บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 492 หัวเรื่อง
ปาฐกถาวันทวงคืนรัฐธรรมนูญ
และประชาธิปไตย
อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์
นักวิชาการสังคมอาวุโส
The Midnight 's Speech
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ถ้อยแถลง ๑๐ ธันวาคม
๒๕๔๗
ปาฐกถานำ
วันทวงคืนรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
อาจารย์
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
นักวิชาการสังคมอาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ:
สุนทรกถา
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๗ ณ ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
7 หน้ากระดาษ A4)
การที่ผู้แทนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแสดงความเคารพต่อท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในวันอันเป็นมงคลเช่นนี้ ไม่แต่มหาวิทยาลัยนี้ หากสาธุชนคนทั้งหลายย่อมได้รับอุดมมงคลร่วมด้วย เพราะการบูชาบุคคลที่ควรบูชานั้น ถือได้ว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง
วันที่ ๑๘ มกราคม ที่จะถึงนี้ ก็จะครบศตวรรษชาตกาลของอาจารย์ดิเรก ชัยนาม ซึ่งจะถือว่าเป็นมือขวาของอาจารย์ปรีดีก็ว่า ในด้านประชาธิปไตย ดังท่านได้เป็นคณบดีคนแรกของคณะนิติศาสตร์ด้วย อยากทราบว่าจะมีการบูชาคุณความดีของท่านกันที่มหาวิทยาลัยนี้หรือไม่
ยังนาวาง เคช็อก ศิลปินเอกของธิเบต ก็มีแก่ใจมาแสดงดนตรี ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ นี่ก็เป็นนิมิตหมายอันสำคัญ เพราะชาวธิเบตภายใต้การนำขององค์ทะไลลามะ ได้ใช้สัจจะและสันติวิธีต่อสู้ตลอดมา เพื่อความอยู่รอดของประชาชาติธิเบต ซึ่งอยู่กันบนหลังคาโลกของเรา ถ้าธิเบตได้กลายเป็นดินแดนแห่งสันติภาพ อย่างมีธรรมชาติแวดล้อมอยู่อย่างเหมาะสม ประชาราษฎรปราศจากการกดขี่ข่มเหง โดยปราศจากภัยพิบัติ นั่นจะเป็นตัวอย่างในทางธรรมิกประชาธิปไตย ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ และจะร่วมปกปักรักษาหลังคาโลกไว้ให้ส่วนอื่นของโลกเป็นไปได้ด้วยดี
อนึ่ง เมื่อเรามองไปที่จีนกับธิเบตนั้น เราควรย้อนเอามาเปรียบเทียบกับเราหรือชนชั้นปกครองในภาคกลางกับปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วย เพื่อเป็นอนุสติ ดัง Melvyn Goldstein ได้เขียนไว้ในเรื่อง A Tibetan Revolutionary ว่า
ปัญหาของธิเบตกับจีนนั้น ไม่ใช่เรื่องของการขัดกันทางความคิดและคุณค่า ไม่ใช่พลังทางความเจริญก้าวหน้า ต่อสู้กับลัทธิศาสนาหรือประเพณีนิยมอย่างเก่าแก่ แท้ที่จริง นี่เป็นเรื่องขัดกันในทางการเมืองของชนชาติที่เป็นใหญ่ ซึ่งเรียกตัวเองว่าฮั่น กับชนชาติส่วนน้อยที่ถูกเอาเปรียบ คือชาวธิเบต
โดยสาระแล้ว ข้อขัดแย้งอยู่ที่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีน ควรเป็นประชาชาติเช่นไร และควรจะเป็นเช่นไร สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศว่า ประชาชาติจีนประกอบไปด้วยชนชาติต่างๆ เชื้อชาติต่างๆ และเผ่าชนต่างๆ ซึ่งมีสิทธิและอำนาจอันเท่าเทียมกันหมด แต่ตามความจริงนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีระบบการปกครองที่ยกย่องเพียงชาวฮั่น ให้เป็นใหญ่เหนือชนชาติอื่นๆ ทั้งหมด
ถ้าเราเปลี่ยนคำว่าฮั่นให้เป็นไทย อย่างที่มีปรากฏในเพลงชาติว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย แล้วไซร้ เราจะแก้ปัญหาให้คนมลายูในภาคใต้ไม่ได้เอาเลย
พุทธศาสนาของธิเบต แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นธิเบต ให้เห็นว่านั่นคือความหมายทางวัฒนธรรมของเขา และวิถีชีวิตของเขา ซึ่งเป็นสาระทางอัตลักษณ์ของชนชาติเขา เขาถือว่านี่แลที่ทำให้สังคมเขาเป็นสังคมพิเศษ อย่างไม่อาจเปรียบเทียบได้กับสังคมใด
ถ้าเราเปลี่ยนคำว่าพุทธศาสนาของธิเบต มาเป็นอิสลามของชาวมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ เราก็น่าจะเข้าใจอะไรๆ ได้ดี อย่างมีความเคารพภูมิปัญญาของพี่น้องของเรา ซึ่งต่างเชื้อชาติ และต่างศาสนา หากอยู่ร่วมกับเราได้ภายในราชอาณาจักร ที่ควรให้สิทธิและศักดิ์ศรีสำหรับทุกๆ คน อย่างเสมอกัน อันเป็นเนื้อหาสาระของประชาธิไตย
พร้อมกันนี้ ก็ขอประกาศให้ทราบว่า ท่านพระภิกษุสัมดอง รินโปเจ นายกรัฐมนตรีรัฐบาลพลัดถิ่นของธิเบตนอกประเทศ จะมาแสดงปาฐกถาเสม พริ้งพวงแก้วครั้งที่ ๑๑ ที่เรือนร้อยฉนำ เฉลิม ศิวรักษ์ สวนเงินมีมา ถนนเจริญนคร ณ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๘ แต่ ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป ในเรื่อง พุทธศาสนากับประชาธิปไตย ทั้งในแง่ของทฤษฎีและทางภาคปฏิบัติ ดังที่รัฐบาลธิเบตทดลองกระทำอยู่ที่ธรรมศาลา ในประเทศอินเดียในบัดนี้ ใครที่สนใจ เชิญไปร่วมรายการได้ ณ วันเวลาและสถานที่ดังกล่าว
สำหรับข้าพเจ้าเองนั้นก็ถือว่าเป็นอุดมมงคลที่ได้รับเชิญให้มาวางพวงมาลาที่หน้าอนุสาวรีย์ของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งเป็นต้นตอที่มาของประชาธิปไตยไทย และรัฐธรรมนูญของไทยอย่างแท้จริง
ที่เราไม่ไปวางพวงมาลาที่หน้ารัฐสภาไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นการสมควร เพราะสภาที่ปราศจากสัตบุรุษ พุทธาทิบัณฑิตไม่ถือว่าเป็นสภา แม้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะมีสัตบุรุษอยู่บ้าง หากเป็นจำนวนน้อยเกินไป มีพาลชนอยู่มากเกินไป หาไม่ก็เป็นโมฆบุรุษเสียเป็นส่วนใหญ่
อนึ่ง ที่ถือกันว่าวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญนั้น ก็ขอให้ตราเอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือฉบับแรกของเรา ที่ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งกลายไปเป็นฉบับชั่วคราว ส่วนฉบับถาวรที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ศกนั้น ได้กลายสภาพในทางเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยไปเสียมากแล้ว
ยิ่งหน้ารัฐสภาในเวลานี้มีแต่พระบรมรูปขององค์พระผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ด้วยแล้ว นั่นคือการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เอาเลย เพราะการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น ด้วยการนำคณะราษฎรทั้งหลาย โดย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ถ้าอนุสาวรีย์ที่หน้ารัฐสภาจะมีความหมายในทางที่เป็นจริง อย่างน้อยต้องมีรูปบุคคลทั้งสองนี้รวมอยู่ด้วย แม้เคียงข้างพระบรมรูปก็ยังได้
การยกย่องเชิดชูบุคคลเพียงเพราะชาติวุฒินั้น ขัดกับหลักการทางพุทธศาสนา เพราะบุคคลจะดีหรือเลว ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนชั้นหรือวรรณะ เป็นแต่คนที่ได้เปรียบทางชนชั้น ไม่ว่าจะด้วยทรัพย์ศฤงคารหรืออื่นใด ย่อมอยู่ในสถานะที่เปิดโอกาสให้เขาได้มากกว่าคนด้อยโอกาส หรือคนที่ถูกเอาเปรียบ แท้ที่จริงงานอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ นั้น เป็นไปเพื่อลดช่องว่างทางชนชั้น ทั้งทางการเมือง ทั้งทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม หากยังไม่ได้สัมฤทธิ์ผล เพราะเผด็จการได้เข้ามาทำลายล้างประชาธิปไตยเป็นระลอกๆ
เริ่มแต่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก ที่ยุบสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อย่างเป็นเผด็จการนั้นแล เรื่อยมาจน ป. พิบูลสงคราม ส. ธนะรัชต์ ถ. กิตติขจรและพลพรรค ต่อมาก็สุจินดา คราประยูร ฯลฯ ตราบจนถึงทักษิณ ชินวัตรในบัดนี้ บุคคลที่เอ่ยนามมาทั้งหมดนี้ ล้วนตระบัดสัตย์ ปิดบังความจริง จนคนส่วนใหญ่ไม่อาจรับทราบได้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ
ตราบใดที่เรายังไม่ยอมรับความจริง เท่ากับเราถือตามความเท็จ หรือกึ่งจริงกึ่งเท็จ รวมถึงความเสแสร้งต่างๆ ว่าเป็นเนื้อหา ดังที่รัฐสภาวันนี้ ก็จะมีแต่พิธีรีตองต่างๆ อย่างปราศจากเนื้อหาสาระในทางสัจจะเอาเลยทีเดียว
อย่างน้อยพิธีของเราที่นี่ ในวันนี้ คือการกระทำที่เป็นไปเพื่ออุดหนุนราษฎรสยาม ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือไม่ก็ตาม ให้เข้าใจถึงเนื้อหาสาระของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยเท่านั้น
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้แจกเอกสารให้ผู้แทนสื่อมวลชนได้รับทราบมาแล้ว ในบทสังเคราะห์ ๑๔ นโยบาย ดังใช้เป็นคำขวัญว่า ๔ ไม่เลือก ๑๐ เลือก นับว่าเป็นคู่มือการเลือกตั้งและคู่มือพลเมืองอย่างมีประโยชน์ เช่น
๑) ไม่เลือกคนล้าหลังคลั่งชาติ
๒) ไม่เลือกคนไทยหัวใจอเมริกัน
๓) ไม่เลือกนายหน้านายทุน เป็นต้น
ส่วนที่ควรเลือกก็มี เช่น
๑) เลือกผู้ที่ผลักดันประชาธิปไตยทางตรง
๒) เลือกคนมีเจตนาและสามารถยุติวงจรคอรัปชั่น
๓) เลือกผู้ที่รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์
๔) เลือกผู้ที่มุ่งมั่นกระจายที่ดินให้ถึงมือประชาชน
๕) เลือกผู้ที่มุ่งมั่นในการสร้างพลังของสังคมเพื่อตรวจสอบรัฐบาล
๖) เลือกผู้ที่เข้าใจคุณค่าศาสนธรรมในการเมือง เป็นต้น
โดยที่เราจะเข้าถึงสาระของประชาธิปไตยได้ เราต้องฝึกปรือตัวเราให้เข้าใจในเรื่องของธรรมศาสตร์และการเมือง ดังที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้ดำเนินการด้านนี้มาแล้ว สองปีหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเกิดขึ้นในสยาม ด้วยการตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้
ถ้าเราเข้าใจเรื่องของธรรมคือความถูกต้องดีงาม แล้วนำเอาธรรมมาเป็นศาสตราที่แหลมคม ไม่ใช่เพื่อทิ่มตำผู้อื่น แม้จนศัตรูของเรา หากทิ่มตำความโลภ โกรธ หลงในตัวเรา ให้เรากลายสภาพจากความเป็นอัตตาธิปไตย คือเห็นว่าตัวเองเป็นใหญ่ มีความเห็นแก่ตัวเป็นเจ้าเรือน มาแลเห็นว่าคนส่วนใหญ่นั้นเป็นใหญ่ยิ่งกว่าเรา โดยเฉพาะก็คนส่วนใหญ่ที่ยากไร้ และถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างอยู่ปลายอ้อปลายแขม แม้คนส่วนน้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นคนมลายู หรือมุสลิม หรือชาวเขาเผ่าต่างๆ รวมถึงผู้ลี้ภัยจากพม่าหรืออื่นใด หากเราฝึกฝนจนเห็นได้ว่าคนเหล่านี้ควรมีศักดิ์ศรีไม่น้อยไปกว่าเรา เขาควรมีชีวปัจจัยเช่นเดียวกับเรา นี่แลเราจึงจะกลายสภาพไปได้จากอัตตาธิปไตยไปสู่โลกาธิปไตย ซึ่งเป็นต้นตอของประชาธิปไตย หรือการเมือง
แต่เราจะหยุดอยู่เพียงนี้ไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ก็อาจผิดพลาด คนส่วนใหญ่ก็อาจเอาเปรียบคนส่วนน้อย โดยที่ธรรมศาสตร์และการเมืองต้องนำเราให้เข้าถึงธรรมาธิปไตย คือความถูกต้องถ่องแท้ อย่างไปพ้นอคติที่ครอบงำเรา ไม่ว่าจะเพราะความเกลียด ความกลัว ความรักหรือความหลง จนเราสามารถกลายสภาพจากความโลภที่ครอบงำเรา ให้เข้าได้ถึงทาน การให้ ว่าสำคัญยิ่งกว่าการรับ ไม่ใช่ให้แต่วัสดุสิ่งของหรือเงินทอง หากให้วิชาความรู้ ให้เวลาและให้สัจจะ พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้โต้แย้งกับสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสัจจะ อย่างเปิดเผยและโปร่งใส
พร้อมๆ กันนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนสภาพจากความโกรธ และความรุ่มร้อนรุนแรงต่างๆ ที่ครอบงำเรา จนเป็นโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม ให้กลายเป็นความเมตตากรุณา ให้กลายเป็นความเย็น อย่างสงบและสันติ
ในที่สุดแล้ว เราต้องเปลี่ยนความหลง ไม่แต่ในตัวตนของเรา ประเทศชาติและศาสนาของเรา ให้เป็นปัญญา หรือความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ อย่างไปพ้นความเป็นชาตินิยม ไปสู่มนุษยนิยม อย่างไปพ้นการติดยึดอยู่กับการกระทำอะไรๆ ก็เพียงเพื่อเอาชนะผู้อื่นหรือเหนือกว่าคนอื่น พวกอื่น หากเปลี่ยนไปเป็นการรับใช้ผู้อื่น สัตว์อื่น อย่างมีสติสัมปชัญญะในทางอหิงสธรรมยิ่งๆ ขึ้น
นี้แลคือธรรมาธิปไตย หรือการทวงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยมาให้เราและพวกเรา เราจะเรียกร้องมาจากรัฐบาล หรือจากพาลชน ไม่ได้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะพอมีอิทธิพลกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่บ้าง ก็น่าจะหันมาช่วยให้ผู้บริหารนั้นๆ นำเอาสาระของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาตร์และการเมืองกลับมา ดังที่มหาวิทยาลัยนี้ถูกขจัดมิติทางการเมืองออกไป จนเป็นไปดังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ฝึกคนไว้ให้ไปเป็นลูกจ้าง ไปเป็นข้าราชการ ไปรับใช้นักการเมือง และนักธุรกิจการค้า อย่างปราศจากศาสตราในทางธรรมอย่างน่าเสียดาย
ยิ่งสถาบันราชภัฏ ซึ่งเพิ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะร่วมมือด้วย ให้อุดมศึกษาแห่งใหม่นั้นๆ หมดปมด้อย เยาวชนก็จะฝึกปรือตนให้เข้าถึงธรรมาธิปไตยได้เอาเลย ดังเช่นสถาบันราชภัฏที่สกลนคร ที่ไม่เคยรู้จักนายเตียง ศิริขันธ์ มาก่อนนั้น ครั้นได้รับความจริงเข้าก็ลุกขึ้นบูชาบุคคลที่ควรบูชาอย่างน่านิยมยกย่อง
ถ้าเราได้ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยและอิงไปในทางโลกาธิปไตย ยิ่งกว่าอัตตาธิปไตย คนของเราก็จะมีความกล้าหาญทางจริยธรรม จะไม่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว จะไม่กลัวความจริง จะกล้าท้าทายความเท็จ และไปพ้นความกึ่งดิบกึ่งดีต่างๆ จนเข้าหาความเป็นเลิศได้ ทั้งทางการเมืองและอื่นๆ เมื่อนั้นแหละรัฐธรรมนูญจึงจะมีความหมายในการเป็นหนทางแห่งธรรม ให้สัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมอย่างแท้จริง
เราจะเลิกหยิ่งผยองกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีคุณค่าอยู่มิใช่น้อย แต่ก็เป็นดังเอกสารที่ปราศจากสาระ เพราะธรรมนูญของรัฐหรือของโลก จะได้ผลก็ต่อเมื่อมีผู้ประพฤติธรรม นำเอาไปปฏิบัติอย่างเป็นไปในทางธรรมานุธรรมปฏิบัติ โดยที่รัฐธรรมนูญที่แท้ของเราต้องเข้าหาสาระของฉบับแรกของเราที่ประกาศแต่เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕
ถ้าเราเข้าถึงสาระของฉบับนั้น นั่นคือการทวงคืนรัฐธรรมนูญก็ได้ แล้วจะขยายให้สมสมัยอย่างไร ให้ปิดช่องว่างอย่างไร ก็ต้องให้มีคนที่มีความกล้าและสามารถ อย่างมีคุณความดีประกอบ นั่นแหละเราจึงจะมีสมาชิกของศาลรัฐธรรมนูญที่มหาชนปราศจากความสงสัยในความซื่อสัตย์ มีผู้ตรวจการรัฐธรรมนูญที่กล้าหาญอย่างแท้จริง พร้อมด้วยการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก ที่มีศักดิ์ศรี สมกับเป็นสัตบุรุษ เมื่อถึงขั้นนี้ เราจะมีคนอย่างทักษิณ ชินวัตร และข้าทาสบริวารของเขามาคุมบังเหียนรัฐนาวาไว้ไม่ได้อีกต่อไป
สุนทรกถา เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ
ตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๗ ณ ลานปรีดี
พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
การยกย่องเชิดชูบุคคลเพียงเพราะชาติวุฒินั้น ขัดกับหลักการทางพุทธศาสนา เพราะบุคคลจะดีหรือเลว ขึ้นอยู่กับการกระทำของเขา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนชั้นหรือวรรณะ เป็นแต่คนที่ได้เปรียบทางชนชั้น ไม่ว่าจะด้วยทรัพย์ศฤงคารหรืออื่นใด ย่อมอยู่ในสถานะที่เปิดโอกาสให้เขาได้มากกว่าคนด้อยโอกาส... แท้ที่จริงงานอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ นั้น เป็นไปเพื่อลดช่องว่างทางชนชั้น ทั้งทางการเมือง ทั้งทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
50202
กรุณาส่งธนาณัติไปยัง
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์