บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 543 หัวเรื่อง
ตรวจบัญชีสันติภาพ
ดร.เกษียร
เตชะพีระ : แปลเรียบเรียง
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The Midnight 's article
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ความขัดแย้งและสันติภาพ
ตรวจบัญชีสันติภาพ
แนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้
ดร. เกษียร เตชะพีระ : แปลเรียบเรียง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ: บทความทางวิชาการชุดนี้
รวบรวมมาจากผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
จากหนังสือพิมพ์มติชน ทุกวันศุกร์
ตั้งแต่ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
12 หน้ากระดาษ A4)
หมายเหตุ :
แปลเรียบเรียงจากคำบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ ดร.รณพีร์ ซามัดดาร์ นักวิชาการชาวอินเดีย
ผู้มีประสบการณ์นับสิบปีในการแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งรุนแรงทางเชื้อชาติ-ศาสนาด้วยสันติวิธี
ทั้งในอินเดียและประเทศข้างเคียงแถบเอเชียใต้ เขาเคยก่อตั้งและอำนวยการโครงการสันติภาพศึกษาแห่งเวทีสิทธิมนุษยชนเอเชียใต้(South
Asia Forum for Human Rights) ณ เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล กระทั่งมาเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยกัลกัตตา(Calcutta
Research Group) ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยนโยบายสาธารณะด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในอินเดียปัจจุบัน
เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของแนวคิดและประสบการณ์ของศาสตราจารย์รณพีร์
ที่อาจนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
คณะรัฐศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)
และการประสานงานผ่านเจ้าหน้าที่ Social Science Research Council(สถาบันอิสระภาคเอกชนที่ส่งเสริมการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในอเมริกา)
จึงได้เชิญศาสตราจารย์รณพีร์มาบรรยายพิเศษหัวข้อ "การตรวจบัญชีสันติภาพ"
(Peace Audit) 2 ครั้ง ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 26 - 30 ธันวาคม พ.ศ.2547
เกริ่นนำโดยผู้แปล
Peace Audit คือการตรวจบัญชีในเรื่องสันติภาพ แนวคิดก็มาจาก Social Audit
หรือการตรวจบัญชีทางสังคม เพื่อหาสถาบันหรือบุคคลที่จะร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้น แล้วดึงเอาชุมชนต่างๆ ในสังคมให้เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันเป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้มีสันติภาพที่ยั่งยืน
จากบทเรียนที่พบหลายที่ในเอเชียใต้ เช่น ในแคว้นแคชเมียร์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, จังหวัดบาลูจิสถานของปากีสถาน, เนปาลและศรีลังกา ปรากฏว่า ข้อตกลงหยุดยิง/สันติภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายกบฏคู่กรณีว่าจะไม่รบกันนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เกิดสันติภาพยั่งยืนจริงๆ ตามมา เดี๋ยวก็รบกันอีก
ดังนั้น เพื่อให้สันติภาพยั่งยืน จะต้องดึงผู้คนวงกว้างให้เข้ามาร่วม กล่าวคือ ต้องมีกระบวนการสันติภาพสืบต่อหลังจากมีข้อตกลงที่จะไม่ฆ่าฟันกันแล้ว และกระบวนการสันติภาพนี้ต้องดึงคนหลายกลุ่มมาเข้าร่วม จะมีแต่ฝ่ายรัฐบาลกับผู้ก่อการกบฏไม่ได้, ต้องให้ชาวบ้าน, นักหนังสือพิมพ์, นักวิชาการ, NGO ฯลฯ มาเข้าร่วมด้วย
ต้องให้กลุ่มคนทุกกลุ่มที่มีเดิมพันในสันติภาพได้เข้ามาสู่กระบวนการนี้ ทำให้การสร้างและรักษาสันติภาพมีมวลชนหลายฝ่ายเข้าร่วม และตรวจสอบเหมือนตรวจบัญชีได้ว่า สภาวะสันติภาพหรือนัยหนึ่งบัญชีสันติภาพนั้นทำไปถึงจุดไหน ก้าวหน้าไปอย่างไร
เงื่อนไขสำคัญที่สุดในการตรวจบัญชีสันติภาพคือต้องมีความยุติธรรมขั้นต่ำสุดหรือ Minimum Justice ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เพราะมันจะเป็นตัวตั้งให้คู่ขัดแย้งมาคุยกันได้ ถ้าไม่มีการคุยเรื่องความยุติธรรมขั้นต่ำสุดนี้, ยังมีบางฝ่ายอึดอัดคับข้องใจว่าตัวเองยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในระดับที่พอจะยอมรับได้, ก็จะไม่เกิดสันติภาพ หรือถึงเกิดก็จะไม่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรจึงจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันตั้งคำถาม และร่วมกันหาคำตอบว่าอะไรคือความยุติธรรมขั้นต่ำสุดที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องและเอาด้วยกัน พอมีอันนี้เกิดขึ้น การคุยกันเพื่อหาทางออกที่สันติในเรื่องอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถฟื้นคืนความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีเนื้อหาทางศีลธรรม ระหว่างคู่ขัดแย้งและผู้มีเดิมพันในสันติภาพฝ่ายต่างๆ เพื่อที่จะเสริมสร้างจริยธรรมทางการเมืองแห่งระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา
คำบรรยายของศาสตราจารย์
รณพีร์ ซามัดดาร์
ตรวจบัญชีสันติภาพ (1)
ในชีวิตคนเรามักจะรู้สึกว่ามีประสบการณ์ 2 แบบ คือประสบการณ์แบบที่วัดได้กับแบบที่วัดไม่ได้
ทีนี้พอพูดถึงสันติภาพ เรามักจะคิดว่ามันเป็นประสบการณ์แบบที่วัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม
จากประสบการณ์การทำงานเรื่องนี้ อาจารย์รณพีร์กลับคิดว่า สันติภาพเป็นเรื่องที่วัดได้
มีบรรทัดฐานที่จะนำมาวางวัดเปรียบเทียบได้ว่า ตอนนี้มีหรือไม่มีสันติภาพ
นอกจากมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนพอควรในการตรวจวัดสันติภาพแล้ว ยังน่าจะมีแนวคิดที่ค่อนข้างชัดเจนด้วยว่าเป้าหมายปลายทางที่จะไปบรรลุนั้นคืออะไร จากนี้จึงจะทำการตรวจบัญชีสันติภาพได้ และจะว่าไปแล้วสันติภาพก็เหมือนแนวคิดทั้งหลายทั้งปวงทางการเมือง ที่ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ หากต้องกล้าเอามันมาผ่า ชำแหละ และชันสูตร ในแง่หนึ่งการตรวจบัญชีสันติภาพก็คือ กระบวนการผ่า ชำแหละ ชันสูตรสันติภาพ ตามหลักเกณฑ์บรรทัดฐานที่ใช้ตรวจและเป้าหมายปลายทางที่ใช้วัดกระบวนการสร้างสันติภาพได้นั่นเอง
สรุปคืออาจารย์รณพีร์อยากแนะนำข้อเสนอชุดหนึ่ง โดยเริ่มจากข้อสังเกตว่า คนเรานี่ปกติจะคุ้นกับการศึกษาสงคราม รู้ชัดว่าจะศึกษาสงครามอย่างไร เช่น จะสนใจสอบถามค้นคว้าว่าตอนรบกันนั้น แต่ละฝ่ายบาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่? ทำลายข้าศึกได้เท่าไหร่? เมื่อรบเสร็จแล้ว ผลลัพธ์ทางการทหารและการเมืองของสงครามคืออะไร?
แต่เนื่องจากเรามักจะคิดว่าสงครามแยกออกจากสันติภาพเป็นคนละเรื่องกัน ก็เลยไม่เคยคิดว่าเราสามารถจะศึกษาสันติภาพแบบสงครามได้ กล่าวคือ สามารถศึกษาสันติภาพอย่างมีบรรทัดฐาน และแนวคิดที่ชัดเจนได้เหมือนกัน
ข้อถกเถียงของอาจารย์รณพีร์คือ เอาเข้าจริงมีข้อแตกต่างเชิงโครงสร้างอยู่น้อย ระหว่างสงครามกับสันติภาพ พูดอีกอย่างก็คือภาวะสงครามกับภาวะสันติภาพ มันไม่ใช่แตกต่างกันแบบดำกับขาว หรือหน้ามือกับหลังมือ แต่เป็นประดุจเฉดสีที่เหลื่อมต่างกันในแถบสีที่ต่อเนื่องกันไป คล้ายกับอยู่บนระนาบเดียวกัน วิ่งไปทางนี้นิดหนึ่งเป็นภาวะสันติภาพ แต่พอวิ่งย้อนไปทางนั้นหน่อยหนึ่ง กลับกลายเป็นภาวะสงครามไปเสียฉิบ อย่าไปมองว่าสงครามกับสันติภาพต่างกันสุดกู่ ทั้งคู่อาจเป็นภาวะที่ดำรงอยู่ในระนาบเดียวกัน และสามารถกลิ้งเกลือกเถลือกไถลแปรไปสู่กันและกันได้
ดังที่ คาร์ล วอน เคลาสวิตซ์ บิดาแห่งยุทธศาสตร์ศึกษาสมัยใหม่ชาวปรัสเซียเคยกล่าวไว้ว่า "สงครามคือการสืบเนื่องของการเมืองที่ดำเนินไปโดยวิธีอื่น" ฉันใด, เราก็อาจกล่าวย้อนกลับตาลปัตรคติพจน์นี้เสียแบบเดียวกับที่ มิเชล ฟูโกต์ นักประวัติศาสตร์ระบบความคิดชาวฝรั่งเศสทำว่า การเมืองต่างหากที่เป็น "การสืบเนื่องของสงคราม" ฉันนั้น
อาจารย์รณพีร์เสนอให้มองสันติภาพแบบเดียวกัน กล่าวคือ สันติภาพก็คือการเมืองแบบหนึ่ง, เป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบหนึ่งนั่นเอง ดังนั้น เราจึงสามารถนำบรรดาแนวคิดและบรรทัดฐานทั้งหลายแหล่ที่เราเคยใช้วิเคราะห์ศึกษาสงคราม, มาวิเคราะห์ศึกษาสันติภาพได้เหมือนกัน แน่นอนการศึกษาสันติภาพมันอาจจะไม่เหมือนกับการศึกษาสงครามไปเสียทั้งหมดทีเดียว แต่แง่คิดสำคัญตรงนี้อยู่ที่ว่า ทำไมไม่ลองศึกษาสันติภาพแบบคล้ายๆ กับหรือในรูปลักษณ์เดียวกับที่เราศึกษาสงครามบ้างล่ะ?
ยกตัวอย่างเช่นบรรดาบรรทัดฐานต่างๆ ที่เราใช้เวลาศึกษาสงคราม อาทิ ค้นหาว่ามีผู้บาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่? ทำลายศัตรูได้เท่าไหร่? เวลาศึกษาสันติภาพ เราก็ตรวจสอบได้เหมือนกันว่า อะไรคือบรรทัดฐานเรื่องความยุติธรรมที่เกิดขึ้น? อะไรคือสิทธิที่จำเป็นสำหรับภาวะสันติภาพที่เกิดขึ้น? เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังน่าสนใจอีกว่า เวลาศึกษาสงคราม เราต้องค้นคว้าเรื่องของคู่สงคราม, นั่นหมายความว่าตัวผู้กระทำการหรือ Actor สำคัญ ฉะนั้น ในการศึกษาสันติภาพ เราก็ต้องดูคู่สันติภาพหรือนัยหนึ่งบรรดาก๊กก๊วนฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมกันเป็นภาคีสันติภาพด้วย (ชั่วแต่ว่า ภาคีสันติภาพมักจะมีหลายฝ่ายแทนที่จะมีแค่สอง) คือดูว่าบรรดากลุ่มฝ่ายทั้งหลายทั้งปวงที่อยากได้สันติภาพนั้นมีใครบ้าง? พวกเขามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร?
สรุปในชั้นต้นนี้ก็คือ ปกติเรามักคิดถึงสันติภาพในแง่ศีลธรรม ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพียงแต่เราควรต้องคิดถึงสันติภาพในแง่การเมืองด้วย เพราะโดยเนื้อแท้นั้นสันติภาพเป็นประเด็นทางการเมืองไม่น้อยกว่าประเด็นทางศีลธรรม
"ตรวจบัญชีสันติภาพ
(2)"
อาจารย์รณพีร์เอ่ยถึงนักทฤษฎีทางสังคมแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 สองท่าน ที่น่าจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสันติภาพ
(ซึ่งก็คือสภาวะการเมืองชนิดหนึ่ง) กับสงครามได้ดีขึ้น เพราะทั้งคู่ต่างเสนอให้มองการเมืองในเชิงยุทธศาสตร์เหมือนกัน
ได้แก่ อันโตนีโอ กรัมชี่ (ค.ศ.1891-1937) นักทฤษฎีการเมืองวัฒนธรรมและนักเคลื่อนไหวปฏิบัติมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี
กับมิเชล ฟูโกต์(ค.ศ.1926-1984) ผู้ชำนาญประวัติศาสตร์แห่งระบบความคิดต่างๆ
ชาวฝรั่งเศส
จากการศึกษาการเมืองอิตาลี กรัมชี่ชี้ให้เห็นว่า ช่วงที่เรียกว่าภาวะสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น เอาเข้าจริงมันเป็นการสืบเนื่องต่อจาก การยุทธทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแตก่อนสงคราม จากนี้เราจะมองเห็นได้ซึ่งความต่อเนื่องระหว่างสงคราม(หมายถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) กับสันติภาพ(ทั้งช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ที่เหมือนอยู่ในระนาบเดียวกัน และถูกร้อยรัดเข้ากันไว้ด้วยการเมืองที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าจับไปที่ประเด็นความสัมพันธ์ทางการเมือง เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องผ่านทั้งช่วงสันติภาพและช่วงสงครามได้
สำหรับฟูโกต์ เขาได้พัฒนาความคิดเรื่องนี้ลึกลงไปอีก จากที่บอกว่า การเมืองเป็นการสืบเนื่องหรือรูปแบบหนึ่งของสงคราม เขาได้ชี้ต่อว่า มีการเมืองดำเนินอยู่ต่อไปแม้ในภาวะสันติภาพด้วย นั่นหมายความว่าภาวะสันติภาพก็คือการสืบเนื่องของความสัมพันธ์เชิงสงคราม ที่กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างช้าๆ จนเกิดเป็นสันติภาพขึ้นนั่นเอง
หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า สันติภาพเป็นความสัมพันธ์ทางพลังอำนาจแบบเฉพาะเจาะจงหนึ่งๆ และเจ้าพลังอำนาจชุดเดียวกันนี้นี่แหละ ที่เดิมทีครองรูปแบบความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งอยู่ในยามที่เราเรียกว่าภาวะสงคราม
อาจารย์รณพีร์บรรยายต่อว่า ในการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดความเข้าใจเรื่องสันติภาพ มี 2 ประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่
ประเด็นแรก คือ เราพึงใส่ใจกระบวนการสันติภาพอย่างที่มันเกิดขึ้นจริง, ต้องดูว่าฝ่ายต่างๆ เข้ามาปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และอยากได้สันติภาพในความหมายที่ตัวเองเข้าใจอย่างไร
ประเด็นที่สอง ออกจะยุ่งยากหน่อย กล่าวคือ เราต้องคำนึงอยู่เสมอว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในกระบวนการสันติภาพก็คือ ความขัดแย้งนั่นแหละ เพียงแต่เป็นความขัดแย้งที่ถูกเล่นไปอีกแบบต่างจากในภาวะสงคราม และฉะนั้นจึงแสดงออกเป็นความขัดแย้งแบบเฉพาะของภาวะสันติภาพ
สรุปรวมความแล้วสันติภาพจึงไม่ใช่ภาวะปลอดความขัดแย้งอย่างแน่นอน
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดจึงอยู่ที่ว่า ในภาวะสันติภาพความขัดแย้งถูกเล่นแบบไหน? อันนี้เป็นสิ่งที่คนมักจะมองข้าม เราอย่าลืมว่า ขณะที่ตรวจบัญชีสันติภาพอยู่ มันมีความขัดแย้งอยู่ในกระบวนการสันติภาพนั้น เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ ที่เล่นกันไปอีกแบบหนึ่ง, ในแง่หนึ่ง ความขัดแย้งจึงไม่ได้จบสิ้นลงพร้อมกับการหยุดยิงหรือสิ้นสงคราม หากแต่ถูกผลิตซ้ำในสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการสันติภาพ ซึ่งตามมาและแสดงออกในรูปแบบใหม่ นั่นแหละคือสิ่งที่น่าสนใจ
บรรดาผู้พยายามจัดการให้เกิดสันติภาพทั้งหลาย ซึ่งเราอาจเรียกว่า "CEO สันติภาพ" มักจะสนใจแต่ในแง่การจัดการ เอะอะก็คิดแต่ว่าจะจัดการอย่างไร จะวิศวกรรมสังคมอย่างไรให้เกิดสันติภาพ
สิ่งที่พวกเขามักมองข้ามก็คือความขัดแย้งนั้นยังดำรงอยู่ ด้านหนึ่งมันถูกผลิตซ้ำ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งมันก็แสดงออกมาในรูปแบบใหม่ มีแต่กุมความขัดแย้งและลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งที่เปลี่ยนแปลงไปใหม่ให้มั่นเท่านั้น จึงจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสันติภาพ และสามารถจับปมเงื่อนได้ว่าเราจะเอาการตรวจบัญชีสันติภาพไปใช้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การชี้ให้เห็นถึงเชื้อมูลของความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในภาวะสันติภาพ อาจทำให้ผู้ฟังหลงผิดไปได้ว่าการตรวจบัญชีสันติภาพก็คือการตรวจบัญชีความขัดแย้ง(Peace Audit = Conflict Audit)
ตรงนี้แหละที่เป็นปมปริศนา ซึ่งอาจารย์รณพีร์ได้เน้นให้เข้าใจชัดว่ามันไม่ใช่, Peace Audit ไม่ใช่ Conflict Audit, หากเป็นการตรวจบัญชีกระบวนการสันติภาพนั้นเอง เพียงแต่เราต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ในรูปแบบใหม่ในกระบวนการสันติภาพ และดังนั้น หัวใจของการตรวจบัญชีสันติภาพจึงได้แก่การสืบสาวพงศาวลี หรือเทือกเถาเหล่ากอของความขัดแย้งดังกล่าว(genealogy of conflict)
ทว่าถึงแม้ภาวะสงครามกับภาวะสันติภาพจะมีความขัดแย้งและสิ่งอื่น ที่เกี่ยวพันเป็นลักษณะร่วมกันอยู่ก็ตาม แต่ประเด็นหลักที่ชี้บอกความแตกต่างระหว่างภาวะสงครามกับภาวะสันติภาพ ก็คือความยุติธรรม ซึ่งหมายถึงความยุติธรรมที่ถูกนิยาม ณ ขั้นตอนที่จำเพาะเจาะจงหนึ่งทางประวัติศาสตร์, เป็นความยุติธรรมที่ถือเป็นหลักแห่งความยุติธรรมขั้นต่ำสุด, และเป็นความยุติธรรมที่หยิบยกทั้งเรื่องสิทธิและการประนีประนอมรอมชอมกันขึ้นมาอ้างอิง
ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะพึงสำนึกถึงความจริงเกี่ยวกับความขัดแย้ง ทั้งในภาวะสันติภาพและภาวะสงครามอย่างไร, ก็มีสิ่งหนึ่งที่ภาวะสันติภาพมี แต่ภาวะสงครามไม่มี นั่นคือการเมืองเรื่องสันติภาพ เรียกร้องต้องการความยุติธรรมเพิ่มเติมเป็นพิเศษด้วย
ในการพยายามจัดทำกระบวนการตรวจบัญชีสันติภาพ(Peace Audit) ที่โปร่งใสเปิดเผยต่อสาธารณะ อาจารย์รณพีร์ชี้ว่าเราต้องคำนึงถึง 3 อย่างด้วยกันได้แก่:-
1) ประวัติศาสตร์
2) ระดับของเรื่องที่เราจะต้องตรวจบัญชี
3) ประเด็นปัญหาที่เราจะต้องตรวจบัญชี
แต่สำหรับอาจารย์รณพีร์ กลับเห็นตรงกันข้าม เพราะคำถามอยู่ตรงที่คุณคิดว่ามันสำคัญไหม, สำคัญแค่ไหน, และสำคัญอย่างไรที่เราจะรู้รากเหง้าของความขัดแย้ง?
มันสำคัญไหม, สำคัญแค่ไหน, และสำคัญอย่างไรที่จะมองเห็นว่าความแตกต่างในปัจจุบันนั้นเกิดจากการเข้าใจหรือตีความอดีตต่างกัน?
ยกตัวอย่างชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ ก็จะมีปัญหาประวัติศาสตร์คาใจอย่างเช่นกรณีดุซงญอคืออะไร? เกิดจากอะไร? กรณีการหายสาบสูญของหะยีสุหลงและพวกนั้นความจริงเป็นอย่างไร? หรือในรอบปีที่ผ่านมา กรณีนองเลือดที่มัสยิดกรือเซะเกิดขึ้นได้อย่างไร? การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมประท้วง 80 กว่าคนที่ตากใบระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายตัวผู้ถูกจับกุมเป็นเพราะเหตุใด? ใครต้องรับผิดชอบ?
ประเด็นที่จะต้องชี้ให้เห็นตรงนี้ก็คือกระบวนการจำ ทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นปฏิบัติการทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งคนเราทำขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในหมู่พวกของตน เปรียบเสมือนการนับญาติกับอดีต บรรดาผู้คนทั้งหลายทั้งปวงที่ต่างนับตัวเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับอดีตอันหนึ่ง
ใช้อดีตนั้นเป็นจุดร่วมอ้างอิงเพื่อสร้างเอกลักษณ์แห่งตน พวกเขาเหล่านั้นก็ย่อมกลายเป็นญาติโยมเกี่ยวดองกันไปในจินตนากรรมด้วยโดยอัตโนมัติ เกิดความรู้สึกเสมือนเป็นพวกเดียวกันชุมชนเดียวกันขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดทุกครั้งเวลามีข้อขัดแย้ง กล่าวคือ ต่างฝ่ายต่างก็พยายามล้วงหยิบเอาเหตุการณ์สำคัญคาใจในประวัติศาสตร์มาเป็นแกนหลัก จุดร่วมอ้างอิงเพื่อแบ่งเขาแบ่งเรา เรียกเขาเรียกเรา และทำความเข้าใจความขัดแย้งในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น
ขอยกตัวอย่างรูปธรรมอันหนึ่ง ได้แก่การต่อสู้ของกลุ่มชนชาวนาคา ที่ไม่ต้องการถูกผนวกร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศอินเดีย ฉะนั้นในขณะที่อินเดียประกาศเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1947 ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันคือวันที่ 14 สิงหาคม กลุ่มชนชาวนาคาก็ชิงประกาศตัดหน้าแยกตัวออกมาเป็นอิสระ ซึ่งแน่นอนสำหรับรัฐชาติเกิดใหม่อย่างอินเดีย นี่เป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้ เพราะฉะนั้นรัฐอินเดียก็ปราบชาวนาคาแหลก เมื่อถูกปราบแหลก ชาวนาคาก็สู้แหลก ดังนั้น จึงมีความรุนแรงเข่นฆ่ากวาดล้างกันอย่างสุดขั้วสืบมา
ปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ทางการอินเดียและฝ่ายนำของกลุ่มชนชาวนาคานั่งโต๊ะเจรจากัน แต่อันที่จริงในอดีตก็เคยมีการพยายามหาทางออกยุติความขัดแย้งกันมาก่อน เช่นเมื่อปี ค.ศ.1960, 1964 และ 1975 ได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพ, ดำเนินมาตรการแจกจ่ายที่ดินอะไรต่างๆ
จะเห็นได้ว่าในกรณีข้อพิพาทขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐอินเดียกับกลุ่มชนชาวนาคา กระบวนการสันติภาพไม่ใช่ว่าไม่เคยมี แต่มันล้มเหลว ข้อน่าสนใจก็คือประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ตรงไหนอย่างไรกับความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านั้น?
ประวัติศาสตร์มันสำคัญแค่ไหนอย่างไรในกระบวนการสร้างสันติภาพหรือรักษาสันติภาพให้ประจักษ์เป็นจริง?
"ตรวจบัญชีสันติภาพ
(3)"
อาจารย์รณพีร์ได้อธิบายขยายความว่า การเมืองของการจำทางประวัติศาสตร์ สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพอย่างไร
ใน 2 ประเด็นหลักคือ :-
1) รัฐซึ่งขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนา มักอาศัยกลไกทางกฎหมาย เพื่อยัดเยียดฉันทามติอันหนึ่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในปมความขัดแย้งว่า จริงๆ แล้วมันขัดแย้งกันเรื่องอะไร? บรรดาผู้จัดการสันติภาพโดยทั่วไปมักยอมรับข้อมูลความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ที่รัฐตีความมาอย่างเซื่องๆ แล้วก็เลยกลายเป็นอุปสรรค ทำให้กระบวนการสันติภาพเดินไปไม่ได้
เพื่อแก้ไขเรื่องนี้ อาจารย์รณพีร์เสนอให้ย้อนรอยประวัติศาสตร์, จัดให้มีการทะเลาะถกเถียงกันเกี่ยวกับเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จากมวลชนข้างล่างขึ้นมา โดยจะต้องแตกหักกับฉันทามติที่มาจากการตีความของรัฐเกี่ยวกับความขัดแย้งในอดีตให้ได้ เพราะการมัวยึดติดและปกปักรักษาฉันทามตินั้นไว้ กลับจะทำให้กระบวนการสันติภาพไม่ยั่งยืน ฉะนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดอภิปรายทะเลาะถกเถียงกันจากเบื้องล่างขึ้นมา เพื่อท้าทายข้อวินิจฉัยทางการนั้นๆ
ยกตัวอย่างประวัติการต่อสู้ของกลุ่มชนชาวนาคาในอินเดีย ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีเยาว์หราล เนรูห์(ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ.1947-1964) ได้ให้สถานภาพความเป็นรัฐย่อยรัฐหนึ่งในประเทศแก่กลุ่มชาวนาคาที่ต่อสู้ทั้งหมด และต่อมานายกรัฐมนตรี นางอินทิรา คานธี(ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ.1967-1977 และ 1980-1984) ก็ทำสนิธิสัญญาสันติภาพกับกลุ่มชาวนาคาเหล่านั้น ในปี ค.ศ.1975
ทว่าชาวบ้านเชื้อชาตินาคาผู้อยู่ในกระบวนการดังกล่าวกลับเห็นต่างออกไปว่า ทั้งสองกรณีนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ให้กับคนุร่นหลัง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ในกรณีแรกชาวบ้านนาคามองว่า การที่นายกฯเนห์รูให้สถานภาพความเป็นรัฐมา ที่แท้แล้วก็เพื่อบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องต้องการและอยากได้จริงๆ นั่นคือสิทธิอัตวินิจฉัย หรือตัดสินใจกิจการของตัวเอง
หรือในกรณีสนธิสัญญาสันติภาพปี ค.ศ.1975 ชาวบ้านนาคาก็ชี้ว่า นายกฯ นางอินทิรา คานธี ดอดไปตกลงทำสนธิสัญญาฯกับกลุ่มหนึ่งหรือปีกหนึ่งของขบวนการต่อสู้ของชาวนาคาทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความแตกแยกระส่ำระสายภายในขบวนการฯด้วยกันเอง, จะเห็นได้ว่า การตีความและเข้าใจประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งนั้นแตกต่างกันชัดเจน ระหว่างฉันทามติหรือข้อวินิจฉัยของรัฐที่ยัดเยียดลงมา กับทรรศนะของชาวบ้านข้างล่าง
ตราบใดที่ยังคิดหวังจะสร้างกระบวนการสันติภาพบนฉันทามติที่รัฐตีความถ่ายเดียว สันติภาพที่สร้างขึ้นก็จะไม่ยืนยาว ดังนั้น จังหวะก้าวแรกจึงจะต้องแตกหักกับฉันทามติที่ว่านั้นเสียก่อน
ส่วนวิธีดำเนินการก็ไม่ใช่ให้นักประวัติศาสตร์อาชีพไปสำรวจค้นคว้าเขียนงานวิจัยมา หากต้องให้ชาวบ้านเปิดอภิปรายเนื้อหาและความหมายของเหตุการณ์นั้นๆ ในอดีตจากมุมมองของตัวเอง เพื่อพังทลายสิ่งที่รัฐตีความและยัดเยียดลงไป
2) ทำไมกระบวนการสันติภาพจึงต้องให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ถึงเพียงนี้? อาจารย์รณพีร์ชี้ว่า ก็เพราะมีแต้ย้อนรอยรื้อสร้างประวัติศาสตร์จากข้างล่างขึ้นมาเสียใหม่เท่านั้น กระบวนการสันติภาพหรือการตรวจบัญชีสันติภาพจึงจะซื่อตรงต่อความเป็นจริง
พูดง่ายๆ คือรับความจริงซะว่าอะไรเป็นจริง, พูดง่ายๆ คือรับความจริงซะว่าอะไรเป็นอะไร อย่าพยายามสร้างกระบวนการสันติภาพบนพื้นฐานการผูกขาดรับเหมาตีความประวัติศาสตร์ของรัฐเลย เพราะมันเป็นเท็จหรือเป็นความจริงที่ไม่รอบด้าน ซึ่งในที่สุด กระบวนการสันติภาพที่สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานอสัตย์อธรรมนั้น ก็จะไม่ยั่งยืน
มีแต่ยอมรับความจริงว่าอะไรคือปัญหา พังทลายฉันทามติที่รัฐยัดเยียดให้ ซื่อตรงต่อความเป็นจริงของสิ่งทีเกิดขึ้นในอดีตจากมุมมองของชาวบ้านข้างล่างขึ้นมา เยี่ยงนี้เท่านั้นกระบวนการสันติภาพจึงจะมีสถานะที่ชอบธรรมและเข้มแข็งมั่นคงทางจริยธรรม
การเสวนาสันติภาพที่จะนำไปสู่ระเบียบวาระที่เป็นเรื่องเป็นราว ได้ต้องเป็นแบบพหุภาคี มีหลายฝ่ายหลายกลุ่มเข้าร่วม ทั้งนี้หมายรวมถึงร่วมคุยกันหลายฝ่ายหลายกลุ่ม ในหลายระดับ และในหลายประเด็นปัญหา
พูดให้ถึงที่สุดแล้ว การเสวนากันเรื่องสันติภาพที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Dialogue (แปลตรงตัวตามศัพท์ว่า "สองฝ่ายคุยกัน") นั้น จริงๆ แล้วมันต้องเป็น Multilogue (หรือ "หลายฝ่ายคุยกัน") ต่างหาก กระบวนการสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืน ต้องดึงคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายเข้าร่วมคุยกัน บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันว่ากระบวนการสันติภาพนั้นเป็นของสาธารณะ(Public) และจะสำเร็จได้ก็ต้องคุยกันในหลายระดับและหลายเรื่อง
ถ้าเราคิดถึงกระบวนการสันติภาพว่า ไม่ใช่แค่การคุยกันของ 2 ฝ่ายที่ยิงต่อสู้กัน หากเป็นการคุยกันของคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่ต่างก็มีเดิมพันได้เสียในสันติภาพแล้ว เราก็จะเห็นว่าการพูดคุยย่อมแตกออกเป็นหลายระดับ หลายเรื่อง ในเมื่อผู้เข้ามาร่วมคุยมีหลายกลุ่ม พวกเขาต่างฝ่ายต่างก็ย่อมนำเอาเรื่องที่ตนสนใจหรือเป็นห่วงเป็นใยเข้าสู่เวทีการเจรจา อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม สิทธิการเข้าถึงและใช้ทรัพยากร เป็นต้น
อาจารย์รณพีร์ได้ยกตัวอย่าง 2 กรณี เพื่อชี้ความแตกต่างระหว่างกระบวนการสันติภาพแบบที่อาจารย์สนับสนุน กับกระบวนการสันติภาพแบบที่รัฐทำ
กรณีแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนอินเดียกับชาวมุสลิม
กรณีที่สอง คือ การลุกขึ้นสู้ของชนส่วนน้อยในรัฐปัญจาบ
ในข้อตกลงดังกล่าว มีรายละเอียดเช่น ประเทศอินเดียที่จะสร้างขึ้นในอนาคตจะตระหนักรับรองสิทธิของชุมชนมุสลิมอย่างไรบ้าง การเลือกตั้งที่จะจัดในอนาคตจะมีขึ้นตอนกระบวนการอย่างไรบ้าง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าหลายต่อหลายเรื่องในข้อตกลงนั้น เป็นประเด็นทางการเมืองว่าด้วยการแบ่งสันปันส่วนอำนาจหลังได้เอกราชในอนาคต ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับสันติภาพโดยตรง แต่กระนั้นมันก็เป็นประเด็นสำคัญยิ่งสำหรับการที่ชน 2 กลุ่มนี้จะร่วมมือกันได้
ปรากฏว่า 15 ปีหลังทำข้อตกลงฉบับนี้ สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน พรรคคองเกรสฯมีฐานะเข้มแข็งสูงส่งขึ้น ขณะที่สันนิบาตมุสลิมฝ่อแฟบตกต่ำลง ดังนั้นเมื่อคู่ตกลงมีดุลกำลังทางการเมืองเปลี่ยนไป มหาตมะ คานธี ประธานพรรคคองเกรสฯตอนนั้น ก็เลยทำท่าจะเบี้ยว ไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่เคยอ่อนข้อไว้ ทั้งที่จินนาห์วอนขอคานธีให้ยึดมั่นรักษาข้อตกลงหลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ.1935-1939 แต่ก็ไร้ผล
สุดท้ายชาวมุสลิมจึงแยกประเทศเป็นปากีสถานจนเกิดรบราฆ่าฟันกันยกใหญ่ ผู้คนล้มตายมากมาย
นี่คือตัวอย่างขีดจำกัด
ข้อบกพร่องของการคิดถึงสันติภาพแบบแคบๆ โดยไม่คิดถึงเรื่องการเมืองเลย แทนที่จะขยายมุมมองให้กว้างออกไปว่า
สันติภาพเป็นเรื่องที่มีหลายระดับ หลายประเด็น รวมทั้งประเด็นการเมืองด้วย
ซึ่งถ้าเราไม่นำประเด็นเหล่านี้เข้ามา มันก็ทำให้การธำรงภาวะสันติภาพไว้ในกระบวนการสร้างสันติภาพมิอาจยั่งยืนได้
"ตรวจบัญชีสันติภาพ
(จบ)"
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างกระบวนการสันติภาพแบบที่อาจารย์รณพีร์สนับสนุน
กับกระบวนการสันติภาพแบบที่รัฐทำ คือกรณีการจับอาวุธลุกขึ้นสู้โดยกลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรงสังกัดพรรค
"อาคาลี" (Shiromani Akali Dal หรือพรรคนำอาคาลี) ในรัฐปัญจาบ
ประเทศอินเดีย เพื่อแยกตัวตั้งเป็นเขตปกครองตนเองอิสระ หรือกระทั่งรัฐชาติต่างหากของชาวซิกข์
ภายใต้ชื่อ "คาลีสถาน" (Khalistan) ในคริสต์ทศวรรษที่ 1980
เหตุรุนแรงขึ้นถึงจุดสุดยอดต้นเดือนมิถุนายน 1984 ในสงครามกลางเมือง 4 วัน 4 คืนเมื่อนายกรัฐมนตรีนางอินทิรา คานธี สั่งให้กองทหารอินเดียพร้อมอาวุธหนักรถถังปืนใหญ่ บุกถล่มจู่โจมยึดวิหารทองคำอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวซิกข์ ณ เมือง อัมริตสาร์คืนจากกลุ่มผู้ก่อการอาคาลี ที่ยึดครองเป็นที่มั่นอยู่ ส่งผลให้เลือดนองวิหารทองคำ และมีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายร้อยคน
แต่แล้วต่อมานายกฯ อินทิรา คานธีก็ถูกองครักษ์ชาวซิกข์ของเธอเอง 2 คนยิงตายคาสวนในบ้านพักของเธอ ณ กรุงนิวเดลี ปลายเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
ในช่วงรัฐบาลของนายราจีฟ คานธี ผู้สืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากมารดา (ค.ศ. 1984-1989) ผู้นำชาวซิกข์เดินแนวทางสายกลางชื่อ นายซัม ลังวาล (Harchand Singh Longowal) ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานพรรคอาคาลีตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 แล้วถูกทางการจับติดคุกได้รับการปล่อยตัวออกมา นายกฯ ราจีฟ คานธี จึงพยายามทำข้อตกลงสันติภาพกับซัม ลังวาล
แต่ในระหว่างที่เจรจาต่อรองกันนั้นเอง ปรากฏว่าสถาบันหลักทั้ง 3 ของรัฐปัญจาบได้แก่ฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหารได้คบคิดกันผ่านกฎหมายที่กดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐปัญจาบอย่างร้ายแรงออกมา ส่งผลให้กระบวนการสันติภาพล่ม และซัม ลังวาลก็ถูกปีกที่หัวรุนแรงกว่าในพรรคอาคาลีฆ่าทิ้ง
อาจารย์รณพีร์ชี้ว่า อันนี้แทบจะเป็นกฎเหล็กของขบวนการกบฏทั้งหลายเลยทีเดียว! กล่าวคือเมื่อไรก็ตามที่ฝ่ายรัฐเริ่มเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏ จะเกิดการแตกแยกภายในกลุ่มกบฏด้วยกันเอง ระหว่างปีกที่เดินสายกลางสักหน่อยกับปีกที่หัวรุนแรงกว่า ซึ่งมักจะลงเอยโดยผู้นำฝ่ายปีกสายกลางถูกฆ่า
พูดอีกอย่างก็คือในกระบวนการสันติภาพนั้น อาจจะมีการฆ่ากันไม่น้อยกว่าในกระบวนการสงครามก็ได้ เพราะเดิมพันของกระบวนการสันติภาพนั้นสูง ลักษณะของกระบวนการสันติภาพก็ซับซ้อน ไม่ได้มีการเจรจาต่อรองแค่เรื่องเดียว ประเด็นเดียว หรือระดับเดียว และหากไม่คำนึงถึงความซับซ้อน หลายระดับ หลายประเด็น หลายกลุ่มหลายฝ่ายของกระบวนการสันติภาพแล้ว ก็จะทำให้มันยั่งยืนไม่ได้
สมดังที่ศาสตราจารย์ ชาร์ลส ติลยี่ (Charles Tilly, ค.ศ.1929-ปัจจุบัน) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันเคยกล่าวว่า อันการเสวนาในสังคมประชาธิปไตยนั้นเอาเข้าจริงก็คือ "วิวาทวาทา" (contested conversation) หรือนัยหนึ่งคุยกันไปทะเลาะกันไปนั่นเอง
สรุป : การเมืองเป็นเรื่องของมิตรภาพ
สิ่งที่อาจารย์รณพีร์เน้นย้ำในตอนท้ายก็คือ ปัญหาสันติภาพเป็นปัญหาทางการเมืองที่สลับซับซ้อน
และการเสวนาเรื่องสันติภาพ ก็เป็นการวิวาทวาทาหรือคุยกันไปทะเลาะกันไป ฉะนั้นเวลาเสวนาสันติภาพจึงเป็นธรรมดา
ที่จะต้องทะเลาะถกเถียงกันยกใหญ่ ประชันความคิดความเห็นกันครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการสนทนาไปพร้อมกันด้วย,
อย่าไปหลงมีนโนภาพผิดๆ ว่าคุยกันเรื่องสันติภาพจะเป็นการสนทนาที่หน่อมแน้ม
เพราะมันย่อมรวมเอาความขัดแย้ง และการทะเลาะถกเถียงเข้าไปอยู่ในตัวมันเองด้วย
ขณะเดียวกันการสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นต้องมีหลายระดับและหลายเรื่องพร้อมกัน เปรียบไปแล้วกระบวนการเสวนาสันติภาพจึงเหมือนมีหลายแถบหรือหลายเฉดสี หลากเลื่อมแพรวพราย ร้อยรัดพัวพันกันอยู่ในนั้น
การที่เราคิดถึงกระบวนการเสวนาสันติภาพว่ามันเป็นวิวาทวาทาหรือคุยกันไปทะเลาะกันไป มีประโยชน์ 2 สถานคือ
1) ทำให้เราเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่หลากหลายซับซ้อน
2) ทำให้เราเห็นวิธีการหรือลู่ทางใหม่ในการมองหรือสร้างวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ "มิตรภาพ" ขึ้นมาในทางการเมือง
ระยะหลังนี้มีคนพูดกันมากถึงข้อคิดของอริสโตเติ้ล (ปราชญ์ชาวกรีก, 384-322 ก่อนคริสต์กาล) ที่ว่า "การเมืองเป็นเรื่องของมิตรภาพ" จะว่าไปแล้วนี่เป็นแนวคิดเรื่องมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของมนุษยชาติทั้งมวล
อย่างไรก็ตาม มาถึงทุกวันนี้ จากประสบการณ์ทั้งหมดที่เรามีเกี่ยวกับสันติภาพ บางทีจุดเน้นย้ำในคติข้อคิดของอริสโตเติ้ลดังกล่าว ควรจะกลับตาลปัตรกันกับของเดิม กล่าวคือ เวลาบอกว่า "การเมืองเป็นเรื่องของมิตรภาพ" ประเด็นที่เราควรขีดเส้นเน้นย้ำไม่น่าจะใช่ "ความเป็นมิตรภาพ" หากเป็น "ความเป็นการเมือง" ของมันต่างหาก เพราะมันมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก ในการที่จะเปลี่ยนจากศัตรูให้กลายเป็นมิตรกัน ถ้าเราเข้าใจปมนี้ก็จะเข้าใจวิถีทางใหม่ในการได้มาซึ่งมิตร เพราะมันไม่ใช่จะได้มิตรมาง่ายๆ มันมีการเมืองเยอะมาก
มันไม่ได้เป็นเรื่องที่หน่อมแน้มง่ายๆ สั้นๆ ซื่อๆ ทื่อๆ เลย
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
รัฐซึ่งขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนา
มักอาศัยกลไกทางกฎหมาย เพื่อยัดเยียดฉันทามติอันหนึ่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในปมความขัดแย้งว่า
จริงๆ แล้วมันขัดแย้งกันเรื่องอะไร? บรรดาผู้จัดการสันติภาพโดยทั่วไปมักยอมรับข้อมูลความเข้าใจทางประวัติศาสตร์
ที่รัฐตีความมาอย่างเซื่องๆ แล้วก็เลยกลายเป็นอุปสรรค ทำให้กระบวนการสันติภาพเดินไปไม่ได้
เพื่อแก้ไขเรื่องนี้ อาจารย์รณพีร์เสนอให้ย้อนรอยประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์
ในข้อตกลงดังกล่าว มีรายละเอียดเช่น ประเทศอินเดียที่จะสร้างขึ้นในอนาคตจะตระหนักรับรองสิทธิของชุมชนมุสลิมอย่างไรบ้าง... เป็นต้น จะเห็นได้ว่าหลายต่อหลายเรื่องในข้อตกลงนั้น เป็นประเด็นทางการเมืองว่าด้วยการแบ่งสันปันส่วนอำนาจหลังได้เอกราชในอนาคต แต่กระนั้นมันก็เป็นประเด็นสำคัญยิ่งสำหรับการที่ชน 2 กลุ่มนี้จะร่วมมือกันได้ ปรากฏว่า 15 ปีหลังทำข้อตกลงฉบับนี้ สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน พรรคคองเกรสฯมีฐานะเข้มแข็งสูงส่งขึ้น ขณะที่สันนิบาตมุสลิมฝ่อแฟบตกต่ำลง ดังนั้นเมื่อคู่ตกลงมีดุลกำลังทางการเมืองเปลี่ยนไป มหาตมะ คานธี ประธานพรรคคองเกรสฯตอนนั้น ก็เลยทำท่าจะเบี้ยว ไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่เคยอ่อนข้อไว้ ทั้งที่จินนาห์วอนขอคานธีให้ยึดมั่นรักษาข้อตกลง