บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 464 หัวเรื่อง
อำนาจนิยมในโรงเรียน
สมชาย บำรุงวงศ์
(นักวิชาการอิสระ)
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The
Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชุดความรู้ความคิด - โรงเรียนเที่ยงคืน
โต๊ะเรียน
วิชา ความกลัว และการลงโทษ
สมชาย
บำรุงวงศ์
(นักวิชาการอิสระ)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 464
จากบทความเดิมชื่อ : "ทรงผม
หูขาด และระเบียบ" สะท้อนอะไรในระบบโรงเรียน?
ได้รับจากผู้เขียนวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๗
หมายเหตุ : บทความเดิมชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่
บนเว็ปไซท์ของ ม.เที่ยงคืน เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
5 หน้ากระดาษ A4)
อันเนื่องมาจากกระทู้ "ทรงผม หูขาด และระเบียบ" สะท้อนอะไรในระบบโรงเรียน?
ผมได้อ่านกระทู้ชื่อนี้บนกระดานข่าวของเวบไซต์เสมสิกขาลัย กระทู้นี้ปะหน้าด้วยข่าวกรณีครูคนหนึ่ง
ขริบผมนักเรียนหญิงที่ไว้ผมผิดระเบียบ แต่กรรไกรพลาดไปตัดเอาใบหูขาด (มติชน 3
ก.ย. 2547) จากนั้นต่อด้วยความคิดเห็นต่อกฎระเบียบข้อบังคับของระบบโรงเรียน ซึ่งเขียนขึ้นก่อนเกิดข่าวดังกล่าวไม่นาน
มีการเข้ามาเขียนแสดงความเห็นระบายความอัดอั้นกันมากมายยาวเหยียด ส่วนใหญ่สะท้อนออกมาจากนักเรียน
ที่เหลือมาจากครู-ผู้ปกครอง เนื้อหาที่มาจากฝ่ายนักเรียนนั้น เห็นได้ว่าเป็นการถั่งทะลักออกมาจากความอัดอั้นตันใจของพวกเขาเหล่านั้น
ที่เก็บกดสะสมมานาน.......
คิดตามข่าว ผมเดาของผมเองว่า ครูที่ขริบผมคนนั้นคงกระทำไปด้วยบันดาลโทสะอยู่บ้าง.........
ผมลองจินตนาการเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่งดังนี้ เช้าวันนั้น เมื่อมีการตรวจผมนักเรียน ครูคนนั้นโดยหน้าที่จึงถือกรรไกรเดินตรวจ ทุกครั้งที่ต้องทำหน้าที่นี้ อารมณ์เขามักไม่สู้ดี ด้วยรู้ว่าประเดี๋ยวก็ต้องเจอกับเด็กที่ทรงผมผิดระเบียบเข้าสักคนสองคน โดยส่วนตัวเขาอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบนี้ก็ย่อมเป็นไปได้ สมมติว่าเขาไม่เห็นด้วย นั่นย่อมเป็นไปได้ว่า เขาน่าจะเห็นใจเด็กเหล่านั้นอยู่บ้าง ซึ่งมันคงช่วยให้เขาไม่มีอารมณ์กับเรื่องนี้มากนัก อย่างประนีประนอม เขาเคยขอให้ฝ่ายปกครองลดหย่อนความเข้มงวดเรื่องนี้ลงบ้าง แต่ก็ไม่เป็นผล เขารู้ว่าหากยังดึงดันต่อไป เขานั่นเองจะเดือดร้อน เพราะระบบนั่นเองจะบอกกับเขาว่า "ถ้าอยู่แล้วอึดอัดไม่สบายใจ คุณย่อมมีสิทธิ์ที่จะออกไปจากที่นี่ได้"
ความไร้เหตุผลความไร้สาระในเรื่องนี้รบกวนเขาอยู่ตลอดเวลา โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรกับมันได้เลย แม้ไม่อยากอยู่แต่ก็จำต้องฝืนทนอยู่ไป ด้วยไม่อยากเป็นคนตกงาน ในสภาพเช่นนี้ดูจะยากเต็มทีที่เขาจะเป็นครูที่มีขวัญกำลังใจดี เป็นครูที่มีความสุข
ในทางตรงข้ามหากเขาเป็นครูที่ชื่นชอบระเบียบนี้ เขาก็จะมองเด็กที่ทำผิดระเบียบว่าเป็นพวกที่ชอบท้าทาย อยากลองดี เรื่องแบบนี้แหละที่บันดาลโทสะให้เขาได้ง่ายมาก "เด็กพวกนี้ช่างบังอาจ ฉันจะสอนให้พวกเธอรู้ว่าในนี้ใครคือผู้มีอำนาจ"
ครูทั้งสองคนนี้แม้จะคิดต่างกัน แต่ต่างก็เป็นครูที่ไม่มีความสุข ในระดับที่ต่างกัน จะอย่างไรโดยสรุปก็คือ ยากนักที่จะหาครูที่มีความสุขในระบบโรงเรียนเช่นนี้
ครูก็ไม่มีความสุข เด็กก็ไม่มีความสุข ครูต้องควบคุมกฎ เด็กต้องการแหกกฎ พูดอีกอย่างก็คือ ครูต้องการล้อมกรอบ แต่เด็กต้องการออกนอกกรอบ(อย่างนี้เรียกว่าคิดนอกกรอบได้ไหม?!)
ในสภาพเช่นนี้ ยากนักที่บรรยากาศในระบบโรงเรียนจะเป็นไปอย่างสงบสุข สันติและสร้างสรรค์ คงมีแต่บรรยากาศของความบีบคั้น กดดัน คุกรุ่นเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ตลอดเวลา เมื่อภาวะสุดกลั้นหนึ่งๆเกิดขึ้น มันจึงกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่อย่างที่เราได้รับรู้กันอยู่บ่อยๆ เช่นกรณีลงหวายจนก้นบวม น่องแตก ตบ เตะ ฯลฯ
คำว่าระเบียบวินัยที่ระบบโรงเรียนมักอ้างถึงอยู่เสมอนั้น หากเราใช้ความคิดเพียงแค่ระดับสามัญสำนึก ไม่ต้องลึกซึ้งอันใด ก็จะพบว่าช่างเต็มไปด้วยเรื่องเหลวไหลไร้สาระไร้เหตุผล อย่างที่มนุษย์ปกติที่มีเหตุผลจะยอมรับได้ ซึ่งนี่ก็เป็นการมองในมุมหนึ่ง แต่หากมองอีกมุม นี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระเลย ไม่เพียงไม่ไร้สาระ แต่กลับเต็มไปด้วยสาระอย่างยิ่งในมุมมองของมัน มุมมองของอำนาจนิยม
เราต้องไม่ลืมว่าระบบโรงเรียนมิได้ถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย ไร้ที่มาที่ไป ไร้จุดหมาย ตรงกันข้ามมันกลับชัดเจนในจุดหมาย ทั้งที่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง และเชื่อมโยงไปยังจุดหมายซึ่งใหญ่กว่าตัวมันซึ่งมันมุ่งรับใช้อยู่ นั่นคือระบบอำนาจนิยม
สังคมใดประเทศใดที่เชิดชูระบบอำนาจนิยม สังคมนั้นย่อมต้องสร้างกลไกสร้างระบบเพื่อสนับสนุนระบบนั้นขึ้นมา และสิ่งที่อำนาจนิยมต้องการก็คือ การเชื่อฟังคำสั่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด(แบบกองทหาร) เรียกอีกอย่างว่าการสยบยอม เมื่อผู้มีอำนาจมีคำสั่งลงมา ผู้รับคำสั่งเพียงกระทำไปตามนั้น จะต้องไม่มีคำถามว่า "ทำไม?" ต้องไม่มีข้อสงสัย ต้องไม่ร้องขอเหตุผลใดๆ ผู้รับคำสั่งเปรียบดั่งหุ่นยนต์ ที่ผู้ออกคำสั่งเมื่อกดปุ่มสั่งให้กระทำสิ่งใด ก็จะกระทำไปตามคำสั่งนั้น
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอันใด ที่ระบบโรงเรียนต้องกระทำการฝังสำนึกเหล่านี้ลงในหัวเด็กทุกวี่วัน ตั้งแต่ระเบียบวินัยอันไร้สติ ไปจนถึงหลักสูตรการเรียนการสอนอันโง่เง่า เหล่านี้ถูกออกแบบมาล้อมกรอบจิตสำนึก กระทำซ้ำๆเพื่อให้ชาชินกับการรับคำสั่ง
แต่เนื่องจากอำนาจนิยมเป็นสิ่งซึ่งขัดกับสำนึกตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ สำนึกตามธรรมชาติที่ต้องการความมีอิสระทั้งทางร่างกายและความคิด สำนึกตามธรรมชาติที่ต้องการความมีเหตุผล อำนาจนิยมคงรู้ถึงความจริงนี้ รู้ว่าการใช้คำสั่งบังคับลงไปตรงๆให้เชื่อฟังอาจไม่ได้ผล อาจมีการต่อต้านขัดขืน มันจะดีกว่าถ้าสามารถทำให้คนเชื่อฟังด้วยสำนึกของเขาเอง โดยไม่ต้องขืนใจ
ในการนี้วิธีโฆษณาชวนเชื่อจึงถูกนำมาใช้ ด้วยการปั่นหัว-เป่าหู ใช้เหตุผลลวง ข้อมูลลวง กลับดำให้เป็นขาว กลับขาวให้เป็นดำ จากนั้นจะจูงจมูกไปทางใดก็ง่ายดาย ดังนี้หากไม่จำเป็น วิธีบังคับตรงๆมักเป็นวิธีสุดท้ายที่อำนาจนิยมจะนำมาใช้ ซึ่งหมายความว่าในที่สุดแล้วก็ต้องใช้ทั้งสองวิธีนั่นเอง ทั้ง "ไม้นวมและไม้แข็ง" ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ระบบโรงเรียนเป็นเฟืองจักรตัวหนึ่งที่ถูกสร้างเพื่อรับใช้สนับสนุนระบบอำนาจนิยม และถือได้ว่าเป็นเฟืองจักรที่ดีที่สุดมีประสิทธิภาพที่สุดอันหนึ่ง งานของมันเริ่มต้นตั้งแต่โรงเรียนระดับอนุบาล กับเด็กๆซึ่งแน่นอน! ไม่มีอำนาจต่อรองอันใด และครูเองก็ไม่ต้องเหนื่อยยากกับการอธิบายเหตุผลใดๆกับการออกคำสั่ง-บังคับ เพราะเขาถูกทำให้เชื่อมาแล้วว่า เด็กยังไม่มีศักยภาพในการคิดแบบเหตุผล "จงทำให้เด็กๆชาชินกับการเชื่อฟังคำสั่ง จงฝังสำนึกเหล่านั้น สำนึกแห่งการเชื่อฟัง! ลงในหัวพวกเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก" อำนาจนิยมคงพูดอย่างนั้น ดังคำพังเพย "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"
อย่างไรก็ตาม เมื่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำลายได้ การต่อต้านขัดขืนจึงไม่อาจไม่เกิด ลำดับแรกคุณคงเริ่มที่การตั้งคำถาม ซึ่งอำนาจนิยมอาจอนุญาต แต่ถ้าหากครั้งแล้วครั้งเล่าคุณยังไม่พอใจในคำตอบ อำนาจนิยมก็จะหมดความอดทน และถึงคราวที่มันจะชูกระบองที่ซ่อนอยู่ข้างหลังออกมา หากคุณยังไม่ยอมหยุด แน่นอนคุณจะได้รับบทเรียน!
มนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดและการกระทำอย่างอิสระเสรี ตราบเท่าที่ความอิสระเสรีนั้นไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร นี่เป็นสิ่งที่รับรู้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เนื่องเพราะมีคนบางจำพวกเท่านั้นที่ได้สิทธินั้น ทั้งยังใช้มันล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น กีดกันคนอื่นๆออกไปอีกด้วย จะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไรดี ถ้าไม่เรียกว่าคือการปล้นเอาสิทธิเสรีภาพอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของทุกคนไป มันคืออาชญากรรมดีๆนี่เอง!
ไม่ใช่ตัวบุคคลหรอกที่เราควรล้มล้าง แต่เป็นความคิดเป็นสันดานแห่งอำนาจนิยมที่อยู่ในตัวคนต่างหาก ที่เราควรร่วมกันขจัดมันออกไป ทุกครั้งที่เกิดเรื่องราวอันอัปยศขึ้น ไม่ว่าจะในวงการศึกษาหรือวงการใดก็ตาม ไม่ว่ากี่ครั้งกี่หน จุดเพ่งเล็งก็ไม่เคยพ้นไปจากตัวบุคคล และการแก้ปัญหาก็จะจบลงที่ตัวบุคคลเพียงเท่านั้น ขณะที่สันดานซึ่งเป็นตัวปัญหากลับไม่เคยถูกชำระสอบสวนแต่อย่างใด
ซึ่งคิดอีกทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกนั่นแหละ เพราะเป็นจุดประสงค์ของมันอยู่แล้ว เด็กที่ถูกตัดใบหูขาดนั้น เรื่องมันคงสรุปลงตรงที่ว่า เด็กนั่นแหละผิด ผิดเพราะทรงผมผิดระเบียบ แต่ความผิดของครูคนนั้น มันเป็นความผิดพลาดขณะกำลังปฏิบัติตามหน้าที่ มันก็แค่ความผิดพลาดทางเทคนิค เป็นอุบัติเหตุเท่านั้นเอง!
การได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้ ทำให้ผมได้เห็นถึงการแสดงออกซึ่งความคิดอิสระและสร้างสรรค์ของเด็กนักเรียนหลายคนเหล่านั้น ซึ่งช่างห่างไกลกันลิบกับความคิดของผู้ใหญ่บางคนที่บ้างเป็นครูบ้างเป็นผู้ปกครอง ทำให้ผมได้เห็นว่าเด็กเสียอีกที่ยังรู้จักคำว่าเหตุผล สามัญสำนึก สิทธิ ขณะที่ผู้ใหญ่บางคน ช่างไม่ต่างอะไรกับคนซึ่งตายไปแล้วจากสำนึกของความเป็นมนุษย์ ราวกับสมองถูกตอน ไม่อาจคิดอย่างที่มนุษย์จะพึงคิดได้อีก เป็นคนประเภทที่มีคำตอบเบ็ดเสร็จชุดหนึ่งอยู่ในหัว และคงจะติดตรึงอยู่เช่นนั้นตลอดไปยากจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น
- คนที่ยืนตรงเคารพธงชาติ แปลว่าเป็นคนรักชาติ
- คนที่ไปวัด สวดมนต์ ทำบุญตักบาตร คือคนที่นับถือศาสนาพุทธ
- นักเรียนที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน คือเด็กดีมีวินัย ฯลฯ
หลายๆกรณีเมื่อการใช้อำนาจในระบบโรงเรียนเกินเลยจนกลายเป็นข่าว ผมยังไม่เคยได้ยินว่า ครูเป็นฝ่ายถูกกระทำจากนักเรียน ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีก็เป็นได้ และหากมีก็คงเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกรณีที่เด็กเป็นฝ่ายถูกกระทำ
เวลาที่ผมได้ยินข่าวเด็ก(นักเรียน)ในต่างประเทศก่ออาชญากรรมรุนแรงในโรงเรียน อย่างที่เราเคยได้รับรู้จากข่าว ผมอดจะหวั่นเกรงไม่ได้ เกรงเหลือเกินว่าวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นในประเทศของเรา ด้วยว่าแนวทางอะไรต่อมิอะไรเราก็รับเอาของเขามาก็ไม่น้อย จึงอาจเป็นไปได้ที่อะไรๆมันอาจเกิดขึ้นได้คล้ายๆกัน
ในทางจิตวิทยาเราคงไม่ปฏิเสธว่าถ้ามีแรงกดดัน ก็ย่อมมีการตอบโต้ และการตอบโต้ก็ไม่ได้หมายเพียงว่าต้องแสดงออกเป็นการกระทำเท่านั้น แค่คิดต่อต้านขัดขืนก็ถือเป็นการตอบโต้ได้แล้ว เปรียบเหมือนน้ำในกาบนเตาไฟ การที่ฝากายังไม่ขยับเพยิบ ก็เพราะอุณหภูมิมันยังไม่ถึงจุดเดือด และการที่มันยังไม่ขยับเพยิบ อาจหมายถึงอีกเพียงองศาเดียวก็จะถึงจุดของมันก็เป็นได้...........
ผมอยากจะจบข้อเขียนนี้ด้วยบางคำพูดของ เอ.เอส.นีล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิล โรงเรียนที่ให้อิสระกับเด็ก ซึ่งนีลเชื่อว่าเด็กของเขาเป็นเด็กที่มีความสุข ดังนี้
"..........ความสุขนั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคน และการยัดเยียดชีวิตอันลำบากให้กับเด็ก เพื่อเตรียมให้เด็กมีชีวิตที่ไม่แน่ว่าจะมีความสุขนับเป็นความชั่วร้าย แต่ว่าสิ่งนี้กลับเป็นความเชื่อโดยพื้นฐานของโรงเรียนทั้งหลายที่จ้องแต่จะลงโทษ และทำให้เด็กที่น่าสงสารเกิดความหวาดกลัว เป็นความเชื่อที่ถือว่าความสุขไม่ใช่สิทธิของเด็ก เด็กจะต้องพลีความสุขเพื่อหน้าที่ เพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง เพื่อศักดิ์ศรีของพ่อแม่และครูที่หยิ่งในตน เราจึงอาจเรียกการศึกษาในทุกวันนี้ว่าเกิดขึ้นเพื่อล้างผลาญความสุขของเด็ก โดยใช้โต๊ะเรียน วิชา ความกลัว และการลงโทษเป็นเครื่องมือ.............
คนเราจะมีความสุขขณะที่ถูกบังคับไม่ได้ ความจำเป็นที่ต้องให้เด็กได้รับความสุขจึงน่าจะเป็นคุณสมบัติอันดับแรกของระบบการศึกษา เราควรจะตัดสินโรงเรียนกันด้วยใบหน้าของนักเรียน มากกว่าความสำเร็จด้านวิชาการ
แม้อันธพาลวัยรุ่นทั่วโลกก็ต้องการแสวงหาความสุข และถ้าเดาไม่ผิด ข้าพเจ้าก็คิดว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กพวกนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม อยู่ที่ไม่ได้รับความสุขจากทางบ้านและโรงเรียน ความสุขที่พวกเขาควรได้รับในวัยเด็กกลับต้องเปิดทางให้กับความสุขจอมปลอม ซึ่งได้มาจากการทำลายสิ่งของ การลักขโมย และยกพวกเข้าตีกัน สิ่งที่น่าจะเป็นความปิติกลับกลายสภาพเป็นความเกลียดชัง อันเนื่องมาจากความคับอกคับใจ
ข้าพเจ้ามั่นใจว่าทางที่จะลดคดีเด็กวัยรุ่นลงได้ก็คือ
ต้องให้ความสุขแก่เด็กตั้งแต่ยังแบเบาะ ถึงเวลาแล้วที่ผู้หวังดีทั้งหลายที่ต้องการลดอาชญากรรมของเด็กวัยรุ่น
จะต้องพุ่งความสนใจไปที่จุดเริ่มต้น อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาดซึ่งยังปล่อยให้มีการลงโทษ
ความหวาดกลัวและประการสำคัญที่สุดคือการขาดความรักในวัยเด็ก.............."
๗ ตุลาคม ๒๕๔๗
สมชาย บำรุงวงศ์
เรื่องแนะนำตัดมาจากกระดานข่าว
ม.เที่ยงคืน
ศูนย์พัฒนาหนังสือเป็นหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ อยู่ใกล้สถานีขนส่งสายตะวันออก(เอกมัย)
ติดกับ สสวท. ท้องฟ้าจำลอง (กรุงเทพฯ) และโรงเรียนปทุมคงคา ที่นั่นมีคลังเอกสารเก่ามีค่าแก่การศึกษาทางประวัติศาสตร์
เพราะมีการจัดเก็บเอกสารจำพวกตำรา แบบเรียนเก่าๆ ไว้มากมาย ตั้งแต่สมัย ๒๔๕๔,
๒๔๘๐, ๒๔๙๐, ๒๕๐๐ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
รวมทั้งบรรดาเอกสารอย่างแถงการณ์
ประกาศ กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เคยออกในนามกระทรวงธรรมการ, กรมโฆษณาการ (บางแฟ้ม),
ศึกษาธิการ, รายงานประชุมสภา(บางเรื่อง), และที่เคยออกในนามสำนักนายกรัฐมนตรี(ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายทางด้านการศึกษา)
เป็นแหล่งค้นคว้าที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเนื้อหาแบบเรียน
อย่างเช่น เรื่องวันชาติ( ๖ เมษา, ๒๔ มิ.ย., ๕ ธันวา) แบบเรียนเป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ควรจะถูกละเลย
(แต่มักถูกละเลย ?) โดยหันไปให้ความสำคัญแก่ราชกิจจา ฯ เสียส่วนใหญ่ ทั้งที่เรื่องนี้ในแบบเรียนคุณจะได้เห็น
อะไรหลายอย่าง (เกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของวันชาติ) ได้มากกว่าในราชกิจจา
ฯ ...
กำพล จำปาพันธ์
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ความสุขนั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคน และการยัดเยียดชีวิตอันลำบากให้กับเด็ก เพื่อเตรียมให้เด็กมีชีวิตที่ไม่แน่ว่าจะมีความสุขนับเป็นความชั่วร้าย แต่ว่าสิ่งนี้กลับเป็นความเชื่อโดยพื้นฐานของโรงเรียนทั้งหลายที่จ้องแต่จะลงโทษ และทำให้เด็กที่น่าสงสารเกิดความหวาดกลัว เป็นความเชื่อที่ถือว่าความสุขไม่ใช่สิทธิของเด็ก เด็กจะต้องพลีความสุขเพื่อหน้าที่ เพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง เพื่อศักดิ์ศรีของพ่อแม่และครู
คำว่าระเบียบวินัยที่ระบบโรงเรียนมักอ้างถึงอยู่เสมอนั้น
หากเราใช้ความคิดเพียงแค่ระดับสามัญสำนึก ไม่ต้องลึกซึ้งอันใด ก็จะพบว่าช่างเต็มไปด้วยเรื่องเหลวไหลไร้สาระไร้เหตุผล
อย่างที่มนุษย์ปกติที่มีเหตุผลจะยอมรับได้ ซึ่งนี่ก็เป็นการมองในมุมหนึ่ง แต่หากมองอีกมุม
นี่ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระเลย ไม่เพียงไม่ไร้สาระ แต่กลับเต็มไปด้วยสาระอย่างยิ่งในมุมมองของมัน
มุมมองของอำนาจนิยม
เราต้องไม่ลืมว่าระบบโรงเรียนมิได้ถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย ไร้ที่มาที่ไป
ไร้จุดหมาย ตรงกันข้ามมันกลับชัดเจนในจุดหมาย ทั้งที่เป็นจุดหมายในตัวมันเอง
และเชื่อมโยงไปยังจุดหมายซึ่งใหญ่กว่าตัวมันซึ่งมันมุ่งรับใช้อยู่ นั่นคือระบบอำนาจนิยม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์