ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
040448
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 552 หัวเรื่อง
ปัญหาการจัดการน้ำในสังคมไทย

สุมนมาลย์ สิงหะ
โครงการสิทธิชุมชนภาคเหนือ
ตอนบน ลุ่มน้ำแม่แตงล่าง

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปัญหาเรื่องน้ำในสังคมไทย
สงครามแย่งชิงน้ำ...ใครจ่าย? ค่าปฏิกรรม
สุมนมาลย์ สิงหะ
โครงการสิทธิชุมชนภาคเหนือตอนบน ลุ่มน้ำแม่แตงล่าง

เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)




ณ ขณะนี้ภัยแล้งครอบคลุมประเทศไทยถึง 71 จังหวัด พื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า5.4 ล้านไร่ และมีประชาชนเดือดร้อนกว่า 11 ล้านคน ภาคกลางและภาคตะวันออก 21 จังหวัดประเมินมูลค่าเสียหายเบื้องต้นประมาณ 1,753 ล้านบาท หมู่บ้าน 642 หมู่บ้านที่มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียง 10 วัน (21 มีนาคม2548 ,มติชน)

วิกฤติการณ์ภัยแล้งถูกมองเกิดจากปรากฏการณ์ เอลนิโน และสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากมนุษย์ การใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยในภาคเมืองและอุตสาหกรรม ที่ทำให้ความผันผวนทางธรรมชาติทวีความรุนแรง ต้นปีที่ผ่านมาได้มีการวิจัยการพัฒนาที่ดินที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก จนถึงขั้นเสี่ยงต่อการกลายเป็นทะเลทรายถึง 6.93 ล้านไร่ของพื้นที่เกษตรกรทั่วประเทศ

ก่อนที่จะจ้องมองหายนะอย่างถี่ถ้วนและเผชิญคำทำนายน่าหวาดกลัว ขอย้อนรอยกลับไปสำรวจทิศทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย และบทเรียนการจัดการน้ำของชุมชนดังนี้

ยุคการพัฒนาและรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ
ประเภท 1 ในระบบชลประทาน
วิกฤติการณ์แล้งในเขื่อน 30 เขื่อนขนาดใหญ่และชลประทานขนาดกลาง 288 แห่งทั่วประเทศ

เขื่อนตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่ผลประโยชน์มักขัดแย้งกันเอง ปัจจุบันภาคเหนือปริมาณน้ำจากเขื่อนลดลงดังนี้ เขื่อนสิริกิตต์ 40% เขื่อนภูมิพล 50% กิ่วลม 50% แม่กวง 28% แม่งัด 19% และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 44 แห่ง ไม่สามารถระบายและจัดสรรน้ำแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำและชาวบ้าน (www.thaiwater 18 มี.ค.48)

ในขณะที่ปลายปีที่แล้วเกิดน้ำท่วมแถบน้ำอิง อ.เทิง เชียงราย ชาวบ้านผู้เสียหายในพื้นที่ ต.งิ้ว ต.เชียงเคี่ยน อ.เวียง ต.ปล้อง ประมาณ 2,000 หลังคาเรือน อ.พญาเม็งราย ต.แม่เปา ต.นิ้ง และน้ำต๊าก 800 หลังคาเรือน และเวียงป่าเป้า น้ำท่วม 7 ตำบล 47 หมู่บ้าน ต.บัวสลี ประมาณ 40 หลังคาเรือน (17 กันยายน 47, มติชน)

ประเภท 2 นอกระบบชลประทาน
การจัดการชาวบ้านในเขตต้นน้ำ ของกรมป่าไม้นับ 3 ทศวรรษ อันเป็นแนวทางการอนุรักษ์สุดขั้ว เป้าหมายป้องกันปัญหาการทำลายป่าต้นน้ำ ควบคุมการไหลของน้ำ เชื่อว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญสูงสุดในการเก็บรักษาน้ำและเปราะบางทางนิเวศวิทยามากที่สุด เป้าหมายสำคัญคือโยกย้ายคนออกจากป่า โดยการประกาศและขยายป่าอนุรักษ์

ในเรื่องปัญหาย้ายคนออกจากป่า ไม่ได้มีความแตกต่างจากปัญหาการย้ายคนออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนเลย คือมีการชดเชยในราคาถูก ทั้งที่อยู่อาศัยที่ทำกินแร้นแค้นไม่เหมาะทำกินและปัญหาชุมชนและสังคมตามมามากมาย ปี พ.ศ.2536-25387 ความขัดแย้งเรื่องป่าอนุรักษ์ประทุทั่วภาคเหนือ ในหลายพื้นที่บานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น กรณีความขัดแย้งลุ่มน้ำแม่สอย อ.แม่แจ่ม, ลุ่มน้ำแม่มะลอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำชุมชน
กรณีฝายพญาคำอายุกว่า 700 ปี ที่อ.สารภี เชียงใหม่ องค์กรเหมืองฝายไม่สามารถปรับจารีตประเพณีเข้ากับเงื่อนไขการผลิตพืชพาณิชย์แบบใหม่ เป็นความขัดแย้งเกษตรกรทำการผลิตแตกต่างกันในพื้นที่ปลายน้ำและต้นน้ำ 8 ตำบล 42 หมู่บ้าน พื้นที่รับน้ำปัจจุบัน 20,000 ไร่ ปัจจุบันจากแผนแนวคิดพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ต้องการรื้อฝายพญาคำ และหนองผึ้งแล้วผันน้ำเข้าแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานเวียงกุมกาม มีคุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นเจ้าของโครงการ

กรณีอำเภอแม่วาง ปัญหาขาดน้ำในลุ่มน้ำแม่วาง ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกเหมืองฝาย 11 ลูก เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงน้ำแตกต่างกัน คนเมืองรวมตัวเครือข่ายลุ่มน้ำวางตอนบน กลุ่มชาติพันธ์ 42 หย่อมบ้าน ไม่สามารถต่อรองบริษัทปลูกไม้ดอกประดับ เพื่อหยุดกักเก็บน้ำ หยุดปล่อยสารเคมีลงน้ำได้ และคนต้นน้ำและปลายน้ำ คนพื้นราบในเขตอำเภอจอมทอง ซึ่งเป็นสมาชิกเหมืองฝายใหม่รวมตัวในนาม "ชมรมอนุรักษ์จอมทอง" ที่คิดว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำเกิดจากชาวเขาต้นน้ำตัดไม้ทำลายป่าเผาไร่ การเปลี่ยนระบบเกษตรชาวม้ง การปลูกป่าสนของกรมป่าไม้ ทางแก้ไขคือต้องอพยพชาวเขาออกจากเขตต้นน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้รวมตัวในนาม "ชมรมอนุรักษ์พื้นที่สูงจอมทอง"และเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ

ศึกชิงน้ำระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.สูงเม่น หมู่ 1-9 จ.แพร่ พื้นที่ปลูกถั่วเหลือง 3,000 ไร่ ขอเปิดน้ำจากชลประทานเพื่อส่งน้ำพื้นที่ 9 หมู่บ้านที่ขาดแคลน ในขณะเครือข่ายผู้ใช้น้ำโครงการชลประทานอ่างแม่มาน พื้นที่ปลูกถั่วเหลือง 16,000 ไร่ คัดค้านการเปิดน้ำ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานยังไม่ได้รับน้ำทั่วถึง และเชื่อว่าน้ำในอ่างแม่มานไม่เพียงพอส่งให้กับพื้นที่นอกเขตชลประทาน (23 ก.พ. 2548, มติชน)

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำท้องถิ่นกับภาคเมือง
ฝายน้ำล้นแม่แตง จ.เชียงใหม่ที่ส่งน้ำให้พื้นที่แม่แตง แม่ริม อำเภอเมือง หางดง และสันป่าตอง พื้นที่ทั้งหมด124,238 ไร่ การประปาเชียงใหม่ก็อาศัยน้ำดิบจากคลองชลประทานแม่แตงเช่นกัน ในฤดูแล้งปี พ.ศ.2541 ชลประทานปิดประตูน้ำทั้งหมดเพื่อเก็บน้ำเพื่อการประปา การควบคุมน้ำทั้งหมดขึ้นอยู่กับชลประทานที่พิจารณาว่า ให้ภาคเมืองได้รับการจัดสรรก่อนภาคเกษตร กรณีเช่นเดียวกันเกิดที่แม่วางเมื่อโครงการประปาบ้านกาดปี พ.ศ. 2540-2541 โดยมีแหล่งน้ำดิบจากน้ำแม่วางได้ตั้งสถานีเหนือน้ำแม่วาง

ความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับรัฐ
โครงการของชลประทานที่มีแผนการศึกษาแล้ว โครงการผันน้ำกก อิง น่าน (น่าน พะเยา เชียงราย) โครงการเขื่อนแม่ขาน โครงการผันน้ำแตง-แม่งัด-แม่กวง (เชียงใหม่) แก่งเสือเต้น จ.แพร่ ที่ชาวบ้านสะเอียบกว่า 3,000 คนต้องอพยพออกจากที่ทำกิน และบ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ชาวปาเกอญอกว่า 300 หลังคาเรือน ที่ได้ผลกระทบจากโครงการสาละวินตอนล่าง

หรือเขื่อนตากวิน จุดหนึ่งในชื่อทางการว่า "โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนไทย-เมียนมาร์" ได้รับสนับสนุนการลงทุนสำรวจโครงการจาก กฟผ. ร่วมกับรัฐบาลพม่า และโครงการเขื่อนที่สร้างแล้ว สะท้อนปัญหาความล้มเหลวของเขื่อน ทั้งเชิงเทคโนโลยี เชิงการบริหารจัดการส่งน้ำของชลประทาน และผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำเดิม

ชาวนาพิจิตรในพื้นที่โครงการชลประทานดงเศรษฐี อ.เมือง จ.พิจิตร ประท้วงชลประทานเนื่องจากชลประทานปิดน้ำเพื่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำ ทำให้นาปรังกว่า 300,000 ไร่ เสียหาย(11 ก.ย. 47, ไทยรัฐ). จังหวัดกาฬสินธุ์ ต.เหล่ากลาง กิ่ง อ.ฆ้องชัย ชาวบ้านชุมนุมหน้าศาลากลาง จำนวน 8 หมู่บ้าน กว่า 100 คน เนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำปาว งดส่งน้ำชาวบ้านในฤดูแล้ง (19 ม.ค. 48, มติชน)

คณะกรรมการจัดการเหมืองฝายภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวน 203 คน บ้านท้องฝาย ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่ ที่อาศัยฝายซีเมนต์ของกรมชลประทานในการผลิต ประสบปัญหาฝายตื้นเขินใช้การไม่ได้ทุกปี เนื่องจากฝายซีเมนต์ที่ออกแบบกรมชลประทานไม่ได้คำนึงสภาพแม่น้ำ การใช้ประโยชน์ชุมชน (27 ม.ค. 48, ข่าวสด)

ปมรากปัญหา
หนึ่ง สภาพภูมิประเทศไทยมีความหลากหลาย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภูมิประเทศลอนคลื่น และชั้นดินเกลือ ที่ผ่านมาโครงการโขง ชี มูล (ระยะ1) ทำให้เป็นพื้นที่ดินเค็มไม่สามารถเพาะปลูกถึง 407 ไร่ และขยายวงกว้างเป็น 3 เท่า สำหรับภาคเหนือมีลักษณะเป็นแอ่งโดยเฉพาะแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีลักษณะเป็นที่ราบเล็กระหว่างหุบเขา มีลำน้ำสาขามากมาย ความจริงที่ปริมาณน้ำมีความไม่แน่นอนเพียงพอ การผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มหนึ่ง หรือการโอนสิทธิลุ่มน้ำหนึ่งไปยังลุ่มน้ำหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อลุ่มน้ำสาขา และจำเป็นต้องลงทุนจำนวนมหาศาล เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการน้ำทั้งหมด

สอง ปัจจัยทางด้านกฎหมายและการบริหารการปกครอง มีความเกี่ยวพันอย่างสำคัญ รัฐบาลตรา พรบ.ควบคุมการเหมืองฝายและพนัง พ.ศ. 2477 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2480 ต่อมาได้ยกเลิกและตราพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ.2482 ขึ้นมาใช้แทน มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2523 และ 2526 เนื้อหาโดยสรุป : เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเกณฑ์แรงงาน การแบ่งน้ำ ซึ่งมีความแตกต่างจากมังรายศาสตร์ (นโยบายการจัดการน้ำของชุมชนล้านนา) และได้เข้ามาช่วงชิงอำนาจและความเชื่อดั้งเดิมออกไปจากชุมชนเหมืองฝาย

นอกจาก พรบ.ชลประทานราษฎร์ พ.ศ.2482 ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เช่น พรบ. การชลประทานหลวง พ.ศ.2485, พรบ.พลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496, พรบ.คันและคูน้ำ พ.ศ.2505, พรบ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศไทยแห่ง พ.ศ.251?, พรบ.การประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ.2521, พรบ.รักษาคลองประปา พ.ศ.2526 เกี่ยวกับการจัดการน้ำเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมของแต่ละหน่วยงาน

พรบ.ชลประทานหลวง ได้ให้อำนาจที่รวมศูนย์แก่พนักงานชลประทาน ทั้งการควบคุมน้ำ ส่งน้ำและระบายน้ำ ชลประทานของรัฐเริ่มเข้ามาแทรกแซง และก่อให้เกิดผลต่อการจัดการน้ำในชุมชนในหลายพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัด จ.เชียงใหม่

สาม ปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรม คนในสังคมจำนวนมากคิดว่า น้ำเป็นความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในประเทศ ที่มีความหลากหลายการจัดการน้ำในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ภาคเหนือระบบวัฒนธรรมเหมืองฝายและสถาบันการจัดการน้ำของชุมชน ปฏิเสธการลดทอนคุณค่าน้ำกลายเป็นสินค้า ชาวนารายย่อยปฏิเสธการจ่ายค่าน้ำซึ่งเคยเป็นทรัพยากรที่ใช้ฟรีและจัดการสินไหมกันเอง

ชาวนายืนยันสิทธิการใช้น้ำตามหลักจารีตประเพณี และไม่ได้ให้ความสำคัญในสาระกฎหมายฉบับใหม่ที่ว่า น้ำเป็นของสาธารณสมบัติ แต่ชาวนาบางกลุ่มที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการซื้อขายสิทธิการใช้น้ำ เพราะเชื่อว่าแนวทางกฎหมายน้ำฉบับใหม่ จะเป็นหลักประกันในสิทธิการใช้น้ำของตน

ทรัพยากรน้ำ : บทบาทนักการเมือง
มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น ในยุคนายกรัฐมนตรี ชาติชาย ชุณหวัณ ซึ่งชูนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่การเป็นเสือตัวที่ห้า โดยได้มีมิติได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล (ระยะ1) และเขื่อนปากมูล

สำหรับการผลักดันเขื่อนหลายเขื่อนมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่น แก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนแม่วงศ์ โครงการเขื่อนเหวนรก โครงการเขื่อนแก่งกรุง อันเป็นมายาคติฝังรากลึกในสังคมไทย "เขื่อน"คือ"การพัฒนา" นักการเมืองจึงหาเสียงด้วยการเสนอโครงการเขื่อนต่อคนชนบท ใน ครม.สัญจรของพรรคไทยรักไทย แก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงศ์ เขื่อนแม่ขาน กับชาวบ้านสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ จนได้การขนานนามจากสื่อมวลชนบางฉบับว่า "เขื่อนทักษิณ" (? มิถุยายน 2547, ไทยนิวส์) หรือโครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง คราวที่ ครม.สัญจรมาที่เชียงใหม่

นอกจากนี้ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นยังร่วมผลักดัน เนื่องจากผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ เช่น การได้รับสัมปทานไม้ในอ่างและรอบอ่าง และการพัฒนาพื้นที่ท้ายเขื่อนที่ตนเองครอบครองอยู่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในงบประมาณ ทั้งนี้กรมชลประทานมีงบประมาณแต่ละปีเป็นรองกรมโยธาธิการเพียงเท่านั้น หรือการ "ฮั้วประมูล" กรณีการสร้างเขื่อนแควระบมสียัดที่กรมชลประทาน สมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา


กลุ่มอำนาจท้องถิ่น
กลุ่มอำนาจท้องถิ่นขึ้นอยู่กับลักษณะสังคมบางประการ ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคสนับสนุน และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แอบแฝง เรื่องค่าชดเชย กรณีเขื่อนกั้นริมตลิ่งแม่น้ำจันทบุรี จำนวน 42 ล้าน (พ.ศ.2546-2548) มูลค่า 78,000,000 บาท ผลักดันโดยนายสุกิจ สฤษดิชัยนันทา นายกเทศมนตรีจันทนิมิต อ.เมือง จันทบุรี ทั้งที่มีเสียงทักท้วงว่า เขื่อนกั้นไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งทำให้ริมตลิ่งพัง บ้านเรือนชาวบ้านเสียหาย (11 พ.ย. 47, ข่าวสด)

ทรัพยากรน้ำ :บทบาทสื่อมวลชน
เดิมสื่อมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเด็นเรื่องเขื่อนเป็นสาธารณะ กรณีเขื่อนน้ำโจน สื่อแสดงจุดยืนชัดเจนในความไม่เห็นด้วย แต่กรณีเขื่อนปากมูลระบบการทำงานสื่อสารมวลชลไม่ได้เอื้อให้มีรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา สื่อเองไม่ได้อิสระเพราะยังต้องพึ่งโฆษณา ปัจจุบันเป็นยุควิกฤติของสื่อสารมวลชน สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวถูกคุกคามและอับจนทางปัญญา ในการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์จริง ความซับซ้อนในสังคมไทย จึงเสนอปัญหาน้ำอย่างฉาบฉวย

ทรัพยากรน้ำ :บทบาท ที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมและนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐ
กฎกระทรวงวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ.2524 กำหนดให้โครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งเขื่อนและชลประทานขนาดใหญ่ ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่ารายงานดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อแหล่งทุนมากกว่าประเมินผลกระทบอย่างแท้จริง เช่น โครงการโขง-ชี-มูล (ระยะ1) เพิ่งจัดทำรายงานหลังจากสร้างเขื่อนไปแล้วชาวบ้านประท้วง

ปี พ.ศ. 2536 รัฐบาลอานันท์ ได้ปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยตรา พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ แต่กระบวนการนี้กลับเอื้อให้กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างรวดเร็ว. การถือหุ้นในบริษัท SEATEC บริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จดทะเบียน พ.ศ.2512 ถือหุ้น 10ล้าน ผู้ถือหุ้นหลักคือ นายฮาร์เวย์ เฟรด ลุควิก นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา, นายริชาร์ด เจ แฟลงไคลน์.

นักการเมืองไทยยุคนั้นที่ร่วมวงไพบูลย์กับบริษัทนี้คือ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน นักการเมืองพรรคกิจสังคม, ดร.อาณัติ อาภาภิรมณ์, นายสุธรรม ตันไพบูลย์, นายอรุณ สรเทพ, นายเริงยุทธ์ ภูมิรัตน์, ที่เข้าถือหุ้นขณะนั้น บริษัทที่ปรึกษาที่มีบทบาทสำคัญ คือ ทีม คอนซัลติ้ง เอ็นจีเนียร์ จำกัดโดยผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมชาวไทย และได้รับการว่าจ้างจาก กฟผ.โดยตลอด เช่น เขื่อนเชื่ยวหลาน โครงการโขง-ชี-มูล(ระยะ1) โครงการผันน้ำกก-อิง-น่าน. ผลงาน บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม โครงการผันน้ำสาละวิน โครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง แม้ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นแค่ "พิธีกรรม" และทักท้วงอย่างหนัก ตั้งแต่ พ.ศ.2530

บริษัทที่ปรึกษายังขยายไปถึงสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นให้มาร่วมรับจ้างทำรายงาน เท่ากับเป็นการลดกระแสการคัดค้านไปในตัว เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการกิ่วคอหมา โครงการผันน้ำแม่ละเมา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ โครงการลำตะคองสูบกลับ

ปัจจุบัน ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 56 ที่กำหนดว่าให้โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จะต้องมีการประเมินผลกระทบ รวมทั้งให้องค์กรอิสระและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาให้ความเห็นประกอบการดำเนินการ จนขณะนี้ยังไม่มีการแก้ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญแต่อย่างไร

แม้ปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากสถาบันการศึกษาที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ ก็จดทะเบียนรับจ้างทำรายการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแทบทุกสถาบัน

ทรัพยากรน้ำ :บทบาท องค์กรพัฒนาเอกชนและสถาบันสิทธิฯ
กรณีกระบวนการยกร่างกฎหมายน้ำฉบับปี พ.ศ.2546 โดย ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมน้ำทำสัญญาว่าจ้างการยกร่างเมื่อ ก.ค.46 ซึ่งได้ระบุกรอบการเขียนกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่แต่งตั้งตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นคณะกรรมการกำกับการร่าง พรบ.กฎหมายน้ำเมื่อ ตุลาคม พ.ศ. 2546 แต่ร่างมีกรอบสมบูรณ์แล้วเมื่อกันยายน พ.ศ.2545 ดังนั้นคณะกรรมการแทบไม่มีบทบาท ประธานกำกับการศึกษา คือ ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ซึ่งประชาสัมพันธ์เชิงบวกต่อกฎหมายน้ำ

ปกติแต่ละปี น้ำฝนมีน้ำให้คนไทยประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วระเหยไป เหลือในแม่น้ำลำคลองเพียง 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวน 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เราสามารถเก็บกักได้เพียง 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

เมื่อสิงหาคม พ.ศ.2546 รัฐบาลทักษิณประกาศการจัดการน้ำแบบบูรณาการของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปในปี พ.ศ.2552 เปิดอภิมหาโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 29 ล้านไร่ในปัจจุบันอีก 103 ล้านไร่ และใน 5 ปีจะให้มีพื้นที่เกษตรถึง 132 ล้านไร่ เพิ่มจากปัจจุบันถึง 3 เท่า

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยฯ จะดำเนินการทำโครงข่ายชลประทานระบบท่อ (Water Grid System) และการผันน้ำโขงเข้ามากก อิง น่าน ถ้าทำจริงน้ำจะเพิ่มไม่เกิน 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 1% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ถ้าเอาพื้นที่ 103 ล้านไร่ที่เพิ่มขึ้นฤดูแล้งไปปลูกข้าว ข้าวใช้น้ำ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หน้าแล้งพื้นที่ชลประทานใหม่จะใช้น้ำ 2,000 X 103 = 206,000 ล้านลูกบาศก์ มากกว่าน้ำธรรมชาติที่ให้เรามาและความสามารถในการกักเก็บถึง 3 เท่า (13 สิงหาคม 2546, มติชน)

และชลประทานระบบท่อ ได้สะท้อนความล้มเหลวหลังจากได้ทำโครงการนำร่อง 10 โครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2542 ในวงเงิน 13,475 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ศรีษะเกษ, ภาคตะวันออก 3 โครงการ, ภาคกลาง 1 โครงการ, เนื่องจากท่อแตกรั่วซึมใช้การไม่ได้ ไม่ทันความต้องการใช้ประโยชน์ และชาวบ้านก็ยังประสบปัญหาความแห้งแล้งหนักกว่าเดิมในปัจจุบัน

50 ปีที่ผ่านมา ปัญหาช่วงแรกเข้ามาใช้เทคโนโลยีและแทรกแซงระบบการจัดการน้ำชุมชนได้บางพื้นที่ ความสลับซับซ้อนของปัญหาเริ่มเข้ามาจัดการในระดับลุ่มน้ำ การลดบทบาทรัฐเพิ่มบทบาทเอกชน

ความขัดแย้งด้านแนวคิดและการปฏิบัติการ
รัฐบาล มองปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาเชิงอุปทาน (Supply Problem) และเป็นปัญหาเชิงสถาบัน ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำหรือแหล่งน้ำใหม่ๆให้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ด้วยการออกกฎหมายจัดการทรัพยากรน้ำฉับบใหม่ เพื่อวางกฎเกณฑ์การควบคุมน้ำให้เข้มงวดขึ้น ความพยายามแปลงแนวคิดสู่การปฎิบัติการรูปธรรม ได้แก่

หนึ่ง การศึกษาการแปรรูปประปาประเทศไทย โครงการช่วยเหลือทางวิชาการของ ADB พ.ศ. 2537

สอง
การศึกษาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนการประปาในราชอาณาจักรไทย

สาม
รายงานCountry Assistance Plan-CAP (แผนการให้ความช่วยเหลือประเทศไทย) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ธันวาคม 2542

สี่
โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม (Agricultural Sector Program Loan) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (JBIC) พ.ศ. 2543-2546

ห้า โครงการน้ำแก้จน

หก ร่างพรบ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ (เริ่ม ตุลาคม 2546 - กันยายน 2547) เนื้อหาหลัก กำหนดให้น้ำเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (มาตรา 6) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ มีการแบ่งประเภทการใช้น้ำ 3 ระดับ และออกใบอนุญาตใช้น้ำ และลงลึกในรายละเอียดเรื่องสิทธิการใช้น้ำเน้นสิทธิปัจเจกชน ซึ่งไม่ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่มากเพียงพอ ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยกร่างกฎหมายน้ำได้

การรีบเร่งจ้างสถาบันการศึกษายกร่างในเวลาเพียง 1 ปี และจัดรับฟังความคิดเห็นในระดับจังหวัด 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, แพร่, นครสวรรค์, ระยอง, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี,และสุราษฎ์ธานี, รับฟังความคิดเห็นรวมที่กรุงเทพครั้งสุดท้าย และออกมเป็นมาตรา กรกฎาคม2547

ร่างกฎหมายน้ำฉบับใหม่ถูกอ้าง เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่เครื่องมือทางเทคนิคในการจัดการน้ำเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมืองของหน่วยงานต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ จากสถาบันการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) มองว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นปัญหาการจัดการ ที่รัฐเพิกเฉยในการควบคุมความต้องการใช้น้ำโดยใช้กลไกราคาเป็นเครื่องมือ และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำถึง 32 แห่ง ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นทิศทางเดียวกัน แม้ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากร กลับมิได้คัดค้านแนวคิดร่าง พรบ.น้ำ ฉบับใหม่ที่กำหนดให้น้ำเป็นของรัฐ แต่ยังได้เสนอกลไกทางเศรษฐศาสตร์ มีรากฐานมาจากความคิดแบบอรรถประโยชน์นิยม น้ำคือทุนทางเศรษฐกิจ ราคาเป็นเครื่องตัดสินและเป้าหมายในการจัดสรรทรัพยากรน้ำ (อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, 2538)

เครื่องมือในการจัดการทรัพยากรน้ำ ได้แก่ หนึ่ง : การจัดเก็บค่าน้ำ (Water pricing), สอง : จัดให้มีตลาดการซื้อขายสิทธิการใช้น้ำ (Tradable water market) การโอนอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการจัดสรรน้ำของรัฐไปสู่ผู้ใช้น้ำโดยตรง จะช่วยลดความขัดแย้งรัฐกับประชาชนในปัจจุบัน กลไกตลาดเสรีจะจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด) แนวคิดนี้เริ่มด้วยกำหนดสถานะความเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำให้ชัดเจนและมั่นคง จากนั้นเพิ่มบทบาทภาคเอกชนแทนการจัดการโดยรัฐ เสนอให้มีการใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ ได้สะท้อนอยู่ใน

1. รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรสภาพ การบริหารจัดการน้ำให้เป็นกิจกรรมเอกชน (มกราคม พ.ศ. 2544) ศึกษาโดย รศ.ดร.เสวคนธ์ สุดสวาลดิ์, รศ.นิตยา เงินประเสริฐศรี, ผศ.สิทธิพร เงินประเสริฐสรี, ดร.ศิริพงศ์ พังสฤกษ์, นายทวีวงศ์ เทียนเสรี

2. การศึกษาการบริหารจัดเก็บค่าน้ำ (โดย รศ.ชูชีพ พิพัฒน์ศิถี, ดร.ศุภชาติ สุขารมณ์, รศ.ดร.กอบเกียรติ ผ่องพุฒิ, นายวิรัตน์ ขาวอุปภัมภ์, นายทวีวงศ์ เทียนเสรี)( 1 กันยายน2544)

การสร้างตลาดในการซื้อขายน้ำเป็นแนวคิดใหม่ เริ่มใช้กันบางประเทศ เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา, ประเทศชิลี, เม็กซิโก, และเมืองทามิลนาดู ประเทศอินเดีย. แม้ไม่ประสบผลสำเร็จตามความคาดหมาย เพราะก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาไม่สามารถแก้ไขได้หลายประการ แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับเสนอขึ้นมาเป็นทางเลือกการจัดการน้ำในประเทศไทย

3. แนวคิดสิทธิชุมชนในการจัดการน้ำ นักวิชาการสังคมศาสตร์และองค์กรพัฒนาเอกชน ไม่เห็นด้วยการจัดการน้ำด้วยกลไกตลาด น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสาธารณะ และเป็นทุนทางสังคม ไม่เหมาะแปรเป็นสินค้า และประสบการณ์การจัดการน้ำภายใต้นโยบายเสรี บริษัทข้ามชาติได้เข้ามาอิทธิพลเหนือธุรกิจค้าน้ำ และก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมระดับรัฐและข้ามรัฐ เมื่อการจัดการน้ำตกอยู่ภายใต้เอกชน ราคาค่าน้ำในฝรั่งเศสแพงขึ้นถึงร้อยละ 150, อังกฤษแพงขึ้นถึง 105, รวมทั้งคุณภาพน้ำฝรั่งเศสและออสเตรเลียก็ตกต่ำลงด้วย (กฤษฎา บุญชัย)

วรพล พรหมิกบุตร บทความเรื่อง "ภาษีค่าน้ำเพื่อการเกษตร เงื่อนงำความหมายและการทำลายเกษตรกรไทย" (กรุงเทพธุรกิจ 6 เมษายน และ 7 เมษายน 2542) โต้แย้งนักเศรษฐศาสตร์ว่า ต้นทุนเกือบทั้งหมดในการสร้างและการพัฒนาระบบชลประทานสมัยใหม่ของไทย ภายหลัง พ.ศ.2475 มาจากแหล่งทุนสำคัญ คือภาษีอากรส่วนร่วมของคนไทยทั้งหมด รวมทั้งเงินกู้ต่างประเทศสาธารณะที่คนไทยต้องร่วมกันชดใช้ทางอ้อมมาตลอดทั้งสิ้น การเก็บค่าน้ำตามข้อเสนอเงื่อนไขเอดีบี เป็นการเก็บเพิ่มต้นทุนการผลิตจากเกษตรกรที่สูงอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการคืนทุนต่อชลประทาน แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรที่มีส่วนร่วมสร้าง และพัฒนาระบบชลประทานนั่นเอง

การกำหนดสิทธิการใช้น้ำดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสิทธิการใช้เดิมในสังคม สิทธิการใช้เดิมถูกกำหนดโดยชุมชน สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารจัดการร่วมกัน การกำหนดสิทธิการใช้น้ำแบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว จะก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิการใช้น้ำที่มีอยู่เดิม

กลไกทางเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือจัดการทรัพยากรบุคคล หากนำมาใช้ในทรัพยากรส่วนรวม ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและขัดแย้งมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบือนในปัจจุบัน เช่น ไม่มีการจำกัดการถือครองที่ดิน เปิดให้การเข้าถึงของคนรวยมากกว่าคนจน คนรวยผลักภาระในการร่วมจ่ายการจัดหาน้ำให้คนจนได้ร่วมจ่ายด้วย น้ำถูกมาใช้เพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างเดียว สังคมไทยไม่มีองค์กรอิสระที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ และสถาบันที่เข้มแข็งในการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร การนำกลไกทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ จำเป็นต้องทำคู่กับเงื่อนไขอื่นๆ 3 ประการ
1. มีหน่วยงานสังคมที่หลากหลายเข้ามาตรากฎหมาย และควบคุมการปฏิบัติให้เป็นตามกฎหมาย
2. มีการสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบัน เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลในเรื่องการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร
3. ใช้กลไกทางเศรษฐกิจที่ไม่บิดเบือน เช่น การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า (อานันท์ กาญจนพันธ์)

พัฒนาการและทิศทางการจัดการน้ำของรัฐ

1. ปี 2535 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ออก พรบ.ด้วยการให้เอกชนลงทุนในการดำเนินงานที่เคยอยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจ. 2 หน่วยงานแรกที่แปรรูป คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการประปาส่วนภูมิภาค นับเป็นบทบาทแรกของภาคเอกชน คือ การแปรรูปนำร่อง

บริษัทประปาปทุมธานีจำกัดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดทำแผนหลัก และศึกษาความเหมาะสมของการลงทุนเพื่อปรับปรุงขยายพื้นที่การให้บริการของการประปาปทุมธานี และการประปารังสิตจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านใจก้า (JICA) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 และบริษัท อีสต์ วอเตอร์ ได้สัมปทานเพื่อรับผิดชอบจำหน่ายน้ำดิบ นับเป็นช่วงขาดแคลนน้ำรุนแรงในภาคตะวันออก ขณะที่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมตะวันออกเติบโตอย่างรวดเร็ว

"อีสต์ วอร์เตอร์" เป็นบริษัทเอกชนแห่งเดียวที่ผูกขาดกิจการค้าน้ำครอบคลุม 7 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, จันทบุรี,และตราด. บริษัท อีสต์ วอร์เตอร์ ได้ลงนามการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก กับกระทรวงการคลังเป็นเวลา 30 ปี ทำสัญญาซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน อ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองค้อ บางพระ และหนองปลาไหล รวม 130 ล้านคิวต่อปี อัตราซื้อคิวละ 0.5 บาท ส่งน้ำดิบจำหน่ายแก่นิคมอุสาหกรรมโรงไฟฟ้า การประปาส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีลูกค้า 34 ราย เป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50ล้านคิวต่อปี


อย่างไรก็ตามจากรายงานสรุปการดำเนินงานของบริษัท ประปาปทุมธานี งบประมาณบานปลายและมีปริมาณน้ำสูญเสียในอัตราสูง สามารถจำหน่ายนำได้เพียงวันละ 9,000 - 10,000 ลูกบาศก์เมตร ผลเกิดกับประชาชนที่อยู่ใกล้อ่างไม่มีสิทธิในการใช้น้ำและการจัดการน้ำ น้ำที่จัดสรรให้ภาคเกษตรกรรม 70 ล้านคิวต่อปี เริ่มถูกขอซื้อจากผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ทุกปี การกีดกันการใช้น้ำบาดาล เนื่องจากประกาศเป็นเขตปลอดน้ำบาดาล ห้ามสูบน้ำและปรับราคาค่าน้ำบาดาล เพื่อผลักดันและจูงใจให้ผู้ใช้น้ำหันมาใช้ประปาแทน

2. ปี 2536 มีการยกร่างกฎหมายน้ำเกี่ยวกับการจัดการน้ำขึ้นมา 2 ฉบับ โดย ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีฐานข้อมูลในการยกร่างเป็นข้อมูลลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ในขณะที่ปัญหาเรื่องน้ำและภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำแต่ละภูมิภาค มีรายละเอียดหลากหลายและแตกต่างจากลุ่มเจ้าพระยามาก

เนื้อหาหลัก กำหนดให้ทรัพยากรน้ำเป็นของรัฐ ประชาชนที่ต้องการใช้น้ำต้องขออนุญาตจากรัฐและเสียค่าบริการใช้น้ำ ร่างกฎหมายให้อำนาจรัฐเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ เช่น การขยายพื้นที่แหล่งน้ำ การปิดกั้นแม่น้ำ ลดขนาดและผันน้ำ การจัดตั้งองค์กรในการจัดการน้ำทั้งในระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยราชการเป็นหลัก


3. พ.ศ.2538-2540 กลยุทธ์รบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ดำเนินการในโครงการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือด้วยวิชาการ และรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนเงิน 1ล้านเหรียญ เงินสมทบรัฐบาลไทย 8 ล้านบาท (มติ ครม. 3 พ.ค. 37)

ก. การศึกษาในเรื่องมูลค่าของน้ำในฤดูแล้ง
ข. การศึกษาการคิดค่าน้ำในภาคเกษตรกรรม
ค. การศึกษาต่อเนื่องในเรื่องโครงการจัดสรรน้ำตามสิทธิในพื้นที่นำร่องลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้วางกลยุทธ์ไว้ 6 กลยุทธ์ จัดตั้งองค์กรบริหารทรัพยากรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ (โครงการแก่งเสือเต้น และโครงการผันน้ำกก อิง น่าน) เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบการสั่งการและการควบคุม การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ การให้กรรมสิทธิและจัดตั้งตลาดซื้อขายสิทธิการใช้น้ำ และการออกฎหมายน้ำ

4. ปี พ.ศ. 2542 ปรับปรุงร่างกฎหมายน้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทช.) ครม.ได้รับหลักการในช่วงต้นปี พ.ศ. 2542 แต่มีกระแสการคัดค้านเงื่อนไขเงินกู้เอดีบี จากประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้รัฐบาลต้องชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายไว้ก่อน

ในทางปฏิบัติเงื่อนไขเงินกู้ดังกล่าว เอดีบีเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางวิชาการ เข้ามาทำงาน 2 เรื่องหลัก กล่าวคือ เรื่องแรก, การเพิ่มขีดความสามารถด้านทรัพยากรน้ำ และ เรื่องที่สอง, การปรับโครงสร้างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทีมที่ปรึกษาเข้ามาร่วมทำงานกับ สทช. และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด

เดือนเมษายน พ.ศ.2542 สทช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการลุ่มน้ำใน 3 ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำปิงตอนบน, ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง, และลุ่มน้ำป่าสัก, ตามแนวคิดเรื่องการจัดตั้งองค์กรที่ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลืออยู่ เสร็จในปี พ.ศ. 2545. จากนั้น 3 มีนาคม พ.ศ.2543 มีการประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง "จากวิสัยทัศน์สู่แผนกลยุทธ์นโยบายน้ำแห่งชาติ" อันเป็นความพยามแปรนโยบายน้ำแห่งชาติให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติมากขึ้น

ข้อสรุปมีความสอดคล้องตอบรับเงื่อนไขเงินกู้ทุกประการ คือให้มี พรบ.ทรัพยากรน้ำ ให้มีองค์กรที่มีกฎหมายรองรับในการบริหารจัดการน้ำ กำหนดให้มีการเก็บค่าน้ำในโครงการชลประทาน และเก็บค่าคืนทุนในโครงการที่รัฐลงทุน สนับสนุนรูปแบบการมีส่วนร่วมจากประชาชน สถาบันองค์กรและเอกชน เอดีบี (Asian Development Bank) และธนาคารโลกมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายน้ำและการแปรรูปน้ำให้เป็นของเอกชน

5. 31 ตุลาคม 2543 นโยบายน้ำแห่งชาติและแผนปฏิบัติการ ภายใต้กรอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสาน หรือ Integrated Water Resources Management (IWRM) อาศัยพื้นฐานความคิดจากวิสัยทัศน์น้ำแห่งชาติ สถานภาพนโยบายน้ำแห่งชาติ ในรายละเอียดการดำเนินงานของ กสช. คือการจัดทำร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำให้สามารถเข้าสู่สภาในปี พ.ศ. 2546, แต่งตั้งอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำ ขณะนี้แต่งตั้งครบทั้งลุ่มน้ำหลัก 25 ลุ่มน้ำ, การจัดทำแผนรวมพัฒนาลุ่มน้ำ, จัดทำทำแผนรวมน้ำปิงนำร่อง, อย่างไรก็ตาม นโยบายน้ำแห่งชาติได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น อาทิ

1. กระบวนการร่างนโยบายน้ำ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง การผลักดันกฎหมายน้ำตามเงื่อนไขเงินกู้เอดีบี ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 79 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายรัฐ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง เพราะไม่ใช่นโยบายสาธารณะจากประชาชน


2. นโยบายน้ำแห่งชาติ ได้กำหนดมาตราการสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำประชาชนอย่างกว้างขวาง กำหนดให้มี พรบ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทั้งที่ประชาชนส่วนมากยังไม่ยอมรับแนวคิดหลักการของร่างตามที่กรมทรัพยากรน้ำยกร่างขึ้นมา แผนปฏิบัติการนโยบายน้ำแห่งชาติ กำหนดให้ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงินในการจัดสรรน้ำ เช่น การเก็บค่าน้ำ การสร้างตลาดน้ำ ซึ่งส่งผลให้การแปรรูปทรัพยากรน้ำเปลี่ยนเป็นสินค้า

นโยบายน้ำแห่งชาติ ถูกเสนอโดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งกรรมการบางส่วนมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาเอดีบี ภายใต้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านทรัพยากรน้ำ และเงินกู้ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ดังนั้น แท้จริงแล้วนโยบายน้ำแห่งชาติจึงขาดความอิสระในการกำหนดนโยบาย ปัจจุบันเครือข่ายองค์กรประชาชน โดยเฉพาะสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ยังคงเรียกร้องให้มีการทบวนนโยบายน้ำแห่งชาติใหม่ทั้งหมด

6. กันยายน 2544 การวิจัยแนวนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย (มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และคณะ) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย มีข้อเสนอทางนโยบายที่สำคัญ

หนึ่ง ให้มีการกำหนดสิทธิของกลุ่มผู้ใช้น้ำ การกำหนดเขตการจัดการน้ำอาจใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับจารีตประเพณีท้องถิ่น ทบทวนแหล่งสูบน้ำใต้ดินเพื่อความยั่งยืนที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม

สอง ทรัพยากรน้ำเป็นสมบัติส่วนร่วม รัฐเป็นผู้กำหนดสิทธิการใช้น้ำผิวดินเพื่อส่วนร่วม การกำหนดสิทธิของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่เรียกว่า เขตการจัดการน้ำ คือ กลุ่มผู้ใช้น้ำไม่มีการมอบสิทธิปัจเจก มีการถ่ายโอนสิทธิกันได้ปีต่อปี อยู่ในความเห็นชอบคณะกรรการลุ่มน้ำ กรมชลประทาน

สาม โครงสร้างการบริหารจัดการน้ำและอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรการเขตการจัดการน้ำ กำหนดการเก็บค่าน้ำ 2 แบบคือ แบบแรก, ค่าเสียโอกาสน้ำตามประมาณที่ใช้จริงหรือตามกิจกรรม. แบบที่สอง, ค่าบำรุงรักษาทางน้ำ กำหนดค่าธรรมเนียมและใบอนุญาติใช้น้ำ เป็นต้น

7. การวิจัย "บทเรียนจากประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ" โดย สงวน ปัทมธรรมกุล, สุคนธา แอคะรัจน์, และนลินี ตันธุวนิตย์ สนับสนุนโดย สกว.. การดำเนินงานวิจัยบน 12 ลุ่มน้ำ ดังนี้ ลุ่มน้ำปิง, ลุ่มน้ำปิงล่าง, ลุ่มน้ำป่าสัก, ลุ่มน้ำท่าจีน, ลุ่มน้ำพรม, ลุ่มน้ำเชิญ, ลุ่มน้ำแตง, ลุ่มน้ำคลองยัน, ลุ่มน้ำเปือ, และลุ่มน้ำแม่ออน, ลุ่มน้ำตาช้าง, ลุ่มน้ำห้วยใหญ่ , ประมวลข้อเสนอแนะต่อการจัดการลุ่มน้ำ

หนึ่ง.นโยบายการจัดการลุ่มน้ำเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ คำนึงถึงการกระจายสิทธิและความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่
สอง. โครงสร้างองค์กรการจัดการน้ำในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ คณะกรรมการมากไปไม่คล่องตัว ลดจำนวนกรรมการจากภาคราชการลง คัดเลือกตัวแทนชาวบ้าน เนื่องจากมีปัญหาความเป็นผู้แทนชาวบ้านตัวจริง
สาม. การดำเนินงานในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรน้ำและตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต้องสอดคล้องกันกับชาวบ้าน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในลุ่มน้ำ
สี่. การมีส่วนร่วม แผนงานจากระดับล่างเพิ่มสัดส่วนตัวแทนในกรรมการทุกระดับ มีการอบรมปฏิบัติการให้ชาวบ้านมีความรู้
8. กันยายน - พฤษภาคม 2546 โครงการจัดทำแผนรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำปิง 20 ปี ศึกษาโดยบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ และ ซิกม่า ไอโกร คอนซัลแตนท์ เสนอกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6 แผนงาน แผนพัฒนาแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำแม่แตง โครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (ผันน้ำเมย-สาละวิน) เขื่อนคลองวังเจ้า เขื่อนคลองสวนหมาก แผนการบรรเทาภัยแล้ง แผนการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม แผนการบริหารจัดการ กำหนดราคาค่าน้ำและค่าบริหารจัดการที่เหมาะสม แผนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ แผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ป่าและน้ำ ประกอบด้วยมาตรการที่ใช่สิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้างในวงเงินรวม 72,068.66 ล้านบาท

สถานภาพโครงการ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำปิงบนและปิงล่าง โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำหรือกรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก เป็นโครงการต่อเนื่องจากความช่วยเหลือทางวิชาการของเอดีบี และข้อผูกพันภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร งบประมาณยังมาจากงบประมาณปกติ


เอกสารอ้างอิง

สายน้ำและความเป็นไท เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่
ลุ่มน้ำโดยมีส่วนร่วมของชุมชน.26-27 ตุลาคม2543 โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ
ถอดรหัสสงครามแย่งชิงน้ำ ศรีสุวรรณ ควรขจร,มนตรี จันทวงศ์,พรทิพย์ บุญครอบและคณะ
,มีนาคม 2546
เขื่อน : นวัตกรรมแห่งปัญหา มูลนิธิสืบนาคเสถียร ,สิงหาคม 2547
ข้อเสนอการจัดการทรัพยากรน้ำ เอกสารประกอบการประชุม สกน. และเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำภาคเหนือ สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ, 26 มกราคม 2548
นิเวศวิทยาการเมืองเรื่องเขื่อนในไทย, ชาญณรงค์ เศรษฐเชื้อ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กันยายน 2543
คืนความสัมพันธ์ชุมชนล้านนากับทรัพยากรน้ำ กรณีฝายพญาคำ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ตัดตอนมาจากเอกสารรายงานความก้าวหน้ามกราคม-มิถุยายน 2548 โดยนายสมบูรณ์ บุญชูและคณะกรรมกาเหมืองฝายพญาคำ
โครงการสิทธิชุมชนศึกษาภาคเหนือตอนบน ลุ่มน้ำแตงล่าง ตัดตอนจากรายงานความก้าวหน้า กรกฎาคม-ธันวาคม 2547


สิ่งพิมพ์

6 เมษายน และ7เมษายน 2542 กรุงเทพธุรกิจ
? มิถุยายน 2547 ไทยนิวส์
11 กันยายน.2547 หน้า 11 ไทยรัฐ
17 กันยายน 2547 หน้า 5 มติชน
11พฤศจิกายน 2547 หน้า 35 ข่าวสด
23 กุมภาพันธ์2548 หน้า 9 มติชน
21 มีนาคม2548 หน้า 5 มติชน


เวปไซค์
www.thaiwater 18 มี.ค.48


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง"สงครามแย่งชิงน้ำ ใครจ่าย? ค่าปฏิกรรม"โดย สุมนมาลย์
สิงหะ, โครงการสิทธิชุมชนภาคเหนือตอนบน ลุ่มน้ำแม่แตงล่าง เชียงใหม่

ปกติแต่ละปี น้ำฝนมีน้ำให้คนไทยประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วระเหยไป เหลือในแม่น้ำลำคลองเพียง 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวน 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เราสามารถเก็บกักได้เพียง 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ...เมื่อสิงหาคม พ.ศ.2546 รัฐบาลทักษิณประกาศการจัดการน้ำแบบบูรณาการของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปในปี พ.ศ.2552

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

สำหรับการผลักดันเขื่อนหลายเขื่อนมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่น แก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนแม่วงศ์ โครงการเขื่อนเหวนรก โครงการเขื่อนแก่งกรุง อันเป็นมายาคติฝังรากลึกในสังคมไทย "เขื่อน"คือ"การพัฒนา" นักการเมืองจึงหาเสียงด้วยการเสนอโครงการเขื่อนต่อคนชนบท ใน ครม.สัญจรของพรรคไทยรักไทย แก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงศ์ เขื่อนแม่ขาน กับชาวบ้านสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ จนได้การขนานนามจากสื่อมวลชนบางฉบับว่า "เขื่อนทักษิณ" หรือโครงการผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง คราวที่ ครม.สัญจรมาที่เชียงใหม่ นอกจากนี้ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นยังร่วมผลักดัน เนื่องจากผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ เช่น การได้รับสัมปทานไม้ในอ่างและรอบอ่าง

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ