Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 435 หัวเรื่อง
อำนาจรัฐ คือ อำนาจฆ่าคน
ดร. เกษียร เตชะพีระ
ศิโรตม
คล้ามไพบูลย์
(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
คลิกไปหน้า
homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เหตุการณ์ความรุนแรงร่วมสมยในรัฐไทย
อำนาจรัฐ
คือ อำนาจฆ่าคน
รศ. ดร.เกษียร เตชะพีระ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมายเหตุ : ผลงานวิชาการชิ้นนี้
ประกอบด้วยบทความ ๒ เรื่อง
1. Unseen in
Thailand (โดย เกษียร เตชะพีระ)
2. คืนประชาสังคมให้คนไทยมุสลิม
(โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์)
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
10 หน้ากระดาษ A4)
1. "UNSEEN IN THAILAND"
เกษียร เตชะพีระ
เป็นครูสอนรัฐศาสตร์มาสิบกว่าปี บ่อยครั้งนักศึกษามักถามว่า "อำนาจรัฐคืออะไร?" เมื่อคั้นน้ำทิ้งจนเหลือแต่เนื้อล้วนๆ ผมจะฟังธงตอบนักศึกษาเพื่อให้เข้าใจความสำคัญ สาหัสสากรรจ์และแรงกระแทกของอำนาจรัฐต่อชีวิตส่วนตัวของเขาทุกคนว่า:
"อำนาจรัฐคืออำนาจที่มีสิทธิฆ่าคุณได้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน... ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องควบคุมอำนาจรัฐให้ดี"
การมีรัฐเป็นองค์กรนักฆ่าส่วนกลางของสังคม ก็เพื่อเอาไว้รับใช้สังคม ปกป้องสังคมในความหมาย ปกป้องสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลพลเมืองผู้เป็นสมาชิกสังคม รวมทั้ง ปกป้องสังคมจากศัตรูผู้รุกรานภายนอก เท่านั้น
อ้ายอีผู้ใดละเมิดประทุษร้ายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของเพื่อนสมาชิก ย่อมตกเป็นภาระหน้าที่ของนักฆ่าส่วนกลางที่จะต้องป้องปราม ขัดขวาง และควบคุมด้วยกำลังบังคับตามควรแก่เหตุ หากแม้นการประทุษร้ายนั้นสำเร็จผลแล้ว และเข้าข่ายเงื่อนไขความผิดตามที่กฎหมายอาญาและอื่นๆ ระบุไว้ อ้ายอีผู้กระทำก็จักต้องถูกกุมตัวมารับโทษ
โดยผ่านการสืบสวนสอบสวน จับกุมฟ้องร้องต่อสู้คดีพิสูจน์ความผิดอย่างเที่ยงตรงต่อข้อเท็จจริง เป็นธรรม และเปิดเผยตามกระบวนการยุติธรรม จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผิดจริงและให้ลงโทษแล้วนั่นแหละ จึงจะเอาตัวไปลงโทษได้
หากศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าอ้ายอีผู้นั้นทำความผิดร้ายกาจอุกฉกรรจ์จริงและให้ลงโทษประหารชีวิตแล้วนั่นแหละ นักฆ่าส่วนกลางจึงจะเอาตัวไปฆ่าได้ กว่าจะลงโทษหรือกระทั่งฆ่าอ้ายอีที่ทำผิดอุกฉกรรจ์ได้สักคนจึงต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน ยืดเยื้อ และอาจยาวนาน แต่นั่นแหละคือ อารยธรรม (civilization) ของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
สังคมอารยะซึ่งเคารพหลักการที่ว่ากล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ชีวิตคุณเป็นของคุณ (self-ownership) ไม่ใช่ชีวิตคุณเป็นของรัฐที่ผู้ปกครองจะต้มยำทำแกงเมื่อไหร่อย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ อย่างในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อการนี้ สังคมได้มอบหมายความไว้วางใจและความรับผิดชอบให้คนกลุ่มหนึ่งมีเอกสิทธิ์ปฏิบัติการเป็นนักฆ่าส่วนกลาง
พวกเขามีสองอย่างซึ่งสมาชิกอื่นของสังคมอย่างเราท่านปกติทั่วไปไม่มี ได้แก่
1) อาวุธฆ่าคน และ
2) สิทธิฆ่าคน
ซึ่งพวกเขาจะใช้ได้และทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนตามบทบัญญัติของกฎหมาย
แบ่งเป็น ตำรวจ ผู้เป็นนักฆ่าส่วนกลางต่ออาชญากรภายในสังคม และ ทหาร ผู้เป็นนักฆ่าส่วนกลางต่อศัตรูจากภายนอก
ในระบอบเสรีประชาธิปไตย รัฐบาล ก็คือคณะบุคคลที่สังคมเลือกตั้งให้เป็นตัวแทนคอยควบคุมดูแลนักฆ่าส่วนกลางทั้งสองฝ่ายที่สังคมชุบเลี้ยงไว้ใช้งาน ควบคุมดูแลให้พวกเขาฆ่าถูกคน ฆ่าถูกเงื่อนไข ฆ่าถูกขั้นตอน ฆ่าเมื่อสมควรและจำเป็นต้องฆ่า และในทางกลับกัน จักต้องฆ่าไม่ผิดคน ฆ่าไม่ผิดเงื่อนไข ฆ่าไม่ผิดขั้นตอน ห้ามฆ่าเมื่อไม่สมควรและไม่จำเป็นต้องฆ่าภายใต้กติกาของกฎหมายซึ่งสังคมกำหนดไว้กำกับนักฆ่าส่วนกลางผู้ทำงานอยู่ท่ามกลางสมาชิกสังคม
เยี่ยงนี้เองสังคมจึงจะมอบเครื่องมือการฆ่า และสิทธิที่จะฆ่าให้นักฆ่าส่วนกลางได้อย่างวางใจ และนอนตาหลับ
รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันและบุคคลผู้รับผิดชอบหลายฝ่ายได้ชี้ให้สังคมไทยเห็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เคยพบเคยเห็นบนแผ่นดินไทย (UNSEEN IN THAILAND) เกี่ยวกับนักฆ่าและผู้ดูแลนักฆ่าของเรา. คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ รายงานผลการสอบสวนต่อนายกรัฐมนตรีว่า:-
"จากพยานบุคคลและพยานวัตถุที่ได้มาเกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะ รวมตลอดถึงอาวุธและความรุนแรงที่ใช้กันทั้งสองฝ่าย คณะกรรมการอิสระฯ โดยเสียงข้างมาก (5 เสียงต่อ 1) มีข้อสังเกตและความเห็นดังนี้
"3.1 การใช้วิธีปิดล้อมและตรึงกำลังไว้รอบมัสยิดกรือเซะควบคู่ไปกับการเจรจาเกลี้ยกล่อมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อาจทำให้มีการยอมจำนนได้ในที่สุด การยุติเหตุการณ์ที่มัสยิดโดยสันติวิธี น่าจะมีความเหมาะสมและอำนวยประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มากกว่าวิธีรุนแรง
"3.2 เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตัดสินใจใช้กำลังและความรุนแรงเข้ายุติสถานการณ์แล้ว ความรุนแรงและอาวุธที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ในการตอบโต้การปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะการใช้ระเบิดสังหารขว้างเข้าไปภายในมัสยิดถึง 8 ลูกนั้น ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ในเวลานี้ น่าจะถือได้ว่าเกินสมควรแก่เหตุ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีปัจจัยบางประการที่ยังผลเป็นการบรรเทาความรุนแรงในการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามเข้าใจของเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ในขณะนั้น เช่น เจ้าหน้าที่เชื่อโดยสุจริตใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภัยคุกคามและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงตัว หรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบน่าจะมีอาวุธหนักและร้ายแรงอยู่ในที่เกิดเหตุ ดังที่ใด้ชี้แจงไว้แล้วในรายงานที่แนบ....
(อ้างจาก มติชนรายวัน, 4 ส.ค.2547, น.2)
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปไว้ตอนหนึ่งใน รายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2544-2546 หน้า 29-30 ว่า:-
"สิทธิในชีวิต เนื้อตัว ร่างกาย
"กรณีการปราบปรามผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสงครามขั้นแตกหักกับผู้ค้ายาเสพติดด้วยมาตรการ "ปราบปรามอย่างถอนรากถอนโคน" นั้น ได้ก่อให้เกิดการสังหารและลอบสังหารผู้เกี่ยวข้องจำนวนไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2546 จนเป็นที่น่าวิตกและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แม้แต่สหประชาชาติยังแสดงความห่วงใยแต่กลับถูกผู้นำรัฐบาลและผู้สนับสนุนตอบโต้อย่างรุนแรง"คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดจำนวน 269 กรณี ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกรณีที่มีชื่ออยู่ในบัญชีหรือถูกกล่าวหา หรือถูกเรียกตัวไปรายงานตัว ทั้งที่ไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกจำนวนหนึ่งถูกฆาตกรรมและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยัดเยียดหลักฐานแล้วดำเนินคดี
"ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าผู้ที่ถูกสังหาร ไม่ว่าจะเข้าข่ายการวิสามัญฆาตกรรมหรือจะเข้าข่าย "ฆ่าตัดตอน" ตามที่มีการกล่าวอ้างกันก็ตาม คดีความและการสอบสวนในแต่ละกรณีนั้น ส่วนใหญ่ยังมิได้มีการดำเนินการอย่างเป็นกิจจะลักษณะและจริงจังแต่อย่างใด มีผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายสงครามยาเสพติดโดยที่อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลย นโยบายดังกล่าวได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและ "ผู้ไม่ประสงค์ดี" สามารถใช้ "อำนาจเถื่อน" ตาม "ใบสั่ง" ได้อย่างเต็มที่ในช่วงปฏิบัติการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 มากเป็นพิเศษ ปฏิบัติการทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการละเลยและไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดการฆาตกรรมอย่างเป็นระบบขึ้น กับได้ทำลายระบบนิติรัฐของประเทศลงไปอย่างชัดเจน..."
ทั้งสองกรณีข้างต้นและอื่นๆ ได้รับการขยายความเพิ่มเติม โดย นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ในคำอภิปรายเกี่ยวกับรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยฯ ว่า:-
"อนาคต กสม.(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) จะมีปัญหามากขึ้นเพราะ ฝ่ายการเมืองไม่อยากให้องค์กรเช่นนี้ทำงาน... ดังนั้น จึงเข้าแทรกแซงเพื่อควบคุมสังคมไทยไม่ให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ต่อต้าน เช่น ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกกลั่นแกล้ง เป็นต้น ผมมองว่า สถานการณ์แบบนี้จะทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ถ้าตราบใดรัฐบาลนี้ยังอยู่ ผมทนไม่ได้จริงๆ ในหลายเรื่องที่ต้องเห็นสภาพที่เกิดขึ้น...
"ที่ผมทนไม่ได้คือการยกเลิกสัญชาติของชนกลุ่มน้อยไปพันกว่าราย ผมคาดไม่ถึงว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เราเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเทศเอาชาวเขาเผ่าอาข่าไปอยู่หน้าหนึ่งตลอดเวลา เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภาคเหนือ แต่คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิเลย สังคมเคยเคลื่อนไหวถึงขั้นรัฐบาลชวน หลีกภัย ยอมจดทะเบียนถึง 3 แสนคน แต่มารัฐบาลชุดนี้กลับยกเลิกเสียอีก มันใจหายครับ มันเหมือนกับไม่มีแหล่งยึดมั่นการเป็นมนุษย์เลยเมื่อคุณไม่มีสัญชาติ
"นโยบายอันนี้เป็นเพียงขั้นตอนแรก เมื่อสถานการณ์ทางภาคเหนือยังไม่ผ่อนลง คลื่นที่สองเข้ามาคือเรื่องการฆ่าตัดตอน รายงานที่เข้ามาจากโคราชมีคนตายไปเกือบ 200 ศพ...
"ผมมาคิดว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะยับยั้งการกระทำอันรุนแรงจากรัฐ ผมกลับจากภาคใต้เมื่อวานซืน ผมเกือบไม่หวังอะไรกับประเทศนี้อีกแล้ว ผมคาดไม่ถึงว่าสมมติฐานของผมเป็นเรื่องจริง ผมคาดไม่ถึงเด็ก 19 คนที่สะบ้าย้อย ถูกประหารชีวิตโดยไม่มีการต่อสู้เลย เด็กบางคนหนีขึ้นไปบนบ้านพักครูแต่ถูกล้อมและลากออกมายิง ผมคาดไม่ถึงว่าจะได้รับรายงานว่า บางรายถูกซ้อมจนตายโดยไม่มีลายมือเลย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีประวัติทางอาชญากรรมแต่อย่างใด
"และยิ่งเศร้ากว่านั้นเวลาเราไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเขาบอกว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว แต่ขออย่างเดียวคือขอทุนไปทำฮัจห์ให้คนตาย ผมโกรธเกรี้ยวมาก
"แม้แต่บางคนในคณะกรรมธิการชุดผมยังบอกให้ประนีประนอม และไม่เอาเรื่องเอาราว มันเป็นไปได้อย่างไร หมายความว่าเราต้องยอมรับหรือ ผมบอกตรงกันข้ามเลย ต้องเอาเรื่องให้ถึงที่สุดให้เป็นบทเรียนเอาไว้ให้เป็นวัฒนธรรม มันลืมกันง่ายๆ ไม่ได้ อีกหน่อยลืมกันหมดว่าคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างไร เขาเป็นคนดีไปหมด ผมคิดว่าการสร้างวัฒนธรรมที่ดีต้องบอกความจริง สหประชาชาติได้ส่งคนมาตรวจสอบรัฐบาลคุณทักษิณในเรื่องนี้ ผมรายงานทุกอย่างให้เขาทราบหมด สภาคองเกรสมีหน่วยงานที่เก็บข้อมูลเรื่องนี้ด้วย ท่านเชื่อหรือไม่ว่า รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาที่ออกมาส่งผลสะเทือนกับรัฐบาลมาก ท่านนายกรัฐมนตรีเลยออกมาโต้ แถมจะตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของอเมริกาบ้าง"
"เราทำอย่างไรกันดีเมื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มสูงขึ้น ในเชิงการเมืองเขาต้องเข้ามาครอบงำวุฒิสภา เขาไม่ปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การเลือก กสม.ชุดหน้า ที่วุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาพอดี จะได้ดีเท่านี้หรือไม่ ดูอย่าง ป.ป.ช. คนที่มีประวัติการทำงานดียังไม่ได้เข้ามาเลย
"ผมว่าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับ กสม."
(อ้างจาก มติชนรายวัน, 8 ส.ค. 2547, น.8)
ท่ามกลางข่าวเหล่านี้
ปรากฏว่าบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำลังขมีขมันย้ายพรรคยุบพรรคกันคึกคักเพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งทั่วไปต้นปีหน้า
จึงขอกราบเรียนเชิญพ่อแม่พี่น้องประชาชนไทย เตรียมตัวไปเลือกผู้รับผิดชอบการสั่งการให้ฆ่าตัวเองได้อย่างเสรี!
(มติชนรายวัน เดือน 7 สิงหาคม 2547)
2. คืนประชาสังคมให้คนไทยมุสลิม
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่านายทหารที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาภาคใต้นั้นยอมรับตรงๆ ว่า ไม่รู้ว่ากำลังรบอยู่กับใคร ไม่มั่นใจว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วเท่าไร และไม่สามารถบอกงบประมาณที่รัฐใช้จ่ายไปแล้วได้อย่างแน่นอน อันที่จริง ไม่ได้มีแต่ฝ่ายกองทัพเท่านั้นที่ตอบว่าไม่รู้เรื่องนี้ เพราะแม้แต่รัฐบาลเอง ก็ไม่เคยแถลงตัวเลขของผู้เสียชีวิต และแผนแก้ปัญหาความรุนแรงที่ภาคใต้ออกมาอย่างเป็นทางการ
ฟังดูแล้ว เหมือนจะชวนให้คิดว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าคิดถึง "ประสิทธิภาพ" ในความหมายของการลดการเผชิญหน้าทางการทหารกับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่างๆ การปราศจากประสิทธิภาพก็เป็นสภาวะใหม่ที่เพิ่งเกิดในปี 2547 ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ การเผชิญหน้ามีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด
ถ้ารายงานที่รัฐบาลชุดนี้แถลงต่อรัฐสภาเป็นความจริง เหตุการณ์ปะทะทางทหารระหว่างกองกำลังของไทยกับกองกำลังฝ่ายอื่นในปี 2546 มีอยู่เพียง 7 ครั้ง หรือลดลงจาก 29 ครั้ง ในปี 2545 ส่วนปี 2547 นั้น ประเมินว่ามีการปะทะไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งขึ้นไป. ถึงตรงนี้ คำถามคืออะไรทำให้การเผชิญหน้าทางทหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แปรสภาพเป็นความรุนแรงทางการทหารและการฆ่าฟันรายวันอย่างในปัจจุบัน?
รัฐบาลไม่เคยมีคำแถลงอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ แต่คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นสมมติฐานว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจาก "Mastermind" หรือ "จอมบงการ" จึงได้ทุ่มเทงบประมาณไปเพื่อตามล่าบุคคลที่ต้องสงสัย ให้ข่าวเรื่องขบวนการก่อการร้าย ค้นปอเนาะ จับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชื้อสายมุสลิม และกวาดจับประชาชนธรรมดาไปอีกหลายสิบราย
อย่างไรก็ดี ฝ่ายบ้านเมืองแทบไม่พบอะไรจากกระบวนการเหล่านี้ ไม่มีข่าวคืบหน้าเรื่องขบวนการก่อการร้าย ไม่พบหลักฐานว่าประชาชนผู้ถูกจับกุมนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุวุ่นวาย และเป็นไปได้มากว่า จะไม่มีหลักฐานมากพอที่จะพิสูจน์ความผิดของฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แปลความต่อไปได้ว่านโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้น วางอยู่บนสมมติฐานและทิศทางที่ผิดพลาด จึงไม่สามารถหาผู้กระทำผิด หรือลดปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้แม้แต่นิดเดียว ประโยคนี้ตำหนิความเขลาของรัฐบาล แต่ความเขลาก็เป็นผลจากโครงสร้างทางชนชั้นของรัฐบาลเองด้วย เพราะรัฐบาลชุดนี้มาจากชนชั้นนายทุนที่ไม่เคยมีบทบาทในอำนาจรัฐมาก่อน จึงไม่มีประสบการณ์ด้านความมั่นคง ซ้ำยังไม่เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมมากพอจะสร้างองค์ความรู้และทักษะในการจัดการปัญหาภาคใต้ กลายเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายที่กุมสภาพเรื่องนี้มานาน นั่นก็คือกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง
สภาพแบบนี้ทำให้กองทัพมีอิทธิพลชี้ขาดในนโยบายภาคใต้ ซ้ำร้าย รัฐบาลยังมีคำสั่งใช้กฎอัยการศึก พร้อมกับประกาศดำเนินคดีโดยศาลทหารกับทุกฝ่าย ทำให้ภาคใต้มีสภาพคล้ายกับพื้นที่ซึ่งกำลังเผชิญกับ "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ถึงขั้นที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบซึ่งโดยปกติแล้วประกาศใช้แต่ใน "สภาวะสงคราม"
พูดให้ถึงที่สุด คำสั่งนี้ส่งผลให้รัฐบาลและรัฐสภาหมดบทบาทในการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ในขณะที่กองทัพเป็นฝ่ายควบคุม / ครอบงำ อาณาบริเวณนี้ได้อย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิด "การเมืองแบบหลังเมษายน 2547" ที่การแก้ปัญหาภาคใต้ถูกครอบงำด้วย "การทหาร" และยุทธวิธีทางทหารแบบต่างๆ เช่น จิตวิทยามวลชน โฆษณาชวนเชื่อ สร้างข่าวเท็จ ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ
มักเข้าใจว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ จึงเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลในการแก้ไขต่างๆ ตามความเหมาะสม แต่อันที่จริง กองทัพไม่เคยมีสถานะเป็น "กลไก" เหมือนอย่างหน่วยราชการอื่น เพราะดำรงความเป็นสถาบันที่มีโลกทัศน์และวัฒนธรรมของตัวเองมาโดยตลอด ทำให้บทบาทของกองทัพในการแก้ปัญหาภาคใต้มาพร้อมกับระเบียบตรรกะบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้โดยตรง
หนึ่งในโลกทัศน์ที่สำคัญที่สุดของกองทัพคือความเชื่อว่าชาติไทยเผชิญภัยคุกคามจากศัตรูภายนอก ภัยคุกคามนี้เป็นภัยที่ลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้ มีกำเนิดมาจากทุกสารทิศ ซ้ำยังอาจมาจากประเทศเพื่อนบ้านได้พอๆ กับมาจากประเทศที่อยู่ห่างไกล จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเผชิญภัยคุกคามเหล่านี้ ด้วยการสร้างกองทัพที่เข้มแข็งและเปี่ยมแสนยานุภาพทางทหารไว้ตลอดเวลา
ภายใต้โลกทัศน์แบบนี้ ตัวตนของกองทัพผูกโยงอย่างแน่นแฟ้นกับการมีอยู่ของ "ศัตรู" แห่งชาติ จนเกิดสภาพที่กองทัพแปรรูปกลายร่างเป็น "วิสาหกิจความมั่นคง" (security enterprise ) ที่มีหน้าที่สร้างและนิยาม "ศัตรูแห่งชาติ" ไปพร้อมๆ กัน โดย "ศัตรูแห่งชาติ" นั้น อาจมีรากฐานมาจาก "ประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้าง" (constructed history) ได้มากพอๆ กับ "จินตนาการปั้นแต่ง" (artificial fantasy) ที่ปราศจากความจริง
คำถามคือในกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กองทัพมี "จินตนาการปั้นแต่ง" เอาไว้อย่างไร? นักวิชาการด้านทักษิณศึกษาบางท่านเชื่อว่า กองทัพรู้ว่าปัตตานีเป็นอาณาจักรอิสระมาแต่อดีต แต่ตกเป็นของไทยด้วยพละกำลัง จึงมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นในภาคใต้ กลายเป็น "จินตนาการปั้นแต่ง" ที่เชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าคนมุสลิมคือ "ศัตรูแห่งชาติ" ที่มุ่งต่อสู้เพื่อสถาปนารัฐปัตตานีอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากไม่ใช้การปกครองด้วยทหารและวิธีการรุนแรง
คิดตาม "จินตนาการปั้นแต่ง" เรื่องนี้ ประเทศไทยคือ "จักรวรรดินิยมสยาม" ที่มีหน้าที่ควบคุม "ดินแดนภายใต้ปกครอง" ขณะที่คนมลายูมุสลิมคือ "ศัตรูแห่งชาติ" ที่ต้องถูกควบคุมและสอดส่องให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยไปตลอดเวลา
ความคิดแบบ "จักรวรรดินิยมสยาม" ส่งผลให้ "การทหาร" กลายเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาภาคใต้ จึงเกิดการรื้อทำลายตัวแทนทางการเมืองของคนมลายูมุสลิมขึ้นอย่างกว้างขวาง ด้วยการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากนราธิวาส ปล่อยข่าวโจมตีวุฒิสภาจากปัตตานี สังหารสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา การหายสาปสูญของผู้นำชุมชนหลายพื้นที่ ฯลฯ
จนคนเหล่านี้ไม่มีช่องทางเข้าถึงการเมืองในระบบได้ต่อไป
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการยึดเหนี่ยว (coherence) ระหว่างรัฐไทยกับคนมลายูมุสลิม คือการเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมกับการเมืองในระบบ ผ่านการเลือกตั้งและกลไกของ ประชาธิปไตยในระดับต่างๆ จนกล่าวได้ว่า
"การเมืองแบบเปิดกว้าง" (politics of inclusion) เป็นนโยบายทางการเมืองของรัฐต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา
หลักการของการเมืองแบบนี้คือการดึงพลังของคนมลายูมุสลิมให้อยู่ในวิถีทางที่ควบคุมได้ จึงมีกติกาขั้นปฐมอยู่ที่การยอมรับ "ชาติไทย" เป็นเวทีเจรจาต่อรอง ทำให้ไม่เปิดช่องต่อการแบ่งแยกดินแดนหรือสถาปนารัฐอิสระทุกชนิด แต่ก็ "เปิดกว้าง" พอที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมทางการเมืองและวัฒนธรรม ตราบเท่าที่คนมลายูมุสลิม ยังคงรักษาความเข้มแข็งของสำนึกทางประวัติศาสตร์-ศาสนา-ชาติพันธุ์ ได้อย่างมั่นคง
ปี 2547 คือปีที่กองทัพทำลายการเมืองแบบนี้ลงไป พร้อมกันนั้น ก็ได้ทำลายห่วงโซ่ ระหว่างรัฐกับคนมลายูมุสลิมลงไปด้วย ผลก็คือพวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในระบบได้อีก อย่างน้อยก็ไม่ใช่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
"การเมืองแบบหลังเมษายน 2547" มุ่งกำจัดศัตรูผู้ฝักใฝ่แบ่งแยกดินแดน แต่เพราะไม่รู้ว่าศัตรูเป็นใคร จึงตั้งเป็นสมมติฐานว่าคนมลายูมุสลิมทั้งหมด มีโอกาสเป็นศัตรูได้ทั้งนั้น ทำให้ตัดสินใจใช้กฎอัยการศึกและศาลทหารในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้อย่างไม่มีข้อยกเว้น ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์มีชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้ก่อการร้าย นั่นก็คือ เพียงแค่ถูกรัฐสงสัย ก็มีโอกาสจะเผชิญกับการถูกตั้งข้อกล่าวหา, ทารุณกรรม, อุ้มฆ่า ฯลฯ ได้ตลอดเวลา
ภายใต้กฎอัยการศึกแบบที่เป็นอยู่
รัฐสามารถเอาผิดกับคนชายแดนภาคใต้ที่รวมกลุ่มเกิน 5 คน ได้ทันที
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้ศาลทหารแบบที่เป็นอยู่นี้ รัฐสามารถดำเนินคดีโดยผู้ต้องหาไม่มีสิทธิตั้งทนายหรืออาศัยกระบวนการตัดสินคดีแบบศาลยุติธรรม
ในขณะที่ฝ่ายแบ่งแยกดินแดน อาศัยความโหดร้ายและอยุติธรรมของรัฐไปโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง รัฐไทยก็ได้ใช้นโยบายที่ตอกย้ำให้ผู้คนในภาคใต้มองเห็นอคติทางศาสนา-ชาติพันธุ์ ของฝ่ายรัฐ จึงกลัวและยอมจำนนต่อรัฐมากขึ้น รวมทั้งเกลียดรัฐมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน กลายเป็น "มวลชนอิสระ" (multitude) ที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายแบ่งแยกดินแดน แต่ก็ถูกรัฐกระทำจากนโยบายต่างๆ จนต้องแยกตัวออกจากระบบอยู่ตลอดเวลา
การสังหารหมู่ที่ภาคใต้ในวันที่ 28 เมษายน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ภาคใต้เป็น "พื้นที่พิเศษ" ซึ่งกองทัพมีอำนาจบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นำไปสู่การกีดกันรัฐสภาและคนกลุ่มอื่นๆ ออกไปจากกระบวนการนี้ หันไปแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบทหารและอำนาจพลการ ทำให้ขยายความร่วมมือกับผู้คนในพื้นที่ไม่ได้ ซ้ำร้าย การเผชิญหน้าทางทหารก็ขยายตัวขึ้นทุกขณะ
สถานการณ์แบบนี้ไม่เอื้ออำนวยให้กองทัพยุติความรุนแรงได้
ทำให้การปรับทิศปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหมกลายเป็นนโยบายที่ทวีความสำคัญขึ้นทุกที
บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ดึงปัญหานี้เข้ามาสู่การวินิจฉัยของสาธารณะ
ยกเลิกกฎอัยการศึกและอำนาจพลการทุกชนิด และคืนประชาสังคมให้คนไทยเชื้อสายมลายูมุสลิม
( บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร
อะเดย์ วีคลี่ ปีที 1 ฉบับที่ 11 ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม - 30 กรกฎาคม)
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย
สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
เป็นครูสอนรัฐศาสตร์มาสิบกว่าปี บ่อยครั้งนักศึกษามักถามว่า "อำนาจรัฐคืออะไร?" เมื่อคั้นน้ำทิ้งจนเหลือแต่เนื้อล้วนๆ ผมจะฟังธงตอบนักศึกษาเพื่อให้เข้าใจความสำคัญ สาหัสสากรรจ์และแรงกระแทกของอำนาจรัฐต่อชีวิตส่วนตัวของเขาทุกคนว่า: "อำนาจรัฐคืออำนาจที่มีสิทธิฆ่าคุณได้ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน... ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องควบคุมอำนาจรัฐให้ดี" การมีรัฐเป็นองค์กรนักฆ่าส่วนกลางของสังคม ก็เพื่อเอาไว้รับใช้สังคม ปกป้องสังคมในความหมาย ปกป้องสิทธิในร่างกาย และชีวิต
ที่ผมทนไม่ได้คือ การยกเลิกสัญชาติของชนกลุ่มน้อยไปพันกว่าราย
ผมคาดไม่ถึงว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เราเห็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเทศเอาชาวเขาเผ่าอาข่าไปอยู่หน้าหนึ่งตลอดเวลา
เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภาคเหนือ แต่คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิเลย
สังคมเคยเคลื่อนไหวถึงขั้น
รัฐบาลชวน หลีกภัย ยอมจดทะเบียนถึง 3 แสนคน
แต่มารัฐบาลชุดนี้กลับยกเลิกเสียอีก มันใจหายครับ มันเหมือนกับ
ไม่มีแหล่งยึดมั่นการเป็นมนุษย์เลยเมื่อคุณไม่มีสัญชาติ