ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
230248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 532 หัวเรื่อง
ประวัติการย่อเพลงสรรเสริญฯ
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เพลงสรรเสริญพระบารมี
ปฐมบทว่าด้วยการเมืองของการถวายความจงรักภักดี

ประวัติการย่อเพลงสรรเสริญพระบารมี
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ : สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน และเคยตีพิมพ์แล้วในวารสารธรรมศาสตร์

ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
ปรับปรุงและคัดย่อจากร่างฯ เดิมหัวข้อเรื่อง "เพลงสรรเสริญพระบารมี: ปฐมบทว่าด้วยการเมืองของการถวายความจงรักภักดี(๒๔๔๕ - ๒๔๘๓)"
ซึ่งเดิมเป็นงานเขียนที่มีเนื้อหา ให้รายละเอียด เสนอหลักฐาน และจำนวนหน้ากระดาษที่หนากว่านี้มาก
แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเสนอต่างๆ ที่เคยปรากฎในร่างฯ ดังกล่าวสำหรับผู้เขียนแล้ว ยังคงมีความน่าสนใจโดยตัวมันเองอยู่เสมอ
ฉะนั้นผู้เขียนจึงขอเรียบเรียงมาเสนอในโอกาสนี้
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 37 หน้ากระดาษ A4)



ประวัติการย่อเพลงสรรเสริญพระบารมี (พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๘๓)
กำพล จำปาพันธ์

(หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ประกอบด้วยเชิงอรรถขนาดยาวที่น่าสนใจจำนวนมาก แต่เพื่อเป็นการสะดวกสำหรับการอ่านทั่วๆไป จึงขอนำไปไว้ที่ท้ายบทความทั้งหมด)


บทนำ
นับเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ประวัติความเป็นมาของเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน ยังคงให้ความสำคัญต่อเพลงประจำองค์พระมหากษัตริย์ในแบบฉบับของยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมีหลังปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงมักถูกละเลย ความเปลี่ยนแปลงแต่ละสมัยหรือจุดเปลี่ยนต่างๆ ก็ยังคงใช้ลำดับเวลาในแต่ละรัชกาลมาเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญ แม้แต่เมื่อจะกล่าวถึงยุคสมัยหลังๆ ก็ยังใช้สมัย ร.๘ เช่น ไขแสง ศุขะวัฒนะ ในบทความชื่อ " ประวัติความเป็นมาของเพลงสรรเสริญพระบารมี " (๒๕๒๕) และ สุกรี เจริญสุข ในเล่มที่ชื่อ " 99 ปีเพลงสรรเสริญพระบารมี" (๒๕๓๐) เป็นต้น

กรณีไขแสง ศุขะวัฒนะ (๒๕๒๕) แม้จะกล่าวถึงเพลงสรรเสริญฯ ในช่วงหลัง ๒๔๗๕ หรือ "สมัยรัชกาลที่ ๘" (ตามคำเรียกของไขแสง) ไว้บ้าง แต่ท่านผู้นี้ก็กล่าวไว้สั้นๆ แต่เพียงว่า

ครั้นต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๘ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
ทางราชการได้กำหนดให้มีเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสั้นหรือ
โดยสังเขปขึ้นอีกเพลงหนึ่ง เพื่อใช้ในการบรรเลงทั่วไปนอกเหนือ
จากงานพระราชพิธี เพลงสรรเสริญพระบารมีแบบสังเขปนั้น
มีเนื้อร้องตัดทอนจากแบบพิสดารเหลือเพียงดังนี้

ข้าวรพุทธเจ้า ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย.

แต่ต่อมาทางราชการคงจะเห็นว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น
สั้นห้วนเกินไป บรรเลงและขับร้องแล้วไม่ไพเราะสง่าภาคภูมิเหมือน
เพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิสดาร จึงได้ประกาศเลิกใช้และใช้
แบบพิสดารแต่เพียงแบบเดียวเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน (1)

สุกรี เจริญสุขเองก็เช่นกัน แม้จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของเพลงสรรเสริญฯ ไว้ในแบบต่างๆ เช่น เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ กอดเสฟเดอะควีนในประเทศไทย เพลงสรรเสริญพระนารายณ์ และเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบัน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยหลังๆ มานี้ ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกละเลยในงานของสุกรี เช่นเดียวกับไขแสง ตลอดทั้งเล่มสุกรีเขียนไว้สั้นมาก โดยกล่าวไว้แต่เพียงว่า

ในปี พ.ศ. 2478 สมัยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี
ได้มีการตัดทอนเพลงสรรเสริญพระบารมีให้สั้นลง ทำย่อเป็นเพลงสังเขป
โดยมีเหตุผลว่า เพลงประจำชาติต่างๆ ที่เป็นชาติใหญ่หรือชาติมหาอำนาจ
สำคัญ มักจะมีเพลงประจำชาติสั้นๆ แต่ชาติเล็กๆ น้อยๆ มักใช้เพลง
ประจำชาติยาวๆ ชาติยิ่งเล็กเท่าไร ยิ่งมีความยาวของเพลงมากขึ้นเท่านั้น
ผู้บริหารของประเทศขณะนั้นพิจารณาเห็นว่าเพลงสรรเสริญพระบารมี
ซึ่งเป็นเพลงประจำชาติมีความยาวมากเกินไป ย่อมไม่สมควรที่ประเทศไทย
จะยอมตนเป็นชาติเล็กให้ถูกเย้ยหยันได้จากบทเพลง สมควรที่จะตัดทอน
ให้สั้นลงเพื่อความยิ่งใหญ่ของชาติไทย (2)

ทั้งไขแสงและสุกรีต่างก็ให้ความสำคัญแก่ยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกล่าวถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีในลักษณะให้ภาพที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาดูข้อมูลหลักฐานของทั้งสองแล้ว การเน้นอย่างนั้นอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์องค์กษัตริย์มีความสำคัญในฐานะ ประมุขสูงสุดที่มีอำนาจเต็มทั้งทางการเมืองและการบริหารโดยตรง จึงเห็นได้ไม่ยากเลยว่า เพลงประจำพระองค์จะต้องมีความสำคัญและโดดเด่นกว่าเพลงอื่นๆ หรือเพลงของผู้อื่น

อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นโดยผู้เขียนพบว่า เพลงสรรเสริญฯ ในปัจจุบันนี้จะไม่มีสภาพต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันถึงเพลงสรรเสริญฯ สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์อย่างที่เข้าใจกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเพลงขององค์กษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์จะไม่มีความสำคัญเสียทีเดียว นัยความหมายที่อาจอนุโลมกล่าวได้ในที่นี้ ก็เช่นที่เป็นแบบอย่างสำคัญให้ในภายหลัง และใช่ว่าเพลงสรรเสริญฯในยุคหลังๆ มานี้จะไม่มีความเคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใดบ้างเลย (ซึ่งจะชี้ให้เห็นในชั้นถัดไป)

เนื่องจากเพลงสรรเสริญฯ ปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแต่เพียงเพลงประจำองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ลักษณะที่เน้นการเมืองมวลชนอย่างสูงมีผลทำให้กลายเป็นเพลงของเหล่า "พสกนิกร" ควบคู่กันไปด้วย แม้คำร้องและทำนองจะยังคงใช้ฉบับเดียวกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์อยู่ก็ตาม แต่คำร้องและทำนองที่ว่านั้น บางครั้งก็หาได้มีความสำคัญโดยตัวเองเท่าใดนัก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คำร้องและทำนองอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายอันใดเลยก็ได้ ถ้าประวัติที่มาของคำร้องและทำนองนั้นไม่ได้สะท้อนประเด็นสำคัญอื่นเอาไว้ด้วย ( เช่น การเมืองว่าด้วยการถวายความจงรักภักดี ฯลฯ) (3)

สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์
เช่นเดียวกับบทเพลงที่มีนัยยะสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองอื่นๆ เพลงสรรเสริญพระบารมีมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด อาจกล่าวได้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงอันเกี่ยวแก่พระราชอำนาจในสถาบันพระมหากษัตริย์ และลักษณะความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์อีกทอดหนึ่ง

ร่องรอยความเป็นมาของของบทเพลงฯ ที่สืบรับมาจากเพลงอื่นที่มีมาก่อนหน้านั้น เช่น เพลงสรรเสริญพระนารายณ์ เพลงบุหลันลอยเลื่อนฟ้า หรือเพลงสรรเสริญพระจันทร์สมัย ร.๒ นั้น กล่าวได้ว่า ยังคงเป็นแต่เพียงบทเพลงประจำองค์กษัตริย์เท่านั้น หาได้มีลักษณะเป็นเพลงการเมืองมวลชน หรือเพลงประจำเหล่าพสกนิกรไปด้วยในตัว (เช่นที่เพลงสรรเสริญฯ เป็นอย่างในปัจจุบันนี้ )

เนื่องจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ราษฎร ยังคงถูกตัดสิทธิในการเข้าถึงองค์กษัตริย์ที่รักของพวกเขา ขณะเดียวกันพระองค์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเปิดโอกาสให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเช่นในสมัยหลังนี้ ความภักดีของราษฎรนั้น อันที่จริงสำหรับสมบูรณาญาสิทธิราชแล้วไม่ได้มีความหมาย หรือสำคัญเทียบเท่ากับความจงรักภักดีในหมู่เหล่าขุนนาง และเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดหรือแวดล้อมพระองค์แต่อย่างใด

โดยแง่คิดนี้แล้ว เพลง God save the Queen สมัยร. ๔ ที่นำเข้าโดยครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ อิมเปย์ ( Impay ) และ นอกซ์ ( Knox ) จึงไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชดำริในเพลงสรรเสริญพระบารมีเสียทีเดียว หรือแม้แต่เพลงที่ ร.๕ รับสั่งแก่บรรดาครูเพลงให้มีขึ้นเมื่อครั้งหลังเสด็จกลับจากประพาสชวา ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ก็ไม่ใช่!! เนื่องจาก God save the Queen ใช้บรรเลงในกองทัพสมัยใหม่สำหรับถวายความเคารพระหว่างที่ทรงเสด็จตรวจกองทหาร ซึ่งเป็นไปเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีอย่างแท้จริงหรือใช้ขับร้องประกอบสร้างเชิงพิธีกรรม ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่ต้องกระทำเป็นประจำหรืออย่างน้อยก็ต้องให้มีความสม่ำเสมอ

อีกทั้ง God save the Queen ก็เป็นเพลงของราชสำนักอังกฤษ ทั้งโดยภาษาและเนื้อหาความหมายจึงไม่ใช่เพลงขององค์กษัตริย์ไทย และเพลงบุหลันลอยเลื่อนฟ้าที่ถูกรื้อกลับมาใหม่หลังเสด็จประพาสชวา ก็ยังหาได้มีเนื้อหาหรือนัยความหมายที่เป็นเพลงสำหรับมหาชนผู้จงรักภักดี เท่าที่ทราบไม่ปรากฎมีการขับร้องในหมู่คนจำนวนมากอย่างเป็นพิธีกรรมสม่ำเสมอ หากแต่ใช้บรรเลงถวายโดยนักเพลงชั้นครูเพียงไม่กี่คน แม้จะเป็นเพลงสรรเสริญฯ ตามแบบฉบับเพลงไทยเดิมก็ตาม

ในความเป็นจริงจุดเริ่มต้นของเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยเนื้อหา / ความหมาย หรือที่มีนัยยะสัมพันธ์เป็นแบบอย่างให้กับ "ที่ทาง" ของเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบันนี้ เกิดขึ้นเมื่อกรมศึกษาธิการประกาศบังคับให้มีเพลงสำหรับสรรเสริญพระบารมี ใช้ร้องในโรงเรียนทั่วไปเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๐) แต่ชั้นต้นๆ มีเนื้อร้องดังนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุพยุพดี
ยอกรชุลี วรบทบงสุ์
ซร้องศัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ รักษา ชนนิกายะศุขสานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ฉะนี้ ฯ

จากหลักฐานที่เป็นหนังสือโต้ตอบกันระหว่างพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการสมัยนั้น กับสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สะท้อนว่าการเริ่มบังคับร้องเพลงสรรเสริญฯ ในโรงเรียนเป็นเรื่องที่จริงจังกันมาก มีการพิจารณากันครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ชั้นพระยาวิสุทธิฯ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง สมเด็จฯกรมพระยานริศฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี และกระทั่งถึงชั้นองค์พระมหากษัตริย์เองก็ยังทรง "พระราชทานกระแสพระราชดำริห์ " มาเองอีกด้วย แต่ละถ้อยคำ ความหมาย ประโยค และความเหมาะสมลงตัว เป็นประเด็นพิจารณากัน และต่อไปนี้คือตัวอย่างหนึ่งของหลักฐานที่ว่านั้น

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร,ศ, ๑๒๓
แจ้งความมายัง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์

จดหมายส่งคำสรรเสริญพระบารมีมา ได้รับแล้ว คำที่ท่านแก้มานั้นไม่สู้เพราะ แต่ว่าใช้ได้ไม่ขัด ข้าพเจ้าคิดจะทำใหม่ แต่จะเอาเร็วไม่ได้เพราะเป็นการยากมากด้วย เสียงพูดของเรามีเสียงดนตรีอยู่แล้ว จำเป็นต้องเลือกคำสูงประจุลงในที่สูง คำต่ำประจุลงในที่ต่ำ ให้พอเหมาะกับเพลงดนตรีจึงจะฟังร้องเสียงเกลี้ยงเกลาดี ข้อความที่จะสรรเสริญพระบารมีข้าพเจ้าได้รับพระราชทานกระแสพระราชดำริห์ไว้แล้ว เมื่อได้แต่งแล้วจะส่งมาให้ในระหว่างที่ยังไม่ได้บทใหม่มานั้น ขอให้ท่านใช้บทที่ท่านได้แก้ไขนั้นไปพลางก่อน

โอกาสนี้ขอแสดงความนับถือต่อท่าน
นริศ. (4)

ผลจากการปรึกษาความกันระหว่างพระยาวิสุทธิฯ กับกรมนริศ ในครั้งดังกล่าวนี้ นอกเหนือจากการพิจารณาถ้อยคำอักษรสำหรับ " ข้อความที่จะสรรเสริญพระบารมี " ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่มีการอภิปรายปรึกษาความกันแล้ว ที่สำคัญครั้งดังกล่าวนี้ยังนำไปสู่การจัดให้มีคำร้องสำหรับแยกกันระหว่างนักเรียนชาย และนักเรียนหญิง เป็นการเฉพาะอีกด้วย

ซึ่งความจริงก็ไม่มีอะไรมาก ท่านทั้งสอง (พระยาวิสุทธิฯ และกรมนริศ ) เพียงแต่แปลงถ้อยคำบางคำที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้วไปเพียงเล็กน้อย แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของทั้งสองท่านเป็นอย่างดี ในการจัดบังคับให้มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงเรียน คำร้องที่แปลงฯ นั้นมีดังนี้

แปลงเปนสำหรับโรงเรียนผู้ชาย
ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณากุมารา
โอนศิรวันทา วรบทบงสุ์
ฯลฯ

แปลงเปนสำหรับโรงเรียนผู้หญิง
ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าดรุณะกุมารี
โอนศิรชุลี วรบทบงสุ์
ฯลฯ

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๙ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องขึ้นใหม่ โดยทรงเรียบเรียงจากเค้าโครงของคำและความหมายเดิม และใช้ร้องบรรเลงในลักษณะเป็นการแสดงสด (consert ) เฉลิมพระเกียรติฯ ปรากฏว่ากรมนริศฯ ประสบความสำเร็จพอสมควร เนื้อร้องสรรเสริญพระบารมีฉบับดังกล่าวนี้ เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่เจ้านายและองค์กษัตริย์ และเนื้อร้องฉบับนี้นี่เองที่กลายเป็นเนื้อร้องเพลงสรรเสริญฯ ฉบับมาตรฐานเพียงฉบับเดียวในเวลาต่อมา เนื้อร้องฉบับนี้มีดังต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บุญดิเรก
เอกบรมจักริน พระสยามินทร์
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ฉะนี้ ฯ

แต่แม้จะได้มีคำสั่งออกมาอย่างเป็นทางการ (และเป็นหลักฐานในภายหลัง) แล้ว การร้องเพลงสรรเสริญฯ ก็หาได้ราบรื่นตามพระประสงค์ไม่ บ่อยครั้งที่มักเกิดขลุกขลักโดยเฉพาะตรงท่อนที่มีคำ "ฉะนี้" เวลาร้องกันจริงๆ จะออกเสียงเป็น "ชะนี" ซึ่งก็กลายเป็นของขบขันมีการหัวเราะคิกคักกันเสมอ แต่ก็ปล่อยให้เป็นเช่นนั้นเรื่อยมาไม่ปรากฎมีการแก้ไข

จนลุถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ หลังจากประกาศใช้เพลงสรรเสริญฯ ฉบับนี้เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี จึงได้เปลี่ยน "ฉะนี้" เป็น "ชโย" กล่าวกันว่าเกิดจากพระราชดำริใน ร.๖ เมื่อคราวทรงโปรดให้มีการขับร้องกันในหมู่กองเสือป่าของพระองค์เป็นการเฉพาะ (6) ทั้งนี้นับเป็นจังหวะย่างก้าวสำคัญหนึ่งในประวัติความเป็นมาของเพลงสรรเสริญพระบารมี

สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์อาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงคำร้อง แต่ก็ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญมากเท่าการเปลี่ยนแปลงในชั้นหลังจากนั้น โดยเฉพาะหลัง ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นการย่อเพลงทั้งฉบับให้สั้นลง กระทั่งบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นเนื้อหาความหมายกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามการย่อดังกล่าวนี้ก็มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวอยู่โดยนัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง และประวัติศาสตร์ความคิดบางอย่างที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานั้นเอง และหลังจากนั้นด้วย

หมายเหตุ: โน๊ตเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์
ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ภาพจาก วารสารศิลปากร. ปีที่ ๖ เล่มที่ ๑๒ ( กรกฎาคม ๒๕๑๕) น. ๘๓ - ๘๔

การเมืองว่าด้วยการถวายความจงรักภักดี (7)
ขอท้าวความถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง. ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนหลายอย่างในเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนั้น นอกเหนือจากเรื่องความตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจ การดุลย์ข้าราชการ วิกฤตการณ์การเมืองระหว่างประเทศ กระแสความตื่นตัวในเรื่องสิทธิความเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ที่สำคัญนอกเหนือไปกว่านั้น และควรพิจารณาในที่นี้เป็นการเฉพาะก็เห็นจะได้แก่

สภาพที่ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร อันมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานนั้น ได้ก่อให้เกิดวิกฤติในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ จนกระทั่ง "เป็นที่ประจักษ์แน่แล้วว่าพระเจ้าแผ่นดิน แสดงความไม่สามารถในการที่จะบงการโดยอำนาจอับโซลู้ด ให้งานของชาติเจริญรุ่งเรืองได้"(8) การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจึงได้กลายเป็นคำตอบสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่สถาบันกษัตริย์ในระบอบเดิมไม่อาจจะแก้ไขอะไร

ระหว่าง "ชาติ" กับ "กษัตริย์" กลายเป็นสองทางเลือกของการถวายความจงรักภักดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีการแยกส่วนกันในองค์ประกอบระหว่าง "ชาติ" กับ "กษัตริย์" นั่นเอง ในชั้นต้นคณะราษฎร คือ กลุ่มคนที่เลือก "ชาติ" (เพราะรักชาติแบบใหม่จึงไม่เอากษัตริย์แบบเก่า) แถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ประกาศชัดเจนว่า " ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ " (9)

ประเด็นนี้เองทำให้มีการตีความกันภายหลังว่า ๒๔ มิ.ย. ๗๕ เป็นจุดเริ่มของการสถาปนา "รัฐประชาชาติ" (10) ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การตีความดังกล่าวนี้จะมีผลเป็นการขีดเส้นขวางระหว่างระบอบรัฐก่อนหน้านั้นกับรัฐหลัง ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ต่อปัญหากษัตริย์.

ดูเหมือนว่าคณะราษฎรเอง ก็ยังหาได้ตัดขาดจากจารีตการถวายความจงรักภักดีแต่อย่างใดไม่ พระราชอำนาจที่พวกเขาเพียรพยายามอย่างสูง ที่จะก่อการลิดรอนลงให้ได้มากที่สุดนั้น คือ พระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ จุดประสงค์ของผู้ก่อการ ๒๔ มิ.ย. ๗๕ (ตามสำนวนกล่าวของเขาเอง) ได้แก่ "เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย "(11)

๒๔ มิ.ย. ๗๕ จึงไม่ใช่ภาพสะท้อนของการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง หากแต่สะท้อนความขัดแย้งบางอย่างที่มีอยู่ในพระราชอำนาจของพระองค์เองอยู่แต่เดิม แง่นี้คณะราษฎรจึงมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวอยู่ในตัวเอง ซึ่งนั่นนับเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาตีความหรือทำการประเมินกันเป็นการเฉพาะโดยแยกต่างหากออกไป

ในที่นี้การแยกพระเดชพระคุณหรือยกไว้เบื้องสูงไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการบริหาร ย่อมมีผลต่อสภาพความมั่นคงถาวรของสถาบัน หรือนัยหนึ่งคือความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของสถาบันเอง ในแง่นี้กล่าวได้เลยว่า คณะราษฎรจึงเป็นกลุ่มคนที่ยังคงเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดีอย่างยิ่ง เพียงแต่เป็นความจงรักภักดีในอีก "รูปแบบ" หนึ่ง ซึ่งต่างจากความจงรักภักดีรูปแบบอื่นที่มีมาก่อนหน้านั้น

เช่นที่ผู้ก่อการฯ ท่านหนึ่งวิจารณ์ไว้ว่า "พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ก่อน ๒๔ มิ.ย. ๗๕ - กำพล ) แทบทั้งหมด มุ่งแต่เพียงทำตัวให้เป็นที่โปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดจนทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย "(12) ขณะที่ความจงรักภักดีรูปแบบเก่าถูกมองว่าเป็นความไม่จงรักภักดี(ประจบสอพลอฯ) ความจงรักภักดีรูปแบบใหม่ก็ถูกมองเป็นการ "กบฏ" (ทั้งที่"เนื้อหา" อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนละเรื่องกัน)

ความจริงในหมู่ผู้ก่อการฯเองก็ต่างเข้าใจเป็นอย่างดี และยังสะท้อนไว้อย่างน่าคิด เช่นที่เขากล่าวเองว่า "การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ไม่ได้เป็นการกบฏหรือล้มราชบัลลังก์ เพราะการมีรัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมือง นับเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพระเจ้าอยู่หัว ความดีทั้งหลายก็เทิดทูนถวายส่งเสริมพระบารมี ฉะนั้น (ถือตามนี้ - กำพล) พระมหากษัตริย์ย่อมรุ่งโรจน์ตลอดไป"(13)

จากจุดนี้จะเห็นได้ว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองบทบาทและความสำคัญของพระมหากษัตริย์นั้น ยังคงจะมีอยู่เพียงแต่เปลี่ยนไปในอีกแบบหนึ่ง การที่ทั้งร่วมมือกันบ้างทั้งขัดแย้งกันบ้าง ระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใด ในเมื่อเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากอยู่แล้ว ภายใต้รูปแบบการถวายความจงรักภักดีที่ว่านี้

ทั้งนี้เป็นปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับลักษณะและปริมาณความจงรักภักดีที่มีขึ้นใหม่นั้นอีกต่อหนึ่ง พระราชอำนาจในสถาบันฯ ตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองจึงไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เต็มไปด้วยความลักหลั่นและอ่อนไหวต่อการกระทบกระทั่งเอามากๆ ชนิดที่ไม่มีสถาบันไหนอีกแล้วในสังคมไทยจะต้องการสิ่งนี้ (การถวายความจงรักภักดี) เพื่อหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของตัวเองมากถึงเพียงนี้

เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งของการแสดงออกถึงความต้องการดังกล่าว เมื่อความจงรักภักดีมีรูปแบบเปลี่ยนไปจากเดิม ย่อมส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวบทเพลงเช่นกัน แม้คณะราษฎรจะยังคงรักภักดีอยู่ก็ตาม แต่ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองในยุคสมัยของรัฐบาลคณะราษฎรนี้เอง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเนื้อหาของเพลงสรรเสริญพระบารมี

สมมติคำและการย่อ: ฉบับย่อ ๒๔๗๘ ว่าชาติใหญ่แล้วเพลงสรรเสริญฯ (ควรจะ) สั้น

การย่อครั้งที่เป็นซีรีส์จริงๆ เกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เช่นที่ไขแสงกล่าว และก็ไม่ได้เกิดจากการพิจารณาของผู้บริหารประเทศขณะนั้นเช่นที่สุกรีกล่าว!!! หากแต่ชั้นแรกสุดเป็นความดำริในราชสำนักเอง จากนั้นจึงตกเป็นหน้าที่พิจารณาของฝ่ายรัฐบาล เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ พระนรราชจำนง ราชเลขานุการในพระองค์ (สมัยร.๘) ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง โดยมีใจความสำคัญดังนี้

ด้วยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สังเกตว่า การบรรเลงเพลง
สรรเสริญพระบารมีนั้น ในต่างประเทศมีสองอย่าง คือ ธรรมดา และ
โดยสังเขปและมักมีการบรรเลงอย่างสังเขปในงานต่างๆ อันมิใช่ทางราชการ
เช่น ในงานมหรศพ เป็นต้น และเห็นว่า ถ้าเป็นการสมควรน่าจะอนุโลม
แบบนี้มาใช้บ้าง จึ่งใคร่ให้ท่านนำเรื่องนี้มาปรึกษาคณะรัฐมนตรีพิจารณา
เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่อไป (14)

กระทรวงวังรับเรื่องนี้ไว้แล้วเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมี่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้มีมติเป็นอันว่า "ตกลงให้กรมศิลปากรพิจารณาเสนอความเห็นต่อไปโดยด่วน"(15) พร้อมกันนั้นกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้แจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดอย่างกระทรวงธรรมการ ที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เป็นรัฐมนตรีให้ได้รับทราบทั่วกันเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

ในกระบวนการพิจารณาหัวเรื่องดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ ๓ ท่าน ที่มีส่วนร่วมและมีบทบาทหน้าที่โดยตรง ได้แก่ หลวงวิจิตรวาทการ (ในนามกรมศิลปากร), สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ฝ่ายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง), และ พระเจนดุริยางค์ จากแผนกเครื่องสายฝรั่งหลวง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปโดยตัวมันเองไปเสียแล้ว สมควรที่เราจะพิจารณาดูความเห็นของทั้งสามท่านนี้อยู่สักหน่อย

๑.หลวงวิจิตรวาทการ: คำใน ๓ วรรคนี้ได้ความเพียงพอ (แล้ว) สำหรับจะแสดงความเคารพรักในพระมหากษัตริย์ (?)
ความเห็นของหลวงวิจิตรฯ ปรากฏในเอกสารร่างความเห็นกรมศิลปากร เรื่องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป เนื้อความทั้งหมดมีดังนี้

ร่าง
ความเห็นกรมศิลปากร
เรื่องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป

ความคิดที่จะจัดให้มีเพลงสรรเสริญพระบารมีอยางสังเขปสำหรับบรรเลงในงานอันมิใช่ราชการ เช่น ในงานมหรศพเป็นต้น โดยอนุโลมตามแบบอย่างในต่างประเทศนั้น กรมศิลปากรเห็นชอบด้วย

ตามที่ทำกันอยู่ในต่างประเทศนั้น เมื่อจะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป ก็มักจะตัดเอาตอนท้ายของเพลงพิสดารมาใช้ ฉะนั้นถ้าในเมืองไทยเราจะเอาตอนท้ายมาใช้บ้าง ก็จะเป็นการอนุโลมตามแบบอย่างของต่างประเทศ และก็ไม่มีทางอื่นที่จะทำให้ผิดไปจากนี้ได้ ปัญหาจึงมีว่า ควรจะตัดเอาเพียงไหน กรมศิลปากรขอเสนอให้ตัดเอาคำท้าย ๓ วรรคมาใช้ คือ

" ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย"

การตัดเอามาเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า เอาเนื้อเพลงมาร้องที่จริงหมายถึงให้ดนตรีบรรเลง แต่จะให้ดนตรีบรรเลงเพียงตอนไหนก็จำต้องระลึกถึงเนื้อถ้อยคำร้องด้วย เพราะผู้ที่รู้ภาษาไทย เมื่อได้ฟังดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ย่อมจะระลึกถึงเนื้อเพลงไปด้วย และคำใน ๓ วรรคนี้ ได้ความเพียงพอ สำหรับจะแสดงความเคารพรักในพระมหากษัตริย์ ถ้าบรรเลงเพลงเท่านี้ในสถานที่ซึ่งได้เห็นพระฉายาลักษณ์เช่นในโรงมหรศพ การที่ผู้ฟังนึกถึงคำเหล่านี้ ก็เป็นการถวายชัยมงคลแต่องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเราเห็นภาพหรือพระฉายาลักษณ์อยู่ตรงหน้า ถ้าบรรเลงในที่ ๆ ไม่มีพระบรมรูปหรือพระฉายาลักษณ์ คำว่า " ธ" นั้น ก็ย่อมหมายถึงพระมหากษัตริย์จะเป็นคนอื่นไม่ได้ เป็นอันว่าได้ความและได้ผลเพียงพอ


กรมศิลปากรมีความเห็นดั่งนี้.

(ลงนาม) วิจิตรวาทการ (16)

พร้อมกันนั้นหลวงวิจิตรฯ ก็ได้ทำหนังสือหรือจดหมายขึ้นอีกฉบับถึงกรมนริศฯ เพื่อทูลถามปรึกษาเป็นการส่วนตัว (และอาจเป็นการหยั่งเชิงดูว่าพระองค์จะคิดเห็นเช่นใด เพราะเพลงสรรเสริญฯ แต่ก่อนนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้แต่งคำร้องเอาไว้) โดยได้แนบร่างความเห็นฯ นี้ไปให้พระองค์ได้มีส่วนร่วมพิจารณาด้วย จดหมายนี้มีใจความดังนี้


กรมศิลปากร
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบฝ่าลอองพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับคำสั่งคณะรัฐมนตรี ให้เสนอความเห็นเรื่องการตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีให้สั้น สำหรับบรรเลงอย่างสังเขปในงานอันมิใช่ราชการ คำสั่งของคณะรัฐมนตรี มีดังนี้

" ด้วยกระทรวงวังรายงานว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สังเกตว่าการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในต่างประเทศมีสองอย่าง คือ ธรรมดา และโดยสังเขป และมักมีการบรรเลงอย่างสังเขปในงานต่างๆ อันมิใช่ทางราชการ เช่นในงานมหรศพเป็นต้น และเห็นว่าถ้าเป็นการสมควรน่าจะอนุโลมแบบนี้มาใช้บ้าง คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเมื่อวันที่ ๒๙ เดือนนี้ ให้กรมศิลปากรพิจารณาเสนอความเห็นเรื่องนี้ต่อไปโดยด่วน"

ข้าพระพุทธเจ้าได้ทำความเห็นโดยอัตโนมัติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่เกรงด้วยเกล้าว่า ความเห็นอันนี้อาจผิดพลาด จึงระลึกถึงบุคคลที่ข้าพระพุทธเจ้าควรไต่ถามขอคำแนะนำ ก็เห็นอยู่แต่ฝ่าลอองพระบาท ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะอาศัยพระบารมีขอประทานพระโอวาทในเรื่องนี้ได้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอประทานโอกาศ ถวายร่างความเห็นที่ทำขึ้นแล้วมาพร้อมกับหนังสือนี้โดยทางอันมิใช่ราชการ เพื่อขอประทานพระกรุณาเป็นส่วนตัวได้โปรดเกล้าฯ พิจารณาความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า แล้วประทานพระโอวาทตามควร จะเป็นพระคุณหาที่สุดมิได้

ควรมิควรสุดแต่จะโปรดเกล้าฯ
(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า หลวงวิจิตรวาทการ

ขอประทานกราบทูล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (17)


๒. สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์: จะบรรเลงถวายได้ก็แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว !

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๘

หลวงวิจิตรวาทการ

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๔ หารือไปด้วยเรื่องตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น ได้รับทราบความแล้ว


ฉันเห็นจะให้ความเห็นแก่ท่านไม่ได้ถนัดนัก เพราะการตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น เป็นการที่จะทำเอาอย่างฝรั่ง ฉันเป็นผู้รู้น้อยในทางข้างฝรั่ง ไม่ทราบเลยว่าเขาตัดกันอย่างไร เมื่อท่านสอบสวนได้ความว่าเขาตัดเอาท้ายเพลง เราจะตัดเอาท้ายเพลงอย่างเขาบ้าง ก็นับว่าเปนทางที่ทำไม่ผิด

ที่นี้ปัญหาที่ว่าจะควรตัดเอาเพียงไหน ท่านออกความเห็นให้เอาคำท้ายสามวรรคเท่านั้น ฉันก็เห็นว่าไม่ขัดข้อง แต่มานึกถึงคำฝรั่งที่เคยได้ยินเขากล่าวปรามาท ว่าชาติใหญ่แล้วเพลงสรรเสริญบารมีสั้น ถ้าเปนชาติเล็กแล้วเพลงสรรเสริญบารมียาว หมายความว่าชาติเล็ก ๆ รู้สึกว่าเพลงสรรเสริญบารมีสั้นไม่เปนเกียติยศพอ ฉันติดจะกระดากใจอยู่ในคำปรามาสอันนี้ เมื่อท่านหารือถึงการตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีว่าจะเอาเพียงไร จึงอยากจะตัดให้สั้นเข้าไปอีก คิดว่าเอาแต่เพียงสองวรรค คือ

" จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย "
เท่านี้ก็ยังได้ความ

อนึ่งฉันควรจะบอกความเปนมาในอดีตกาลให้ท่านทราบไว้ด้วย แต่ก่อนเพลงสรรเสริญพระบารมีได้เคยตัดมาแล้ว มีครึ่งเพลงและเต็มเพลง ครึ่งเพลง คือตั้งแต่ต้นลงมาจน " เย็นสิรเพราะพระบริบาล " สำหรับบรรเลงรับเสด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เต็มเพลงสำหรับบรรเลงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคตแล้ว สรรเสริญพระบารมีครึ่งเพลงก็ไม่มีที่ใช้ละลายไป

มีข้อติดใจฉันอยู่อีกต่อไป เพลงสรรเสริญพระบารมีของเรา ถืออย่างชะงัดทีเดียว จะบรรเลงถวายได้ก็แต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว จะบรรเลงถวายเจ้านายไม่ได้ การบรรเลงถวายเจ้านายทุกวันนี้ใช้เพลงมหาชัย ซึ่งเปนเพลงเดินธง ไม่ใช่เพลงคำนับ ส่วนเจ้าต่างประเทศที่เข้ามาเมืองไทย เห็นจะบรรเลงเพลงสรรรเสริญบารมีของชาตินั้นเต็มที่ จะเปนการทำผิดหรือทำถูกฉันไม่ทราบ และที่ในเมืองฝรั่งเขาทำกันอย่างไรฉันก็ไม่ทราบ ท่านควรจะสอบสวนคิดให้ตลอดไปเสียด้วย ฉันคิดว่า ถ้าเปนข้อบังคับในการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเสียให้เรียบร้อยตลอดไปจะเปนการดี

(ลงพระนาม) นริศ (18)

หมายเหตุ: ๒ วันถัดมา (วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๗๘) กรมนริศฯ ยังได้ทรงมีหนังสือให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นที่อาจจะทรง "ลืม" ไปในคราวแรก เนื้อความหนังสือหรือจดหมายฉบับนั้นมีดังนี้

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๗๘

หลวงวิจิตรวาทการ

ฉันขอให้ความเห็นในเรื่องตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีเพิ่มเติมอีกหน่อยหนึ่ง ด้วยฉันได้พิจารณาเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีตามที่แตรเป่า เขาไม่เป่าให้มีเสียงเสมอกัน ลางตอนเขาเป่ากระโชกให้เสียงแขงขึ้น ทั้งนั้นเขาก็ทำไปตามท่าแห่งเนื้อเพลงที่อ่อนที่แขง เนื้อเพลงตรงที่ได้กับเนื้อร้องที่ว่า " ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด " นั้น อยู่ในตอนที่เขาเป่าแผ่วเสียง ครั้นถึงตรงเนื้อร้องว่า " จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย " และต่อไปจนจบ เขาเป่ากระโชกเสียงแขงมากทีเดียว อาการที่เขาเป่าเช่นนั้น เปนการสนับสนุนความเห็นฉันที่ให้มาก่อน ว่าตัดเอาแต่สองตอนเปนสมควร เพราะจะได้ลีลาศแห่งเนื้อเพลงสม่ำเสมอเรียบร้อยดีกว่าเอาสามตอน แม้จะประกอบเนื้อร้องด้วยก็ไม่ขัดข้องเลย

(ลงพระนาม) นริศ (19)


๓. พระเจนดุริยางค์: เหตุผลทางด้านดนตรี.

สำเนา กรมเลขาธิการ ฯ รับวันที่ ๑๓๒๑ วันที่ ๒๘ / ๒ / ๗๘
แผนกเครื่องสายฝรั่งหลวง
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

เรื่อง ให้ทำโน๊ตเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป
หัวหน้าแผนกเครื่องสายฝรั่งหลวง เรียน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตามหนังสือที่ จ. ๑๗๒๖ / ๒๔๗๘ ลงวันที่ ๒๕ เดือนนี้ ให้ข้าพเจ้าจัดทำโน๊ตเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเห็นชอบด้วยความเห็นของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการที่จะให้มีสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป และลงมติเห็นควรใช้ ๒ วรรคท้าย คือ " จงสิทธิดังหวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย "

เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ตรวจเพลงสรรเสริญพระบารมีดูแล้วเห็นว่า เท่าที่จะเริ่มต้นแต่ " จงสิทธิดัง " (หมายถึงลูกศรสีน้ำเงินที่โน๊ต) แล้ว สำหรับโน๊ตตัวเริ่มต้นซึ่งกล่าวตามหลักไวยากรณ์ของการดนตรีเรียกว่าตัวโน๊ตประจำชั้นที่ ๖ Sumediant ของ Major Scale
ซึ่งบทเพลงใด ๆ จะเริ่มด้วยโน๊ตตัวนี้หรือคอร์ดที่ประสานด้วยโน๊ตเสียงนี้หาได้ไม่ ถ้าจะกล่าวตามหลักนี้แล้วการเริ่มต้นของบทเพลงใด ๆ จะต้องเริ่มด้วยโน๊ตประจำชั้นที่ใช้ Tonic chord หรือ Dominant chord โดย Tonic chord ติดตามมาทันที

ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าใคร่ออกความเห็นว่า เพื่อให้ได้ผลทั้งสองฝ่าย คือทั้งย่อและทั้งไม่ให้เสียหลักแห่งไวยากรณ์ของการดนตรีด้วยแล้ว อย่างน้อยควรเริ่มต้นตั้งแต่ห้องที่ ๕ หมายถึงดินสอแดง (คือตั้งแต่คำ ปวงประชา ฯลฯ ) (20) เพราะเริ่มต้นด้วย Dominant chord ติดต่อด้วย Tonic chord และในการบรรเลงจะกินเวลา ๒๕ วินาที แต่จะให้ดีที่สุดก็ควรเริ่มตั้งแต่ต้นทีเดียวเพียง ๔ ห้อง แล้วตัดทิ้งตอนกลางไปจับเอาห้องที่ ๕ (หมายดินสอแดง) ต่อไปจนจบ (21) แต่การบรรเลงจะกินเวลา ๓๕ วินาที ในแบบนี้ประโยคเพลงก็จะไม่เสีย (เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ God save the king บรรเลงย่อเพียง ๘ ห้องแรก กินเวลา ๒๐ นาที) พร้อมกับหนังสือฉะบับนี้ข้าพเจ้าได้ส่งเพลงสรรเสริญพระบารมี และได้ขีดเครื่องหมายดินสอน้ำเงินและแดงไว้เป็นที่สังเกตด้วยแล้ว แต่อย่างไรก็ดีจะตกลงเห็นชอบประการใดขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความประสงค์.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด.
(ลงนาม) พระเจนดุริยางค์ (22)


๔. การพิจารณา: ถึงอย่างไรก็ไม่ควรให้เกิน ๘ ห้อง เพราะถ้ามากกว่านั้น ก็เท่ากับสร้างเพลงสรรเสริญพระบารมีใหม่ ไม่ใช่ย่อ!
จะเห็นได้ว่าในชั้นต้นความเห็นของหลวงวิจิตรกับกรมนริศฯ ไม่ตรงกัน แม้จดหมายฉบับแรกที่หลวงวิจิตรฯ มีไปถึงกรมนริศฯ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ จะแสดงท่าทีอ่อนต่อพระองค์อยู่มาก แต่การที่หลวงวิจิตรฯ เองกลับยกเอาคำสั่งคณะรัฐมนตรีมาอ้างไว้ด้วย มีนัยยะที่ชวนให้น่าสงสัยว่าที่จริงอาจเป็นการแจ้งไปยังพระองค์ว่า ถึงยังไงก็ต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่าจะตัดยังไงต่างหากไม่ใช่ควรตัดดีหรือไม่นั่นเอง หลวงวิจิตรเสนอให้ตัดเหลือ ๓ วรรคท้าย ได้แก่ ท่อนคำว่า " ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย." ส่วนกรมนริศฯ เสนอให้ตัดเหลือเพียง ๒ วรรค ได้แก่ "จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย." ทั้งนี้ก็เป็นไปตามที่ทรงเห็นว่าชาติใหญ่เพลงสรรเสริญฯ จะสั้น ส่วนชาติเล็กๆ เพลงสรรเสริญฯ จะยาว ชะรอยพระองค์จะทรงเห็นชอบด้วยว่าสยามเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งเพลงสรรเสริญฯ จึงควรจะสั้นด้วย

ส่วนพระเจนฯ แรกเห็นด้วยกับกรมนริศฯ ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงมีมติเห็นชอบด้วยว่า " อย่าง ๒ วรรคท้ายใช้ได้ดี ฉะนั้นจึงควรให้พระเจนดุริยางค์ทำโน๊ตเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขปขึ้น"(23) แต่ครั้นพอเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง พระเจนฯ กลับมีข้อเสนอแตกต่างออกไป ด้วยเหตุผลทางด้านดนตรี (ดังที่แสดงไว้แล้ว)

พระเจนฯ เสนอให้พิจารณาออกเป็น ๒ กรณี กล่าวคือ กรณีแรกอย่างน้อยควรให้เริ่มต้นตั้งแต่
ห้องที่ ๔ ตั้งแต่คำว่า ปวงประชา ฯลฯ เพราะเป็นการเริ่มด้วย Dominant chord ต่อด้วย Tonic chord กินเวลาบรรเลงราว ๒๕ วินาที และอีกกรณีคือ ถ้าจะ " ให้ดีที่สุด" (คำพระเจนฯ - กำพล) ควรเริ่มทีเดียวเพียง ๔ ห้อง ตัดท่อนกลางทิ้งเสียแล้วข้ามไปห้องที่ ๕ ต่อไปจนจบเพลง ( ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน ปวงประชาเป็นศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย .)

เมื่อเห็นไม่ตรงกันเช่นนี้ ที่ประชุมครม. จึงลงมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องกลับมายังกรมศิลปากร ให้หลวงวิจิตรพิจารณาความเห็นพระเจนฯ ดังกล่าวนี้ แล้วการสนทนา (Dialogue) ระหว่างหลวงวิจิตรกับกรมนริศก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

กรมศิลปากร
วันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ขอประทานกราบทูล ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท

ตามหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าลงวันที่ ๒๙ เดือนก่อน กราบทูลมาว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามพระดำริ ในเรื่องการตัดเพลงชาติ (24) นั้น
ต่อมาเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งมาว่า ได้ให้พระเจนดุริยางค์ ทำโน๊ตเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขปแล้ว พระเจนดุริยางค์รายงานว่า การที่จะเริ่มต้นแต่ "จงสิทธิดัง" ยังไม่ถูกต้องด้วยหลักไวยากรณ์แห่งการดนตรี จึงเสนอความเห็นมาใหม่ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้ส่งความเห็นของพระเจนดุริยางค์ มาให้กรมศิลปากรพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจจะมาเฝ้ากราบทูลฝ่าลอองพระบาทด้วยด้วยตนเอง แต่ทราบเกล้าฯ ว่ามิได้ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ครั้นจะรอจนกว่าจะเสด็จกลับก็เกรงจะช้าไป จึงขอประทานถวายสำเนาหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำเนารายงานพระเจนดุริยางค์และโน๊ตเพลงที่พระเจนดุริยางค์คิดตัด มาเพื่อขอประทานพระกรุณาได้ทรงช่วยพิจารณาพร้อมกับหนังสือนี้

ข้าพระพุทธเจ้าได้ไตร่ตรองดูในเรื่องนี้แล้วเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าพูดถึงการตัด ก็ควรตัดให้เหลือน้อย อย่างที่ประทานพระดำริไป และควรตัดเอาตอนท้ายอย่างที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นของฝรั่งเศส มีบางประเทศเช่น อังกฤษ ได้ตัดเอาแต่ตอนต้น ก็เพราะว่าความเห็นในเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน บางคนเห็นว่าตอนต้นสำคัญ บางคนเห็นว่าตอนปลายสำคัญ ถ้าฝ่ายเทฆนิคในทางดนตรี เห็นว่า การขึ้นต้นด้วย "จงสิทธิดัง" จะผิดหลักไวยากรณ์ ก็น่าจะเพิ่มเสียงข้างหน้าแต่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และถึงอย่างไรก็ไม่ควรให้เกิน ๘ ห้อง เพราะถ้ามากกว่านั้น ก็เท่ากับสร้างเพลงสรรเสริญพระบารมีใหม่ ไม่ใช่ย่อ อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้ฟังคำชี้แจงความเห็นหลายทางพอที่จะเข้าใจได้ รูปปัญหาแล้ว ควรให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยเองตามแต่จะเห็นสมควร ข้าพระพุทธเจ้าจะคิดตอบไปอย่างนี้ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งได้ทรงพระกรุณาช่วยทรงพิจารณา และประทานพระโอวาทเป็นเครื่องแนะนำแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วย.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า หลวงวิจิตรวาทการ (25)

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

จากเอกสารนี้ จะเห็นได้ว่าความเห็นพระเจนฯ สร้างความว้าวุ่นใจให้แก่หลวงวิจิตรพอสมควร และนับเป็นวิธีที่แยบยลอย่างยิ่งที่เขาขอทราบพระดำริในกรมนริศฯ เป็นการส่วนตัวก่อนที่จะเสนอความเห็นของตนเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้นเอง คุณหลวงท่านนี้ก็ได้มีจดหมายไปถึงกรมนริศฯ โดยด่วน ทั้งที่ขณะนั้นกรมนริศฯ ทรงทรงประทับอยู่ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา

ความว้าวุ่นของเขาเห็นได้จากที่ขึ้นต้นจดหมายไว้เลยว่า " ครั้นจะรอจนกว่าจะเสด็จกลับก็เกรงจะช้าไป" ก็น่าอยู่หรอกเพราะเรื่องนี้เดิมทีน่าจะยุติไปแล้วตั้งแต่ที่เขาในฐานะอธิบดีกรมศิลปากรเสนอไปในครั้งแรก กระนั้นใจความสำคัญในจดหมายที่เขามีไปถึงกรมนริศฯ ในคราวดังกล่าวนี้ก็มีประเด็นน่าคิด เช่นว่า " ข้าพระพุทธเจ้าได้ไตร่ตรองดูในเรื่องนี้แล้วเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าพูดถึงการตัด ก็ควรตัดให้เหลือน้อย อย่างที่ประทานพระดำริไป… และถึงอย่างไรก็ไม่ควรให้เกิน ๘ ห้อง เพราะถ้ามากกว่านั้น ก็เท่ากับสร้างเพลงสรรเสริญพระบารมีใหม่ ไม่ใช่ย่อ"

กล่าวคือแม้ข้อพิจารณาของพระเจนฯ จะดูมีน้ำหนักเพราะเป็นเหตุผลเกี่ยวกับการดนตรีบรรเลง แต่ยังไงเสียหลวงวิจิตรก็ยังยืนกรานให้ตัดและต้องตัดให้สั้นด้วย มิฉะนั้นก็จะถือว่าเป็นการสร้างเพลงใหม่ไม่ใช่การย่อ พร้อมทั้งสาธกเหตุผลเชิงประจักษ์จากที่เขาเคยเห็นในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น

และต่อไปนี้เป็นจดหมายตอบของกรมนริศฯ

อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๗๘

หลวงวิจิตรวาทการ

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๓ เดือนนี้ เรื่องตัดเพลงสรรเสริญพระบารมี ได้ทราบความแล้ว ฉันเห็นว่าคำคัดค้านของพระเจนดุริยางค์นั้นฟังขึ้น ลีลาสแห่งเนื้อเพลงที่เหลือจากการคิดตัดเมื่อคราวก่อนจะฟังไม่ไพเราะจริง แต่ตามที่พระเจนดุริยางค์คิดแนะนำมาฉันก็รู้สึกว่ายาวไป จึงได้ลองคิดตัดดูใหม่ เขียนมาให้เป็นสองอย่าง มี ๘ ห้องอย่างหนึ่ง มี ๔ ห้องอย่างหนึ่ง คิดว่าทางเนื้อเพลงจะฟังดีทั้งสองอย่าง อย่าง ๘ ห้องนั้น ปรุงให้เนื้อเพลงฟังติดต่อกันไพเราะ และรักษาเนื้อร้องไว้ให้มีระเบียบดีด้วย แต่ดูจะยาวไป อย่าง ๔ ห้องจะได้สั้น และเนื้อเพลงก็เป็นระเบียบดี มีต้น ๒ ห้อง ปลาย ๒ ห้อง แต่เนื้อร้องนั้นความบกพร่อง ถ้าไม่เป็นห่วงแก่เนื้อร้องด้วยคิดจะไม่ใช้ร้องแล้ว เอาอย่าง ๔ ห้องจะเป็นดี

ฉันคิดว่าท่านควรเรียกพระเจนดุริยางค์มาหารือดู ถ้าเห็นดีด้วยกันแล้วก็ควรเสนอความเห็นขึ้นไปใหม่ ที่จะสลัดให้คณะรัฐมนตรีพิเคราะห์เองนั้น ถ้าหากว่าในคณะรัฐมนตรีไม่มีผู้เข้าใจในทางเพลงอยู่ในนั้นแล้ว อาจลงมติพลาดพลั้งไปก็ได้ หาเป็นทางที่ดีไม่ แต่ทั้งนี้จะควรมิควรประการใด ก็แล้วแต่ท่านจะพิจารณาเห็นสมควร ได้ส่งโน๊ตเพลงของพระเจนดุริยางค์กลับคืนมาให้ด้วยแล้ว

(ลงพระนาม) นริศ (26)


แรกกรมนริศฯ ทรงยอมรับว่าถ้าตัดตามแบบเดิมที่เสนอไปในคราวก่อน ก็จะไม่ไพเราะ "ตามลีลาสแห่งเนื้อเพลง" แต่ตามที่พระเจนดุริยางค์คิดแนะนำมาพระองค์ก็กลับบอก "รู้สึกว่ายาวไป" จุดนี้เดิมทีสะท้อนว่ากรมนริศฯ ไม่ได้ว้าวุ่นหรือ "บ้าจี้" ไปกับหลวงวิจิตร มีการพิจารณาอีกครั้งโดยได้ลองคิดตัดดูใหม่ ทรงทดลองเขียนโน๊ตส่งให้เป็นสองอย่าง มี ๘ ห้องอย่างหนึ่ง และ ๔ ห้องอีกอย่างหนึ่ง แต่ท้ายสุดกรมนริศฯ ก็ยืนกรานตามข้อเสนอเดิมของพระองค์ (ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของหลวงวิจิตร) เช่นกัน กล่าวคือ เห็นว่าควรจะให้เหลือเพียง ๔ ห้องจึง "จะเป็นดี" พร้อมกันนั้นก็เสนอหลวงวิจิตรให้หารือกับพระเจนฯ โดยตรงจะเป็นการดีเสียกว่าที่จะผลักภาระการพิจารณาไปให้ที่ประชุมครม. ด้วยเหตุผลที่ว่าในที่ประชุมครม.เองนั้นอาจไม่มีผู้รู้ในทางเพลง เป็นต้น

แต่ความจริงผู้เขียนคิดว่าพระองค์ไม่ไว้วางพระทัยต่อที่ประชุม ครม. มากกว่า เพราะจากสภาพการณ์ระยะหลังกรณีกบฏบวรเดช และการสละราชสมบัติของ ร. ๗ ฝ่ายกษัตริย์นิยมพบกับความตกต่ำ อำนาจต่างๆ ตกไปอยู่ที่รัฐบาลผู้ก่อการฯ การจะประกาศยกเลิกเพลงสรรเสริญฯ จึงอาจมีความเป็นไปได้สูง

ขณะเดียวกันแม้ไม่ปรากฎหลักฐานว่าหลวงวิจิตรได้ไป "หารือ" หรือพูดจาตกลงกันเป็นส่วนตัวกับทางพระเจนฯ ดังที่กรมนริศฯ ทรงแนะนำนั้นหรือเปล่า แต่ก็เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่าน่าจะมีการพูดคุยกันเป็นส่วนตัวระหว่างทั้งสองในเรื่องนี้ เพราะในความเป็นจริงปรากฎออกมาภายหลังจากนั้นว่า ฝ่ายทางพระเจนฯ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรอีก ทั้งที่ในตอนแรกพระเจนฯ ก็ยืนกรานตามความเห็นตนหนักแน่น ตอนหลังกลับตกลง "เห็นว่าถูกต้องกันแล้ว"(27) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นหลวงวิจิตรนั่นเอง ทั้งนี้โดยเลือกเอาอย่าง ๔ ห้อง ประกอบด้วยคำร้องทั้งหมดดังนี้

ข้าวรพุทธเจ้า ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสฤษดิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย.

พร้อมกันนั้นพระเจนฯ ก็ได้อาสาจะพิจารณาเขียนโน๊ตสำหรับประกอบบทร้องประสานกับ "ปิอาโน" (เปียร์โน) และว่าถ้าประสงค์จะให้ทำฉบับรวมเครื่อง (Score ) สำหรับวงดนตรีเครื่องสาย (Orchestra ) และ / หรือสำหรับวงแตรแบบทหาร (Millitary Band) ด้วยแล้วตนก็จะดำเนินการต่อไป

จากนั้นในวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยนายดิเรก ชัยนาม (ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ก็จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังพระนรราชจำนง ราชเลขานุการในพระองค์ให้ทรงรับทราบ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนความพิจารณาเรื่องย่อเพลงสรรเสริญพระบารมีในครั้งนี้

ที่ ร. ๔๖๐๘ / ๒๔๗๘ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
๒๐ สิงหาคม ๒๔๗๘

เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างสังเขป

จาก เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ถึง ราชเลขานุการในพระองค์

ด้วยเดิมกระทรวงวังรายงานว่า คณะผู้สำแร็จราชการแทนพระองค์สังเกตว่าการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในต่างประเทศมี ๒ อย่าง คือ ธรรมดา และโดยสังเขป และมักบรรเลงอย่างสังเขปในงานอันมิใช่ทางราชการ จึ่งเห็นว่าน่าจะอนุโลมนำมาใช้บ้างและขอให้ปรึกษาคณะรัฐมนตรีต่อไป คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้กรมศิลปากรพิจารณาเสนอความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งกรมราชเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงวังในครั้งนั้นทราบเป็นลำดับมา บัดนี้กระทรวงธรรมการรายงานว่า กรมศิลปากรได้พิจารณาเรื่องนี้โดยติดต่อกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และพระเจนดุริยางค์เป็นที่ตกลงกันแล้ว ดั่งโน๊ตประกอบบทร้องพร้อมปิอาโน ซึ่งได้แนบมาพร้อมกับหนังสือนี้ และว่าถ้าประสงค์จะให้ทำฉะบับรวมเครื่อง(Score ) สำหรับวงเครื่องสาย(Orchestra ) หรือวงแตรทหาร (Millitary Band ) ด้วยแล้ว ก็จะได้ดำเนินการต่อไป คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติเห็นชอบด้วย และให้กระทรวงธรรมการสั่งกรมศิลปากรดำเนินการทำฉะบับรวมเครื่องขึ้นต่อไปด้วย


จึ่งแจ้งมาเพื่อจักได้นำความเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบต่อไป.

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(ลงนาม) ดิเรก ชัยนาม
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ลงนามแทน.(28)

หมายเหตุ: ภาพโน๊ตจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


ทั้งนี้แม้จะมีฉบับย่อขึ้นใช้ใหม่แล้ว แต่ใช่ว่าฉบับเดิม(หรือที่เรียกกันตามสำนวนขณะนั้นว่า "ฉบับพิสดาร" ) จะถูกยกเลิกไป จากวัตถุประสงค์เดิมที่จะให้มีฉบับย่อขึ้นมาเพื่อใช้ในงานพิธีอัน "มิใช่ทางราชการ" สมัยนั้นจึงปรากฎว่ามีเพลงสรรเสริญฯ สำหรับใช้ ๒ โอกาส และ ๒ เวอร์ชั่นควบคู่กัน ถ้าการย่อเกิดขึ้นโดยไม่ใยดีต่อเค้าโครงถ้อยคำและความหมายเดิมหรือหากต้องมีขนาดความยาวเกิน ๘ ห้องเพลง นั่นก็อาจถือได้ว่าเป็นการสร้างเพลงใหม่ขึ้นมาอีกเพลงหนึ่งต่างหากอย่างที่หลวงวิจิตรฯ ตั้งข้อสังเกตไว้นั่นเอง

อันที่จริงถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าคำร้องฉบับย่อนี้ก็หาได้ผิดเพี้ยนไปจากที่หลวงวิจิตรฯ เคยเสนอไว้ตั้งแต่ตอนต้น (ในเอกสารร่างความเห็นกรมศิลปากรฯ) เพียงแต่ถึงที่สุดแล้วมีการเพิ่มวลีขึ้นต้นใหม่ด้วย "ข้าวรพุทธเจ้า" ซึ่งนั่นเป็นความเห็นพ้องร่วมกันทั้งพระเจน, กรมนริศ, และหลวงวิจิตร กล่าวคือถึงไงก็ต้องตัดไม่มีการพิจารณาหรือแย้งกันว่าไม่ควรตัด และเมื่อจะตัดก็ไม่ให้มีคำร้องยาวไปกว่านั้น (๘ ห้องเพลง)

การย่อฉบับพิสดารในปี ๒๔๘๓ รวมทั้งการยกเลิกฉบับสังเขปนี้ไปโดยหันกลับมาใช้ฉบับเดิม (แบบเต็มเพลงเช่นที่เคยใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์) และใช้เป็นฉบับมาตรฐานเพียงฉบับเดียวเช่นปัจจุบันนี้ก็มีนัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงในชั้นถัดไป

ประเด็นในที่นี้ แน่นอนการย่อหรือการมีอีกฉบับขึ้นใช้ในโอกาสที่ต่างออกไปไม่เพียงสะท้อนนัยความหมายและความสำคัญที่สังคมการเมืองขณะนั้นมีต่อสถาบันกษัตริย์ นอกจากถ้อยคำเปลี่ยน (เพลงสรรเสริญฯ เปลี่ยนไป? ) พิธีกรรมที่สร้างประกอบบทเพลงก็เปลี่ยนไปเช่นกัน น่าสังเกตว่าแม้พิธีกรรมของเพลงสรรเสริญฯ จะถูกใช้คู่เคียงกับเพลงชาติ แต่ก็ปรากฎมีความพยายามที่จะแบ่งแยกพิธีกรรมทั้งสองนี้ออกจากกัน ไม่ได้ใช้คละเคล้าหรือคู่กันแต่อย่างใด

โอกาสที่ต้องการจะถวายความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ก็ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการเฉพาะ และสำหรับโอกาสที่ต้องการจะแสดงความคำนับต่อชาติและรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญในพิธีอันเกี่ยวแก่ประชาชน รัฐบาลคณะราษฎรสมัยนั้นประกาศให้มีการขับร้องหรือบรรเลงเพลงชาติ อีกทั้งในการพิธีที่จะมีการเสด็จพระราชดำเนินและมีความประสงค์ที่จะแสดงความเคารพต่อชาติในที่นั้น รัฐบาลสมัยนั้นยังประกาศอย่างมีนัยว่า "จะบรรเลงเพลงชาติด้วยก็ได้" ฉะนั้นเมื่อเทียบกับเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าที่คิด(และปฎิบัติกันเช่นในปัจจุบัน)

ตรงนี้นี่เองที่เป็นคำตอบสำหรับผู้ที่อาจจะมีคำถามหรือตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม ? เพราะอะไร ? และอย่างไรหรือ ? เพลงสรรเสริญฯ จึงไม่มีคำร้องตลอดจนการสมมติเชิงพิธีกรรมที่บ่งนัยสัมพันธ์กับไอเดียเรื่อง "ชาติ" เพลงฯ มุ่งถวายความเคารพต่อองค์กษัตริย์เป็นการเฉพาะโดยไม่เกี่ยวกับ "ชาติ"

ขณะเดียวกันเพลงชาติโดยเฉพาะฉบับมาตรฐานบังคับที่ใช้มาจนปัจจุบัน (ซึ่งได้จากคราวประกวดแต่งเนื้อร้องและทำนองในปี ๒๔๘๒ ) ก็ไม่มีคำร้องและ/หรือพิธีกรรมอันเกี่ยวข้องถึงองค์กษัตริย์ ตรงข้ามกลับมีเนื้อร้องระบุว่า " เป็นประชารัฐ" (ไม่ใช่ราชารัฐ/ชาติ?) เอาเข้าจริงเดิมทีทั้งสองอย่างนี้ (ชาติกับกษัตริย์) สำหรับยุคสมัยนั้น (หลัง ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ต้นๆ) เกือบได้กลายเป็นคนละเรื่องกันไปอย่างสิ้นเชิง

หากแต่การเชิดชูไว้ในฐานะ "ประมุขของชาติ" ก็กลับมีสภาพย้อนศร กล่าวคือขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขที่ "เปิด" ให้แก่การกลับมาของอำนาจในแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ กล่าวคือเป็นอะไรที่เหนือกว่าและสูงส่งกว่า "ชาติ" ทั้งโดยนัยยะและในความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็นับว่าเหมาะสมลงตัวทีเดียว สำหรับประเด็นเจตจำนงค์ของ ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านสะท้อนไว้ว่า นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ "ปฏิวัติ" นั่นเอง (29)

ความสำเร็จหรือล้มเหลวของคณะราษฎรจึงสามารถดูได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสภากับราชสำนักหรือแง่หนึ่งคือ พระราชอำนาจในองค์กษัตริย์ที่กลายเป็นสิ่งใหม่เกิดขึ้นในช่วงหลัง นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฎมีมาในรัชกาลก่อนๆ

กลับมาที่ประเด็น "ชาติ" กับ "กษัตริย์" (ที่ว่าเกือบได้กลายเป็นคนละเรื่องกันไปแล้ว) ภายหลังจากที่ขั้นตอนพิจารณาย่อเพลง(สรรเสริญพระบารมี) ได้เสร็จสิ้นไปในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลพระยาพหลฯ ก็ได้ "ประกาศระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ" ออกมาบังคับใช้ ใจความสำคัญของเอกสารดังกล่าวสะท้อนประเด็นที่ว่านี้

ประกาศระเบียบการบรรเลง
เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ

โดยที่เห็นสมควรวางระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ คณะรัฐมนตรีจึงได้ปรึกษาลงมติด้วยความเห็นชอบของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ประกาศระเบียบการบรรเลงดังต่อไปนี้

๑. เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาตินั้นมีแบบสังเขปและแบบพิสดารดังตัวอย่างที่สอบดูได้ ณ กรมศิลปากร

๒. โอกาสอันใดสมควรจะบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาตินั้น อาศัยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ ในกรณีที่มุ่งหมายจะถวายความเคารพแก่พระมหากษัตริย์ เฉพาะพระองค์ก็ดี หรือในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขแห่งชาติก็ดี สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และในกรณีที่มุ่งหมายจะแสดงความเคารพต่อชาติก็สมควรบรรเลงเพลงชาติ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขดังจะกล่าวต่อไป

๓. ในการพิธีซึ่งเสด็จพระราชดำเนินหรือมีการกำหนดเสด็จพระราชดำเนิน หรือมีความมุ่งหมายที่จะถวายความเคารพแก่พระมหากษัตริย์นั้น โดยปรกติสมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบสังเขป แต่ถ้าเป็นพิธีใหญ่ เช่น ที่มีกำหนดให้แต่งเครื่องแบบเต็มยศก็สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิสดาร

ในการพิธีดังกล่าวแล้วถ้ามีความประสงค์จะแสดงความเคารพต่อชาติด้วย จะบรรเลงเพลงชาติด้วยก็ได้ ส่วนจะบรรเลงแบบสังเขปหรือแบบพิสดารนั้นให้อนุโลมตามความในวรรคก่อน

๔. ในการพิธีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประชาชนนั้นโดยปรกติสมควรบรรเลงเพลงชาติแบบพิสดาร

๕. ในการสโมสรสันนิบาต ถ้าดื่มถวายพระพรพระมหากษัตริย์สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ถ้าดื่มเพื่อความเจริญของชาติและรัฐธรรมนูญก็สมควรบรรเลงเพลงชาติ
โดยปรกติสมควรบรรเลงแบบสังเขป แต่ถ้ามีการเลี้ยงเป็นพิธีใหญ่ก็สมควรบรรเลงแบบพิสดาร

๖. ในการมหรสพ สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบสังเขป แต่ถ้ามีการแสดงเป็นพิธีใหญ่ก็สมควรบรรเลงแบบพิสดาร

๗. ระเบียบการนี้เกี่ยวกับการบรรเลง เพราะฉะนั้นถ้ามีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีหรือเพลงชาติแล้ว ก็ย่อมบรรเลงประกอบคำร้องจนสิ้นบทเพลง


๘. ในกรณีอื่นๆ ที่มิได้บ่งไว้ในระเบียบการนี้ให้นำข้อความในระเบียบการนี้มาใช้ โดยอนุโลมทั้งนี้ให้เริ่มใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป

ประกาศมา ณ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘
พอ. พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี (30)

จากสยามินทร์กลายเป็นกษัตริย์ไทย (31)
เหตุการณ์ที่มีสำคัญต่อเรื่องนี้ลำดับถัดมา ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านจากประเทศสยามเป็นประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการย่อเพลงสรรเสริญฯ ในปีต่อจากนั้น (๒๔๘๓) ทั้งนี้หากจะนับย้อนกลับไปพิจารณา ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ก็สามารถนับย้อนกลับไปได้ ซึ่งนั่นเป็น "เหตุ" ที่ส่ง "ผล" ให้พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นผู้กระทำการทางการเมือง ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์กลายเป็นเสมือนหนึ่งองค์พระประมุขผู้ถูกกระทำฯ หรือสัญลักษณ์สูงสุดตามระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ เป็นที่ยอมรับกันหลังจากนั้นว่า พระองค์ไม่ทรงมีอำนาจโดยตรงเช่นที่เคยเป็นมาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์

สภาพที่ "ชาติ" ไม่ได้เป็นของ "กษัตริย์" เริ่มสำแดงฤทธิ์เดช รัฐบาลคณะราษฎรในการนำของหลวงพิบูลสงคราม ยังคงพยายามก่อการเปลี่ยนแปลงสืบต่อ ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ตามแนวทางของตน ถัดจาก "รัฐธรรมนูญ" ภาพลักษณ์ "ผู้นำ" ถูกเชิดชูราวกับแทนที่ "กษัตริย์" ดังปรากฏมีการช่วงใช้พื้นที่การเมืองสาธารณะเดิมที่เคยเป็นของกษัตริย์ เช่น

มีการบังคับประชาชนให้ทำความเคารพรูปและร้องเพลงสรรเสริญผู้นำตามโรงหนัง - โรงละคร เชิญชวนให้ประชาชนประดับรูปผู้นำตามบ้านเรือน มีแจกรูปผู้นำขณะเยี่ยมเยียนประชาชน วันเกิดผู้นำมีพิธีกรรม ทำบุญ บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ และเรียกร้องประชาชนให้ร่วมใจกันชักธงชาติ สัญลักษณ์ตราไก่ (หลวงพิบูลเกิดปีระกา) ถูกใช้เหมือนจะทดแทนตราครุฑ และขณะเดียวกับที่เพลงสรรเสริญพระบารมีถูกละเลย ก็มีการแต่งเพลงสดุดีพิบูลขึ้นใช้เป็นการเฉพาะ เป็นต้น (32)

ในเมื่อเดิม "ชาติ" กับ "กษัตริย์" ถือเป็นเหมือนสิ่งเดียวกัน แทนที่การยกเลิกบทบาทเดิมของ "กษัตริย์" จะกลายเป็นการยกเลิก "ชาติ" ไปด้วย เอาเข้าจริงก็เป็นอย่างที่ผู้เขียนสะท้อนไว้ข้างต้น กล่าวคือทั้งสอง (ชาติกับกษัตริย์) ถูกถือว่าเป็นคนละอย่างกัน ไม่เพียงไม่มีการยกเลิก หากแต่ในเวลาต่อมาการสร้างชาติ ทั้งที่ฝ่ายหลวงพิบูลเองก็คิดว่าชาตินั้นมีอยู่แล้วกลับกลายเป็นภารกิจอันจำเป็นเร่งด่วน (33) แต่ก่อนที่นโยบายสร้างชาติจะถูกเสนอออกมา สิ่งที่เป็นรากฐานให้แก่การกระทำในชั้นดังกล่าวนี้เห็นจะไม่ใช่อะไรอื่นคือ การที่รัฐบาลประสบผลสำเร็จจากการรณรงค์ให้ใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ว่า "ไทย" (ไม่ใช่สยาม) โดยวิธีประกาศเป็นรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ และเสนอร่างแก้ไขตัวบทรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันรัฐบาลสถาปนา ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ให้เป็น "วันชาติวันแรก" (ของวันชาติแบบ ๒๔ มิ.ย.) (34) มีการจัดงานฉลองวันชาติ สร้างสะพานเฉลิมวันชาติ จัดทำเหรียญที่ระลึกวันชาติ ออกแสตมป์วันชาติมาใช้ ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันเดียวกันนี้ปีต่อมา (๒๔ มิ.ย. ๗๓) และมีการประกวดแต่งเพลงวันชาติ ๒๔ มิถุนายน เป็นต้น

แม้ว่าใจความสำคัญในเอกสารประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ จะระบุไว้ว่า "รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติ และความนิยมของประชาชนชาวไทย"(35) แต่การกระทำของรัฐบาลคณะราษฎรในเรื่องนี้ก็มีประเด็นมากกว่าจะเป็นเพียงเหตุผลทางเชื้อชาติ

การสร้างความเป็นไทย - แอนตี้จีน และการอ้างความนิยมของประชาชนโดยไม่มีประชาพิจารณ์หรือการสำรวจความเห็นฯ หากแต่เมื่อพินิจดูบริบทสังคมการเมืองขณะนั้น จะเห็นได้ไม่ยากว่า การกระทำดังกล่าวนี้ ( ๒๔ มิ.ย.๘๒) มีนัยยะที่หมายถึง การเปลี่ยนผ่านจาก "ราชอาณาจักรสยาม" เป็น "ประเทศไทย" หรือนัยหนึ่งประเทศสยามในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เป็นประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสภาวอำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ก็คือ การเปลี่ยนผ่านจากที่เป็นกษัตริย์สยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในยุคสมัยประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ(36) หลักฐานที่ยืนยันการตีความข้อนี้ได้แก่ รัฐนิยม ฉบับที่ ๘ ซึ่งมีเนื้อความทั้งหมดดังนี้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘
เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
_________________________


โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีมิให้มีคำว่าสยาม และตัดตอนข้อความ และทำนองให้กะทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึ่งลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิสดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวาย ไชย ชโย.

ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้น ให้คงไว้ตามเดิม
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี (37)

จะเห็นได้ว่า นอกจากความกระชับสั้นของเพลงแล้ว เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับนี้ยังไม่ปรากฎมี "สยามินทร์" ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธยย่อขององค์กษัตริย์มาแต่ครั้งสมัย ร.๕ "พระสยามินทร์ พระยศยิ่งยง" ถูกแทนที่โดย "บรมกษัตริย์ไทย" มองผิวเผินการเปลี่ยนชื่อประเทศแล้วล่วงมาเปลี่ยนปรมาภิไธยด้วย ย่อเพลงสรรเสริญพระองค์ด้วย อาจดูไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเท่าไร อีกทั้งในชั้นแรกรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ ก็ยังประกาศออกมาบังคับใช้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ยังระบุคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครลงรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาประเภท ๑ และผู้มีสิทธิออกเสียงหรือราษฎรว่า ต้องเป็นผู้มี "สัญชาติเป็นไทย"

แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ ร.๗ พระราชทาน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ กลับเต็มไปด้วยคำ "สยาม" เช่น "ชนชาวสยาม" "ราชอาณาจักรสยาม" "แผ่นดินสยาม" เป็นต้น (38) ต่างๆ เหล่านี้มีนัยยะที่น่าพิเคราะห์ดูไม่น้อย จาก "สยาม" เป็น "ไทย" นั้นจึงมีอะไรมากกว่าที่จะเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อประเทศธรรมดาๆ เหมือนอย่างที่มักเข้าใจกันมา

นอกเหนือจากการย่อฉบับพิสดารในปี ๒๔๘๓ ความเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อยก็มีข้อน่าพิจารณา กล่าวคือในรัฐนิยม ฉบับที่ ๔ เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ประกาศใช้ลงวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ มีการกล่าวถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีว่า เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล

อีกทั้งในเอกสารฉบับนี้ยังมีประเด็นเพิ่มเติมจากที่เคยมีการประกาศไว้ในระเบียบการบรรเลงฯ เมื่อครั้งปี ๒๔๗๘ ลักษณะที่เป็นการสมมติเชิงพิธีกรรมปรากฎออกมาในอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะกลายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติอย่างเป็นทางการในภายหลัง เช่นที่เอกสารมีบทบัญญัติไว้ว่า

เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี
ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรศพ หรือในงานสโมสรใดๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน
หรืออยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตาม
ระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม (39)

แต่ขณะเดียวกับที่เพลงชาติตามเอกสารดังกล่าวนี้มี "ธงชาติ" เป็นส่วนประกอบสำคัญแก่การกระทำพิธีกรรม น่าสนใจที่เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นไม่มีธงสำหรับประกอบพิธี จะมีการขับร้องหรือกระทำพิธีโดยใช้ธงชาติก็เห็นจะไม่ปรากฏเป็นหลักฐาน ธงมหาราชเดิม ก็ถูกปลดลงจากยอดโดมพระที่นั่งอนันตฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้น

ทั้งนี้จะว่าไปแล้วก็นับเป็นเรื่องหักเห (irony ) อย่างหนึ่งที่รัฐบาลหลวงพิบูลฯ ในความเข้าใจของใครหลายคนมองว่า เป็นรัฐบาลที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์อย่างสูง กลับก่อการเปลี่ยนผ่านที่มีนัยความหมายต่อความแจ่มชัด (obvious) เกี่ยวกับสภาวอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยหลัง ๒๔๗๕ ถึงที่สุดแล้วจะเห็นได้ไม่ยากว่าคณะราษฎรไม่เพียงไม่ต่อต้านพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ (อันมีกษัตริย์เป็นประมุข?) อันที่จริงอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเองต่างหาก ที่ยังคงจงรักภักดีอย่างยิ่ง มากกว่าใครอื่นแม้แต่ในหมู่นักอนุรักษ์นิยม -กษัตริย์นิยม ฝ่ายตรงข้ามทั้งที่ประกาศตัวอย่างเปิดเผยและปิดลับ ทั้งในกรณี "คณะกู้บ้านกู้เมือง"หรือกบฎบวรเดช และอื่นๆ (ช่วงระหว่าง ๒๔๗๐ - ๒๔๙๐)

แง่นี้กล่าวได้ว่า "คณะราษฎร" ส่วนหนึ่งจึงยังคงมีฐานความคิด อุดมการณ์ ตลอดจนมรรควิธีปฏิบัติเป็นแบบ "กษัตริย์นิยม" (Royalism ) รูปแบบหนึ่ง แต่เฉพาะอย่างยิ่งพระราชอำนาจที่ผู้ก่อการ ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ต่างเพียรพยายามจะลิดรอนลงให้ได้มากที่สุดนั้น เป็นพระราชอำนาจในแบบฉบับของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์เช่นที่พระองค์เคยเป็น เมื่อครั้งก่อน ๒๔ มิ.ย. ๗๕ ไม่ใช่กษัตริย์ในอาณาเขตอำนาจอย่างใหม่ ที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฐมบทของเพลงสรรเสริญพระบารมีและการเมืองว่าด้วยการถวายความจงรักภักดีในที่นี้ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

เชิงอรรถ

1 ไขแสง ศุขะวัฒนะ "ประวัติความเป็นมาของเพลงสรรเสริญพระบารมี" ที่ระลึกในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
(กรุงเทฑฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๒๕) น. ๔๖๘

2 สุกรี เจริญสุข. 99 ปีเพลงสรรเสริญพระบารมี (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๓๐) น. ๕๙ แม้ในงานอื่น เช่น
ครูเงิน (นามแฝง) เพลงไทยตามนัยประวัติ กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๑ และ มนตรี ตราโมท. "ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ" วารสารศิลปากร ๑๖: ๒ กรกฎาคม, ๒๕๑๒ ก็ยังคงมีปัญหาในแบบเดียวกับที่ปรากฎในงานไขแสงและสุกรี และโดยรวมแล้วแม้จะกล่าวไว้เพียงเท่านี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรกว่านั้น ข้อมูลต่างๆ ยังพบว่ามีการคลาดเคลื่อนกันอีกด้วย ซึ่งจะชี้ให้เห็นในชั้นต่อไป

3 อย่างไรก็ตาม บทความนี้ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่จะ "ต่อยอด" ให้กับพรมแดนความรู้ในเรื่องนี้ โดยเลือกศึกษาประเด็น "ประวัติการย่อฯ" เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ผู้เขียนตระหนักดีถึงข้อจำกัดของผู้เขียนเอง ซึ่งไม่มีความรู้ในเพลงสรรเสริญพระบารมีมากไปกว่าหรือเทียบเท่าที่ท่านนักประวัติเพลงทั้งในอดีตและปัจจุบันเคยกระทำสั่งสมกันมา

ข้อมูลหลักฐาน และการตีความต่างๆ ในที่นี้ยังจำเป็นอยู่มากสำหรับการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์หรือหากผู้รู้ท่านใดมีข้อมูลฯ ที่ต่างไปจากผู้เขียนก็สามารถที่จะยกมา "หักล้าง" หรือเสนออะไรที่ใหม่ไปกว่านี้ได้ อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่การศึกษากันต่อไป .

4 หจช.ศธ. ๔/๑๓ เรื่องคำสรรเสริญพระบารมีสำหรับนักเรียนร้อง (๑๓ - ๑๕ ก.ค. ๒๔๔๗) เท่าที่ผู้เขียนค้นดูงานเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญฯ น่าแปลกที่พบว่า แม้จะเป็นงานที่มีประเด็นกล่าวถึงเพลงสรรเสริญฯสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์เอง ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการให้ความสำคัญกับหลักฐานนี้เท่าที่ควร.

5 เพิ่งอ้าง. ฯลฯ หมายถึง ส่วนอีก ๖ บรรทัดที่เหลือก็ให้ร้องเหมือนบทร้องทั่วไปต่อจนจบเพลง.

6 ครูเงิน. เพลงไทยตามนัยประวัติ., น. ๒๑๒ นอกจากนี้ยังเปลี่ยน "จงสิทธิดัง" เป็น "จงสฤษดัง" อีกด้วย ทั้งนี้การเปลี่ยนคำดัง
กล่าวหาได้แตกต่างหรือมีนัยสำคัญที่ผิดไปจากเค้าโครงความหมายเดิมแต่อย่างใด หากแต่ความสำคัญของข้อมูลนี้ได้แก่ การสะท้อนอีกอย่างหนึ่งในข้อเท็จจริงที่ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนี้มีการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่ได้หยุดนิ่ง และก็ไม่ได้มีเพียงฉบับมาตรฐานบังคับเพียงฉบับเดียวเช่นปัจจุบัน.

7 ผู้เขียนได้ข้อคิดส่วนหนึ่งจากงานเขียนหัวเดียวกันนี้ใน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ "การเมืองว่าด้วยการถวายความจงรักภักดี" ปจารยสาร ๓: ๒๗ (มีนาคม - มิถุนายน ๒๕๔๔) น. ๒๓ - ๓๒ แต่ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในที่นี้ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากการวิจารณ์ตามแบบฉบับ(style) ของผู้จงรักภักดีของท่าน อ.สุลักษณ์.

8 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บก.) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, ๒๕๒๗) น. ๒๗ อนึ่งการเล่า "ความจริง" ของพระยาทรงฯ เกี่ยวกับบทบาทของตนที่มีต่อการวางแผนยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ตามที่ปรากฎในเล่มนี้มีข้อขัดแย้งกับที่ฝ่ายนิยมปรีดีเสนอไว้ภายหลังอีกอย่างหนึ่ง ในหนังสือน่าอ่านโดย สุพจน์ ด่านตระกูล ท่านปรีดีฯ กับราชบัลลังก์ นนทบุรี: สำนักพิมพ์สันติธรรม, ไม่ระบุปีพิมพ์.

สุพจน์เขียนไว้ว่า "นอกจากท่าน(ปรีดี - กำพล) จะรับภาระเป็นผู้วางแผนการทางการเมืองและเศรษฐกิจ ท่านปรีดีฯ ยังได้มีส่วนสำคัญในการวางแผนการทางทหารอีกด้วย โดยท่านเป็นผู้เสนอแนะในแผนยุทธศาสตร์ยึดอำนาจโดยฉับพลัน ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ฝ่ายที่มีกำลังน้อยจะพึงประสบชัยชนะได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อหรือเสียก็น้อยที่สุด การไม่เสียเลือดเนื้อไม่ว่าจะเลือดไพร่หรือเลือดเจ้าเป็นที่ประสงค์อันสำคัญของคณะราษฎร" (น..๒)

เช่นเดียวกับงานเกือบทั้งหมดของสุพจน์เจือจางด้วยคำสำคัญ เช่น "ศักดินา" "ซากเดนศักดินา" หรือ "ศักดินาทรากเดน" ฯลฯ แต่คำเหล่านี้สำหรับท่านผู้เฒ่าดูเหมือนจะกินความอยู่เพียงบางส่วนจากฝ่าย royalist ( ตามคำปรีดี ซึ่งสุพจน์รับมาอีกต่อหนึ่ง หมายถึง พวกนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี) และพวกแอนตี้ปรีดี เป็นที่น่าสังเกตว่า "ศักดินา" ในคำกล่าวของสุพจน์ไม่ครอบคลุมถึงพระปกเกล้าฯ ซึ่งก็เป็นข้อขัดแย้งในงานสุพจน์เองอยู่ในตัว ขณะที่ผลิตงานด้วยความสุดซึ้งต่อปรีดีและคณะราษฎร แต่กลับไม่มีความชัดเจนในประเด็นพระปกเกล้าฯ กับการเมืองไทยทศวรรษ ๒๔๗๐ ( ดู. จิตตะเสน ปัญจะ. "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสั่งประหารคณะผู้ก่อการ 2475" ปจารยสาร ๑ : ๒๖ กรกฎาคม - ตุลาคม, ๒๕๔๒)
อาจกล่าวได้ว่าผู้ภักดีต่อคณะราษฎรกับพระปกเกล้าฯ ควบคู่กันก็คือ metarfor. ของสุพจน์นั่นเอง.

9 ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมือง - การปกครองไทย พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๗๗ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๑๘) น. ๒๐๙

10 สมเกียรติ วันทะนะ. " เมืองไทยยุคใหม่: สัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประวัติศาสตร์สำนึก" อยู่เมืองไทย รวมบทความทางสังคมการเมืองเพื่อเป็นเกียรติแด่ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ในโอกาสอายุครบ ๖๐ ปี (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๐) น. ๗๑ - ๑๒๓

11 ปรีดี พนมยงค์. "คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ๒๔ มิถุนายน " ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๖) น. ๓๔๖

12 พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ , น. ๒๗ นอกจากนี้แล้ว (ต่อเนื่องจากเชิงอรรถที่ ๘ ) พระยาทรงยังสะท้อนไว้ในงานบันทึกของตนอย่างน่าคิดเช่นว่า "ผู้ที่ทราบความจริงแห่งรายละเอียดของการปฏิวัติครั้งนี้ ( ๒๔ มิ. ย. ๗๕ - กำพล) มีอยู่เพียงไม่มากนัก และในจำนวนนี้ยังไม่พูดความจริงเสียอีกส่วนหนึ่งด้วย

ฉะนั้นจึงเป็นการยากสำหรับผู้ที่มีเจตนาจะรู้ความจริงในการค้นคว้าหาหลักฐานอันแน่นอนที่เชื่อถือได้ เหตุสำคัญที่ทำให้ความจริงเลอะเลือนไปก็เนื่องจากการเกิดเป็นศัตรูกันขึ้นในพวกปฏิวัติด้วยกัน เมื่อเป็นศัตรูกันขึ้นแล้วก็ใส่ร้ายกัน ยกเอาความดีขึ้นมาเป็นของตัวปั้นความชั่วใส่ผู้อื่น สำหรับราษฎรที่มิได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเองก็ย่อมเชื่อไปตามที่ได้ยินได้ฟังมาโดยไม่มีหลักฐานอันใด ส่วนผู้ที่มีการศึกษาเพียงพอก็ย่อมใช้สติปัญญาพิจารณาประกอบ มีส่วนที่ใกล้ความจริงบ้าง แต่ก็คงไม่รู้จริงโดยตลอดนั่นเอง " (น. ๒๑)

13 ประยูร ภมรมนตรี. บันทึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, ๒๕๑๗) น. ๗

14 หจช. (๓) สร. ๐๒๐๑. ๖๔/๔ เรื่องย่อเพลงสรรเสริญพระบารมี (๒๕ เม.ย. - ๑๒ ก.ย. ๒๔๗๘) เอกสารที่ใช้พิจารณาเป็นหลักฐานในหัวข้อนี้นำมาจากแฟ้มดังกล่าวนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยผู้เขียนจะพยายามคงรูปแบบอักษรตามเอกสารจริงให้ได้มากที่สุด.

15 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ ๙ / ๒๔๗๘ วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

16 หจช. (๓) สร. ๐๒๐๑. ๖๔/๔.
17 เพิ่งอ้าง.
18 เพิ่งอ้าง.
19 เพิ่งอ้าง.

20 หมายถึง " ปวงประชาเป็นศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย."
21 หมายถึง " ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน ปวงประชาเป็นศุขะสานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสิทธิดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย ชโย."
22 หจช. (๓) สร. ๐๒๐๑. ๖๔/๔.
23 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ ๑๕ / ๒๔๗๘ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

24 ขณะนั้นมีการคิดตัดเพลงชาติ (ฉบับขุนวิจิตรมาตรา) กันด้วย แต่การนำมากล่าวปะปนกันไว้ในจดหมายฯ นี้ด้วยนั้นเป็นความสับสนของหลวงวิจิตรเอง เพราะจดหมายฯ ฉบับนี้เป็นจดหมายกราบทูลฯ ปรึกษาเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ใช่เพลงชาติ กรมนริศฯ จึงไม่ได้ดำรัสตอบในเรื่องเพลงชาติ แต่เป็นเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากกรมนริศฯท่านไม่สับสนหรือว้าวุ่นใจไปกับหลวงวิจิตรด้วยจึงได้ตอบจดหมายมาดังที่จะกล่าวต่อไปในเนื้อหาบทความ.

25 หจช. (๓) สร. ๐๒๐๑. ๖๔/๔.
26 เพิ่งอ้าง.
27 เพิ่งอ้าง.
28 เพิ่งอ้าง.

29 เช่น เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. การปฏิวัติ 2475 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, ๒๔๑๔

เกษียร เตชะพีระ. " แด่ปรีดี พนมยงค์: นักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยแห่งระบบราชการไทย" วิสามัญสำนึก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ทางไท, ๒๕๓๗) น. ๗๖- ๘๑

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ กรุงเทพฯ: อัมรินทร์วิชาการ, ๒๕๔๐

เจษฎา อุรพีพัฒนพงศ์. "ผลสะท้อนของการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่มีต่อกระบวนการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕- ๒๔๙๕" การเมือง - การปกครองไทยสมัยใหม่: รวมงานวิจัยทางประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ (กรุงเทพฯ: เอกสารวิชาการของสมคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย(พิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), ๒๕๒๒) น.๔๖๘- ๕๒๑

ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ เชียงใหม่: ตรัสวิน, ๒๕๓๙

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2475 การปฏิวัติของสยาม กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, ๒๕๓๕

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๓

เสน่ห์ จามริก. การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๒๙

Batson, Benjamin A. The End of Absolute Monarchy in Siam Singapore: Oxford University Press, 1984 เป็นต้น

30 ขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่อยู่ ฉะนั้นเดือนกันยายน ๒๔๗๘ จึงมาก่อนเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๗๘
อนึ่งผู้เขียนเห็นจะต้องกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า นักประวัติเพลงที่เคยใช้เอกสารนี้มาก่อนผู้เขียนนั้นได้แก่ ครูเงิน(นามแฝง) ใน
"เพลงไทยตามนัยประวัติ". เพียงแต่การตีความของผู้เขียนในที่นี้มีความแตกต่างอย่างมากกับกรณีสารคดีเชิงบรรยายของครูเงิน.

31 หัวข้อนี้ส่วนหนึ่งเป็นการโน๊ตย่อไอเดียที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ใน . กำพล จำปาพันธ์. การเมืองของการสมมตินามประเทศ: จากสยามเป็นไทยในทศวรรษ ๒๔๘๐ (พิมพ์ในวารสารอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ - พฤศจิกายน ๒๕๔๘)

32 กล่าวกันว่าการกระทำในครั้งนั้นเป็นผลงานของบุคคลสนิททั้ง ๔ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "จตุสดมภ์" (ยูร, เถียร, เพียร, นวล) ได้แก่ จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์, หลวงวิเชียรแพทยาคม, พระราชธรรมนิเทศ, และหลวงสารานุประพันธ์ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีหลวงวิจิตรหรือกล่าวอีกนัยคือหลวงวิจิตรไม่ได้ถูกผนวกรวมเป็นจตุสดมภ์หรือ "สี่ปุโรหิตของระบอบพิบูล" ทั้งที่จริงปรากฎว่าหลวงวิจิตรเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่ง ต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำใหม่นี้ ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าบทบาทของจอมพล ป. ในฐานะผู้กระทำการฯ จะถูกเคลียร์โดยอ้างเป็นเพราะ "จตุสดมภ์" มากกว่า ส่วนตัวจอมพลป. นั้นถือว่า "บริสุทธิ์" หรือไม่มี "มลทิน" อะไรในกาลต่อมา

แต่อย่างไรก็ดี ในคำให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนคดีอาชญากรสงคราม หลวงอดุล อดุลเดชจรัส ( บัตร พึ่งพระคุณ ) ผู้ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนสนิทและผู้ทำงานร่วมรัฐบาลจอมพล ป. ได้ตั้งข้อสังเกตโดยกล่าวพาดพิงถึงเรื่องนี้ไว้ว่า " จอมพล ป. มักชอบคนประจบสอพลอ แต่ผู้ที่ไปสอพลอนั้น มักเป็นผู้ที่โง่กว่าและมีชื่อเสียงไม่ดี ไม่เป็นที่เคารพของผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ถือเอาจอมพล ป. เป็นที่พึ่ง เพราะถ้าปราศจากจอมพลป. แล้วตัวก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ไป แต่ถ้าบุคคลใดซึ่งเป็นคนหลักแหลมรู้เท่าถึงการณ์ของจอมพล ป. แล้ว จอมพล ป. ก็มักไม่ไว้วางใจ แม้ผู้นั้นจะมีความสามารถเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อื่น ก็ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสายตาและความสังเกตของจอมพล ป. แล้วก็พยายามที่จะกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้นั้นขาดความนิยมเลื่อมใสลงไป

ผู้ที่ไปประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพลป. ไว้เนื้อเชื่อใจนั้น เท่าที่ข้าฯ ได้สังเกตพบเห็นมี พล ท. พระวิชัยยุทธเดชาคนี พล ท. พระประจนปัจนึก หลวงวิจิตรวาทการ หลวงสารานุประพันธ์ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นต้น" ( จากหน้า ๑๐๔ ใน. สุพจน์ ด่านตระกูล (รวบรวม) พล ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส พูดถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรุงเทพฯ: ศิริพรการพิมพ์, ๒๕๒๒ ).

33 ความข้อนี้ผู้เขียนโน๊ตย่อและตีความจากคำกล่าวของหลวงพิบูลที่ว่า "คำว่าสร้างชาตินั้นเป็นคำสั้นอันได้ละความหมายไว้ให้เข้าใจกันมากกว่าตัวอักษรสองพยางค์ที่ปรากฎอยู่ เพราะฉะนั้นจึงอาจมีผู้เถียงว่า ชาตินั้นมีมานานแล้ว เหตุใดจึงจะต้องมาสร้างกันให้เป็นอะไรขึ้นมาอีก แท้จริงความหมายของการสร้างชาตินั้นมีว่า ชาติไทยมีอยู่แล้ว แต่สถานะบางอย่างของชาติไทยยังไม่ขึ้นระดับสมความต้องการประชาชาติไทย เราจำเป็นต้องพร้อมใจกันสร้างเพิ่มเติมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่วยกันปรับปรุงไปจนกว่า เราทุกคนจะพอใจ หรืออย่างน้อยก็จะได้ระดับเสมออารยะประเทศ " (จาก. เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๑ : ๓๕ / ๑ เรื่องคำวิงวอนของนายกรัฐมนตรีแด่พี่น้องสตรีไทย. ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔)

อนึ่งเกี่ยวกับการสร้างชาติสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลฯ นี้มีผู้ศึกษาไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวอยู่พอสมควร อาทิเช่น แถมสุข นุ่มนนท์. " จอมพล ป. พิบูลสงครามกับการสร้างชาติไทย" ฟื้นอดีต (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, ๒๕๒๒) น. ๑๓๑- ๑๖๘ เจริญรัตน์ สุวรรณภูสิทธิ์. " จอมพล ป. พิบูลสงครามกับการสร้างชาติ: วิเคราะห์จากเพลงปลุกใจ" ศิลปวัฒนธรรม ๙: ๖ เมษายน ๒๕๓๑ และใน. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ (บก.) บันทึกการสัมมนาจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่ กรุงเทพฯ: มูลนิธิดครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๔ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากคำกล่าวของหลวงพิบูลที่ผู้เขียนยกมาในที่นี้ เกิดขึ้นโดยทิ้งระยะห่างจากเวลา (period) ที่มีการออกประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ (ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒) ขณะเดียวกันรัฐนิยม "เรื่องชักชวนให้ประชาชนชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ" นั้นเป็นรัฐนิยม ฉบับที่ ๗ ออกภายหลัง (ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ การสร้างชาติ (ไทย) จึงน่าจะเป็น "ผล" ข้างเคียงที่ตามติดมาจาก "เหตุ" ซึ่งก็ได้แก่ การประกาศบังคับใช้ชื่อประเทศ(ไทย) อย่างเป็นทางการ (?)

34 ผู้เขียนวิเคราะห์เรื่องวันชาติ และวันสำคัญต่างๆ ในสังคมไทยไว้แล้วใน. กำพล จำปาพันธ์. "วันสำคัญของชาติ: ความหมาย อำนาจ และการเมือง" นิตยสาร open. ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓๘ ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๔๖

35 ใน. รัฐนิยม และการอบรมจรรยามารยาท ( กรมสรรพสามิตพิมพ์เป็นมิตต์พลีเนื่องในงานถวายพระกฐินพระราชทาน ณ. วัดศาลาปูน จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ฑ.ศ. ๒๔๘๓) น. ๒ (เน้นคำโดยผู้เขียน) ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐนิยมฉบับที่ ๑ นี้หาได้ส่งผลต่อการบังคับใช้ชื่อประเทศเป็น "ไทย" เท่าที่ควรไม่ feedback จากประกาศฉบับนี้โดยตัวมันเองมีได้น้อยมาก เนื่องจากถูกยกเลิกไปในระยะเวลาไม่นานหลังประกาศใช้โดยการที่กรมโฆษณาการงดอ่านประกาศนี้ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงฯ ในปี ๒๔๘๔ ขณะที่เพิ่งเริ่มประกาศใช้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ความสำคัญของรัฐนิยมฉบับนี้ได้แก่ การที่มันกลาย "กฎหมาย" ในกาลต่อมา โดยมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พ.ศ. ๒๔๘๒ ข้อมูลประกอบการพิจารณานี้มาจาก. หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๔๕/๘ เรื่องงดอ่านรัฐนิยมบางฉบับทางวิทยุกระจายเสียง ( ๑๑ ก.ค. ๒๔๘๔- ๒๙ ส.ค. ๒๔๘๕)

36 ผู้เขียนตกผลึกในการคิดประเด็นนี้ (และได้แก้ไขปัญหาบางประการ) จากที่ได้อ่าน. มานิตย์ นวลละออ. การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทย กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองรัตน์ปริ้นติ้ง, ๒๕๔๐

ทั้งนี้ในงานมานิตย์ก็ยังไม่ได้เสนอหลักฐานอะไรให้เห็นเป็นที่แน่ชัดสำหรับที่มาของการพิจารณาตีความของเขา ตรงข้ามมานิตย์กลับอาศัยการคิดเชิงตรรกะ (หรือเดาสุ่ม?) โฟกัสประเด็นนี้ว่า "การเปลี่ยนชื่อประเทศ อาจถือได้ว่ามีลักษณะของการต่อต้านเจ้านายเช่นกัน เพราะชื่อ "สยาม" นั้นเป็นสิ่งที่มาจากผู้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนั้น คำว่า "สยาม" อาจมีผลต่อการเรียกพระนามของพระมหากษัตริย์ด้วย โดยที่พระนามของพระมหากษัตริย์เรียกได้หลายอย่าง เช่น "พระสยามินทร์" ดังนั้นถ้าเปลี่ยนชื่อ "สยาม" เป็น "ไทย" ก็จะไม่มี "ไทยมินทร์"
อันมีผลทำให้ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ลดลงได้ทางหนึ่ง" (น.๙๑)

ไม่เพียงแต่เจือจางด้วย agenda เรื่องการแอนตี้เจ้าของรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งไม่จริงทั้งหมด ไม่เป็น absolute truth หากเป็นแต่เพียงสัจจะสมมติ (assumed truth) หรือไม่ก็เพียง half truth ที่เกิดขึ้น/ก่อรูปกันภายหลัง "จุดอ่อน" ของมานิตย์ในประเด็นนี้ยังอยู่ตรงที่ประเมินอาณาเขตอำนาจเชิงสถาบันของกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ ในระดับที่ไม่อาจจะกล่าวได้เลยว่า สอดคล้องกับความจริงที่เป็นส่วนทั้งหมด ประเด็นที่น่าสนใจก็คืออำนาจสถาบันฯ ไม่เพียงไม่ลดน้อยลงโดยการต่อต้านจากคณะราษฎรดังที่มานิตย์สะท้อน แต่เปลี่ยนเงื่อนไขไปจากเดิม (สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์) ต่างหาก

และอันที่จริงคณะราษฎรหรือแม้แต่จอพล ป. พิบูลสงครามในงานมานิตย์เองก็ยังเป็นผู้ที่จงรักภักดีอีก "รูปแบบ" หนึ่ง ซึ่งภายหลังมีพัฒนาการคลี่คลายมาจนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน ( ดูรูปภาพผนวกท้ายบทความ) แม้จะถูกกล่าวหาจากพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และฝ่ายปรีดีว่า ครั้งนั้นจอมพล ป. "กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง" ภายหลังจอมพล ป. ก็ยังสามารถปฏิเสธได้อยู่ดี ( ดูเอกสารหลักฐานใน. ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรุงเทฑฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ๒๕๔๓ ) และครั้งนั้น (ทศวรรษ ๒๔๘๐) จอมพล ป. เพียงแต่อ้างว่า " พระมหากษัตริย์ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป" ( รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๐/๒๔๘๕ วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕) ปล. กระนั้นก็ตามโดยรวมแล้วการวิจารณ์นี้ก็ไม่ได้มีผลต่อส่วนที่เป็นคุณูปการซึ่งมานิตย์ได้ให้ไว้แก่ผู้เขียน.

37 รัฐนิยมฯ, น. ๑๗- ๑๘

38 มีข้อน่าสังเกตอีกว่า การออกรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขว่าด้วยนามประเทศมาบังคับใช้ในปี ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศด้วยนั้น จัดเป็นการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นครั้งแรกนั่นเอง. สามารถอ่านเปรียบเทียบดูตัวบทในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนี้ได้ใน. ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต. เอกสารการเมือง - การปกครองไทย พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๗๗. (๒๕๑๘) และสอบค้นอีกทางได้ใน. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๔๙ ตอนที่ ๒๐ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และ เล่มที่ ๕๙ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕.

39 รัฐนิยมฯ, น. ๙- ๑๐ เกี่ยวกับเพลงชาติและธงชาติ ผู้เขียนทำไว้อีกที่หนึ่งใน. " เพลงชาติ : การสมมติเชิงพิธีกรรม รัฐนิยม และอุดมการณ์" ซึ่งขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ต้นฉบับยังไม่พร้อมสำหรับการตีพิมพ์.

หมายเหตุ: ภาพจอมพล ป. พิบูลสงครามกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

** สำหรับความช่วยเหลือ แนะนำ และกำลังใจ ผู้เขียนขอขอบคุณ อ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ จากคณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร, อ.สมเกียรติ ตั้งนโม จาก ม.เที่ยงคืน, ปราบดา หยุ่น จาก open center , วันเฉลิม เปรมปลื้ม จากกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน(กปร.), ศรายุทธ ธรรมโชโต จากกลุ่มนักเขียนหน้าราม, ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ จากศูนย์ประสานงานกรรมกร(ศปก.), ครูวิจิตร นวลฉวี จากโรงเรียนอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ ๖ (อ.อ.ป.), ภูมินทร์ ไทยานันท์, นริศรา สุขประเสริฐ, วิญญูจักรา คำนิล, ชลธิสา บุญกอเส็ง, จตุพร ขวัญไพโรจน์, สุนิตา โพธิ์สุข, สุรเชษฐ์ จำปาพันธ์, รุ่งทิพย์ พัทยากร, และชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อย่างไรก็ตามต่อข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจจะปรากฎในบทความนี้ยังคงเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว.

 

 


 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง"เพลงสรรเสริญพระบารมี: ปฐมบทว่าด้วยการเมืองของการถวายความจงรักภักดี" โดย กำพล จำปาพันธ์ (นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

เนื่องจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ราษฎร ยังคงถูกตัดสิทธิในการเข้าถึงองค์กษัตริย์ที่รักของพวกเขา ขณะเดียวกันพระองค์ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเปิดโอกาสให้ราษฎรได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเช่นในสมัยหลังนี้ ความภักดีของราษฎรนั้น อันที่จริงสำหรับสมบูรณาญาสิทธิราชแล้วไม่ได้มีความหมาย หรือสำคัญเทียบเท่ากับความจงรักภักดีในหมู่เหล่าขุนนาง และเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดหรือแวดล้อมพระองค์แต่อย่างใด

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

โดยแง่คิดนี้แล้ว เพลง God save the Queen สมัยร. ๔ ที่นำเข้าโดยครูฝึกทหารชาวอังกฤษชื่อ อิมเปย์ ( Impay ) และ นอกซ์ ( Knox ) จึงไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชดำริในเพลงสรรเสริญพระบารมีเสียทีเดียว หรือแม้แต่เพลงที่ ร.๕ รับสั่งแก่บรรดาครูเพลงให้มีขึ้นเมื่อครั้งหลังเสด็จกลับจากประพาสชวา ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ก็ไม่ใช่!! เนื่องจาก God save the Queen ใช้บรรเลงในกองทัพสมัยใหม่สำหรับถวายความเคารพระหว่างที่ทรงเสด็จตรวจกองทหาร ซึ่งเป็นไปเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดีอย่างแท้จริงหรือใช้ขับร้องประกอบสร้างเชิงพิธีกรรม ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่ต้องกระทำเป็นประจำหรืออย่างน้อยก็ต้องให้มีความสม่ำเสมอ

 

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ