ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
271147
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 482 หัวเรื่อง
บทวิเคราะห์และข้อเสนอ เพื่อระงับความรุนแรงโดยรัฐ
นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ
เกษียร เตชะพีระ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทวิเคราะห์และข้อเสนอ เพื่อระงับความรุนแรงที่ภาคใต้
ความมั่นคงของรัฐไทย ไม่ใช่แค่สบถและเข่นฆ่า
นิธิ เอียวศรีวงศ์ - เกษียร เตชะพีระ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน
สำหรับบนเว็ปเพจนี้ ได้นำเอางานเขียนเกี่ยวกับบทวิเคราะห์และข้อเสนอเพื่อระงับความรุนแรงของรัฐไทย
ที่ทำกับประชาชนมาตลอดหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีตากใบ มารวมกันไว้ 2 เรื่อง ซึ่งประกอบด้วย
๑. จะแปนเปลี่ยนโศกนาฏกรรมที่ตากใบได้อย่างไร - โดย นิธ ิเอียวศรีวงศ์ และ
๒.
จากกรือเซะถึงตากใบ:รัฐกับรัฐบาล - โดย เกษียร เตชะพีระ
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)

 

๑. จะแปรเปลี่ยนโศกนาฏกรรมตากใบได้อย่างไร
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
บัดนี้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดซึ่งเกิดขึ้นที่อำเภอตากใบได้รับการเปิดเผยมากขึ้น จนพอจะมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไรได้บ้าง ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่เฉพาะแต่เพียงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น หากเป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทยทั้งหมด

คนนับจำนวนเป็นร้อย หากนับรวมผู้สูญหายไร้ร่องรอยจนถึงบัดนี้ด้วย เสียชีวิตลงอย่างเหี้ยมโหดโดยการกระทำของรัฐเอง ไม่ว่าจะทำอย่างจงใจ อย่างประมาทเลินเล่อ (หรือที่น่าสะพรึงกลัวสยดสยองกว่าคือ ประมาทเลินเล่อเพราะไม่เห็นเหยื่อว่าเป็นมนุษย์)

ไร้เดียงสาเกินไปที่ผู้นำประเทศจะกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์มากกว่านั้นเสียอีกที่ถูกคนร้ายสังหาร เพราะเรากำลังพูดถึงการสังหารของรัฐ ด้วยสมมติฐานที่สำคัญอย่างยิ่งว่ารัฐไม่ใช่คนร้าย และไม่มีวันที่เราควรปล่อยให้รัฐทำอะไรเหมือนคนร้ายได้เป็นอันขาด มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะรวมตัวกันเป็นรัฐ เพราะการอยู่ในรัฐหรืออยู่ในซ่องโจรจะมีค่าเท่ากัน

ที่น่าเศร้าสลดและทำให้ทุกอย่างดูมืดมนไปหมดก็เพราะว่า นับจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นของปฏิบัติการล้มล้างอำนาจรัฐในภาคใต้ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวมลายูมุสลิมต่อสู้กับสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความอยุติธรรมของรัฐ โดยใช้รัฐหรือประเทศไทยเป็นเวทีการต่อสู้ การประท้วงการกระทำของตำรวจ ณ สถานีตำรวจเอง คือการใช้ประเทศไทยเป็นเวทีการต่อสู้ แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการลอบยิงเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือลอบวางเพลิงหรือวางระเบิดสถานที่ราชการและสาธารณสถาน

แม้แต่สมมุติว่าการประท้วงนั้นเกิดขึ้นจากการปลุกปั่นยุยงของผู้ที่ต่อสู้กับรัฐด้วยวิธี "ก่อการร้าย" ส่วนใหญ่ของผู้ประท้วงนั้นไม่ใช่แน่ ที่นั่นคือเวทีประชันกันระหว่างรัฐซึ่งมีกระบวนการที่สันติและเป็นธรรม กับคนร้ายซึ่งใช้ได้แต่ความรุนแรง ที่นั่นคือเวทีสำคัญยิ่งที่รัฐจะพิสูจน์ให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่า ในท่ามกลางความอ่อนแอผิดพลาดทั้งหลายที่รัฐไทยได้เคยกระทำมา อย่างน้อยรัฐไทยก็เป็นเวทีที่ปลอดภัยและสันติ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าได้

หากรัฐบาลใช้สติปัญญามากกว่าอำนาจ จะรู้ว่าการจัดการกับสถานการณ์ในภาคใต้คือการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การทหาร ฉะนั้นทหารที่ถูกส่งไปตากใบอย่างรีบด่วนจึงพึงมีภารกิจเดียวที่จะต้องทำให้ได้ นั่นก็คือป้องกันรักษาสถานที่ราชการให้ปลอดภัย การระงับเหตุไม่ใช่หน้าที่ของทหารโดยตรง แต่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย จนกว่าจะเกิดการเจรจาอย่างสันติ ซึ่งรัฐพร้อมจะยืดจะหดได้ตามควรแก่สถานการณ์ ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องทำให้ความรู้สึกถึงความอยุติธรรมของประชาชนหมดไปให้ได้

ไม่มีใครต้องตายหรือบาดเจ็บสักคนเดียว แล้วใครระหว่างรัฐไทยกับคนร้ายจะเป็นฝ่ายรุกเข้าไปแย่งชิงประชาชนได้มากกว่ากัน แต่เพราะทุกอย่างที่ได้เกิดขึ้นในวันนั้น คงจะเหลือประชาชนอีกน้อยคนที่ยังจะใช้ประเทศไทยเป็นเวทีการต่อสู้เพื่อชีวิตของเขาอีกแล้ว

ผู้ที่ลุกขึ้นประท้วงอำนาจรัฐอย่างสันติและเปิดเผย คือคนที่หวังว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนที่เขาสามารถฝากชีวิตไว้จนวันตาย ไม่แต่เพียงชีวิตของเขาเท่านั้น แต่รวมถึงลูกหลานในอนาคตอีกด้วย ถ้าไม่รักประเทศนี้จะลุกขึ้นเสี่ยงต่อภยันตรายต่างๆ ทำไม นี่คือความรักชาติที่ไม่เพ้อเจ้อกันแต่เรื่องของเลือดของบรรพบุรุษ และการชักธงชาติ 24 ชั่วโมง ของจริงไม่ใช่ลมปาก

ที่น่าเศร้าสลดอีกอย่างหนึ่งคือปฏิกิริยาของนายกรัฐมนตรีเอง รายงานของท่านต่อสาธารณชนไทยหลังเดินทางกลับจากที่เกิดเหตุ แสดงว่าท่านคงไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสที่เกิดจากการขนส่งอีกหลายสิบ แต่นั่นยังไม่เป็นไร เพราะแม้แต่ข้าราชการซึ่งรายงานเหตุการณ์แก่ท่านก็คงไม่ทราบเช่นกัน แต่ท่านนายกฯทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ทั้งๆ ที่ทหารอ้างว่ายิงปืนขึ้นฟ้า ท่านไม่สนใจจะไต่สวนให้แน่ว่า ถ้าอย่างนั้นเหตุใดจึงมีผู้เสียชีวิต

เพียงแต่ท่านขอตรวจดูศพทั้ง 6 ท่านก็จะเห็นได้ว่า คนเหล่านี้เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืน แล้วท่านก็น่าจะไม่ผูกมัดตัวเองกับรายงานของข้าราชการในพื้นที่ตั้งแต่วันแรก ยิ่งไปกว่านั้นท่านก็น่าจะประกาศอย่างแข็งขันว่า เกิดการกระทำที่ผิดพลาดขึ้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งเสียแล้ว และผู้กระทำผิดพลาดเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่ท่านเป็นผู้นำประเทศ ที่จริงท่านในฐานะผู้นำจะกล่าวขออภัยตั้งแต่วันนั้นก็จะงามที่สุด ท่านควรสัญญาด้วยว่า ท่านจะพยายามทุกวิถีทางมิให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองกระทำการผิดพลาดเช่นนั้นอีก

นี่เป็นความผิดพลาดที่น่าเสียดายสำหรับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีไทย ช่างไร้เดียงสากับระบบราชการอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ แทนที่ท่านนายกฯจะแสดงท่าทีรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ท่านกลับแสดงท่าทีปกป้องผู้ปฏิบัติงานผิดพลาดเสียเอง

อันที่จริง นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงบัดนี้ มีการปฏิบัติงานที่ "ผิดพลาด" มาแล้วหลายครั้งหลายหน เช่นกรณีการสังหารหมู่ที่กรือเซะ คณะกรรมการสอบสวนซึ่งตั้งขึ้นภายหลังก็ยอมรับว่าเป็นการทำ "เกินกว่าเหตุ" ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงความฉ้อฉลของระบบราชการซึ่งคนไทยทุกคนรู้ดีว่าเกิดขึ้นเป็นปกติ รัฐบาลเองก็ยอมรับทั้งในนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล และนโยบายปราบคอร์รัปชั่น น่าอัศจรรย์ไหมที่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงบัดนี้ ไม่เคยมีการลงโทษข้าราชการอย่างจริงจังสักรายเดียว ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, ทหาร, ข้าราชการพลเรือน หรือฝ่ายตุลาการและอัยการ

ประหนึ่งว่าในสามจังหวัดภาคใต้นั้น ระบบราชการไทยสะอาดบริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพกว่าจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด ทั้งๆ ที่การขจัดกวาดล้างความฉ้อฉลและการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมทุกชนิดของระบบราชการในสามจังหวัดภาคใต้ ควรเป็นเป้าหมายประการแรกที่จะต้องทำให้ลุล่วงลงโดยเร็ว

แม้แต่นายทหารที่สั่งการให้เกิดการสังหารหมู่ที่กรือเซะ แม้ถูกสั่งย้ายด่วน แต่ก็กลับถูกเสนอให้กลับไปปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมอีกในเวลาไม่นาน โดยรองนายกฯคนที่สั่งย้ายนั่นเอง ซ้ำยังมีการให้ท้ายว่าการลาจากตำแหน่งในครั้งนั้นเปรียบเหมือนการลาจากตำแหน่งของนายพลแมคอาเธอร์ รองนายกฯท่านนั้นสับสน(ตามธรรมชาติของท่าน) หรือแกล้งสับสนว่า แมคอาเธอร์ลั่นวาจา "I shall return." เมื่อต้องหลบญี่ปุ่นออกไปจากฟิลิปปินส์ แต่ไม่สามารถลั่นวาจาเช่นนั้นได้เมื่อประธานาธิบดีสั่งปลดออกจากตำแหน่งในฐานะแม่ทัพสหประชาชาติในเกาหลี เพราะขัดคำสั่ง(โดยอ้อม) ผู้บังคับบัญชา และแมคอาเธอร์ไม่ได้โผล่ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันในกิจการทหารของสหรัฐอีกเลย

ประเด็นคือระหว่างการนำของทหารกับการนำของการเมือง การนำของการเมืองจะต้องเหนือกว่าเสมอ ถ้ารองนายกฯในฐานะนักการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไม่เข้าใจเพียงเท่านี้ สิ่งเดียวที่เรารอคอยจากท่านคือเมื่อไรท่านจะพูดบ้างว่า "I shall return."

จนถึงวันนี้ คำขอโทษจากนายกรัฐมนตรีอาจจะสายเกินไปแล้ว - สายเกินไปที่จะกู้ความไว้วางใจรัฐไทยของประชาชนมลายูมุสลิมกลับคืนมา - และถึงอย่างไร คำขอโทษก็เป็นเพียงลมปาก ไร้ความหมาย จนกว่าจะมาพร้อมกับการกระทำ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงเอาเงินไปฟาดหัวใคร) ที่เป็นรูปธรรม เพื่อแสดงว่าผู้นำของรัฐไทยเข้าใจและยอมรับแล้วว่า ประชาชนในสามจังหวัดมีสิทธิ์และมีเหตุผลที่จะต่อสู้ทางการเมืองโดยสันติ เพื่อทำให้แผ่นดินไทยมีความเป็นธรรม, มีอิสระเสรีและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์พอที่จะฝากชีวิตตนและลูกหลานไว้ตลอดไป

ฉะนั้นยิ่งกว่าคำขอโทษ คือการปรับนโยบายเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้อย่างรีบด่วน พร้อมทั้งความแข็งขันที่จะทำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติด้วย สิ่งแรกๆ ที่จะต้องทำก็คือ

1.หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐลงในทุกทาง เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อาวุธเฉพาะเพื่อป้องกันร่างกายและทรัพย์สินของตนเองและประชาชนเท่านั้น การดำเนินการทางกฎหมายทุกชนิดจะต้องเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด รัฐบาลจะลงโทษข้าราชการทุกฝ่ายที่ละเมิดกฎหมายอย่างเฉียบขาด และต้องทำให้ประจักษ์ในทุกกรณี

2.ยกเลิกกฎอัยการศึก นอกจากกฎอัยการศึกได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นเวลาเกือบปีแล้วว่า ไม่มีผลแต่อย่างไรในการจัดการกับสถานการณ์ ที่สำคัญกว่านั้นก็คือหัวใจสำคัญของการจัดการปัญหาทั้งหมดคือมาตรการทางการเมือง ไม่ใช่การทหาร ฉะนั้นประชาชนต้องได้รับโอกาสตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ในการต่อรองเชิงอำนาจและเชิงผลประโยชน์กับรัฐและทุน ปัญหาใดๆ ก็ตามที่สามารถโผล่ขึ้นมาให้เห็นได้เท่านั้น ที่รัฐและสังคมจะจัดการได้ ในขณะที่ปัญหาซึ่งถูกหมกอยู่ภายใต้อำนาจบาตรใหญ่ทั้งหลาย จะโผล่ขึ้นมาได้เฉพาะส่วนปลายซึ่งก็คือความรุนแรง ไม่มีใครจัดการได้นอกจากตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง

3.สืบเนื่องจากข้อ 1 ข้าราชการกลุ่มแรกที่รัฐบาลควรขจัดกวาดล้างให้สะอาดและมีประสิทธิภาพคือตำรวจ เพราะเป็นผู้ถืออำนาจรัฐซึ่งใกล้ชิดประชาชนที่สุด หากมีการฉ้อฉลอำนาจแล้ว จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างสาหัสแก่ประชาชน เกราะกันกระสุนที่มีประสิทธิภาพที่สุดของตำรวจคือความไว้วางใจของประชาชน ถ้าตำรวจสร้างสิ่งนี้ไม่ได้ เสื้อเกราะกี่ตัวก็ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ตำรวจในสามจังหวัดภาคใต้ไม่สามารถสร้างความไว้วางใจจากประชาชนได้ ฉะนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำคือย้ายยกกระบิ แล้วนำตำรวจดีมีฝีมือเข้าไปแทน เพื่อจะทำให้ตำรวจส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นตำรวจดีให้ได้

4.ขยายการปรับปรุงแก้ไขเจ้าหน้าที่ของระบบราชการจากตำรวจ ไปยังหน่วยราชการอื่นในพื้นที่ทั้งหมด รัฐบาลควรประกาศให้ชัดว่า นโยบายของรัฐบาลคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ข้าราชการโดยเฉพาะชั้นผู้ใหญ่เช่นผู้ว่าฯ ซึ่งไม่เปิดเวทีให้แก่การเจรจาต่อรองของกลุ่มต่างๆ ในสังคมมลายูมุสลิม จะผลักดันนโยบายของตน (ซึ่งมักคิดขึ้นเพื่อประจบผู้ใหญ่) จะถูกย้ายภายใน 24 ชั่วโมง กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐบาลจะมุ่งไปยังกระบวนการของการบริหารก่อนผลของการบริหาร

5.พัฒนาด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (ไม่ใช่เพียงแค่ร่วมรับรู้) ในทุกขั้นตอน และในทุกด้านของการพัฒนาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ, พลังงาน, การศึกษา, วัฒนธรรม, หรือการเมือง

ทำได้เพียงเท่านี้ก่อน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสงบสุขในภาคใต้ ส่วนจะใช้เวลายาวนานเท่าใด ไม่มีใครตอบได้ แต่อย่าขีดเส้นตาย เพราะเส้นตายของผู้นำประเทศ ไม่ได้แสดงแต่เพียงความเด็ดขาดของผู้นำเท่านั้น แต่แสดงความตื้นเขินทั้งทางสติปัญญาและความรอบรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้วย ทำให้ยิ่งน่าหวั่นไหวแก่คนที่รู้คิดมากขึ้น

 

๒. "จากกรือเซะถึงตากใบ:รัฐกับรัฐบาล" (ตอนที่ ๑)
โดย เกษียร เตชะพีระ

(เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผู้เขียนในการอภิปรายเรื่อง "จากกรือเซะถึงตากใบ:ความรุนแรงกับความหวังของสังคมไทย" จัดโดยโครงการสัมมนาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 10 พ.ย. 2547)


เกริ่นนำ
อดีตคนเดือนตุลาฯในรัฐบาลทักษิณท่านหนึ่งได้เปรียบเปรยสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ปัจจุบันว่า เหมือนอยู่ในดงถังก๊าซหรือถังน้ำมันยักษ์มากมายเกลื่อนกลาดไปหมด ปรากฏว่าถังหนึ่งเกิดระเบิดขึ้น (หมายถึงกรณีบุกยึดมัสยิดกรือเซะจากผู้ก่อความไม่สงบ) แล้วไฟยังไม่ทันดับ ทว่าแทนที่จะช่วยกันเอาสารเคมีหรือน้ำมาดับไฟ กลับไปทำให้ถังยักษ์อีกใบระเบิดซ้ำ (หมายถึงกรณีสลายการชุมนุมของประชาชนที่ตากใบ) น่ากลัวว่าเปลวไฟที่พุ่งกระจายไปทั่วจะลามลุกติดถังใบอื่นๆ จนระเบิดต่อไปไม่หยุดยั้งในไม่ช้า...

เมื่อผมได้ทราบข่าวเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมของประชาชนที่ตากใบ มีผู้ชุมนุมตาย 6 คน แล้วตายเพิ่มอีก 79 คน ก็คิดในใจว่า นี่ตายมากกว่าสมัยเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชนตอบ 6 ตุลาฯ พ.ศ.2519 เสียอีก ตอนนั้นตายแค่ 41 คน

ผมเองยังเป็นเด็กหนุ่มอายุ 19 ปี เห็นเพื่อนๆ ล้มตายด้วยความรุนแรงและอยุติธรรมจากรัฐอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนในธรรมศาสตร์และสนามหลวง ทนเจ็บแค้นไม่ไหว จึงตัดสินใจเข้าป่า จับปืนสู้กับรัฐร่วมกับนักศึกษาประชาชนอีก 3 พันคน

แต่กรณี 25 ตุลาฯ ที่ตากใบตายถึง 85 คนด้วยความรุนแรงและอยุติธรรมจากรัฐเช่นกัน หากผมอายุหนุ่มกว่านี้สัก 25 ปี เป็นคนมลายูมุสลิมและมีญาติมิตรพี่น้องเสียชีวิตในกรณีดังกล่าว ผมจะรู้สึกอย่างไร? จะตัดสินใจอย่างไร?

ในรอบปีที่ผ่านมา นับแต่กรณีบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส เมื่อ 4 มกราคม กรณีปะทะหลายจุดระหว่างผู้ลุกขึ้นสู้กับเจ้าหน้าที่เมื่อ 28 เม.ย. และล่าสุดกรณีสลายการชุมนุมของประชาชนที่ตากใบเมื่อ 25 ตุลาคมศกนี้ ผมเขียนคอลัมน์ในมติชนรายวันเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งสิ้นราว 20 ตอนแล้ว คำอภิปรายในวันนี้จึงจะขอเรียบเรียงประเด็นและตัดต่อเนื้อหาบางตอนของบทความเหล่านั้นมาเล่าสู่ท่านผู้ฟัง

ขอแบ่งเป็น 4 ประเด็นดังนี้
1) รัฐ: หลักการพื้นฐานของรัฐศาสตร์ในสังคมอารยะ
2) รัฐบาล : ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองและขี้ขลาดทางจริยธรรม
3) การก่อการร้าย : ตรรกะแห่งการบ้ามาก็บ้าไป
4) การเปิดเกมรุกทางการเมือง : ทางออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรง

1) รัฐ: หลักการพื้นฐานของรัฐศาสตร์ในสังคมอารยะ
ผมเป็นครูสอนรัฐศาสตร์มาสิบกว่าปี บ่อยครั้งนักศึกษามักถามว่า "อำนาจรัฐคืออะไร?" เมื่อคั้นน้ำทิ้งจนเหลือแต่เนื้อล้วนๆ ผมจะฟันธงตอบนักศึกษาเพื่อให้เข้าใจความสำคัญ สาหัสสากรรจ์ และแรงกระแทกของอำนาจรัฐต่อชีวิตส่วนตัวของเขาทุกคนว่า:-

"อำนาจรัฐคืออำนาจที่มีสิทธิ์ฆ่าคุณได้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน...
"ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องควบคุมอำนาจรัฐให้ดี"

การมีรัฐเป็น องค์กรนักฆ่าส่วนกลางของสังคม ก็เพื่อเอาไว้รับใช้สังคม ปกป้องสังคม ในความหมายปกป้องสิทธิในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลพลเมืองผู้เป็นสมาชิกสังคม รวมทั้ง ปกป้องสังคมจากศัตรูผู้รุกรานภายนอก เท่านั้น

อ้ายอีผู้ใดละเมิดประทุษร้ายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของเพื่อนสมาชิก ย่อมตกเป็นภาระหน้าที่ของนักฆ่าส่วนกลางที่จะต้องป้องปราม ขัดขวาง และควบคุมด้วยกำลังบังคับตามควรแก่เหตุ, หากแม้นการประทุษร้ายนั้นสำเร็จผลแล้ว และเข้าข่ายเงื่อนไขความผิดตามที่กฎหมายอาญาและอื่นๆ ระบุไว้ อ้ายอีผู้กระทำก็จักต้องถูกกุมตัวมารับโทษ

โดยผ่านการสืบสวนสอบสวน จับกุมฟ้องร้อง ต่อสู้คดีพิสูจน์ความผิดอย่างเที่ยงตรงต่อข้อเท็จจริง เป็นธรรม และเปิดเผยตามกระบวนการยุติธรรม จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผิดจริงและให้ลงโทษแล้วนั่นแหละ จึงจะเอาตัวไปลงโทษได้

หากศาลพิพาษาถึงที่สุดว่าอ้ายอีผู้นั้นทำความผิดร้ายกาจอุกฉกรรจ์จริงและให้ลงโทษประหารชีวิตแล้วนั่นแหละ นักฆ่าส่วนกลางจึงจะเอาตัวไปฆ่าได้ กว่าจะลงโทษหรือกระทั่งฆ่าอ้ายอีที่ทำผิดอุกฉกรรจ์ได้สักคนจึงต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน ยืดเยื้อ และอาจยาวนาน แต่นั่นแหละคือ อารยธรรม (civilization) ของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

สังคมอารยะซึ่งเคารพหลักการที่ว่ากล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ชีวิตคุณเป็นของคุณ (self-ownership) ไม่ใช่ชีวิตคุณเป็นของรัฐ ที่ผู้ปกครองจะต้มยำทำแกงเมื่อไหร่อย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจอย่างในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อการนี้ สังคมได้มอบหมายความไว้วางใจและความรับผิดชอบให้คนกลุ่มหนึ่งมีเอกสิทธิ์ปฏิบัติการเป็นนักฆ่าส่วนกลาง

พวกเขามีสองอย่างซึ่งสมาชิกอื่นของสังคมอย่างเราท่านปกติทั่วไปไม่มี ได้แก่
1) อาวุธฆ่าคน และ
2) สิทธิฆ่าคน
ซึ่งพวกเขาจะใช้ได้และทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนตามบทบัญญัติของกฎหมาย แบ่งเป็นตำรวจ ผู้เป็นนักฆ่าส่วนกลางต่ออาชญากรภายในสังคม และ ทหาร ผู้เป็นนักฆ่าส่วนกลางต่อศัตรูจากภายนอก

ในระบอบเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลก็คือคณะบุคคลที่สังคมเลือกตั้ง ให้เป็นตัวแทนคอยควบคุมดูแลนักฆ่าส่วนกลางทั้งสองฝ่าย ที่สังคมชุบเลี้ยงไว้ใช้งาน ควบคุมดูแลให้พวกเขาฆ่าถูกคน ฆ่าถูกเงื่อนไข ฆ่าถูกขั้นตอน ฆ่าเมื่อสมควรและจำเป็นต้องฆ่า และในทางกลับกัน จักต้องฆ่าไม่ผิด ฆ่าไม่ผิดเงื่อนไข ฆ่าไม่ผิดขั้นตอน ห้ามฆ่าเมื่อไม่สมควรและไม่จำเป็นต้องฆ่า ภายใต้กติกาของกฎหมายซึ่งสังคมกำหนดไว้กำกับนักฆ่าส่วนกลางผู้ทำงานอยู่ท่ามกลางสมาชิกสังคม

เยี่ยงนี้เองสังคมจึงจะมอบเครื่องมือการฆ่าและสิทธิที่จะฆ่าให้นักฆ่าส่วนกลางได้อย่างวางใจและนอนตาหลับ

2) รัฐบาล : ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองและขี้ขลาดทางจริยธรรม
ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้ม, เหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ต่อเนื่องมานับแต่ต้นปี, ยังไม่นับสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คนเมื่อปีก่อน, อีกทั้งการข่มขู่คุกคามปราบปรามทำร้ายการชุมนุมของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าหลายจุดทั่วประเทศและครั้งล่าสุดที่ตากใบ...

อาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยมียุคสมัยใดนับแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 - หรือกระทั่งอาจเทียบย้อนกลับไปได้ถึงการฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 - เป็นต้นมาที่

1) เกิดความรุนแรงต่อประชาชนในบ้านเมืองและ
2) เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง มากมายและต่อเนื่อง เท่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทยทุกวันนี้

ในสังคมอารยะประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยกฎหมาย ความรุนแรงในบ้านเมืองอนุญาตให้มีได้แต่เฉพาะ

1) ความรุนแรงของรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย และ
2) ความรุนแรงของเอกชนอันควรแก่เหตุ เพื่อป้องกันสิทธิในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น

ทว่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทย กลับเกิด ความรุนแรงของรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับ ความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายและกลุ่มทุนอิทธิพลเอกชน ที่ประทุษร้ายต่อประชาชนและผู้นำชุมชนมากมายก่ายกอง ศพแล้วศพเล่า

เมื่อเอามาตรฐานสากลมาทาบวัด นี่นับเป็น systemic state failure หรือความล้มเหลวของรัฐอย่างเป็นระบบในอันที่จะพิทักษ์ปกป้องประชาชน และระงับความรุนแรงในบ้านเมือง อันเป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐตามหลักอารยธรรมโลกและรัฐธรรมนูญไทยเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐไทยภายใต้รัฐบาลทักษิณ-ไทยรักไทย สอบตก ในฐานะความเป็นรัฐชาติอารยะประชาธิปไตยตามหลักเกณฑ์สากลปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าตระหนกเกมอนาถก็คือ เบื้องหน้าความล้มเหลวอย่างเป็นระบบของรัฐไทยที่จะระงับความรุนแรงต่อประชาชน และเคารพปกป้องศักดิ์ศรี-สิทธิความเป็นคนของประชาชน, กลับไม่มีผู้นำรัฐบาลคนใดกล้าแอ่นอกออกมารับผิดชอบ ต่างพากันแอบหลบหลีกความรับผิดชอบอยู่เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่พระองค์ทรงทักท้วงไว้ในพระบรมราโชวาท 4 ธันวาคม พ.ศ.2546 ตอนหนึ่งว่า:-

"นายกฯสั่งให้รองนายกฯ รองนายกฯก็เป็นซีอีโอ นายกฯก็เป็นซีอีโอ ก็เป็นซุปเปอร์นายกฯ บอกว่าเป็นผู้ชนะ กลายเป็นฆ่าหมดเลย แต่แท้จริง ลูกน้องก็ต้องรับผิดชอบ ซีอีโอไม่รับผิดชอบอะไรเลย ต้องให้รองนายกฯรับผิดชอบ มี 7 คนใช่ไหม รองนายกฯเป็นผู้รับผิดชอบ 7 คน เขารับผิดชอบเขาก็ผลักให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ รัฐมนตรีก็บอกไม่รับผิดชอบ ต้องเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีช่วยโยนให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีรับผิดชอบ นายกฯบอกว่าปลัดกระทรวงไม่ต้องรับผิดชอบ ก็ให้รองปลัด รองปลัดก็ให้อธิบดี แบบนี้เป็นการบอกว่าไม่มีใครรับผิดชอบ ลงท้ายให้ประชาชนซีอีโอทุกคนรับผิดชอบหมด ไม่รู้จะทำอย่างไร

"การปกครองสมัยนี้แปลกดี ให้ประชาชนรับผิดชอบ คนที่เดือดร้อนคือข้าพเจ้าเองเดือดร้อน ท่านรองนายกฯบอกว่า ทรงเป็นซุปเปอร์ซีอีโอ ใช้คำอะไรจำไม่ได้แล้ว ลงท้ายเราก็รับผิดชอบทั้งหมด ประชาชนทั้งประเทศโยนให้พระเจ้าอยู่หัวรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

"แถวหน้ามีนักกฎหมายที่บอกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ใครจะรับผิดชอบ นี่ลำบากอย่างนี้"

ความล้มเหลวของรัฐอย่างเป็นระบบจึงถูกซ้ำเติมด้วย "ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมือง" (system of political irresponsibility) ที่ซึ่งความรับผิดชอบถูกผู้นำการเมืองโยนกลองลงล่างและขึ้นบนไม่หยุด โยนต่ำลงไปเรื่อยๆ จากนายกฯ->รองนายกฯ รัฐมนตรี->รัฐมนตรีช่วย->ผู้ช่วยรัฐมนตรี->ปลัดกระทรวง->รองปลัด->อธิบดี->จนในที่สุดถึงชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่และไม่มีอำนาจ และในทางกลับกันก็โยนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงองค์พระประมุข ซึ่งพระองค์เองนั้นรัฐธรรมนูญก็บอกอยู่แล้วว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ทรงอยู่พ้นความรับผิดชอบทางการเมืองออกไป ในที่สุดความรับผิดชอบทางการเมืองก็ถูกเล่นกลโยนอันตรธานหายวับไปภายใต้ระบบนี้

ความรุนแรงร้ายกาจที่เกิดขึ้น ชีวิตคนที่ตายไป การละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นคนของประชาชนในบ้านเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ศพแล้วศพเล่า จึงไม่มีใครเสนอหน้าออกมารับผิดชอบเลย, ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย

นี่จึงไม่เพียงเป็นระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น หากยังเป็นระบบแห่งความขี้ขลาดทางจริยธรรมด้วย ที่ซึ่งสัญญาณมรณะและเส้นตายอำมหิต ถูกส่งจากชั้นบนสุดลงไปยังเจ้าหน้าที่ผู้น้อยชั้นล่าง และสังคมวงกว้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยผู้ส่งไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่เคยกล้าพอที่จะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ตัวเลขความตาย ความเสียหายจากสัญญาณ และเส้นตายที่ตนพร่ำส่งเลย

ประชาชนไทยที่ต่อสู้อาบเลือดแลกชีวิตเพื่อช่วงชิงสิทธิเสรีภาพของตนมาอย่างกล้าหาญ และเสียสละเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516, 6 ตุลาฯ 2519, สงครามประชาชน 20 ปี และพฤษภา 2535 คู่ควรกับรัฐบาลที่รับผิดชอบทางการเมือง กล้าหาญทางจริยธรรม และเคารพรักศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นคนของพวกเขายิ่งกว่านี้

3) การก่อการร้าย : ตรรกะแห่งการบ้ามาก็บ้าไป
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ครูสันติวิธีของสังคมไทยเคยวิเคราะห์แจกแจงไว้ในบทความ "Understanding terrorism is Vital" เพียง 1 สัปดาห์ให้หลังการก่อการร้ายวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ.2544 ในอเมริกา(Bangkok Post, 18 September 2001, p.12) ว่า :-

"...การก่อการร้ายดำเนินงานของมัน 3 ทางด้วยกัน กล่าวคือ
"1) มันตัดขาดความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างผู้ตกเป็นเป้าของความรุนแรงกับมูลเหตุของความรุนแรง ผู้ก่อการร้ายไม่อินังขังขอบกับชีวิตผู้บริสุทธิ์ เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้มันขี้ปะติ๋วเมื่อเทียบกับมูลเหตุความคับแค้นเดือดเนื้อร้อนใจที่ผลักดันให้พวกเขาไปก่อความรุนแรง ดังนั้น บรรดาผู้มีสิทธิ์ตกเป็นเป้าของความรุนแรงโดยผู้ก่อการร้ายทั้งหลายจึงต้องอยู่อย่างกลัวไมรู้วาย" พูดง่ายๆ ว่าใครหน้าไหนถึงไม่เกี่ยว ก็มีสิทธิ์โดนก่อการร้าย ชาวบ้านจึงหวาดผวาตื่นกลัวกันไปหมดเพราะจะตายวันตายพรุ่งไม่รู้ที

"2) เนื่องจากการก่อการร้ายจะเล่นงานใครเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ มันจึงทำให้สังคมสูญเสียความรู้สึกแน่ใจในเรื่องต่างๆ ที่ช่วยให้สมาชิกสังคมสามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างปกติสุข ในความหมายนี้ จึงกล่าวได้ว่าการก่อการร้ายบ่อนทำลายรากฐานของสังคมการเมืองลงไปเลยทีเดียว ซึ่งก็คือบ่อนทำลายความรู้สึกแน่ใจที่ค้ำประกันโดยการดำเนินงานตามปกติของรัฐ อันถือการปกป้องชีวิตของผู้คนพลเมืองเป็นหน้าที่ขั้นต่ำสุด"

พูดอีกอย่างก็คือ ชีวิตสังคมพลอยผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนวิปริตผิดปกติกันไปหมด เพราะแน่ใจอะไรไม่ได้สักอย่าง ไม่แน่ใจกระทั่งว่าตัวเองจะปลอดภัยหรือไม่? จะปลอดภัยอีกนานแค่ไหน? จะไปอยู่ที่ใดถึงจะปลอดภัย? ค่ายทหาร โรงพัก ท้องถนน รถไฟ โรงเรียน สวนสาธารณะ สวนยาง บ้านช่อง ที่ทำงาน ร้านค้า ตลาด ปั๊มน้ำมัน ผับ โรงแรม โรงพยาบาล วัด ศาลเจ้า สุเหร่ามัสยิดหรือ? เพราะไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหนเมื่อไหร่ จู่ๆ ก็อาจโดยบึ้มหรือปังๆๆ ได้ทั้งนั้น

"3) เมื่อชีวิตไม่อาจดำเนินไปได้ตามปกติ สังคมที่โศกาอาดูรอาลัยสงสารชะตากรรมของเหยื่อที่ถูกก่อการร้ายทั้งหลาย ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นสังคมของว่าที่นักล่าเหยื่อ คันไม้คันมือกระเหี้ยนกระหือรืออยากใช้ความรุนแรงเล่นงานคนอื่นบ้าง..."

สรุปโหดๆ ได้ว่าสังคมที่ถูกก่อการร้ายซ้ำซากต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจอึดอัดขัดข้องใจเพราะอับจนหนทางสิ้นท่าหมดปัญญา ไม่รู้จะป้องกันปราบปรามอย่างไร หนักๆ เข้าก็เลยพาลสติแตก วิปริตฟั่นเฟือนแสดงปฏิกิริยาถีบกลับแบบไฟเตอร์ หันไปชกใต้เข็มขัดหรือกัดหู เป็นผู้ก่อการร้ายเองซะมั่ง ในทำนองทนไม่ไหวแล้วโว้ย บ้าก็บ้าวะ มึงฆ่าพวกกูมากกว่า 100 ศพแล้ว กูขอเอาคืนแม่งบ้าง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน บ้ามาก็บ้าไป ก่อการร้ายมาก็ก่อการร้ายไป ก่อการร้ายก็ก่อการร้ายวะ, ปัดโธ่!

จะเห็นได้ว่า ณ วินาทีนั้น รัฐหรือสังคมที่ถูกกระทำโดยการก่อการร้ายผิดกฎหมาย ก็อาจกลับตาลปัตรหันไปคิดแบบผู้ก่อการร้ายเปี๊ยบ, และนำไปสู่การกระทำนอกกฎหมายที่ไม่ต่างจากผู้ก่อการร้ายเลย ณ วินาทีนั้น รัฐก็อาจกลายเป็นรัฐก่อการร้าย(terrorist state) ไปได้ และสังคมก็อาจกลายเป็นสังคมที่ไม่ศิวิไลซ์(uncivil socicty) ไปได้เหมือนกัน

ทีนี้พอเข้าใจพลังของตรรกะการก่อการร้าย ที่ทำงานของมันต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของเราบางคนแล้วใช่ไหมครับ? ว่าทำไมถึงต้องอุ้มมันมั่ง ลากมันออกมายิงทิ้งมั่ง ยิงอาร์พีจีถล่มมันให้เรียบทั้งมัสยิดมั่ง เหยียบย่ำมันให้รู้ว่านรกมีจริงมั่ง? ทำไมจึง "ไม่อินังขังขอบกับชีวิตผู้บริสุทธิ์ เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้มันขี้ปะติ๋วเมื่อเทียบกับมูลเหตุความคับแค้นเดือดเนื้อร้อนใจที่ผลักดันให้พวกเขาไปก่อความรุนแรง"? ก็ทีฝ่ายมันยัง....

นายพลของเราบางท่านดูเหมือนจะคิดแบบนี้, คิดได้แค่นี้เพราะอะไร? ก็เพราะสังคมเราพยักหน้าร้องฮ้อกระทั่งปรบมือร้องเชียร์ให้ท่านคิดและทำแบบนี้, เพราะในซอกหลืบลึกๆ กลางใจพวกเรา เราเองก็คิดแบบนี้, เราเองก็สติแตกวิปริตฟั่นเฝือไปตามกระแสตรรกะของการก่อการร้ายอย่างนี้เหมือนกัน, ใช่หรือไม่?

ถึงจุดนั้น ผู้ก่อการร้าย กับ คนมลายูมุสลิมผู้บริสุทธิ์ ก็ถูกเปปนเหมารวมเข้าด้วยกัน กลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปหมด, เป็นศัตรูของรัฐ ของชาติไปด้วยกันทั้งหมดอย่างไม่จำแนกแยกแยะเลย

ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายแล้ว, ยังซ้ำร้ายต้องมากลายเป็นแพะรับบาปของเจ้าหน้าที่รัฐและเพื่อนร่วมชาติร่วมสังคมอีกเล่า!!! จะให้พวกเขาทำตัวอย่างไร? ไปอยู่ที่ใด?

4) การเปิดเกมรุกทางการเมือง : ทางออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรง
ดังนั้นเอง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งผู้คนในสังคมไทยที่เกลียดกลัวมลายูมุสลิมด้วยความไม่รู้ เหมารวมพวกเขาเข้ากับผู้ก่อการร้าย จึงกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับที่ดีที่สุดของผู้ก่อการร้ายภาคใต้มาตลอดเกือบปี ด้วยนโยบายและปฏิบัติการผิดพลาดรุนแรงซ้ำซาก จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม

รัฐและความขลาดเขลาในสังคมไทยได้กดดันผลักไสผู้คนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ที่สุดที่อยู่ตรงกลางให้ไปหาฝ่ายผู้ก่อการร้าย ไปเข้าเป็นพวกหัวรุนแรงสุดขั้ว หรือไม่ก็ต้องก้มหัวยอมจำนนต่อสภาพการเมือง ภายใต้กฎอัยการศึกอย่างที่เป็นอยู่โดยดุษณี โดยปิดทางสันติ ปิดทางการเมือง ปิดทางของฝ่ายปฏิรูปเดินสายกลาง

แทนที่จะหวาดระแวงชิงชัง ป้ายสีบิดเบือน ทางราชการและสังคมไทยควรต้อนรับการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองโดยสันติของชาวบ้าน อดทนอดกลั้นให้มาก พร้อมจะเล่นเกมด้วยและเปิดทางชวนเชิญชวนบ้านให้มาเล่นเกมการเมืองเปิดแบบเสรีประชาธิปไตย ให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

พวกเขาประท้วงยังดีกว่าไปจับปืน พวกเขาวิจารณ์ด่าว่ายังดีกว่าลอบยิงหรือวางระเบิด

และจะเปิดเกมรุกทางการเมืองด้วยเวทีเสรีประชาธิปไตยได้ดีที่สุด คล่องที่สุด ก็ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกให้แผ่กว้างออกไป และถอนทหารออกไปตั้งให้ห่างชาวบ้านชุมชนพอสมควร เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างไม่จำเป็นระหว่างชาวบ้านกับทหารผู้ถูกฝึกมาให้เป็น "นักฆ่าของรัฐ" และ "นักเทคนิคด้านความรุนแรง" ไม่ใช่นักประชาธิปไตยผู้สันทัดการวิวาทะอย่างสร้างสรรค์กับชาวบ้านผู้ชุมนุมประท้วงที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ผมเข้าใจดีว่าพวกท่านกำลังกลัว, กลัวว่าถ้าเปิดเกมการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมขึ้นมาชาวบ้านจะเรียกร้องอำนาจ จะเอาการปกครองตนเองในท้องถิ่น หรือกระทั่งจะแยกดินแดน แทนที่จะเสี่ยงเปิดเกมการเมือง ท่านจึงเลือกปราบ กดหัวชาวบ้านไม่ให้โงขึ้นมา ปิดปากชาวบ้านไม่ให้โวยกระทั่งอุ้มฆ่า...ซึ่งผลของมันก็กลับตาลปัตรไปตรงกับที่ท่านกลัวเข้าไปอีก คือชาวบ้านยิ่งอึดอัด อุกอั่งคั่งแค้น ไม่ไว้ใจรัฐ เกลียดชังรัฐกลายไปเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้ายและความรุนแรงยิ่งเพิ่มทวี

จะว่าไปแล้วสิ่งที่พวกท่านทำก็เหมือนหมอผีที่ปลุกฝีขึ้นมาหักคอตัวเองจริงๆ

ทางเดียวที่จะหายกลัว คือต้องไว้ใจ, เพราะความไว้วางใจเป็นฐานของประชาธิปไตย ขณะที่อำนาจชาวบ้านเป็นเป้าหมาย, ไว้ใจว่าพี่น้องมลายูมุสลิมภาคใต้อยากอยู่กับประเทศไทย, เขาไม่อยากแยกดินแดนไปไหน, แต่ถ้าเลือกได้และเขามีอำนาจให้มันเกิดขึ้นได้เขาต้องการอยู่ในประเทศไทยที่ดีกว่านี้ ที่ให้สิทธิเสรีภาพอำนาจปกครองตนเองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันแก่พวกเขายิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้, การปฏิเสธที่จะปฏิรูปการเมืองภาคใต้, ปฏิเสธที่จะให้ทุกสิ่งอันเขาพึงมีพึงได้ในฐานะพลเมืองไทยที่เสมอภาคต่างหากที่จะเป็นการผลักไสเขาไปสู่ความรุนแรง การก่อการร้ายและการแยกแผ่นดินออกไปหาบ้านใหม่ที่อบอุ่นปลอดภัยและเป็นมิตรกับเขากว่าปัจจุบัน

เรากำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ถ้าเราก้าวผิด ลูกหลานของเรา ของท่าน ของคนไทยทุกคนอาจต้องอยู่กับการเข่นฆ่าล้างผลาญแก้แค้นพยาบาทอาฆาตซึ่งกันและกันเองไปอีกนานนับสิบปี ทางออกจากเกมฆ่ากันและแข่งกันนับศพว่าใครฆ่าได้มากกว่าทางการทหาร ก็คือจะต้องเปิดเกมรุกทางการเมือง แต่ด้วยความเคารพ ผมเกรงว่าทางราชการทหารไทยไม่เข้าใจคำว่า "การเมือง" ที่พวกเราพูดกัน

ทุกครั้งที่ท่านได้ยินคำว่า "การเมือง" แม่ทัพนายกกองของเราส่วนใหญ่คิดถึงและเข้าใจว่ามันคือ "ปฏิบัติ การจิตวิทยาหรือ ปจว." ธรรมดาๆ แบบที่เคยฝึกและทำกันมาสมัยสงครามเย็นกับคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ ปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อแสดงความอบอุ่นโอบอ้อมอารีเอื้ออาทร เอามาเข้าค่ายฝึกอบรมวิวัฒน์พลเมืองแบบล้างสมอง ยิงเขาแล้วก็เอาไปเยียวยา จับเขาไปขึงแล้วก็พากันมาโอบกอดจับมือทักทายยิ้มแย้มก่อนปล่อยตัว หรือฆ่าแล้วก็เอาเงินไปจ่ายค่าทำขวัญให้ญาติคนตายศพละแสนบ้างในทำนองตบหัวแล้วลูบหลัง ฯลฯ

การเปิดเกมรุกทางการเมืองโดยแก่นแท้แล้วไม่ได้หมายถึงสิ่งเหล่านั้น หากที่สำคัญหมายถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน เปิดกว้างกระบวนการทางการเมืองให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมใช้อำนาจดูแลปกครองตนเองและปกป้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของตน

มีแต่การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้เท่านั้น การหยุดฆ่าและให้อภัยซึ่งกันและกันจึงจะเป็นไปได้, ความไว้วางใจกัน สัจจะความจริง และประชาธิปไตยจึงจะเกิดขึ้นได้ ดังที่ได้พิสูจน์แล้วในการปรับเปลี่ยนการเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบเพื่อยุติเงื่อนไขสงครามประชาชนกับคอมมิวนิสต์เมื่อทศวรรษที่ 2520

ทหารไม่เข้าใจ "การเมือง" ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะไม่ได้ถูกฝึกมา แต่ที่น่าสลดใจคือรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่นำทางการเมืองก็พลอยเป็นไปด้วย โดยเฉพาะตัวผู้นำที่เป็นอดีตนายตำรวจและดอกเตอร์ทางอาชญวิทยาก็ไม่สามารถให้การนำทางการเมืองหรือเปิดเกมรุกทางการเมืองต่อการก่อการร้ายได้ เพราะมองมันเป็นปฏิบัติการ "โปลิศปราบโจร" ไปหมด

รัฐบาลจึงคิดใช้แต่กำลังและความรุนแรงและอำนาจรวมศูนย์กับโจรกระจอกที่ทึกทักว่าจัดการเดือนละสิบคนไม่กี่เดือนก็หมดอยู่ตลอด เมื่อทหารและรัฐบาลไม่มีการเมืองนำ ก็ย่อมเข้าเกมของผู้ก่อการร้าย ทุกอย่างกลายเป็นประเด็นเทคนิคการทหารที่ฆ่ากันไปฆ่ากันมา ก่อการร้ายไปก็ก่อการร้ายมาไม่สิ้นสุด

เราไม่อาจรอหรือฝากความหวังในการแก้ปัญหาไว้กับภาครัฐและรัฐบาลอีกต่อไป พลังประชาสังคมต้องก้าวขึ้นมาต่อสู้กับความขลาดเขลาเกลียดชังในสังคม เปิดฉากรุกทางการเมืองเพื่อหาทางออกทางอื่นแก่ปัญหาความรุนแรงและการก่อการร้ายภาคใต้ที่เป็นทางเลือกต่างหากจากแนวทางอับจนที่รัฐบาลได้ดำเนินมา ตราบที่ไม่มีแนวทางเลือก เราก็จะถูกจำกัดกดดันให้เดินตามทางหายนะที่มีแต่ดิ่งลงเหวของรัฐบาลปัจจุบันไปเรื่อยๆ แต่เราจะแสวงหาทางเลือกนั้นอย่างไร?

ผมขอเสนอว่า :-
เปิดเวทีสาธารณะแห่งชาติในประเด็นวิสัยทัศน์และแนวทางปฏิรูปการเมืองชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอการเมืองปฏิรูปที่เป็นการเมืองทางเลือกที่จะทำให้ภาคใต้เป็นที่อยู่ร่วมกันของพี่น้องเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ได้อย่างสันติสุข

โจทย์มีอยู่ว่าเราจักต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองภาคใต้ไปอย่างไรบ้าง จึงจะทำให้ดินแดนนี้เป็นที่อยู่ร่วมกันของผู้คนพลเมืองต่างเชื้อชาติต่างศาสนาอย่างสันติ?

ทางเลือกนี้ไม่ต้องการแยกดินแดนและยืนหยัดปัดปฏิเสธความรุนแรงแต่ต้น หากขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับสภาพการเมืองชายแดนภาคใต้อย่างที่เป็นอยู่ แต่คำถามคือจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงมันไปอย่างไร คนไทยในภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศจึงจะอยู่อย่างมีความสุขร่วมกัน?

เพื่อมีโจทย์ร่วมเป็นตัวตั้งและจุดเริ่มต้นการอภิปราย เราควรนำข้อเสนอปฏิรูปการเมืองการปกครองชายแดนภาคใต้ที่สำคัญฉบับต่างๆ เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มาพินิจพิจารณา โดยเริ่มจาก "คำขอ 7 ประการ" ของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ เมื่อเดือนเมษายนปี พ.ศ.2490 ในฐานะข้อเสนอให้ปฏิรูปการเมืองการปกครองภาคใต้ภายในกรอบรัฐชาติไทยโดยไม่แยกดินแดน - มาจนกระทั่งข้อสรุปปัญหาและข้อเสนอชุดที่รองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสงไปรับฟังประชาคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเมื่อเมษายนศกนี้ เพื่อให้กลุ่มฝ่ายต่างๆ ของสังคมร่วมกันอภิปรายถกเถียงถึงความเหมาะสม

หาทางปรับแก้ ตัดทอน เพิ่มเติมข้อเสนอเหล่านี้ให้สอดคล้องทันกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบดัดแปลง บทความเรื่อง "ความมั่นคงของรัฐไทย ไม่ใช่แค่สบถและเข่นฆ่า" บทวิเคราะห์และข้อเสนอ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ

ไร้เดียงสาเกินไปที่ผู้นำประเทศจะกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์มากกว่านั้นเสียอีกที่ถูกคนร้ายสังหาร เพราะเรากำลังพูดถึงการสังหารของรัฐ ด้วยสมมติฐานที่สำคัญอย่างยิ่งว่ารัฐไม่ใช่คนร้าย และไม่มีวันที่เราควรปล่อยให้รัฐทำอะไรเหมือนคนร้ายได้เป็นอันขาด มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะรวมตัวกันเป็นรัฐ เพราะการอยู่ในรัฐหรืออยู่ในซ่องโจรจะมีค่าเท่ากัน

ทุกครั้งที่ท่านได้ยินคำว่า "การเมือง" แม่ทัพนายกกองของเราส่วนใหญ่คิดถึงและเข้าใจว่ามันคือ "ปฏิบัติ การจิตวิทยาหรือ ปจว." ธรรมดาๆ แบบที่เคยฝึกและทำกันมาสมัยสงครามเย็นกับคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ ปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อแสดงความอบอุ่นโอบอ้อมอารีเอื้ออาทร เอามาเข้าค่ายฝึกอบรมวิวัฒน์พลเมืองแบบล้างสมอง ยิงเขาแล้วก็เอาไปเยียวยา จับเขาไปขึงแล้วก็พากันมาโอบกอดจับมือทักทายยิ้มแย้มก่อนปล่อยตัว หรือฆ่าแล้วก็เอาเงินไปจ่ายค่าทำขวัญให้ญาติคนตายศพละแสนบ้างในทำนองตบหัวแล้วลูบหลัง ฯลฯ การเปิดเกมรุกทางการเมืองโดยแก่นแท้แล้วไม่ได้หมายถึงสิ่งเหล่านั้น หากที่สำคัญหมายถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน เปิดกว้างกระบวนการทางการเมืองให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมใช้อำนาจดูแลปกครอง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์