Website
ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 430 หัวเรื่อง
รวมบทความขนาดสั้นสองเรื่อง
กำพล จำปาพันธ์ (นักวิชาการอิสระ)
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
รวมบทความเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม
๒ เรื่อง
ชาติ
ศาสน์ กษัตริย์ และ อคติแห่งจารีตประเพณี
กำพล จำปาพันธ์ : นักวิชาการอิสระ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ : ผลงานที่จะอ่านต่อไปนี้
เป็นการรวมเอาบทความขนาดสั้นสองเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมมาไว้ด้วยกันคือ
๑. ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์
๒. อคติแห่งจารีตประเพณี เขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ
8 หน้ากระดาษ A4)
๑. สนทนาเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์
กำพล จำปาพันธ์
ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ชวนให้นึกถึงบรรดาชุดความคิดต่างๆ ที่รัฐยึดถือปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างปัญหาเองไปในตัว แม้สังคมไทยจะมีความคิดหลายอย่างดำรงอยู่ แต่ท้ายสุดปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่มีชุดความคิดไหนจะ "ใหญ่ " ไปกว่า "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ " เนื่องจากเป็นความคิดหรืออุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง จะแตะต้องหรือขัดแย้งนักไม่ได้ (อย่างน้อยก็ไม่ได้โดยเปิดเผย) หากต้องยอมรับรู้ รับฟัง และปลูกฝังกันร่ำไป
โดยเนื้อหาอุดมการณ์นี้สร้างความชอบธรรมบางอย่างให้กับการกระทำของฝ่ายผู้มีอำนาจ เป็นเหตุผลให้แก่การใช้ความรุนแรงโดยรัฐได้ไม่ยากเท่าไรนัก ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งปิดกั้นแก่โอกาสหรือสิทธิอื่นที่นอกเหนือไปกว่านี้ ลองพิจารณาในอีกแง่มุมดูหน่อยนะครับ
ในนามความเป็น "ชาติ " ย่อมหมายถึงการรวมศูนย์ความรักความศรัทธาให้ขึ้นตรงต่อรัฐ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ที่มีอยู่จึงมักถูกกดไว้ภายใต้ "ชาติ "
สำหรับฝ่ายนำทางอำนาจ "ชาติ "อาจมีมาเนิ่นนานเทียบเท่ากับที่สังคมมีประวัติศาสตร์ ความเชื่อนี้ตั้งอยู่บนฐานความเข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ เกี่ยวกับชนเชื้อชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์เชื้อชาติ (ไทย) เป็นเรื่องราวของการอพยพย้ายถิ่นฐานและการสร้างบ้านแปลงเมือง แม้ถูกคุกคามเรื่อยมาแต่ชาติไทยก็ยังคงอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์แบบนี้เดิมไม่ได้เขียนโดยคนไทยเอง หากเป็นฝรั่งที่เชื่อว่าจีนแผ่นดินใหญ่เป็นศูนย์กำเนิดอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้เขียนขึ้น นักเขียนชั้นหลังเช่นขุนวิจิตรมาตรา เพียงแต่เก็บความมาอภิปรายขยายความอีกต่อหนึ่ง
เดิมสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ปัญญาชนฝ่ายนำทางอำนาจจะหลงเชื่อเช่นนี้อยู่เช่นกัน แต่ก็หาได้เป็นที่เอิกเกริกมากเท่าปัญญาชนสมัยหลังอย่างรุ่นหลวงวิจิตรวาทการ ฯ ทั้งนี้อาจเพราะเดิมการเชื่อว่าในอดีตคนไทยไม่ได้อยู่ในดินแดนนี้ หรือดินแดนนี้ไม่ใช่ของคนไทยเพียงพวกเดียวอยู่แต่เดิม ออกจะดูหมิ่นเหม่ต่อผู้มีอำนาจสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่อ้างมีอำนาจเหนืออาณาเขตดินแดนนี้ทั้งหมด และทั้งยังอ้างป็นไทยแท้ไม่ใช่จีน (ทั้งที่มีเชื้อจีนผสมเข้มข้น) อำนาจเหนือดินแดนจึงมีความสำคัญอยู่มาก "สยามินทร์ " ที่แปลตามตัวบทอักษรว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือดินแดน(สยาม) กลายเป็นปรมาภิไธยย่อของกษัตริย์อย่างจริงจังก็ในสมัย ร.๕ นั่นเอง
แต่สำหรับปัญญาชนฝ่ายผู้นำหลังเปลี่ยนการปกครองนั้นกลับตรงข้าม เนื่องจากพวกนี้มีความจำเป็นที่ต้องก่อการยุติความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ในราชอาณาจักรสยาม เพื่อเบิกทางสู่ศักราชการปกครองระบอบใหม่ การสร้างชาติทั้งที่ตัวเองก็คิดว่าชาตินั้นมีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นภารกิจอันจำเป็นเร่งด่วน มากกว่าการธำรงชาติเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น
กำพืดเดิมของพวกเขาที่ไม่ใช่ผู้สืบสายเลือดมาจากราชจักรีวงศ์ มีผลทำให้พวกเขาไม่ได้คิดหวงแหนความเป็นไทยไว้แก่ตนเองเพียงฝ่ายเดียว หากกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดให้คนทั้งประเทศถูกเรียกว่าเป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด เอกสารรัฐนิยมฉบับที่ ๓ เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย ระบุเรื่องนี้ไว้ชัดเจน
"การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทย ออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลาม ก็ดี ก็ไม่เป็นการสมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้ "
ส่วน "ศาสน์ "นั้นแม้จะไม่บอกกันอย่างตรงไปตรงมา แต่หลายคนคงเข้าใจได้ไม่ยากว่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ศาสนาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยเสียทีเดียว หากว่ากันตามสัตย์ซื่อแล้วก็เห็นจะต้องบอกว่า เป็นศาสนาพุทธเสียส่วนใหญ่ แม้สีแทนศาสนาในธงไตรรงค์จะใช้สีขาวไม่ใช้สีเหลือง แต่บ่อยครั้งที่สัญลักษณ์ธรรมจักร มักปรากฏคู่เคียงกับธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์อยู่เสมอ
ยิ่งความสำคัญในทางศูนย์รวมสักการะของพระพุทธรูปด้วยแล้วยิ่งเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เมื่อเชื่อถือศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พุทธศาสนาเองก็มีนัยรุกรานมิใช่น้อย สมัยพุทธกาลถึงขนาดปรากฎมีการเรียกผู้ที่ยึดถือต่างจากตนว่าเป็นพวกเดียรถีย์บ้างล่ะ อลัชชีบ้างล่ะ และก็อวิชชา เป็นต้น ทั้งนี้ไม่นับกับการที่ภายในพุทธเอง ก็มีสภาพแตกหน่อเหล่ากอออกเป็นนิกาย เป็นสำนัก เป็นสายสาขาต่างๆ มากมาย
จากหลักคำสอนในภาษาของสังคมพุทธ นี่เองที่ให้กำเนิดแก่คำ "ชาติ " สำหรับแปล Nation ในภาษาอังกฤษ ดังที่ปรากฏในคำสอนเรื่อง ชาติ(เกิด), ชรา(แก่), พยาธิ(เจ็บ), มรณะ(ตาย). แต่ชาติในภาษาแบบพุทธนั้นมีความหมายต่างจากชาติในระบบรัฐสมัยใหม่ เพราะชาติแบบพุทธหมายถึง ชีวิตบุคคลทั้งชีวิตนับเป็นหนึ่งชาติหรือหนึ่งภพ(ชาติภูมิ)ในสังสารวัฎรนั่นเอง ถือตามนี้สัตว์อื่นแม้แต่หมาแมวก็นับเป็นหนึ่งชาติ คือ เป็นชาติเดียวกัน
ชาติแบบพุทธนั้นจึงเป็นชาติในความหมายที่ "เปิด " เสมอแก่การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่เหมือนชาติที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของรัฐสมัยใหม่ เพราะเทียบกันแล้วนับเป็นชาติในความหมายที่ "ปิด " อย่างยิ่ง แค่เดินทางออกนอกประเทศไปหน่อยเดียวเราก็จะเจอแต่ชาวต่างชาติเสียแล้ว ผิวขาวตัวโต ตาสีฟ้าหน่อยเราก็เรียกฝรั่ง เจ้านิโกรตัวดำนั่นก็อาฟริกัน ไอ้ยุ่นนี่ก็ญี่ปุ่น อาหมวยน่ารักนนั่นก็กลายเป็นเจ๊กเป็นจีนไปเสีย คือ มีความเป็นอื่นดำรงอยู่เต็มไปหมด ชาติในความหมายนี้จึงไม่น่ายึดถือจริงจังแต่อย่างใด (แต่ผมไม่ได้หมายความว่าชาติแบบพุทธจะแง่งามไปเสียหมดนะครับ)
เมื่อพูดถึง "ศาสน์" อันเกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงยิ่งเมื่อมีกรณี ๒๘ เมษา'ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าอิสลามจะถูกมองแง่ลบในเรื่องนี้ ทั้งที่ในสังคมพุทธแบบไทยๆ ของเราเองก็ยังเคยมีกรณีกบฏผีบุญ ผู้ที่พอรู้เรื่องราวของครูบาศรีวิชัยบ้างก็คงจะทราบกันดีว่า นักบุญแห่งล้านนาท่านนี้ขัดแย้งกับศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ มิใช่น้อย หรือถ้าจะนับย้อนไปไกลกว่านั้นก็ยังเคยมีกรณีชุมนุมเจ้าพระฝาง สมัยพระเจ้ากรุงธนฯ
กรณีดูซงญอจะว่าไปก็ออกจะ "มาสาย " เสียด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับทางพุทธเอง (แม้ในระยะจาก ๑๔ ตุลา ถึง ๖ ตุลา ก็ยังปรากฎมีพระฝ่ายซ้ายที่ออกมาเคลื่อนไหวหนุนช่วยนักศึกษา ประชาชน ฯลฯ) ปัญหาจริงๆจึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา หากเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญเป็นการเมืองเสียมากกว่า
สำหรับ "กษัตริย์ " นั้น นับเป็นการสำคัญผิดอย่างไม่พึงหมาย หากจะกล่าวว่าทรงเป็นศูนย์รวมของชาติมาตลอด เพราะในความเป็นจริงกษัตริย์มีมาก่อนชาติ บ่อยครั้งจึงปรากฎว่าชาติที่สร้างกันขึ้นมาภายหลังนี้ต่างหาก ที่พยายามดึงเอาพระองค์ลงมามีส่วนเกี่ยวข้อง สมัยสมบูรณาญาสิทธิ์พระองค์อาจมีความสำคัญในบริบทที่ทรงเป็นพระผู้สร้าง แต่ในปัจจุบันกิจกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีคุณูปการแก่ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพสกนิกรอยู่มาก
ก่อนเปลี่ยนการปกครองมักมองกันว่าพระองค์มีอำนาจอย่างล้นหลาม ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะเป็นยุคสมัยที่พระองค์ถูกท้าทายอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จนเกิดเป็นหวอดให้กับการเปลี่ยนแปลง พ.ศ.๒๔๗๕
รัชกาลที่ ๖ พระผู้สร้างที่ทรงนำเข้าอุดมการณ์ชาติ
ศาสน์ กษัตริย์ (God King and Country) นี้เองก็ยังถูกท้าทายโดยกลุ่มผู้ก่อการ
ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งนับเป็นการท้าทายที่รุนแรงและมีนัยสำคัญต่ออุดมการณ์แห่งชาติของฝ่ายนำทางอำนาจในห้วงทศวรรษ
๒๔๗๐ (เรื่องนี้มีประเด็นอยู่ใน "การปฏิวัติครั้งแรกของไทย " ซึ่งเป็นบันทึกของเนตร
พูนวิวัฒน์ และเหรียญ ศรีจันทร์ ผู้ก่อการ ร.ศ.๑๓๐)
บางครั้งการรักชาติก็จึงอาจหมายถึงการที่จำต้องฝ่าฝืนประเพณีการปกครองที่มีพระองค์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง
(คณะร.ศ. ๑๓๐ เคยเสนอด้วยซ้ำว่า "บ้านเมืองนั้นหายาก แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหาง่าย
" )
ในเมื่ออุดมการณ์นี้สามารถสร้างดุลยภาพได้พอๆ กับที่สร้างความขัดแย้ง ด้านหนึ่งจึงไม่เป็นหลักประกันอันใดได้เลยแก่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ตรงข้ามอุดมการณ์อื่นที่มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งอื่นที่อาจจะดีกว่า กลับไม่แคล้วต้องท้าทายต่ออุดมการณ์นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางครั้งถูกทำให้เป็นเงื่อนไขก่ออาชญากรรมด้วยซ้ำ คือ เป็นเครื่องมือมากกว่าที่จะเป็นเป้าหมายบริสุทธิ์โดยตัวมันเอง เช่นกรณีที่มักอ้างถึงกันบ่อยในที่นี้ผมก็ขออ้างด้วยอีกคน คือ กรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หลายครั้งที่ภายใน "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ " เองก็มักมีการเปลี่ยนย้ายความหมายและความสำคัญในตัวเองอยู่เสมอ
เช่น หลังกรณีกบฎบวรเดช (ขออนุโลมเรียกอย่างนี้นะครับ ผมไม่ได้ถือว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง "ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็น "กบฏ" เสียทีเดียว) คณะผู้ก่อการฯ ก็ได้เพิ่ม "รัฐธรรมนูญ" เข้าไปพ่วงท้าย ทั้งที่ในความเป็นจริงปรากฎว่ามีความพยายามที่จะชูภาพลักษณ์รัฐธรรมนูญให้กลายเป็นสถาบันสำคัญทางการเมืองการปกครองแทนที่กษัตริย์ สมัยจอมพลสฤษดิ์ : รัฐธรรมนูญก็ถูกตัดออกไป แต่ในความเป็นจริงสฤษดิ์ก็กลับเอา "สหรัฐอเมริกา " เข้าไปพ่วงท้าย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสหรัฐอเมริกา " กลายเป็นสำนวนล้อเลียนจนเท่าทุกวันนี้
ปัจจุบันนี้สิครับ.ดูเหมือน "กษัตริย์ " จะมีความสำคัญไปมากกว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์เสียด้วยซ้ำ เมื่อ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข " ได้เข้าไปห้อยท้าย ข้อนี้มีปรากฏในรัฐธรรมนูญ หมวด ๔ ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง "หน้าที่ของชนชาวไทย" เช่น มาตรา ๖๖ ระบุว่า
"บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข "
อีกด้านหนึ่งแม้แต่ระหว่าง
ชาติ(ไทย) - ศาสน์(พุทธ)- กษัตริย์ (จักรี) เองก็มักมีความไม่ลงตัวไม่แนบสนิทกันเสียทีเดียว
ภายใต้พระบรมโพธิสมภารราชอาณาจักรไทย อาจมีพื้นที่ว่างอยู่บ้างสำหรับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ
วัฒนธรรม และศาสนา แต่จะวางใจอะไรได้ในเมื่ออย่างไรเสียปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงดำรงอยู่เพียงแต่ถูก
"กด"ไว้เท่านั้นเอง !?
๒. อคติแห่งจารีตประเพณี
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
การให้ความสำคัญกับจารีตประเพณีในฐานะของ "กฎหมายที่ดี" ซึ่งสมาชิกในสังคมพึงปฏิบัติตาม เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความคิดแบบสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical Jurisprudence)
แนวความคิดของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์อธิบายว่ากฎหมายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับภาษา วัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเชื่อ ที่สามารถมีความแตกต่างกันไปได้ในแต่ละสังคม โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์หรือพัฒนาการของแต่ละสังคมว่าผ่านประสบการณ์หรือเผชิญกับเหตุการณ์อะไรมาบ้าง
การมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันนี้ทำให้แต่ละสังคมสร้างวัฒนธรรมความเชื่อและจารีตประเพณีที่ต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น แม้ว่าเราจะมีความคุ้นเคยกับการก่อตั้งครอบครัวในระบบผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy) อันหมายถึงการแต่งงานมีชีวิตคู่ของชายและหญิงต้องเป็นระหว่างชายหนึ่งหญิงหนึ่งเท่านั้น โดยไม่สามารถมีชายหรือหญิงอื่นพร้อมกันไปได้ในขณะเดียวกัน (อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมถึงการมีหรือเป็นชู้อันเป็นการกระทำที่ไม่ได้รับการยอมรับ ผู้กระทำจึงต้องแอบหรือกระทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ)
แต่ในบางสังคม ก็มีรูปแบบของการมีชีวิตคู่ซึ่งไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่ เช่น บางสังคมมีระบบผัวเดียวหลายเมีย ระบบครอบครัวแบบนี้ยังปรากฏอยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งยินยอมให้มีภรรยาได้หลายคน (แต่ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การกระทำของชายเยี่ยงนี้มิได้เป็นไปอย่างเสรี หากมีเงื่อนไขและข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย จนทำให้มีเพียงบางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสิทธิได้)
หรือในทิเบต บางกลุ่มชนก็มีระบบเมียเดียวหลายผัว ระบบแบบนี้อาจฟังดูแสลงหูสำหรับสังคมที่เคยชินอยู่กับระบบผัวเดียวเมียเดียว และอาจทำให้เกิดการประณามว่าเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิงที่ผู้หญิงคนเดียวจะมีผัวหลายคนพร้อมกันอย่างเปิดเผย
แต่สำหรับกลุ่มชนนี้ ระบบเมียเดียวหลายผัวเป็นปรากฏการณ์ที่แสนจะธรรมดา ยิ่งไปกว่านั้นบางครอบครัวที่มีสามี 2 คน สามีทั้ง 2 ก็เป็นพี่น้องกัน และโดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าเรื่องที่ตนประพฤติอยู่เป็นสิ่งที่น่าอับอายแต่ประการใด
ถ้าพิจารณาผ่านแนวความคิดของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ก็จะมีคำอธิบายว่า
ความแตกต่างดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากพัฒนาการทางสังคมที่ต่างกันไป จึงทำให้เกิดรูปแบบของระบบเมียเดียวหลายผัวขึ้น
อาจเป็นไปได้ว่าชุมชนแห่งนี้มีอัตราการเกิดและมีชีวิตอยู่ของเพศหญิงอยู่ในระดับต่ำ
ทำให้มีประชากรหญิงเป็นจำนวนน้อย กฎเกณฑ์นี้จึงเกิดขึ้นเพื่อให้สังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างสงบสุข
ลองนึกดูว่าถ้ามีการนำเอาระบบผัวเดียวเมียเดียวเข้าไปใช้ในสังคมที่มีประชากรชายหญิงเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก
กฎเกณฑ์ที่เชื่อกันว่าเป็นความดีงามอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นเงื่อนไขของการทำให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นก็ได้
ความคิดของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นพวกสัมพัทธ์นิยม (Relativism) อันเป็นแนวความคิดที่อธิบายว่าความดีหรือสัจธรรมอันแท้จริงในโลกมนุษย์นี้ไม่มีอยู่จริง เพราะความดี ความยุติธรรม ความจริง ล้วนขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมหรือกาลเทศะทั้งสิ้น
ในหลายสังคมปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้หันมาเคารพต่อจารีตประเพณีของชนแต่ละกลุ่ม ด้วยเหตุผลว่า ภายใต้หน่วยทางการเมืองแบบรัฐชาติ อันเป็นการก่อตัวขึ้นบนฐานของผู้คนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม มักมีการสร้างมาตรฐานกลางโดยรัฐไม่ว่าจะโดยนโยบายหรือการออกกฎหมายให้มีบรรทัดฐานเดี่ยวในการตัดสินหรือกำกับวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงและรวมถึงอาจเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ที่ก่อความอยุติธรรมให้บังเกิดขึ้น
แม้ว่าการยอมรับจารีตประเพณีในฐานะของกฎเกณฑ์ที่มีความสำคัญต่อสังคม อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า การยอมรับเอาจารีตประเพณีให้มีผลบังคับ น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชีวิตของผู้คนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเพียงอย่างเดียว
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คำถามสำคัญก็คือว่าการยอมรับเอาจารีตประเพณีให้มีผลบังคับใช้จะมีข้อจำกัดใดๆ ต่อกฎเกณฑ์เหล่านั้นหรือไม่ เพียงใด
การเรียกร้องต่อสิทธิของผู้หญิง กรณีเรื่องการเข้าไปในพื้นที่ปริมณฑลชั้นในของพระธาตุดอยสุเทพก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า ในการปฏิบัติตามจารีตประเพณี ควรต้องมีการเคารพถึงความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงหรือไม่ หรือแค่เพียงว่าถ้าจะนำเอาจารีตประเพณีมาใช้บังคับแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องสนใจต่อกฎเกณฑ์ความเชื่ออื่นๆ เลย
หากมีคำตอบว่าไม่จำเป็นต้องสนใจมาตรฐานอื่นในสังคมเลย ถ้าเช่นนั้นเราจะตอบคำถามต่อกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้ในลักษณะเดียวกันหรือไม่
พ.ศ. 2542 ชาวแอฟริกันที่อยู่ในฝรั่งเศสจำนวน 28 คนตกเป็นจำเลยในข้อหาทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนา จนทำให้ผู้อื่นพิการอย่างถาวร จำเลยทั้ง 28 คนเป็นผู้ปกครองของเด็กหญิง 48 คนที่ถูกขลิบบางส่วนของอวัยวะเพศ จนไม่มีความรู้สึกทางเพศตลอดไป ผู้กระทำอ้างว่าเป็นจารีตประเพณีที่กระทำกันในแอฟริกาหลายประเทศ แม้จนกระทั่งในเวลาที่เกิดเหตุขึ้นก็ยังเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่อย่างแพร่หลาย
หรือในอินเดีย บางแห่งมีประเพณีที่หากสามีของหญิงใดเสียชีวิตลง หญิงผู้นั้นก็ต้องโดดเข้ากองไฟเพื่อตายตามสามีไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในจารีตประเพณี
ก็มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่หากมองด้วยมาตรฐานของสายตาปัจจุบันแล้ว ก็คงยากต่อการยอมรับ
การให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ที่เป็นจารีตประเพณีอย่างเต็มรูปแบบ จึงอาจสร้างความยากลำบากต่อบุคคลหลายกลุ่มที่จะยอมรับ
เฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยความเชื่อนั้น
ยิ่งหากพิเคราะห์ดูแล้ว พบว่าจารีตประเพณีเป็นจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะลิดรอนและกดเพศหญิงให้อยู่ในสถานะที่ต่ำ
จึงไม่เป็นเรื่องชวนให้ประหลาดใจแต่อย่างใดว่าเมื่อมีการพูดถึงจารีตประเพณีแล้ว
ผู้ซึ่งกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งบ่อยครั้งมักเป็นผู้หญิง
ต้องไม่ลืมว่าจารีตประเพณีในตัวมันเองก็เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับสังคม เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้น จารีตประเพณีก็ย่อมสามารถที่จะเปลี่ยนไปได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การยอมรับจารีตประเพณี จึงไม่ใช่เรื่องของการนำเอากฎเกณฑ์เดิมมาบังคับใช้โดยไม่พิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้น
การยึดเอาจารีตประเพณีไว้ไม่ให้ถูกระแคะระคายจากความเปลี่ยนแปลง จะเป็นการกระทำที่ทำให้มันแปรสภาพไปเป็นสัจธรรมสูงสุดที่ไม่อาจแตะต้องได้ การกระทำเช่นนี้แม้กระทำด้วยความปรารถนาดีเพียงใด แต่ผลของมันอาจร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง
ถ้าหากจารีตประเพณีใดเป็นสิ่งที่พ้นสมัยและไม่มีบทบาทหน้าที่ใดๆ ในทางสังคมหลงเหลือ การยึดถืออย่างเหนียวแน่น จะไม่ได้ก่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวเลย ตรงกันข้ามหากมีความไม่เชื่อถือหรือการเข้าไม่ถึงเหตุผลในจารีตประเพณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง การไม่เปิดโอกาสให้จารีตประเพณีได้มีโอกาสพูด และปรับตัวในสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในวันหนึ่งข้างหน้าจารีตประเพณีเหล่านั้นก็อาจล้มครืนไปอย่างไม่เป็นท่าได้
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด
กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย
สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
บางสังคมมีระบบผัวเดียวหลายเมีย ระบบครอบครัวแบบนี้ยังปรากฏอยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งยินยอมให้มีภรรยาได้หลายคน (แต่ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การกระทำของชายเยี่ยงนี้มิได้เป็นไปอย่างเสรี หากมีเงื่อนไขและข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย...) หรือในทิเบต บางกลุ่มชนก็มีระบบเมียเดียวหลายผัว ระบบแบบนี้อาจฟังดูแสลงหูสำหรับสังคมที่เคยชินอยู่กับระบบผัวเดียวเมียเดียว และอาจทำให้เกิดการประณามว่าเป็นเรื่องบัดสีบัดเถลิงที่ผู้หญิงคนเดียวจะมีผัวหลายคนพร้อมกันอย่างเปิดเผย
จากหลักคำสอนในภาษาของสังคมพุทธ
นี่เองที่ให้กำเนิดแก่คำ "ชาติ " สำหรับแปล Nation ในภาษาอังกฤษ
ดังที่ปรากฏในคำสอนเรื่อง ชาติ(เกิด), ชรา(แก่), พยาธิ(เจ็บ), มรณะ(ตาย).
แต่ชาติในภาษาแบบพุทธนั้นมีความหมายต่างจากชาติในระบบรัฐสมัยใหม่ เพราะชาติแบบพุทธหมายถึง
ชีวิตบุคคลทั้งชีวิตนับเป็นหนึ่งชาติหรือหนึ่งภพ(ชาติภูมิ)ในสังสารวัฎรนั่นเอง
ถือตามนี้สัตว์อื่นแม้แต่หมาแมวก็นับเป็นหนึ่งชาติ คือ เป็นชาติเดียวกัน
ชาติแบบพุทธนั้นจึงเป็นชาติในความหมายที่
"เปิด " เสมอแก่การอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่เหมือนชาติที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณของรัฐสมัยใหม่
เพราะเทียบกันแล้วนับเป็นชาติในความหมายที่ "ปิด " อย่างยิ่ง แค่เดินทางออกนอกประเทศไปหน่อยเดียวเราก็จะเจอแต่ชาวต่างชาติเสียแล้ว
ผิวขาวตัวโต ตาสีฟ้าหน่อยเราก็เรียกฝรั่ง เจ้านิโกรตัวดำนั่นก็อาฟริกัน ไอ้ยุ่นนี่ก็ญี่ปุ่น
อาหมวยน่ารักนนั่นก็กลายเป็นเจ๊กเป็นจีนไปเสีย คือ มีความเป็นอื่นดำรงอยู่เต็มไปหมด
ชาติในความหมายนี้จึงไม่น่ายึดถือจริงจังแต่อย่างใด