บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 477 หัวเรื่อง
๓ เรื่องเกี่ยวเนื่องกับการเมือง
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ ม.เที่ยงคืน
เกาะติดสถานการณ์ประเทศไทย
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความแสดงทัศนะเชิงวิพากษ์
ไข้หวัดนก
กรณีตากใบ และคนเดือนตุลา
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หมายเหตุ
: บทความต่อไปนี้ รวบรวมมาจากงานเขียน 3 ชิ้น ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน
๑. ปาณาติบาตกรรมจากความไม่รู้
๒. ความรุนแรงที่ไม่จำเป็นและอันตรายในภาคใต้
๓. อาถรรพณ์ของอำนาจ
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
11 หน้ากระดาษ A4)
1. ปาณาติบาตกรรมจากความไม่รู้
ในวันที่เขียนบทความนี้ กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งประกาศยืนยันว่า เสือในสวนเสือศรีราชาถึงกว่า
20 ตัวตายลงเพราะติดเชื้อไข้หวัดนก เนื่องจากกินโครงไก่สดเป็นอาหาร
นับเป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า เชื้อไข้หวัดนกอาจติดต่อถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยผ่านการกินได้ (ก่อนหน้านี้มีกรณีเด็กในภาคอีสานคนหนึ่ง ซึ่งถูกสงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนกจากการกินไก่ดิบ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจนบัดนี้) นับเป็นข้อมูลเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่เพิ่มพูนลงมาในกองความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดนก อันเป็นกองเล็กนิดเดียว เพราะมนุษย์เรามีความรู้อยู่น้อยมาก
แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าเสือติดไข้หวัดนกผ่านทางไหนกันแน่ กินเข้าไปแล้วซึมผ่านลำไส้ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกมาก เช่นเหตุใดไวรัสนี้ไม่ถูกกลไกของร่างกายเช่นน้ำย่อย ไปจนถึงเม็ดเลือดขาวทำลาย หรือเสือสัมผัสไก่ดิบโดยตรงจากวิธีการกิน (ของเสือ) แล้วไวรัสทะลุผ่านเยื่อบุโพรงจมูกเข้าไปสู่ร่างกาย เมื่อไวรัสเข้าไปสู่ร่างกายสัตว์(ประเภทต่างๆ) แล้ว มันทำงานต่อไปอย่างไร
เมื่อไม่กี่วันมานี้ หน่วยราชการแห่งหนึ่งซึ่งเที่ยวจับนกอพยพมาตรวจก็ประกาศว่า ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกในนกอพยพตัวอย่างที่ถูกจับมาตรวจทั้งหมด แน่นอนว่าเขาคงจะตรวจซ้ำอีกหลายเที่ยวจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัดกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเช่นนี้ทำให้เราควรตั้งข้อสงสัยกับสมมติฐานที่ว่า นกอพยพคือพาหะนำเอาไข้หวัดนกมาสู่สัตว์ปีกในท้องถิ่น เพราะสมมติฐานนี้ เกิดขึ้นจากการดูเส้นทางระบาดของไข้หวัดนกว่าสอดคล้องกับเส้นทางอพยพของนกเท่านั้น ไม่ได้มาจากการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างไร
หากบังเอิญฝรั่งเป็นผู้สันนิษฐาน สถานะของข้อสันนิษฐานฝรั่งจึงกลายเป็น "ความรู้" ในเมืองที่นับถือฝรั่งอย่างมัวเมา เช่นเมืองไทยไป
ตรงกันข้ามกับนกอพยพ เขาตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในฝูงนกพิราบที่พิษณุโลก และผลก็คือฆ่าหมู่นกพิราบในพิษณุโลกไปเป็นจำนวนมาก นกพิราบเป็นนกท้องถิ่นซึ่งเที่ยวบินหาอาหารเข้าไปในกรงไก่และที่อื่นๆ จนทั่ว ซ้ำยังกินอาหารประเภทเดียวกับไก่เสียอีก แปลว่าเชื้อไข้หวัดนกอยู่ในท้องถิ่นนั่นเอง และอาจติดต่อไปถึงสัตว์ปีกอื่นๆ ซึ่งแม้ไม่ได้ถูกขังอยู่ในที่เดียวกันได้ นี่ก็นับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอีกเช่นเดียวกัน และเพิ่มเข้ามาในกองความรู้กระจิริดของเราได้
คงจำกันได้ว่า เมื่อไข้หวัดนกระบาดครั้งแรก มีข้อสงสัยว่านกปากห่างอาจติดเชื้อ(หรือแม้แต่นำเชื้อ) เพราะมีนกปากห่างตายจำนวนมากกว่าปกติ มีการตรวจสอบซากแล้วพบว่า นกปากห่างไม่ได้ตายเพราะไข้หวัดนก และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีรายงานว่านกปากห่างติดเชื้อไข้หวัดนกที่ไหน นี่ก็เป็นข้อมูลที่น่าสนใจอีกเช่นกัน เพราะนกปากห่างไม่ได้มีวิถีเลี้ยงชีพอย่างเดียวกับนกพิราบ(เช่นกินอาหารต่างกัน) เป็นข้อมูลที่ช่วยเพิ่มความรู้ซึ่งมีอยู่น้อยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหมู่สัตว์ปีกได้อีกอย่างหนึ่ง
ภาพการทำปาณาติบาตกรรมอย่างมโหฬารกับไก่กลายเป็นภาพชินตาผู้คนไปเสียแล้ว แม้แต่ข่าวทีวีซึ่งอยากจะหาภาพข่าวอื่นที่ไม่ได้เชียร์รัฐบาลมาแซมบ้างยังเบื่อที่จะเสนอเลย (ยกเว้นที่สยดสยองเป็นพิเศษ เช่นต้อนเป็ดทั้งฝูงลงหลุมทั้งเป็นแล้วฝังกลบ) แต่นี่เป็นวิธีการควบคุมโรคที่ได้ผลที่สุดหรือ? คำตอบคือไม่มีใครทราบ เพราะเป็นวิธีการที่ใช้สามัญสำนึกคิดเอาเองง่ายๆ เท่านั้น ก็ในเมื่อไก่เป็นโรค ไม่รู้จะขจัดโรคอย่างไร ก็ขจัดผู้นำโรคเสียเท่านั้น ไก่กับไวรัสกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(อย่างเดียวกับเมื่อตอนที่เอดส์เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทย กระทรวงสาธารณสุขก็เคยเสนอให้เอาผู้ติดเชื้อไป "ฝังกลบ" ไว้ที่นิคมพิเศษที่คิดจะสร้างขึ้นเหมือนกัน คนกับตัวเชื้อโรคกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
วิธีการของความไม่รู้อย่างนี้ฝรั่งเห็นชอบด้วย เพราะฝรั่งเองก็ใช้วิธีอย่างนี้เหมือนกัน บังเอิญฝรั่งเป็นผู้รับซื้อเนื้อไก่รายใหญ่สุดของไทย แรงผลักดันให้ใช้วิธีนี้จึงมาจากความต้องการขายไก่เป็นสำคัญ ไม่ใช่การขจัดหรือบรรเทาโรคในเมืองไทย
การใช้วิธีการที่มาจากสามัญสำนึกไม่ใช่สิ่งผิด ความรู้ใดๆ ก็เกิดจากการทดลองตรวจสอบสามัญสำนึกทั้งสิ้น แต่ต้องตระหนักให้ชัดเจนว่าวิธีการนี้ไม่ได้มาจากความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องตรวจสอบและทดลองกับสามัญสำนึกไปพร้อมกัน เช่นหลังจากทำปาณาติบาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดกับไก่มาเป็นล้านๆ ตัวแล้วนั้น ได้ตรวจสอบสมมติฐานจากสามัญสำนึกนี้ไปถึงไหนแล้ว เช่นล้างโคตรไก่ในฟาร์มนี้แล้ว ผลทำให้ยุติการแพร่ระบาดในรัศมี 5 กม.ได้จริงแค่ไหน เปรียบเทียบกับการระบาดในฟาร์มที่ไม่ได้แจ้ง ผลการระบาดในรัศมี 5 กม.ต่างกันหรือไม่ เพียงไร เป็นต้น
ถ้าความรู้ไม่ได้เพิ่มพูนขึ้นเลยแล้ว เราจะยุติปาณาติบาตกรรมนี้ได้อย่างไร แม้แต่มองอย่างคนที่ไม่กลัวบาปกลัวกรรม วิธีการจากสามัญสำนึก (ของฝรั่ง) เช่นนี้ ทำให้ความเสี่ยงในการเลี้ยงไก่ (แม้แต่ในฟาร์มปิด) เพิ่มขึ้นอีกโข แปลว่าเนื้อไก่และไข่จะต้องมีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังจะส่งออกได้คล่องอยู่หรือ และคนจนจะได้โปรตีนราคาถูกจากเนื้อไก่และไข่บ้างไหม
ยิ่งกว่านี้สามัญสำนึกให้วิธีการที่หลากหลายกว่าหนึ่งวิธีเสมอ ได้เคยมีการทดลองวิธีการอื่นนอกจากการปาณาติบาตบ้างไหม เช่นแยกไก่ที่แสดงอาการออกไปบริบาลโดยเฉพาะ จะให้ผลที่แตกต่างจากการฆ่ายกเล้าอย่างไร มีความแตกต่างในด้านการติดเชื้อและการระบาดอย่างไร ระหว่างการเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ และการเลี้ยงไก่ปล่อยตามธรรมชาติของชาวบ้าน แม้แต่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ก็ยังน่าจะดูความต่างระหว่างการเลี้ยงในกรงตับ และการเลี้ยงในกรงรวม
คำถามง่ายๆ เหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจ จึงไม่มีโอกาสจะถามคำถามที่ยากขึ้นไปอีกเช่น เราและโลกของเราจะอยู่ร่วมกับไข้หวัดนกได้อย่างไร
ปาณาติบาตกรรมจากความไม่รู้ยังนำไปสู่คำตอบแบบไม่รู้อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการเลี้ยงฟาร์มปิด และการยกเลิกเป็ดไล่ทุ่ง เป็นคำตอบเดียว ทั้งๆ ที่คำตอบนี้ก่อให้เกิดคำถามอีกมากมายทั้งแก่เอกชนผู้เลี้ยงไก่ และแก่สังคมโดยรวม แต่ความไม่รู้ (บวกกับความโลภที่จะส่งออกเนื้อไก่และไข่) ทำให้นั่นเป็นคำตอบสุดท้าย ที่ไม่ต้องการข้อมูลความรู้อะไรมาตรวจสอบอีกเลย
ในโลกนี้มีปัญหาบางอย่างซึ่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ก็แก้ให้ลุล่วงไปในเร็ววันไม่ได้ทั้งนั้น ไข้หวัดนกเป็นอย่างหนึ่งซึ่งออกจะไม่ยุติธรรมที่จะกล่าวโทษรัฐบาลทักษิณ เพียงเพราะไม่สามารถขจัดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่น่าตำหนิมากกว่าก็คือ ตลอดกระบวนการของการต่อสู้กับไข้หวัดนกนี้ ไม่มีการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเลย เราอาจต้องเริ่มต้นจากความไม่รู้ และทำตามสามัญสำนึกของฝรั่ง แต่ไข้หวัดนกระบาดอยู่ในเมืองไทยมาเกือบปีแล้ว และเราทำปาณาติบาตกรรมกับสัตว์ปีกนานาชนิดมาจนได้ซากเป็นภูเขาเลากา เราไม่ได้เพิ่มพูนความรู้ของเรามากไปกว่าในวันแรกที่ตัดสินใจเดินตามก้นฝรั่ง
เส้นทางเดินของเราในเรื่องนี้จึงต้องอบอวลด้วยกลิ่นเหม็นไปตลอด ทั้งจากตดฝรั่งและซากไก่เน่า รัฐบาลที่ไม่ยอมสร้างความรู้อันเป็นทางเลือกของสังคม ย่อมเป็นรัฐบาลที่โหดร้ายและมองปาณาติบาตกรรมเป็นทางแก้ปัญหาอยู่ทางเดียวตลอดไป
เช่นเดียวกับกรณีความไม่สงบในภาคใต้ ปัญหาถูกสั่งสมมานานจนเกินกว่าจะหาทางออกกันง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการรื้อฟื้น ศอ.บต.กลับคืนมา หรือการใช้ความรุนแรงตอบโต้และใช้อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมอย่างเข้มงวด ฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหากันนาน รัฐบาลทักษิณไม่ควรถูกตำหนิเพียงเพราะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
แต่ก็เช่นเดียวกับไข้หวัดนก ตลอดกระบวนการกดดันอย่างหนักซึ่งประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ได้รับตลอดมา รัฐบาลไม่ได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของสังคมชาวมลายูมุสลิมเลย ได้แต่นึกเอาเองจากสามัญสำนึก เช่นจัดการกับตาดีกาบ้าง ปอเนาะบ้าง มองความยากจนแคบๆ เพียงเงินในกระเป๋า โดยไม่สนใจการเข้าไม่ถึงทรัพยากรของชาวบ้าน ฯลฯ
ผลก็คือปาณาติบาตกรรมกลายเป็นคำตอบที่เหลืออยู่เกือบจะอันเดียว หรืออย่างน้อยก็เป็นคำตอบที่ไม่มีใครคิดจะหลีกเลี่ยง ดังเช่นกรณีการสังหารหมู่ที่กรือเซะ แม้คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเองจะวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ แต่ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการกระทำเกินกว่าเหตุนั้น ซ้ำยังได้รับเชิญให้กลับไปปฏิบัติงานในหน้าที่สำคัญเช่นนั้นในพื้นที่อีก
ความไม่รู้นำไปสู่ปาณาติบาตกรรมได้ง่าย
เพราะความรุนแรงมักเป็นความรู้เดียวที่ติดอยู่ปลายจมูกของคนที่ดูหมิ่นการเรียนรู้
สังคมไทยเข้าไปติดอยู่ในบ่วงของความรุนแรงอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นไปอีก ภายใต้รัฐบาลทักษิณที่มองการเรียนรู้เป็นการบ่อนทำลายนโยบายซึ่งเกิดจากความไม่รู้ของรัฐบาล
251047
2. ความรุนแรงที่ไม่จำเป็นและอันตรายในภาคใต้
หน่วยข่าวกรองของรัฐหน่วยหนึ่งให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า มีบุคคลต้องสงสัยในหมู่ผู้นำทางศาสนา
และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยมีชื่อในภาคใต้บางคน ปลุกปั่นให้ประชาชนชาวมลายูมุสลิมเรียกร้องเขตปกครองพิเศษสำหรับพื้นที่สาม-สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผมไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า เหตุใดผู้ที่เรียกร้องเช่นนี้จึง "น่าสงสัย" แก่หน่วยข่าวกรอง เขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ผมเองก็อยากจะเรียกร้องอย่างเดียวกัน แต่ไม่ได้เรียกร้องให้แก่สาม-สี่จังหวัดภาคใต้เท่านั้น อยากเรียกร้องให้รัฐส่วนกลางคืนอำนาจการบริหารจัดการตัวเองแก่ประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศไทย อันที่จริงรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐทำอย่างนี้ด้วยซ้ำในนามของการกระจายอำนาจ
ยิ่งไปกว่าไม่ผิดกฎหมาย ข้อเรียกร้องอย่างนี้(เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของหะยีสุหรง) แสดงว่าผู้เรียกร้องไม่ต้องการ "แยกดินแดน" เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือสิทธิเสรีภาพที่อยู่ในกรอบของราชอาณาจักรไทย ไม่ได้มุ่งไปแสวงหาในประเทศที่จะสถาปนาขึ้นใหม่แต่อย่างใด
เรามีหน่วยข่าวกรองที่ไม่สามารถแยกได้ว่า กิจกรรมอะไรที่ควรเฝ้าจับตามอง และกิจกรรมอะไรที่เป็นสัญญาณไปในทางที่ยิ่งเพิ่มเสถียรภาพและบุรณภาพของรัฐ ปัญหา "การข่าว" ของเราจึงมีมากกว่าไร้เอกภาพในการบริหารจัดการเท่านั้น แท้จริงแล้วคุณภาพงานข่าวของหน่วยสืบราชการลับเหล่านี้(ขอประทานโทษ) ห่วยแตก
และขอประทานโทษอีกที ผมไม่เคยเห็นหน่วยข่าวกรองที่ไหนในโลกเขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมากมายเหมือนเมืองไทย แม้จะมีเหตุผลในการเฝ้าจับตามองใครก็ตาม ทำไมต้องโพนทะนา นอกจากเพื่อกลบเกลื่อนความ "ห่วยแตก" ในงานของตัวเท่านั้น
และความ "ห่วยแตก" นี้นำไปสู่ความรุนแรงที่ยิ่งทำให้สถานการณ์ในภาคใต้เสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว แต่จะโทษเฉพาะหน่วยข่าวกรองก็ไม่เป็นธรรมนัก เพราะผู้นำของเราเองที่ไม่ยอมใช้สติปัญญาที่อ้างว่ามีมากมายนั้น "กรอง" ข่าวกรองที่ส่งถึงมือตัวต่างหาก การตัดสินใจจึงผิดตลอดมา ผิดเพราะมาจากฐานความเข้าใจที่ผิด และผิดเพราะความรุนแรง(ในทุกความหมาย) คือคำตอบเพียงอันเดียวที่ตัวรู้จักในชีวิต
อย่างการตายอย่างน่าอนาถของผู้ประท้วงถึง 81+6 ศพที่ตากใบเมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง
เริ่มจากตำรวจไปจับอาสาสมัครป้องกันตนเองที่ฝ่ายทหารจัดตั้งขึ้น 6 คน เพราะให้การเท็จว่าถูกปล้นปืน แท้จริงแล้วพวกเขามอบปืนให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบโดยดีต่างหาก
แต่ข่าวนี้เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้านั้นตั้งเกือบสองสัปดาห์มาแล้ว เพราะการสอบสวนของฝ่ายทหารพบว่าเหตุการณ์ปล้นปืนตามที่กล่าวอ้างนั้นไม่จริง ในที่สุดบุคคลเหล่านี้ก็ยอมรับสารภาพว่ากุเรื่องขึ้นเอง เนื่องจากถูกฝ่ายก่อความไม่สงบข่มขู่คุกคามว่า จะสังหารญาติพี่น้องของอาสาสมัครเหล่านี้ ถ้าไม่นำปืนไปมอบให้แก่ผู้ก่อความไม่สงบ
มองในแง่การข่าว นี่เป็นปมเงื่อนสำคัญที่จะทำให้สืบลึกลงไปถึงตัวผู้ก่อความไม่สงบได้อีกมาก เช่นปิดข่าวแล้วยอมรับว่าคนเหล่านี้ถูกปล้นปืนไปจริง ในขณะที่เกลี้ยกล่อมจนได้ชื่อของผู้ที่ข่มขู่คุกคามเป็นต้น กะอีแค่ปืน 6 กระบอก ไม่ทำให้ใครแข็งแรงขึ้นหรืออ่อนแอลงแน่ ส่วนในแง่ของความจริงที่คนกลุ่มนี้ยอมสารภาพ ก็สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนอีกหลายจุดในการก่อตั้งกองกำลังรักษาตนเองในหมู่บ้าน หากเอามาใช้ในการปรับแก้ก็จะได้กองกำลังคุ้มครองตนเองที่มีสมรรถภาพมากขึ้นในอนาคต
แต่ตำรวจกลับนำกำลังไปจับกุมบุคคลเหล่านี้ เพื่อเอาตัวมาดำเนินการตามกฎหมาย ข้อหาแจ้งความเท็จ
ตั้งแต่นี้ต่อไปกองทัพจะไปจัดกองกำลังรักษาตนเองได้อย่างไร นอกจากตัวผู้เป็นอาสาสมัครจะต้องเสี่ยงชีวิตตนเองแล้ว ยังเอาชีวิตญาติพี่น้องทั้งหมดเข้าไปเสี่ยงด้วย ยอมจำนนต่อคำขู่คุกคามของฝ่ายตรงข้าม(ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นมามากแล้วว่า สามารถทำตามคำขู่ได้จริง) กลับกลายเป็นผู้ต้องหาของตำรวจ
ถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งลงไปดูเหตุการณ์ด้วยตนเองไม่อยากทราบ แต่ผมอยากทราบว่าตำรวจคนไหนเป็นผู้สั่งจับกุม เขาคิดอย่างไร และคิดอย่างนั้นทำไม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนอย่างนี้
แล้วการชุมนุมประท้วงก็เกิดขึ้นขนานใหญ่ ผู้คนนับเป็นพัน(ถูกจับกุมไปกว่า 1,300 ที่ถูกสกัดไว้มิให้เข้ามาร่วมประท้วงอีกนับเป็นพัน รวมทั้งหมดแล้วไม่ทราบว่าจะกี่พันคน) เดินทางจากทั่วสารทิศเข้ามาร่วมกันที่สถานีตำรวจ
เหตุใดจึงมีคนมากมายทั่วสารทิศเช่นนี้ ผมตอบไม่ได้ แต่ไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้ถูกจ้างมาคนละ 200 บาท อย่างที่สื่อลงเป็นข่าว เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ว่าใครจะได้อะไรจากการอยู่เบื้องหลังการประท้วง ถ้าผู้ก่อความไม่สงบเป็นฝ่ายจ้างก็นับว่าน่าอัศจรรย์ เพราะด้วยการลงทุนน้อยกว่านี้ เขาประสบความสำเร็จในการก่อให้เกิด "ความไม่สงบ" อย่างกว้างขวางทั่วดินแดนแถบนี้อยู่แล้ว ถ้านักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติอยู่เบื้องหลัง เขาจะทำเพื่ออะไร หากต้องการคะแนนเสียง ก็เข้าไปขอประกันตัวผู้ต้องหาอย่างเปิดเผย มิทำคะแนนเสียงได้มากกว่าหรอกหรือ
ยิ่งการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาทดังที่ท่านนายกฯพยายามเบี่ยงประเด็น ผมยิ่งไม่เชื่อ และผมไม่คิดว่าจะมีคนที่มีสติสัมปชัญญะคนใดเชื่อด้วย อาการมึนเมา(จากเหล้าหรือสารอื่นก็ตาม) เป็นอันตรายอย่างยิ่งในการประท้วงทุกชนิด ใครที่เป็นผู้นำการประท้วงไม่รู้แค่นี้ จะไปจัดตั้งการประท้วงขนาดใหญ่อย่างนี้ไม่ได้แน่
อย่างไรก็ตาม ผมอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดจึงมีการประท้วงได้ขนาดใหญ่ในเวลาอันสั้นเช่นนี้ ผมไม่ปฏิเสธว่าต้องมีการจัดองค์กรในรูปใดรูปหนึ่ง แม้อย่างไม่เป็นทางการนักก็ตาม และตรงนี้แหละที่ผมพบว่าเราแทบไม่มีความรู้ในด้านการจัดองค์กรของชาวบ้านมลายูมุสลิมเอาเลย เขามีเครือข่ายความสัมพันธ์กันอย่างไร ขอบเขตของเครือข่ายนั้นกว้างขวางเพียงใด และสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการทางสังคมและการเมืองได้ในระดับใดบ้าง
ผมไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ในลักษณะสมาคมลับ แต่หมายถึงความสัมพันธ์ซึ่งมีเป็นปกติในสังคมและวัฒนธรรมของเขา ซึ่งอาจใช้อยู่ในทางศาสนาหรือในทางอื่นๆ เป็นปกติอยู่แล้วนี่แหละ
ความไม่รู้นี้เป็นความอ่อนแอของสังคมไทยทั้งหมดที่ไม่เคยใส่ใจกับสังคมและวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้ ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ผมอยากเห็นผู้นำของประเทศรู้จักเคารพความไม่รู้บ้าง อย่าอวดรู้ไปหมด แล้วตัดสินใจไปในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างที่ได้เกิดขึ้นอยู่เสมอในกรณีภาคใต้
การประท้วงโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิ์ของพลเมืองไทยทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ยิ่งไปกว่านั้นการประท้วงยังแสดงว่าประชาชนที่เข้าร่วมต่างมองเห็นประเทศไทยเป็นเวทีการต่อสู้ของตัว เปรียบเทียบกับผู้ก่อความไม่สงบซึ่งไม่ต้องการใช้เวทีนี้เลย สิ่งที่รัฐไทยควรเลือกคืออะไรก็เห็นได้ชัดอยู่แล้ว นั่นคือทำให้เวทีนี้เป็นเวทีแห่งการต่อรองโดยสงบของคนทุกกลุ่มได้จริง นี่คือการสร้างพันธะต่อชาติยิ่งกว่าคำปลุกใจทั้งหลาย ผลที่ได้ไม่เกิดเฉพาะผู้ร่วมประท้วงเท่านั้น แม้แต่กลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมก็จะเกิดความวางใจที่จะใช้เวทีนี้สำหรับการต่อรองมากขึ้น นั่นก็ยิ่งเป็นการดีแก่ประเทศไทยไม่ใช่หรือ
ตราบเท่าที่ผู้ประท้วงยังไม่ได้คุกคามที่จะใช้กำลังสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของฝ่ายราชการ(ซึ่งกองกำลังฝ่ายรัฐได้เข้าประจำสถานที่ตั้งอย่างล้นเหลือจนกระทั่งภัยคุกคามนี้ไม่มีแล้ว) แม้ฝ่ายผู้ประท้วงยังไม่ยอมเจรจา ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะประท้วง ถ้าแม้แต่โต๊ะครูหรือญาติของฝ่ายประท้วงยังไม่สามารถนำการประท้วงไปสู่การเจรจาได้ ราชการควรยอมถอยมาสู่การเจรจาเพื่อให้เกิดการเจรจา โดยยังไม่ต้องมีคำขาดว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อยผู้ต้องหา
ระหว่างผู้ประท้วง และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ใครจะอดทนต่อสถานการณ์ได้ยาวนานกว่ากัน ผมคิดอย่างไรก็คิดไม่เห็นว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะแพ้เปรียบตรงไหน อย่าลืมว่าในระหว่างนั้น รัฐยังสามารถปฏิบัติการทางจิตวิทยากับประชาชนในวงกว้างได้ไปพร้อมกันด้วย
ความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในภาคใต้ครั้งนี้ไม่จำเป็น คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีหลังกลับจากสถานที่เกิดเหตุ ยืนยันความถูกต้องของการปฏิบัติการ พร้อมทั้งอ้างการรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับเพิ่มความรุนแรงฝ่ายรัฐให้หนักมากขึ้น เพราะปิดทางออกไปสู่หนทางสงบอย่างอื่นแทบทั้งหมด จนกระทั่งความหวังที่จะเห็นการแก้ปัญหาภาคใต้โดยสงบห่างไกลออกไปอีกลิบลับ อย่างน้อยก็ต้องรอจนกว่าจะพ้นสมัยของนายกรัฐมนตรีคนนี้ซึ่งนิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาทุกปัญหาตลอดมา
และในบรรดาฝ่ายต่างๆ ที่ทำให้ความรุนแรงในภาคใต้ลุกลามมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งนั้น ผมอยากจะโทษสื่อทุกประเภท ในวันที่ 25-26 ต.ค.(และอันที่จริงจะพูดว่าจนถึงวันนี้ก็ได้) สื่อเสนอข่าวตามที่รัฐป้อนให้ทุกอย่าง นับตั้งแต่เมาเหล้าแล้วแก้เป็นเมาสารอื่น ถูกจ้างมาหัวละ 200 บาท มีผู้ปลุกปั่นยุยงอยู่เบื้องหลัง มีการเตรียมการมาก่อนอย่างดี เชื่อมโยงกับพวกปล้นปืนในเดือน ม.ค. ฯลฯ ขอประทานโทษ ท่านไม่เคยคิดจะคุยกับชาวบ้านและแหล่งข่าวอื่นเพื่อสร้างสมดุลของข่าวบ้างเลยหรือ ถ้าอย่างนั้นจะมีสื่อไว้ทำไม มีแค่-กรมกร๊วกกรมเดียวก็พอแล้ว
ถ้าจะมีใครที่ต้องขอโทษประชาชนในภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับเล็กที่ถูกทำร้ายทั้งหมด สื่อควรเป็นคนแรกๆ ที่ต้องขอโทษ เพราะท่านคือคนที่ช่วยราดน้ำมันลงบนกองเพลิงอย่างเมามันด้วยคนหนึ่ง
3. อาถรรพณ์ของอำนาจ
การถุ้งเถียงทวงหนี้กันของ "คนเดือนตุลา" นั้นน่าสนุกดี จนผมอดร่วมวงไม่ได้
อันที่จริง "คนเดือนตุลา" หมายความว่าอย่างไรนั้นยังไม่เป็นที่แน่นอนนัก และส่วนหนึ่งของการตอบโต้ของ "คนเดือนตุลา" ในซีกรัฐบาล ก็มาจากการใช้ความหมายที่ไม่ตรงกับฝ่าย "ลูกโดม"
จดหมายเปิดผนึกของ "คนเดือนตุลา" ฝ่ายลูกโดมนั้นใช้ความหมายในเชิงอุดมคติ นั่นก็คือ นอกจากมีบทบาทต่อสู้และปกป้องประชาธิปไตยในเดือนตุลาเมื่อปี 2516 หรือ 2519 แล้ว ยังหมายถึงพันธะทางใจที่มีต่อประชาธิปไตยและประชาชนอย่างไม่เสื่อมคลายตลอดไปด้วย
แม้ความหมายนี้ไม่ใช่ความหมายเดียวของ "คนเดือนตุลา" แต่ปฏิเสธได้ยากว่า นี่เป็นความหมายที่ถูกโฆษณามากที่สุด ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ, งานนิทรรศการ, การอ้างถึง ฯลฯ ฉะนั้นถึงแม้ใครไม่คิดว่าตัวเป็น "คนเดือนตุลา" ในความหมายนี้ ก็น่าจะรู้ว่า "ลูกโดม" หมายถึงอะไร
แต่นั่นก็ไม่แน่เสมอไปนะครับ
เสี่ยอดิศร เพียงเกษ เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ไม่ยอมรับรู้ความหมายอันนี้เอาเลย ในฐานะของ "คนเดือนตุลา" ซึ่งอยู่ซีกสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เขาตอบโต้จดหมายเปิดผนึกของ.."คนเดือนตุลา" ที่เป็นลูกโดมว่า คนเราจะเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่กลางถนนตลอดไปไม่ได้ ถ้าคิดว่าคนอย่างเขาจะลาออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนั้นอีก เขาถามว่า "ฝันไปหรือเปล่า?"
ครับตรงไปตรงมาดีจังเลย ตรงเสียจนผมไม่แน่ใจว่าเสี่ยไม่รู้ความหมายของ "คนเดือนตุลา" ในเชิงอุดมคติจริงๆ หรือแกล้งนิยามความหมายของ "คนเดือนตุลา"เสียใหม่ให้ไร้ความหมายกันแน่ ที่ว่าไร้ความหมายก็เพราะ "เดือนตุลา" กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเดียว คือกลางถนนอย่างที่ขบวนการนักศึกษาใช้ในช่วง 2516-19 เท่านั้น กลางถนนจึงไม่ได้เป็นเพียงยุทธวิธี แต่เป็นทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไปพร้อมกัน
นัยยะที่เสี่ยอดิศรอาจไม่ได้ตั้งใจจะหมายถึงก็คือ ถ้ากระนั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "คนเดือนตุลา" ในช่วงนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการเต้นแร็พกลางถนน...นอกจากสนุกดีแล้ว ยังมีคนชมจำนวนมากด้วย
ท่านนายกฯไม่รับรู้ความหมายเชิงอุดมคติของ "คนเดือนตุลา" ได้สวยกว่า ท่านกล่าวว่า ท่านไม่ใช่ "คนเดือนตุลา" เพราะท่านเกิดในเดือนกรกฎา ผมเชื่อว่าคนอีกมากคงกระอักกระอ่วนโดยบริสุทธิ์ใจที่จะประกาศความเป็น "คนเดือนตุลา" หรือแม้แต่ประกาศความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ "คนเดือนตุลา" เพราะวลีนี้นอกจากมีความหมายเชิงอุดมคติอย่างที่กล่าวแล้ว(ซึ่งทำให้ใครๆ ก็สามารถเป็น "คนเดือนตุลา" ได้) ยังมีความหมายในเชิงความเป็นจริงอย่างไม่แยกจากกันด้วย หมายความว่าใครจะเป็น "คนเดือนตุลา" ได้ ต้องมีบทบาทในช่วงนั้นในชีวิตจริงด้วย
ไม่อย่างนั้นลูกโดมจะมีจดหมายไปถึง "คนเดือนตุลา" ในซีกรัฐบาลได้อย่างไร จดหมายน่าจะจ่าหน้าถึงใครก็ตามที่สนับสนุนประชาธิปไตยและประชาชนทุกคนมากกว่า ซ้ำยังลงนามโดย "คนเดือนตุลา" ในความหมายจริงเสียอีก
อย่างไรก็ตาม "คนเดือนตุลา" จำนวนไม่น้อยที่ได้รับจดหมายจากลูกโดม เคยอยู่ในบัญชีรับเงินเดือนของคุณทักษิณ ชินวัตร มาตั้งนานแล้ว คำขอร้องของลูกโดมให้แยกวงตอนนี้จึงดูจะสายเกินไปหน่อยกระมัง ผมยังออกจะแปลกใจด้วยซ้ำว่า เหตุใดลูกโดมจึงไร้เดียงสากับเนื้อแท้ของ "คนเดือนตุลา" ที่อยู่กับรัฐบาลทักษิณได้ถึงขนาดนี้ หรือมนต์ของ "เดือนตุลา" มันปิดบังดวงตาของเขา
คำตอบโต้ที่น่าสนใจกว่ามาจากรัฐมนตรี "คนเดือนตุลา" อีกหลายคนที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลทักษิณ
โดยสรุปรวมๆ แล้ว คนเหล่านี้ยังพยายามจะรักษาความหมายเชิงอุดมคติของ "คนเดือนตุลา" ไว้ (โดยเฉพาะรักษาไว้เหมือนเป็นคุณสมบัติของตัวเองสิครับ) พวกเขากล่าวสอดคล้องกันว่า "คนเดือนตุลา" ด้วยกันน่าจะได้พูดคุยกันมากกว่า(เขียนจดหมายประจานกันแบบนี้) พวกเขาจึงยินดีอย่างยิ่งที่จะให้เพื่อน "คนเดือนตุลา" ได้เคาะประตูห้องเยี่ยมหน้ามาคุยกันบ้าง
หนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวนี้อดไม่ได้ที่จะแทรกข้อความไว้ด้วยว่า ไม่ได้มีคำเชิญเป็นทางการ
แปลว่า "คนเดือนตุลา" ลูกโดมน่าจะเดินไปที่กระทรวง แล้วก็อาดๆ ไปเคาะประตูห้องรัฐมนตรี ขอกาแฟกินสักถ้วย เปิดการสนทนากันได้เลย ผมไม่ทราบว่าหน้าห้องของท่านรัฐมนตรีเหล่านี้เป็น "คนเดือนตุลา" ด้วยกันหรือไม่ ถึงใช่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า เขายังเห็นความสำคัญของความเป็น " คนเดือนตุลา" มากพอที่จะเรียนท่านรัฐมนตรีหรือไม่ว่า เฮ้ยพวกเราขอพบว่ะ
ถึงจะชวนไปพบเพื่อสนทนากันด้วยความจริงใจหรือไม่เพียงใดก็ตาม อย่างน้อยท่านรัฐมนตรีเหล่านี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธความหมายเชิงอุดมคติของ "คนเดือนตุลา" และท่านเองก็ส่อนัยยะให้เห็นว่าอั๊วก็ยังไม่เปลี่ยน เหมือนเดิมว่ะ ทำเพื่อประชาชนนะเฟ้ย
แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผมก็คือ ท่านพูด "ลง" มายังเพื่อนๆ "คนเดือนตุลา" ว่า หลายเรื่องด้วยกันนั้นคนนอกไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ เพราะมีข้อมูลไม่พอและไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง
โอ้โฮ คำอธิบายแบบนี้ช่างชินหูคนอายุขนาดผมเสียนี่กระไร ผมได้ยินคำอธิบายของคนที่อยู่ในอำนาจแบบนี้มาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นี่ว่าเฉพาะในชั่วชีวิตของผมนะครับ ถ้าขยันไปเปิดเอกสารประวัติศาสตร์ดูเรื่องก่อนเกิด ก็จะพบคำอธิบายอย่างนี้มาตั้งแต่ก่อน 2475 (น่าสังเกตด้วยนะครับว่า การรัฐประหารของระบอบถนอม-ประภาส ในปี 2514 ซึ่ง ..."คนเดือนตุลา" ต่อต้านนั้น ก็มีคำอธิบายอย่างนี้แหละ คือความจำเป็นที่คนนอกไม่มีทางจะรู้ได้)
ไม่ต้องพูดมากก็เห็นอยู่แล้วว่าคำอธิบายอย่างนี้เป็นคำแก้ตัว แต่เป็นคำแก้ตัวที่น่ารักนะครับ เพราะไม่ได้ประณามหยามเหยียดความเห็นแย้งมากไปกว่าความไม่รู้ กลับยกย่องว่ามีเจตนาที่ดีไม่ต่างจากคนที่ถืออำนาจอยู่ในมือ (เจตนาดีที่ไม่ต้องกล่าวออกมาคือผลประโยชน์ส่วนรวมไงครับ) เพียงแต่ถ้าเอ็งรู้อะไรอย่างที่ข้ารู้ เอ็งก็ต้องทำอย่างนี้แหละวะ
ที่น่ารักหรือน่ากระทืบอีกอย่างหนึ่งในคำแก้ตัวนี้ก็คือ ด้วยเหตุดังนั้น การตรวจสอบหรือการมีส่วนร่วมของคนนอก ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีประโยชน์เท่าไร ถึงอย่างไรคนนอกก็ไม่มีข้อมูลเพียงพอจะร่วมตัดสินใจได้อยู่แล้ว เข้ามาร่วมก็ไม่มีประโยชน์อะไร รังแต่จะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันเปล่าๆ
สมกับที่เป็นคำกล่าวของ aristocrat ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเสนาบดีของรัฐบาลทักษิณ เพราะคนสองจำพวกนี้เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งที่ ไม่เคยมีศรัทธาแท้จริงต่อประชาชน และรังเกียจการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทุกอย่าง พรรคหรือท่านนายกฯทักษิณเท่านั้น ที่มีข้อมูลและความแม่นยำทางทฤษฎีหรือปัญญาญาณพอจะตัดสินใจทุกเรื่องได้
ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในคำตอบโต้ของท่านรัฐมนตรี "คนเดือนตุลา" ก็คือ ท่านกล่าวว่า "คนเดือนตุลา" ด้วยกันไม่ควรจะ "ใจร้อน" อย่างที่เคย "ใจร้อน" มาแล้วเมื่อ 31 ปีที่แล้วมา
ครับ "เดือนตุลา" ที่เราขนลุกขนพองเวลาได้ยินใครเอ่ยถึงนั้น เอาเข้าจริงแล้วในความเห็นของ "คนเดือนตุลา" ด้วยกันที่ได้ถืออำนาจบ้านเมืองเวลานี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่าความ "ใจร้อน" ของเด็กหนุ่มเด็กสาวเท่านั้น คลั่งวิชาน่ะครับ เพราะครูมันแรง
และเช่นเดียวกับคำแก้ตัวข้างต้น "ใจร้อน" ก็เป็นคำอธิบายของชนชั้นปกครองในเมืองไทยมาตั้งแต่ก่อน 2475 เหมือนกัน จนทุกวันนี้ประวัติศาสตร์ไทยยังอธิบายการปฏิวัติ 2475 ว่า "ใจร้อน" อยู่เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตั้งพระทัยจะนำประชาธิปไตยมาสู่สังคมไทยอยู่แล้ว
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก่อน 2516 ก็ถูกชนชั้นปกครองอธิบายว่าเป็น "ใจร้อน" เป็นคำอธิบายที่น่ารักเหมือนกัน เพราะยอมรับเจตนาดีของผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง เพียงแต่ไม่ดูจังหวะ, โอกาส, หรือความเหมาะสมให้ถ้วนถี่เท่านั้น "ใจร้อน" จึงเป็นคำอธิบายที่เหมาะจะใช้กับผู้ต่อต้านที่เรากระทืบไม่ได้(เพราะไม่อยากกระทืบหรือทำไม่ได้ก็ตาม) เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานของคนชั้นกลางซึ่งใกล้ชิดกับเผด็จการทหารทั้งนั้น
แต่ "ใจร้อน" เป็นคำอธิบายที่ไม่เหมาะจะใช้กับผู้ต่อต้านคัดค้านที่เป็นคนนอก เช่น สมัชชาคนจน, ผู้ต่อต้านท่อก๊าซที่จะนะ, หรือชาวสลัมที่อยากได้นโยบายซึ่งให้ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ฯลฯ เพราะไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องถนอมน้ำใจกัน ถ้าห้ามไม่ฟังก็กระทืบได้เลย ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงไม่เคยได้ยินคำอธิบายว่า "ใจร้อน" มานาน เพราะการเคลื่อนไหวในระยะหลังนี้ล้วนมาจากกลุ่มคนนอก หรือคนจนคนด้อยโอกาส ซึ่งถ้าไม่ถูกปั่นหัวให้มาชุมนุมประท้วง ก็ต้องถูกจ้างมาแหงแซะ
ผมคุยมาตั้งนาน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปสั้นๆ นิดเดียวว่า ถ้ามองในทางกลับ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชนชั้นปกครองของไทยไม่ได้พัฒนาข้ออ้างความชอบธรรมอะไรขึ้นใหม่เลย แม้คนที่เข้ามาสังกัดชนชั้นปกครองอาจมีปูมหลังที่แตกต่างกันเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่ตัวระบบแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรจากคนอื่นที่เคยมีอำนาจมาก่อน
ในขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอันมากแล้ว ข้ออ้างความชอบธรรมเหล่านี้จึงไร้ความหมายลงทุกที ยิ่งคิดถึงกลุ่มคนหน้าใหม่คือคนชั้นล่างที่เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ชนชั้นปกครองไทยแทบจะไม่มีข้ออ้างความชอบธรรมใดๆ ในการเผชิญกับการเคลื่อนไหวของคนหน้าใหม่เหล่านี้เลย และนี่เป็นเหตุให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงได้ยาก
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
คำตอบโต้ของท่านรัฐมนตรี "คนเดือนตุลา" ก็คือ ท่านกล่าวว่า "คนเดือนตุลา" ด้วยกันไม่ควรจะ "ใจร้อน" อย่างที่เคย "ใจร้อน" มาแล้วเมื่อ 31 ปีที่แล้วมา... ครับ "เดือนตุลา" ที่เราขนลุกขนพองเวลาได้ยินใครเอ่ยถึงนั้น เอาเข้าจริงแล้วในความเห็นของ "คนเดือนตุลา" ด้วยกันที่ได้ถืออำนาจบ้านเมืองเวลานี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่าความ "ใจร้อน" ของเด็กหนุ่มเด็กสาวเท่านั้น คลั่งวิชาน่ะครับ เพราะครูมันแรง
อย่างไรก็ตาม ผมอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดจึงมีการประท้วงได้ขนาดใหญ่ในเวลาอันสั้นเช่นนี้ ผมไม่ปฏิเสธว่าต้องมีการจัดองค์กรในรูปใดรูปหนึ่ง แม้อย่างไม่เป็นทางการนักก็ตาม และตรงนี้แหละที่ผมพบว่าเราแทบไม่มีความรู้ในด้านการจัดองค์กรของชาวบ้านมลายูมุสลิมเอาเลย เขามีเครือข่ายความสัมพันธ์กันอย่างไร ขอบเขตของเครือข่ายนั้นกว้างขวางเพียงใด และสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการทางสังคมและการเมืองได้ในระดับใดบ้าง ผมไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ในลักษณะสมาคมลับ แต่หมายถึงความสัมพันธ์ซึ่งมีเป็นปกติในสังคมและวัฒนธรรมของเขา ซึ่งอาจใช้อยู่ในทางศาสนาหรือในทางอื่นๆ เป็นปกติอยู่แล้วนี่แหละ ความไม่รู้นี้เป็นความอ่อนแอของสังคมไทยทั้งหมดที่ไม่เคยใส่ใจกับสังคมและวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมเหล่านี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ
เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์