ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
080548
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 570 หัวเรื่อง
หลักอิสลามกับประชาธิปไตย
นิพนธ์ โซะเฮง และ
ปริญญา นวลเปียน
: แปล

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี
มหาาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หลักอิสลามกับประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยในนัยยะการพัฒนา
ประสบการณ์และความคาดหวังจากโลกมุสลิม

ศ.ดร.อับดุล ราชิด โมเต็น
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย

แปลและเรียบเรียงโดย : นิพนธ์ โซะเฮง และปริญญา นวลเปียน
ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี

หมายเหตุ: ผลงานชิ้นนี้เรียบเรียงจากงานเขียนเรื่อง
"Democracy as Development: Muslim Experience and Expectations".
In Zeenath Kausar (Ed.) Politcal Development: An Islamic Perspective.
(P.J.: The Other Press, 2000)


เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 22 หน้ากระดาษ A4)

 


คำนำ
การศึกษาว่าด้วยเรื่องภาวะความเป็นสมัยใหม่ (modernization) กับการพัฒนาตามนัยทางการเมืองนั้น มาจากความพยายามที่จะจำแนกคุณลักษณะประการต่างๆ และการนิยามความหมายของคำว่า "การพัฒนา" โดยบางกรณีให้ความหมายว่า การพัฒนาทางการเมือง (political development) สัมพันธ์อยู่กับพัฒนาการในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ได้รับยึดถือเป็นแบบแผนทางการเมืองในสังคมอุตสาหกรรมเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดระดับการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การพัฒนายังมีความหมายอื่นๆ อีก เช่น การให้ความสำคัญกับการก่อตัวของรัฐและประชาชาติในสมัยรัฐชาติ (nation-state) ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้รู้อีกจำนวนมาก พากันเชื่อมโยงเอาการพัฒนาทางการเมืองเข้ากับเกณฑ์คุณค่าในเรื่องของหลักนิติธรรม การระดมมวลชน การมีส่วนร่วมทางการเมือง และขบวนการของประชาธิปไตย[1]

ดังมุมมองของโคลแมน (James S. Coleman) ที่ได้ชี้ชัดลงไปว่า รูปแบบการเมืองในกลุ่มแองโกล-อเมริกัน เป็นเสมือนต้นแบบของระบบการเมืองสมัยใหม่[2] เช่นเดียวกับความเห็นของ อัลมอนด์ และพาวเวลล์ (Gabriel Almond and Bingham Powell) ที่ได้เสนอว่า การพัฒนาทางการเมืองก็หาได้แตกต่างไปจากอุดมการณ์ในระบบการเมืองอเมริกันมากนัก[3] จึงเกิดข้อสรุปได้ว่า การพัฒนาทางการเมืองและการเมืองแบบประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องเดียวกันและสามารถถ่ายทอดไปสู่สังคมอื่นๆ ได้เช่นกัน ข้อกังขาที่ว่าจะสามารถสถาปนาแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขึ้นในโลกมุสลิมได้หรือไม่ จึงถูกลบลงด้วยกระแสเกี่ยวกับเรื่องของประชาธิปไตยในโลกมุสลิมนั่นเอง

หากจะกล่าวไปแล้ว บรรดานักวิชาการได้ถกประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและกระบวนการของความเป็นประชาธิปไตยกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปิดประเด็นของบทความทางวิชาการชื่อ "คลื่นลูกที่สามของประชาธิปไตย" (democracy's third wave)[4] เมื่อปี 1974 ส่งผลให้นักบูรพคดี (orientalist) ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า แท้จริงแล้ววิถีแห่งอิสลามกับประชาธิปไตยไม่อาจประสานเข้าหากันได้ง่ายนัก

อย่างไรก็ดี แนวคิดของมุสลิมเองก็ยังคงไม่ลงรอยกันไปเสียทั้งหมด กล่าวคือควบคู่ไปกับฝ่ายแนวคิดแบบสุดขั้วที่เชื่อว่า วิถีแห่งอิสลามกับค่านิยมแบบประชาธิปไตยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยังมีฝ่ายนักกระแสสมัยใหม่นิยม (modernist) ที่กำลังร่ำหาคุณค่าแห่งวิถีประชาธิปไตยอยู่เช่นกัน เช่นเดียวกันนั้น ก็ยังมีองค์กรมุสลิมจำนวนหนึ่ง ที่แสดงท่าทีต่อต้านระบบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แม้กระนั้นพวกเขาก็ได้ปฏิบัติการอยู่ภายใต้กรอบกติกาของระบบประชาธิปไตยโดยการแข่งขันชิงเก้าอี้สู่รัฐสภาและการถือครองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

ด้วยภาวการณ์ความร้อนแรงของความขัดแย้ง และความสับสนที่เป็นผลตามมา จากความแตกต่างทางความคิดที่หาบทสรุปอันลงตัวได้ยากเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดการเรียกร้องแนววิเคราะห์ใหม่ๆ ที่สามารถใช้ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามกับประชาธิปไตยให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการเปิดประเด็นถกเถียง / อภิปรายถึงเงื่อนไขแห่งประชาธิปไตยอันว่างเว้นอยู่ในโลกมุสลิม ตามด้วยการวิเคราะห์เชิงสำรวจต่อปฏิกิริยาเกี่ยวกับอุดมการณ์ และบทเรียนด้านประชาธิปไตยจากมุมมองของนักวิชาการมุสลิม ในท้ายที่สุดจะได้สรุปให้เห็นถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบทางเลือก ที่ตั้งอยู่บนเกณฑ์คุณค่าแห่งอิสลามต่อไป

แก่นสารของประชาธิปไตย (Democracy and its Essentials)
ดาห์ล (Robert Dahl) ได้เคยกล่าวถึงความยุ่งยากของการให้นิยามความหมายเกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้ว่า "ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ก็คือมักจะเชื่อกันว่า แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและความชอบธรรมที่ว่านี้ ต่างเป็นสิ่งเข้าใจง่าย ซึ่งสามารถกำหนดอะไรได้ง่ายๆ "[5] หากแต่ในทางกลับกันนั้น หลักการแห่งประชาธิปไตยมักจะกำกวมและยุ่งยากต่อการนำไปปฏิบัติเป็นยิ่งนัก เรื่องนี้ได้รับการอธิบายทำนองเดียวกันจาก โอลสัน (Mancur Olson) ว่า ประชาธิปไตยนั้นมีนัยยะหลากหลายเสียจนเกินขอบเขตของข้อสรุปหนึ่งใดจะครอบคลุมได้ในทุกกรณีไป[6]

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคิดเห็นอันแตกต่าง ยังคงปรากฏความเห็นพ้องต้องกันอยู่บ้างถึงประเด็นอันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย[7] กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากรากศัพท์ภาษากรีกสองคำ ได้แก่ คำว่า "demos" และ "kratia" แล้ว ประชาธิปไตย น่าจะหมายถึงการปกครองโดยประชาชน อันเป็น "ระบบการปกครองที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนต่อสาธารณชนหรือพลเมือง ผู้ซึ่งสามารถแสดงออกทางการเมืองผ่านบรรดาตัวแทนผู้ได้รับการเลือกตั้งนั่นเอง"[8] ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับมวลชน เป็นหลักการปกครองตนเองของภาคประชาสังคม และเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองด้วยจิตวิญญาณ (spirit) อันประกอบด้วยความอดกลั้นและการประนีประนอมต่อความแตกต่างที่มีอยู่

แก่นสารของประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ และมีการเคารพเสียงข้างมาก โดยถือกันว่าเสียงส่วนน้อยควรจะให้ความไว้วางใจต่อเสียงส่วนใหญ่ ทั้งนี้ โดยที่ฝ่ายข้างมากก็จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยด้วยเช่นกัน สาระสำคัญของประชาธิปไตยจึงประกอบไปด้วยหลักแห่งการเคารพเสียงส่วนใหญ่ การเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมถึงความรับผิดชอบของผู้ปกครองต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง

สาระสำคัญเหล่านี้จะรับประกันถึงสิทธิแห่งพลเมือง เสรีภาพแห่งการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือกลุ่มองค์กรต่างๆ และเสรีภาพในการใช้สิทธิออกเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้งในวาระของการเลือกตั้ง[9]

ฐานคติ (assumptions) และหลักการแห่งประชาธิปไตยสมัยใหม่ปรากฏร่องรอยทางความคิดและสถิตสถาพร (institution) ในช่วงของยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง (the Enlightenment) อันเป็นยุครุ่งเรืองของแนวความคิดเกี่ยวกับโลกานิยม (secularism: Niccolo Machiavelli,1469-1527) แนวคิดสัญญาประชาคมและรัฐเป็นใหญ่ (Thomas Hobbes, 1588-1679) แนวคิดเสรีนิยมและการแบ่งแยกอำนาจทางการปกครอง (John Locke, 1632-1704) รวมทั้งแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยและสัญญาประชาคมของรุสโซ (Jean Jacques Rousseau, 1712-1778)[10]

หลักการปกครองแบบประชาธิปไตยจะแบ่งแยกตนเองออกจากความเชื่อทางศาสนาและจิตวิญญาณ สังคมมิได้อยู่ภายใต้กรอบความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติอีกต่อไป หากทว่าจะพึ่งพิงอยู่กับภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ และโครงสร้างกฎเกณฑ์เชิงประจักษ์ (empirical structure) รวมทั้งความเป็นปัจเจกชนอันจะเสริมสร้างความก้าวหน้าของสังคมด้วยว่า สังคมที่ดีงามย่อมมาจากการสร้างสรรค์ของบรรดาปัจเจกชนนั้นเอง

การที่นักประชาธิปไตยได้เรียกร้องต้องการให้บุคคลเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาล นั่นก็เพราะว่าพวกเขามีความเชื่อว่า มวลประชาย่อมสามารถใช้เหตุผลในการเลือกสรรสิ่งดีงามสำหรับตนเองเสมอ ดังนั้น การเมืองในระบอบนี้ จึงวางอยู่บนความเชื่อมั่นในพลังแห่งเหตุผลของประชาชนเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ประชาธิปไตยจึงต้องสัมพันธ์อยู่กับวิธีการโน้มน้าวใจให้เกิดความเห็นพ้องตามกัน ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้ว ก็สอดคล้องกับแนวคิดในเรื่องหลักเหตุผลสูงสุดและหลักการยอมรับเหตุผลของมนุษย์อยู่แล้วนั่นเอง

เช่นเดียวกับ ดิวอี้ (John Dewey) ได้อธิบายว่า ประชาธิปไตยคือเจตจำนงและหลักการในทางสร้างสรรค์ของมนุษย์ผู้แสวงหาวิธีการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม แต่ยังคงต้องการสงวนสิทธิสภาพของปัจเจกชน อันนำไปสู่โอกาสอันใหญ่หลวงแห่งอิสรภาพทางความคิด และการกระทำรวมตลอดถึงความรับผิดชอบต่อตนเองของบุคคลในสังคมประชาธิปไตย[11]

อีกแนวคิดสำคัญที่สุดเกี่ยวกับประชาธิปไตย ก็คือ การไว้วางใจในความสมบูรณ์แห่งปัจเจกชน ด้วยยึดถือว่า ปัจเจกชนทั้งมวลต่างก็ถึงพร้อมซึ่งสรรพภาวะในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การปกครองจึงเป็นไปเพื่อเอื้อต่อปัจเจกชน หาใช่เพื่อการอื่นใดทั้งสิ้น รัฐบาลจะต้องคุ้มครองและปกป้องต่อความสมบูรณ์แห่งปัจเจกชนนั้น

ส่วนค่านิยมหลักของประชาธิปไตยคือเรื่องของเสรีภาพ อันหมายถึงอิสรภาพแห่งบุคคลที่จะฝันใฝ่ใดๆ ในชีวิต สิทธิส่วนบุคคล อันหมายถึงอิสรภาพเฉพาะตัวของบุคคลและภราดรภาพ อันหมายถึงสิทธิที่แต่ละปัจเจกชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายใดๆ ของรัฐบาลได้อย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายนั่นเอง

ความล้มเหลวของประชาธิปไตย (The Failure of Democracy)
หลักการและฐานคติของประชาธิปไตยที่กล่าวมานั้น กลับมีผลลัพธ์ตามมาว่าไม่อาจนำไปปฏิบัติได้ในที่ใดๆ ได้เลยแม้กระทั่งในโลกตะวันตกเองก็ตาม ในขณะที่บางคนมองไปถึงว่าลักษณะจำเพาะของประชาธิปไตยในตะวันตกไม่อาจที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในภูมิภาคอื่นๆ ได้เลย[12]

ทั้งนี้นักปฏิบัติการอิสระ ได้ประมวลและได้ชี้ให้เห็นถึงถึงความล้มเหลวภายในทฤษฎีประชาธิปไตยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการการปกครองโดยคนส่วนใหญ่ที่ละเมิดสิทธิ์ของประชาชนในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเพราะมันกีดกันคนส่วนน้อย[13]

ดังที่กล่าวอ้างกัน คำตัดสินชี้ขาดของอิสลามและสังคมมุสลิมจะไม่สอดคล้องต้องกัน การทำให้เป็นประชาธิปไตยของพวกเขาไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย แต่ดูเหมือนว่าจะยากมากกว่าที่คิด[14]

สำหรับเบอร์นาร์ด ลูอิส (Bernard Lewis) แล้วประเทศในโลกมุสลิมส่วนใหญ่ถูกปกครองโดยพวกเผด็จการอำนาจนิยม, ระบบการปกครองเผด็จการอำนาจเด็ดขาด ผู้ปกครองที่กดขี่ ทรราช และเผด็จการอำนาจเบ็ดเสร็จ[15] คำอธิบายอันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การปกครองแบบประชาธิปไตยได้ก่อตัวขึ้นในสังคมแบบวิถีโลกเท่านั้น ซึ่งศาสนาประเพณีไม่มีบทบาทในกระบวนการทางการเมือง

ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะอันสมบูรณ์กล่าวคือ เป้าหมายระดับกลางและระดับสุดท้ายซึ่งเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดจ ะไม่เอื้ออำนวยต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย[16] เพราะหลักความเชื่อในศาสนาอิสลามจะครอบคลุมวิถีชีวิตในโลกด้วย ดังนั้นการดำรงอยู่ของการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงอ่อนแอลง[17]

ฮันติงตันได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการคนอื่นๆในประเด็นนี้ พวกเขาเหล่านี้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้เพราะกฎหมายศาสนาเข้าไปปกครองวิถีชีวิตของคนในทางโลก ดังนั้นโอกาสที่กฎหมายอันเกิดจากประชาชนจึงไม่มีวิวัฒนาการในโลกมุสลิม ไม่มีแม้กระทั่งการปกครองโดยระบบตัวแทน ซึ่งในโลกตะวันตก คริสตจักรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน / สร้างคุณูปการไว้[18] ความอดทนอดกลั้นและการเคารพความคิดของคนอื่น เป็นสิ่งจำเป็นในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เกิดขึ้นได้ยากในวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งการกระทำทุกอย่างถูกกำหนดโดยศาสนา[19]

คำอรรถาธิบายประการต่อมาที่นักวิชาการตะวันตกได้กล่าวถึงภาวะที่ไม่อาจจะเอื้ออำนวยต่อประชาธิปไตยในโลกอิสลาม ก็คือว่าสังคมมุสลิมขาดทั้งเวทีภาคพลเมืองและภาคประชาสังคม[20] จากการศึกษาระบบประชาธิปไตยในอิตาลีของ โรเบิร์ต พุตนัม (Robert Putnum) แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปประชาธิปไตยจะเกิดผลได้ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมพลเมือง (civic culture) เข้มข้น นั่นก็คือ เป็นสังคมที่มีเอกภาพและมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน[21]

หากแต่กลับปรากฏว่าสังคมมุสลิมยังคงยึดมั่นอยู่กับคุณค่าของระบบอาวุโส มีการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ตามกรอบประเพณีที่ถ่ายทอดกันมา การเคารพเชื่อฟังที่ว่านี้ อาจอธิบายได้ตามลักษณะของความสัมพันธ์แบบผู้อุปถัมภ์กับผู้รับอุปถัมภ์ (patron-client) หรือเรียกได้ว่าระบบอุปถัมภ์ (clientelism) อันเป็นความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างบุคคลสองฝ่าย ซึ่งผูกพันบนฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยฝ่ายบุคคลที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า (ผู้ให้อุปถัมภ์) ใช้อิทธิพลและทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ ให้การปกป้อง / คุ้มครอง / หรือให้ผลประโยชน์แก่คนที่มีสถานภาพต่ำกว่า (ผู้รับอุปถัมภ์) ผู้ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนด้วยการให้การสนับสนุน ช่วยงานรวมถึงเข้ารับใช้ผู้อุปถัมภ์เป็นการตอบแทน[22]

ในสังคมมุสลิมกล่าวกันว่า ระบบอุปถัมภ์แพร่หลายทั้งในระดับปัจเจกชนจนถึงระดับกลุ่มชน ซึ่งชนชั้นนำทางการเมืองใช้เพื่อแผ่ขยายการคุ้มครอง และการอุปถัมภ์ของพวกเขาต่อบุคคลหรือกลุ่มมวลชน เพื่อให้ได้มาซึ่งความจงรักภักดี / ตอบแทนจากพวกเขา[23] ลักษณะของความสัมพันธ์เช่นว่านี้ ถือได้ว่าเป็นความเบี่ยงเบนขาดทิศทาง และไม่ส่งเสริมแนวทางแห่งประชาธิปไตย

นักวิชาการเหล่านี้เน้นย้ำว่า ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้ก็เฉพาะแต่ในสังคมที่ผ่านพ้นสภาวการณ์ในระบบอุปถัมภ์ และภาคประชาสังคมได้หยั่งรากลงในสังคมการเมืองแล้วเท่านั้น เนื่องจากในภาคประชาสังคมนั้น ไม่อาจมีอำนาจหนึ่งใดเข้ามามีอิทธิพลเหนือสังคมโดยส่วนร่วมได้ และเป็นที่ซึ่งปัจเจกชน สัมพันธ์กับการคบค้าสมาคมอย่างใกล้ชิด ภายใต้สำนึกร่วมเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวทางชุมชน พลเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

กล่าวได้ว่า ภาคประชาสังคมกับประชาธิปไตยจึงปฏิสัมพันธ์กันในฐานะที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ดังนั้นประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายย่อมสามารถส่งเสริมภาคประชาสังคม และภาคประชาสังคมที่ว่า ก็จะเป็นรากฐานของการเมืองแบบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

ในการกล่าวถึงประเด็น "ความคาดหวังต่อศตวรรษที่ 21" โดย แมนส์ฟิลด์ (Peter Mansfield) ได้สรุปเอาไว้ว่า การขาดไร้ซึ่งภาคประชาสังคมก็คือปัญหาอันใหญ่หลวงของโลกมุสลิม[24] ส่งผลให้สังคมมุสลิมเผชิญกับการกดขี่และเกิดภาวะชะงักงัน / ถูกจำกัดต่อสิทธิเสรีภาพในด้านกฎหมายและสื่อสารมวลชน แม้แต่การดำเนินธุรกิจก็ทำได้ยุ่งยากจากการที่ระบบเศรษฐกิจถูกควบคุมโดยรัฐ

นักวิชาการเหล่านี้ได้โจมตีว่าแนวคิดแบบอำนาจนิยมก็คือ แก่นแท้ของศรัทธาแบบอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพบเห็นอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จที่เชื่อในหลักการที่ว่าอิสลาม คือ วิถีทางแห่งชีวิต ได้นำเอากฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ลูอิส (Bernard Lewis มีความเห็นว่าอิสลามไม่รู้จักสมาคมนิติบุคคล ในประวัติศาสตร์ของอิสลามแล้วไม่ปรากฏว่ามีทั้งสภาแห่งชุมชน สภาทางศาสนา สภาแห่งรัฐ หรือสภาใดๆ ที่มาจากการเลือกตั้งผู้แทนอยู่เลย เป็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มนักกฎหมายอิสลามไม่เคยยอมรับในหลักการแห่งเสียงข้างมากด้วย[25]

นักวิชาการตะวันตกบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นว่า อิสลามในวิถีทางแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเช่นนี้ เป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือพรรคการเมือง ดังนั้นแล้ว วิถีแบบอิสลามจึงเอื้ออำนวยแก่ระบอบอำนาจนิยมอันเป็นการขัดขวางพัฒนาการของภาคประชาสังคมและประชาธิปไตย[26] ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในขณะที่ประชาธิปไตยต้องการความเป็นเอกภาพแห่งชาติ และจิตสำนึกร่วมกันในฐานะของพลเมือง แต่สังคมมุสลิมกลับมีวิถีชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จด้วยระบบอุปถัมภ์และการบังคับกดขี่อย่างไม่เว้นว่าง

ประชาธิปไตยประดิษฐ์ ( Engineering Democracy )
สิ่งที่โลกตะวันตกได้รับรู้เรื่องอิสลาม เป็นการรับรู้ผ่านกลุ่มนักวิชาการและตำราหนังสือจากห้องสมุดเท่านั้น แท้จริงแล้วไม่อาจนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องของมุสลิมและสังคมมุสลิมได้อย่างถ่องแท้ มุมมองของโลกตะวันตกต่ออิสลามจึงเป็นทัศนคติเชิงลบจากความไม่รู้จริงเหล่านั้น แต่ส่งอิทธิพลให้นโยบายของชาติตะวันตกแข็งกร้าวต่ออิสลามโดยตรง ถึงกับได้มีการจัดประชุมนานาชาติมีวาระเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้กับโลกมุสลิม

ดังกรณีเมื่อปี 1984 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดหน่วยงานกองทุนเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยแห่งชีวิต (the National Endowment for Democracy) ทำหน้าที่เข้าไปจัดการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ และการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้กับบรรดาประเทศนอกกลุ่มประชาธิปไตย[27] ภายใต้แรงจูงใจในความเชื่อที่ว่า "สิ่งที่ดีสำหรับประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ดีกับอเมริกาด้วย ยิ่งโลกเป็นประชาธิปไตยมากเพียงใด ก็เสมือนสันติภาพและมิตรภาพได้บังเกิดขึ้นแก่อเมริกามากเท่านั้น"[28]

นับตั้งแต่ที่ได้มีความพยายามจัดวางกติกาประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมกำลังพัฒนาทั้งหลายเป็นต้นมา เราสามารถจำแนกแนวทางดังกล่าวออกได้เป็น 3 สำนักคิดที่ต่างก็โดดเด่นในฐานะที่พยายามรังสรรค์ประชาธิปไตยขึ้นในสังคมนอกตะวันตก คือ สำนักทฤษฎีความทันสมัย (modernization) สำนักทุนนิยม (capitalism) และสำนักประชาธิปไตยกลุ่มชน (consociationalism)

สำนักทฤษฎีความทันสมัย
ได้ตั้งอยู่บนฐานคติที่ว่าสังคมนอกตะวันตก ซึ่งรวมถึงสังคมมุสลิม ขาดความพร้อมในการเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นทางออกก็คือการพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนผ่านทางสังคมอย่างครอบคลุม ในทางกลับกันก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเอื้ออำนวยต่อประชาธิปไตยและการพัฒนา ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ว่า กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยรวมจะเข้ามาแทนที่ ซึ่ง ดอยช์ (Karl Deutsh) ให้คำจำกัดความว่า การให้คำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจ สังคมและจิตวิทยาแบบดั้งเดิมของกลุ่มภาคส่วนทางสังคมแบบดั้งเดิม ถูกกัดกร่อนและแตกสลายลงไป และประชาชนก็พร้อมสำหรับการกล่อมเกลาและพฤติกรรมในรูปแบบใหม่[29]

ที่กล่าวมานี้ เป็นพฤติกรรมหรือกระบวนการของการพัฒนา ที่ทำให้ห่างไกลออกไปจากวิถีชุมชน ประเพณีนิยมและความเฉื่อยชาทางการเมือง ไปสู่วิถีชีวิตอันแตกต่าง ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในสังคมสมัยใหม่อันสลับซับซ้อน รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ทรงพลังและเป็นจริงของการเมืองภาคประชาชน[30]

ความเชื่อที่ว่า ภาวะความเป็นสมัยใหม่มีนัยสำคัญกับจำนวนผู้รู้หนังสือ และการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยในท้ายที่สุด กลุ่มคนรอบนอกในอดีตที่เคยถูกกีดกันออกไป ก็จะพยายามเพิ่มขีดความสามารถในทางการเมืองให้แก่ตนเอง ความเป็นปฏิปักษ์ในสังคมก็จะลดลง และมีความเป็นไปได้ในการสร้างวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นวิถีของระบอบประชาธิปไตย แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชาติได้รับการตอกย้ำในขณะที่การบูรณาการภาคส่วนต่างๆ เข้าเป็น "หนึ่งเดียว" ถูกถือว่าเป็นเงื่อนไขหลักที่สำคัญของการพัฒนาและประชาธิปไตย [31]

สำนักทุนนิยม
ในส่วนของสำนักคิดที่สอง ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาสาระสำคัญของเหตุผลอย่างจริงจัง และความเป็นอิสระของปัจเจกชน ระบบทุนนิยมส่งเสริมการกระจายอำนาจในสังคมซึ่งเป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อประชาธิปไตย ดังทัศนะของชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter ) ที่ว่า

"แบบแผนของพวกกฎุมพี ต้องการจำกัดขอบเขตพื้นที่ทางการเมืองโดยการจำกัดอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นวิธีที่อยู่ในความคิดของรัฐที่หวงอำนาจ อันเป็นพื้นฐานในการประกันสิทธิของพวกกฎุมพี และเพื่อที่จะสร้างกรอบป้องกันความพยายามของปัจเจกชนที่ต้องการความเป็นอิสระในทุกๆ ด้าน"[32]

ความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมกับประชาธิปไตยผ่านรัฐบาลที่มีอำนาจอันจำกัด ทั้งนี้การกระจายอำนาจและอิทธิพลของรัฐ ได้รับการเน้นย้ำความสำคัญโดย ลินด์บลอม (Lindblom) มัวร์ (Barrington Moore) และเธอร์บอร์น (Goran Therborn)[33] กล่าวคือ มัวร์เห็นว่า ประเด็นสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยประกอบไปด้วย

ประการหนึ่ง ความสำเร็จในการสลายผู้นำทางการเมืองที่เป็นชนชั้นสูงซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน
ประการที่สอง การสลายการก่อตัวของชนชั้นที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงที่มีอิทธิพลทางการเมือง

เงื่อนไขเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากระบบทุนนิยม ดังคำกล่าวของมัวร์ที่ว่า "ไร้ซึ่งกฎุมพี ไหนเลยจะมีประชาธิปไตย"[34] (No bourgeois, no democracy) ผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมได้โต้แย้งเพิ่มเติมว่า ระบบทุนนิยมสามารถที่จะเพิ่มพูนด้านวัตถุ มาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ และความทันสมัยทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างเงื่อนไขเพื่อความสมานฉันท์ให้กับชีวิตทางการเมือง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวิถีประชาธิปไตย

สำนักประชาธิปไตยกลุ่มชน
สำหรับสำนักคิดสุดท้ายตั้งอยู่ในฐานคติที่ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ผูกติดอยู่กับสังคมที่มีวัฒนธรรมอย่างสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น หากแต่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีสภาพแบ่งแยกภายในอย่างสุดขั้วด้วยเช่นกัน แนวคิดดังกล่าวนี้ตอบสนองต่อทัศนะแบบเก่า ที่มองว่า การครอบงำของคนกลุ่มหนึ่งเหนือคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมเหล่านี้

ผู้สนับสนุนสำนักคิดนี้โต้แย้งว่า ประชาธิปไตยกลุ่มชน (consociational democracy) จะขัดขวางสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ พวกเขาอธิบายว่า การปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสี่ประการจะทำให้ประชาธิปไตยรูปแบบนี้เป็นไปได้ หลักการพื้นฐานดังกล่าวคือ

หนึ่ง หลักการมีรัฐบาลโดยมีพรรคร่วมหลายพรรค
สอง หลักการใช้สิทธิยับยั้งร่วมกัน (veto) หรือการเห็นพ้องต้องกันของเสียงส่วนใหญ่
สาม หลักการแบ่งสัดส่วน
สี่ หลักสิทธิในการปกครองตนเองอย่างสูงของแต่ละภาคส่วน ในด้านกิจการภายในของกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ในการตั้งรัฐบาลจากพรรคร่วม พรรค/กลุ่มที่มีเสียงข้างมากจะได้รับสิทธิเป็นผู้นำรัฐบาล

ความเห็นพ้องต้องกันและความร่วมมือของกลุ่มต่างๆ จะเป็นหลักประกันเสถียรภาพการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ละกลุ่มจะได้รับอิสรภาพในการปกครองตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในอันที่จะปกครองพื้นที่ของตนเอง และแต่ละกลุ่มคือตัวแทนที่ได้รับหลักประกันว่า จะมีตำแหน่งที่สำคัญในรัฐบาล นอกจากนี้แต่ละกลุ่มก็จะได้รับสิทธิในการยับยั้ง (veto) เพื่อที่จะเป็นหลักประกันได้ว่า ผลประโยชน์ของตนจะไม่สูญหายอันเป็นผลมาจากการกระทำของคนกลุ่มอื่น[35]

อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวข้างต้นก็ไม่อาจช่วยส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยขึ้นในบรรดาประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ได้เลย ระบบประชาธิปไตยที่กล่าวมากลับจะถูกกำหนดโดยกลุ่มชนที่มีอำนาจเหนือต่อกลุ่มชนอื่นๆ เฉกเช่นระบบอาณานิคมจนทำลายอำนาจและระบบการปกครองที่ได้วางเอาไว้ในที่สุด

ดังกรณีของการพยายามสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ของหลายประเทศมุสลิมในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคคอยฉุดรั้งให้เกิดภาวะถดถอยและชะงักงัน น่าสนใจอย่างยิ่งว่าบางประเทศในโลกมุสลิมที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการของความเป็นประชาธิปไตยแต่กลับถูกชาติตะวันตกทำลายกระบวนการเหล่านนั้นและเข้าค้ำชูขั้วอำนาจเดิมเหล่านั้นเสีย

ชาวตะวันตกมองประชาธิปไตยในสังคมมุสลิมด้วยความระแวงอย่างชัดเจน เช่นในกรณีของประเทศอัลจีเรีย กับตูนีเซีย ซึ่งชาติตะวันตกมีนโยบายให้การสนับสนุนระบบการปกครองที่โหดร้าย ของรัฐบาลเผด็จการทหาร เช่นเดียวกับที่ได้เข้าไปสนับสนุนระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยม ของบรรดาประเทศเกิดใหม่ในเอเชียกลาง

อย่างไรก็ตาม โลกมุสลิมไม่เคยหยุดนิ่ง โดยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ขึ้นกับระบบการเมืองและการปกครองอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่นักสังเกตการณ์และนักวิเคราะห์ทางการเมืองเกี่ยวกับโลกมุสลิม กลับให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงเพียงผิวเผินในเรื่องของระบบการปกครอง หลักกฎหมายและกฎระเบียบ การเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากกลุ่มหรือพรรคการเมืองเดียว ไปเป็นรูปแบบหลายพรรครวมถึงเรื่องของสมาคมผลประโยชน์ต่างๆ[36] แต่ละเว้นที่จะสนใจเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกลุ่มนักการศาสนาอิสลาม (Islamists) กล่าวคือ ปัจเจกชนมุสลิมหัวรุนแรงและ กลุ่มนักเคลื่อนไหวมุสลิม ซึ่งมุ่งยึดพื้นที่อันอยู่นอกเหนือกรอบโครงสร้างของการเมืองแบบปกติ

"ในประเทศอียิปต์ นักการศาสนาอิสลาม (Islamists) ได้ให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องสุขอนามัยและสถาบันการศึกษา...ในตุรกีคนเหล่านี้ได้เข้าช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยของคนยากจน...ในเลบานอนมีการเข้าไปช่วยก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรและจัดตั้งระบบสวัสดิการสำหรับเด็ก หญิงม่ายและคนยากจน..."[37]

เช่นเดียวกับในประเทศปากีสถานกับบังคลาเทศ นักการศาสนาอิสลาม (Islamists) ได้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันของอิสลาม รวมถึงมัสยิดอันรโหฐาน สถานพยาบาลและโรงเรียนเข้าด้วยกัน ทั้งยังได้ริเริ่มวิถีชีวิตแบบทางเลือกตามค่านิยมแห่งอิสลาม และพัฒนารูปแบบของการมีส่วนร่วมแบบอิสลามให้ก้าวหน้า

บทบาทดังกล่าวนี้จึงคล้ายกำลังขับเคลื่อน "รัฐ" ทับซ้อนอยู่ในภายในรัฐเนื่องจากสถาบันเหล่านี้ได้นำเสนอมาตรฐานและค่านิยมที่อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม เป็นทางเลือกให้กับระบบการเมืองการปกครองปัจจุบันด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายคนอาทิ ฮัดสัน (Hudson) เห็นแย้งว่า

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ยังคงห่างไกลกับการเปลี่ยนแปลงรัฐและสังคมไปสู่ประชาธิปไตยเนื่องจากทางเลือกแบบอิสลามที่ว่านี้ ยังขาดความสอดคล้องกับกระบวนทัศน์ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย[38] ถึงแม้ว่าทางฝ่ายนักการศาสนาอิสาม(Islamists) ได้สร้างสรรค์ทางเลือกให้กับแนวคิดและระบบที่พวกเขาเชื่อว่าจะไร้ประสิทธิภาพ[39] โดยที่คนเหล่านี้ได้ละทิ้งค่านิยมแบบตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด แล้วหันมาหาแนวทางอันสอดคล้องกับค่านิยมแห่งศาสนาอิสลามแทนก็ตาม

การปกครองแบบอิสลามกับประชาธิปไตย (Islamic Polity and Democracy)
อย่างน้อย ข้อถกเถียงในกลุ่มนักวิชาการฝ่ายมุสลิมกับฝ่ายตะวันตก เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามในฐานะของสัจธรรมและวิถีชีวิตกับประชาธิปไตย ในฐานะของหลักการทางการเมืองได้แสดงว่าอิสลามเองก็มีภารกิจเกี่ยวข้องอยู่กับรูปแบบและหลักการปกครองอย่างแนบแน่นเช่นกัน

จากเหตุผลหลายประการสะท้อนให้เห็นว่า หลักการปกครองแบบอิสลามมีความสอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันในทุกประการกับหลักการพื้นฐานแห่งพุทธิปัญญาของประชาธิปไตยเสรี ดังที่เอนนายเอ็ต (Enayet) กล่าวว่า แท้จริงแล้วอิสลามแสดงความเดียดฉันท์ต่อ "อำนาจกดขี่โดยบุคคลหรือคณะผู้ปกครองใดๆ" เช่นเดียวกับการที่ประชาธิปไตยปฎิเสธในอำนาจเผด็จการนั่นเอง

อิสลามยึดถือในหลักของความเสมอภาคและหลักแห่งนิติธรรม ท้ายที่สุดอิสลามได้อาศัยหลักการที่เรียกว่า "ชูรอ" (หลักการว่าด้วยการหารือ ) และ "อิจมาอ์" (หลักการว่าด้วยความเห็นพ้องกันของนักวิชาการมุสลิม) เพื่อบรรลุข้อที่ว่า รัฐบาลต้องไม่ปกครองโดยอาศัยเฉพาะกฎหมายบัญญัติเท่านั้น หากแต่ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้อยู่ภายใต้การปกครองเป็นสำคัญ[40] ทั้งนี้ระบบการเมืองแบบอิสลามจึงถูกระบุว่าเป็นระบบการเมืองของสังคมที่มีตำแหน่งแห่งที่เฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างออกไปจากการยอมรับของโลกตะวันตกสมัยใหม่ และสามารถจะตัดสินผลความสำเร็จได้ด้วยเนื้อหาและความหมายเฉพาะตัวเท่านั้น[41]

บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า "พระคัมภีร์อัลกุรอ่าน" (Al-Quran) และ " ซุนนะห์" (Sunnah) ต่างไม่ได้กำหนดถึงรูปแบบปกครอง และไม่ใด้อรรถาธิบายถึงแนวทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญใดๆ ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการเมืองแบบอิสลามจึงเป็นได้หลายรูปแบบวิธี ซึ่งก็ขึ้นกับมุสลิมในยุคสมัยต่างๆ จะเลือกสรรเอาตามสมควรแก่คณะตน[42]

อย่างไรก็ตาม "พระคัมภีร์กรุอ่าน" และ "ซุนนะห์" ได้ให้เค้าโครงที่ชัดเจนของแบบแผนทางการเมือง ซึ่งสามารถทำให้บรรลุได้ในทุกสถานการณ์ มุสลิมส่วนใหญ่เห็นเหมือนกันว่าระบบการเมืองแบบอิสลามวางอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ "เตาฮีด" (หลักเอกภาพและการเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวของ "อัลเลาะห์") Shari'ah (กฎหมายอิสลามตามหลักการแห่ง "กุรอ่าน" และ "ซุนนะห์") Adalah (การสถาปนาความยุติธรรม) เสรีภาพ (สิทธิที่จะกระทำการภายใต้การเชื่อฟังต่อหลักการชาริอะห์ ) ความเสมอภาค (โอกาสอันเทียมเท่ากันของปัจเจกบุคคลชายและหญิง) และชูรอ (Shura) รากฐานองค์ประกอบสำคัญของอำนาจทางการเมืองนี้ก็คือ หลักการอุมมะห์ อันเป็นระเบียบทางสังคมแบบอิสลาม

ผู้ปกครองซึ่งปรากฏในยุคแรกๆ อาทิ คาลีฟะห์ (Khalifah) อิหม่าม (Imam) อามิร (Amir) ต่างไม่ได้ถืออำนาจสูงสุด หากแต่เป็นระบบแห่งอาวุโสด้วยหลักการอุมมะห์ ผู้ปกครองและการปกครองจึงวางอยู่บนความเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นด้วยสถานะ และความเท่าเทียมกันดังกล่าวนี้จึงรักษาใว้ซึ่ง "ความยำเกรง" (Taqwa) ขณะที่ " อิหม่าม" จะต้องบริหารงานให้สอดคล้องตามหลักแห่งกฎหมายชาริอะห์ การละเมิดหลักการดังกล่าว มุสลิมอุมมะห์มีสิทธิยกเลิกความจงรักภักดีต่อเขา[43]

ระบบการเมืองแบบอิสลาม คือรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่ภายใต้หลักการแห่ง กฎหมายชาริอะห์ โดยผู้นำสูงสุดจะได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบบริหารกิจการภาครัฐ ดังกรณีของระบบสภาแบบ Amir ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักการ "ชาริอะห์" และ " อิจมาอฺ" จนกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่ผู้นำที่มีทั้ง " อิสระและถูกจำกัดอำนาจอยู่ในเวลาเดียวกัน" (ahl al-halli wa al-aqd)

การเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกสรรจากประชาชน และโครงสร้างระบบการเมืองลักษณะนี้ ก็คล้ายคลึงกับการปกครองในระบบสภาปัจจุบัน เพียงแต่จะต้องถูกควบคุมโดยหลัก ชาริอะห์ กล่าวคือ การตรากฎหมายใดๆ ก็สามารถจะกระทำได้อย่างเป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักการแห่งชาริอะห์เป็นสำคัญ

ด้วยหลักการค่านิยมและโครงสร้างเฉพาะดังกล่าว คงพอที่จะทำให้เห็นได้ว่าการเมืองแบบอิสลามไม่ได้เหมือนกับประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาหรือระบบประธานาธิบดีเสียทีเดียว แต่ยังมีปรัชญาพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการปกครองโดยกฎหมายเช่นเดียวกัน "ชาริอะห์" แตกต่างไปจากกฎหมายที่บัญญัติขึ้น (โดยมนุษย์) ทั่วไป ทั้งนี้ "อิจติฮัด"(Ijtihad) มิได้หมายความถึงเสรีภาพที่จะกระทำการใดๆ อย่างไม่มีขอบเขต และ "ชูรอ" ก็มิได้มีนัยเดียวกับโครงสร้างทางอำนาจแห่งเสรีประชาธิปไตย

ข้อแตกต่างระหว่างระบบการเมืองแบบอิสลามกับประชาธิปไตยในตะวันตก มาจากการยึดมั่นในกรอบความคิดที่ต่างกัน เกี่ยวกับเรื่องของอำนาจอธิปไตยสูงสุด ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองรวมถึงกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง กล่าวคือ (ประการแรก) ลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นของประชาธิปไตยในตะวันตก เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยสูงสุดที่มีนัยถึงอำนาจอันสมบูรณ์และเบ็ดเสร็จในตัวเอง ซึ่งหาได้สถิตอยู่ในขอบข่ายแห่งมวลมนุษย์ชาติ แต่อย่างใด ประเด็นดังกล่าวนี้ Mawdudi กล่าวว่า "นักปรัชญาการเมืองต่างก็พยายามที่จะมอบอำนาจอธิปไตยกับมนุษย์ ผู้ซึ่งไม่เคยได้ดั่งใจและไม่บังควร"[44]

สำหรับอิสลามนั้นรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดๆ ต่างต้องวางอยู่ภายใต้ "อัลเลาะห์" พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีอำนาจอธิปไตยสูงสุด ไม่ว่าบุคคลใดทั้งปัจเจกชนหรือกลุ่มคณะทั้งมวลต่างก็ไม่อาจมีสิทธิกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ต่อบุคคลอื่น ดังที่ Al-Faruqi ชี้ว่า "อุมมะห์" หาใช่สภานิติบัญญัติแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขาไม่อาจบัญญัติกฎหมายได้ กฎหมายมิได้แสดงถึงเจตจำนงทั่วไปแห่งประชาชน แต่กฎหมายคือสิ่งศักดิ์สิทธ์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าประทานลงมา"[45] ดังนั้นมุสลิมจึงต่างปรารถนาตัวที่จะเชื่อฟังในหลักการของ "ชาริอะห์" อันเป็นเจตจำนงค์แห่ง "อัลเลาะห์" นั่นเอง

หลักการ "ชาริอะห์" อันว่าด้วย "ชูรอ" (รวมถึง "อิจติฮัด" และ "อิจมาอฺ") ก็คือรูปแบบของการตัดสินใจคดีความแห่งอิสลาม [46] อับดุลฮามิด อาฮ์หมัด อาบู สุลัยมาน ได้อธิบายถึงระบบ "ชูรอ" ไว้ว่า เป็นระบบที่มอบกระบวนการให้มุสลิมมาร่วมกันในการพิจารณาในประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น และตัดสินความภายใต้พุทธิปัญญาแห่งความยุติธรรม

ถ้าหากว่าคดีความใดซึ่งถกพิจารณานั้นไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม แต่เกี่ยวข้องกับความชอบพอข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ก็ไม่มีปัญหาใดที่จะใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจคดีความ เช่น โดยการออกเสียง โดยการคำนึงถึงความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย เป็นต้น

โดยหลักวิธีการเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้ได้หากคดีความชะงักงัน ไม่สามารถตัดสินได้โดยปราศจากการเปรียบเทียบหลักฐานข้อเท็จจริง ถึงกระนั้นก็ตามจะไม่มีการตัดสินคดีความจนกว่าทุกคนได้โอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น และอ้างพยานหลักฐานที่เกี่ยวแล้วเท่านั้น[47]

ระบบ "ชูรอ" จึงเป็นรูปแบบที่แสดงถึงกระบวนการตัดสินใจร่วมกันของสังคมมุสลิมที่อยู่ภายใต้หลัก "ชาริอะห์" และอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลไกประการสำคัญที่ป้องกันการใช้อำนาจปกครองแบบเทวราชขึ้นในทางการเมือง โดยคงไว้ซึ่งบรรยากาศแห่งเสรีภาพทางความคิดและการกระทำ

ในขณะที่ประชาธิปไตยตะวันตกกับให้การยอมรับต่อภาวะความขัดแย้งและการประนีประนอมว่า เป็นเรื่องปกติในกระบวนการทางการเมือง กล่าวคือ ถือว่าปัจเจกบุคคลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีจิตวิญญาณตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการเสียสละและการเรียกร้องสิทธิอันพึงมี รวมทั้งมีเจตจำนงที่จะสละสิทธิบางประการในฐานะปัจเจกชน เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วมในที่สุด

วิธีการตัดสินใจในลักษณะนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการผลประโยชน์ที่เกิดความขัดแย้ง ด้วยวิธีการประนีประนอม เพื่อให้การตัดสินใจเกี่ยวกับผลประโยชน์สาธารณะ สามารถตอบสนองอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ ในระบบการเมืองได้อย่างเป็นผลสูงสุด

หากแต่ "ชูรอ" คือความพยายามร่วมกันเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง (objective truth)[48] ด้วยการร่วมกันนำเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอันมีเหตุผลรองรับ และปฏิเสธต่อความเลวทรามต่ำช้าที่เรียกว่า "asabiyah" อันชักนำบุคคลหรือคณะใดไปโดยปราศจากความตระหนักในความถูกต้องดีงามทั้งปวง ในกระบวนการนี้สมาชิกหรือผู้มีส่วนร่วมในระบบ "ชูรอ"จะถูกชี้นำด้วยสาส์นอันเป็นสัจธรรม (wahi) และกฎธรรมชาติ (fitrah) รวมทั้งคำนึงถึงพลวัตในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์[49]

แน่นอนว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยวิธีการตัดสินใจที่เอนเอียงต่อการยึดถือพรรคการเมืองตามหลักดุลแห่งอำนาจ (Balance of power) ได้เลย เนื่องจากการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยตะวันตกเป็นการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองของตน ระบบแบ่งฝักฝ่ายเช่นนี้ของตะวันตก จึงไม่อาจบรรลุถึงข้อเท็จจริงในสังคมและยิ่งไม่อาจเข้าถึงพลวัตแห่งหลักการ "ชูรอ" ได้เลย[50]

ความแตกต่างหลักสำคัญระหว่าง"ประชาธิปไตย"กับ"ระบบการเมืองแบบอิสลาม"จึงมาจากรากเหง้าในอภิปรัชญาที่ต่างกัน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งตั้งอยู่บนวิถีโลก (secular) ดำเนินในวัตถุเหตุผลนิยม แต่อีกฝ่ายยึดมั่นอยู่กับ "เตาฮีด" อันเป็นวิถีแห่งสัจจะและความเป็นจริงเกี่ยวกับโลกจักรวาลและกาลเวลา รวมถึงประวัติศาสตร์และชะตากรรมของมนุษย์[51] แน่นอนว่าระบอบที่ตั้งอยู่บนหลักการแห่ง "เตาฮีด" จึงต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า และกระทั่งจิตวิญญาณของมวลมหาประชาชนในท้ายที่สุด

บทสรุป
ฐานคติของตะวันตกที่ว่า ประชาธิปไตยคือ อุดมการณ์ที่อยู่เหนือกว่าระบบการเมืองอื่นใดส่งผลให้เกิดโครงการจากตะวันตก ในการสนับสนุนประชาธิปไตยให้แพร่หลายสู่ดินแดนต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าตัวแบบ ทฤษฎี การทบทวน การประเมินรูปแบบ และวิธีการทำให้โลกมุสลิมเป็นประชาธิปไตยต้องประสบความล้มเหลวลง จนทำให้ตะวันตกจ้องมองอิสลามและสังคมมุสลิมด้วยความสนใจเป็นพิเศษ ด้วยความหวาดวิตก ความอวิชา และการเป็นปฏิปักษ์

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และความเปลี่ยนแปลงในสังคมประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่สังคมแบบพหุนิยม ได้เสริมเติมประเด็นถกเถียงเรื่องความเหมาะสมและความยั่งยืนของประชาธิปไตยในโลกมุสลิมขึ้นมา กระแสความคิดใหม่เกี่ยวกับการเมืองแบบพหุนิยมได้ถูกเทียบให้เท่ากับการเผยร่างขึ้นมาทีละน้อยของภาคประชาสังคม จนในที่สุดถูกเทียบเท่าประชาธิปไตยในโลกมุสลิมไปแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้ใช้ความพยายามต่าง ๆ นานา ในการบังคับยัดเยียดความเป็นประชาธิปไตยแก่โลกมุสลิม

นอกจากนี้ กล่าวได้ว่าตะวันตกได้สนับสนุนความพยายามทั้งปวง ในการตีความแนวคิดอิสลามเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งระบบตัวแทน การแข่งขันในระบบพรรคการเมือง และความสอดคล้องต้องกันของอิสลามกับค่านิยมประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก

ถึงแม้ว่าจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่งระหว่างแนวคิดประชาธิปไตยของชาวตะวันตก กับพื้นฐานแห่งระบบการเมืองแบบอิสลามที่เรียกว่า "ชูรอ" ก็ตาม แต่ก็ไม่ควรเพิกเฉยในความแตกต่างระหว่างระบบการเมืองทั้งสอง เค้าร่างและโครงสร้างหน้าที่ของสังคมและสถาบันทางการเมืองทางเลือกตามแบบอิสลาม ก็ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องปรัชญาประชาธิปไตยของตะวันตก นอกจากนี้ยังกลับจะปฏิเสธต่อทั้งมุมมองค่านิยมและวิถีชีวิตแบบตะวันตก

อิสลามมีหลักการของตนอย่างระบบ "ชูรอ" อันวางอยู่บนหลักการแห่ง "เตาฮีด" ซึ่งครอบคลุมทุกสรรพชีวิตโดยไม่แบ่งแยกเรื่องวิถีโลกและเรื่องทางจิตวิญญาณออกจากกัน ในขณะที่มีการส่งเสริมสถานภาพของปัจเจกชน ระบบการอบรมสั่งสอนแบบอิสลามก็ได้ช่วยยกระดับจิตสำนึกอันคับแคบแบบปัจเจกชนไปสู่สามัญสำนึกว่า ชีวิตเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสรรพสิ่ง แม้แต่มวลมหาชนก็ย่อมจำนนอยู่ด้วยพระผู้เป็นเจ้าที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นในสากลโลก ดังนั้นระบอบอันดีงามเช่นนี้จึงควรได้รับความสนใจเช่นเดียวกันแนวคิดอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยก็คือ เป็นผลิตผลของตะวันตก และสัมพันธ์อยู่กับหลักการพื้นฐานสำคัญของการเมืองแบบจารีตในยุโรปตะวันตกรวมถึงสหรัฐอเมริกา ดังนั้นความพยายามในการ "ส่งออก" ประชาธิปไตยสู่โลกมุสลิม จึงไม่ได้แตกต่างไปจากภาพของลัทธิจักรวรรดินิยมในอดีตแต่อย่างใด ในเมื่อแนวคิดทางเลือกโดยเสรีของประชาธิปไตย ต้องการส่งเสริมพหุสังคมที่งอกงามเพื่อปูทางสำหรับชุมชนอันแตกต่างหลากหลาย ที่จะสามารถค้นพบแนวทางของตนเองได้อย่างเหมาะสมแล้วเช่นนี้ แทนที่โลกตะวันตกจะใช้ความพยายามต่างๆ นานาทำให้โลกมุสลิมเบี่ยงเบนออกจากวิถีชีวิตทางดั้งเดิม กลับควรที่จะหันมาสร้างสรรค์วาทกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำความเข้าใจระหว่างกัน และร่วมกันสร้างสรรค์ระเบียบโลกใหม่บนหลักการแห่งมนุษยธรรมขึ้นมา ในขณะที่บรรดามุสลิมก็ควรที่จะสนใจเข้ามีส่วนร่วมกับระบบ "ชูรอ" อย่างจริงจัง เพื่อที่จะพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่าเป็นแนวทางอันสอดคล้องกับยุคสมัยอย่างแท้จริง

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิง
[1] ดู Lucian W. Pyn, Aspects of Political Development ( Boston: Little, Brown, 1966), หน้า 33-45.

[2] James S' Coleman, "Conclusion" in Gabriel A. Almond and James S. Coleman(Eds.), The Politics of Develpoing Areas ( Princeton: Princeton University, 1960), หน้า 533.

[3] Gabriel A. Almond and G. Bingham Powell, Jr. Comparative Politics: A Developmental Approach ( Boston: Little, Brown, 1966)

[4] Samual P. Huntington, "Democracy's Third Wave" , Journal of Democracy, Vol.2, No. 2, Spring 1991, หน้า 12.

[5]Robert A Dahl, After the Revolution? Authority in a Good Society ( New Haven: Yale University Press, 1970), หน้า 95.

[6] Mancur Olson, "Dictatorship, Democracy and Development", The American Political Science Review, Vol. 87, No.3 ( September1993), หน้า 570.

[7] Philippe C. Schmitter, "Society" in National Research Council, The Transition to Democracy : Proceeding of Workshop ( Wachington D.C.: National Academy Press, 1991), หน้า 20.

[8] C.Schmitter and Terry Lynn Karl, " What Democracy is Philippe…and is not?", Journal of Democracy, Vol. 2 , No. 3( Summer 1991), หน้า 76.

[9] ดู Robert A. Dahl, Dilemma of Pluralist Democracy( New Haven:Yale University Press, 1982), หน้า 11.

[10] ดู David A. Apter, Introduction to Political Analysis( Cambridge: Winthrop Publisher, Inc., 1977), หน้า 75-89.

[11] John Dewey, Democracy and Education( New Delhi: Life and Light Publishers, 1976), หน้า 87.

[12] ดู John H. Hallowell, The Moral Foundation of Democracy( Chicago: University of Chicago, 1954); Daniel Learner, The Passing of Traditional Society: Modernizing the Middle East( Glencoe, III: Free Press, 1958).

[13] ดู Seymour Martin Lipset, Political Man (New York:Doubleday,1963); Theodore J. Lewi, The End of Liberalism ( New York: W.W.Norton , 1996).

[14] Samual P Huntington, " Democracy for Long Hual", Journal of Democracy, Vol. 7 No. 2( April 1996), หน้า 5.

[15] Bernard Lewis, "Islam and Liberal Democracy: A Historical Overview", Journal of Democracy, Vol. 7, No. 2( April 1996), หน้า 58, Lewis classifies Muslim Countries into five catergories viz., Traditional Autocracies( i.e. Saudi Arabia and the Gulf Shiekdoms); Modernizing Autocracies(Jordan, Egypt, Morocco and also Pakistan,Bangladesh and Malaysia); Fascist Style Dictatorships( Syria, Iraq) ; Radical Islamic Regimes( Iran, Sudan); and the Central Asian Republics( six former Russian Republics) see Ibid., หน้า 58-60.

[16] Samual P Hunting ton, " Will More Countries Become Democratic?", Political Science Quarterly, Vol. 29, No. 2( September 1984), หน้า 208.

[17] Ibid., p.207.

[18] Bertrand Badie, " State, Legitimacy and Protest in Islamic Culture", in Ali Kazancigil(ed.) The State in Global Perspective( Aldershot, Hants:Gower, 1986), หน้า 58

[19] David E. Apter,The Politics of Modernization,( Chicago: University of Chicago Press, 1965), หน้า 85.

[20] ดู Yahya Sadowki, " The New Orientalism and Democracy Debate", Middle East Report, Vol. 23, No. 4 (July-August 1993).

[21] Robert D.Putnam, Making Democracy Work: Civic Tradition in Modern Italy( Princeton, N.J. : Princeton Univerty Press, 1993).

[22] James C.Scott, " Patron-client Politics and Political Change in Southeast Asia", American Political Science Review, Vol. 66 ( March 1972), หน้า 92.

[23] ดู Ernest Gellner and John Waterbury, eds., Patrons and Clients in Mediterenean Societies( London: Duckworth, 1977)

[24] Peter Manfields, A History of the Middle East and the West( New York : Harper Tarcbooh, 1964) หน้า 48.

[25] Bernard Lewis, The Middle East and the West( New York: Harper Tarchbooks, 1964)หน้า 48.

[26] ดู Daniel Pipes, Soldiers and Islam: The Genesis of Military System(New Haven, CT : Yale University Press, 1981); John A. Hall, Power and Liberties: The Causes and Consequences of the Rise of the West( Harmondswarth: Penquin, 1985)

[27] J. Muravchik, Exporting Democracy(Wachington D.C.: American Enterprise Institute,1991), หน้า 204.

[28] Ibid., p. 222.

[29] Karl W. Deutsch, "Social Mobilization and Political Development", The American Political Science Review, Vol. 55, No. 3, 1961, หน้า 474.

[30] Ibid.

[31] The idea was first formulated in Daniel Lerner, The Passing of Tradition Society(Glencoe: Free Press, 1958) The most exponent of this school is Seymour Martin Lipset, Political Man: The Social Bases of Politics(New York : Doubleday, 1960); See also Philips Outright, "National Political Development Measurementand Analysis", American Sociological Review, Vol.28, No.?,1963; Deane@ Neubauer, "Some Conditions of Democracy" The American Political Science Review Vol.61, No. 3, 1967.

[32] J.A. Schumpeter, Capitalism, Socialism and Democracy( New York: Harper, 1947), หน้า 297.

[33] ดู Charles Lindblom, Politics and Markets: The World 's Political Economic System( New York: Basic Books, 1977); Barrington Moore Jr., Origin of Dictatorship and Democracy Lords ans Peasants in the Making of the Modern World( Boston: Beacon Press, 1967); Goran Therborn, " The Rule of Capital and the Rise of Democracy", New Left Social Review, Vol. No103, 1977.

[34] Barrington Moore Jr.,Social Origins of Dictastorship and Democracy, หน้า 418.

[35] Leading proponent of this are Arend Lijphart, The Politics of Accommodation: Pluralism and Democracy in Netherlands( Berkeley, CA: University of California Press, 1968); Eric A. Nordlinger, Conflict Regulation in Devided Societies( Cambridge Mass: Center for International Affairs, Harvard University, 1972); and Karl Von Vorys, Democracy Without Concensus: Communalism and Political Stability in Malaysia( Princeton, NJ: Princeton University Press, 1975).

[36] ดู Micheal Hudson, " After the Gulf War: Prospects for Democracy Action in the Arab World", Middle East Journal, Vol. 45, No. 3, Summer1991.

[37] Robin Wright, "Islam and Liberal Democracy: Two Visions of Reformation", Journal of Democracy, Vol. 7, No. 2, April 1996, หน้า 66.

[38]ดู Hudson, " After the Gulf War…". Saad Elden Ibrahim, " Crisis, Elites and Democratization in the Arab World", Middle East Journal, Vol. 47, No. 2, Spring, 1993.

[39] Wright, Islam and Liberal Democracy: Two Visions of Reformation, หน้า 66.

[40] Hamid Enayet, Modern Islamic Political Thought( Austin, TX: University of Texas Press, 1982), หน้า 126-129.

[41] Muhammad Asad, The Principles of State and Government in Islam(Gibraltar: Dar)

[42] Ibid. , หน้า 23.

[43] ดู Abdul Rashid Moten, Political Science: An Islamic Perspective( London: Macmillan Press Ltd., 1996), Chapter 6 for the detailed discussion on the the nature and form of an Islamic political order.

[44] Sayyid Abul A'la Mawdudi, Islamic Law and Constitution, ( tr. @ ed.) Khurshid Ahmad( Lahore: Islamic Publication, Ltd, 1967), หน้า 235.

[45] Ismail Raji Al- Faruqi,Tawhid: Its Implication for Thought and Life( Herndon,Va.: International Institute of Islamic Thought, 1982), หน้า 107.

[46] อัลกุรอาน 5 อายะห์ ชี้ให้เห็นแนวความคิดสำคัญของ "ชูรอ" และที่มารายละเอียดของมัน และ 2 อายะห์เป็นคำสั่งโดยตรงเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการ ชูรอ

[47] Abdul Hamid Abu Sulayman, "Islamization of Knowledge With the Special Reference to Political Science", American Journal of Islamic Social Sciences, Vol. 2, No. 2, 1985 หน้า 285.

[48] A. Hassan, The Doctrine of Ijma' in Islam( Islamabad: Islamic Reseach Institute, 1984) หน้า 27.

[49] Abdul Hamid Abu Sulayman, Crisis in the Muslim Mind, tr. Yusuf Talal DeLorenzo( Herndon, Va.: International Institute of Islamaic Thought, 1993), หน้า 132-41.

[50] Ibid. หน้า 135.

[51] Al-Faruqi, Tawhid: Its Implication for Thought and…, หน้า 11.


 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

ฮันติงตัน...ให้เหตุผลว่า ทั้งนี้เพราะกฎหมายศาสนาเข้าไปปกครองวิถีชีวิตของคนในทางโลก ดังนั้นโอกาสที่กฎหมายอันเกิดจากประชาชนจึงไม่มีวิวัฒนาการในโลกมุสลิม ไม่มีแม้กระทั่งการปกครองโดยระบบตัวแทน ซึ่งในโลกตะวันตก คริสตจักรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน สร้างคุณูปการไว้ ความอดทนอดกลั้นและการเคารพความคิดของคนอื่น เป็นสิ่งจำเป็นในระบบการปกครอง... เกิดขึ้นได้ยากในวัฒนธรรมอิสลาม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

หากแต่ "ชูรอ" คือความพยายามร่วมกันเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง (objective truth) ด้วยการร่วมกันนำเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอันมีเหตุผลรองรับ และปฏิเสธต่อความเลวทรามต่ำช้าที่เรียกว่า "asabiyah" อันชักนำบุคคลหรือคณะใดไปโดยปราศจากความตระหนักในความถูกต้องดีงามทั้งปวง ในกระบวนการนี้สมาชิกหรือผู้มีส่วนร่วมในระบบ "ชูรอ"จะถูกชี้นำด้วยสาส์นอันเป็นสัจธรรม (wahi) และกฎธรรมชาติ (fitrah) รวมทั้งคำนึงถึงพลวัตในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ... แน่นอนว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยวิธีการตัดสินใจที่เอนเอียงต่อการยึดถือพรรคการเมืองตามหลักดุลแห่งอำนาจ (Balance of power) ได้เลย

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด