ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
040248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 519 หัวเรื่อง
การสร้างอุดมการณ์ความเป็นแม่
บุศกร กาศมณี
นักศึกษาปริญญาโท สตรีศึกษา
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

สตรีศึกษาเชิงเปรียบเทียบ
การประกอบสร้างอุดมการณ์ความเป็นแม่
บุษกร กาศมณี
นักศึกษาปริญญาโทสาขาสตรีศึกษา รหัส ๔๖๒๔๐๒๑
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


หมายเหตุ: บทความวิชาการชิ้นนี้ เดิมชื่อ
อุดมการณ์ความเป็นแม่:
การศึกษาเปรียบเทียบการประกอบสร้างอุดมการณ์ความเป็นแม่
จาก หนังสือ Mrs. Beeton's Book of Household Management
และการสร้างความเป็นแม่ที่ปรากฏในนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)

 


เกริ่นนำ
"ผู้หญิง" และ "แม่" เป็นมโนทัศน์ที่ถูกนำมาผูกเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น เมื่อพูดถึง "เพศหญิง" คนจำนวนมากจะนึกถึง "เพศแม่" ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะไม่ว่าใครก็ล้วนมีแม่เป็น "ผู้หญิง" และเมื่อพูดถึง "แม่" ภาพตัวแทนที่เรานึกถึงก็มักจะเป็นภาพของผู้หญิงที่ใจดี เอื้ออาทร มีความรักให้ลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมจะเสียสละและทำทุกอย่างเพื่อความสุขของลูก

ผู้หญิงที่คลอดลูกทิ้งไว้ตามสะพานลอยหรือในถังขยะจึงเป็นภาพที่น่ารังเกียจและไม่พึงปรารถนา ทั้ง ๆ ที่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว หากศึกษาให้ลึกลงไป "ความเป็นแม่" อาจจะใช่หรือไม่ใช่แบบที่เราเข้าใจกันก็ได้ แต่กลับไม่เคยมีใครตั้งคำถาม ทุกคนมีภาพของ "แม่" ในอุดมคติในจินตนาการอยู่แล้ว ซึ่งถ้าจะว่าไป ภาพที่คนส่วนใหญ่มีต่อ "แม่" ก็คือผู้หญิงแบบที่กล่าวถึงข้างต้น

ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะศึกษา "ความเป็นแม่"ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ ซึ่งตามสมมติฐานของผู้เขียน-เกิดขึ้นจากการประกอบสร้างทางสังคม โดยในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนจะเปรียบเทียบการสร้าง "ความเป็นแม่" ในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะในสมัยพระราชินีวิกตอเรีย โดยจะศึกษาจากหนังสือชื่อ Mrs. Beeton's Book of Household Management ในบทที่ว่าด้วยการดูแลทารกและเด็ก (Rearing Infants and Children) โดยเปรียบเทียบกับการสร้างภาพลักษณ์ของ "ความเป็นแม่" ให้กับผู้หญิง "ไทย" ในนโยบายการสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อดูความคล้ายคลึงระหว่างการสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงในประเทศไทยและการสร้างความเป็นแม่ในสมัยวิกตอเรีย

การเปรียบเทียบ
เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกหนังสือ Mrs. Beeton's Book of Household Management มาเป็นวัตถุในการศึกษา
เนื่องจากในขณะที่หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่าน (ยอดจำหน่ายสูงถึง 60,000 เล่ม ในปี ค.ศ. 1861 ซึ่งเป็นปีแรกที่พิมพ์และ เกือบ 2,000,000 เล่ม ในปี 1868) หนังสือเล่มนี้ได้แฝงไว้ด้วยค่านิยมแบบวิกตอเรีย (Victorian Values) ที่มีประเด็นชนชั้น บทบาทและความสัมพันธ์ทางเพศสภาพ อัตลักษณ์ของท้องถิ่นและชาติ รวมทั้งลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย ( Humble: 2000)

และสำหรับการเลือกวิเคราะห์ภาพลักษณ์ "ความเป็นแม่" ของผู้หญิง "ไทย" ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น เพราะว่าเป็นช่วงที่นโยบายของรัฐกำหนดชัดเจนว่าคน "ไทย" ที่ประกอบด้วยคนสองเพศสภาพควรจะทำอะไรหรือเป็นอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็น "ชาติไทย" ขึ้นมา

อนึ่ง เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเวลา ผู้เขียนตระหนักว่า วัตถุในการศึกษาทั้งสองไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน (หนังสือเริ่มตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1861 และนโยบายออกมาในช่วงปี พ.ศ. 2481-2487 หรือ ค.ศ. 1938-1942) แต่เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าวัตถุในการศึกษาทั้งสอง มีความเด่นชัดมากในประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นแม่ ผู้เขียนจึงนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อศึกษาความคล้ายคลึงและความแตกต่าง

ทั้งนี้ ในการศึกษา ผู้เขียนจะใช้การสำรวจเอกสาร ซึ่งมีทั้งเอกสารชั้นต้น อันได้แก่ หนังสือ Mrs. Beeton's Book of Household Management และเอกสารชั้นรอง อันได้แก่ วิทยานิพนธ์ หนังสือ หรือบทความต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยในการเปรียบเทียบนั้น จะพิจารณาดูเนื้อหาที่หนังสือและตัวนโยบายนำเสนอ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความเป็นแม่หรือไม่อย่างไร รวมทั้งบริบทของสังคมและยุคสมัยที่หนังสือและนโยบายออกมาด้วย

การนำเสนอในรายงานฉบับนี้
ในส่วนแรก ผู้เขียนจะสำรวจมโนทัศน์ "ความเป็นแม่" ในความเห็นของนักสตรีนิยมต่างๆ อย่างกว้างๆ และ

ในส่วนที่สอง
จะเสนอการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นแม่ในสมัยวิกตอเรียที่แสดงผ่านหนังสือของ Mrs. Beeton's ก่อนที่จะพูดถึงการสร้างให้ "ความเป็นแม่" เป็นอัตลักษณ์ของผู้หญิงในนโยบายของจอมพล ป.

ในส่วนที่สาม และในส่วนสุดท้าย
ซึ่งเป็นบทสรุป ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์เปรียบเทียบการสร้าง "ความเป็นแม่" ในสองประเทศนี้ เพื่อดูว่ามีความเหมือนและ/หรือความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

1. ความเป็นแม่ (Motherhood)
คำว่า "แม่" และวาทกรรมเกี่ยวกับการเป็นแม่ เป็นหัวข้อสำคัญและเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันในหมู่นักสตรีนิยม ไม่ว่าจะในประเด็นของคำจำกัดความ (definition) หรือคุณค่า (Value) ก็ตาม (Humm: 1995: 179) คำถามอย่างเช่น "แม่คืออะไร? การเป็นแม่คืออะไร?"(1) เป็นคำถามสำคัญพอ ๆ กับคำถามที่ว่า "ความเป็นแม่เป็นประสบการณ์ หรือ เป็นสถาบัน?"(2) (Hirsch: 1989: 163) ทั้งนี้ ความเป็นแม่ได้รับความสนใจและกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงในงานศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงในช่วงปีทศวรรษ 1970s และนักสตรีนิยมหลาย ๆ คนได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกันไป

สำหรับนักสตรีนิยมบางคน อย่างเช่น Simone de Beauvoir และ Shulamith Firestone มองว่า ในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ควรกำจัดความเป็นแม่แบบที่เป็นอยู่เสีย ในขณะที่นักสตรีนิยมคนอื่น ๆ กลับมองว่า ความเป็นแม่ไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเอง แต่ปัญหาอยู่ที่การที่สังคมทำให้ความเป็นแม่กลายเป็นสถาบัน (Humm อ้างแล้ว)

หรือ นักสตรีนิยมสายสุดขั้ว (Radical Feminists) ก็เห็นว่า ความเป็นแม่นั้น เป็นทั้งแหล่งแห่งคุณค่าพิเศษ ลักษณะเฉพาะและพื้นฐานของวัฒนธรรมของผู้หญิง และในขณะเดียวกันระบบปิตาธิปไตยก็ทำให้ความเป็นแม่กลายเป็นสถาบัน ซึ่งเป็นการกดขี่ผู้หญิงในอีกรูปแบบหนึ่ง

ในแง่นี้ Adrienne Rich ได้กล่าวถึง "ความเป็นแม่" ไว้ในหนังสือชื่อ Of Woman Born โดยแบ่งแยกออกเป็น 2 แบบ คือ "ความเป็นแม่" ในฐานะที่เป็น

1) "ความสัมพันธ์ที่อาจเป็นไปได้ที่ผู้หญิงคนใดก็ตามมีต่ออำนาจในการเจริญพันธุ์และต่อลูก"(3) และ
2) "สถาบันซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความมั่นใจว่า ความเป็นไปได้นั้น-รวมทั้งผู้หญิงทุกคน-อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย"(4)
(Rich 1976 อ้างใน Tong 1989: 87)

ทั้งนี้ แม้ว่าประเด็นถกเถียงในเรื่องความเป็นแม่นี้จะแตกต่างกันออกไปตามแนวคิดของนักสตรีนิยมแต่ละสาย แต่อาจพูดได้ว่านักสตรีนิยมเกือบทั้งหมดเห็นว่า ความเป็นแม่ ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางชีววิทยาที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องอุ้มท้อง ดูแลตัวอ่อนเท่านั้น แต่ความเป็นแม่ยังมีส่วนที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยสังคมอีกด้วย ดังเช่นงานของ Margaret Mead ที่ศึกษาพบว่าพฤติกรรม ทัศนคติและความรู้สึกที่สังคมแต่ละแห่ง กำหนดให้และคาดหวังจากความเป็นแม่นั้นแตกต่างกันออกไปตามสภาพสังคม (Mead 1949 อ้างใน Humm อ้างแล้ว หน้า 179)

นอกจากนี้ Ann Oakley ยังได้แสดงให้เห็นว่า "สัญชาตญาณ" (instinct) ของความเป็นแม่นั้น "ถูกชักนำโดยสังคม" (culturally induced) และความสามารถในการเป็นแม่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ โดย Oakley ใช้งานศึกษาคุณแม่มือใหม่มาสนับสนุนข้อถกเถียงนี้ โดยงานชิ้นหนึ่งแสดงว่า ในผู้หญิง 150 คนมีจำนวนน้อยมากที่รู้วิธีการให้นมลูก และคนที่มีความรู้นี้ก็ได้มาจากการเห็นแม่หรือญาติให้นมลูก

นอกจากนี้ ยังมีงานที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ทำร้ายหรือทอดทิ้งลูกเคยเป็นเด็กที่ถูกทำร้ายหรือทอดทิ้งมาก่อน การที่ไม่เคยเห็นผู้หญิงคนอื่นเลี้ยงดูลูกอย่างถูก ต้องทำให้ผู้หญิงพวกนี้ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงลูกอย่างพอเพียง กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเป็นแม่แต่ถูกทำให้เป็นแม่ (Oakley 1974 อ้างใน Tong อ้างแล้ว หน้า 85)

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสนอความคิดในเรื่องความเป็นแม่ในแง่มุมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก ตัวอย่างเช่น Marianne Hirsch ที่ได้พูดไว้ในบทนำของหนังสือชื่อ The Mother / Daughter Plot ไว้ว่า ความเป็นแม่เป็นมโนทัศน์ที่เกิดขึ้นมาคู่ขนานกับแนวคิดเรื่องความเป็นเด็ก (Childhood) โดยเธอกล่าวว่า ความเป็นแม่ในฐานะอุดมการณ์ของความเป็นผู้หญิงนี้ เชื่อมโยงกับความเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 เมื่อภาพตัวแทนของความอ่อนแอและความต้องการการเลี้ยงดูของเด็กถูกเน้นและให้ความสำคัญมากขึ้น ความเป็นแม่ยิ่งกลายเป็นบทบาท "ตามสัญชาตญาณ" และ "โดยธรรมชาติ" เป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และเป็นการฝึกฝนด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นแม่ยังเชื่อมโยงกับประเด็นชนชั้นอีกด้วย เนื่องจากในยุคนั้นระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู ทำให้เกิดการแยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากพื้นที่สาธารณะ และมีการให้ความหมายและผูกผู้หญิงเข้ากับพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ความเป็นแม่เท่ากับเป็นการยกระดับผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ให้อยู่ในตำแหน่งที่มีสถานภาพส่วนตัวสูงขึ้น ในขณะที่อำนาจทางสังคมลดลง ความเป็นแม่กลายเป็นพลังในการดำรงไว้ซึ่งค่านิยมแบบเก่า อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญของอุดมการณ์ความเป็นแม่กลับไม่ได้อยู่ที่ตัวแม่ แต่อยู่ที่ตัวเด็กที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบางและอ่อนแอ ซึ่งต้องการความเอาใจใส่อย่างมาก (Hirsch อ้างแล้ว 13-15)

สำหรับนักสตรีนิยมสายเสรี (Liberal Feminists) ปัญหาของความเป็นแม่คือการที่มันเป็นบทบาทที่ถูกสร้างขึ้นและถูกแทรกแซงโดยสังคม ส่วนนักสตรีนิยมสายสังคมนิยมนั้นมองว่า ความเป็นแม่เป็นปัญหาเพราะว่า มันเกิดขึ้นในบริบทของอำนาจทางเศรษฐกิจแบบชาย (male economic power)

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นด้วยกับ Adrienne Rich ในการแบ่งแยกความเป็นแม่ออกเป็นความเป็นแม่ตามสัญชาตญาณ และความเป็นแม่ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ที่ถูกประกอบสร้างโดยสังคม ในรายงานฉบับนี้ ผู้เขียนจะมุ่งการสำรวจและวิเคราะห์ไปที่ความเป็นแม่ในแบบหลัง เพื่อดูว่าการประกอบสร้างความเป็นแม่ผ่านหนังสือ Mrs. Beeton และนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

2. Mrs. Beeton กับ ความเป็นแม่ในอุดมคติในสมัยวิกตอเรีย

I have always thought that there is no more fruitful source of family discontent than a housewife's badly-cooked dinners and untidy ways. Men are now so well served out of doors,- at their clubs, well-orders taverns, and dining houses, that in order to compete with the attractions of these places, a mistress must be thoroughly acquainted with the theory and practice of cookery, as well as be perfectly conversant with all the other arts of making and keeping a comfort home.
Mrs. Beeton's Book of Household Management, Preface


ในสมัยวิกตอเรีย (1837-1901) ผู้หญิงอังกฤษโดยเฉพาะชนชั้นกลางและชั้นสูงถูกให้ความหมายผ่านพื้นที่ส่วนตัว (ในบ้าน) โดยต้นแบบของพวกเธอคือ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นหญิงที่มีศูนย์กลางคือครอบครัว นอกจากนี้ ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้การแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะชัดเจนขึ้น รวมทั้งการกำหนดบทบาททางเพศสภาพของผู้หญิงและผู้ชายด้วย

ผู้ชายถูกผูกเข้ากับพื้นที่สาธารณะเช่นในเรื่องการทำธุรกิจ การเมือง และวงสังคม ในขณะที่ผู้หญิงถูกผูกอยู่กับบ้านและการดูแลสุขภาพ เมื่อคุณค่าของผู้หญิงคือพื้นที่ในบ้านเท่านั้น ความเป็นเมียและความเป็นแม่ จึงเท่ากับเป็นอุดมคติของผู้หญิงในยุคนั้น

หนังสือ Mrs. Beeton's Book of Household Management เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1861 และคงยังได้รับความนิยมเป็นเวลากว่า 50 ปี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ Isabella Beeton (1836-1865) ผู้หญิงที่เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง แต่งงานกับ Sam Beeton เจ้าของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้เธอไม่ได้เป็นเพียงแม่บ้านธรรมดาเท่านั้น แต่ยังเป็นคนเขียนคอลัมน์เกี่ยวกันแฟชั่นและเสื้อผ้าให้กับนิตยสาร Englishwoman's Domestic Magazine อีกด้วย

และเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือ Mrs. Beeton's Book of Household Management ก็มาจากการรวบรวมจากข้อเขียนในคอลัมน์ดังกล่าวนี้ ซึ่งมีทั้งที่เป็นจดหมายที่ผู้อ่านส่งเข้ามา และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในทางกฎหมายและการแพทย์ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย ส่วนที่ว่าด้วยการเป็นคุณผู้หญิงที่ดีของบ้าน การดูแลและจัดการบ้านและครัว สูตรอาหาร คนรับใช้ การดูแลและจัดการทารกและเด็ก รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับโรคในทารกและเด็ก ความรู้เกี่ยวกับหมอ และข้อกฎหมาย ทั้งหมดนี้ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงเป็นมากกว่าสูตรอาหารธรรมดา ๆ แต่เป็น "คู่มือ" ที่แนะนำการเป็นแม่บ้านที่ดี และการดูแลให้บ้านเป็นสถานที่น่าอยู่สำหรับผู้ชาย (Abrams: online)

แม้ว่าการแต่งงานจะถือว่าเป็นแสดงถึงการเติบโตเต็มที่ และความน่านับถือของผู้หญิงวิคตอเรีย แต่ความเป็นแม่จะเป็นข้อยืนยันว่า ผู้หญิงคนนั้นได้เข้าสู่โลกแห่งความสำเร็จและคุณธรรมแบบผู้หญิง. ในยุคนี้ความเป็นแม่ถูกสร้างให้เป็นอุดมการณ์สูงสุดของผู้หญิง ที่จะช่วยเติมเต็มทั้งในด้านของอารมณ์และจิตวิญญาณ ดังนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นแม่ ซึ่งรวมเอาทั้งผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานและผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไม่สามารถมีลูกได้ จึงกลายเป็น "คนอื่น" นั่นคือ เป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์ ล้มเหลว หรือแม้กระทั่งผิดปกติ (Abram เพิ่งอ้าง)

เมื่อความเป็นแม่และลูกๆ ของเธอเป็นหัวใจของชีวิตในครัวเรือนของผู้หญิง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือของ Mrs. Beeton จะพูดถึงการเป็นแม่ที่ดีไว้ในบทที่ว่าด้วยการเลี้ยง การจัดการและความรู้เกี่ยวกับโรคในทารกและเด็ก โดยเนื้อหาของบทนี้ประกอบไปด้วยเรื่องของสรีรศาสตร์ของเด็ก อย่างเช่นการหายใจและการย่อยอาหาร ทารกและการให้นม การแต่งตัว อาหาร โรคภัยไข้เจ็บ และการรักษา (Beeton: 1861: 478-521) ทั้งนี้ ตามที่ Mrs. Beeton กล่าวไว้ในบทนำ ผู้ที่เขียนเนื้อหาในบทนี้คือแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

บทนำของบทนี้พิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความคิดที่คน (แพทย์ / ผู้ชาย) มีต่อความเป็นแม่ แม่ที่ดีจากมุมมองของผู้เขียนบทนี้ ไม่ได้เกิดจาก "สัญชาตญาณ" เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการเรียนรู้ การได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ และความช่วยเหลือจากพยาบาล (Beeton เพิ่งอ้าง) และจากการศึกษาเนื้อหาของบทนี้ทั้งหมด พบว่า การเป็นแม่ของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ต้องอาศัยการเสียสละทุ่มเททั้งพลังงานและเวลาอย่างมาก ในขณะเดียวกัน เราจะพบว่าในการเรียนรู้เรื่องการเป็นแม่นั้น จุดเน้นอยู่ที่ตัวเด็กหรือลูก(5) ส่วนความเป็นแม่ในตัวของมันเองนั้นไม่ได้มีความหมายใด ๆ เลย

ตัวอย่างที่แม่ที่ดีควรปฏิบัติ ได้แก่

- ในการให้นมลูก
"เมื่อธรรมชาติมอบหน้าอกแม่ให้เป็นแหล่งอาหารแก่ลูก ๆ เป็นที่ชัดเจนสำหรับผู้หญิงที่รู้จักคิดทั้งหลายว่า เป็นหน้าที่ของพวกเธอในการเรียนรู้...เพื่อที่จะรักษาแหล่งของสารอาหารให้อยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์ และอุดมสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ เพราะเธอจะต้องจดจำไว้ว่าปริมาณไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงคุณภาพของอาหารเลย" (Beeton เพิ่งอ้าง หน้า 489 - 490)

"ในขณะที่ผู้หญิงเข้าใจว่าตนสามารถกินอาหารอะไรก็ได้ เธอควรจะใช้ชีวิตในช่วงให้นมบุตรเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ แต่โดยกฎทั่วไปแล้ว เราจำเป็นต้องแนะนำแม่ทุกคนให้งดเว้นของดอง ผลไม้ แตงกวา และอาหารที่เป็นกรดและย่อยยาก นอกเสียจากว่าพวกเธอจะอยากได้ลูกที่ร้องไห้ตลอดทั้งคืน" (Beeton เพิ่งอ้าง หน้า 492)

เราสามารถสรุป "สาร" ที่บทนี้ต้องการบอกได้ดังนี้

1. ความเป็นแม่กับวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าบทนี้เขียนโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ (ซึ่งน่าจะเป็นผู้ชาย) เนื้อหาทั้งหมดจึงเป็นการแนะนำการเลี้ยงดูและจัดการกับเด็กโดยวิธีการที่ค่อนข้างสมัยใหม่ แม่ที่ดีในมุมมองแบบนี้จึงไม่ใช่แม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามมีตามเกิด แต่ต้องมีความรู้ที่ "เชื่อถือได้"และ "เป็นวิทยาศาสตร์" ที่ได้รับมาจากผู้รู้ ซึ่งได้แก่ความรู้เกี่ยวกับสรีระของมนุษย์ (6) เช่น ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร เป็นต้น

2. ความเป็นแม่กับชนชั้นทางเศรษฐกิจ
กลุ่มเป้าหมายหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงในชนชั้นกลาง ในบทนี้มีการกล่าวถึงชนชั้นอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ข้อความที่ว่า "มีผู้กล่าวไว้เป็นกลาง ๆ ว่า...ลูกของคนจนนั้นไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมา (brought up) แต่ถูกปล่อยให้โตขึ้นมา (dragged up)" (Beeton เพิ่งอ้าง หน้า 479) สำหรับแม่ในชนชั้นกลางนั้นมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากพอที่จะจ้างพยาบาลหรือแม่นมมาช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูกได้(7) รวมทั้งยังสามารถจัดหาอาหารประเภทต่างๆ ซึ่งรวมถึงอาหารกระป๋องให้กับลูกน้อยของตนได้ (8)
3. ความเป็นแม่ในนโยบายการสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในงานชื่อ สถานะสตรีศึกษา : ชาตินิยมในสตรีศึกษาไทย รายงานความล้มเหลวในการทบทวนเอกสารสตรีศึกษาภาษาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2542 พริศรา แซ่ก้วย เสนอว่า ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายจัดระเบียบเพศสภาพในสังคมไทยที่ชัดเจนมาก (พริศรา 2544 หน้า 1) และมีอิทธิพลอยู่จนถึงทุกวันนี้ การศึกษานโยบายดังกล่าวในยุคนี้จึงน่าสนใจ เพราะจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า การประกอบสร้างความเป็นแม่โดยรัฐนั้นมีลักษณะเช่นไร


ก่อนหน้าสมัยจอมพล ป. มีความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงในฐานะแม่อยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น ความพยายามของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของผู้หญิงไว้ โดยเน้นภาพลักษณ์ของผู้หญิงในฐานะ แม่ แม่สามี และภรรยา (สายชล 2546 หน้า 270) โดยในส่วนของความเป็นแม่นั้น พระองค์ทรงอ้างบาลีว่า "มารดาเป็นครูคนแรกของบุตรและธิดา ตามความหมายว่าบุตรธิดาเติบใหญ่ขึ้นจะดีหรือจะชั่ว มารดาย่อมมีส่วนรับผิดชอบว่าเลี้ยงลูกดีหรือไม่ดี ความรับผิดชอบข้อนี้เป็นสามัญแก่ผู้เป็นมารดาทั่วไป" (สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรง อ้างใน สายชล เพิ่งอ้าง หน้า 253)

อย่างไรก็ตาม วารุณี ภูริสินสิทธิ์ เสนอว่าในอดีตความเป็นผู้หญิงที่ดีถูกผูกไว้กับความเป็นเมียมากกว่าความเป็นแม่ จากการศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านพบว่า พ่อมีส่วนในการเลี้ยงลูกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนชั้นสามัญ ตัวอย่างเช่น เพลงกล่อมเด็กของล้านนาที่ว่า

นอนเหียลูกเหย หลับตาอ้วยส้วย
ไผมาขายกล้วย ป้อจะซื้อหื้อกิ๋น
แม่เจ้าไปไฮ่ เปิ้นจะหมกไข่มาหา
แม่เจ้าไปนา เปิ้นจะหมกป๋ามาต้อน
แม่เจ้ามาเถิง จึงค่อยตื่นกิ๋นนม
(ศิริรัตน์ อ้างใน วารุณี 2543 หน้า 146)

ทั้งนี้ วารุณีมองว่า การเลี้ยงลูกในอดีตไม่ใช่เรื่องของแม่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในหมู่คนสามัญเป็นเรื่องของญาติพี่น้องและคนในชุมชนช่วยกันเลี้ยง ในขณะที่ชนชั้นสูงอาจจะมีคนเลี้ยงเด็กให้ ทำให้ความเป็นแม่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เช่นเดียวกับพริศรา วารุณีมองว่า ความเป็นแม่พึ่งจะถูกมาเน้นย้ำให้ความสำคัญในสมัยของจอมพล ป. นี่เอง (วารุณี เพิ่งอ้าง หน้า145-146)

นโยบายสร้างชาติในสมัยของจอมพล ป. นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของ "ชาติไทย" ขึ้นมา ซึ่งย่อมหมายถึงการสร้างอัตลักษณ์ของคนในชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ชายและผู้หญิง ในส่วนของผู้หญิงนั้น มีหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงแบบ"ไทย"อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ผู้หญิงถูกปรับเปลี่ยนบทบาทบางด้าน เช่น ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อย ได้รับโอกาสในการแข่งขันรับทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการเชิดชูผู้หญิงด้วยการแต่งเพลงต่าง ๆ เช่น เพลงที่ใช้ในการรำวงมาตรฐาน อย่างเพลงดอกไม้ของชาติ เป็นต้น (ดูเพิ่มเติม นันทิรา 2530)

อย่างไรก็ตาม แม้จะส่งเสริมผู้หญิงในการออกมาสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ในขณะเดียวกัน นโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. ก็ไม่ได้มีมุมมองด้านเพศสภาพของหญิงกับชายแตกต่างไปจากเดิมมากนัก ทั้งยังชัดเจนกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำในการแบ่งแยกบทบาทของหญิงและชาย ตัวอย่างง่าย ๆ ได้แก่การแต่งกาย ชื่อ หน้าที่สามีและหน้าที่ของภรรยา เป็นต้น

สำหรับความเป็นแม่นั้น รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้ค่อนข้างมาก มีการเสนอว่าผู้หญิงมีส่วนในการสร้างชาติด้วยการเป็นแม่ที่ดีของลูก "การสร้างชาติก็คงสำเหร็ดไม่ได้...เพราะหยิงเป็นแม่ เมื่อมีลูก ลูกก็ย่อมเป็นไปตามแม่...หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งที่ว่าหยิงเป็นแม่พิมพ์ในการสร้างชาติ" (จอมพล ป. อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 107-108)

การมีลูกเป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของผู้หญิงต่อประเทศชาติ เห็นได้จากข้อความที่ว่า "...พูดถึงภรรยาที่ที่กดหมายรับรองบังเกิดมีอุปสัก ไม่มีลูกหรือไม่ได้ ซึ่งจะเรียกกันตรง ๆ ว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาติเลย" (ศักดิ์ อ้างในนันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 248 -ตัวดำเน้นโดยผู้เขียน) นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกนั้นเป็นของผู้หญิง "ทางฝ่ายชายเป็นผู้หารายได้มาให้ ทางฝ่ายหญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูก" (จอมพล ป. อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 104-ตัวดำเน้นโดยผู้เขียน)

อนึ่ง นโยบายส่งเสริมความเป็นแม่ของผู้หญิงที่เห็นได้ชัดมาก ๆ คือ การส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และการอนามัยครอบครัว เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. มีนโยบายในการส่งเสริมอนามัยของประชาชน และการเพิ่มจำนวนประชากรของชาติในด้านปริมาณและคุณภาพ การอนามัยแม่และเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริม ดังนั้น ผู้หญิงจะต้อง "รู้จักรักษาบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี เพื่อสามารถที่จะเป็นแม่พันธุ์ที่ดี" (จอมพล ป. อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 68-ตัวดำเน้นโดยผู้เขียน)

ในส่วนของอนามัยแม่และเด็กนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ

1. การปรับปรุงกิจการอนามัยแม่และเด็ก
- ปี พ.ศ. 2482 ได้จัดตั้งโรงเรียนทางผดุงครรภ์ชั้น 2 ขึ้นที่วชิรพยาบาล เพื่อรับสมัครผู้หญิงอายุระหว่าง 19-30 ปี ที่มีพื้นความรู้ประถมปีที่ 4 เข้ารับการอบรมหลักสูตร 1 ปี โดยกรมสาธารณสุขเป็นผู้ให้ทุน มีนักเรียนเข้าอบรม 80 คน โดยนักเรียนที่ผ่านการอบรมแล้วต้องออกไปปฏิบัติงานยังภูมิลำเนาเดิม ในส่วนภูมิภาคประจำอยู่ที่สุขศาลา หรือสำนักงานผดุงครรภ์ที่ทางการจัดตั้งขึ้น โดยมีสุขศาลาเปิดใหม่ทั้งสิ้น 42 แห่ง และสถานพยาบาล 9 แห่ง (จอมพล ป. อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า 191)

นอกจากนี้ กรมสาธารณสุขยังได้รวมเอากิจการสงเคราะห์แม่และเด็ก และจัดตั้งเป็น "แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก" ขึ้นในปีนี้ด้วย (กระทรวงสาธารณสุข อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า191-192)


- ปี พ.ศ. 2485 จัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น โดยรวมเอากิจการแพทย์และการสาธารณสุขที่เคยกระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ และได้ยกฐานะ "แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก" เป็น "กองสงเคราะห์แม่และเด็ก" ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ

1. แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก
2. แผนกสงเคราะห์เด็กก่อนวัยศึกษา
3. แผนกหน่วยสงเคราะห์แม่และเด็กเคลื่อนที่
(พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมสาธารณสุข อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้า192)

การขยายตัวของกิจการเกี่ยวกับแม่และเด็กส่งผลให้เกิดการจัดหลักสูตรวิชาต่าง ๆ เพื่ออบรมบุคลากรขึ้นมารองรับการขยายตัวดังกล่าวอันได้แก่ วิชาพยาบาลตรี วิชาสารวัตรสุขาภิบาล และวิชานางสงเคราะห์ เป็นต้น ฯ (ประกาศกรมสาธารณสุข อ้างใน นันทิรา เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน) ทั้งนี้ ได้มีการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน โดยจัดอบรมหมอตำแย จัดนางสงเคราะห์ หมอตำแย และแพทย์เพื่อออกไปให้คำแนะนำแก่หญิงมีครรภ์เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ฯลฯ

2. การจัดงานวันแม่แห่งชาติ
เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. มีนโยบายในการสร้างชาติด้วยการเพิ่มจำนวนประชากร จึงได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงในฐานะแม่มากขึ้น และวิธีหนึ่งในการยกย่องเชิดชูการทำหน้าที่ "ความเป็นแม่" ของผู้หญิง ได้แก่ การจัดงาน "วันแม่แห่งชาติ" ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่อนามัยของแม่และเด็ก งานนี้เริ่มจัดครั้งแรกที่สวนอัมพร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2486 ซึ่งเป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข และต่อมาก็ได้ขยายไปจัดตามจังหวัดต่าง ๆ ในภูมิภาค

กิจกรรมที่เกิดขึ้นในงานวันแม่ได้แก่ การประกวดแม่สุขภาพดี การประกวดแม่ลูกมาก ประกวดแม่จูงลูก เป็นต้น(9) นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิพิธภัณฑ์การสงเคราะห์แม่และเด็กและการแจกเอกสารต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการอนามัยแม่และเด็กแผนใหม่ให้แก่ประชาชน(10)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า "ความเป็นแม่" มีความสำคัญมากเพียงใดต่อการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ ในมุมมองของรัฐบาลในยุคนั้น และนั่นทำให้ผู้หญิงในสังคมไทยถูกให้ความหมาย รวมทั้งนิยามตนเองผ่านความเป็นแม่ นอกเหนือไปจากความเป็นเมียที่มีมานานแล้ว ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นแม่ ถือว่าไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อชาติเลย "...พูดถึงภรรยาที่ที่กดหมายรับรองบังเกิดมีอุปสัก ไม่มีลูกหรือไม่ได้ ซึ่งจะเรียกกันตรง ๆ ว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาติเลย" ในขณะที่ผู้หญิงที่สามารถบรรลุภารกิจนี้ได้ จะได้รับสวัสดิการ ทรัพยากร หรือแม้กระทั่งการนับถือจากสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (ตัวอย่างเช่น การให้รางวัลผู้หญิงที่เป็นแม่ในกิจกรรมงานวันแม่)

ความเป็นแม่ที่ดีในสายตาของรัฐนั้น ผู้หญิงจะต้องมีความสามารถใน "การผลิต" ประชากรให้แก่ประเทศชาติ ทั้งในแง่ของปริมาณ (แม่ที่ดีคือแม่ที่มีลูกมาก)(11) และในแง่ของคุณภาพ ซึ่งหมายความว่า แม่ที่ดีไม่ใช่แม่ที่เลี้ยงลูกอย่างตามมีตามเกิด แต่ต้องเป็นแม่ที่ได้รับความรู้ทางการสาธารณสุขสมัยใหม่(12) ทั้งนี้ ความรู้ในการดูแลสุขภาพและการเลี้ยงดูลูกนั้น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เป้าหมายของมันในท้ายที่สุดแล้ว คือ ตัวลูก ซึ่งจะกลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพของชาติต่อไปในอนาคต ผู้เป็นแม่นั้นมีความสำคัญเพียงในฐานะของผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูอนุบาลลูกเท่านั้น นโยบายเชิดชูผู้หญิงในฐานะแม่ จึงไม่ใช่การมุ่งพัฒนาผู้หญิงในฐานะปัจเจกชนแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณานโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงของรัฐบาลจอมพล ป. ทั้งหมด จะเห็นว่า แม้รัฐบาลนี้จะเห็นความสำคัญกับผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น กล่าวคือ "รู้จักแสวงหาความรู้และรู้จักประกอบอาชีพการงาน เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอีกแรงหนึ่ง" (จอมพล ป. อ้างใน นันทิรา อ้างแล้ว หน้า 68) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นออกจากการผูกติดอยู่กับหน้าที่ในพื้นที่ส่วนตัว นั่นคือเป็นเมียและแม่ โดยอย่างหลังนี้ถูกเน้นความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า นโยบายพัฒนาผู้หญิงของรัฐบาลจอมพล ป. เป็นนโยบายที่ส่งเสริมบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงตามแบบดั้งเดิม ในนามของการพัฒนาสตรีเท่านั้นเอง

4. เปรียบเทียบ Mr. Beeton และนโยบายของจอมพล ป.
หากใช้หนังสือของ Mrs.Beeton และ นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงของรัฐบาลจอมพล ป. เป็นตัวแทนของความพยายาม หรือในอีกนัยหนึ่งคือเป็นเครื่องมือที่มีส่วนในการประกอบสร้าง และตอกย้ำอุดมการณ์ความเป็นแม่ให้กับผู้หญิง เมื่อนำทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1) บริบททางสังคม
a. หนังสือ Mrs.Beeton
อยู่ในสมัยวิคตอเรีย ซึ่งบริบททางสังคมในสมัยนั้นที่น่าสนใจได้แก่

- ความเฟื่องฟูของวิทยาศาสตร์ ศตวรรษที่ 18 และ 19 เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์อันเป็น "ศาสตร์แห่งเหตุและผล" มีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบคิด การมองโลก รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คน หนังสือของ Mrs.Beeton เองก็ได้รับอิทธิพลจากระบบคิดแบบใหม่นี้เช่นกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของสีรรศาสตร์ การอธิบายธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์ หรือสารอาหาร เป็นต้น

- การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ผลพวงของความเฟื่องฟูของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1760 โดยประเทศที่เป็นผู้นำในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะขยายตัวไปยังส่วนต่าง ๆ ของยุโรป (ธีรยุทธ 2546)

การปฏิวัตินี้เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตจากการเกษตรเป็นการอุตสาหกรรม การผลิตโดยแรงงานคนเป็นการใช้เครื่องจักรทุ่นแรง
ในหนังสือของ Mrs.Beeton ได้รับอิทธิพลของเครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่ อย่างเช่นในบทที่ว่าด้วย The arrangement and economy of the kitchen มีการพูดถึงเครื่องครัว เช่น เตาทำอาหารสมัยใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้

ในหนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงผลิตภัณฑ์อาหารจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยน้ำเสียงในเชิงบวก เช่นคำแนะนำเกี่ยวกับซอสบรรจุขวด เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิด (conception) ของหนังสือเล่มนี้ยังมีลักษณะในเชิงอุตสาหกรรมอย่างมาก โดยเนื้อหาทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในหนังสือ ล้วนแล้วแต่เป็นคำแนะนำในการจัดการดูแลบ้านเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด วิธีการที่ใช้ก็เป็นวิทยาการแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ การทำงานอย่างเป็นขั้นตอนและระเบียบแบบแผน การจัดแยกประเภทของสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น (Humble อ้างแล้ว หน้า xviii)

b. นโยบายจอมพล ป.
บริบทของสังคมไทยในสมัยจอมพล ป. นั้น ได้แก่

- ยุคสมัยแห่งการทำประเทศให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization) แม้ว่าความพยายามในการสร้างประเทศให้มีความเป็นสมัยใหม่และมีอารยธรรม จะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนต้นรัตนโกสินทร์แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. ความพยายามดังกล่าวนี้ดูจะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น โดยในสมัยนี้ได้มีความพยายามในการสร้างความเป็น "ชาตินิยม"ขึ้นมา โดยปัจจัยภายนอกที่เร่งเร้าคือ สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งสงครามอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เป็นพวงมาจากสงครามโลกในครั้งนั้น

รัฐบาลสมัยนั้นพยายามดิ้นรนรักษาเอกราชไว้โดยการสร้างอุดมการณ์ "ชาตินิยม"ขึ้นมา โดยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น (Terwiel: 1991: 134) ทั้งนี้ ในด้านของวัฒนธรรมนั้น นายกรัฐมนตรีคือจอมพล ป. ซึ่งมีคู่คิดคือหลวงวิจิตรวาทการ ได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ของชาติขึ้น นอกเหนือจากการเปลี่ยนชื่อประเทศ ประดิษฐ์เพลงชาติและธงชาติไทยแล้ว ในแง่ของวัฒนธรรม ยังได้ยกเลิกขนบเก่า ๆ และแทนที่ด้วยวัฒนธรรมแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย รูปแบบการใช้ชีวิต ชื่อ นามสกุล ฯลฯ (Sivaraksa : 1991: 41-57)

- วาทกรรมแบบวิทยาศาสตร์ เมื่อประเทศไทยในยุคนั้นเปิดรับ "ความเป็นสมัยใหม่" จากภายนอก โดยเฉพาะตะวันตก แน่นอนว่าย่อมทำให้เกิดการนำเข้ามาซึ่งแนวความคิดแบบวิทยาศาสตร์ด้วย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรวมถึงแนวคิดในเรื่องต่าง ๆ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การศึกษาในเรื่องการสาธารณสุข ที่ได้รับอิทธิพลจากแพทย์แผนตะวันตกค่อนข้างมาก ดังเช่น ในข้อควรปฏิบัติสำหรับหญิงมีครรภ์ กล่าวไว้ว่า "การระวังปติบัติตนในระหว่างตั้งครรภ จำเป็นต้องกะทำไห้ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์ ซึ่งได้ค้นคว้าและเคยปติบัติกันมาแล้วได้ผลดี จนนำความปลอดภัยมาให้เด็กและแม่มากที่สุด" (13)

2) การประกอบสร้างความเป็นแม่
a. หนังสือ Mrs.Beeton
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแม่ที่ดีที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้เกี่ยวกับการเตรียมอาหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ความรู้เกี่ยวกับสารอาหารชนิดต่าง ๆ การใช้เครื่องมือแบบสมัยใหม่ รวมทั้งความรู้ด้านสุขภาพ แม่ที่ดีจึงไม่ใช่แม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามมีตามเกิด แต่ในการเลี้ยงดูและจัดการกับเด็ก แม่จะต้องมีความรู้ที่ "เชื่อถือได้"และ "เป็นวิทยาศาสตร์" ที่ได้รับมาจากผู้รู้ ทั้งนี้ ความรู้เหล่านี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวลูก แม่ในยุคนั้นจะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (หากทำได้) ต้องเล่นและให้ความรู้กับลูก (Abrams อ้างแล้ว) และยังต้องรู้จักสรีระของตัวลูก เช่นระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร และโรคในเด็ก (Beeton อ้างแล้ว)

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างลูกให้เติบโตเป็นประชากรที่ดีมีคุณภาพต่อไป และเมื่อลูกเกิดเสียชีวิตขึ้นมา ความรับผิดชอบก็จะตกเป็นของแม่แต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะถ้าแม่คนนั้นเป็นผู้หญิงยากจนในชนชั้นแรงงานจะถูกมองว่า การตายของลูกเกิดการการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกวิธี (อย่างที่ชนชั้นกลางปฏิบัติ) ทั้งที่ในความเป็นจริง สาเหตุการตายดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมด้านสุขอนามัย และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของผู้หญิงยากจนก็เป็นได้ (Abrams อ้างแล้ว)

b. นโยบายจอมพล ป.
นโยบายเกี่ยวกับแม่ของจอมพล ป. พยายามให้ความหมายผู้หญิงโดยผ่านความเป็นแม่ ทั้งนี้ เช่นเดียวกับหนังสือของ Mrs.Beeton แม่ที่ดีในนิยามของรัฐนั้นจะต้องมีความรู้ "ที่ถูกต้อง" ในการเลี้ยงลูก ซึ่งความรู้ในที่นี้คือการยอมรับเอาวาทกรรมของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์สุขภาพมาใช้ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น นอกจากนี้ สำหรับรัฐ ผู้หญิงที่ดีนั้นจะต้องมีความสามารถ ในการผลิตประชากรที่มีคุณภาพและปริมาณให้กับประเทศชาติ ในแง่นี้ สมการที่ได้จากมุมมองดังกล่าวก็คือ ผู้หญิง = แม่พันธุ์ นั่นเอง

3) ประเด็นชนชั้น
a. หนังสือ Mrs.Beeton
การขยายตัวของชนชั้นกลางอันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นอีกลักษณะหนึ่งของสังคมในยุคที่ Mrs.Beeton ออกหนังสือเล่มนี้ โดยกลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็คือผู้หญิงชนชั้นกลาง ที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจพอสมควรที่จะไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่มีเวลาเหลือเฟือที่จะดูแลบ้านและลูก รวมทั้งสามารถจ้างคนรับใช้หรือพยาบาลเลี้ยงเด็กได้อีกด้วย ผู้หญิงชนชั้นทำงานที่ยากจนคงไม่สามารถนำวิธีการต่าง ๆ ในหนังสือไปปฏิบัติตามได้ ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็น "คู่มือผู้หญิงดี" สำหรับชนชั้นกลางหรือสูงกว่าเท่านั้น

b. นโยบายจอมพล ป.
ในนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงของจอมพล ป. นั้น แม้ว่าจะไม่เห็นประเด็นทางชนชั้น ชัดเจนในวาทกรรมความเป็นแม่ แต่เมื่อพิจาณาในส่วนอื่น ๆ เช่น "คำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หยิงของสำนักวัธนธัมฝ่ายหยิง" ที่ให้ผู้หญิงในเรื่องของการแต่งกายที่เน้นให้ผู้หญิงต้องสวมหมวกและสวมถุงมือก่อนออกจากบ้าน นั่นพอจะทำให้เห็นได้บ้างว่าผู้หญิงที่เป็นเป้าหมายน่าจะเป็นผู้หญิงที่มีฐานะดีพอควร ที่จะสามารถหาเครื่องกายตามแบบอย่างนั้นได้ ส่วนผู้หญิงยากจน หรือผู้หญิงในชนบทคงไม่สามารถกระทำตามได้

4) ที่มาและวิธีการในการประกอบสร้าง
a. หนังสือ Mrs.Beeton
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ Mrs.Beeton ซึ่งเป็นปัจเจกชนคนหนึ่งเท่านั้น แต่การออกหนังสือดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการเผยแพร่ข้อมูลออกไปสู่มวลชน และข้อมูลดังกล่าวนั้นก็เป็นทั้งตัวสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะความคิด การมองโลกและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนซึ่งถูกกำหนดโดยรัฐ ในที่นี้กล่าวถึงอุดมการณ์ความเป็นแม่ และในขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำอุดมการณ์ดังกล่าว ในส่วนของวิธีการ หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็น "คู่มือ" ที่ให้คำแนะนำ -หรือชี้นำ-ให้ผู้อ่านปฏิบัติตาม

b. นโยบายจอมพล ป.
ผู้ออกนโยบายที่มีลักษณะเป็นการประกอบสร้างอุดมการณ์ความเป็นแม่ในที่นี้ได้แก่รัฐ ซึ่งเมื่อเป็นนโยบายก็ย่อมมีผลในการบังคับใช้กับทุกคนในประเทศ แม้ว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะไม่ได้รับโทษทางกฎหมายก็ตาม แต่การลงโทษก็คือจะไม่ได้รับผลประโยชน์ที่รัฐให้เป็นรางวัล ซึ่งได้แก่ สวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น ในส่วนของวิธีการนั้น ส่วนใหญ่จะใช้การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ปฏิบัติตาม เช่น การเผยแพร่เอกสาร "ความรู้เกี่ยวกับแม่ๆ ลูกๆ" (ภาคผนวก 1) ยังมีการจัดพิมพ์ภาพและคำประพันธ์เรื่อง "วัธนธัมการเลี้ยงเด็ก" ออกมาด้วย (14)


สรุป
การศึกษาเปรียบเทียบหนังสือ Mrs. Beeton's Book of Household Management และนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงของจอมพล ป. ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ซึ่งในที่นี้คือภาพตัวแทนของมุมมองที่มีต่อผู้หญิง ในสมัยวิกตอเรียในประเทศอังกฤษ หรือนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงของประเทศไทยก็ตาม ทั้งสองล้วนแล้วแต่มีทัศนะต่อผู้หญิงเหมือนกัน นั่นคือ

นิยามผู้หญิงจากความเป็นเมียและความเป็นแม่ ผู้หญิงที่ดีจะต้องมีความสามารถในการดูแลบ้านช่อง ดูแลลูก เป็นกำลังใจให้สามีในการประกอบอาชีพ มีความร่าเริง รู้จักแต่งกายให้ทันสมัย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า ภาระหน้าที่ของผู้หญิงนั้นหนักหนาเพียงใด

ในส่วนของความเป็นแม่นั้น ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ความเป็นแม่ที่สะท้อนออกมาในงานทั้งสองชิ้น เป็นแม่ตามแบบที่สังคมแบบชายเป็นใหญ่ต้องการ นั่นคือ เป็นผู้ผลิตและเลี้ยงดูประชากรที่มีคุณภาพ แม่ที่ดีจะต้องมีความรู้ในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ตะวันตก ความเป็นแม่แบบนี้มีเป้าหมายคือ การสร้างประชากรที่มีคุณภาพให้กับสังคม ในขณะที่ผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องมือในการไปสู่เป้าหมายเท่านั้น

ความเป็นแม่ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ทั้งผู้หญิงวิคตอเรียและผู้หญิงตามนโยบายของจอมพล ป. ยังคงมีอิทธิพลมาจนปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของความเป็นแม่ในสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่แตกต่างไปจากเดิมเท่าไรนัก และดูเหมือนว่า แม่สมัยใหม่จะต้องรับภาระมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ผู้หญิงต้องรับภาระในการรักษาไว้ซึ่งค่านิยมแบบเดิม นั่นคือผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีหน้าที่เลี้ยงลูก ในขณะเดียวกัน สังคมปัจจุบันก็คาดหวังให้ผู้หญิงต้องพัฒนาตนเองด้วยการออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น แม่สมัยใหม่ในอุดมคติเป็นผู้หญิงที่ต้องเก่งทั้งนอกบ้านและในบ้าน ในขณะเดียวกันต้องดูแลตนเองให้ "ดูดี"

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือและนิตยสารที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก (เช่นนิตยสารแม่และเด็ก รักลูก ฯลฯ) และที่เกี่ยวกับการดูแลตนเองของแม่ (เช่นคอลัมน์ที่ว่าด้วยวิธีกลับมาสวยได้ในเร็ววัน) จะมีอยู่เป็นจำนวนมากในร้านหนังสือ นี่ทำให้เราเห็นว่า อุดมการณ์ความเป็นแม่ทรงพลังเพียงใด เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ผู้หญิงก็ยังคงถูกนิยามผ่านความเป็นแม่อยู่เสมอมา

เชิงอรรถ
1. "What is mother? What is maternal?"
2. Is motherhood "experience" or "institution"?
3. "the potential relationship of any woman to her powers of reproduction and to children"
4. "the institution which aims at ensuring that that potential - and all women - shall remain under male control"
5. We see elaborate care bestowed on a family of children, everything studied that can tend to their personal comfort…(Beeton อ้างแล้ว หน้า 479)

6. The human body, materially considered, is a beautiful piece of mechanism, consisting of many parts, each one being the centre of a system, and performing its own vital function irrespectively of the others, and yet dependent for its vitality upon the harmony and health of the whole. (Beeton อ้างแล้ว หน้า 479)
7. We must strenuously warn all mothers on no account to allow the nurse to sleep with the baby… (Beeton อ้างแล้ว หน้า 488 )
8. Thus, should illness assail her, her milk fail, or any domestic cause abruptly cut off the natural supply, the child having been annealed to an artificial diet… (Beeton อ้างแล้ว หน้า 495 )
9. ดูภาพที่ 1 ประกอบ
10. ดูภาคผนวก 1

11. ดูภาพที่ 1 ประกอบ
12. ดูภาคผนวก 1
13. ดูภาคผนวก 1
14. ดูภาคผนวก 2 และ 3

เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
ธีรยุทธ บุญมี 2546 โลก Modern & Postmodern. กรุงเทพฯ : สายธาร, พิมพ์ครั้งที่ 2


นันทิรา ขำภิบาล 2530 นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. วิทยานิพนธ์ปริญญาโทเสนอต่อคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พริศรา แซ่ก้วย 2544 สถานะสตรีศึกษา : ชาตินิยมในสตรีศึกษาไทย รายงานความล้มเหลวในการทบทวนเอกสารสตรีศึกษาภาษาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2522 - 2542. ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ธนบรรณการพิมพ์.

วารุณี ภูริสินสิทธิ์ 2543 "ความเป็นหญิงในสังคมไทย." ใน ชูศักดิ์ วิทยาภัค (บก.), สังคมศาสตร์. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : 134 - 160.

สายชล สัตยานุรักษ์ 2546 สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน : 265 - 288.

ภาษาอังกฤษ
Abrams, Lynn, "Victorian Women". online
http:// www.bbc.co.uk/history/society-culture/women/launch_gms_victorian_women.shtm.

Beeton, Isabella, 1861 Mrs. Beeton's Book of Household Management. Abridged Edition. New York: Oxford University Press.

Humble, Nicola, 2000 Introduction in Isabella Beeton, Mrs. Beeton's Book of Household Management. Abridged Edition. New York: Oxford University Press: vii - xxxvii.

Hirsch, Marianne, 1989 The Mother / Daughter Plot: Narrative, Psychoanalysis, Feminism. Bloomington and Indianapolis: Indiana University Press: 14-15, 163.

Humm, Maggie, 1995 The Dictionary of Feminist Theory. Second Edition. Hertfordshire: Prentice Hall/ Harvester Wheatsheaf: 179-180.

Sivaraksa, Sulak,
1991 "The Crisis of Siamese Identity" in Craig J. Reynolds(ed.), National Identity and its Defenders : Thailand 1939-1989. Chiang Mai :Silkworm Book : 41-58.


Terwiel, B.J. 1991 "Thai Nationalism and Identity: Popular Themes of the 1930s" in Craig J. Reynolds(ed.), National Identity and its Defenders : Thailand 1939-1989. Chiang Mai :Silkworm Book : 133-156.

Tong, Rosemarie, 1969 Feminist Thought : A Comprehensive Introduction. Colorado : Westview Press: 71-94.

 

ในการให้นมลูก
"เมื่อธรรมชาติมอบหน้าอกแม่ให้เป็นแหล่งอาหารแก่ลูก ๆ เป็นที่ชัดเจนสำหรับผู้หญิงที่รู้จักคิดทั้งหลายว่า
เป็นหน้าที่ของพวกเธอในการเรียนรู้...เพื่อที่จะรักษาแหล่งของสารอาหารให้อยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์ และอุดมสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้
เพราะเธอจะต้องจดจำไว้ว่าปริมาณไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงคุณภาพของอาหารเลย"

"ในขณะที่ผู้หญิงเข้าใจว่าตนสามารถกินอาหารอะไรก็ได้ เธอควรจะใช้ชีวิตในช่วงให้นมบุตรเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ แต่โดยกฎทั่วไปแล้ว เราจำเป็นต้องแนะนำแม่ทุกคนให้งดเว้นของดอง ผลไม้ แตงกวา และอาหารที่เป็นกรดและย่อยยาก
นอกเสียจากว่าพวกเธอจะอยากได้ลูกที่ร้องไห้ตลอดทั้งคืน"
(Beeton หน้า 492)




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการเรื่อง "การประกอบสร้างอุดมการณ์ความเป็นแม่" เขียนโดย บุศกร
กาศมณี : นักศึกษาปริญญาโทสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัส
๔๖๒๔๐๒๑

Marianne Hirsch ที่ได้พูดไว้ในบทนำของหนังสือชื่อ The Mother / Daughter Plot ไว้ว่า ความเป็นแม่เป็นมโนทัศน์ที่เกิดขึ้นมาคู่ขนานกับแนวคิดเรื่องความเป็นเด็ก (Childhood) โดยเธอกล่าวว่า ความเป็นแม่ในฐานะอุดมการณ์ของความเป็นผู้หญิงนี้ เชื่อมโยงกับความเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 เมื่อภาพตัวแทนของความอ่อนแอและความต้องการการเลี้ยงดูของเด็กถูกเน้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

แม้ว่าการแต่งงานจะถือว่าเป็นแสดงถึงการเติบโตเต็มที่ และความน่านับถือของผู้หญิงวิคตอเรีย แต่ความเป็นแม่จะเป็นข้อยืนยันว่า ผู้หญิงคนนั้นได้เข้าสู่โลกแห่งความสำเร็จและคุณธรรม. ในยุคนี้ความเป็นแม่ถูกสร้างให้เป็นอุดมการณ์สูงสุดของผู้หญิง ที่จะช่วยเติมเต็มทั้งในด้านของอารมณ์และจิตวิญญาณ ดังนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นแม่ ซึ่งรวมเอาทั้งผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานและผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไม่สามารถมีลูกได้ จึงกลายเป็น "คนอื่น" นั่นคือ เป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์ ล้มเหลว หรือแม้กระทั่งผิดปกติ. เมื่อความเป็นแม่และลูกๆ ของเธอเป็นหัวใจของชีวิตในครัวเรือนของผู้หญิง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือของ Mrs. Beeton จะพูดถึงการเป็นแม่ที่ดีไว้ในบทที่ว่าด้วยการเลี้ยง การจัดการและความรู้

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
R