ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
200248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 529 หัวเรื่อง
หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความสรุปจากงานวิจัย เรื่อง
ผู้หญิงไทยกับภัยจากอาชญากรรมทางเพศ
จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หมายเหตุ:
สรุปจากรายงานวิจัยเรื่อง
"ปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย"
ทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2544.

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)

 

บทความนี้เป็นการนำเสนอผลการวิจัยทางสังคมศาสตร์ จากการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์ผู้กระทำผิดทางเพศคดีข่มขืนในเรือนจำต่างๆทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น ได้กลุ่มตัวอย่าง รวม 444 ราย และทำการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้กระทำผิดทางเพศจำนวน 10 ราย และเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ จำนวน 7 ราย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ลักษณะ บุคลิกภาพ ความสัมพันธ์ สถานที่ ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง และสถานการณ์ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมของผู้ที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้กระทำผิด และแสวงหาแนวทางการป้องกันผู้หญิงมิให้ตกเป็นเหยื่อการถูกข่มขืน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

สังคม: พบว่าผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่เป็นหนุ่มโสด มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ แต่มีงานทำเป็นกิจลักษณะ ระดับการศึกษาต่ำ ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษา ขาดความผูกพันกับบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตน โดยเฉพาะในฐานะบิดา ลุง/น้า ที่มีต่อบุตร/หลานสาวในฐานะ "ผู้ชาย" และ "ผู้ใหญ่" ของสังคม

วัฒนธรรม: ได้รับวัฒนธรรมรองและค่านิยมทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่มาเป็นแบบแผนปฏิบัติ มีและใช้อำนาจที่อยู่เบื้องหลังบทบาทความเป็นชาย กระทำต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกัน และปฏิบัติต่อหญิงราวกับทรัพย์สินที่ซื้อขาย แลกเปลี่ยนและแบ่งปันแก่เพื่อนชายด้วยกัน

พฤติกรรม: พบว่ากระบวนการขัดเกลาสู่ความเป็น "ตัวตน" ของผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้มีความบกพร่อง ไม่สามารถควบคุมความต้องการและยับยั้งชั่งใจได้ มีการแสดงพฤติกรรมสำส่อน ด้วยการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน และบ้างก็กระทำความผิดผ่าน "สุราและยาเสพติด" ที่แปรสภาพสารเคมีภายในร่างกายไปจากปกติ

จิตใจ: ผู้กระทำผิดทางเพศมีความต้องการได้รับการตอบสนองแรงขับทางเพศสูง ขณะที่มีความรู้สึกยับยั้งชั่งใจต่อความผิดบาปที่กระทำในระดับต่ำและ "ขาดมุทิตาจิต" (Victim Identification) ต่อเหยื่ออาชญากรรม

กล่าวโดยสรุป "ผู้หญิง" กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนในสังคมไทย คือ กลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี เป็นนักเรียน นักศึกษา ถูกข่มขืนที่บ้านเพื่อนหรือบ้านคนรู้จัก โดยคนรักเพื่อนหรือคนรู้จัก ในช่วงเวลา 22.00-02.00 น. ซึ่งผู้กระทำผิดทางเพศสนใจเด็กผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดี (หุ่นดี-ขาวอวบ-ขาสวย-หน้าอกใหญ่) แต่งกายล่อแหลม (นุ่งสั้น-รัดรูป-เสื้อ/ชุดบาง-สายเดี่ยว/เกาะอก) และไม่ระมัดระวังตัว (ยอมติดตามไปด้วย-ใกล้ชิดสนิทสนม-เหยื่อมีอาการมึนเมา-ผ่านมาในที่เปลี่ยวตามลำพัง) ตามลำดับ

บทนำ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องทางเพศแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม สังคมไทยก็เช่นเดียวกับหลายๆสังคม ที่มีทัศนะและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ว่า บรรดาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นเรื่องลับ ที่ไม่น่าพูดถึงในที่เปิดเผยในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่ขณะเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่ก็แสดงอาการอยากรู้อยากเห็นต่อเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏมี "การข่มขืนกระทำชำเรา" (Rape) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่มีความรุนแรงที่สุดในอาชญากรรมประเภทอาชญากรรมทางเพศ (Sexual Offense) เกิดขึ้น

เนื่องจากสภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน โดยผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือ "เหยื่อ" (Victim) ไม่คาดคิดมาก่อน และผลจากการกระทำอาชญากรรมดังกล่าวได้ทำลายเหยื่อทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ร้าวลึก และฝังใจจำ ด้วยการใช้กำลังบังคับทางกาย และการบีบบังคับทางจิตใจ ทั้งพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความวิตกกังวล หวาดหวั่น น่าสะพรึงกลัว และรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่ไว้วางใจแก่ผู้คนในสังคมทุกครั้งที่มีข่าวอาชญากรรมทางเพศในเรื่องของการข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนในทุกสังคม แม้แต่ในสังคมอเมริกันที่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นการกระทำที่ยอมรับได้ก็ยังเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียหาย และสังคมไม่อาจปล่อยให้ใครๆ มาล่วงละเมิดทางเพศต่อกันได้ง่ายเกินไป

ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสภาพความเชื่อของสังคมไทย ที่นิยมให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว และครองตนให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะแต่งงานมีครอบครัวนั้น หากผู้หญิงถูกข่มขืนย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเสียหายร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ในความรู้สึกของคนในสังคมแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลข้อสนเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุคดีเกี่ยวกับความผิดทางเพศ ได้แก่ข่มขืนกระทำชำเรา และอนาจารทั่วประเทศ พบว่าสถิติดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

โดยปี 2540-2542 มีจำนวน 3,741 4,999 และ 7,936 ราย ตามลำดับ เฉลี่ยทุก 1 ชั่วโมง ผู้หญิงและเด็กจะถูกข่มขืนกระทำชำเรา ทำร้ายร่างกายและอนาจาร 1 คน และเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีถูกข่มขืนเฉลี่ยวันละ 2 ราย

นอกจากนี้มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้รวบรวมข้อมูลภัยทางเพศจากหนังสือพิมพ์พบว่า มีข่าวภัยทางเพศระหว่าง พ.ศ.2540-2542 ทั้งสิ้น 603 กรณี โดยผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด 11 ปี มากที่สุด 106 ปี ส่วนผู้กระทำอายุน้อยที่สุด 11 ปี มากที่สุด 85 ปี และเฉพาะคดีข่มขืนกระทำชำเราปรากฏว่ามีจำนวนผู้กระทำผิดทางเพศ ที่ศาลพิพากษาว่ากระทำผิดจริงและลงโทษจำคุกอยู่ในปัจจุบันมากเป็นอันดับ 4 ของคดีประเภทต่างๆ คือร้อยละ 3.65 หรือจำนวน 4,396 ราย ดังปรากฏตามสถิติกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2543

ซึ่งหมายความว่า มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดเหล่านี้มากในจำนวนพอๆกัน โดยถูกข่มขืนทั้งแบบตัวต่อตัว (Single Rape) โทรมหญิง (Group Rape) ฆ่าข่มขืน (Felony Rape) ข่มขืนภายในครอบครัว (Incest) และข่มขืนคู่รัก (Rape with in lover) เป็นต้น

การข่มขืนกระทำชำเรา เป็นการกระทำที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายแง่มุม กล่าวคือ

- มองในแง่กฎหมาย พฤติกรรมนี้ถูกจัดว่าเป็นอาชญากรรมอันเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ ผู้กระทำต้องได้รับโทษจำคุก
- ในแง่จิตวิทยาจัดว่าเป็นการแสดงออกทางเพศของบุคคลที่ผิดปกติ ซึ่งสัมพันธ์กับความบกพร่องของพัฒนาการทางเพศและจิตใจของบุคคล
- ในแง่สังคมวิทยาโดยเฉพาะในสังคมของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เราพบว่าทั้งๆที่ค่านิยมและพฤติกรรมบางอย่างของคนในสังคม เกี่ยวกับเรื่องทางเพศเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่บรรทัดฐานของสังคมในรูปลักษณ์ของกฎหมาย ยังคงใช้ตามบรรทัดฐานสังคมแบบเดิม

ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่การเข้าใจและปฏิบัติ ดังเช่นความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมกดขี่ทางเพศแต่เดิม ไปสู่การเคารพสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศระหว่างหญิงชายในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดการหลงยึดติดในบทบาทท่าทีแบบเดิมของเพศชายที่มีต่อเพศหญิง รวมทั้งการที่สื่อต่างๆ ได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยเรื่องราวทางเพศมากขึ้น ขณะที่กฎหมายยังคงมีข้อกำหนดแบบเดิมไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นปัจจุบัน จึงปรากฏปัญหาอาชญากรรมทางเพศที่รุนแรงดังที่เป็นอยู่

เป็นเรื่องที่น่าตระหนกที่ การศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อที่ถูกข่มขืน กระทำชำเรา ของผู้หญิงกลุ่มนี้กระทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่ไม่แจ้งความดำเนินคดี เพราะเกิดความอับอายต่อเรื่องเสียหายของตน ทำให้คดีข่มขืนกระทำชำเราส่วนหนึ่งไม่ปรากฏต่อสังคม หรือถึงแม้ว่าเหยื่อจะแจ้งความก็ตาม

แต่การที่เหยื่อถูกพนักงานสอบสวน และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมสอบสวน และซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านี้จากเหยื่อนั้น พบว่า เหยื่อมักสะเทือนใจไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และการสัมภาษณ์อาจกลายเป็นการตอกย้ำยังความลำบากใจให้เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการข่มขืนซ้ำซ้อนแก่เหยื่อที่อาจจะอยากลืมเรื่องราวต่างๆโดยเร็ว

จากข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้การศึกษาวิเคราะห์ลักษณะของเหยื่อ สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ และปัจจัยต่างๆที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในลักษณะนี้ อยู่ในแวดวงค่อนข้างจำกัด ทำให้การที่จะนำผลการศึกษาวิจัยไปใช้ในการป้องกันมิให้ผู้หญิงตกอยู่ในสถานการณ์ หรือศึกษาองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยเสี่ยงครบวงจร แก่การตกเป็นเหยื่อการข่มขืนกระทำชำเราในปัจจุบัน จึงไม่อาจกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นผู้วิจัยจึงใคร่ศึกษาเรื่องอาชญากรรมทางเพศ เฉพาะคดีข่มขืน จากปัจจัยเงื่อนไข และมุมมองของอาชญากรผู้ทำการข่มขืน หรือ "ผู้กระทำผิดคดีข่มขืนที่เป็นนักโทษเด็ดขาด" ว่า บุคลเหล่านี้มีความคิดเห็น ความรู้สึก และวิธีการเลือกเหยื่อของเขาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีปัจจัยใดบ้างที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง ต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย เพื่อจะได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการป้องกันผู้หญิง มิให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในคดีข่มขืนกระทำชำเรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ในการป้องกันอาชญากรรมทางเพศให้ลดลง รวมทั้งเพื่อจะได้มีข้อมูลทางอาชญาวิทยา ในบริบทของสังคมไทย ใช้ในการเรียนการสอนทางด้านอาชญาวิทยา และงานยุติธรรมและวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยพบข้อมูลหลายลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย สรุปได้ดังนี้

1. ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ผู้กระทำผิดทางเพศ"
ผู้กระทำผิดทางเพศที่ถูกจับกุมดำเนินคดี และต้องโทษจำคุกในเรือนจำทั่วประเทศนั้นส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่ม อายุระหว่าง 19-25 ปี อายุเฉลี่ย 25 - 36 ปี. ผู้กระทำผิดอายุต่ำสุด 13 ปี สูงสุด 74 ปี แต่กลุ่มอายุที่มีการกระทำผิดทางเพศมากที่สุด คือ 19 ปี มีการศึกษาไม่เกินการศึกษาภาคบังคับคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีภูมิลำเนาเป็นคนภาคกลาง ยังเป็นโสด ประกอบอาชีพรับจ้าง และเกือบทั้งหมดมีอาชีพการงานมิใช่คนตกงานหรือว่างงาน นับถือศาสนาพุทธ ติดบุหรี่ ดื่มสุราเป็นครั้งคราว กระทำความผิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก และมีผู้ที่กระทำผิดซ้ำในความผิดทางเพศเพียงร้อยละ 8.3

o ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมการกระทำผิดทางเพศ วิเคราะห์สรุปได้ว่า

สังคม: พบว่าผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ แต่มีงานทำเป็นกิจลักษณะ และไม่มีกิจนิสัยเสียหายในเรื่องเกี่ยวกับการทรัพย์ ระดับการศึกษาต่ำ ขาดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง ขาดทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิงที่เป็นเพื่อน ญาติ และบุตรสาว ขาดความผูกพันกับบทบาทหน้าที่ทางสังคมของตน โดยเฉพาะในฐานะบิดา ลุง/น้า ที่มีต่อบุตร/หลานสาวในฐานะ "ผู้ชาย" และ "ผู้ใหญ่" ที่มีหน้าที่ทางสังคมในการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสนับสนุนให้ "เด็กผู้หญิง" ได้เติบโต ก้าวข้ามมิติแห่งวัยสู่ภาวะที่เหมาะสมแก่การครองเรือนที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

วัฒนธรรม: ได้รับวัฒนธรรมรองในการกระทำผิดจากครอบครัว กลุ่มเพื่อน สังคมผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งรับเอาค่านิยมทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่ และหญิงคือผู้อ่อนแอกว่าที่ต้องรองรับอารมณ์ความรู้สึกของตนในทุกกรณี มาเป็นแบบแผนปฏิบัติ มีและใช้อำนาจที่อยู่เบื้องหลังบทบาทความเป็นชาย กระทำต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกัน บ้างก็ปฏิบัติราวกับทรัพย์สินที่ซื้อขาย แลกเปลี่ยนและแบ่งปันแก่เพื่อนชายด้วยกัน

พฤติกรรม: พบว่ากระบวนการขัดเกลาสู่ความเป็น "ตัวตน" ของผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้มีความบกพร่อง บ้างก็มีวิถีชีวิตที่ขัดหรือแย้งกับบรรทัดฐานสังคมทั่วไป โหดเหี้ยม ทารุณ ไม่สามารถควบคุมความต้องการและยับยั้งชั่งใจได้ โดยลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกผสมผสานระหว่างการทำร้ายร่างกายเพศที่อ่อนแอกว่า

เช่นเดียวกับที่บิดาแสดงบทบาทของเพศชายต่อมารดา โดยเฉพาะเรื่องทางเพศส่วนที่เป็นสันดานดิบได้แสดงออกอย่างชัดเจน "เด็กหญิงหรือลูกสาว" ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนเพียงเพื่อแก้แค้นมารดาเด็ก โดยลืมบทบาทความเป็น "บิดา" ของตนขณะกระทำ มีการแสดงพฤติกรรมสำส่อนด้วยการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน หรือแบ่งผู้หญิงให้เพื่อน

โดยผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่เริ่มต้นประสบการณ์ทางเพศของตนจากการซื้อบริการของหญิงขายบริการ จึงเรียนรู้พฤติกรรมและบทบาททางเพศในรูปแบบหนึ่ง ที่อาจไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ปฏิบัติในสังคม เมื่อเกิดรักใคร่ชอบใจผู้หญิงทั่วไป

เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความรู้สึกเหยียดหยาม ดูถูก แก้แค้น เห็นผู้หญิงเป็นเสมือนวัตถุสิ่งของ ที่ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ชาย ขาดทักษะและการฝึกหัดเรียนรู้ที่ถูกที่ควร และบ้างก็กระทำความผิดผ่าน "สุราและยาเสพติด" ที่แปรสภาพสารเคมีภายในร่างกายไปจากปกติ

จิตใจ: สังคม วัฒนธรรม และค่านิยมของสังคม ล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและจิตใจของสมาชิกสังคมอย่างมาก กรณีดังกล่าวส่วนใหญ่เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้กระทำผิดทางเพศมีความคับข้องใจมาก มีความต้องการที่เกิดจากแรงขับทางเพศสูง และมีความรู้สึกยับยั้งชั่งใจต่อความผิดบาปที่กระทำในระดับต่ำ แรงผลักดันของ Id มีอำนาจเหนือการตัดสินใจกระทำพฤติกรรมต่างๆมากกว่ามโนธรรมหรือ Superego

ทำให้ตัดสินใจกระทำการต่างๆไปตามวิถีจิตที่จดจ่อกับโทสะ (โกรธแค้นมารดาของเหยื่อ/เหยื่อและต้องการแก้แค้น) โมหะ (มีความต้องการทางเพศและหลงให้ความสำคัญกับอำนาจความเป็นชายที่เหนือกว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ เมื่อใช้ความรุนแรงกระทำต่อชีวิตและร่างกายของเหยื่อ รวมทั้งมีความกลัวโทษทัณฑ์ จึงทำการฆ่าเหยื่อผู้เป็นบุคคลคนสำคัญที่สุดแห่งคดี) และโลภะ (มีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด) ซึ่งเรียกความรู้สึกของจิตใจเหล่านี้รวมกันได้ว่าเป็นความรู้สึก "ขาดมุทิตาจิต" (Victim Identification) ต่อเหยื่ออาชญากรรม

o ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดทางเพศและเหยื่อ:
ส่วนใหญ่ทั้งผู้กระทำผิดทางเพศและเหยื่อรู้จักกัน และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาก่อนในฐานะบิดา-บุตร ญาติ คนรัก เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จักกัน มีบางรายที่ผู้กระทำผิดทางเพศพบเห็นและนิยมชมชอบเหยื่อฝ่ายเดียว โดยเหยื่อไม่มีโอกาสทราบว่าตนกำลังอยู่ในสายตาของอาชญากรทางเพศ เมื่อช่องโอกาสอำนวย ก็ทำให้เหยื่อพลาดพลั้งเสียทีผู้กระทำผิดทางเพศผู้จ้องฉวยโอกาสได้ง่าย

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ไม่มีลักษณะร่วมตายตัวที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการข่มขืน โทรมหญิง หรือฆ่าข่มขืน
แต่มีความสัมพันธ์น่าสนใจบางประการที่ผู้กระทำผิดทางเพศมีร่วมกัน คือ ผู้กระทำผิดทางเพศ เป็นชายที่อยู่ในบริบทวัฒนธรรมและค่านิยมเดียวกัน ผู้กระทำผิดทางเพศรู้จักเหยื่อของตน ขณะที่เหยื่ออาจไม่รู้จักผู้กระทำผิดทางเพศ ผู้กระทำผิดทางเพศไม่สามารถควบคุมยับยั้งพฤติกรรม ที่เกิดจากแรงขับทางเพศของตนไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมด้วยสติสัมปัญชัญญะ หรือควบคุมผ่านสุรายาเสพติดที่ได้เสพไปก่อนเกิดเหตุก็ตาม

ผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้เล็งเห็นผล และประสงค์ต่อผลที่ต้องการบรรลุถึงของตน โดยไม่สนใจว่าเหยื่อจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หรือไม่สนใจความรู้สึกของเหยื่อในฐานะมนุษย์ ลูก หลาน หรือเพื่อนพ้องของตน ผู้กระทำผิดทางเพศเหล่านี้เลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์ หรือเสี่ยงต่อโรคภัยน้อยที่สุด เนื่องจากกลัวภัยอันตรายที่มาถึงตนทั้งด้านสุขภาพอนามัย และอิสรภาพ คือกลัวเป็นเอดส์และส่วนใหญ่หนีหรือฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปาก เพราะกลัวเหยื่อซึ่งเป็นพยานคนสำคัญจะชี้ตัวได้ถูกต้อง ซึ่งเป็นความต้องการที่เห็นแก่ตัวประสงค์แต่จะได้ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงว่าของเขตความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของตนนั้น ไปรอนสิทธิหรือล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นซึ่งเป็นเพื่อนร่วมสังคมหรือไม่อย่างไร

2 ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "พฤติกรรมการกระทำผิด"
พบว่าการเกิดอาชญากรรมทางเพศ มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความรู้จักสนิทสนมคุ้นเคย ระหว่างอาชญากรและเหยื่อ กล่าวคือ เหยื่อกับผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่รู้จักกันมาก่อน และมีความสัมพันธ์กันในฐานะใดฐานะหนึ่ง คือเป็นเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จักกัน รวมทั้งเป็นคนรัก แฟน ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ตลอดจนบุตร บุตรติดภรรยา หลาน และญาติ มากกว่าข่มขืนเหยื่อที่ไม่รู้จักกันมาก่อน

นอกจากนี้ อาชญากรรมทางเพศส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตระเตรียมการมาก่อน การข่มขืนเกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยฉับพลัน ประกอบกับช่องโอกาสเอื้ออำนวย ช่วงเวลาเหมาะสม และสถานที่เหมาะสมเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อเหยื่อกับผู้กระทำผิดทางเพศอยู่ในมิติที่โอกาส เวลา และสถานที่ประจวบเหมาะ ทาบซ้อนเป็นวงเดียวกัน จะมี "การตัดสินใจกระทำ"และ "การยับยั้งชั่งใจ" เป็นตัวชี้ขาดว่าการข่มขืนจะเกิดขึ้นหรือไม่

เป็นข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจที่ทราบว่า อาชญากรรมทางเพศส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง (เหยื่อยินยอม) เนื่องจาก

1) เหยื่อมีความอ่อนแอทางชีวภาพ

2) เหยื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นในสังคมที่ผ่านมาว่า ถ้าดิ้นรนต่อสู้ก็มักเจ็บตัวเปล่า เพราะผู้กระทำผิดทางเพศจะหันมาใช้กำลังรุนแรงในการควบคุมแทนด้วยวิธีการต่างๆ และได้ชัยชนะในที่สุด

3) ผู้กระทำผิดทางเพศมีอำนาจอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่แสดงออก ได้แก่อำนาจจากการเป็นผู้ปกครอง ผู้อุปการะ บิดา จำนวนคนที่มากกว่า (กรณีโทรมหญิง) มีอาวุธ รวมทั้งมีพละกำลังเหนือกว่า

4) เหยื่อบางรายอาจมีความประสงค์แอบแฝงในการ "ทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อการข่มขืน" และแจ้งความดำเนินคดี เช่น เพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ หรือ เพื่อแก้แค้นการสลัดรัก ฯลฯ และ

5) ผู้กระทำผิดทางเพศรับสัญญาณที่ผิดพลาดจากเหยื่อ โดยทึกทักเอาเองว่าปฏิกิริยาการดิ้นรนหนีของเหยื่อคือการสมยอม ทั้งนี้ความผิดพลาดของสัญญาณอาจเกิดจากฤทธิ์สุรา ยาเสพติด ผสมผสานกับการขาดสติสัมปชัญญะ

อนึ่ง พบว่าพฤติกรรมการกระทำผิดทางเพศคดีข่มขืนมีลักษณะเป็น Paradox ที่ขัดแย้งกันเอง ระหว่างการมีความเมตตากรุณาต่อคนในกลุ่มเดียวกัน (In-group) มากกว่าที่มีต่อคนนอกกลุ่ม (Out-group) ซึ่งเป็นธรรมชาติของพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ แต่ขัดแย้งกับการที่การข่มขืนส่วนใหญ่ ถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดในกลุ่มเดียวกันมากกว่าคนนอก

ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าสังคมปัจจุบันมีการนำมโนทัศน์ที่ตรงกันข้ามมาใช้ผิดที่ผิดทาง คือนำแนวคิด "การแข่งขัน" (Competition) ซึ่งควรใช้กับคนนอกกลุ่ม (เพราะเป็นวิธีคิดและวิธีการที่ต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ในทุกวิถีทาง) มาใช้กับครอบครัวและคนในกลุ่มเดียวกันแทนแนวคิด "การร่วมมือร่วมใจ" (Cooperation) ที่ทุกครอบครัวควรมีไว้เป็นพื้นฐานสำคัญ

เมื่อวิเคราะห์สาเหตุของการข่มขืนในโลกทัศน์ของผู้กระทำผิดทางเพศ พบว่า ผู้กระทำผิดทางเพศ ระบุว่าตนกระทำไปเพราะขาดความยับยั้งชั่งใจ เป็นการทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ และเมื่ออารมณ์สงบลงก็มักจะนึกเสียใจภายหลัง

สาเหตุอันดับรองลงมาระบุว่า กระทำผิดเนื่องจากไม่รู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตามนั้น กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด และมีโทษจำคุก โดยไม่ปรากฏว่าได้รับการศึกษาอบรมในเรื่องเกี่ยวกับโลก ชีวิต มรรยาทการเข้าสังคมพื้นฐาน ฯลฯ อื่นใด ผู้คนเหล่านี้จึงเรียนรู้แบบแผนพฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนๆในวงสุรา หน้าจอโทรทัศน์ และเรียนรู้พฤติกรรมทางเพศผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ลามก ที่ผู้กระทำผิดทางเพศส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.9) ระบุว่า "สมัยนี้หาสื่อลามกอ่าน/ชมได้ง่าย"

และประเด็นที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การที่ผู้กระทำผิดทางเพศและสังคมส่วนรวมคิดว่า "การติดคุก" เป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรม เนื่องจากกระบวนทัศน์เดิมที่ครอบงำความคิดผู้คนในสังคมว่า "อาชญากรรม คือ การกระทำผิดอันเป็นการล่วงละเมิดต่อรัฐ" ซึ่งที่จริงแล้ว "อาชญากรรม คือ การกระทำผิดระหว่างบุคคลต่อบุคคล" ด้วย ดังนั้นการติดคุกจึงเป็นโทษที่ต้องรับในฐานะกระทำผิดต่อรัฐ ขณะเดียวกันผู้กระทำผิดทางเพศก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการชดใช้ค่าเสียหาย แก่เหยื่ออาชญากรรมที่ตนประกอบขึ้นด้วยเช่นกัน แนวคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงดังกล่าว ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมถูกเบียดออกจากระบวนการยุติธรรม และไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลเยียวยาแต่อย่างใด

3 ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "เหยื่ออาชญากรรมทางเพศ"
เหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืน ส่วนใหญ่เป็นสาวแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี รองลงมาเป็นเด็กสาววัยรุ่น อายุระหว่าง 16-20 ปี อายุเฉลี่ย 16.79 ปี เด็กหญิงอายุน้อยที่สุดที่ถูกข่มขืน คือ เด็กหญิงอายุ 2 ปี และเหยื่อคดีข่มขืนที่อายุมากที่สุด คือ หญิงวัยกลางคนอายุ 43 ปี

โดยระดับอายุของเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนที่ได้รับความนิยมตกเป็นเหยื่อมากที่สุด คือ เด็กสาวอายุ 15 ปี ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มหญิงในวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ โดยที่เหยื่อกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นโสด มีท่าทีสองลักษณะคือ กลุ่มแรกเป็นคนเรียบร้อย โดยในวันเกิดเหตุแต่งกายใส่เสื้อกางเกงรัดกุม และรองลงมา กลุ่มที่สอง มีลักษณะใจแตกชอบสนุก ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือนุ่งสั้น ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา

ขณะที่กลุ่มเสี่ยงจากการวิจัยเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ของสุบรรณ์ พันธ์วิศวาส และคณะ (2528) มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยสามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบได้ดังนี้

การเปรียบเทียบลักษณะของเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนในบริบทสังคมไทย ในช่วงกาลเวลาที่แตกต่างกัน 16 ปี

ลักษณะของเหยื่ออาชญากรรมปี พ.ศ. 2528
อายุ: ส่วนใหญ่ระหว่าง 16-20 ปี, รองลงมามีอายุระหว่าง 11-15 ปี
ช่วงอายุที่พบว่าถูกข่มขืน: คือต่ำกว่า 3 ปี และสูงกว่า 80 ปี 2222222
อาชีพ: รับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัท

ลักษณะของเหยื่ออาชญากรรมปี พ.ศ. 2544
อายุ: ส่วนใหญ่ระหว่าง 11-15 ปี, รองลงมามีอายุระหว่าง 16-20 ปี
ช่วงอายุที่พบว่าถูกข่มขืน: คือ 2-43 ปี
อาชีพ: นักเรียนนักศึกษา (ร้อยละ48.4) รองลงมาอาชีพรับจ้างใช้แรงงาน

จากการเปรียบเทียบ พบข้อมูลที่แตกต่างกันซึ่งน่าสนใจ คือ กลุ่มอาชีพของเหยื่ออาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงจากกลุ่มหญิงสาว ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัท เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เป็นนักเรียนนักศึกษา และรองลงมาคือ กลุ่มอาชีพรับจ้างใช้แรงงาน

ขณะที่ในปัจจุบันกลุ่มหญิงที่เป็นพนักงานเสริฟ ร้านอาหาร/คลับ/บาร์ ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ มีเพียงร้อยละ 5.6 เท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มอาชีพของเหยื่ออาชญากรรมในสังคมเดิม ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม หลายประการ ดังนี้

ประการแรก กลุ่มอายุของเหยื่อการถูกข่มขืนมีลักษณะผันผวนเปลี่ยนแปลงสลับกันคือเด็กหญิงที่ถูกข่มขืนมีอายุน้อยลง คือเปลี่ยนจากกลุ่มสาววัยรุ่น อายุระหว่าง 16-20 ปี (จากข้อมูลเมื่อ 16 ปีที่แล้ว) มาเป็น กลุ่มเด็กสาวแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี ในปี 2544 แทน แสดงว่ากลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่นในปัจจุบัน เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนมากกว่าเมื่อยุคสมัย 16 ปีที่แล้ว

ประการที่สอง
แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 11-15 ปี ในสมัยศตวรรษที่ 21 ตอนต้นนี้ มีการศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น มีการออกนอกบ้านเพื่อศึกษาเล่าเรียนในระบบการศึกษาของรัฐอย่างแพร่หลาย และคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง คนรู้จัก ตลอดจนคนรักที่เป็นเพื่อนต่างเพศอย่างอิสระเสรี ซึ่งกลุ่มดังกล่าว กลับกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศมากยิ่งขึ้น

ขณะที่แต่เดิมนั้นเด็กผู้หญิงจะถูกปกป้อง ทะนุถนอมในการอบรมเลี้ยงดูมากกว่าปัจจุบัน ที่ต้องออกไปเผชิญสังคมโลกด้วยตนเองและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา ลองผิดลองถูกจากประสบการณ์ชีวิตจริงของตน เด็กสาวในสมัยก่อนจะรีบกลับบ้าน อยู่กับครอบครัวทันทีที่เลิกเรียน แต่สมัยนี้ เด็กสาวมีอิสระเสรีที่จะไปไหนมาไหนในช่วงยามวิกาล และในสถานที่อโคจรมากขึ้นทำให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศมากขึ้นเช่นกัน

ประการที่สาม ผู้กระทำผิดทางเพศมีการเปลี่ยนแปลงความสนใจในกลุ่มเป้าหมายจาก "กลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัท" ซึ่งเคยเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ในการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเมื่อครั้งอดีตมาเป็น "กลุ่มนักเรียนนักศึกษา"แทน ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเด็กดี อ่อนเยาว์ต่อโลก และบริสุทธิ์สดใส ดังที่ผู้กระทำผิดทางเพศได้แสดงทัศนะ ค่านิยมในเรื่องเพศของตน ว่า "การร่วมหลับนอนกับผู้หญิงดีๆช่วยให้ปลอดภัยจากเอดส์" (ร้อยละ 85.4) และ "ที่จริงแล้วผู้หญิงดีๆเท่านั้นที่ควรค่าแก่การหลับนอน" (ร้อยละ 79.5) รวมทั้งค่านิยมที่ว่า "การเปิดบริสุทธิ์เด็กสาวแรกรุ่นทำให้ดีต่อสุขภาพกาย-จิต" (ร้อยละ 28.2)

ส่วนกลุ่มหญิงที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และเป็นนักร้องนักแสดง ช่างเสริมสวย และพนักงานบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเดิมนั้น สามารถเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คลุกคลีอยู่กับวงการและอาชีพที่เกี่ยวกับสิ่งบันเทิงเริงรมย์ การที่จะตกเป็นเป้าหมายของการข่มขืน จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุปในชั้นนี้ได้ว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในคดีข่มขืนในสายตาของอาชญากรทางเพศ คือ กลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา

อนึ่ง ข้อมูลสำคัญประการหนึ่งที่พบจากการวิจัยครั้งนี้ซึ่งบ่งชี้ว่า "ภาพลักษณ์ของเหยื่อในสายตาของผู้กระทำผิดทางเพศ" ได้รับการจัดลำดับดังนี้ คือ

- "รูปร่างหน้าตา" อันดับแรก โดยพิจารณาจาก "หุ่นดี-ขาวอวบ-ขาสวย-หน้าอกใหญ่" ตามลำดับ
-"การแต่งกาย" เป็นอันดับที่สอง โดยพิจารณาจาก "นุ่งสั้น-รัดรูป-เสื้อ/ชุดบาง-สายเดี่ยว/เกาะอก" ตามลำดับ
-"การที่เหยื่อเปิดโอกาสให้" เป็นอันดับที่สาม โดยพิจารณาจากการที่ "ยอมติดตามไปด้วย-ใกล้ชิดสนิทสนม--เหยื่อมีอาการมึนเมา-ผ่านมาในที่เปลี่ยวตามลำพัง" ตามลำดับ

4 ว่าด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่
พบว่าเหตุข่มขืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้สว่าง คือ 02.01-06.00 น โดยการข่มขืนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในบ้านของผู้กระทำผิดทางเพศเอง บ้านญาติ และบ้านเพื่อน คนรู้จักตามลำดับ

5 ว่าด้วยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรมทางเพศ
จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาชญากรรมทางเพศคดีข่มขืนได้ ดังนี้

5.1 ปัจจัยเกี่ยวกับ "โอกาส" ในการกระทำผิด: โอกาสในการกระทำผิดคดีข่มขืน เกิดจากความประจวบเหมาะของสถานการณ์ 2 สถานการณ์ คือ
- การจ้องแสวงหาโอกาสของผู้กระทำผิดทางเพศ และ
- การทำตัวให้ตกอยู่ในอันตรายของเหยื่อเอง เช่น ติดตามไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนชาย แต่งกายยั่วยวน อันเป็นการเชื้อเชิญให้ท่า


5.2 ปัจจัยเกี่ยวกับการควบคุมตนเองของผู้กระทำผิด: พบว่าถึงแม้ในที่สุดแล้ว โอกาสจะเอื้ออำนวยให้เกิดการข่มขืน แต่การข่มขืนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้กระทำซึ่งมีอำนาจมากกว่าสามารถ "ควบคุม" จิตใจตนเองได้ โดยนึกถึงความยุ่งยากเดือดร้อนอันเป็นผลที่ตามมาภายหลัง หรือเพียงแต่นึกถึงความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าเหยื่อจะรู้สึกอย่างไรต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการแสดงพฤติกรรมไปตามความเคยชิน

5.3 ปัจจัยเกี่ยวกับ "อำนาจ" ที่อยู่เบื้องหลังผู้กระทำผิดทางเพศ: กล่าวได้ว่าผู้กระทำผิดทางเพศ มีอำนาจบางประการเหนือเหยื่ออาชญากรรม ได้แก่ อำนาจในฐานะผู้ปกครองของบ้าน เช่น บิดา พี่เขย ฯลฯ อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา อำนาจในฐานะที่มีพวก (จำนวนคน) มากกว่า และอำนาจในฐานะ ผู้ชายที่มีพละกำลัง ความแข็งแรงของร่างกายมากกว่า ซึ่งเป็นสัมพันธภาพที่เป็นต่อและเป็นรองโดยธรรมชาติ

5.4 ปัจจัยเกี่ยวกับการป้องกันตนเองของเหยื่อ: พบว่าเหยื่อที่ถูกข่มขืนมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมไทย ที่ไม่เคยเตรียมการไว้สำหรับการป้องกันตนเองจากการถูกข่มขืน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบ้านของตนเอง เช่น การเตรียมสเปรย์ไว้ใกล้มือที่สามารถหยิบใช้ได้ทันที เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้คุกคามที่มีกำลังมากกว่า หรือแม้แต่เตรียมอาวุธบางอย่างเพื่อป้องกันตนเอง

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศในคดีข่มขืนในสังคมไทยปัจจุบัน ในความเป็นจริงและในโลกทัศน์ของอาชญากรทางเพศ คือ กลุ่มเด็กหญิงแรกรุ่น อายุระหว่าง 11-15 ปี ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งอยู่บ้านเพื่อน คนรู้จัก ในช่วงเวลา 22.01-02.00 น. โดยผู้กระทำผิดทางเพศ สนใจเด็กผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดี แต่งกายล่อแหลม และไม่ระมัดระวังตัว


แสดงผลสรุปปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศของผู้หญิงไทย (พ.ศ. 2544)
ร้อยละ 78.1 เหยื่อถูกข่มขืนที่บ้านผู้ชายหรือบ้านเพื่อน
ร้อยละ 48.4 เหยื่อเป็นนักเรียน นักศึกษา
ร้อยละ 44.4 เหยื่อเป็นสาวแรกรุ่นอายุ 11-15 ปี
ร้อยละ 43.0 เหยื่อถูกข่มขืนโดยคนรู้จัก หรือ คนรัก
ร้อยละ 34.5 เกิดเหตุ ระหว่าง 22.01-02.00 น.

แสดงภาพพจน์เหยื่ออาชญากรรมในสายตาของอาชญากรทางเพศ
อันดับ 1. รูปร่างหน้าตาดี (หุ่นดี 64%) (ขาวอวบ 58.8%) (ขาสวย 53.2%) (หน้าอกใหญ่ 50%)
อันดับที่ 2. การแต่งกาย (นุ่งสั้น 68%) (รัดรูป 67.8%) (เสื้อ/ชุดบาง 65.3%) (สายเดี่ยว 57.9%)
อันดับที่ 3. เปิดโอกาสให้ (ยอมติดตามไป 39.4%) (ใกล้ชิดสนิทสนม 36.7%) (เหยื่อมึนเมา 34%) (ผ่านที่เปลี่ยวตามลำพัง 30.9%)

ข้อเสนอแนะ
เงื่อนไขทางสังคมกับมาตรการป้องกันภัยข่มขืน วิธีการป้องกันภัยข่มขืนสำหรับหญิงในสังคมนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการลดอัตราการถูกข่มขืน ซึ่งวิธีการลดอัตราการถูกข่มขืนที่สำคัญยิ่งวิธีหนึ่งคือ การทำความเข้าใจร่วมกันของผู้คนในสังคม เกี่ยวกับลักษณะทางสังคมวิทยาของการข่มขืน เมื่อเข้าใจแล้วจำเป็นต้องสร้าง "การกระทำร่วมกัน" เพื่อลดเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อ


การมีองค์กรภาคเอกชนหน่วยต่างๆโดยลำพังกระทำได้ไม่สมบูรณ์นัก เพราะศูนย์เหล่านี้ช่วยสอนให้หญิงป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อได้ดี แต่ไม่ได้ลดภาวะคุกคามในการข่มขืนลง แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้ช่วยสอนในเรื่อง "การป้องกัน" ได้ แต่ "การลงโทษ" ที่สถาบันซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการอยู่ ก็มิได้ส่งผลให้เกิดการข่มขู่ยับยั้งการกระทำผิดแต่อย่างใด ทั้งผู้ข่มขืนก็มิได้ได้รับการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรม ทั้งในและนอกระบบใดๆที่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า จะไม่หวนมากระทำผิดซ้ำอีก

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรื่องการลดอัตราการถูกข่มขืน ดังนั้นการมองปัญหาข่มขืน จึงควรมองในแง่การเมืองการปกครองและการบริหารจัดการสังคม เพราะเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทสำคัญที่กดขี่ สร้างภาพ ให้ผู้หญิงมีอำนาจการต่อรองน้อย และให้แรงเสริมต่อการที่ยกย่องกลุ่มอิทธิพลให้ชายเป็นใหญ่ในสังคม

การขัดเกลาทางสังคมควรมีการเปลี่ยนแปลง การที่สังคมสร้างภาพให้หญิงอ่อนแอ อ่อนไหว และไม่สามารถต่อกรกับภัยอันตรายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขัดเกลาตั้งแต่เด็กให้เชื่อตาม เมื่อเห็นความแตกต่างทางความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ และประทับตราไว้ในความทรงจำเช่นนั้น พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หญิงจึงไม่อาจทนทานต่อการถูกทำร้ายหรือทำให้บาดเจ็บได้มากนักเพราะไม่แข็งแรงและไม่มีกำลังอำนาจแบบชาย

เมื่อเข้าโรงเรียนและทำงานก็ถูกจัดระบบสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ทั้งในด้านพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์ความรู้สึก หญิงเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ต่ำต้อยกว่า อ่อนโยน ไม่แสดงการโต้แย้ง และยอมตาม จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างผู้ที่ถูกฝึกหัดเรียนรู้ที่จะก้าวร้าวฝ่ายหนึ่ง กับผู้ที่ฝึกหัดเรียนรู้ที่จะกล้าเพียงแค่สามารถแสดงสิทธิของตนอย่างเหมาะสม และก็เป็นไปตามที่สังคมต้องการ นั่นคือ

หญิงจำนวนมากที่คิดว่าตนเป็นเหยื่อที่อ่อนแอ ไร้กำลังอำนาจในการต่อสู้ ยอมรับสภาพและภาพลักษณ์ที่ถูกหล่อหลอมมาทั้งชีวิตอย่างสิ้นเชิง ซึ่งต้องฝึกหัดหญิงให้รู้จักการมองโลกในมุมอื่นที่แตกต่างออกไป รวมถึงเรียนรู้ที่จะรวมพลังแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน เห็นว่าหญิงอื่นเป็นเพื่อนของตนที่ให้ความช่วยเหลือกันได้ เลิกการอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง และที่สำคัญหญิงสาวทุกคนจะต้องตระหนักไว้เสมอว่าตนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืนได้ตลอดเวลา การถูกข่มขืนมิใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับหญิงเสเพลเท่านั้น

การข่มขืนโดยนัยที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นปัญหาทางรัฐศาสตร์ ในด้านการบริหารสังคม และวัฒนธรรมแห่งชาติ มิใช่เป็นเพียงปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาทางสุขภาพจิต และเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อ "ความเป็นหญิง" ในตัวตนของเราทุกคน ดังนั้น การข่มขืนจึงมิใช่เป็นเพียงปัญหาของผู้หญิง แต่เป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. 2537 นโยบายและแผนงานหลักสตรีระยะยาว (พ.ศ. 2535-2554). สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี.

คามินี ตะวันฉาย เรียบเรียงจาก "Why do men rape ?". Rape in Malaysia. สตรีทัศน์ . ปีที่ 11 ฉบับที่ 35 กรกฎาคม - ตุลาคม 2538 .

จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. 2541. ทิศทางการวางแผนกำลังคมเพื่อรองรับการอำนวยความยุติธรรมในทศวรรษหน้า. รายงานการวิจัยของกระทรวงยุติธรรม.

จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย 2542 ครอบครัวของเด็กและเยาวชนกระทำผิด: จำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ ในกรุงเทพมหานคร. รายงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพ: จามจุรีปริ้นติ้ง.

สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. "ตัวแปรด้านวัฒนธรรมทางเพศจะวัดกันที่ไหนบ้าง". จดหมายข่าวงานวิจัยทางสังคมศาสตร์. ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2537.

ไชยยศ เหมะรัชตะ และคณะ 2526 ปัญหาสังคมที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของชาวกรุงเทพมหานคร. รายงานผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาประสิทธิภาพทางวิชาการ.

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. "อำนาจ ชาตินิยม และการคุกคามทางเพศ" หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2542.

บุญสาย เชิดเกียรติกุล "น.พ.ข่มขืนกระทำชำเรา". วารสารอัยการ ปีที่ 3 (มีนาคม 2523) หน้า61-65.

ปริญญา จิตรการนทีกิจ. 2534. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและอนาจาร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม.

พรชัย ขันตี และคณะ. 2543. ทฤษฎีและงานวิจัยทางอาชญาวิทยา. กรุงเทพฯ: บุ๊คเน็ท.

มนตรี สินทวิชัย "พ่อข่มขืนลูก! อาชญากรรม 'ชอบธรรม' ในครอบครัว?", หนังสือพิมพ์มติชน 1 เมษายน 2540.

ยุพา คลังสุวรรณ, หทัยรัตน์ ทรรพวสุ และมณีรัตน์ ไพโรจน์ไชยกุล. "เอ็นโจ โคไซ : การให้บริการทางเพศของเด็กวัยแรกรุ่น". ญี่ปุ่นศึกษา. ฉบับที่ 2 2539

วิภา ปลั่งศรีกุล. 2539. บทบาทของพนักงานสอบสวนหญิงในการสอบสวนคดีข่มขืนกระทำชำเรา: ศึกษาเฉพาะกรณีทัศนะของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุชีลา ตันชัยนันท์. 2535. ข่มขืนปัญหาความรุนแรงทางเพศ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผลึก.

สุบรรณ์ พันธ์วิศวาส และคณะ. "สถานการณ์อาชญากรรมทางเพศด้านการข่มขืนในประเทศไทย" วารสารอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม. ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม 2528.

อรรณพ ชูบำรุง. 2539. อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา. นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

อรพินท์ สพโชคชัย. ประเด็นสำคัญและข้อควรรู้เกี่ยวกับการล่วงเกินทางเพศ (Sexual Harassment). เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการเวทีความคิดเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย เรื่อง กระบวนการยุติธรรมกับการรุนแรงที่เกิดแก่ผู้หญิง. จัดโดยสถาบันกฎหมายอาญา ร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น วันที่ 17 กันยายน 2542 ณ โรงแรมเดอะแกรนด์.

Bryjak, George J. and Soroka, Michael P. 1994. Sociology: Cultural Diversity in a Changing World. Second Edition. Boston: Allyn and Bacon.

Clinard, Marshall. 1958. Sociology of Deviant Behavior, New York: Rinehart and Company.

Dobash, R.E., & Dobash, R.P. 1979. Violence against Wives. New York: The Free Press.

Eitzen, D.Stanley. and Zinn, Maxine Baca. 2000. Social Problem. Massachusetts: Allyn and Bacon.

Goode, Erich. 1990. Deviant Behavior, New Jersey: Prentice-Hall, Inc.

Hester, Marianne, Kelly, Liz and Radford, Jill. 1996. Woman, Violence and Male Power: Feminist Activism, Research and Practice. Buckingham Philadelphia: Open University Press.

JD., and Faison, R. 1988. "Sex Role Attitude Change and Reporting of Rape Victimization", Sociological Quarterly 29. 589-604.

Jeffery, C. Ray. 1990. Criminology an Interdisciplinary Approach, New Jersey: Prentice-Hall, Inc.

Jeffery, R. 1971. Crime Prevention through Environmental Design. Beverly Hill, Ca: Sage.Orcutt.

Julian, Joseph. & Kornblum, William. 4th. Edition, Social Problems. New Jersey: Prentice-Hall Inc. Englewood Cliffs. 1983.

Regoli, Robert M. and Hewitt, John D. 2000. Delinquency in Society, New York:
McGraw-Hill, Inc.

Schmalleger, Frank. 1996. Criminology for Today, New Jersey: Prentice-Hall, Inc.

Scott, M. Barbara. and Schwartz, Marry Ann. 2000. Sociology. Massachusetts: Allyn and Bacon.

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง"ผู้หญิงไทยกับภัยอาชญากรรมทางเพศ" โดย จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การถูกข่มขืนในทุกสังคม แม้แต่ในสังคมอเมริกันที่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นการกระทำที่ยอมรับได้ก็ยังเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียหาย และสังคมไม่อาจปล่อยให้ใครๆ มาล่วงละเมิดทางเพศต่อกันได้ง่ายเกินไป ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสภาพความเชื่อของสังคมไทย ที่นิยมให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว และครองตนให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะแต่งงานนั้น หากผู้หญิงถูกข่มขืนย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเสียหายร้ายแรงมากยิ่งขึ้น

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ประเด็นที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การที่ผู้กระทำผิดทางเพศและสังคมส่วนรวมคิดว่า "การติดคุก" เป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรม เนื่องจากกระบวนทัศน์เดิมที่ครอบงำความคิดผู้คนในสังคมว่า "อาชญากรรม คือ การกระทำผิดอันเป็นการล่วงละเมิดต่อรัฐ" ซึ่งที่จริงแล้ว "อาชญากรรม คือ การกระทำผิดระหว่างบุคคลต่อบุคคล" ด้วย ดังนั้นการติดคุกจึงเป็นโทษที่ต้องรับในฐานะกระทำผิดต่อรัฐ ขณะเดียวกันผู้กระทำผิดทางเพศก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการชดใช้ค่าเสียหาย แก่เหยื่ออาชญากรรมที่ตนประกอบขึ้นด้วยเช่นกัน แนวคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงดังกล่าว ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมถูกเบียดออกจากระบวนการยุติธรรม และไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลเยียวยา

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ