บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 558 หัวเรื่อง
การปฏิรูปหลักสูตรท้องถิ่น
โดย
: สุชาดา จักรพิสุทธิ์
นักวิจัย-นักวิชาการอิสระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ปฏิรูปการศึกษา
ปฏิรูปหลักสูตรท้องถิ่น
อำนาจและพลังสร้างสรรค์ของหลักสูตรท้องถิ่น
สุชาดา
จักรพิสุทธิ์
นักวิจัยอิสระทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: บทความวิชาการชิ้นนี้เดิมชื่อ "สู่ความเข้าใจใหม่ใน
หลักสูตรท้องถิ่น"
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งแรก วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
11 หน้ากระดาษ A4)
1.
เมื่อเอ่ยถึงองค์ประกอบสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา อันได้แก่ การปฏิรูประบบโครงสร้างการศึกษา
การปฏิรูปด้านการบริหารจัดการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปหลักสูตร
การปฏิรูปบุคลากรทางการศึกษา แม้คนที่อยู่นอกวงการศึกษาก็คงนึกได้ทันทีว่า
การปฏิรูปการเรียนรู้ นั้นมีความสำคัญที่สุด ด้วยว่าเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก-เยาวชน
หรือตัวผู้เรียนโดยตรง ทั้งที่ว่าด้วยประสิทธิภาพของตัวผู้เรียน กระบวนการเรียนการสอน
การให้ความสำคัญแก่ศักยภาพและความแตกต่างของตัวผู้เรียน ตลอดจนการสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสุขและมีนิสัยใฝ่เรียนรู้
หากแต่ว่า ในท่ามกลางสายธารการปฏิรูปการศึกษาที่ไหลเอื่อยเฉื่อยอยู่ในเวลานี้ ดูเหมือนการปฏิรูปการเรียนรู้จะเป็นส่วนที่ถูกละเลยและไม่เข้าใจจากฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารในทุกระดับมากที่สุด เนื่องเพราะในความเป็นจริง การปฏิรูปการเรียนรู้สัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับการปฏิรูปหลักสูตรและการแปรเป็นการปฏิบัติของบุคลากรทางการศึกษา หรือครูเป็นสำคัญ พูดง่ายๆคือเป็นงานส่วนที่ยากที่สุด และผูกติดขึ้นกับคุณภาพของครูนั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้ก็มีวิวาทะกันอยู่
เป็นต้นว่าเราเรียกร้องให้มีครูดีครูเก่ง โดยที่ตัวระบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรครูยังบกพร่อง สวัสดิการหรือความมั่นคงของครูมีน้อย เครื่องมือสร้างครูเก่งครูดีก็ไม่มี ฯ พูดให้ถึงที่สุดคือ การปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถจะแยกเอาการปฏิรูปแต่ละส่วนออกจากกันอย่างที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ และแม้แต่ต้องทำไปพร้อมกันโดยสอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการเสียด้วยซ้ำ
ในขณะที่การปฏิรูปการศึกษายังตกอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงเช่นนี้ หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เราน่าจะหันมาเพ่งเล็งและให้ความสำคัญกับระดับปฏิบัติการ คือครูและกระบวนการเรียนการสอนดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นทางออกเรื่องหลักสูตรสถานศึกษา หรือหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งหากผลักดันให้ถูกปฏิบัติมากขึ้นๆจนเป็นกระแสใหญ่ ก็น่าเชื่อว่าหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งต้องมีกระบวนการเรียนการสอนอีกแบบหนึ่ง ไม่ผูกติดกับตำราและโรงเรียน มีลักษณะเปิดการมีส่วนร่วมแก่คนจำนวนมากทั้งเด็กและชุมชน
แนวทางเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้ในที่สุด รวมถึงตัวผู้เรียนเองก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์และทักษะ ความเข้าใจในท้องถิ่น แต่ก็อีก ในความเป็นจริง พระราชบัญญัติการศึกษาซึ่งเปิดช่องแก่การปฏิรูปการเรียนรู้ และการปฏิรูปหลักสูตร โดยกำหนดออกมาเป็น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า"หลักสูตร 44" ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติจากครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียน กล่าวคือ
หลักสูตร 44 ซึ่งกำหนดให้มีหลักสูตรแกนกลาง และหลักสูตรสถานศึกษา อันหมายถึงหลักสูตรแกนกลาง 8 สาระวิชา ที่กระทรวงศึกษาฯจัดวางไว้ ได้แก่ (1) คณิตศาสตร์ (2) วิทยาศาสตร์ (3) ศาสนา-วัฒนธรรม (4) สุขศึกษา-พละศึกษา (5) การงานอาชีพ (6) เทคโนโลยี (7) ภาษาต่างประเทศ (8) ศิลปะ
ในส่วนของหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนสามารถกำหนดแนวทางเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนเองนี้ อีกนัยหนึ่งก็คือหลักสูตรท้องถิ่นนั่นเอง และนี่แหละ ที่เป็นปัญหาและเป็นภาระแก่ครูและโรงเรียนในอันที่จะต้องคิดค้น สร้างใหม่ และพัฒนาหลักสูตรนั้นไปให้เหมาะสมแก่ตัวผู้เรียนและชุมชน รวมถึงต้องประยุกต์ สร้างสรรค์ บูรณาการเข้าไปสู่หลักสูตรแกนกลาง 8 สาระวิชาให้ได้
แต่ด้วยเหตุที่ครูซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการ ยังคงมีกรอบคิดเดิมและความเคยชินต่อการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ไม่สามารถสร้างโจทย์หรือสร้างเนื้อหาหลักสูตรใหม่ได้ นี่จึงเป็นที่มาที่กระทรวงศึกษาฯต้องกำหนดสัดส่วนหลักสูตรแกนกลาง กับหลักสูตรท้องถิ่นเป็น 70 : 30 ไว้เป็นแนวทาง ซึ่งครูและโรงเรียนสามารถยืดหยุ่น ปรับใช้ตามความเหมาะสมได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการเกิดมีหลักสูตรท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนา การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล ยังคงมีเงื่อนไขสำคัญที่ความรู้ความเข้าใจของครูและผู้บริหารโรงเรียน นั่นคือ
๑. ส่วนใหญ่คิดว่าตนเองจัดอยู่แล้ว ในส่วนของหลักสูตรสถานศึกษาและใน"วิชาการงานอาชีพ" เช่น การจัดให้มีการเรียนการสอนทำอาหาร การเกษตร งานฝีมือ โดยครูเป็นผู้สอนหรืออาจมีการเชิญวิทยากรชาวบ้านเข้ามาสาธิตและผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้นว่า งานฝีมือด้านการทอผ้า จักสาน ทำบายศรี นวดแผนโบราณ, ความรู้การเกษตรก็เช่น การปลูกผัก สมุนไพร
๒. ครูผู้สอนคิดหลักสูตรเอาเองหรือใช้หลักสูตรสถานศึกษาเดิมที่สอนต่อๆกันมานาน
๓. ครูและโรงเรียนยังมีกรอบคิดว่า ความรู้และการจัดการความรู้เป็นเรื่องของครูและโรงเรียน หรืออาจไม่มีศรัทธาต่อความรู้ของท้องถิ่น
๔. ครูผู้สอนที่ตีโจทย์หลักสูตรท้องถิ่นได้ก็ไม่อยากเพิ่มภาระการเรียนการสอน เพราะหลักสูตรท้องถิ่นมีความยากในการแสวงหาความรู้และการเข้าหาชุมชน ตลอดจนต้องใช้กระบวนการที่แตกต่าง
๕. ผู้บริหารโรงเรียนไม่เข้าใจและไม่สนับสนุน รวมถึงการไม่มีระบบความดีความชอบให้แก่ครูที่มุ่งมั่นหรือมีความสามารถในการจัดหลักสูตรท้องถิ่น
๖. โลกทัศน์การศึกษาแบบเดิมที่ทำให้ครูและโรงเรียนให้คุณค่าแก่ความเป็นเลิศทางวิชาการเป็นหลัก
ด้วยเหตุดังนั้น หลักสูตรท้องถิ่นที่เป็นความหวังว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างคุณค่า
แก่การศึกษาที่ดำรงความเป็นไท(ย) จึงยังคงเป็นน้ำซึมบ่อทรายที่รอวันหนุนเนื่องจากสายธารใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาอยู่นั่นเอง
2.
แต่ในห้วงเวลาเช่นนี้ เรากลับได้พบว่ามีครูและโรงเรียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความเข้าใจและใช้
ความเพียรพยายามที่จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและยึดหลักความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ
เคล็ดไม่ลับในการแปรเป็นการปฏิบัติคือการตีโจทย์ตามสาระ
มาตรา 24 ใน พรบ.การศึกษา ที่ระบุว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
(2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
(3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
(4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆอย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ
(6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ กับ มาตรา 29 ที่ ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน
ทั้งนี้ กลุ่มโรงเรียนในโครงการฯ เริ่มต้นจากการระดมความคิดเห็นและประเด็นปัญหาต่างๆจากชาวบ้านในชุมชนแวดล้อมโรงเรียน เพื่อประมวลเป็นโจทย์ความต้องการของชุมชนแล้วคัดเลือกประเด็น วางขอบข่ายเนื้อหาของประเด็นนั้นๆ ช่วยกันเสาะหาและประสานงานครูชาวบ้านที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ โดยแต่ละประเด็นปัญหาจะมีครูที่ปรึกษา รับผิดชอบร่วมกับครูชาวบ้าน
ความน่าสนใจของโครงการฯ
นี้ อยู่ที่การใช้กระบวนการเรียนรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
ระหว่างครู ผู้เรียน โรงเรียน และชาวชุมชน ซึ่งต้องใช้เวลาและความตั้งใจจริงในการจัดเวทีประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า
ตั้งแต่การให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับ พรบ.การศึกษาฉบับใหม่ สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน
รายละเอียดของหลักสูตรการศึกษา เป็นต้น
ผลสรุปจากเวทีก็นำไปพัฒนาเป็นแผนการเรียนการสอน
ซึ่งในกรณีของโครงการฯดังกล่าวนี้ ได้ข้อสรุปว่า
ชาวบ้านและผู้เรียนอยากได้วิชาไร่นาสวนผสมและการจักสาน เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำไร่นาสวนผสมและจักสาน
ชาวบ้านจึงต้องการให้"เด็กมีความรู้ความเข้าใจในอาชีพของพ่อแม่ สามารถใช้ความรู้ไปพัฒนาอาชีพและช่วยหารายได้ให้ครอบครัว
ที่สำคัญคือให้เด็กได้เรียนรู้จากวิถีชีวิต ทำให้ใกล้ชิดครอบครัว"
เมื่อเริ่มกระบวนการเรียนการสอน
ครูที่ปรึกษาจะทำหน้าที่ติดต่อประสานกับครูชาวบ้านแต่ละคนเพื่อกำหนดวันเวลา
และในแต่ละครั้งก่อนจะพานักเรียนออกไป ครูจะเตรียมเนื้อหา - อุปกรณ์การเรียนการสอนร่วมกับครูชาวบ้านก่อน
เมื่อจบการเรียนในแต่ละครั้ง ครูที่ปรึกษาจะสรุปการจัดการเรียนการสอน ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาและเทคนิค
วิธีการ และนำใบงานไปติดป้ายนิเทศก์ โดยเด็กจะศึกษาจากใบงานได้อีก รวมถึงการกำหนดกิจกรรมให้ทำ
ซึ่งหากนักเรียนมีปัญหาก็สามารถปรึกษาครูที่ปรึกษาหรือกลับไปสอบถามจากครูชาวบ้านได้
กลุ่มโรงเรียนในโครงการนี้ เมื่อจัดหลักสูตรท้องถิ่นไประยะหนึ่ง ก็พบความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เพราะชาวบ้านเริ่มเชื่อมั่นในความตั้งใจจริงของครูและประโยชน์ที่ลูกหลานได้รับ
จึงเข้ามาสนับสนุนและมีบทบาทมากขึ้นๆ ทั้งการเข้ามาจัดหาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์
ช่วยกันรวบรวม
และจัดทำบันทึกความรู้พื้นบ้านที่กระจัดกระจาย เป็นต้น
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างครูกับชาวบ้านจะพัฒนาไปในเชิงบวก ชาวบ้านที่เข้ามาอาสายังไได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและบูรณาการความรู้ในหมู่ชาวบ้านเองด้วย เช่น กรณีครูชาวบ้านที่สอนวิชาฟ้อนดาบฟ้อนเจิง ( เจิง = เชิง / เป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ หมายถึงแม่ไม้ศิลปะป้องกันตัวแบบล้านนา) ได้เรียนรู้ร่วมกันที่จะประสานท่ารำที่แตกต่างให้เป็นท่ารำที่ต่อเนื่องกันได้ และในส่วนตัวของนักเรียน ก็พบว่าการเรียนรู้โดยการฝึกฝน ลงมือทำจริง ทำให้เกิดการช่วยเหลือกันและกัน เด็กบางคนร่วมกันประยุกต์ท่ารำและนำกิจกรรมไปแสดงยังเวทีสาธารณะต่างๆ เป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ได้รับการชื่นชม
3.
อีกกรณีหนึ่งคือ โรงเรียนวัดหนองหล่ม ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา
ที่ดำเนินการพัฒนาและจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536
ด้วยวิธี กรณีศึกษาป่าชุมชน เนื่องจากพื้นที่เดิมมีการตัดไม้ทำลายป่ามาก
เกิดปัญหาความแห้งแล้ง ในที่สุดชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน
ดำเนินการฟื้นฟูรักษาป่าเรื่อยมา เมื่อโรงเรียนวัดหนองหล่มพัฒนาการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมศึกษาด้วยวิธีกรณีศึกษาป่าชุมชน
โดยใช้กระบวนการทำงานร่วมระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชน ก็สรุปว่า
ภูมิปัญญาการจัดการป่าของชาวบ้านเป็นกรณีศึกษาที่เข้มแข็งที่สุด จึงได้เริ่มทำการวิเคราะห์หลักสูตร เพื่อจัดสรรเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในทุกกลุ่มประสบการณ์ ซึ่งตอนนั้นใช้กลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเป็นแกน และเมื่อจัดทำแผนการสอนแล้ว ก็ประสานงานกับชุมชนเพื่อระดมความคิดความรู้และการมีส่วนร่วม กล่าวได้ว่าเป็นการใช้กระบวนการ "ร่วมคิดร่วมปฏิบัติร่วมประเมินผล" รวมถึงการที่โรงเรียนวัดหนองหล่มแสดงบทบาทเป็นฝ่ายวิชาการ ในการรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ นำความรู้นั้นป้อนกลับไปสู่ชุมชนและปรับปรุงพัฒนาต่อไป ซึ่งนี่คือความคาดหวังของการปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา 29 นั่นเอง
ต่อมา โรงเรียนได้ร่วมกับชุมชนในการสร้างแนวป้องกันไฟป่า
และพื้นที่ปลอดไฟป่าให้เป็น
"แหล่งเรียนรู้"สำหรับนักเรียน มีการสร้างจุดศึกษาธรรมชาติระหว่างเส้นทาง
2,500 เมตรและการสื่อความหมายธรรมชาติ การฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีด้านการรักษาป่า
เป็นกระบวนการที่นักเรียนจะศึกษาเองก็ได้ หรือมีวิทยากรชาวบ้านนำก็ได้ นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง
บนฐานความรู้ความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งไม่ว่าทางโรงเรียนวัดหนองหล่มจะเรียกกระบวนการนี้ว่าเป็นวิธี
"กรณีศึกษา"ก็ตาม แต่นี่คือกระบวนการเดียวกันกับการพัฒนา"หลักสูตรท้องถิ่น"
ที่ให้ผลลัพธ์คือ การผสานภูมิปัญญา ความรู้ การปฏิบัติ และการถักทอสายใยของท้องถิ่นที่มีมาแต่อดีต
อย่างบ้าน วัด โรงเรียน ให้กลับมามีบทบาทเข้มแข็งอีกครั้ง
คุณูปการสำคัญของหลักสูตรการศึกษาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเช่นนี้คือ การได้มาซึ่งตัวความรู้ ( Knowledge ) ที่มิใช่ความรู้สำเร็จรูป หากแต่เป็นความรู้ที่ก่อเกิดขึ้นจาก ฐานของปัญหาจริงหรือความต้องการร่วม (Problem base ) แตกต่างจากความรู้ในห้องเรียนที่เน้นตำรา ( Content base ) จึงเป็นความรู้ที่มีลักษณะเป็นสมบัติส่วนรวมร่วมกันของคนจำนวนมาก และเป็นความรู้ที่หล่อเลี้ยงดำรงอยู่ได้ในชีวิตจริง โดยตัวความรู้นี้ก็แยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ทางสังคม หรือกระบวนการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ และนี่คือกระบวนเดียวกับการสร้างและการจัดการความรู้ของชุมชน ( Local knowledge ) ที่ธำรงอารยธรรมไทยมายาวนาน ก่อนหน้าระบบการศึกษาสมัยใหม่
ดังที่กลุ่มโรงเรียนในโครงการวิจัย "การพัฒนาหลักสูตรเพื่อท้องถิ่นระดับโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่" ได้สรุปความคิดรวบยอดในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นตามกระบวนการเช่นนี้ว่า "เป็นการทำหลักสูตรแบบย้อนกลับ เริ่มต้นจากศูนย์ เป็นการฉีกออกจากระบบราชการ หลักสูตรของเราเกิดขึ้นหลังจากทำการเรียนการสอนจบแล้ว คือลงมือปฏิบัติแล้วจึงประมวล สังเคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้ของหลักสูตรนั้นๆ"
ผลจากการสังเคราะห์หลักสูตรท้องถิ่นสู่หลักสูตรสถานศึกษา ทำให้กลุ่มโรงเรียนในโครงการได้เอกสารหลักสูตรท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์ ที่นำไปใช้จัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร 44 และยังมีการพัฒนา ต่อยอดหลักสูตรนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ และเช่นกันกับที่ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองหล่มเอ่ยปากว่า "หลักสูตรท้องถิ่นที่เกิดจากกรณีศึกษาของท้องถิ่น ทำให้ครูเองได้เรียนรู้จากชาวบ้านไปพร้อมๆกับเด็ก ครูไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป"
4.
เราอาจสังเคราะห์ไว้ในที่นี้ว่า หลักสูตรท้องถิ่นมีแนวทางเนื้อหาและกระบวนการจัดการเป็น
2 แบบ ดังนี้ (ดูตารางประกอบ)
อย่างไรก็ดี การพัฒนาและการใช้หลักสูตรท้องถิ่นทั้ง 2 แนวทาง ครูส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องบูรณาการเข้าสู่ 8 สาระแกนกลาง เพราะครูจะต้องใช้แบบฟอร์มหรือแนวทางการให้คะแนนของกลุ่มหลักสูตรแกนกลางเป็นตัวตั้ง แต่ในส่วนของครูที่ให้ความสำคัญแก่การทำหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ( แบบที่ 1 ) เห็นว่าไม่มีปัญหาแก่การประเมินผลหรือให้คะแนน เพราะขึ้นอยู่กับข้ออธิบายประกอบการให้คะแนนเป็นสำคัญ อาทิเช่น หากเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องป่าชุมชน ก็สามารถประเมินผลตามหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น หรือวิชาสังคม-วัฒนธรรมได้อยู่แล้ว ทั้งนี้น่าจะขึ้นอยู่กับความแตกฉานของครูในความเข้าใจหลักสูตรท้องถิ่นเสียมากกว่า
นอกจากนี้ ช่องทางการทำวิจัยในชั้นเรียนตามข้อกำหนดมาตรา 24 (5) ก็เอื้ออำนวยให้ครูใช้เป็นกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ( action research ) เพื่อค้นหาโจทย์ที่จะเป็นสาระของหลักสูตรท้องถิ่น โดยการให้นักเรียนและชุมชนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมได้ อีกทั้งยังใช้เป็นผลงานทางวิชาการเพื่อการปรับปรุงคุณวุฒิได้อีกด้วย
มีตัวอย่างหลักสูตรท้องถิ่นมากมาย ที่บูรณาการการเรียนเข้าสู่สาระวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคม-วัฒนธรรม หรือการงานอาชีพได้อย่างมีประสิทธิผล ดังเช่น
- หลักสูตรสีย้อมธรรมชาติจากเส้นฝ้าย > โรงเรียนมัธยมป่ากลาง จังหวัดน่าน ในบริบทของชุมชนที่มีอุตสาหกรรมพื้นบ้านคือ การทอผ้าจากสีธรรมชาติ ครูจึงออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนรู้แหล่งที่มาของวัสดุธรรมชาติที่ให้สีหลากหลาย กระบวนการสกัดและย้อม ปัจจัยที่ส่งผลต่อสีย้อมที่แตกต่าง โดยใช้การทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
- หลักสูตรหอยเชอรี่ > โรงเรียนบ้านหนองผักแว่น จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนเกษตรชาวนา ซึ่งมักประสบปัญหาศัตรูพืชคือหอยเชอรี่ระบาด ครูจึงศึกษาทบทวนความรู้เกี่ยวกับหอยเชอรี่ ทั้งที่เป็นเอกสารภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทำให้ได้ความรู้ทางชีววิทยา ปัญหาด้านสุขภาพและการใช้ประโยชน์จากหอยเชอรี่ ตลอดจนวิธีจัดการกับหอยเชอรี่อย่างยั่งยืน โดยประมวลเป็นชุดความรู้ของโรงเรียน แล้วป้อนกลับไปสู่การระดมความเห็นและการมีส่วนร่วมกับชุมชน สามารถผสมผสานความรู้สมัยใหม่กับความรู้ของชาวบ้าน ขึ้นเป็นหลักสูตรการเรียนรู้
และยังสร้างรายได้จากการทำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่
- หลักสูตรน้ำตกปลิว > โรงเรียนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนตั้งอยู่ใกล้แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติคือน้ำตกปลิว ทั้งครูและนักเรียนจึงร่วมกันสำรวจข้อมูลทางกายภาพ ทั้งเรื่องคุณภาพน้ำและสภาพตื้นเขิน มีการจัดทำแผนที่เส้นทางน้ำระยะทางกว่า 17 กิโลเมตร ทำให้ อบต.ในพื้นที่สนใจจะนำผลงานนี้ไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของท้องถิ่น
ถึงตรงนี้ อาจจะมีข้อสงสัยจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองว่า
ในบริบทของศูนย์กลางเมือง
เช่นอย่างกรุงเทพมหานคร หรือหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น ฯ ซึ่งไม่มีชุมชนทางกายภาพและเป็นไปได้ยากในการเสาะหาผู้รู้ด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน
จะพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในแนวทางดังตัวอย่างได้อย่างไร ?
การทำความเข้าใจความหมายของชุมชน
ก่อนอื่น
คงต้องทำความเข้าใจความหมายของ"ชุมชน" และ"การมีส่วนร่วม"
เสียก่อนว่า
ชุมชนในโลกยุคใหม่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนในละแวกเดียวกันอีกต่อไป
หากแต่เรายังมีชุมชนในความหมายใหม่ ที่รวมเอากลุ่มคนที่มีเจตจำนงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน
และกระทำการหรือมีกิจกรรมเพื่อเจตจำนงนั้นร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็น"ชุมชนโดยเจตนา"
( Intentional community )ก็ได้ ดังนั้น โรงเรียนใจกลางกรุงเทพมหานคร ก็อาจมีชุมชนคือนักเรียนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มาจากหลากหลายที่ก็ได้
หรือโรงเรียนปริ๊นซ์รอแยลในกลางเมืองเชียงใหม่ ก็อาจมีชุมชนคือวัด หรือ อบจ. หรือพ่อค้าแม่ขายรอบโรงเรียนก็ได้ โดยนัยยะนี้ก็คือ ชุมชนหมายถึงกลุ่มคนนอกเหนือจากครูและโรงเรียน ที่มีความต้องการจะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแก่เยาวชน ขอแต่เพียงครูและโรงเรียนเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้คนหลากหลายนอกรั้วโรงเรียน แล้วค้นหาความต้องการร่วมของเขาเหล่านั้น โรงเรียนอาจจะพบว่า เด็กและผู้ปกครองที่เป็นชนชั้นกลางหรือคนในศูนย์กลางเมือง อยากได้หลักสูตรการละคร หลักสูตรโยคะเพื่อสุขภาพ ฯ ถ้าเช่นนั้นก็พึงเอาความต้องการร่วมนี้เป็นตัวตั้งในการจัดทำพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนั้นต่อไป
ด้วยเหตุว่าหลักสูตรท้องถิ่น ไม่ได้หมายถึงหลักสูตรภูมิปัญญาเท่านั้น และหลักสูตรภูมิปัญญาก็ไม่ได้หมายถึงความรู้เก่าที่ต้องอนุรักษ์เท่านั้น หากแต่หลักสูตรท้องถิ่นในความหมายที่ถูกต้องคือ สิ่งที่ชุมชนสนใจใฝ่เรียนรู้ร่วมกัน บนฐานของเจตจำนงร่วมกันว่า จะเป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสุข สนองความต้องการ และแก้ปัญหาของกลุ่มร่วมกันได้ หรือพูดง่ายๆว่า หลักสูตรท้องถิ่นก็คือ"ความต้องการร่วม"นั่นเอง
แต่ถ้าหากว่า ความสนใจใฝ่เรียนรู้ของชุมชนของโรงเรียนในศูนย์กลางเมือง
คือเนื้อหาด้านภูมิปัญญาเก่า เช่น อยากเรียนศิลปะฟ้อนรำแบบพื้นบ้านล้านนา
อยากเรียนหมอลำ ฯ โรงเรียนก็ต้องสร้างกระบวนการในการสรรหาครูภูมิปัญญาหรือผู้รู้จากที่อื่นๆ
หรือนำผู้เรียนออกไปสู่ภูมิลำเนาของผู้รู้ชาวบ้านเหล่านั้น
5.
บทพิสูจน์ของกระบวนการหลักสูตรท้องถิ่น ชี้ชัดว่าผลกระทบเชิงบวกที่มีต่อทั้งตัวผู้เรียน
ครูผู้สอนและชุมชน คุ้มค่าน่าลงแรงเป็นอย่างยิ่ง เหมือนเช่นที่ครูคนหนึ่งบอกด้วยความสุขใจว่า
"ชาวบ้านมีความรู้ในเรื่องของท้องถิ่นอย่างน่าทึ่ง ตัวเองเป็นลูกหลานของชุมชนนี้
แต่ไม่เคยมีความรู้อย่างนี้เลย ดีใจที่ได้เรียนได้รู้ไปพร้อมๆกับเด็ก"
ขณะที่ครูชาวบ้านคนหนึ่งถึงกับหลั่งน้ำตากลั้นสะอื้นในพิธีไหว้ครูของโรงเรียนแห่งหนึ่ง "ในชีวิตนี้เพิ่งจะได้รับเกียรติสูงสุดอย่างนี้ ภูมิใจมากที่โรงเรียนเป็นของชุมชน ให้ลูกหลานได้เรียนเรื่องของชุมชน และจะขอทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกหลานอย่างสุดความสามารถชั่วชีวิต"
และสำหรับเยาวชนผู้เรียนที่ได้ยกมือไหว้ชาวบ้านแต่งตัวซอมซ่อ เพื่อขอเรียนรู้วิชาจักสาน หรือวิชาสมุนไพรอย่างสนุกสนานนั้น แน่นอนว่า เยาวชนได้ซึมซับทัศนะต่อความรู้ไปอีกแบบหนึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศของการถ่ายทอดสิ่งละอันพันละน้อยกับเรื่องเล่าจากอดีต คือ กระบวนการปลูกฝังคุณธรรม ความรู้สำนึกต่อแผ่นดินถิ่นเกิด และเป็นการเพาะเมล็ดกล้าแห่งความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเราสั่งสมไว้ให้
คุณค่าและความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น จึงเป็นจุดเปลี่ยนของการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ต่อการศึกษาของชาติ และมีผลผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นจริง อย่างน้อยที่สุด กระบวนการหลักสูตรท้องถิ่นก็มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดี ผู้คนในวัยที่แตกต่างหลากหลายทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่เคยยึดกุมอำนาจทางความรู้อย่างครู กลับมาแนบแน่นและให้ความเคารพศรัทธากันมากขึ้น
ผู้บริหารโรงเรียนปรับเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อโรงเรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน เกิดวัฒนธรรมการถกเถียง การใช้ปัญญาหาทางออกร่วมกัน ชาวบ้านเกิดความตระหนักในตัวตน รู้ความหมายของความรู้พื้นบ้านและวัฒนธรรมที่ถูกละเลย นำมาซึ่งอุดมการณ์ร่วมที่จะขับเคลื่อนการศึกษาของลูกหลานให้เป็นไปในทิศทาง "รู้จักรากเหง้า เท่าทันโลกาภิวัฒน์"
ซึ่งนี่คือพลังของการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล
และคนทั้งมวลเข้าร่วมส่วนในการศึกษาของชาติ อันเป็นเจตนารมย์ของการปฏิรูปการศึกษา
เพื่อให้การศึกษาคือเครื่องมือพัฒนาประชากรได้อย่างแท้จริง
และที่สำคัญ กระบวนการของหลักสูตรท้องถิ่นนำมาซึ่งกระบวนการพลิกฟื้นชุมชน
จากความอ่อนแอหมดศักดิ์ศรีหมดพื้นที่ทางสังคม ได้กลับมาหยัดยืนเป็นสง่า ฟื้นคืนศักยภาพที่เคยมี(empowerment
) อันเป็นรากฐานของชุมชนเข้มแข็งและสังคมเข็มแข็ง
นี่คงพูดได้ว่า หลักสูตรท้องถิ่นคือพลานุภาพแห่งกระสุนที่ยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว มีผลหลายต่อ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ก่อนอื่น คงต้องทำความเข้าใจความหมายของ"ชุมชน" และ"การมีส่วนร่วม" เสียก่อนว่า ชุมชนในโลกยุคใหม่ไม่ได้จำกัดแต่เพียงกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนในละแวกเดียวกันอีกต่อไป หากแต่เรายังมีชุมชนในความหมายใหม่ ที่รวมเอากลุ่มคนที่มีเจตจำนงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกัน และกระทำการหรือมีกิจกรรมเพื่อเจตจำนงนั้นร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็นชุมชนโดยเจตนา(Intentional community)ก็ได้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
คุณูปการสำคัญของหลักสูตรการศึกษาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเช่นนี้คือ การได้มาซึ่งตัวความรู้ ( Knowledge ) ที่มิใช่ความรู้สำเร็จรูป หากแต่เป็นความรู้ที่ก่อเกิดขึ้นจาก ฐานของปัญหาจริงหรือความต้องการร่วม ( Problem base ) แตกต่างจากความรู้ในห้องเรียนที่เน้นตำรา ( Content base ) จึงเป็นความรู้ที่มีลักษณะเป็นสมบัติส่วนรวมร่วมกันของคนจำนวนมาก และเป็นความรู้ที่หล่อเลี้ยงดำรงอยู่ได้ในชีวิตจริง โดยตัวความรู้นี้ก็แยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ทางสังคม หรือกระบวนการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ และนี่คือกระบวนเดียวกับการสร้างและการจัดการความรู้ของชุมชน ( Local knowledge ) ที่ธำรงอารยธรรมไทยมายาวนาน ก่อนหน้าระบบการศึกษาสมัยใหม่