บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 456 หัวเรื่อง
แนวคิดหลังสมัยใหม่ของฟูโกต์
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระและอาจารย์พิเศษ
(กำลังศึกษา ป.เอก อยู่ที่ ม. ฮาวาย)
The Midnight University
Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความทางปรัชญา
มิเชล
ฟูโกต์ : ประวัติศาสตร์ และการเมือง
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้อาจพบคำผิดอยู่มาก เนื่องจากได้คัดลอกมาจาก
file.pdf แปลงเป็น file.doc
ซึ่งทางกองบรรณาธิการได้พยายามแก้ไขแล้วทุกหน้า แต่อย่างไรก็ตาม อาจยังหลงเหลือคำผิดอยู่ให้เห็น
จึงต้องขออภัยด้วย
อีกประการหนึ่ง บทความวิชาการชิ้นนี้ ได้มีการอ้างอิงเอาไว้อย่างถูกต้อง และด้วยเหตุผลเดียวกันที่ทำให้ต้องตัดส่วนของการอ้างอิงออก
เพื่อป้องกันความผิดพลาดเกี่ยวกับการจัดหน้าและตัวสะกด
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)
สถานะทางวิชาการของฟูโกต์เป็นเรื่องน่าฉงน จริงอยู่ว่า มิเชล ฟูโกต์ มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดที่เรียกกันอย่างกว้างๆ ว่า หลังสมัยใหม่ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในขณะเดียวกัน งานเขียนของฟูโกต์ก็ถูกโจมตีจากผู้คนในวิชาชีพมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ไปต่างๆ นานา ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ การจะประเมินสถานภาพของฟูโกต์อย่างตรงไปตรงมาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก
ฟูโกต์เป็นชาวฝรั่งเศส แต่ที่ฝรั่งเศสนั้น สถานภาพของฟูโกต์ก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ตัวอย่างของความคลุมเครือนี้ก็เช่น ในขณะที่ The Social Science Citation Index และ The Arts and Humanities Citation Index ระบุว่าฟูโกต์เป็น ๑ ใน ๖ ของนักประวัติศาสตร์ที่มีผู้อ้างอิงงานมากที่สุด1 แต่ก็มีผู้กล่าวถึงฟูโกต์ไว้เช่นกันว่าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ หากคือนักปรัชญา
ทว่าฟูโกต์ถูกโจมตีโดยนักปรัชญาจํานวนไม่น้อย ถ้าถือว่าอภิปรัชญาและญาณวิทยาคือสารัตถะของปรัชญา นักปรัชญาจํานวนมากก็โจมตีฟูโกต์ว่า เต็มไปด้วยข้อบกพร่องทางญาณวิทยาอย่างไม่น่าอภัย สําหรับเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส งานของฟูโกต์นั้นทั้งเหลวไหลและไร้เหตุผล ขณะที่ ริชาร์ด รอร์ตี้ เห็นว่า วงการปรัชญาต้องขอบคุณฟูโกต์อย่างมากที่ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวและพูดถึงประเด็นทางปรัชญามากไปกว่านี้
ตัวฟูโกต์เองไม่ได้ใส่ใจกับความคลุมเครือนี้ อีกทั้งยังประกาศว่าตัวเองไม่ใช่นักประวัติศาสตร์มาตลอดเวลา ดังที่เขากล่าวไว้ใน The History of Sexuality Vol 2 ว่า งานของเขาคือ 'งานศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่งานของนักประวัติศาสตร์" หรือ 'studies of history by reason of the domain they deal with and the references they appeal to but they are not the work of an historian' ส่วนข้อกล่าวหาว่าด้วยความบกพร่องทางญาณวิทยานั้น ฟูโกต์เองก็ได้ประกาศอยู่บ่อยครั้งว่าไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ.
งานเขียนเกี่ยวข้องกับการอ่าน ส่วนการอ่านก็เกี่ยวข้องกับการตีความ เพราะไม่มีใครสามารถอ่านอะไรได้ โดยปราศจากการตั้งคําถามว่าสิ่งที่อ่านนั้นหมายถึงอะไร ธรรมชาติของการตีความนั้น เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือผู้แต่ง, ตัวบท และตัวผู้อ่าน การตีความมีได้หลายแบบ และการตีความแต่ละแบบก็มีวิธีคิดเกี่ยวกับผู้แต่ง, ตัวบท และตัวผู้อ่าน แตกต่างกันไป กล่าวคือ แบบแรก ที่เน้ให้ผู้อ่านเข้าใกล้ความหมายของผู้แต่งให้มากที่สุด และแบบที่สอง ซึ่งถือว่าผู้แต่งตายไปแล้ว ส่วนความหมายนั้นเป็นเรื่องของผู้อ่านเอง (the death of the author).
การตีความแบบแรกวางอยู่บนสมมติฐานว่า "ผู้แต่ง"รู้ว่าตนเองกําลังทําอะไรอยู่ อย่างน้อยก็กับตัวบทที่เขาเป็นผู้แต่งขึ้นมาเอง การตีความเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกับสิ่งที่ตัวบทนั้นหมายถึง ข้อที่ต้องตระหนักก็คือตัวบทไม่ใช่ความรู้ แต่ตัวบทคือเครื่องมือที่จะนําไปส่ความรู้ที่ผู้แต่งมี
ความรู้เป็นเรื่องเดียวกับความหมาย และฉะนั้น หน้าที่ที่สําคัญที่สุดของผู้อ่านจึงได้แก่การเข้าใจความหมายของตัวบทนั้นๆ อย่างที่ตัวผู้แต่งเองเข้าใจ หรือพูดตามภาษาของ Bakhtin แล้วผู้อ่านก็มีหน้าที่แค่"ถอดรหัส" (decipherer) ตัวบท ผ่านการค้นพบคําไข, กุญแจ หรือรหัสหมาย (key, cipher, or code) นั่นเอง .
แต่การตีความแบบที่สองมองว่า ระหว่างผู้แต่งกับผู้อ่านคือช่องว่างขนาดมหาศาลซึ่งไม่มีทางถมให้เต็มได้ นอกจากนั้น การผูกขาดการเข้าถึงความหมายไว้กับผู้แต่ง ยังทําให้เกิดภาษาแบบผูกขาดและตายตัว (rigid order) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความจริง
ภายใต้วิธีคิดนี้ ตัวบทไม่ใช่เครื่องมือที่นําไปสู่ความจริง
และการเข้าใจเป้าประสงค์ของผู้แต่งก็ไม่ได้เป็นจุดจบของการอ่านตัวบทนั้นๆ อีกต่อไป
เพราะในการอ่านตัวบทใดๆ ผู้อ่านย่อมมีอิสรภาพที่จะอ่านหรือตีความได้อย่างสมบูรณ์
ในกรณีของฟูโกต์ เห็นได้ชัดว่าความเข้าใจที่ฟูโกต์มีต่อตนเองนั้นแตกต่างจากความเข้าใจที่ผู้อื่นมีต่อตัวเขา
คําถามก็คือแล้วเราจะอ่านฟูโกต์ด้วยวิธีการไหนดี?
คําวิจารณ์ของ Bourdieu ในเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะ Bourdieu เรียกร้องให้ระลึกไว้เสมอว่า "ผู้อ่าน" อยู่ภายนอกตัวบทที่ต้องการตีความ ความเข้าใจที่ผู้อ่านมีต่อตัวบทจึงเป็น "ภาพตัวแทน" (representation) ของความจริงที่ถูกทําให้เป็นภววิสัยได้โดยงานเขียนเท่านั้น นัยยะของความคิดนี้คือการตระหนักถึงช่องว่างระหว่างผู้อ่านกับผู้แต่ง ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการตีความโดยผู้อ่านเป็นคนละเรื่องกับความจริงของผู้แต่ง และในแง่นี้ อย่างมากที่สุดทผู้อ่านทําได้คือการสร้างภาพตัวแทนที่ใกล้ที่สุดของความจริงของผู้แต่งขึ้นมา
ความคิดแบบนี้ฟังดูคล้ายจะเห็นด้วยกับวิธีการตีความแบบที่สอง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะความคิดแบบนี้ถือเอาความเข้าใจตัวเองของผู้แต่งเป็นภารกิจหลักของการตีความ โดยที่ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาถึงความยากลําบากและอาจไม่สําเร็จ ในการเข้าใจผู้แต่งอย่างทผู้แต่งเข้าใจตนเอง ขณะที่วิธีการตีความแบบที่สองนั้นคือการคิดเอาเองของผู้อ่าน
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประเด็นสําคัญจึงอยู่ที่ว่า แล้วฟูโกต์เข้าใจตนเองว่าอย่างไร้
เริ่มต้นที่เรื่องความจริงก่อน
สําหรับฟูโกต์แล้ว ดูเหมือนว่าความจริงหรือสัจจะ (Truth) จะเป็นคนละเรื่องกับความจริงตามวาทกรรม
ผลที่วิธีคิดเช่นนี้มีต่องานศึกษาประวัติศาสตร์แบบฟูโกต์ก็คือ การทํางานที่อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า
'What one is seeing, then, is the emergence of a whole field of questions,
some of which are already familiar, by which this new form of history is trying
to develop its own theory. My aim is to uncover the principles and consequences
of an autochthonous transformation that is taking place in the field of historical
knowledge'.
ด้วยเหตุดังนี้ งานศึกษาของฟูโกต์มุ่งไปที่การแตกหักจากระเบียบวิธีในการศึกษาแบบเดิมๆ แล้วขยายขอบเขตของมันออกไป มองในแง่นี้แล้ว ฟูโกต์จึงเป็นนักคิดที่ให้ความสําคัญอย่างมากต่อวิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการวางน้ำหนักในการศึกษาไปที่ discontinuities, groups of notions, series และ discourses เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ในการศึกษาประเด็นประวัติศาสตร์ที่แสนจะเป็นประเพณีนิยมอย่างประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก ฟูโกต์จึงใช้วิธีการใหม่เข้าไปกระทํา ดังที่เขาอธิบายไว้ใน The Order of Things ว่าเป้าหมายของงานศึกษาชิ้นนั้น อยู่ที่การ "ขุดคุ้ย" ชั้นทางประวัติศาสตร์ของระบอบวัฒนธรรมที่แวดล้อมเขาอยู่ในขณะนั้น
ประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตกแบบฟูโกต์
เป็นเรื่องของการสร้างความเป็นปกติและระเบียบวินัย (normalization and discipline)
และนอกจากนั้น ในการจัดแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ตามจุดแตกหัก (rupture) เป็น
๓ ช่วง คือ ยุค Renaissance , ยุคคลาสสิค และ Modern Ages นั้น ก็เห็นได้ชัดว่าฟูโกต์กําลังสร้างประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนทั้งหมด
(total history) ขึ้นมา โดยประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ก็คือชุดของเครือข่ายที่ทําให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ,
สถาบันทางสังคม-ประเพณี, ทัศนคติ, และความประพฤติทางการเมืองนั่นเอง
แต่ประวัติศาสตร์ส่วนทั้งหมดของฟูโกต์นั้น แตกต่างจากประวัติศาสตร์ส่วนทั้งหมดของมาร์กซิสต์
ไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์แบบฟูโกต์เป็นพหุนิยมกว่า แต่เพราะประวัติศาสตร์แบบฟูโกต์ไม่สนใจความเกี่ยวเนื่อง,
ความเชื่อมโยง และการครอบงํา (interplays, correlations and dominances) ประวัติศาสตร์แบบฟูโกต์พุ่งเป้าไปที่รอยแยก
และดูเหมือนว่า รอยแยกครั้งสําคัญที่สุดจะได้แก่รอยแยกที่เกี่ยวเนื่องกับ "ร่างกาย"
(bodies) ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล, คลินิก, สถานกักกันคนบ้า และคุก
เป้าหมายของฟูโกต์ในการศึกษาเรื่องร่างกายอยู่ที่การแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ตกเป็น subject ได้อย่างไร แต่จะเข้าใจกระบวนการทําให้มนุษย์กลายเป็น subject ได้ ก็ต้องเพ่งความสนใจไปที่สัมพันธภาพทางอํานาจก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ฟูโกต์จึงเห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ต้องศึกษาผ่านเทคโนโลยีของอํานาจ ไม่ใช่ชนชั้นอย่างมาร์กซ์ โดยที่อํานาจนั้นไม่อาจเข้าใจได้ด้วยการมองไปที่ความขัดแย้ง, การต่อสู้ หรือการต่อต้าน แต่จะเข้าใจได้ด้วยการพิจารณาไปที่การปรากฎขึ้นของอํานาจในระดับที่จํากัดมากที่สุด
ในความคิดของฟูโกต์ อํานาจไม่ได้มาจากหรือมีรากฐานอยู่ในเศรษฐกิจ-การเมือง
แต่อํานาจดํารงอยู่ในเครือข่ายอันสลับซับซ้อนของอํานาจ ณ จุดย่อยๆ ที่แทรกตัวอยู่ในทุกอณูของสังคม
(an infinitely complex network of 'micro-powers', of power relations that
permeate every aspect of social life) อํานาจไม่ได้มีแค่ด้านของการกดขี่ แต่ยังมีด้านที่สร้างสรรค์
และสิ่งที่อํานาจมีส่วนสร้างสรรค์ให้บังเกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ ความจริงหรือสัจจะ
(Truth)
เมื่อถึงจุดนี้ ฟูโกต์จึงเห็นว่า หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่อื่นใด
นอกจากการตระหนักว่า อํานาจมีหน้าที่ผลิตความจริง (truth production as a function
of power) ถ้าถือว่าความจริงเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง ความจริงก็ไม่ต่างอะไรจากวัตถุ
และคงไม่ผิดอะไรหากจะเรียกวิธีการของฟูโกต์ว่า เป็นการ "ทําให้วัตถุกลายเป็นวัตถุ"
หรือ the objectification of objectivities นั่นเอง
จะเข้าใจความคิดของฟูโกต์ได้ ก็ต้องยอมรับก่อนว่าไม่มีอะไรที่ถูกกําหนดให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เสมอไป
ฟูโกต์ใน 'Nietzsche, Genealogy and History' (p.153) กล่าวว่า 'Nothing in man
- not even his body - is sufficiently stable to serve as the basis for self-recognition
or for understanding other man' และความคิดเรื่อง "มนุษย์" หรือ 'man'
ก็เป็นประดิษฐกรรมของวัฒนธรรมยุโรปในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ เท่านั้น
รัฐ, ร่างกาย, สังคม,
เพศ, วิญญาณ , เศรษฐกิจ ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างออกไป มันไม่ใช่วัตถุที่เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น
และทั้งหมดล้วนเป็น discourses หรือ วาทกรรม ด้วยเหตุฉะนั้น แนวทางในการศึกษาของฟูโกต์จึงอยู่ที่วาทกรรมว่าด้วยความจริง/ความเท็จ
การทําหน้าที่ของวาทกรรมเพื่อบอกว่าอะไรถูก อะไรผิด และผลของความจริงประเภทที่เกิดจากวาทกรรมที่ว่านี้
ไม่ใช่สังคมหรืออะไรอื่นก็ตาม
ความข้อนี้สําคัญ เพราะมันชี้ให้เห็นว่าการศึกษาอํานาจของฟูโกต์นั้น กระทําไปโดยอาศัยการวิเคราะห์วาทกรรมเป็นเครื่องมือ
การใช้วาทกรรมเป็นเครื่องมือในการศึกษาอํานาจเป็นสิ่งที่จะปรากฎอย่างเด่นชัดตลอดงานของฟูโกต์
ฟูโกต์ไม่ได้ศึกษาอํานาจแต่ในรูปของการกดขี่ และยิ่งไม่ได้ศึกษาอํานาจโดยลดทอนอํานาจ
ให้เป็นแค่ผลผลิตของโครงสร้างทางกฎหมายและสังคม อํานาจของฟูโกต์กระจายอยู่ทุกหนแห่งโดยไม่มีชายขอบและศูนย์กลาง
อํานาจของฟูโกต์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ เช่นครอบครัว เพศสภาพ และฉะนั้น
จึงศึกษาอํานาจผ่านวาทกรรมว่าด้วยความสัมพันธ์เหล่านี้ได้
และท้ายที่สุด อํานาจย่อมเป็นไปเพื่อการครอบงํา ซึ่งทําให้มนุษย์ตกเป็น subject ดังที่ฟูโกต์กล่าวไว้ว่า "ด้วยอํานาจ เราจึงตกเป็น subject ของความจริงหรือสัจจะ และเราเองก็ไม่สามารถใช้สอยอํานาจได้นอกเหนือกระบวนการผลิตความจริงหรือสัจจะนั้น"
ตัวอย่างของการวิเคราะห์วาทกรรม เพื่อทําความเข้าใจกับอํานาจอย่างเห็นเด่นชัดที่สุดปรากฎในงานศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ของเพศสภาพ ในงานเขียนชุดนี้ ฟูโกต์พูดถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า "เทคนิคเชิงซ้อนของอํานาจ" (the polymorphous techniques of power) โดยเสนอว่า นับตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ร่างกายของมนุษย์ก็ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมว่าด้วยเพศสภาพ ซึ่งถูกครอบงําโดยความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เกิดความคิดเรื่องอะไรคือธรรมชาติทางเพศ และความประพฤติทางเพศที่เหมาะสม ผลก็คือเพศกลายเป็นวัตถุที่ถูกบริหารจัดการโดยวาทกรรม
และด้วยเหตุจากการครอบงําของวาทกรรม
ระบอบอํานาจแบบใหม่ซึ่งฟูโกต์เรียกว่า "ชีวะ-อํานาจ" จึงบังเกิดขึ้น
ใน ๒ สถาน
สถานแรก คือ ชีวะ-อํานาจ ในแง่ของ "การเมืองของกายวิภาคเหนือร่างกายมนุษย์" (an anatamo-politics of the human body) และ
สถานที่สอง คือ ชีวะ-อํานาจ ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการประชากรศาสตร์ในสังคม
ฟูโกต์ไม่ได้ชี้ให้เห็นสัมพันธภาพทางอํานาจในสังคมสมัยใหม่ ผ่านการวิเคราะห์วาทกรรมว่าด้วยเพศสภาพแต่เพียงอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม งานอย่าง Discipline and Punish แสดงให้เห็นว่า ระเบียบวินัยมีส่วนกดขี่, กําหนด และดัดแปลงมนุษย์ในฐานะเอกบุคคลในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างไพศาล ในทรรศนะของฟูโกต์นั้น เอกบุคคลในสังคมสมัยใหม่เป็นทั้งกรรมและ subject ของความรู้และระเบียบวินัย
ความรู้ที่ครอบงําในนามของความเป็นวิทยาศาสตร์อย่าง การแพทย์ จิตวิทยา หรือกฎหมาย เป็นสิ่งที่ฟูโกต์กล่าวในงานชิ้นอื่นมานานแล้ว แต่ในงานชิ้นนี้ ฟูโกต์เตือนให้เห็นอันตรายของระเบียบวินัย ซึ่งดํารงอยู่ในรูปของศีลธรรมหรือจริยศาสตร์ และถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างระมัดระวัง บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเหนือร่างกาย
ฟูโกต์เรียกวิธีการศึกษาแบบนี้ว่า 'Genealogy' หรือ "วงศาวิทยา" ซึ่งเขานิยามว่า "วงศาวิทยาคือการจัดทําเอกสารอย่างพิถีพิถันและอดทน วงศาวิทยาต้องบันทึกเหตุการณ์เอกเทศโดยปราศจากการคํานึงถึงความเหมือนใดๆ" หรือ 'Genealogy is gray, meticulous, and patiently documentary… It must record the singularity of events outside of any monotonous finality'
วงศาวิทยาไม่ใช่การเดาสุ่ม แต่คือสิ่งที่จะได้มาจากการขุดคุ้ยเพื่อหาส่วนย่อย, รอยแยก และความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะส่วนเฉพาะจุด (local and specific knowledge) อย่างจริงจัง อันเป็นสิ่งที่ความคิดเรื่องสัจจะ-ศูนย์กลาง-ความรู้ขั้นสูงสุด พยายามทําลายทิ้งไป ขณะที่ผลที่จะได้จากวงศาวิทยาก็คือ ประวัติศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ในความคิดของฟูโกต์ นักวงศาวิทยาคือนักประวัติศาสตร์ชนิดใหม่ และหน้าที่ของนักวงศาวิทยาก็คือการมองหา "จุดพลิกผัน" ('beginnings) ไม่ใช่"จุดกําเนิด" (origins') เพราะสําหรับฟูโกต์แล้ว "จุดพลิกผัน" กับ "จุดกําเนิด" ไม่เหมือนกัน จุดพลิกผันเป็นเรื่องของ "ความแตกต่าง" ขณะที่จุดกําเนิดเป็นเรื่องของสาเหตุต้นตอ กล่าวในแง่นี้แล้ว วงศาวิทยาจึงสัมพันธ์กับความคิดเรื่องอดีตและปัจจุบันอย่างใกล้ชิด
วงศาวิทยาคือการประเมินอดีตใหม่อย่างต่อเนื่อง วงศาวิทยาคือประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน วงศาวิทยาเป็นความคิดที่แทรกแซงความเคลื่อนไหวในปัจจุบัน และกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยาจึงเป็นประวัติศาสตร์ของปัจจุบันเสมอ
อย่างไรก็ดี วงศาวิทยาไม่ใช่วิธีการในการศึกษาประวัติศาสตร์วิธีการเดียวที่ฟูโกต์ใช้ วงศาวิทยาเป็นคําซึ่งปรากฎในงานของฟูโกต์ในยุคหลัง ขณะที่ในงานยุคแรกๆ นั้นมีแต่คําว่า Archaeology ซึ่งหมายถึง วิธีการศึกษาที่มุ่งไปที่การค้นหาข้อเท็จจริงที่อยู่ชั้นล่างและเป็นพื้นฐานของวาทกรรมหนึ่งๆ
Archaeology คือวิธีการศึกษาที่พยายามพิจารณาว่า
อะไรคือเงื่อนไขที่ทําให้ความรู้หรือวาทกรรมชนิดหนึ่ง ถูกยอมรับว่าเป็นจริงและเป็นไปได้มากกว่าวาทกรรมอื่นๆ
หากค้นพบเงื่อนไขนี้ ก็จะเข้าใจต่อไปว่า ความเป็นเหตุเป็นผลของวาทกรรมมีกฎเกณฑ์พื้นฐานมาจากอะไร
และเบื้องลึกของทัศนวิสัยในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบนี้ก็คือ การมองว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่ต่อเนื่อง
ไม่สม่ำเสมอ และไม่ได้มีวิถีทางเดียว
แต่ปัญหาของวิธีการแบบ Archaeology ก็คือมันทําให้วาทกรรมมีความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ในตัวเองมากเกินไป
ถ้าความชอบธรรมของวาทกรรมใดๆ มาจากกฎเกณฑ์พื้นฐานบางอย่างที่ดํารงอยู่ในตัววาทกรรมนั้นๆ
นั่นก็หมายความว่า วาทกรรมเป็นสิ่งที่เป็นเอกเทศจากสถาบันทางสังคมและปฏิบัติการประเภทที่ไม่ใช่วาทกรรมทั้งปวง
แต่ถึงจะมีอํานาจอย่างไร
วาทกรรมก็เป็นเพียงชุดของภาษา มันไม่สามารถทํางานได้โดยปราศจากผู้กระทํา เพราะหากปราศจากผู้กระทําแล้ว
ก็ไม่มีทางที่วาทกรรมจะดํารงอยู่ในบริบททางสังคมและการเมืองได้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า
ไม่มีทางที่วาทกรรมจะทําการผลิตความรู้ว่า อะไรคือความจริงและอะไรคือความเท็จขึ้นมา
มองในแง่นี้ การกําเนิดขึ้นของวงศาวิทยาจึงเป็นเสมือนการหันไปพิจารณาเงื่อนไขทางวัตถุของวาทกรรม
และจะว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง Archaeology กับวงศาวิทยา ก็ดูจะไม่ต่างไปจากความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ
ดังที่ฟูโกต์เองเป็นฝ่ายกล่าวเอาไว้ใน Power / Knowledge ว่า
Archaeology คือวิธีวิทยาที่เหมาะสมสําหรับการวิเคราะห์ปฏิบัติการทางวาทกรรมในจุดย่อยๆ (local discursivities) ส่วนวงศาวิทยาคือยุทธวิธีที่ทําให้ปฏิบัติการทางวาทกรรมเหล่านี้ถูกปลดปล่อยและทําให้ปรากฎขึ้นมา (Genealogy would be the tactics whereby on the basis of the descriptions of these local discursivities, the subjected knowledges which were thus released would be brought into play)
พูดง่ายๆ ก็คือ ขณะที่ Archaeology แสดงให้เห็นว่า subject ของวาทกรรมเป็นเรื่องแต่งที่ถูกสร้างขึ้น วงศาวิทยาก็จะเปิดเผยเงื่อนไขทางวัตถุของกระบวนการนี้ และชี้ให้เห็นว่ามันมีนัยยะทางการเมืองและสังคมอย่างไร
แต่วิธีการแบบวงศาวิทยาจะทํางานในทางปฏิบัติอย่างไร้
คําตอบชัดๆ นั้นไม่มี แต่วิธีการที่ฟูโกต์ทําไว้ใน 'The Birth of the Prison'
ก็คือการขุดคุ้ยจนค้นพบว่า วิธีการลงโทษแบบจําคุกเป็นผลจากความคิดที่แบ่งแยกร่างกาย-จิตใจออกจากกัน
เป้าหมายของการลงโทษอยู่ที่อาชญากร ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์คือคนที่มีสภาพจิตใจปกติ
เมื่อกระบวนการยุติธรรมรับเอาความคิดวิทยาศาสตร์ข้อนี้เข้าไป การลงโทษทางกายภาพ
ที่คุกกระทําต่อนักโทษจึงเป็นการทําให้ร่างกายกลายเป็นจุดรวมศูนย์ (focus) ของสัมพันธภาพทางอํานาจแบบใหม่ๆ
ในเรื่องระเบียบวินัย ส่วนคนวิกลจริตซึ่งมีจิตใจผิดปกตินั้น ย่อมไม่ถูกลงโทษทางร่างกาย
แต่จะต่องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเพื่อให้กลายเป็นคนปกติ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการจัดระเบียบว่า
อะไรคือความปกติและไม่ปกติอยู่ดี
ในความคิดของฟูโกต์ การจัดระเบียบวินัยเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน,
โรงงาน, คลินิก, หรือกองทัพ และท้ายที่สุดแล้วก็เกี่ยวพันกับเรื่องของการสร้างมาตรฐานว่าด้วยรูปแบบที่เป็นปกติ
(form of normalization) นั่นเอง
มาตรฐานว่าอะไรคือความเป็นปกติแบบนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ เมื่อฟูโกต์โจมตีการทําให้มนุษย์ตกเป็น
subject ด้วยวาทกรรมและความเป็นเหตุเป็นผล หรือความรู้แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
นั่นก็เท่ากับฟูโกต์กําลังประณามความเป็นสมัยใหม่อยู่กลายๆ จุดนี้เองที่ทําให้คนอย่างฮาเบอร์มาสโจมตีฟูโกต์อย่างรุนแรงว่า
เป็นพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ เหตุผลก็คือฮาเบอร์มาสมองว่า ฟูโกต์ไม่เห็นด้านบวกที่ความเป็นสมัยใหม่ทําให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้น ฟูโกต์ยังทําลายความคิดเรื่องสังคมในอุดมคติ และความภาคภูมิใจในอารยธรรมของโลกตะวันตกลงไป
ฮาเบอร์มาสดูจะเหมือนกับ คาร์ล มาร์กซ์ ตรงที่มองเห็นแต่ด้านบวกของการปลดปล่อย (emancipation) และความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ที่ดํารงอยู่ในสภาวะสมัยใหม่ ส่วนฟูโกต์นั้นเชื่อเหมือนกับที่ฮอร์คไฮเมอร์และอดอร์โน กล่าวไว้ใน Dialectic of Enlightenment ว่าความเป็นสมัยใหม่ไม่ใช่อื่นใด นอกจากการบังคับ ดังที่ฟูโกต์เองได้กล่าวเอาไว้ว่า
"มนุษยภาวะไม่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มนุษยภาวะไม่ได้ผ่านสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จนบรรลุข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน และเปิดทางหลักการปกครองโดยกฎหมายเข้ามาแทนที่สงครามกลางเมืองไปในที่สุด ในทางตรงกันข้าม มนุษยภาวะสถาปนาความรุนแรงขึ้นในระบบการปกครอง แล้วทําให้เกิดการครอบงําที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ"
เหตุที่ระบุว่าวงศาวิทยาคือประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน ก็มาจากความคิดเรื่องการบังคับและ subject นี่เอง จะว่าไปแล้ว ภายใต้ระบอบการคิดของฟูโกต์ subject ทําหน้าที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างอดีต-ปัจจุบัน เข้าด้วยกัน subject ถูกสร้างขึ้นจากประวัติศาสตร์หรือความทรงจําว่าด้วยอดีตแบบที่เต็มไปด้วยความต่อเนื่อง (Continuous history) ซึ่งแม้ว่าประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องจะเป็นไปอย่างที่ Hayden White ใน Metahistory กล่าวว่ามีเป้าหมายเพื่อต่อต้านงานเขียนทางประวัติศาสตร์อีก ๓ ลักษณะ คือ
History as polemic ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อรับใช้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในขณะที่เกิดการต่อสู้ขึ้น
History as exhortation ซึ่งเน้นไปที่การเชิดชูเอกภาพและความยิ่งใหญ่แห่งชาติ
History as philosophy ซึ่งก็คืองานเขียนทางประวัติศาสตร์แบบที่ย่อส่วนมาจากความคิดหลักๆ ทางปรัชญา
แต่ประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องเองก็ทําให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา
ในทรรศนะของฟูโกต์ ประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องมองมนุษย์เป็นตัวตนที่มีจิตสํานึกทางประวัติศาสตร์
หรือพูดตามภาษาของฟูโกต์เองก็คือ ประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องเป็นต้นตอของความคิดเรื่อง
"มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่" (Man the Master) ในความคิดของนิทเช่นั้น การมองมนุษย์ในฐานะผู้กระทํา
(the doer) เป็นเพียงมายาคติ และเป็นผลผลิตของไวยากรณ์ทางภาษาแบบอินโด-ยุโรเปียน
ซึ่งฟูโกต์เองก็ดูจะเห็นด้วยกับนิทเช่ ดังที่เขากล่าวเอาไว้ใน Nietzsche, Language,
History ว่า
"เรา (นักประวัติศาสตร์) ประสงค์จะทําให้มนุษย์ตระหนักในความเป็นองค์อธิปัตย์ของตน ด้วยการแสดงให้พวกเขาเห็นถึงกําเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาเอง นี่เป็นเรื่องไม่ควรทํา นับตั้งแต่ลิงลุกขึ้นยืนได้"
สิ่งที่นักประวัติศาสตร์พึงกระทํานั้น
ไม่ใช่การหมกมุ่นอยู่กับภารกิจในการค้นหาวิญญาณอมตะ (immortal soul) หากคือการค้นพบ
"ชุดของวิญญาณชั่วคราว" (many immortal ones) ซึ่งก็หมายถึงการศึกษาเพื่อสืบค้นว่าความเป็น
subject ก่อรูปขึ้นมาโดยกระบวนการชนิดใดนั่นเอง
ข้อที่น่าสนใจก็คือ ความคิดของฟูโกต์เรื่องการบังคับหรือ subject ก็เปลี่ยนไปไม่น้อย
Dreyfuss และ Rabinow ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในการพูดถึงความเป็น subject ในงานยุคต้นๆ
อย่าง The Subject and Power นั้น ฟูโกต์อธิบายความเป็น subject ว่า คือการที่เอกบุคคลรับเอาอัตลักษณ์ของบุคคลอื่นเข้ามาเป็นของตนเองโดยตระหนักรู้และมีมโนสํานึก
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นการมองซับเจกที่อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบ Enlightenment อยู่ไม่น้อย
แต่ในงานชั้นหลังๆ นั้น ฟูโกต์จะละทิ้งวิธีคิดแบบนี้แล้วหันไปหามุมมองแบบนิทเช่ใน
The Genealogy of Morals อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการที่มองว่า ความเป็น subject
เป็นผลจากอํานาจ ซึ่งเป็นเหตุให้เอกบุคคลรับเอาการควบคุมของสังคมเข้าไปเป็นตัวตนของตนเอง
การบังคับเป็นเรื่องของความเหมือน ขณะที่การต่อต้านการบังคับเป็นเรื่องของความต่าง เมื่อฟูโกต์โจมตีความเป็นเหตุเป็นผลว่า เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการครอบงําให้มนุษย์เป็น subject สิ่งที่ตามมาคือการหันไปต่อต้านความคิดเรื่องศูนย์กลาง, สารัตถะ, วิวัฒนาการ และการมีเป้าหมายที่แน่นอน แล้วแทนที่ความคิดทํานองนี้ด้วยความคิดเรื่องความแตกต่าง (respect differences)
ในทางตรรกะนั้น เมื่อฟูโกต์เสนอให้แทนที่ความคิดเรื่องความเหมือนด้วยความแตกต่าง ก็คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ฟูโกต์จะต่องต่อต้านคําอวดอ้างของศาสตร์ใดๆ ที่จะไล่จับเอาความเป็นจริงทั้งหมดมาอยู่ใต้ระบบการวิเคราะห์และอธิบายที่เป็นสากลชนิดเดียว วาทกรรมของฟูโกต์จึงมีลักษณะพหุลักษณ์ และดังนั้น การวิเคราะห์วาทกรรมในระดับที่แตกต่างกัน จึงต่องการวิธีการที่แตกต่างกัน.
ความคิดของฟูโกต์ทั้งหมดนี้ถูกตีความไปต่างๆ นานา ในแง่บวกนั้น Ian Hacking ระบุว่า ความหลักแหลมของฟูโกต์ อยู่ตรงการทํางานกับข้อเท็จจริงที่แทบไม่มีใครสังเกตเห็น แล้วมองมันด้วยสายตาใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ถ้าถือว่างานของนักประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงว่าด้วยอดีต อาการบ้าข้อเท็จจริง(fact-lover)ของฟูโกต์ ก็ดูจะทําให้ฟูโกต์มีคุณสมบัติของนักประวัติศาสตร์ที่ดี
ส่วน Dreyfuss และ Rabinow เห็นว่า วงศาวิทยาหรือที่คนคู่นี้เรียกว่า 'Interpretive Analytics' สามารถแก้จุดอ่อนของฟูโกต์ในยุค Archaeology ได้อย่างดี เพราะวงศาวิทยาออกไปจากแนวโน้มการทําให้ภาษาเป็นอิสระ และเป็นพื้นฐานทั้งหมดของความเป็นจริง แล้วหันมายอมรับว่าวาทกรรมถูกสร้างขึ้นจากอํานาจทางสังคม
อย่างไรก็ดี งานของฟูโกต์ก็ถูกมองในแง่ลบจากคนจํานวนไม่น้อย Charles Taylor โจมตีว่าฟูโกต์เป็นพวกสัมพัทธนิยมและไม่ต่างอะไรจาก Nihilism (สุญญนิยม) นัยยะจากงานเขียนของฟูโกต์คือไม่มีสัจจะ มีแต่วาทกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับฟูโกต์ยังคงเห็นว่า วาทกรรมและสัจจะ (Truth) มีความเป็นอิสระ และสามารถจะทําอะไรตามอําเภอใจได้ต่อไป
ซึ่งนั่นก็เท่ากับฟูโกต์กําลังบอกว่าสัจจะและสารัตถะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง การมองฟูโกต์ในแง่ลบทํานองนี้ สอดคล้องกับความเห็นของ Richard Rorty ซึ่งเห็นว่างานของฟูโกต์นั้นไม่เป็นแม้กระทั่งทฤษฎีความรู้ และตัวฟูโกต์ก็ดูจะไม่แตกต่างจากคนสติเลอะเลือน ที่ไม่รู้ตัวเองกําลังพูดอะไร.
ปัญหาของการวิจารณ์ทํานองนี้มีอยู่ ๒ ประการ
ประการแรก คือจําเป็นหรือไม่ที่งานเขียนทางปรัชญาต่องเดินไปสู่จุดจบว่า สารัตถะหรือสัจจะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ความคิดเรื่องการดํารงอยู่ของสารัตถะขั้นสัมบูรณ์ ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากปรัชญาคลาสสิค นัยยะของการโจมตีฟูโกต์ว่าเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของสารัตถะหรือสัจจะ จึงเป็นการประกาศความเชื่อมั่น ในปรัชญาคลาสสิคของผู้วิจารณ์อยู่ไม่มากก็น้อย
จริงอยู่ว่าผู้วิจารณ์ไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ และประเด็นในการวิจารณ์ ย่อมอยู่ภายใต้จุดยืนทางปรัชญาของผู้วิจารณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่คําถามสําหรับการวิจารณ์ทํานองนี้ก็คือ มันจะช่วยขยายและเพิ่มพูนความเข้าใจ ในงานเขียนที่ตกเป็นเป้าในการวิจารณ์ได้มากขนาดไหน เพราะสิ่งที่ผู้วิจารณ์ต่องการพูดถึงนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวงานปรัชญานั้นๆ มาตั้งแต่ต้น หากคือการปกป้องและป่าวประกาศจุดยืนทางปรัชญาของตนเอง
ปัญหาประการถัดมา เมื่อการวิจารณ์ไม่ได้มุ่งหมายที่จะพูดถึงงานเขียนทางปรัชญาโดยตรง หรืออย่างน้อยก็ไม่มากเท่ากับการประกาศค่านิยมทางปรัชญาของผู้วิจารณ์ บ่อยครั้งที่งานวิจารณ์ชนิดนี้มีลักษณะ over-simplification อยู่กลายๆ จนมองข้ามคําอธิบายในระดับรายละเอียดของงานกําลังถูกวิจารณ์ไปคําวิจารณ์ของ Taylor ที่ว่าฟูโกต์ไม่เชื่อในการมีอยู่ของสารัตถะและสัจจะเป็นเรื่องถูกต่อง เพราะฟูโกต์เชื่อว่ามนุษย์มีประสบการณ์ที่จํากัด ซ้ำประสบการณ์ที่จํากัดนี้ยังถูกกระทําและควบคุมจากวาทกรรมของความรู้สมัยใหม่ต่างๆ นานา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดว่าโลกเป็นหนึ่งเดียวและมีสารัตถะตายตัวจึงเป็นผลผลิตของอํานาจ อันเป็นสภาพที่ Best และ Kellner เรียกว่า "สภาวะจักรวรรดินิยมของวาทกรรมสมัยใหม่ และระบอบของอํานาจ/ความรู้" แต่ในกรณีของ Rorty ซึ่งโจมตีว่างานเขียนฟูโกต์ไม่ใช่ทฤษฎีความรู้ และแม้กระทั่งตัวฟูโกต์เองก็ไม่เชื่อในการมีอยู่ความรู้นั้น เห็นได้ชัดว่านี่ออกจะเป็นคําโจมตีที่เกินเลยความจริงไปมากทีเดียว
สําหรับฟูโกต์นั้น ความรู้มีอยู่ ๒ ประเภท
ความรู้ประเภทแรก คือความรู้แบบที่ฟูโกต์เรียกว่า Savoir ซึ่งหมายถึงกระบวนการของความรู้ ภายใต้กระบวนการนี้ ตัวตนของ subject จะเปลี่ยนแปลงไป และในขณะเดียวกัน การทําให้ subject กลายเป็นวัตถุก็จะบังเกิดขึ้นมา
ความรู้ประเภทที่สอง นั้น ฟูโกต์เรียกว่า Connaissance ซึ่งก็คือกระบวนการที่ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของตัววัตถุนั้นๆ
ความแตกต่างระหว่าง Savoir กับ Connaissance อยู่ตรง Savoir เป็นความรู้ตามจังหวะ (movement of knowledge) ขณะที่ Connaissance เป็นการสร้างของความรู้ (the formation of a knowledge) และพูดง่ายๆ ก็คือ ความเป็นตัวตนของ subject มนุษย์ทุกวันนี้ขึ้นอยู่กับ Savoir แต่มนุษย์ที่มีประสบการณ์อันแสนจํากัด กลับมองไม่เห็นและหันไปคิดว่าวาทกรรมอย่าง ความบ้า, ความตาย, หรือเพศสภาพ คือ Connaissance.
การศึกษาอํานาจผ่านการวิเคราะห์วาทกรรม ทําให้เห็นอํานาจกระจายอยู่ทุกจุด และมนุษย์ในภาวะสมัยใหม่ตกเป็น subject ของอํานาจมากขนาดไหน ความเป็น subject ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากการเลือกโดยเสรี หรือด้วยความจงใจของฝ่ายที่ตกเป็น subject นั้น ในทางตรงกันข้าม ความเป็น subject เป็นผลของการกดบังคับ โดยสังคมและการควบคุมโดยระเบียบวินัยและความรู้แบบวิทยาศาสตร์
มนุษย์ในสายตาของฟูโกต์จึงไม่ใช่มนุษย์ที่ยิ่งใหญ่หรือมีอะไรให้น่าภาคภูมิใจนัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทรรศนะที่ฟูโกต์มีต่อมนุษย์จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความคิดแบบ Enlightenment โดยเฉพาะความคิดในเรื่องเสรีภาพและมนุษยนิยม ซึ่งฟูโกต์เห็นว่า เป็นเพียงภาพลวงตาหรือมายาคติ ถึงแม้จะยอมรับว่า Enlightenment ได้ทิ้งมรดกที่สําคัญๆ เอาไว้มากมายก็ตาม
คําถามคือ สภาวะที่มนุษย์ตกเป็น subject ของอํานาจนั้นแข็งแกร่งและสัมบูรณ์ จนไม่มีวันเป็นอื่นเลยหรือเปล่า? จริงอยู่ที่ฟูโกต์เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทุกชนิด ล้วนเป็นผลเรื่องของสัมพันธภาพทางอํานาจ และเมื่ออํานาจกระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง แล้วทําให้เอกบุคคลตกอยู่ภายใต้วงล้อมของวาทกรรมและระบอบความรู้ชนิดต่างๆ นั่นทําให้ฟังดูราวกับว่า ฟูโกต์จะมองว่าอํานาจมีความเด็ดขาดและมีสถานะสูงสุดเหนือทุกสิ่งทุกอย่างโดยสมบูรณ์ ส่วน subject เองก็อยู่ในภาวะปราศจากอํานาจและไม่สามารถแสดงบทบาทกระทําการ (helpless and passive)
แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่
เพราะฟูโกต์เองพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการต่อต้านอํานาจเอาไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะใน
Discipline and Punish ที่พูดถึง "ยุทธศาสตร์ของความไร้ระเบียบวินัยเพื่อต่อต้านกลไกของระเบียบวินัยและความเป็นปกติ"
หรือ The History of Sexuality ที่ระบุว่า "ในขณะที่วาทกรรมว่าด้วยความวิปรติทํางานผ่านกลไกอันหลากหลายในการควบคุมสังคม
วาทกรรมนี้ก็ผลิตวาทกรรมคู่ตรงข้าม ซึ่งพวกรักร่วมเพศสามารถเอาไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มตน"
ได้เช่นเดียวกัน
ในความเห็นของ Best และ Kellner ฟูโกต์มองว่าอํานาจเป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ในทุกหนทุกแห่ง
แต่อํานาจไม่ได้อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างโดยสมบูรณ์ (Omnipresent but not Omnipotent)
เมื่อเป็นดังนั้น อํานาจและการต่อต้านจึงเป็นสิ่งดําเนินควบคู่กันไปเสมอ หรือพูดง่ายๆ
ก็คือ ที่ใดมีอํานาจ ที่นั่นมีการต่อต้านนั่นเอง
อย่างไรก็ดี การต่อต้านอํานาจในความคิดของฟูโกต์นั้น
แตกต่างจากการต่อต้านอํานาจในความคิดของมาร์กซ์อยู่มาก เพราะขณะที่มาร์กซ์เห็นว่าการต่อต้านต่องมีลักษณะรวมศูนย์
เพื่อทําการเปลี่ยนแปลงแบบวิถีการผลิต, องค์ประกอบทางชนชั้น และรูปของรัฐ ฟูโกต์ผู้มองอํานาจว่ามีลักษณะกระจัดกระจายกลับเห็นว่า
ปฏิบัติการต่อต้านอํานาจต่องมีลักษณะกระจาย และปราศจากศูนย์กลาง หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงแล้วก็คือ
ปฏิบัติการต่อต้านอํานาจต่องมีลักษณะพหุลักษณ์และคํานึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่แต่ละประเด็นนั่นเอง
ในระดับผิวเผินนั้น วิธีมองของฟูโกต์ในเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับความคิดทางการเมืองหลายชนิด
มันดูคล้ายคลึงกับทฤษฎีพหุนิยมตรงที่ เน้นความเป็นพหุลักษณ์ของอํานาจ มันดูไม่แตกต่างจากทฤษฎีอนาธิปไตยตรงที่
ไม่เชื่อในรัฐและศูนย์กลาง และในขณะเดียวกัน ความคิดเรื่องการครอบงําและ subject
ก็เหมือนฟูโกต์กําลังจะประกาศว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างระบอบการปกครองแต่ละชนิด
ซึ่งก็ยิ่งชวนให้คิดว่าฟูโกต์โน้มเอียงไปในทาง Nihilism (สุญญนิยม)ได้มากขึ้นไปอีก
แต่แท้ที่จริงแล้ว วิธีคิดของฟูโกต์มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากความคิดทางการเมืองชนิดที่กล่าวมามากทีเดียว ความคิดทางการเมืองแบบพหุนิยมนั้น มองว่ามีลักษณะกระจายตัวเพื่อที่จะกลับมาสู่องค์อธิปัตย์ที่เป็นศูนย์กลางใหม่ ขณะที่อํานาจในความคิดของฟูโกต์จะกระจายไปตามเครือข่ายของสัมพันธภาพทางอํานาจที่ปราศจากศูนย์กลาง
ส่วนความคิดทางการเมืองแบบอนาธิปไตยนั้น
นักคิดแบบอนาธิปไตยเชื่อว่าการปฏิเสธรัฐจะทําให้มนุษย์สามารถเป็นเสรีได้ ขณะที่ฟูโกต์ไม่เชื่อในความเป็นองค์ประธานเสรีของมนุษย์
(free human subject) เลยแม้แต่น้อย เพราะไม่ว่าจะในสังคมไหน มนุษย์ก็ต่องตกเป็น
subject ของวาทกรรมและความรู้อยู่ตลอดเวลา
แล้วความคิดทางการเมืองของฟูโกต์เป็นอย่างไรกันแน่? ถ้าการเมืองคือเรื่องที่เกี่ยวพันกับรัฐและสถาบันทางการเมือง
ฟูโกต์ก็คงจะไม่มีความคิดทางการเมืองอะไรปรากฎออกมามากนัก เพราะในทรรศนะของฟูโกต์นั้น
การคิดเกี่ยวกับรัฐหรือสังคมในแบบมหภาค เป็นหน้าที่ของคนกลุ่มที่เรียกว่า 'general
intellectual' หรือ 'universal intellectual' ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็เป็นปัญญาชนที่เป็นผลผลิตของระบบที่รัฐและพรรคเป็นใหญ่
และท้ายที่สุดแล้วการคิดแบบนี้ก็นําไปสู่การยึดอํานาจรัฐ หรือสร้างสังคมในระดับทั่วไปมากกว่าอะไรอื่น
ในขณะที่ฟูโกต์ดูจะสนับสนุนปัญญาชนประเภท 'specific intellectual' ที่พูดถึงระบบเผด็จอํานาจในจุดย่อยๆ
(micro-fascism) มากกว่า และด้วยเหตุดังนี้ ฟูโกต์จึงแทบไม่ได้แสดงความคิดเกี่ยวกับรัฐหรือสถาบันทางการเมืองไว้อย่างชัดเจนเลย
แต่ถ้าถือว่าหัวใจของทฤษฎีการเมืองนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของอํานาจ การที่ฟูโกต์วิเคราะห์อํานาจผ่านการวิเคราะห์วาทกรรมก็น่าจะมีนัยยะทางการเมืองอยู่มากทีเดียว
ขณะที่ Rorty และ Habermas โจมตีฟูโกต์ว่าเป็นพวกปราศจากเหตุผล และไร้แก่นสารในหลายแง่มุม
แต่ในด้านที่เกี่ยวข้องกับความคิดทางการเมืองนั้น Michael Walzer กลับเห็นว่าฟูโกต์เขียนงานที่สัมพันธ์กับทฤษฎีการเมืองไว้มากมาย
เพียงแต่ทฤษฎีการเมืองของฟูโกต์นั้นอ่อนแอและปราศจากพลังมากเกินไปก็เท่านั้น
ในความคิดของ Walzer ดูเหมือนว่าจุดอ่อนที่สุดในวิธีคิดของฟูโกต์จะอยู่ตรงการไม่พูดถึงระบบ,
ระบอบ, และสถาบันทางการเมืองใดๆ ขณะที่พูดถึงระบบในระดับมหภาคในชื่อต่างๆ กัน
อย่างสังคมวินัย (the disciplinary society), carceral city (เมืองคุก), ระบอบของการจ้องมองแบบ
panoptic หรือ carceral archipelago - ซึ่งฟูโกต์เองเรียกรวมๆ ว่าระบบทุนนิยมอยู่ในบางครั้ง
- ตลอดเวลา
อันนี้ได้ชวนให้คิดต่อไปได้ว่า ฟูโกต์มองไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง "ระบอบเผด็จการ" และ "ประชาธิปไตย" และไม่ได้พิจารณาระบอบที่แตกต่างกันเหล่านี้ส่งผลต่อความเป็น subject ของมนุษย์ในลักษณะที่แตกต่างกันสูงขนาดไหน
แต่คําวิจารณ์ของ Walzer และคนอื่นๆ ในประเด็นคล้ายคลึงกันนี้ ออกจะเป็นการตีความความคิดของฟูโกต์เกินเลยไปมาก ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี ๑๙๗๘ นั้น ฟูโกต์ย้ำว่า งานศึกษาของเขาเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ปรากฎการณ์เฉพาะจุดเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่พิมพ์เขียวของประวัติศาสตร์สากลระยะยาว
ตัวอย่างเช่น Discipline and Punish นั้น มุ่งไปที่การทําความเข้าใจพื้นฐานของระบบการควบคุมระเบียบวินัยของยุโรปในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ และเมื่อเป็นการศึกษาเฉพาะจุดเฉพาะพื้นที่ มันจึงไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะเสนอว่า อารยธรรมตะวันตกในทุกๆ แง่มุมนั้น คือ "อารยธรรมของการควบคุมวินัย" และยิ่งไปกันใหญ่หากจะสรุปว่า ฟูโกต์เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นโดยมองไม่เห็นความแตกต่างของระบอบเผด็จการกับระบอบอื่นๆ เพราะในคริสตศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ระบอบเผด็จการตามความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้ถือกําเนิดขึ้นเลย
กล่าวในแง่นี้แล้วย่อมเท่ากับฟูโกต์กําลังเรียกร้องให้ผู้อ่านตระหนักถึงการมีอยู่ของ เงื่อนไขด้านระยะเวลาและสถานที่ในงานศึกษาของเขา ประวัติศาสตร์ของฟูโกต์เป็นประวัติศาสตร์เฉพาะช่วงที่พูดถึงโครงสร้าง และการถูกกําหนดโดยประวัติศาสตร์ภายใต้ช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ส่วนในเรื่องของการครอบงําและทําให้มนุษย์ตกเป็น subject นั้น ฟูโกต์ย้ำว่า ข้อเสนออย่างเดียวที่เขาพยายามจะชี้ให้เห็นก็คือ เทคโนโลยีทางอํานาจนั้นเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดจากที่หนึ่งไปสู่ที่อื่นได้
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีทางอํานาจ คือตัวแปรที่มีส่วนกําหนดลักษณะของสังคมเพียงตัวแปรเดียว ตัวอย่างที่ฟูโกต์พูดไว้ก็คือ ค่ายกักกันหรือ concentration camp ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกโดยอังกฤษ ก่อนที่จะถูกนําไปใช้ในประเทศเผด็จการอื่นๆ ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้เท่ากับว่า อังกฤษเป็นประเทศเผด็จการ และยิ่งไปกันใหญ่ถ้าใครจะสรุปว่า เขามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างอังกฤษกับประเทศเผด็จการเอาเสียเลย
ตามตรรกะของฟูโกต์นั้น ประวัติศาสตร์และการเมืองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่อง ทําให้มนุษย์อยู่ภายใต้การเป็น subject ของวาทกรรมและระบอบความรู้ชนิดต่างๆ โดยที่วาทกรรมและระบอบความรู้ก็เชื่อมโยงกับอํานาจอีกที ถ้าการเมืองคือเรื่องของสัมพันธภาพทางอํานาจ กล่าวในแง่นี้แล้ว วาทกรรมและระบอบความรู้ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต่องเกี่ยวข้องกับการเมือง
ประเด็นก็คือในเมื่อมนุษย์ตกเป็น
subject และถูกกระทําจากอํานาจระดับย่อย ในสถาบันทางสังคมชนิดต่างๆ อย่างมากมาย
มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ปฏิบัติการต่อต้านอํานาจ ณ จุดย่อยๆ จะช่วยให้มนุษย์เป็นอิสระจากพันธนาการเหล่านี้
เพราะอย่างมากที่สุดที่ปฏิบัติการเหล่านี้จะทําได้ก็คือ การปลดปล่อยมนุษย์ออกจากพันธนาการในระดับของจุดย่อยๆ
ทีละจุดทีละจุดเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการปลดปล่อยมนุษย์ในความหมายที่แท้จริง
แต่ปัญหาของการวิจารณ์ฟูโกต์บนฐานความคิดเรื่องการปลดปล่อยแบบนี้ ก็คือมันเป็นการวิจารณ์ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดแบบสมัยใหม่
เมื่อฟูโกต์เป็นฝ่ายต่อต้านสภาวะสมัยใหม่ มันก็อาจจะไม่เป็นธรรมนักที่จะใช้ความคิดแบบสมัยใหม่ไปวิจารณ์ฟูโกต์
การปลดปล่อยเกี่ยวพันกับความคิดเรื่องเจตจํานงเสรีของมนุษย์ แต่ฟูโกต์ก็ไม่เชื่อในการมีอยู่ของเจตจํานงเสรีของมนุษย์
ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากอิทธิพลของความคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม หรือจะเป็นเพราะมองว่าความคิดเรื่องเจตจํานงเสรีเป็นผลผลิตของความคิดแบบมนุษยนิยม
และความคิดแบบมนุษยนิยมนั้นเป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นอันไร้แก่นสารของโลกยุค Enlightenment
ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การแสวงหาคําตอบสําหรับคําถามในย่อหน้าที่แล้ว โดยอาศัยความคิดของฟูโกต์เป็นพื้นฐาน
จึงไม่ใช่ภารกิจที่จะกระทําได้ง่ายดายนัก
ถึงจุดนี้ การณ์จึงเป็นดังที่ Edward W.Said ว่าไว้ใน Foucault and the Imagination
of Power ว่าภายใต้ระบอบคิดของฟูโกต์นั้น ความขัดแย้งระหว่าง Archaeologies กับการเปลี่ยนแปลงสังคม
ดูจะเป็นภาวะนิรันดร์ ความขัดแย้งอันเป็นภาวะนิรันดร์เช่นนี้ พูดในด้านดีก็คือ
เป็นคําถามที่รอคอยจนกว่าจะมีผู้คนพบคําตอบที่เหมาะสมและเป็นไปได้ แต่ถ้าพูดในแง่ร้าย
ฟูโกต์ก็ได้ตั้งคําถามที่ไม่มีวันตอบได้ขึ้นมา
จะว่าไปแล้วดูเหมือนว่าตัวฟูโกต์เองก็จะตระหนักถึงภาวะดังนี้ ดังที่เขากล่าวว่าความขัดแย้งระหว่างสัมพันธภาพทางอํานาจกับเสรีภาพ เป็นสภาพทางการเมืองที่ดํารงอยู่อย่างถาวรในทุก ๆ สังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะประเมินสถานะทางภูมิปัญญาของฟูโกต์จึงเดินมาถึงทางแยก
ทางแรก คือการประเมินแบบ Rorty-Habermas ว่างานของฟูโกต์ว่างเปล่าและปราศจากแก่นสาร เพราะไม่ได้พูดหรือตอบปัญหาสําคัญๆ ไว้อย่างครบถ้วน ส่วน
ทางที่สอง คือยอมรับว่างานของฟูโกต์มีเป้าหมายจํากัดอยู่ตรงการวิเคราะห์การครอบงําที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เท่านั้น
ซึ่งเป็นทางที่ผู้เขียนเห็นด้วย และเมื่อถึงตอนนี้แล้ว ก็ไม่มีอะไรดีกว่าการยุติรายงานฉบับนี้ลงแต่เพียงเท่านี้
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา
3
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา
120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ในทรรศนะของฟูโกต์ ประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องมองมนุษย์เป็นตัวตนที่มีจิตสํานึกทางประวัติศาสตร์ หรือพูดตามภาษาของฟูโกต์เองก็คือ ประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องเป็นต้นตอของความคิดเรื่อง "มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่" (Man the Master) ในความคิดของนิทเช่นั้น การมองมนุษย์ในฐานะผู้กระทํา (the doer) เป็นเพียงมายาคติ และเป็นผลผลิตของไวยากรณ์ทางภาษาแบบอินโด-ยุโรเปียน ซึ่งฟูโกต์เองก็ดูจะเห็นด้วย
การต่อต้านอํานาจในความคิดของฟูโกต์นั้น แตกต่างจากการต่อต้านอํานาจในความคิดของมาร์กซ์อยู่มาก เพราะขณะที่มาร์กซ์เห็นว่าการต่อต้านต่องมีลักษณะรวมศูนย์ เพื่อทําการเปลี่ยนแปลงแบบวิถีการผลิต, องค์ประกอบทางชนชั้น และรูปของรัฐ ฟูโกต์ผู้มองอํานาจว่ามีลักษณะกระจัดกระจายกลับเห็นว่า ปฏิบัติการต่อต้านอํานาจต่องมีลักษณะกระจาย และปราศจากศูนย์กลาง หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงแล้วก็คือ ปฏิบัติการต่อต้านอํานาจต่องมีลักษณะพหุลักษณ์และคํานึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่แต่ละประเด็นนั่นเอง ในระดับผิวเผินนั้น วิธีมองของฟูโกต์ในเรื่องนี้มีความคล้ายคลึงกับความคิดทางการเมืองหลายชนิด ...แต่แท้ที่จริงแล้ว วิธีคิดของฟูโกต์มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากความคิดทางการเมืองชนิดที่กล่าวมามากทีเดียว