มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 433 หัวเรื่อง
สถานการณ์ภาคใตในสายตานิธิ ๒
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

R
relate topic
060847
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
รวมบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ของไทยในสายตาของนิธิ เอียวศรีวงศ์
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัย
มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านสายตาของนิธิ (๒)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


หมายเหตุ : ผลงานวิชาการชิ้นที่สอง ประกอบด้วยบทความ 5 เรื่อง
5. จากอาบูฆราอิบ ถึง กรือเซะ, 6. จากชาติสู่ประชาชาติ, 7. ความไม่รู้ที่ขาดหายไป,
8. บิดเบือนคำสอน, 9. ที่ลึกกว่า"แยกดินแดน"
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4)


รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัยในภาคใต้ของไทย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน, คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม

5. จากอาบูฆราอิบ ถึง กรือเซะ
มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะทำให้การทารุณเชลยศึกอิรักที่อาบูฆราอิบ และที่บาสรา เป็นเพียงความบกพร่องของบุคคล หรือทหารที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น เช่น รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษ ที่กำลังทำการสอบสวนทหารผู้กระทำความผิด และลงโทษอยู่เวลานี้

นักหนังสือพิมพ์อเมริกันไม่น้อยก็กำลังทำอย่างเดียวกัน บางคนเรียกทหารผู้ป่าเถื่อนเหล่านี้ว่า moron หรืออ้ายงั่ง บางคนอธิบายเบื้องหลังความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้ว่า มาจากความเกลียดชังเหยียดหยามชาวอาหรับในวัฒนธรรมอเมริกันเอง เช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ที่มักสร้างภาพให้ชาวอาหรับเป็นคนโสโครกและคดในข้องอในกระดูก บางคนพูดถึงปูมหลังของทหารซึ่งถูกสอบสวนและลงโทษอยู่เวลานี้ว่า เป็นเด็กบ้านนอกที่ถูกเกณฑ์(หรืออาสาสมัคร)เข้ากองทัพ เคยอยู่มาในเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนรู้จักกันหมด แล้ววันหนึ่งก็มีคนแปลกหน้าโพกหัวเข้ามาเดินยุ่มย่ามเต็มเมือง ในฐานะผู้อพยพซึ่งมีสิทธิเท่าเทียมกับตนในการหางานและสวัสดิการสังคม

แต่กระบวนการทำทารุณต่อเชลยศึก เท่าที่มีภาพเปิดเผยให้เห็น ดูจะเป็นระบบมากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากนิสัยไม่ดีของทหารบางคนเท่านั้น

พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ผู้รับผิดชอบการสังหารหมู่ที่กรือเซะ ตั้งคำถามที่ผมคิดว่าเป็นเงื่อนปมสำคัญที่เผยให้เห็นความเป็นระบบของการทารุณกรรม ดูเหมือนเขาเชื่อว่า การทำทารุณกรรมต่อเชลยศึกนั้นค่อนข้างเป็นปกติธรรมดาซึ่งเคยเกิดขึ้นมาในทุกสงคราม แต่เหตุใดจึงต้องถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอไว้ นัยของคำถามของเขาก็คือ ถ้าไม่มีการถ่ายรูปถ่ายวีดีโอไว้ ทารุณกรรมนี้ก็จะเหมือนทารุณกรรมต่อเชลยศึก ซึ่งกระทำกันมาตั้งแต่สงครามครั้งที่มนุษย์ยังใช้กระดูกสัตว์เป็นอาวุธ คือเงียบหายไป ไม่ว่าอเมริกาจะแพ้หรือชนะสงคราม

เช่นเดียวกับนักหนังสือพิมพ์บางคนที่พูดส่อว่า เพราะกล้องดิจิตอลนั้นคือตัวการ เพราะมันถ่ายง่าย และได้ภาพง่ายเสียจนผู้คนถ่ายภาพอะไรต่อมิอะไรเปรอะไปหมด แต่ผมคิดว่าการถ่ายรูปเป็นส่วนหนึ่งของการทารุณกรรม ซ้ำเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้เสียด้วย ไม่ว่าจะด้วยกล้องอะไร

คุณอิงค์แลนด์ ทหารหญิงซึ่งแสยะความหรรษาอย่างน่าตระหนกในภาพทารุณกรรม ให้การแก่คณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ว่า เธอได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงระดับเหนือขึ้นไปตามลำดับ ให้ทำท่าเช่นนั้นเพื่อถ่ายภาพ

นอกจากสายไฟฟ้าที่ปรากฏบนร่างกายของเชลยศึกบางคนแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ามีร่องรอยของทารุณกรรมต่อร่างกายของเชลยศึกในภาพน้อยมาก ทั้งหมดถูกคลุมศีรษะ และถูกบังคับให้เปลือยกาย เกือบทั้งหมดเป็นภาพที่แสดงความหมายในทางเพศ โดยเฉพาะความหมายถึงการกระทำทางเพศที่วัฒนธรรมอาหรับถือว่าต่ำช้าและวิตถาร ไม่ว่าจะเป็นการเปลือยกายนอนกองก่ายเกยกัน หรือการใช้ปากกับอวัยวะเพศ มีรายงานข่าวว่ามีภาพการข่มขืนเชลยศึกหญิงด้วย แต่ไม่ได้แสดงให้สาธารณชนได้เห็น

ทั้งหมดคือการแสดงการกระทำที่เป็นความต่ำต้อยในทางเพศ โดยเฉพาะแก่ชาวอาหรับ และชาวมุสลิมซึ่งเป็นเชลยศึก ทั้งนี้รวมถึงการข่มเหงที่ทำให้เหยื่อรู้สึกถึงความไม่เป็นมนุษย์ของตนเอง เช่น ฉี่รดหน้า การเอาทหารหญิงไปหัวเราะใส่ความอัปลักษณ์ไร้ความเป็นมนุษย์ของเชลยศึกจึงมีความหมาย โดยเฉพาะแก่เชลยศึกที่มาจากสังคมซึ่งไม่ได้ให้สถานภาพของผู้หญิงไว้เสมอกับชาย ตอกย้ำความไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง
ฉะนั้นจึงถ่ายภาพไว้ให้พวกเชลยศึกนั่นแหละได้ดู

หากใครในบรรดาคนที่ได้ผ่านการสังหารบุคลิกภาพเหล่านี้มาแล้ว ยังสามารถธำรงสำนึกความเป็นมนุษย์ได้อยู่แม้แต่เพียงเล็กน้อย ภาพเหล่านี้ก็จะช่วยทำลายมันลงจนสิ้นเชิง เมื่อสิ้นสำนึกความเป็นมนุษย์ลงหมดแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะต้องปิดบังอีกต่อไป ความภักดีต่อองค์กร, อุดมการณ์, บุคคล หรือแม้แต่ศาสนา ไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง อะไรที่ข้าศึกผู้จับกุมตนได้อยากรู้ก็พร้อมจะบอกได้หมด

ใครที่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง 1984 ของออร์เวล คงนึกถึงฉากที่นางเอกซึ่งเกลียดกลัวหนูถูกจับขังในห้องที่เต็มไปด้วยหนู ในที่สุดเธอก็ยอม "ขาย" คนรักของเธอ ซึ่งหมายถึงการยอม "ขาย" เสรีภาพส่วนบุคคล และความฝันอย่างที่มนุษย์ย่อมฝันตามธรรมชาติ อันเป็นฝันที่เธอได้ร่วมสร้างกันมากับพระเอกให้แก่บิ๊กบราเธอร์ไปจนหมด และเพราะสิ้นความเป็นมนุษย์แล้วจึงกลับไปอยู่ในระบบต่อไปอย่างไร้ร่องรอย

นี่ไม่ใช่เรื่องนิสัยเสียของคนเพียงไม่กี่คน แต่นี่เป็นระบบรีดข่าว ซึ่งมีการศึกษา การเตรียมการ และการวางแผนหนุนหลัง ฉะนั้นจำเลยที่แท้จริงของทารุณกรรมในคุกอาบูฆราอิบและบาสรา จึงไม่ใช่ทหารเลวที่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่เป็นระบบรีดข่าว ซึ่งมีผู้รับผิดชอบเป็นนักการทหารใหญ่ๆ โดยได้รับความเห็นชอบหรือสมยอมจากนักการเมืองใหญ่ๆ ต่างหาก การรีดข่าวที่เป็นระบบเช่นนี้ไม่ได้ใช้กันในกองทัพสหรัฐและอังกฤษเท่านั้น(และที่จริงคงไม่ได้ใช้เฉพาะในอิรัก เพียงแต่เรามีข้อมูลเฉพาะอิรัก และจับไม่มั่นคั้นไม่ตายในอัฟกานิสถานและกวนตานาโม)

ก่อนหน้าที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรจะถูกอุ้มหายไป คุณสมชายได้พูดในงานสัมมนาแห่งหนึ่งว่า ผู้ต้องหาคดีปล้นปืนจากภาคใต้ 4 คน ซึ่งถูกนำตัวมาสอบสวนในกรุงเทพฯ ได้แจ้งแก่เขาว่าถูกทารุณกรรมอย่างสาหัส มีร่องรอยการถูกทำร้ายบนร่างกายหลายแห่ง นอกจากการทำร้ายร่างกายแล้ว จำเลยเหล่านี้ยังบอกแก่ท่านว่าถูกตำรวจผู้สอบสวนฉี่รดหน้า และเข้าปากอีกด้วย

ในความเป็นจริง เราไม่อาจหยุดระบบรีดข่าวเช่นนี้ไว้เฉพาะในสงครามได้ ในที่สุดระบบรีดข่าวเช่นนี้จะถูกใช้แพร่หลายทั้งในหมู่พันธมิตรของสหรัฐ และแม้แต่ในสหรัฐและสหราชอาณาจักรเอง ยิ่งภายใต้ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ซึ่งให้อำนาจรัฐไว้เหนือรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งโน้มเอียงที่จะใช้ระบบรีดข่าวเช่นนี้กับพลเมืองของตนเอง

ทั้งหมดดูจะมีเบื้องหลังที่สลับซับซ้อนกว่าการกระทำ "นอกแถว" ของทหารผู้คุมเชลยศึก หรือตำรวจที่มีหน้าที่สอบสวนจำเลย ผู้นำสหรัฐเองเป็นผู้ "อ่าน" เหตุการณ์ 9/11 ว่าต้องตอบโต้ด้วย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ตรรกะของสงครามก็ติดตามมาเป็นขบวน รวมทั้งทารุณกรรมเชลยศึกเพื่อรีดข่าวด้วย

เช่นเดียวกับกรณีกรือเซะ ท่าทีกวาดมันให้เกลี้ยงไม่ได้เป็นของนายทหารที่รับผิดชอบอยู่เพียงคนเดียว แต่ท่าทีแข็งกร้าวเหี้ยมหาญของผู้นำรัฐบาล ก็เป็นสัญญาณให้ตรรกะแห่งสงครามติดตามมาเป็นขบวนด้วยเช่นกัน

6. จากชาติสู่ประชาชาติ
หนึ่งในข้อเสนอของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ต่อนโยบายภาคใต้ก็คือ เปลี่ยนจากชาตินิยมไปสู่ประชาชาตินิยม

พิธีกรผู้ถูกทำให้เซื่องแล้ว ซึ่งจัดรายการสนทนาข่าวของทีวีช่องหนึ่งในตอนเช้า เห็นเป็นโอกาสที่จะทำให้ข้อเสนอของอาจารย์ธีรยุทธด้อยความหมายลง ด้วยการถามผู้ฟังว่า รู้เรื่องหรือไม่? แล้วก็แนะนำว่าควรไปซื้อบันไดมาเสียก่อนจะไปซื้อหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องนี้มาอ่าน จึงเป็นที่น่าพอใจทั้งแก่เจ้าของสถานีและรัฐบาล

อันที่จริง "ชาติ" ในความหมายที่เราใช้ในปัจจุบัน กับ "ประชาชาติ" มีความหมายเดียวกัน อย่างที่เราแปล The United Nations ว่า "สหประชาชาติ" เพียงแต่ว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองบิดผันความหมายของ "ชาติ" ให้ปราศจากนัยซึ่ง "ประชา"โดยสิ้นเชิงไปเสียเท่านั้น จึงทำให้บรรดาผู้มีอำนาจใช้ "ชาติ" เป็นเครื่องมือ ทั้งในการจรรโลงอำนาจของตนเองและปราบปรามศัตรูอย่างไร้ความชอบธรรม ดังเช่นที่ท่านนายกฯคนปัจจุบันชอบถามเสมอว่า "เป็นคนไทยหรือเปล่า" หรือ "เขียนภาษาอังกฤษจนลืมความเป็นไทย"

ความเป็นไทยนั้นไม่ใช่ลักษณะที่ถูกกำหนดมาจากเบื้องบน แต่ใน "ชาติ" ที่แท้จริงหรือใน "ประชาชาติ" ความเป็นไทยย่อมสำแดงออกมาจากลักษณะความเป็นจริงของประชาชน

ตามคำอธิบายของอาจารย์ธีรยุทธ (ซึ่งตรงกับ ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า แห่งคณะรัฐศาสตร์, มธ.) "ชาติ" ที่ถูกบิดเบี้ยวไปนี้ตั้งอยู่บนการเสกสรรปั้นแต่งจินตนาการที่บิดเบี้ยวเฉไฉให้แก่ตนเอง นั่นก็คือเสกสรรปั้นแต่งว่าคนไทยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นจริง แล้วคนไทยก็ไปยึดถือจินตนาการเฉไฉนี้ไว้เป็นของตัว ก่อให้เกิดความตึงเครียดใน "ชาติ" ตลอดมา

หนึ่งในจินตนาการเฉไฉเกี่ยวกับ "ชาติ" ไทยนี้คืออดีต ประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยนั้น ที่จริงคือประวัติศาสตร์ของภาคกลาง ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรมหาศาล อันสืบทอดมายังรัฐบาลที่สถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นในดินแดนแถบนี้ โดยผนวกเอารัฐอื่นๆ ใกล้เคียงไว้ภายในเส้นกั้นเขตแดนซึ่งร่วมกันกำหนดขึ้นกับมหาอำนาจจักรวรรดินิยม

"ชาติ" ที่เฉไฉบิดเบี้ยวนี้ถูกสถาปนาขึ้นจากรัฐสมัยใหม่นั้น แล้วยัดเยียดอดีตที่ไม่ได้มีอะไรร่วมกันลงไปให้แก่ประชาชนทั้งหมด กลายเป็นจินตนาการใหม่เกี่ยวกับตัวเอง ในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ก็พอจะกลั้วๆ ให้กล้ำกลืนลงไปได้ แต่ในบางกลุ่มคนและบางพื้นที่ ทำไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เช่นในภาคใต้ตอนล่างซึ่งประชาชนมีอดีตหรือจินตนาการเกี่ยวกับตัวตนของตัวแตกต่างอย่างชัดเจน

เขาไม่อาจเข้าใจได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ตาม มาเกี่ยวกับเขาได้อย่างไร แท้จริงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลหลังนี่แหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการขยายอำนาจอย่างถาวรลงมาทำลายอิสรภาพของรัฐเล็กรัฐน้อยของชาวมลายูด้วยซ้ำ

อันที่จริงถ้ามองจาก "ชุมชนที่มีจินตนากรรมร่วมกัน" ในแง่อื่นๆ นอกจากอดีตแล้ว ก็จะเห็นความไม่ลงรอยของจินตนากรรมในหมู่ประชาชนไทยอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ภาษาหรือสำเนียง, วรรณคดี, เครื่องแต่งกาย, ศาสนาและนิกายศาสนา, วิถีชีวิต ฯลฯ แต่ไม่มีที่ไหนจะเห็นได้ชัดเท่ากับในภาคใต้ตอนล่าง

การทำให้ "ชาติ" ไม่ถูกบิดเบี้ยวความหมาย หรือการทำให้กลายเป็น "ประชาชาติ" ที่แท้จริง แม้เป็นหนทางนำไปสู่ความสงบและความพอใจได้อย่างแน่นอน แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเย็นแสนเข็ญที่สุด

ลองคิดถึงผลกระทบอันจะเกิดกับโครงสร้างอำนาจ, นโยบายพัฒนา(ซึ่งถือความเป็นเนื้อเดียวกันของชาติภายใต้ผลประโยชน์ของนายทุน), ระบบการศึกษา, ระบบการปกครอง, ระบบงบประมาณ, ฯลฯ ดูเถิด ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีรัฐบาลไหนกล้าดำริคิดทำ โดยเฉพาะรัฐบาลนายทุน

แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด "ประชาชาติ" หรือ "ชาติ" ที่ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นจากเบื้องบนได้เป็นอันขาด แต่เป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวอย่างเป็นกลุ่มก้อนและเข้มแข็งของประชาชนเอง ไปบอกให้รัฐบาลทำอะไรในเรื่องนี้จึงไม่มีประโยชน์เท่ากับบอกแก่ประชาชน

ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคืออดีต

ด้วยสาเหตุหลายประการที่ไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้นมาหยุดที่ 2475 เช่นการพัฒนาซึ่งเริ่มมาแต่สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยอย่างมโหฬาร แต่แทบจะไม่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ไทยเลย ฉะนั้น 14 ตุลาก็ตาม 6 ตุลาก็ตาม หรือพฤษภาทมิฬก็ตาม จึงไม่อาจบรรจุลงในประวัติศาสตร์ชาติได้ เหตุผลสำคัญก็เพราะบรรจุไม่ลงหรืออัดไม่เข้า

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่มีพื้นที่ให้ประชาชน ถ้าเอาเหตุการณ์หลัง 2475 หรือโดยเฉพาะหลัง 2516 บรรจุลงไป ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแนววิเคราะห์ประวัติศาสตร์ชาติทั้งหมด ถ้าเราคิดว่าอะไรเกิดขึ้นแก่ประชาชนจำนวนมากหลังนโยบายพัฒนาที่ลำเอียงหลัง 2504 เป็นเนื้อหาสำคัญของประวัติศาสตร์ ก็จำเป็นต้องกล่าวถึงว่าอะไรเกิดขึ้นแก่ประชาชนจำนวนมากหลังการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ของ ร.5 เหมือนกัน

อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะชาวปัตตานีที่ไม่มีอะไรในอดีตร่วมกับคนอื่น คนไทยทั่วไปก็แทบไม่มีเหมือนกัน ยกเว้นอดีตไกลโพ้นที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้น เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดในปัตตานีจึงไม่เป็นที่รับรู้ทั่วไป อย่าพูดถึงหะยีสุหรง, ดุซงญอ, การประท้วงการฆ่าหมู่ในปี 2518 ฯลฯ เลย แม้แต่วีรกรรมของกองกำลังยุวชนปัตตานี ที่ต่อสู้กองทัพญี่ปุ่นอย่างเสียสละและอาจหาญ ก็ยังไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยเลย

เพียงแค่คิดถึงตำราประวัติศาสตร์สำหรับ "ประชาชาติ" ไทยก็เรื่องใหญ่เสียแล้ว จะเขียนถึงสมเด็จพระนเรศวรอย่างที่คนรัสเซียเขียนถึง Ivan the Terrible ซึ่งแม้จะโหดร้ายแต่ก็มีส่วนสร้าง "ชาติ" รัสเซียได้หรือไม่ จะวางคนกะเหรี่ยงไว้ที่ใด ส่วยผงทองคำที่ส่งจากอีสานก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตประชาชนในอีสาน จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนววิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างไรโดยไม่ต้องรบกันนองเลือด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว

"ประชาชาติ" อีกมากที่ไม่สามารถเสกสรรปั้นแต่งอดีตร่วมกันให้แก่ประชาชนได้ ธงของสหพันธรัฐภาคใต้ของอเมริกัน ยังทรงนัยความหมายต่อคนอเมริกันในภาคใต้อยู่ไม่น้อย คนดำ, คนจีน, ชาวโปล, ชาวไอริช, และยุโรปตะวันออกรำลึกถึงอดีตของตนเองในอเมริกาแตกต่างจากคนขาวทั่วไป

การอพยพเคลื่อนย้ายอย่างขนานใหญ่ในโลกปัจจุบัน ทำให้ยากที่ "ประชาชาติ" ใดจะธำรงอดีตร่วมกันที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นได้ตลอดไป ฉะนั้น สิ่งที่ "ร่วมกัน" อย่างสำคัญกว่าอดีตคือปัจจุบัน "ประชาชาติ" หรือ "ชาติ" ที่ไม่บิดเบี้ยวจะต้องสร้างปัจจุบันร่วมกัน ปัจจุบันที่ทุกคนภาคภูมิใจ อยากปกปักรักษาไว้เพราะเป็นคุณทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม

สิ่งที่ "ร่วมกัน" ซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดใน "ประชาชาติ" ต่างๆ ที่เข้าไม่ถึงอดีตร่วมกันในโลกยุคปัจจุบันคือคุณค่าประชาธิปไตย เพราะใน "ประชาชาติ" เรามีเสรีภาพในทุกเรื่องที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราได้รับความเคารพ เรามีสิทธิจะแตกต่างจากคนอื่น เรามีอำนาจตามสมควรที่จะรักษาผลประโยชน์ทั้งด้านอุดมการณ์และรูปธรรมของเรา มีเวทีซึ่งให้โอกาสเท่าเทียมกันในการต่อรอง ฯลฯ เหตุดังนั้น ไม่ว่าเราจะมีอดีตที่แตกต่างกันอย่างไร เรายินดีจะอยู่ร่วมกันภายใต้ "ปัจจุบัน" ซึ่งเป็นคุณแก่ทุกฝ่าย

ชาวมุสลิมที่เลือกจะอยู่กับอินเดีย แทนที่จะอพยพไปอยู่ปากีสถาน(ซึ่งมีจำนวนมากกว่าประชากรปากีสถานและอินโดนีเซียเสียอีก) เชื่อในคำสัญญาของรัฐบาลอินเดีย(พรรคคองเกรส) ว่า ตัวจะสามารถมีปัจจุบันร่วมกับประชากรฮินดูหรือศาสนาอื่นๆ ได้อย่างนี้ จึงตัดสินใจร่วมอยู่ใน "ประชาชาติ" อินเดีย

กล่าวโดยสรุป ถึงจะมีอดีตที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถสร้างปัจจุบันให้เป็นจุดร่วมกันได้ และมีประชาชาติอื่นๆ อีกมากที่เสนอปัจจุบันเป็นจุดร่วมของ "ประชาชาติ" อย่างไรก็ตาม หากคิดถึงคุณค่าประชาธิปไตยเป็นจุดร่วมแล้ว รัฐบาลทักษิณน่าจะเป็นรัฐบาลสุดท้ายที่สมควรจะได้รับข้อเสนอนี้ ไม่ว่าจากใครทั้งสิ้น

บางคนอาจกล่าวว่า ปัจจุบันดังที่กล่าวนี้ก็เป็นสิ่งเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเหมือนกัน ไม่ได้ใช้ปฏิบัติจริง ข้อนี้มีส่วนจริงอยู่มากเหมือนกัน แต่อย่างน้อยจุดร่วมเหล่านี้ยังเป็นอุดมคติของปัจจุบัน สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานของการต่อสู้ป้องกันสิทธิเสมอภาคของประชาชนได้ โดยไม่ต้องจับอาวุธขึ้นฆ่ากัน

ฉะนั้นจึงดีกว่าอดีตที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้น เพราะประชาชนใช้ประโยชน์อะไรมิได้เลย

7. ความไม่รู้ที่ขาดหายไป
จะด้วยเหตุใดก็ตาม การข่าวของรัฐเกี่ยวกับภาคใต้ตอนล่างไร้คุณภาพ ข้อนี้แม้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลเองก็เคยยอมรับ ฉะนั้นจึงไม่มีข่าวที่กรองแล้วอย่างน่าเชื่อถือป้อนรัฐบาลเลย ในสถานการณ์เช่นนี้มีข้อแนะนำสองอย่าง

หนึ่ง, ใช้เหตุผลให้มาก, ใช้ตรรกศาสตร์ให้มาก, ใช้ประสบการณ์จากประเทศอื่นไว้เปรียบเทียบให้มาก, ใช้สำนึกที่เป็นเหตุเป็นผล(sensibility) ให้มากกว่ามาตรการต่างๆ นั้นจะมีผลข้างเคียงอย่างไร

สอง, อย่าเพิ่งวางนโยบายชนิดถอนรากถอนโคนให้ได้ภายในสามวันเจ็ดวัน จำเป็นต้องมีนโยบาย ก็ใช้นโยบายที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด เช่น ข้อเสนอส่วนใหญ่ใน 7 ข้อของรองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ทั้งนี้มิได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรงกันข้ามต้องปฏิบัติอย่างแข็งขัน แต่ให้เป็นไปตามกฎหมายและความยุติธรรม

เหตุที่ผมคิดเรื่องนี้ก็เพราะ ข้อสรุปต่อสถานการณ์ในภาคใต้ที่ได้ยินจากท่านนายกฯ ไปจนถึง ผบ.ทบ., ตำรวจสันติบาล, หรือแม่ทัพและผู้กำกับตำรวจในพื้นที่ มักไม่ประกอบด้วยเหตุผล ตรรกะ แปลกประหลาดเมื่อเปรียบเทียบกับอุบัติการณ์ทำนองเดียวกันในประเทศอื่น ฯลฯ อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังขัดแย้งกันเองบ่อยครั้ง ซ้ำร้ายการข่าวที่บกพร่องเช่นนี้ ยังนำไปสู่การวางนโยบายของรัฐบาลเสียอีก

เมื่อท่านนายกฯบ่นว่า ท่านสับสนไปหมดกับสถานการณ์ในภาคใต้เมื่อต้นเดือนที่แล้ว ผมรู้สึกว่าเป็นนิมิตที่ดี เพราะความสับสนจะนำมาซึ่งปากทางอันยิ่งใหญ่ของปัญญา นั่นคือคำว่า "ไม่รู้" แต่น่าเสียดายที่คำนี้ไม่ได้หลุดจากใครที่รับผิดชอบบ้างเลย

ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายความไร้คุณภาพของการข่าวเป็นตัวอย่างสักหน่อย
ท่านนายกฯมีทฤษฎีว่า ที่เกิดการสู้รบขนานใหญ่จนผู้คนล้มตายไปกว่าร้อยนั้น เพราะรัฐบาลสามารถสืบสวนจนใกล้ตัวหัวโจกปล้นปืนทหาร จึงจำเป็นต้องก่อเหตุร้ายแรงต่างๆ เพื่อเบนความสนใจของรัฐบาล นับตั้งแต่เผาสถานที่ราชการและโรงเรียนไปถึง 70 กว่าแห่งเมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน รวมไปถึงการลุกขึ้นมาก่อเหตุใหญ่ในคืนวันที่ 28 เมษายนด้วย

ทฤษฎีทำนองนี้ได้ยินครั้งแรกจากผู้กำกับสันติบาล และก็น่ายินดีที่ท่าน ผบ.ทบ.พูดทำนองเดียวกันก่อนวันที่ 28 เมษายนว่า เป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของหัวหน้าใหญ่ผู้ก่อความไม่สงบ เพราะรัฐกำลังจะรู้ตัวและดำเนินการปราบปรามอย่างเฉียบขาดแล้ว ที่น่ายินดีก็เพราะข่าวทหารกับข่าวตำรวจสอดคล้องกันเสียที

แต่คิดดูเถิดว่า ทฤษฎีนี้ต้องวางอยู่บนสมมติฐานหลายประการที่ไม่น่าเป็นไปได้เลย แค่ปล้นปืนทหารใช้กำลัง 200 คนตามข่าวของรัฐบาล ก็แสดงอยู่แล้วว่ากำลังของฝ่ายก่อความไม่สงบนั้นต้องเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขนาดไหน เพราะการเคลื่อนกำลัง 200 คนอย่างเงียบเชียบ เพื่อทำการอุกอาจได้ถึงเพียงนั้น โดยฝ่ายบ้านเมืองไม่ได้ระแคะระคายเลย ซ้ำปล้นปืนได้ไปแล้ว ก็หายวับไปกับตาอย่างชนิดที่พลิกหินทุกก้อนก็ยังไม่เจอ แปลว่ามีคนเป็นแนวร่วมอีกมหึมาขนาดไหน จึงสามารถทำอย่างนี้ได้

ซ้ำเมื่อรัฐบาลเริ่มรู้ตัวหัวหน้าแล้ว ตัวหัวหน้ายังมีกำลังที่จะสั่งลูกน้องในเผาสถานที่ราชการและโรงเรียนได้พร้อมกัน 70 กว่าจุดในเวลาใกล้เคียงกัน กินพื้นที่ 3-4 จังหวัด ใช้เครื่องมือสื่อสารอะไร จัดตั้งองค์กรอย่างไร คุมกันอย่างไร ฯลฯ จึงสามารถทำอย่างนี้ได้ โจรค้าอาวุธธรรมดาๆ เท่านั้นหรือที่ทำอย่างนี้ได้

ถ้าทฤษฎีนี้จริง รัฐบาลกำลังเผชิญกับอะไรกันแน่ จับตัวคนที่ถูกซัดทอดว่าเป็นหัวหน้าเพียงไม่กี่คนย่อมไม่อาจทำให้ปัญหายุติลงได้อย่างแน่นอน เพราะความไม่พอใจรัฐบาลแผ่ไปกว้างขวางกว่าคนร้ายเพียงไม่กี่คนเสียแล้ว

อาจเป็นเพราะเหตุที่ทฤษฎีนี้ฟังไม่ขึ้นเท่าไรนัก คำอธิบายของฝ่ายเจ้าหน้าที่บางคนต่อเหตุการณ์ในวันที่ 28 เมษายน จึงกลายเป็นเรื่องของยาเสพติด ตำรวจในพื้นที่บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ปฏิบัติการต่อสู้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้น มีอาการเหมือนคนถูกมอมยา คำอธิบายของคนถูกมอมยาตามทรรศนะของนายตำรวจท่านนั้นก็คือ ถือมีดวิ่งเข้าชาร์จทหาร-ตำรวจซึ่งถือปืนอยู่อย่างบ้าเลือด

ทฤษฎีอาชญากรรม -ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน การเมืองนอกกฎหมายทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ- เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่เสนอขึ้นมานานแล้ว บางครั้งก็ผสมผเสกับทฤษฎีแรก นั่นก็คือความไม่สงบในภาคใต้ทั้งหมดเกิดจากอาชญากรในธุรกิจมืดเหล่านี้ ถ้าผู้ใช้ทฤษฎีนี้เป็นประชาชนในพื้นที่(ที่ไม่ใช่มุสลิม) อาชญาดังกล่าวก็อาจเป็นคนมีสี และการแย่งผลประโยชน์กันของคนมีสี

ในทรรศนะของผม ทฤษฎีนี้อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่อธิบายอุบัติการณ์ทั้งหมดที่เกิดในภาคใต้ตลอดปีนี้ไม่ได้

รัฐไทยและรัฐบาลไทย(แม้แต่รัฐและรัฐบาลไทยหลัง "สงคราม" ปราบยาเสพติดแล้ว) ไม่ใช่รัฐที่เป็นอริกับอาชญากรเหล่านี้นัก มีวิธีที่อาชญากรเหล่านี้จะสามารถอิงแอบอยู่กับรัฐได้ บ้างก็ในระดับท้องถิ่น บ้างก็ในระดับชาติ เหตุดังนั้น การตั้งตัวเป็นศัตรูกับรัฐอย่างรุนแรงเช่นนี้จึงมีแต่ทำให้ "ขาดทุน"

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่นับช่วง The Politics of Heroin ในระหว่างเผด็จการทหารแล้ว(2490-2516) อาชญากรเหล่านี้ "ซื้อ" รัฐบาลไปได้ไม่หมด หรือแม้จะพูดว่าไม่มากจนเกินไปก็ได้ จึงไม่ถึงกับที่จะสร้างกองทัพส่วนตัวขึ้นมาท้าทายรัฐอย่างเปิดเผย(ยกเว้นบนขุนเขาห่างไกลที่สมัยหนึ่งรัฐเอื้อมมือไปไม่ถึง) จู่ๆ จะเกิดกองทัพพ่อค้ายาเสพติดหรือค้าของเถื่อนขึ้นในภาคใต้ตอนล่างจึงไม่น่าเป็นไปได้

แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนพยายามเน้นทฤษฎีนี้เพื่ออธิบายเหตุการณ์ในวันที่ 28 เมษายน เช่นบางท่านกล่าวว่า ได้ค้นพบยาเสพติด(ในเลือด หรือในตัว ก็ไม่ทราบได้) ของผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่...อันนี้เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งถึงแม้ผมออกจะสงสัยว่าไม่จริงแต่ก็ไม่มีทางตรวจสอบได้

ทฤษฎียาเสพติดมาคู่กันกับเรื่องวัยรุ่น เพื่ออธิบายเหตุการณ์ 28 เมษายนว่ามาจากผู้เยาว์ที่หลงผิดและตกเป็นเครื่องมือของคนจำนวนน้อย แต่ ผบ.ทบ.เองกลับออกมาปฏิเสธสำนักข่าวต่างประเทศว่า มีชายฉกรรจ์หรือแม้แต่กลางคนสมทบอยู่จำนวนไม่น้อย

ท่าน ผบ.ทบ.ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า มี "คนร้าย" อีกนับเป็นร้อยที่สามารถหลบหนีไปได้ในระหว่างปะทะกัน แปลว่าคนเหล่านี้ต้องหลบกลับไปปะปนกับประชาชนในพื้นที่ของตัว การติดตามจับกุมโดยรัฐย่อมตามมาอย่างแน่นอน ท่านนายกฯได้กล่าวเตือน และขอร้องให้ประชาชนในพื้นที่อย่าขัดขวางการปฏิบัติงานจับกุมของเจ้าหน้าที่ ท่านให้สัญญาว่าจะดูแลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ก็หวังว่าท่านนายกฯจะเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อาจยิ่งกระพือความไม่พอใจรัฐบาลของประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกได้ง่าย

ไม่ว่าสาเหตุของความไม่สงบจะเกิดขึ้นเพราะเหตุใดก็ตาม(ซึ่งควรยอมรับเสียทีว่าไม่รู้) แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวบ้านในภาคใต้นั้นมีสูงมาก ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่พอใจรัฐบาลคุณชวนหรือคุณทักษิณ เขาไม่พอใจกลไกอำนาจรัฐภายใต้รัฐบาลไทย แม้แต่ร่วมมือกับพ่อค้ายาเสพติด หรือกลุ่มโจรปล้นอาวุธ(ตามทฤษฎีข้างต้น) ก็ยังดีกว่าร่วมมือกับรัฐบาลไทย

ฉะนั้น นโยบายที่ไม่มีทางผิดคือแก้ตรงนี้ให้ได้อย่างเฉียบขาด อย่างที่ท่านนายกฯชอบก็ได้

นอกจากความไม่พอใจที่กลไกของรัฐกระทำต่อเขาโดยตรงแล้ว ยังมีอีกมากที่ไม่พอใจต่อการที่กลไกของรัฐกลับไปสนับสนุนนายทุนซึ่งกำลังรังแกเขาอีกด้วย เช่นสภาพแวดล้อมของอ่าวปัตตานีทั้งอ่าวกำลังถูกทุนทำลายลงอย่างย่อยยับด้วยประการต่างๆ ปล่อยให้ชาวประมงชายฝั่งต้องเผชิญชะตากรรมที่ตกต่ำจนเขาไม่มีทางจะกู้คืนได้ เพราะทรัพยากรของเขาถูกนำไปบำเรอทุนโดยการละเลยและยินยอมของราชการเอง

ฉะนั้น การพัฒนาจึงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป เพราะการพัฒนามีหลายแนวทาง การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว หมายถึงการเปิดพื้นที่ให้แก่ทุนในการตักตวงทรัพยากร ซึ่งชาวบ้านใช้อยู่อย่างยั่งยืนไปจนหมด รัฐซึ่งไม่น่ารักสำหรับเขาก็จะยิ่งไม่น่ารักมากขึ้นไปอีก

ถ้าเราเริ่มต้นด้วยคำว่าไม่รู้ เราก็อาจแสวงหาความรู้ได้มาก และได้จากหลายทาง การตั้งสมมติฐานจากการข่าวที่ไร้คุณภาพกลับจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไป

8. บิดเบือนคำสอน
ผมอยากอ่าน BerJihad di Patani ซึ่งกำลังทำความเดือดเนื้อร้อนใจให้แก่รัฐบาลเวลานี้เป็นอันมาก แต่ก็รู้ว่าคงไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะผมแก่เกินไปเสียแล้ว หนังสือเล่มนี้นอกจากถูกแบนแล้ว ท่านว่ายังควรถูกนำไปเผาเสียด้วย แม้กระนั้นผมก็เชื่อว่าถ้าผมอายุยืนพอ ก็คงมีโอกาสได้อ่านอยู่นั่นเอง เพราะไม่เคยมีใครเผาหนังสือต้องห้ามได้หมดสักที

น่าประหลาดมากที่หนังสือซึ่งมักทำจากวัสดุที่เผาไหม้ได้ง่ายนับตั้งแต่กระดาษปาปิรัส, หนังสัตว์, กระบอกไม้ไผ่, ฯลฯ กลับมักจะเผาไม่ไหม้หมด โดยเฉพาะหนังสือต้องห้ามทั้งหลาย (ในขณะที่หนังสือไม่ต้องห้ามกลับสูญสลายง่ายจัง เช่น เวลานี้จะหา "วรรณกรรมหน้าวัดเกาะ" ให้ครบคงไม่ได้เสียแล้ว)

เท่าที่ผมนึกออก ปฏิบัติการเผาหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดคงจะเป็นของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อทรงตัดสินพระทัยจะยึดถือเอาปรัชญาสกุล "นิตินิยม" (แปลว่าบ้าอำนาจด้วยกฎหมาย จึงไม่ใช่นิติธรรมเนียม) เป็นหลักในการบริหารบ้านเมืองและจัดการสังคมแล้ว ก็สั่งให้เผาทำลายหนังสือนอกแนวนี้ให้หมด ผลก็คือ นับตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่นซึ่งหันกลับมาส่งเสริมลัทธิขงจื๊อกันใหม่ คัมภีร์ขงจื๊อและนักปราชญ์ในสกุลนี้อื่นๆ ก็ทะยอยผุดออกมาจากที่ซ่อนมากมาย จนกลายเป็นหลักทางสังคมของจีนสืบมาอีกกว่า 20 ศตวรรษ

เช่นเดียวกับหนังสือของนักปราชญ์กรีก รวมทั้งคัมภีร์แม่มดหมอผีอีกมากมาย ซึ่งพระสมัยกลางสั่งเผา ในที่สุดก็ผุดออกมาจากที่ซ่อนเมื่อสังคมพร้อมจะอ่าน

คนไทยหลายคนคงนึกถึงงานของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ผมเชื่อว่านอกจากผมแล้ว คงมีคนไทยอีกหลายคนที่อยากอ่านหนังสือเล่มที่ถูกแบนนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้เลยว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ และถึงรู้ก็คงไม่นึกอยากอ่านอะไรนักหนา จนกระทั่งท่านทำให้รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มี "ฤทธิ์" มากกว่าธรรมดา จึงทำให้ใครๆ อยากลอง ถ้าสำนักพิมพ์ไหนขายหนังสือไม่ออก ก็หาทางให้รัฐบาลแบนหนังสือของคุณดูเถิด จะขายดีกว่านักเขียนซีไรท์เสียอีก

ผมไม่ทราบชัดว่า รัฐบาลท่านอ้างเหตุผลอะไรในการแบนหนังสือเล่มนี้ แต่ที่ท่านแสดงความร้อนใจที่สุดก็คือหนังสือนี้บิดเบือนคำสอนอิสลาม จึงได้ขอความช่วยเหลือจากสำนักจุฬาราชมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชำระ เพื่อชี้ให้เห็นว่าเนื้อความของหนังสือนี้ขัดกับหลักคำสอนที่ถูกต้องของอิสลามอย่างไร

คำว่า "บิดเบือนคำสอน" หรือ "ลัทธิแก้" นั้น เป็นประโยคมาตรฐานที่นิกายต่างๆ ในทุกศาสนาใช้ในการต่อสู้กันเสมอมา นับตั้งแต่อดีตกาลนานไกลจนถึงทุกวันนี้ จะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่านี่เป็นเครื่องมือต่อสู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งบนเวทีของการต่อสู้กันทางความคิดของมนุษย์

แล้วในที่สุด ทุกศาสนาก็ล้วนมีนิกายที่แตกต่างกัน หรือมีกระแสความคิดที่เกิดจากการตีความคำสอนที่แตกต่างกัน (ต่างฝ่ายต่างก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่งว่าบิดเบือนคำสอน หรือเสื่อมจากคำสอน หรือเข้าไม่ถึงคำสอน ฯลฯ ของศาสดา) กลายเป็นกระแสความคิดหลากหลาย ซึ่งจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องอยู่ร่วมกันไปในนามของศาสนาเดียวกันบ้าง คนละศาสนาบ้าง

ประเด็นที่ผมอยากจะพูดในที่นี้ก็คือ ไม่มีสถาบันทางสังคมอะไร โดยเฉพาะศาสนา ที่มีความเป็นเนื้อเดียวกันจริง เราเอาป้ายไปติดให้สถาบันเหล่านั้น เช่น ระบบโรงเรียน, ประชาธิปไตย, ชาติ, พุทธศาสนา, อิสลาม ฯลฯ แล้วเลยสมมติเอาง่ายๆ ว่า ทุกอย่างภายใต้ชื่ออันนั้นเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสิ้นเชิงหมด

ผมสงสัยว่า ในโลกหลัง 9/11 โดยเฉพาะในประเทศไทย อิสลามถูกเข้าใจผิดอย่างนี้มากที่สุด ใครเป็นมุสลิมก็ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามแต่อคติของเราจะพาไปเหมือนกันไปหมด ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่ก็มีเพื่อนเป็นมุสลิมกันทั้งนั้น แล้วก็เห็นอยู่ตำตาว่า เพื่อนมุสลิมแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย เช่น ระหว่างมุสลิมหนองจอกกับมุสลิมนราธิวาส เราก็รู้สึกถึงความต่างค่อนข้างมาก ไม่เฉพาะแต่คนเท่านั้นนะครับ การเข้าใจหลักธรรมหรือคำสอนก็ต่างกันด้วย แต่ข้อนี้ยิ่งยอมรับยากขึ้นไปใหญ่

ผมเคยคุยกับนักวิชาการมุสลิมท่านหนึ่ง เมื่อพูดถึงการตีความศาสนา ท่านยืนยันอย่างแข็งขัน (และออกจะคุกคามสำหรับผม) ว่าอิสลามไม่มีการตีความ มีแต่ใช่หรือไม่ใช่เท่านั้น ผมไม่กล้าเถียง แต่ผมไม่เชื่อหรอกครับ เพราะมนุษย์ไม่ใช่วิทยุหรือทีวี ส่งคลื่นอะไรมาก็ออกภาพหรือเสียงตามนั้นเป๊ะ ความหมายทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น (แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีพระเจ้าจริง หรือไม่มีพระนิพพานจริง) ฉะนั้นแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มจึงให้ความหมายต่อคำสอนแตกต่างกันได้

ก็เราไม่สามารถกลับไปทูลถามพระพุทธเจ้า, พระคริสต์, หรือพระนบีได้อีกว่า ที่เราเข้าใจนั้นใช่หรือไม่นี่ครับ ฉะนั้น แม้ในศาสนาอิสลามเองก็มี "นิกาย" ต่างๆ มากมายหรือแม้แต่ในนิกายเดียวกันเช่นสุหนี่ ก็มีระบบกฎหมายที่ต่างกันถึง 4 สกุล นักการศาสนาอาจบอกว่านั่นเป็นความแตกต่างด้านแบบปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น กินปลาดุกได้หรือไม่ เป็นต้น แต่เนื้อหาของ "ศาสนา" ในทางมานุษวิทยาและสังคมวิทยาที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ แบบปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่แหละครับ ไม่ใช่เฉพาะแต่หลักคำสอนเพียงอย่างเดียว

การมองเห็นมุสลิม (ทั้งคนและหลักคำสอน) เป็นเนื้อเดียวกันเช่นนี้ ยิ่งมีอันตรายมากขึ้น เมื่อเรารับทัศนคติฝรั่งที่มีต่อมุสลิมเข้ามายึดถือกันในภายหลัง ฝรั่งวาดภาพของมุสลิมให้เป็นคนรุนแรง, คลั่งศาสนา, ลี้ลับ, และ "ปิด" คือไม่เปิดรับใครนอกจากมุสลิมด้วยกัน (คนอย่างนี้ก็มีจริงในหมู่ชาวมุสลิม, คริสต์, และพุทธเหมือนกัน)

ผมเชื่อว่าคนไทยแต่ก่อนไม่ได้มองมุสลิมอย่างนี้ ยิ่งในภาคใต้ซึ่งอยู่ร่วมกันมานาน เราไม่สามารถพูดถึงวัฒนธรรมมลายูภาคใต้โดยไม่อ้างไปถึงวัฒนธรรมไทยได้ ในขณะที่เราไม่สามารถพูดถึงวัฒนธรรมไทยภาคใต้โดยไม่อ้างไปถึงวัฒนธรรมมลายูได้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันต้องมากถึงขนาดที่แบ่งปันวัฒนธรรมกันได้อย่างใกล้ชิดขนาดนี้

ถ้าเรายอมรับว่า ศาสนาไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน เราจะต่อสู้กับอะไรที่เราเห็นว่า "บิดเบือนคำสอน" หรือ "ลัทธิแก้" อย่างไร? ผมคิดว่าก่อนอื่น เราต้องสำนึกว่า "บิดเบือนคำสอน" นั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการต่อสู้กันทางความคิด เพราะสิ่งที่เราต้องการชี้ให้เห็นก็คือ การ "ตีความ" คำสอนอย่างนั้น ขัดกับคัมภีร์, คำอธิบายของนักปราชญ์ ขัดกับเหตุผล, ขัดกับหลักการที่สำคัญกว่า ฯลฯ อย่างไร เราจึง "ตีความ" ว่าข้อความนั้นๆ ไม่ตรงกับคำสอนที่แท้จริง

วิธีการต่อสู้ที่ได้ผลกว่าการเผาหนังสือ (ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้นว่าไม่เคยได้ผลจริงเลย) ก็คือ การขึ้นไปบนเวทีแล้วสู้กับความคิดนั้นอย่างเปิดเผย จะเขียนข้อค้านในภาษายาวีได้ยิ่งดี เพื่อเผยแพร่อย่างเสรี และเท่าเทียมกับเอกสารที่ "บิดเบือนคำสอน" ในขณะเดียวกันก็ไม่กีดกันความคิดของปรปักษ์ จะโต้วาที หรือออกหนังสือแข่งกันอย่างไรก็จะสู้ทุกเวที

เพราะไม่มีการต่อสู้ทางความคิดอะไรที่ประสบความสำเร็จได้จริง หากไม่ใช้อำนาจแห่งความคิดออกมาสู้กัน อำนาจรัฐไม่เคยเอาชนะกระแสความคิดอะไรได้จริงสักเรื่อง (จะถึงวันที่ 24 มิ.ย.อยู่แล้ว ย้อนกลับไปคิดถึงวันนั้นใน พ.ศ.2475 ดูสิครับ)

มีเรื่องแถมท้ายอีกเรื่องหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยว

เมื่อเกิด "ชาติ" ขึ้น "ชาติ" ฮุบเอาอะไรอื่นๆ ไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของตัวหมด ยกเว้นเพียงไม่กี่อย่าง และในบรรดาไม่กี่อย่างนั้นรวมเอา "ศาสนา" ไว้ด้วย. แต่ในเมืองไทย "ชาติ" ฮุบเอา "ศาสนา" ไปเลย เพราะชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ ของไทยนั้นเป็นตรีมูรติคือสามด้านของหนึ่งเดียว ส่วนหนึ่งเดียวนั้นจะคืออะไรก็ตาม แต่ไม่ใช่ศาสนาแน่

ผมคิดว่า "ศาสนา" รับใช้ชาติ (ประชาชน-สังคม) ได้ดีกว่านี้ ถ้า "ศาสนา" ไม่ใช่ส่วนหนึ่งที่เป็นเพียงเบี้ยของ "ชาติ" ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นมหาเถรสมาคม สำนักจุฬาราชมนตรี, คุรุสิงห์สภา, สภาคริสต์จักร, หรือองค์กรบริหารของคาทอลิก

9. ที่ลึกกว่า"แยกดินแดน"
หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯลงข่าวว่าทหารชุดเฉพาะกิจยะลาจับวัยรุ่นได้ 5 คน ในเขตอำเภอเมืองยะลา จากหลักฐานที่ยึดได้ 26 รายการ ส่อว่าวัยรุ่นทั้ง 5 นั้นกำลังวางแผนก่อการร้าย เช่นวางระเบิดและล่าสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมีรายชื่อตำรวจระดับยศตั้งแต่นายพันลงมา ถึงนายร้อยตั้ง 30 นาย นอกจากนี้ยังมีแผนที่สนามกีฬาที่นราธิวาสซึ่งนายกฯทักษิณเคยมีกำหนดจะลงไปเล่นบอลอีกด้วย จึงสันนิษฐานว่าจะก่อเหตุในสนามฟุตบอลในวันนั้น

หลักฐานอีกบางชิ้นส่อว่าวัยรุ่นเหล่านี้ฝักใฝ่กับแนวทางแยกดินแดน หรือแนวทางที่จะทำให้บ้านเกิดเมืองนอนของตนปลอดพ้นจาก "สยามอันน่าเหยียดหยาม" (จากบันทึกของหนึ่งในวัยรุ่นนั้นเอง-ตามข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งรับมาจากทางการอย่างเซื่องๆ อีกทีหนึ่ง)

ทางการไม่ได้ตั้งข้อหาอะไรแก่วัยรุ่นทั้ง 5 เพราะหลักฐานบ่งบอกแต่ว่ามีแผนการณ์ แต่เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติการ ก็ไม่มีความผิดทางกฎหมาย หากอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกควบคุมวัยรุ่นทั้ง 5 ไว้ที่ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม

ผมไม่ทราบหรอกว่า ความสงสัยที่ทางการมีต่อวัยรุ่นทั้ง 5 นั้นสมควรแก่เหตุผลที่หลักฐานทั้ง 26 ชิ้นจะรองรับหรือไม่ ฉะนั้น จึงไม่ติดใจสงสัยอะไรกับการควบคุมตัววัยรุ่นเหล่านี้ไว้ตามกฎอัยการศึก ตราบเท่าที่การสอบสวนเป็นไปอย่างมีมนุษยธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย และการติดตามสืบข่าวผู้ที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่น กระทำไปอย่างเปิดเผย ไม่คุกคามต่อสวัสดิภาพและชีวิตของเขา

แต่ผมสนใจหลักฐานสองสามชิ้นที่หนังสือพิมพ์พูดถึง หนึ่งในนั้นคือเสื้อยืดมีข้อความเขียนว่า Pemuda Itu Gila หนังสือพิมพ์ฝรั่งแปลประโยคนี้ว่า Youth fanaticism can do the unimaginable หรือความคลั่งลัทธิของวัยรุ่นย่อมทำสิ่งที่อยู่เหนือความนึกฝันได้

ผมไม่ทราบว่าบางกอกโพสต์ไปหาผู้แปลจากที่ใดได้น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ เพราะถ้าให้ผมแปลก็จะได้ความง่ายๆ ว่า "เยาวชนคนนั้นบ้าละโว้ย" หรือ "จะบ้าละโว้ย" (ผมออกจะแปลกใจด้วยว่าทำไมจึงไม่เขียนว่า Pemuda Ini Gila-คือเยาวชนคนนี้บ้าละโว้ยแทนคนนั้น)

ข้อความอย่างนี้จะหาจากเสื้อยืดของวัยรุ่นในกรุงเทพฯได้อีกหลายตัว แต่ผมก็ไม่ต้องการให้เข้าใจว่าข้อความเดียวกันบนเสื้อยืดของวัยรุ่นในกรุงเทพฯและปัตตานี-ยะลา-นราธิวาสจะมีความหมายเดียวกัน โดยเฉพาะความหมายต่อผู้สวมใส่

หลักฐานอีกชิ้นสองชิ้นเกี่ยวกับความฝักใฝ่ในการ "แยกดินแดน" (ตามความเห็นของทางการ) ชิ้นหนึ่งมีชื่อตามหนังสือพิมพ์ว่า Harimau Mataya ซึ่งแปลไม่ได้ แต่ผมเข้าใจว่าเกิดจากความผิดพลาดในการลอกลายมือของนักข่าว เพราะที่จริงน่าจะเป็น Harimau Melayu หรือ "พยัคฆ์มลายู" ซึ่งเป็นชีวประวัติของบุคคลที่หนังสือพิมพ์ไทยเมื่อ 50 ปีมาแล้ว เรียกว่า ตนกู มาหมุด ไมฮิยิดิน(Tengku Mahmood Mahyiddin) อีกชิ้นหนึ่งว่าเป็นประวัติของรัฐปาตานี เขียนโดยอะหมัด ฟาเดร์ อัลฟาตอนี(คืออะหมัด ฟาเดร์ แห่งปัตตานี)

ผมสารภาพว่าไม่เคยอ่านทั้งสองเล่ม แม้กระนั้นก็พอจะรู้อะไรอยู่บ้างเกี่ยวกับ "พยัคฆ์มลายู" และประวัติปัตตานีในสำนวนที่เป็นของคนท้องถิ่น และการ "แยกดินแดน" ในรุ่นโน้น และจะขอพูดถึงอย่างย่อๆ ไว้ดังนี้

ตนกู มาหมุด ไมฮิยิดิน เป็นบุตรของตนกู อับดุล กาเดร์ ซึ่งเป็นสุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานี(ซึ่งหมายความว่าเป็นญาติกับสุลต่านแห่งกลันตันโดยปริยาย) สุลต่านองค์สุดท้ายของปัตตานีถูกรัฐบาลสยามระแวงสงสัยว่าจะก่อการกบฏ เพื่อต่อต้านการรวบอำนาจของรัฐบาลสยาม จึงถูกจับส่งไปจำขังที่พิษณุโลก แม้ในภายหลังอนุญาตให้กลับมาอยู่ที่ปัตตานีได้ แต่ก็ยังระแวงสงสัยต่อไปถึงลูกหลานด้วย ในที่สุดลูกหลานก็ต้องย้ายเพื่อหลบภัยไปอยู่กลันตัน

แม้ว่าชาวมลายูมุสลิมจะถูกกดขี่จากนโยบายชาตินิยมปัญญาอ่อนของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในระยะแรกอย่างไร ข้อกล่าวหาเรื่อง "แยกดินแดน" ก็ยังไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ผู้นำชาวมลายู จนกระทั่งเมื่อเกิดรัฐประหารใน พ.ศ.2490 แล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ร่วมกับคณะรัฐประหาร จึงใช้ข้อกล่าวหานี้ในการขจัดกลุ่มคนที่ถูกระแวงว่าจงรักภักดีกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เช่น หะยีสุหรง

หะยีสุหรงได้รับคำขอร้องจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของไทย ให้รวบรวมกลุ่มผู้นำในภาคใต้ จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปกครองภาคใต้ให้รัฐบาลพิจารณา นั่นคือที่มาของข้อเสนอ 7 ข้อซึ่งหะยีสุหรงนำเสนอแก่รัฐบาลไทย แต่ก่อนที่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะทำอะไรกับข้อเสนอนั้น ก็เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน คณะรัฐประหารร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จึงใช้ข้อเสนอ 7 ข้อนี้ กล่าวหาหะยีสุหรงว่าเป็นกบฏ "แยกดินแดน" และถูกจับกุม(ภายใต้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์)

มีการปั้นเรื่อง "แยกดินแดน" ให้ไปเชื่อมโยงถึงบุคคลอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งตนกู ไมฮิยิดิน ซึ่งพำนักอยู่นอกประเทศ ตั้งแต่นั้นมาข้อกล่าวหาเรื่อง "แยกดินแดน" ก็ติดอยู่ในหมู่ผู้นำไทยจนถึงทุกวันนี้ บุคคลใดที่ได้รับความเคารพนับถือมากจากประชาชนมลายูมุสลิม โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับท่านรัฐบุรุษอาวุโส หรือคุณแช่ม พรหมยงค์(จุฬาราชมนตรี) ก็จะถูกระแวงสงสัยว่าต้องเกี่ยวข้องกับการ "แยกดินแดน" เสมอ ทั้งๆ ที่ต้นกำเนิดของเรื่อง "แยกดินแดน" นั้นเป็นเรื่องของการแย่งอำนาจกันของนักการเมืองในกรุงเทพฯนี่เอง (คำอธิบายนี้ โดยรวมๆ แล้วก็ใช้ได้กับการขจัดนักการเมืองในภาคอีสานสมัยหนึ่งด้วยเช่นกัน)

ผมไม่ปฏิเสธว่าผู้นำของชาวมลายูมุสลิม โดยเฉพาะพวกที่สืบเนื่องมากับกลุ่มผู้นำตามประเพณี มีความใฝ่ฝันถึงอนาคตสังคมของเขาแตกต่างจากที่ผู้นำไทยในกรุงเทพฯคิด รวมทั้งแตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งถูกการศึกษาและสื่อชักจูงให้คิดทำนองเดียวกันด้วย (แต่นั่นก็ไม่แน่ เพราะนักศึกษาในช่วง 2516-2519, แอคติวิสท์และเอนจีโอ ก็ใฝ่ฝันถึงอนาคตที่แตกต่างออกไป) แต่ทั้งหมดไม่ได้คิดว่าอนาคตนั้นอยู่นอก "ประเทศไทย"

อย่าลืมว่าหะยีสุหรงยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาลไทยตามคำขอของรัฐบาลไทยเอง และในข้อเสนอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นเรื่องของสิ่งที่เขาหวังว่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย แม้แต่ตนกู ไมฮิยิดิน ซึ่งพำนักอยู่นอกประเทศ ก็ได้บอกแก่นักการเมืองไทยผู้หนึ่งซึ่งออกไปพบในช่วงหลังรัฐประหารว่า เห็นด้วยกับการที่อนาคตของชาวมลายูมุสลิมย่อมอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้น การต่อสู้จึงต้องต่อสู้ในเวทีประเทศไทย ตัวเขายินดีจะพบกับผู้สมัคร ส.ส.ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ และยินดีจะรับรองการหาเสียงของผู้สมัคร หากยอมไปพบเขาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

(ผมคิดว่าแนวทางการแยกเป็นอิสระออกจากประเทศไทยเป็น "รัฐปาตานี" เป็นแนวคิดที่เกิดในรุ่นหลัง คือเกิดกับกลุ่มองค์กรติดอาวุธบางกลุ่ม-ขอย้ำว่าเพียงบางกลุ่ม-เท่านั้น ซ้ำยังส่อด้วยว่าแม้แนวคิดนี้ก็เสนอขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือการต่อรองมากกว่ามุ่งจะดำเนินการให้เป็นจริงด้วย)

แน่นอนว่าอนาคตที่ต่างกันย่อมมาจากอดีตที่ต่างกัน หนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานีที่เขียนหรือเล่าโดยคนพื้นเมือง จึงต่างจากที่เราเคยได้ยินจนคุ้นหูจากระบบการศึกษาของเรา อย่างน้อยเขาย่อมมองจากจุดยืนของเขาซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของกรุงเทพฯ

การ "ปราบ" ย่อมเป็นการรุกราน} การ "กบฏ" ย่อมเป็นการลุกขึ้นสู้เพื่ออิสรภาพ} การ "รวมชาติ" ย่อมเป็นการยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรม} ผมจึงไม่คิดว่าเนื้อหาหลักๆ ของหนังสือประวัติปัตตานีที่ทางการยึดได้จะแตกต่างจากที่ได้เคยอ่านหรือฟังมาแล้ว

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าความจดจำของใคร "ถูก" ของใคร "ผิด" แต่ไม่มีประชาชาติใดในโลกที่ไม่ได้ฝังความขมขื่นระหว่างกันไว้ในความทรงจำเกี่ยวกับอดีต ปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ที่ว่าเราจะฝังความขมขื่นนั้นไว้ในปัจจุบันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดกระนั้นหรือ

ความขมขื่นของปัจจุบันไม่ได้มาจากความทรงจำเกี่ยวกับอดีตเพียงอย่างเดียว การที่เด็กหนุ่มลุกขึ้นตะโกนว่า "กูจะบ้าแล้วโว้ย" คงไม่ใช่เพราะเขาได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์สำนวนท้องถิ่นเท่านั้น แต่สภาพการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันหลายอย่างที่ผลักให้เขาทนรับสภาพต่อไปไม่ไหว

พูดเพียงแต่เหตุเฉพาะหน้า มีญาติมิตรและผู้คนซึ่งเป็นที่นับถือถูกอุ้มหายไปจำนวนมาก(บางคนว่าประมาณ 150 บางคนว่าเกิน 200) มีคดีฆาตกรรมที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำน่าสงสัยเกิดขึ้นอีกมากมาย(เช่นโต๊ะครูที่นราธิวาสซึ่งถูกยิงทิ้งเกือบจะต่อหน้าลูกเมีย เพราะเขารับเลี้ยงเด็กชาวเขาจากภาคเหนือประมาณ 30-40 คน) มีความหวาดกลัวและหวาดระแวงกันจนชีวิตขาดความเป็นปกติสุข ระบาดไปในเกือบทุกท้องที่ของสามจังหวัด ทั้งหมดเหล่านี้ไม่เคยมีการสืบสวนสอบสวนให้กระจ่างจนจับตัวคนร้ายได้สักรายเดียว

ยังไม่พูดถึงความคับแค้นใจอีกนานาชนิดที่เกิดขึ้นแก่ชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานาน แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะมีบางคนลุกขึ้นตะโกนว่า "กูจะบ้าแล้วโว้ย" หรือลงมือทำอะไรให้สมกับคำตะโกน

การชี้มือไปยังผู้ตะโกนว่า "แยกดินแดน" ไม่ได้ตอบปัญหาอะไรเลย เพราะเท่ากับมองข้ามความคับแค้นใจนานาชนิดซึ่งเกิดขึ้น ทั้งจากเหตุเฉพาะหน้าปัจจุบัน หรือที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน อันเป็นแรงผลักดันให้เขาคิดหรือสนับสนุนการ "แยกดินแดน"

เช่นเดียวกับการยกเหตุทั้งหมดให้แก่ความยากจน นอกจากไม่ตอบปัญหาแล้ว ยังทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น เขาเคยจนมาก่อนหรือไม่ ถ้าเคยจนมานานแล้ว เหตุใดจึงไม่เกิดความรุนแรงดังที่เป็นอยู่ ถ้าไม่เคยจน อะไรทำให้เขากลายเป็นคนจน ถ้าการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมแก้จนได้ เหตุใดคนงานในกรุงเทพฯจึงยังจนอยู่ โครงสร้างพื้นฐานแก้ความยากจนได้จริงหรือ ถ้าอย่างนั้นความยากจนก็ควรหมดไปจากอีสานแล้ว

เพื่อนผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่ง ปรารภด้วยความห่วงใยต่อนโยบายของรัฐบาลนี้ในกรณีภาคใต้ว่า "หรือเราจะต้องเสียดินแดนกันอีกครั้งหนึ่ง" ผมไม่เห็นด้วยและไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ด้วยประการทั้งปวง แต่นโยบายที่ไม่เป็นโล้เป็นพายทั้งหมดเหล่านี้นี่แหละ คือที่มาของความรุนแรงที่ทั้งสองฝ่ายกระทำแก่กัน ยังไม่พูดถึงอนาคต เฉพาะในปัจจุบันนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์อยู่ในขั้น "นองเลือด" แล้ว

สื่อควรคิดถามตัวเองให้ดีว่า จะสามารถทำอะไรในการบรรเทาความรุนแรง อันเกิดจากความไม่เป็นโล้เป็นพายของนโยบายรัฐได้บ้าง ผมไม่ต้องการยุให้ท่านไปเผชิญหน้ากับความบ้าอำนาจของใคร แต่ท่านต้องทำหน้าที่ของท่าน รายงานข่าวจากทางการต้องควบคู่กันไปกับการสืบข่าวจากชาวบ้านในทุกกรณี และพยายามรายงานข่าวจากจุดยืนของฝ่ายชาวมลายูมุสลิมบ้าง ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์ของสังคมไทยซึ่งเป็นลูกค้าของท่าน

เราอาจไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ Pemuda itu gila แต่พวกเขาไม่ใช่ "โจ๋" อย่างที่หนังสือพิมพ์ไทยเรียกอย่างแน่นอน ผิดจากภาพพจน์ของวัยรุ่นที่สยามเซ็นเตอร์ หรือแฟนคอนเสิร์ต เขาเป็นหนุ่มสาวจำนวนน้อยในประเทศไทยปัจจุบันที่คิดถึง "ส่วนรวม" ยิ่งกว่าตนเอง ไม่อย่างนั้นท่านต้องพูดว่าโจ๋มหาวิทยาลัยไทยล้มถนอม-ประภาสลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

กลับไปยังบทความเรื่องนี้ ตอนที่หนึ่ง


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

ความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้ มาจากความเกลียดชังเหยียดหยามชาวอาหรับในวัฒนธรรมอเมริกันเอง เช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ที่มักสร้างภาพให้ชาวอาหรับเป็นคนโสโครกและคดในข้องอในกระดูก บางคนพูดถึงปูมหลังของทหารซึ่งถูกสอบสวนและลงโทษอยู่เวลานี้ว่า เป็นเด็กบ้านนอกที่ถูกเกณฑ์(หรืออาสาสมัคร)เข้ากองทัพ เคยอยู่มาในเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนรู้จักกันหมด แล้ววันหนึ่งก็มีคนแปลกหน้าโพกหัวเข้ามาเดินยุ่มย่ามเต็มเมือง ในฐานะผู้อพยพซึ่งมีสิทธิเท่าเทียมกับตนในการหางานและสวัสดิการสังคม


แม้ว่าชาวมลายูมุสลิมจะถูกกดขี่จากนโยบายชาตินิยมปัญญาอ่อนของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในระยะแรกอย่างไร ข้อกล่าวหาเรื่อง "แยกดินแดน" ก็ยังไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ผู้นำชาวมลายู จนกระทั่งเมื่อเกิดรัฐประหารใน พ.ศ.2490 แล้ว รัฐบาลประชาธิปัตย์ร่วมกับคณะรัฐประหาร จึงใช้ข้อกล่าวหานี้ในการขจัดกลุ่มคนที่ถูกระแวงว่าจงรักภักดีกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เช่น หะยีสุหรง
หะยีสุหรงได้รับคำขอร้องจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของไทย ให้รวบรวมกลุ่มผู้นำในภาคใต้ จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปกครองภาคใต้ให้รัฐบาลพิจารณา นั่นคือที่มาของข้อเสนอ 7 ข้อซึ่งหะยีสุหรงนำเสนอแก่รัฐบาลไทย แต่ก่อนที่รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะทำอะไรกับข้อเสนอนั้น ก็เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน คณะรัฐประหารร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จึงใช้ข้อเสนอ 7 ข้อนี้
กล่าวหาหะยีสุหรงว่าเป็นกบฏ "แยกดินแดน" และถูกจับกุม(ภายใต้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์)