ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
011147
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 460 หัวเรื่อง
เบื้องหลังความรุนแรงที่ตากใบ
วิทยากร เชียงกูล
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม
มหาวิทยาลัยรังสิต
The Midnight University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเบื้องหลังบางประการ
ความรุนแรงที่ตากใบ เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
วิทยากร เชียงกูล
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

หมายเหตุ : บทความเดิมชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ บนเว็ปไซท์ของ ม.เที่ยงคืน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 4 หน้ากระดาษ A4)



ในการไปร่วมงานชุมนุมรำลึกถึง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้กล่าวปาฐกถาแสดงความหวังว่า สิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่จะไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมตามธรรมเนียมปฏิบัติ หากจะเป็นการชุมนุมเพื่อช่วยกันแสวงหาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ที่จะช่วยให้พวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่ เกิดข้อคิดและพลังใจที่จะช่วยกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมในแผ่นดินนี้ต่อไป แต่แค่ 3 สัปดาห์ต่อมาก็เกิดความรุนแรงกรณีสลายการชุมชุมของประชาชนที่ตากใบ นราธิวาส ซึ่งทำให้คนเสียชีวิตไป 85 คน อีกอย่างน่าเศร้า

เมื่อเราย้อนไปมองทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคมเมื่อ 28 ปีที่แล้ว คือความรุนแรงที่ชนชั้นผู้ปกครองในยุคนั้น ปลุกระดมให้กองกำลังกลุ่มหนึ่งเกิดความเข้าใจผิด กลัวและเกลียดชัง ถึงขนาดมารุมล้อมสังหารหมู่นักศึกษา ประชาชน ที่ชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยโดยสันติวิธี อย่างขาดสติของอารยชน เป็นความคิดและการตัดสินใจที่โง่เขลา และเห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุดของชนชั้นผู้ปกครองในยุคนั้น

สิ่งที่ชนชั้นผู้ปกครองยุค 6 ตุลาคม 2519 ทำลายล้างไม่ใช่กลุ่มนักสังคมนิยมอย่างที่พวกเขาอ้าง สิ่งที่พวกเขาทำลายล้างคือ ขบวนการนักศึกษาประชาชน ผู้มีอุดมคติเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย หากชนชั้นผู้ปกครองไม่โง่เขลาและเห็นแก่ตัวระยะสั้นมากจนเกินไป และใจกว้างเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชน เข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ไปสู่สังคมแบบสันติประชาธรรม มาตั้งแต่ 28 ปีที่แล้ว ป่านนี้ประเทศไทยคงจะพัฒนาไปได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก

จะไม่เกิดความรุนแรงพฤษภาคม 2535 ไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 ไม่เกิดระบบเผด็จการทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร ที่ครอบงำมอมเมาประชาชนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน การแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้น่าจะรู้จักใช้สมองมากกว่ากำลัง และเยาวชนจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของประเทศ มากกว่าจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวปัญหาเสียเอง

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แม้จะเจ็บปวด แต่มีคุณค่า ถ้าเรารู้จักใช้บทเรียนให้เป็นประโยชน์ที่จะไม่ทำผิดซ้ำซาก ในรอบ 28 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำไม่ได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์มากพอที่จะรู้จักแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความแตกต่างอย่างสันติวิธีและสร้างสรรค์ การใช้กำลังปราบปราม การสังหารและทำร้ายผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้น ที่ถนนราชดำเนินเดือนพฤษภาคม 2535 ยังคงเกิดขึ้นที่บ่อนอก, หินกรูด, จะนะ, กรือแซะ และตากใบ

คงเกิดขึ้นเนื่องจากชนชั้นนำยังคงมีกรอบความคิดแบบอำนาจนิยม และทุนนิยมผูกขาดแบบสุดโต่ง มองประชาชนกลุ่มที่คัดค้านนโยบายแผ่อำนาจและผูกขาดของชนชั้นนำเป็นศัตรู ที่จะต้องจัดการเอาชนะให้ได้ในทุกวิถีทางรวมทั้งการใช้ความรุนแรง

ความรุนแรงที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐอย่างผิด ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราว เพียงเพราะเป็นปัญหาพิเศษของคนบางกลุ่มบางพื้นที่เท่านั้น หากเป็นความรุนแรงที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของแนวทางการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมผูกขาด ที่เป็นบริวารของระบบทุนนิยมโลก พวกชนชั้นนำอ้างว่ากำลังพัฒนาประเทศตามแนวทางเสรีประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา และประชาธิปไตยแบบระบบอุปถัมภ์ที่ขึ้นอยู่กับทุนและอำนาจ

ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางสังคม และประชาธิปไตยทางการเมืองที่ประชาชนมีสิทธิอำนาจในการใช้ทรัพยากรอย่างเสมอภาค และการแข่งขันจะต้องเป็นธรรม มีการยอมรับความหลากหลายของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความคิดความเชื่อการทำมาหากิน และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้ง และสิทธิในการซื้อเสียงขายเสียงที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

โครงสร้างของการพัฒนาแบบกอบโกย ล้างผลาญ เพื่อประโยชน์ของนายทุนผูกขาด ไม่เพียงแต่สร้างความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรโดยตรงเท่านั้น แต่ยังสร้างความรุนแรงในทางอ้อมเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการขูดรีดทรัพยากรที่ให้คนยากจนเพิ่มขึ้น และมอมเมาให้คนนิยมแสวงหาการบริโภคสูงสุด แบบตัวใครตัวมัน อย่างขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม

การฆ่าฟัน, ปล้นจี้, ลักขโมย, ข่มขืน, ประทุษร้าย, ฆ่าตัวเองหรือฆ่าคนใกล้ชิดเพราะความเครียด และปัญหาสังคมชนิดต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นแค่ความรุนแรงที่เกิดจากปัจเจกชนที่มีปัญหาเพียงบางคนเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่สร้างขึ้นโดยรัฐทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร ที่มุ่งพัฒนาแบบกอบโกยล้างผลาญ เน้นการเติบโตของการบริโภคทางวัตถุ โดยไม่สนใจแนวทางการพัฒนาแบบแบ่งปัน, กระจายทรัพย์สิน, รายได้, การศึกษา, การมีงานทำ, สิทธิเสรีภาพ (ทั้งของประชาชนทั่วไป และชนกลุ่มน้อย) , ความเป็นธรรมสู่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของทรัพยากร และไม่สนใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจ

ชนชั้นนำหลงไหลได้ปลื้มกับตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยในเมืองใหญ่ พวกเขามองไม่เห็น ไม่เข้าใจว่า นโยบายการพัฒนาประเทศแบบไล่ตามเศรษฐกิจทุนนิยมโลกของพวกเขา เกี่ยวโยงกับการสร้างปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยอย่างไร เพราะพวกเขามองเห็นแต่ประโยชน์ระยะสั้นของตัวเองและพรรคพวก มองปัญหาต่าง ๆ แบบแยกส่วน เห็นเฉพาะปรากฏการณ์เป็นเรื่อง ๆ แต่ไม่เข้าใจภาพใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมทั้งหมดที่เชื่อมกันอย่างเป็นองค์รวม

คนจนเพิ่มก็เพราะคนรวยกอบโกยมากเกินไป ความรุนแรงเพิ่มขึ้นก็เพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่จะแบ่งปันกันอย่างสันติวิธีลดลง

สถานะการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ขยายตัว เพราะกลุ่มคนที่กบฎต่ออำนาจรัฐใช้ยุทธวิธีทางการเมืองยั่วยุให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง เพื่อขยายแนวร่วมของพวกตน และรัฐบาลก็หลงกลโดยใช้แต่กำลังทหารเข้าจัดการ แทนที่จะรู้จักใช้การเมืองทำการทหาร เหมือนการแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 2523 - 2525

ปัญหาความรุนแรงในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร, ปัญหาความโง่เขลา เห็นแก่ตัวของชนชั้นนำ ซึ่งมอมเมาให้คนส่วนใหญ่หลงไหลได้ปลื้มไปด้วย ไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากแค่ตัวบุคคลหรือกลุ่มคนที่ขึ้นมามีอำนาจรัฐในเวลานี้เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดมาจากกรอบคิดใหญ่ที่โง่เขลา และเห็นแก่ตัวของชนชั้นนำทั้งชนชั้น

ประเด็นจึงไม่ได้อยู่แค่ที่ว่า ทำอย่างไรจะช่วยเผยแพร่ความคิดให้ประชาชนรู้เท่าทันระบอบทักษิณเท่านั้น ประชาชนควรต้องรู้เท่าทันกลุ่มนักการเมืองอื่นที่มีกรอบคิดใหญ่ไม่แตกต่างกันด้วย

ประเด็นไม่ได้อยู่แค่การโค่นล้มระบบทักษิณ เพื่อเปิดให้กลุ่มอื่นมาบริหารประเทศแทน ประเด็นคือทำอย่างไรจะช่วยกันศึกษา และเผยแพร่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ รู้เท่าทันชนชั้นนำผู้โง่เขลา และเห็นแก่ตัวทั้งชนชั้น รู้เท่าทันแนวคิดของบริษัทข้ามชาติที่ครอบงำชนชั้นนำของประเทศ ปฏิรูปการศึกษา และสื่อสารมวลชนเพื่อช่วยให้ประชาชนมีวุฒิภาวะมากพอ ที่จะเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาการพัฒนาประเทศ มีใจกว้างที่จะยอมรับความหลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้, เกษตรกรรายย่อย, สมัชชาคนจน, ชาวเขา, ชนกลุ่มน้อยและผู้ด้อยโอกาส, ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายพัฒนากระแสหลัก กลุ่มต่าง ๆ

การจะยุติความรุนแรงและการขูดรีดทั้งคนและธรรมชาติได้ เราจะต้องโค่นล้มความโง่เขลา, ความเห็นแก่ตัวที่อยู่ภายในใจของชนชั้นนำ ซึ่งรวมทั้งอาจจะอยู่ในใจของพวกเราบางคนในบางระดับให้ได้

สงครามในปัจจุบันไม่ใช่เป็นสงครามระหว่าง "อุดมการณ์ทุนนิยม"กับ"อุดมการณ์สังคมนิยม" เหมือนสมัย 28 ปีที่แล้ว แต่เป็นสงครามระหว่าง "ความโง่เขลาบวกกับเห็นแก่ตัวในระยะสั้น" และ"ความฉลาดเห็นการณ์ไกล เห็นแก่ส่วนรวมในระยะยาว" เป็นสงครามระหว่างการพัฒนาแบบอำนาจนิยมเพื่อกอบโกยล้างผลาญ ที่เน้นการเพิ่มความเจริญเติบโตทางวัตถุของพวกนายทุนผูกขาด และการพัฒนาแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เน้นคุณภาพชีวิต การพัฒนาอย่างยั่งยืนของฝ่ายประชาชน

ในสงครามแย่งชิงทรัพยากรที่สร้างความขัดแย้งในทุกหย่อมหญ้าในทุกวันนี้ ไม่มีที่ว่างที่จะให้เราซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางให้ยืนอยู่เฉย ๆ เหมือนกับเป็นคนนอกได้ ถ้าเราไม่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงและการขูดรีดทำลายล้าง เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบที่สร้างความรุนแรงและการขูดรีดทำลายล้างไป ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

เมื่อประชาชนหลายแสนคนเลือกที่จะออกจากบ้าน ไปประท้วงทรราชในเดือนตุลาคมปี 2516 และ 2519 ส่วนหนึ่งในใจลึก ๆ ของพวกเขาก็คือ พวกเขาเลือกที่จะทำในสิ่งที่ทำให้เขานับถือตัวเอง ภูมิใจในตัวเองว่า เขาไม่ต้องการเป็นข้าทาสบริวารของทรราชอีกต่อไป นี่คือจุดหมายของความเป็นคน นี่คือจุดหมายของชีวิต ที่ไม่ได้อยู่เพียงแค่การแสวงหาอำนาจและเงินทอง ซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ไม่จิรังยั่งยืน

เพราะเราทุกคนผลสุดท้ายแล้วต้องแก่ เจ็บและตายไปด้วยกันทุกคน คนที่ยังนับถือตัวเองได้เท่านั้น ที่จะไม่เป็นทาสในทางจิตใจ ที่จะเป็นอิสระชน ที่จะมีโอกาสช่วยกันยุติความรุนแรงและการขูดรีดทำลายล้างในแผ่นดินที่ชื่อว่าอิสระได้อย่างแท้จริง

หากประเทศไทยยังมีคนที่ยังนับถือตัวเอง ยังมีชีวิตและยังใฝ่ฝันถึงโลกที่ดีกว่าอยู่ ยังมีคนที่กล้าลุกขึ้นมาตอบว่าไม่ คนที่ไม่ยอมจำนน คนที่ยังพยายามแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์อย่างมีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้น ประเทศเราก็ยังมีความหวังว่าเราจะแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไปในทางที่สวยงามขึ้น ดีขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่อย่างสันติวิธีได้

 

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 461

กรณีเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ รัฐมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ความจริงกระจ่างขึ้นโดยเร็ว อันเนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก การปล่อยให้ความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาภาคใต้ดำเนินต่อไป จะไม่เป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงมีข้อเรียกร้องต่อสังคมและต่อรัฐดังต่อไปนี้

๑. ขอให้สังคมไทยใช้สติเพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนการใช้อารมณ์หรืออคติที่เกิดจากการครอบงำโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโดยสื่อ ที่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ

๒. การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพในทุกๆกรณี จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่รัดกุมและมีหลักประกันในการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
ในอนาคตสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาการชุมนุม และสังคมต้องใช้ความรู้และเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา ที่ข้ามพ้นวิธีการอันมักง่ายด้วยรูปแบบวิธีการที่อาศัยความรุนแรง

๓. บนแนวทางที่รัฐได้ดำเนินการมาโดยตลอดในการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และรัฐบาลไม่ควรบิดเบือนและสร้างความมั่นใจผิดๆต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

๔. ให้มีคณะกรรมการคู่ขนานในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาเป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวโดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ และเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงการทำหน้าที่ในการเปิดรับข้อมูล หลักฐานจากทุกๆฝ่าย

๕. รัฐบาลควรยุติการใส่ร้ายป้ายสีต่อประชาชนที่มาชุมนุม เพื่อมิให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกและทวีความเกลียดชังในหมู่ประชาชนขยายออกกว่าที่เป็นอยู่ อันจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยหากบุคคลใดที่มีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิดก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมถึงยุติการเป็นผู้ให้ข่าวแต่ฝ่ายเดียว จนกว่าจะได้รับข้อเท็จจริงจากคณะทำงานตรวจสอบที่เป็นกลาง

๖. นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุด และแม่ทัพภาค ๔ ต้องแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ แทนการปัดความรับผิดชอบไปให้แก่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย

๗. สื่อมวลชน ต้องทำหน้าที่สื่อสารความจริงอย่างรอบด้าน และเป็นธรรมทั้งต่อเหยื่อของความรุนแรงและต่อสังคม รวมถึงสื่อต้องทำหน้าที่สืบค้นความจริงเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมมีฐานข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน
เครือข่ายพระนักพัฒนาภาคเหนือ
คณาจารย์นิติศาสตร์ มช.
สถาบันสิทธิชุมชน
สถาบันสื่อทางเลือก
ศูนย์สตรีศึกษา มช.
คณาจารย์เพื่อประชาธิปไตย มช.
สถาบันเสริมสร้างพลังชุมชน
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม
มูลนิธิกฎหมาย ผู้หญิง กับการพัฒนา

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบบทความ เรื่อง "กรณีความรุนแรงที่ตากใบ เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519" ของ วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

การฆ่าฟัน, ปล้นจี้, ลักขโมย, ข่มขืน, ประทุษร้าย, ฆ่าตัวเองหรือฆ่าคนใกล้ชิดเพราะความเครียด และปัญหาสังคมชนิดต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นแค่ความรุนแรงที่เกิดจากปัจเจกชนที่มีปัญหาเพียงบางคนเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่สร้างขึ้นโดยรัฐทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร ที่มุ่งพัฒนาแบบกอบโกยล้างผลาญ เน้นการเติบโตของการบริโภคทางวัตถุ โดยไม่สนใจแนวทางการพัฒนาแบบแบ่งปัน กระจายทรัพย์สิน รายได้

สงครามในปัจจุบันไม่ใช่เป็นสงครามระหว่าง "อุดมการณ์ทุนนิยม"กับ"อุดมการณ์สังคมนิยม" เหมือนสมัย 28 ปีที่แล้ว แต่เป็นสงครามระหว่าง "ความโง่เขลาบวกกับเห็นแก่ตัวในระยะสั้น" และ"ความฉลาดเห็นการณ์ไกล เห็นแก่ส่วนรวมในระยะยาว" เป็นสงครามระหว่างการพัฒนาแบบอำนาจนิยมเพื่อกอบโกยล้างผลาญ ที่เน้นการเพิ่มความเจริญเติบโตทางวัตถุของพวกนายทุนผูกขาด และการพัฒนาแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน เน้นคุณภาพชีวิต การพัฒนาอย่างยั่งยืนของฝ่ายประชาชน ในสงครามแย่งชิงทรัพยากรที่สร้างความขัดแย้งในทุกหย่อมหญ้าในทุกวันนี้ ไม่มีที่ว่างที่จะให้เราซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางให้ยืนอยู่เฉย ๆ เหมือนกับเป็นคนนอกได้