01

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 557 หัวเรื่อง
บ้านหนองผือ ศูนย์กลางพุทธธรรม

ธันวา ใจเที่ยง : นักวิชาการอิสระ
โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนา
กลุ่มชน ๒ ฝั่งโขง

The Midnight 's article

R
relate topic
090448
release date
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 26000 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
The Midnight
University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อที่ midnightuniv(at)yahoo.com - midnight2545(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์ (การจัดส่งทางไปรษณีย์ จะลงทะเบียนทุกฉบับ)

พุทธธรรมแคว้นสองฝั่งโขง
บ้านหนองผือ ศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธธรรม
ธันวา ใจเที่ยง
นักวิชาการอิสระ : โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนากลุ่มชน ๒ ฝั่งโขง

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 557

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)

 

สายสาดฝนเมื่อยามบ่าย เริ่มสร่างซาเม็ด หยาดฝนที่เคยไหลหลั่งหยดเป็นเม็ดพรู่ จากฟากฟ้า
แถบเทือกเขาภูพาน ร่วงรินบนทิวไม้ป่าและยอดหญ้า กำลังจะเหือดหายไป พร้อมๆกับสายลมเย็นที่พัดโชยแผ่วมา โชยแผ่วมาคราดวงตะวันฉายแสงอีกครั้งในยามใกล้แลง มีเพียงฝนหลงเม็ด ที่ลอยเป็นละออง มากับสายลมหลังบ่ายเท่านั้น สายฝนเลือนหายเหือดแห้งไป เลือนแห้งหายไปพร้อมกับภาพของหมู่บ้านชาวผู้ไท "บ้านหนองผือ" ชุมชนชาวนา ที่ตั้งบ้านเฮือนอยู่หุบเขาภูพาน เมื่อขับรถขึ้นภูห่างออกมา

บ้านหนองผือ เป็นหมู่บ้านของชาวผู้ไท สาแหรกหนึ่ง ที่ตั้งชุมชนอยู่หุบเขาภูพาน เทือกเขา แห่งพระอริยเจ้าและเทือกเขาแห่งการปฏิวัติของประชาชน ห่างจากหนองหารหลวงเมืองสกลนคร ข้ามเทือกภูพานไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร ชาวผู้ไทหนองผือ เป็นกลุ่มชนที่น่าจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในช่วงการตั้งถิ่นฐานยุคคลาสสิคของชาวอีสานไทย (พ.ศ.2369-2375) ผู้เขียนจำได้ว่ารู้จักบ้านหนองผือครั้งแรก จากหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริ ทัตโต ที่เขียนขึ้นโดยพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) เมื่อประมาณปี พ.ศ.2534

ต่อมาผู้เขียนพยายามค้นหาและสอบถามจากผู้คนเกี่ยวกับเส้นทางไปบ้านหนองผือ จนกระทั่งสามารถไปเยือนบ้านหนองผือ ครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ.2541 คราวที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ออกมาเก็บข้อมูลทางสิ่งแวดล้อม เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนั้นจำได้ว่าขับมอเตอร์ไซค์ ไต่สันเขื่อนและลัดเลาะข้ามทิวภูพาน จนกระทั่งถึงบ้านหนองผือ เป็นเส้นทางที่ไปมาลำบากพอสมควร แม้นรัฐไทยจะผ่านยุคการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาถึง 40 ปี แล้ว และหากเมื่อย้อนไปราว 50 - 60 ปี ที่ผ่านมา เส้นทางการเข้าถึงบ้านหนองผือ คงจะกันดารและลำบากมาก และอาจเป็นเส้นทางที่ต้องเดินด้วยเท้าและเป็นเส้นทางเกวียน

หากเมื่อมองด้วยสายตาที่ว่า หมู่บ้าน คือความเป็นชนบท ห่างไกลความเจริญ และไม่มีความเจริญ ตามแนวทางการพัฒนาสมัยใหม่ซึ่งเป็นวาทกรรมจากต่างประเทศ ที่เน้นในเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ-ความทันสมัย (บริโภคนิยม-วัตถุนิยม) อย่างในอดีต บ้านหนองผือ อาจนับเป็นเพียงหมู่บ้าน ชาวนาแห่งหนึ่งที่น่าจะจัดอยู่ในประเภทหมู่บ้านไกลปืนเที่ยง ห่างไกลความเจริญ เพราะตั้งอยู่หลังภูพาน อยู่ในหุบภู ที่การเดินทางไปมา มิค่อยสะดวก แม้นในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกล ไม่มีถนนลาดยางเข้าไปถึง ต้องลัดเลาะเลียบภู ไม่มีอะไรที่น่าสนใจหรือน่าไปเยือน และยิ่งเมื่อย้อนไปในอดีต ครั้งที่หมู่บ้านนี้ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ในความรู้สึกคนเมืองบางครั้งแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้จะกันดารและลำบากกันเยี่ยงใด แต่สำหรับชุมชนหมู่บ้านชาวนาอีสาน ที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพและพอเพียง "วัฒนธรรมข้าว" การที่พื้นที่ชุมชนชุ่มฉ่ำไปด้วยหยาดฝน ที่หลั่งเม็ด ดินอุดมสมบูรณ์ ผืนป่ามีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มียาสมุนไพร นั่นก็เพียงพอสำหรับชาวนา ที่จะไถหว่านดำและปักข้าวเหนียว รอมันเหลืองอร่าม แล้วเก็บเกี่ยวขึ้นเล้า เหลือก็ร่วมทำบุญและแจกจ่ายในชุมชน ชุมชนที่อบอวลไปด้วยเสียงแคนและน้ำใจ

และหากมองด้วยหางตาที่ละเลยความสำคัญของหมู่บ้านไทย และด้วยความเข้าใจที่ว่า เมือง บางกอกไทยเป็นศูนย์รวมทางอำนาจรัฐ-อำนาจบริหาร และความศิวิไลซ์ เป็นแกนกลางที่มีความสำคัญไปเสียทุกเรื่อง การที่บ้านเมืองหรือประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ล้วนขึ้นอยู่กับแกนกลางของอำนาจรัฐหรือการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยึดกุมอำนาจอยู่ในบางกอก หรืออย่างน้อยๆก็เมืองในเขตภูมิภาค บ้านหนองผือ หาได้มีอะไรที่น่าสนใจ ก็เหมือนๆกับหมู่บ้านชนบทอีสานทั่วๆไป ที่มักถูกมองอย่างหยามหยันว่าไม่มีความเจริญ ต้องพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาสมัยใหม่ รัฐต้องเข้าไปจัดการซ้ายหันขวาหัน แม้นแต่คนที่มาจากชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้น ก็เคยถูกมองว่าบ้านนอก ไร้การพัฒนา คุ้งไปด้วยกลิ่นโคลนและสาปควายจากเสื้อผ้าเก่าๆดำๆแปดเปื้อนโกโรโกโส ภาษาและสำเนียงที่ซื่อๆเซ่อๆน่ารำคาญ

แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างไร้อคติ ด้วยสายตาเป็นธรรม หรือสายตาของปัญญาชนแล้ว หมู่บ้านชาวนาแห่งนี้ ที่เรียกกันว่า "บ้านหนองผือ" ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร กลับมีความสำคัญ มีความหมายยิ่งต่อประวัติศาสตร์ และความยั่งยืนของสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำล้านช้างตอนล่าง (The lower Maekhong Basin)

เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมและค้ำจุนประเทศไทย ประชาชนคนไทยส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาในเมืองไทยก็เคยคลอนแคลนยิ่งนัก เช่น การเกิดความห่วงใยของในหลวงรัชกาลที่ 4 ในรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ทรงก่อตั้งลัทธิพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ เพราะเห็นว่าพระพุทธศาสนาในยุคนั้น พระสงฆ์ไม่ค่อยเคร่งครัดธรรมวินัย ซึ่งมิต้องไปพูดถึงเรื่องของมรรคผลนิพพาน ที่อาจเป็นเพียงเรื่องเล่าในคัมภีร์โบราณไปเสียแล้ว และหมดไปแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เนื่องจากเงื่อนไขของประเทศไทย (อยุธยา-รัตนโกสินทร์-ล้านช้าง-ล้านนา) ก่อนหน้านั้น เต็มไปด้วยศึกสงคราม ตั้งแต่ปลายสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น บ้านเมืองมิได้มีความสงบสุข ที่ พระภิกษุพอจะตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ ค้นคว้าทางพุทธศาสนาอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำพุทธศาสนาก็ถูกนำไปใช้ในเรื่องของการเมือง การปกครองเสียมาก แต่การเกิดวงศ์ธรรมยุติขึ้นในส่วนภาคกลาง คราวนั้น ใช่ว่าจะปรับเปลี่ยนหรือทำให้พระพุทธศาสนาเข้มแข็งขึ้นนัก

การเกิดขึ้นของกลุ่มพระธุดงค์กรรมฐานสายอีสาน ราวปี พ.ศ.2445 อันเป็นปีที่กลุ่มคณะพระสงฆ์จากอุบลราชธานี อย่างพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์หนูและพระอาจารย์มั่น ได้เริ่มร่วมเดินธุดงค์ออกไปทางทิศที่ตั้งพระธาตุพนมเป็นครั้งแรก (1) ในช่วงก่อนการปฏิวัติการปกครอง 2475 ที่ประเทศไทย ปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง สู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย นับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนาของประเทศไทยที่สืบต่อมาถึงยุคปัจจุบัน

การเกิดขึ้นของพระธุดงค์กรรมฐาน ภายใต้การนำของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นอกจากจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมพุทธศาสนา-พุทธศาสนิกชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นบางประการของชาวอีสานแล้ว ยังถือว่าพลิกประวัติศาสตร์พุทธศาสนาหน้าใหม่ในประเทศไทยด้วย เพราะแต่เดิม ภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาของหมู่บ้าน นิยมร่วมกิจกรรมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เช่น งานส่วงเฮือ บุญบั้งไฟ หากมองในแง่ของการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมประเพณี กิจกรรมดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่ดี แต่ในแง่ของการปฏิบัติเพื่อจุดมุ่งหมายหลักของพุทธศาสนาอาจไม่เหมาะนัก และชาวบ้านเองก็มีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยังผูกพันและนับถือผีเป็นชีวิตจิตใจ มีการผสมผสานแนวคิดแบบพุทธกับผีและพราหมณ์ บางครั้งในวัฒนธรรมความเชื่อและนับถือผี ของชนพื้นถิ่น เช่น ชาวผู้ไท ญ้อ ตาด ต้องเซ่นผี ด้วยชีวิตสัตว์อันบริสุทธิ์

พระธุดงค์กรรมฐานภายใต้การนำของท่านอาจารย์มั่น กลับมีอุดมการณ์เพื่อประพฤติปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมขั้นสูง นิยมอยู่อย่างสงบตามป่า ตามถ้ำ สำนักสงฆ์ในป่า ฉันข้าวมื้อเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานบุญรื่นเริง พยายามเปลี่ยนแปลงระบบความเชื่อที่อาจนำมาซึ่งการเบียดเบียนและทำร้ายสัตว์ และนำพาการทำบุญ เจริญ-ภาวนาเพื่อหวังผลในระยะใกล้หรือชาติปัจจุบัน มิได้หวังในยุคหน้ายุคพระศรีอารย์อันเป็นระบบความเชื่อใหญ่ดั้งเดิมของพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านอีสาน (Popular Buddhism) ที่ภิกษุสงฆ์ทั่วไปนิยมพาประชาชนทำกิจกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อดังกล่าว

การประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง เคร่งครัดต่อธรรมวินัย ถือธุดงควัตร 13 เข้มข้นกว่าเดิม เพราะว่าวัฒนธรรมความเชื่อหรืออุดมการณ์ของการฝึกฝนพัฒนาตน (ไตรสิกขา) ของพระธุดงค์กรรมฐาน สายอีสานกลุ่มนี้ เพื่อให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา หรือของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน ในปัจจุบัน อันเป็นจุดหมายที่สูงมาก แตกต่างจากวัฒนธรรมภิกษุ ท้องถิ่นแบบเดิม ด้วยฮีตคองที่เคร่งครัดดังกล่าว จึงทำให้เป็นที่เคารพกราบไหว้ของประชาชนทั่วไป ที่กลุ่มคณะสงฆ์เหล่านี้ย่างกรายไปถึง แม้นในระยะแรกชาวบ้านหรือชาวนาอีสานอาจรู้สึกแปลก ทำตัวไม่ถูก เพราะไม่ชินต่อข้อวัตรปฏิบัติ บางทีเวลาที่พระธุดงค์เหล่านี้เดินธุดงค์ผ่าน ชาวบ้านที่กลับมาจากนาหรือไร่ เห็นแล้วตกใจกลัว ต่างหลบหลี้ บ้างซ่อนตัวในป่าหรือโยนสิ่งของ พากันวิ่งหนีด้วยความกลัว (2)

ต่อมาเมื่อภายหลังกลุ่มผู้นำคณะสงฆ์เหล่านี้บางรูปบางองค์ มรณะภาพลงไป กระดูกของท่าน แปรเป็นพระธาตุบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ยิ่งทำให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเชื่อมั่น-ศรัทธาทั้งใกล้และไกล ทั้งสามัญชนและเจ้านายชั้นสูง จากเดิมที่คณะสงฆ์ เหล่านี้ ปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ตามป่าเขา ตามลำพัง ลำบากแสนเข็ญ โดยที่สังคมมิได้สังเกตหรือให้ความสำคัญนัก โดยเฉพาะจาก พระฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายราชการ บางครั้งถึงกับถูกกล่าวหาว่าเป็น พระคอมมิวนิสต์ (นอกคอก) โดนเพ่งเล็งจากพระฝ่ายปกครอง

แต่ต่อมาสังคมประจักษ์ในคุณธรรม-ความดี ประชาชนกล่าวถึงจากเล็กขยายไปไกล จากใกล้ไปไกล เหมือนศีลที่หอมทวนลม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระคุณเจ้า พระธุดงค์กรรมฐานสายนี้ ศิษย์พระอาจารย์มั่น เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่สิม หลวงตามหาบัว พระอาจารย์วัน หลวงพ่อชา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างแปรพระราชฐาน มายังส่วนภูมิภาคทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน และสุดท้ายกลุ่มพระธุดงค์กรรมฐานชาวนาอีสานเหล่านี้ ที่เผยแพร่วัฒนธรรมแบบพระป่าหรือพระธุดงค์กรรมฐานที่มีความงามในการครองตน ครองวัด ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย กลับเป็นฐานหลักในการค้ำจุนพระพุทธศาสนาของประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน

หากยกนามคณะสงฆ์ของพระธุดงค์กรรมฐานเหล่านี้ มากล่าวถึง ผู้คนในสังคมไทยต้องยกมือท่วมหัว เพราะแต่ละองค์นอกจากจะครองคุณธรรมขั้นสูงแล้ว ถึงตัวจะจากไปแต่คุณธรรมความดียังตราตรึงและนำมาซึ่งความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และความเข้มแข็งของสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย เช่น

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดอรัญญวิเวก ที่ศรีสงคราม นครพนม หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา หลวงปู่แหวน สุจิณโน ดอยแม่ปั๋ง ที่เชียงใหม่ หลวงปู่เทสก์ เทสสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง หนองคาย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม สกลนคร หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ที่วังสะพุง เมืองเลย หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่ถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่ หลวงปู่คำดี ปภาโส ที่ถ้ำผาปู่ เมืองเลย หลวงปู่หลุย จันทสาโร ที่ถ้ำผาบิ้ง เมืองเลย หลวงปู่สาม อกิณจโน วัดป่าไตรวิเวก สุรินทร์ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ วัดป่าบ้านดงเย็น อุดรธานี หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ภูจ้อก้อ มุกดาหาร หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี พระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ภูทอก หนองคาย พระอาจารย์ วัน อุตตโม ถ้ำพลวง ส่องดาว สกลนคร พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จันทบุรี เป็นต้น

ซึ่งถือว่าเป็นเพียงคณะภิกษุสงฆ์ ที่เป็นศิษย์และเคยอยู่ร่วมสมัยกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาจารย์ใหญ่ของพระธุดงค์กรรมฐานสายอีสานบางรูปเท่านั้น ยังไม่รวมคณะศิษย์อื่นๆ รวมทั้งกลุ่มศิษยานุศิษย์ของพระคุณเจ้าเหล่านี้ และพระภิกษุสงฆ์รุ่นหลังๆที่ไม่อาจทันพบหลวงปู่มั่นแต่นิยมประพฤติปฏิบัติตามคองแบบพระธุดงค์กรรมฐานหรือพระสายวัดป่า เช่น หลวงปู่อ่อนสี ขันติกโร วัดป่าโนนแพง นครพนม

ในประวัติศาสตร์ของอีสาน นับตั้งแต่การก่อตั้งชุมชนชาวอีสานครั้งใหญ่ที่สุด ในต้นรัตนโกสินทร์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 โดยเฉพาะหลังการพิพาทระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับทางราชสำนักกรุงเทพฯ ใน ราวปี พ.ศ. 2369-2375 ที่มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมากในแผ่นดินอีสาน (Classical Settlement) แต่ไม่ปรากฏว่าเคยมีพระธุดงค์กรรมฐาน ที่เดินทางออกธุดงค์เพื่อมุ่งเน้นการปฏิบัติอยู่ตามป่าตามเขา อย่างเป็นระบบ และเอาจริงเอาจัง เพราะแม้นพุทธศาสนาในดินแดนอีสานและแถบสองฝั่งโขง จะมีก่อนหน้านี้แบบล้านช้าง แต่ก็ผูกพันใกล้ชิดและผสมผสานกับวัฒนธรรมการนับถือผีของชาวอีสาน อุดมการณ์ของพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านดังกล่าว มีอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญต่อการทำบุญเพื่อไปเกิดในยุคพระศรีอารย์ หรือในโลกหน้า

แต่อุดมการณ์ของพุทธศาสนาของกลุ่มพระธุดงค์กรรมฐาน เน้นหนักในการฝึกฝนปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์หรือบรรลุธรรมในปัจจุบัน มิหวังการเกิดในโลกหน้า เพราะเห็นว่าการเกิดแต่ละครั้งมันมีแต่ความทุกข์ยาก ในขณะเดียวกันพระสงฆ์แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ก่อนหน้านี้ มักไม่สามารถหลีกเร้นวุ่นวายในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองได้ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ในยุคอยุธยาที่การรบฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงอำนาจในบ้านเมืองมีมิได้หยุดหย่อน เช่น พระราชครูหลวงโพนเสม็ก แห่งนคร เวียงจันทน์ พระสงฆ์สำคัญรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาวสองฝั่งโขง ต้องพาผู้คนอพยพ โยกย้ายหนีราชภัยออกจากเวียงจันทน์ มาตั้งบ้านธาตุพนม และ เมืองจำปาศักดิ์ เพราะปัญหาการเมืองในราชสำนักล้านช้าง ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23

หากเปรียบได้ว่าเชตุวัน คือ ศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งในการเผยแพร่พระศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล วัดป่าบ้านหนองผือ ที่บ้านหนองผือ สกลนคร น่าจะถือเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของ คณะพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และหากกล่าวว่าในปัจจุบันพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น มีความสำคัญยิ่งต่อการค้ำจุนพระพุทธศาสนาในภาคอีสาน และภาคอีสาน คือดินแดนที่เต็มไปด้วยวัดวา ดินแดนที่มากมายไปด้วยพระสงฆ์ มีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างเป็นระบบและสืบเนื่องเป็นฮีตคองจากรุ่นสู่รุ่น และเต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชน ที่ศรัทธาต่อพุทธศาสนามากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชาติไทย เท่ากับว่ามากที่สุดในอินโดจีน วัดป่าบ้านหนองผือ ในหมู่บ้านของชาวนาหนองผือ น่าจะกล่าวได้ว่า เคยเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนาของประเทศไทยที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง และอาจเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ พระศาสนธรรมที่สำคัญที่สุดในแคว้นสองฝั่งโขง "ศรีโคตบูร"

ถึงแม้ว่าในระหว่างที่พระอาจารย์มั่น ยังครองชีวิตอยู่ จะได้มีการอบรมคณะศิษย์ตามที่ต่างๆ ที่ท่านเดินทางธุดงค์และไปพักจำพรรษา เช่น วัดป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม สำนักสงฆ์แถวบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม (ในสมัยนั้น) เป็นต้น แต่ก็อยู่ในระหว่างที่ท่านเองก็กระเสือกกระสนในการอบรมตน และบ่อยครั้งที่ท่านละหนีจากคณะศิษย์ เพื่อไปเจริญสมาธิภาวนารูปเดียว เช่น การไปจำพรรษารูปเดียวที่ถ้ำสาริกา จ.นครนายก หรือการปลีกไปธุดงค์ที่เชียงใหม่ 12 ปี (พ.ศ.2472 - พ.ศ.2483) และมีคณะศิษย์บางรูปเท่านั้น ที่ลัดเลาะเรียบลำแม่น้ำโขงตามขึ้นไปค้นหา ถามข่าวคราวจากชาวเมืองและชาวเขาหาท่านและร่วมธุดงค์กับท่านในบางคราว อย่าง หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่เทสก์ เทสสรังสี และที่ป่าเมืองเชียงใหม่นี่เอง

พระคุณเจ้าหลวงตามหาบัว ลูกศิษย์องค์สำคัญ กล่าวว่า ท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดที่นั่น ใต้ร่มไม้ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวเพียงต้นเดียว มีใบหนาดกที่ให้ความร่มเย็น เวลา ราวตี 3 (3) ฉะนั้นการกลับมาจากเชียงใหม่ สู่อีสาน คราวหลัง จึงมีความหมายต่อวงศ์พุทธศาสนาสายอีสานและวงศ์พระธุดงค์กรรมฐานยิ่งนัก

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) หลังจากกลับมาจากเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงการมรณภาพ ระหว่างปี พ.ศ.2488-2492 จากการนิมนต์ ของ พระอาจารย์หลุย จันทสาโร ศิษย์อีกผู้หนึ่งที่เคยธุดงค์ผ่านมาทางหุบเขาภูพานบ้านหนองผือ

ก่อนหน้านั้น หลวงปู่มั่นเมื่อเดินทางลงจากเชียงใหม่ ท่านแวะพักที่วัดป่าสาละวัน นครราชสีมา ที่มีหลวงปู่สิงห์ ขันตยา- คโม ศิษย์รุ่นแรกๆคนสำคัญ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมพระสายวัดป่า และถือว่าเป็นอาจารย์ทางกรรมฐานของหลวงปู่เทสส์องค์แรกด้วย เป็นเจ้าอาวาส และต่อมาหลวงปู่มั่น มาพักที่วัดโนนนิเวศน์ อุดรธานี จนกระทั่งกลับเข้ามายังเขตสกลนคร จากการนิมนต์ของคณะศิษย์ชาวสกลนคร อย่าง คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ที่ สกลนคร ครานั้น หลวงปู่มั่น จำพรรษาหลายแห่ง ใน อ.โคกศรีสุพรรณ เช่น วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์) ในปี พ.ศ.2486 วัดป่าบ้านโคก ในปี พ.ศ.2485 และปี พ.ศ.2487 (4)

ต่อมาท่านได้ธุดงค์มาพักที่บ้านห้วยแคน พระอาจารย์หลุย ในขณะนั้นอยู่ที่หนองผือ ทราบข่าว จึงได้ อาราธณา หลวงปู่มั่นให้มาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์กลางป่า เมื่อองค์ท่านรับนิมนต์แล้ว ก็ออกเดินทางจากบ้านห้วยแคน ลัดเลาะป่ามายังบ้านหนองผือ โดยแวะค้างคืนที่ป่าใกล้บ้านลาดกะเฌอและบ้านกุดน้ำใส จนกระทั่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ใช้เวลา 4 คืน 5 วัน (5) และในระหว่างที่อยู่ในวัดป่าบ้านหนองผือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ร่วมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ด้วย และเป็นกำลังสำคัญในการดูแลพระเณร ในวัดบ้านหนองผือ

ที่บ้านหนองผือ ในระยะเมื่อประมาณ 60 ปี ที่แล้ว การคมนาคม ไม่สะดวกนัก บ้านเรือน ชาวนาผู้ไทอีสาน ตั้งเรียงรายเป็นบ้านไม้โบราณอีสาน มุงด้วยไม้แผ่น ที่ยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2546) ไฟฟ้าก็ยังไม่มีเข้า อยู่ด้วยวิถีชีวิตแบบชาวนา ตอนเช้าๆพระอาจารย์มั่น จะพาคณะสงฆ์ออกรับบิณฑบาต ในหมู่บ้าน ที่ห่างจากวัดไม่ไกลนัก ราว 1 กิโลเมตร พอท่านรับบิณฑบาต จากชาวผู้ไทบ้านหนองผือแล้ว ท่านจะให้พร

คุณตากง อัคพิณ ปัจจุบันอายุ 86 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านหนองผือทุกๆหลังคาเฮือน จะออกมาใส่บาตรด้วยข้าวเหนียวร้อนๆ "เต็มไปเบิ๊ดเวลาที่หลวงปู่มั่นเพิ่นมาบินบาต" และในวันพระที่สำคัญจะมีคณะสงฆ์จากทิศต่างๆเข้ามากราบพระอาจารย์มั่น เพื่อฟังธรรม เหมือนครั้งพุทธกาลที่ภิกษุสงฆ์ได้ออกแสวงหาโมกขธรรมตามที่ต่างๆ ตามป่าตามเขา เมื่อถึงวันพระหรือวันสำคัญหรือติดปัญหาในการประพฤติปฏิบัติจะเข้าไปกราบเพื่อฟังธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา และให้พระองค์แก้ปัญหาธรรม ตามชายป่าต่างๆที่ พระองค์จำพรรษาอยู่ ที่บ้านหนองผือในอดีตเฉกเช่นกัน

ในระยะนั้นวัดป่าบ้านหนองผือ ในชุมชนชาวนาบ้านหนองผือ คึกคัก พระธุดงค์ต่างเดินธุดงค์แวะเวียนมากราบท่านอาจารย์มั่นที่สำนักสงฆ์ในป่าบ้านหนองผือแห่งนี้มิได้ขาดทั้งใกล้และไกล พระคุณเจ้าหลวงตามหาบัว ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้ว่า "สมัยที่ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ พระธุดงค์ทยอยกันเข้าออกวัดหนองผือไม่ค่อยขาดแต่ละวัน ทั้งมาจากป่า ทั้งลงมาจากภูเขาที่บำเพ็ญ มาฟังการอบรบ …ทั้งมาจากอำเภอ จังหวัด และภาคต่างๆ ตลอดประชาชนจากอำเภอและจังหวัดต่างๆทั้งใกล้และไกล พากันมากราบเยี่ยมและฟังโอวาทจากท่านมิได้ขาด แต่ล้วนเดินด้วยเท้าเปล่ากันทั้งนั้น "

ดังนั้นวัดนี้ อาจกล่าวได้ว่าน่าจะสำคัญที่สุดของวงศ์พระพุทธศาสนาอีสานแห่งหนึ่ง ในแง่ของการฝึกฝนพัฒนาตน ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในแง่การถ่ายทอดวิถีวัฒนธรรมหรือวิถีทางแห่งการจัดการทรัพยากรชีวภาพด้วยภูมิปัญญาตะวันออก

ในเอกสาร "บูรพาจารย์" ที่รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นจากคณะศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (2544) ได้กล่าวถึงรายนามของคณะสงฆ์ที่ได้ร่วมจำพรรษากับพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือในช่วงพรรษาแต่ละพรรษา ตลอดจนพำนักเป็นครั้งคราว ที่ยังมีชีวิตอยู่ (ถึง พ.ศ.2544) เช่น

1. พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
2. พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร วัดป่าประชาชุมพลพัฒนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
3. พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ (พระโพธิธรรมาจารย์) วัดป่าเขาน้อย จังหวัดบุรีรัมย์
4. พระอาจารย์คำพอง ติสโส วัดถ้ำกกดู่ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
5. พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร (พระราชธรรมเจติยาจารย์) วัดธรรมมงคล พระโขนง กรุงเทพมหานคร
6. พระอาจารย์มหาเขียน ฐิตสีโล (พระอริยเวที) วัดป่ารังสีปาลิวัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
7. พระมหารักษ์ เรวโต วัดศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
8. พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่าบ้านนาสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
9. พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม วัดป่าโชคไพศาล อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
10. พระอาจารย์หนู สุจิตโต วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
11. พระอาจารย์นิน (ไม่ทราบฉายา) วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
12. พระอาจารย์ก้าน ฐิตธัมโม วัดราชยตนบรรพต อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
13. พระอาจารย์จันทร์แรม เขมสิริ วัดระหาน อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
14. พระอาจารย์ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
15. พระอาจารย์พวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
16. พระอาจารย์คำดี ปัญโญภาโส วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
17. พระอาจารย์ผ่าน ปัญญาปทีโป วัดป่าปทีปปุญญาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
18. พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
19. พระอาจารย์เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
20. พระอาจารย์อร่าม รักขิตตจิตโต (หลวงพ่อคำไพ สุสิกขิโต) วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
21. พระอาจารย์พวง สุวีโร วัดป่าปูลูสันติวัฒนา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
22. พระอาจารย์สุธัมม์ ธัมมปาโล วัดเทพกัญญาราม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
23. พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
24. พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย (พระวิสุทธิญาณเถร) วัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
25. พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน วัดป่าบ้านหนองโดก อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
26. พระอาจารย์อ่ำ ธัมมกาโม วัดป่าเขาเขียว อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
27. พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส (ทองคำ จารุวัณโณ) วัดโพธิ์ชัยมะนาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

สำหรับรายนามคณะพระธุดงค์กรรมฐานที่ได้อยู่จำพรรษา และมาพัก เป็นครั้งคราว ในระยะสั้น
ที่วัดป่าหนองผือ แต่มรณภาพแล้ว ที่สืบค้นได้และไม่ทราบฉายาในบางรูป เช่น

 

1. ท่านเจ้าคุณปราจีน
2. ท่านเจ้าคุณสิงห์บุรี
3. ท่านเจ้าคุณลพบุรี (อ่ำ ภัทราวุโธ วัดมณีชลขัณฑ์ จังหวัดลพบุรี)
4. ท่านเจ้าคุณเมืองเลย
5. ท่านเจ้าคุณพระมหาโชติ
6. พระอาจารย์เนียม โชติโก
7. พระอาจารย์เนตร กันตสีโล
8. พระอาจารย์สอ สุมังคโล
9. พระอาจารย์สีลา อิสสโร วัดป่าอิสสระธรรม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
10. พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก วัดโพธิ์ชัย อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
11. พระอาจารย์หอม (ไม่ทราบฉายา) วัดป่าบ้านอุ่มเหม้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
12. พระอาจารย์อุ่น อุตตโม วัดอุดมรัตนาราม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
13. พระอาจารย์คำ ยัสสกุลปุตโต วัดป่าศรีจำปาชนบท อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
14. พระอาจารย์สีโห เขมโก วัดป่าศรีไพรวัลย์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
15. พระอาจารย์ภูมี ฐิตธัมโม วัดป่าโนนนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
16. พระอาจารย์กว่า สุมโน วัดป่ากลางโนนภู่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
17. พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
18. พระอาจารย์แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
19. พระอาจารย์บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
20. พระอาจารย์แดง ธัมมรักขิโต วัดประชานิยม อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
21. พระอาจารย์บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
22. พระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก วัดป่าหนองไคร้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
23. พระอาจารย์เฟื่อง โชติโก วัดธรรมสถิต อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
24. พระอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
25. พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย
26. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
27. พระอาจารย์อุ่น กัลยาณธัมโม วัดป่าวิสุทธิธรรม (วัดป่าบ้านโคก) อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
28. พระอาจารย์ฉลวย สุธัมโม วัดป่าวิทยาลัย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
29. พระอาจารย์นิคม (ไม่ทราบฉายา) วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี
30. พระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม วัดธรรมหรรษาราม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
31. พระอาจารย์ผาง จิตตคุตโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
32. พระอาจารย์กิ ธัมมุตตโม วัดป่าสนามชัย จังหวัดอุบลราชธานี
33. พระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ วัดทุ่งสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
34. พระมหาประทีป โชติโก
35. พระสุทธิสารมุนี (บุญรักษ์ ฐิตปุญโญ) วัดสำราญนิเวศ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
36. พระอาจารย์ทองสา พุทธธัมโม
37. พระอาจารย์บัว ฐิตธัมโม
38. พระอาจารย์สอน สังจิตโต วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
39. พระอาจารย์อุ่น ชาคโร วัดดอยบันไดสวรรค์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
40. พระอาจารย์สม โกกนุทโท วัดเวียงสวรรค์ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

นอกจากนี้ เนื่องจากว่าวัดป่าบ้านหนองผือ มีที่พักที่ไม่มากนัก เพราะใน สมัยนั้น เป็นเพียง
สำนักสงฆ์ของคณะพระธุดงค์กรรมฐานชาวนา ตั้งในป่า ที่พักจึงมิได้มากนัก และอีกประการ คณะศิษย์ของพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ก็เป็นพระผู้ใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหาสืบขยายแนวทางพระธุดงค์กรรมฐาน ติดตามจำนวนมาก จึงพักกันตามสำนักสงฆ์รอบนอกแต่ไม่ไกลจากวัดป่าบ้านหนองผือนัก รายนาม พระเถระที่ประจำอยู่สำนักวัดป่ารอบนอก พร้อมกับลูกศิษย์ของท่าน ได้แก่

1. พระอาจารย์ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู)
ตอนนั้นพักอยู่สำนักสงฆ์บ้านโคกมะนาว ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
2. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง จังหวัดสกลนคร
3. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
4. พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน วัดป่ากลางโนนภู่ บ้านกุดก้อม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
5. พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
6. พระอาจารย์หลุย จันทสาโร สำนักสงฆ์บ้านห้วยบุ่น ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
7. พระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
8. พระอาจารย์สมบูรณ์ (ไม่ทราบฉายา) วัดป่านาใน ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

การกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ หมู่บ้านชาวนาชนบทแห่งนั้น ของพระอาจารย์มั่น
ทำให้วงศ์พระนักปฏิบัติดูเข้มแข็งมาก ทำให้วัดป่าบ้านหนองผือ ในหมู่บ้านชาวนา กลายเป็นศูนย์กลาง การเผยแพร่ศาสนธรรม นอกจากนี้ยังมีพระเถระ ที่อยู่ห่างไกลต่างจังหวัด ซึ่งมีความเคารพใน พระอาจารย์มั่น ได้เดินทางมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้อยู่จำพรรษา ที่ทางคณะศิษย์ท่าน รวบรวมได้มีรายนามดังนี้

1. พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม (พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์) วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา
2. ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี
3. ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) วัดป่าเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
4. พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร วัดชัยมงคล อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
5. ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
6. พระอาจารย์สอ สุมังคโล
7. พระอาจารย์พรหม จิรปุญโญ วัดประสิทธิธรรม อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
8. พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์) วัดอรัญญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
9. พระอาจารย์สาร (ไม่ทราบฉายา)
10. พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
11. พระอาจารย์ชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

จะเห็นได้ว่าแม้นสำนักสงฆ์บ้านหนองผือจะมีขนาดเล็ก เป็นวัดป่าที่การเดินทางแสนทุรกันดารมาก เมื่อราว 50 - 60 ปี ที่ผ่านมา ที่มีแต่เพียงทางเดินเท้าเท่านั้น และต้องเดินลัดป่าข้ามเขา ที่มีภัยอันตราย เช่น จากสัตว์ป่า อย่างเสือหรือช้าง ในการเข้าไปในหมู่บ้านชาวผู้ไท ในหุบภู เพราะแม้แต่ในปัจจุบันการเดินทางก็ยังไม่สะดวกนัก แต่นั่นเมื่อมองถึงอุดมการณ์ ความศรัทธา ความใคร่ต่อธรรม ของคณะ พระธุดงค์กรรมฐานที่ท่านเหล่านั้นฝึกฝนอบรมมาดี จึงมิได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการเดินทางเพื่อเข้าไปรับ การอบรมธรรมจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

"พ่อแม่ครูบาอาจารย์" หรือการได้เข้าไปกราบพระสุปฏิปันโน ของบวรพุทธศาสนา ดังรายนามของคณะศิษยานุศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ที่รวบรวมมา (2544) และต่อมาคณะสงฆ์ธุดงค์กรรมฐานเหล่านั้น ได้เป็นครูบาอาจารย์ของภิกษุสืบวงศ์พุทธศาสนาของภาคอีสานและสังคมไทย ท่านปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพ ดังจะเห็นว่าพระผู้มีอาวุโสน้อยมักจะเดินทางไปกราบคารวะ พระผู้มีพรรษามากในโอกาสต่างๆ เป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพกราบไหว้ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากคณะศิษย์ของท่านจะเป็นเสาหลักในการค้ำพระพุทธศาสนาในประเทศไทยให้รุ่งเรือง มั่นคงถาวร ในทศวรรษที่ 2500 เช่น หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่คำดี หลวงปู่ลี หลวงปู่สาม หลวงปู่หล้า หลวงพ่อชา หลวงปู่สุวัจจ์ หลวงพ่อพุธ หลวงพ่อวิริยังค์ หลวงพ่อสมชาย เป็นต้น แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจในภาวะที่ประเทศเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ จากการออกมาร่วมโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ภายใต้การนำของ องค์หลวงตาบัว เป็นต้น

นอกจากนี้วัตรปฏิบัติ จากการอบรมของพระอาจารย์มั่น ทั้งในระหว่างการออกธุดงค์ และการจำพรรษาในช่วงปลายที่วัดป่าบ้านหนองผือ ยังมีอิทธิพลและมีผลยิ่งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ (Biological Resource Conservation)ในเมืองไทย ด้วยวิถีแห่งพุทธธรรม (Buddhist Knowledge) ตามวัดป่าต่างๆที่คณะศิษย์ของท่านและศิษย์รุ่นหลังๆที่เป็นคณะศิษย์ของศิษย์ท่าน ที่ยังคงยึดฮีตคอง การปฏิบัติแบบ พระสายวัดป่า กระจายไปตามพื้นที่และท้องถิ่น ภาคต่างๆทั่วประเทศไทย

ฉะนั้นเราจะกล่าวว่าสำนักสงฆ์เล็กๆมิได้มีความสำคัญ มองข้ามไป หรือชุมชนชาวนาเล็กๆบ้านหนองผือ ที่ไม่มีไฟฟ้า ใช้แต่ตะเกียง ขี้ใต้ ไม่มีน้ำประปา จะไม่มีความสำคัญมิได้ เพราะชาวหนองผือ คือผู้ค้ำคณะสงฆ์ธุดงค์กรรมฐาน แม้นดูภายนอกจะเป็นเพียงชุมชนชายขอบ แต่กลับสำคัญยิ่งนัก กรณีบ้านหนองผือ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ใช่ว่าการค้ำจุนหรือการพัฒนาและดูแลประเทศ จะหมายเพียงแค่เป็นเรื่องของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นจะมีความสามารถทำได้ บางครั้งรัฐทำก็ล้มเหลว เพราะฉะนั้นด้วยหลักธรรมชาติข้อนี้จึงควรเปิดโอกาสให้คนในชุมชนในท้องถิ่น มีสิทธิในการดูแลจัดการทรัพยากรและบริหารชุมชนตัวเองในเรื่องต่างๆ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

พระอาจารย์มหาบัว ญานสัมปันโน หรือพระคุณเจ้าหลวงตาบัวของชาวไทยเรา เวลาที่ท่านกล่าวถึง บ้านหนองผือคราวใด ท่านมักจะพูดถึงด้วยซาบซึ้งน้ำใจชาวบ้านหนองผือไม่ลืม แม้นจะเป็นเพียงหมู่บ้านชาวนาที่มีเพียงไม่กี่หลังคาเรือนเท่านั้นในยุคนั้น "ที่ว่าอย่างถึงใจนะ บ้านหนองผือเรานี้ พ่อแม่ครูอาจารย์มาอยู่ที่นี่ บรรดาพี่น้องชาวหนองผือนี้ หัวใจเป็นธรรมทั้งแท่งๆ ตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงถึงผู้ใหญ่สุดในหมู่บ้าน แล้วบ้านนี้แต่ก่อนมีจำนวนครัวเรือน 70 หลังคาเรือน แล้วพระหลั่งไหลเข้ามาในวัดหนองผือจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่ก่อนไม่มีตลาด การไปมาหาสู่กันแทบจะไม่มี พี่น้องชาวหนองผือนี้ขวนขวายด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ความจน เลี้ยงพระมาทั้งวัดๆ

…เวลาหามหลวงปู่มั่นผ่านไปใน หมู่บ้าน ยืนกันเป็นแถวทั้งบ้านเลย บ้านหนองผือเรายืนกันเป็นแถวร้องห่มร้องไห้ เป็นแถวไปเลย เราก็เดินไปเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา เราก็สลดสังเวช น้ำตาเราก็ซึมภายในเหมือนกัน เพราะสงสารพี่น้องชาวหนองผือเรา ที่ได้อุปถัมภ์อุปัฏฐากด้วยศรัทธา ทุ่มกำลังทุกสิ่งทุกอย่างลง แล้วคราวนี้ร่มโพธิ์ร่มไทรจะไปตายจากแล้ว แล้วท่านเหล่านี้มีน้ำใจยังไงก็ต้องมีความเสียอกเสียใจ.." (7)
ชาวหนองผือผูกพันกับท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์มั่นก็เมตตาและห่วงใยชาวหนองผือ ดังจะเห็นจากคำกล่าวสุดท้ายของพระอาจารย์มั่น ที่บอกกับชาวหนองผือในวาระสุดท้ายก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ในขณะที่ท่านอาพาธหนัก ซึ่งชาวหนองผือเป็นผู้พากันหามองค์หลวงปู่ใส่แคร่ไม้ ออกมาจากหุบเขา เพื่อมาสู่วัดป่าสุทธาวาส ในหน้าเกี่ยวข้าว ที่ลมหนาวเริ่มโชยมาปีนั้น " เมือซะเด้อ…หมดท่อนี้ละเน้อ..เอาน้ำไปรดไม้แก่นล่อนให้มันป่งเป็นใบ บ่มีดอกเด้อ …ให้พากันเฮ็ดพากันทำตามที่อาตมาเคยพาเฮ็ดพาทำนั้นเด้อ อย่าลืมเด้อ..ให้พากันรักษาศีลห้า ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิต ผู้นั้นเลิศที่สุด หมดทอนี้ละ" แล้วท่านก็หลับตาและไม่ได้กล่าวอะไรอีกเลย

นั่นเป็นคำกล่าวและเทศนาสุดท้าย ของหลวงปู่มั่น และเป็นคำกล่าวเฉพาะกับชาวบ้านหนองผือ ผืนดินที่ท่านจำพรรษาสุดท้าย แล้วท่านก็มรณภาพลง ที่วัดป่าสุทธาวาส เมื่อ 2 นาฬิกา 23 นาที วันที่ 11 พฤศจิกายน 2492

นอกจากที่ชาวบ้านหนองผือ จะค้ำจุนพระธุดงค์กรรมฐาน แล้ว ชาวนาผู้ไทบ้านหนองผือ ยังมีส่วนในการเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติ เสรีไทยสายอีสาน สายหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ภายใต้การนำของอดีตรัฐมนตรีเตียง ศิริขันธ์ เช่น คุณตากง อัคพิณ ชาวหนองผือ วัย 86 ผู้หาข้าวปลาให้ผู้เขียนได้รับทาน

ในบ่ายวันหนึ่ง (ปี พ.ศ. 2546) กล่าวว่า ท่านเองก็เป็นพลพรรคเสรีไทยชาวนาสายท่านปรีดี แห่งบ้านหนองผือ ในสมัยนั้น นายเตียง ได้ออกมาบ้านหนองผือ เพื่อหาชายฉกรรจ์ เพื่อเข้าร่วมในการต่อต้านผู้รุกรานอินโดจีน ทั้งไทย ลาว เวียดนาม และพากันไปฝึกอาวุธที่ปลายนาท้ายหมู่บ้าน ภายใต้การดูแลการฝึกของอดีตขุนพลภูพาน "เตียง ศิริขันธ์" โดยที่ฝ่ายหญิงหรือสาวชาวนาบ้านหนองผือ เช่น คุณยายสิงห์ อัคพิณ ปัจจุบัน วัย 74 ปี (พ.ศ.2546) ภรรยาของคุณตา จะสนับสนุนเรื่องเสบียง และทอผ้าขาวเพื่อให้หลวงปู่มั่น เขียนยันต์เพื่อเป็นกำลังใจในการเข้าต่อสู้ของพลพรรคเสรีไทยชาวนาอีสาน และที่บ้านหนองผือนี่เอง ที่นายเตียง ศิริขันธ์ ขุนพลแห่งเทือกภูพาน มีภรรยา เป็นสาวงามผู้ไท ในระหว่างรอนแรม หลบซ่อนเพื่อภารกิจกอบกู้ชาติ ที่นางคอยดูแลห่วงใย ชายหนุ่มนักต่อสู้คนนั้น มิห่างกาย

การเดินทางไปเยือนหมู่บ้านชาวนาแห่งนั้น "บ้านหนองผือ" ทำให้ผู้เขียนเห็นความสำคัญของหมู่บ้านชาวนายิ่งขึ้น มิอาจที่จะมองข้ามหมู่บ้านชาวนา เหมือนอย่างที่ภาครัฐเคยทำให้มองว่าเป็นเพียงชนบทที่ต้องพัฒนา แต่หมู่บ้านชาวนานอกจากที่จะมีความสำคัญในแง่ของการเป็นผู้ผลิตทรัพยากรข้าวปลา อาหาร ยังผลิตและเป็นฐานค้ำจุนประเทศในด้านประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมและอิสรภาพทางภูมิปัญญาตะวันออก มีความสำคัญในระดับประเทศ ระดับนานาชาติ

สายฝนเหือดหายไปสิ้น เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับถึงตัวเมืองสกลนคร ยามใกล้ค่ำ เสื้อผ้าที่เปียกปอนจากเม็ดหยาดฝนจากฟากฟ้าทิวภูพาน ก็แห้งเหือดหาย เหลือทิ้งไว้ซึ่งความคิดและความรำพึงว่าเมื่อไหร่หมู่บ้านชาวนาไทยและชาวนาไทย จะอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรี มิแพ้คนเมือง นายทุนศักดินา หรือคนตะวันตก

อ้างอิง
1. เปรมวิทย์ ท่อแก้ว. (2534). การก่อตั้งและขยายตัวของพระธรรมยุตินิกายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2364-2473. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2. พระอาจารย์มหาบัว ญานสัมปันโน (2538). ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ. หน้า 6-7. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.กรุงเทพฯ.
3. พระอาจารย์มหาบัว ญานสัมปันโน (2538). ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ. หน้า114-115.(เรื่องเดียวกัน)
4. ในระหว่างราวปี พ.ศ.2484-2487 ที่ท่านอยู่ในสกลนคร พระอาจารย์มั่น จะพักจำพรรษาอยู่ในเขตอำเภอโคกศรีสุพรรณ ในละแวกหมู่บ้านที่ไม่ห่างกันนัก เช่น บ้านนามน บ้านโคก บ้านนาสีนวล และบ้านห้วยแคน
5. ใน เอกสารบูรพาจารย์ (2544) จัดทำขึ้นโดยคณะศิษยานุศิษย์ พระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ในนามมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
6. พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน (2538).ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ. หน้า 246. เรื่องเดียวกัน
7. ในเอกสาร บูรพาจารย์ .หน้า 54-55 (เรื่องเดียวกัน)

ขอขอบคุณ
1.คณะศิษยานุศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในนาม "มูลนิธิพระอาจารย์มั่น"
2.พระอาจารย์ประสงค์ สุจิตโต วัดประสิทธิ์สามัคคี (วัดป่าบ้านต้าย) สกลนคร
3.คุณตากงและคุณยายสิงห์ อัคพิณ อดีตเสรีไทยแห่งบ้านหนองผือ
4.คุณตาพันธ์ ทุมไมร ชาวบ้านต้าย สว่างแดนดิน สกลนคร
5.อาจารย์รัตนา ทวีเดช มารดา อ.นสพ.ธวัชชัย ทวีเดช
6.ชาวบ้านหนองผือ และนักศึกษาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชภัฏสกลนคร
7.โครงการศึกษาเพื่อการพัฒนากลุ่มชน 2 ฝั่งโขง

 
 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 540 เรื่อง หนากว่า 6700 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ในระยะแรกชาวบ้านหรือชาวนาอีสานอาจรู้สึกแปลก ทำตัวไม่ถูก เพราะไม่ชินต่อข้อวัตรปฏิบัติ บางทีเวลาที่พระธุดงค์เหล่านี้เดินธุดงค์ผ่าน ชาวบ้านที่กลับมาจากไร่นา เห็นแล้วตกใจกลัว ต่างหลบหลี้ บ้างซ่อนตัวในป่าหรือโยนสิ่งของ พากันวิ่งหนีด้วยความกลัว
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงที่ medium
เว็ปไซต์นี้ สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้... โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle@yah
oo.com พร้อมเขียนประวัติส่วนตัวเล็กน้อย