ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
030348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 534 หัวเรื่อง
ปัญหาและทางออกเรื่องภาคใต้
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปัญหาและหนทางแก้ไขความขัดแย้ง
ไทย-มาเลย์ และปัญหาชายแดนภาคใต้
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้ได้เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย
1. หน้าที่สองของมาเลเซียและหน้าที่หนึ่งของไทย
2. ความเป็นมนุษย์ที่ต้องเคารพ
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)




1. หน้าที่สองของมาเลเซียและหน้าที่หนึ่งของไทย

เป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่ากรณีเจ๊ะกูแม ซึ่งมาเลเซียจับตัวได้ ดูจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งที่จริงก็คือทางที่เคยเป็นมาในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซียนั่นเอง แต่ก่อนหน้าที่กรณีจะคลี่คลาย หน้าที่สองของมาเลเซียก็โผล่มาให้เห็น ในขณะเดียวกันหน้าที่หนึ่งของไทย อันเป็นหน้าที่ไม่คิดมากจนค่อนข้างไร้เดียงสา อำนาจนิยม ขี้ประจบ ก็โผล่มาพร้อมๆ กัน

ผมไม่ได้หมายความถึงหน้าของท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว แต่ผมต้องการจะหมายรวมถึงอีกหลายล้านหน้าของคนไทย ที่มองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถึงจะรู้จักความละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ แต่ไม่เข้าใจว่าประเทศหรือรัฐไม่ใช่บุคคล ฉะนั้น จึงต้องใช้ความ "ละเอียดอ่อน" คนละชุดกัน

น่าสังเกตมาตั้งแต่ต้นว่า ประเทศไทยรู้ข่าวการจับกุมบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่าคือ เจ๊ะกูแม จากข่าวกรองของทหารไทย ลองคิดดูเถิดครับว่า ถ้ามาเลเซียต้องการปิดข่าวนี้มาตั้งแต่แรก หน่วยข่าวกรองของทหารไทยเก่งถึงขนาดที่จะรู้ข่าวนี้ได้เองหรือไม่ ตรงกันข้าม ข่าวการจับกุมบุคคลดังกล่าวถูกรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์มาเลเซีย(ที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาล) มาตั้งแต่เมื่อเขาถูกจับกุมไม่นาน แม้ไม่ได้ให้ชื่อว่าเจ๊ะกูแมก็ตาม

มาเลเซียตั้งใจที่จะ "รั่ว" หรือแจ้งข่าวนี้แก่รัฐบาลไทย อาจเป็นได้ว่า "รั่ว" หรือแจ้งข่าวผ่านสายทหาร ด้วยความหวังว่า ไทยจะดำเนินการต่อไปอย่างที่เคยทำมาแล้วหลายครั้งหลายหนในอดีต นั่นก็คือเจรจากันอย่างลับๆ ไม่ให้อึงคะนึงในมาเลเซีย เพื่อส่งตัวบุคคลคนนั้นแก่ทางการไทยในเวลาต่อมา

และอย่างที่กล่าวแล้วว่า มาเลเซียไม่เหมือน "ป๊ะ" ข้างบ้าน ที่คบหาแลกข้าวแลกแกงกันมาเนิ่นนาน เขาก็มีปัญหาภายในของเขาสลับซับซ้อนกว่า "ป๊ะ" ซึ่งมีเมีย 4 คน(ซึ่งก่อปัญหาสลับซับซ้อนแก่ตัว "ป๊ะ" มากเหมือนกัน แต่เราก็อาจใช้ความเป็นบุคคลของ "ป๊ะ" หยั่งรู้ได้)

มาเลเซียมีประชากรอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความผูกพันกับชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ของไทยอย่างลึกซึ้ง ความผูกพันนั้นอาจเป็นเพียงจินตนาการ เพราะร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกันและศาสนาเดียวกัน หรืออาจมีพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมกว่านั้น เช่นความเป็นเครือญาติกัน สังกัดในสำนักครูเดียวกัน เคยพึ่งพาอาศัยกันและกันในทางเศรษฐกิจตลอดมา หรือเคยร่วมในประวัติศาสตร์เดียวกัน เป็นต้น

ด้วยเหตุดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลที่กัวลาลัมเปอร์อยากจะเห็นความสงบในภาคใต้ของไทยมากเพียงใด(เพราะเป็นประโยชน์ต่อมาเลเซียมากกว่า - โดยเฉพาะถ้าดูกระบวนการผลิตของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายแล้ว โรงงานที่บางปะอินกับโรงงานในมาเลเซีย ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสายพานการผลิตเดียวกัน ไทยและมาเลเซียเป็นเพียงสองจังหวัดของประเทศพานาโซนิค, โซนี่, ซีเกท, ยุนได ฯลฯ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) รัฐบาลมาเลเซียก็ต้องระมัดระวังไม่สร้างความรู้สึกคับข้องใจให้แก่ประชากรจำนวนไม่น้อยของตนเอง

ที่ผ่านมาในอดีต มาเลเซียก็ได้ส่ง "ผู้ร้ายข้ามแดน" ให้แก่ไทยมาหลายครั้งหลายหนแล้ว(ไม่ว่าสนธิสัญญาที่มีต่อกันจะกำหนดว่าอะไร) และส่วนใหญ่ของผู้ที่ถูกส่งตัวแก่ไทย ก็มักมีข้อหาทางการเมืองด้วย แต่กระทำกันอย่างไม่กระโตกกระตาก เพื่อไม่ให้เป็นข่าวใหญ่ในมาเลเซีย ยิ่งภายใต้นายกรัฐมนตรีบาดาวี ซึ่งอาศัยความเคร่งครัดทางศาสนาเป็นฐานเสียงที่มีความสำคัญกว่านายกรัฐมนตรีคนที่แล้ว ปัญหาเรื่องนี้ยิ่งละเอียดอ่อนขึ้นไปอีก

ฝ่ายทหารจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการออกข่าวการจับกุมเจ๊ะกูแม ไม่ใช่บอกแก่สังคมไทยไม่ได้เลย เพราะผมเชื่อว่าแม้แต่ปัญหาความมั่นคง คนไทยเจ้าของประเทศก็มีสิทธิจะรู้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องวางแผนให้รัดกุมว่าจะออกข่าวอย่างไร จึงจะไม่ทำให้เกิดความอึดอัดแก่การดำเนินการขั้นต่อไปทั้งแก่ฝ่ายไทยและมาเลเซีย

แต่ผมอยากจะเดาว่า ฝ่ายทหารไม่ได้คิดเรื่องนี้ กลับไปคิดที่จะสร้างความสบายใจแก่คนไทยว่าจับหัวโจกได้แล้ว อีกไม่นานความไม่สงบในภาคใต้ก็จะสิ้นสุดลง อะไรทำนองนี้ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลทักษิณซึ่งคุมฝ่ายทหารตั้งทฤษฎีไร้เดียงสาว่า ความไม่สงบในภาคใต้มีสาเหตุมาจาก "หัวโจก" ไม่กี่คน ถ้าขจัดคนเหล่านี้ได้ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยเอง แล้วคนไทยจำนวนไม่น้อยก็เชื่อเสียด้วย โดยไม่ได้สงสัยว่า ผู้คนอีกไม่น้อยที่เข้าร่วมขบวนการกับ "หัวโจก" นั้นสมองกลวงหรืออย่างไร ทฤษฎีไร้เดียงสาเช่นนี้ทำให้เราไม่สนใจมองหาปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้มีคนอีกจำนวนมาก(ถึงไม่ใช่คนส่วนใหญ่ก็ตาม) ลุกขึ้นมาร่วมขบวนการต่อต้านรัฐอย่างอุกอาจเช่นนี้

ฉะนั้น ข่าวการจับกุม "หัวโจก" ได้อีกคนหนึ่งจึงสร้างความสบายใจแก่นกกระจอกเทศที่เอาหัวมุดทรายในสังคมไทย

ท่านนายกฯทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงด้วยการประกาศว่า จะให้มาเลเซียส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน กลายเป็นเงื่อนไขในสังคมไทยว่า ถ้ามาเลเซียจริงใจต่อไทยก็ต้องส่งบุคคลนั้นให้แก่ไทยโดยดี ถ้าไม่ยอมส่งก็แสดงว่าตีสองหน้า

ไม่เคยมีครั้งไหนที่รัฐบาลไทยใช้วิธีอย่างนี้กับกัวลาลัมเปอร์ เพราะสร้างความอึดอัดให้แก่เขาโดยไม่จำเป็น รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย แสดงความอึดอัดนี้ผ่านสื่อมีใจความสำคัญว่า มีช่องทางของการขอตัวคนร้ายระหว่างไทย-มาเลเซียอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่พื้นที่สื่ออย่างนั้น นัยคือ เตือนฝ่ายไทยให้ใช้ช่องทางอย่างที่เคยใช้มาแล้วหลายครั้งหลายหนในอดีต ในขณะเดียวกัน เขาก็มีความจำเป็นจะต้องสร้างความสบายใจแก่สาธารณชนของเขาเช่นกัน จึงต้องมีทีท่าที่อาจฟังดูแข็งกร้าวหน่อย เช่นอ้างว่าไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย(อันที่จริงถ้าไทยต้องการทำเรื่องนี้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา สนธิสัญญาที่มาเลเซียรับสืบทอดมาจากอังกฤษก็อนุญาตไว้แล้วว่า แม้คนร้ายมีสัญชาติไทย ถึงที่สุดแล้วมาเลเซียจะส่งหรือไม่ส่งก็ได้)

น่าประหลาดที่ไม่มีใครในบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาลไทยสะกิดท่านนายกฯ ว่า ให้ทำเรื่องนี้เงียบลงโดยเร็ว สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องการเป็นเรื่องง่าย กัวลาลัมเปอร์ "จัดให้ได้" อย่างแน่นอน มันมีช่องทางและวิธีการของมันอย่างที่ รมต.ต่างประเทศมาเลเซียบอกนั่นแหละ

ยิ่งไปกว่านี้ ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศไทย(ด้วยความเคารพเป็นส่วนตัว) กลับตอบโต้รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียอย่างรุนแรง เช่นกล่าวว่าไม่มีรัฐมนตรีต่างประเทศที่ไหนเขาจะกล่าวโจมตีนายกรัฐมนตรีของมิตรประเทศเพื่อนบ้านอย่างนั้น เหมือนผู้ใหญ่ไทยดุเด็กว่าไม่รู้จักกิริยามารยาท ทั้งๆ ที่ท่านนั่นแหละซึ่งใกล้ชิดท่านนายกฯ และมีหน้าที่รับผิดชอบควรจะสะกิดท่านนายกฯ ยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น

ผมไม่ทราบว่าท่านนายกฯ คนนี้ชอบให้สะกิดหรือชอบให้เชียร์ แต่เชื่อว่าเพราะไม่มีใครสะกิดนี่เอง ที่ทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าไทยจะได้ตัวเจ๊ะกูแมตามต้องการ(ส่วนได้ตัวแล้ว จะดีหรือไม่ดีต่อสถานการณ์ความไม่สงบเป็นคนละเรื่อง)

ความคุกรุ่นในสังคมไทยยังไม่ทันจางหาย ส.ว.อีกท่านหนึ่งก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า มาเลเซียนั้น "ตีสองหน้า" อยู่เสมอ แต่โชคดีที่คำพูดของ ส.ว.และ ส.ส.นั้นไม่มีมนุษย์ที่มีเหตุผลที่ไหนในโลกเขาสนใจฟังกันอยู่แล้ว ถึงข่าวนี้จะถูกตีพิมพ์ในสื่อของมาเลเซีย ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไร จึงไม่เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงตามมา

อันที่จริงการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างโปร่งใส โดยมีสาธารณชนเข้ามารับรู้และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีหรือไร้เดียงสา แต่วิธีการอย่างนั้นไม่อาจเกิดขึ้นลอยๆ หากเกิดขึ้นและเป็นไปได้ในสังคมและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจริง ไม่ใช่ในประเทศเดียวด้วย แต่ต้องทั้งสองประเทศที่สัมพันธ์กัน

ถ้าการจัดการกับความไม่สงบในภาคใต้ทำกันมาอย่างไม่โปร่งใส อย่างไม่ต้องการให้สาธารณชนมีส่วนรับรู้ และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ในขณะที่สาธารณชนเองก็ถูกมอมเมาด้วยข้อมูลเท็จ และมุมมองที่คับแคบ จะดำเนินความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอย่างโปร่งใสผ่านสื่ออย่างโจ๋งครึ่มเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากการเรียกคะแนนนิยมชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

และเราไม่รู้หรือว่า ทั้งสังคมไทยและสังคมมาเลเซียนั้น เป็นสังคมประชาธิปไตยแค่ไหน และเป็นสังคมที่รอบรู้แค่ไหน

หน้าที่สองของมาเลเซียและหน้าที่หนึ่งอันไร้เดียงสาของไทยเยี่ยมออกมาให้คนไทยได้เห็นพร้อมๆ


2. ความเป็นมนุษย์ที่ต้องเคารพ

ท่านนายกฯ พูดถึงผู้นำของขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ว่า พวกนี้หัวสมองติดชิปหมดแล้ว ท่านหมายความว่าไม่อาจจะไปแก้ไขอะไรได้ นัยะก็คือไม่เหลือวิธีจะจัดการกับคนเหล่านี้ได้อีก นอกจาก…

สำนวนว่าหัวสมองติดชิปอาจฟังดู "โลกาภิวัตน์" มาก แต่ที่จริงแล้วเป็นวิธีคิดเก่าแก่โบราณทีเดียว ไม่ต่างจากวิธีจำแนกบุคคลตามผิวพรรณ ชาติกำเนิด หรือดวงชะตา เช่นเดียวกับ "โค ขะ ละ สุ" หรือ "ไทยเล็ก เจ๊กดำ" นั่นก็คือมนุษย์แต่ละคนถูกสาปสรรให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตายตัว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เลย

แต่มนุษย์อย่างนั้นไม่มีในโลก เพราะมนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ตลอดเวลา มนุษย์ทุกคนจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนกัน ทั้งด้านวิธีคิดและพฤติกรรม แม้แต่คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิด บางครั้งก็ไม่สามารถมีพฤติกรรมเหมือนเดิมได้ เพราะเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยนไปเสียแล้ว

ชิปคอมพิวเตอร์ไม่มีสมรรถภาพเทียบเทียมสมองมนุษย์ได้ในแง่นี้ เพราะชิปคอมพิวเตอร์เรียนรู้ไม่ได้ เขาวางผังวงจรไว้อย่างไรก็อย่างนั้น ไม่มีวันเปลี่ยน อันที่จริงความใฝ่ฝันของนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็คือ ในอนาคตอันไม่ไกลข้างหน้า เราอาจพบวัสดุที่จะทำให้ชิปสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ๆ ได้

พื้นฐานของนโยบายจำแนกบริการของรัฐ ในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดสีไว้ต่างกันในสามจังหวัดภาคใต้ก็มาจากวิธีคิดอย่างนี้ นั่นคือมนุษย์เป็นแค่วัสดุอีกชนิดหนึ่ง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้นอกจากทุบ ตี หลอม หล่อ บิด ฯลฯ ด้วยกำลังรุนแรงเท่านั้น อันที่จริงไม่มีใครตำหนิการแบ่งพื้นที่ออกเป็นประเภทต่างๆ เพราะนั่นเป็นวิธีคิดตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว เช่น เราย่อมแบ่งป่า, บ้าน, เขา, ต้นน้ำ, ทะเล ฯลฯ ออกจากกัน พื้นที่แต่ละประเภทกำหนดพฤติกรรมของเราให้ต่างกันไปด้วย

ไม่ใช่เฉพาะปฏิบัติการทางทหารเท่านั้นที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อกำหนดการปฏิบัติการให้แตกต่างกัน ป่าไม้ก็แบ่ง, สรรพากรก็แบ่ง, ตำรวจก็แบ่ง, หรือแม้แต่แม่บ้านก็แบ่ง

สิ่งที่เขาตำหนิและต่อต้านคือนโยบายที่จะปฏิบัติการต่อพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันต่างหาก ท่านนายกฯประกาศว่าจะไม่ให้งบประมาณไปลงในพื้นที่สีแดง เพราะฝ่ายก่อความไม่สงบจะเอาเงินประชาชนไปใช้ก่อการจลาจล การโต้เถียงกันในระยะหลังทำให้กระจ่างชัดขึ้นว่า งบประมาณที่จะไม่เอาลงยังพื้นที่สีแดง (และบางส่วนในสีเหลือง) หมายถึงงบประมาณที่รัฐตั้งใจจะให้ชาวบ้านควบคุมกันเอง เช่น กองทุนหมู่บ้าน หรือกองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เป็นต้น

ถ้าเป็นดังนี้ก็พอเข้าใจได้ถึงความวิตกกังวลของรัฐบาลที่ว่า เงินจำนวนนี้อาจถูกกระจายไปเป็นกำลังให้แก่ฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าเข้าใจได้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องอยู่ดี ไม่แต่เพียงป้องกันไม่ให้เงินส่วนนี้รั่วไหลไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐเท่านั้น ท่านนายกฯยังหวังว่าการงดความช่วยเหลือจะบีบบังคับให้ประชาชนซึ่งเวลานี้เป็น "แนวร่วม" กับฝ่ายก่อความไม่สงบ (ด้วยเหตุใดก็ตาม) ต้องหันมาให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐ ฉะนั้นนโยบายนี้จึงแฝงเจตนาที่จะใช้ความรุนแรง "ปั้น" คนขึ้นตามที่รัฐต้องการด้วย

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมเป็นอันขาดก็คือ ปฏิบัติการปราบปรามหรือต่อต้านกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้เวลานี้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่การยึด "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ เพราะถึงอย่างไรรัฐก็ต้องยืนยันไว้เสมอว่า พื้นที่เหล่านั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งในอธิปไตยของไทย ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้เองก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

จุดมุ่งหมายสำคัญคือการแย่งคนกลับคืนมา ไม่ใช่แย่งพื้นที่ซึ่งเป็นของเราอยู่แล้ว

ควรเข้าใจด้วยว่า คนที่ถูกฝ่ายตรงข้าม "แย่ง" ไปนั้น อาจไม่ได้เห็นด้วยกับจุดมุ่งหมาย, การดำเนินงาน, หรือวิธีการของฝ่ายนั้นก็ได้ แต่เพราะไร้อำนาจต่อรอง เช่นไม่สามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อตัวได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเป็น "แนวร่วม" ที่จำใจของฝ่ายนั้น

ข้อมูลเท่าที่เรามีจนถึงวันนี้ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐในภาคใต้ไม่ได้มีฐานอยู่กับประชาชนกว้างขวางนัก ฝ่ายรัฐเองเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้เผยแพร่อุดมการณ์ของตัวกับวัยรุ่นเป็นหลัก ถ้าจริงก็แสดงอยู่แล้วว่าฝ่ายต่อต้านรัฐเจาะไปที่กลุ่มซึ่งสามารถปฏิบัติการทางทหารได้ มากกว่ามุ่งหาความเห็นชอบและสนับสนุนจากประชาชนทั้งหมด พ่อแม่ของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่กรือเซะให้การตรงกันว่า ไม่เคยทราบระแคะระคายเลยว่าบุตรหลานของตนเข้าร่วมอยู่ในขบวนการ

นอกจากนี้ถ้าดูโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายต่อต้านรัฐ เช่น ระบบสื่อสารมวลชน, เครื่องมือในการบริหารจัดการในพื้นที่ซึ่งถูกจัดว่าเป็นสีแดง, ระบบการจัดหารายได้ ฯลฯ ก็จะเห็นได้ชัดว่า ปราศจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ก็ยากที่จะสามารถใช้ฐานประชาชนในวงกว้างได้

การแย่งใจคนจากฝ่ายตรงข้ามจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ระหว่างฝ่ายก่อการซึ่งไม่มีแนวการดำเนินการอะไรอื่นนอกจากก่อความรุนแรง (อย่างแทบไม่หวังผลทางการเมืองเอาเลยด้วย) อันเป็นแนวดำเนินการที่ทำให้ไม่มีหนทางบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในท้องถิ่นหรือการเมืองระดับประเทศและระหว่างประเทศ กับรัฐซึ่งสามารถแสวงหาและสร้างความชอบธรรมในอำนาจของตนได้อย่างง่ายดาย

รัฐที่จะอยู่เหนือฝ่ายก่อความไม่สงบได้ จึงอาศัยแต่ปฏิบัติการทางทหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หรือแม้แต่ใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นเครื่องมือหลักก็ไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับรัฐลงไปสู้กับฝ่ายตรงข้ามในเงื่อนไขของพวกเขา ซึ่งไม่มีกำลังอื่นใดเลยนอกจากการปฏิบัติการทางทหาร (และด้วยเหตุดังนั้นท่านผู้ใหญ่ เช่น อาจารย์ประเวศ วะสี จึงกล่าวว่าเท่ากับตกหลุมพราง) ตรงกันข้าม รัฐมี "พลัง" อื่นๆ ในมืออีกมากมาย ซึ่งควรนำออกมาใช้เพื่อแย่ง "แนวร่วม" (ทั้งที่ปลงใจและจำใจ) กลับคืนมา รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน และเงินสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ด้วย

ระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐ ประชาชนที่ไหนๆ ก็ย่อมเลือกเอารัฐเสมอ ถ้ารัฐสามารถให้สามสิ่งต่อไปนี้แก่ประชาชนได้คือ

1. "ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน" ส่วนหนึ่งของการประกันความปลอดภัยคงต้องใช้กองกำลังอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ต้องระมัดระวังการใช้วิธีนี้เป็นพิเศษ กล่าวคือต้องไม่มองประชาชนทั้งพื้นที่เป็นศัตรู เขาจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูก็ตาม เขาจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างเสมอภาคกัน นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิธีทางการทหารอีกมาก เช่น การรวมกลุ่มของชาวบ้าน เพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยของกันและกัน ไม่ว่าภัยนั้นจะมาจากฝ่ายใด อย่างเดียวกับที่ชาวบ้านร่วมมือกันในการสอดส่องดูแลมิให้มีโจรผู้ร้าย เพียงแต่ว่าทางฝ่ายรัฐอาจช่วยสอนให้ว่า วิธีดูแลความปลอดภัยของกันและกัน ชนิดที่ไม่เป็นอันตรายนั้นพึงทำอะไรได้บ้าง

2. "ความยุติธรรม"
ซึ่งรวมถึงความเคารพในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเขา นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ผู้ก่อความไม่สงบลงโทษคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของขบวนการอย่างง่ายๆ คือประหารชีวิต รัฐต้องไม่ทำอย่างนั้นเด็ดขาด แต่รัฐจะดำเนินการบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันรัฐจะไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในกรณีพิพาท ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง หรือชาวบ้านกับนายทุนภายนอก

3. "โอกาส"
รัฐเท่านั้นที่สามารถหยิบยื่นโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่สีแดงได้อย่างเป็นรูปธรรม และในทันทีทันใดด้วย ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจทำสิ่งเดียวกันได้ แต่รัฐควรเข้าใจให้ดีว่าโอกาสทางเศรษฐกิจ, สังคมและการเมืองนั้น ไม่ใช่สูตรตายตัวที่คนจากภายนอกจะเป็นผู้บัญญัติขึ้นว่า อะไรคือโอกาส เพราะโอกาสของคนในแต่ละวิถีชีวิตนั้นไม่เหมือนกัน ตรงกันข้ามกับการกีดกันคนในพื้นที่สีแดงออกไป เราควรดึงเขากลับมาบนเวทีเดียวกัน เพื่อให้เขาได้บอกว่า โอกาสในสถานะและวิถีชีวิตของเขาคืออะไร รัฐจะสามารถหยิบยื่นโอกาสนั้นแก่เขาได้อย่างไร

ถ้ารัฐสามารถให้สามประการข้างต้นแก่ประชาชนได้ ก็ไม่มีทางที่ผู้ก่อความไม่สงบจะช่วงชิงเอาคนจากพื้นที่สีแดงไปได้อย่างแน่นอน ปลาที่ขาดน้ำย่อมอยู่ไม่ได้เอง

คนทุกคนเปลี่ยนได้ เพราะคนเรียนรู้ได้ การมองคนเป็นวัสดุที่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงเป็นทิฐิที่ผิดตั้งแต่ต้น และนำไปสู่การวางนโยบายที่ทั้งรุนแรง และสร้างความร้าวฉานให้เกิดแก่ประชาชน ซึ่งพร้อมและอยากยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐอยู่แล้ว แน่นอนนโยบายที่วางอยู่บนทิฐิที่ผิด ย่อมไม่นำไปสู่ความสำเร็จ


 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
(รวม)บทความวิชาการเรื่อง"ไทย-มาเลย์ และปัญหาชายแดนภาคใต้" เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (รวมผลงานที่เพิ่งตีพิมพ์)

ที่ผ่านมาในอดีต มาเลเซียก็ได้ส่ง "ผู้ร้ายข้ามแดน" ให้แก่ไทยมาหลายครั้งหลายหนแล้ว และส่วนใหญ่ของผู้ที่ถูกส่งตัวแก่ไทย ก็มักมีข้อหาทางการเมืองด้วย แต่กระทำกันอย่างไม่กระโตกกระตาก เพื่อไม่ให้เป็นข่าวใหญ่ในมาเลเซีย ยิ่งภายใต้นายกรัฐมนตรีบาดาวี ซึ่งอาศัยความเคร่งครัดทางศาสนาเป็นฐานเสียงที่มีความสำคัญกว่านายกรัฐมนตรีคนที่แล้ว ปัญหาเรื่องนี้ยิ่งละเอียดอ่อนขึ้นไปอีก

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมเป็นอันขาดก็คือ ปฏิบัติการปราบปรามหรือต่อต้านกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้เวลานี้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่การยึด "พื้นที่" ทางภูมิศาสตร์ เพราะถึงอย่างไรรัฐก็ต้องยืนยันไว้เสมอว่า พื้นที่เหล่านั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งในอธิปไตยของไทย ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้เองก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย จุดมุ่งหมายสำคัญคือการแย่งคนกลับคืนมา ไม่ใช่แย่งพื้นที่ซึ่งเป็นของเราอยู่แล้ว ควรเข้าใจด้วยว่า คนที่ถูกฝ่ายตรงข้าม "แย่ง" ไปนั้น อาจไม่ได้เห็นด้วยกับจุดมุ่งหมาย, การดำเนินงาน, หรือวิธีการของฝ่ายนั้นก็ได้ แต่เพราะไร้อำนาจต่อรอง เช่นไม่สามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อตัวได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่น

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ