แล้ว ยังเสี่ยงต่อปัญหาเรื่อง "ฟันเสื่อม" อันเป็นผลพวงจากการดื่มน้ำอัดลมก็ตามมาด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐฯ ในปี 1971 และ 1974 ชี้ว่า เยาวชนในสหรัฐฯ อายุตั้งแต่ 6-29 ปี กว่า 3,200 คน ที่มีปัญหาเรื่อง "ฟันผุ ฟันพัง" สัมพันธ์กับการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยในประเทศสวีเดนและอิรัค (5) และผลที่ตามมาอีกประการคือ ปัญหาเรื่องกระดูกผุ หรือพรุนก่อนวัยอันควร
งานวิจัยของมหาวิทยาวลัยฮาร์ดเวิดในปี 1994 ชี้ว่า เด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 14 ปีที่ดื่มน้ำอัดลมมากกว่า 5 ครั้งต่อวันมีปัญหากระดูกพรุนมากกว่าเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้ดื่ม และผลดังกล่าวก็ส่งผลระยะในวัยผู้ใหญ่ด้วย (6)
"น้ำดื่มสุขภาพ
/ น้ำดื่มทุกขภาพ"
ในประเทศไทย มีการศึกษาพบว่า แม้แต่ชาเขียวที่เชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้น
แท้จริงแล้วชาเขียวพร้อมดื่มบรรจุขวดขนาด 500 มิลลิลิตร ที่ขายทั่วไป เฉลี่ยมีสารกาเฟอีน
23.76 - 76.02 มิลลิกรัมต่อขวด และขนาดบรรจุ 600 มิลลิลิตร มีปริมาณกาเฟอีนตั้งแต่
77.27 - 103.48 มิลลิกรัมต่อขวด ในขณะที่ปริมาณกาเฟอีนที่ร่างกายรับได้ไม่เกิน
200 มิลลิกรัมต่อวัน
จากการเปรียบเทียบน้ำตาลกับน้ำอัดลม พบว่าเครื่องดื่มชาเขียวจำพวกผสมน้ำผึ้งมีน้ำตาลถึง 13.75 ช้อนชาต่อขวด ขณะที่น้ำอัดลมมีน้ำตาล 13 ช้อนชาต่อขวด ซึ่งไม่แตกต่างกันเลย ชาเขียวบางยี่ห้อมีน้ำตาลสูงถึง 15.6 ช้อนชาต่อขวด หากดื่มทุกวัน ปริมาณน้ำตาลและสารกาเฟอีนก็จะยิ่งสูงขึ้น และถ้าในชีวิตประจำวันคนเราอาจได้รับสารกาเฟอีนจากแหล่งอื่นที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ก็อาจทำให้ปริมาณสารกาเฟอีนในร่างกายสูงเกินมาตรฐานและเป็นอันตรายต่อได้ (7)
"เหล้าสุรา
= ฆ่าสุรชีวิต"
นอกจากปัญหาเรื่องน้ำดื่มผสมสารที่มีการบริโภคอยู่ทั่วไปแล้ว ปัญหาการบริโภคของมึนเมาของเยาวชนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง
ที่นับวันก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในแต่ละปีเยาวชนในสหรัฐและแคนาดาจะได้ดูโฆษณาเบียร์ถึง
1,000 -2,000 ชิ้น ซึ่งส่งผลต่อความนิยมและพฤติกรรมติดเหล้าเบียร์ที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้น
ขณะที่ข้อมูลจากมูลนิธิเมาไม่ขับระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการบริโภคสุราสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วง พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2546 วัยรุ่นโดยเฉพาะสตรีอายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราเพิ่มสูงสุด คือเพิ่มขึ้นถึง 5.6 เท่า ซึ่งปัญหาการบริโภคของมึนเมาได้สร้างปัญหาตามมามากมาย ทั้งในเรื่องอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตวัยรุ่นไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ไปจนถึงปัญหาการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจอีกด้วย (8)
จะเห็นได้ว่าเรื่องวิถีการ "ดูดดื่ม" ของเด็กนี้ ดูน่าจะเป็นเรื่องที่ควรจะมีแต่สิ่งดีงามสำหรับเด็กภายใต้การดูแลเอาใจใส่ของผู้ใหญ่และสังคม หากแต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่า ในทางตรงข้ามนั้นวิถีการบริโภคเช่น การดูดดื่มของเด็กกลับถูกโอบล้อมด้วยภัยที่แทรกซึมมาจนปะชิดตัว จนดูเหมือนว่าเด็กๆ ในวันนี้กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในวันหน้าก็ไม่ง่ายเสียแล้ว
สิ่งที่พอคาดการณ์ได้ก็คือ เด็กจำนวนไม่น้อยอาจต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไม่ว่าจะด้วยโรคอ้วนและโรคอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังที่ผลการสำรวจของ The Asian Food Information Centre (AFIC) ได้รายงานถึงผลการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรม เด็กเอเซียอายุ 10-13 ปี ในกลุ่มประเทศเอเซีย พบว่า 1 ใน 4 คนเด็กที่ทำการสำรวจ เป็นเด็กที่มีน้ำหนักเกิน จนถึงอ้วนมาก ซึ่งนอกจากจะทำให้อ้วนและ ฟันผุแล้ว ยังมีอันตรายต่อสุขภาพ โดยทำให้ติดเชื้อง่าย เนื่องจากภูมิต้านทานโรคในร่างกายลดต่ำลง สมองเฉื่อย เรียนหรือทำงานไม่รู้เรื่อง(9)
ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา ยังคาดการณ์อีกว่า ในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ผลกระทบจากโรคอ้วนจะสร้างความสูญเสียมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ หรือแม้แต่อุบัติเหตุจากน้ำดื่มน้ำเมาต่างๆ ที่ผสมมา อันเนื่องมาจากวิถีการบริโภคดูดดื่มสมัยใหม่
หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ ภายใต้วิถีบริโภคดูดดื่มสมัยใหม่ที่มากับกลยุทธการตลาดแบบอ้าง "ความรู้" ที่ผ่านการโฆษณาชวนดูดดื่มต่างๆ จนทั้งพ่อแม่และเด็กเองก็ไม่ทันตั้งตัว ไม่เพียงแต่มีผลต่อการแปลี่ยนแปลงวิถีวัฒนธรรมบริโภคและการอบรมเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลโดยตรงคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างชัดเจน
คำถามที่ตามมาก็คือ
สังคมจะปล่อยให้กระแสบริโภคดูดดื่มที่แอบดูดเด็กไปเรื่อยๆ เช่นนี้หรือ . .
.
ฉลาดดูด ฉลาดดื่ม : บริโภคศึกษากับทางออกของเด็กยุคสังคมบริโภค
คำตอบจากหลายประเทศที่พบคือ เขาผลักดันให้เรื่องบริโภคศึกษา (consumer education)
ได้กลายเป็นวาระสำคัญของชาติ ซึ่งบางประเทศอย่างอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงสาธารณสุขเองก็ลงมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง
จุดมุ่งหมายของเรื่องบริโภคศึกษา จึงเป็นการส่งเสริมความรู้และทักษะให้ประชาชน
"ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ฉลาดช๊อป" โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นรู้ทันกับบริโภคแบบ
"ช็อปไว ใช้แหลก แดกด่วน" ที่โอบล้อมชีวิตอยู่ทุกวี่วัน
ในทำนองเดียวกันเรื่อง "ฉลาดดูด ฉลาดดื่ม" ก็เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งของเรื่องบริโภคศึกษา เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญถึงชีวิต ซึ่งถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะมองเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งสังคม
ทั้งนี้ แม้ว่าเป้าหมายโดยรวมของการเรียนรู้เรื่องบริโภคศึกษาที่นานาประเทศเน้นก็คือเรื่องการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะ "รู้กิน รู้ใช้ รู้คุณค่า" หรือ "รู้ทันการบริโภค" (consumer literacy) นั่นยังรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความรู้และเข้าใจตนเองที่มิใช่เป็นเพียงผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสอนให้เด็กรู้จักเป็นผู้บริโภคที่ดี ทั้งในด้านการกินเพื่อสุขภาพ และการบริโภคข่าวสารข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ ใช้ปัญญา และสร้างตนให้เป็น "ผู้ผลิตที่ดี" ที่จะผลิตสิ่งสรรค์เพื่อ "สังคมผลิต-บริโภค"
แต่ข้อคิดจากหลายประเทศได้สะท้อนว่า ยุทธศาสตร์การทำงานเรื่องดังกล่าวต้องมากกว่าแค่เชิงรับ หากแต่ต้องเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ขับเคลื่อนแบบ "องค์รวม" และ "ทั้งสังคม" คือไม่เพียงแต่อาศัยองค์ความรู้จากวิจัยถึงผลกระทบเกี่ยวกับการดูดดื่ม และการบริโภคเครื่องดื่มอาหารอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และเผยแพร่ให้สาธารณะ "รับรู้" เท่านั้น แต่ยังการตอกย้ำกระตุ้นเตือนว่า ประชาชนควรหันมาใส่ใจต่อการเรียนรู้เรื่องบริโภคศึกษาอย่างจริงจัง
อีกทั้งส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนภาคประกอบการมาร่วมมือกันในการทำงานเรื่องบริโภคศึกษาก็อย่างจริงจัง บางประเทศถึงกับมีการกำหนดให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดภัยน้ำหวาน น้ำอัดลม เช่น ในบางมลรัฐสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น
ที่สำคัญสถาบันการศึกษาเองก็ "รุก" เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องบริโภค โดยเฉพาะการสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเหมาะสม ที่มิใช่เพียงแค่การมีข้อมูลข่าวสารความรู้ที่ดีและมากพอต่อการตัดสินใจ หรือตระหนักถึงสิทธิของตนในฐานะผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการตระหนักรู้และมีทักษะเท่าทันการบริโภคสิ่งต่างๆ มีจิตสำนึกในการบริโภคและรวมถึงการผลิตอย่างสรรสร้างเพื่อชีวิตและสังคมที่ยั่งยืนด้วย
แน่นอนข้อคิดจากบ้านเขา ก็น่าจะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับบ้านเรา ถ้าจะเรียนรู้และนำมาปรับใช้บ้านเราก็คงไม่ยาก "องค์ความรู้" ก็มีให้เห็นมากพอ แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับบ้านเราวันนี้ก็คือ การเอาใจใส่และทำเรื่องนี้อย่างจริงจังที่ไม่ใช่แค่ต้องอาศัยองค์ความรู้ แต่ใช้ "องค์ความรัก" ของทุกคนที่มีต่อเด็กๆ ของเรา ซึ่งอันที่จริงก็มีตัวอย่างดีในบ้านเราอยู่ให้เห็น ทั้งเครือข่ายดีๆ โครงการดีๆ เช่น เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่มี "โครงการเด็กไทยอ่อนหวาน" ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ที่พยายามจะรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการ "ดูดดื่ม" ของเด็กไทย
หรือมีสัญญาณที่ดีดังเห็นได้จากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ ที่ 286 ห้ามเติมน้ำตาลในนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี และเริ่มบังคับใช้กับนมผลิตใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมานี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้นั่นจะเป็นตัวอย่างที่ดี แต่อาจจะยังไม่พอที่จะช่วยให้เด็ก ได้"ดูดดื่มดี" ได้ตลอดชีวิต
ดังนั้นโจทย์สำคัญเพื่อเด็กไทย "ฉลาดดูด ฉลาดดื่ม" ก็คงอยู่ที่ครอบครัว ชุมชน และสังคมจะต้องมาร่วมสร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ดีให้กับเด็กๆ เพื่อเป็นเกราะกันกระแสแห่งการดูดดื่มที่กำลังจะ "ดูดเด็ก" ให้ชีวีเสื่อม-สูญปัญญา
และนั่นหมายถึงบทบาทและภารกิจของพวกเราทุกคนในวันนี้ที่สร้างสังคมและวัฒนธรรม "รู้ทันการบริโภค" เพื่อเด็ก และเพื่อส่วนรวม ก่อนที่สังคมไทยจะถูกดูด และอนาคตไทยจะดับสูญ...
เชิงอรรถ
(1) http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000064974(2) http://www.mercola.com/1998/archive/soda_drinking.htm
(3) http://www.mercola.com/2000/dec/10/nutrition_soda.htm
(4) http://www.mercola.com/2000/dec/10/nutrition_soda.htm
(5) http://64.233.179.104/search?q=cache:I08qc5od7YwJ:www.mercola.com/2001/
(6) http://www.mercola.com/2000/dec/10/nutrition_soda.htm
(7) http://www.komchadluek.net/news/2005/04-06/p1--8715.html
(8) อมรวิชช์ นาครทรรพ และคณะ. เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม. กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกษา, 2548
(9) http://www.phrathai.net/news/detail.php?catid=10&ID=1661
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com