บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 573 หัวเรื่อง
นิติรัฐศาสตร์วัฒนธรรม
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การเมืองและวัฒนธรรมในสังคมไทย
นิติรัฐศาสตร์วัฒนธรรมโดยนักประวัติศาสตร์
นิธิ
เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ:
รวมบทความทางด้านนิติศาสตร์,
รัฐศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์
ระหว่างกลางเดือนเมษายน - กลางเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘
หมวดนิติศาสตร์
1. หลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์
2. โลกของนักกฏหมาย
หมวดรัฐศาสตร์ 3. แก้อดีตคือแก้ปัจจุบัน 4. ตื่นเถิดชาวไทย
หมวดวัฒนธรรม 5. หวงวิชา 6. ธูปดอกใหญ่สุดในโลก
7. สีนามิภาษาไทย
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
23 หน้ากระดาษ A4)
หมวดนิติศาสตร์
1. หลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์
ฟังดูเหมือนเรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริงครับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ในโอกาสฉลองครบรอบ
7 ปีของศาลรัฐธรรมนูญว่า ต่อแต่นี้ไป ศาลรัฐธรรมนูญจะคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์ให้มากขึ้น
ควบคู่กันไปกับหลักนิติศาสตร์
ผมเชื่อว่า คนส่วนใหญ่คงนึกว่าท่านประธาน น่าจะพูดกลับกันเสียล่ะมากกว่า ในฐานะคนที่ไม่เคยเรียนทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ผมอยากจะออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผิดถูกก็ช่างหัวมัน เพราะอย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้าน "ทรราชย์ของผู้เชี่ยวชาญ" ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้สถาปนาขึ้น
ในประเทศไทย คำว่าหลักรัฐศาสตร์เมื่อเอามาใช้ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเอาไว้ แปลว่าไม่ทำตามกฎหมาย เท่านั้นเอง และในทางตรงกันข้าม หลักนิติศาสตร์แปลว่าทำตามบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด พูดอย่างนี้คนที่ชอบอ้างหลักรัฐศาสตร์ ก็อาจเห็นว่าผมไม่อธิบายบริบทของการไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมแก่ท่านเหล่านั้น
ที่จริงแล้วผู้อ้างหลักรัฐศาสตร์หรือไม่ทำตามกฎหมายเห็นว่า ในกรณีนั้นๆ หากทำตามกฎหมายแล้ว อาจเกิดปัญหาทางการเมือง, การบริหาร, หรือการวางนโยบายต่างประเทศ ฉะนั้นจึงเห็นว่าจำเป็นต้องเบี้ยวกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดความราบรื่นทางการเมือง, การบริหาร หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แม้การไม่ทำตามบัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ก็ยังมีปัญหาที่ในทรรศนะของผมหนักหนาสากรรจ์อยู่สองอย่างตามมา
ประการแรกก็คือ ใครเป็นคนวินิจฉัยล่ะครับว่า ในกรณีนั้นๆ หากทำตามกฎหมายแล้วจะก่อให้เกิดความไม่ราบรื่นทางการเมือง, การบริหาร หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่ประชาชนนะครับ เพราะไม่มีการทำประชามติ (อีกทั้งหากถือว่ากฎหมายทุกฉบับมาจากตัวแทนของประชาชนตามกระบวนการนิติบัญญัติของระบอบประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้นประชาชนได้แสดงมติของตนไว้ในกฎหมายแล้ว) ไม่ใช่การโยนกลับไปให้ฝ่ายนิติบัญญัติตีความใหม่ให้ชัด ไม่ใช่แม้แต่การโยนหัวโยนก้อย (ซึ่งก็คือยกให้พระเจ้าช่วยตัดสินให้) แต่คนที่วินิจฉัยนั้นก็คือ คนที่ถือกฎหมายไว้ในมือนั้นเอง (ตุลาการหรือฝ่ายบริหารที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายก็ตาม)
คนเหล่านี้แหละครับที่อ้างตัวเอง โดยได้รับคำรับรองอย่างแข็งขันจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า คือผู้เชี่ยวชาญทางรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ และความเชี่ยวชาญของเขานี่แหละที่เป็นหลักประกันว่า การจะเลือกทำตามกฎหมายหรือไม่ทำตามกฎหมาย (หลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์) ย่อมดีแก่ส่วนรวมเสมอ
ถ้าอย่างนั้นทำไมเราต้องมีกฎหมาย ในเมื่อความเชี่ยวชาญจะเลือกใช้หรือไม่ใช้กฎหมายได้ตามใจชอบเช่นนี้
ปัญหาประการที่สองก็คือ อคติประจำวิชากฎหมายในประเทศไทย ก็คือปลูกฝังให้ผู้ใช้กฎหมายพิทักษ์ปกป้องรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ (ดังจะเห็นตัวอย่างคำพิพากษาของศาลได้มากมาย แต่จะขอยกตัวอย่างจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคนพิการเรียกร้องสิทธิการสอบเป็นอัยการเพียงกรณีเดียว) ถ้าหลักรัฐศาสตร์มีความหมายแต่เพียงการรักษาความราบรื่นทางการเมือง, การบริหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนที่ถือกฎหมายไว้ในมือย่อมเลือกจะใช้หลักรัฐศาสตร์เหนือนิติศาสตร์อยู่เสมอ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของรัฐเอาไว้
ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราต้องมีรัฐธรรมนูญ ในเมื่อถึงอย่างไร กฎหมายก็จะถูกอ่านเพื่อผดุงอำนาจรัฐไว้เหนือการตรวจสอบถ่วงดุลอยู่ตลอดไป
ยิ่งกว่านี้ นักนิติศาสตร์(ที่ดี) ยังคำนึงไปไกลกว่าความสงบสุขของสังคมด้วยซ้ำ นั่นก็คือความสงบสุขไม่ได้หมายถึงสถานะเดิมหรือสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ละสังคมย่อมมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ความสงบสุข และความรุ่งเรืองได้มากกว่าสถานะเดิม ฉะนั้นจึงต้องอ่านและใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมในระยะยาวอีกด้วย
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลักนิติศาสตร์ต้องคำนึงถึงทั้งความสงบสุขของสังคม ควบคู่กันไปกับศักยภาพของสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างหลักนิติศาสตร์กับหลักรัฐศาสตร์
เพื่อให้เห็นทั้งสองประเด็นนี้ได้ชัด
จะขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นบางคดี
สมมุติว่า นักการเมืองซึ่งตุลาการได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานแล้วว่า กระทำผิดกฎหมาย
แต่นักการเมืองผู้นั้นได้รับเลือกตั้งจากประชาชนมาอย่างท่วมท้น ตุลาการจึงเกรงว่าหากตัดสินไปตามบัญญัติของกฎหมาย
อาจทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงจนขั้นก่อจลาจลได้ ตุลาการจึงตัดสินใจพิพากษาให้ยกคำร้องของฝ่ายที่ฟ้องนักการเมืองนั้นเสีย
ถามว่า นี่เป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์แทนนิติศาสตร์ใช่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่ ซ้ำยังเป็นการละเมิดหลักนิติศาสตร์อย่างน่าละอายด้วย เพราะตุลาการในสังคมปัจจุบัน ควรรู้ว่าคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งไม่ได้มีความหมายว่า ประชาชนลงมติอย่างท่วมท้นให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่เหนือกฎหมาย ความนิยมชมชื่นนักการเมืองก็มีขึ้นมีลงอย่างรวดเร็วเหมือนกับดาราหรือนักร้อง เราจึงไม่สามารถอาศัยแต่บรรทัดฐานที่ไม่มั่นคงแน่นอนนี้ ในการออกคำพิพากษา
ยิ่งคิดถึงประโยชน์สุขในระยะยาวของสังคมโดยรวมแล้ว การใช้คะแนนนิยมซึ่งวูบวาบ, จัดตั้งได้, และไม่มีความหมายที่แน่ชัดเป็นบรรทัดฐาน จะกลายเป็นการตั้งบรรทัดฐานใหม่ให้แก่สังคม นั่นก็คือถ้าใครสามารถได้คะแนนเลือกตั้งมากๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเคารพกฎหมาย นั่นยิ่งเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของสังคมเสียยิ่งกว่าการก่อจลาจลของฝูงชน (ม็อบขนานแท้และดั้งเดิมเลย)
ถ้าอ้างหลักรัฐศาสตร์ในการพิจารณาคดี รัฐศาสตร์ก็มีความหมายแต่เพียงภาพที่คนสายตาสั้นมองเห็นเท่านั้น
เช่นเดียวกับการตัดสินว่า หนังสือแสดงเจตจำนงที่ไทยต้องส่งให้ไอเอ็มเอฟไม่ใช่สนธิสัญญา จึงไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ไม่ได้เอื้อต่อความสงบสุขและศักยภาพของสังคมแต่อย่างใด ไม่เข้าเกณฑ์ทั้งหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
ตุลาการของโลกปัจจุบันควรเข้าใจว่า สัญญาที่ผูกมัดประเทศชาติให้ต้องทำหรือต้องไม่ทำอะไรในภายหน้านั้น อาจอยู่ได้ในหลายรูปแบบ การที่กฎหมายกำหนดให้รัฐสภาต้องอนุมัติสนธิสัญญาย่อมมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า ประชาชนมีสิทธิตัดสินอนาคตของตนเองโดยผ่านผู้แทนของตนในสภา ถ้าถือเอาความหมายแบบอักษรศาสตร์ของกฎหมายเพียงอย่างเดียว สิทธิพื้นฐานอันนี้ของประชาชนย่อมถูกริบไปโดยปริยาย เพราะโลกปัจจุบันและอนาคตจะสัมพันธ์กันด้วยกลไกอื่นๆ มากกว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
สังคมที่ประชาชนไม่มีสิทธิตัดสินอนาคตของตน จะเป็นสังคมที่เกิดความสงบสุข และมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้อย่างไร
หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มิได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด จะพูดว่าเป็นเรื่องเดียวกันยังได้ เพราะต่างมุ่งประโยชน์สุขของสังคมทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคตเป็นที่ตั้ง คำพิพากษาของศาล(ทุกประเภท) ย่อมเป็นบรรทัดฐานที่จะอำนวยเป้าประสงค์ดังกล่าว อคติสี่นั้นไม่มีหลักอะไรให้อ้างหรอกครับ เบี้ยวคือเบี้ยว ไม่มีเบี้ยวตามหลักโน้นหลักนี้หรอกครับ
ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้หลักรัฐศาสตร์ให้มากก็ได้
แต่รัฐศาสตร์ที่แท้จริงไม่ได้ยืนอยู่ได้โดยปราศจากหลักนิติศาสตร์ เช่นเดียวกับนิติศาสตร์ก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้โดยปราศจากหลักรัฐศาสตร์
สำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งรัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้ให้นั้น ต้องเข้าใจหลักทั้งสองอย่างถูกต้องเท่านั้น
2. โลกของนักกฎหมาย
ผมนึกบอกตัวเองเสมอว่าโชคดีที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย เพราะโลกของนักกฎหมายเป็นโลกที่ผมไม่มีวันเข้าถึง
เราใช้ตรรกะกันคนละชุด พลังงานที่ขับเคลื่อนให้โลกอันสงบสุขหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามวิถีของมันก็เป็นพลังงานคนละตัว
เมื่อไม่นานมานี้ นักกฎหมายคิดจะออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการประชุม ครม. โดยกำหนดองค์ประชุมของ ครม.ว่าต้องมีเท่าไร และในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนมีรัฐมนตรีร่วมประชุมกับนายกฯคนเดียว ก็นับเป็นองค์ประชุมได้แล้ว เหตุผลที่ท่านยกขึ้นมาสนับสนุนมาตรการนี้ก็คือ ท่านบอกว่าเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดองค์ประชุมเอาไว้
ผมนึกในใจว่า การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ก็แสดงอยู่แล้วว่าไม่ต้องกำหนดล่ะสิครับ เพราะอะไรหรือ ก็เพราะถึงไม่กำหนด การบริหารจัดการรัฐก็ยังดำเนินไปได้เป็นปกติดี ซ้ำยังเปิดช่องให้พลิกผันไปตามสถานการณ์ได้ตามความจำเป็นอีกด้วย
นักกฎหมายยังชี้ให้เห็นกรณีตัวอย่างในอดีตว่า เคยมีการประชุม ครม.สองคน แล้วผ่านมติออกมาเป็นมติ ครม.มาแล้ว เช่น กรณีเมษาฮาวาย และกรณีนายกรัฐมนตรีออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองก่อนอำลาตำแหน่ง เป็นต้น ในโลกที่ใช้ตรรกะชุดเดียวกับผม กรณีที่ยกเป็นตัวอย่างทั้งสองยิ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีกฤษฎีกากำหนดองค์ประชุมของ ครม.ต่างหาก ก็เพราะไม่มีจึงทำได้ไงครับ
ผมเข้าใจเสมอมาว่า กฎหมาย (ที่เป็นทางการ) คือกติกาสำหรับสังคมในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ฉะนั้นกฎหมายจึงต้องว่าด้วยอำนาจ, ว่าด้วยภาระหน้าที่, และว่าด้วยสิทธิ) แต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไหนในโลก ที่ถูกกำกับด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีวัฒนธรรมประเพณี, ศีลธรรม, แรงกดดันของสังคม, สำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ อีกร้อยแปดอย่างที่คอยกำกับพฤติกรรมของมนุษย์อยู่
กฎหมายเสียอีก กลับมีกำลังในการกำกับน้อยกว่าอะไรอื่นๆ
เหล่านั้น เช่นคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่ลักขโมย ไม่ใช่เพราะเกรงว่าผิดกฎหมาย
แต่เห็นว่าผิดศีลธรรม ผิดความนับถือตัวเอง หรือผิดคำสั่งสอนของพ่อแม่ เป็นต้น
สังคมใดที่ไม่มีอะไรอื่นกำกับเลย นอกจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว สังคมนั้นต้องออกกฎหมายห้ามฉี่ในลิฟต์อย่างสิงคโปร์
(ซึ่งนักการเมืองและสื่อชอบวางเป็นเป้าหมายของการพัฒนาสังคมไทย)
แต่ในโลกของนักกฎหมาย การไม่มีกฎหมายใดกำกับอยู่เลย ผู้คนก็อาจเอาโอกาสนั้นไปใช้ในทางเสียหาย เช่นในกรณีองค์ประชุมของ ครม. นายกฯอาจใช้โอกาสนี้เรียกประชุมกับรัฐมนตรีคนเดียว แล้วผ่านมติ ครม.พิกลพิการออกมา โลกอย่างนี้ผมเข้าไม่ถึง เพราะในโลกของผมนั้น อย่างที่บอกแล้วว่าถึงไม่มีกฎหมายกำกับ ก็ยังมีอะไรอื่นคอยกำกับพฤติกรรมอยู่ดี
แม้ไม่ได้ศรัทธาท่านนายกฯคนปัจจุบัน ผมก็ยังไม่เชื่อว่าท่านจะทำอย่างนั้นได้อยู่ดี เพราะในฐานะบุคคลสาธารณะท่านย่อมต้องแสวงหาความชอบธรรมจากการกระทำของท่านด้วย และความชอบธรรมในโลกนี้ไม่ได้เกิดจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว มติ ครม.ที่ฉ้อฉลพิกลพิการย่อมทำลายความชอบธรรมของตัวท่าน
มติ ครม.ในกรณีเมษาฮาวาย คนส่วนใหญ่คงเห็นว่ามีความชอบธรรม ในท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนั้น ก็สมควรแล้วที่จะต้องออกมติ ครม.ด้วยองค์ประชุมเล็กกระจิ๋วหลิวเช่นนั้น ตรงกันข้ามกับมติ ครม.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตัวเอง ผมยังได้ยินคนก่นด่ามาจนถึงทุกวันนี้ ผมไม่ทราบว่ามีผลมากน้อยเพียงไรต่อความนับถือที่บางคนเคยมีต่อนักกฎหมายที่ร่วมกันเสนอมตินี้ไปสู่ ครม.ด้วยลายเซ็น
สังคมทุกสังคมย่อมมีมาตรฐานของตัวเอง ไม่ว่าจะมีกฎหมายรองรับมาตรฐานนั้นหรือไม่ แล้วเราจะไม่ปล่อยให้มาตรฐานเหล่านั้นทำงานของมันโดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับบ้างหรือ
ตรงกันข้าม สิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ยิ่งกลับนำไปสู่ความไม่ชอบธรรมได้ง่าย ถ้าเนติบริกรที่แวดล้อมผู้มีอำนาจ เพียงแต่เปิดกฎหมายดูว่า อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้าม ก็ทำได้เลย โดยไม่ต้องเหลียวไปดูมาตรฐานความชอบธรรมซึ่งมาจากอะไรอื่นอีกมากกว่ากฎหมาย ก็อย่างที่พูดแหละครับ กฎหมายอย่างเดียวรองรับความชอบธรรมไม่ได้ ซ้ำตรงกันข้ามด้วย ถ้ามีกฎหมายเพียงอย่างเดียวเสียอีก ที่ความชอบธรรมจะไม่เหลืออีกเลย
อย่างพระราชกฤษฎีกาที่ว่านี่แหละครับ ทำให้ผ่านมติ ครม.ด้วยองค์ประชุมกระจิ๋วหลิวได้ง่ายกว่าไม่มีกฎหมายรองรับเสียอีก เพราะเมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ยิ่งต้องคิดหนักมากขึ้นว่าจะผ่านมติ ครม.ที่ไม่ชอบธรรมได้อย่างไร
โลกของนักกฎหมายดำเนินไปเพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ถ้าไม่มีกฎหมายโลกของเขาอาจหยุดหมุน ผิดหรือถูกมีความหมายแต่เพียงจะตีความจักเส้นผมบัญญัติของกฎหมายกันอย่างไร เพราะผิดหรือถูกที่ไม่มีกฎหมายรองรับนั้นไม่มีในโลกของนักกฎหมาย
ผมคิดว่ากรณีสติ๊กเกอร์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เฉพาะในโลกของนักกฎหมายเท่านั้น ไม่มีสาระในโลกที่มนุษย์คนอื่นมีชีวิตอยู่ตามปกติธรรมดา ผมไม่ทราบหรอกว่าใครเป็นคนทำสติ๊กเกอร์ หรือใครเป็นคนไม่ได้ทำสติ๊กเกอร์ เพียงแต่ความรู้อันจำกัดของผมเกี่ยวกับกฎหมายทำให้เชื่อว่า การอ้างพระราชดำรัสไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย ยกเว้นแต่อ้างในบริบทที่เจตนาจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่องค์พระมหากษัตริย์
ประเด็นปัญหาก็คือ การอ้างพระราชดำรัสในการโจมตีคู่ต่อสู้ทางการเมือง ในบรรยากาศการแข่งขันของการเลือกตั้ง มีเจตนาจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่องค์พระมหากษัตริย์หรือไม่
ผมคิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่าจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียได้อย่างไร การยกพระราชดำรัสก็แสดงอยู่แล้วว่าให้ความสำคัญแก่พระราชดำรัส แม้มีเจตนาจะทำให้ความนิยมของคู่แข่งทางการเมืองเสียหาย ก็ไม่ใช่การหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่คำถามที่สำคัญกว่าก็คือสมควรกระทำหรือไม่ เพราะถ้าสติ๊กเกอร์นั้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าองค์พระมหากษัตริย์ไม่โปรดคู่แข่งทางการเมือง ก็ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางการเมือง บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นนี้ไม่มีใครรับได้สักฝ่ายเดียว
คนที่อยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามว่า ทำเช่นนี้แล้วจะดีแก่ระบอบประชาธิปไตยหรือ? เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเนปาลเวลานี้ น่าจะชี้ให้เห็นได้อยู่แล้ว
คนที่อยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถามว่า ทำเช่นนี้แล้วจะดีแก่สถาบันพระมหากษัตริย์หรือ? เพราะยิ่งอยู่เหนือขึ้นไปมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องอิงอาศัยฐานความชอบธรรมที่สังคมยอมรับมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าไม่อาศัยแต่กฎหมายเป็นมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าฝ่ายกระทำ หรือฝ่ายที่ชิงความได้เปรียบทางการเมืองจากการกระทำนั้น ล้วนทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น ผิดแน่ๆ แต่ไม่ใช่ผิดกฎหมาย หากผิดความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแน่นอน
(ขอนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ผมไม่ได้ใช้ราชาศัพท์ผิด เพราะพระมหากษัตริย์ในที่นี้หมายถึงสถาบัน ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์ จึงไม่ต้อง "ทรง" เป็น ส่วนประมุขนั้นหมายถึงประมุขของประเทศไทยซึ่งไม่ใช่เจ้า จึงไม่ควรใช้ "พระ" ประมุข นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ทางภาษาตามวิธีคิดในโลกของนักกฎหมาย ทั้งๆ ที่ภาษาทุกภาษาในโลกย่อมเป็นไปตามปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างนอกจากกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์และหลักภาษา)
นี่แหละครับ ผมถึงนึกว่าโชคดีที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย ไม่อย่างนั้นป่านนี้คงยังไม่จบปริญญาตรี
หมวดรัฐศาสตร์
3. แก้อดีตคือแก้ปัจจุบัน
ญี่ปุ่นขอให้จีนขอโทษ
เพราะประชาชนจีนพากันประท้วงทำร้ายผู้คนข้าวของของญี่ปุ่นในเมืองจีน ฝ่ายจีนบอกว่าไม่ขอโทษ
ญี่ปุ่นนั่นแหละต้องเป็นฝ่ายขอโทษที่ทำร้ายคนจีนมาอย่างเลวร้ายระหว่างสงคราม
(ถึงฟังดูสะใจดีแก่คนไทยที่เคยมีประสบการณ์ถูกรุกรานจากญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่เพื่อความเป็นธรรม ผมก็ควรเตือนไว้ด้วยว่า จีนคอมมิวนิสต์น่าจะเป็นคนสุดท้ายในโลกที่เรียกร้องความเที่ยงตรงทางประวัติศาสตร์ ก็แค่อดีตใต้จมูกเช่นเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ตั้วเฮียยังไม่ยอมให้พูดอะไรสักแอะเดียว)
ในที่สุด นายกฯ ญี่ปุ่นก็เลยกล่าวคำขอโทษในการประชุมเอเชีย-แอฟริกา อันที่จริงไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเอ่ยคำขอโทษประเทศที่ตัวเคยรุกรานมาในอดีต มีนายกฯ ญี่ปุ่นอีกหลายคนที่ได้เอ่ยคำขอโทษกับชาติต่างๆ ในเอเชียมาแล้ว หลายครั้งด้วย จนกระทั่งคำขออภัยของนายกฯ ญี่ปุ่นอาจไม่ค่อยมีความหมายเท่าไรแล้ว เพราะ "ซุมิมาแซ" ทีหนึ่ง ก็แก้แบบเรียนล้างคาวตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแบบเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นกำลังจะทำให้สงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นทางเลือกที่ประเสริฐสุดสำหรับชาติญี่ปุ่นไปเสียแล้ว
เพื่อนคนไทยของผมหลายคนวิตกห่วงใยเหมือนคนในชาติเอเชียอีกหลายชาติว่า ลัทธิทหารกำลังกลับมาครอบงำญี่ปุ่นอีกแล้ว นัยยะของความวิตกนั่นก็คือ ญี่ปุ่นอาจจะสั่งสมกำลังกองทัพ เพื่อขยายอำนาจเข้ายึดครองเอเชียทางทหารอีกหนหนึ่ง ผมเองเคยถูกนักข่าวหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นถามเรื่องนี้เหมือนกันว่า วิตกห่วงใยเรื่องนี้ไหม ผมตอบเขาว่าไม่ห่วงเลย แต่คนญี่ปุ่นต่างหากต้องห่วงให้มาก เพราะถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นโง่พอจะทำอย่างนั้นอีก ก็จะพบเอเชียที่ไม่เหมือนกับเอเชียที่ถูกกองทัพลูกพระอาทิตย์ยึดครองเลย ไม่ว่าญี่ปุ่นจะใช้กำลังกองทัพรุกรานใครในเอเชีย ญี่ปุ่นจะตกลงไปในหุบเหวที่ถอนตัวไม่ออก ดึงเอาเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นล่มจมตามไปด้วยอย่างแน่นอน และคราวนี้ญี่ปุ่นจะลุกขึ้นใหม่ได้ยากกว่าครั้งที่แล้วด้วย
ฉะนั้น การฟื้นตัวของลัทธิทหารจึงเป็นปัญหาของชาวญี่ปุ่นเอง ไม่ระวังให้ดี ก็จะนำไปสู่ความหายนะที่เลวร้ายกว่าครั้งที่แล้ว
แต่ในขณะเดียวกัน ลัทธิทหารของญี่ปุ่นผูกพันอย่างแยกไม่ออก จากประวัติศาสตร์สำนวนที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นให้แก่ตนเอง ฉะนั้น การสละละทิ้งลัทธิทหารให้สิ้นเชิง จึงเท่ากับสละทิ้งความทรงจำร่วมกันอันเก่า แล้วรวมกันสร้างความทรงจำร่วมกันอันใหม่ที่เป็นอิสระจากลัทธิทหารขึ้น
การเลิกเป็นเจ้าของ (disown) ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับรองรับความเป็นรัฐชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เจ็บปวดและทำให้อะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างที่รัฐชาติให้ความสำคัญเอาไว้อาจต้องล่มสลายไปด้วย แม้ว่าชาติยังอยู่ แต่อีกหลายอย่างที่เคยอยู่คู่เคียงมากับชาติอาจไปไม่รอด
และตราบเท่าที่ญี่ปุ่นยังต้องการสืบสานประวัติศาสตร์สำนวนนี้แก่ลูกหลานต่อไปในอนาคต จะสอนให้เด็กรุ่นใหม่ให้ประณามสิ่งที่ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของตน (เช่น กองทัพและทหารกล้า) ได้อย่างไร ญี่ปุ่นย่อมต้องแก้ไขส่วนนั้นในแบบเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นให้ลืมไปเสียโดยไม่พูดถึง หรือพูดถึงอย่างบิดเบือน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในการสร้างและธำรงรักษาชาติญี่ปุ่น (เหมือนรัฐชาติอีกมากในโลก) ญี่ปุ่นย่อมสร้างประวัติศาสตร์ฉบับบิดเบือนขึ้น เพื่อทำให้เกิดความทรงจำร่วมกันของพลเมืองที่ช่วยเอื้อให้ชาติเกิดขึ้นและดำรงอยู่ การบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยการไม่พูดหรือพูดไม่จริงนั้นเป็นเรื่องเล็กกว่าการบิดเบือนระดับการวิเคราะห์
การบิดเบือนระดับการวิเคราะห์บังคับให้ต้องบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นธรรมดา
และสิ่งที่แก้ยากไม่ใช่ข้อความเรื่องการ "ชำเรานานกิง" แต่เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ว่าญี่ปุ่นเลือกที่จะเป็นผู้รุกรานได้อย่างไร ใครและอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกนี้ ซึ่งในภายหลังก็พิสูจน์ว่าเป็นการเลือกที่ผิด เพราะญี่ปุ่นต้องย่อยยับจากสงคราม และถูกต่างชาติยึดครองอยู่ยาวนาน
ใครและอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกผิดของญี่ปุ่นนั้น สืบย้อนหลังไปได้ตั้งแต่สมัยเมจิ ถ้าจะค้นหาอย่างเที่ยงธรรมจริงๆ แล้ว ย่อมมีวีรบุรุษจำนวนเป็นร้อยที่จะกลายเป็นตัวตลก และโมฆบุรุษ อีกทั้งยังต้องตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ กับสถาบันสำคัญๆ ของชาติญี่ปุ่นอีกหลายคำถาม นับตั้งแต่สถาบันศาสนาชินโต, การกระจายอำนาจตามโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งฟื้นกลับมาคล้ายก่อนสงคราม, ระบบการเมือง, หรือแม้แต่สถาบันพระจักรพรรดิ
ผมนึกเปรียบเทียบกับเยอรมันแล้ว ผมคิดว่ายังง่ายกว่าที่เยอรมันจะตัดฮิตเลอร์และนาซีทิ้งไปเหมือนก้อนมะเร็ง เยอรมันจัดให้ฮิตเลอร์และนาซีเป็นยุคพิเศษ อันเป็นผลมาจากปัจจัยสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นทั้งในเยอรมันและในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ฉะนั้น นาซีและฮิตเลอร์จึงเป็นอดีต ส่วนที่คนปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปสืบทอดเป็นการสละความเป็นเจ้าของอดีตส่วนนั้นไปเสีย
แต่ญี่ปุ่นทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอดีตส่วนนั้นแยกไม่ออกจากความเป็นชาติของญี่ปุ่น อย่างที่กล่าวข้างบนแหละครับ มันสัมพันธ์อย่างแนบแน่นมาตั้งแต่สมัยเมจิ จะให้ทิ้งเมจิได้อย่างไร (หรือจะให้อธิบายเมจิไปในอีกทางหนึ่งได้อย่างไร) ฉะนั้น ผมจึงเชื่อว่าญี่ปุ่นยังจะต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้านด้วยปัญหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ต่อไปอีกไม่รู้จะกี่หนในอนาคต
ผมพูดเสมอว่า อดีตที่ชาติถูกสอนให้จดจำไว้นั้นเหมือนเส้นใยที่ถักทออย่างสลับซับซ้อน จนกลายเป็นผืนผ้าของปัจจุบัน การเปลี่ยนเส้นใยของอดีตสักเส้นสองเส้นอาจไม่ยากนัก แต่การทอลายใหม่ ตั้งสีใหม่ หรือตั้งเส้นยืนใหม่ ฯลฯ ทำไม่ได้เลย ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนผืนผ้าของปัจจุบัน
เหมือนเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในประวัติศาสตร์ หลายท่านเรียกร้องให้เราสอนประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่เอาพม่าเป็นผู้ร้ายประจำชาติ ไม่เอาลาว, เขมร, มลายู ฯลฯ เป็นลูกกะโล่ประจำชาติ ผมเห็นด้วยทั้งนั้นแหละครับ แต่ขอสารภาพว่า จะให้อ่านเรื่องพระนเรศวรโดยทำใจกลางๆ นั้นทำไม่ได้ แค่อ่านผู้ชนะสิบทิศตอนบุเรงนองตีอยุธยายังอึดอัดเลยครับ
ทั้งนี้ เพราะเส้นไยที่ถักทออดีตซึ่งถูกอบรมสั่งสอนมา ทำให้ผมไปยึดเอาอยุธยาเป็นชาติไทย แล้วก็ไปยึดเอาพระนเรศวรเป็นพระมหากษัตริย์ของชาติไทย ทั้งๆ ในความเป็นจริงนั้น พระนเรศวรไม่ได้เป็นกษัตริย์ของชาติไทยอย่างแน่นอน ถ้าเอาดินแดนของชาติปัจจุบันเป็นเกณฑ์ ท่านก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์ของอีสาน, ของล้านนา (ซึ่งเป็นแค่เมืองบรรณาการภายใต้เจ้าเมืองซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าบุเรงนอง) ส่วนใหญ่ของภาคใต้ตอนล่างไม่ได้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่า คนไทยในอยุธยาเองก็ไม่ได้เป็นพลเมืองของชาติไทย หากเป็นข้าราษฎรของพระเจ้าอยู่หัว ส่วนประชาชนแค่นครสวรรค์ไม่ได้เป็นข้าราษฎรโดยตรงของพระองค์ด้วยซ้ำ หากมีนายเหนือหัวซึ่งเป็นข้าของพระองค์อีกทีหนึ่งต่างหาก
พระนครศรีอยุธยาจึงไม่ใช่บรรพบุรุษของชาติไทย แต่เป็นราชธานี (แปลตามตัวคือเมืองของกษัตริย์ แตกต่างจากเมืองที่ไม่ใช่ของกษัตริย์เช่นนครสวรรค์อย่างที่ผมยกเป็นตัวอย่างข้างต้น ไม่ใช่ capital ซึ่งแปลว่าหัวแถว) ของราชอาณาจักรโบราณอันหนึ่งในอุษาคเนย์
สำนึกความเป็นชาติของไทยยังไม่เกิดจนหลังจากนั้นอีกหลายร้อยปี ฉะนั้น สงครามระหว่างไทยกับพม่าในความเป็นจริงจึงเป็นสงครามระหว่างหงสาวดี (หรืออังวะ) กับกรุงศรีอยุธยา โดยมี "ราชาธิราช" ของสองราชอาณาจักรเป็นผู้นำ และผู้ทำสงครามระหว่างกัน ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ของชาติไทยทรงทำสงครามกับชาติพม่า
สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ ถึงแม้สืบเนื่องกับสถาบัน "ราชาธิราช" ของอยุธยา แต่เป็นคนละสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกวันนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการถือกำเนิดของประชาชาติไทยอันเป็นหน่วยทางการเมืองซึ่งเกิดใหม่ และไม่ได้สืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา, ล้านนา, โคตรบูร, ล้านช้าง, สุพรรณฯ, นครศรีธรรมราช, ปัตตานี แต่อย่างใด
ผมคิดว่าเราจะเรียนเรื่องสงครามระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านอย่างไรก็ได้ แต่ต้องเรียนด้วยความเข้าใจว่า "ราชาธิราช" ของราชอาณาจักรโบราณรบกัน เหมือนกับสงครามส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์นั่นแหละ หาได้เกี่ยวข้องกับความเป็นชาติของประชาชาติในภูมิภาคนี้เลย
ฉะนั้น จึงไม่ง่ายเพียงแค่เรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านกันโดยทำใจเป็นกลางเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์อดีตกันใหม่ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องกระทบถึงปัจจุบัน
แล้วเรากล้าหรืออยากเปลี่ยนปัจจุบันแค่ไหนครับ ?
4. ตื่นเถิดชาวไทย
ผมเชื่อว่าหนุ่มสาวที่เป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ของโฆษณาชิ้นนี้ (ที่หนุ่มขับรถสปอร์ตหลับตอนไฟแดง
ไฟเขียวแล้วก็ยังไม่ตื่น จนตำรวจจราจรต้องมาปลุก ก่อนที่เพลง "ตื่นเถิดชาวไทย"
จะดังขึ้น) ต้องรู้จักความหมายของคำว่า "ตื่น" ที่ใช้ในเพลงอย่างแน่นอน
ไม่อย่างนั้น ก็จะไม่มีอะไรตลกในเพลงนี้ และไม่รู้จะเปิดเพื่อขาย... ทำไม
อันที่จริงแนวคิดเกี่ยวกับ "ตื่น" และ "หลับ" ในความหมายนี้มีอายุกว่าศตวรรษแล้ว แม้เมื่อตอนที่ หลวงวิจิตรวาทการ เอาคำนี้มาใช้ในเพลงปลุกใจเพลงนี้ ก็เป็นแนวคิดโบราณคร่ำครึไปแล้ว... เหมือนกับส่วนใหญ่ของงานของบุคคลผู้นี้ คือล้วนเป็นกากความคิดคร่ำครึที่ฝรั่งบ้วนไว้นานแล้วทั้งนั้น
ถ้าพูดในภาษาปัจจุบัน แนวคิดเรื่องตื่น-หลับ เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิ "บุรพทิศคดีนิยม" หรือ Orientalism อันเป็นลัทธิที่ฝรั่งสร้างขึ้นเพื่ออธิบายความเหนือกว่าของตนเอง โดยอาศัยภาพของตะวันออกซึ่งสร้างขึ้นใหม่สะท้อนตัวตนของฝรั่งออกมา เปรียบไปก็เหมือนฝรั่งสร้างเนื้อหาของ "บุรพทิศคดีศึกษา" เป็นกระจกเงาสำหรับใช้ส่องดูหน้าตัวเอง (แล้วคงยิ้มระเรื่อในใบหน้าด้วยความภาคภูมิใจ)
เรื่องตื่น-หลับ เกิดขึ้นเมื่อฝรั่งศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของอาณานิคมเอเชียของตัว แล้วพบว่าแต่ละสังคมที่ตัวเข้ามาถืออำนาจนั้น ล้วนเคยมีอดีตอันรุ่งเรือง เช่นเคยเป็นที่ตั้งของรัฐซึ่งมีอำนาจมาก หรือเคยเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่เก่าก่อน ฝรั่งขุดลงไปในดินของอาณานิคม แล้วพบตัวเองนอนอยู่ก้นหลุม
ผมหมายความว่า พบความเจริญรุ่งเรืองและอำนาจอันเกรียงไกร อย่างที่ฝรั่งคิดว่าตัวเองเป็นอยู่เวลานั้น แต่เป็นอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว
กว่าอังกฤษจะได้อินเดียทั้งหมด ใช้เวลากว่าศตวรรษ แถมไม่ใช่ได้มาเพราะแสนยานุภาพอันเกรียงไกรด้วย แต่อาศัยกลอุบายร้อยแปดพันประการ กว่าจะได้อินเดียทั้งหมดไว้ในมือ เทียบกับพระเจ้าอโศกแล้ว กระจอกเต็มทน เพราะพระเจ้าอโศกใช้แสนยานุภาพทั้งทางทหารและทางธรรม (แล้วแต่จะแปลว่าอะไร) ในเวลาไม่นาน ก็สามารถได้อนุทวีปอินเดียเกือบทั้งหมดไว้ใต้พระราชอำนาจของพระองค์
ซากปรักหักพังและเทคนิควิทยาอันเลอเลิศภายใต้พระเจ้าอโศกคงบอกให้อังกฤษรู้ว่า อารยธรรมใดๆ ก็มีจุดจบอย่างเดียวกัน นั่นก็คือ ล่มสลายย่อยยับไปจนแทบไม่เหลือร่องรอย...นี่แหละครับที่ผมใช้สำนวนว่า ขุดดินลงไปแล้วพบตัวเองนอนอยู่ก้นหลุม
อันที่จริง ฝรั่งรู้จักการสูญสลายของอารยธรรมใหญ่ๆ มาแล้ว เช่น กรีก และโรมัน เป็นต้น และในช่วงหนึ่งดูเหมือนนักประวัติศาสตร์ฝรั่งก็ยอมรับวัฏจักรของอารยธรรมว่าเป็นอนิจจัง แต่ยิ่งฝรั่งมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและแสนยานุภาพมากขึ้นเท่าไร (คริสต์ศตวรรษที่ 19) ก็ยิ่งยอมรับวัฏจักรของอารยธรรมได้ยากขึ้นเท่านั้น
ผมคิดว่านักวิชาการฝรั่งอึกอักที่จะอธิบายความเสื่อมทรุดของอารยธรรม "บุรพทิศ" (อันที่จริงจนถึงทุกวันนี้ก็ยังสามารถเถียงกันได้ไม่รู้จบ แล้วแต่จะว่ากันตามทฤษฎีอะไร) ถ้าเป็นอารยธรรมของประเทศในอุษาคเนย์ นักวิชาการฝรั่ง ซึ่งมองไปที่ชาวพื้นเมืองซึ่งเป็นลูกไล่ของตัว ไม่ว่าจะเป็น เขมร, ชวา, บาหลี, มอญ, พม่า (หรือแม้แต่ไทยซึ่งไม่ได้เป็นลูกไล่อย่างเป็นทางการ) แล้ว ทำใจยอมรับไม่ได้ว่า อ้ายพวกกึ่งคนป่า (เป็นคำที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงใช้อธิบายวัฒนธรรมไทยด้วย) เหล่านี้น่ะหรือ ที่สร้างนครวัด, บุโรบุดูร์, พุกาม, หรือเทวรูปสวมหมวกแขกที่กระบี่ขึ้นมาได้
นักวิชาการฝรั่งจึงคิดว่า เฮ่ย ไม่ใช่อ้ายพวกนี้แน่ แต่ต้องเป็นใครที่เป็นอารยชนมากกว่าพวกนี้ โน่นสิ อินเดียสิ ถึงจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ นี่คือที่มาของทฤษฎีการอพยพประชากรอินเดียมาสู่อุษาคเนย์ ซึ่งนักปราชญ์ไทยใช้ร่วมกับฝรั่งต่อมาอีกนาน
นอกจากว่าอิทธิพลของอินเดียมองเห็นได้ชัดเจนในอารยธรรมอุษาคเนย์แล้ว บุรพทิศคดีศึกษาของอินเดียยังเริ่มมาก่อนอุษาคเนย์นาน แถมคนอินเดียยังเป็นอารยันด้วยกันเสียอีก ชี้กำเนิดของอารยธรรมไปทางตะวันตกแล้วมันสบายใจดี
ในส่วนอินเดีย, จีน และอิสลามต่างหากที่ทำให้นักวิชาการฝรั่งอึกอักที่จะอธิบายความเสื่อมโทรมของอารยธรรมเหล่านี้ ทฤษฎีหลับ-ตื่น จึงเกิดขึ้นเพื่ออธิบายความเสื่อมโทรมดังกล่าว อย่าลืมนะครับว่าหลับยังดีกว่าตาย ทำไมเอเชียถึงหลับ ก็มีเหตุผลหลายอย่างที่ฝรั่งอธิบายได้ ล้วนเป็นเหตุผลที่วิเคราะห์ไปให้ถึงแก่นแล้วก็คือ เพราะมึงไม่ได้พัฒนาไปในแนวเดียวกับกู ดังที่บอกแล้วไงครับว่า "บุรพทิศคดีนิยม" เป็นกระจกไว้ส่องตัวเองของฝรั่ง ไม่ใช่มีไว้อธิบายบุรพทิศภาค
ทฤษฎีเอเชียหลับ ทำให้ฝรั่งสบายใจดี เพราะช่วยให้ความชอบธรรมแก่การเป็นเจ้าอาณานิคมของฝรั่งในเอเชียได้ด้วย นั่นคือ ฝรั่งมาช่วยปลุกให้เอเชียตื่น แต่ไม่ใช่ตื่นขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองนะครับ ต้องตื่นขึ้นมาเป็นฝรั่งผิวเหลือง จีนเป็นอารยธรรมที่ปลุกไม่ตื่น (เพราะจีนไม่ได้เป็นอาณานิคมของฝรั่ง) ฉะนั้น จีนจึงเป็นยักษ์หลับสืบมาจนถึงศตวรรษที่ 20
ขอให้สังเกตนะครับว่า เอเชียหลับก็เป็นการหลับแบบฝรั่งเพราะฝรั่งเป็นผู้อธิบายเอง ส่วนเอเชียตื่นก็ยังต้องตื่นแบบฝรั่งอีกด้วย ไม่ว่าหลับหรือตื่นของเอเชีย ก็ล้วนเป็นฝรั่งทั้งนั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ใครครับที่หลับ และน่าจะตื่นขึ้นมาเสียที
ฝรั่งคิดถึงผู้หลับผู้ตื่นว่าคือ "ชาติ" ครับ เพราะฝรั่งมีชาติมาก่อน และคิดอะไรในไวยากรณ์ของชาติทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวมานาน ฉะนั้น ฝรั่งจึงคิดว่าเอเชียที่จะตื่นขึ้นมาคือ "ชาติ" ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่เคยมีในเอเชียมาก่อนเลย (อย่าสับสนระหว่างรัฐกับชาตินะครับ)
ฝรั่งสร้างประวัติศาสตร์ของการหลับเป็นกระจกไว้ส่องตัวเอง นักชาตินิยมเอเชียรับเอาคติต่างๆ ของ "บุรพทิศคดีนิยม" ไว้เต็มตัว เพราะล้วนมีการศึกษาที่ฝรั่งนำมาให้ทั้งสิ้น ฉะนั้น นักชาตินิยมเอเชียจึงเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ของการตื่นขึ้นสิครับ สร้างประวัติศาสตร์ก็แปลว่าแต่งมันขึ้นใหม่ ไม่จำเป็นต้องตรงกับที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต
ฉะนั้น ทั่วทั้งเอเชีย เราจะพบความเปรียบเรื่องหลับ-ตื่น ทั่วไปทั้งนั้น ที่มันไม่เคยมีชาติมาก่อนก็สร้างมันขึ้นมาแล้วแต่งให้มันหลับไปเสีย (ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง บางคนอาจโทษฝรั่งก็ได้ว่าเป็นคนทำให้ชาติตัวหลับไป) ฉะนั้น ภาระหน้าที่สำคัญของนักชาตินิยมเอเชียจึงเหมือนตำรวจจราจรในโฆษณา คือเที่ยวปลุกให้เพื่อนร่วมชาติ (ใครก็ตามที่คุณคิดว่าควรอยู่ภายใต้อำนาจรวมศูนย์เดียวกับคุณ) ตื่นขึ้นมาเสียที
ผมจำเพลงปลุกใจของจีนได้เพลงหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อตอนต้นว่า "ฉี่ไหล ฉี่ไหล" (เลยจำได้ไงครับ) แปลว่า "ลุกขึ้นมา ลุกขึ้นมา" คงจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับญี่ปุ่น แต่ถามว่าลุกขึ้นมาจากอะไร ผมเดาใจคนแต่งว่า ลุกขึ้นมาจากที่นอนครับ
คำว่าตื่นในภาษาอินโดนีเซีย-bangun- มีใช้ทั่วไปในวรรณกรรมชาตินิยม รวมทั้งใช้เป็นความเปรียบหลายนัย เหมือนคำว่า awaking ในภาษาอังกฤษเป๊ะ (kebangunan bangsa - การ "ปลุก" ระดมประชาชน)
ขอสรุปง่ายๆ แล้วกันครับว่า ตื่น-หลับ เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายในขบวนการชาตินิยมของเอเชีย ตั้งแต่ตะวันออกกลางยันญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม นักปราชญ์ไทยไม่ได้สร้างประวัติศาสตร์ของการหลับและตื่นเหมือนนักปราชญ์เอเชียอื่นๆ จนกระทั่งถึงหลวงวิจิตรวาทการ ข้อนี้จะว่าประหลาดก็ไม่น่าประหลาดอะไรนัก เพราะขบวนการชาตินิยมของไทยนั้น ปรากฏขึ้นช้ากว่าส่วนใหญ่ของเอเชีย ซ้ำยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยมากอีกด้วย นักวิชาการไทยในสาย "บุรพทิศคดีนิยม" ก่อนหน้าหลวงวิจิตรวาทการ ล้วนเป็นชนชั้นสูงในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงไม่อยากเห็นการตื่นของ "ชาติ" ไทยนัก ("ชาติ" ในความหมายถึงประชาชาติ) เพราะไม่แน่ใจว่าจะตื่นไปเป็นอะไร ฉะนั้นจึงไม่มีการสร้างประวัติศาสตร์ของการหลับมาก่อนหลวงวิจิตรวาทการ
บุคคลผู้นี้เป็นคนแรกที่แต่งประวัติศาสตร์ของการหลับให้แก่คนไทย เขาเชื่อว่าเราตื่นเต็มที่ในสมัยสุโขทัย (วิเคราะห์โดยอาศัยหลักฐานขั้นต้นชิ้นเดียวคือ จารึกหลักที่หนึ่ง ซ้ำยังอ่านผิดและอ่านเบี้ยวเสียอีก) แต่เพราะผู้นำในสมัยหลังกลับไปรับอิทธิพลของ "ขอม" เข้ามาอีก เลยทำให้เราหลับไป เพิ่งมาตื่นเอาสมัยรัชกาลที่ 4-5 นี่เอง (ไม่ใช่ พ.ศ.2475 นะครับ)
ผมไม่ทราบว่าทำไมเขาจึงคิดว่า "ขอม" ทำให้ง่วง ในขณะที่ฝรั่งมีฤทธิ์เหมือนกาแฟ เพราะเขาก็ไม่ได้อธิบายข้อนี้ไว้เช่นกัน
อันที่จริง เขาอาจอธิบายได้ง่ายมาก เพราะมาตรฐานที่เขาใช้ในการวัดว่าตื่นหรือหลับ ก็คือความผาสุกของประชาราษฎร อันเป็นผลมาจากระบอบปกครองที่ผู้นำเอาใจใส่ หรือไม่เอาใจใส่ราษฎร พ่อขุนฯ สุโขทัยเอาใจใส่ ฉะนั้นเราตื่น หลังจากนั้นผู้นำห่างเหินราษฎร เพราะเปลี่ยนเป็นอวตารของพระเจ้า เหมือน "ขอม" ฉะนั้น เราหลับ
ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ เมื่อไหร่ที่ประชาชนมีอำนาจเมื่อนั้นชาติไทยก็ตื่น เมื่อไหร่ที่ประชาชนไร้อำนาจ เมื่อนั้นชาติไทยก็หลับ แต่อธิบายอย่างนี้ก็ลงล็อกประชาธิปไตย ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการไม่เคยแสดงความศรัทธาอย่างแข็งกล้าเลย เขาเชื่อลัทธิผู้นำ ฉะนั้นคำอธิบายการตื่น-หลับ จึงกลายเป็นเรื่องของผู้นำ และ "คนอื่น" ตื่นกันเพราะผู้นำปลุก หลับก็เพราะคนอื่นทำให้หลับ
น่าสังเกตนะครับว่า หลวงวิจิตรวาทการ นั้น ตกอยู่ใต้วังวนเดียวกับนักปราชญ์ฝรั่ง พวกนั้นก็มีปัญหาเดียวกัน คือจะอธิบายการตื่น-หลับ ของเอเชียให้ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและประชาชาติได้อย่างไร ในที่สุดก็ลงเอยที่เดียวกัน คือผู้นำ และ "คนอื่น"
ด้วยเหตุดังนั้น คนไทยที่ลุกขึ้นมาจากที่นอนเพราะเพลง "ตื่นเถิดชาวไทย" ของ หลวงวิจิตรวาทการ จึงแตกต่างจากชาวเอเชียอีกไม่น้อย คือตื่นขึ้นมาแล้วไม่ได้พบทั้งชาติ และไม่ได้พบทั้งประชาธิปไตย
หมวดวัฒนธรรม
5. หวงวิชา
ผมได้ยินตั้งแต่เล็กว่า คนไทยหวงวิชา รู้อะไรแล้วก็ไม่ยอมบอกคนอื่นง่ายๆ
จึงเป็นเหตุทำให้วิชาความรู้ในบ้านเมืองเราไม่เจริญ ฟังปั๊บก็รู้ได้ทันทีนะครับว่า
นี่เป็นคำอธิบายความไม่เจริญ (ทัดเทียม) ฝรั่งในด้านวิชาความรู้ของไทย ฉะนั้น
คำอธิบายนี้ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม ย่อมปลอบใจคนไทยไปพร้อมกัน
ผมมาสนใจว่าจริงหรือไม่เอาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว นั้นคือเริ่มจากการมองหาหลักฐาน เช่นคำสั่งสอนในสมัยโบราณที่ว่ารู้อันนี้แล้ว อย่าเที่ยวไปบอกใครเชียวนะ ไปจนถึงระแวดระวังไม่ให้คนอื่นได้รู้อะไรที่ตัวรู้อยู่ ผมไม่พบหลักฐานโบราณสักชิ้นเดียว ไม่ว่าในวรรณกรรมหรือเอกสารประเภทอื่น จนมาถึงประมาณสมัย ร. 5 ลงมา
แปลว่าไม่มีหลักฐานว่าคนไทยรุ่นก่อนหน้านั้นหวงวิชา
ก็พระเจ้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวัดโพธิ์ ด้วยตั้งพระทัยจะรวบรวมสรรพวิชาความรู้เท่าที่จะสืบหามาได้ในสมัยนั้น รวบรวมขึ้นไว้สำหรับการที่คนทั่วไปจะได้เรียนรู้ตามความปรารถนา แล้วจะบอกว่าหวงวิชาได้อย่างไรครับ
อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อว่าคนไทยหวงวิชาก็ยังอธิบายได้อยู่ดีว่า ให้ดูวัดโพธิ์นั่นแหละเป็นพยาน จะเห็นว่าสรรพวิชาความรู้ที่รวมไว้ในนั้นล้วนเป็นความรู้ชั้นพื้นๆ ซึ่งใครๆ เขาก็รู้กันหมดแล้วทั้งนั้น ไม่มีดุษฎีบัณฑิตคนไหนยอมปล่อยความรู้ระดับลึกในทางโหราศาสตร์, การแพทย์ หรืออักษรศาสตร์ออกมาสู่สาธารณะเลย
ฟังน่าระย่อมากนะครับ และผมเองก็ระย่ออยู่เป็นนานจนแก่ป่านนี้ เพราะไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไทยโบราณ, โหราศาสตร์ไทยโบราณ, แพทย์แผนไทยโบราณ, อักษรศาสตร์ไทยโบราณ ฯลฯ พอที่จะประเมินได้ว่า ความรู้ในจารึกวัดโพธิ์นั้นผิวเผินจริงหรือไม่
แต่บัดนี้ก็แก่จนได้ที่แล้ว จึงหมดความระย่อลงไป และอยากตั้งคำถามว่า อ้ายความรู้ที่ว่าลึกนักลึกหนาซึ่งไม่กล้าเผยแพร่ให้ใครรู้นั้นคืออะไร ? ผมไม่เคยได้ยินสักเรื่องเดียวเลย เช่นมีกลอนกลบทอะไรที่เขาผูกกันมาแต่โบราณซึ่งไม่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์บ้าง ? ก็ไม่เห็นมีนะครับ
ส่วนจะบอกว่าความรู้ที่วัดโพธิ์ให้ไว้นั้น ไม่ทำให้ใครสามารถผูกกลบทใหม่ของตัวขึ้นได้ นั่นอาจจะจริงหรือไม่จริงผมไม่แน่ใจ เพราะโบราณเชื่อว่าเรียนของเก่าให้เจนจัดแล้วก็จะสร้างของใหม่ได้เอง ถึงเรียนกลบทโบราณแล้วไม่ทำให้ใครผูกกลบทใหม่ได้จริง ก็เป็นเพราะปรัชญาการศึกษาของไทยโบราณไม่ได้ต้องการให้เกิดการคิดสิ่งใหม่ นับเป็นคนละเรื่องกับหวงวิชา
ว่าเฉพาะแขนงความรู้ที่ผมพอมีโอกาสได้อ่านเอกสารบ้าง คือการแพทย์แผนไทย ผมก็ไม่เคยเห็นความรู้อะไรลึกซึ้งที่ถูกเก็บงำเอาไว้ไม่ยอมให้เผยแพร่ในจารึกวัดโพธิ์สักชิ้นเดียว
จริงอยู่หรอกครับ ตัวยาสำหรับแก้โรคลงท้อง อาจแตกต่างกันในแต่ละตำรับ รวมไปถึงสัดส่วนของตัวยาที่ใช้ วิธีปรุงไปจนถึงวิธีกิน และวิธีเสกคาถาปิดปากหม้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้แต่การแบ่งสาเหตุของการลงท้องว่ามีกี่อย่างก็อาจไม่เหมือนกันด้วย แต่ทุกตำรับก็มีหลักการตรงกันที่พยายามสร้างสมดุลของธาตุทั้งสี่ในร่างกายเหมือนกันทั้งนั้น
ตำรับที่ไม่อยู่ในจารึกวัดโพธิ์ดีกว่าหรือไม่ ผมไม่ทราบ และเชื่อว่าคนโบราณก็ไม่ทราบชัดเหมือนกัน แต่ละสำนักคงอ้างว่าของตัวเด็ดดวงกว่าสำนักอื่นทั้งนั้น แต่เราไม่เคยมีการประเมินสัมฤทธิผลของตำรับยาอย่างเป็นระบบในสมัยโบราณ ฉะนั้น ที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์จึงเป็นตำรับที่ดีที่สุดหรือคนทำเชื่อว่าดีที่สุด (เช่นเป็นของหมอหลวง) แต่อาจไม่ได้ผลจริงก็ได้ ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหวงวิชา
ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ถ้ารวบรวมตำรับยาทั้งคนบอก ผีบอกในเมืองไทย ซึ่งอุตส่าห์เก็บกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกระจายกันในการครอบครองของบุคคล, ของวัด และของราชการแล้ว ก็จะพบปริมาณมากมายเหลือคณานับ เขาจะลงมือเขียนเอาไว้ทำไม นอกจากเก็บความรู้เหล่านั้นไว้ไม่ให้สูญหายและเผยแพร่ให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งอ่านหนังสือออกและสนใจเรื่องนี้ได้รู้นั่นเอง ฉะนั้น จึงไม่มีการหวงวิชา อย่างน้อยก็ในหมู่ประชากรที่อ่านหนังสือออก (ซึ่งอาจมีไม่ถึงครึ่ง) อย่างแน่นอน
ประเพณีเรียนหนังสือที่เล่ากันมาก็เหมือนกัน อยากเรียนหนังสือก็เอาพ่อแม่ไปประกอบพิธีกรรมกับครู เสีย "ค่ายกครู" ซึ่งแทบไม่มีค่างวดอะไรในพิธีกรรม แล้วก็ได้เรียนหนังสือ ประเพณีอย่างนี้ฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ในวัฒนธรรมหวงวิชาเลยนะครับ เอาลูกเข้าสาธิตหรือสวนกุหลาบปัจจุบันยังยากกว่ากันเป็นแสนเท่า
ตรงกันข้ามกับที่ประกาศกันมา ผมกลับคิดว่าการหวงวิชาเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ต่างหาก คนที่หวงวิชาที่สุดในโลกเวลานี้ คือฝรั่งในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งพยายามจะสร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เอาเปรียบคนอื่นๆ ทั้งโลกเพราะความรู้ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่กลายเป็นสินค้าร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ในระบบสังคมของโลกสมัยใหม่ที่จะหวงความรู้เอาไว้แต่ผู้เดียว จึงต้องจดสิทธิบัตรความรู้เอาไว้ให้ขายกินกำไรได้นานๆ หรือแบ่งความรู้ออกขายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อทำกำไรได้มากกว่า
จริงอยู่หรอกครับ ที่ฝรั่งรู้จักการขยายความรู้ให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน (popularization of knowledge) มาก่อนไทย จึงดูเหมือนไม่ได้หวงวิชา แต่ที่คนไทยไม่ได้ขยายความรู้ให้แพร่หลาย ก็ไม่ใช่เพราะหวงวิชาหรอก ก็มีปัญญาความสามารถจะขยายได้แค่นั้น คือเขียน (เพราะยังไม่มีการพิมพ์) ลงสมุดเก็บไว้หรือถวายวัด (ซึ่งคือการเผยแพร่อย่างหนึ่ง) อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรในสังคมไทยโบราณที่จะต้องขยายความรู้ให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางเท่าสังคมฝรั่งด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ การหวงวิชาเกิดขึ้นเมื่อวิชากลายเป็นสินค้า หรือมีผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้และการใช้ความรู้ต่างหาก และการหวงวิชาในลักษณะนี้ ได้ยินได้ฟังกันในเมืองไทยมากก็หลัง ร. 5 มาแล้วทั้งนั้น วิชาหนึ่งที่หวงกันมาก คือวิชาที่เอาออกไปขายได้โดยตรงได้แก่ศิลปะการแสดงทั้งหลาย เพราะหนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นในระยะแรกที่ชาวนา (ภาคกลาง) ได้กำไรดีจากการทำนาส่งออกคือ ธุรกิจบันเทิง
การประชันวงปี่พาทย์ซึ่งเริ่มจะดุเดือดมากขึ้น ก็เริ่มในสมัยนี้ เพราะชัยชนะหมายถึงตลาดที่กว้างขึ้นและมั่นคงขึ้นของวง หรือหมายถึงการอุปถัมภ์ที่มีราคาแพงขึ้น จึงต้องสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย เช่นเดียวกับหนังตะลุง, ลำตัด, เพลงฉ่อย และต่อมาก็ลิเก ต่างต้องหวงลูกเล่น หวงกลเม็ดเด็ดพราย รวมทั้งหวงตัวพระตัวนาง เพราะล้วนเป็นการแข่งขันกันเพื่อหากำไรในตลาดทั้งสิ้น ผมคิดว่า ตำนานเรื่องคนไทยหวงวิชาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เมื่อวิชาต่างๆ กลายเป็นสินค้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าวิชาทำว่าว (ขาย), วิชาทำตะกร้อ (ขาย), วิชาทำขนม (ขาย), วิชา ฯลฯ ซึ่งสามารถทำขายได้
แต่ลองไปดูวิชาความรู้ที่ยังไม่กลายเป็นสินค้าดูเถิดครับ ผมเห็นชาวบ้านไทยแม้จนถึงทุกวันนี้ไม่เห็นจะหวงอะไรเลย บางกรณียังอุตส่าห์หาทางเผยแพร่วิชาเหล่านั้นฟรีๆ เสียด้วยซ้ำ ชาวบ้านปากมูลระดมกำลังคนเฒ่าคนแก่มารวบรวมความรู้เกี่ยวกับปลาในลำน้ำมูล (ตามวิธีจำแนกแบบชาวบ้าน ไม่ใช่แบบสัตวศาสตร์ของฝรั่ง - ซึ่งขายได้) กันจนได้ประเภทของปลาเกือบจะเท่ากับที่นักวิทยาศาสตร์เคยรวบรวมไว้ได้ไม่เห็นหวงวิชาอะไรเลย
ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ในทุกสังคม (และคงจะทุกสมัย) ความรู้กับสถานภาพทางสังคมแยกออกจากกันยาก เช่นในเมืองไทยคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีนักเปียโนฝีมือระดับโลกที่มาจากสลัม ถึงจะมีทุนเรียนเปียโนแจกฟรีให้แก่เด็กเยอะแยะแค่ไหนก็ตาม เพราะสิ่งแรกที่เด็กซึ่งจะเป็นนักเปียโนระดับโลกต้องมี คือเปียโนที่บ้านครับ
ฉะนั้น จึงมีวิชาบางชนิดในสังคมโบราณที่เขาไม่เปิดเผยแก่คนทั่วไปอยู่บ้าง ผมจัดวิชาเหล่านี้ว่าเป็นวิชาแห่งอำนาจ เช่น ไสยศาสตร์ เป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่การหวงวิชาอยู่ดีนะครับ เพราะที่เขาต้องปิดบังความรู้ทางไสยศาสตร์กันก็เพราะมันมีอันตราย เที่ยวแจกจ่ายให้คนไม่เลือกหน้าไม่ได้ จึงต้องมีข้อกำกับทางศีลธรรมของความรู้ทางไสยศาสตร์ เพื่อไม่ให้อำนาจตกอยู่ในมือของคนชั่ว
วิชาบางอย่างก็อาจต้องหวงไว้สำหรับตระกูล เพราะไปเกี่ยวกับสถานะทางสังคม (ซึ่งก็คืออำนาจในอีกรูปหนึ่ง) เช่นเป็นโหราจารย์ในราชสำนัก หรือเป็นหมอผีของสังคมชนเผ่าบางสังคม
หมอผี เป็นสถานะทางอำนาจอย่างแน่นอน ในบางชนเผ่าจึงใช้วิธีสืบทอดสถานะนี้ผ่านทางสายโลหิต (คล้ายกับพราหมณ์) บางชนเผ่าใช้การเลือกจากคนที่มีลักษณะพิเศษบางอย่าง เอามาฝึกปรือจนสามารถทำหน้าที่ของหมอผีได้ และได้สืบทอดตำแหน่งต่อไป แต่ความรู้ที่จะเป็นหมอผี ย่อมไม่ใช่ความรู้สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงหมด
เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่กรณีเช่นนี้ การหวงวิชาไม่ใช่บุคคลเป็นผู้หวงเพียงคนเดียว แท้จริงแล้วสังคมทั้งสังคมนั่นแหละที่ต้องหวงเอาไว้กับบางคนเท่านั้น เพราะการกระจายความรู้โดยไม่เลือก ย่อมกระทบต่อโครงสร้างสังคมทั้งหมด
คนไทยปัจจุบันจึงหวงวิชากว่าคนไทยในอดีต และฝรั่งหวงวิชากว่าไทย เพราะฝรั่งมีวิชาที่ต้องหวงมากกว่าไทย และนั่นคือวิชาที่เป็นสินค้าขายดีในตลาด
6. ธูปดอกใหญ่สุดในโลก
ทุกอย่างจบลงโดยสงบ แต่จะโดยดีหรือไม่ คงเถียงกันได้
ผมหมายถึงงานวันวิสาขบูชาโลกซึ่งจะจัดขึ้นที่พุทธมณฑล
ใครเป็นคนต้นคิดในเรื่องนี้ก็ตาม แต่เขากำลังคิดอะไรที่สืบเนื่องมาในหมู่ชนชั้นนำสยามกว่าร้อยปีแล้ว
นั่นคือการประกาศสถานะศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกของไทย
เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของเขาหมด ยกเว้นก็แต่สยาม ฝรั่งเจ้าอาณานิคมเองก็ยอมรับสถานะศูนย์กลางของสยามในแง่นี้ ดังที่อุปราชอังกฤษประจำอินเดีย เลือกที่จะส่งพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบใหม่ให้แก่สยาม
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ประเทศเหล่านั้นจะพ้นจากสภาพอาณานิคม แต่ก็เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนภายใน หรือมิฉะนั้นก็ไม่แสดงสถานะที่ชัดเจนนักว่าเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา (เช่นญี่ปุ่น หรือจีน) ฉะนั้นข้ออ้างของไทยในฐานะศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาจึงยังพอฟังได้
การชุมนุมพุทธศาสนิกทั่วโลกเพื่อร่วมฉลองวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศสถานะนี้โดยนัยะ และต้องยอมรับว่าเป็นการประกาศที่นุ่มนวล ไม่น่าจะสร้างความหมางใจแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาอื่นๆ แต่สิ่งที่ผมสงสัยอยู่เสมอก็คือ เราจะเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร และศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในโลกนี้น่าจะหมายถึงอะไร
เราไม่เคยคิดถึงการรวมนิกาย ระหว่างมหายานและเถรวาท อันที่จริง ถึงไม่จำเป็นต้องรวมนิกายระหว่างกัน แต่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันขึ้นระหว่างมหายานและเถรวาท น่าจะนำไปสู่ความเจริญงอกงามของทั้งสองฝ่าย เช่น การร่วมกันศึกษาวิเคราะห์หาแก่นพุทธธรรมจากคัมภีร์ของทั้งสองฝ่าย, การชำระตรวจสอบเปรียบเทียบคัมภีร์ระหว่างกัน, การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของพระศาสนา, การประยุกต์ใช้ศาสนพิธีเพื่อเป็นอุบายสำหรับเข้าถึงพุทธธรรมที่เหมาะกับคนในสังคมปัจจุบัน ฯลฯ เป็นต้น
ความเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาน่าจะมีความหมายอย่างไร ไม่ได้นิยามกันง่ายๆ เลย
ในแง่พุทธธรรม ศูนย์กลางของพระศาสนาคือพระธรรมซึ่งแทรกอยู่ในทุกอณูของโลกอยู่แล้ว ในแง่ของการเผยแผ่พระศาสนา เปรียบเทียบกับศูนย์กลางการเผยแผ่ที่เคยมีมาในอดีต นับตั้งแต่อินเดีย, จีน, ศรีวิชัย, ทวารวดี, ลังกา, เมืองมอญ, เชียงใหม่, อยุธยา
ประเทศไทยปัจจุบันไม่ได้อยู่ในฐานะใกล้เคียงกันเลย เพราะศูนย์กลางในอดีตเหล่านั้นล้วนเป็นศูนย์ทางการศึกษาพระศาสนาที่เลื่องลือในภูมิภาคทั้งสิ้น ทั้งพระและฆราวาสจากแดนไกลจาริกดั้นด้นมาศึกษาหาความรู้ในศูนย์กลางเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการส่งสมณทูตไปตั้งศาสนาและสืบสมณวงศ์ในแดนไกลด้วย (เป็นกระบวนการที่ใหญ่โตขนาดที่เมื่อเปรียบกับวัดไทยในต่างแดนปัจจุบันแล้ว ต้องถือว่าที่เราทำอยู่นั้นกระเส็นกระสายเท่านั้น)
ยิ่งคิดถึงความเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ของโลกปัจจุบัน ประเทศไทยยิ่งอยู่ห่างไกลจากความเป็นศูนย์กลางขึ้นไปใหญ่ ศัตรูสำคัญของพระพุทธศาสนา (หรือศาสนาอื่นๆ ทั้งหมด) คือวิทยาศาสตร์แบบแข็งทื่อตายด้านหรือวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยม (ความจริงคือวัตถุ และความสุขคือการจัดการทางวัตถุให้ถูกต้อง) มีผู้คนเจ็บปวดทุกข์ทรมานเพราะวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมอย่างนี้ทั่วโลก พระพุทธศาสนาให้คำตอบและแก้ทุกข์ของเขาได้ แต่ต้องเป็นพระพุทธศาสนาที่ไม่ถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยม
คำถามที่เราควรตอบอย่างซื่อสัตย์ก็คือ พระพุทธศาสนาในประเทศไทย (นับตั้งองค์กรคณะสงฆ์ ไปจนถึงความเชื่อของสังคมไทยที่อ้างว่าเป็น "พุทธ") ถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมหรือไม่ เรานับถือพุทธมณฑลหรือนับถือพระพุทธศาสนา?
อีกทั้งแนวคิดใหม่ๆ ที่ท้าทายให้นักคิดชาวพุทธต้องตอบ เช่นสิทธิมนุษยชนกับพระพุทธศาสนา, สิทธิสตรีกับพระพุทธศาสนา, ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมกับพระพุทธศาสนา, ประชาธิปไตยกับพระพุทธศาสนา, เสรีนิยมใหม่กับพระพุทธศาสนา, Fundamentalism กับพระพุทธศาสนา, รัฐฆราวาสกับพระพุทธศาสนา, เพศที่สามกับพระพุทธศาสนา, สันติภาพกับพระพุทธศาสนา ฯลฯ ความเป็นศูนย์กลางที่คนทั้งโลกจะหันมามองหาคำตอบ ไม่มีคำตอบอะไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เลย ย่อมเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไทย (ทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส) ไม่ได้พยายามอธิบาย "ทุกข์" และ "ทางดับทุกข์" ของโลกปัจจุบันตามหลักพุทธธรรม แต่คำอธิบายของท่านเหล่านั้น แม้เผยแผ่ไปทั่วโลก แต่ก็ไม่ใช่จุดยืนของพระพุทธศาสนาไทย (ทั้งในรูปองค์กรและการปฏิบัติ)
อันที่จริง น่าสงสัยด้วยว่าชาวพุทธไทยมองเห็นศัตรูที่แท้จริงของพระศาสนาหรือไม่ ดูเหมือนเรายังติดอยู่กับศัตรูเก่าคือ หมอสอนศาสนาและบาทหลวงหรือศาสนาอื่น (ซึ่งที่จริงก็โดนศัตรูร่วมเบียดเบียนจนย่ำแย่ไปพอๆ กัน) ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงยึดมั่นถือมั่นกับความ "บริสุทธิ์" ของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายเพียงว่า สิ่งใดที่อาญาสิทธิ์รับรองสิ่งนั้นย่อมบริสุทธิ์ โดยหลับตาให้แก่ความเฟะฟอนของสิ่งที่เรียกว่า "อาญาสิทธิ์" ทุกประเภท เพราะจะหาอะไรที่ถูกครอบงำด้วยวิทยาศาสตร์แบบวัตถุนิยมยิ่งไปกว่า "อาญาสิทธิ์" ทุกประเภทได้ยาก
ถ้าจะมองในแง่ความรุ่งเรืองของพระศาสนา ก็ยังมีปัญหาว่าจะนิยามความรุ่งเรืองกันอย่างไร อย่างมากที่ประเทศไทยจะอ้างได้คือ ความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุของวัดวาอาราม (ซึ่งยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน) แต่ทั้งนี้เป็นเพราะฐานะเศรษฐกิจของประเทศไทยดีกว่าประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั่วไป จึงมีกำลังบำรุงวัดวาอารามทางวัตถุได้มากกว่าที่พม่า, เขมร, ลาว และลังกาจะทำได้ แต่วัดไทยที่บำรุงกันจนล้นเหลือในทุกวันนี้ แทบจะหาร่องรอยของ "รุกขมูล" ไม่ได้เอาเลย ใครจะเป็นกำลังให้แก่การต่อสู้กับบริโภคนิยมซึ่งสร้างความทุกข์อย่างมหันต์ให้แก่ผู้คนในโลกปัจจุบัน ถ้าอย่างนั้นฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมโทรมให้แก่พระศาสนากันแน่?
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการจัดงานวันวิสาขบูชาโลกในครั้งนี้ ไม่น่าแปลกใจเลย เมื่อมองสภาพความเป็นจริงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยแล้ว ก็มองเห็นความ "เป็นไปอย่างนั้น" อย่างชัดเจน เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ ผลก็เป็นเช่นนั้น เป็นธรรมดา
7. สึนามิภาษาไทย
ผมอยากถามครูภาษาไทยว่า จะเรียก "สึนามิ" ในภาษาไทยว่าอะไรดีครับ
? ผมไม่ทราบว่ามีใครเคยถามหรือยัง แต่ผมไม่ได้ยินใครแปลสึนามิเป็นภาษาไทยว่าอะไร
บางคนอาจอ้างถึงเหตุการณ์ที่ "คลื่นยักษ์" ถล่มภาคใต้ฝั่งตะวันตก
แต่ไม่ได้ใช้คำนี้เหมือนเป็นศัพท์บัญญัติแทนคำว่าสึนามิ
ถ้าจะเขียนกลอนรำพันความโศกสลดของอุบัติภัยครั้งนี้หรือแต่งเนื้อร้องเพลงไทย (เดิม) เป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์ จะใช้คำว่าสึนามิ ก็ฟังไม่เข้าหูคนวัยผมเท่าไร
"โอ้รันทดสลดใจสึนามิ...." ฟังดูเหมือนกลอนอยุธยา แต่ไม่รู้จะแก้อย่างไรให้มีสัมผัสในมากกว่านี้ "โอ้รันทดสลดอึสึนามิ" ฟังดูดีกว่า แต่กลายเป็นกลอนตลกไปเสียฉิบ พูดอย่างคนไม่เคยเขียนกลอน ทั้งสระอึสระอินี่จะหาคำเพราะๆ อะไรมาสัมผัสในภาษาไทยคงยากนะครับ ถ้าเป็นเพลงอย่าง คุณแอ๊ด คาราบาว เอาคำนี้ใส่ลงไปยังฟังได้ เพราะเข้ากับท่วงทำนองและลีลา แต่ถ้าเป็นเพลงพญาโศกล่ะครับ จะใส่เนื้อยังไงดี
ก็ไม่มีคำภาษาไทยสำหรับพูดถึงสึนามิ นอกจาก "สึนามิ"
อีกทั้งผมรู้สึกว่าไม่ใครเดือดเนื้อร้อนใจเสียด้วย ไม่เห็นเป็นปัญหา และไม่ยี่หระพอจะประชุมราชบัณฑิตคิดคำภาษาไทยขึ้นเรียก ร้ายไปกว่านั้น ดูเหมือนมีความพยายามจะรักษาความเป็นต่างประเทศของคำนี้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเสียด้วย
ตอนที่ คุณแอ๊ด คาราบาว แต่งเพลง เธอเรียกว่า "สุนามิ" ปรากฏว่าถูกผู้คน (ซึ่งขยันค้านภาษาอย่างน่าสลดใจ) จำนวนไม่น้อย คัดค้านว่าเรียกผิด เพราะที่ถูกต้องเป็นสึนามิ เพลงที่คุณแอ๊ดแต่งและฝ่ายที่นิยมยกย่องถึงกับจะให้ยกเป็นเพลงประจำเหตุการณ์ กลับถูกคัดค้านอย่างหนัก เพราะเรียกชื่ออุบัติภัยนี้ผิดในภาษาญี่ปุ่น ถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนมีหน่วยงานราชการอะไรสักหน่วยในกระทรวงศึกษาหรือกระทรวงวัฒนธรรมนี่แหละ ที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนเนื้อร้องให้ถูกต้องตามภาษาญี่ปุ่นเสีย
แต่ก่อนที่ "กัดฟันมัน" ญี่ปุ่นจะถูกไทยขอคำตอบที่ถูกต้องก็มีใครสักคนซึ่งเขียนเหมือนรู้ภาษาญี่ปุ่น ส่งบทความมาลงในมติชนรายวัน อธิบายว่า จะเรียกสุนามิหรือสึนามิก็ได้ทั้งนั้น เพราะเอาเข้าจริง ไม่มีเสียงสระนี้ในภาษาไทย ผมก็รอๆ อยู่ว่า หน่วยงานราชการสักแห่งจะเสนอให้บัญญัติสระเสียงนี้ขึ้นใหม่ในภาษาไทย เพื่อจะได้เรียกชื่อคลื่นสันตะโรนี้ให้ถูกต้องตามภาษาญี่ปุ่น แต่ในที่สุดก็เงียบหายไป
ความเป็นต่างประเทศและความพยายามจะรักษาความเป็นต่างประเทศของคำนี้ คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมันมาเร็วจนภาษาไทยตั้งตัวไม่ทัน คงจำคำว่า "ละมุนภัณฑ์" ที่หมายถึง software และ "สมองกล" ซึ่งหมายถึงคอมพิวเตอร์ได้นะครับ คลื่นคอมพิวเตอร์ก็ไหลบ่าเข้าสู่สังคมไทยรวดเร็วเหมือนกัน แต่ในช่วงระยะหนึ่งยังมีความพยายามจะทำลายความเป็นต่างประเทศของคำเหล่านี้ ด้วยการบัญญัติศัพท์ขึ้นในภาษาไทย
จะว่าอุบัติภัยธรรมชาติครั้งนี้มีความเป็น "สากล" เพราะเกิดขึ้นทั่วทั้งมหาสมุทรอินเดีย จึงต้องรักษาศัพท์ "สากล" เอาไว้ ผมก็คิดว่าฟังไม่ขึ้นอยู่ดี เพราะปรากฏการณ์อันเป็นสากลได้เคยเกิดในเมืองไทยมาหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่เราก็ไม่ยอมกลืนคำ "สากล" เหล่านี้ลงมาในภาษาไทยง่ายๆ ต้องจับมันบวชเสียก่อนเสมอ เช่น "สงครามมหาเอเชียบูรพา" (ที่จริง "มหาเอเชียบูรพา นั้นแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป๊ะๆ เลย แต่ฟังดูเถิดครับ เหมือนชื่อและนามสกุลทิดสึกใหม่ข้างบ้านเรานั่นเอง)
ผมคิดว่าอะไรบางอย่างกำลังเกิดในภาษาไทยต่างหากและอะไรที่ว่านั้นคืออะไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่มีข้อสังเกตว่า ความดัดจริตของภาษาไทยที่รังเกียจรังงอนภาษา "ต่างประเทศ" (ทุกภาษาที่ไม่ใช่แขกโบราณ, เขมร, และมอญ) กำลังหายไป ขอให้สังเกตนะครับว่า มีคำภาษาอังกฤษ (ภาษาของโลกาภิวัตน์) จำนวนมากในภาษาไทยปัจจุบัน ที่ไม่มีศัพท์บัญญัติไทย
คอมพิวเตอร์ (ซึ่งไม่มีใครเรียกว่าสมองกลอีกแล้ว) มันเกิดแฮ้งขึ้นมา เพราะซอฟต์แวร์ (ไม่มีใครเรียก "ละมุนภัณฑ์" อย่างแน่นอน ถ้าเขาต้องการสื่อสารกับคนอื่น) มันแย่งพื้นที่ในแรมกัน (อาจมีคนเรียก "หน่วยความจำ" บ้าง แต่ฟังดูขรึมเกินกว่าจะคุยด้วยได้นานๆ)
ถ้าคอมพิวเตอร์แฮ้งบ่อยๆ หน่วยงานของเราก็ไม่มีพรอดัคต์จะไปคอมพีทกับหน่วยงานอื่นได้ ซีอีโออาจตัดโบนัสหน่วยงานของเราลงไปก็ได้
ครับ ผมกำลังจะพูดว่า ในสองพื้นที่ (แหะๆ... แอเรียครับ) ที่คำต่างประเทศขาดไม่ได้ในการพูด-เขียนไทย ก็คือคอมพิวเตอร์และการบริหารจัดการธุรกิจ
ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากทั้งคอมพิวเตอร์และการบริหารจัดการธุรกิจพรั่งพรูโครงการต่างๆ ออกมาเป็นศัพท์ต่างประเทศทั้งนั้นเลยนะครับ ธนาคารเอสเอมอี และเอสโน่นเอสนี่อีกหลายเอส อีกหลายโอ หลายเอฟ หลายซี อีกทั้งการบริหารของท่านก็จะเปลี่ยนเป็นอะไรต่อมิอะไรซึ่งพูดกันได้ด้วยอักษรย่อฝรั่งทั้งนั้น มากเสียจนราชการบัญญัติศัพท์ให้ไม่ทัน แต่อย่าไปว่าท่านนะครับ เพราะในวงการของท่านเขาก็พูดกันอย่างนี้ทั้งนั้น
ขอให้สังเกตด้วยนะครับว่า สองพื้นที่คือคอมพิวเตอร์และบริหารจัดการธุรกิจนั้น เป็นลักษณะเด่นของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน อะไรกำลังเกิดในภาษาไทย จะพูดว่าภาษาไทยโดนสึนามิโลกาภิวัตน์ก็ได้ คือมันถาโถมเข้ามารวดเร็วจนเราต้องรับเอาศัพท์เหล่านี้ไว้ทั้งดุ้น
แต่ผมชอบมองหาเหตุความเปลี่ยนแปลงทางภาษาที่สังคมมากกว่า เพราะภาษาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ขึ้นกับปัจจัยที่เกิดในสังคมมากกว่าตัวพลังที่ผลักเข้ามาจากข้างนอก เช่นเดียวกับคนจะตายมากหรือน้อยในสึนามิ ไม่ได้ขึ้นกับความแรงของคลื่นเพียงอย่างเดียว ปัจจัยที่สำคัญกว่าคือภูมิประเทศ, การตั้งภูมิลำเนา และการจัดการทางสังคมของดินแดนนั้นๆ
ผมคิดว่าองค์ประกอบของกลุ่มคนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชนชั้นนำของไทยกำลังเปลี่ยน แต่ผมไม่ได้หมายถึงโคตรเหง้าเหล่าตระกูลของชนชั้นนำนะครับ ข้อนี้เปลี่ยนหรือไม่อย่างไรคงต้องอาศัยการศึกษาข้อมูลดิบอีกมาก แต่ผมหมายความถึงกลุ่มคนไทยที่เข้าไปรับความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการใหม่ๆ ของโลกกำลังเปลี่ยนจากคนกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ที่มีกระบวนการรับวิทยาการใหม่ๆ ไม่เหมือนเก่า
ถ้าจะยกย่องบุคคลที่มีส่วนในการนำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาสู่ไทย ใครๆ คงต้องพูดถึงกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเชี่ยวชาญการแพทย์แผนไทยอยู่แล้วด้วย คนไทยคนแรก (หรือแรกๆ) ที่ไปเรียนดนตรีตะวันตกจนถึงชั้นปริญญา คือ อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง บุตรชายของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
ผมขออนุญาตไม่กลับไปค้นหนังสือล่ะครับ แต่อยากให้ลองดูประวัติของคนที่เรียนเคมีคนแรก, คนที่ไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์คนแรก, คนที่เรียนสถาปัตยกรรมตะวันตกคนแรก, คนที่ไปเรียนอักษรศาสตร์ (แล้วไม่จบ) คนแรก ฯลฯ คนเหล่านี้เป็นใคร ล้วนเป็นเจ้านายหรือใครที่สืบทอดความรู้ประเภทเดียวกันมาจากสายตระกูลของตัว พูดง่ายๆ ก็คือ พอมีรอยต่อระหว่างความรู้ใหม่ๆ จากตะวันตกกับความรู้เดิมของไทยอยู่บ้าง แม้ไม่เข้มข้นเพียงพอก็ตาม
ผมเคยคุยกับนายช่างชลประทาน, นายช่างรถไฟ, นายช่างสร้างตึก, นายช่างซ่อมรถยนต์, ซ่อมเรือยนต์ ฯลฯ ผมพบว่าเขามีศัพท์เรียกเครื่องมือและชิ้นส่วนต่างๆ รวมไปถึงวิธีการในงานของเขาเป็นภาษาไทยแยะมาก ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ที่ผมไม่รู้จัก ถามซ้ำ เขาก็หยิบสิ่งนั้นให้ดู หรือบางคนก็บอกให้ว่าภาษาฝรั่งเรียกอะไร ครับ บางคำก็เป็นภาษาฝรั่งนั่นแหละ แต่ถูกบวชเป็นไทยไปสนิทแล้ว เช่น ปะเกน, คาบิว, ได ฯลฯ เป็นต้น
แต่ไม่ใช่อย่างนั้นในคอมพิวเตอร์และบริหารธุรกิจ คนดังๆ ในวงการเหล่านี้ ไม่มีฐานของความรู้ไทยไปเชื่อมต่อกับความรู้ใหม่ที่ไปเรียนจากเมืองฝรั่งเลย ขอย้ำนะครับไม่เกี่ยวกับโคตรเหง้าเหล่าตระกูล แต่เขาอาจไปเรียนเมืองฝรั่งแต่เล็กหรือไต่ขึ้นมาจากเถ้าแก่ขายกาแฟ หรือขายข้าวสาร ความเฟื่องฟูของธุรกิจสมัยใหม่เหล่านี้ผลักให้คนเหล่านี้ขึ้นไปยืนในกลุ่มชนชั้นนำของสังคม และนับวันก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น และจะเป็นผู้วางแนวของการคลี่คลายทางภาษาไทยให้แก่สังคม
พูดอีกอย่างหนึ่ง ภาษาต่างประเทศเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่สร้างขึ้น อย่างเดียวกับที่ชนชั้นนำโบราณเคยสร้างวัฒนธรรมใหม่จากราชสำนักเขมร ด้วยภาษาเขมรมาแล้วนั่นเอง
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ทฤษฎีเอเชียหลับ ทำให้ฝรั่งสบายใจดี เพราะช่วยให้ความชอบธรรมแก่การเป็นเจ้าอาณานิคมของฝรั่งในเอเชียได้ด้วย นั่นคือ ฝรั่งมาช่วยปลุกให้เอเชียตื่น แต่ไม่ใช่ตื่นขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองนะครับ ต้องตื่นขึ้นมาเป็นฝรั่งผิวเหลือง จีนเป็นอารยธรรมที่ปลุกไม่ตื่น (เพราะจีนไม่ได้เป็นอาณานิคมของฝรั่ง) ฉะนั้น จีนจึงเป็นยักษ์หลับสืบมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ...เอเชียหลับก็เป็นการหลับแบบฝรั่งเพราะฝรั่งเป็นผู้อธิบายเอง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์